ทำความรู้จักอาเซียน

อาเซียนประชาคมอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) เป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจุดเริ่มต้นโดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมอาสา (Association of South East Asia) เมื่อเดือน ก.ค.2504 เพื่อการร่วมมือกันทาง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่ดำเนินการไปได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผกผันทางการเมืองระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย จนเมื่อมีการฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสองประเทศ จึงได้มีการแสวงหาหนทางความร่วมมือกันอีกครั้ง

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2510 หลังจากการลงนามในปฎิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Declaration of ASEAN Concord) หรือเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration)

คำขวัญ

“One Vision, One Identity, One Community”
(หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม)

สัญลักษณ์อาเซียน 
“ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันไว้”
หมายถึง ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยสีที่ปรากฏในสัญลักษณ์ของอาเซียน เป็นสีที่สำคัญของธงชาติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน
สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง 
สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า 
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ 
สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

[aec cid=”612″ h=”680px”]

สมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียนมี 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งผู้แทนทั้ง 5 ประเทศที่ร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพ ประกอบด้วย
1.นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย
2.ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย
3.นายนาซิโซ รามอส รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์
4.นายเอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์
5.พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากประเทศไทย
หลังจากจัดตั้ง ประชาคมอาเซียนเมื่อ 8 ส.ค.2510 แล้ว อาเซียนได้เปิดรับสมาชิกใหม่จากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเติมเป็นระยะ ตามลำดับได้แก
-บรูไนดารุสซาลาม เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 8 มกราคม 2527
-สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 28 กรกฏาคม 2538
-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2540
-สหภาพพม่า เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 23 กรกฏาคม 2540
-ราชอาณาจักรกัมพูชา เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 30 เมษายน 2542

[aec cid=”611″ h=”850px”]

10 ประเทศสมาชิกอาเซียน

ปัจจุบันประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนมีอยู่ 10 ประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(Association of Southeast Asian Nations)

Thailand

ราชอาณาจักรไทย (Thailand)

Indonesia

สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia)

Philippines

สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)

Malaysia

มาเลเซีย (Malaysia)

Singapore

สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore)

Brunei

รัฐบรูไนดารุสซาลาม (State of Brunei Darussalam)

Vietnam\

สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam)

Lao

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People’s Democratic Republic)

Myanmar

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (The Republic of the Union of Myanmar)

Cambodia

ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)

[aec cid=”613″ h=”540px”]

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

  1. ประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษทางด้านการค้า ด้วยการได้ลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากร
  2. ด้านอุตสาหกรรม ไทยได้รับสิทธิในการผลิตเกลือหิน และโซดาแอช ตัวถังรถยนต์
  3. ด้านการธนาคาร จัดตั้งบรรษัทการเงินของอาเซียน จัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการประกันภัยแห่งอาเซียน
  4. ด้านการเกษตร การสำรองอาหารเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โครงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โครงการปลูกป่า
  5. ด้านการเมือง สมาชิกของอาเซียนช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศไทยเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพ
  6. ด้านวัฒนธรรม มีโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก ทำให้แต่ละประเทศมีความเข้าใจดีต่อกัน

วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งประชาคมอาเซียน

ประชาคมอาเซียน ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และเมื่อการค้าระหว่างประเทศในโลกมีแนวโน้มกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น ทำให้อาเซียนได้หันมามุ่งเน้นกระชับและขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันมากขึ้น วัตถุประสงค์หลักที่กำหนดไว้ในปฏิญญาอาเซียน (The ASEAN Declaration) มี 7 ประการ ดังนี้

1. ส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคมและวัฒนธรรม
2. ส่งเสริมการมีเสถียรภาพ สันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค
3. ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์ และด้านการบริหาร
4. ส่งเสริมความร่วมมือซึ่งกันและกันในการฝึกอบรมและการวิจัย
5. ส่งเสริมความร่วมมือในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การค้า การคมนาคม การสื่อสาร และปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิต
6. ส่งเสริมการมีหลักสูตรการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
7. ส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศ

 

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ AEC

อาเซียน (ASEAN) หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2510 สมาชิกเริ่มแรกมี 6 ประเทศ คือ บรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ภายหลังได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือที่เรียกกันว่า CLMV โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคอันจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และได้มีการรวมกลุ่มเพื่อขยายความร่วมมือและการค้าระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นโดยการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เมื่อปี 2535

ในปี 2546 อาเซียนได้กำหนดทิศทางที่แน่ชัดว่า ความร่วมมือจะต้องเดินทางไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ภายในปี 2558 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) อีกสองเสาหลัก คือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community) และได้มีการจัดทำกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) เพื่อการดำเนินงานไปสู่ประชาคมอาเซียน

เป้าหมายสำคัญของการเป็น AEC

การที่อาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) อาเซียนได้จัดทำแผนงานในเชิงบูรณาการในด้านเศรษฐกิจต่างๆ หรือพิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 เรื่อง ดังนี้

  1. การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วม – ให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมือย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น

  2. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจอาเซียน – การสร้างความสามารถในด้านต่างๆ เช่น นโยบายการแข่งขัน สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายภาษี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (การเงิน การขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ)

  3. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค – การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสมาชิก และลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างสมาชิกเก่า และใหม่ เช่น การสนับสนุนการพัฒนา SMEs

  4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก – การร่วมกลุ่มเข้ากับประชาคมโลก โดยเน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค เช่น การจัดทำเขตการค้าเสรี และการสร้างเครือข่ายในด้านการผลิต/จำหน่าย เป็นต้น

ผลผูกพันต่อประเทศไทยในการรวมตัวเป็น AEC

  1. การเปิดเสรีการค้าสินค้า ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA)
    มาตรการด้านภาษี อาเซียนมีเป้าหมายที่จะต้องดำเนินการยกเลิกภาษีสินค้าสำหรับกลุ่มอาเซียน 6 ภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010) และสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ (CLMV) ภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งไทยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้นสามารถกล่าวได้การรวมตัวกันเป็น AEC จึงไม่ทำให้ไทยต้องลดภาษีสินค้าใดๆ เพิ่มเติมอีกโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมในปี 2558

    มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) อาเซียนได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกมีการลดมาตรการ NTMs โดยได้ไทยได้ผูกพันการยกเลิกมาตรการ NTMs ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการโควต้าภาษีของสินค้าเกษตร 3 ชุด โดยต้องยกเลิกมาตการโควต้าในปี 2551 2552 และ 2553 ในขณะนี้ประเทศไทยได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วเกือบทั้งหมด ยังขาดเพียงแต่ ข้าว ที่กำลังอยู่ระหว่างการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางและมาตรการป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อมีการยกเลิกมาตการดังกล่าว

  2. การเปิดเสรีการค้าบริการ โดยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ภายในปี 2553 ในสาขาบริการสำคัญ (Priority Integration Sector) ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาสุขภาพ และสาขาการท่องเที่ยว ภายในปี 2556 ในสาขาโลจิสติกส์ และภายในปี 2558 ในสาขาบริการอื่น ๆ ทุกสาขา ทั้งนี้ สามารถยกเว้นสาขาที่อ่อนไหวได้

  3. การเปิดเสรีการลงทุน ในสาขาอุตสาหกรรมที่ตกลงกันและการให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ

  4. การเปิดเสรีด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย จะเปิดเสรียิ่งขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้สมาชิกมีมาตรการปกป้องที่เพียงพอเพื่อรองรับผลกระทบ

  5. การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศ

  6. การดำเนินการตามความร่วมมือรายสาขาอื่น ๆ เช่น ความร่วมมือด้านเหมืองแร่ ความร่วมมือด้าน SMEs การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน (คมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงาน) เป็นต้น

ความเกี่ยวข้องและบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมในบริบทของ AEC

  1. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้เข้าร่วมในการเจรจา/เสนอแนะท่าทีเพื่อกำหนดระยะเวลาในการลดภาษี และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่เหมาะสมในการเปิดเสรีสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้ง เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (ASEAN Industrial Cooperation Scheme) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของอาเซียน และสนับสนุนการแบ่งผลิตและการใช้วัตถุดิบในภูมิภาค

  2. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยงานหลักฝ่ายไทย ซึ่งรับผิดชอบในการอำนวยความสะดวกด้านการค้า ลดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade: TBT) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

  3. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เป็นหน่วยงานหลักฝ่ายไทยที่รับผิดชอบเรื่องการเปิดเสรีสาขาการลงทุน

  4. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) รับผิดชอบความร่วมมือด้านแร่ธาตุของอาเซียน

  5. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมกำหนดแผนงานความร่วมมือและดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียน

ผลกระทบของ AEC และการปรับตัวของอุตสาหกรรมไทย

ผลกระทบเชิงบวก

  1. การลดและยกเลิกมาตรการทางภาษีในปี 2553 เป็นร้อยละ 0 ทั้งหมดยกเว้นรายการสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวมาก (Sensitive and Highly Sensitive) ของกลุ่มอาเซียน 6 รวมทั้งประเทศไทย และ 2558 สำหรับกลุ่ม CLMV เป็นการอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ เป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกของไทย โดยตลาดอาเซียนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ทั้งนี้ ในปี 2553 มูลค่าการค้าของไทยกับอาเซียนมีจำนวน 2.37 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 22.7 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย (เพิ่มจากร้อยละ 20 ในปี 2552)

  2. ต้นทุนในการผลิตของไทยต่ำลง สามารถนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ใช้ในการผลิต ได้ในราคาที่ถูกลง

  3. เป็นการสร้างเสริมโอกาสการลงทุนเมื่อประเทศอาเซียนมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้เสรีมากยิ่งขึ้น

  4. เพิ่มพูนขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย เมื่อมีการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน/เป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับอาเซียนอื่น ๆ

  5. เพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยในเวทีการค้าโลก

ผลกระทบเชิงลบ

  1. สินค้าของประเทศอาเซียนอื่นเข้าสู่ตลาดไทยได้โดยไม่มีภาระภาษี ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแข่งขันมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาไทยกลับมีมูลค่าการส่งออกไปยังอาเซียนสูงกว่าการนำเข้าจากอาเซียน

  2. ในด้านการลงทุน หากประเทศไทยไม่มีการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน (Infrastructure) ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน (Labor productivity) และไม่มีการปรับปรุงกฎระเบียบกฎหมายให้มีความทันสมัยไม่เป็นอุปสรรคต่อนักลงทุน อาจทำให้มีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆ ใน ASEAN ที่เหมาะสมกว่า

  3. การเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี อาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานมีฝีมือของไทยไปประเทศที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน และต้องจ้างแรงงานต่างด้าวจากประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าเข้ามา อาจก่อปัญหาด้านสังคม และเนื่องจากทิศทางนโยบายของไทยคือ การเป็น “รัฐสวัสดิการ” ทำให้งบประมาณของรัฐส่วนหนึ่งจะไปเป็นสวัสดิการของแรงงานต่างด้าว

  4. ตลาดสินค้าในประเทศ (Domestic Market) หากตลาดภายในของไทยยังไม่มีกลไกในการป้องกันไม่ให้สินค้าคุณภาพต่ำกว่าที่ผลิตได้ในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นเข้ามาขายในประเทศมากขึ้น ก็จะทำให้นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยที่มีเป้าหมายในการพัฒนาในอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพสูงขึ้นอาจเกิดปัญหาอุปสรรคได้ เนื่องจากไม่มีตลาดภายในประเทศรองรับ รวมทั้งอาจส่งผลทางจิตวิทยาแก่ผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตได้

ภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวดังนี้

  1. การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ทั้งในด้านแรงงาน เทคโนโลยี รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลก เพื่อที่จะสามารถแข่งขันได้

  2. การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและระบบโลจิสติกส์เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ

  3. หาตลาดส่งออก ปรับปรุงการผลิตให้สามารถปฏิบัติตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียนได้ รวมถึงการบริหารจัดการ การจัดหาวัตถุดิบราคาถูกและมีคุณภาพดีในภูมิภาค

  4. การปรับปรุงโครงสร้างภาษีของไทยทั้งระบบเพื่อให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย

  5. ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการผลิต (Production Network) เพื่อให้สามารถสร้าง Economy of Scale เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

  6. ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

  7. มีกลไกที่ก่อให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าสู่ตลาดภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

 

อาเซียนส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคอย่างไร

อาเซียนจัดการประชุมด้านการท่องเที่ยว (ASEAN Tourism Forum – ATF หรือ เอทีเอฟ) เป็นประจำทุกปีในเดือนมกราคม โดยหมุนเวียนกันจัดในประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมด้านการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกในระหว่างการประชุม หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน อาทิ โรงแรม รีสอร์ท สายการบินและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว จะมีโอกาสทำความรู้จักและเจรจาทางธุรกิจกับบริษัทนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจด้านท่องเที่ยวอื่น ๆ รวมถึงนักเขียนด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย
ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว และยังมีโครงการจัดทำรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในอาเซียนเพื่อเผยแพร่ ในปี 2545 อาเซียนได้จัดทำความตกลงด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเปิดเสรีด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันในภูมิภาค รวมถึงร่วมมือกันในการเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวอาเซียน
นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ริเริ่มความร่วมมือในการจัดทำความตกลงการตรวจตราเพียงครั้งเดียว (Single Visa) แต่ใช้เดินทางเข้าได้หลายประเทศในลักษณะเดียวกับ Schengen Visa ของยุโรป ซึ่งนำร่องโดยไทยและกัมพูชา


ที่มาของข้อมูล

เชิญแสดงความคิดเห็น