ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > กาฬสินธุ์
 
karasin
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

จังหวัดกาฬสินธุ์

            เมืองกาฬสินธุ์ฟังชื่อดูแล้วเหมือนอยู่ไกลเหลือเกิน  และดูจะน่ากลัวด้วยซ้ำไป  แต่หากพิจารณาคำแปลชื่อเมืองของเขาให้ดี ๆ แล้ว จะเห็นว่าเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด  ไม่แห้งแล้ง ไม่ขาดแคลนน้ำและเป็นมานานแล้วด้วย  เป็นเมืองดินดำน้ำชุ่ม
            ชะตาของเมืองมีขึ้นมีลง  กาฬสินธุ์เคยถูกยุบลงมาเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔  เหตุผลเพราะเศรษฐกิจเหมือนยุคไอเอ็มเอฟปี ๒๕๔๒  นี่แหละ และพอชะตาขึ้นก็กลับตั้งเป็นจังหวัดใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙

            ดินแดนของกาฬสินธุ์ในปัจจุบันนี้นั้น  ในสมัยโบราณเคยเป็นที่อยู่ของพวกละว้า  มีเมืองที่ปรากฏเป็นซากปรักหักพังให้เห็นอยู่ ๔ เมือง คือ เมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองเชียงโสม  เมืองเชียงสา และเมืองเชียงน้อย  และเมืองเหล่านี้สงสัยว่าจะถูกทำลายลงโดยกษัตริย์พม่า คือ  พระเจ้าอโนรธามังช่อ  กษัตริย์พม่าแห่งพุกาม  ซึ่งมีอำนาจมากในสมัยนั้น (เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๔๒ ของพุกาม ตรงกับยุคสุโขทัยที่พึ่งเริ่มต้น)  คงจะประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษ
            ชนชาวกาฬสินธุ์เป็นชนเผ่าไทยเผ่าหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "อ้ายลาว"  เผ่าเดียวกับลาวในนครเวียงจันทน์ในปัจจุบันนี้  ได้อพยพมาจากเวียงจันทน์ในราว พ.ศ. ๒๓๒๐ - ๒๓๒๑  สาเหตุเนื่องมาจาก  เจ้าผ้าขาวกับพระวอพระตา  เกิดผิดใจกันกับเจ้าเมืองเวียงจันทน์  จึงหนีมาอยู่ที่หนองบัวลำภู (จังหวัดหนองบัวลำภู) กองทัพเวียงจันทน์ก็ยังอาฆาตเล่นไม่เลิก  ยกทัพตามมาตีอีก  ๓ ท่านนี้ก็อพยพหนีเรื่อยไป  พระวอ พระตา ไปตามลำน้ำโขง ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลดอนมดแดง (ในเขตอุบลราชธานี) ส่วนเจ้าผ้าขาวอพยพลงใต้ และตั้งเป็นหมู่บ้านอยู่ที่พรรณานิคม (จังหวัดสกลนคร)
            เจ้าผ้าขาวอพยพบ่อยเข้า  หมดแรงเลยกลายเป็นเจ้าผ้าดำลงหีบศพไป "เจ้าโสมพะมิตร"  ได้เป็นผู้คุ้มครองราษฎรแทน  เจ้าศิริบุญสารเจ้าเมืองเวียงจันทน์ก็ยังเล่นไม่เลิกตามมาต่อตีอีก  เกิดความกันดารในถิ่นที่อยู่ด้วย  อพยพอีกพาผู้คนข้ามสันเขาภูพานลงมาทางใต้ (จังหวัดกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน)  สมทบกับพวกที่อพยพลงมาก่อน ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ตำบลแก่งสำโรง
            พ.ศ. ๒๓๓๔  เจ้าโสมพะมิตร  ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  และได้นำกาน้ำสัมฤทธิ์ขึ้นทูลถวายด้วย  ได้กราบทูลขอตั้งบ้านแก่งสำโรงเป็นเมือง และกราบทูลให้ทรงทราบว่า ถิ่นเดิมของพวกตนคือริมแม่น้ำก่ำ (จึงทูลเกล้าถวายกาสัมฤทธิ์)  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามเมืองว่า "กาฬสินธุ์"  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖  และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ เจ้าโสมพะมิตรเป็น "พระยาชัยสุนทร" เจ้าเมืองกาฬสินธุ์คนแรก  ต่อจากนั้นเมืองกาฬสินธุ์ก็มีเจ้าเมืองปกครองสืบเนื่องกันมาโดยลำดับ
            ๑ สิงหาคม ๒๔๕๖  โปรด ฯ ให้ยกเมืองร้อยเอ็ดเป็นมณฑล และให้กาฬสินธุ์คงเป็นจังหวัดขึ้นกับมณฑลร้อยเอ็ดจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๔  จึงถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม และกลับตั้งขึ้นเป็นจังหวัดใหม่เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๐
            การเดินทางไปกาฬสินธุ์ไปได้หลายเส้นทาง  จะไปโดยไม่ผ่านขอนแก่นก็ได้  คือ ไปตามถนนมิตรภาพจนถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น  แล้วแยกขวาไป อำเภอบรบือ  ไปมหาสารคาม  ไปกาฬสินธุ์ได้เลย  หรืออีกเส้นทางก็ไปผ่านตัวเมืองขอนแก่นก่อน (ผมไปทางนี้เพราะอยากไปนอนขอนแก่น) แล้วไปอีก ๗๗ กม. ตามถนนสาย ๒๐๙ ก็จะถึงกาฬสินธุ์  จะไปให้ครึกครื้นกว่านั้นก็ได้  เช่นไปจากกรุงเทพ ฯ - วิ่งเลียบคลองรังสิตไปโผล่นครนายก  แล้ววิ่งต่อไปยังปราจีนบุรี (ไม่ต้องเข้าเมือง) ตรงไปยัง จังหวัดสระแก้ว  ไป อำเภออรัญประเทศ  (หรือจะเลี้ยวซ้ายเสียที่อำเภอวัฒนานครก็ได้) ไปอำเภอตาพระยา  ไปโผล่ อำเภอละหารทราย จังหวัดบุรีรัมย์  จะแวะเที่ยวปราสาทหินพนมรุ้งก่อนก็ยังได้  หรือจะเลยต่อไปทางอำเภอนางรอง  กินขาหมูนางรอง (จำไว้ดี ๆ มาจากกรุงเทพ ฯ ร้านต้องอยู่ซ้ายมือชื่อขาหมูนางรอง) ไปบุรีรัมย์เข้าเส้น ๒๑๙ ไปกาฬสินธุ์ระยะทางก็ใกล้เคียงกันแทบทุกสาย  แต่เส้นหลังนี้ไกลกว่าหน่อย  และถนน ๒ เลน ส่วนเส้นแรกนั้น ๔ เลน จนถึงบ้านอำเภอบ้านไผ่ หรือขอนแก่น  จากนั้นจึงจะเป็นถนน ๒ เลน  แต่ก็เป็นถนนราดยางอย่างดี  กว้างวิ่งสบายระวังมอเตอร์ไซด์หน่อยก็แล้วกัน  เพราะถนนตีเส้นทึบที่ขอบทาง  เขาไม่วิ่งกันในเส้นทึบเขามาวิ่งกันในเลนรถยนต์ต้องระวัง  ไม่งั้นจะเที่ยวไม่สนุก ต้องไปเที่ยวโรงพักแทน
            ผมไปครั้งสุดท้ายคงกว่าสิบปีมาแล้ว  กาฬสินธ์วันนี้เจริญขึ้นมาก  มีถนนเพิ่มมากขึ้นแต่เป็นถนนสายสั้น ๆ จำเส้นทางยาก  ผมมาเที่ยวนี้ขับรถหลงทางหลายหน  นอนอยู่ ๒ คืน คงจะหลงสัก ๒ - ๓ ครั้ง  โดยเฉพาะตอนหาทางออกจากเมืองกลับโรงแรม
            พักที่โรงแรมริมปาว  แต่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำชี  แม่น้ำเล็ก ๆ น้ำมีน้อย  เป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง  โรงแรมเดียวของจังหวัดนี้  เพราะกาฬสินธุ์ขาดการประชาสัมพันธ์  ทำให้ขาดนักท่องเที่ยวทั้ง ๆ ที่กาฬสินธุ์ในปัจจุบันเป็นเมืองน่าเที่ยวมาก  มีแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก "โลกตลึง" เลยทีเดียว  คือซากฟอร์สซิลไดโนเสาร์  เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังเรียกว่ามีของดีแล้ว  แต่ไม่รู้จักงัดเอามาอวดชาวโลก  โรงแรมริมปาวมีห้องอาหารชื่อ กุฉินารายณ์  ชิมมื้อเย็นอยู่มื้อเดียว เพราะมีอาหารอร่อยถูกปากอยู่อย่างเดียว แต่อร่อยมาก คือ แกงต้มข่าไก่  ส่วนข้าวสวยนั้นสวยจริง ๆ หรือผมจะแก่มากไปก็ไม่ทราบ  ข้าวแข็งไปและไม่ร้อน ร้านอาหารทั้งหลาย ต้องจำไว้ให้ดี ๆ  กับข้าวอร่อยปานใดก็ตามลอง "ข้าว" ไม่นุ่ม ไม่ร้อน  เย็นชืดและแข็งแล้ว  อาหารมื้อนั้นจะหมดรส  นอกจากคนกินเหล้าประเภทกินเหล้าแล้วไม่กินข้าว (เช่นผม) ก็แล้วกันไป  มื้อดึกเขามีข้าวต้ม บุฟเฟ่ต์ ๕๙ บาท เท่านั้น ดูอาหารแล้วใช้ได้  แต่ไม่ได้ชิม  มื้อเช้าก็บุฟเฟ่ต์พอใช้เพราะอาหารไม่มากนัก  คงมีข้าวต้ม  แฮม  ไข่ดาว  และไส้กรอก  กาแฟ  ชา และน้ำส้ม มีให้เท่านั้น  ไม่ถึงอาหารเช้าชุดใหญ่  เหมือนโซฟิเทลที่ขอนแก่นนั่นกินกันจุกไปถึงมื้อเที่ยงเลยทีเดียว  มื้อกลางวันเขาก็มีบุฟเฟ่ต์อีกนั่นแหละ ไม่ได้ชิมอีก  เพราะออกไปตระเวณอยู่ตามอำเภอ  หากินตามท้องถิ่น  จึงขอข้ามห้องอาหารกุฉินารายณ์ไป  แต่คนชอบข้าวแข็งละก็น่ากิน  เอาแกงข่าไก่ราดอร่อยไปเลย  แต่ที่ต้องชมอย่างมาก คือ พนักงานดีทุกคน  คนที่มายกกระเป๋าให้ผมมีความรู้มาก  ถามแหล่งท่องเที่ยว ถามวัดวาอารามตอบได้หมด  สมาคมโรงแรมน่าจะพิจารณาข้อนี้  บ๋อยยกกระเป๋านั่นแหละสำคัญ  เพราะเกือบจะเป็นคนแรก ที่แขกจะชอบคุยด้วย  คุยกันตอนยกกระเป๋าขึ้นลิฟท์เดินเข้าห้องนั่นแหละ  หากมีการอบรมพนักงานเป็นหลักสูตรไปเลย ๗ วันก็ยังดี  ให้รู้จักจังหวัดของโรงแรมของตัว  ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเอง
            กาฬสินธุ์มีน้ำสมบูรณ์เพราะมีเขื่อนลำปาว  ซึ่งเขื่อนนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๓๖ กม.  หากมีเวลาจะแวะตั้งแต่ตอนขามาก็ได้   เป็นเหมือนทะเลสาบใหญ่ และในตัวเมืองยังมีโครงการชลประทานอีกด้วย  โอกาสที่กาฬสินธุ์จะกันดารน้ำนั้นจึงมีโอกาสน้อย  สำคัญที่ว่าสร้างเขื่อนลำปาวแล้ว  สร้างคลองส่งน้ำมากพอที่จะเฉลี่ยน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทั่วถึงแคไหน
            สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดกาฬสินธุ์  ผมไม่ได้ไปในคราวนี้ทุกแห่ง  แต่จะสรุปรวมเอาไว้ คือ อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิตร) ตั้งอยู่หน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข  ต้องถือว่าจุดนี้เป็นจุดหลักในการหาสถานที่อื่น ๆ ในตัวเมืองกาฬสินธุ์  เพราะไปไหนไม่ถูกผมมาตั้งต้นกันตรงอนุสาวรีย์นี่แหละ  และเมื่อเข้าเมืองท่านก็ควรมาคาระวะท่านด้วย
            วัดกลาง  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ดำ  พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองกาฬสินธุ์  ปีใดฝนแล้งชาวเมืองจะอัญเชิญหลวงพ่อดำออกแห่ขอฝน  ผมไปครั้งแรกนั้นผมไปเป็นทางการ  ฝ่ายรับรองเขาก็อนุญาติทางวัดไว้เรียบร้อย  ไปกราบนมัสการได้ เพราะหลวงพ่อดำท่านไม่ได้อยู่ในโบสถ์ ท่านอยู่หอสูง  ยิ่งไปคราวนี้ไม่ทราบท่านอยู่ตรงไหน  เพราะโบสถ์ก็ปิด  เล็ง ๆ เห็นหลวงพ่อองค์หนึ่งท่านนั่งสั่งงานใต้ต้นไม้ ราษีท่านดี  เดาว่าน่าจะเป็นเจ้าอาวาสองค์ใหม่  เพราะองค์เก่าผมเคยกราบคาระวะ ท่านอายุมากแล้ว  องค์นี้อายุไม่มากกว่าผมแน่เลยไปกราบท่าน  และขอนมัสการหลวงพ่อดำ  ท่านกลับบอกว่าเคยได้ยินชื่อผม  ท่านก็ให้เปิดโบสถ์ไปกราบพระประธานในโบสถ์  และเปิดอาคารน่าจะเรียกว่าอาคารเอนกประสงค์  สร้างไว้สวยงามทีเดียว  หลวงพ่อดำจำลองอยู่ในอาคารนี้  เลยได้กราบแต่องค์จำลอง  สำหรับการไปครั้งนี้  ส่วนหลวงปู่เจ้าอาวาสองค์เดิมยังมีชีวิตอยู่ แต่อายุ ๘๕ แล้ว เลยไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส  และวัดกลางยังมีพระพุทธบาทจำลองอีกด้วย
            วัดศรีเมือง  ผมหาไม่เจอถามสามล้อ "ทรงมดแดงชะเง้อ"  เขาบอกว่าขอเขา ๒๐ บาท เขาพาไปปรากฎว่าอยู่ใกล้ ๆ วัดกลางนั่นและ ไปวัดกลางแล้วไปวัดศรีเมืองเสียเลยใกล้กัน ไปดูเสมาจากเมืองฟ้าแดดสงยาง ที่ผมกำลังจะพาไป
            พระพุทธสถานภูปอ อยู่ที่ภูปอ ห่างจากกาฬสินธ์ไปทางถนน ๒๓๑๙ ประมาณ ๒๘ กม.
            ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว  อยู่ในโรงพยาบาลธีรวัฒน์ ผมไปวันหยุดด้วย เลยไม่รู้ว่าเขา เปิดหรือเปล่า เพราะก่อนมาที่นี่ ได้ไปที่ศูนย์รวมจำหน่ายผลิตภันฑ์กาฬสินธุ์  อยู่ในโรงเรียนเมืองกาฬสินธุ์เขาไม่เปิด ศูนย์ต่าง ๆ เหล่านี้ต้องเปิดในวันหยุดราชการ เพื่อบริการนักท่องเที่ยว

            อำเภอสหัสขันธ์  เป็นอำเภอสำคัญที่ผมบอกว่า เมืองไทยเรานั้นมีของดีที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากมายนัก แต่ไม่รู้จักส่งเสริมกันให้จริงจัง ที่ประเทศแคนาดา ที่พิพิธภัณฑ์ ROYAL THYRRELL MUSEUM  เขานำไดโนเสาร์ตัวเดียวที่ขุดพบมีอายุ ๗๐ ล้านปีมาไว้ที่นี่ และสร้างอาคารใหญ่โตสวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้มาดูฟอรส์ซิลของไดโนเสาร์ตัวเดียวนี่แหละมากกว่าปีละห้าแสนคน แต่ที่กาฬสินธุ์ อำเภอสหัสขันธ์ ได้พบฟอรส์ซิลกระดูกไดโนเสาร์ในหลุมเดียวกันจำนวน "๖ ตัว" นอนทับถมอยู่ในหลุมเดียวกัน และขุดกระดูกท่อนโต ๆ ออกมาได้แล้วมากถึง ๕๗๐ ชิ้น แต่ไม่ได้ดังระเบิดเทิดเถิงเลย เพราะไม่รู้จักประชาสัมพันธ์ ก่อนหน้านี้ก็พบที่ขอนแก่น ดูจะดังกว่าแล้วมาพบที่อำเภอกุฉินารยณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เหมือนกันเมื่อปี ๒๕๓๑ ที่ภูผางำ วัดบ้านนาไคร้  ก็ทำท่าจะดัง มาพบอีกที่ ๒๕๓๗ โดยเจ้าอาวาสวัดสักกะวัน วัดเชิงดอย ภูกุมข้าว  เคราะห์ดีที่ท่านสงสัยเดาได้ จึงเกิดการสำรวจกันขึ้น แล้วก็พบซากถึง ๖ ตัว อยู่ในหลุมเดียวกัน "อายุ ๑๓๐ ล้านปี"  เวลานี้กำลังสร้างหลังคาคลุมหลุมอยู่ ส่วนโครงการและแบบที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์นั้น มีรูปให้ดูแต่ไม่รู้จะสร้างเมื่อใด ไม่เห็นบอกเรื่องนี้ต้องทางราชการเข้าไปดำเนินการให้วัดทำ ไม่มีหนทางทำได้ แม้แต่ส่วนหนึ่งของแคนาดา เหมือนกับที่วัดปรมัยยิกาวาส ทางกรมศิลปากรเข้าไปสร้างพิพิธภัณฑ์ให้แก่วัดนี้ เพราะวัตถุโบราณที่มีคุณค่าประวัติศาสตร์มีมาก วัดปรมัยยิกาวาส ที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ขอแถมไว้ตรงนี้ด้วย เพื่อผู้ว่าราชการอ่านเจอหรือรองผู้ว่า ที่เคยทำงานกันมาสมัยที่ท่านเป็นนายอำเภอเบตง ทำงานร่วมกันในเรื่องกดดันให้โจรจีน ฯ  ออกมามอบตัวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๐
            การไปภูกุมข้าวไปตามถนนสาย ๒๒๗ ประมาณ ๒๘ กม. แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีก ๑ กม.
            จากปากทางเข้าภูกุมข้าว หากเลยไปถึงจนอำเภอคำม่วง ถิ่นผ้าไหมแพรวาระยะทาง ๔๕ กม. และจะผ่านทางเข้าวัดพุทธนิมิตร ซึ่งมีพระพุทธไสยาสน์ภูค่าวอยู่ที่วัดนี้ วัดกำลังสร้างโบสถ์ด้วยไม้สวยงามมาก แกะสลักอย่างดี แต่น่าเสียดาย ทุกจุดที่มีการแกะสลักอย่างงดงาม ก็จะแกะสลักชื่อผู้บริจาคที่งดงามเด่นนูนชัดด้วยอักษรสีทอง ข่มความงามของการแกะสลักประตู หน้าต่างเสียหมด พระพุทธรูปท่านประทับตะแคงซ้าย ผิดพระพุทธไสยาสน์ทั่วไป และยังมีศาลาพุทธนิมิตร ธรรมนิมิตร สังฆนิมิตร ซึ่งศาลาสังฆนิมิตรนี้ ประดับฝาและเพดานด้วยพระเครื่องทั้งสิ้น ทุกหลังเป็นอาคารไม้และงามด้วยชื่อผู้บริจาค แต่ก็สมควรไปชมและไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์
            ที่สหัสขันธ์ยังมีแหลมโนนวิเศษ ห่างจากอำเภอเลี้ยวเข้าไปสัก ๖ กม. ไปดูพระอาทิตย์ตกงามนัก แหลมยื่นลงไปในเขื่อนลำปาว มีแพขนานยต์รับส่งคน และรถข้ามฟากไปยังอำเภอหนองกุงศรีได้ ซึ่งที่อำเภอนี้มีเกาะมหาราช เป็นสวนสาธารณะ
            อำเภอสมเด็จ  มีน้ำตกแก้งกะอาม มีผาเสวย ผาตั้งอยู่บนเหวลึก หน้าผาสูงชนชาวบ้านเลยเรียกว่า "เหวหำหด" ชาวบ้านเขาเรียกอย่างนี้จริง ๆ ไม่ใช่ผมตั้งให้

            อำเภอเขาวง  มีน้ำตกผานางคอย น้ำตกตาดทอง
            อำเภอยางตลาด  อำเภอท่าคันโท มีเขื่อนลำปาว และหาดดอกเกด เป็นหาดเนินลดหลั่นจนจรดเขื่อน มีต้นการเกดเป็นไม้พื้นเมือง ปลูกปะปนกับไม้อื่นไว้เป็นกลุ่ม
            อำเภอกมลาไสย  เป็นอำเภอที่สำคัญมากในการท่องเที่ยวอีกอำเภอหนึ่ง ผมให้รองลงมาจากอำเภอไดโนเสาร์ เพราะที่อำเภอนี้มีเมืองโบราณ คือ เมือง "ฟ้าแดดสงยาง" บางทีก็เพี้ยนไปเรียกว่าฟ้าแดดสูงยาง บางที่เรียกว่าเมืองเสมา ตามลักษณะของเมือง มีอายุระหว่าง พ.ศ. ๑๓๐๐ - ๑๖๐๐ และได้ค้นพบหลักฐานที่ยืนยันว่า ยุคโลหะของสุวรรณภูมิ ได้เริ่มมาก่อนทุกแห่ง ๆ ในโลกนี้
            ปัจจุบันเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเสมา ตำบลหนองแป้น เดินทางไปตามถนนสาย ๒๑๔ (สายกาฬสินธุ์ - ร้อยเอ็ด) ประมาณ ๑๓ กม. จะถึงอำเภอ แล้วแยกขวามือเข้าไปอีก ๖ กม. ไปตามถนนสาย ๒๓๖๗ (สายนี้ไปออกอำเภอพยัคภูมิ ไปมหาสารคามได้)  จะถึงทางแยกขวา ซึ่งทางซ้ายคือวัดโพธิ์ชัยเสมาราม เลี้ยวขวาเข้าไปก่อน เที่ยวกลับจึงแวะวัดโพธิ์ชัย เข้าไปอีกประมาณ ๑ กม.  จะถึงพระธาตุยาคูหรือธาตุใหญ่ เป็นพระสถูปสมัยทวาราวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๕) ได้รับการบูรณะแล้ว แต่ดูจะทำเสียใหม่หน่อย และมีเสมาปักรายล้อม เหลือเสมาที่เป็นหินทราย และแกะสลักอยู่เพียงเสมาเดียวนอกนั้น ไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดโพธิ์ชัยบ้าง ขอนแก่นบ้างและตัวเมืองฟ้าแดดสงยางก็อยู่รายล้อมพระธาตุนี้ คงเห็นแต่คันคูเมืองที่คงจะได้ปรับปรุงแล้ว แต่ก็ยังมองออกว่าลักษณะผังเมืองนี้ เมื่อพันปีก่อนเป็นอย่างไร
            พิพิธภัณฑ์ที่วัดโพธิ์ชัย  เป็นของวัดเองเรียกว่าโรงไม้กระจอก ๆ จะเหมาะกว่า ทางจังหวัดหรือกรมศิลปากรต้องเข้าไปช่วยวัด เอาแค่เสมาหินทราย (มีเสมาจำลองที่พิพิธภัณฑ์ขอนแก่น) "พิมพาพิลาป" เพียงแผ่นเดียว ตั้งอยู่โคนต้นไม้ในวัดโพธิ์ชัยเสมาราม ก็งดงามจนประมาณค่ามิได้ สลักหินเป็นรูประนางยโสธรา สยายผมยาวให้เป็นราดพระบาท (เป็นต้นศัพท์ของคำว่าราดพระบาท) ให้พระพุทธเจ้าเสด้จพระราชดำเนิน ใบเสมาต่าง ๆ จึงแกะสลัดเป็นพระพุทธประวัติ พิมพาพิลาป งดงามยิ่งนัก "กลัวหาย" ในวัดนี้จึงมีทั้งเสมาเรียบ เสมาแกะสลัก
            ความที่กาฬสินธ์ไม่ใช่เมืองที่นักท่องเที่ยวไปเยือนกัน จึงหาร้านอาหารยาก แต่ต่อไปนี้คงจะไปเยือนกันเพราะผมเชื่อว่า ที่ผมเขียนไปในหนังสือหลาย ๆ ฉบับ เช่น ในไทยรัฐ "ต่วยตูน" คงมีนักท่องเที่ยวที่อยากเห็นสิ่งมหัสจรรย์ระดับโลก คือ ฟอรส์ซิลของไดโนเสาร์ เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ฯลฯ ไปเที่ยวกาฬสินธ์กัน ไม่ไกลเลยประมาณ ๕๑๐ กม. ขับรถสบาย ๆ ไม่กี่ชั่วโมง ที่พักก็ดีสดวกสบาย น่าเที่ยวแต่ร้านอาหารอร่อย ๆ คลำไม่เข้าเป้าหมายเลย ยอมแพ้และขออภัยต่อชาวกาฬสินธ์ด้วย

            ร้านรสเด็ด เดี๋ยวนี้ย้ายมาอยู่ถนนหลังกาฬสินธุ์พลาซ่า เหลืออาหารอร่อยอย่างเดียว คือ เต้าฮวยเย็น ก๋วยเตี๋ยว บะหมีพอแก้หิว ของอร่อยสมัยก่อน คือ พระรามลงสรง ทำแบบหม้อไฟ ไม่ทำแล้วบอกว่าเหนื่อย
            ร้านแซ๊บอีหลี ใกล้ ๆ วัดกลาง มีแต่อาหารเนื้ออย่างเดียว ถ้าซื้อกลับยังมีของดีคือ เนื้อทุบ
            ตลาดเทศบาลโต้รุ่ง อยู่หน้าศาลากลาง ติดตลาดกันตั้งแต่ตอนเย็น โดยปิดถนนทั้งสายเปิดเป็นตลาดโต้รุ่ง ขายกันตั้งแต่ห้าโมงเย็นไปยันตีหนึ่ง  สารพัดอาหาร  มารถเข็นมีโต๊ะเก้าอี้นั่งพร้อม แต่หากฝนตกไม้รู้ว่าเขาแก้ปัญหาอย่างไร ตั้งแต่ปากทางเข้าเรื่อยไปสารพัดอาหารจริง "ปิ้ง" ไก่ปิ้ง ไก่ยาง หมูปิ้ง หมูสะเต๊ะ ไข่ปิ้ง (แบบอิสาน ไม่ใช่แบบหาบขายในกรุง) ข้าวขาหมูเล็งไว้ ๒ เจ้าเพราะคนขายอ้วนทั้งคู่อีก ๒ - ๓ เจ้าคนขายผอมไปหน่อย ก๋วยเตี๋ยวเกี๊ยว บะหมี่  ข้าวแกง  ข้าวผัด  อาหารตามสั่ง  เรียกว่าสรรพาหารทีเดียว และมากด้วยส้มตำไก่ย่าง เดินไปจนเกือบสุดร้านอาหาร ทางซ้ายมือเจอประเภทอาหารตามสั่ง ถูกใจที่ชื่อร้านที่เขาแขวนป้ายไว้ และที่เสื้อคนขาย ชื่อ "กุ๊กอ้วนกาฬสินธุ์" คนนั่งกินพอสมควร แต่ซื้อห่อกลับบ้านนั้นแยะทีเดียว อุตสาหกรรมครอบครว พ่อเป็นกุ๊ก (ไม่อ้วนนัก) แม่รับคำสั่งคอยเตรียมอาหาร ลูกชาย/หญิง/เสริฟอย่างรู้งาน พอนั่งก็น้ำแข็งฟรีมาทีเดียว ร้านตรงข้ามสารพัด "ยำ" ร้านเยื้องซ้าย ส้มตำชนิดสากกับทัพพีลอยเวลาตำ เยื้องขวาขนมหวานใส่น้ำแข็งใส
            ต้มจืดไข่น้ำ เอาไข่ไปเจียวก่อนแล้วใส่มาในแกงจืดหมูสับ ผัดกาดขาว รสแกงเยี่ยมร้อนซดชื่นใจ หอมกลิ่นไข่เจียวที่ใส่มาทั้งแผ่น เข้ากันดี ผิดกับไข่น้ำโรงเรียนนายร้อยสมัยผมเป็นนักเรียน
            ผัดหมึกน้ำพริกเผา หมึกข้ามน้ำข้ามทะเลมาผัดน้ำพริกเผา ถึงกาฬสินธุ์ผัดดีเสียด้วย หอมเชียวเอาน้ำผัดคลุกข้าวยังได้เลย
            ผัดขี้เมาหมู จานนี้อร่อยมากหรือมาก ๆ ผัดกับหน่อไม้อ่อน หวานเผ็ดนิดเดียว กินกับข้าวก็ได้ เป็นกับแกล้มก็ได้ แต่เขาไม่ได้ขายเหล้า ทดลองชิมได้แค่นี้ แถมด้วยไข่ปิ้งที่ติดมือมาจากปากทางเข้า
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |

กาฬสินธุ์: ข้อมูลกาฬสินธุ์ ท่องเที่ยวกาฬสินธุ์ ข้อมูลเที่ยวกาฬสินธุ์


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์