ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com >> ยูเครน




แผนที่
ยูเครน
Ukraine


 
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง อยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ติดกับทะเลดำ และอยู่ระหว่างโปแลนด์ กับรัสเซีย ทิศเหนือจรดพรมแดนรัสเซียและเบลารุส ทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อรัสเซีย ทิศตะวันตกจรดพรมแดนโปแลนด์ สโลวาเกีย และฮังการี ทิศใต้ติดทะเลดำและทะเล Azov ทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดพรมแดนโรมาเนีย และมอลโดวา

พื้นที่ 603,700 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่เป็นอันดับสองในยุโรป รองจากรัสเซีย และเป็น 1.17 เท่าของไทย) ร้อยละ 58 เป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ มีเทือกเขา Carpathian ทางด้านตะวันตก
เฉียงใต้ มีแม่น้ำสำคัญๆ ของทวีปยุโรปไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำดนีเปอร์ แม่น้ำดนีสเตอร์ และแม่น้ำดานูบ ซึ่งไหลลงสู่ทะเลดำ

เมืองหลวง กรุงเคียฟ (Kyiv) ประชากรจำนวน 2.8 ล้านคน เป็นเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรคีฟรุสโบราณ (Kievan Rus) และเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ในสมัยจักรวรรดิรัสเซีย และสหภาพโซเวียต รองจากมอสโก และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

ประชากร46,299,862 คน (กรกฎาคม 2550) ชาวยูเครน 77.8% ชาวรัสเซีย 17.3% อื่นๆ 4.9 % (2544)

วันชาติ 24 สิงหาคม

ภูมิอากาศ แบบภาคพื้นทวีปอบอุ่น มี 4 ฤดู ยกเว้นบริเวณชายฝั่งทะเลแถบแหลมไครเมียทางตอนใต้ ซึ่งมีอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ในฤดูหนาวพื้นที่บริเวณภายในประเทศ จะมีอากาศหนาวเย็นกว่าพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลดำ

ภาษาราชการ ภาษายูเครน หรือ Little Russian (ตระกูลภาษาสลาฟ) เป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษารัสเซียอย่างกว้างขวาง

ศาสนาศาสนาคริสต์นิกาย Ukrainian Orthodox เป็นศาสนาประจำชาติ นับถือกว่า ร้อยละ 85

เขตการปกครอง 24 จังหวัด (Oblasts) 1 เขตการปกครองอิสระ และ 2 เทศบาล โดยมีสถานะเทียบเท่าจังหวัด

หน่วยเงินตรา Hryvnia (กริฟน่า)

อัตราแลกเปลี่ยน 1 USD = 5.05 Hryvnia (14 มกราคม 2551)

เขตเวลา UTC/GMT +2 ชั่วโมง (เวลาที่กรุงเคียฟช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมงในฤดูร้อน และช้ากว่าไทย 5 ชั่วโมงในฤดูหนาว)

การเมืองการปกครอง
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป

สมัยประวัติศาสตร์- ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชาว Nomad โดยเฉพาะชาว Scythian เป็นพวกแรกที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในยูเครนในช่วงก่อนคริสตกาล หลังจากนั้น ชาวเผ่าสลาฟได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนกลางและตะวันออกของยูเครน อย่างไรก็ดี ชนชาติสำคัญที่มีบทบาทในการรวบรวมดินแดนบริเวณนี้ให้เป็นปึกแผ่นคือชาวรุส (Rus) ที่มาจากสแกนดิเนเวีย โดยต่อมาชาวรุสได้สถาปนาอาณาจักร Kievan Rus ขึ้นในศตวรรษที่ 6 และปกครองชาวสลาฟที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ และต่อมาได้ขยายดินแดนออกไปรวบรวมเผ่าสลาฟและชนชาติต่างๆ จนเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในศตวรรษที่ 11 แต่ในศตวรรษที่ 12 อาณาจักรนี้ได้เสื่อมสลายลง เนื่องจากสงครามระหว่างเจ้าผู้ครองนครต่างๆ และการรุกรานจากชาวมองโกลในศตวรรษต่อมา
หลังจากนั้น ดินแดนบางส่วนของยูเครนได้ถูกผนวกรวมกับอาณาจักรต่างๆ อาทิ ลิทัวเนีย โปแลนด์ ออสโตร-ฮังกาเรียน และรัสเซีย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยูเครนได้ประกาศเอกราชจากจักรวรรดิรัสเซียและราชวงศ์ฮับสบวร์กเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1918 แต่ต่อมากระแสการปฏิวัติในรัสเซียได้ลุกลามมายังยูเครน ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น หลังจากนั้น ดินแดนส่วนตะวันตกของยูเครนได้ถูกผนวกรวมกับโปแลนด์ ในขณะที่ดินแดนตอนกลางและตะวันออกถูกผนวกรวมกับรัสเซียในฐานะ Ukrainian Soviet Socialist Republic ในปีค.ศ.1922 ภายใต้ระบอบสหภาพโซเวียต ชาวยูเครนถูกบังคับให้เลิกใช้ภาษาของตนเอง นอกจากนี้ ในช่วงปี ค.ศ. 1932-1933 ประธานาธิบดีสตาลิน แห่งสหภาพโซเวียต ยังได้ใช้มาตรการ “Holodomor” (Famine) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระบบนารวมของสหภาพโซเวียตกับชาวยูเครน อันส่งผลให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงและการขาดแคลนอาหารขึ้นทั่วประเทศ และชาวยูเครนกว่า 7 ล้านคนต้องเสียชีวิตลง ชาวนาและปัญญาชนที่ต่อต้านระบบดังกล่าวถูกกวาดล้างหรือเนรเทศไปยังไซบีเรีย

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยูเครนให้การสนับสนุนกองทัพของนาซีเยอรมัน เพื่อเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต แต่ต่อมาได้หันไปต่อต้าน เนื่องจากกองทัพเยอรมันปกครองอย่างกดขี่และทารุณ โดยในช่วงดังกล่าว ชาวยิวในยูเครนกว่า 1 ล้านคนถูกสังหารหมู่และ กรุงเคียฟ ถูกเผาทำลาย อย่างไรก็ดี หลังจากที่กองทัพนาซีบุกโปแลนด์ในปีค.ศ.1939 ดินแดนส่วนตะวันตกของยูเครนที่เดิมอยู่ภายใต้โปแลนด์ได้ถูกผนวกรวมกับสหภาพโซเวียต

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 - การประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระแสชาตินิยมในยูเครนขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ ได้แก่ ความไร้ประสิทธิภาพของระบบสหภาพโซเวียต ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วสหภาพโซเวียตและการพยายามปิดบังข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพโซเวียตต่อกรณีการระเบิดของโรงงานปฏิกรณ์ปรมาณู Chernobyl ที่ตั้งอยู่ในยูเครนในปีค.ศ.1986 และเมื่อประธานาธิบดีกอร์บาชอฟดำเนินนโยบายเปิดกว้างทางการเมือง ได้ส่งผลให้รัฐบาลของสหภาพโซเวียตจำเป็นต้องให้อำนาจแก่สาธารณรัฐและดินแดนปกครองตนเองต่างๆ มากขึ้น กระแสการเรียกร้องสิทธิที่จะปกครองตนเองในยูเครนดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง และในที่สุดยูเครนได้ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1991 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1991 ชาวยูเครนได้ลงประชามติให้ยูเครนประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต

ระบบการปกครองในปัจจุบัน

รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ

การแบ่งส่วนการปกครอง

ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบสภาเดียว (Unicameral) คือ สภาสูงสุด (Supreme Rada) มีสมาชิก 450 คน (เลือกตั้งโดยตรง 225 ที่นั่ง แบบสัดส่วน 225 ที่นั่ง) โดยมีการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด มีขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2550
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้น เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล โดยสภาสูงสุดเป็นผู้เสนอชื่อ และประธานาธิบดีเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ
ฝ่ายตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา
พรรคการเมือง พรรค Party of the Regions (ของนาย Viktor Yanukovych อดีต นรม. ยูเครน) พรรค Yulia Tymoshenko’s Bloc (BYuT) (ของนาง Yulia Tymoshenko อดีต นรม.) พรรค Our Ukraine-People’s Self Defense (สนับสนุน ปธน. Yushchenko) (พรรค Communist Party) พรรค Lytvyn Bloc

ผู้นำสำคัญทางการเมือง

ประธานาธิบดี
นาย Viktor Yushchenko (ตั้งแต่ 23 ม.ค. 48)
นายกรัฐมนตรี
นาง Yulia Tymoshenko (ตั้งแต่ 18 ธ.ค. 50)
ประธานสภาสูงสุด
นาย Andriy Yatsenyuk (ตั้งแต่ 4 ธ.ค. 50)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นาย Volodymyr Ogryzko (ตั้งแต่ 18 ธ.ค. 50)

สถานการณ์ทางการเมืองยูเครน

ภาพรวมของสถานการณ์ทางการเมืองของยูเครนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991

พัฒนาการทางการเมืองในยูเครนภายหลังการแยกตัวจากสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1991 แบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้ ดังนี้

1. สมัยการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Leonid Kravchuk (ค.ศ. 1991-1994)
หลังการประกาศเอกราช ยูเครนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1991 โดยนาย Leonid Kravchuk อดีตประธานรัฐสภายูเครนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรก ประธานาธิบดี Kravchuk ได้เริ่มกระบวนการสร้างชาติ และปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีแบบตะวันตก อย่างไรก็ดี ในภาพรวม สถานการณ์การเมืองภายในประเทศยังสับสนวุ่นวาย อาทิ การประท้วงของกลุ่มที่นิยมระบอบคอมมิวนิสต์ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มปฏิรูปเศรษฐกิจกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม ความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปัญหาการเรียกร้องเอกราชของไครเมีย ปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น

2. สมัยการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Leonid Kuchma (ค.ศ. 1994-2005)
นาย Leonid Kuchma อดีตผู้อำนวยการใหญ่ของโรงงานผลิตหัวรบขีปนาวุธของสหภาพ โซเวียตที่เมืองดนีโปรเปตรอฟสค์ (Dnepropetrovsk) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 โดยได้ประกาศนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจแนวทางใหม่และการสร้างความสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์กับรัสเซียและตะวันตกในนโยบายต่างประเทศ ปัจจุบันนาย Kuchmaได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัย และจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งลงในปี ค.ศ. 2004 ที่ผ่านมาสภาวะทางการเมืองโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการบริหารประเทศแบบเบ็ดเสร็จ การวางนโยบายและการบริหารประเทศรวมศูนย์อยู่ที่ประธานาธิบดีและบุคคลใกล้ชิด นอกจากนี้ หน่วยงานด้านความมั่นคงและกองทัพยังอยู่ภายใต้อำนาจของประธานาธิบดีด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีรายงานข่าวในทางลบเกี่ยวกับประธานาธิบดี Kuchma และคณะรัฐบาลหลายครั้ง อาทิ การฉ้อราษฎร์บังหลวง ความพยายามเสริมสร้างอำนาจของประธานาธิบดีโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความพยายามริดรอนสิทธิของสื่อ การมีส่วนเกี่ยวข้องในการฆาตกรรมนาย Georgiy Gongadze ผู้สื่อข่าวซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ตลอดจนการอนุมัติขายระบบเรดาร์ Kolchuga ให้อิรัก อันส่งผลให้สหรัฐฯ ประกาศระงับการให้เงินช่วยเหลือจำนวน 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ยูเครน และที่ผ่านมาประชาชนยูเครนได้เคยก่อการประท้วงประธานาธิบดี Kuchma หลายครั้ง

สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน

สถานการณ์การเมืองของยูเครนมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะตั้งแต่ภายหลังเหตุการณ์ Orange Revolution ในปี 2547 (2004) ซึ่งได้มีการจัดตั้งรัฐบาลถึง 3 ครั้ง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งด้านแนวความคิดของ 2 ฝ่ายในรัฐบาล ได้แก่ ฝ่ายประธานาธิบดี Viktor Yushchenko ซึ่งฝักใฝ่ฝ่ายตะวันตกและเป็นแกนนำของ Orange Revolution และอดีตนายกรัฐมนตรี Viktor Yanukovych ซึ่งนิยมรัสเซีย
เมื่อเดือนเมษายน 2550 (ค.ศ.2007) ประธานาธิบดี Yushchenko จึงประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2550 (ค.ศ.2007) ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรค Party of the Regions ของนาย Vicktor Yanukovych อดีต นรม. ยูเครน ได้รับเสียงสนับสนุนมากเป็นอันดับ 1 ที่ร้อยละ 34.32 หรือเท่ากับ 176 ที่นั่ง สำหรับอันดับที่ 2 พรรค Yulia Tymoshenko’s Bloc (BYuT) ของนาง Yulia Tymoshenko อดีต นรม. และพันธมิตรคนสำคัญของ ปธน. Viktor Yushchenko ใน Orange Revolution ซึ่งได้รับคะแนนร้อยละ 30.71 หรือ 165 ที่นั่ง อันดับที่ 3 คือ พรรค Our Ukraine-People’s Self Defense ที่สนับสนุน ปธน. Yushchenko ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 14.15 หรือ 71 ที่นั่ง อันดับที่ 4 และ 5 ได้แก่ พรรค Communist Party ได้ 27 ที่นั่ง และพรรค Lytvyn Bloc ของอดีตประธานสภา ได้ 20 ที่นั่ง
โดยที่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับคะแนนเสียงข้างมาก (226 จาก 450 ที่นั่ง) พอที่จะจัดตั้งรัฐบาล จึงได้มีการเจรจาระหว่างพรรคต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น โดยกลุ่มการเมือง Yulia Tymoshenko’s Bloc และพรรค Our Ukrain ของปธน. Yushchenko ซึ่งเคยร่วมมือกันในช่วงการปฏิวัติสีแสด ได้เสนอนาง Yulia Tymoshenko ขึ้นเป็น นรม. อย่างไรก็ตาม ได้มีการจัดการลงคะแนนเสียงถึง 3 ครั้ง โดยใน 2 ครั้งแรก นาง Tymoshenko ได้รับเสียงไม่พอที่จะผ่านเกณฑ์คะแนนเสียงข้างมาก ทำให้กลุ่มพันธมิตรของนาง Tymoshenko เรียกร้องเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการนับคะแนน และเป็นเหตุให้สมาชิกสภาต้องออกเสียงด้วยการยกมือในการลงมติในครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 50 ซึ่งผลปรากฏว่า นาง Tymoshenko ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยคะแนนเสียง 226 จากจำนวนสมาชิกสภาทั้งสิ้น 450 คน ซึ่งเป็นการผ่านเกณฑ์เสียงข้างมากเพียงคะแนนเดียว
นาง Tymoshenko เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากอุตสาหกรรมพลังงาน และยังเป็นผู้นำคนสำคัญในการปฏิวัติสีส้มในปี 2547 ภายหลังชัยชนะในการปฏิวัติครั้งนั้น นาง Tymoshenko ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้นเพียง 8 เดือนก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่มพรรคพันธมิตร การที่นาง Tymoshenko ได้ขึ้นมาเป็น นรม. อีกครั้งน่าจะทำให้นโยบายต่างประเทศของยูเครนหันไปสู่ยุโรปตะวันตกและ NATO มากขึ้น และการทำงานร่วมกับประธานาธิบดีน่าจะราบรื่นกว่ารัฐบาลชุดก่อนของอดีต นรม. Yanukovich ซึ่งมีนโยบายใกล้ชิดกับรัสเซีย
อย่างไรก็ดี องค์ประกอบในรัฐสภาของยูเครนมีสมาชิกฝ่ายค้านจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของที่นั่งในสภา ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ อาทิ ความไม่ลงรอยกันภายในกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ธรรมชาติของการเมืองยูเครนที่ ส.ส. สามารถเปลี่ยนขั้วไปอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามบ่อยครั้ง รวมถึงการแทรกแซงทางการเมืองจากมหาอำนาจภายนอก ล้วนแต่บ่งบอกถึงอนาคตการเมืองของยูเครนที่ยังไม่มั่นคงนัก ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเริ่มใช้เมื่อต้นปี 2549 โดยโอนอำนาจประธานาธิบดีบางส่วนมาให้แก่สภาสูงสุดและรัฐบาล ยังก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองด้วย เนื่องจากเป็นปัจจุยที่จุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอำนาจต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากขาดความชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะของระบบการปกครองของยูเครนว่าจะดำเนินในระบบประธานาธิบดี ระบบสภา หรือเป็นการผสมผสานกันระหว่างทั้งสองระบบ

นโยบายต่างประเทศ

ยูเครนดำเนินนโยบายมุ่งสู่ตะวันตกมาโดยตลอด ในช่วงแรกหลังการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต โดยตั้งเป้าที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาของทวีปยุโรปและแยกตัวออกจากกรอบความสัมพันธ์กับรัสเซียและประเทศอดีตสหภาพโซเวียต แต่ต่อมา ยูเครนได้ปรับทิศทางของนโยบายต่างประเทศให้สมดุลมากขึ้น โดยหันมาให้ความสำคัญกับรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ด้วย ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่า นโยบายต่างประเทศของยูเครนอยู่บนพื้นฐานของการสร้างดุลยภาพระหว่างการบูรณาการกับตะวันตกและการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความผูกพันทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์การเมือง

ทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของยูเครนในปัจจุบัน
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของยูเครนภายใต้รัฐบาลของนาง Tymoshenko ยังคงมุ่งเน้นปัจจัยหลัก 3 ประการ เช่นเดียวกับรัฐบาลชุดก่อน ได้แก่
1. พัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีกับรัฐต่างๆ โดยเฉพาะเทศเพื่อนบ้าน ประเทศมหาอำนาจ และประเทศหุ้นส่วนสำคัญทางยุทธศาสตร์
2. การบูรณาการเข้าสู่สหภาพยุโรปและนาโต้
3. ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี

ความสัมพันธ์กับรัสเซีย

ช่วงแรก
ในช่วง 10 ปีแรก หลังการแยกตัวจากสหภาพโซเวียต ยูเครนดำเนินนโยบายมุ่งสู่ตะวันตก หันไปให้ความสำคัญกับสหรัฐ ฯ และประเทศตะวันตก และพยายามหลีกหนีอิทธิพลของรัสเซีย ในขณะที่รัสเซียก็ไม่สามารถยอมรับการเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ของยูเครนได้ เนื่องจากยูเครนหรือ Little Russia ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซียมาโดยตลอด พร้อมกันนี้ ความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวยูเครนกับชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในยูเครนได้ปะทุขึ้นภายหลังจากที่ยูเครนประกาศเอกราชจากรัสเซีย ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับยูเครนหลายครั้ง อาทิ การแย่งชิงแหลมไครเมีย และปัญหากรรมสิทธิกองเรือของรัสเซียในทะเลดำ เป็นต้น ทั้งนี้ ความพยายามลดการพึ่งพารัสเซียทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดได้แก่ การที่ยูเครนพยายามแสวงหาแหล่งน้ำมันและพลังงานจากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากรัสเซีย เช่น อิหร่าน และดินแดนปกครองตนเองในรัสเซีย

ปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับรัสเซียได้กลับมาใกล้ชิดกันมากขึ้น หลังจากที่ได้ห่างเหินเป็นเวลายาวนานในช่วงหลังการประกาศอิสรภาพ การปรับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งเริ่มจากการลงนามในความตกลงเพื่อหาข้อยุติสำหรับปัญหากองเรือทะเลดำเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1997 ทั้งนี้ ความตกลงฯ ได้กำหนดให้รัสเซียได้สิทธิในการเช่าฐานทัพเรือยูเครนที่เมืองเซวาสโตโพล (Sevastopol) เพื่อเป็นที่ตั้งกองเรือของตนต่อไปอีก 20 ปี

ทั้งสองประเทศได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อร่วมมือกันในด้านต่างๆ (Bilateral Commission) และรวมไปถึงการพิจารณาปัญหาความขัดแย้งในการปักปันเขตแดน การจัดทำแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 10 ปี (ปี ค.ศ. 1998 - 2007) ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสองประเทศในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ แนวทางในการร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและแนวทางในการขยายปริมาณการค้าระหว่างกัน รวมทั้งความร่วมมือในสาขาต่างๆ กว่า 100 โครงการ เช่น ด้านการบิน การพลังงาน การสำรวจอวกาศ เป็นต้น ซึ่งแผนความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งมีมูลค่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เมื่อปี ค.ศ. 1997 ให้เพิ่มขึ้นอีกสองเท่าครึ่งในอีก 10 ปี ข้างหน้า นอกจากนั้น ยังมีความตกลงระหว่างรัฐบาลอีกหลายฉบับ เช่น ความร่วมมือด้านการสื่อสาร การศึกษาและการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมร่วม เพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงพัฒนาการความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมทั้งได้มีการลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือและมิตรภาพ (Treaty of Friendship, Co-operation and Partnership) เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1997 เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรบนพื้นฐานของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (strategic partnership) การเคารพซึ่งกันและกัน และในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีระหว่างกันอย่างแน่นแฟ้นต่อไป และผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะให้จัดตั้งคณะทำงานร่วม anti-crisis group เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และยืนยันที่จะผลักดันรัฐบาลของแต่ละฝ่ายให้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2002 นายกรัฐมนตรี Mikhail Kasyanov ของรัสเซียและนายกรัฐมนตรี Anatoliy Kinakh ของยูเครนในขณะนั้น ได้ลงนามร่วมกันในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ นาย Alexei Miller ประธานกรรมการบริษัท Gazprom ของรัสเซียก็ได้ลงนามในเอกสารร่วมกับนาย Yury Buiko ประธานกรรมการบริษัท Nallogaz Ukrainy ของยูเครน เพื่อการจัดตั้งองค์กรร่วมทุนระหว่างประเทศ (international consortium) เพื่อพัฒนาและดำเนินการเกี่ยวกับระบบการขนส่งก๊าซในยูเครน โดยองค์กรดังกล่าวจะจัดตั้ง จดทะเบียน และดำเนินการภายใต้กฎหมายของยูเครน โดยสำนักงานจะตั้งอยู่ที่กรุงเคียฟ และในอนาคตรัสเซียและยูเครนจะเปิดโอกาสให้บริษัทต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปเข้ามามีส่วนร่วมในองค์กรร่วมทุนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ รัสเซียและยูเครนได้เคยลงนามในสัญญาร่วมกันเพื่อการขนส่งก๊าซจากรัสเซียผ่านท่อก๊าซของยูเครนถึงปีค.ศ. 2013 ไม่ต่ำกว่า 110 พันล้านคิวบิกเมตร และปัจจุบัน รัสเซียส่งก๊าซไปยังยุโรปโดยผ่านระบบท่อส่งก๊าซในยูเครนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของนาง Tymoshenko น่าจะลดความสำคัญในการร่วมมือกับรัสเซียลงกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว

ความขัดแย้งเรื่องราคาก๊าซธรรมชาติระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ ยูเครนและรัสเซีย ได้เจรจาข้อขัดแย้งในกรณีที่รัสเซียระงับการจ่ายก๊าซธรรมชาติให้ยูเครน หลังจากที่ยูเครนไม่ยอมตามที่รัสเซียประกาศจะขึ้นราคาก๊าซ 4 เท่า จากเดิม 50 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร เป็น 220-230 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ตามราคาตลาดยุโรป เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ยูเครน และประเทศต่างๆ ในยุโรป ซึ่งนำเข้าก๊าซจากรัสเซียผ่านท่อก๊าซในยูเครน ประสบกับปัญหาด้านพลังงาน ท่ามกลางภูมิอากาศที่หนาวเย็นที่สุดในรอบหลายปี ในเบื้องต้น ยูเครนและรัสเซียสามารถตกลงกันได้ในระดับหนึ่ง โดยยูเครนจะนำเข้าก๊าซจากรัสเซียผ่านบริษัท Rosukrenergo ซึ่งรัสเซีย ถือหุ้นอยู่ครึ่งหนึ่ง โดยบริษัท Rosukrenergo จะซื้อก๊าซจากรัสเซียในราคา 230 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร และขายก๊าซที่ตนซื้อจากเติร์กเมนิสถาน ซึ่งมีราคาถูกกว่าให้ยูเครนในราคา 95 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้ สำหรับปี 2551 รัฐบาลยูเครนภายใต้การนำของนาย Viktor Yanukovych อดีต นรม. ได้ลงนามความตกลงกับรัสเซียที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในราคา 179.5 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งขึ้นจาก 130 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2550

ความขัดแย้งบริเวณช่องแคบ Kerch
ช่องแคบ Kerch ตั้งอยู่ระหว่างเกาะ Tuzla ของยูเครนและ Taman Peninsula ของรัสเซีย และเป็นช่องทางผ่านจากทะเล Azov เข้าสู่ทะเลดำ ซึ่งนับตั้งแต่การประกาศเอกราชของยูเครนจากสหภาพโซเวียต ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุการเจรจาปักปันเขตแดนในบริเวณนี้ แต่เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 รัสเซียได้เริ่มสร้างเขื่อนในบริเวณช่องแคบ Kerch เพื่อเชื่อมชายฝั่งบริเวณคาบสมุทร Taman ของรัสเซีย เข้ากับเกาะ Tuzla ของยูเครน โดยอ้างว่าเขื่อนดังกล่าวจะช่วยลดการพังทลายของพื้นที่ชายฝั่งของรัสเซีย แต่ยูเครนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดอธิปไตยทางดินแดนของตน จึงได้ส่งกองทัพเข้าไปประจำการในเกาะ Tuzla และทำการซ้อมรบในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งรัฐสภายูเครนได้ลงมติว่า การกระทำของรัสเซียถือได้ว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นมิตร ทำให้เกิดสถานการณ์การเผชิญหน้าที่ตึงเครียดระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายได้พยายามเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในหลายระดับ โดยการเจรจาครั้งสำคัญมีขึ้นระหว่างประธานาธิบดี Kuchma ของยูเครน และประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย ที่แหลมไครเมีย เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 2003 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ร่วมกันบริเวณช่องแคบ Kerch และทะเล Azov และล่าสุดมีรายงานข่าวว่า การเจรจาระหว่างยูเครนและรัสเซียรอบแรกว่าด้วยการปักปันเขตแดนทางทะเลบริเวณช่องแคบ Kerch และทะเล Azov จะจัดขึ้นที่กรุงมอสโก ระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม ค.ศ. 2004

ความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก

สหภาพยุโรป
ยูเครนและสหภาพยุโรปได้จัดทำความตกลงภายใต้ Partnership and Cooperation Agreement ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2541 อย่างไรก็ตาม ความตกลงดังกล่าวมิได้ขยายไปถึงการจัดทำ Association Agreement ตามที่ยูเครนแสดงความประสงค์ โดยสหภาพยุโรปได้แต่ยอมรับถึงความประสงค์ของยูเครนที่จะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่การเป็น Association ระหว่างกันเท่านั้น ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ของยูเครนคือ การที่ยูเครนยังไม่ได้รับการยอมรับว่ามีเศรษฐกิจระบบตลาดและยังมีปัญหาในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่มาก

รัฐบาลภายใต้การนำของนาง Tymoshenko น่าจะดำเนินนโยบายที่มุ่งกระชับความสัมพันธ์กับสหภาพยูโรปมากกว่ารัฐบาลชุดก่อน โดยเน้นการรวมตัวกับสหภาพยุโรปเป็นหลัก โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เพื่อทดแทน Parnership and Cooperation Agreement ซึ่งสิ้นอายุไปเมื่อปลายปี 2550 ทั้งนี้ คาดว่ายูเครนยังคงไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปในรัฐบาลชุดนี้ได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่ายูเครนยังจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกได้ในปี 2551 ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการเจรจาทวิภาคีกับประเทศที่เกี่ยวข้องเมื่อปี 2550 ซึ่งน่าจะปูทางไปสู่การเข้าเป็นสมาชิก EU ได้ต่อไปในอนาคต


สหรัฐอเมริกา
ความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับสหรัฐอเมริกาดำเนินภายใต้โครงการความช่วยเหลือ Freedom for Russia and Emerging Eurasian Democracies and Open Markets Support Act ซึ่งผ่านการรับรองจากรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1992 โดยมียอดเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในบรรดาประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ยูเครนได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากสหรัฐฯ มากที่สุด โดยในปี ค.ศ. 2000 ยูเครนได้รับเงินช่วยเหลือ 168 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากยอดรวม 216 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกำหนดที่จะให้ประเทศ CIS ทั้งหมด นอกจากนี้ ยูเครนยังได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯอีก จำนวน 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้โครงการ Western NIS Enterprise Fund ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือแก่วิสาหกิจเอกชนของยูเครน แต่ภายหลังที่มีข่าวเรื่องยูเครนขายอาวุธให้แก่อิรักแล้ว มีรายงานข่าวว่า ในปี ค.ศ. 2003 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธการให้เงินช่วยเหลือจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่รัฐบาลยูเครน และจะโอนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่หน่วยงานหรือกลุ่มผู้รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนในยูเครนแทน อย่างไรก็ดี ยูเครนได้ส่งทหารจำนวน 1,600 นาย เข้าไปร่วมกับกองกำลังของพันธมิตรในการฟื้นฟูบูรณะอิรัก เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2003 ซึ่งคาดว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐ อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้ยูเครนได้เข้าเป็นสมาชิก NATO ได้ในอนาคต อนึ่ง ยูเครนเข้าร่วมใน OSCE ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 เป็นสมาชิกของ North Atlantic Cooperation Council และเป็นสมาชิก Partnership for Peace ในกรอบนาโต อย่างไรก็ดี นโยบายที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ของนาง Tymoshenko อาจถูกต่อต้านจากฝ่ายค้านและประชาชนจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน

ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่ม CIS
ยูเครนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโปแลนด์ และมีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) รองจากรัสเซีย รวมทั้งมีบทบาทนำในองค์กรในระดับอนุภูมิภาค อาทิ กลุ่ม GUUAM (Georgia-Ukraine-Uzbekistan-Azerbaijan-Moldova) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศ CIS ที่นิยมตะวันตกและสนับสนุนให้ CIS รวมตัวเฉพาะทางเศรษฐกิจเท่านั้น กลุ่ม Organization for Black Sea Economic Cooperation และอยู่ในกลุ่มความร่วมมือ Common Economic Space (CES) ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างรัสเซีย ยูเครน เบลารุส และคาซัคสถาน นอกจากนี้ ยูเครนยังมีแผนที่จะร่วมมือกับอาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย และมอลโดวา ในการสร้างท่อลำเลียงน้ำมันจากริมฝั่งทะเลสาบแคสเปียนโดยไม่ผ่านดินแดนของรัสเซียเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจและอิทธิพลรัสเซียในภูมิภาคนี้ เนื่องจากปัจจุบันรัสเซียเป็นผู้ผูกขาดการขนส่งน้ำมันจากทะเลสาปแคสเปียนไปยังตลาดตะวันตกแต่เพียงผู้เดียว

เศรษฐกิจการค้า
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 141.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)

รายได้ประชาชาติต่อหัว (PPP) 8,272 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 7.2 (ปี 2550)

อัตราเงินเฟ้อ 12.7%

ผลิตภัณฑ์ทางเกษตรกรรม ธัญพืช หัวบุก เมล็ดทานตะวัน ผัก เนื้อวัว นม

อุตสาหกรรมถ่านหิน พลังงานไฟฟ้า เหล็กและแปรรูปเหล็ก

สินค้าส่งออกที่สำคัญ โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เชื้อเพลิงและพลังงาน เคมีภัณฑ์ อาหาร

มูลค่าการส่งออก 38.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)

ตลาดส่งออกที่สำคัญ รัสเซีย ตุรกี อิตาลี

สินค้านำเข้าที่สำคัญ เชื้อเพลิงและพลังงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ อาหาร

มูลค่าการนำเข้า 44.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)

ตลาดนำเข้าที่สำคัญ รัสเซีย เยอรมนี เติร์กเมนิสถาน จีน

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยูเครน
เศรษฐกิจของยูเครนได้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นโดยลำดับ โดยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 2 ในประเทศในเครือรัฐเอกราช รองจากรัสเซีย ยูเครนยังมีปัจจัยเสี่ยงสำหรับการลงทุนทำธุรกิจ ได้แก่ ปัญหาด้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล ระบบมาเฟีย และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร อีกทั้งยูเครนยังคงมีความแตกต่างอย่างมากในระดับการพัฒนาของเมืองใหญ่และเขตชนบทที่ห่างไกล ส่งผลให้ประชาชนในชนบทไม่ได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจ และมีอัตราการว่างงานในระดับสูง นอกจากนี้ การระเบิดของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เมืองเชอร์โนบิล (Chernobyl) เมื่อปี ค.ศ. 1986 ยังทำให้ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกได้รับสารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งส่งผลให้ผลิตผลการเกษตรของยูเครนมีปริมาณและคุณภาพลดลง

ในด้านการลงทุน รัฐบาลยูเครนส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้ออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนซึ่งให้สิทธิชาวต่างชาติซื้อและครอบครองที่ดินและทรัพย์สิน รวมทั้งโอนรายได้และผลกำไรจากการประกอบธุรกิจไปต่างประเทศได้ เงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในยูเครน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหนัก และการผลิตเครื่องจักรกล โดยประเทศผู้ลงทุนสำคัญในยูเครน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ไซปรัส สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และรัสเซีย ตามลำดับ ในปัจจุบัน กิจการและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวดีในยูเครน ได้แก่ การก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และการผลิตเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย และอาคารพาณิชย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการขยายตัวที่สูงมาก อันเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และจากการที่อาคารเก่าที่มีอยู่เสื่อมโทรมลง และความต้องการอาคารที่พักอาศัยในเมืองเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการก่อสร้างของยูเครนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาลยูเครนจึงได้ออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อช่วยเหลือบริษัทก่อสร้างในท้องถิ่นให้สามารถดำเนินการในโครงการก่อสร้างได้จนสำเร็จ

ยูเครนมีความชำนาญด้านอุตสาหกรรมหนัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางทหาร ทั้งนี้ เนื่องจากเคยเป็นแหล่งผลิตอาวุธและอุปกรณ์ทางทหารที่สำคัญที่สุดในสมัยสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เหล็กและโลหะต่างๆ โดยเป็นประเทศที่ส่งออกเหล็กอันดับ 7 ของโลก อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพได้แก่ การผลิตโลหะ อุตสาหกรรมด้านวิศวกรรม เครื่องกล เหมืองแร่ อุตสาหกรรมต่อเรือ การผลิตรถยนต์และเครื่องบินขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ยูเครนยังขาดประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมเบา ซึ่งเป็นสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ยูเครนยังเป็นประเทศหน้าด่านระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะการที่เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและน้ำมันเข้าสู่ยุโรปของรัสเซีย นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพทางนิวเคลียร์ที่สืบทอดมา โดยมีนิวเคลียร์มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เมือง Odessa เป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของยูเครน และเป็นศูนย์กลางการเดินเรือหลักในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้และคาบสมุทรบอลข่าน ประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ รัสเซีย อิตาลี เยอรมนี โปแลนด์ และตุรกี

นิตยสาร The Economist ได้คาดการณ์ว่าในปี 2551 GDP จะต่ำลงเนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กที่ซบเซาลง และอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยูเครน
ความสัมพันธ์ทั่วไป

ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ไทยมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับยูเครนตั้งแต่ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียตตามลำดับ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในช่วงปลายปี 2534โดยสาธารณรัฐต่างๆ ซึ่งเคยรวมเป็นสหภาพโซเวียต ได้แยกตัวออกเป็นอิสระ และประกาศตัวเป็นเอกราชรวม 12 ประเทศ ไทยได้ให้การรับรองเอกราชของประเทศเหล่านี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534 ต่อมาไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูเครน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 โดยให้อยู่ในเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และล่าสุดในปี 2550 ได้แต่งตั้งนายมิโคโล ราดุดสกี (Mykhajlo Radoutskyy) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำยูเครน ส่วนยูเครนได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2545 โดยมีนายอีกอร์ ฮูเมนนี (Ihor Humennyi) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย และมีนายปรีชา ถิรกิจพงศ์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ยูเครนประจำประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทวิภาคีดำเนินไปอย่างราบรื่น มีกลไกที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์ในระดับหนึ่ง โดยมีความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission) ระหว่างไทยกับยูเครน ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2545 เป็นกลไกหลักในการพัฒนาความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ยูเครนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในเครือรัฐเอกราชรองจากสหพันธรัฐรัสเซีย โดยในปี 2550 (มกราคม-ตุลาคม ค.ศ.2007) มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 154.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ามูลค่าการค้าของปี 2549 (ค.ศ.2006) ทั้งปี คือ 138.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 16.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2550 ไทยส่งออก 119.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ เครื่องไฟฟ้า ผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และไทยนำเข้า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า สินแร่โลหะอื่นๆ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์

ยูเครนยังเป็นตลาดใหม่ที่นักลงทุนชาวไทยให้ความสนใจน้อย โดยนอกจากอุปสรรคในการขนส่งสินค้า ซึ่งใช้เวลานานกว่าเดือน และมีต้นทุนสูงแล้ว ก็ยังขาดข้อมูลในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนระหว่างกัน ดังนั้น นักธุรกิจไทยจึงมีความสนใจในตลาดนี้ค่อนข้างน้อย เช่นเดียวกับนักธุรกิจยูเครนที่มีความสนใจในตลาดของไทยน้อยเช่นกัน ปัจจุบันยังไม่ปรากฏการลงทุนของยูเครนในไทย และการลงทุนของไทยในยูเครน

ไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนของยูเครนในไทย และไทยในยูเครน ในปี 2549 มีนักท่องเที่ยวยูเครนเดินทางมาไทย 18,434 คน และในปี 2550 (ม.ค.-เมย.) มีจำนวน 10,726 คน ปัจจุบันมีคนไทยในยูเครน 6 คน ประกอบอาชีพเป็นพ่อครัว-แม่ครัว 3 คน และเป็นแม่บ้าน 3 คน มีร้านอาหารไทย 1 ร้าน นอกจากนี้ มีข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงแรงงานว่า บริษัท Consol Construction Co. ของยูเครนอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทจัดหางานที่ ปทท. เพื่อจ้างแรงงานไทยประมาณ 800 คนไปทำงานก่อสร้างที่แหลมไครเมีย

ความตกลงที่สำคัญกับไทย

ความตกลงสำคัญที่ได้ลงนามแล้ว
- บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมยูเครน (ลงนามเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2541)
- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย-ยูเครน (ลงนามเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2545)
- ความตกลงว่าด้วยการปรึกษาหารือและความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (ลงนามเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547)
- ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547)
- อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ลงนามเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547)
- บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไทยและหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินยูเครน เกี่ยวกับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวของกับการฟอกเงิน (ลงนามเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2548)

ความตกลงลงนามแล้ว แต่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้มีผลใช้บังคับ
- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูต ราชการ และพิเศษ—คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 และได้ลงนามเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ที่กระทรวงฯ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการภายในของฝ่ายยูเครน (ขอความเห็นชอบจากรัฐสภายูเครน) ให้ความตกลงมีผลใช้บังคับ

ความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของไทย
- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม
- ความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีอาญา
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ความตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดระยองกับภูมิภาค Zaporizka และจังหวัดภูเก็ตกับ Crimea

ความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของยูเครน
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการทหารและวิชาการ
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 15-23 พฤษภาคม 2532 เสด็จฯ เยือนยูเครนอย่างเป็นทางการในขณะที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

รัฐบาล
- วันที่ 16-22 พฤษภาคม 2531 พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเยือนยูเครนอย่างเป็นทางการในขณะที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
- เดือนสิงหาคม 2536 คณะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์เดินทางเยือนยูเครน เพื่อสำรวจลู่ทางการค้า
- วันที่ 2-7 กรกฎาคม 2544 นายรังสรรค์ พหลโยธิน เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก นำคณะเยือนยูเครนในโครงการสำรวจเศรษฐกิจยูเครน
- วันที่ 2-5 กรกฎาคม 2546 นายพิเชษฐ สถิรชวาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเยือนยูเครนเพื่อหารือถึงลู่ทางเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบินและการท่องเที่ยวระหว่างไทย-ยูเครน
- วันที่ 26-28 สิงหาคม 2546 นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เยือนรัสเซีย ยูเครน และคาซัคสถาน
- วันที่ 22-28 กันยายน 2546 นายวิทยา มะเสนา ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-ยูเครน และคณะเยือนยูเครนในกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐสภาไทยกับยูเครน
- วันที่ 9-12 มิถุนายน 2547 พล.อ.อ. คงศักดิ์ วันทนา ผู้บัญชาการทหารอากาศเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบิน Antonov ของยูเครน
- วันที่ 20-22 ตุลาคม 2547 นายนิสสัย เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนพิเศษของรมว.กต.ในเรื่องอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเดินทางเยือนยูเครน เพื่อขอเสียงสนับสนุนจากยูเครนต่อร่างข้อมติในเรื่องดังกล่าว
- วันที่ 13-22 พฤษภาคม 2550 พลเอกวินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม เดินทางเยือนยูเครน เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการทหารและวิชาการ และสำรวจศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมทางการทหารของยูเครน
- วันที่ 12-18 มิถุนายน 2550 นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนยูเครน เพื่อพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจยูเครน

ฝ่ายยูเครน

รัฐบาล
- เดือนพฤษภาคม 2536 ผู้แทนธนาคารชาติยูเครนร่วมโครงการฝึกอบรมด้านการธนาคาร ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ
- เดือนพฤศจิกายน 2536 นาย Golubova Alexei Grigorevich รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยูเครนเยือนไทยในฐานะแขกของภาคเอกชน
- วันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2537 นาย Alexandre Makarenko รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน และคณะเยือนไทยเพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- วันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม 2540 นาย Victor Myntyan ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมยูเครนนำคณะนักธุรกิจ 15 คนเยือนไทย และพบปะหารือกับสภาหอการค้าไทย
- วันที่ 5-9 พฤศจิกายน 2541 นาย Anatoliy K. Orel รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครนเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- วันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2542 นาย Olexander I. Maidannyk รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครนร่วมพิธีเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ยูเครนประจำไทย
- วันที่ 3-5 พฤษภาคม 2545 นาย Olexandr Shlapak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเข้าร่วมสหภาพยุโรปของยูเครน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ และได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (JC) กับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น
- วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 นาย Volodymyr Yel’chenko รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครนเยือนไทยก่อนเข้าร่วมการประชุม NAM ที่มาเลเซีย
- วันที่ 11 มีนาคม 2546 นาง Lyudmyla M. Kuchma ภริยาประธานาธิบดียูเครนเยือนไทยเป็นการส่วนตัว และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เกี่ยวกับโครงการสาธารณสุขต่างๆ ในพระอุปถัมภ์
- วันที่ 21-25 ธันวาคม 2546 นาย Valeriy Pyatnytskiy รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเข้าร่วมสหภาพยุโรปอันดับหนึ่ง และคณะ เยือนไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation - JC) ไทย-ยูเครน และเจรจาพิธีสารทวิภาคีว่าด้วยการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของยูเครนกับกระทรวงพาณิชย์
- วันที่ 9-11 มีนาคม 2547 นาย Leonid Kuchma ประธานาธิบดียูเครนและภริยาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล และเป็นการเยือนระดับผู้นำประเทศเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันในปี 2535
- วันที่ 8-12 พฤษภาคม 2550 นาย Valeriy Pyatnitskyi รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจยูเครนเยือนไทย เพื่อหารือด้านความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้ากับนาย เกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเข้าพบหารือกับนายปกศักดิ์ นิลอุบล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการจัดการประชุม JC ไทย-ยูเครน ครั้งที่ 1 ด้วย

กรมยุโรป
15 มกราคม 2551

เอกสารแนบ

เรียบเรียงโดย กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5142-3 Fax. 0 2643 5141 E-mail : european04@mfa.go.th



ข้อมูลประเทศอื่นๆทั่วโลก
อัฟกานิสถาน  แอลเบเนีย  แอลจีเรีย  อันดอร์รา  แองโกลา  แอนติกาและบาร์บูดา  อาร์เจนตินา  อาร์เมเนีย  ออสเตรเลีย  ออสเตรีย  อาเซอร์ไบจาน  บาฮามาส  บาห์เรน  บังกลาเทศ  บาร์เบโดส  เบลารุส  เบลเยียม  เบลีช  เบนิน  ภูฏาน  โบลิเวีย  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  บอตสวานา  บราซิล  บรูไนดารุสซาลาม  บัลแกเรีย  บูร์กินาฟาโซ  บุรุนดี  กัมพูชา  แคเมอรูน  แคนาดา  เคปเวิร์ด  แอฟริกากลาง  ชาด  ชิลี  จีน  ฮ่องกง  มาเก๊า  ไต้หวัน  โคลัมเบีย  คอโมโรส  คอสตาริกา  โครเอเชีย  คิวบา  ไซปรัส  เช็ก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  เดนมาร์ก  จิบูตี  โดมินิกา  โดมินิกัน  เกาหลีเหนือ  เอกวาดอร์  อียิปต์  เอลซัลวาดอร์  อิเควทอเรียลกินี  เอริเทรีย  เอสโตเนีย  เอธิโอเปีย  ฟิจิ  ฟินแลนด์  ฝรั่งเศส  กาบอง  แกมเบีย  จอร์เจีย  เยอรมนี  กานา  กรีซ  เกรเนดา  กัวเตมาลา  กินี  กินีบิสเซา  กายอานา  เฮติ  นครรัฐวาติกัน  ฮอนดูรัส  ฮังการี  ไอซ์แลนด์  อินเดีย  อินโดนีเซีย  อิหร่าน  อิรัก  ไอร์แลนด์  อิสราเอล  อิตาลี  จาเมกา  ญี่ปุ่น  จอร์แดน  คาซัคสถาน  เคนยา  คิริบาส  คูเวต  คีร์กิซ  ลาว  ลัตเวีย  เลบานอน  เลโซโท  ไลบีเรีย  ลิเบีย  ลิกเตนสไตน์  ลิทัวเนีย  ลักเซมเบิร์ก  มาซิโดเนีย  มาดากัสการ์  มาลาวี  มาเลเซีย  มาลี  มอลตา  หมู่เกาะมาร์แชลล์  มอริเตเนีย  มอริเชียส  ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง  เม็กซิโก  ไมโครนีเซีย  มอลโดวา  โมนาโก  มองโกเลีย  โมร็อกโก  โมซัมบิก  พม่า  นามิเบีย  นาอูรู  เนปาล  เนเธอร์แลนด์  นิวซีแลนด์  นิวซีแลนด์  นิการากัว  ไนเจอร์  ไนจีเรีย  นอร์เวย์  องค์การรัฐอเมริกัน  โอมาน  ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา  ปากีสถาน  ปาเลา  ปานามา  ปาปัวนิวกินี  ปารากวัย  เปรู  ฟิลิปปินส์  โปแลนด์  โปรตุเกส  กาตาร์  คองโก  เกาหลีใต้  กลุ่มริโอ  โรมาเนีย  รัสเซีย  รวันดา  เซนต์คิตส์และเนวิส  เซนต์ลูเซีย  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์  ซามัว  ซานมาริโน  เซาโตเมและปรินซิเป  ซาอุดีอาระเบีย  เซเนกัล  เซอร์เบีย  เซเชลส์  เซียร์ราลีโอน  สิงคโปร์  สโลวาเกีย  สโลวีเนีย  หมู่เกาะโซโลมอน  โซมาเลีย  แอฟริกาใต้  สเปน  ศรีลังกา  ซูดาน  ซูรินาเม  สวาซิแลนด์  สวีเดน  สวิตเซอร์แลนด์  ซีเรีย  ทาจิกิสถาน  แทนซาเนีย  ติมอร์-เลสเต  โตโก  ตองกา  ตรินิแดดและโตเบโก  ตูนิเซีย  ตุรกี  เติร์กเมนิสถาน  ตูวาลู  ยูเออี  ยูกันดา  ยูเครน  สหราชอาณาจักร  สหรัฐอเมริกา  อุรุกวัย  อุซเบกิสถาน  วานูอาตู  เวเนซุเอลา  เวียดนาม  เยเมน  แซมเบีย  ซิมบับเว 



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์