ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

    เมืองกำแพงเพชร

            เมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิงตรงข้ามกับเมืองนครชุม อยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเมือง ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู วางแนวยาวตามทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้ ขนานไปกับแม่น้ำปิง ความยาวของกำแพงด้านเหนือประมาณ ๒,๒๐๐ เมตร ความยาวด้านใต้ประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร ความกว้างด้านสกัดทางทิศตะวันออกประมาณ ๕๐๐ เมตร และด้านที่สำคัญทางทิศตะวันตกประมาณ ๒๕๐ เมตร แนวกำแพงด้านใต้ถูกรื้อทำลายไปประมาณ ๔๗๕ เมตร
            กำแพงเมืองกำแพงเพชร  เดิมมีลักษณะเป็นกำแพงแบบมีคูน้ำคันดินสามชั้น ต่อมาได้มีการพัฒนากำแพงเมืองชั้นในเป็นกำแพงศิลาแลง มีการสร้างเชิงเทิน ใบเสมา และป้อมประตูรอบ กำแพงเมือง ที่เป็นคันดินชั้นกลางและชั้นนอก ยังคงเห็นร่องรอยอยู่บ้างบริเวณด้านทิศเหนือ
            ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)  ได้สร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการรอบเมืองสำคัญหลายแห่ง รวมทั้งเมืองกำแพงเพชร

            ลักษณะการก่อสร้างกำแพงเมืองด้วยศิลาแลง แกนในเป็นดินที่ขุดจากคูเมืองขึ้นมาถมเป็นคันดิน จากนั้นจึงก่อศิลาแลงหุ้มแกนดินขึ้นไปจนถึงชั้นเชิงเทินและใบเสมา กำแพงเมืองโดยรอบมีป้อมประตูเข้าออกรวม ๑๐ ประตู ได้แก่ ประตูน้ำอ้อย ประตูบ้านโนน ประตูดั้น ประตูเจ้าอินทร์ ประตูหัวเมือง ประตูผี หรือประตูผีออก ประตูสุพานโคม ประตูวัดช้าง ประตูเตาอิฐ และประตูท้ายเมือง

            นอกจากประตูเข้า - ออก ทุกด้านของกำแพงเมืองแล้ว ยังมีป้อมปราการทั้งในแนวกำแพงเมือง และป้อมหน้าประตูเมือง ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๙ ป้อม ได้แก่ ป้อมมุมเมือง ๓ ป้อม ป้อมเจ้าจันทร์ ป้อมเจ้าอินทร ป้อมเพชร ป้อมประตูวัดช้าง ป้อมประตูเผาอิฐ และป้อมประตูบ้านโนน
            ถัดจากกำแพงเมืองศิลาแลงเป็นคูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตร พบหลักฐานว่ามีระบบน้ำจากแม่น้ำปิงเข้ามาหล่อเลี้ยงคูเมืองทั้งสามชั้น โดยการสร้างคลองไขน้ำเข้าสู่คูเมืองบริเวณมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อน้ำเข้าสู่คูเมืองเต็มที่เแล้ว
ก็จะมีการระบายน้ำออกทางมุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ น้ำที่ระบายออกจะไหลไปรวมกับคลองแม่น้ำเก่าที่ไหลไปยังหมู่บ้านลำมะโกรก
            บริเวณเกือบกลางเมืองกำแพงเพชรมีวัดพระแก้วและวัดพระธาตุเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสร้างยาวขนานกับแนวกำแพงเมืองด้านทิศใต้ วัดพระแก้ว เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของเมือง มีสิ่งก่อสร้างในวัดที่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมหลายสมัย ส่วนวัดพระธาตุ อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกของวัดพระแก้ว เป็นบริเวณที่เรียกว่า สระมน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเขตวัด ส่วนโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ ศาลพระอิศวร ซึ่งเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในเขตเมืองกำแพงเพชร นอกจากนั้นยังมีวัดเล็ก ๆ อีกประมาณ ๑๐ แห่ง รวมทั้งสระน้ำขนาดเล็กและคูน้ำ
            นอกเมืองทางด้านทิศเหนือหรือบริเวณอรัญญิก  อยู่ห่างจากกำแพงเมืองด้านทิศเหนือออกไปประมาณ ๕๐๐ เมตร มีกลุ่มวัดในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกรังขนาดย่อมมากกว่า ๔๐ แห่ง นับเป็นเขตโบราณสถานที่สำคัญ วัดที่สำคัญประกอบด้วย วัดพระนอน วัดป่ามืด วัดพระสี่อิริยาบท วัดฆ้องชัย วัดสิงห์ วัดกำแพงงาม วัดช้างรอบ วัดนาคเจ็ดเศียร วัดเตาหม้อ วัดอาวาสใหญ่ วัดอาวาสน้อย ฯลฯ
            นอกเมืองทางด้านทิศเหนือ  มีโบราณสถานกระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มหนาแน่นในเขตอรัญญิก มีซากโบราณสถานอยู่ประมาณ ๑๕ แห่ง มีวัดกะโลทัย วัดตะแบกลาย วัดโพธิสามขา วัดช้าง วัดดงหวาย เป็นต้น
            รูปทรงและโครงสร้างของเมืองกำแพงเพชร จะเห็นได้ว่าเป็นเมืองที่ได้รับอิทธิพลรูปแบบวัฒนธรรมสุโขทัย โดยสืบเนื่องมาจากเมืองนครชุม และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยา มีการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่อยู่กลางเมืองเรียกว่า วัดหลวง และในบริเวณเดียวกันนั้นเป็นเขตวังเจ้าเมืองหรือวังหลวง จากนั้นมีการสร้างวัดอยู่นอกเมืองเรียกว่า เขตอรัญญิก ซึ่งแบบแผนการสร้างวัดเช่นนี้มีมาแล้วในสมัยสุโขทัย

            รูปแบบทางสถาปัตยกรรม  สถาปัตยกรรมใในเมืองกำแพงเพชรเกือบทั้งหมดเป็นศาสนาในพระพุทธศาสนาฝ่าเถรวาท และลังกาวงศ์ มีอายุอยู่ประมาณพทุธศตวรรษที่ ๑๙ หรือในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท)  เช่นเดียวกับโบราณสถานเมืองนครชุม ช่างเมืองกำแพงเพชร ได้พัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบมีการผสมผสานอิทธิพลล้านนาและอยุธยา ในที่สุดเกิดสกุลช่างเฉพาะเมืองกำแพงเพชรขึ้น
              โบราณสถานทั้งภายใน และภายนอกเมืองกำแพงเพชร ใช้วัสดุก่อสร้างแตกต่างจากโบราณสถานฝั่งเมืองนครชุม วัดโบราณทางนครชุมสร้างด้วยอิฐ แต่ฝั่งเมืองกำแพงเพชรส่วนมากสร้างด้วยศิลาแลง
              แผนผัง  โบราณสกถานที่เมืองกำพงเพชรแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่คือ โบราณสถานหรือวัดที่อยู่ในกำแพงเมือง หรือวัดคามวาสี และกลุ่มวัดที่อยู่นอกเมือง หรือวัดอรัญวาสี
                  - วัดที่อยู่ในเมือง  คงเหลือเฉพาะเขตพุทธาวาสเท่านั้น การวางผังวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ไม่ตรงกับแนวตะวันออก - ตะวันตกนัก เนื่องจากลักษณะผังเมืองเป็นตัวบังคับ โดยเฉพาะวัดพระแก้วและวัดพระธาตุซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางเมืองนั้นวางผังอาคารให้ขนานไปกับกำแพงเมืองด้านใต้ สิ่งก่อสร้างภายในวัดประกอบด้วยวิหารตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจดีย์ทรงระฆัง
                  - วัดที่อยู่นอกเมือง  โดยเฉพาะในเขตอรัญญิก การวางผังอาคารใช้แนวตะวันออก-ตะวันตกทั้งหมด บริเวณผังวัดมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกำแพงศิลาแลงแสดงขอบเขตของวัดไว้อย่างชัดเจน กำแพงวัดส่วนใหญ่ใช้ศิลาแลงแท่งสี่เหลี่ยมปักเป็นแนวตั้งเรียงต่อกันไป ด้านบนมีศิลาแลงรูปหกเหลี่ยม วางพาดเป็นทับหลังอีกชั้นหนึ่ง หน้าวัดส่วนมากมีศาลา บ่อน้ำและห้องน้ำ ภายในวัดแบ่งออกเป็นสองส่วน คือเขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส เขตพุทธาวาสประกอบด้วยวิหารใหญ่อยู่ด้านหน้า เจดีย์หรือมณฑปอยู่ด้านหลัง ส่วนโบสถ์มีขนาดเล็กและส่วนมากสร้างแยกออกไปจากแนวแกนหลักของวัด วัดบางแห่งสร้างกำแพงแก้วต่อจากฐานวิหารล้อมรอบเจดีย์ประธาน และบางแห่งสร้างล้อมรอบเขตพุทธาวาสทั้งหมด ลักษณะของกำแพงแก้วเหมือนกำแพงวัด แต่มีขนาดย่อมกว่า อีกส่วนหนึ่งของวัดคือเขตสังฆาวาส ส่วนมากอยู่ถัดจากเขตพุทธาวาสไปทางด้านหลังวัด หรืออาจจะเป็นด้านข้างวัด ประกอบด้วยกุฎิสงฆ์ ศาลา บ่อน้ำ และเวจกุฎี
             หน้าที่และรูปทรงอาคาร  แบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ
                  - อาคารที่ใช้ประกอบพิธีพรรมทางศาสนา  ได้แก่ โบสถ์ วิหาร และระเบียงคด วิหารจะมีขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของวัด รูปแบบเฉพาะของฐานวิหารคือ การสร้างฐานย่อมุมหรือทำเป็นมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สองฟากเข้าของมุขทั้งหน้าและหลังเป็นบันไดขึ้น - ลง ฐานเป็นแบบบัวลูกแก้วอกไก่ (ฐานบัวคว่ำและบัวหงายที่มีแถบปูนเป็นเส้นคาดประดับท้องไม้) นิยมทำฐานสูงบางแห่งยืดฐานเขียง หรือฐานหน้ากระดานล่างที่รองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ให้สูงมากจนมีลักษณะเป็นผนังสูง เช่นวิหารวัดฆ้องชัย นอกจากนั้นยังนิยมสร้างฐานขนาดใหญ่รองรับฐานวิหารอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า ฐานทักษิณ (ฐานที่มีพื้นที่เป็นลานสำหรับเดินเวียนประทักษิณ) วัดพระสี่อิริยาบท วัดอาวาสใหญ่ หรืออาจสร้างฐานไพทีขนาดใหญ่รองรับสิ่งก่อสร้างหลายชนิด รวมทั้งวิหารด้วย เช่น ฐานไพทีที่อยู่ตอนหน้าสุดของวัดพระแก้ว และยังมีฐานวิหารที่ทำเป็นแบบฐานหน้ากระดานเตี้ย ๆ เช่นวิหารที่อยู่ด้านหน้าเจดีย์ทรงระฆังสิงห์ล้อมรอบที่วัดพระแก้ว ฐานทักษิณที่รองรับฐานวิหารทั้งที่วัดพระสี่อิริยาบท และวัดสิงห์เป็นต้น ชานชาลาด้านหน้าของฐานทักษิณประดับสิงห์ปูนปั้นและทวารบาล มีแกนเป็นศิลาแลง  ลักษณะของสิงห์ที่วัดสิงห์แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรที่อาจแพร่เข้ามาในต้นสมัยอยุธยาคือ สิงห์ยกบั้นท้ายขึ้นมาลอยตัวเหมือนสิงห์ในศิลปะบายน
              วิหารมีตั้งแต่ ๕ - ๙ ห้อง ด้านกว้างหรือด้านสกัดมีช่วงเสากลางและช่วงเสาเล็กที่รับชายคาปีกนก ลักษณะวิหารมีทั้งแบบก่อผนังด้านข้างสูง ไม่มีหน้าต่าง แต่เจาะผนังเป็นช่องแสงหรือช่องลม เช่น ที่วิหารวัดพระนอน  อีกแบบหนึ่งเป็นอาคารโถงไม่มีฝาผนัง แต่ใช้ชายคาหรือปีกนกแผ่ออกไปในระดับต่ำเพื่อใชักันแดดกันฝน วิหารโถงพบได้ทั่วไป นิยมสร้างแพร่หลายในสมัยสุโขทัย  เสาวิหารส่วนมากเป็นเสาสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม โดยใช้เขียงศิลาแลงเรียงซ้อนกันขึ้นไป เสาสี่เหลี่ยมบางแห่งใช้ศิลาแลงแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อเรียงสลับโดยหันหน้ากว้างหนึ่งแถวสลับกันขึ้นไป วัสดุที่ใช้ก่อสร้างส่วนมากเป็นศิลาแลงและใช้ปูนฉาบผิว
ด้านนอก  ภายในวิหารมีอาสนะสงฆ์ซึ่งก่อเป็นแท่นสูงประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ยาวไปตามฐานหรือผนัง วิหารด้านทิศใต้เครื่องบนวิหารเป็นไม้ ใช้กระเบื้องดินเผาแบบตะขอมุงหลังคา
              วิหารวัดพระนอนมีลักษณะแตกต่างจากวิหารแห่งอื่นคือ ฐานวิหารทำเป็นแบบบัวคว่ำอย่างเดียว หลังคาชั้นเดียว และมีปีกนกคลุมสามชั้น ปีกนกชั้นสุดท้ายมีทวยรองรับ เรียกอาคารแบบนี้ว่า อาคารทรงโรง วิหารวัดสิงห์ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ เชื่อกันว่าอาคารหลังนี้เดิมเป็นวิหาร ระยะหลังได้เปลี่ยนเป็นพระอุโบสถ โดยปักใบเสมารอบอาคาร
              อาคารอุโบสถมักจะสร้างขนาดเล็ก เนื่องจากพระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมโดยเฉพาะ มีใบเสมาสลักจากหินชนวนปักโดยรอบ ส่วนมากตั้งอยู่โดดเดี่ยวนอกแกนหลักของวัด  วัดกำแพงงามตั้งอยู่นอกกำแพงวัด  วัดพระนอนตั้งอยู่ด้านหน้าวิหารและมีขนาดใหญ่
              อาคารที่เรียกว่า ระเบียงคดพบเพียงสองแห่งคือ ที่วัดพระแก้วกับวัดพระธาตุ เป็นระเบียงสี่เหลี่ยมล้อมรอบเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ เหมือนศาลาเล็ก ๆ  ด้านในโล่ง มีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป

                  - เจดีย์  เจดีย์ที่สร้างเป็นประธานของวัดในเมืองกำแพงเพชรมีสองประเภทใหญ่ ๆ คือ เจดีย์ทรงดอกบัวหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นแบบเฉพาะของสถาปัตยกรรมสุโขทัย รูปทรงของเจดีย์ประกอบด้วยฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสี่ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ จากนั้นเป็นชั้นแว่นฟ้าย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบสองชั้น เรือนธาตุย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ แล้วจึงเป็นส่วนที่เรียกว่า ดอกบัวตูมและส่วนยอดถัดขึ้นไป

                  เจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง เป็นเจดีย์แบบสุโขทัย นอกจากให้เป็นเจดีย์ประธานของวัดแล้ว ยังสร้างเป็นเจดีย์ประจำมุม เจดีย์ทิศ หรือเจดีย์ราย  เจดีย์รูปแบบนี้มีการพัฒนารูปแบบจนเป็นลักษณะเฉพาะของกำแพงเพชรคือ เจดีย์มีรูปทรงเพรียว และชะลูดมากกว่าที่เมืองสุโขทัย องค์ระฆังเล็กและอยู่ในตำแหน่งสูง ปากระฆังไม่บานหรือผายออกมาก นิยมทำฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม และฐานบัวลูกแก้วอกไก่แปดเหลี่ยมรองรับส่วนยอดเจดีย์  ฐานล่างสุดมักเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมหรือฐานเขียง ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม และฐานบัวลูกแก้วอกไก่แปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป จากนั้นเป็นมาลัยเถาที่ทำเป็นชุดบัวถลา ๓ ชั้น เรียงลดหลั่นกันรองรับองค์ระฆัง ส่วนล่างที่เรียกว่า ปากระฆัง ประดับรูปกลีบบัวคว่ำและบัวหงาย ที่เรียกว่า
บัวปากระฆัง ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่า ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ทำเป็นแท่นฐานทรงสี่เหลี่ยม รูปแบบเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่  เฉพาะที่วัดพระแก้ว บัลลังก์มีซุ้มพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน ถัดจากบัลลังก์เป็นแกนปล้องไฉนประดับด้วยแถบบัวลูกแก้วอกไก่แถบเดียว หรือสองแถบขึ้นไป เป็นส่วนที่เรียกว่า บัวฝาละมี ปล้องไฉนและปลียอด นอกจากเจดีย์ประธานวัดแล้วยังมีเจดีย์รายที่มีรูปแบบแตกต่างออกไป เช่น เจดีย์ประจำมุมทั้งสี่ของมณฑปวัดพระสี่อิริยาบถ เป็นลักษณะที่เรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง ตรงเรือนธาตุทำเป็นห้องเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง และมีบัวประดับที่ปากระฆัง
              ในเมืองกำแพงเพชรยังมีเจดีย์แบบพิเศษอีกรูปแบบหนึ่งคือ เจดีย์ทรงปราสาทยอดกลีบมะเฟือง ที่วัดช้างรอบและวัดพระนอน  ที่วัดช้างรอบสร้างเป็นเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่มุม บนฐานทักษิณของเจดีย์ประธาน
                  - มณฑป ที่ทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานอยู่หลังวิหารมีเพียงแห่งเดียวที่วัดสี่อิริยาบถ เป็นมณฑปแบบจตุรมุข ตรงกลางก่อเป็นแท่งทึบเพื่อรับส่วนยอดของหลังคา  ผนังแต่ละด้าน พระพุทธรูปแสดงอิริยาบถแตกต่างกันออกไป จึงมักเรียกมณฑปแบบนี้ว่า มณฑปพระสี่อิริยาบถ
              ประติมากรรมส่วนใหญ่ เนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบลังกาวงค์ เป็นประติมากรรมหมวดกำแพงเพชรในศิลปะสุโขทัย มีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ

                  - ประติมากรรมสำริด  ส่วนใหญ่เป้นพระพุทธรูปปางมารวิชัยและอีกชิ้นหนึ่งคือ เทวรูปพระอิศวร จารึกที่ฐานระบุว่า หล่อเมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๓ ในสมัยอยุธยา แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะแบบบายน เช่น พระพักตร์เป็นรูปเหลี่ยมกรองศอ และสายรัดพระองค์มีอุบะสั้น ๆ ห้อยอยู่ข้างหน้า นอกจากนั้นยังมีเทวรูปพระนารายณ์ และอีกองค์หนึ่งน่าจะเป็นเทวรูปพระอุมาหรือพระลักษมี

                  - ประติมากรรมรูปปั้น  มีทั้งแบบลอยองค์และประดับอาคาร พระพุทธรูปปูนปั้นส่วนมากแกนในเป็นศิลาแลง แล้วใช้ปูนตกแต่งผิวด้านนอก พระพักตร์ค่อนข้างเสี้ยม
พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่สามองค์ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังเดียวกันของวัดพระแก้ว ประกอบด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัยสององค์ และพระพุทธรูปปางไสยาสน์ มีลักษณะพิเศษคือ พระพักตร์ค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม พระเนตรเรียวเล็ก ปลายพระเนตรแหลมขึ้นและเรียวออกไปมาก เป็นแบบประติมากรรมศิลปะอู่ทองหรืออยุธยาตอนต้น ที่ฐานวิหารเดิมประดับรูปปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์
              ยังพบงานปูนปั้นเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ประดับโบราณสถานเช่น ปูนปั้นรูปช้างครึ่งตัว ประดับเจดีย์ที่วัดช้างรนอบ วัดพระแก้ว และวัดช้าง งานปูนปั้นรูปสิงห์ และทวารบาลพบที่วัดช้างรอบ วัดสิงห์ วัดพระสี่อริยาบถ วัดพระนอนและวัดพระแก้ว
              ที่วัดช้างรอบ พบประติมากรรมนูนสูงรูปต้นไม้และสัตว์เล็ก ๆ ประดับหน้ากระดานห้องไม้ฐานทักษิณระหว่างช้างแตะละเชีอก และตรงส่วนฐานหน้ากระดานกลม ถัดจากฐานแปดเหลี่ยมบนลานประทักษิณ พบร่องรอยปูนปั้นนูนสูงและเรื่องพุทธประวัติประดับโดยรอบ

              นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมดินเผา ที่ใช้ประดับโบราณสถาน เช่น รูปนางรำ รูปหัวยักษ์ รูปกินนร กินนรีและรูปหงส์ งานดินเผารูปหงส์แสดงลวดลายกนกวงโค้ง ที่งดงามมาก

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์