ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



           ๒.๗ การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
                   ๒.๗.๑ หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม มีอยู่ ๖ ประการด้วยกันคือ
                             - เป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรมหรือตัวแทนของความงดงามและเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดยิ่ง
                             - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวนและภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องหรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาเหล่านั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่งหรือบนพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดของโลก
                             - เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่งหรือเป็นพยานหลักฐานแสดงขนบธรรมเนียม ประเพณี หรืออารยธรรม ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่หรืออาจสูญหายไปแล้ว
                             - เป็นตัวอย่างของลักษณะทั่วไปของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม
                             - เป็นตัวอย่างของลักษณะอันเด่นชัดหรือของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรมวิธีการก่อสร้างหรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวมันเองหรือเสื่อมสลายได้ง่ายเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
                             - มีความคิดหรือความเชื่อถือที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่มีความสำคัญหรือความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
                   ๒.๗.๒ ความเป็นมาของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
                             - ๑ ก.ย.๓๕ กัมพูชาได้เสนอให้อยู่ในบัญชีเบื้องต้น (Tentative List )
                             - ๘ ม.ค.๔๘ กัมพูชาได้ยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
                             - ๑๙ ก.ย.๔๘ สถาน ออท.ไทย ณ กรุงปารีสได้รายงานผลการหารือกับศูนย์มรดกโลก สรุปได้ว่ากัมพูชาได้ยื่นจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตั้งแต่ ม.ค.๔๘ แต่ศูนย์มรดกโลกได้ขอให้กัมพูชาเสนอเอกสารประกอบการยื่นจดทะเบียนใหม่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนที่เขตกันชนซึ่งกัมพูชากำหนดขึ้นครอบคลุมทั้งของกัมพูชาและของไทย
                             - ๓๐ ม.ค.๔๙ กัมพูชาได้ยื่นเอกสารต่อศูนย์มรดกโลก เพื่อขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอีกครั้งหนึ่ง และยูเนสโกได้ขอให้สภาระหว่างประเทศว่าด้วยโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี (International Council on Monument and Sites : ICOMOS ) ประเมินคำขอของกัมพูชาและให้ข้อเสนอแนะก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๑ พิจารณาในเดือน ก.ค.๕๐ ที่เมือง ไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นการเสนอตามหลักเกณฑ์ที่ ๑, ๓ , และ ๔
                             - ๒๐ มี.ค.๕๐ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับผู้แทนกัมพูชา ซึ่งเดินทางมาเยือนไทยภายใต้ภารกิจของยูเนสโก โดยฝ่ายไทยได้แจ้งข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับเขตแดนให้ฝ่ายกัมพูชาทราบอย่างตรงไปตรงมาพร้อมกับข้อเสนอแนะต่าง ๆ และได้ยื่นเอกสารแสดงท่าทีข้อห่วงกังวลของไทยและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเช่นการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันในลักษณะสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยว (Transboundary Property ) ฝ่ายกัมพูชารับทราบปัญหา และข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนของไทยและชี้แจงว่าเป็นปัญหาทางกายภาพ
                             - ๑๗ พ.ค.๕๐ กระทรวงการต่างประเทศได้ยื่นบันทึกช่วยจำแก่ ออท.กัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่อคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และได้ส่งสำเนาให้ประธานคณะกรรมการมรดกโลกทราบ และพิจารณาด้วย
                             - พ.ค. - มิ.ย.๕๐ ฝ่ายไทยได้ดำเนินการทั้งในส่วนที่เป็นเอกสารทางกฎหมายจัดทำเอกสารโต้แย้งข้อพิจารณาของ ICOMOS รวมทั้งเอกสารโต้แย้งท่าทีของกัมพูชาเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร และได้ดำเนินการทางการทูตเพื่อชี้แจงให้ประเทศสมาชิกของคณะกรรมการมรดกโลกทราบถึงปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกทราบถึงปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่กำลังจะมีขึ้นลงมติให้เลื่อนการพิจาณาออกไป เพื่อให้กัมพูชาหันกลับมาเจรจากับไทยให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับปัญหาเขตแดน และการใช้อำนาจอธิปไตยเสียก่อน แล้วจึงยื่นคำขอให้ร่วมกัน
                             - ๑๙ - ๒๐ มิ.ย.๕๐ นายฮอร์ นัม ฮอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา และคณะมาเยือนไทยหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในการขอรับการสนับสนุนกรณีกัมพูชาเสนอขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งจะมีการพิจารณาโดยที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๑ ที่เมืองไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ (๒๓ มิ.ย. - ๒ ก.ค.๕๐) แต่ไม่สามารถตกลงกันได้
                             - ๒๘ มิ.ย.๕๐ คณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๑ ได้มีมติเกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกให้เลื่อนการพิจารณาการขึ้นทะเบียนของกัมพูชาอออกไป และให้ไทยกับกัมพูชาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
                             - ๑๕ - ๑๗ ส.ค.๕๐ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเยือนกัมพูชาเพื่อเจรจาหารือกับนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรี/ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และมอบหนังสือจากนายกรัฐมนตรีที่มีถึงสมเด็จ ฯ ฮุนเซน ให้แก่ฝ่ายกัมพูชา เพื่อให้ทราบถึงความตั้งใจจริงและเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะร่วมมือกับฝ่ายกัมพูชา
                             - ๑๘ ต.ค.๕๐ บก.ทหารสูงสุด ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
                             - ๑๑ - ๑๓ ม.ค.๕๑ กัมพูชาจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ ที่เมืองเสียมราฐ ได้เสนอรายงานที่มีความคลาดเคลื่อนหลายประเด็นและละเลยที่จะกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขตแดน รวมทั้งใช้แผนที่แสดงเขตแดนกัมพูชาซึ่งทับซ้อนกับแนวเขตแดนที่ไทยอ้างสิทธิแม้ผู้เชี่ยวชาญไทยจะได้โต้แย้งเชิงวิชาการ และแสดงข้อห่วงกังวลของฝ่ายไทยและอำนาจอธิปไตยของไทยแล้ว ที่ประชุมก็ยังคงละเลยข้อทักท้วงของฝ่ายไทย ฝ่ายไทยจึงได้กล่าวแถลงการณ์ประท้วงและถอนตัวออกจากการทำรายงานร่วม
                             - ๑๔ ม.ค.๕๑ กัมพูชาจัดการประชุมสรุปรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญต่างชาติต่อนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่ร่างรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญยังคงปรากฏแผนที่ที่แสดงเส้นเขตแดนตามที่ฝ่ายกัมพูชาอ้าง และยังคงเพิกเฉยต่อข้อทักท้วงของไทย อัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญจึงได้กล่าวแถลงการณ์ประท้วงชี้แจงท่าทีของไทย แต่นายสก อาน กล่าวว่าการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องของวัฒนธรรมไม่เกี่ยวกับเขตแดน และยูเนสโกไม่มีอาณัติที่จะพิจารณาเรื่องเขตแดน จึงขอให้หารือเรื่องนี้ต่อไป และขอให้นาย วาร์ คิม ฮอง เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการกับฝ่ายไทย เพื่อแก้ปัญหาเขตแดนบริเวณดังกล่าว
                             - ๑๕ ม.ค.๕๑ ผบ.ทหารสูงสุด พร้อมด้วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการต่อปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็น มรดกโลก
                             - ๒๑ ก.พ.๕๑ ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่สิงคโปร์และการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการของ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย ฮอร์ นัม ฮอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้แจ้ง นายนพดล ฯ ว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเจรจาเรื่องเขตแดนที่ดำเนินโดยคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา ซึ่งกัมพูชาก็พร้อมที่จะออกแถลงการณ์ยืนยันในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้กัมพูชายินดีที่ไทยจะเข้าร่วมในการพัฒนาเขาพระวิหาร ซึ่ง นายนพดล ฯ ตอบชี้แจงว่าไทยมิได้คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา แต่ต้องการความมั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการเจรจาเส้นเขตแดนในอนาคต
                             - ๒๗ ก.พ.๕๑ นาย ฮอร์ นัม ฮอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้มีหนังสือถึง นายนพดล ฯ แจ้งว่าฝ่ายกัมพูชาได้จัดทำรายงานส่งให้ศูนย์มรดกโลก เมื่อ ๒๘ ม.ค.๕๑ ตามข้อตกลงของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกไม่เกี่ยวข้องเรื่องปัญหาการปักปันเขตแดน และการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ในเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนไม่ถือเป็นการกำหนดเส้นเขตแดนทั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – กัมพูชา จะเจรจากันในเรื่องปัญหาเส้นเขตแดนต่อไป
                             - ๒๗ ก.พ.๕๑ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. ได้เชิญผู้แทนจากกองทัพประชุมหารือเกี่ยวกับมาตรการที่ กต. จะดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิของประเทศไทยในการรักษาเอกราชอธิปไตยเหนือดินแดนบริเวณเขาพระวิหาร
                             - ๓ - ๔ มี.ค.๕๑ ในระหว่างการเดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาว่า ไทยไม่ขัดขวางการขอขึ้นทะเบียนปราสาท พระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา แต่การขึ้นทะเบียนจะต้องไม่กระทบสิทธิ เรื่องเขตแดนและอธิปไตยของไทย และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายหารือกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ฝ่ายกัมพูชาได้เสนอร่างแถลงการณ์ร่วมให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งระบุว่าไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ตามที่ปรากฏในแผนที่แนบท้ายเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนไม่ถือเป็นการกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ รวมทั้งเสนอให้มีการประชุมร่วมกันในกรอบคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ
                             - ๒๐ - ๒๑ มี.ค.๕๑ กต. ได้เชิญทูตมิตรประเทศจำนวน ๑๙ ประเทศ เดินทางไป ทัศนศึกษาพื้นที่โครงการพระราชดำริ ในพื้นที่แถบภาคอีสานของไทย รวมถึงมีกำหนดการเดินทางขึ้นไปชมปราสาทพระวิหารด้วย โดยได้ประสานไปยัง ออท.กัมพูชา/ ไทย แต่ทาง ออท.กัมพูชา/ไทย ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง ออท. ที่ฝ่ายไทยเชิญไปร่วมคณะ ไม่ให้เดินทางไปพร้อมทั้งกล่าวว่า การเดินทางไปยังปราสาทพระวิหาร ถือเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของกัมพูชา และจะไม่รับรองความปลอดภัย ทำให้ ออท.บางส่วนยกเลิกการเดินทาง คงเหลือเพียง ๔ ประเทศ ที่เดินทางไปเยี่ยมชม และเมื่อเดินทางไปถึง จนท. กัมพูชา ก็ห้ามมิให้เดินทางเข้าไปยังปราสาทพระวิหาร
                             - ๓๐ มี.ค ๕๑ นายสมัคร ฯ ได้พบกับสมเด็จ ฯ ฮุนเซน ที่เวียงจันทน์ และเสนอให้มีการจัดทำแผนบริหารจัดการร่วมกันในพื้นที่รอบปราสาท สมเด็จ ฯ ฮุนเซน ยืนยันว่า จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทและไม่เกี่ยวกับเส้นเขตแดน ส่วนพื้นที่บริเวณรอบตัวปราสาท ฝ่ายกัมพูชายังไม่ได้พิจารณาว่า ควรจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันรูปแบบใด และทราบดีว่าพื้นที่รอบปราสาทนั้น ด้านหนึ่งเป็นของไทย โดยจะมอบหมายให้ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาหารือเรื่องนี้กับไทย
                             - ๑๐ เม.ย.๕๑ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญ ออท.กัมพูชา ประจำประเทศไทย มาพบเพื่อยืนยันบันทึกช่วยจำ ( Aide Memoire ) ของไทยประท้วงกัมพูชาที่ละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนไทย การมีชุมชนกัมพูชาตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ์รวมทั้งขอให้ถอนกำลังทหาร และตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
                             - ๑๑ เม.ย.๕๑ นายอุ๊ก บอริท รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้เชิญ ออท.ไทย ณ กรุงพนมเปญ ไปพบเพื่อมอบเอกสาร ซึ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาของไทยทุกประการ โดยชี้ว่าไม่มีกองกำลังทหาร และตำรวจบนเขาพระวิหาร ชุมชนที่ตั้งอยู่ก็มีมานานแล้ว และตามคำตัดสินของศาลโลก เรื่องเส้นเขตแดนชัดเจนแล้ว จึงไม่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร
                             - ๖ พ.ค.๕๑ นายนพดล ฯ ได้มอบหมายให้ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปพบหารือกับฝ่ายกัมพูชา ที่กรุงพนมเปญ เพื่อหาทางออกเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาท โดยมีผู้แทนจากกรมกิจการชายแดนทหาร และกรมแผนที่ทหาร ร่วมเดินทางไปด้วย ผลการหารือคือ ฝ่ายกัมพูชารับฟังฝ่ายไทย และผ่อนปรนในส่วนของการพัฒนาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารร่วมกัน แต่กัมพูชาก็ยังยืนยันว่าไม่มีพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องหารือร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับร่างแถลงการณ์ร่วม เพื่อรักษาสิทธิด้านเขตแดนของทั้งสองฝ่ายต่อไป
                             - ๑๔ พ.ค.๕๑ ภายหลังเข้าร่วมพิธีเปิดถนนหมายเลข ๔๘ (เกาะกง - สแรอัมเบิล ) และสะพาน ๔ แห่ง ที่จังหวัดเกาะกง กัมพูชา นายนพดล ฯ ได้หารือกับ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และการกำหนดเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา และพื้นที่พัฒนาร่วมบริเวณไหล่ทวีปที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกัน โดยฝ่ายกัมพูชาได้เสนอที่จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเป็นมรดกโลก และจะไปหารือยูเนสโก เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ต่อไป
                             - ๒๒ - ๒๓ พ.ค.๕๑ นายนพดล ฯ นำคณะผู้แทนไทยไปหารือกับ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่กรุงปารีส ภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเนสโก เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ให้ได้ข้อยุติก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๒ ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา
                             - ๕ มิ.ย.๕๑ กัมพูชาเสนอร่างแผนผังฉบับปรับปรุงใหม่ให้ไทยพิจารณา
                             - ๙ - ๑๑ มิ.ย.๕๑ เจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหารสำรวจพื้นที่ปราสาทพระวิหารตามแผนผัง ที่ได้รับจากกัมพูชา
                             - ๑๖ มิ.ย.๕๑ สภาความมั่นคงแห่งชาติเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา และยูเนสโกเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร รวมทั้งแผนผังที่กัมพูชาส่งมาให้ไทยก่อนเสนอยูเนสโก
                             - ๑๗ มิ.ย.๕๑ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วมไทย – กัมพูชา และยูเนสโก เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก รวมทั้งแผนผังที่กัมพูชาส่งมาให้ไทย
                             - ๑๘ มิ.ย.๕๑ นายนพดล ฯ ลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมไทย – กัมพูชา และยูเนสโก ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
                             - ๒๔ มิ.ย.๕๑ คณะกรรมการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรม วุฒิสภา ได้คัดค้านการนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียวต่อยูเนสโก นายสุริยะใส กตะศิลา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอน การลงนามคำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย กัมพูชา เป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ และเป็นการดำเนินการที่ขัดกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน
                             - ๒๗ มิ.ย.๕๑ ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดี ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติของผู้ถูกฟ้องร้องคดีที่สอง เมื่อ ๑๗ มิ.ย.๕๑ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
                             - ๓๑ มิ.ย.๕๑ ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องวินิจฉัยชี้ขาด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ วรรคหก ประกอบมาตรา ๑๕๔ วรรคหนึ่ง (๑) ว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ฉบับลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่
                             - ๓ ก.ค.๕๑ ศาลรัฐธรรมนูญลงมติรับคำร้อง
                             - ๕ ก.ค.๕๑ นายนพดล ฯ ส่งหนังสือเวียนถึงประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก ทั้ง ๒๑ ประเทศ เพื่อย้ำคำสั่งศาลปกครองกลางและมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และแจ้งขอให้เลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้ไทยและกัมพูชาสามารถร่วมมือกันในการยื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วม
                             - ๗ ก.ค.๕๑ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการมรดกโลก ครั้งที่ ๓๒ มีมติ ๓๒ COM 8B.102 ให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามเกณฑ์ที่ ๑ โดยที่ประชุมรับทราบว่าจะไม่ใช้แถลงการณ์ร่วมไทย – กัมพูชา และยูเนสโก มาพิจารณา เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางของไทยและรับทราบว่า กัมพูชาได้ยื่นแผนผัง (Graphic Plan) ที่ปรับปรุงใหม่และรับทราบความปรารถนาของไทย ที่แสดงออกหลายครั้งว่าต้องการจดทะเบียนปราสาทพระวิหาร และอาณาบริเวณโดยรอบเป็นมรดกโลกร่วมกับกัมพูชา และที่ประชุมได้บันทึกไว้ว่ากัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท โดยมิได้รวมอาณาบริเวณโดยรอบ
                             - ๘ ก.ค.๕๑ ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา หรือ Joint Communiqu? ลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ มีลักษณะครบองค์ประกอบของความเป็นสนธิสัญญา ตามอนุสัญญา กรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๖๙ และเป็นไปตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๑/๒๕๔๒ และที่ ๓๓/๒๕๔๓ จึงเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ และคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ฉบับลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
                             - ๑๐ ก.ค.๕๑ นายนพดล ฯ ลาออกจากตำแหน่ง มีผล ๑๔ ก.ค.๔๑
                             - ๒๑ ก.ค.๕๑ มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนไทยกัมพูชา ( GBC ) สมัยวิสามัญ เริ่มด้วยการประชุมนอกรอบ ซึ่งเป็นการประชุมกันสองคนแล้วจึงประชุมในเวทีใหญ่ แต่ก็หาข้อยุติกันไม่ได้
                             - ๒๒ ก.ค.๕๑ กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ว่ากัมพูชาได้ส่งจดหมายร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ( UNSC ) เปิดประชุมฉุกเฉินเพื่อช่วยยุติการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างไทย – กัมพูชา สืบเนื่องจากกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยอาวุธ
                             - ๒๒ ก.ค.๕๑ นายฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาได้ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประธานอาเซียนและเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กำลังดำเนินการอยู่ที่สิงคโปร์ เรียกร้องให้อาเซียนแทรกแซงกรณีพิพาทระหว่างไทย – กัมพูชา โดยขอให้อาเซียนตั้งกลุ่มรัฐมนตรีร่วม ประกอบด้วย รมว.ต่างประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และลาว ขึ้นมาหาทางแก้วิกฤตการณ์นี้ด้วยสันติวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ด้านการทหารระหว่างไทย – กัมพูชา ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ด้วย
                             รมว.กต.สิงคโปร์ สนองตอบโดยจัดการประชุมนอกรอบลับพิเศษ ระหว่าง รมว.กต.อาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ ในวันนั้น แต่ไม่มีผลคืบหน้าใด ๆ ไทยต้องการเจรจาแก้ปัญหากับกัมพูชาแบบทวิภาคี ซึ่งตามกฎพื้นฐานอาเซียนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก
                             - ๒๒ ก.ค.๕๑ สมเด็จ ฯ ฮุน เซน นรม.กัมพูชา ได้ส่งจดหมายถึงยูเนสโก กล่าวหาว่าไทยมีพฤติกรรมรุกรานโดยไร้เหตุผลด้วยการส่งทหารเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อน การกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเป็นการท้าทายหลักการทั้งหมดของกฎหมายระหว่างประเทศ
           ๒.๘ การพิจารณาของ ICOMOS และมติคณะกรรมการมรดกโลก
                   ๒.๘.๑ การพิจารณาของ ICOMOS มีข้อสรุปและข้อเสนอแนะ ต่อคณะกรรมการมรดกโลก ในเอกสาร WHC - 08/32. COM/INF. 8 B 1. ADD.2
                             - ในเมื่อคณะกรรมการ ฯ ได้ตัดสินใจไว้ล่วงหน้าแล้วว่าควรจะขึ้นทะเบียนทรัพย์สินชิ้นนี้ให้ได้ ICOMOS จึงมีความเห็นว่าจะขึ้นทะเบียนได้ตามหลักเกณฑ์ที่ I เท่านั้น
                             - คณะกรรมการ ฯ อาจติดใจที่จะขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่ I เท่านั้น ซึ่ง ICOMOS พิจารณาเห็นว่าจะเป็นการกระทำโดยปราศจากแผนที่และเส้นกำหนดเขตที่สมบูรณ์เพียงพอและจะทำให้การยอมรับในคุณค่าทางวัฒนธรรมของทรัพย์สินชิ้นนี้ไม่กว้างขวางเท่าที่ควรจะเป็น จากความเห็นดังกล่าวจึงไม่ปรารถนาที่จะเสนอแนะเป็นทางการต่อคณะกรรมการ ฯ ให้ขึ้นทะเบียน
                             - ตามรายงานฉบับเดิมที่เคยประเมินคุณค่าของทรัพย์สินชิ้นนี้ไว้แล้วนั้น ICOMOS พิจารณาว่าถ้าในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการ ฯ จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตามหลักเกณฑ์ที่ I เท่านั้น หลักเกณฑ์ที่ III และ IV ก็น่าที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสมในอนาคต ถ้ามีความเป็นไปได้ที่จะขยายขอบเขตของทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนแล้วให้รวมถึงภูมิทัศน์ของปราสาทตลอดจนชะง่อนผาด้วย
                             - ICOMOS ขอสนับสนุนให้รัฐภาคีทั้งสองคือกัมพูชากับไทยตกลงที่จะร่วมมือกันต่อไปในการพิทักษ์รักษาคุณค่าของทรัพย์สินชิ้นนี้ และขอแสดงความหวังว่าในอนาคตจะเป็นไปได้ที่รัฐภาคีทั้งสองจะร่วมกันเสนอการขยายขอบเขตของทรัพย์สิน ซึ่งจะเสนอให้เห็นถึงคุณค่าอันสมบูรณ์ของทรัพย์สินชิ้นนี้และ ภูมิทัศน์โดยรวม
                   ๒.๘.๒ มติการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ตามมติ 32 COM 8B.102 เมืองคิวเบค แคนาดา เมื่อ ๗ ก.ค.๕๑ สรุปได้ดังนี้
                             (๑) ได้ตรวจสอบเอกสาร WHC - 08/32. COM/INF. 8 B . ADD.2
                             (๒) อ้างถึงข้อมติ 31 COM 8 B.24 ซึ่งได้ยอมรับว่าบริเวณปราสาทพระวิหารมีความสำคัญในระดับนานาชาติ และมีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล ตามหลักเกณฑ์ที่ (I), (III) และ (IV) และได้ตกลงในหลักการแล้วว่าปราสาทแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก
                             (๓) ได้รับทราบความก้าวหน้าที่ดำเนินโดยกัมพูชาเพื่อพัฒนาแผนบริหารจัดการสำหรับทรัพย์สินแห่งนี้ตามที่คณะกรรมการได้มีมติเรียกร้องไว้ ในมติ 31 COM 8B.24 ที่เมืองไครส์เชิร์ช นิวซีแลนด์
                             (๔) ขอบคุณรัฐบาลเบลเยียม สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสและอินเดีย ที่การทำงานของผู้เชี่ยวชาญ ขอบคุณรัฐบาลจีนกับญี่ปุ่นและ ICCROM ที่จัดหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วย
                             (๕) ยอมรับว่าแถลงการณ์ร่วมลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ.๒๐๐๘ โดยผู้แทนรัฐบาลกัมพูชาและไทยตลอดจนยูเนสโก รวมทั้งร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ซึ่งได้มีการกล่าวถึงอย่างผิดพลาดว่าได้มีการลงนามเมื่อวันที่ ๒๒ และ ๒๓ พฤษภาคม ค.ศ.๒๐๐๘ ในเอกสาร WHC - 08/32. COM/INF. 8 B 1. ADD.2 นั้นจะต้องไม่นำมาพิจารณาอีกเป็นไปตามรัฐบาลไทยที่จะยกหรืองดเว้นผลของแถลงการณ์ร่วมนั้นไว้ก่อนตามมาตรการชั่วคราวของศาลปกครองของไทย
                             (๖) รับทราบว่ากัมพูชาได้นำเสนอแผนกราฟฟิค (RGPP ) ที่ปรับปรุงใหม่ของทรัพย์สินชิ้นนี้ต่อคณะกรรมการ ฯ ได้บรรจุไว้ในเอกสาร WHC - 08/32. COM/INF. 8 B1 . ADD.2 ซึ่งแสดงให้เห็นเขตบริเวณที่ปรับปรุงใหม่ที่ได้เสนอสำหรับขึ้นทะเบียน ฯ
                             (๗) ตัดสินใจบนพื้นฐานที่มีข้อยกเว้นพิเศษที่จะรับข้อมูลที่รัฐภาคีได้เสนอมาเกินกำหนดเวลาที่ได้ระบุไว้
                             (๘) ยอมรับว่าไทยได้แสดงความปรารถนาครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะมีส่วนร่วมในการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาท ฯ และบริเวณโดยรอบ
                             (๙) รับทราบว่าทรัพย์สินที่ได้เสนอขึ้นทะเบียนแห่งนี้ได้ถูกลดขนาดลงคงเหลือเฉพาะตัวปราสาท ฯ เท่านั้น ไม่รวมบริเวณชะง่อนหินอันกว้างขวางตลอดจนหน้าผาและถ้ำ
                             (๑๐) พิจารณาต่อไปอีกว่าการวิจัยทางโบราณคดีกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นผลให้มีการค้นพบใหม่ ๆ ที่สำคัญซึ่งอาจนำไปสู่การพิจารณาเสนอมรดกโลกในลักษณะที่ข้ามพรมแดนแห่งใหม่ ซึ่งจะต้องได้รับการยินยอมเห็นชอบจากทั้งกัมพูชาและไทย
                             (๑๑) ส่งเสริมให้กัมพูชาร่วมมือกับไทย เพื่อพิทักษ์รักษาคุณค่าของปราสาทแห่งนี้และให้ตกลงกันว่าในอนาคตจะร่วมมือกันที่จะนำคุณค่าที่สมบูรณ์และภูมิทัศน์รอบ ๆ มาบรรจุไว้ในการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งใหม่ ที่จะเข้าหลักเกณฑ์ (III) และ (IV) ซึ่งได้ยอมรับไปแล้วโดยคณะกรรมการ ฯ ตามมติ 31 COM 8B.24
                             (๑๒) ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชาไว้ในบัญชีมรดกโลก ภายใต้ หลักเกณฑ์ที่ (I)
                             (๑๓) รับรองคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลคือปราสาทเป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมที่พิเศษประกอบด้วยวิหารชุด เชื่อมต่อกันโดยระบบทางเดินเท้าและบันได ซึ่งเป็นแกนกลางมีความยาว ๘๐๐ เมตร นับเป็นผลงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมเขมรที่มีคุณค่าโดดเด่นในด้านแบบแปลนการตกแต่งประดับประดา และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางภูมิสถาปัตย์ที่ยิ่งใหญ่อลังการ
                             องค์ประกอบของทรัพย์สินแห่งนี้ประกอบด้วยกลุ่มอาคารของปราสาท ซึ่งต้องลดความสมบูรณ์ลงในระดับหนึ่ง เนื่องจากขาดบางส่วนของบริเวณชะง่อนผาที่เป็นแหลมยื่นออกไป ซึ่งเป็นพื้นที่รายรอบขอบเขตของทรัพย์สินแห่งนี้ ในด้านการอนุรักษ์ก็มีมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมพอเพียงแต่ความก้าวหน้าในการกำหนดขอบเขตแผนบริหารจัดการนั้นยังต้องนำไปผนวกไว้ในแผนบริหารจัดการฉบับสมบูรณ์
                             (๑๔) เรียกร้องให้กัมพูชา โดยความร่วมมือกับยูเนสโก จัดประชุมคณะกรรมการประสานงานนานาชาติ เพื่อการพิทักษ์รักษาและพัฒนาทรัพย์สินนี้ ภายในเดือนกุมพาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๙ โดยให้เชิญรัฐบาลไทยมาร่วมด้วยกับให้เชิญผู้เป็นหุ้นส่วนนานาชาติอื่น ๆ ที่เหมาะสมอีกไม่เกิน ๗ ราย มาร่วมตรวจสอบนโยบายทั่วไปเกี่ยวกับการพิทักษ์รักษาคุณค่า ฯ ของทรัพย์สินแห่งนี้ โดยให้สอดคล้องกับมาตรการสากลของการอนุรักษ์
                             (๑๕) เรียกร้องให้กัมพูชาเสนอเอกสารดังต่อไปนี้ต่อศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๙
                                     ก) แผนที่ชั่วคราว เพื่อให้รายละเอียดเพิ่มเติมของทรัพย์สินที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้นี้และแผนที่กำหนดเขตพื้นที่กันชนที่ได้ระบุไว้ในแผนผังกราฟฟิค RGPP
                                     ข) แฟ้มนำเสนอมรดกโลกฉบับใหม่ที่ปรับปรุงแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการกำหนดขอบเขตของทรัพย์สินแห่งนี้
                                     ค) คำยืนยันว่าเขตการบริหารจัดการสำหรับทรัพย์สินแห่งนี้จะรวมไปถึงทรัพย์สินที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว รวมทั้งเขตพื้นที่กันชนซึ่งระบุไว้ใน RGPP
                                     ง) รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการเตรียมแผนบริหารจัดการ
                             (๑๖) เรียกร้องเพิ่มเติมให้กัมพูชาเสนอแผนบริหารจัดการฉบับสมบูรณ์สำหรับทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วนี้ รวมทั้งแผนที่ชุดล่าสุดเสนอต่อศูนย์มรดกโลก ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๑๐ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ ฯ ในการประชุมครั้งที่ ๓๔ ในปี ค.ศ.๒๐๑๐ ต่อไป
           ๒.๙ การแถลงของฝ่ายไทยต่อคณะกรรมการมรดกโลก
                   ๒.๙.๑ รมว.กต.ไทยแถลงคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก นายนพดล ปัทมะ รมว.กต.ไทยแถลงคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ที่ควีเบค แคนาดา เมื่อ ๗ ก.ค.๕๑
                             - เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน ฯที่คณะกรรมการได้ให้การรับรองไป ซึ่งแม้จะตั้งอยู่บนข้อบกพร่องและข้อจำกัดของคุณสมบัติต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการรับสถานะมรดกโลกที่สมบูรณ์ ตามข้อประเมินของ ICOMOS ด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ประเทศไทยประสงค์ให้บันทึกข้อสังเกตและข้อสงวน ดังนี้
                             - นอกเหนือจากข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดนต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขพื้นที่รอบปราสาทฯ ประเทศไทยประสงค์จะชี้ให้เห็นว่าข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลกไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติเนื่องจากการกระทำหรือมาตรการและการดำเนินการใด ๆ ที่จะติดตามหลังจากนี้ไม่ว่าจะโดยกัมพูชาหรือฝ่ายที่สามอื่น ๆ ในพื้นที่ข้างเคียงปราสาท ฯ ที่เป็นดินแดนไทยนั้นจะไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่าจะได้รับความยินยอมของประเทศไทยเท่านั้นในฐานะประเทศภาคีอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ค.ศ.๑๙๗๒ ประเทศไทยยืนยันสิทธิทั้งปวงของไทย ตามมาตรา ๑๑ (๓) ของอนุสัญญา ฯ ซึ่งกำหนดว่าการรวมเอาทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในดินแดนอธิปไตยหรือเขตอำนาจ ซึ่งอ้างสิทธิมากกว่าหนึ่งรัฐจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของรัฐที่มีข้อพิพาท
                             - ประเทศไทยขอย้ำว่าการประท้วงและคัดค้านเอกสารทั้งปวงที่กัมพูชาได้ยื่นเสนอขึ้นทะเบียนปราสาท ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานทางเทคนิคของคณะผู้เชี่ยวชาญและรายงานความก้าวหน้าที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องเพราะประเทศไทยถูกปิดโอกาสไม่ให้เข้าร่วมอย่างเต็มที่จนต้องสงวนสิทธิ์และถอนตัวออกจากรายงานดังกล่าวประเทศไทยประสงค์ให้บันทึกแก่คณะกรรมการ ฯ ว่าแผนบริหารจัดการของปราสาทพระวิหารที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติจะไม่มีทางสมบูรณ์ไปได้ หากปราศจากความร่วมมือจากประเทศไทย
                             - คณะกรรมการ ได้เพิกถอนข้อเท็จจริงที่ว่าไทยมีฐานะเป็นประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญและความเป็นไปได้ที่ไทยจะยื่นเสนอบริเวณโดยรอบในเขตแดนไทยนี้มีลักษณะสอดคล้องเกื้อกูลต่อคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของปราสาท ฯ ในฐานะมรดกโลกประเทศไทยขอย้ำถึงความตั้งใจที่จะยื่นจดทะเบียนสถานที่และอาณาบริเวณในดินแดนไทยที่เกี่ยวเนื่องกับปราสาท ฯ เพื่อให้ได้รับสถานะเป็นมรดกโลก เพื่อให้คุณค่าความสำคัญและความสมบูรณ์ของสถานที่นี้
                             - โดยสรุปประเทศไทยจึงจำเป็นต้องคัดค้านข้อมติในการขึ้นทะเบียนปราสาท ฯ เป็นมรดกโลกตามที่กัมพูชาเสนอโดยฝ่ายเดียว เนื่องจากเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่ขาดความสมบูรณ์และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
                             - ไทยประสงค์จะย้ำการสงวนสิทธิ์ต่าง ๆ ตามที่ระบุในหนังสือ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๖๒ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยถึงรักษาการเลขาธิการสหประชาชาติและยืนยันรักษาสิทธิของไทยว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่กระทบต่อสิทธิทั้งปวงของ ประเทศไทยเกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยตลอดจนการสำรวจและปักปันเขตแดนทางบกในพื้นที่อนาคตและท่าทีของกฎหมายของประเทศไทย
                   ๒.๙.๒ ประธานคณะกรรมการว่าด้วยมรดกโลกของไทย นายปองพล อดิเรกสาร แถลงที่ควีเบค แคนาดา เมื่อ ๗ ก.ค.๕๑ สรุปได้ดังนี้
                             - ประเทศไทยตระหนักเป็นอย่างดีว่าอนุสัญญามรดกโลกเป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งอนุรักษ์มรดกโลก เพื่อความมีจิตใจร่วมกันการเคารพซึ่งกันและกันและสันติภาพ
                             - ประเทศไทยได้ขอร้องครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ประเทศไทยได้มีส่วนในการเสนอร่วมกัน (Joint Nomination ) เพื่อให้ปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นวัดฮินดูในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ บนยอดเขาที่เป็นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอันเป็นดินแดนซึ่งยังมีข้อโต้แย้งกันระหว่างประเทศทั้งสองนั้นได้ขึ้นทะเบียนในลักษณะการเสนอร่วมแต่ได้ถูกปฏิเสธ
                             - ปราสาทพระวิหาร ได้รับการยินยอมให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเป็นกรณีพิเศษ โดยใช้หลักเกณฑ์ข้อที่ ๑ เพียงข้อเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังปราศจากบริเวณกันชน (Buffer Zone) ซึ่งทำให้ขาดภูมิทัศน์บริเวณรอบด้านที่จะทำให้ปราสาทพระวิหารมีความสง่างามและความสมบูรณ์ด้วยเหตุผลดังกล่าวเราไม่สามารถจะยอมรับการขึ้นทะเบียนเพียงฝ่ายเดียว
                             - เราได้ประสงค์ที่จะให้เลื่อนการพิจารณาการเสนอขึ้นทะเบียนปราสาท ฯ ไปก่อนจนกว่ารัฐภาคีทั้งสองจะแก้ไขคลี่คลายข้อแตกต่างที่มีอยู่และสามารถร่วมกันขึ้นทะเบียน ฯ ซึ่งจะเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายได้
                             - เราขอประท้วงการใช้ผังทางภูมิศาสตร์หรือแผนที่ใด ๆ ของมรดกโลก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ข้อขัดแย้งยิ่งขึ้นและอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่เป็นมิตรในอนาคตระหว่างชุมชนที่อยู่รอบ ๆ บริเวณดังกล่าว
                             - พวกเราชื่นชมยินดีในความเป็นวิชาชีพของ ICOMOS โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อวิจารณ์ที่ตรงไปตรงมาและตรงประเด็นตลอดจนข้อสรุปและข้อเสนอแนะ ซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่งกับหลักการแห่งคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลความเป็นของแท้จริงและความสมบูรณ์ของมรดกโลก
                             - อนุสัญญามรดกโลกนี้ยังเป็นเรื่องของการส่งเสริมให้สาธารณชนเกิดความตระหนัก และมีส่วนร่วมตลอดจนบทบาทของชุมชนในการสนับสนุนมรดกโลก
                             - ชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ทางด้านเหนือของปราสาท ฯ ในดินแดนของประเทศไทยได้เคยเดินทางไปเยือนและเคารพบูชาพระวิหารแห่งนี้มาเป็นเวลานานนับร้อย ๆ ปี ในสมัยโบราณชุมชนในท้องถิ่นเหล่านี้ยังได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ดูแลปราสาทแห่งนี้ด้วย ดังมีข้อความปรากฏในจารึกแผ่นหนึ่งของปราสาท
           ๒.๑๐ บทความเรื่องข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเด็นการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของ ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกของไทย
                   บทความนี้มีความยาวประมาณ ๗ หน้า แบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ๕ หัวข้อด้วยกันคือ ข้อกฎหมาย ความจริงและลักษณะของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยกัมพูชาฝ่ายเดียว ความพิลึกของกลไกปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จุดยืนเผชิญหน้าคณะกรรมการต่างชาติแทรกแซงเขตกันชนในราชอาณาจักรไทย และหลังจากประกาศจุดยืนดังกล่าวข้างต้นแล้ว
           ๒.๑๑ คำสั่งศาลปกครองกลาง เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ๒๔ มิ.ย.๕๑
                   มีผู้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครองกลางว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ ๑๗ มิ.ย.๕๑ เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชากรณีการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกพร้อมแผนที่แนบท้ายโดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายนพดล ปัทมะ) เป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม เมื่อ ๑๘ มิ.ย.๕๑ เพื่อให้ประเทศกัมพูชาเสนอต่อองค์การยูเนสโก ใน ๕ ก.ค.๕๑ แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีสาระสำคัญคือประเทศไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลกเป็นการกระทำโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายด้านอาณาเขตดินแดนและอธิปไตยของประเทศไทย จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สร้างภาระให้เกิดแก่ประเทศชาติ
                   ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อยังไม่มีการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาในบริเวณเขตแดนปราสาทพระวิหาร แต่ปรากฏว่าแผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วมที่กัมพูชาจัดทำขึ้นมีการกำหนดเขตรอบพื้นที่ปราสาทอาจถือได้ว่าประเทศไทยยินยอมรับเขตแดนรอบพื้นที่ปราสาทดังกล่าวโดยปริยาย การกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติที่ยากแก่การแก้ไขในภายหลัง
                   ศาลปกครองกลางจึงได้มีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อ ๑๗ มิ.ย.๕๑ ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและกัมพูชา และการดำเนินการตามติดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
           ๒.๑๒ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ ว่าเป็นหนังสือสนธิสัญญาหรือไม่
                   ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นสมาชิกสภาผู้แอทนราษฎร จำนวน ๑๕๑ คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ วรรคหกประกอบมาตรา ๑๕๔ (๑) เกี่ยวกับคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ เป็นหนังสือสนธิสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ หรือไม่
                   ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชาหรือ Joint Communiqu? ลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ แม้จะไม่ปรากฏสาระสำคัญอย่างชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่อันเป็นอาณาเขตของประเทศไทยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อบททั้งหมดในคำแถลงการณ์ร่วมประกอบแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า ในแผนที่หรือแผนผังแนบท้าย ซึ่งจัดทำขึ้นโดยประเทศกัมพูชาฝ่ายเดียวไม่ได้มีการกำหนดเขตของพื้นที่ N1 N2 และ N3 ให้ชัดแจ้งงว่ามีบริเวณครอบคลุมส่วนใดของประเทศเท่าใด ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่อง อาณาเขตของประเทศไทยประกอบกับการที่ประเทศกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้นมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่เป็นประเด็นโต้เถียงกันในเรื่องของเส้นเขตแดนและขอบเขตที่ปราสาทตั้งอยู่ทั้งเป็นประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกันทั้งทางด้านสังคมและการเมืองมาโดยตลอด อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง คำแถลงการณ์ร่วม ฯ ดังกล่าวจึงเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย จึงเป็นหนังสือสนธิสัญญา ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง กำหนดให้ต้องรับความเห็นชอบของรัฐสภา


 


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์