เปิดประตูอาเซียน ท่องเที่ยวไทยต้องสู้

0

ตัวเลขชวนสนใจจากองค์การท่องเที่ยวโลกหรือ World Tourism Organization ที่ออกมาเปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวหิ้วกระเป๋าเดินทางกระจายไปทั่วโลก 980 ล้านคน ในจำนวนนี้เหยียบเข้าไปเที่ยวในแถบเอเชียแปซิฟิก 217.1 ล้านคน แล้วก็ย่างกรายเข้ามาในแถบอาเซียน 77.1 ล้านคน ประเด็นสนใจอยู่ที่ว่า นักท่องเที่ยวในจำนวนนี้เดินทางเข้ามาพักผํอนหลับนอนบนแผํนดินไทยไม่มากไม่มาย เพียงแค่ 19,230,430 คน แถมทิ้งเม็ดเงินเอาไว้ให้อีก 776,217 ล้านบาท

องค์การท่องเที่ยวโลกได้ชื่อว่าเป็นหมอดูสากลด้านการท่องเที่ยว ออกมาพยากรณ์ด้วยว่า ในอีก 8 ปีข้างหน้า คือปี พ.ศ.2563 หรือ ค.ศ.2020 คนทั้งโลกจะพากันเดินทางท่องเที่ยวแบบก้าวกระโดดถึง 1.6 พันล้านคน โดยไปกระจุกตัวกันอยู่ที่เอเชียแปซิฟิกราวๆ 400 ล้านคน แบ่งมาให้อาเซียน 160-200 ล้านคน

โดยทำนายไว้ดังนี้ เท่ากับเป็นการตอบโจทย์ได้อย่างมั่นใจว่า ปีที่ว่านี้นักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558 ที่อาเซียนได้ประกาศจะจับมือถือเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะว่าปี 2558 ประเมินกันว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าสู่กลุ่มประเทศอาเซียน 120 ล้านคน แน่นอนการรวมกลุ่มของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนจะสำเร็จ เฉกเช่นสหภาพยุโรปในยุคเริ่มต้น ที่ไม่ใช่กระท่อนกระแท่นเหมือนในยุคนี้ และหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ อาเซียนก็จะได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ตัวใหญ่ขึ้นมาอีกตัวหนึ่งของโลก

ด้วยประเทศอาเซียนมีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน จัดอยู่ 1 ใน 10 ของประชากรโลกทีเดียว ตรงนี้ ที่ทำให้มองกันได้ว่า ประเทศไทยเราจะกลายเป็นฐานของการค้าขายกับตลาดอื่นๆ นอกภูมิภาคขึ้นมาทันที เพราะเมืองไทยมีข้อได้เปรียบในด้านมาตรฐานบริการที่คุ้มค่าเงิน หมายถึงว่าอัตราคำบริการต่ำกว่าใครโดยส่วนใหญ่ในประเทศละแวกเดียวกัน หนำซ้ำยังพอมีภาพลักษณ์ที่ดีหลงเหลือให้ชาวโลกได้ชื่นชมอยู่บ้าง

asean_travel

สุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท.) ยอมรับว่า หากอัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวธุรกิจการค้าของประชาคมอาเซียนโดยรวม ตรงนี้จะเป็นจุด สนใจของนักลงทุนต่างชาติที่จะพากันเดินทางเข้ามาแข่งขันในด้านการลงทุน อาจส่งผลต่อผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ขาดทักษะ ประสบการณ์ และที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งก็คือ การแย่งกันใช้ทรัพยากร อีกทั้งระบบสาธารณูปโภคที่เรามีอยู่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งหามาตรการรับมือกับปรากฏการณ์นี้ในอีกสามปีข้างหน้า จึงจำเป็นต้องรีบสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งกว่า 70% เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง แต่ขณะเดียวกันเราต้องเร่งแย่งชิงความได้เปรียบเสียก่อน ด้วยการชูจุดแข็งเรื่องธรรมชาติที่สวยงาม คนไทยใจดี มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีประวัติศาสตร์น่าสนใจ

นับรวมไปถึงอาหารไทยที่ชาวโลกกำลังนิยมชมชอบ ดังนั้น เมืองไทยจึงต้องเตรียมเลือกเสนอขายการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมมากกว่าอย่างอื่น เพราะนักท่องเที่ยวทั่วโลกกำลังสนใจในเรื่องนี้ ย้อนไปในอดีตตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ททท.ได้จับมือกับกลุ่มสมาชิกอาเซียน เพื่อดำเนินงานด้านการตลาด และสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ การนำเสนอขายอาเซียนในงานส่งเสริมการขายระดับโลก ที่เบอร์ลิน และลอนดอนเป็นประจำทุกปี

การจัดคาราวานท่องเที่ยวเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน การประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มน้ำโขง และอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง การพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ในอนาคตเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ททท.ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไว้ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

หัวใจสำคัญคือการให้ความรู้ด้านการตลาดสมัยใหม่กับผู้ประกอบการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการทำตลาดเชิงรุกแทนการรับ โดยใช้นวัตกรรมทางการตลาดผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศกับพันธมิตร

บริบทที่ต้องเน้น คือการคงบทบาทความเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยว ที่ไทยได้รับเป็นประธานคณะทำงานด้านการตลาดและการสื่อสารท่องเที่ยวอาเซียน ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาถึงปีนี้ รวมถึงการเตรียมทำแผนกลยุทธ์ตลาดเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เน้นบทวิเคราะห์ความก้าวหน้าของตลาด ที่เห็นเป็นรูปเป็นร่างล่าสุดเป็นการเชิญหน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 300 คน เข้าสู่เวทีสัมมนาว่าด้วย “การเตรียมความพร้อมท่องเที่ยวไทย ก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ที่ จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ขึ้นไปนำเสนอแนวทางไว้เป็นเกราะคุ้มครองป้องกัน

ทวินันท์ จันทนจุลกะ ผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อทุกประเทศในอาเซียนต้องเปิดประตูเสรีทางการค้า ทุกประเทศก็จะต้องปฏิบัติกับนักลงทุนพาณิชย์ ต่างชาติ เสมอเหมือนนักลงทุนของชาติตนเอง

นอกจากนี้ก็ต้องพร้อมที่จะลดหรือยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการซึ่งกันและกัน เช่น จำนวนผู้ให้บริการ ปริมาณการให้บริการ รวมถึงมูลค่าบริการที่เพิ่มขึ้น และสัดส่วนการถือหุ้นในนิติบุคคลที่กำหนดไว้ร้อยละ 70

สำหรับการบริการสาขาท่องเที่ยว ซึ่งประกอบด้วยโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว บริการมัคคุเทศก์ ก็มีข้อกำหนดภายใต้กรอบอาเซียน อย่างเช่นต่างชาติจะเข้ามาตั้งบริษัทนำเที่ยวในบ้านเรา ผู้บริหารเกินกึ่งหนึ่งต้องเป็นคนไทย ในส่วนของระดับปฏิบัติการต่างๆ ก็มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า…ถ้าเป็นระดับบริหารจะต้องผ่านงานในประเทศของตนมาก่อนหน้ากี่ปี โดยมีหน่วยงานต้นสังกัดรับรอง ขณะเดียวกัน ทุกประเทศก็จะต้องมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการรับรองมาตรฐานวิชาชีพท่องเที่ยว ซึ่งได้มาจากผู้แทนภาครัฐ เอกชน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่ประเมินคุณสมบัติตามมาตรฐานอาเซียน และออกวุฒิบัตรประกอบการทำงานให้ ไม่ใช่อยู่ๆ ใครจะเข้าไปสมัครงานแล้วทำงานกันได้เลย เกณฑ์มาตรฐานอันนี้มีเหมือนกันหมดทุกประเทศ ผลประโยชน์ของบ้านเมือง จากบรรดานักท่องเที่ยวจากทั่วโลกกว่า 120 ล้านคน ที่จะเดินทางเข้ามาอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า การเตรียมพร้อมรับมือเรานำจะเป็นผู้ที่ได้ “รับ” มากกว่าเป็นผู้ที่ถูก “ช่วงชิง”

ที่มา : ไทยรัฐ

เชิญแสดงความคิดเห็น