หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี

0

ทริปนี้ดูเอเซียจะเพื่อนๆ ไปเยี่ยมชม  พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษาวิถีชีวิตชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวไทยวนที่อยู่ในภาคกลาง ที่รวบรวมเรือนไม้ทรงไทยโบราณอายุประมาณ 80 – 100 ปี และเรือลุ่มน้ำป่าสัก โดยอาจารย์ทรงชัย วรรณกูล ซึ่งเป็นเจ้าของเรือนและพื้นที่ตั้งปณิธานในการอนุรักษ์ไว้เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทยวนและต้องการให้เป็นศูนย์ศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทยล้านนาแก่คนในบริเวณภาคกลาง ซึ่งเพิ่งจะประสบเหตุอุทกภัยเมื่อเดินตุลาคมที่ผ่านมา และส่วนหนึ่งก็ได้มีการฟื้นฟูไปแล้วครับ

bigthaiyaun (24)

เป็นเวลานานกว่า 50 ปีที่อาจารย์ทรงชัยได้สะสมทั้งวัตถุ เรือน ความรู้และภูมิปัญญาทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมไทยวนไว้ และได้ถ่ายทอดสู่ลูกหลานชุมชนไทยวนในเสาไห้และชาวจังหวัดสระบุรี และได้รับการเผยแพร่ไปสู่สถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ตลอดถึงนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยอาจารย์ได้ใช้กำลังกายและความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน และองค์ความรู้สถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน โดยมีการจัดการตามวิถีทางเฉพาะตัวที่ไม่อิงหลักวิชาการ แต่เป็นการสะสมความรู้ด้วยตนเองและถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมของการจัดแสดงวัตถุที่ปราศจากการแสดงข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์และความรู้เพื่อการสื่อสารหรือประจักษ์ได้ตามลักษณะพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์ศึกษาที่จัดแสดงและสร้างสื่อและฐานข้อมูลเพื่อการเรียนรู้และเข้าถึงได้ด้วยตัวนักท่องเที่ยว

thaiyaun

ไทยวน (อ่านว่า ไท-ยวน) หมายถึง คนเมืองไทยเหนือ หรือไทยล้านนา นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทกลุ่มหนึ่งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน ในอดีต คนล้านนามีคำเรียกตนเองที่หลากหลาย เช่น ยวน ไต หรือไท เพื่อแยกตัวให้ต่างจากชาวใต้ (หมายถึงชาวสยาม) แม้ในปัจจุบัน ชาวล้านนาจะกลายเป็นพลเมืองของประเทศไทยไปแล้วก็ตาม แต่ยังคงคงเรียกตัวเองว่า “คนเมือง” เพื่อให้สอดคล้องกับอักษรและภาษาล้านนาที่เรียกกันว่า “คำเมือง” ซึ่งสิ่งดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของคนล้านนา นั่นเอง

thaiyaun (2)

หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี และพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน ลุ่มน้ำป่าสัก เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนชาวยวน (โยนก ชาวเหนือล้านนา) ที่อพยพมาจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย  ซึ่งมีประชากรทั้งหมดมากกว่า 100,000 คน 

สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีหมู่เรือนไทยโบราณกว่า 14 หลัง เป็นสถานที่อบรม ให้ความรู้แก่เด็ก และ เยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อที่จะสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยวนต่อไปในอนาคต เป็นสถานที่แลกเปลี่ยน ความรู้ ความคิดทางด้านวัฒนธรรม ของนักศึกษา นักวิชาการ และผู้สนใจโดยทั่วไป เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ถือได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของคนไทยในยุคปัจจุบัน

thaiyaun (6)thaiyaun (5) thaiyaun (7)

ก่อนที่จะถูกน้ำท่วมล่าสุด จนมิดหลังคา เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หอวัฒนธรรมแห่งนี้ได้เก็บผ้าโบราณสายยวนโยนก หรือไทยวนเก็บอยู่จำนวนมาก บางผืนอายุเป็นร้อยปี และยังมีข้าวของเครื่องใช้ของชาวยวนโยนก ที่ใช้ในวิถีชีวิตแบบโบราณ จัดเป็นนิทรรศการภายในหอวัฒนธรรม  ส่วนพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน ลุ่มน้ำป่าสัก ก็มัเรือโบราณทั้งหมด 25 ลำ เป็นเรือที่ใช้ในลุ่มน้ำป่าสักในสมัยก่อน บางลำมีอายุเป็นร้อยปีเช่นกัน

 

อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ผู้ก่อตั้ง เริ่มสะสมสิ่งของพื้นบ้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือนไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 อาทิ เรือนของเจ้าเมืองสระบุรี เรือนของเสือคง โจรเลื่องชื่อในอดีตในจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังมีผ้าทอโบราณอีกหลายร้อยผืน ที่อาจารย์ภาคภูมิใจ “ถ้าไม่ได้เก็บของพวกนี้ ปัจจุบันก็สูญหายหมด ไม่มีตัวอย่างให้เห็น” และบริเวณท่าน้ำหน้าบ้านยังเป็นที่เก็บและจัดแสดงเรือชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ลุ่มน้ำป่าสักและภาคกลางกว่า 20 ลำ โดยใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์เรือลุ่มน้ำป่าสัก”

thaiyaun (8)

สำหรับตัวหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนเอง หน่วยงานข้างนอกก็มีเข้ามาสนับสนุน อาทิ ในปี พ.ศ. 2539 โครงการ Think Earth จากบริษัทสยามกลการได้จุดกระแสความสนใจจากสื่อสารมวลชนและสาธารณชนหลายสาขาให้เข้ามาเยี่ยมเยียนหอวัฒนธรรมแห่งนี้ จากนั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เข้ามาส่งเสริม จนเกิดการทำโฮมสเตย์ขึ้นที่นี่ ปัจจุบันผู้สนใจที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตของเชื้อสายไทยวนในสระบุรี สามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนแห่งนี้

thaiyaun (13)thaiyaun (10) thaiyaun (11) thaiyaun (12) thaiyaun (14)

เพื่อนๆ ที่สนใจจะไปพักผ่อนและสัมผัสบรรยากาศแบบธรรมชาติริมแม่น้ำป่าสัก และเรียนรู้ถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยวน แล้วยังได้รับประทานอาหารแบบขันโตก พร้อมการต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ ที่ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงล้านนา ลองไปสัมผัสดูสักครั้งแล้วจะประทับใจไม่รู้ลืม

 

การเดินทางมาที่นี่ก็ไม่ลำบาก เพราะมีถนนเข้าถึง หากเพื่อนๆ เดินทางมาจากกรุงเทพ ก่อนถึงตัวเมืองสระบุรีจะมีทางเลี่ยงเมืองไปทางลพบุรีและเพชรบูรณ์ ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลี่ยงเมืองนั้นแล้วตรงไปจนข้ามแม่น้ำป่าสักอีกประมาณ 1 กม. ให้สังเกตด้านซ้ายมือจะมีทางแยกไปปากบาง หรือทางหลวงหมายเลข 3225 ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายนี้อีกประมาณ 3 กม. ก็จะเห็นป้าย “หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี” อยู่ติดถนนด้านซ้ายมือ เนื่องจากห้องพักมีจำนวนจำกัด ท่านใดที่ต้องการพักค้างแรมแบบโฮมสเตย์ควรจะจองไว้ล่วงหน้าก่อน

ติดต่อสำรองที่พักได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 036-725224 

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.mcot.net/

เชิญแสดงความคิดเห็น