ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com >> ออสเตรีย




แผนที่
สาธารณรัฐออสเตรีย
Republic of Austria


 
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในบริเวณยุโรปกลาง ทิศเหนือติดกับสาธารณรัฐเช็ก และเยอรมนี ทิศตะวันออกติดกับฮังการี และสาธารณรัฐสโลวัก ทิศตะวันตกติดกับสวิตเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ทิศใต้ติดกับสโลวีเนีย และอิตาลี

พื้นที่ 83,858 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงเวียนนา

ประชากร 8.2 ล้านคน ประกอบด้วยชาวออสเตรียนร้อยละ 91.1 ชาวอดีตยูโกสลาฟ (โครแอต สโลวีน เซิร์บและบอสเนียน)ร้อยละ 4 ชาวเติร์กร้อยละ 1.6 ชาวเยอรมันร้อยละ 0.9

ภูมิอากาศ ภูมิอากาศอบอุ่นแบบภาคพื้นทวีป ในฤดูหนาวมีฝนตกบ่อยและมีหิมะปกคลุมในแถบภูเขา ในฤดูร้อนมีอากาศอบอุ่นและมีฝนโปรยในบางครั้ง

ภาษา เยอรมัน

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 73.6 คริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ร้อยละ 4.7 มุสลิมร้อยละ 4.2 อื่นๆ ร้อย ละ 3.5 ไม่ระบุร้อยละ2 ไม่นับถือศาสนาร้อยละ 12

หน่วยเงินตรา ยูโร โดย 1 ยูโร = 44.29 บาท (17 ส.ค. 2550)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 309.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2549)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 38,865 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี2549)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.3 (ปี 2549)

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นระบบสองสภา โดยมีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขดำรงตำแหน่งวาระละ 6 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้แก่ นาย Heinz Fischer นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้แก่ นาย Alfred Gusenbauer

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ EBRD, EU, FAO, IAEA, IBRD, ILO, IMF, Interpol, NAM (guest), OECD, OSCE, UN, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, WEU (observer), WHO, WTO, WtoO (World Tourism Organisation)

การเมืองการปกครอง
ประวัติศาสตร์ออสเตรียโดยสังเขป
ก่อนปลายศตวรรษที่ 8 ดินแดนซึ่งเป็นประเทศออสเตรียในปัจจุบัน ได้มีชนชาติต่างๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ที่สำคัญได้แก่ ชนเผ่าเยอรมัน ซึ่งได้ข้ามแม่น้ำดานูบลงมาทางใต้ และชาวสลาฟซึ่งได้อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของออสเตรีย จนสิ้นสุดศตวรรษที่ 8 กษัตริย์ Charlemagne ได้ก่อตั้งเขตชายแดนระหว่างแม่น้ำอินส์ แรบ และดราวา เพื่อเป็นป้อมปราการป้องกันการรุกรานของชาวเอวาร์ และภายหลังจากที่ชาวโรมันได้อพยพออกไป นักบวชชาวไอริชและสก็อตจึงได้เข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนาในดินแดนบริเวณเทือกเขาอัลไพน์แห่งนี้ ราชวงศ์ Babenberg ของชาวบาวาเรียนได้เข้าปกครองออสเตรียในปี ค . ศ . 976 ซึ่งยังมีประชาชนอยู่เพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษต่อๆ มา ราชวงศ์ Babenberg ได้ใช้ยุทธศาสตร์สร้างความแข็งแกร่งให้แก่อาณาจักร และขยายประเทศไปอย่างกว้างขวาง ภายหลังจากที่ราชวงศ์ Babenberg ได้หมดอำนาจลงในกลางศตวรรษที่ 13 ราชวงศ์ Habsburg ได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนนี้แทน และขยายอาณาเขตออกไปจนถึงแถบประเทศสเปน จนกระทั่ง ในปี 1522 ราชวงศ์ Habsburg จึงได้แตกออกเป็นสายออสเตรีย และสายสเปน อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ Habsburg ยังคงขยายอาณาเขตต่อไป โดยในปี ค . ศ . 1526 ได้ผนวกดินแดนโบฮีเมียและฮังการี เข้าไว้ด้วย ทั้งนี้ ในช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 ออสเตรียต้องเผชิญหน้ากับอาณาจักรออตโตมัน แต่โดยที่ออสเตรียสามารถเอาชนะกองทัพของอาณาจักรออตโตมันได้ ออสเตรียจึงได้ครอบครองดินแดนเพิ่มขึ้น และกลายเป็นมหาอำนาจรายหนึ่งในยุโรป ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 จักรพรรดินีมาเรีย เธเรซา และโจเซฟ ที่สอง ได้ทำการปฏิรูป และวางรากฐานการปฏิรูปการบริหารจัดการของรัฐให้ทันสมัย แต่การปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามนโปเลียน ได้ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นเปลี่ยนไป นอกจากนี้ หลังจากที่อิตาลีได้ก่อตั้งขึ้นเป็นประเทศ ราชวงศ์ฮับสบรูกส์ต้องต้องยินยอมต่อการเคลื่อนไหวของนักชาตินิยมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในปี ค . ศ . 1867 จักรพรรดิฟรันซ์ โจเซฟ จึงได้ยอมตั้งราชวงศ์ร่วม (double monarchy) ออสเตรีย - ฮังการี ราชวงศ์ออสเตรีย - ฮังการี เป็นผู้เริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค . ศ . 1914-1918 อันมีสาเหตุเนื่องมากจากการลอบสังหารเจ้าชาย Francis-Ferdinand ซึ่งเป็นทายาทของราชวงศ์ออสเตรีย - ฮังการี โดยนักชาตินิยมชาวเซิร์บ โดยออสเตรียเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ออสเตรียจึงได้ประกาศตัวเป็นสาธารณรัฐ แต่ในขณะนั้น ออสเตรียมิได้มีอำนาจดังเช่นในอดีตแล้ว ในปี ค . ศ . 1938 ออสเตรียถูกกดดันจากเยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ และประสบกับภาวะการขาดเสถียรภาพภายในประเทศในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่ง ในปี ค . ศ . 1945 เมื่อสงคราม โลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศพันธมิตรได้ช่วยออสเตรียให้ฟื้นตัวขึ้นสู่ความเป็นประเทศสาธารณรัฐอีกครั้ง แต่ออสเตรียยังคงถูกยึดครองโดยกองทัพฝรั่งเศส อังกฤษ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาจนถึงปี 1955 ซึ่งได้มีการลงนามในสนธิสัญญาประเทศออสเตรีย และในปีเดียวกัน รัฐสภาออสเตรียได้ออกกฎหมายให้ออสเตรียเป็นประเทศที่มีสถานะเป็นกลางอย่างถาวร รวมทั้งได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วย ออสเตรียได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค . ศ . 1995 และได้เป็นประธานสภาสหภาพยุโรปเป็นครั้งแรกในครึ่งหลังของปี ค . ศ . 1995.

การเมืองการปกครอง
ออสเตรียปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุข รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 6 ปี และอาจดำรงตำแหน่งต่ออีกวาระ ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากหัวหน้าพรรคที่ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงข้างมากในสภาเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี รัฐสภาประกอบด้วยสภาล่าง (Nationalsrat) มีสมาชิก 183 คน ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทุก 4 ปี และสภาสูง (Bundesrat) มีสมาชิก 64 คน ได้รับเลือกตั้งจากสภาจังหวัด (Provincial Diet)

ออสเตรียแบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด (federal province) ได้แก่ Lower Austria, Upper Austria, Salzburg, Styria, Carinthia, Tirol, Vorarlberg, Burgenland และ Vienna ซึ่งมีสถานะเป็นมหานคร แต่ละจังหวัดมีอำนาจปกครองเป็นอิสระยกเว้นการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ แต่ละจังหวัดมี Governor ซึ่งได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

พรรคการเมืองออสเตรีย
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ออสเตรียเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมาโดยตลอด โดยมีพรรคการเมืองที่สำคัญดังนี้คือ
พรรค Austrian People's Party- ÖVP เป็นพรรคใหญ่ และเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรค Social Democratic Party - SPÖ มา 3 สมัย ก่อนที่จะหันมาร่วมมือกับพรรค Alliance for the Future of Austria (BZ) ที่ได้แยกตัวออกมาจากพรรค Freedom Party-FPÖ ในเดือนเมษายน 2548 มีนาย Wolfgang Schüssel เป็นหัวหน้าพรรค
พรรค Social Democratic Party - SPÖ เป็นพรรคใหญ่ที่สุดของออสเตรีย และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ทศวรรษ 60 ในการเลือกตั้งในปี 2543 พรรค SPÖ ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่สามารถโน้มน้าวพรรคอื่นร่วมจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องกลับเป็นฝ่ายค้าน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันสังกัดพรรคการเมืองนี้
พรรค Alliance for the Future of Austria - BZÖ เป็นพรรคที่แยกตัวออกมาจากพรรค FPO นำโดยนาย Jörg Haider
พรรค Freedom Party - FPÖ เป็นพรรคที่มีแนวนโยบายขวาจัด ปัจจุบัน นาย Herbert Haupt ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
พรรค Greens เป็นพรรคฝ่ายค้าน มีนโยบายอนุรักษ์นิยม
นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ อีก อาทิ พรรคคอมมิวนิสต์ พรรค Liberal Reform พรรค Democrats พรรค Christian Election Community และ พรรค Socialist Left แต่ไม่คะแนนมีเสียงที่จะมีที่นั่งในสภา

สถานการณ์ทางการเมือง
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2548 รัฐสภาออสเตรียได้ลงมติที่จะไม่จัดทำการลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสหภาพยุโรป ตามที่ชาวออสเตรีย 5,000 คน เข้าชื่อเรียกร้อง แต่มีการลงคะแนนเสียงของรัฐสภาแทนเพื่อให้สัตยาบันต่อรัฐธรรมนูญสหภาพยุโรปในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2548 ทั้งนี้ มีเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้นจาก183 เสียงที่ไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญสหภาพยุโรป

ออสเตรียได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2549 ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกว่าร้อยละ 74 พรรค SPÖ ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดคิดเป็น 68 ที่นั่ง จากทั้งหมด 183 ที่นั่งในสภา (ร้อยละ 35.3) ตามมาด้วยพรรค ÖVP) ได้ 66 ที่นั่ง (ร้อยละ 34.3) ถัดมาได้แก่พรรค Green 21 ที่นั่ง (ร้อยละ 11.0) พรรค Freedom Party (FPÖ) 21 ที่นั่ง (ร้อยละ 11.0) พรรค Alliance for the Future of Austria (BZÖ) 7 ที่นั่ง (ร้อยละ 4.1) ผลการเลือกตั้งได้พลิกความคาดหมาย โดยผลการสำรวจชี้ว่าพรรค ÖVP ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดจนถึงนาทีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือนภายหลังจากการเลือกตั้งพรรค SPÖ และ ÖVP ได้เข้าสู่การเจรจาต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และได้มีความคืบหน้าในข้อตกลงบางเรื่อง เช่น การปฏิรูปค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยนักศึกษาที่อาสาเข้าทำงานช่วยเหลือสังคมเป็นเวลา 60 ชม. ต่อภาคการศึกษาจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษา นอกจากนี้ รัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณสำหรับการศึกษาและการวิจัย รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนระบบประกันความมั่นคงทางสังคม เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของออสเตรียในเวทีนานาชาติ ลดอัตราการว่างงาน ในด้านการต่างประเทศ ยังคงนโยบายการต่างประเทศที่เป็นกลาง และจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายด้านความมั่นคงของสหภาพยุโรป รวมทั้งไม่สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของตุรกี นอกจากนี้เป็นที่คาดการณ์ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นาย Gusenbauer จะชะลอกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจลง ทั้งนี้ ระหว่างพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีประชาชนกว่า 2,000 คนประท้วงรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสังคมนิยมที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลผสมแบบ Grand Coalition โดยนักศึกษาส่วนหนึ่งและแกนนำสหพันธ์สหภาพการค้าที่เป็นฐานเสียงของพรรคสังคมนิยมไม่เห็นด้วยกับพรรค SPÖ ที่โอนอ่อนให้พรรคอนุรักษ์นิยมได้คุมกระทรวงสำคัญ อีกทั้งไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ก่อนการเลือกตั้งว่าจะยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

การจัดสรรตำแหน่งในรัฐบาลมีดังต่อไปนี้ พรรค SPÖ บริหารกระทรวงกระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษา กระทรวงยุติธรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงการสังคม กระทรวงกีฬา ส่วนนาย Wolfgang Schüssel อดีตนายกรัฐมนตรี จะไม่รับตำแหน่งในรัฐบาลและสละตำแหน่งหัวหน้าพรรค ÖVP ให้แก่นาย Wilhelm Molterer ซึ่งจะเข้าดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ พรรค ÖVP คุมกระทรวงอื่นๆ อีก ดังต่อไปนี้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจและแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสิ่งแวดล้อม นาง Ursula Plassnik จากพรรค ÖVP ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเช่นในรัฐบาลชุดที่แล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลจะจัดตั้งกระทรวงสตรี (ÖVP) และกระทรวงวิทยาศาสตร์ (SPÖ) เพิ่ม

นโยบายต่างประเทศออสเตรีย
1. หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตได้บีบให้ออสเตรียประกาศนโยบายเป็นกลางเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่สหภาพโซเวียตจะถอนทหารออกจากออสเตรีย ทำให้ออสเตรียยึดหลักดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นกลางมาโดยตลอด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อออสเตรียเอง เนื่องจากเป็นหลักประกันว่าออสเตรียจะไม่ต้องไปเกี่ยวพันในสงครามและความหายนะจากสงครามดังเช่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

2. อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ได้ลงนาม ในสนธิสัญญา State Treaty of Vienna เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2498 เพื่อรับรองฐานะความเป็นกลางถาวรของออสเตรีย และออสเตรียได้ประกาศความเป็นกลางของประเทศไว้เป็นการถาวรในรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2498 ซึ่งทำให้ออสเตรียไม่สามารถร่วมเป็นพันธมิตรทางทหาร หรืออนุญาตให้ทหารต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพในดินแดนออสเตรียได้ รัฐบาลออสเตรียทุกสมัยจึงยึดถือนโยบายเป็นกลางถาวรเป็นพื้นฐานในการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศต่างๆ ในลักษณะที่เรียกกันว่า active neutrality โดยให้ความ ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติในปฏิบัติการรักษาสันติภาพตั้งแต่ปี 2503 และร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพยุโรปในกรอบของคณะมนตรียุโรปและองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป (OSCE)

3. ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติในยุโรปในช่วงหลังสงครามเย็นได้ส่งผลให้ออสเตรียเริ่มปรับนโยบายต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงไปในทิศทางที่มีบูรณาการกับประเทศยุโรปอื่นๆ มากขึ้น เนื่องจากออสเตรียเริ่มยอมรับว่า ความพยายามร่วมกันของประเทศต่างๆ ที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกรอบพหุภาคีเป็นแนวโน้มที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ
การปราบปรามผู้ก่อการร้าย และในการระงับการแพร่หลายของอาวุธที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษยชาติ (weapons of mass destruction) อย่างไรก็ตาม ออสเตรียก็ยังคงยึดถือนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัด

4. นับแต่ปี 2538 ออสเตรียได้เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ใน Western European Union และ เข้าร่วมโครงการ Partnership for Peace ขององค์การนาโต้ โดยจำกัดบทบาทเฉพาะด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพและการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนและการบรรเทาภัยพิบัติ 5. นอกจากนี้ การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 ทำให้ออสเตรียมีบทบาทและนโยบายที่จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำหนดสถานะทางการเมืองของยุโรป และได้ให้การสนับสนุนนโยบายบูรณาการระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้งในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง และด้านนโยบายต่างประเทศ

6. ออสเตรียสนับสนุนให้สหภาพยุโรปขยายตัวไปครอบคุลมกลุ่มประเทศอดีตสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก โดยที่ออสเตรียมีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐเช็ก สโลวีเนีย และฮังการี ซึ่งได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในเดือนพฤษภาคม 2547 และมีมูลค่าการค้ากับกลุ่มประเทศเหล่านี้สูงที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศยุโรปอื่นๆ ออสเตรียจึงเป็นประเทศที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการขยายสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของออสเตรียไปยังสาธารณรัฐเช็ก สโลวีเนีย และฮังการีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 250

7. นอกจากโครงสร้างร่วมของยุโรปด้านความมั่นคง การใช้แนวทางที่รวดเร็วในการสนับสนุนให้ประเทศยุโรปกลางและตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ออสเตรียยังให้ความสำคัญต่อการยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรปให้สูงขึ้น การแก้ไขปัญหาการว่างงานในยุโรป การปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชนกลุ่มน้อย และความโปร่งใสและความพร้อมในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

8. สำหรับภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากยุโรป ออสเตรียให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทในประเด็นระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา โดยเน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางนั้น ออสเตรีย มีนโยบายส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศอาหรับบางประเทศ และอิสราเอล โดยเน้นที่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

9. ในกรอบพหุภาคี ออสเตรียให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทของสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ โดยคำนึงถึงบทบาทของออสเตรียในฐานะที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง อาทิ IAEA, UNIDO, OSCE, UNDCP

10. ออสเตรียเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้ง Human Security Network และได้มีบทบาทอย่างแข็งขันมาโดยตลอด โดยให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก การให้ความช่วยเหลือเด็กที่บอบช้ำจาก Armed Conflict การปราบปรามยาเสพติด การจำกัดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และการยับยั้งการแพร่กระจายอาวุธ

11. ในปัจจุบัน รัฐบาลผสม Grand coalition ให้ความสำคัญกับประเด็นการขยายสมาชิกภาพของ EU และการย้ายถิ่นฐาน โดยจะสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิก EU ของประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครเอเชิย และไม่สนับสนุนการให้ตุรกีเข้าเป็นสมาชิก EU แต่เสนอให้ EU และตุรกีเป็น tailored partnership ระหว่างกัน ออสเตรียมีนโยบายต่างประเทศเป็นกลาง ได้มีการส่งทหารเข้าร่วมกองกำลังของ NATO ซึ่งเป็นไปเพื่อเหตุผลด้านความมั่นคง อาทิ การสนับสนุนกำลังทหารในส่วน International Security Assistance Force (ISAF) ออสเตรียส่งเสริมบทบาทของ EU ในเวทีนานาชาติ โดยมีส่วนร่วมในการพัฒนา European Security and Defence Policy

12. ในด้านการให้ความช่วยเหลือต่อประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมาในปี พ.ศ. 2548 ออสเตรียได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของรายได้ประชาชาติ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆ ไป


เศรษฐกิจการค้า
โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจออสเตรีย
ออสเตรียนับเป็นรัฐสวัสดิการทีมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่ง และมีความก้าวหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่ง ในปี 2548 ออสเตรียมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของสมาชิกสหภาพยุโรป โดยคิดเป็น 37,457 USD ซึ่งจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เศรษฐกิจของประเทศพึ่งพาภาคบริการ (สัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการคิดเป็น 1 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมด) และการผลิตภาคอุตสาหกรรม (สัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 31 ของ GDP) เป็นสำคัญ ส่วนภาคเกษตรกรรม มีผลผลิตค่อนข้างน้อยและมีราคาแพง อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 2538 ออสเตรียได้ปฏิรูปด้านการเกษตรภายใต้นโยบายทางการเกษตรร่วมของสหภาพยุโรป และในปัจจุบัน เกษตรกรออสเตรียสามารถผลิตอาหารได้ร้อยละ 80 ของการบริโภคในประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของ GDP จุดแข็งของเศรษฐกิจออสเตรียอยู่ที่ ภาคบริการ การอำนวยความสะดวกด้านการพาณิชย์ การธนาคาร อุตสาหกรรม และการคมนาคม ทรัพยากรที่สำคัญของออสเตรียคือ แหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรม และแรงงานมีฝีมือ โดยความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นไปแบบ Social Partnership ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมดำเนินไปอย่างราบรื่น ในภาคอุตสาหกรรมจะเน้นการผลิตสินค้าแปรรูปจากเหล็ก โลหะ กระดาษ เครื่องยนต์และส่วนประกอบ ภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับ low- and medium -tech อย่างไรก็ตามการวิจัยและพัฒนามีความต่อเนื่อง (สัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 2.4 ในปี 2548 จากเดิม ร้อยละ 1.4 ในปี 2533) และอยู่เหนือเกณฑ์เฉลี่ยของสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งสะท้อนเหตุผลว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ออสเตรียได้เริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมระดับ high-tech ในตลาดเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และด้วยความที่เป็นหน่วยเศรษฐกิจขนาดเล็ก ออสเตรียจึงพึ่งพาภาคส่งออกเพื่อเป็นการขยายขนาดเศรษฐกิจ มูลค่าการส่งออกในปี 2548 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53 ของ GDP (จากเดิมร้อยละ 32.1 ในปี 2538) ออสเตรียมีบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี และได้รับผลประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของออสเตรีย คือ การขยายการค้าและการลงทุนในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยมูลค่าการค้าระหว่างออสเตรียกับประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกมีมูลค่าถึงร้อยละ 15 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด บริษัทออสเตรีย ได้มีการลงทุนขนาดใหญ่มากมายในตลาดเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่ต้องใช้แรงงานมีฝีมือจำนวนมากโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระดับสูง นอกจากนี้ ออสเตรียยังมีศักยภาพที่จะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทของประเทศในสหภาพยุโรป ที่ต้องการเข้าถึงตลาดยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก

ระบบเศรษฐกิจออสเตรีย
เป็นแบบเสรีนิยมผสมสังคมนิยม โดยรัฐมีบทบาทในอุตสาหกรรม และวิสาหกิจหลัก เช่น อุตสาหกรรมขั้นปฐม การผลิตกระแสไฟฟ้า ธนาคาร และกิจการสาธารณูปโภค สาเหตุที่รัฐได้เข้ามาจัดการบริหารแบบรวมศูนย์ ก็เพื่อป้องกันการครอบครองจากโซเวียตภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ออสเตรียจึงเริ่มแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และได้พัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาดได้สำเร็จ ซึ่งทำให้ประชาชนมีมาตรฐานความเป็นอยู่สูง รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพรรคขวา ได้มีแผนที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจการของรัฐเพิ่มเติม อันจะทำให้รัฐบาลออสเตรียมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจลดลง และในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างแบบ Social Partnership ในช่วงทศวรรษที่ 60 และ 70 ได้ลดน้อยลงตามเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เปลี่ยนไป รัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งนำโดยพรรคฝ่ายซ้ายสังคมนิยมจึงมีนโยบายชะลอการแปรรูปรัฐวิสาหกิจลง และเป็นที่คาดว่า จะมีนโนบายที่ทำให้ความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมเป็นไปแบบ Social Partnership ต่อไป

การค้าระหว่างประเทศ
ออสเตรียเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 ซึ่งออสเตรียได้ประสบความสำเร็จในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ และการเข้าเป็นสมาชิก the Economic and Monetary Union (EMU) ได้ส่งผลให้ออสเตรียมีบูรณาการเพิ่มขึ้นกับตลาด EU โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยอรมนี ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2545 ออสเตรียได้เริ่มใช้เงินสกุลยูโรทดแทนเงินชิลลิ่งในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ได้วิเคราะห์และลงความเห็นว่า การใช้เงินสกุลยูโรมีผลดีต่อเศรษฐกิจของออสเตรียโดยรวม

การค้าระหว่างออสเตรียกับประเทศสมาชิก EU คิดเป็นร้อยละ 84 ของมูลค่าการค้ารวม นอกจากนี้ เมื่อประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกได้เข้าเป็นสมาชิก EU เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 ออสเตรียได้ขยายการค้าและการลงทุนไปสู่ประเทศเหล่านั้น โดยเน้นสาขาการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น และใช้เทคโนโลยีแบบ low-tech ในปัจจุบัน ออสเตรียนับเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงที่จะดึงดูดบริษัทในยุโรปตะวันตกที่แสวงหาฐานที่มีความเอื้ออำนวยต่อการเข้าสู่ตลาดกำลังพัฒนาในประเทศยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก และประเทศในภูมิภาคบอลข่าน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐออสเตรีย
การสถาปนาความสัมพันธ์
ไทยกับออสเตรียมีความสัมพันธ์ด้านกงสุลตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กงสุลออสเตรียคนแรกคือนาย Alexius Redlich และออสเตรียยังเป็นประเทศแรกๆ ที่ส่งผู้แทนทางการทูตมาประจำประเทศไทยก่อนหน้าประเทศตะวันตกอื่น ๆ โดยในปีพ.ศ. 2410 จักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ ที่ 1 (Franz Joseph I) แห่งจักรวรรดิ์ออสโตร-ฮังการี ได้ส่งคณะทูตมาไทยเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทั้งสองประเทศได้จัดทำสนธิสัญญาไมตรี การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2412 ต่อมาออสเตรียได้ส่งผู้แทนทางการทูตมาประจำประเทศไทยในปี พ.ศ. 2421

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยและออสเตรียได้ตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันในระดับอัครราชทูต เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 ซึ่งต่อมาได้ยกสถานะเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อปี พ.ศ. 2506 โดยมี พลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำกรุงเวียนนา สำหรับเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเวียนนาคนปัจจุบันคือ นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ส่วนเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นาย Arno Riedel

ปัจจุบัน ไทยได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองซาลส์บูร์ก เมืองดอร์นบีร์น และเมืองอินส์บรุค ส่วนออสเตรียได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีอำนาจดูแลพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ จังหวัดเชียงใหม่ มีเขตอาณาครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองพัทยา


ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

ความสัมพันธ์ด้านการค้า
ในปี 2549ไทยและออสเตรียมีมูลค่าการค้ารวม 479.6 ล้านดอลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 296.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 182.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 113.9 ล้านดออลลาร์สหรัฐ มูลค่าการค้ารวมเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 23.2 จากปีก่อนหน้า ออสเตรียนับเป็นคู่ค้าลำดับที่ 48 ของไทย และเป็นลำดับที่ 12 ในกลุ่มคู่ค้าจากประเทศในสหภาพยุโรป ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับออสเตรียส่วนใหญ่ต้องส่งผ่านเยอรมนี ทำให้มีต้นทุนการขนส่งสินค้าที่สูง เนื่องจากออสเตรียไม่มีเขตติดต่อทางทะเล

สินค้าที่ไทยส่งออก
อัญมณีและเครื่องประดับ คอมพิวเตอร์ เครื่องสำอาง ยางพาหนะและส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ถุงมือยาง ยางพารา เสื้อผ้าสำเร็จ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป แผงวงจรไฟฟ้า ผ้าผืนและด้าย ผลิตภัณฑ์พลาสติก

สินค้าที่ไทยนำเข้า
เครื่องจักรและส่วนประกอบ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ กระจก แก้วและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก เพชรพลอยและอัญมนี อาวุธ ยุทธปัจจัย เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์

กลไกด้านการค้าระหว่างไทยและออสเตรีย ได้แก่ คณะทำงานร่วมทางการค้าไทย – ออสเตรีย จัดตั้งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2532 จัดการประชุมแล้ว 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจัดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2542 ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต. ณ กรุงเวียนนา ได้ร่วมกับภาคเอกชนออสเตรีย จัดตั้ง Business Club ขึ้น เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2547 เพื่อเป็นช่องทางการติดต่อระหว่างสอท.ฯ กับนักธุรกิจออสเตรีย และแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้า การลงทุนระหว่างกัน

ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน
การลงทุนของออสเตรียในประเทศไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน มี 30 โครงการ มูลค่าการลงทุนประมาณ 6,778.6 ล้านบาท การลงทุนของออสเตรียที่มีหลายโครงการ และมีการขยายโครงการมาโดยตลอด ได้แก่ โครงการร่วมลงทุนของบริษัทศรีตรัง อินดัสตรี จำกัด ในจังหวัดสงขลา ร่วมกับบริษัทเซมเพอริท เทคนิคโปรดักส์ จำกัดของออสเตรีย จัดตั้งบริษัทในประเทศไทยในชื่อ บริษัทสยามเซมเพอร์เมด จำกัด ผลิตถุงมือยาง มี 11 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 3,744.4 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีบริษัทเซมเพอฟอร์ม แปซิฟิก จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 192.5 ล้านบาท ผลิตสินค้าจากยาง และชิ้นส่วนพลาสติกนอก และบริษัทคริสตัล Swarovsky ได้ตั้งโรงงานเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ที่บางพลี

ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวชาวออสเตรีย และในทางกลับกัน ออสเตรียเป็นประเทศเป้าหมายแรกๆ ในสหภาพยุโรปของนักท่องเที่ยวไทย ในปี 2549 มีนักท่องเที่ยวออสเตรียเดินทางมาไทยรวมทั้งสิ้น 76,106 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 29.04 ในระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2550 มีนักท่องเที่ยวออสเตรียเดินทางมายังประเทศไทยจำนวน 29,309 คนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวออสเตรียคิดเป็นลำดับที่ 12 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดจากสหภาพยุโรป สายการบิน Austrian Airlines Group (AUA) ได้เลือกประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และมีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ-เวียนนา ทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยว

ความร่วมมือด้านวิชาการ
คณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย ว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะ ได้มีการดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือนี้มาตั้งแต่ปี 2527ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยและออสเตรีย โดยทั้งสองฝ่ายมีมติให้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วม (Task Force) ขึ้นทุก 2 ปี โดยจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่ กรุงเวียนนา เมื่อเดือนมิถุนายน 2544 โครงการภายใต้ความร่วมมือนี้ อาทิ โครงการการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับออสเตรีย โครงการศาตราจารย์อาคันตุกะ การให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก รวมทั้งทุนฝึกอบรมและวิจัย

นอกจากนี้ในระดับพหุพาคี ไทยและออสเตรียเป็นสมาชิกเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยออสเตรียกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ASIA-UNINET) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 โดยมีสมาชิกจัดตั้งฝ่ายเอเชียได้แก่ ไทย เวียดนาอินโดนีเซีย และไทยเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากผลการดำเนินการในลักษณะเครือข่ายดังกล่าว ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทรัพยากร ความช่วยเหลือ และความร่วมมือทางวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพและกว้างขวาง

ในปี 2547 ไทยและออสเตรียได้ฉลองครบรอบ 20 ปี ความร่วมมือด้านการศึกษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนออสเตรีย ระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2547 เพื่อทรงร่วมฉลองโอกาสดังกล่าว

ความตกลงที่ลงนามแล้ว
- ความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ลงนามเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2509
- ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ ลงนามเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2524
- ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทยกับออสเตรีย ลงนามเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2516 และทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือเพื่อปรับปรุงสิทธิการบินกันเป็นระยะ
- ข้อตกลงความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยกับออสเตรีย ลงนามเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2527
- อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ลงนามเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2528 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2529
- ความตกลงว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา ลงนามเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2535
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการรถไฟ ลงนามเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2538
- ความตกลงปฏิบัติต่างตอบแทนว่าด้วยการใช้วิทยุสมัครเล่น ไทย-ออสเตรีย แลกเปลี่ยนหนังสือเมื่อเดือนเมษายน 2545

การเยือนที่สำคัญ
ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ปี 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสจักรวรรดิออสเตรียโดยสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ ที่ 1 ทรงถวายการต้อนรับ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ปี 2445 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 30 กันยายน - 5 ตุลาคม 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย
- วันที่ 29 กันยายน – 2 ตุลาคม 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 31 พฤษภาคม – 7 มิถุนายน 2536 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย เพื่อทรงเปิดนิทรรศการ 700 Years of Thailand ที่กรุงเวียนนา
- วันที่ 11-16 กรกฎาคม 2550 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรียเป็นการส่วนพระองค์

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 23 - 27 ตุลาคม 2545 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- วันที่ 31 สิงหาคม – 4 กันยายน 2532 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรียตามคำกราบบังคมทูลของประธานาธิบดีออสเตรีย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 1 - 9 มิถุนายน 2525 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย
- วันที่ 14 – 25 มีนาคม 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนโรมาเนีย ฮังการี ออสเตรีย เบลเยียม และสวิสเซอร์แลนด์
- วันที่ 21 – 25 มีนาคม 2547 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย เพื่อร่วมงานฉลองครบรอบ 20 ปี ความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ออสเตรีย

รัฐบาล
- วันที่ 14 - 16 กันยายน 2509 ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนออสเตรีย
- วันที่ 13 - 14 กันยายน 2521 นายอุปดิศร์ ปาจรียางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ-ต่างประเทศ เยือนออสเตรีย
- วันที่ 27 - 29 พฤศจิกายน 2523 นายอรุณ ภาณุพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการ-ต่างประเทศ เยือนออสเตรียในระหว่างการเยือนยุโรปตะวันออก
- วันที่ 25 - 27 เมษายน 2525 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนออสเตรีย
- เดือนมิถุนายน 2525 พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนออสเตรียเพื่อเข้าร่วมการสัมมนาเกี่ยวกับ ASEAN-ยุโรป
- วันที่ 7 - 10 มีนาคม 2533 พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ-ต่างประเทศ เยือนออสเตรีย
- วันที่ 28 - 30 สิงหาคม 2534ดร. วิเชียร วัฒนคุณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการ-ต่างประเทศ นำคณะเดินทางไปร่วมการประชุม Dialogue Congress of Europe-ASEAN
- วันที่ 14 - 16 มิถุนายน 2536 น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ-ต่างประเทศ เดินทางไปร่วมการประชุมเรื่องสิทธิมนุษยชนโลกที่กรุงเวียนนา
- วันที่ 10 - 11 กุมภาพันธ์ 2542 ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ-ต่างประเทศ เยือนออสเตรียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 8 - 9 กรกฎาคม 2546 ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ-ต่างประเทศ เยือนออสเตรียอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 21 - 25 มีนาคม 2547 นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยือนออสเตรีย

ฝ่ายออสเตรีย
พระราชวงศ์
- ปี 2448 Archduke George และ Archduke Konrad พระราชนัดดาของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ ที่ 1 เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย

รัฐบาล
- ปี 2510 นาย Franz Jonas ประธานาธิบดีออสเตรีย และภริยา เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 26 - 29 มีนาคม 2524นาย Willibald Pahr รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรีย เยือนไทย
- วันที่ 1 - 2 ตุลาคม 2532 Dr. Franz Vranitzky นายกรัฐมนตรีออสเตรีย เยือนไทย
- วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ 2533 นาย Alois Mock รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ-ต่างประเทศออสเตรีย เยือนไทย
- เดือนมีนาคม 2538 Dr. Thomas Klestil ประธานาธิบดีออสเตรียเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
- วันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน 2538 นาง Benita Ferrero-Waldner รัฐมนตรีช่วยว่าการ-กระทรวงการต่างประเทศออสเตรีย เยือนไทย
- วันที่ 1 - 2 มีนาคม 2539 Dr. Franz Vranitzky นายกรัฐมนตรีออสเตรีย เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม ASEM
- วันที่ 26 - 30 กรกฎาคม 2547นาง Elisabeth Gehrer รัฐมนตรีว่าการ-กระทรวงศึกษาธิการ วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของออสเตรีย เดินทางเยือนไทย
- วันที่ 24 มีนาคม 2548 นาง Ursula Plassnik รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรีย แวะเปลี่ยนเครื่องที่กรุงเทพฯ

เอกอัครราชทูตไทยประจำออสเตรีย นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์

เอกอัครราชทูตออสเตรียประจำไทย นาย Arno Riedel

กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในออสเตรียประจำเมืองดอร์นบีร์น ซาลส์บูร์ก และเมืองอินส์บรูก

กงสุลกิตติมศักดิ์ออสเตรียในไทย กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ จังหวัดภูเก็ต และกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ จังหวัดเชียงใหม่

ข้อมูลคนไทยในออสเตรีย
จำนวนคนไทยในออสเตรีย 2,375 คน
สถานะ/อาชีพของคนไทยในออสเตรีย: แม่บ้าน (70%) พนักงานทำความสะอาด (20%) พ่อครัว/แม่ครัว (5%) รับจ้างทั่วไป (5%)
จำนวนสมาคม/ชมรมไทยในออสเตรีย
1. สมาคมออสเตรีย-ไทย (สอท. ณ กรุงเวียนนา มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง)
2. สมาคมไทยรักไทย ร่วมด้วยช่วยเมืองไทย
3. ชมรมนักศึกษาและคนไทยในออสเตรีย

ทั้งนี้ มีวัดไทยในออสเตรีย จำนวน 1 วัด ชื่อ วัดญาณสังวร เวียนนา

สถานะ วันที่ 17 สิงหาคม 2550


เอกสารแนบ

เรียบเรียงโดย กองยุโรป 3 กรมยุโรป โทร. 0 2643 5142-3 Fax. 0 2643 5141 E-mail : european04@mfa.go.th



ข้อมูลประเทศอื่นๆทั่วโลก
อัฟกานิสถาน  แอลเบเนีย  แอลจีเรีย  อันดอร์รา  แองโกลา  แอนติกาและบาร์บูดา  อาร์เจนตินา  อาร์เมเนีย  ออสเตรเลีย  ออสเตรีย  อาเซอร์ไบจาน  บาฮามาส  บาห์เรน  บังกลาเทศ  บาร์เบโดส  เบลารุส  เบลเยียม  เบลีช  เบนิน  ภูฏาน  โบลิเวีย  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  บอตสวานา  บราซิล  บรูไนดารุสซาลาม  บัลแกเรีย  บูร์กินาฟาโซ  บุรุนดี  กัมพูชา  แคเมอรูน  แคนาดา  เคปเวิร์ด  แอฟริกากลาง  ชาด  ชิลี  จีน  ฮ่องกง  มาเก๊า  ไต้หวัน  โคลัมเบีย  คอโมโรส  คอสตาริกา  โครเอเชีย  คิวบา  ไซปรัส  เช็ก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  เดนมาร์ก  จิบูตี  โดมินิกา  โดมินิกัน  เกาหลีเหนือ  เอกวาดอร์  อียิปต์  เอลซัลวาดอร์  อิเควทอเรียลกินี  เอริเทรีย  เอสโตเนีย  เอธิโอเปีย  ฟิจิ  ฟินแลนด์  ฝรั่งเศส  กาบอง  แกมเบีย  จอร์เจีย  เยอรมนี  กานา  กรีซ  เกรเนดา  กัวเตมาลา  กินี  กินีบิสเซา  กายอานา  เฮติ  นครรัฐวาติกัน  ฮอนดูรัส  ฮังการี  ไอซ์แลนด์  อินเดีย  อินโดนีเซีย  อิหร่าน  อิรัก  ไอร์แลนด์  อิสราเอล  อิตาลี  จาเมกา  ญี่ปุ่น  จอร์แดน  คาซัคสถาน  เคนยา  คิริบาส  คูเวต  คีร์กิซ  ลาว  ลัตเวีย  เลบานอน  เลโซโท  ไลบีเรีย  ลิเบีย  ลิกเตนสไตน์  ลิทัวเนีย  ลักเซมเบิร์ก  มาซิโดเนีย  มาดากัสการ์  มาลาวี  มาเลเซีย  มาลี  มอลตา  หมู่เกาะมาร์แชลล์  มอริเตเนีย  มอริเชียส  ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง  เม็กซิโก  ไมโครนีเซีย  มอลโดวา  โมนาโก  มองโกเลีย  โมร็อกโก  โมซัมบิก  พม่า  นามิเบีย  นาอูรู  เนปาล  เนเธอร์แลนด์  นิวซีแลนด์  นิวซีแลนด์  นิการากัว  ไนเจอร์  ไนจีเรีย  นอร์เวย์  องค์การรัฐอเมริกัน  โอมาน  ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา  ปากีสถาน  ปาเลา  ปานามา  ปาปัวนิวกินี  ปารากวัย  เปรู  ฟิลิปปินส์  โปแลนด์  โปรตุเกส  กาตาร์  คองโก  เกาหลีใต้  กลุ่มริโอ  โรมาเนีย  รัสเซีย  รวันดา  เซนต์คิตส์และเนวิส  เซนต์ลูเซีย  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์  ซามัว  ซานมาริโน  เซาโตเมและปรินซิเป  ซาอุดีอาระเบีย  เซเนกัล  เซอร์เบีย  เซเชลส์  เซียร์ราลีโอน  สิงคโปร์  สโลวาเกีย  สโลวีเนีย  หมู่เกาะโซโลมอน  โซมาเลีย  แอฟริกาใต้  สเปน  ศรีลังกา  ซูดาน  ซูรินาเม  สวาซิแลนด์  สวีเดน  สวิตเซอร์แลนด์  ซีเรีย  ทาจิกิสถาน  แทนซาเนีย  ติมอร์-เลสเต  โตโก  ตองกา  ตรินิแดดและโตเบโก  ตูนิเซีย  ตุรกี  เติร์กเมนิสถาน  ตูวาลู  ยูเออี  ยูกันดา  ยูเครน  สหราชอาณาจักร  สหรัฐอเมริกา  อุรุกวัย  อุซเบกิสถาน  วานูอาตู  เวเนซุเอลา  เวียดนาม  เยเมน  แซมเบีย  ซิมบับเว 



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์