ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com >> เดนมาร์ก




แผนที่
ราชอาณาจักรเดนมาร์ก
Kingdom of Denmark


 
ข้อมูลทั่วไป
เมืองหลวง โคเปนเฮเกน (Copenhagen)

ที่ตั้ง คาบสมุทรจัตแลนด์ (Jutland) ทางตอนเหนือของทวีปยุโรประหว่างทะเลเหนือกับทะเลบอลติก

พื้นที่ 43,077 ตารางกิโลเมตร โดยประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวน 406 เกาะ ซึ่งร้อยละ 90 ไม่มีผู้อยู่อาศัย รวมทั้งดินแดนปกครองตนเอง คือ เกาะกรีนแลนด์ (Greenland) และหมู่เกาะแฟโร (Faroe)

ประชากร 5.3 ล้านคน ประกอบด้วย ชาวเดนิช ร้อยละ 98.0
ชาวสแกนดิเนเวียอื่น ๆ ร้อยละ 0.4 ชาวตุรกี ร้อยละ 0.3 ชาวอังกฤษ ร้อยละ 0.2

ภาษา ภาษาเดนิช (Danish)

ศาสนา ประชากรร้อยละ 97 นับถือศาสนาคริสต์ นิกาย Evangelical Lutheran

สกุลเงิน เดนิชโครน (Danish Krone - DK)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 DK ประมาณ 5.5 บาท

วันชาติ 16 เมษายน (วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระราชินีนาถ
มาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (Her Majesty Queen Margrethe II)

รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)

ประมุข สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

นายกรัฐมนตรี นาย Anders Fogh Rasmussen (พรรค Liberal)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Per Stig Moller (พรรค Conservative)

สถาบันการเมือง รัฐสภาเดนมาร์กเป็นระบบรัฐสภาเดียว (Folketing) มีสมาชิกจำนวน 179 คน มาจากการเลือกตั้ง (รวมผู้แทนจากหมู่เกาะ Faroe 2 คน และเกาะ Greenland 2 คน) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์และมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยุบสภาสถาบันตุลาการ ศาลของเดนมาร์กประกอบด้วยศาลชั้นต้นประจำท้องถิ่น ศาลสูง 2 ศาล และศาลฎีกา 1 ศาล นอกจากนี้ ยังมีศาลพิเศษสำหรับพิจารณาคดีเฉพาะด้าน อาทิ คดีเกี่ยวกับการเดินเรือ/กฎหมายทะเล

ราชวงศ์เดนมาร์ก ดังเอกสารแนบ

การเมืองการปกครอง
ประวัติโดยสังเขป
เดนมาร์กเป็นราชอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดในยุโรป โดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของเดนมาร์กเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1528 (ค.ศ.985) และได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2392 (ค.ศ.1849) ซึ่งเป็นปีที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกได้ถูกร่างขึ้นราชอาณาจักรเดนมาร์กเคยครอบคลุมถึงสวีเดนและนอร์เวย์ จนกระทั่งสวีเดนแยกตัวออกไปเมื่อปี 2066 (ค.ศ.1523) และเดนมาร์กสูญเสียนอร์เวย์ให้แก่สวีเดนภายใต้สนธิสัญญา Kiel เมื่อปี 2357 (ค.ศ.1814) ภายหลังสงครามนโปเลียนยุติลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี 2457 – 2461 (ค.ศ.1914-1918) เดนมาร์กได้ดำเนินนโยบายเป็นกลาง และเมื่อปี 2482 (ค.ศ.1939) ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2เดนมาร์กได้ประกาศความเป็นกลาง อย่างไรก็ดี เดนมาร์กถูกกองทัพเยอรมันเข้ายึดครองเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2483 (ค.ศ.1940) ซึ่งนำไปสู่การรวมตัวของขบวนการต่อต้านของประชาชนชาวเดนมาร์กโดยตลอดช่วงสงครามฝ่ายเยอรมันได้ตอบโต้ด้วยการเข้าปกครองเดนมาร์กโดยตรง จนกระทั่งวันที่ 5 พฤษภาคม 2488 (ค.ศ.1945) เดนมาร์กถูกปลดปล่อยโดยกองกำลังพันธมิตร และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เดนมาร์กได้รับรองความเป็นเอกราชของไอซ์แลนด์ (เป็นดินแดนหรือเกาะโพ้นทะเลที่เดนมาร์กได้ปกครองมาตั้งแต่ในสมัยที่เดนมาร์กยังคงรวมราชอาณาจักรกับนอร์เวย์) ซึ่งได้ประกาศตัวเป็นเอกราชเมื่อปี 2487 (ค.ศ.1944) และต่อมาเดนมาร์กได้ให้สิทธิในการปกครองตนเองแก่หมู่เกาะแฟโรและเกาะกรีนแลนด์ เมื่อปี 2491 (ค.ศ.1948) และปี 2522 (ค.ศ.1979) ตามลำดับ ในปี 2496 (ค.ศ.1953) รัฐธรรมนูญเดนมาร์กได้รับการแก้ไขซึ่งส่งผลทำให้มีบทบัญญัติใหม่ที่สำคัญๆ ในเรื่องต่างๆ ได้แก่ ให้รัชทายาทสตรีมีสิทธิขึ้นครองราชสมบัติ กำหนดให้รัฐสภามีเพียงสภาเดียว และให้ประชาชนชาวเดนมาร์กชายและหญิงที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ ปัจจุบันเดนมาร์กเป็นราชอาณาจักรโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นประมุข คือ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2515 (ค.ศ.1972) และทรงเป็นพระประมุขแห่งเดนมาร์กลำดับที่ 52 (เดนมาร์กมีพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 1528 (ค.ศ.985)) สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2543 (ค.ศ.2000)

สังคม
เมืองใหญ่ของเดนมาร์กที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด 4 เมืองตามลำดับ ได้แก่
1) กรุง Copenhagen (1.5 ล้านคน) ตั้งอยู่บนเกาะ Zealand ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศ
2) เมือง Arhus (265,000 คน) ตั้งอยู่บนคาบสมุทร Jutland
3) เมือง Odense (173,000 คน) ตั้งอยู่บนเกาะ Funen และ
4) เมือง Allborg (155,000 คน) ตั้งอยู่บนคาบสมุทร Jutland ระยะเวลาการดำรงชีพ (life expectancy) ถัวเฉลี่ยของสตรีและบุรุษในเดนมาร์กค่อนข้างจะสูง คือ 78 ปี และ 72 ปี ตามลำดับ เนื่องจากเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีมาตรฐานการสาธารณสุขในระดับสูง และชาวเดนมาร์กมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 26,000 ดอลลาร์สหรัฐเดนมาร์กเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีสตรีประกอบอาชีพในจำนวนที่สูงมากกล่าวคือ ในอัตราส่วน 9 : 10 ต่อแรงงานชาย ซึ่งการมีงานทำของสตรีชาวเดนมาร์กก่อให้เกิดความรู้สึกที่ภาคภูมิใจและความเป็นอิสระในทางการเมือง สตรีชาวเดนมาร์กยังได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้มาตั้งแต่ปี 2458 (ค.ศ.1915) และในทางเศรษฐกิจ สตรีชาวเดนมาร์กได้รับค่าจ้างเท่าเทียมบุรุษตามกฎหมายเดนมาร์ก

การเมืองการปกครอง
เดนมาร์กเป็นประเทศปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขของเดนมาร์ก
รัฐสภาเดนมาร์ก (Folketing) เป็นระบบสภาเดียว สมาชิกรัฐสภามีจำนวน 179 คน มาจากการเลือกตั้ง (แยกเป็น 175 คนจากเดนมาร์ก 2 คนจากหมู่เกาะ Faroeและอีก 2 คนจากเกาะ Greenland ซึ่งหมู่เกาะทั้งสองเป็นดินแดนโพ้นทะเลภายใต้ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ซึ่งได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง)

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2541
ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2541 (ค.ศ.1998) มีสมาชิกรัฐสภาจาก 10 พรรคการเมือง นาย Poul Nyrup Rasmussen หัวหน้าพรรค Social Democraticดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเป็นรัฐบาลเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา (ประกอบด้วย 2 พรรคการเมือง คือ Social Democratic Party (SDP) และ Social Liberal Party (RV)) ซึ่งมีที่นั่งรวมกัน 70 ที่นั่ง จาก 179 ที่นั่ง และนาย Mogens Lykketoft จากพรรค Social Democratic Party เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2544
- เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2544 เดนมาร์กได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (นายกรัฐมนตรีPoul Nyrup Rasmussen ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด ซึ่งรัฐสภาปัจจุบันจะครบวาระเดือนมีนาคม 2545) ผลปรากฏว่า พรรค Social Democrat ของนายกรัฐมนตรี Rasmussen พ่ายแพ้การเลือกตั้ง โดยได้รับเลือกตั้ง 77 ที่นั่ง จาก 179 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรค Liberal ซึ่งมีนาย Anders Fogh Rasmussen เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับเลือกตั้งรวมกัน 98 ที่นั่ง ทำให้มีเสียงข้างมากในสภา และส่งผลให้นาย Anders Fogh Rasmussen เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเดนมาร์กคนใหม่

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรครัฐบาลประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง พรรค Liberal ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Rasmussen ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 52 ที่นั่งจาก 179 ที่นั่ง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองเดนมาร์ก ที่พรรค Liberal ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปติดต่อกัน 2 ครั้ง (ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 พรรค Social Democrat จะประสบชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปและได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล มาโดยตลอด) สำหรับการจัดตั้งรัฐบาล พรรค Liberal ยังคงเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรค Conservative เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2544 ส่งผลให้นายกรัฐมนตรี Rasmussen ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน

การจัดตั้งรัฐบาลเดนมาร์กมักจะเป็นรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อย และในช่วงเวลาที่ผ่านมาพัฒนาการการเมืองเดนมาร์กมีลักษณะของการประนีประนอมระหว่างพรรคการเมืองและมักจะเจรจากันในเรื่องสำคัญๆ เช่น การต่อรองการเจรจาจัดทำงบประมาณประจำปี นอกรัฐสภาก่อนลงคะแนนเสียงในรัฐสภา และจะมีการให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายของประเทศมากกว่าการแบ่งแยกเป็นนโยบายของฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน และหากในกรณีที่รัฐสภามีมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลจะต้องลาออกเพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หรือจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ซึ่งรัฐบาลอาจกำหนดให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่โดยไม่จำเป็นต้องลาออกในขณะนั้นก็ได้ อนึ่ง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งทั่วไปกำหนดจัดขึ้นทุก 4 ปี ประชาชนชาวเดนมาร์ก อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง (กล่าวคือ 4,004,000 คน จากประชากรทั้งสิ้น 5.3 ล้านคน ณ ปี ค.ศ.2000) สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ ทรงไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง อย่างไรก็ดี สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงรับฟังการบรรยายสรุปจากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องต่างๆ ทุกวันพุธ และทรงรับทราบพัฒนาการต่างๆ ของประเทศจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในระหว่างการประชุมในวันพุธสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ดังนั้น สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 จึงทรงรับทราบข้อมูลข่าวสารและพัฒนาการต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเดนมาร์กเป็นสมาชิกและเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(North Atlantic Treaty Organization - NATO) เมื่อปี 2492 (ค.ศ.1949) เป็นประเทศริเริ่มการจัดตั้งคณะมนตรีนอร์ดิก (Nordic Council) เมื่อปี 2495 (ค.ศ.1952) และเข้าร่วมประชาคมยุโรป (หรือสหภาพยุโรปต่อมา) เมื่อปี 2516 (ค.ศ.1973)

ประวัติบุคคลสำคัญ (พระประมุขของรัฐและผู้นำรัฐบาล)
สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (Her Majesty Queen Margrethe II) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1940 เป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก (His Majesty King Frederik IX) และสมเด็จพระราชินีอินกริด (Her Majesty Queen Ingrid) อภิเษกสมรสกับเจ้าชายเฮนริก (His Royal Highness Prince Henrik) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1967 และมี พระราชโอรส 2 พระองค์ คือ เจ้าชายเฟรเดอริก (HRH Crown Prince Frederik) (ค.ศ.1968) และเจ้าชายโจคิม (HRH Prince Joachim) (ค.ศ.1969)
นาย Anders Fogh Rasmussen นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก
นาย Anders Fogh Rasmussen (อันเดอร์ โฟค ราสมูสเซน) นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กเกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1953 เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.2001 และเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญๆ เช่น สมาชิกรัฐสภาเดนมาร์ก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 รองประธานคณะกรรมาธิการด้านการเมืองและเศรษฐกิจ รัฐสภาเดนมาร์ก ระหว่างปี ค.ศ. 1993-1998 ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค Liberal ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 และเป็นหัวหน้าพรรค Liberal

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับเดนมาร์กที่สามารถค้นหาได้จาก Internet
www.um.dk.
www.denmarkemb.org.

เศรษฐกิจการค้า
ดรรชนีทางเศรษฐกิจ
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 240.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- GDP ต่อหัว 44,794 ดอลลาร์สหรัฐ
- อัตราการว่างงาน ร้อยละ 5.1 (จำนวนแรงงาน 2.8 ล้านคน)
- งบประมาณ เกินดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- รายได้/รายจ่าย 52.9 และ 51.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- หนี้ต่างประเทศ 21.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.9
- เงินให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ (ODA) 1.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ส่งออก 104.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- นำเข้า 92.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ประเทศคู่ค้า (ส่งออก) เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักรฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์
- ประเทศคู่ค้า (นำเข้า) เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส นอร์เวย์
- สินค้าส่งออกสำคัญ เครื่องมือในอุตสาหกรรม เนื้อและผลิตภัณฑ์เนื้อ ผลิตภัณฑ์อาหาร/นม
- สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์
- ขีดความสามารถด้านการแข่งขัน (Global Competitiveness Index) ในปี 2549 อยู่ในลำดับที่ 4 (ปี 2548 ลำดับที่ 3)

ลักษณะทางเศรษฐกิจ ในอดีตเศรษฐกิจของเดนมาร์กขึ้นอยู่กับเกษตรกรรม และตั้งแต่ปี 2503(ค.ศ. 1960) เป็นต้นมา เป็นช่วงระยะเวลาที่ผลผลิตทางอุตสาหกรรมมีความเจริญรุดหน้านำผลผลิตทางเกษตรกรรมจนส่งผลทำให้เดนมาร์กกลายเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมและการเกษตรที่ก้าวหน้า โดยเศรษฐกิจของเดนมาร์กมีลักษณะเป็นระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด (small and open economy) ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กก็ได้มีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่เปิดเสรี โดยที่สภาวะเศรษฐกิจของเดนมาร์กพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเพื่ออุตสาหกรรมจากต่างประเทศ และจากทำเลที่ตั้งของเดนมาร์กที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นศูนย์กลางส่งผ่านสินค้าเข้าสู่กลุ่มประเทศนอร์ดิก และสามารถเป็นประตูไปสู่กลุ่มประเทศบอลติกได้ เพราะเดนมาร์กมีเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างเดนมาร์ก-สวีเดน-นอร์เวย์ หลายเส้นทาง กอปรกับการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางอากาศ โดยมีสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปเหนือ และมีสะพาน Oresund Bridge เชื่อมระหว่างเกาะ Zealand ของเดนมาร์กกับเมือง Malmo ทางตอนใต้ของสวีเดน ซึ่งได้เปิดใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 (ค.ศ.2000) จึงทำให้เดนมาร์กมีบทบาทในสถานะที่เป็น trading house ในภูมิภาคยุโรปเหนือ

โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของเดนมาร์กประกอบด้วย 3 ภาคที่สำคัญ ได้แก่
1) ภาคเกษตรกรรมและการประมง ซึ่งได้พัฒนามาเป็นเกษตรกรรมแบบใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ (ใช้แรงงานเพียงร้อยละ 4 ของประชากรทั้งหมด)
2) ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง (ร้อยละ 24) และ
3) ภาคบริการ ซึ่งเป็นภาครัฐ ร้อยละ 31 และภาคธุรกิจ ร้อยละ 41
ภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก คือ อุตสาหกรรมสินค้าอาหาร (food industry) โดยมีสินค้าที่ส่งออก ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่ วัว ผลิตภัณฑ์ประเภทเนย นม(diary products) เบียร์ สินค้าประมง และภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญรองลงมา ได้แก่
1)อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกในการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการขนส่งสินค้าที่เสียง่าย ได้แก่ ตู้แช่แข็ง/แช่เย็นในรถบรรทุก/เรือ
2) อุตสาหกรรมเคมี (chemical industry) เพื่อป้องกันแมลง โรคพืช
3) อุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้แก่ ขนมิ้งค์ (mink)
4) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
5) อุตสาหกรรมทางด้านเภสัช (pharmaceutical industry) ได้แก่ อินซูลิน (insulin) โดยเดนมาร์กเป็นประเทศผู้นำประเทศหนึ่งในโลกที่ผลิตอินซูลินส่งออกขายในตลาดโลก
6) อุตสาหกรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ (เดนมาร์ก มีความเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องการออกแบบและคุณภาพ) กังหันลมเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า (เดนมาร์กเป็นประเทศผู้นำประเทศหนึ่งที่ส่งออกกังหันลมชนิดดังกล่าว)
7) อุตสาหกรรม software ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Industry) เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม และ
8) อุตสาหกรรม Shipbuilding บริษัทอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของเดนมาร์กจะมีขนาดกลาง (medium-sized industry) และบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สำคัญของเดนมาร์ก รวมทั้งบริษัทที่มีการลงทุนในต่างประเทศ เช่น กลุ่มบริษัท A.P.Moller ซึ่งมีบริษัทเดินเรือ Maersk Line รวมอยู่ด้วย Danfoss (refrigeration technology), Grundfos (ผลิต pumps) Novo Nordisk (pharmaceuticals) เบียร์ Carlsberg และ Tuborg ตลอดจน รองเท้า Ecco เป็นต้น นอกจากนี้ เดนมาร์กยังได้สำรวจพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือซึ่งมีปริมาณมากพอที่นำไปใช้ภายในประเทศ รวมทั้งส่งออกสู่ตลาดโลกได้นับตั้งแต่ปี 2534 (ค.ศ.1991) เป็นต้นมา

การค้าขาย ทางด้านการค้ากับต่างประเทศนั้น เดนมาร์กทำการค้ากับสมาชิกสหภาพยุโรปมากถึง 2 ใน 3 ของการค้าต่างประเทศทั้งหมด ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของเดนมาร์กในยุโรปเรียงตามลำดับ ได้แก่ เยอรมนี สวีเดน อังกฤษ นอร์เวย์ ฝรั่งเศส ส่วนประเทศคู่ค้าที่อยู่นอกภูมิภาคยุโรป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เอเชีย สินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ รถยนต์และอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เหล็กและผลิตภัณฑ์ ปลาและผลิตภัณฑ์ สินค้าพลาสติก เป็นต้น รายได้จากการค้าระหว่างประเทศของเดนมาร์กคิดเป็นร้อยละ 60 ของ GDP ของเดนมาร์ก โดยร้อยละ 32 ของผลิตภัณฑ์ของเดนมาร์กถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สินค้าออกของเดนมาร์กในปัจจุบันเป็นสินค้าอุตสาหกรรมร้อยละ 70 อีกร้อยละ 17 เป็นสินค้าเกษตร สินค้าออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร เครื่องมือ เคมีภัณฑ์ สุกรมีชีวิต เนื้อหมู เสื้อผ้า สิ่งทอ

นโยบายทางเศรษฐกิจ จุดมุ่งหมายของนโยบายเศรษฐกิจเดนมาร์ก คือ การทำให้เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีอัตราการจ้างงานที่สูง การพัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและความสมบูรณ์ การส่งเสริมระบบรัฐสวัสดิการเพื่อความมั่นคงของประชาชนและความปลอดภัยทางสังคม และการจัดสรรเงินสนับสนุนจากรัฐบาลให้ประชาชนอย่างมีเหตุผล โดยเดนมาร์กและเยอรมนีมีระดับการจ้างงานคนที่อยู่ในวัยทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่สูงที่สุดร้อยละ 14.6 เมื่อเปรียบเทียบกับสมาชิกสหภาพยุโรปโดยเฉลี่ยร้อยละ 12.2 และสหรัฐฯ ร้อยละ 11.8
ด้านการต่างประเทศ
นโยบายต่างประเทศของเดนมาร์กมีเป้าหมายสำคัญ คือ การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ การทำนุบำรุงความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเดนมาร์กอย่างดีที่สุด และการส่งเสริมมาตรฐานและค่านิยมที่สำคัญ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เดนมาร์กยังเน้นแนวนโยบายที่มีเป้าหมายให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการป้องกันความขัดแย้ง การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคง รวมทั้งการเสริมสร้างความประนีประนอมในบริเวณที่มีความขัดแย้งด้วยการร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe - OSCE) การต่างประเทศของเดนมาร์กในยุคปัจจุบันได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อบริบทหรือด้านต่างๆ ดังนี้
1. สหภาพยุโรป (European Union) เดนมาร์กได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อสหภาพยุโรป และการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างบรรดาประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป เดนมาร์กเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรป (สหภาพยุโรปในปัจจุบัน) ตั้งแต่ปี 2516 (ค.ศ.1973) และพยายามผลักดันให้สหภาพยุโรปขยายสมาชิกภาพให้ครอบคลุมประเทศจากภูมิภาคฝั่งทะเลบอลติกและยุโรปตะวันออก แม้ว่าเดนมาร์กเข้าร่วมในกิจกรรมและพันธกรณีของสหภาพยุโรปอย่างแข็งขัน แต่ด้วยเหตุผลการเมืองภายในประเทศและมติมหาชน เดนมาร์กยังคงมีข้อสงวน 4 ประการ ในการเข้าร่วมกระบวนการรวมตัวของสหภาพยุโรป ซึ่งได้แก่
1) การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (EMU)
2) นโยบายการป้องกันร่วม
3) การเป็นพลเมืองแห่งสหภาพยุโรป
4) นโยบายด้านยุติธรรมและมหาดไทย (Justice and Home Affairs) ตลอดจนการตัดสินใจ
โดยเสียงข้างมากในประเด็นปัญหาทางกฎหมายภายในและภายนอกสหภาพยุโรป การลงประชามติของเดนมาร์กในการเข้าร่วมสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน(Economic and Monetary Union –EMU) ของสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 (ค.ศ.2000) รัฐบาลเดนมาร์กได้จัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการเข้าร่วมของเดนมาร์กในสหภาพเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป ในขั้นตอนของการใช้เงินสกุลเดียวหรือเงินยูโร (Euro) ผลปรากฏว่า ประชาชนร้อยละ 53.1ไม่เห็นด้วยต่อการเข้าร่วม EMU ขณะที่ร้อยละ 46.9 เห็นด้วย ทั้งนี้ ในการลงประชามติดังกล่าวมีประชาชนไปใช้สิทธิร้อยละ 87.8 จากประชากรจำนวนประมาณ 5.3 ล้านคน
บทบาทที่สำคัญของเดนมาร์กในกิจการความสัมพันธ์ในกรอบของสหภาพยุโรป
คือ การเข้ารับหน้าที่ประธานสหภาพยุโรปของเดนมาร์ก (EU Presidency) ระหว่างเดือน
กรกฎาคม-ธันวาคม 2545 (ค.ศ.2002) รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพของเดนมาร์กในการจัดประชุมระดับผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 4 (Asia-Europe Meeting –ASEM) ในเดือนกันยายนปี 2545 (ค.ศ.2002)

2. ภูมิภาคนอร์ดิก (Nordic) เดนมาร์กมีนโยบายให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนอร์ดิก ซึ่งประกอบด้วย นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ ภายใต้กรอบกิจกรรมของคณะมนตรีนอร์ดิก (Nordic Council) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม กระบวนการประชาธิปไตย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

3. องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เดนมาร์กเป็นประเทศสมาชิกองค์การ NATO ตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2492 (ค.ศ. 1949) โดยเดนมาร์กถือว่าเป็นสถาบันกลางที่ส่งเสริมความมั่นคงทางการเมืองในยุโรป นอกจากนี้ เดนมาร์กยังสนับสนุนให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทแข็งขันในองค์การดังกล่าว แต่ไม่เห็นด้วยที่องค์การ NATO จะขยายสมาชิกภาพให้ครอบคลุมบรรดาประเทศในยุโรปตะวันออกอย่างรวดเร็วเกินไป ขณะเดียวกัน ก็ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของสหพันธรัฐรัสเซียด้วย

4. องค์การสหประชาชาติ เดนมาร์กเป็นประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2488(ค.ศ.1945) โดยเดนมาร์กได้เข้าร่วมกิจกรรมสำคัญๆ ร่วมกับองค์การสหประชาชาติในด้านต่างๆเช่น การส่งกองกำลังเข้าร่วมในกิจกรรมมากกว่ากึ่งหนึ่งของการปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ การส่งเสริมภารกิจขององค์การสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือประเทศในโลกที่สาม การให้การสนับสนุนกิจกรรมขององค์การสหประชาชาติในด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทางสังคม ความมั่นคงร่วมกัน และการพัฒนาประชาธิปไตย นอกจากนี้ เดนมาร์กมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยเป็นหนึ่งในบรรดาไม่กี่ประเทศในโลกที่ได้บริจาคความช่วยเหลือในอัตราส่วนมากถึงร้อยละ 1 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GNP) เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคีไปยังประเทศเป้าหมาย อาทิ บรรดาประเทศแถบทะเลบอลติก ยุโรปตะวันออก กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเดนมาร์กให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ความเจริญทางเศรษฐกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม การเคารพสิทธิมนุษยชน และบทบาทของสตรีในการพัฒนา ทั้งนี้ ความช่วยเหลือโดยตรงส่วนใหญ่จะเน้นไปยังประเทศในภูมิภาคแอฟริกา นอกจากนั้นเดนมาร์กยังได้บริจาคความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกร้อยละ 0.5 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GNP) เพื่อส่งเสริมสันติภาพและประชาธิปไตยเป็นการเฉพาะ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก
ความสัมพันธ์ทางการทูต ประเทศไทยและเดนมาร์กเริ่มมีการติดต่อระหว่างกันครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2164 (ค.ศ.1621) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยเรือสินค้าเดนมาร์กได้เดินทางมาถึงเมืองตะนาวศรีและได้นำปืนไฟมาขาย ต่อมาชาวเดนมาร์กได้รับอนุญาตให้เข้ามาค้าขายในราชอาณาจักร หลักฐานการติดต่อระหว่างไทยกับเดนมาร์กปรากฏอีกครั้งเมื่อปี 2313 (ค.ศ.1770) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อไทยได้สั่งซื้อปืนใหญ่จาก Danish Royal Asiatic Company ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยและเดนมาร์ก ได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2401 (ค.ศ. 1858) หลังจากนั้น ทั้งสองประเทศได้เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างกัน โดยในปี 2403 (ค.ศ. 1860) เดนมาร์กได้ตั้งสถานกงสุลที่กรุงเทพฯ และในปี 2425 (ค.ศ. 1882) ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำประเทศในยุโรปให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งโดยหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์) ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กคนแรก โดยมีสำนักงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอนระหว่างปี 2425 (ค.ศ.1882) – 2426 (ค.ศ.1883) และได้ย้ายสำนักงานไปยังกรุงปารีส ระหว่างปี 2426 (ค.ศ.1883)- 2431 (ค.ศ.1888) กรุงเบอร์ลิน ระหว่างปี 2431 (ค.ศ.1888)
– 2497 (ค.ศ.1954) และตั้งแต่ปี 2497 (ค.ศ.1954) จึงได้เปิดสำนักงานที่กรุงโคเปนเฮเกน โดยมีขุนพิพิธวิรัชชการ ดำรงตำแหน่งอัครราชทูต และต่อมาเมื่อไทยและเดนมาร์กยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2501 (ค.ศ. 1958) ขุนพิพิธวิรัชชการ ได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กคนแรก ปัจจุบันสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไอซ์แลนด์และลิทัวเนีย ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำไทยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศพม่าและกัมพูชา ในปัจจุบันสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำเดนมาร์กตั้งอยู่ที่ Norgesmindevej 18, 2900 Hellerup กรุงโคเปนเฮเกน และสถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำไทยตั้งอยู่ที่ 10 ซอยสาทร 1 ถนนสาทรใต้ กรุงเทพฯ
- เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเดนมาร์ก นายชัยสิริ
อนะมาน
- กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน นาย Carsten Nielsen
- กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทย ณ เมืองวีเดอร์แซนด์ นาย Ib Thomsen
- เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย นาย Michael Sternberg
- กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำประเทศไทย นาย Anders Normann
- กงสุลกิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำเมืองพัทยา นาย Stig Vagt-Andersson
สำหรับการแต่งตั้งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2470 (ค.ศ.1927) เป็นต้นมา รัฐบาลเดนมาร์กได้แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอีสเอเชียติคประจำประเทศไทย (The East Asiatic (Thailand) Public Co.,Ltd.-EAC) ซึ่งเป็นบริษัทจากเดนมาร์กบริษัทแรกที่ได้เข้ามาทำธุรกิจพาณิชย์ในไทยตั้งแต่ปี 2427(ค.ศ.1884) ให้ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง และในการแต่งตั้งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน ก็ได้ถือเป็นหลักปฏิบัติมาช้านานว่า จะคัดเลือกมาจากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของบริษัทอีสเอเชียติค (เดนมาร์ก) ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเดนมาร์ก ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเก่าแก่เกือบ 400 ปี (จะครบ 400 ปี ในปี 2564 (ค.ศ.2021)) ได้ดำเนินไปด้วยความราบรื่นในบรรยากาศของมิตรไมตรีและความเข้าใจที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ของทั้งสองประเทศที่มีความใกล้ชิดกันมาเป็นเวลาช้านานนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และหลังจากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างต่อเนื่องเสมอมา
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 รัฐบาลไทยได้อนุมัติการเปิดสถานกงสุลใหญ่เดนมาร์กประจำจังหวัดภูเก็ต โดยฝ่ายเดนมาร์กประสงค์ที่จะให้สถานกงสุลใหญ่ฯ สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์ ต่อมาล่าสุดในปี 2549 ฝ่ายเดนมาร์กได้ขอปิดสถานกงสุลใหญ่ฯ และได้ขอเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำจ.ภูเก็ตแทน

ความสัมพันธ์ทางการเมือง ในกรอบการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีทางด้านการเมือง ไทยและเดนมาร์กต่างมีความเห็นสอดคล้องและร่วมมือกันด้วยดีในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมือง/ความมั่นคงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีสำหรับในกรอบความสัมพันธ์ระดับพหุภาคี ไทยและเดนมาร์กได้มีความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กรอบความสัมพันธ์อาเซียนกับสหภาพยุโรป (ASEAN-EU) และกรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM) รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ และองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป(Organization for Security and Cooperation in Europe –OSCE)ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนและเดนมาร์กในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรปได้มีท่าทีที่สอดคล้องกันในการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภายใต้กรอบความร่วมมือการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting-ASEM)ทั้งสองประเทศต่างเห็นถึงความสำคัญของเวทีดังกล่าวว่า จะสามารถเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและขยายความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียกับยุโรปให้ดำเนินไปอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยทั้งสองประเทศได้สนับสนุนซึ่งกันและกันในการพัฒนาเวทีการประชุมเอเชีย-ยุโรปให้มีความเจริญก้าวหน้า โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2539 (ค.ศ.1996)ซึ่งเดนมาร์กได้ส่งผู้แทนระดับสูงมาร่วมประชุมดังกล่าว ขณะที่เดนมาร์กมีกำหนดการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 4 ในเดือนกันยายนปี 2545 (ค.ศ.2002) ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเดนมาร์กเข้ารับหน้าที่เป็นประธานสหภาพยุโรป (EU Presidency) ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2545 (ค.ศ.2002)

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ทางการค้า
ในปี 2549 (ม.ค.-ส.ค.) ปริมาณการค้าระหว่างไทยเดนมาร์กมีมูลค่า 394.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 236.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 158.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับสถิติในปี 2548 (ค.ศ.2005) ปริมาณการค้าระหว่างไทยเดนมาร์กมีมูลค่า 449.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.2ของ การค้ารวมของไทย
เดนมาร์กเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 44 ของไทยกับโลก และเป็นอันดับที่ 11 ของไทยกับสหภาพยุโรป
ด้านการส่งออก การส่งออกของไทยไปเดนมาร์กในปี 2548 มีมูลค่า 254.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ รองเท้าและชิ้นส่วน เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ
ด้านการนำเข้า ในปี 2548 ไทยนำเข้าจากเดนมาร์กมีมูลค่า 194.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ เครื่องจักรในการเกษตร เครื่องจักรอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม
ดุลการค้า ในปี 2548 ไทยได้เปรียบดุลการค้าเดนมาร์ก 60.0ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์ ยานพาหนะและอุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้นสินค้านำเข้าจากเดนมาร์กที่มีศักยภาพ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า
1. ปริมาณการค้าสองฝ่ายมีไม่มากนัก แต่ไทยก็เป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับเดนมาร์กมาโดยตลอด จนถึงปี 2540 (ค.ศ.1997) ที่ไทยเป็นฝ่ายเริ่มได้เปรียบดุลการค้า
2. การติดต่อค้าขายส่วนใหญ่เดนมาร์กจะค้าขายกับกลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศยุโรปตะวันตกด้วยกัน
3. คู่แข่งทางการค้าของไทยที่สำคัญ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ต่างมีความได้เปรียบด้านการขนส่งเท่าเทียมกันกับไทย ดังนั้น
ราคาและคุณภาพของสินค้าจะเป็นตัวผลักดันการขยายตลาด
(ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)
ตารางสถิติการค้าไทย-เดนมาร์ก ดังเอกสารแนบ
แผนการส่งเสริมการขยายการส่งออกไทยไปยังเดนมาร์กและภูมิภาคยุโรปเหนือ
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน และกรุงสตอกโฮล์ม และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดโครงการ Road Show นำนักธุรกิจไทยในสาขาเสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหาร การให้บริการทางการแพทย์ และเครื่องใช้ประดับในบ้าน ประมาณ 12 คน เดินทางไปเยือนเดนมาร์กและสวีเดน เพื่อแสวงหาลู่ทางขยาย เปิด และเจาะตลาดสินค้าส่งออกของไทยในเดนมาร์ก สวีเดน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรปเหนือ และประชาสัมพันธ์สินค้า ส่งออกของไทยในตลาดยุโรปเหนือให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น
ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน กิจการที่เดนมาร์กมีความสนใจในการลงทุนในไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภทอุตสาหกรรมขนาดกลางซึ่งเดนมาร์กมีความชำนาญและเชี่ยวชาญ เช่น ด้านการผลิตรองเท้า การผลิตเครื่องดื่มเบียร์ อุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนกิจการด้านบริการโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งเป็นสาขาที่เดนมาร์กมีประสบการณ์และถือเป็นประเทศชั้นนำที่มีความเจริญก้าวหน้าและทันสมัยมากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรปในช่วงที่ไทยประสบวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 (ค.ศ.1997)
ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเดนมาร์กในระดับหนึ่ง โดยได้มีการชะลอการลงทุน
ทั้งในประเภทการลงทุนโดยตรงและการลงทุนร่วมในไทย อย่างไรก็ตาม เดนมาร์กยังคง
เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไทยเป็นฐานผลิตสินค้าสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับโครงการลงทุนจากเดนมาร์กที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Office of Board of Investment –BOI) ระหว่างปี 2528-2546 (เดือนม.ค.-มี.ค.) (ค.ศ. 1985-2003) มีจำนวนทั้งสิ้น 37 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 3,854.8 ล้านบาท และในปี 2547 มีโครงการจากลงทุนจำนวน 3 โครงการ มูลค่ารวม 139.7 ล้านบาท

การท่องเที่ยว
สถิตินักท่องเที่ยวเดนมาร์กเดินทางมาไทยในช่วงปี 2549 (ม.ค.-มี.ค.) มีจำนวน 47,464 คน
พัฒนาการ
การเดินทางมาไทยของนักท่องเที่ยวเดนมาร์กตั้งแต่ปี 2529-2533 (ค.ศ.1986-1990) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ต่อมาในปี 2534 (ค.ศ.1991) การเดินทางมาไทยของนักท่องเที่ยวเดนมาร์กมีจำนวนลดลง หลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 2535-2548 (ค.ศ.1992-2005) จำนวนนักท่องเที่ยวเดนมาร์กที่เดินทางมาไทยได้มีการปรับตัวและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2542(ค.ศ.1999) มีนักท่องเที่ยวเดนมาร์กจำนวน 78,446 คน ปี 2544 (ค.ศ.2001)- 78,728 คน ปี 2545 (ค.ศ.2002) - 84,617 คน ปี 2546 (ค.ศ.2003) - 82,828 คน ปี 2547 (ค.ศ.2004) - 89,672 คน และปี 2548 (ค.ศ.2005) - 103,787 คน ซึ่งถือเป็นลำดับที่ 2 รองจากสวีเดน ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก 5 ประเทศ โดยประเทศไทยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับความนิยม และรองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง และออสเตรเลีย
สำหรับสถิติในปี 2549 (ม.ค.-มี.ค.) มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปเดนมาร์กจำนวน 2,050 คน (ปี 2548 - 11,233 คน ปี 2547- 8,191 คน ปี 2546 - 8,570 คน ปี 2545 - 8,432 คน)
รายได้จากนักท่องเที่ยวเดนมาร์กในปี 2545 (ค.ศ.2002) นักท่องเที่ยวเดนมาร์กมีวันเฉลี่ย 14.54 วัน และมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวัน 2,693.04 บาท ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 3,017 ล้านบาท นักท่องเที่ยวเดนมาร์กใช้ค่าใช้จ่ายในด้านค่าที่พักเป็นส่วนใหญ่ รองลงมา คือ การใช้จ่ายซื้อของ และอาหาร

สถานการณ์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน ปัจจัยเสริมที่มีผลต่อการขยายตัวของการท่องเที่ยวของเดนมาร์กในไทย คือ การที่ประเทศไทยสามารถตอบสนองต่อความต้องการและรสนิยมในการท่องเที่ยวของชาวเดนมาร์กโดยเฉพาะธรรมชาติและชายทะเล ซึ่งนักท่องเที่ยวเดนมาร์กถือเป็นกลุ่มที่มีรายได้และกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง และมีความนิยมในการท่องเที่ยวประเภทหาดทรายและชายทะเล กอปรกับการที่มีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกระหว่างไทยกับเดนมาร์กโดยเฉพาะการมีบริการเที่ยวบินโดยตรงระหว่างกรุงโคเปนเฮเกน-กรุงเทพฯ ประมาณ 11 เที่ยวต่อสัปดาห์ ตลอดจนเรื่องความได้เปรียบในอัตราแลกเปลี่ยนเงิน

ลักษณะและกลุ่มนักท่องเที่ยวเดนมาร์ก โครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวเดนมาร์กในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คือ ส่วนใหญ่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเอง เป็นกลุ่มตลาดระดับบน และมีอายุอยู่ในช่วงวัยทำงาน 25-34 ปี สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีทิศทางการเติบโตที่มีแนวโน้ม ได้แก่ กลุ่มประชุมกลุ่มที่เดินทางมากับบริษัทนำเที่ยว กลุ่มประชากรวัยเกษียณ/ผู้สูงอายุ กลุ่มตลาดใหม่ที่เดินทางมาไทยเป็นครั้งแรก กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา และกลุ่มตลาดระดับล่าง ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับล่างส่วนใหญ่จะเข้ามาท่องเที่ยวโดยพำนักในช่วงระยะเวลาที่ยาว
(ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและความช่วยเหลือ เดนมาร์กได้มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ไทยในด้านต่างๆ มาเป็นเวลาช้านานนับตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวเช่น
กองทัพบก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดชทรงไปศึกษาวิชาการทางทหารที่เดนมาร์กเมื่อปี 2434 (ค.ศ.1892) และทรงฝึกหัดรับราชการทหารอยู่ในกรมปืนใหญ่สนามของเดนมาร์ก เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาทรงนำความรู้วิชาการทางทหารจากเดนมาร์กมาพัฒนากองทัพบกของไทยให้มีความทันสมัย

กองทัพเรือ นายทหารเรือชาวเดนมาร์ก คือ นาย Andreas du Plessis de Richelieu ได้รับราชการในกองทัพเรือระหว่างปี 2419-2445 (ค.ศ.1876-1902) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชลยุทธโยธิน

กิจการรถไฟ รัฐบาลไทยได้อนุมัติสัมปทานให้แก่บริษัทเดนมาร์กในการสร้างทางรถไฟสายแรกขึ้นในประเทศ คือ เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ (ปากน้ำ) ในปี 2429 (ค.ศ.1886)

กิจการไฟฟ้า นาย Andreas du Plessis de Richelieu ชาวเดนมาร์ก ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทไฟฟ้าสยามเมื่อปี 2441 (ค.ศ.1898) โดยบริษัทได้จำหน่ายกระแสไฟฟ้า
แก่ประชาชนในพระนคร และต่อมาบริษัทได้โอนกิจการให้มาเป็นของรัฐเมื่อวันที่
1 มกราคม 2493 (ค.ศ.1950) นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดกิจการรถรางขึ้นในพระนครด้วย

กิจการปูนซีเมนต์บริษัทสยามซีเมนต์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สั่งซื้อเครื่องจักรจากประเทศเดนมาร์ก และได้จ้างชาวเดนมาร์กที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารการผลิตและการบัญชีมาช่วยการดำเนินกิจการของบริษัทในระหว่างช่วงปี 2457-2502 (ค.ศ.1914-1959) และหลังจากปี 2517 (ค.ศ.1974) บริษัทได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทปูนซีเมนต์ไทย
(ที่มา : หนังสือสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ปี 2539)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-เดนมาร์ก ในด้านต่างๆ ที่ได้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเจริญของประเทศและความเข้าใจระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เช่น โครงการความร่วมมือทางด้านโบราณคดี โครงการความร่วมมือทางด้านพฤกษศาสตร์ กิจการฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก สยามสมาคม เป็นต้น ในปัจจุบันเดนมาร์กมี 2 หน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบในความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ระหว่างไทยกับเดนมาร์ก คือ 1) หน่วยงานการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของเดนมาร์ก (Danish International Development Assistance – DANIDA) และ 2) หน่วยงานรับผิดชอบความร่วมมือด้านการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมของเดนมาร์ก (Danish Cooperation for Environment and Development –DANCED)
DANIDA ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ต่างประเทศและอยู่ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยในรูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการในกรอบทวิภาคีติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2504 (ค.ศ.1961) เช่น การให้ทุนการศึกษาและการฝึกอบรม อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือในกรอบทวิภาคีดังกล่าวมีกำหนดสิ้นสุดโครงการในปี 2542 เนื่องจากเดนมาร์กเห็นว่า ไทยมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น (รายได้ประชาชาติต่อหัวมากกว่า 2,160 ดอลลาร์สหรัฐ) และแม้ว่าเดนมาร์กมีนโยบายหยุดการให้ความช่วยเหลือในกรอบทวิภาคีแก่ไทย
ไทยก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากเดนมาร์กในกรอบระดับภูมิภาค ซึ่งเดนมาร์กได้ให้ความช่วยเหลือผ่านทางสถาบันระดับภูมิภาค เช่น สถาบัน Asian Institutes of Technology (AIT) รวมทั้งโครงการการให้ความช่วยเหลือภายใต้การให้เงินกู้แบบผ่อนปรน (Mixed Credits Programme) นอกจากนี้ ไทยยังได้รับความช่วยเหลือและมีความร่วมมือกับ DANCEDซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมของโลก โดย DANCED ได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในการพัฒนาสาขาที่เดนมาร์กมีความชำนาญและเชี่ยวชาญ อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองและโรงงาน การจัดการป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้พัฒนารูปแบบความร่วมมือไปสู่ความร่วมมือแบบไตรภาคี (Trilateral Cooperation) ซึ่งเดนมาร์กจะให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมแก่ประเทศที่สามในไทย โดยเฉพาะภูมิภาคอินโดจีน อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ในปัจจุบันมีกรอบที่เป็นทางการในการดำเนินความสัมพันธ์ในความร่วมมือเพื่อการพัฒนา คือ การจัดประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือ ทางวิชาการระหว่างกันเป็นประจำทุกปีระหว่างหน่วยงาน DANIDA กระทรวงการต่างประเทศของเดนมาร์กกับสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (กรมวิเทศสหการเดิม) กระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งล่าสุดฝ่ายไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางวิชาการ-ไทย-เดนมาร์กด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ครั้งที่ 12 (The Annual Consultation on Thai-Danish Environmental Cooperation) ที่จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2546
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนโดยเฉพาะกับชุมชนชาวไทยในเดนมาร์ก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ได้ สนับสนุนการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ณ วัดไทยพรหมวิหาร กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยสถาบันเอเชียฯ ได้นำคณาจารย์ผู้สอนในวิชาต่างๆ เช่น การแกะสลัก ศิลปะไทย การนวดแผนไทย อาหหารไทยและขนมไทย รวมทั้ง การจัดดอกไม้ เป็นต้น เดินทางไปเปิดการสอนหลักสูตรฝึกอบรมที่เดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2546
การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย
ในระดับราชวงศ์
- เดือนกรกฎาคม 2440 (ค.ศ.1897) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนเดนมาร์ก และเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก
- 30 มิถุนายน 2450 (ค.ศ.1907) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนเดนมาร์กครั้งที่สอง และเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง
- ปี 2473 (ค.ศ.1930) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ เยือนเดนมาร์ก
- วันที่ 6-9 กันยายน 2503 (ค.ศ.1960) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 13-15 กันยายน 2531 (ค.ศ.1988) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
- เดือนกรกฎาคม 2536 (ค.ศ.1992) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนเดนมาร์ก เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 22 สิงหาคม – 3 กันยายน 2542 (ค.ศ.1999) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนเดนมาร์ก และเกาะกรีนแลนด์ลัตเวีย เอสโตเนียและลิทัวเนีย เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 19-25 เมษายน 2545 (ค.ศ. 2002) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กในฐานะพระราชอาคันตุกะของ
สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

ในระดับผู้นำรัฐบาล (นายกรัฐมนตรี)
- ปี 2522 (ค.ศ.1979) ฯพณฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
- 1-3 ตุลาคม 2524 (ค.ศ.1981) ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
- 16-18 เมษายน 2527 (ค.ศ.1984) ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 8-11 มีนาคม 2533 (ค.ศ.1990) ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กอย่างเป็นทางการ
- เดือนมีนาคม 2538 (ค.ศ.1995) ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีเยือนเดนมาร์ก เพื่อเข้าประชุมสุดยอดด้านสังคม (Social Summit)
- วันที่ 22-24 กันยายน 2545 (ค.ศ.2002) ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์กเพื่อเข้าประชุมระดับผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 4 (ASEM Summit)
ในระดับทั่วไป
- เดือนกรกฎาคม 2526 (ค.ศ. 1983) พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเดนมาร์ก
- วันที่ 12-14 ตุลาคม 2537 (ค.ศ. 1994) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะนักธุรกิจไทยเยือนเดนมาร์ก
- วันที่ 17-18 มิถุนายน 2541 (ค.ศ. 1998) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเดนมาร์กเพื่อหารือข้อราชการกับนาย Friis Arne Petersen ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก
- วันที่ 22-24 กันยายน 2545 (ค.ศ.2002) นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเดนมาร์ก โดยร่วมอยู่ในคณะของนายกรัฐมนตรี เพื่อ เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 4 (ASEM Summit)
- วันที่ 5-7 มิถุนายน 2546 (ค.ศ.2003) นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี เยือนเดนมาร์ก
- วันที่ 26 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2546 (ค.ศ.2003) นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยือนเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์

ฝ่ายเดนมาร์ก
ในระดับราชวงศ์
- เดือนธันวาคม 2442 (ค.ศ.1899) เจ้าชายวัลเดอมาร์ (Valdemar) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าคริสเตียน ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก (His Majesty King Christian IX) เสด็จฯ เยือนไทย
- เดือนมกราคม 2473 (ค.ศ.1930) เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก(สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก (His Majesty King Frederik IX)) เสด็จฯ เยือนไทย
- วันที่ 12-24 มกราคม 2505 (ค.ศ.1962) สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และสมเด็จพระราชินีอินกริด (Her Majesty Queen Ingrid) เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 17-28 พฤศจิกายน 2506 (ค.ศ.1963) เจ้าหญิงมาร์เกรเธอ มกุฎราชกุมารีแห่งเดนมาร์ก (สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (Her Majesty Queen Margrethe II)) พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และสมเด็จพระราชินีอินกริด เสด็จฯ เยือนไทย
- วันที่ 30 เมษายน- 5 พฤษภาคม 2524 (ค.ศ.1981) สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี (His Royal Highness Prince Henrik) เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 24-27 ตุลาคม 2536 (ค.ศ.1993) เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก (His Royal Highness Crown Prince Frederik) พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 2-15 ธันวาคม 2536 (ค.ศ.1993) เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์เพื่อทรงเข้าร่วมการแข่งขันเรือชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ประจำปี 2536
- วันที่ 14-23 พฤษภาคม 2540 (ค.ศ.1997) เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์
- เดือนกันยายน 2541 (ค.ศ.1998) เจ้าหญิงอเล็กซานดรา (Her Royal Highness Princess Alexandra) พระชายาของเจ้าชายโจคิม แห่งเดนมาร์ก (His Royal Highness Prince Joachim) พระราชโอรสองค์ที่สองในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอ ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก เสด็จฯ
แวะผ่านไทย
- วันที่ 18-19 มีนาคม 2542 (ค.ศ.1999) เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรโครงการเพื่อการพัฒนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมเดนมาร์ก (DANCED)
- วันที่ 5 ธันวาคม 2543 และวันที่ 12-13 ธันวาคม 2543 (ค.ศ.2000) เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี ในสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ แวะผ่านไทย
- วันที่ 9 –10 ธันวาคม 2543 (ค.ศ.2000) เจ้าชายโจคิม แห่งเดนมาร์กเสด็จฯ แวะผ่านไทย
- วันที่ 25 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2544 (ค.ศ.2001) เจ้าชายโจคิม แห่งเดนมาร์กพร้อมด้วยเจ้าหญิงอเล็กซานดรา และเจ้าชายนิโคไล ( Prince Nikolai) พระโอรส เสด็จฯ เยือนไทย(จ.ภูเก็ต) เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ 2544 (ค.ศ.2001) สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี พร้อมด้วยเจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ (State Visit) ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 12-17 กุมภาพันธ์ 2546 (ค.ศ.2003) เจ้าชายโจคิม แห่งเดนมาร์ก และ
เจ้าหญิงอเล็กซานดรา เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 15-17 เมษายน 2548 (ค.ศ.2005) เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก และเจ้าหญิงแมรี พระชายา พร้อมด้วยนายอันเดอร์ โฟค ราสมูสเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กและภริยา เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงเข้าร่วมงานพิธีรำลึกแก่ผู้เสียชีวิตชาวเดนมาร์กจากเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์ ซึ่งได้จัดขึ้น ที่เขาหลักจ.พังงา วันที่ 16 เมษายน 2548
-วันที่ 11-14 มิถุนายน 2549 (ค.ศ.2006) เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จ พระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กเสด็จฯ เยือนไทย เพื่อทรงเข้าร่วมงาน ฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
-วันที่ 22-23 มิถุนายน 2549 (ค.ศ.2006) เจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีในสมเด็จ พระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กเสด็จฯ แวะเยือนไทย ก่อนเสด็จฯ กลับ กรุงโคเปนเฮเกน
ในระดับผู้นำรัฐบาล (นายกรัฐมนตรี)
- วันที่ 14-17 มีนาคม 2531 (ค.ศ.1988) นายพอล ชลูเทอร์ (Poul Schluter) นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก พร้อมด้วยภาคเอกชนเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกรัฐบาล (Official Visit)
- วันที่ 1-2 มีนาคม 2539 (ค.ศ. 1996) นายนีลส์ เฮลวิก พีเทอร์เซน (Niels Helveg Petersen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting -ASEM) ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ในฐานะ ผู้แทนของนายพอล นูรูพ ราสมูสเซน (Poul Nyrup Rasmussen) นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก
- วันที่ 17-18 เมษายน 2548 (ค.ศ.2005) นายอันเดอร์ โฟค ราสมูสเซน (Mr. Anders Fogh Rasmussen) นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก และภริยา เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล (Working Visit) ในระหว่างการเยือนไทย นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้เข้าพบ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเพื่อหารือข้อราชการ และเมื่อวันที่ 15-17 เมษายน 2548 นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กและภริยา พร้อมด้วยมกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์กและพระชายาได้เข้าร่วมงานพิธีรำลึกแก่ผู้เสียชีวิตชาวเดนมาร์ก ซึ่งทางการเดนมาร์กได้จัดขึ้นเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์ ที่เขาหลัก จ.พังงา เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2548

ในระดับทั่วไป
- วันที่ 16-18 มกราคม 2537 (ค.ศ. 1994) นาย Niels Helveg Petersen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก และคณะพร้อมด้วยคณะภาคเอกชนเยือนไทย
- วันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ 2544 (ค.ศ.2001) นาย Mogens Lykketoft รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก พร้อมด้วยนาย Friis Arne Petersen ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก เยือนไทย (โดยร่วมอยู่ในคณะการเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ (State Visit) ของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) และเข้าเยี่ยมคารวะ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

2549

เอกสารแนบ

เรียบเรียงโดย กองยุโรป 2 กรมยุโรป โทร. 0-2643-5133 Fax. 0-2643-5132 E-mail : european03@mfa.go.th



ข้อมูลประเทศอื่นๆทั่วโลก
อัฟกานิสถาน  แอลเบเนีย  แอลจีเรีย  อันดอร์รา  แองโกลา  แอนติกาและบาร์บูดา  อาร์เจนตินา  อาร์เมเนีย  ออสเตรเลีย  ออสเตรีย  อาเซอร์ไบจาน  บาฮามาส  บาห์เรน  บังกลาเทศ  บาร์เบโดส  เบลารุส  เบลเยียม  เบลีช  เบนิน  ภูฏาน  โบลิเวีย  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  บอตสวานา  บราซิล  บรูไนดารุสซาลาม  บัลแกเรีย  บูร์กินาฟาโซ  บุรุนดี  กัมพูชา  แคเมอรูน  แคนาดา  เคปเวิร์ด  แอฟริกากลาง  ชาด  ชิลี  จีน  ฮ่องกง  มาเก๊า  ไต้หวัน  โคลัมเบีย  คอโมโรส  คอสตาริกา  โครเอเชีย  คิวบา  ไซปรัส  เช็ก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  เดนมาร์ก  จิบูตี  โดมินิกา  โดมินิกัน  เกาหลีเหนือ  เอกวาดอร์  อียิปต์  เอลซัลวาดอร์  อิเควทอเรียลกินี  เอริเทรีย  เอสโตเนีย  เอธิโอเปีย  ฟิจิ  ฟินแลนด์  ฝรั่งเศส  กาบอง  แกมเบีย  จอร์เจีย  เยอรมนี  กานา  กรีซ  เกรเนดา  กัวเตมาลา  กินี  กินีบิสเซา  กายอานา  เฮติ  นครรัฐวาติกัน  ฮอนดูรัส  ฮังการี  ไอซ์แลนด์  อินเดีย  อินโดนีเซีย  อิหร่าน  อิรัก  ไอร์แลนด์  อิสราเอล  อิตาลี  จาเมกา  ญี่ปุ่น  จอร์แดน  คาซัคสถาน  เคนยา  คิริบาส  คูเวต  คีร์กิซ  ลาว  ลัตเวีย  เลบานอน  เลโซโท  ไลบีเรีย  ลิเบีย  ลิกเตนสไตน์  ลิทัวเนีย  ลักเซมเบิร์ก  มาซิโดเนีย  มาดากัสการ์  มาลาวี  มาเลเซีย  มาลี  มอลตา  หมู่เกาะมาร์แชลล์  มอริเตเนีย  มอริเชียส  ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง  เม็กซิโก  ไมโครนีเซีย  มอลโดวา  โมนาโก  มองโกเลีย  โมร็อกโก  โมซัมบิก  พม่า  นามิเบีย  นาอูรู  เนปาล  เนเธอร์แลนด์  นิวซีแลนด์  นิวซีแลนด์  นิการากัว  ไนเจอร์  ไนจีเรีย  นอร์เวย์  องค์การรัฐอเมริกัน  โอมาน  ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา  ปากีสถาน  ปาเลา  ปานามา  ปาปัวนิวกินี  ปารากวัย  เปรู  ฟิลิปปินส์  โปแลนด์  โปรตุเกส  กาตาร์  คองโก  เกาหลีใต้  กลุ่มริโอ  โรมาเนีย  รัสเซีย  รวันดา  เซนต์คิตส์และเนวิส  เซนต์ลูเซีย  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์  ซามัว  ซานมาริโน  เซาโตเมและปรินซิเป  ซาอุดีอาระเบีย  เซเนกัล  เซอร์เบีย  เซเชลส์  เซียร์ราลีโอน  สิงคโปร์  สโลวาเกีย  สโลวีเนีย  หมู่เกาะโซโลมอน  โซมาเลีย  แอฟริกาใต้  สเปน  ศรีลังกา  ซูดาน  ซูรินาเม  สวาซิแลนด์  สวีเดน  สวิตเซอร์แลนด์  ซีเรีย  ทาจิกิสถาน  แทนซาเนีย  ติมอร์-เลสเต  โตโก  ตองกา  ตรินิแดดและโตเบโก  ตูนิเซีย  ตุรกี  เติร์กเมนิสถาน  ตูวาลู  ยูเออี  ยูกันดา  ยูเครน  สหราชอาณาจักร  สหรัฐอเมริกา  อุรุกวัย  อุซเบกิสถาน  วานูอาตู  เวเนซุเอลา  เวียดนาม  เยเมน  แซมเบีย  ซิมบับเว 



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์