วัดภุมรินทร์กุฎีทอง

0

เจอกันอีกแล้วนะครับเพื่อนๆวันนี้ ดูเอเซีย.คอมขออาสาพาเพื่อนๆไปเที่ยวที่ วัดภุมรินทร์กุฎีทอง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ปากคลองประชาชมชื่นฝั่งตะวันตก ตรงข้ามอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยานร.2) ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม วัดแห่งนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากคือ เป็นวัดที่มีกุฎี ที่มีอายุกว่าสองศตวรรษ เป็นเรือนไม้สักทองขนาดใหญ่ ปิดลวดลายทองสวยงามจึงเรียกกันว่า กุฎีทอง  กุฎีทองหลังนี้เป็นกุฎีที่สมเด็จพระชนกของสมเด็จพระอมรินทร์ทรามาตย์ พระมเหสีในรัชกาลที่ 1 สร้างถวายวัดบางนาลี่น้อยไว้ ซึ่งเป็นหลังสุดท้ายที่หลงเหลือในปัจจุบัน

วัดภุมรินทร์กุฎีทองเดิมมีชื่อว่าวัดภุมรินทร์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2431 แต่เดิมมีวัดบางลี่ตั้งอยู่ใกล้กันสองวัด วัดหนึ่งอยู่ริมฝั่งน้ำตอนเหนือ เมื่อล่องเรือไปตามลำน้ำแม่กลองจะถึงวัดนี้ก่อน เรียกว่า วัดบางลี่บน อีกวัดหนึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำ เรียกว่า วัดบางลี่ล่าง ต่อมาวัดบางลี่ล่างเจริญรุ่งเรืองจึงเรียกว่า วัดบางลี่ใหญ่ ส่วนวัดบางลี่บน ซึ่งตั้งอยู่บนหัวคุ้งข้อศอกถูกน้ำแทงกระแสน้ำจึงพัดเซาะตลิ่งพังลงน้ำไปเรื่อยๆ ที่ดินบริเวณวัดเหลือน้อยลง กุฎี วิหาร ทรุดโทรม คนเรียกวัดบางลี่บนว่า วัดบางลี่น้อย วัดภุมรินทร์อยู่ติดกับวัดบางลี่น้อยโดยอยู่ลึกเข้ามาทางด้านใน ในขณะที่วัดบางลี่น้อยอยู่ติดริมน้ำ

เวลาต่อมาวัดบางลี่น้อยถูกกระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งพังลงเรื่อยๆ พระอธิการเกีย เจ้าอาวาสวัดภุมรินทร์จึงรื้อย้ายกุฎีวัดบางลี่มาสร้างที่วัดภุมรินทร์โดยเพิ่มช่อฟ้าใบระกาใหม่ทั้งหลัง เพื่อใช้เป็นที่สวดมนต์เมื่อวัดบางลี่ถูกกระแสน้ำกัดเซาะพังทลายหายไปวัดภุมรินทร์จึงอยู่ปากคลองบางลี่แทนด้วยเหตุที่เป็น วัดที่ได้นำกุฎีทองของวัดบางลี่น้อยมาสร้างรวมไว้ วัดภุมรินทร์ จึงได้มีชื่อเรียกในเวลาต่อมาว่า วัดภุมรินทร์กุฎีทองหากนับอายุแล้วกุฎีทองมีอายุกว่าสองศตวรรษ มากกว่าอายุของวัดภุมรินทร์เสียอีก

กุฎีทองเป็นอาคารไม้สักทรงไทยฝาปะกนขนาด 5 ห้อง กว้าง 6.10 เมตร ยาว 11.85 เมตร หลังคามุงกระเบื้องดินเผาแบบมอญและมีหลังคาปีกนกคลุมตลอดทั้งหลัง ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันแกะสลักเป็นลายก้านขดลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกสี ด้านหน้ามีระเบียงยาวโดยตลอดและมีบันไดขึ้นลงอยู่ตรงกลางระเบียงด้านหน้า ฝาผนังทั้งภายนอกและภายในตกแต่งด้วยลายรดน้ำปิดทองตลอดทั้งหลัง รวมทั้งหน้าต่าง เสา เพดานและแป

นอกจากนี้ที่หน้าต่างด้านนอกเป็นภาพทวารบาลแต่มีสภาพทรุดโทรมลบเลือนไปเกือบหมด ด้านในของฝาสกัดส่วนหน้ามีภาพจิตรกรรมเขียนสีเป็นเรื่อง ธุดงควัตร13 และอสุภะ10 ของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่นิยมเขียนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประตูห้องด้านในมีลายรดน้ำปิดทองเรื่องรามเกียรติ์ ลักษณะฝีมือช่างอยู่ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

ประวัติของกุฎีทองหลังนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเดี๋ยวจะเล่าคร่าวๆให้ฟังเรื่องมีอยู่ว่าเศรษฐีทองหรือเศรษฐีบางช้างในแม่กลองเป็นผู้สร้างกุฎีทองถวายสามหลังตามที่ได้ให้สัญญากับหลวงพ่อปลัดทิม เจ้าอาวาสวัดบางลี่บน ที่เก่งทางด้านนั่งทางในซึ่งได้ทำนายเอาไว้ว่าธิดารูปงามของท่านเศรษฐีมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ในภายภาคหน้าจะได้เป็นถึงนางพญามหากษัตริย์ เมื่อครั้งที่เศรษฐีทองเดินทางไปพบท่านเพื่อขอฤกษ์วิวาห์ให้กับนางนากธิดาของตนกับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี(นายทองด้วง)บุตรชายหลวงพินิจอักษร (นายทองดี)

ในกาลต่อมานายทองด้วงซึ่งมีรูปงามและสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภริยาของนายทองด้วงจึงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีอมรินทรามาตย์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการออกพระนามสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 1-4 เสียใหม่ พระองค์ท่านจึงได้รับพระนามว่า สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี นั่นคือ ความทรงจำกว่าสองศตวรรษที่เป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงพระราชประวัติในปฐมกษัตริย์และพระราชินีแห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งยังความภาคภูมิใจให้แก่พสกนิกรชาวอัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ภายในวัดนอกจากจะมีกุฎีทองให้ชมแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือ เครื่องใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งดำรงพระยศเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ได้แก่ ตราประจำตำแหน่งสำหรับประทับในพระราชสาส์นทำด้วยงาช้าง และตู้เก็บพระราชสาส์นสำคัญทำด้วยไม้สัก ทั้งสองชิ้นนี้ลูกหลานในตระกูลเป็นผู้นำมาถวายเจ้าอาวาสองค์ก่อนเพื่อเป็นสมบัติของวัดให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยต่าง ๆอายุกว่า 300 ปี เช่นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัยชื่อ พระพุทธรัตนมงคลหรือหลวงพ่อโต และ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประดิษฐาน  หนังสือไทยโบราณ โถลายเทพนมและโถลายคราม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องทองเหลือง รวมทั้งเครื่องใช้สอยสมัยโบราณจำนวนมากมายหลายอย่างจริงๆ ขณะนี้กรมศิลปากรกำลังดำเนินการจัดหมวดหมู่ พร้อมทั้งทำประวัติความเป็นมาของโบราณวัตถุแต่ละชิ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เข้าชมและศึกษา ภายในวัดยังมีอุโบสถซึ่งประดิษฐานพระศักดิ์สิทธิ์และรอยพระพุทธบาทจำลองอายุกว่า 200 ปี และบ้านดนตรี ไทย ซึ่งใช้อาคารโรงเรียนภายในวัดภุมรินทร์กุฎีทองเป็น ที่สอนดนตรีไทยและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน และการเชิดหุ่นกระบอกเพื่อฟื้นฟูส่งเสริมมรดก วัฒนธรรมท้องถิ่นของชุ่มชนตำบลสวนหลวงและในจังหวัดอีกด้วย

ทางวัดยังจัดให้มีพระเจ้าหน้าที่ คอยดูแลอธิบายประวัติและที่มาความสำคัญของโบราณสถานภายในวัด โดยจะแบ่งรับหน้าที่รับผิดชอบด้วยกันอยู่สามโซนคือ 1 พระพิชัย อริยวํโส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดภุมรินทร์กุฎีทอง  พระเจ้าหน้าที่ดูแลกุฎีทอง 2 พระบุญผึ่ง ปริปุญฺโญพระเจ้าหน้าที่ดูแลอุโบสถ และ 3 พระเนรมิต อาภาธโร พระเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะประจำอยู่ในแต่ละโซน นักท่องเที่ยวคนไหนอยากถามประวัติและความเป็นมาของโบราณสถานก็สามารถที่จะถามพระเจ้าหน้าที่ได้ซึ่งก็จะได้ข้อมูลที่ชัดเจนเลยทีเดียว 

หากเพื่อนๆคนไหนได้มีโอกาสมาเที่ยวที่ตลาดน้ำอัมพวาแล้วล่ะก็อย่าลืมนะครับที่จะมาเที่ยวที่วัดภุมรินทร์กุฎีทองแห่งนี้นอกจากจะได้มาสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดแล้วยังได้มาชมโบราณสถานที่ถือว่าหาดูหาชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน เช่น กุฎีทอง ที่มีอายุกว่าสองศตวรรษ และพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุล้ำค่าสมควรแก่การศึกษาและอนุรักษ์สอบถามรายละเอียดได้ที่พระปลัดถาวรปิยธโร โทร. 0-3475-1085, 0-3475-1492

บริเวณใกล้วัดยังมีบริการจุดลงเรือของศูนย์ท่องเที่ยวทางน้ำ จ.สมุทรสงคราม สามารถติดต่อล่องเรือตามโปรแกรมต่าง ๆ ได้แก่ ล่องเรือตามรอยเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ 5 ล่องเรือเที่ยวตลาดน้ำ ให้อาหารลิง ชมฟาร์มหอยแครงหรือพักโฮมสเตย์ ติดต่อประธาน อบต.สวนหลวง โทร. 0-3475-1023 

การเดินทางมาวัดภุมรินทร์กุฎีทอง

ทางรถยนต์ –จากตัวเมืองสมุทรสงคราม ไปตามทางหลวงหมายเลข 35 (แม่กลอง-อัมพวา) ประมาณ 5 กม. เลยวัดบางกะพ้อม(ยังไม่ถึงทางเข้าตลาดอัมพวา)ให้สังเกตทางแยกซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานพระศรีสุริเยนทร์ตรงไปถึงทางแยกเลี้ยวขวา ตรงไปข้ามสะพานวัดอยู่ขวามือ

รถประจำทาง –จากตัวเมืองสมุทรสงคราม นั่งรถโดยสารสองแถวสายแม่กลอง-วัดปราโมทย์,สายแม่กลอง-วัดแก้วเจริญ,สายแม่กลอง-วัดสาธุ, สายแม่กลอง-วัดแว่นจันทร์ คิวรถอยู่บริเวณธนาคารนครหลวงไทย สาขาสมุทรสงครามรถวิ่งผ่านวัด

ขอบคุณภาพ วัดภุมรินทร์กุฎีทอง

เชิญแสดงความคิดเห็น