ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com >> อิรัก




แผนที่
สาธารณรัฐอิรัก
Republic of Iraq


 
ข้อมูลทั่วไป
ประวัติศาสตร์สำคัญ

- อิรักเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีชื่อปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์สมัยโบราณ เรียกว่า เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) หมายถึง แผ่นดินที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำไทกริส (Tigis) และยูเฟรตีส (Euphrates) ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นดินแดนที่มีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มีผู้คนอพยพจากที่ต่าง ๆ เพื่อมาอาศัยในดินแดนแห่งนี้ มีอาณาจักรโบราณหลายแห่ง อาทิ อาณาจักรซูเมอร์ (Sumerian Civilization) อาณาจักรบาบิโลเนีย (Babylonia) อัสซีเรีย (Assyria) มีเดีย (Media) เป็นต้น ในศตวรรษที่ 8 Abassid caliphate ได้ตั้งเมืองหลวงขึ้น ณ กรุงแบกแดด ต่อมาในปี พ.ศ. 1996 พวกเติร์ก แห่งจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman) ได้ยึดครองดินแดนที่เป็นอิรักได้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 ดินแดนแห่งนี้จึงอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2461

- ในปี พ.ศ. 2463 อิรักตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และได้รับอิสรภาพและประกาศเป็นราชอาณาจักรเมื่อปี พ.ศ. 2475 และต่อมาได้มีการปฏิวัติโค่นล้มระบบกษัตริย์และเปลี่ยนสถานะเป็นสาธารณรัฐอิรักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 มีการปกครองโดยประธานาธิบดี ทั้งนี้ อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2522 และนำประเทศทำสงครามกับอิหร่านระหว่างปี พ.ศ. 2523-2531 ต่อมาอิรักได้ส่งกองทัพบุกยึดครองคูเวตเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2533 จนทำให้เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียซึ่งกองกำลังสหรัฐฯ และพันธมิตรได้ขับไล่กองกำลังอิรักออกจากคูเวตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

- หลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย สหประชาชาติได้ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิรัก และต่อมาสหรัฐฯ และพันธมิตรได้พยายามกดดันให้รัฐบาลอิรักทำลายอาวุธร้ายแรง ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2546 สหรัฐฯ และพันธมิตรได้ทำสงครามโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน และได้เข้ายึดการปกครองประเทศ โดยได้จัดตั้งคณะบริหารประเทศชั่วคราวของกองกำลังพันธมิตร (Coalition Provisional Authority - CPA) ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2546

- ต่อมา ได้มีการส่งมอบอำนาจอธิปไตยคืนให้แก่รัฐบาลชั่วคราวของอิรัก (Iraqi Interim Government) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2548 ได้มีการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติ ที่มีจำนวนสมาชิก 275 ที่นั่ง และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน (Transitional Government) เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2548 โดยมีนาย Jalal Talabani ชาวเคิร์ดเป็นประธานาธิบดี และนาย Ibrahim Al-Jaafari ชาวชีอะต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศ ต่อมาได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญของอิรัก และลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับถาวรดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2548

- เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2548 อิรักได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ และมีการจัดตั้งรัฐบาลถาวรอิรัก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 โดยนาย Jalal Talabani ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอิรักอีกครั้งหนึ่ง และนาย Nouri Al-Maliki จากพรรค Dawa ของชาวอิรักนิกายชีอะต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงปัจจุบัน

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ

พ.ศ. 2281 ตกอยู่ใต้อาณาจักรออตโตมัน

พ.ศ. 2465 ตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ

พ.ศ. 2475 สิ้นสุดการเป็นรัฐในอาณัติของอังกฤษ เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ

พ.ศ. 2501 เปลี่ยนระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นสาธารณรัฐ

พ.ศ. 2511 เริ่มต้นการปกครองโดยพรรคบาธ โดยมีประธานาธิบดี Ahmad Masan Al Bakr และรองประธานาธิบดี Saddam Hussein

พ.ศ. 2522 รองประธานาธิบดี Saddam Hussein ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

พ.ศ. 2523-2531 สงครามระหว่างอิรัก-อิหร่าน

พ.ศ. 2533 เข้ายึดครองคูเวต (ส.ค. 2533 - ก.พ. 2534)

พ.ศ. 2533 ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยสหประชาชาติ

พ.ศ. 2534 สหรัฐฯ และพันธมิตรทำสงครามขับไล่อิรักออกจากคูเวต (สงครามอ่าวเปอร์เซีย)

พ.ศ. 2546 สหรัฐฯ และพันธมิตรทำสงครามโค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดีซัดดัม ยึด อำนาจการปกครองประเทศและจัดตั้งคณะบริหารประเทศชั่วคราวของกองกำลังพันธมิตร (Coalition Provisional Authority-CPA) ภายใต้การนำของนาย Paul Bremer
28 มิถุนายน พ.ศ. 2547 คณะบริหารประเทศชั่วคราว (CPA) ส่งมอบอำนาจอธิปไตยให้แก่รัฐบาลชั่วคราวอิรัก

13 ธันวาคม 2546 อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น ถูกกองกำลังสหรัฐฯ จับกุมตัวที่ตำบลเล็กๆ แห่งหนึ่ง ใกล้เมือง Tikrit ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอดีตประธานาธิบดี

30 มกราคม 2548 เลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ

6 เมษายน 2548 จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว

15 ตุลาคม 2548 ลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

19 ตุลาคม 2548 อดีตประธานาธิบดีอิรัก ถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดีในความผิดข้อหาอยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ชาวอิรักนิกายชีอะต์จำนวน 148 คนที่เมือง Dujail ในอิรักเมื่อปี 2525

5 พฤศจิกายน 2549 ศาลอิรักได้มีคำพิพากษาตัดสินให้ประหารชีวิตอดีตประธานาธิบดีอิรัก

15 ธันวาคม 2548 เลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

16 มีนาคม 2549 เปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

22 เมษายน 2549 สภานิติบัญญัติแห่งชาติเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี และลงมติรับรองนาย Nouri Al-Maliki เป็นนายกรัฐมนตรี

20 พฤษภาคม 2549 สภานิติบัญญัติแห่งชาติรับรองรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ถือว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์)
30 ธันวาคม 2549 อดีตประธานาธิบดีอิรักถูกประหารชีวิต

สภาพทางภูมิศาสตร์

พื้นที่ทั้งหมด 437,072 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดกับประเทศคูเวต ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน ซีเรีย ตุรกี และอิหร่าน พื้นที่ร้อยละ 40 เป็นทะเลทราย อย่างไรก็ดี แม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสซึ่งไหลผ่านกลางประเทศเป็นแหล่งพลังงานและทรัพยากรที่สำคัญของอิรัก

เมืองหลวง แบกแดด (Baghdad) ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศ

เมืองสำคัญ เมือง Mosul และเมือง Kirkuk ทางตอนเหนือ และเมือง Basrah ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางตอนใต้

ประชากร 27,499,638 คน (ประมาณการเมื่อเดือน ก.ค. 2550) แยกเป็นชาวอาหรับประมาณร้อยละ 75 ชาวเคิร์ดร้อยละ 20 ชาวเติร์กเมน (Turkoman) ชาวอัสซีเรียน (Assyrian) ชาวเบดูอินและอื่น ๆ ร้อยละ 5

ภาษา อาหรับและเคิร์ด

ศาสนา อิสลามประมาณร้อยละ 97 (นิกายชีอะต์ร้อยละ 60-65 และสุหนี่ร้อยละ 32-37) คริสเตียนกรีกออร์โธดอกซ์และอื่น ๆ ประมาณร้อยละ 3

ภูมิอากาศ แห้งแล้ง ฝนตกน้อย ในฤดูร้อนอากาศร้อนจัดในฤดูหนาวอากาศหนาวจัด ฤดูร้อน (เมษายน – กันยายน) อากาศร้อนจัด อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 40-60 องศาเซลเซียส ฤดูหนาว (ตุลาคม – มีนาคม) อากาศหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 4-10 องศาเซลเซียส

สกุลเงิน ดินาร์อิรักใหม่ (New Iraqi Dinar-NID) เริ่มใช้เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2547

อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แลกได้ประมาณ 1,466 ดินาร์อิรักใหม่ (ปี 2549)

การเมืองการปกครอง

ระบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย (parliamentary democracy)

ผู้นำประเทศในปัจจุบัน

- ประธานาธิบดีอิรัก คือ นาย Jalal Talabani (ชาวเคิร์ด) ได้รับคัดเลือกโดยสภานิติบัญญัติให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอิรักเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2548 และมีรองประธานาธิบดี 2 คน คือ นาย Adel Abdul Mahdi (นิกายชีอะต์) และนาย Tariq Al-Hashemi (นิกายสุหนี่)

- นายกรัฐมนตรีอิรัก คือ นาย Nouri Al-Maliki (นิกายชีอะต์) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กลุ่มนิกายชีอะต์ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้รับตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศอิรัก

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิรัก คือ นาย Hoshya Zebari (ชาวเคิร์ด)

พัฒนาการทางการเมือง

- ภายหลังสหรัฐฯ ได้ประกาศสิ้นสุดสงครามเมื่อ พ.ค. 2546 กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้ดำเนินการไปตามขั้นตอน นับตั้งแต่สหรัฐฯ ได้ส่งมอบอำนาจการบริหารประเทศคืนให้กับอิรักเมื่อ มิ.ย. 2547 มีการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติและจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเมื่อช่วงต้นปี 2548 มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ (ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2548 ซึ่งพรรคพันธมิตรของชาวชีอะต์ได้รับเสียงข้างมาก โดยได้ที่นั่งในสภาจำนวน 128 ที่นั่งจากจำนวน 275 ที่นั่ง ขณะที่พรรคการเมืองของชาวสุหนี่ได้ที่นั่งรองลงมาจำนวน 69 ที่นั่ง กลุ่มชาวเคิร์ดได้ 53 ที่นั่ง และกลุ่มผู้สมัครอิสระได้ 25 ที่นั่ง มีการเปิดประชุมสภาฯ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2549 ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลอิรัก เป็นไปอย่างล่าช้า

- เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2549 สภานิติบัญญัติแห่งชาติอิรักได้เลือกนาย Jalan Talabani อดีตประธานาธิบดีในช่วงรัฐบาลเฉพาะกาล ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอิรักอีกครั้งหนึ่ง และลงมติรับรองให้นาย Nouri Al-Maliki รองหัวหน้าพรรค Dawa ของชาวชีอะต์ อดีตโฆษกรัฐบาลเฉพาะกาล และเคยลี้ภัยไปอยู่ซีเรียในช่วงการปกครองของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีรองนายกรัฐมนตรี 2 คน ได้แก่ นาย Barham Salih และนาย Salam Al-Zubai โดยรัฐบาลถาวรของอิรักประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 37 คน

- (หมายเหตุ อิรักยังคงมีปัญหาในด้านการเมือง ซึ่งสหรัฐฯ และพันธมิตร รวมทั้งประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มชาติอาหรับ ได้เรียกร้องให้อิรักเร่งสร้างความปรองดอง และจัดสรรอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นธรรมระหว่างกลุ่มศาสนานิกายต่างๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการแก้ไขในหลายประเด็น อาทิ (1) ข้อเสนอรูปแบบการปกครองแบบสมาพันธรัฐ (federalism) ซึ่งถูกผลักดันโดยฝ่ายชีอะต์ อย่างไรก็ดี ฝ่ายสุหนี่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่า จะนำมาซึ่งความแตกแยกของอิรักออกเป็นรัฐอิสระ โดยมองว่า ฝ่ายเคิร์ดที่อยู่ทางเหนือ และฝ่ายชีอะต์ที่อยู่ทางตอนใต้ จะสามารถครอบครองแหน่งน้ำมันสำคัญในพื้นที่ตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศ (2) ปัญหาเรื่องรูปแบบการจัดสรรรายได้ที่เกิดขึ้นจากน้ำมัน ยังมิได้มีการกำหนดจัดสรรอย่างลงตัว (3) ปัญหาเรื่องการกำหนดสิทธิอำนาจในการให้สัมปทานน้ำมันของอิรัก (4) ปัญหาเรื่องการจัดสรรน้ำจืดระหว่างภาคต่าง ๆ และ (5) ปัญหาการระบุเกี่ยวกับรัฐอิรัก ซึ่งฝ่ายสุหนี่ต้องการให้ระบุว่า อิรักเป็นรัฐอาหรับ อย่างไรก็ดี ฝ่ายเคิร์ด ไม่ยอมรับ เนื่องจากเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งมีชาวเคิร์ดกว่า 6 ล้านคนมิได้มีเชื้อสายอาหรับ ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญจึงได้ระบุถ้อยคำเพียงว่า อิรักเป็นรัฐอิสลาม และอิรักเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสันนิบาตอาหรับ)

สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

ความปลอดภัยในอิรัก

สถานการณ์ในอิรักยังมีความขัดแย้งและมีความรุนแรงอยู่โดยทั่วไป โดยยังคงมีการดำเนินการในลักษณะต่างๆ ของฝ่ายต่อต้านกองกำลังสหรัฐฯ และพันธมิตร รวมทั้งการต่อต้านรัฐบาลอิรัก ตลอดจนการต่อสู้ระหว่างกลุ่มศาสนาและเชื้อชาติ ทั้งในลักษณะการระเบิดพลีชีพ การจับตัวประกันชาวต่างชาติและชาวอิรัก และการเรียกค่าไถ่เพื่อหวังผลทางการเมืองและเพื่อเงิน ตลอดจนการติดตามสังหารเจ้าหน้าที่การทูต และเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในอิรัก

ความเป็นอยู่ทั่วไป

ความเป็นอยู่ในอิรักโดยทั่วไปยังมีความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนสาธารณูปโภคทุกประเภทที่สำคัญ อาทิเช่น ไฟฟ้า และน้ำประปาสำหรับอุปโภคและบริโภค ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในอิรักถูกทำลายตั้งแต่ช่วงเกิดสงคราม และยังไม่ได้รับการบูรณะปรับปรุงตามที่คาดหมายไว้ ไฟฟ้าในอิรักสามารถมีใช้ได้เพียง 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ปัญหาเรื่องสุขอนามัยที่ยังมีปัญหาสืบเนื่องจากระบบการจัดการขยะ และมลภาวะที่เป็นพิษที่เกิดจากสงคราม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาคนว่างงานและปัญหาอาชญากรรมภายในประเทศที่เกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างกลุ่มศาสนา

ความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างกลุ่มศาสนาซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธของตนเองยังปรากฏอยู่ในอิรักอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลยังไม่สามารถใช้อำนาจรัฐได้อย่างทั่วถึง จึงทำให้มีการอพยพหลั่งไหลของคนอิรักออกไปยังประเทศต่าง ๆ จำนวนนับล้านคน อาทิ จอร์แดน มีผู้อพยพจากอิรักมายังจอร์แดนหลายแสน ซีเรีย ซูดาน และอียิปต์ ก็มีผู้อพยพไปอยู่เป็นจำนวนหลายแสนคนเช่นกัน


การคมนาคม

การเดินทางไปยังอิรักโดยรถยนต์ จะต้องผ่านเส้นทางและเขตต่าง ๆ ซึ่งตกอยู่ในพื้นที่อิทธิพลของฝ่ายต่อต้าน และกลุ่มก่อการร้าย ดังนั้น การเดินทางโดยรถยนต์จึงไม่ปลอดภัยอย่างมาก ซึ่งอาจถูกซุ่มโจมตี ถูกปล้น และถูกจับไปเป็นตัวประกันได้ การเดินทางโดยทางเครื่องบิน มีสายการบินอิรัก และสายการบินจอร์แดน ซึ่งก็ปรากฏมีการสั่งปิดสนามบินกรุงแบกแดดอยู่เสมอ เนื่องจากสถานการณ์ความปลอดภัย โดยไม่มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้า

สมาชิกในองค์การระหว่างประเทศ

- องค์การสหประชาชาติและทบวงการชำนาญพิเศษต่าง ๆ

- สันนิบาตอาหรับ (Arab League)

- องค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference – OIC)

- กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement – NAM)

- องค์การประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organization of Petroleum Exporting Countries – OPEC)

- องค์การประเทศอาหรับผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organization of Arab Petroleum Exporting Countries – OAPEC)

- คณะมนตรีความร่วมมือแห่งอาหรับ (Arab Cooperation Council – ACC)

เศรษฐกิจการค้า
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 50.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)

อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.4 % (ปี 2549)

สถานะทางเศรษฐกิจ

- อิรักมีรายได้หลักของประเทศจากการส่งออกน้ำมันดิบประมาณร้อยละ 95 นอกจากนั้น มีรายได้จาก อินทผลัม ปุ๋ย และอื่น ๆ บ้างเล็กน้อยเท่านั้น ในอดีตอิรักเคยเป็นประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูงและเคยมีระบบการศึกษา วิชาการและสาธารณสุขที่ก้าวหน้ามากประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง อิรักมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองประมาณ 115 พันล้านบาร์เรล เป็นอันดับสองรองจากซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งมีก๊าซธรรมชาติอีกจำนวนมหาศาล (ประมาณ 110 พันล้านลูกบาศก์ฟุต)

- ช่วงทศวรรษที่ 80 และ 90 อิรักเผชิญกับความยากลำบากจากสงครามกับอิหร่าน รวมทั้งสงครามอ่าวเปอร์เซีย ตลอดจนการอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้ระบบเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค สภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบัน รัฐบาลอิรัก โดยการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ ตลอดจนนานาประเทศ ได้พยายามฟื้นฟูสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอิรัก ภายใต้แผนระดมการสนับสนุนเพื่อพัฒนาประเทศอิรักในระยะยาว “International Compact with Iraq”

- อัตราว่างงานในอิรักยังคงสูงระดับร้อยละ 28-50 อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากการที่สามารถฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมน้ำมันได้ และอยู่ในขั้นตอนที่จะกลับเข้าสู่ระบบการค้าโลกได้

อุตสาหกรรมสำคัญ อิรักผลิตน้ำมันประมาณวันละ 2 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า อิรักจำเป็นต้องผลิตน้ำมันให้ได้ไม่น้อยกว่าวันละ 2.2 - 3 ล้านบาร์เรล เพื่อที่จะสามารถนำรายได้จากน้ำมันมาเร่งฟื้นฟูการพัฒนาและบูรณะประเทศ

สินค้าออกที่สำคัญของอิรัก ได้แก่ น้ำมัน อินทผลัม และฝ้าย

สินค้าเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าประเภทอาหาร ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าวเจ้า และน้ำตาล วัสดุก่อสร้าง เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า เครื่องจักรและสิ่งทอ อุปสงค์ข้าวในอิรัก ประมาณปีละ 960,000 ตัน ส่วนข้าวสาลีประมาณปีละ 4 ล้านตัน ข้าวเจ้าส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ไทย และเวียดนาม เป็นต้น

คู่ค้าสำคัญ สหรัฐฯ ซีเรีย ตุรกี จอร์แดน

การปฏิรูประบบการค้า

- ภายหลังสงคราม รัฐบาลอิรักได้พยายามฟื้นฟูระบบการค้าและเศรษฐกิจ โดยยกเว้นการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมนำเข้าสินค้าอิรักทุกประเภท อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2547 ได้เริ่มมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ ในอัตราร้อยละ 5 โดยยกเว้นสินค้า ประเภท อาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าด้านมนุษยธรรม รวมทั้งสินค้าสำหรับโครงการก่อสร้างเพื่อฟื้นฟูบูรณะประเทศ

- รัฐบาลอิรักพยายามปรับปรุงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแก้ไขระเบียบการค้าเพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งส่งเสริมการติดต่อกับบริษัทจากประเทศต่างๆ รวมทั้งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การปรับปรุงสนามบินนานาชาติแบกแดด การเปิดทำการของสายการบิน Royal Jordanian (อัมมาน-แบกแดด-อัมมาน) ปรับปรุงท่าเรือ Umm Qasr และ Az Zubair (เริ่มมีการขนส่งสินค้าทางเรือเฉลี่ยเดือนละ 60 เที่ยว)

การส่งเสริมการลงทุน

- แต่เดิมอิรักภายใต้การปกครองของซัดดัม ฮุสเซ็น ได้จำกัดการลงทุนของต่างชาติ (เช่นเดียวกับชาติอาหรับหลายประเทศ ซึ่งจำกัดให้คนชาติตน เป็นผู้ถือใบอนุญาตประกอบธุรกิจ) อย่างไรก็ดี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการออกระเบียบเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2547 อนุญาตให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ ยกเว้น การครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ (อิรักต้องการสงวนการครอบครองทรัพยากรน้ำมัน) และมีการออกกฎระเบียบที่อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน

- ธุรกิจการค้าภายในอิรัก ผู้ประกอบการสามารถเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้ระยะยาวถึง 40 ปี (แต่ไม่สามารถเป็นเจ้าของ) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบในการเช่า (เช่น บางกรณีมีการขอขึ้นค่าเช่าในแต่ละปีหลายเท่าตัว)

- อิรักเปิดกิจการตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2547 มีมูลค่าการซื้อขายยังไม่มากนัก และยังไม่เปิดการลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติ ตลาดหลักทรัพย์อิรักทำการ 2 วันต่อสัปดาห์ และวันละ 2 ชั่วโมง

- รัฐบาลเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและบริษัท (corporate and personal income taxes) โดยทั่วไปไม่เกินร้อยละ 15

- นอกจากนี้ รัฐบาลอิรักได้จัดตั้ง Iraqi Business Center Alliance ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือนักลงทุนต่างชาติ ในการเข้าไปลงทุนในอิรัก และช่วยจัดหาผู้ร่วมลงทุนท้องถิ่น (domestic partners)

การเงินและการธนาคาร

- รัฐบาลอิรักมีนโยบายส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเสรี โดยพยายามปรับปรุงระบบการเงินการธนาคารให้ได้มาตรฐาน หลังจากถูกควบคุมอย่างเข้มงวดภายใต้ระบอบซัดดัม ฮุสเซ็นมาอย่างยาวนาน เช่น การสร้างความเป็นอิสระของธนาคารชาติ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการค้า (Trade Bank of Iraq) การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ การป้องกันการฟอกเงิน เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาธนาคารท้องถิ่นให้มีมาตรฐานสากล

- อิรักมีธนาคารและสถาบันการเงินท้องถิ่น 6 แห่ง โดยธนาคารสำคัญได้แก่ ธนาคาร Rafidain และธนาคาร Rashid ที่ผ่านมา ธนาคารและสถาบันการเงินทั้ง 6 แห่ง ยังมีหนี้สินจำนวนมาก และไม่พร้อมสำหรับการประกอบกิจการติดต่อธุรกิจในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 2547 เป็นต้นมา ธนาคารชาติอิรักได้สั่งการให้ธนาคารต่างๆ ของอิรัก เปิดธุรกิจปริวรรตเงินตราและการค้าระหว่างประเทศ (international payment, remittances, foreign currency L/C)

- รัฐบาลอิรักพยายามส่งเสริมให้ธนาคารต่างชาติเข้าไปลงทุนในอิรัก ที่ผ่านมา มีธนาคารต่างชาติได้รับใบอนุญาตประกอบการในอิรัก แต่ยังไม่เปิดทำการ ได้แก่ Hong Kong Shanghai Banking Corporation, Standard Chartered Bank, Arab Banking Corporation และ National Bank of Kuwait (NBK)

- แม้ธนาคารอิรักยังไม่มีความพร้อม แต่เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการประกอบธุรกิจการค้า รัฐบาลอิรักจึงได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการค้า (Trade Bank of Iraq : TBI) ซึ่งลงทุนร่วมกับ J.P. Morgan Chase อำนวยความสะดวกด้านการเงินและการค้ำประกัน (trade finance and short-term credit) ให้กับบริษัทท้องถิ่นและบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะผู้นำเข้า ที่ผ่านมา มีการเปิด L/C ไปแล้วจำนวนกว่า 900 รายการ (ปี 2548)มูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับ international suppliers ไม่ต่ำกว่า 59 ประเทศ

- นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ และกองทุนที่เกิดจากการร่วมลงทุน ที่ให้ความสะดวกและค้ำประกันการค้า เช่น การลงทุนร่วมระหว่างกระทรวงการคลังอิรัก และ TBI และ Ex-Im Bank ของสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ สถาบันการเงิน International Finance Corporation (IFC) ของ World Bank จัดตั้งกองทุนมูลค่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และกองทุนสนับสนุนโครงการก่อสร้างฟื้นฟูบูรณะของ IMF มูลค่า 436 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิรัก
- ประเทศไทยกับอิรักสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2499 (1956) ไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแบกแดด และอิรักมี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ในระหว่างสงครามสหรัฐฯ บุกโจมตีอิรัก ได้มีการปิดที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตอิรักในกรุงเทพฯ ในส่วนของไทย เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแบกแดด ได้อพยพออกจากอิรักก่อนสงคราม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2546 และได้จัดตั้งสำนักงานชั่วคราวในกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน โดยยังคงมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลอาคารสถานเอกอัครราชทูตในกรุงแบกแดด
- ไทยและอิรักมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยไม่เคยมีข้อขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกัน ในช่วงหลังสงคราม ไทยมีนโยบายให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่อิรัก อาทิ การช่วยเหลือด้านอาหารผ่านองค์กรระหว่างประเทศ เช่น WFP นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการหลักสูตรฝึกอบรมในสาขาต่างๆ ให้แก่บุคลากรอิรักในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

- ปัจจุบัน ไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ซึ่งมีภารกิจครอบคลุมอิรัก เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัมมาน ได้แก่ นายอิสินทร สอนไว ในส่วนของอิรัก สอท.อิรัก ถนนประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ ได้ปิดทำการไปตั้งแต่ช่วงสงคราม สหรัฐฯ - อิรักเดือนเมษายน พ.ศ. 2546
- ไทยและอิรัก ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Committee - JTC) เมื่อปี 2527 โดยอิรักได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกที่กรุงแบกแดด เมื่อปี 2531 และครั้งที่สองเมื่อปี 2543 สำหรับครั้งที่ 3 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 8-12 มกราคม 2545

- ไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่อิรักมาโดยตลอด นับตั้งแต่อิรักถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลังสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก และในช่วงหลังสงครามสหรัฐฯ และอิรัก ไทยได้บริจาคเงินผ่าน ICRC จำนวน 10 ล้านบาท ช่วยเหลือด้านอาหารมูลค่า 20 ล้านบาทผ่าน WFP และส่งกองกำลังเฉพาะกิจฯ ไปช่วยเหลือด้านการแพทย์ และบูรณะซ่อมแซมเป็นระยะเวลา 1 ปี รวมทั้งล่าสุดได้ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับชาวอิรักในสาขาต่างๆ ตามความต้องการจนถึงปัจจุบัน

การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวอิรักของ กกล.ฉก.976 ไทย/อิรัก ระหว่าง ตุลาคม 2546 - กันยายน 2547

ตามมติของสหประชาชาติที่ 1483 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 ให้สมาชิกสหประชาชาติให้การสนับสนุนกองกำลังพันธมิตรในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่อิรักเป็นการเร่งด่วน และให้การสนับสนุนฟื้นฟูบูรณะอิรักให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ รัฐบาลไทยจึงได้เสนอให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาและฟื้นฟูอิรักหลังสงครามโดยเน้นให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก โดยจัดตั้ง กองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม 976 ไทย/อิรัก หรือ กกล.ฉก.976 ไทย/อิรัก จำนวน 2 ผลัด ผลัดละ 443 นายไปปฏิบัติหน้าที่ในเมืองคาร์บาลา ประเทศอิรัก ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2546 – ก.ย. 2547

ด้านการช่าง

สนับสนุนฟื้นฟูบูรณะอิรัก ได้แก่ การซ่อมสร้างถนน 13 สาย อาคารโรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่สาธารณและระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหาย

ด้านการแพทย์

เปิดบริการ MOBILE CLINIC ให้การรักษาพยาบาลแก่ชาวอิรักในเขตพื้นที่เมืองคาร์บาร่าและบริเวณใกล้เคียง ให้การรักษาพยาบาลแก่ชาวอิรักเป็นจำนวน 32,241 ราย

ด้านส่งเสริมการเกษตร

ในผลัดที่ 2 มีการส่งชุดส่งเสริมการเกษตรเข้าไป แนะนำด้านการเกษตรกรรม เพื่อให้ชาวอิรักสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ มีการนำพันธุ์พืชแจกจ่ายให้กับชาวอิรัก รวมทั้งจะมีการอบรมการใช้ปุ๋ยเพื่อให้พื้นดินเหมาะสมกับการเพาะปลูก ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีมาแล้วในติมอร์ตะวันออก

ด้านกิจการพลเรือน

- ปฏิบัติงานชุมชนสัมพันธ์รอบค่ายลิม่า โดยจัดชุดแพทย์เคลื่อนที่เดินทางไปให้บริการประชาชนชาวอิรัก และนำสิ่งของอุปโภค บริโภค ซึ่งประกอบด้วย ข้าวสาร ผ้าห่ม ปลากระป๋อง นมกระป๋องสำหรับทารก ของเด็กเล่น ฯลฯ
- ปัจจุบัน กกล.ฉก. 976 ฯ ถอนตัวออกจากอิรักทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2547

สถานะล่าสุดของคนไทยในอิรัก และจอร์แดน

คนไทยในอิรัก รวมทั้งสิ้น 8 คน ซึ่งแยกได้ ดังนี้
- นักธุรกิจไทย จำนวน 1 คน (นายไตรสิทธิ์ ไชยวะรา พำนักอยู่ทางเหนือของอิรัก)
- แม่บ้านและครอบครัวที่สมรสกับชาวอิรัก จำนวน 7 คน

คนไทยในจอร์แดน รวมทั้งสิ้น 181 คน ซึ่งแยกได้ ดังนี้
- คนงานไทย ได้แก่ พนักงานโรงแรม (15 คน) ช่างทอง (45 คน) ลูกเรือสายการบินจอร์แดน (32 คน) แม่บ้าน (3 คน) และนักธุรกิจ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (2 คน)รวมจำนวน 97 คน - นักศึกษาไทย รวม 60 คน - ครอบครัวคนไทย (สมรสกับชาวจอร์แดน) รวม 24 คน


******************************

สิงหาคม 2550

เรียบเรียงโดย กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5051-52 E-mail : southasian03@mfa.go.th



ข้อมูลประเทศอื่นๆทั่วโลก
อัฟกานิสถาน  แอลเบเนีย  แอลจีเรีย  อันดอร์รา  แองโกลา  แอนติกาและบาร์บูดา  อาร์เจนตินา  อาร์เมเนีย  ออสเตรเลีย  ออสเตรีย  อาเซอร์ไบจาน  บาฮามาส  บาห์เรน  บังกลาเทศ  บาร์เบโดส  เบลารุส  เบลเยียม  เบลีช  เบนิน  ภูฏาน  โบลิเวีย  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  บอตสวานา  บราซิล  บรูไนดารุสซาลาม  บัลแกเรีย  บูร์กินาฟาโซ  บุรุนดี  กัมพูชา  แคเมอรูน  แคนาดา  เคปเวิร์ด  แอฟริกากลาง  ชาด  ชิลี  จีน  ฮ่องกง  มาเก๊า  ไต้หวัน  โคลัมเบีย  คอโมโรส  คอสตาริกา  โครเอเชีย  คิวบา  ไซปรัส  เช็ก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  เดนมาร์ก  จิบูตี  โดมินิกา  โดมินิกัน  เกาหลีเหนือ  เอกวาดอร์  อียิปต์  เอลซัลวาดอร์  อิเควทอเรียลกินี  เอริเทรีย  เอสโตเนีย  เอธิโอเปีย  ฟิจิ  ฟินแลนด์  ฝรั่งเศส  กาบอง  แกมเบีย  จอร์เจีย  เยอรมนี  กานา  กรีซ  เกรเนดา  กัวเตมาลา  กินี  กินีบิสเซา  กายอานา  เฮติ  นครรัฐวาติกัน  ฮอนดูรัส  ฮังการี  ไอซ์แลนด์  อินเดีย  อินโดนีเซีย  อิหร่าน  อิรัก  ไอร์แลนด์  อิสราเอล  อิตาลี  จาเมกา  ญี่ปุ่น  จอร์แดน  คาซัคสถาน  เคนยา  คิริบาส  คูเวต  คีร์กิซ  ลาว  ลัตเวีย  เลบานอน  เลโซโท  ไลบีเรีย  ลิเบีย  ลิกเตนสไตน์  ลิทัวเนีย  ลักเซมเบิร์ก  มาซิโดเนีย  มาดากัสการ์  มาลาวี  มาเลเซีย  มาลี  มอลตา  หมู่เกาะมาร์แชลล์  มอริเตเนีย  มอริเชียส  ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง  เม็กซิโก  ไมโครนีเซีย  มอลโดวา  โมนาโก  มองโกเลีย  โมร็อกโก  โมซัมบิก  พม่า  นามิเบีย  นาอูรู  เนปาล  เนเธอร์แลนด์  นิวซีแลนด์  นิวซีแลนด์  นิการากัว  ไนเจอร์  ไนจีเรีย  นอร์เวย์  องค์การรัฐอเมริกัน  โอมาน  ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา  ปากีสถาน  ปาเลา  ปานามา  ปาปัวนิวกินี  ปารากวัย  เปรู  ฟิลิปปินส์  โปแลนด์  โปรตุเกส  กาตาร์  คองโก  เกาหลีใต้  กลุ่มริโอ  โรมาเนีย  รัสเซีย  รวันดา  เซนต์คิตส์และเนวิส  เซนต์ลูเซีย  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์  ซามัว  ซานมาริโน  เซาโตเมและปรินซิเป  ซาอุดีอาระเบีย  เซเนกัล  เซอร์เบีย  เซเชลส์  เซียร์ราลีโอน  สิงคโปร์  สโลวาเกีย  สโลวีเนีย  หมู่เกาะโซโลมอน  โซมาเลีย  แอฟริกาใต้  สเปน  ศรีลังกา  ซูดาน  ซูรินาเม  สวาซิแลนด์  สวีเดน  สวิตเซอร์แลนด์  ซีเรีย  ทาจิกิสถาน  แทนซาเนีย  ติมอร์-เลสเต  โตโก  ตองกา  ตรินิแดดและโตเบโก  ตูนิเซีย  ตุรกี  เติร์กเมนิสถาน  ตูวาลู  ยูเออี  ยูกันดา  ยูเครน  สหราชอาณาจักร  สหรัฐอเมริกา  อุรุกวัย  อุซเบกิสถาน  วานูอาตู  เวเนซุเอลา  เวียดนาม  เยเมน  แซมเบีย  ซิมบับเว 



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์