ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com >> รัสเซีย มอสโค
 

บินกับสายการบิน Air Astana ไป มอสโก
ขึ้น Air Astana ไปมอสโค

     




แผนที่
สหพันธรัฐรัสเซีย
Russian Federation


 
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง อยู่ทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย โดยมีพื้นที่ตั้งอยู่ทั้งในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป มีเทือกเขาอูราลเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างทั้งสองทวีป พื้นที่ 2 ใน 3 ของรัสเซียอยู่ในทวีปเอเชีย และมีพรมแดนติดกับประเทศอาเซอร์ไบจาน เบลารุส จีน เอสโตเนีย ฟินแลนด์ คาซัคสถาน เกาหลีเหนือ ลัตเวีย ลิทัวเนีย มองโกเลีย นอร์เวย์ โปแลนด์ และยูเครน และมีพื้นที่ติดกับมหาสมุทรอาร์กติกและมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ

พื้นที่ 17,075,200 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก ( ใหญ่กว่าประเทศไทย ราว 33 เท่า ) โดยมีระยะทางจากด้านตะวันออกจรดตะวันตก 9,000 กิโลเมตร และจากด้านเหนือจรดใต้มีระยะทาง 4,000 กิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงมอสโก (ประชากร 10,126,424 คน)

ประชากร 142.3 ล้านคน เป็นชาวรัสเซีย ร้อยละ 79.8 ที่เหลือเป็นเชื้อชาติอื่นๆ อาทิ ตาตาร์ ยูเครน บาชคีร์ เบลารุส เยอรมัน ยิว อาร์เมเนีย และคาซัค

ภูมิอากาศมี 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนและฤดูหนาว และเนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ ระดับอุณหภูมิจะแตกต่างตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั้งปีของรัสเซียฝั่งยุโรป ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส

ภาษาราชการ ภาษารัสเซีย

ศาสนา ส่วนใหญ่นับถือคริสตศาสนานิกายออร์โธดอกซ์รัสเซีย (ร้อยละ 70) ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 5.5) คริสตศาสนานิกายคาธอลิก (ร้อยละ 1.8) และพุทธศาสนานิกายมหายาน (ร้อยละ 0.6)

หน่วยเงินตรา รูเบิล (Russian ruble - RUR)
1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 25.57 รูเบิล (ค่าเฉลี่ยปี 2550)

ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) 1,236.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2550)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 13,463 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2550)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 7.4 (ปี 2550)

ระบอบการปกครอง สหพันธรัฐ ประกอบด้วยหน่วยการปกครอง 84 หน่วย แบ่งเป็น 21 สาธารณรัฐ (Republic) 8 เขตการปกครอง (Krai) 47 มณฑล (Oblast) 2 นคร (Federal cities) ได้แก่ กรุงมอสโกและนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งมีสถานภาพเดียวกับมณฑล 5 ภาคปกครองตนเอง (Autonomous Okrug) และ 1 มณฑลปกครองตนเอง (Autonomous Oblast)

การเมืองการปกครอง
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซีย

ในปี ค.ศ. 1917 ซึ่งอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914 -1918) ได้มีการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซียโดยกลุ่มบอลเชวิกภายใต้การนำของนายวลาดิเมียร์ เลนิน ทำให้ระบบกษัตริย์ได้ถูกล้มล้างไป กลุ่มบอลเชวิกได้เข้ามาบริหารประเทศ และเปลี่ยนชื่อประเทศจากจักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire) เป็น Russian Soviet Federative Socialist Republic พร้อมทั้งใช้กำลังทางทหารเข้ายึดครองรัฐต่าง ๆ ในจักรวรรดิรัสเซียเดิม และไดัจัดตั้งสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republic: USSR) หรือสหภาพโซเวียต (Soviet Union) ขึ้นในปี ค.ศ. 1922 โดยมีสาธารณรัฐรัสเซียเป็นแกนนำ

สหภาพโซเวียตตกอยู่ภายใต้การบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเน้นการบริหารและการวางแผนจากส่วนกลาง เป็นเวลายาวนานถึง 69 ปี เป็นผลให้ชาวโซเวียตนับล้านคนเสียชีวิตจากการกวาดล้างผู้ที่ไม่เห็นด้วยทางการเมือง และจากภาวะทุพภิกขภัย นอกจากนี้ ยังมีประชาชนชาวโซเวียตราว 20 ล้านคน เสียชีวิตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 -1945) และต่อมาในปี ค.ศ. 1949 โซเวียตได้เริ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง

ในระหว่างสงครามเย็น สหภาพโซเวียต ให้ความสำคัญกับนโยบายแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นผู้นำด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและการพัฒนาอาวุธ ส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ช่วงทศวรรษที่ 80 ทำให้ประชาชนและกลุ่มแรงงานออกมาเรียกร้องและต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นและรุนแรงขึ้น แม้ว่านายมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียตจะพยายามกำหนดแผนการปฏิรูปต่าง ๆ ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งนายกอร์บาชอฟ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1991 และสหภาพโซเวียตล่มสลายลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1991 โดยแยกออกเป็นประเทศทั้งสิ้น 15 ประเทศ ในส่วนของสหภาพโซเวียตนั้น ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสหพันธรัฐรัสเซีย ต่อมาสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศที่แตกตัวจากสหภาพโซเวียตอีก 11 ประเทศ (ยกเว้นประเทศบอลติก 3 ประเทศ ได้แก่ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ) ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) มีสมาชิก ดังนี้ 1. รัสเซีย 2. ยูเครน 3. อาร์เมเนีย 4. เบลารุส 5. จอร์เจีย 6. มอลโดวา 7. คาซัคสถาน 8. อุซเบกิสถาน 9. เติร์กเมนิสถาน 10. คีร์กิซสถาน 11. ทาจิกิสถาน 12. อาเซอร์ไบจาน

ระบบการปกครองในปัจจุบัน
รูปแบบการปกครอง สหพันธรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันเริ่มใช้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1993

การแบ่งส่วนการปกครอง

ประมุข ประธานาธิบดี มีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างสมบูรณ์ (มาจากการเลือกตั้ง อยู่ในตำแหน่งวาระละ 4 ปี และอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระติดกัน ทั้งนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2551
ฝ่ายบริหาร หัวหน้าฝ่ายบริหารคือ นายกรัฐมนตรี และปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีทั้งสิ้น 22 คน (รวมนายกรัฐมนตรี) และทั้งหมดแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี
ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาสูงหรือสภาสหพันธรัฐ (Federation Council) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 168 คน จากเขตการปกครอง 84 เขต (รวมทั้งเขตกรุงมอสโก และนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) เขตละ 2 คน และสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาดูมา ซึ่งมีผู้แทนจำนวน 450 คน (ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐสภารัสเซียมีบทบาทและอำนาจค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับอำนาจของประธานาธิบดี และสมาชิกรัฐสภาจะอยู่ในตำแหน่งวาระละ 4 ปี ทั้งนี้ การเลือกตั้งสภาดูมาเพิ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550)
ฝ่ายตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา ศาลสูงแห่งอนุญาโตตุลาการ และ สำนักงานอัยการสูงสุด
ระบบพรรคการเมือง เป็นระบบหลายพรรค ปัจจุบันพรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรค United Russia พรรคคอมมิวนิสต์ พรรค Liberal Democratic Party of Russia (LDPR) พรรค Just Russia

ผู้นำสำคัญทางการเมือง

ประธานาธิบดี
นายวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) (ได้รับเลือกตั้งเป็นวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547)
นายกรัฐมนตรี
นายเซอร์เก ซุบคอฟ (Sergei Zubkov) (ได้รับแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2550)
รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง
นายเซอร์เก อิวานอฟ (Sergei Ivanov) (ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548)
รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง
นายดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitriy Medvedev) (ได้รับการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548)
รองนายกรัฐมนตรี (ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ได้รับแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2547)
นายอเล็กเซ คูดริน (Alexei Kudrin)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายเซอร์เก ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) (ได้รับแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2547)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า
นางเอลวีรา นาบิอูลลินา (Elvira Nabiullina) (ได้รับแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550)

สถานการณ์ทางการเมืองภายในรัสเซีย

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 ได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาดูมาขึ้น โดยพรรค United Russia ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีปูติน ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 64.3 หรือคิดเป็น 315 ที่นั่งจากจำนวนที่นั่งในสภาทั้งสิ้น 450 ที่นั่ง ตามด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ ได้คะแนนร้อยละ 11.57 คิดเป็น 57 ที่นั่ง พรรค Liberal Democratic Party of Russia (LDPR) ได้คะแนนร้อยละ 8.14 คิดเป็น 40 ที่นั่ง และพรรค Just Russia ได้คะแนนร้อยละ 7.74 หรือคิดเป็น 38 ที่นั่ง ทั้งนี้ พรรคการเมืองฝ่ายค้านหลัก ๆ อาทิ พรรค Yabloko พรรค Union of Right Wing Forces ไม่สามารถผ่านเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำร้อยละ 7 ของผู้มาออกเสียงเพื่อเข้าสู่สภาได้

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายและการบริหารภายใต้รัฐบาลชุดนี้จะเป็นไปตามทิศทางที่ประธานาธิบดีปูตินวางไว้ โดยมีสภาดูมา ซึ่งมี ส.ส.จากพรรค United Russia ร่วมกับพรรคพันธมิตรคือ Just Russia ที่ครองเสียงข้างมากกว่า 2 ใน 3 ของที่นั่งในสภา เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายตามทิศทางดังกล่าว อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสัดส่วนของคะแนนเสียงที่ได้รับเมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงแล้ว พรรค United Russia ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเพียงร้อยละ 41 เท่านั้น ดังนั้น ผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า แม้พรรค United Russia จะชนะการเลือกตั้งและได้รับเสียงข้างมากในสภา แต่ก็มิได้รับชัยชนะโดยสมบูรณ์ในแง่ของการได้รับความไว้วางใจจากประชาชน

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2550 ประธานาธิบดีปูตินพร้อมด้วยหัวหน้า 4 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรค United Russia พรรค Just Russia พรรค Agrarian และพรรค Civil Force ได้ประกาศว่าจะสนับสนุนนาย Dmitry Medvedev รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นผู้สมัครเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวได้ยุติความคลุมเครือเกี่ยวกับการกำหนดทายาททางการเมืองของประธานาธิบดีปูติน ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งถึงเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น
มีการวิเคราะห์ถึงเหตุผลหลักที่ทำให้ประธานาธิบดีปูตินเลือกนาย Medvedev เป็นทายาทไว้ ดังนี้
1) เป็นบุคคลใกล้ชิดที่ประธานาธิบดีปูตินไว้วางใจ
2) เป็นคนวัยหนุ่มที่มีบุคลิกไม่แข็งกร้าวและไม่น่าจะขัดแย้งประธานาธิบดีปูตินในภายหลัง
3) เป็นการรักษาดุลยภาพของการจัดสรรอำนาจในกลุ่มผู้นำรัสเซีย โดยนำบุคคลที่ไม่อยู่ในกลุ่ม siloviki (เครือข่ายของกลุ่มนายทหาร เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง และอดีตเจ้าหน้าที่ KGB ที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูติน) มาถ่วงดุลกับกลุ่ม siloviki
4) นาย Medvedev เป็นบุคคลที่มีแนวคิดเสรีนิยม พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ซึ่งจะทำให้ได้รับการยอมรับและลดแรงกดดันจากชาติตะวันตกได้ในระดับหนึ่ง
ซึ่งตามเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ น่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่ารัสเซียพร้อมจะร่วมมือกับตะวันตกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะดำเนินนโยบายตามทิศทางที่ประธานาธิบดีปูตินวางเอาไว้ต่อไป

ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการกลางการเลือกตั้งก็ได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม 2551 โดยมีผู้สมัครที่ผ่านการรับรองทั้งสิ้น 6 คน เป็นผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง 4 คน ได้แก่ นาย Dmitry Medvedev จากพรรค United Russia นาย Vladimir Shchirinovsky จากพรรค Liberal Democratic Party of Russia นาย Gennady Zyuganov จากพรรคคอมมิวนิสต์ และนาย Boris Nemtsov จากพรรค Union of Right Wing Forces และผู้สมัครอิสระ 2 คน ได้แก่ นาย Mikhail Kasyanov และนาย Andrei Bogdanov ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อผู้สมัครเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2550 ปรากฏว่า นาย Medvedev ได้คะแนนนิยมร้อยละ 45 นาย Shchirinovsky และนาย Zyuganov ได้คะแนนร้อยละ 5 นาย Nemtsov ได้คะแนนร้อยละ 1 ส่วนผู้สมัครอิสระทั้งสองคนไม่ได้รับคะแนน

อนาคตการเมืองภายในรัสเซียมีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากประธานาธิบดีปูตินได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะสนับสนุนนาย Dmitry Medvedev ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้น และยังได้ประกาศว่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดต่อไปหลังจากหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนก็คือบทบาทและการจัดสรรอำนาจระหว่างประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยประธานาธิบดีปูตินจะยอมจำกัดบทบาทและอำนาจของตนให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือจะพยายามใช้อำนาจของตนเข้าครอบงำประธานาธิบดีคนใหม่ แต่ไม่ว่าเหตุการณ์จะออกมาในรูปแบบใด นาย Medvedev ก็จะยังมีภาพลักษณ์ของการอยู่ใต้อำนาจของประธานาธิบดีปูติน และคงไม่สามารถหลุดพ้นจากภาพลักษณ์นี้ไปได้ง่าย ๆ เนื่องจากยังต้องพึ่งพาประธานาธิบดีปูตินในการควบคุมกลไกรัฐบาลที่ดูแลด้านทหาร ความมั่นคง และหน่วยข่าวกรองต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของต่างประเทศที่มีต่อตัวนาย Medvedev และทำให้เกิดข้อกังขาว่าใครคือผู้มีอำนาจตัดสินใจที่แท้จริงของสหพันธรัฐรัสเซีย

นโยบายของรัฐบาลรัสเซียชุดปัจจุบัน
รัฐบาลรัสเซียภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีปูติน ในสมัยที่ 2 ให้ความสำคัญกับการใช้ศักยภาพของประเทศเพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สังคม และสาธารณสุข รวมทั้งการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย การสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคง และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ ในขณะเดียวกัน รัสเซียยังคงมุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจ และเปิดเสรีทางตลาด เพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ในขณะเดียวกัน รัฐบาลรัสเซียก็มีลักษณะโดดเด่นในการใช้อำนาจเผด็จการ (authoritarianism) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีหลายเหตุการณ์ที่บ่งบอกถึงการล่วงละเมิดประชาธิปไตย อาทิ การที่พรรค United Russia ใช้อำนาจรัฐสร้างความได้เปรียบต่อพรรคคู่แข่งในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 กรณีการสังหารนักข่าวที่มีความคิดไม่ตรงกันกับรัฐบาล การจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ แต่ดูเหมือนว่าประชาชนชาวรัสเซียจะไม่ใส่ใจกับการใช้อำนาจรัฐดังกล่าว เนื่องจากพอใจกับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นและเสรีภาพส่วนบุคคลที่มากขึ้นในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับสมัยประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน

นโยบายต่างประเทศรัสเซีย

รัสเซียยังคงนโยบายต่างประเทศแบบรอบทิศทาง (multi-directional foreign policy) โดยให้ความสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์กับจีนและอินเดีย และการผูกมิตรกับประเทศในทวีปเอเชีย เพื่อสร้างความสมดุลของขั้วอำนาจต่างๆ ในโลก และแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสาขาพลังงาน ซึ่งหลายประเทศมีความต้องการสูง

ในเวลานี้ รัสเซียมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด มีเงินคงคลังสำรองระหว่างประเทศเป็นลำดับที่ 3 ของโลก รองจากญี่ปุ่นและจีน ประธานาธิบดีปูตินไม่เพียงแต่พลิกรัสเซียจากประเทศที่เกือบจะล้มละลายทางเศรษฐกิจในช่วงระหว่างปี 2538-2541 ให้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลก จนได้รับการยอมรับให้เข้าอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 8 ประเทศเท่านั้น หากยังใช้ไพ่ที่ถืออยู่อย่างได้เปรียบ ซึ่งก็คือพลังงานเป็นเครื่องมือในการบรรลุผลประโยชน์ทางการเมืองของตนอีกด้วย อาทิ การดึงยูเครนให้กลับมาอยู่ในอิทธิพลอีกครั้งเพื่อป้องกันหลังบ้านของตนจากการมี NATO มาประชิดพรมแดน และการสั่งสอนจอร์เจียที่ดำเนินนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อรัสเซีย และแยกสลายความเป็นเอกภาพของยุโรป ซึ่งถูกสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปโจมตีเป็นอย่างมาก

สุนทรพจน์ของประธานาธิบดี Putin เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 แสดงให้เห็นถึงทัศนคติแง่ลบของการเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวของสหรัฐฯ และการขยายสมาชิกภาพของนาโต้มายังประเทศเครือรัฐเอกราชและประชิดกับพรมแดนรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการโดดเดี่ยวรัสเซียออกจากประชาคมยุโรป นอกจากนี้ รัสเซียยังต่อต้านแผนการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็กอย่างต่อเนื่อง

รัสเซียมุ่งความสำคัญในการรักษาอิทธิพลของตนอย่างเหนียวแน่นในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States-CIS) พร้อมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์และร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการดำเนินการค้าต่างประเทศด้วยสินค้ายุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ พลังงาน (น้ำมันและก๊าซและท่อลำเลียงพลังงาน) อาวุธยุทธภัณฑ์ และความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ เพื่อนำรายได้ทั้งหมดมาปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบ รวมทั้งสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการกลับขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของรัสเซียอีกครั้ง

เศรษฐกิจการค้า
ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ ขนสัตว์ สินแร่

ผลิตภัณฑ์ทางเกษตรกรรม ธัญพืช หัวน้ำตาล เมล็ดทานตะวัน เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม

อุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่อย่างครบวงจร ทั้งถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และเหล็ก เคมีภัณฑ์ เครื่องบิน อุตสาหกรรมด้านอวกาศ อุปกรณ์การสื่อสารและขนส่ง เรือ รถไฟ เครื่องมือทางการแพทย์ เครื่องจักรทางการเกษตร

มูลค่าการส่งออก 243,569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)

มูลค่าการนำเข้า 125,303 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)

สินค้าออกที่สำคัญ น้ำมันและผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์

ตลาดส่งออกที่สำคัญ สหภาพยุโรป จีน สหรัฐ ประเทศในกลุ่มเครือรัฐเอกราช (CIS)

สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องมือเครื่องจักร สินค้าอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ เหล็ก

ตลาดนำเข้าที่สำคัญ สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศ CIS จีน สหรัฐฯ

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจรัสเซีย รัสเซียได้ดำเนินการปฏิรูประบบเศรษฐกิจจากระบบวางแผนส่วนกลางไปสู่ระบบเสรีนิยมตั้งแต่ปี 2535 (ค.ศ. 1992) โดยมีแนวทางที่สำคัญๆ ได้แก่ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีการค้า และการปฏิรูประบบการเงินการคลัง โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำรัสเซียให้พ้นจากสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความล้มเหลวของการบริหารเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางในสมัยสหภาพโซเวียต การปฏิรูปด้านการคลังภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพึ่งพาการกู้ยืมเงินระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย ได้ส่งผลให้รัสเซียต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปี 2541 (ค.ศ.1998) และต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) อย่างไรก็ตาม รัสเซียสามารถดำเนินการให้รอดพ้นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจได้ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพของเงินรูเบิล การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลก จนสามารถชดใช้เงินต้นที่กู้ยืมจาก IMF ได้ ในช่วงปี 2543-2544 (ค.ศ. 2000-2001) รวมทั้งมีเงินทุนสำรองและกระแสบัญชีเดินสะพัดเกินดุล นอกจากนี้ การปฏิรูปและเปิดเสรีทางการค้าทำให้รัสเซียได้รับการรับรองสถานะเศรษฐกิจแบบตลาดจากสหรัฐอเมริกา และได้รับคำมั่นจากสหภาพยุโรปที่จะให้สถานะเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิก WTO ของรัสเซียด้วย ทั้งนี้ คาดว่ารัสเซียมีกำหนดจะเข้าเป็นสมาชิก WTO ภายในปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของรัสเซียมีความเป็นเสรีมากยิ่งขึ้น

ในปัจจุบัน เศรษฐกิจรัสเซียเข้มแข็งขึ้นจากในอดีตอย่างเห็นได้ชัด ประธานาธิบดีปูตินไม่เพียงแต่พลิกรัสเซียจากประเทศที่เกือบจะล้มละลายทางเศรษฐกิจในช่วงระหว่างปี 2538-2541 (ค.ศ.1995-1998) ให้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลก จนได้รับการยอมรับให้เข้าอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 8 ประเทศเท่านั้น แต่ยังมีเงินคงคลังสำรองระหว่างประเทศเป็นลำดับที่ 3 ของโลก รองจากญี่ปุ่นและจีน ปัจจัยหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียคือ อุปสงค์การบริโภคในประเทศสูงขึ้นและรายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้รัสเซียสามารถนำรายได้จากส่วนนี้ไปใช้หนี้ต่างประเทศและส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต ศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การมีบุคลากรที่มีการศึกษาสูงจำนวนมาก รวมทั้งเงินรูเบิลที่มีเสถียรภาพและความต่อเนื่องในการดำเนินมาตราการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เช่น การดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การปฏิรูประบบภาษีเพื่อลดความซ้ำซ้อน การปฏิรูปที่ดินและการเงิน และการปรับเปลี่ยนระเบียบขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมให้คล่องตัวยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญต่อการลงทุนของต่างประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อให้เป็นปัจจัยกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมโดยรวม อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังมีปัญหาเรื่องการฉ้อโกงในภาคการเมืองและในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปัญหาการกระจายรายได้จากการส่งออกน้ำมันและรายได้อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลไปสู่ผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่น อุปสรรคด้านกฎระเบียบการลงทุนที่ไม่โปร่งใส รวมทั้งระบบการคิดและพฤติกรรมของชาวรัสเซียที่ไม่อำนวยต่อระบบเศรษฐกิจแบบการค้าเสรี

รัสเซียมุ่งเน้นการดำเนินโครงการ “National Priority Projects” ซึ่งมุ่งหวังที่จะยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนโดยเพิ่มงบประมาณในด้านสาธารณสุข การศึกษา ที่อยู่อาศัย และการส่งเสริมอัตราการเกิด นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มมาตรการอื่นๆ รวมทั้งมาตรการลดภาษีอากร ซึ่งจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้แก่ประธานาธิบดีคนใหม่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะยังคงดำเนินนโยบายควบคุมภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพลังงานและทรัพยากรเหล็ก ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมหลักและนำรายได้หลักเข้าสู่ประเทศต่อไป

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหพันธรัฐรัสเซีย
ความสัมพันธ์ทางการทูต

ไทยและรัสเซียได้ยึดถือการเสด็จประพาสรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (3-11 กรกฎาคม 2440/ค.ศ.1897) เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์มีความใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ไทยกับรัสเซียไม่มีการติดต่อกันทางการทูตนับแต่ปี 2460 (ค.ศ.1917) เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซียจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบสังคมนิยม ทั้งนี้ ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยครั้งใหม่ ในปี พ.ศ.2491 (ค.ศ.1948) โดยได้มีการแลกเปลี่ยนคณะทูตชุดแรกระหว่างกันในระดับอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ต่อมา เมื่อสหภาพโซเวียตได้สลายตัวลงในปี 2534 (ค.ศ.1991) สหพันธรัฐรัสเซียได้เป็นผู้สืบสิทธิ์ของสหภาพโซเวียตทั้งหมด จึงถือได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียดำเนินต่อมาโดยไม่หยุดชะงัก

เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำไทย นาย Yevgeney Afanasiev (ตั้งแต่ปี 2548) นอกจากนี้ รัสเซียยังได้แต่งตั้งนางพงา วรรธนกุล ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองพัทยา

ความสัมพันธ์ทางการเมือง

ในระหว่างสงครามเย็น ไทยกับรัสเซีย ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน และขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เนื่องจากมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ภายหลังการสิ้นสุดสงครามเย็น และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย ได้กลับสู่ภาวะปกติ และไม่มีข้อขัดแย้งทางการเมืองที่อาจนำไปสู่ความบาดหมางระหว่างกัน ไทยต้องการเห็นรัสเซียเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองที่สร้างสรรค์ในเวทีการเมืองของอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งพร้อมที่จะร่วมมือกันในการแก้ปัญหาข้ามชาติต่างๆ อาทิ ปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และการต่อต้านการก่อการร้าย

ความร่วมมือไทย-รัสเซีย ได้พัฒนาอย่างมีพลวัตยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี Putin ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ซึ่งยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียให้มีความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ ไทยและรัสเซียมีกลไกความสัมพันธ์ทวิภาคี 2 กลไก ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ซึ่งก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2536 โดยได้มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง และไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ 4 ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในปีนี้ (2550) และกลไกการหารือประจำปีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้จัดการหารือครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนาย Sergey Lavrov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 ณ กรุงมอสโก และไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 3 ในปี 2550

ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง

ไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการพิจารณาความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศไทยกับสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานตามลำดับ เพื่อเป็นกลไกที่สำคัญในการรวมความร่วมมือด้านความมั่นคงในด้านต่างๆ มาไว้ในกรอบเดียวกัน และช่วยให้การติดต่อประสานงานมีเอกภาพ โดยคณะกรรมการฯ เห็นควรจัดตั้งคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงไทย-รัสเซีย เพื่อเป็นเวทีในการหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้ ซึ่ง พล.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้น ได้เยือนรัสเซียเพื่อประชุมคณะทำงานร่วมฯ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-4 พฤศจิกายน 2548 นอกจากนี้ ไทยและรัสเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการส่งกำลังบำรุง ระหว่างการเยือนไทยของประธานาธิบดีปูติน เมื่อเดือนตุลาคม 2546 โดยมีมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลการส่งกำลังบำรุง การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญเทคนิค การสัมมนาและการประชุมร่วม การวิจัย การฝึกร่วม

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

การค้า

รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก และ CIS การค้าระหว่างไทยกับรัสเซียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2544 โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลรัสเซียมาโดยตลอด เนื่องจากสินค้าที่ไทยส่งออกไปรัสเซียส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่าไม่มากนัก อาทิ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ข้าว ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และน้ำตาลทราย ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าเหล็กและเหล็กกล้าจากรัสเซียเป็นจำนวนมาก (มูลค่าเกินครึ่งของการนำเข้าจากรัสเซียทั้งหมด) โดยในปี 2549 ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 1,642.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออก 387.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้า 1,255.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การค้ากับไทย รัสเซียเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทยในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ในปี 2548 มีมูลค่าการค้ารวม 1,935 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 328 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 1,606 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้านำเข้าจากไทย น้ำตาลทราย , เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ , ผลไม้กระป๋องและแปรรูป , เม็ดพลาสติก , ข้าว , ยางพารา , รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ , อัญมณีและเครื่องประดับ , อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

สินค้าส่งออกมาไทย เหล็กและเหล็กกล้า , ปุ๋ย , สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะ , เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ , แร่ดิบ , เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ , กระดาษ กระดาษแข็ง และผลิตภัณฑ์ , ยาง ยางสังเคราะห์ รวมทั้งเศษยาง , หนังดิบและหนังฟอก จำนวนนักท่องเที่ยว 70,482 คน (9 เดือนแรก) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15-20 ทุกปี โดยในปี 2546 มี 90,722 คน ( ปี 2546)

เอกอัครราชทูตไทยประจำรัสเซีย นายสรยุตม์ พรหมพจน์ ( ตั้งแต่ปี 2546) นอกจากนี้ ไทยยังได้จัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ขึ้นที่ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเมืองวลาดิวอสต็อก

การลงทุน

นักลงทุนไทยยังมีการลงทุนในรัสเซียน้อยมาก โดยบริษัทไทยที่ได้เข้าไปลงทุนในรัสเซียในขณะนี้ ได้แก่ บริษัท Warehouse ผู้ผลิตเครื่องสำอาง และบริษัท Charoen Pakhand Foods Public Co.Ltd (CPF) โรงงานผลิตอาหารสัตว์และเลี้ยงสุกร ซึ่งจะขยายขอบข่ายการลงทุนจนครบวงจรในอนาคต อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีบริษัทไทยให้ความสนใจเข้าไปลงทุนโครงการในรัสเซียหลายแห่ง แต่ยังอยู่ในขั้นศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ เช่น โครงการสร้างพื้นที่อุตสาหกรรมในกรุงมอสโก การตั้งศูนย์ธุรกิจไทย-รัสเซีย ทั้งนี้ ไทยมีศักยภาพในหลายสาขาที่สามารถเข้าไปลงทุนในสหพันธรัฐรัสเซียได้ อาทิ ธุรกิจการท่องเที่ยว ร้านอาหารไทย สปา นวดแผนไทย โรงแรม บริการซ่อมรถยนต์และอะไหล่ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และเฟอร์นิเจอร์ ในทางตรงกันข้าม มีนักลงทุนรัสเซียเข้ามาลงทุนในไทยเพียง 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท Amek Industries Co.,Ltd. จัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้ และบริษัท Formica-Phianite Co.,Ltd โรงงานผลิตหินสีและอัญมณี โดยปัญหาประการหนึ่งที่เป็นเหตุให้ระดับการลงทุนระหว่างกันอยู่ในระดับต่ำสืบเนื่องมาจากการขาดความรู้เรื่องโอกาสการลงทุนของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ รัสเซียได้แสดงความสนใจและพร้อมเข้าร่วมในโครงการก่อสร้างส่วนขยายเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของกรุงเทพฯ ซึ่งมีบริษัทเอกชนของรัสเซีย ต้องการทราบรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติม

การท่องเที่ยว

ในปี 2548 (ค.ศ.2005) มีนักท่องเที่ยวจากสหพันธรัฐรัสเซียเดินทางมาประเทศไทย 102,783 คน และในปี 2549 (ค.ศ.2006) มีนักท่องเที่ยวจากสหพันธรัฐรัสเซียเดินทางมาประเทศไทย 187,658 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2548 (ค.ศ.2005) ร้อยละ 82.58 ในส่วนของคนไทยที่เดินทางไปสหพันธรัฐรัสเซียนั้น มีจำนวน 3,098 คน ในปี 2548 (ค.ศ.2005) ส่วนในปี 2549 (ค.ศ.2006) (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวน 4,728 คน เพิ่มมากขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 (ค.ศ.2005) ร้อยละ 225.40 ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2550 (ค.ศ.2007) ของทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดาไทย-รัสเซีย ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2550 (ค.ศ.2007)

การบิน

ไทยและรัสเซียได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการบินระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และสายการบินระดับภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซีย เพื่อเป็นทางเลือกในด้านการขนส่งสินค้าและโดยบริษัทการบินไทยฯ ได้เริ่มเปิดเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-กรุงมอสโก เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2548

พลังงาน

ในการหารือระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับประธานาธิบดีปูติน เมื่อ 17 มิถุนายน 2549 ที่นครอัลมาตี ประธานาธิบดีปูตินได้ย้ำข้อเสนอของรัสเซียที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานสำหรับสินค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียในภูมิภาค โดยประธานาธิบดีปูติน ได้เชิญชวนให้ไทยไปร่วมพัฒนาแหล่งพลังงานและก๊าซในรัสเซียและส่งมายังไทย และได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท Gazprom และธนาคาร Vneshekonombank ของรัสเซีย (Agreement on Strategic Cooperation between PTT, OAO “Gazprom” and Vneshekonombank) ในระหว่างการประชุมเอเปค เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 ณ นครปูซาน ต่อมา เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2549 นายกรัฐมนตรีได้หารือกับประธานาธิบดีปูตินเรื่องพลังงาน โดยเห็นพ้องร่วมกันที่จะสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานต่อไป ขณะเดียวกัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เป็นเจ้าภาพเจ้าการประชุม Joint Coordinating Committee ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท Gazprom เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2549

ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

- ไทยได้ส่งคณะทางวัฒนธรรมไปร่วมงานฉลองครบรอบ 300 ปี การสถาปนานครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ระหว่างวันที่ 25-31 สิงหาคม 2546
- ไทยและรัสเซียได้ร่วมกันจัดงานแสดงบัลเลต์รอบปฐมทัศน์โลกเรื่อง Katya and the Prince of Siam ระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2546 ที่กรุงเทพฯ
- ไทยและรัสเซียได้จัดงานวันแห่งวัฒนธรรมรัสเซียในประเทศไทย ระหว่างวันที่
2-7 ธันวาคม 2547 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และงานวันแห่งวัฒนธรรมไทยในรัสเซีย เมื่อวันที่ 9-15 กันยายน 2548 ที่กรุงมอสโก

ความร่วมมือทางวิชาการ

- รัฐบาลรัสเซียได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยไปศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก ประมาณ 15-20 ทุน ต่อปี
- รัฐบาลไทยได้ส่งนักเรียนไปศึกษาในระดับปริญญาตรีที่รัสเซียภายใต้โครงการทุนการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอ จำนวน 10 คน ในสาขาต่างๆ ได้แก่ วิศวกรรมการบิน ป่าไม้ เคมีชีวภาพ ฟิสิกส์ และรัฐศาสตร์

ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

- กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไทยและรัสเซีย ได้ร่วมกันจัดงานนิทรรศการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรัสเซีย เมื่อปี 2547 ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
- พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้หารือกับประธานาธิบดีปูติน ในระหว่างการเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2548 และเห็นพ้องกันที่จะสานต่อความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการส่งนักบินอวกาศไทยไปในยานอวกาศของรัสเซีย ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ และการพิจารณาใช้เทคโนโลยีของรัสเซียในการขุดเจาะอุโมงค์เพื่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน

ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย

ความตกลงที่สืบทอดมาจากสมัยสหภาพโซเวียต
- ความตกลงระหว่างไทยกับรัสเซียในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต การค้าและความสัมพันธ์ทางด้านกงสุลตามปกติ (ลงนามในปี 2484)
- ความตกลงทางการค้า (ลงนามในปี 2513 และยังคงมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ความตกลงการค้าฉบับใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ )
- พิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (ลงนามในปี 2530)
- ข้อตกลงเกี่ยวกับการปรึกษาหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย (ลงนามในปี 2531)

ความตกลงที่ลงนามภายหลังการก่อตั้งสหพันธรัฐรัสเซีย
- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคีไทย-รัสเซีย (ลงนามเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2536) ได้มีการจัดการประชุมแล้ว 3 ครั้ง คือ (1) ในปี 2540 ที่กรุงมอสโก (2) ในปี 2542 ที่กรุงเทพฯ (3) ในปี 2545 ที่กรุงมอสโก โดยไทยมีกำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 4 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2550 ที่กรุงเทพฯ
- อนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ลงนามเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2542)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมไทย-รัสเซีย (ลงนามเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ลงนามเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2545)
- ความตกลงเพื่อยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2545)
- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน ไทย-รัสเซีย (ลงนามเมื่อ
วันที่ 17 ตุลาคม 2545)
- ความตกลงว่าด้วยข้อยุติการชำระหนี้ที่สหพันธรัฐรัสเซียคงค้างราชอาณาจักรไทย (ลงนามเมื่อ
วันที่ 21 ตุลาคม 2546)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงทางทหารระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (ลงนามเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2546)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-รัสเซีย (ลงนามเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547)
- ความตกลงเพื่อยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดา (ลงนามเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2548 และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2550)

การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

ระดับพระราชวงศ์
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 2-11 กรกฎาคม 2550 เสด็จฯ เยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (State Visit) โดยเป็นส่วนหนึ่งในโอกาสฉลองครบรอบ 110 ปี ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 15-23 พฤษภาคม 2532 เสด็จฯ เยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- เดือนเมษายน 2536 เสด็จฯ เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- เดือนเมษายน 2517 เสด็จฯ เยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 10-19 กรกฎาคม 2532 เสด็จฯ เยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ

บุคคลระดับสูง
- ปี 2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี เยือนสหภาพโซเวียต อย่างเป็นทางการ
- ปี 2530 พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
เยือนสหภาพโซเวียต อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 16-22 พฤษภาคม 2531 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนสหภาพ-โซเวียตอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 9-15 กรกฎาคม 2540 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำคณะผู้แทนไทยเยือนรัสเซียเพื่อร่วมฉลองการครบรอบ 100 ปี ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย
- วันที่ 24-29 กุมภาพันธ์ 2543 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนรัสเซีย
- วันที่ 28 กันยายน-2 ตุลาคม 2545 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 16-18 ตุลาคม 2545 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 24-27 สิงหาคม 2546 นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้แทนนายกรัฐนตรีเดินทางไปเข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 300 ปี นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี และนางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นำคณะทางวัฒนธรรมเข้าร่วมแสดงในงานฉลองดังกล่าว
- วันที่ 11-14 พฤษภาคม 2548 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 23-25 กันยายน 2548 นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 15 ตุลาคม 2548 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2548 นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ

ฝ่ายรัสเซีย
- ปี 2531 นาย Eduard Shevardnadze รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ-
สหภาพโซเวียต เยือนไทย
- เดือนกุมภาพันธ์ 2533 นาย Nikolai Ryzhkov นายกรัฐมนตรีสหภาพโซเวียต เยือนไทย
อย่างเป็นทางการ
- เดือนกรกฎาคม 2537 นาย Andrei Kozyrev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัสเซียเยือนไทย
- วันที่ 31 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2540 นาย Yevgeny Primakov ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 23-29 กรกฎาคม 2543 นาย Igor Ivanov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 33 การประชุมประเทศคู่เจรจาอาเซียน และการประชุม ARF ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ
- วันที่ 7-9 มกราคม 2546 นาย Gennady Seleznev ประธานสภาดูมาแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี
- วันที่ 22 ตุลาคม 2546 นาย Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย พร้อมด้วย
นาง Lyudmila Putina ภริยา เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยมีนาย Igor Ivanov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ร่วมคณะด้วย
- วันที่ 1-2 ธันวาคม 2547 นาย Sergey Lavrov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมหารือประจำปีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 1


กรมยุโรป
สิงหาคม 2550

เอกสารแนบ



ข้อมูลประเทศอื่นๆทั่วโลก
อัฟกานิสถาน  แอลเบเนีย  แอลจีเรีย  อันดอร์รา  แองโกลา  แอนติกาและบาร์บูดา  อาร์เจนตินา  อาร์เมเนีย  ออสเตรเลีย  ออสเตรีย  อาเซอร์ไบจาน  บาฮามาส  บาห์เรน  บังกลาเทศ  บาร์เบโดส  เบลารุส  เบลเยียม  เบลีช  เบนิน  ภูฏาน  โบลิเวีย  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  บอตสวานา  บราซิล  บรูไนดารุสซาลาม  บัลแกเรีย  บูร์กินาฟาโซ  บุรุนดี  กัมพูชา  แคเมอรูน  แคนาดา  เคปเวิร์ด  แอฟริกากลาง  ชาด  ชิลี  จีน  ฮ่องกง  มาเก๊า  ไต้หวัน  โคลัมเบีย  คอโมโรส  คอสตาริกา  โครเอเชีย  คิวบา  ไซปรัส  เช็ก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  เดนมาร์ก  จิบูตี  โดมินิกา  โดมินิกัน  เกาหลีเหนือ  เอกวาดอร์  อียิปต์  เอลซัลวาดอร์  อิเควทอเรียลกินี  เอริเทรีย  เอสโตเนีย  เอธิโอเปีย  ฟิจิ  ฟินแลนด์  ฝรั่งเศส  กาบอง  แกมเบีย  จอร์เจีย  เยอรมนี  กานา  กรีซ  เกรเนดา  กัวเตมาลา  กินี  กินีบิสเซา  กายอานา  เฮติ  นครรัฐวาติกัน  ฮอนดูรัส  ฮังการี  ไอซ์แลนด์  อินเดีย  อินโดนีเซีย  อิหร่าน  อิรัก  ไอร์แลนด์  อิสราเอล  อิตาลี  จาเมกา  ญี่ปุ่น  จอร์แดน  คาซัคสถาน  เคนยา  คิริบาส  คูเวต  คีร์กิซ  ลาว  ลัตเวีย  เลบานอน  เลโซโท  ไลบีเรีย  ลิเบีย  ลิกเตนสไตน์  ลิทัวเนีย  ลักเซมเบิร์ก  มาซิโดเนีย  มาดากัสการ์  มาลาวี  มาเลเซีย  มาลี  มอลตา  หมู่เกาะมาร์แชลล์  มอริเตเนีย  มอริเชียส  ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง  เม็กซิโก  ไมโครนีเซีย  มอลโดวา  โมนาโก  มองโกเลีย  โมร็อกโก  โมซัมบิก  พม่า  นามิเบีย  นาอูรู  เนปาล  เนเธอร์แลนด์  นิวซีแลนด์  นิวซีแลนด์  นิการากัว  ไนเจอร์  ไนจีเรีย  นอร์เวย์  องค์การรัฐอเมริกัน  โอมาน  ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา  ปากีสถาน  ปาเลา  ปานามา  ปาปัวนิวกินี  ปารากวัย  เปรู  ฟิลิปปินส์  โปแลนด์  โปรตุเกส  กาตาร์  คองโก  เกาหลีใต้  กลุ่มริโอ  โรมาเนีย  รัสเซีย  รวันดา  เซนต์คิตส์และเนวิส  เซนต์ลูเซีย  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์  ซามัว  ซานมาริโน  เซาโตเมและปรินซิเป  ซาอุดีอาระเบีย  เซเนกัล  เซอร์เบีย  เซเชลส์  เซียร์ราลีโอน  สิงคโปร์  สโลวาเกีย  สโลวีเนีย  หมู่เกาะโซโลมอน  โซมาเลีย  แอฟริกาใต้  สเปน  ศรีลังกา  ซูดาน  ซูรินาเม  สวาซิแลนด์  สวีเดน  สวิตเซอร์แลนด์  ซีเรีย  ทาจิกิสถาน  แทนซาเนีย  ติมอร์-เลสเต  โตโก  ตองกา  ตรินิแดดและโตเบโก  ตูนิเซีย  ตุรกี  เติร์กเมนิสถาน  ตูวาลู  ยูเออี  ยูกันดา  ยูเครน  สหราชอาณาจักร  สหรัฐอเมริกา  อุรุกวัย  อุซเบกิสถาน  วานูอาตู  เวเนซุเอลา  เวียดนาม  เยเมน  แซมเบีย  ซิมบับเว 



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์