ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี


www.dooasia.com > จังหวัดหนองคาย >หลวงพ่อพระเจ้าพระองค์ตื้อ/Luang Pho Phar Cho Ong Tue 

หลวงพ่อพระเจ้าพระองค์ตื้อ/ Luang Pho Phar Cho Ong Tue

 

ประวัติหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ

พระพุทธรูปองค์นี้ได้ก่อสร้างมาแต่ดึกดำบรรพ์มีพระรูปงดงามน่าเลื่อมใส สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชครองเมืองเวียงจันทร์ พระสงฆ์ในวัดศรีชมภูองค์ตื้อได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ลงมติจะหล่อพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นในบ้านน้ำโมง (เดิมเรียกว่าบ้านน้ำโหม่ง) เพื่อเป็นที่เคารพสักการะแก่อนุชนรุ่นหลังต่อ ๆ มา เมื่อตกลงกันแล้วจึงได้ชักชวนบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อเรี่ยไรทองเหลืองบ้าง ทองแดงบ้าง ตามแต่ผู้ที่มีจิตศรัทธาจากท้องที่อำเภอและจังหวัดใกล้เคียง ได้ทองหนักตื้อหนึ่ง (มาตราโบราณภาคอีสานถือว่า ๑๐ ชั่งเป็นหมื่น ๑๐ หมื่นเป็นแสน ๑๐ แสนเป็นล้าน ๑๐ ล้านเป็นโกฏิ ๑๐ โกฏิเป็นหนึ่งกือ ๑๐ กือเป็นหนึ่งตื้อ) พระสงฆ์และชาวบ้านจึงพร้อมกันหล่อ เป็นส่วน ๆ ในวันสุดท้ายเป็นวันหล่อตอนพระเกศ ในตอนเช้าได้ยกเบ้าเทแล้วแต่ไม่ติด เมื่อเอาเบ้าเข้าเตาใหม่ ทองยังไม่ละลายดีก็พอดีเป็นเวลาจวนพระจะฉันเพล พระทั้งหมดจึงทิ้งเบ้าเข้าเตาหรือทิ้งเบ้าไว้ในเตาแล้วก็ขึ้นไปฉันเพลบนกุฏิฉันเพลเสร็จแล้วลงมาหมายจะเทเบ้าที่ค้างไว้กลับปรากฏเป็นว่ามีผู้เทติด และตอนพระเกศสวยงามกว่าที่ตอนจะเป็น เป็นอัศจรรย์สืบถามได้ความว่า (มีชายผู้หนึ่งนุ่งห่มผ้าขาวมายกเบ้านั้นเทจนสำเร็จ) แต่ด้วยเหตุที่เบ้านั้นร้อนเมื่อเทเสร็จแล้ว ชายผู้นั้นจึงวิ่งไปทางเหนือบ้านน้ำโมงมีผู้เห็นยืนโลเลอยู่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งแล้วหายไป (หนองน้ำนั้นภายหลังชาวบ้านเรียกว่าหนองโลเลมาจนถึงปัจจุบันนี้ และชายผู้นั้นก็เข้าใจกันว่าเป็นเทวดามาช่วยสร้าง) เมื่อได้นำพระพุทธรูปที่หล่อแล้วมาประดิษฐานไว้ในวัด มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่แห่งเมืองเวียงจันทร์มาเที่ยวบ้านน้ำโมงสองท่านชื่อว่า ท่านหมื่นจันทร์ กับ ท่านหมื่นราม ทั้งสองท่านนี้ได้เห็นพระเจ้าองค์ตื้อก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสที่จะช่วยเหลือ จึงได้ช่วยกันก่อฐาน และทำราวเป็นการส่งเสริมศรัทธาของผู้สร้าง ครั้นเมื่อขุนนางทั้งสองได้กลับถึงเมืองเวียงจันทร์แล้ว ได้กราบทูลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชซึ่งครองเมืองเวียงจันทร์ในเวลานั้นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้เสด็จมาทอดพระเนตรก็ทรงเกิดศรัทธาจึงได้สร้างวิหารประดิษฐานกับแบ่งปันเขตแดนให้เป็นเขตข้าทาสบริวารของพระเจ้าองค์ตื้อดังนี้

๑ . ทางตะวันออกถึงบ้านมะก่องเชียงขวา( ทางฝั่งซ้ายตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย )
๒. ทางตะวันตกถึงบ้านหวากเมืองโสม ( อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี)
๓. ทางทิศใต้ถึงบ้านบ่อเอือดหรือบ่ออาด ( อยู่ในอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี)
๔. ทางเหนือไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน คาดว่าน่าจะเป็น บ้านพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และเมือง “กินายโม้” ส.ป.ป.ลาว ในปัจจุบัน
พลเมืองที่อยู่ในเขตข้าทาสของพระเจ้าองค์ตื้อตั้งแต่เดิมมาต้องเสียส่วยสาอากรให้แก่ทางราชการ แต่เมื่อตกเป็นข้าทาสของพระเจ้าองค์ตื้อ โดยผู้ใดประกอบอาชีพทางใดก็ให้นำสิ่งนั้นมาเสียส่วยให้แก่วัดศรีชมพูองค์ตื้อทั้งสิ้น เช่น ผู้ใดเป็นช่างเหล็กก็ให้นำเครื่องเหล็กมาเสีย ผู้ใดทำนาก็ให้นำข้าวมาเสีย ผู้ใดทำนาเกลือก็ให้เอาเกลือมาเสียทางวัดก็มีพนักงานคอยเก็บรักษาและจำหน่ายประจำเสมอ ที่ด้านหน้าของพระวิหารมีตัวหนังสือไทยน้อยหรือหนังสือลาวเดี๋ยวนี้อยู่ด้วย แต่เวลานี้เก่าและลบเลือนมากอ่านไม่ได้ความติดต่อกัน พระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ฝีมือช่างฝ่ายเหนือและล้านช้างผสมกัน นับเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมาก เป็นพระประธานซึ่งสร้างด้วยทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง ๓ เมตร ๒๙ เชนติเมตร สูง ๔ เมตร ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีชมภู องค์ตื้อ ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง เคารพนับถือมาก

ประวัติในหินศิลาจารึกเรื่องหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ

๑. สร้างเมื่อพุทธศักราช ๑๐๕ พระวรรษา
๒. พระชัยเชษฐาเป็นลูกเขยพระยาศรีสุวรรณ ภรรยาของพระชัยเชษฐาคือ พระนางศรีสมโพธิ มีลูก ๔ คน เป็นชาย ๓ คน เป็นหญิง ๑ คน
๓. พระชัยเชษฐา เกิดที่เมืองเวียงคุก ภรรยาเกิดที่เมืองจำปา ( บ. น้ำโมง ) ในปัจจุบันนี้
๔. นามวัด โกศีล สร้างได้ ๑ปี ๓ เดือน สมภาร ชื่อ พระครูอินทราธิราช อายุ ๓๔ ปี พรรษา ๑๕ มีพระอยู่ด้วย ๑๒ รูป สามเณร ๕ รูป
๕. ทางวัดโกศีล ทางยาว ๑ เส้น ๕ วา กว้าง ๑ เส้น ๑๐ วา
๖. วัดโกศีล เป็นวัดที่สำคัญมากกงจักรเกิดที่วัดนี้ พระชัยเชษฐาจึงเลื่อมใสจึงชักชวนคณะที่มีศรัทธารวม ๘ คน สร้างพระพุทธรูปใหญ่หน้าตัก กว้าง๓ เมตร สูง ๔ เมตร รายนามบุคคลทั้ง๘ คือ
พระชัยเชษฐา ท้าวอินทราธิราราช ท้าวเสนากัสสะปะ ท้าวอินทร ท้าวเศษสุวรรณ ท้าวพระยาศรี ท้าวดามแดงทิพย์ ท้าวอินสรไกรยสิทธิ์ รวมเป็นคน ๑๒ ภาษาที่มาร่วมกันสร้าง พระชัยเชษฐาเป็นคนหล่อ
๗. พระชัยเชษฐาจึงป่าวร้องบริวาร ๕๐๐ คนมาช่วยหล่อ เป็นทองเหลือง เงิน และคำผสมกันน้ำหนักได้หนึ่งตื้อ ทำพิธีหล่อเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ต่อเมื่อพระอินทร์และเทพยุดา ๑๐๘ องค์มาช่วยหล่อจึงสำเร็จ
๘. วัดโกศีล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง สร้างอยู่ ๗ ปี ๗ เดือน จึงสำเร็จเป็นหลวงพ่อองค์ตื้อ
๙. เมื่อหล่อแล้ว มีอภินิหารเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึง ๑๐๐ อย่าง
๑๐. พระพุทธรูปองค์นี้สิ้นเงิน ๑๐๕,๐๐๐ ชั่ง
๑๑. บ้านที่ขึ้นเป็นบริวารมี ๑๓ บ้านคือ เมืองเวียงคุก กองนาง กำพร้า จินายโม้ ปากโค พรานพร้าว ศรีเชียงใหม่หนองคุ้งยางคำ หนองแซงศรี สามขา ท่าบ่อ พร้าว บ่อโอทะนา

การดำเินินงานในวัดศรีชมภูองค์ตื้อ

งานด้านสาธารณูปการ วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ได้บูรณะ ซ่อมแซม ก่อสร้าง เสนาสนะ ถาวัตถุต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น วิหารประดิษฐานหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ศาลาการเปรียญพระครูสังวรกัลยาณวัตร หอพระไตรปิฎก ศาลาเอนกประสงค์ ศาลากองอำนวยการ ห้องน้ำพระภิกษุสงฆ์ กุฏิสงฆ์ ศาลาเอนกประสงค์ริมแม่น้ำโมง เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเป็นศูนย์อุทยานแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น และเป็นแหล่งสร้างบุญกุศลในทางพระพุทธศาสนา

การบริหารการปกครอง วัดศรีชมภูองค์ตื้อ มีการบริหารปกครองเป็นแบบสังฆสภา ประชาธิปไตย โดยยึดหลักธรรมาธิปไตย มีคณะกรรมการบริหาร จัดการ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อยังศรัทธาให้เกิดแก่อุบาสกอุบาสิกา พุทธศาสนิกชนทั่วไป ทั้งใกล้และไกล ซึ่งมีพระภิกษุจำพรรษา ไม่ต่ำกว่า ๑๕ รูป สามเณรไม่ต่ำกว่า ๑๗ รูป ทุกปี

การศาสนศึกษา วัดศรีชมภูองค์ตื้อ แหล่งการศึกษาของพระภิกษุสามเณร รวมทั้งพุทธศาสนิกชนผู้สนใจทั่วไป เยาวชนนักเรียนนักศึกษา สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้จากวัดได้ทุกโอกาส ซึ่งได้เน้นศาสนศึกษาหลัก ๆ สำหรับพระภิกษุสามเณร คือ การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี (ประโยค ๑-๒, ๓, ๔,) การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมศึกษาสำหรับเยาวชนทั้งหลาย ซึ่งเป็นการปลูกฝังพุทธธรรม คุณธรรมจริยธรรมในจิตใจของเยาวชนของชาติ

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ได้ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยวิธีการต่าง ๆ อาทิเช่น โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน โครงการอบรมค่ายพุทธธรรม โครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรมต่อต้านยาเสพติด โครงการปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จัดแสดงธรรมในวันธัมมัสสวนะ จัดโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ สนับสนุนโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้กับคณะสงฆ์ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชนทั่วไป จัดส่งพระวิทยากรดำเนินการอบรม ให้กับหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชนทั่วไป อบรม/บรรยายธรรมแก่ชีพราหมณ์ผู้ถือศีลอุโบสถตลอดเทศกาลเข้าพรรษา จัดโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ จัดพระวิทยากรสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนในเขตอำเภอท่าบ่อและอำเภอใกล้เคียง

การสาธารณสงเคราะห์ วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ได้ให้การสนับสนุนแก่สังคมต่าง ๆ ตามสมควรแก่ฐานะ อาทิเช่น บริจาคที่ดินให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนผู้เรียนดีแต่ยากจน บริจาควัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาแก่โรงเรียน บริจาคปัจจัยสมทุบทุนในการก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ บริจาคอุปกรณ์คอมพิเตอร์แก่หน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน บริจาคช่วยผู้ประสบภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย เป็นต้น

ข้อวินิจฉัยในศิลาจารึก

ในหลักศิลาจารึกข้อที่ ๑ ว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๐๕ นั้น ขัดต่อความเป็นจริง เพราะพระพุทธศาสนาเริ่มแพร่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๓๐๐ ล่วงแล้วเลข พ.ศ. ข้างหน้าที่ลบเลือนนั้นคงจะเป็น พ.ศ. ๒๑๕๐ เพราะในระหว่าง พ.ศ. ๒๑๐๕ อยู่ในระยะรัชสมัยของพระไชยเชษฐาแห่งเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นระยะไล่เลี่ยกันกับที่พระไชยเชษฐา ได้ร่วมกับกรุงศรีอยุธยาสร้างเจดีย์ ศรีสองรักษ์ขึ้นที่อำเภอด้านซ้าย ในจังหวัดเลย ปัจจุบันนี้ก็ยังคงอยู่พอจะอนุมานได้ว่า ผู้สร้างวัดศรีชมภูองค์ตื้อ คงเป็นพระเจ้าชัยเชษฐาแน่

ในศิลาจารึกข้อที่ ๒ ที่ว่าพระชัยเชษฐาเป็นลูกพระยาศรีสุวรรณนั้น ขัดกับพระราชพงศาวดาร เพราะพระชัยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองเวียงจันทร์นั้น เป็นบุตรพระยาโพธิสาร ดังแจ้งในพงศาวดาว่าพระยามหาพรหมราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ถึงแก่พิลาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๒ พระโอรสทรงนามว่า เจ้าทรายดำ ได้ครองเชียงใหม่อยู่ ๓ปีก็ทิวงคต ไม่มีโอรสราชนัดดา สืบสันติวงศ์ เสนาบดีเมืองเชียงใหม่ลงไปเฝ้าพระเจ้าล้านช้าง พระเจ้าล้านช้างพร้อมเจ้าเชษฐาวงศ์ ไปเยี่ยมพระศพถึงเชียงใหม่ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๙๑ เสนาพฤฒามาตย์พร้อมกันยกราชสมบัติให้เจ้าเชษฐวงศ์เป็นเจ้าเชียงใหม่ ทรงพระนามว่าพระชัยเชษฐาธิราช พระยาโพธิสารเสด็จกลับหลวงพระบางได้ ๒ ปี ก็ทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๐๙๓ พระชัยเชษฐษธิราชจึงกลับไปครองนครล้านช้าง (จากหนังสือฝั่งขวาแม่น้ำโขง) ข้อนี้ไม่มีหลักฐาน พระยาศรีสุวรรณกัลป์พระยาโพธิสารอาจเป็นคน ๆ เดียวกันก็ได้

ในศิลาจารึกข้อที่ ๓ ว่า พระชัยเชษฐาเกิดที่เมืองเวียงคุก ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะพระยาโพธิสารธรรมมิกราชบิดาครองราชย์สมบัติอยู่ที่นครล้านช้าง หลวงพระบาง พระชัยเชษฐาต้องเกิดที่ล้านช้าง ส่วนเวียงคุกนั้นมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นทีหลัง เมื่อพระเจ้าชัยเชษฐาได้ขึ้นครองราชย์สมบัติที่เวียงจันทน์แล้ว แล้วที่ว่าภรรยาเกิดที่เมืองจำปาน้ำโมงนั้นไกลความจริงมาก เพราะพระอัครมเหสีของพระเจ้าชัยเชษฐเป็นธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ หรือว่าจะเป็นภรรยาน้อย ข้อนี้ไม่มีหลักฐานยืนยัน

ในศิลาจารึกข้อ ๔ ชื่อวัดว่า “วัดโกศีล”นั้นน่าจะเป็นโกสีย์มากกว่า แต่ปัจจุบันนี้ ชื่อวัดศรีชมภูองค์ตื้อ

ในศิลาจารึกข้อ ๕ เขตวัดทางยาวและทางกว้างแคบกว่าที่กล่าวไว้ในศิลาจารึก ทั้งนี้เข้าใจว่า ทางหน้าวัดน้ำเซาะทางทิศเหนือและทิศใต้ให้แคบลง (เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙) ได้ตรวจสอบวัดดูปรากฏว่า แคบไม่ตรงกับศิลาจารึกแต่ปัจจุบันนี้ทางวัดได้ซื้อขยายออกไปมากแล้วทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก

ในศิลาจารึกข้อ ๖ ว่า กงจักรเกิดขึ้นนั้น คงมีรูปกงจักรอันเป็นรูปธรรมจักร ซึ่งมีตามวัดเก่า ในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันนี้หาดูไม่ได้แล้ว

ในศิลาจารึกข้อ ๗ พระชัยเชษฐามีบริวารถึง ๕๐๐ นี้ ต้องเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นพระชัยเชษฐาผู้ครองนครเวียงจันทน์แน่ การนับน้ำหนักและจำนวนในสมัยก่อนนั้น เขานับ สิบ-ร้อย-พัน-หมื่น-แสน-ล้าน-โกฏิ-ตื้อ แต่ถ้าหมายถึงจำนวน ก็เติมอะสงไขยเข้าไปอีกเป็นอันดับสุดท้าย เพราะฉะนั้น คำว่า ตื้อ จึงเป็นน้ำหนักที่มากที่สุดแล้ว การสร้างพระมานานถึง ๗ ปี ๗ เดือน เห็นจะรวมน้ำหนักที่แน่นอนไม่ได้ พระก็องค์ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น สร้างก็ยาก หมดเปลืองก็มาก เพื่อให้สมกับความยากลำบากจึงกำหนดเอาว่า สร้างด้วยทองหนัก ๑ ตื้อ ซึ่งความจริงสมัยนั้นจนถึงสมัยนี้ก็ไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่า โกฏิและตื้อนั้นมีค่าเท่าใดกันแน่ คงนับกันไปอย่างนั้นเอง การหล่อพระศักดิ์สิทธิ์ มักจะเป็นพระอินทร์หรือตาปะขาวมาช่วยจึงสำเร็จ ทั้งนี้เพราะเหตุผล ๒ ประการ คือ ประการแรกต้องการจะให้คนนับถือ ประการที่สองสมัยนั้น คนดีมีวิชาอยู่ไม่ค่อยได้ เพราะจะถูกรังแก จึงแกล้งปกปิดไว้ว่า เป็นเทวดามาหล่อ

ในศิลาจารึกข้อ ๘ ว่า วัดโกศีลตั้งอยู่ริมน้ำโขงนั้น เป็นความจริง เพราะตามธรรมดาแม่น้ำย่อมคดเคี้ยว และเกิดมีคุ้งน้ำขึ้น น้ำโขงซึ่งกว้างราว ๑ กม.เศษ ไหลผ่านศรีเชียงใหม่ พุ่งไปปะทะ ตอนใต้นครเวียงจันทน์ จินายโม่และบ่อโอทะนา เมื่อปะทะฝั่งลาวแล้ว กระแสน้ำก็กลับพุ่งมาปะทะฝั่งไทยตอนใต้ท่าบ่อ กระแสน้ำจะไหลปะทะสลับฝั่งกันเช่นนี้เรื่อยไป เมื่อถึงหน้าน้ำราว ๆ เดอน ๗-๙ น้ำจะเต็มฝั่งหรือล้นฝั่ง กระแสน้ำในแม่น้ำโขงจะไหลเชี่ยวเร็วประมาณ ๑๕.๒๐ กม. ทีเดียวฝั่งที่ถูกปะทะก็จะพัง ฝั่งตรงข้ามตอนใต้คุ้งน้ำ น้ำจะไหลค่อยและวน ดินจะตกตะกอนเมื่อน้ำลดก็จะเกิดเป็นดินงอกทุกปี วัดน้ำโมงก็เช่นเดียวกัน เดิมตั้งอยู่ริมโขงจริง แต่อยู่ใต้คุ้งน้ำตรงข้ามกับจินายโม่และบ่อโอทะนา ดินหน้าวัดจึงงอกออกเรื่อยมาเราจึงเห็นกันว่า วัดน้ำโมงจะอยู่ห่างจากตลิ่งแม่โขงไปทุกทีอย่างเช่นทุกวันนี้

ในศิลาจารึกข้อ ๙ เมื่อหล่อแล้วมีอภินิหารเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึง ๑๐๐ อย่างนั้น ในข้อนี้ ความเชื่อถือของชาวเมืองเชื่อมั่นว่า มีผีหรือเทวดารักษา คนนับถือมาก บางคนเจ็บไข้ได้ป่วยไปขอน้ำมนต์มากินก็หายได้ คนไม่มีลูกไปขอก็มีได้ อะไรต่อมิอะไรร้อยแปดมากกว่า ๑๐๐ อย่างเสียอีก

ในศิลาจารึกข้อ ๑๐ ว่า การสร้างสิ้นเงินไปถึง ๑๐๕,๐๐๐ ชั่ง แต่ถ้าจะคิดถึงค่าราคาแห่งพระพุทธรูปงามองค์นี้ ในปัจจุบันแล้วมีค่าเหลือที่จะคณานับได้ เมื่อผู้ใดเข้าไปใกล้เฉพาะพระพักตร์แล้ว จะหายทุกข์โศกทันที พระพักตร์อมยิ้มนิด ๆ พระเนตรลืมสนิท พระนลาฏกว้างพระร่างอูม ส่วนพระกายนั่งตรงได้ส่วนสัด ประทับอยู่ในท่าสงบ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทำให้ผู้ได้พบเห็นองค์พระองค์ตื้อ เกิดมโนภาพคล้าย ๆ เข้าไปนั่งอยู่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เกิดความปีติและมีศรัทธาขึ้นทันที อันเป็นธรรมาภินิหารเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ได้พลเห็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีค่ายิ่งกว่าสมบัติใด ๆ ที่ท่านโบราณาจารย์วางราคาไว้ถึง ๑๐๕,๐๐๐ ชั่ง ข้าพเจ้าคิดว่ายังถูกไป

ในศิลาจารึกข้อ ๑๑ นั้น แสดงให้เห็นว่า เป็นวัดซึ่งพระเจ้าชัยเชษฐาเป็นผู้สร้างแน่ เพราะมีบริวารถึง ๑๓ บ้าน วัดที่จะมีบริวารได้ต้องเป็นวัดหลวง ชาวบ้านเหล่านั้นต้องส่งส่วยแก่วัดโดยไม่ต้องกระทำกิจใด ๆ แก่ทางราชการ คงเป็นแต่ข้าของพระองค์ตื้อ เช่นเดียวกับข้าพระธาตุพนม ซึ่งยังคงถือเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้ ในวันเทศกาลนมัสการพระองค์ตื้อ ชาวบ้านที่เป็นข้าจะต้องนำเครื่องมาสักการะบูชา ถ้ามิฉะนั้น ผีหรือเทวดาผู้รักษาจะลงโทษ

ปาฏิหาริย์ของพระเจ้าองค์ตื้อ

มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งพวกฮ่อได้ยกทัพข้ามโขงมาขึ้นที่ฝั่งวัดน้ำโมง เพื่อหวังจะทำลายพระองค์ตื้ออันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนแถบนั้น เพื่อเป็นการทำลายขวัญของพวกชาวบ้าน ขณะที่ข้าศึกได้จ้วงขวานฟันลงไปที่พระชานุของพระองค์ตื้อนั้น ก็ปรากฏเสียงร้องออกจากพระโอษฐ์ และมีพระดลหิตไหลออกจากแผลที่พระชานะ พร้อมกับมีน้ำพระเนตรไหลซึมออกมาเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก ข้าศึกเป็นอัศจรรย์เช่นนั้นก็เกรงจะเกิดภัยจึงได้รีบยกทัพกลับ แต่ก็ปรากฏว่าพวกฮ่อถึงแก่ความตายจนหมดสิ้น ทุกวันนี้แผลเป็นที่พระชานุก็ยังปรากฏอยู่

ในสมัยก่อนผู้คนสัญจรไปมาจะสวมรองเท้าเข้าไปในวัดไม่ได้จะต้องมีอันเป็นไปโดยประการต่าง ๆ แม้แต่เจ้านาย ที่เข้ามาถือน้ำพิพัฒนสัตยา จะสวมรองเท้าเข้าไปในวิหารนั้นก็ไม่ได้ ถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษโดยประการต่าง ๆ เช่นเจ็บป่วยโดยกระทันหัน เป็นต้น

บุคคลที่ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล มีดอกไม้ธูปเทียนหรือเครื่องสักการะอย่างอื่นมาทูลขอบุตรธิดาจากพระองค์ บุคคลผู้นั้นก็จะได้กุลบุตรธิดาสืบสกุล สมความมุ่งมาดปรารถนา แต่บุตรธิดาที่พระองค์ประทานให้แล้วนั้น บิดามารดาจะทำโทษหรือเฆี่ยนตีโดยประการใด ๆ ไม่ได้ ต้องสั่งสอนเอาโดยธรรมเท่านั้น

บุคคลผู้ใดของหาย เช่น เงิน ทอง โค กระบือ เป็นต้น มีดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะมาบูชาบวงสรวง เพื่อให้ได้สิ่งของนั้นคืนมา ก็จะได้คืนมาสมประสงค์ทรัพย์สมบัติของใครหาย ไม่ทราบว่าผู้ใดมาลักขโมยเอไป เจ้าของทรัพย์มีความสงสัยผู้ใด ก็นำบุคคลผู้นั้นมาทำสัตย์สาบานต่อพระพักตร์ของพระเจ้าองค์ตื้อ ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้เอาก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าบุคคลนั้นเอาไปจริง ๆ แต่ปฏิเสธไม่ยอมรับตามความเป็นจริง บุคคลผู้นั้นก็จะได้รับโทษ เช่น เจ็บป่วยหรืออาจถึงแก่ความตายได้

บุคคลผู้ใดไปศึกสงครามได้มาบนบานขอให้พระเจ้าองค์ตื้อคุ้มครอง บุคคลผู้นั้นก็จะปลอดภัยประสพแต่ความสวัสดีมีชัยกลับมา และบุคคลผู้ใดมีความปรารถนาอยากจะให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต นำเครื่องสักการะมาบูชาพระเจ้าองค์ต้อ ขออานุภาพของพระองค์ตื้อคุ้มครอง และบันดาลให้เกิดมีความเจริญรุ่งเรืองในการประกอบอาชีพที่สุจริต บุคคลผู้นั้นก็จักเจริญสมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ

อนึ่ง การเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อไปมาไม่ได้ บางคนก็ให้ญาติพี่น้องไปบูชาแผ่นทองปิดองค์หลวงพ่อใหญ่ หรือพรพุทธรูปจำลอง ตั้งจิตอธิษฐานปิดตรงที่เจ็บปวดนั้น ปรากฏว่าโรคนั้นได้หายไปดังจิตอธิษฐาน

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสังคม

ในอดีตพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์ล้านช้างผู้สร้างพระเจ้าองค์ตื้อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ทรงสถาปนาและทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ มากมาย พุทธศิลป์ในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากล้านนามาก รวมทั้งพระเจ้าองค์ตื้อ พระพุทธรูปทองสำริดขนาดใหญ่ที่วัดองค์ตื้อ นครเวียงจันทน์ และวัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

สิทธิพร ณ นครพนม อธิบายไว้ในเอกสารประกอบการสัมมนาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จังหวัดหนองคายว่า “พระเจ้าองค์ตื้อ” พระพุทธรูปขนาดใหญ่หนัก ๑ ตื้อ (ประมาณ ๑๒,๐๐๐ กิโลกรัม ตื้อเป็นมาตรวัดของคนล้านนา) ศิลปะล้านนา สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๑๐๕ เชื่อกันว่า เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของพระนางยอดคำทิพย์ พระบรมราชชนนีของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทั้งกำหนดเป็นพระราชพิธีที่กษัตริย์เวียงจันทน์ต้องเสด็จมานมัสการ พระเจ้าองค์ตื้อทุกเดือน ๔ เสด็จพร้อมขบวนช้าง ม้า มาสักการะจากวัดท่าคกเรือ อำเภอท่าบ่อถึงวัดพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร ถนนนี้จึงมีชื่อว่า “จรดลสวรรค์” มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๐ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาทินัดดามาศ เสด็จเป็นองค์ประธานยกช่อฟ้าขึ้นสู่วิหารประดิษฐานหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ (ม.ว.ก.) ขึ้นประดิษฐานที่หน้าบรรณของวิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ และได้ทรงมอบพระนามาภิไธยของทั้งสองพระองค์จารึกลงในแผ่นศิลาหินอ่อนไว้ด้านหน้าของตัววิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อด้วย

มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในบริเวณวัด

๑. อุโบสถ สร้างด้วยก่ออิฐโบกปูน ค่าก่อสร้างประมาณ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สิบล้านบาทถ้วน)
๒. วิหารประดิษฐานหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ จำนวน ๑ หลัง ทำลายหน้าบรรณ ติดกระจก พร้อมตาข่ายกันนก สร้างด้วยก่ออิฐโบกปูน ค่าก่อสร้างประมาณ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
(สามสิบล้านบาทถ้วน)
๓. ศาลาการเปรียญ จำนวน ๑ หลัง ๒ ชั้น สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ค่าก่อสร้างประมาณ ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สิบห้าล้านบาทถ้วน)
๔. กุฏิ จำนวน ๗ หลัง ๒ ชั้น สร้างด้วยไม้ ก่ออิฐโบกปูน ค่าก่อสร้างประมาณ ๑๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สิบสามล้านบาทถ้วน)
๕. ศาลาเอนกประสงค์ สร้างด้วยก่ออิฐโบกปูน ค่าก่อสร้างประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท
(ห้าแสนบาทถ้วน)
๖. ศาลากองอำนวยการ สร้างด้วยก่ออิฐโบกปูน ค่าก่อสร้างประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
(หนึ่งล้านบาทถ้วน)
๗. หอพระไตรปิฎก ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุประจำหมู่บ้าน สร้างด้วยก่ออิฐโบกปูน ค่าก่อสร้างประมาณ ๕,๒๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าล้านสองแสนบาทถ้วน)
๘. ศาลาริมน้ำ (ประรำพิธี) สร้างด้วยเหล็ก ๒ ตอน กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร ค่าก่อสร้างประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านบาทถ้วน)๙. ถังน้ำประปา จำนวน ๑ ชุด สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง ๓๐ เมตร บรรจุน้ำได้ ๕๐,๐๐๐ ลิตร มูลค่าการก่อสร้าง ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน) ห้องน้ำ จำนวน ๔ หลัง ๓๐ ห้อง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
มูลค่าการก่อสร้าง ๘๕๓,๐๐๐ บาท (แปดแสนห้าหมื่นสามพันบาทถ้วน)
๙. ซุ้มประตู จำนวน ๑ ซุ้ม สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง ๕ เมตร สูง ๑๒ เมตร มูลค่าการก่อสร้าง ๙๐๐,๐๐๐ บาท (เก้าแสนบาทถ้วน)
๑๐. ป้อมตำรวจ รักษาความปลอดภัยภายในวัด และอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว มีห้องน้ำในตัว มูลค่าก่อสร้าง ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)

ปัจจุบันวัดศรีชมภูองค์ตื้อกำลังพัฒนาถาวรวัตถุดังต่อไปนี้

ตอกเสาเข็ม เทคานยึดหน้าดิน สร้างที่กั้นริมตลิ่งแม่น้ำโมง สร้างระเบียงริมแม่น้ำโมง ก่ออิฐโบกปูน ปูพื้นด้วยกระเบื้อง กว้าง ๓ เมตร ยาว ๓๐๐ เมตร ค่าก่อสร้างประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านบาทถ้วน)

มีประชาชนบำรุงวัด ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ - ๒๐๐,๐๐๐ คน และในวัดธรรมสวนะวันอุโบสถ มีประชาชนมาประกอบศาสนกิจเฉลี่ยนครั้งละ ประมาณ ๓๕๐-๔๐๐ คน

กิจกรรมพิเศษในวันธรรมสวนะและวันสำคัญทางศาสนา

๑ วันมาฆบูชา จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนทั่วไป และครูอาจารย์นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตอำเภอท่าบ่อ ประมาณโรงเรียนละ ๕๐๐ คนไหว้พระบูชาพระรัตนตรัย สมาทานเบญจศีล บรรยายธรรม เวียนเทียนในตอนเย็น
๒ วันเทศกาลนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อประจำปี ระหว่างวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ของทุกปี
๓ วันเทศกาลตรุษสงกรานต์ประจำปี ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน ทุกปี
๔ วันวิสาขบูชา จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนทั่วไป และครูอาจารย์นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตอำเภอท่าบ่อ ประมาณโรงเรียนละ ๕๐๐ คน มีการไหว้พระบูชาพระรัตนตรัย สมาทานเบญจศีล บรรยายธรรม เวียนเทียนในตอนเย็น
๕ วันอาสาฬหบูชา จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนทั่วไป และครูอาจารย์นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตอำเภอท่าบ่อ ประมาณโรงเรียนละ ๕๐๐ คน มีการไหว้พระบูชาพระรัตนตรัย สมาทานเบญจศีล บรรยายธรรม เวียนเทียนในตอนเย็น
๖ วันเข้าพรรษา จัดให้มีการทำบุญตักบาตรรอบวิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ บรรยายธรรม มีประชาชนร่วมทำบุญบำเพ็ญกุศล ประมาณ ๓๐๐ - ๔๐๐ คน
๗ วันออกพรรษา จัดให้มีการทำบุญตักบาตรกลางหมู่บ้าน บรรยายธรรม มีประชาชนร่วมทำบุญบำเพ็ญกุศล ประมาณ ๓๐๐ - ๔๐๐ คน
๘ โครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ๕ ธันวามหาราช ระหว่าง ๔ - ๖ ธันวาคม ทุกปี จัดให้นักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และประชาชนทั่วไป ร่วมบวชชีพราหมณ์ ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกิจกรรมการทำวัตร ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรมบรรยาย ปฏิบัติกรรมฐาน เดินจงกรม นั่งสมาธิ แยกฐานปฏิบัติเป็นกลุ่ม ๆ
๙ วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างวันที่ ๓๑ - ๑ มกราคม ทุกปี จัดให้มีการบำเพ็ญบุญกุศล ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์ ทำบุญตักบาตร ฟังธรรมบรรยาย ประชาชนร่วมงานปีละประมาณ ๕๐,๐๐๐ - ๗๐,๐๐๐ คน

Loading...

 
รูปภาพถ่ายสถานที่ท่องเที่ยวหลวงพ่อพระเจ้าพระองค์ตื้อ

 
หนองคาย/Information of NONGKHAI

  Luang Pho Phar Cho Ong Tue หลวงพ่อพระเจ้าพระองค์ตื้อ
Luang Pho Phra Cho Ong Tue is the largest gold Buddha image of Nong Khai. The image is at Wat Nam
mong. No Clear record exits of when the image was molded but a stone inscription states the image was
built in 1562 by King Chai Chettha. The King and 7 noblemen who close to him employed 500 workers to
mold the image by using a mixture of gold, brass and silver. Legend has it that the god Indra and 108 angels
had to help finish it, consuming 7 years and 7 months at a cost of 8.4 million baht. It is said a person sadness
will disappear with a look at the image. Wat Nam Mong can be reached by taking highway No.211 to km.31
and turning left for 2.2 km. past Tha Bo market.

 
เชิญแนะนำการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ความประทับใจ

เชิญแนะนำการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ความประทับใจ

ชื่อ / Email
ข้อความ
  

หนองคาย แผนที่จังหวัดหนองคาย
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอเมือง


จุดชมวิว
ViewPoint
(หนองคาย)


ภูทอก
Phu Thok
(หนองคาย)
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอท่าบ่อ
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอบึงกาฬ
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอศรีเชียงใหม่
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอสังคม
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอเซกา
แผนที่จังหวัดหนองคาย/map of NONGKHAI
โรงแรมจังหวัดหนองคาย/Hotel of NONGKHAI

 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์