ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณสถาน

            ชุมชนโบราณบ้านทุ่งเมือง  อยู่ในเขตตำบลวังตะแบก อำเภอพรานกระต่าย เป็นชุมชนโบราณที่อยู่บนเส้นทางถนนพระร่วง พบร่องรอยคันดินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมอยู่สามสระ บนผิวดินพบเศษหภาชนะดินเผาแบบสุโขทัย ทั้งชนิดเคลือบและเนื้อแกร่งไม่เคลือบ
            เมืองกันเตา  อยู่ที่บ้านคลองน้อย ตำบลหนองหัววัว อำเภอพรานกระต่าย เป็นชุมชนโบารณขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำกันดินล้อมรอบ บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวดิน ที่เป็นลักษณะน้ำเชื่อมระหว่างเนินเขาลานกระรอกกับลำน้ำคลองน้อย พบเศษภาชนะดินเผาเคลือบแบบสุโขทัย และหม้อบรรจุกระดูกคนตาย
            เมืองบางพาน  อยู่ที่บ้านวังพาน ตำบลเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย เป็นชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บนเส้นทางถนนพระร่วง ที่จะไปยังสุโขทัย มีลักษณะเมืองค่อนข้างกลม มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบสามชั้น ภายในเมืองพบซากโบราณสถานขนาดเล็ก มีสภาพเป็นกองศิลาแลง ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองมีเขานางทอง บนยอดเขามีโบราณและฐานพระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม
             ภายในเมืองพานแม้ว่าจะพบซากโบราณสถานขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของผังเมือง แต่ความสำคัญของชุมชนแห่งนี้คือ เป็นเมืองที่อยู่บนเส้นทางคมนาคม ที่ติดต่อกับกรุงสุโขทัย และเมืองอื่นได้สะดวก เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ท่ามกลางที่ราบลุ่มซึ่งเพาะปลูกได้ดี ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลายหลักได้กล่าวถึงชื่อเมืองแห่งนี้คือ
            จารึกหลักที่ ๓ (ศิลาจารึกนครชุม)  กล่าวไว้ว่า หลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ณ "เมืองพานหาเป็นขุมหนึ่ง" ซึ่งอาจหมายความว่า เจ้าเมืองพานมีท่าทีแข็งข้อต่อกรุงสุโขทัย ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) ได้ทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่จำลองมาจากเขาสุมนกูฎ ประเทศศรีลังกาไว้บนยอดเขานางทอง แสดงว่ากษัตริย์กรุงสุโขทัยตระหนักถึงความสำคัญของเมืองพาน
            จารึกหลักที่ ๑๓  กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกำแพงเพชรกับเมืองบางพานว่า ได้มีการสร้างท่อปู่พระยาร่วง (คลองส่งน้ำ) โดยชักน้ำจากแม่น้ำปิง บริเวณเมืองกำแพงเพชร ส่งไปยังเมืองบางพาน เพื่อช่วยให้ชาวเมืองได้ทำนาในแบบนาเหมืองนาฝาย
            ชุมชนโบราณบ้านคลองเมือง  อยู่ในเขตตำบลโกสัมพี กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร มีรูปร่างคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง มีคลองเมืองไหลโอบทางด้านทิศตะวันออก และหักเข้ามาทางด้านทิศใต้ของชุมชน พบซากเจดีย์ก่อด้วยอิฐแต่ถูกรื้อทำลายจนหมด พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญเช่น เศษขี้แร่ (ตะกรัน) ที่เหลือจากการถลุงโลหะ แวดินเผา ขวานหินขัดแบบมีบ่า ตุ้มถ่วงแห เศษภาชนะดินเผา เนื้อแกร่งชนิดเคลือบ และไม่เคลือบแบบสุโขทัย
             จากหลักฐานดังกล่าว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชุมชนโบราณแห่งนี้มีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงที่มีการใช้โลหะเป็นเครื่องมือ ต่อมาชุมชนแห่งนี้อาจเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทวารวดี จากการที่มีการสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบ  ในสมัยสุโขทัย มีการตั้งถิ่นฐาน ในลักษณะชุมชนขนาดเล็ก ดังที่ปรากฏซากเจดีย์ขนาดเล็กก่อด้วยอิฐ และเศษเครื่องถ้วยสมัยสุโขทัย ทั้งนี้ ชุมชนแต่ละสมัยอาจจะไม่ต่อเนื่องเกี่ยวข้องกัน

            เมืองไตรตรึงษ์  ตั้งอยู่ที่บ้านวังพระธาตุ ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง ฯ  เป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบสามชั้น
ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน กว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๔๐ เมตร ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันตก แต่ไม่ได้ใช้ลำน้ำเป็นคูเมือง เพราะพบร่องรอยคูเมืองเดิมขนานกับแนวแม่น้ำ  แนวกำแพงเมืองด้านเหนือที่อยู่ติดกับแม่น้ำ บางส่วนได้ถูกกระแสน้ำเซาะพังทลาย
             บริเวณกลางเมืองมีโบราณสถานขนาดใหญ่สองแห่ง แห่งแรกเรียกว่า เจดีย์เจ็ดยอด เป็นกลุ่มเจดีย์ก่อด้วยอิฐ  เจดีย์ประธานมีเป็นทรงดอกบัวหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานล่างเป็นแบบฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสี่ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำและบัวหงาย แล้วเป็นส่วนเรือนธาตุย่อไม้ยี่สิบ ส่วนยอดหักพังลงมาหมด ฐานด้านหน้าหรือด้านตะวันออกทำเป็นซุ้มพระยื่นออกมา เป็นแบบเจดีย์ที่นิยมสร้างในสมัยสุโขทัย รอบเจดีย์ประธานมีฐานเจดีย์ราย เล็ก ๆ ก่อด้วยอิฐอยู่หลายองค์
             โบราณสถานอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเจดีย์เจ็ดยอด ห่างออกไปประมาณ ๒๐๐ เมตร  เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐ มีฐานวิหารและฐานเจดีย์ราย เล็ก ๆ ก่อด้วยอิฐเช่นกัน
             ตามผิวดินในเมือง พบเศษภาชนะดินเผาทั้งประเภทเครื่องเคลือบแบบสุโขทัยที่เรียกว่า เครื่องถ้วยสังคโลก เศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน และชนิดเผาแกร่งไม่เคลือบ จากการขุดค้นพบว่า ถัดจากชั้นดินที่พบเศษภาชนะดินเผาแบบสุโขทัย พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เช่น เศษภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว และชิ้นส่วนตะเกียงดินเผา  สำหรับชิ้นส่วนตะเกียงดินเผานั้น เป็นแบบที่พบทั่วไปตามแหล่งทวารวดี ในเขตภาคกลางแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้สันนิษฐานได้ว่า บริเวณเมืองไตรตรึงษ์ ก่อนจะเป็นบ้านเมืองในสมัยสุโขทัย ได้มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่แล้วในสมัยทวารวดี แต่อาจจะไม่เป็นเมืองหรือชุมชนใหญ่ เป็นเพียงชุมชนที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมริมฝั่งแม่น้ำปิง ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือกับที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
             นอกเมืองไตรตรึงษ์ทางทิศตะวันออกตามลำน้ำปิง มีโบราณสถานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเรียกว่า วัดวังพระธาตุ เจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงดอกบัว หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบศิลปะสุโขทัย สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ยังเห็นรูปทรงทางสถาปัตยกรรมขององค์เจดีย์ได้ครบถ้วน เป็นเจดีย์ทรงดอกบัวที่นับว่าใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์แบบเดียวกันทั้งในเขตเมืองกำแพงเพชรและเมืองสุโขทัย
             บริเวณที่ตั้งเมืองไตรตรึงษ์เดิมเป็นป่าทึบไม่มีผู้คนมาตั้งถิ่นฐาน มีเฉพาะบริเวณริมน้ำใกล้กับวัดพระธาตุเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ดงแสนปม
             บริเวณที่มีคูน้ำและคันดินรูปสี่เหลี่ยม  อยู่ที่บ้านปากอ่าง ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง ฯ  อยู่ทางด้านทิศใต้ของเมือง
ไตรตรึงษ์ มีแนวคันดินตัดออกจากแนวกำแพงเมืองไตรตรึงษ์ออกไปประมาณ ๑ กิโลเมตร ไปถึงบริเวณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร เนินดินขนาดเล็กที่ปรากฏ น่าจะเป็นป้อมมากกว่าที่อยู่อาศัยอาจจะเป็นป้อมหน้าด่านของเมืองไตรตรึงษ์ ไม่ปรากฏซากศาสนสถาน บนผิวดินพบเศษภาชนะดินเผาเคลือบแบบสุโขทัยและชนิดเผาแกร่ง ไม่มีเคลือบ เช่นเดียวกับที่พบบริเวณเมืองไตรตรึงษ์
             เมืองเทพนคร  อยู่ที่บ้านเทพนคร ตำบลเทพนคร อำเภอเมือง ฯ  อยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง ตรงข้ามกับบริเวณเมืองไตรตรึงษ์ เป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำ และคันดินล้อมรอบชั้นเดียว เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๙๐๐ เมตร แนวคันดินและคูน้ำถูกทำลายไปมาก ที่เหลือพอให้เห็นอยู่บ้างเฉพาะด้านทิศตะวันออกเท่านั้น  พบร่องรอยศาสนสถานสองแห่งลักษณะอิฐมีขนาดใหญ่เช่นเดียวกับที่พบทางฝั่งเมืองไตรตรึงษ์  ส่วนโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งพังลงแม่น้ำไปแล้ว
             เมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปิง กับเมืองเทพนครที่ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง มีลักษณะคล้ายกับเมืองนครชุม และเมืองกำแพงเพชร  เมืองไตรตรึงษ์มีลักษณะเป็นเมืองเก่า มีกำแพงคันดินล้อมรอบสามชั้นแบบเดียวกับเมืองสุโขทัย เมืองนครชุมและเมืองบางพาน  อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อเมืองไตรตรึงษ์หมดความสำคัญแล้ว ได้มีการย้ายชุมชนไปอยู่ อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำปิงคือ เมืองเทพนคร ซึ่งมีคูน้ำคันดินเพียงชั้นเดียว จนเป็นแบบแผนของเมืองที่เกิดขึ้นในระยะหลัง
             ชุมชนโบราณบ้านโคน อยู่ในเขตตำบลคณฑี อำเภอเมือง ฯ  ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง ไม่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ วัดเก่าที่อยู่บริเวณนี้คือวัดกาทิ้ง มีสิ่งก่อสร้างสำคัญคืออุโบสถก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่ ถัดจากอุโบสถไปทางทิศตะวันออกมีวิหารขนาดใหญ่กว่า โบสถ์ ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่เช่นกัน พระประธานในวิหารมีพระพักตร์ยาวเจ็ดนิ้ว เป็นพระพุทธรูปหมวดกำแพงเพชร ตามโคกเนินพบเศษภาชนะดินเผาแบบธรรมดา และแบบเผาแกร่งไม่เคลือบ และเครื่องเคลือบแบบสุโขทัย
             ชุมชนโบราณแห่งนี้เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเมืองคณฑี ตามที่กล่าวไว้ในจารึกหลักที่ ๑ นอกจากนี้ที่บ้านโคนยังมีตำนาน
กล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับบรรพบุรุษของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ด้วย
             ชุมชนโบราณบ้านหัวถนน  อยู่ในเขตตำบลหัวถนน อำเภอคลองขลุง ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปิง บนเนินดินที่มีแนวดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก พบซากสถูปเจดีย์ขนาดเล็ก เศษภาชนะดินเผาแบบธรรมดาและแบบเผาแกร่งไม่เคลือบ เศษภาชนะดินเผาแบบเคลือบทั้งที่เป็นของสุโขทัยและของจีน
             ชุมชนโบราณบ้านทุ่งทราย  อยู่ในเขตอำเภอคลองขลุง บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง พบเนินดินขนาดเล็ก มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ พบเศษภาชนะดินเผาแบบธรรมดา และแบบเคลือบของสุโขทัย พบเครื่องถ้วยจีนบ้างเล็กน้อย
             ชุมชนโบราณบ้านสระตาพรหม  อยู่ในเขตตำบลดอนแตง อำเภอชาณุวรลักษบุรี มีแนวคันดินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่และเล็กสลับกันรวมห้าแห่ง พื้นที่สองในสามของแหล่งโบราณคดีคือ สระน้ำ บนเนินดินที่ชาวบ้านเรียกว่า เนินศาลา พบเศษอิฐ แสดงให้เห็นว่ามีซากโบราณสถานหรือซากสิ่งก่อสร้าง บริเวณโดยรอบซากสิ่งก่อสร้างพบเศษภาชนะดินเผาแบบธรรมดา หรือแบบเนื้อดิน และแบบเผาแกร่ง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของภาชนะดินเผาสมัยลพบุรี เคยมีผู้ขุดพบพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะลพบุรีด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าชุมชนโบราณ ฯ แห่งนี้อยู่ในช่วงสมัยลพบุรี
             ชุมชนโบราณบ้านโคกเลาะ  อยู่ในเขตอำเภอชาณุวรลักษบุรี มีแนวคูน้ำคันดินล้อมรอบขนาดเล็กชาวบ้านเรียกว่าเนินโคกวัด พบเศษอิฐในบริเวณที่คาดว่าเคยเป็นศาสนสถานมาก่อน เป็นอิฐขนาดใหญ่แบบที่พบตามโบราณสถานในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยาตอนต้น
             แหล่งโบราณคดีเขากะล่อน  อยู่ที่บ้านหาดชะอบ ตำบลป่าพุทรา อำเภอชาณุวรลักษบุรี เขากะล่อนเป็นเขาดินและหินลูกรังที่ทอดยาวติดต่อกันสามลูก อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง ห่างจากลำน้ำประมาณ ๒ กิโลเมตร จากการขุดพื้นที่เชิงเขา พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากเช่น ขวานหินชัด หัวธนู กำไลหิน  ลูกปัดหิน ภาชนะดินเผารูปทรงต่าง ๆ ทั้งที่มีลวดลาย ลายเขียนสี และที่ไม่ได้ตกแต่งลวดลาย หลักฐานเหล่านี้คล้ายคลึงกับที่พบบริเวณดงแม่นางเมือง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ สันนิษฐานว่า บริเวณเทือกเขากะล่อน เป็นชุมชนโบราณที่มีการพัฒนามาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรกของบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง
เมืองประวัติศาสตร์
    เมืองนครชุม

             ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบริเวณปากคลองสวนหมาก ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปิงตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร อยู่ในเขตตำบลนครชุม อำเภอเมือง  ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๒,๙๐๐ เมตร มีคูเมืองสองชั้น กำแพงเมืองเป็นคันดินสามชั้นเช่นเดียวกับเมืองสุโขทัย กำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออก เริ่มจากบริเวณปากคลองสวนหมากไปทางทิศใต้ของสะพานกำแพงเพชรสิ้นสุดที่บ้านหัวยาง กำแพงเมืองด้านนี้ถูกน้ำเซาะพังทะลาย กำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ปัจจุบันยังเหลือเป็นช่วง ๆ ตอนที่ขนานกับลำคลองสวนหมาก คูเมืองและกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกถูกทำลายหมดสิ้น คูเมืองและกำแพงเมืองด้านทิศใต้ ยังพอเห็นร่องรอยอยู่บ้าง โดยเป็นแนวขนานไปกับถนนที่แยกจากถนนพหลโยธินไปยังสะพานข้ามแม่น้ำปิง แล้วตัดผ่านถนนไปบรรจบกับคูเมือง และกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก ที่บ้านหัวยาง
             สภาพที่ตั้งขของเมืองนครชุม อยู่บนที่ราบลุ่มต่ำซึ่งเอียงลาดมาจากทางทิศตะวันตกมาสู่แม่น้ำปิง มีลำน้ำสำคัญคือลำน้ำสวนหมาก ที่ไหลมาจากภูเขาสูงทางทิศตะวันตก และก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำปิงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคูเมืองนครชุม ภายในตัวเมืองนครชุมแทบไม่เหลือร่องรอยโบราณสถาน เนื่องจากถูกรื้อทำลายไปหมด ยังเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวคือ เจดีย์วัดพระบรมธาตุ ซึ่งตั้งอยู่เกือบกี่งกลางเมือง เป็นเจดีย์แบบพม่า เจดีย์องค์เดิมเชื่อกันว่า เป็นทรงดอกบัวหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชานุญาตให้คนพม่าซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ และก่อใหม่เป็นเจดีย์รูปแบบพม่า
             กลุ่มโบราณสถานหรือกลุ่มวัดโบราณที่เรียกว่า บริเวณอรัญญิก ของเมืองนครชุมอยู่ทางด้านทิศใต้ของเมือง ห่างจากแนวกำแพงไปประมาณ ๕๐๐ เมตร กลุ่มวัดบริเวณนี้แตกต่างจากกลุ่มวัดเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชรคือส่วนใหญ่นิยมก่อสร้างด้วยอิฐ ขนาดสิ่งก่อสร้างไม่ใหญ่โตนัก รูปแบบเหมือนกันกับที่พบในเมืองเก่าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย วัดที่สำคัญเช่น วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดหนองลังกา วัดซุ้มกอ วัดหนองพลับ และวัดหนองกาเล เป็นต้น โบราณสถานอีกอห่งหนึ่งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศใต้คือ ป้อมทุ่งเศรษฐี มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลง ลักษณะของป้อมได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตก สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา
             รูปแบบทางสถาปัตยกรรม  วัดต่าง ๆ โดยเฉพาะวัดที่อยู่นอกเมืองทางทิศใต้เป็นศิลปะสุโขทัย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลักษณะการวางผังวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีเจดีย์หรือมณฑปเป็นประธานวัด ด้านหน้าเจดีย์เป็นวิหาร
             สถาปัตยกรรมของเมืองนครชุม อาจแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ
                 - อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ได้แก่ โบสถ์และวิหาร โบสถ์จะสร้างขนาดเล็ก วิหารจะสร้างขนาดใหญ่ ตั้งอยู่หน้าเจดีย์ประธาน ลักษณะวิหารเป็นแบบอาคารโถง ที่เรียกว่า วิหารโถง ไม่มีฝาผนังด้านข้าง แต่ไม่มีปีกนกหรือชายคาแผ่เหยียดไปในระดับต่ำเพื่อกันแดดกันฝน ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นเป็นพระประธานของวัด ฐานเป็นฐานเตี้ย ไม่ทำฐานสูงหรือฐานทักษิณรองรับดังเช่นวิหารของเมืองกำแพงเพชร เสาอาคารเป็นเสาสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐ โดยก่อสลับด้านกว้างหนึ่งแถว ด้านยาวหนึ่งแถวขึ้นไป โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ ใช้กระเบื้องดินเผาแบบตะขอมุ้งหลังคา

                 - เจดีย์  มีสองรูปแบบคือ เจดีย์ทรงดอกบัว หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นแบบเจดีย์ที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งมีกระจายอยู่ตามเมืองโบราณต่าง ๆ ของอาณาจักรสุโขทัย ที่เมืองนครชุมมีอยู่ที่วัดเจดีย์กลางทุ่งและวัดโนนม่วง รูปแบบประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ชั้นแว่นฟ้าสองชั้น ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ แล้วเป็นเรือนธาตุย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ จากนั้นเป็นดอกบัวตูมและถัดไปเป็นส่วนยอด
             เจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง เป็นเจดีย์ประธานวัดพบที่วัดหนองลังกา วัดซุ้มกอ วัดหนองยายช่วยและวัดหนองกาเล พบอยู่ทั่วไปในสมัยสุโขทัย ฐานล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยม ตอนบนเป็นองค์ระฆัง เจดีย์วัดหนองลังกา และวัดหนองยายช่วย ที่ฐานสี่เหลี่ยมล่างมีซุ้มทิศประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ องค์ระฆังตั้งอยู่บนฐานเตี้ยไม่สูงมากนัก ต่างจากเมืองกำแพงเพชรที่นิยมทำฐานสูง ชั้นมาลัยเก่าที่วัดหนองลังกาเป็นแบบบัวคว่ำและบัวหงาย ไม่เป็นแบบชั้นบัวถลา ดังที่พบทั่วไปทางเมืองกำแพงเพชร
             โบราณสถานสำคัญ  นอกจากวัดต่าง ๆ ในทางพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศใต้คือ ป้อมทุ่งเศรษฐี ลักษณะป้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อด้วยศิลาแลง ยาวด้านละ ๘๔ เมตร แต่ละด้านมีประตูเข้าบริเวณกึ่งกลาง กำแพงด้านนอกก่อเป็นผนังสูง ด้านในก่อเป้นแท่นหรือเชิงเทิน ใช้เดินตรวจตราได้ ต่อจากนั้นก่อเป็นใบเสมา ใต้ใบเสมามีช่อง อาจใช้เป็นช่องปืนที่มุมกำแพงทั้งสี่ด้านมีป้อมหัวมุมยื่นออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตอนล่างของกำแพงมีช่องกุดทำเป็นวงโค้งยอดแหลม ภายในบริเวณป้อมไม่มีสิ่งก่อสร้างอื่นใด สันนิษฐานว่าสมัยอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลักษณะของป้อมได้รับอิทธิพลจากตะวันตก
             จากหลักฐานในศิลาจารึก สันนิษฐานได้ว่า เมืองนครชุมเป็นเมืองที่มีบทบาทหลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ และน่าจะเจริญสูงสุดในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท)

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์