เที่ยวหมู่บ้านญี่ปุ่น ที่เมืองอโยธยา

0

ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่น มีกันมาแต่ช้านานหลายร้อยปี วันนี้ดูเอเซียจะพาท่านมาเยี่ยมชมสถานที่ที่ชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรกๆ ได้อพยพหนีภัยทางการเมือง และหนีภัยจากการถูกกีดกันการนับถือศาสนา รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้า ที่ได้มาตั้งรกราก-ถิ่นฐานในประเทศไทย มาดูกันครับ ว่าคนกลุ่มนี้เริ่มแรกเข้ามากันยังไง และหมู่บ้านญี่ปุ่นที่ว่านี้มีอะไรให้เราได้ชมันบ้างโดยตามการบันทึก ได้เล่าเรื่องราวของคนญี่ปุ่นกลุ่มนี้ไว้ว่า..

ชาวญี่ปุ่น ได้ติดต่อค้าขายกับสยามมาก่อนหน้าการเสีย กรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๑ โดยผ่านตัวแทนการค้าคือ อาณาจักรริวกิวที่ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะโอกินาวา แต่การที่ ชาวญี่ปุ่น เข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นหลังจากนั้น โดยน่าจะมีชุมชนเล็ก ๆ ของพ่าค้าเรือสำเภา ชาวญี่ปุ่น ตั้งคลังรวบรวมสินค้าในช่วงปลายรัชสมัยของพระมหาธรรมราชา หรือในรัชสมัยของพระนเรศวรมหาราช และค่อย ๆ พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการค้าขายเพิ่มมากขึ้น ตามหลักฐานว่าก่อนที่ญี่ปุ่นจะมีปัญหาทางการเมืองและมีการปิด ประเทศญี่ปุ่น ใน พ.ศ. ๒๑๗๖ มีเรือสำเภาญี่ปุ่นมาค้าขายกับอยุธยา ๕๖ ลำ เฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละ ๒ ลำ ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีชาวญี่ปุ่นอพยพมาสู่กรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก ในจำนวนผู้อพยพเหล่านี้มีทั้งกลุ่มโรนินหรือนักรบที่เจ้านายหมดอำนาจลง และ กลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่ถูกกีดกันทางศาสนา

ชุมชนชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ของเกาะเมือง ฝั่งตรงข้ามคือชุมชนโปรตุเกส ส่วนที่ติดกับชุมชนชาวญี่ปุ่นด้านเหนือมีคลองเล็กๆ คั่นและต่อไปเป็นบริเวณของชุมชนอังกฤษและฮอลันดา

พื้นที่ของหมู่บ้านญี่ปุ่นมีความยาวตามแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ ๑ กิโลเมตร และลึกเข้าไปในชายฝั่งประมาณครึ่งกิโลเมตร มีคลองล้อมรอบ ๓ ด้าน มีบันทึกล่าว่าเป็นชุมชนที่บ้านเรือนปลูกเรียงรายอย่างมีระเบียบ และประชากรอยู่กันจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการค้าเฟื่องฟู จะมีผู้คนอยู่ในชุมชนแห่งนี้ราว ๑,๐๐๐ – ๑,๕๐๐ คน มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งทำงานให้กับราชสำนักอยุธยา นำโดย ออกญาเสนาภิมุขหรือยามาดา นางามาซะ เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าปราสาททองให้เป็น เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

ในด้านการค้าขายนั้น สินค้าที่พ่อค้าสำเภาญี่ปุ่นซื้อจากไทยได้แก่ ไม้ฝาง สินค้าของป่า เช่น ไม้กฤษณา หนังกวาง หนังปลาฉลาม หนังวัว เป็นต้น ส่วนสินค้าที่กรุงศรีอยุธยาซื้อจากญี่ปุ่นได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากทองแดง ขวดยา หม้อ ตะเกียง กระดาษ รวมทั้งอาหารแห้งสำหรับชนชั้นสูง หูปลาฉลาม ปลาแห้ง สาหร่าย เกาลัด เหล้า และใบชา

เนื่องจาก ชาวญ่ปุ่น ส่วนหนึ่งเข้ามาทำงานและมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงศรีอยุธยามีการเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินคราวใดก็มักจะส่งผลกระทบต่อสถานภาพของ ชาวญี่ปุ่น ที่พำนักอยู่ใน หมู่บ้านญี่ปุ่น เสมอ หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททองซึ่งมีการกวาดล้างทำลายหมู่บ้านญี่ปุ่นลงแล้ว แม้จะมีการฟื้นฟูชุมชนญี่ปุนขึ้นมาอีกครั้งแต่คงจะมีประชากรลดน้อยลงเรื่อย ๆ

เข้ามาภายในหมู่บ้าน อาคารแรกทางซ้ายมือคือ อาคาร Annex building เป็นอาคารผนวก  ซึงบริเวณ อาคาร Annex building แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 9 ส่วน

  1. ส่วนของห้องวีดิทัศน์ นำเสนอภาพรวมของพระนครศรีอยุธยา โดยอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ทั้งไทยและญี่ปุ่น
  2. แผนที่เดินเรือมายังกรุงศรีอยุธยา นำเสนอเส้นทางเดินเรือสันนิษฐานจากทางวีกโลกตะวันออก และซีกโลกตะวันตก รวมทั้งทางใต้แถบมลายูที่มีหลักฐานการติดต่อกันในสมัยอยุธยา
  3. นำเสนอให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของพระนครศรีอยุธยา จากอดีตสู่ปัจจุบันผ่านแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ
    – แผนที่ Iudea แผนที่นี้วาดขึ้นในช่วงที่สถานที่สำคัญต่างๆ ยังอยู่ครบสมบูรณ์ เป็นแผนที่ที่แสดงทัศนียภาพของกรุงศรีอยุธยาที่งดงามที่สุด
    – แผนที่จากหนังสือของ เดอ ลาลูแบร์ ให้ภาพกรุงศรีอยุธยาและชุมชนต่างๆ ในสมัยพระนารายณ์ ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยชนชาติที่หลากหลาย
    – ภาพถ่ายทางอากาศเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน (พ.ศ. 2549)
  4. จัดแสดง – จำลองใต้ท้องเรือขนสินค้านำเข้าและส่งออกในสมัยอยุธยา เช่น ไม้กฤษณา หนังกวาง หนังปลาฉลาม หนังวัวหนังกระเบน และดินปืน เป็นต้น
  5. ชุมชนชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยา ให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตการเข้ามาในอยุธยา ศาสนา และเกร็ดอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยชนชาตินั้นๆ ได้แก่ ลาว มอญ เขมร/ขอม เวียดนาม พม่า แขก จีน ญี่ปุ่น คนชายขอบ รวมทั้งชนชาติทางตะวันตก ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ โปรตุเกส และฮอลันดา นี่เป็นภาพสะท้อนของการต้อนรับความหลากหลายทางเชื้อชาติโดยไม่มีการกีดกันของผู้ปกครองอยุธยา
  6. ชุมชนชาวญี่ปุ่นในพระนครศรีอยุธยา นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเข้ามาของคนญี่ปุ่นในอยุธยา ชุมชนญี่ปุ่น วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาชีพ ศาสนา รวมทั้งการลดจำนวนของชาวญี่ปุ่น ซึ่งสืบเนื่องจากการปิดประเทศญี่ปุ่น ในรูปแบบของ annimation
  7. ลำดับเหตุการณ์ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น แสดงด้วยตารางลำดับเหตุการณ์เปรียบเทียบเหตุการณ์โลก ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น ตั้งแต่ พ.ศ.1893 คราวตั้งอาณาจักรอยุธยาถึงปัจจุบัน
  8. ห้อง e-book ให้บริการฐานข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ รายชื่อเอกสาร สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยอยุธยา และหนังสือส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับพระนครศรีอยุธยา
  9. เรือโบราณจำลอง จัดแสดงแบบจำลองเรือโบราณที่มีหลักฐานว่าเข้ามาติดต่อกับพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ เรือสำเภาจีน เรือสำเภาญี่ปุ่น เรือกำปั่นฮอลันดา เรือกำปั่นโปรตุเกส เรือกำปั่นมากัสซา รวมทั้งเรือสำเภาไทย

สวนและศาลาญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในโครงการพิเศษของสมาคมไทย – ญี่ปุ่น ที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา และเป็นที่ระลึกในวาระครบ 120 ปี ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ของหมู่บ้านญี่ปุ่น ให้สวยงามร่มรื่น เป็นที่ผ่อนคลายสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่มชม

สวนญี่ปุ่นแห่งนี้ออกแบบโดยนักออกแบบสวนชาวญี่ปุ่นชื่อ นายฮิโรฮิสะ นาคาจิมา บริษัท โซโก้ เทเอ็น เคนคิวจิทสึ ประเทศญี่ปุ่น ผู้มีชื่อเสียงและมีผลงานระดับนานาชาติ รูปแบบสวนเน้นความเป็นสวนญี่ปุ่นแท้ที่ดูสง่างาม สงบ เยือกเย็น มีองค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ ศาลาญี่ปุ่น สำหรับนั่งชมทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยา สวนญี่ปุ่นแห่งนี้สะท้อนให้เห็นทัศนียภาพของแม่น้ำและทะเลของประเทศญี่ปุ่น ช่วยให้ผู้มาเยี่ยมได้รู้จักวัฒนธรรมญี่ปุ่น ทั้งยังแสดงถึงความปรารถนาให้โลกมีสันติสุข

ด้านในสุดถัดจากสวนญี่ปุ่นไปทางขาวติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอาคารขายของที่ระลึก มีการแสดงรูปเหตุการณ์สำคัญภายในหมู่บ้าน และมีการจัดนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวเล็กๆอยู่มุมหนึ่งในอาคาร

การเดินทางมาสู่หมู่บ้านญี่ปุ่น

จากกรุงเทพฯ เลี้ยวซ้ายเข้าอยุธยาจะเจอวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม ให้เลี้ยวซ้ายทางไปอำเภอบางปะอินผ่านวัดใหญ่ชัยมงคล ระยะทางประมาณ 2.5 ก.ม. ครับ

ขอบคุณภาพ www.sanook.com

เชิญแสดงความคิดเห็น