เรือนผักกูด

0

เรือนผักกูด” อุทยานอาหารผักพื้นบ้าน

แนวปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาสู่แนวคิด “สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการบริโภคพืช ผัก ดอกไม้ธรรมชาติ” โดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นการแบ่งปัน เกื้อกูลชุมชน สังคมและเครือข่าย วันนี้ “กิตติ เจริญพานิช” จึงกลายเป็นโลโก้ของ “เรือนผักกูด” ที่ถูกขนานนามให้เป็น “อุทยานอาหารผักพื้นบ้าน”

จากจุดเริ่มต้นด้วยการหยิบเอาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนโดยเฉพาะพืชผักท้องถิ่นอย่างผักกูดพืชที่มีอยู่ในชุมชนแต่ชาวบ้านไม่เห็นค่ามาปรุงเป็นเมนูอาหารเพื่อจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นยำผักกูด หรือราดหน้าผักกูด ควบคู่กับการให้บริการด้านที่พักสำหรับนักเดินทางบนถนนนครศรีธรรมราช-จันดี สาย 4015 หลักกิโลเมตรที่ 27 ต.ช้างกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช รสชาติจัดจ้านที่ผสมผสานกับแนวคิดได้อย่างลงตัว ทำให้วันนี้ผักกูดกลับมาอยู่ในความสนใจจนชาวบ้านต้องอนุรักษ์ เพราะสามารถขายได้ราคากลายเป็นผักที่มีมูลค่า

เช่นเดียวกับเห็ดแครง เห็ดที่มีเฉพาะภาคใต้ ขึ้นอยู่ที่บริเวณไม้ยางที่มีความชื้น เป็นเห็ดที่แทบไร้ค่าไม่มีราคา แต่ปัจจุบันชาวบ้านหันมาเก็บขายราคากิโลกรัมละหลายร้อยบาท หลังจากนำมาดัดแปลงเป็นอาหารจานเด็ดอย่างคั่วกลิ้งเห็ดแครง ยังไม่รวมหัวปลีที่นำมาปรุงได้หลากหลายทั้งลาบหยวก แหนมหัวปลี หรือไข่เจียวหัวปลี จึงทำให้เรือนผักกูดแห่งนี้ถูกขนานนามให้เป็น อุทยานอาหารผักพื้นบ้าน เพราะนอกจากมีเมนูที่ปรุงแต่งด้วยผักพื้นที่มากกว่า 100 เมนูแล้ว ยังเป็นเครือข่ายพืช ผักพื้นบ้านที่มีเกษตรกรชาวบ้านเข้าร่วมจนทำให้การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมา และกลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ การพึ่งพาตนเอง การพัฒนา การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

เน้นการลงทุนน้อย แต่สร้างความแปลกและแตกต่าง โดยการพึ่งพาตนเองมากที่สุด นอกจากอาหารเมนูสุขภาพแสนอร่อยและพืชผักปลอดสารพิษแล้ว ในส่วนของที่พักยังยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเคร่งครัด โดยนำวัสดุสิ่งก่อสร้าง ที่ปลดระวางแล้ว มาปรับปรุง ให้ใช้ประโยชน์ได้ อย่างการใช้ซีเมนบล็อกทำจากขวดแก้ว หลายชนิด และหลายขนาด เช่น ขวดน้ำอัดลม ขวดเบียร์ ขวดยา ขวดน้ำปลา นำมาหล่อไว้ในซีเมนต์บล็อก เพื่อประหยัดวัสดุที่ต้องจัดซื้อมา คือ ปูนซีเมนต์ ทราย หิน และสามารถลดน้ำหนักของบล็อกและเพิ่มความแข็งแรงแทนเหล็กได้ รับน้ำหนักได้ค่อนข้างมาก ส่วนกิ่งไม้และเศษไม้ที่เหลือจากก่อสร้างนำมาเผาถ่าน เพื่อใช้ในการหุงต้ม

น้ำใช้ ไม่ต้องขุดบ่อและปั๊มน้ำ โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านต่อท่อมาจากลำห้วยที่อยู่สูงกว่า ขณะที่น้ำยาทำความสะอาด นำเอาเปลือกมะนาวหลังจากที่คั้นเอาน้ำไปปรุงอาหารแล้ว มาทำเป็นน้ำยาล้างจาน ล้างห้องน้ำ ล้างมือ ล้างรถ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และผู้ใช้ เปลือกมะนาวหลังจากขั้นตอนนี้แล้วก็จะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักแห้งต่อไป

ขณะที่ขยะเปียกจากการเตรียมอาหารและอาหารที่เหลือจากโต๊ะอาหารตลอดจนไม้จิ้มฟัน กระดาษเช็ดปาก นำไปเทรวมกันในบ่อซีเมนต์ ซึ่งเป็นบ่อที่ตั้งอยู่เหนือพื้นดินแล้วกลบด้วยใบไม้ ทับอีกชั้น อีกไม่กี่วัน ตัวหนอนก็จะย่อยเศษอาหารหมด กลิ่นเน่าเหม็นก็จะหายไป จากนั้นนำส่วนที่เหลือไปเป็นปุ๋ยหรือวัสดุปลูกต้นไม้ได้ และงดการใช้ย่าฆ่าหญ้า โดยสิ้นเชิง โดยหันมาใช้แรงงานคน ในการกำจัดวัชพืชแทน

สอบถามเพิ่มเติมที่ 081-124 3214 

เชิญแสดงความคิดเห็น