เถ้าฮงไถ่ โรงงานโอ่งมังกร แห่งแรกในราชบุรี

0

คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงามตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาด

โอ่งมังกร สัญลักษณ์โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดราชบุรี ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรืออุตสาหกรรมพื้นบ้านที่คนราชบุรีภาคภูมิใจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในคำขวัญ “เมืองโอ่งมังกร” จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ท่านว่าสมัยก่อนโอ่งที่ใช้กักเก็บน้ำชั้นดี ต้องนำเข้ามาจากประเทศจีนเท่านั้น แต่เนื่องจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สินค้าจากต่างประเทศหลายอย่างไม่สามารถนำเข้าประเทศได้จึงจำเป็นต้องผลิตกันเองและถ้าย้อนอดีต จากคำบอกเล่าของลูกหลาน ทายาทเจ้าของโรงโอ่ง ตั้งแต่ พ.ศ.2476 นายซ่งฮง แซ่เตีย และนายจือเหม็ง แซ่อึ้ง สองสหายที่เคยทำเครื่องปั้นดินเผาที่เมืองป้งโคย ประเทศจีน อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้มาพบแหล่งดิน ที่จ.ราชบุรี และเห็นว่าเป็นดินที่ใช้ในการปั้นโอ่งได้ จึงเป็นที่มาของโรงโอ่ง “เถ้าแซไถ่” และโรงโอ่ง “เถ้าฮงไถ่” ผลิตโอ่งลายมังกรในเวลาต่อมาครับ วันนี้ ดูเอเซีย.คอม จะพาเพื่อนๆไปเที่ยวชมโรงงานที่ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงงานทำโอ่งและงานเครื่องปั้นดินเผาแห่งแรกในจังหวัดราชบุรี และเดินเที่ยวชมผลิตภัณฑ์เชรามิกสวยๆที่มีมากมายเรียกได้ว่าเป็นแสนเป็นล้านชิ้นเลยทีเดียว ที่โรงงาน เถ้าฮงไถ่ เป็นโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาเชรามิกที่เก่าแก่ คู่กับประวัติเครื่องปั้นดินเผาของจังหวัดราชบุรีเลยทีเดียว โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ 2476 นายซ่งฮง แซ่เตีย ได้มาพบแหล่งดินที่จังหวัดราชบุรี จึงได้ชวนพรรคพวกมาตั้งโรงงานผลิตไหน้ำปลา โอ่งน้ำไม่มีลาย กระถางต้นไม้ เป็นโรงงานแรกของราชบุรี และต่อมาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

กว่า 75 ปีแล้วที่ เถ้าฮงไถ่ เกิดขึ้นมาพร้อมกับเรื่องราวของเซรามิกเมืองราชบุรี กิจการสืบทอดมาสู่รุ่นลูก ซึ่งแม้จะเข้าเมืองกรุงไปร่ำเรียนจนจบปริญญาตรี แต่ก็ตัดสินใจกลับมารับช่วงขยับขยายโรงโอ่งจนกลายเป็นที่รู้จัก กระทั่งปัจจุบัน พี่ติ้ว วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งพาชื่อ เถ้าฮงไถ่ เข้าสู่ตลาดของ Modern Ceramics อย่างเต็มตัว

พี่ติ้ว วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ บอกกับเราว่า ในสมัยก่อนนั้น อากง (ปู่) ผมมาเที่ยวราชบุรี เจอดินตามร่องสวนคันนา ก็เอากลับไปทดลองเผาที่เตาของเจ้าสัวฮะลิ้ม อยู่ที่สามเสน กรุงเทพฯ เมื่อเห็นว่าดินใช้ได้เลยชวนเพื่อนมาตั้งรกรากอยู่ที่ราชบุรี เปิดโรงงานผลิตไหจู๋ สำหรับหมักน้ำปลา หมักซีอิ๊ว แล้วก็มีโอ่งเก็บน้ำบ้าง แต่ว่าในสมัยในยังไม่มีลวดลาย”

จากไหน้ำปลาและโอ่งธรรมดาที่ไม่มีลวดลาย ก็เริ่มมีการเพิ่มมูลค่าโดยการทำลวดลายต่างๆ บนโอ่ง ซึ่งมีการสั่งดินขาวจากประเทศจีนมาทำเป็นลวดลาย ซึ่งไม่ได้มีแค่ลายมังกร แต่ยังมีลายดอกไม้ ลายเรือพระที่นั่ง ฯลฯ แต่ว่าที่คุ้นตาผู้บริโภคมากที่สุดอาจเป็นลายมังกร ทำให้คนเรียกโอ่งราชบุรีจนติดปากว่า โอ่งมังกร ซึ่งสมัยนั้นโอ่งมังกรของราชบุรียังถูกลำเลียงลงเรือล่องไปตามแม่น้ำแม่กลองไปขายยังจังหวัดต่างๆ อีกด้วย

เมื่อมาถึงรุ่นที่สอง พ่อและลุง ของ พี่ติ้ว วศินบุรี ก็รับช่วงกิจการโรงงานเซรามิก แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านเซรามิกเลย ขณะที่โรงโอ่งในราชบุรีสมัยนั้นก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีรูปแบบการใช้สอยที่หลากหลายขึ้น อย่างเช่น อ่างบัว กระถางต่างๆ สภาวะการแข่งขันที่สูงมากขึ้น จากหนึ่งโรงงาน กลายเป็น 2, 3, 4, 5 จนถึง 20 กว่าโรง ภายในช่วงเวลา 30 ปีแรก มีการแข่งขันมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะโอ่งล้นตลาด อีกด้านหนึ่งก็มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค มีน้ำประปาที่เปิดจากก๊อกได้ทันที ทั้งยังมีวัสดุอื่นๆ อีก จึงทำให้ความจำเป็นในการใช้โอ่งเก็บน้ำลดลงไป

จากนั้นมา  เถ้าฮงไถ่ จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆขึ้นซึ่งก็ไม่ได้มีเพียงสีน้ำตาลอีกต่อไป ผลิตภัณฑ์ต่างๆเริ่มมีสีสันขึ้นอย่างเช่น สีเขียวไข่กา หรือเขียวใส น้ำเงิน-ขาว เป็นต้น ทำให้สามารถเพิ่มฐานลูกค้าเป็นกลุ่มที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น กลุ่มสถาปนิก โรงแรมและรีสอร์ท ที่เริ่มเข้ามาก่อสร้าง แต่สีสันก็ยังไม่หลากหลายเหมือนอย่างในปัจจุบันซึ่งในปัจจุบันนี้ ผลิตภัณฑ์ของเถ้าฮงไถ่ ก็มีมากมายหลายอย่าง โดยแบ่งเป็นแบบต่าง ๆ ดังนี้

1. เครื่องปั้นดินเผาแบบที่โรงงานต่างๆ ในราชบุรีผลิต
2. เครืองปั้นดินเผาแบบไม่เคลือบดินสีแดงตามรูปแบบของไทย
3. เครื่องปั้นดินเผาแบบกวางตุ้งของจีนซึ่งมีทั้งสีเดียวและหลายสีในชิ้นเดียวกัน
4. เครื่องปั้นดินเผาแบบปังโคย โดยเขียนสีน้ำเงินหรือลายสีใต้เคลือบ
5. เครื่องปั้นดินเผาแบบเมืองกังไส มีทั้งชนิดแตกลายงาและแบบไม่แตกลายงา

เป็นต้น เรียกได้ว่ามีมากมายเต็มโรงงานไปหมดเลยครับ

บรรยากาศในโรงงาน เถ้าฮงไถ่ กว้างขวางและใหญ่โตมากๆ โดยจะแบ่งเป็นแต่ละโซนใหญ่ๆในการทำงานเช่น การปั้นงาน ที่เก็บและพักดินสำหรับปั้น  เตาเผางานซึ่งมีทั้งแบบใช้ฟืนแบบสมัยก่อน และแบบเป็นเครื่องเผาแบบสมัยใหม่คือการใช้ไฟฟ้าในการเผางาน และโรงงานเก็บผลิตภัณฑ์เชรามิกต่างๆมากมายใหญ่โตและกว้างขวางจริงๆเรียกได้ว่ามาเที่ยวที่นี่ต้องอึ้งกับเชรามิกที่มีมากมายเป็นแสนเป็นล้านชิ้นเลยทีเดียวอย่ารอช้าเลยครับเราเข้าโรงงานไปดูเค้าปั้นโอ่งกันดีกว่าครับ เข้าไปในโรงงานเจอพนักงานกำลังทำงานกันอยู่มากมายหลายคน ซึ่งจะแบ่งเป็นแต่ละแผนกกันออกไป เช่น แผนกปั้นงาน แผนกลงสี แผนกเคลือบสีงานเพื่อนำไปเข้าเตาเผา ซึ่งสอบถามแล้วแต่ละคนที่ทำงานในโรงงานแห่งนี้ประสบการณ์นั้นก็ไม่ต่ำกว่า20 ปีเลยทีเดียว ถึงว่าเซียนๆกันทั้งนั้น

ดินที่นำมาใช้ในการปั้นโฮ่งหรือเชรามิกนั้นต้องใช้ ดินสีแดงซึ่งก็เป็นดินจากจังหวัดราชบุรีนี่แหละ เพราะดินแดงที่นี่ถือว่ามีคุณภาพสูงเมื่อนำมาปั้นแล้ว แข็งแกร่งทนทานต่อการใช้งาน ส่วนดินสีขาวหรือเผาแล้วขาวจะเป็นดินที่นำจากต่างจังหวัดเช่น สุราษฎร์ธานี ระนอง ปราจีนบุรี จันทบุรี ระยอง ลำปางและเชียงใหม่

กระบวนการขั้นตอนการผลิตแบ่งเป็น 5 ขั้นตอนคร่าวๆ คือ

1. การเตรียมดิน
2. การขึ้นรูปมี 4 วิธี
     2.1 ใช้วิธีขดขึ้นรูป
2.2 ใช้วิธีแป้นหมุน
2.3 ใช้วิธีอัดแบบ
2.4 ใช้วิธีหล่อแบบ

3. การตบแต่งและเขียนลวดลาย
4. การเคลือบ
5. การเผา

วิธีหรือขั้นตอนในการปั้นคร่าวๆ คือ เริ่มจากการนำดินที่ผสมตามสูตรไว้แล้วจนได้ดินเหนียว นำมาขึ้นรูปก้นโอ่งบนแป้นหมุนก่อนจากนั้นก็ขึ้นรูปตัวโอ่งเป็นชั้น ๆ ตามขนาดและรูปแบบที่กำหนดแล้วเกลี่ยผิวทั้งนอกและในให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วพักไว้หนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นค่อยทำต่อ เกิดคำถามในใจทำไมต้องพักไว้ ทำไมไม่ทำให้เสร็จเลยใช่ไหมล่ะ สอบถามจากช่างปั้นได้รับคำตอบว่าโอ่งที่เพิ่งขึ้นรูปมาครึ่งใบนี้ดินยังเปียกและอ่อนตัวอยู่จึงจำเป็นจะต้องพักให้ดินหนึบตัวมากกว่านี้เพื่อที่จะรับน้ำหนักส่วนบนที่จะทำต่อไปวันรุ่งขึ้นได้ เป็นคำตอบที่อาศัยประสบการณ์ล้วนๆครับ

เมื่อปั้นเสร็จแล้วต้องรอใช้แห้งสนิท จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของช่างวาดลวดลายและเติมสีสันก็ขึ้นอยู่กับว่า ต้องการเขียนลายผลิตภัณฑ์หรือไม่ต้องการ ถ้าไม่ต้องการเขียนลายก็สามารถ นำไปเคลือบและเข้าเตาเผาต่อไปซึ่งขั้นตอนและกรรมวิธีในการทำงานนั้นต้องใช้ประสบการณ์ความชำนาญล้วนๆโอ่งหนึ่งใบต้องผ่านกรรมวิธีในการผลิตตามขั้นตอนต่าง ๆใช้เวลาประมาณ 40-45 วันถึงจะใช้งานได้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกันนะครับ แต่อายุการใช้งานนั้นนานเกือบ 100ปีเลยทีเดียว

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ เถ้าฮงไถ่ คือ
นำเอารูปทรงดั้งเดิมมาประยุกต์ ใช้กับสีสันที่ร่วมสมัยกว่า 600 เฉดสี เป็นการผสมผสานระหว่างอดีตกับปัจจุบัน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของ “เถ้าฮงไถ่” นอกจากนี้ยังมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ออกมาทุกๆ 1-2 เดือน ก็เป็นการสร้างจุดเด่นและเกิดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ส่วนราคาอยู่ที่ขนาดของและสีสัน ความยากง่าย ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 100 บาท ถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว ปัจจุบันโรงงานเถ้าฮงไถ่ ผลิตเครื่องปั้นดินเผาตามแบบที่ลูกค้าสั่ง จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

หากว่าเพื่อนๆคนไหนได้ผ่านไปผ่านมาหรือมาเที่ยวที่จังหวัดราชบุรี ก็อย่าพลาดเลยทีเดียวเซียวที่จะมาแวะดูแวะชมการทำโอ่งหรือเชรามิกที่โรงงาน เถ้าฮงไถ่ โรงงานแห่งนี้เป็นแห่งแรกในการทำโอ่งมังกรและถือว่าเป็นของดีคู่จังหวัดราชบุรีเลยก็ว่าได้ นอกจากจะมาดูกรรมวิธีการทำแล้วที่นี่ยังมีผลิตภัณฑ์เชรามิกสวยๆหลากหลายรูปแบบให้เลือกติดไม้ติดมือไปตกแต่งบ้านหรือใช้สอยได้ เชรามิกของที่นี่ต้องบอกเลยว่ามีคุณภาพเกรดเอแน่นอนและที่สำคัญราคายังเป็นกันเองอีกต่างหาก ดูเอเซีย.คอม ขอการันตีครับผม

โรงงานเครื่องเคลือบดินเผา “เถ้าฮงไถ่” ตั้งอยู่เลขที่ 234/1 หมู่ที่ 2 ถนนเจดีย์หัก ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี โทรศัพท์.+66 32 337574, +66 32 323630  โทรสาร.+66 32 32176103
E-mail : info@thtceramic.com หรือ www.thtceramic.com

เชิญแสดงความคิดเห็น