สักการะขอพรรัชกาลที่ 6 ณ วังพญาไทให้รอบรู้สติปัญญาดี

0

ดูเอเซียดอทคอม พาเพื่อนๆ ตระเวนทั่วกรุงฯ เพื่อกราบสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นสิริมงคลในปีใหม่ ที่จะถึงนี้ .. การเริ่มต้นที่ดี คือ การทำสิ่งที่ดี… เพราะความดี คือสิ่งที่พระพุทธศาสนาหมั่นสอนคนไทยอยู่เสมอ ให้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม สัจธรรมของโลก เพราะคนไทยโชคดีมีศาสนา มีวัดเป็นที่พึ่ง ทำให้เรามีแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจกันมาเท่าจวบจนทุกวันนี้ รวมไปถึงพ่อหลวงของคนไทย กษัตริย์ของแผ่นดินทั้ง 9 พระองค์ ผู้ซึ่งเป็นพ่อแห่งแผ่นดินไทยในยุคเก่าก่อน และแม้ว่าจะมีเพียงแค่อนุสรณ์สถาน หรือพระบรมราชานุสาวรีย์ให้เราได้กราบไหว้ แต่ท่านคือบุคคลสำคัญที่ประวัติศาตร์จารึกจริยวัตของพ่อแห่งแผ่นดินไทย กบความเสียสละทั้งชีวิต เพื่อแผ่นคนไทย ดินไทยที่เติบใหญ่ ในระบอบประชาธิปไตยที่คนไทยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียม

สถานที่กราบไหว้สักการะกษัตริย์ทั้ง 9 พระองค์นั้นมีอยู่หลายแห่งนัก คราวนี้ เราพาเพื่อนๆ ไปสักการะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ณ วังพญาไท อีกหนึ่งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และเพื่อสักการะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์มีพระปรีชาญาณด้านการศึกษา จึงเชื่อว่า การสักการะขอพรจากพระองค์ท่าน เพื่อให้มีความรอบรู้ สติปัญญาดี ในศิลปะวิทยาการและวรรณกรรม เมื่อเราเข้าสู่พระราชวังพญาไทย ณ บริเวณด้านหน้าของพระราชวังพญาไท เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตั้งเด่นเป็นสง่า “สักการะด้วยดอกไม่ หรือพวงมาลัย พร้อมธูป 3 ดอก และเทียน 2 เล่ม”

ความเป็นมาของวังพญาไทกัน

วังพญาไท แต่แรกเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เสด็จทอดพระเนตรการทำนา การปลูกผักและการเลี้ยงสัตว์ วังนี้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักเป็นที่ประทับ รวมถึงส่วนพื้นที่ด้านตรงข้ามกับพระตำหนัก โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ทำนา รวมทั้ง โรงนา ขึ้นเพื่อประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญหลายครั้ง ณ วังพญาไท แต่เมื่อหลังจากมีการขึ้นเรือนใหม่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็สวรรคต

และในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทูลเชิญสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชมารดา มาประทับที่พระราชวังแห่งนี้ด้วย จนกระทั่งสวรรคตเมื่อปี 2463 หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงรื้อพระตำหนักพญาไท เหลือไว้เพียง พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งใหม่หลายพระองค์ด้วยกัน รวมทั้งได้รับการสถาปนาวังเป็น พระราชวังพญาไท โดยพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 6 เสด็จมาประทับที่พระราชวังนี้เป็นประจำ และเริ่มมีพระอาการประชวรในปี 2468 จนเดือนสุดท้ายแห่งรัชกาลจึงเสด็จฯ จากพระราชวังพญาไทไปประทับในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งสวรรคต

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ของพระราชวังพญาไทในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้แก่ ดุสิตธานี หรือเมืองประชาธิปไตยย่อส่วน ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นเมืองจำลองขึ้นเพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งปัจจุบันไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว

ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระราชวังพญาไทได้ใช้เป็นโรงแรมชั้นหนึ่งนามว่า “โฮเต็ลพญาไท” เช่าใช้พื้นที่โดยกรมรถไฟหลวง ยังคงเห็นร่องรอยของการเป็นโรงแรมได้จากหมายเลขห้องพักเหนือบานประตู และในระหว่างนั้นได้มีการใช้พระราชวังพญาไทเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของไทย ออกอากาศเมื่อปี 2473 การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อคณะราษฎร์ได้เปลี่ยนพระราชวังพญาไทเพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลทหาร ต่อมาจึงได้ใช้พื้นที่ของพระราชวังแห่งนี้เป็นสถานพยาบาลของกองทัพบก และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าจนปัจจุบัน

นอกจากนี้ พระราชวังพญาไทยังเคยเป็นสถานที่จัดงานสำคัญหลายวาระ เช่น งานฉลองพระชนมายุ 6 รอบ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540, การจัดแสดงดนตรีของวง อ.ส.วันศุกร์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นการแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 การแข่งขันรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์อัจฉริยะข้ามคืน ล้านที่ 35 รวมทั้งการจัดการแสดงดนตรีต่างๆ เช่น ดนตรีคลาสสิก และดนตรีไทย เป็นต้น นอกจากนี้ ภายในวังพญาไทยังมีความงดงาม และสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย

วันและเวลาเข้าชม :

เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.

โดยจะมีวิทยากรน่าชมวันละ 2 รอบ คือเวลา 09.30 น. และ 13.00 น.

ติดต่อที่ชมรมคนรักวัง โทรศัพท์ 0-2354-7987, 0-2374-7732 ต่อ 93646, 93694

การเดินทาง

ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หนทางที่สะดวกคือ การขึ้นรถไฟฟ้า BTS ลงที่สถานีอนุสาวรีย์ฯ แล้วเดินอีกนิดไป ตามถนนราชวิถีจะพบกับ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

เชิญแสดงความคิดเห็น