ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com >> ลิทัวเนีย




แผนที่
สาธารณรัฐลิทัวเนีย
Republic of Lithuania


 
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในกลางทวีปยุโรป ทางฝั่งตะวันออกของทะเลบอลติกทิศเหนือจดประเทศลัตเวีย ทิศตะวันออกและทิศใตัจดสาธารณรัฐเบลารุสและทิศตะวันตกเฉียงใต้จดโปแลนด์และรัสเซีย (Kaliningrad)

พื้นที่ 65,300 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนทั้ง 3 ประเทศแถบบอลติก (เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสนและเนินทราย ลิทัวเนียเป็นแหล่งอำพัน (Amber) ที่สำคัญ

ประชากร 3.58 ล้านคน (กรกฎาคม 2549) กลุ่มชนชาติ Lithuanians 80% (อาศัยอยู่ในเมือง 68.5% ชนบท 31.5%) Russians 9% Poles 7% Byelorussians 2%

ภาษา Lithuanian เป็นภาษาราชการ 80% ของประชากรใช้ภาษารัสเซีย

ศาสนา ศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดคือ ศาสนาคริสต์นิกายโรมันแคทอลิก แต่สำหรับชาวรัสเซียในลิทัวเนียนับถือศาสนาแคทอลิก นิกายออร์ธอดอกซ์

เมืองหลวง กรุงวิลนีอุส (Vilnius)

สกุลเงิน Litas (เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2536 แทนเงินสกุลรูเบิล) อัตราแลกเปลี่ยน 1 Euro = 3.4528 Litas ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545/ 1 Litas = ประมาณ 14.8307 บาท

วันชาติ 16 กุมภาพันธ์

ระบบการเมือง มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ ภายใต้รัฐธรรมปัจจุบัน ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2535

ประธานาธิบดี Mr. Valdas Adamkus (กรกฎาคม 2547)

นายกรัฐมนตรี Mr. Gediminas Kirkilas (กรกฎาคม 2549)

รัฐมนตรีต่างประเทศ Mr. Petras Vaitiekunas (กรกฎาคม 2549)

สถาบันทางการเมือง ลิทัวเนียมีประธานาธิบดีเป็นประมุขซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี รัฐสภาใช้ระบบสภาเดียว (Unicamera) เรียกว่า Seimas จำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 141 คน (71 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง อีก 70 คน มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน) มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี พรรคการเมืองจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ 4 จากการลงคะแนนเสียงทั่วประเทศ จึงจะมีสิทธิเข้าร่วมในรัฐสภา ยกเว้นพรรคที่มาจากชนกลุ่มน้อย คณะรัฐบาลดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของสมาชิกรัฐสภาเว้นแต่สมาชิกคณะรัฐบาลจะลาออก หรือรัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาด ประธานสภาเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

รายได้ประชาชาติ (National Income) รายได้ประชาชาติต่อหัวคิดเป็นร้อยละ 47 โดยรายได้หลักมาจากการค้าและบริการร้อยละ 61 อุตสาหกรรมร้อยละ 26 ก่อสร้างร้อยละ 7 และเกษตรกรรมร้อยละ 6

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 45.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (GDP ต่อหัว 12,500 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี)

อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ร้อยละ 6.7

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.1

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 11.4 (จำนวนแรงงาน 1.5 ล้านคน)

ดุลการค้า ขาดดุล 3 พันล้านยูโร

นำเข้า 12.5 พันล้านยูโร

ส่งออก 9.5 พันล้านยูโร

ประเทศคู่ค้านำเข้าสำคัญ รัสเซีย (ร้อยละ 22.34) เยอรมนี (ร้อยละ 16.89) โปแลนด์ (ร้อยละ 7.56) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 3.95) ลัตเวีย (ร้อยละ 3.8)/ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (ร้อยละ 63)

ประเทศคู่ค้าส่งออกสำคัญ รัสเซีย (ร้อยละ 10.4) ลัตเวีย (ร้อยละ 10.3)เยอรมนี (ร้อยละ 9.4) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 7) เอสโตเนีย (ร้อยละ 5.9) โปแลนด์ (ร้อยละ 5.5) สวีเดน (ร้อยละ 5) อังกฤษ (ร้อยละ 5) เดนมาร์ก (ร้อยละ 4.3) อื่นๆ (ร้อยละ 32.8)

สินค้านำเข้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์แร่ธาตุ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่ง เคมีภัณฑ์ โลหะ

สินค้าส่งออกสำคัญ ผลิตภัณฑ์แร่ธาตุ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ อุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่ง เคมีภัณฑ์
- ขีดความสามารถด้านการแข่งขัน (Global Competitiveness Index) ในปี 2549 อยู่ในลำดับที่ 40(ปี 2548 ลำดับที่ 34)

การลงทุนจากต่างชาติ มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2548 มีปริมาณ 4,690 ล้านยูโร ปี 2549 มีปริมาณ 5,445 ล้านยูโร โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม EU เรียงลำดับได้ดังนี้ เดนมาร์กร้อยละ 15.2 สวีเดนร้อยละ 13.6 รัสเซียร้อยละ 12.9 เยอรมนีร้อยละ 11.6 เอสโตเนียร้อยละ 8.2 ฟินแลนด์ร้อยละ 8.1 เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 3.7 สหรัฐฯ ร้อยละ 3.4 ออสเตรียร้อยละ 2.7 นอร์เวย์ร้อยละ 2.6 และอื่นๆร้อยละ 18
หากแบ่งตามสาขาการลงทุน ภาคการผลิตร้อยละ 33.1 ภาคการเงินร้อยละ 15.7 การขายส่งและขายปลีกร้อยละ 13.9 ภาคการขนส่งและการสื่อสารร้อยละ 12.5 ภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจให้เช่าประเภทต่างๆ ร้อยละ 8 อื่นๆร้อยละ 16.8

การเมืองการปกครอง
1. ทั่วไป
-ปัจจุบันสถานภาพทางการเมืองของลิทัวเนียในสายตาของนานาชาตินั้นถือได้ว่ามีเสถียรภาพและเอื้ออำนวยต่อการค้าการลงทุน ภายหลังจากการถอนทหารรัสเซีย ออกจากลิทัวเนียตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2539 กอปรกับชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซียในลิทัวเนียไม่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง จึงส่งผลทำให้การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลลิทัวเนียในเรื่องชนกลุ่มน้อยค่อนข้างเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศบอลติกอื่นๆ ซึ่งได้แก่ ลัตเวีย และเอสโตเนีย

2. พัฒนาการทางการเมือง
การเลือกตั้งประธานาธิบดีลิทัวเนียเมื่อเดือนมกราคม 2541
-เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2541 นาย Valdas Adamkus ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีลิทัวเนียคนใหม่ สืบแทนนาย Algirdas Brazauskas ประธานาธิบดีคนเดิม ซึ่งไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง นาย Adamkus ได้รับการสนับสนุนจากพรรค Lithuanian Democrat
และพรรค The Democratic Center Union
การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนตุลาคม 2543
-เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2543 ลิทัวเนียได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่าพรรคLiberal Union ภายใต้การนำของนาย Rolandas Paksas อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับเลือกตั้งในประเภทการเลือกตั้งโดยตรงมากที่สุด 18 ที่นั่ง จาก 71 ที่นั่ง สำหรับการเลือกตั้งตามอัตราส่วนบัญชีรายชื่อพรรคกลุ่ม Social Democratic Coalition ภายใต้การนำของนาย Algirdas Brazaukas อดีตประธานาธิบดีลิทัวเนีย (ปี2536-2541) ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดจำนวน 28 ที่นั่ง จาก 70 ที่นั่ง สำหรับการจัดตั้งรัฐบาล รัฐสภาลิทัวเนียได้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งให้นาย Rolandas Paksas ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง โดยเป็นการจัดตั้งรัฐบาลผสมสี่พรรคเสียงข้างน้อยในสภา
การจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2544
- เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2544 นาย Rolandas Paksas ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 รัฐสภาลิทัวเนียได้ลงมติเห็นชอบในการแต่งตั้งนาย Algirdas Brazauskas อดีตประธานาธิบดีลิทัวเนีย ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบแทนตามที่ประธานาธิบดี Adamkus ได้เสนอชื่อ ในด้านการต่างประเทศนาย Brazauskas นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินนโยบายต่างประเทศให้มีความต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)
การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคม 2546
- ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า นาย Rolandas Paksas อดีตนายกรัฐมนตรี ประสบชัยชนะในการเลือกตั้งเหนือนาย Valdas Adamkus ซึ่งลงสมัครแข่งขันในสมัยที่ 2 โดยนาย Rolandas Paksas ได้รับคะแนนเสียงในรอบที่ 2 ร้อยละ 54.91 และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสืบแทนนาย Valdas Adamkus เดือนกุมภาพันธ์ 2546
การถอดถอนประธานาธิบดีลิทัวเนีย
- เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2547 รัฐสภาลิทัวเนียได้ลงมติเสียงข้างมากให้ถอดถอนประธานาธิบดี Paksas ออกจากตำแหน่ง (Impeachment) จากกระทำผิดในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อกล่าวหา 3 เรื่อง คือ การมอบสัญชาติลิทัวเนียให้แก่นักธุรกิจรัสเซียโดยมิชอบ การเปิดเผยข้อมูลลับของราชการ และการใช้อำนาจรัฐในการแทรกแซงธุรกิจของบริษัทเอกชนเพื่อผผลประโยชน์ส่วนตัว และตามรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภา (นาย Arturas Paulauskas) จะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานาธิบดีชั่วคราวจนกว่า จะมีการเลือกตั้งประธานธิบดีขึ้นใหม่
การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมิถุนายน 2547
- เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2547 คณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของลิทัวเนียได้จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีลิทัวเนียขึ้น ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ 50 ของผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด คณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของลิทัวเนียจึงจำเป็นต้องจัดให้มีการเลือกตั้งรอบที่สองขึ้นภายในสองสัปดาห์ ตามที่กฎหมายลิทัวเนียกำหนดไว้ โดยเป็นการเลือกตั้งระหว่างผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 คือ นาย Valdas Adamkus อดีตประธานาธิบดีลิทัวเนียที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2541-2546 และนาง Kazimira Danute Prunskeine อดีตนายกรัฐมนตรีลิทัวเนียคนแรกภายหลังจากที่ลิทัวเนียได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต
- การเลือกตั้งประธานาธิบดีลิทัวเนียรอบที่ 2 มีขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2547 เป็นการแข่งขันกันระหว่างผู้สมัคร 2 คนข้างต้น ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่า นาย Valdas Adamkus ได้รับคะแนนเสียง 723,011 เสียง คิดเป็นร้อยละ 52.63 ขณะที่นาง Kazimira Danute Prunskeine ได้รับคะแนนเสียง 650,766 เสียง คิดเป็นร้อยละ 47.37 จากผู้ลงคะแนนทั้งหมด 1,373,787 ราย นาย Valdas Adamkusได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547
การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเดือนตุลาคม 2547
- เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2547 คณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของลิทัวเนียได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาลิทัวเนีย (Seimas) จำนวน 141 คน โดยแบ่งเป็นการเลือกตั้งโดยตรง 71 คน และการเลือกตั้งตามอัตราส่วนบัญชีรายชื่อพรรคอีก 70 คน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 4 ปี ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรค Labour ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่โดยนาย Victor Uspaskich มหาเศรษฐีลิทัวเนียเชื้อสายรัสเซีย และมีผลงานที่ดีในการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป ได้รับที่นั่งในการเลือกตั้งมากที่สุด 39 ที่นั่ง ขณะที่กลุ่มพันธมิตร We work for Lithuania ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ประกอบด้วยพรรค Social Democratic และพรรค Social Liberal ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี Algirdas Brazaukas (อัลเกียรดัส บราเซากัส) และประธานรัฐสภา Arturas Paulaukas เป็นหัวหน้าพรรคตามลำดับ ได้รับเลือกตั้งมาเป็นลำดับที่ 2 คือ 31 ที่นั่ง และพรรค Homeland Union/ Conservative Party ได้รับเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 3 จำนวน 25 ที่นั่ง
- เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ประธานาธิบดี Valdas Adamkus ได้ลงนามในกฤษฎีกาแต่งตั้งให้นายกรัฐมนตรี Algirdas Brazaukas หัวหน้าพรรค Social Democratic เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 และมอบหมายให้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน รัฐบาลลิทัวเนียชุดใหม่เป็นรัฐบาลผสม 4 พรรคการเมือง เสียงข้างมากในสภา ประกอบด้วย พรรค Social Democratic พรรค Social Liberal พรรค Labour และพรรค Union of Peasant and New Democratic
การจัดตั้งรัฐบาลล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549
-เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 นาย Algirdas Brazauskas (หัวหน้าพรรค Social Democrat) ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปัญหาความความไม่มีเสถียรทางการเมืองของรัฐบาล ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 รัฐสภาลิทัวเนียได้ลงมติเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นำโดยนาย Gediminas Kirkilas นายกรัฐมนตรีคนใหม่ (รองหัวหน้าพรรค Social Democrat) รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม 4 พรรค เสียงข้างน้อยในสภา สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปของลิทัวเนียจะมีขึ้นในปี 2551

ประวัติย่อบุคคลสำคัญทางการเมือง
1.ประธานาธิบดีลิทัวเนีย
นาย Valdas Adamkus (วัลดัส อดัมคุส) เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2469(ค.ศ. 1926) เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีลิทัวเนียมาแล้ว 1 สมัย ระหว่างปี 2541-2546 (ค.ศ. 1998-2003) ต่อมาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2546 (ค.ศ. 2003) นาย Adamkus ประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งต่อนาย Rolandas Paksas ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่สองเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2546 (ค.ศ. 2003) อย่างไรก็ดี นาย Adamkus กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 หลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2547

2.นายกรัฐมนตรีลิทัวเนีย
นาย Gediminas Kirkilas (เจดีมินัส เคียคิลัส) อายุ 55 ปี เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม
2494 (ค.ศ. 1951) เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 (ค.ศ. 2006) ก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทางการเมือง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างปี 2547-2549 (ค.ศ. 2004–2006) เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2546-2547 (ค.ศ. 2003–2004) และสมาชิกรัฐสภา ระหว่างปี 2535-2547 (ค.ศ. 1992–2004)

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลิทัวเนีย
นาย Petras Vaitiekunas (เปทราส ไวทีกูนัส) อายุ 56 ปี เกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน
2493 (ค.ศ.1950) เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยแรก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 (ค.ศ. 2006) ก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น เอกอัครราชทูตประจำเบลารุส ระหว่างปี 2548-2549 (ค.ศ. 2005-2006) เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงต่างประเทศดูแลงานด้านนโยบายต่างประเทศและการวางแผนและวิเคราะห์ ระหว่างปี 2547-2548 (ค.ศ. 2004-2005)

ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศลิทัวเนียใน Website ทาง Internet
1. www.urm.lt
2. www.lrvk.lt
3. www.president.lt

เศรษฐกิจการค้า
ภาพรวมทางเศรษฐกิจ
- ภายหลังจากการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต เมื่อเดือนกันยายน 2534 ลิทัวเนียได้เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจรวมศูนย์มาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ทำให้สถานภาพทางเศรษฐกิจของลิทัวเนียมีความมั่นคงยิ่งขึ้น ประกอบลิทัวเนียได้ทำความตกลงการค้าเสรี (free trade agreement) กับเอสโตเนียและลัตเวียเมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2536 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ รวมตลาดของทั้งสามประเทศซึ่งมีจำนวนผู้บริโภค 8 ล้านคนเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการปฎิรูปเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของลิทัวเนียเริ่มฟื้นตัวขึ้น อัตราเงินเฟ้อลดลงเป็นลำดับ ค่าเงินสกุลลิตาส (Litas) ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 25มิถุนายน 2536 เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นตามลำดับและปัจจุบันรัฐบาลลิทัวเนียได้คงอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ไว้กับเงินสุกลยูโร เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าร่วมการใช้เงินสกุลเดียวในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
- โครงสร้างทางเศรษฐกิจของลิทัวเนียที่สำคัญประกอบด้วยภาคอุตสาหกรรมและพลังงาน ภาคการก่อสร้าง การค้า การขนส่ง และการบริการ ในด้านเทคโนโลยี ลิทัวเนียเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในการวิจัยและการพัฒนาวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีเลเซอร์ ซึ่งสามารถนำวิทยาการเหล่านี้ดังกล่าวมาประยุกต์และใช้ประโยชน์ในกิจการด้านวิศวกรรมและการแพทย์
- ลิทัวเนียได้รับการจัดอันดับจากธนาคารโลกและ International Finance Corporation ให้เป็นประเทศที่สามารถขจัดอุปสรรคทางการค้าเพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโต โดยอยู่ในอันดับ 6 ใน 10 ประเทศแรกจาก 58 ประเทศซึ่งได้ปรับกฎระเบียบทางการค้า และมีกฎระเบียบเข้มงวดกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา
- ลิทัวเนียยังได้รับการจัดอันดับจาก Centre for Economics and Research ของสหราชอาณาจักรให้เป็นประเทศที่น่าลงทุนประเทศหนึ่งใน EU โดยได้รับรางวัล European Cities of the Future ในปี 2004/2005 และ Eastern Europe and Baltic City of the Future ซึ่งเกณฑ์การพิจารณามาจากศักยภาพทางเศรษฐกิจ ความคุ้มค่าของเงินลงทุน ทรัพยากรมนุษย์ ความสะดวกของการคมนาคม ระบบสารสนเทศ คุณภาพชีวิตของชาวต่างชาติที่ไปทำงานในลิทัวเนีย และยุทธศาสตร์ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เป็นต้น

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization)
- นับแต่ปี 2534 รัฐบาลได้ดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) โดยเปิดกว้างสำหรับประชาชนทั่วไป และรัฐบาลได้ทำการเปิดตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ “The Vilnius-based National Stock Exchange” ปลายเดือนมิถุนายน 2536 เพื่อเป็นการระดมเงินทุนภายในประเทศ บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 250,000 Litas กิจการส่วนใหญ่ที่รัฐบาลจัดการโอนให้แก่เอกชนเป็นกิจกรรมที่มีขนาดเล็ก ส่วนกิจการรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ยังคงอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ขณะเดียวกัน รัฐบาลลิทัวเนียก็แสวงหาการลงทุนจากต่างประเทศ

นโยบายการเงิน
- ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ลิทัวเนียได้ประกาศตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุล Litas กับเงินสกุล Euro แทนดอลลาร์สหรัฐ ไว้ที่ 1 Litas = 3.4528 Euro
- รัฐบาลได้ออกเงินสกุลแห่งชาติลิทัวเนีย (Litas) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2536 และควบคุมกระแสหมุนเวียนทางการเงินอย่างเข้มงวด

นโยบายด้านภาษี
- ลิทัวเนียเก็บภาษีประเภทต่างๆ ในอัตราต่ำกว่าประเทศในยุโรปเหนือ สหภาพยุโรป สโลเวเนีย ฮังการี และสโลวาเกีย โดยเก็บภาษีของบริษัทที่ได้จากกำไรร้อยละ 15 ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 18 ภาษีรายได้ร้อยละ 27 (มีกำหนดจะลดลงเหลือร้อยละ 24 ในปี 2551) และภาษีจากเงินปันผลร้อยละ 0-15 ทั้งนี้ จะไม่เก็บภาษีจากเงินปันผลในกรณีนักลงทุนสามารถควบคุมให้มีจำนวนหุ้นเพียงร้อยละ 10 ภายในเวลา 12 เดือน
- นอกจากนั้น รัฐบาลยังจัดตั้งเขตปลอดภาษีสำคัญการลงทุน รัฐบาลได้อนุมัติให้จัดตั้งเขตปลอดภาษีขึ้น 6 แห่ง เพื่อดึงดูดความสนใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ การลงทุนภายในเขตที่กำหนด นักลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีส่งออก-นำเข้า สำหรับสิทธิภาษีอื่น ๆ หากกิจการดังกล่าวมีเงินทุนจากต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 30 ของเงินทุนทั้งหมด จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นระยะเวลานาน 3 ปี และหากเงินทุนจากต่างประเทศเกินร้อยละ 30 จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 5 ปี รัฐบาลจัดตั้งระบบบัญชีร่วม (mutual accounts) ระหว่างรัสเซียและลิทัวเนีย เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างวิสาหกิจของประเทศทั้งสอง

นโยบายด้านการลงทุน
- รัฐบาลดำเนินมาตรการปล่อยให้ราคาสินค้าลอยตัวโดยเสรี ส่งเสริมการแข่งขันโดยภาคเอกชน และยกเลิกการสนับสนุนโดยรัฐบาล ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2536 รัฐบาลได้ยกเลิกการพยุงและอุดหนุนราคา (subsidies) ในสินค้าขนมปัง และน้ำตาล
- สำหรับการค้าการลงทุนในลิทัวเนียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลลิทัวเนีย
ได้ออกกฎหมายหลายฉบับซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อผู้ลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในลิทัวเนีย ดังจะเห็นได้จากการที่ในช่วงต้นปี 2538 เงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนสูงกว่า 57% ของเงินลงทุนทั้งหมด กอปรกับปัจจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุนการลงทุนในลิทัวเนีย คือ
- ลิทัวเนียเป็นรัฐที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองระดับหนึ่ง ทำให้นักลงทุนมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน
- ในแง่ภูมิศาสตร์ ลิทัวเนียสามารถระบายสินค้าไปสู่รัสเซียเพราะความใกล้ชิดทางด้านภูมิศาสตร์และคุ้นเคยกับการค้าขายกับรัสเซีย
- ระบบการคมนาคมและสื่อสาร ภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งการพัฒนาสาธารณูปโภคก็อยู่ในเกณฑ์ดีซึ่งเป็นพื้นฐานต่อการลงทุนในประเทศ ลิทัวเนียมีท่าเรือปลอดน้ำแข็ง (Ice-free seaport) ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมกับท่าเรือของประเทศยุโรปอื่นๆ มีถนนหนทางที่ดีในการขนส่ง และเป็นผู้นำด้านสารสนเทศ โดยมีเครือข่ายโทรศัพท์มากถึงร้อยละ 150 มีเครือข่ายระบบอินเตอร์เนตไร้สายความเร็วสูงในเมืองใหญ่ๆ และมีเที่ยวบินตรงสู่ยุโรป
- ลิทัวเนียได้จัดทำความตกลงทางการค้าเสรีกับหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสหภาพยุโรปซึ่งเป็นหนทางขยายลู่ทางการค้าวิธีหนึ่ง
- เมื่อเดือนมกราคม 2539 รัฐบาลลิทัวเนียได้อนุมัติ Public Investment Programme ซึ่งเป็นโครงการการลงทุนที่ต้องการเงินทุนมาพัฒนาในสาขาจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน โดยมีสาขาที่ต้องการเงินลงทุนมากที่สุดตอนนี้คือ ระบบสาธารณูปโภค พลังงานคมนาคม การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โครงการเกี่ยวกับสุขภาพ (โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์) โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐลิทัวเนีย
ความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง
ประเทศไทยได้ประกาศรับรองเอกราชสาธารณรัฐลิทัวเนีย พร้อมกับประเทศบอลติก อื่น ๆ (ลัตเวียและเอสโตเนีย) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2534 และเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาลงมติเห็นชอบให้ดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับลิทัวเนีย (พร้อมกับลัตเวียและเอสโตเนีย) ซึ่งต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2536 ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐลิทัวเนียอย่างเป็นทางการ และมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน มีเขตอาณาครอบคลุมลิทัวเนียและไอซ์แลนด์ด้วย ในปัจจุบันนายชัยสิริ อนะมาน เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตประจำลิทัวเนียและไอซ์แลนด์
สถานที่อยู่ Royal Thai Embassy, Norgesmindevej 18 2900 Hellerup Copenhagen Tel.(45) 39625010,39625257 Fax: (45) 39625059
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เห็นชอบในการแต่งตั้งนาย Ginutis Dainius Voveris เป็นเอกอัครราชทูตลิทัวเนียประจำประเทศไทย โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงวิลนีอุส ตามที่รัฐบาลลิทัวเนียได้เสนอ สำหรับกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ กรุงวิลนีอุส ได้แก่ นายโรลันดัส วาลิอูนัส (Mr. Rolandas Valiunas) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2547 และกงสุลกิตติมศักดิ์ลิทัวเนียประจำประเทศไทย คือ ศ.นพ.วงศ์กุลพัทธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2548

ความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการลงทุน (ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)
ปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับลิทัวเนียยังอยู่ในระดับต่ำ
ปริมาณการค้าไทย-ลิทัวเนียในช่วงปี 2549 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 10.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออก 9.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ในด้านดุลการค้าปรากฏว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด
สำหรับสถิติการค้าในปี 2548 มีมูลค่า 21.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออก 20.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 18.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปลิทัวเนีย ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เนื้อปลาสด แช่เย็นและแช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า

สินค้านำเข้าจากลิทัวเนีย ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ถ่านหิน เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ นมและผลิตภุณฑ์นม เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ลิทัวเนีย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมลิทัวเนีย กระทรวงการต่างประเทศ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาทางธุรกิจ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทำความรู้จักและการพบปะจับคู่ทางธุรกิจระหว่าง ภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย อาทิ
1. งาน Lithuanian-Thai Business Forum ที่กรุงวิลนีอุส ในโอกาสการเยือนลิทัวเนียของนายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย เมื่อวันที่ 1-4 ตุลาคม 2546
2. งาน Thailand-Lithuania Business Forum ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ในโอกาสการเยือนไทยของนาย Petras Cesna รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจลิทัวเนีย เมื่อวันที่ 10-15 พฤศจิกายน 2546
3. งาน Thailand-Lithuania Business Forum ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ ในโอกาสการเยือนไทยของนาย Antanas Valionis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประเทศลิทัวเนีย เมื่อวันที่ 5-7 เมษายน 2547
ตารางสถิติการค้าระหว่างไทย-ลิทัวเนีย ดังเอกสารแนบ

ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน
1. การขาดข้อมูลทางการค้าระหว่างกัน
2. การขาดความมั่นใจในเสถียรภาพทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศลิทัวเนีย ทำให้นักลงทุนชาวไทยไม่กล้าเสี่ยงที่จะเข้ามาลงทุน
3. ลิทัวเนียถือได้ว่ายังเป็นตลาดขนาดเล็ก มีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 3.5 ล้านคน
และค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับลิทัวเนียเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าที่จะนำเข้าไปจำหน่ายในตลาดของทั้งสองประเทศมีราคาสูงขึ้น
(ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)

การท่องเที่ยว (ข้อมูลจากททท.)
สถิติในปี 2548 (ม.ค-มิ.ย.) มีนักท่องเที่ยวลิทัวเนียมาไทยจำนวน 314 คน
การเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยของชาวลิทัวเนียเริ่มขึ้นในปี 2533 จากสถิติในปี 2542 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยจำนวน 478 คน ในปี 2544 มีจำนวน 616 คนซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2543 ร้อยละ 20.55 ในปี 2545 มีจำนวน 683 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.88 และในปี 2546 มีจำนวน 575 คน ลดลงร้อยละ 15.81 สำหรับในช่วงมกราคม-ตุลาคม ปี 2547มีนักท่องเที่ยวชาวลิทัวเนียเดินทางมาประเทศไทยทั้งหมด 951คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 55.56 ในช่วงแรกประเทศไทยได้รับความนิยมจากชาวลิทัวเนียในฐานะที่เป็นแหล่ง shopping อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันชาวลิทัวเนียเดินทางมายังประเทศไทยในฐานะนักท่องเที่ยวมากขึ้น แหล่งท่องเที่ยวที่นิยม คือ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เกาะสมุยและชาวลิทัวเนียนิยมท่องเที่ยวในลักษณะแบบครอบครัว และการท่องเที่ยวในรูปแบบผจญภัยเช่น ดำน้ำ ล่องแก่ง และปีนภูเขา
(ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

แนวนโยบายต่างประเทศของลิทัวเนียในด้านที่สำคัญๆ

1. การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU)
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 (ค.ศ.2004) ลิทัวเนีย และประเทศเพื่อนบ้านใน
กลุ่มบอลติก คือ เอสโตเนีย และลัตเวีย พร้อมด้วยสาธารณรัฐเช็ก ไซปรัส ฮังการี มอลตา โปแลนด์ สโลวีเนีย และสโลวะเกีย ได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์
ก่อนหน้านี้ ลิทัวเนียและกลุ่มประเทศบอลติกพยายามที่จะดำเนินการเจรจาเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในขั้นตอนต่างๆ และการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ให้เสร็จสิ้นลุล่วงในปี 2545 (ค.ศ.2002) เพื่อที่จะได้มีความพร้อมสำหรับการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในปี 2547 (ค.ศ.2004)

2. การเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)
2.1 ลิทัวเนียได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การ NATO ในปี 2545 (ค.ศ.2002) โดยรัฐบาลจะดำเนินนโยบายในเชิงรุกเพื่อสร้างความตื่นตัวและความกระตือรือล้นให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกภาพองค์การ NATO ของลิทัวเนียในด้านต่างๆ และจะมีการติดต่อหารืออย่างต่อเนื่องกับประเทศสมาชิกองค์การ NATO เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของลิทัวเนีย
2.2 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 (ค.ศ.2003) สมาชิกองค์การ NATO 19 ประเทศ ได้ ลงนามในพิธีสารว่าด้วยการรับสมาชิกใหม่ 7 ประเทศ คือ บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวะเกีย และสโลวีเนีย ที่กรุงบรัสเซลส์ ต่อมา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2547 ประเทศสมาชิกองค์การ NATO ใหม่ ทั้ง 7 ประเทศ ได้มอบภาคยานุวัตรสารให้แก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี

3. การพัฒนาสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน
ลิทัวเนียให้ความสำคัญแก่การพัฒนาความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับโปแลนด์ การแสวงหาความร่วมมือในภูมิภาคยุโรปเหนือกับกลุ่มประเทศแถบทะเลบอลติกและกลุ่มประเทศนอร์ดิก (Nordic) การกระชับความร่วมมือกับรัสเซียโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ พลังงาน การคมนาคมขนส่ง รวมทั้งการขยายความร่วมมือกับเบลารุส และประเทศต่างๆ ในแถบทะเลดำ
3.1 การดำเนินนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ลิทัวเนียจะมุ่งเน้นการพัฒนาในการส่งออกและการแสวงหาการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของลิทัวเนีย ขณะเดียวกัน มุ่งเน้นให้ความสำคัญมากขึ้นแก่มิติความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับประเทศต่างๆ เพื่อที่จะส่งผลเกื้อกูลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของลิทัวเนีย

การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย
- เดือนกันยายน 2535 (ค.ศ. 1992) คณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ (Familiarization Mission) เดินทางเยือนประเทศกลุ่มบอลติก (ลิทัวเนีย เอสโตเนีย และลัตเวีย) เพื่อสำรวจลู่ทางการพัฒนาความสัมพันธ์
- วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541 (ค.ศ. 1998) เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน (มีเขตอาณาครอบคลุมลิทัวเนียและไอซ์แลนด์) เข้าร่วมพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีลิทัวเนีย (นาย Valdas Adamkus) ที่กรุง Vilnius
- วันที่ 3-4 พฤษภาคม 2542 (ค.ศ. 1999) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร) พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลิทัวเนีย (นาย Rolnas Bernotas) ในระหว่างการประชุม Landmine Conference ที่โมแซมบิก
- วันที่ 22 สิงหาคม - 3 กันยายน 2542 (ค.ศ. 1999) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนเกาะกรีนแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และ เอสโตเนีย เป็นการส่วนพระองค์ (ลิทัวเนีย ระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2542 (ค.ศ. 1999))
- วันที่ 9-19 กรกฎาคม 2543 (ค.ศ. 2000) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) จัดงาน Baltic Countries Road Show 2000 ที่เอสโตเนีย ลัตเวียและลิทัวเนีย (กรุงวิลนีอุส วันที่ 17 กรกฎาคม 2543 (ค.ศ. 2000))
- วันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2546 (ค.ศ.2003) เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน (มีเขตอาณาครอบคลุมลิทัวเนียและไอซ์แลนด์) เดินทางเยือนลิทัวเนียเพื่อเข้าร่วมงานฉลองวันชาติลิทัวเนีย และได้พบหารือกับบุคคลสำคัญภาครัฐและเอกชนลิทัวเนีย
- วันที่ 1-4 ตุลาคม 2546 (ค.ศ.2003) นายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย (Thailand Trade Representative -TTR) พร้อมคณะภาคเอกชนเดินทางไปเยือนลิทัวเนียตามคำเชิญของนาย Petras Cesna รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจลิทัวเนีย (ผู้แทนการค้าไทยแวะเยือนเดนมาร์ก และเยือนลิทัวเนีย โรมาเนียและบัลแกเรีย ระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 13 ตุลาคม 2546)
ฝ่ายลิทัวเนีย
- วันที่ 7-14 ตุลาคม 2545 (ค.ศ.2002) นาย Ginutis Dainius VOVERIS เอกอัครราชทูตลิทัวเนียประจำประเทศไทย ซึ่งมีถิ่นพำนัก ณ กรุง Vilnius ลิทัวเนีย เดินทางมาเยือนไทยเพื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง (วันที่ 9 ตุลาคม 2545) ในระหว่างการเยือนไทย เอกอัครราชทูต VOVERIS ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมทั้งประธานรัฐสภา (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (นายเตช บุนนาค)
- วันที่ 10-15 พฤศจิกายน 2546 (ค.ศ.2003) นาย Petras Cesna รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจลิทัวเนีย พร้อมด้วยคณะภาคเอกชน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของผู้แทนการค้าไทย ( นายกันตธีร์ ศุภมงคล) ในระหว่างการเยือน รัฐมนตรี Cesna ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเข้าพบหารือกับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและ นายวัฒนาเมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- วันที่ 5-7 เมษายน 2547 (ค.ศ.2004) นาย Antanas Valionis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลิทัวเนีย และภริยา พร้อมด้วยคณะภาคเอกชน เยือนไทย อย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ตามคำเชิญของ
นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ในระหว่างการเยือน รัฐมนตรี Valionis ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเข้าพบหารือกับ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนการค้าไทย (นายกันตธีร์ ศุภมงคล)
- วันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2547 (ค.ศ.2004) นาย Ginutis Dainius Voveris เอกอัครราชทูตลิทัวเนียประจำประเทศไทย ซึ่งมีถิ่นพำนัก ณ กรุงวิลนีอุส สาธารณรัฐลิทัวเนีย เดินทางเยือนไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-ลิทัวเนีย ต่อเนื่องจากการเยือนของนาย Antanas Valionis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 5-7 เมษายน 2547
- วันที่ 16-25 เมษายน 2548 (ค.ศ.2005) นาย Gintaras Buzinskas รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลิทัวเนีย พร้อมด้วยคณะ เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม UN Congress on Crime Prevention and Criminal Justice
- วันที่ 1-2 มีนาคม 2549 นาย Valdas Adamkus ประธานาธิบดีลิทัวเนียและ นาง Alma Adamkiene ภริยา เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขก ของรัฐบาล (Official Visit) ในระหว่างการเยือน ประธานาธิบดีฯ และภริยา ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือข้อราชการ

รายชื่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของลิทัวเนีย
สามารถติดต่อนักลงทุนลิทัวเนียผ่านทางหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ดังนี้
1. หน่วยงานภาครัฐ
Lithuanian Development Agency (LDA) ที่อยู่ Sv.Jono st.3 LT-01123, Vilnius, Lithuania โทร. +370 5 262 7438 โทรสาร +370 5 212 0160 E-mail info@ida.it
2. หน่วยงานภาคเอกชน
- Association of Lithuanian Chambers of Commerce, Industry and Crafts ที่อยู่ J.Turno-Vaizganto g. 9/1-63 a, LT-01108 Vilnius โทร. +370 5 261 21 02 โทรสาร +370 5 261 21 12 E-mail info@chambers.it
- International Chambers of Commerce (ICC) ที่อยู่ Vokieciu 28-17 LT-01130, Vilnius โทร. +370 5 212 11 11 โทรสาร +370 5 212 26 21 E-mail info@tprl.it

มกราคม 2550

เอกสารแนบ

เรียบเรียงโดย กองยุโรป 2 กรมยุโรป โทร. 0-2643-5133 Fax. 0-2643-5132 E-mail : european03@mfa.go.th



ข้อมูลประเทศอื่นๆทั่วโลก
อัฟกานิสถาน  แอลเบเนีย  แอลจีเรีย  อันดอร์รา  แองโกลา  แอนติกาและบาร์บูดา  อาร์เจนตินา  อาร์เมเนีย  ออสเตรเลีย  ออสเตรีย  อาเซอร์ไบจาน  บาฮามาส  บาห์เรน  บังกลาเทศ  บาร์เบโดส  เบลารุส  เบลเยียม  เบลีช  เบนิน  ภูฏาน  โบลิเวีย  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา  บอตสวานา  บราซิล  บรูไนดารุสซาลาม  บัลแกเรีย  บูร์กินาฟาโซ  บุรุนดี  กัมพูชา  แคเมอรูน  แคนาดา  เคปเวิร์ด  แอฟริกากลาง  ชาด  ชิลี  จีน  ฮ่องกง  มาเก๊า  ไต้หวัน  โคลัมเบีย  คอโมโรส  คอสตาริกา  โครเอเชีย  คิวบา  ไซปรัส  เช็ก  สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  เดนมาร์ก  จิบูตี  โดมินิกา  โดมินิกัน  เกาหลีเหนือ  เอกวาดอร์  อียิปต์  เอลซัลวาดอร์  อิเควทอเรียลกินี  เอริเทรีย  เอสโตเนีย  เอธิโอเปีย  ฟิจิ  ฟินแลนด์  ฝรั่งเศส  กาบอง  แกมเบีย  จอร์เจีย  เยอรมนี  กานา  กรีซ  เกรเนดา  กัวเตมาลา  กินี  กินีบิสเซา  กายอานา  เฮติ  นครรัฐวาติกัน  ฮอนดูรัส  ฮังการี  ไอซ์แลนด์  อินเดีย  อินโดนีเซีย  อิหร่าน  อิรัก  ไอร์แลนด์  อิสราเอล  อิตาลี  จาเมกา  ญี่ปุ่น  จอร์แดน  คาซัคสถาน  เคนยา  คิริบาส  คูเวต  คีร์กิซ  ลาว  ลัตเวีย  เลบานอน  เลโซโท  ไลบีเรีย  ลิเบีย  ลิกเตนสไตน์  ลิทัวเนีย  ลักเซมเบิร์ก  มาซิโดเนีย  มาดากัสการ์  มาลาวี  มาเลเซีย  มาลี  มอลตา  หมู่เกาะมาร์แชลล์  มอริเตเนีย  มอริเชียส  ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง  เม็กซิโก  ไมโครนีเซีย  มอลโดวา  โมนาโก  มองโกเลีย  โมร็อกโก  โมซัมบิก  พม่า  นามิเบีย  นาอูรู  เนปาล  เนเธอร์แลนด์  นิวซีแลนด์  นิวซีแลนด์  นิการากัว  ไนเจอร์  ไนจีเรีย  นอร์เวย์  องค์การรัฐอเมริกัน  โอมาน  ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา  ปากีสถาน  ปาเลา  ปานามา  ปาปัวนิวกินี  ปารากวัย  เปรู  ฟิลิปปินส์  โปแลนด์  โปรตุเกส  กาตาร์  คองโก  เกาหลีใต้  กลุ่มริโอ  โรมาเนีย  รัสเซีย  รวันดา  เซนต์คิตส์และเนวิส  เซนต์ลูเซีย  เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์  ซามัว  ซานมาริโน  เซาโตเมและปรินซิเป  ซาอุดีอาระเบีย  เซเนกัล  เซอร์เบีย  เซเชลส์  เซียร์ราลีโอน  สิงคโปร์  สโลวาเกีย  สโลวีเนีย  หมู่เกาะโซโลมอน  โซมาเลีย  แอฟริกาใต้  สเปน  ศรีลังกา  ซูดาน  ซูรินาเม  สวาซิแลนด์  สวีเดน  สวิตเซอร์แลนด์  ซีเรีย  ทาจิกิสถาน  แทนซาเนีย  ติมอร์-เลสเต  โตโก  ตองกา  ตรินิแดดและโตเบโก  ตูนิเซีย  ตุรกี  เติร์กเมนิสถาน  ตูวาลู  ยูเออี  ยูกันดา  ยูเครน  สหราชอาณาจักร  สหรัฐอเมริกา  อุรุกวัย  อุซเบกิสถาน  วานูอาตู  เวเนซุเอลา  เวียดนาม  เยเมน  แซมเบีย  ซิมบับเว 



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์