1219 โค้งจากแม่สอดสู่อุ้มผางมุ่งหน้าทีลอซู

0

ในบรรดาเส้นทางที่มีจำนวนโค้งมากๆ ของเส้นทางท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นมี 2 เส้นทางครับ คือ เส้นทางสายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน กับ เส้นทางแม่สอด-อุ้มผาง เส้นทางแรกเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน นั้นมีจำนวนโค้งรวม 1864 โค้ง ส่วนเส้นทางสายแม่สอดอุ้มผางนั้นมี 1219 โค้ง แต่มีความสวยงามมาก เพราะวิวทะเลหมอกสวยครับ เหมือนรถวิ่งไปบนท้องฟ้าเลยทีเดียว สองข้างทางเป็นปุยหมอกที่สวยงาม รวมระยะทาง 164 กิโลเมตรครับ ดูเอเซีย.คอม ทริปนี้ เราเดินทางไปน้ำตกทีลอซูกัน เริ่มประเดิมด้วยการชมวิวสวยๆ ของถนนลอยฟ้ากันก่อนไปล่องแก่ง เที่ยวน้ำตกกันนะครับ

ถึงแม้ว่าในวันนี้ถนนเข้าสู่อำเภออุ้มผางจะได้รับการพัฒนา จัดว่าดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่ก็ยังเป็นถนนที่ขึ้นชื่อในความแคบ คดเคี้ยว และตัดผ่านยอดเขาสูงชัน จนได้รับการขนานนามเป็น “ถนนลอยฟ้า” ทีเดียวครับ หากเราจะไปเที่ยวอุ้มผางเที่ยวน้ำตกทีลอซูนั้น ควรออกเดินทางแต่เช้ามุ่งสู่จังหวัดตาก ระยะทาง 426 กิโลเมตร ใช้เวลาราว 5 ชั่วโมงเศษ

หลังจากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข ๑๐๕ สายตาก-แม่สอด เส้นทางสายนี้ตัดผ่านเทือกเขาสูงชันราว 1 ชั่วโมงก็จะลงสู่ที่ราบตัวเมืองแม่สอดครับ เมื่อมาถึงแม่สอด เราก็จะเข้าสู่เส้นทางสายลอยฟ้ากันแล้ว ให้ใช้เส้นทางหมายเลข 1090 สายแม่สอด-อุ้มผาง เส้นทางนี้ถึงแม้มีระยะทางเพียง 146 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาขับถึงประมาณ 4 ชั่วโมงทีเดียว เพราะเส้นทางขึ้นลงเขาและคดเคี้ยวโดยตลอด ไม่สามารถที่จะทำความเร็วได้ เป็นถนนลาดยางตลอดสาย แต่ก็แคบ นักขับจะต้องพยายามชิดซ้ายรักษาช่องทางของตัวเอง และมีถนนหลายช่วงที่ถูกน้ำเซาะ ไหล่ทางถล่มบางช่วง ต้องชะลอความเร็วและใช้ความระมัดระวังยิ่ง ช่วงที่ผมไปเขาซ่อมแซมอย่างดีแล้ว ไม่มีช่วงไหนที่ผ่านไม่ได้แม้นจะเป็นหน้าฝนแบบนี้ก็ตาม

วิวสองข้างทางเส้นทางสายนี้เป็นป่าเป็นเขาสูงสวยงามมาก ยิ่งเป็นหน้าฝนจะมีหมอกฝนตลอดทาง เหมือนขับรถไปบนฟ้าจริงๆครับ ถนนช่วงที่ผ่านบ้านชาวไทยภูเขาเชื้อสายพม่า มีสาวๆ เดินตามริมถนน ปะแป้งทะนาคา ดูแปลกตาได้บรรยากาศครับ

เรามาคุยเรื่องถนนสักนิดนึงครับ ปัจจุบันเราขับรถไปอุ้มผางได้ทางเดียวคือเส้นทางลอยฟ้าที่ผมถ่ายรูปมาให้ดูกันครับ แต่เราเกือบมีอีกเส้นทางหนึ่งที่เข้าสู่อุ้มผางได้ นั่นคือเส้นทางสายคลองลาน-อุ้มผาง หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1117 ในอดีตเป็นเส้นทางเพื่อความมั่นคง ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมทางหลวง เมื่อปี พ.ศ.2528 โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อการขนย้าย และส่งกำลังบำรุงให้กับทหาร ตำรวจที่ปฏิบัติงานกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ต่อมาสถานการณ์การก่อการร้ายคลี่คลายลง ในที่สุดคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ วันที่ 30 มิถุนายน 2530 เห็นชอบให้ระงับการก่อสร้างเส้นทางช่วงสุดท้ายที่ กิโลเมตรที่ 115 ผมว่าเรื่องถนนสายนี้น่าสนใจมาก ได้คุยกับชาวบ้านอุ้มผางทราบว่าเขายังมีการสำรวจผลักดันกันอยู่ ก็เนื่องจากหากมีจริงเกิดขึ้นได้จริง เขาจะเอาข้าวโพด ผลิตผลทางการเกษตร ไปขายโดยไม่ต้องผ่านถึง 1219 โค้ง ทำให้ขายได้เงินได้ทองมากขึ้น แข่งขันกับที่อื่นๆได้ด้วย ผมจึงขอแทรกข้อมูลเพิ่มเติมไว้ท้ายเรื่องเพื่อให้ท่านที่สนใจอ่านติดตามกันนะครับ

เอาล่ะเรามาเดินทางไปอุ้มผางกันต่อครับ เมืองอุ้มผาง เดิมเป็นเมืองหน้าด่าน ชายแดนตะวันตก ติดกับสหภาพพม่า เคยขึ้นกับจังหวัด อุทัยธานี (ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดตาก) เป็นจุดตรวจหนังสือเดินทางชาวพม่าที่เข้าค้าขายในเขตแดนไทย หนังสือเดินทางที่ว่านี้ เรียกเป็นภาษากระเหรี่ยงว่า”อุ้มผะ” ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็น”อุ้มผาง” โดยชาวพม่าเดินทางรอนแรมในป่าจะนำหนังสือเดินทางใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่มีฝาปิด เพื่อป้องกันฝนและการฉีกขาดระหว่างเดินทาง เมื่อถึงจุดตรวจที่อุ้มผาง ก็นำให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและประทับตรา  เป็นอย่างไรบ้างครับนี่แค่ก้าวแรกๆของการมาเยือนทีลอซูนะ

เชิญแสดงความคิดเห็น