ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดจันทบุรี

            จังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ ๖,๓๓๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓,๙๖๑,๐๐๐ ไร่ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
            ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสระแก้ว
            ทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศกัมพูชา และจังหวัดตราด
            ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดตราด และอ่าวไทย
            ทิศตะวันตก ติดต่อกับอ่าวไทย จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี
ลักษณะภูมิประเทศ
            จังหวัดจันทบุรี มีภูมิประเทศที่สามารถแบ่งออกได้เป็นสามลักษณะคือ
            ภูเขาและเนินเขา ได้แก่ พื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับจังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา มีทิวเขาชะมูล ภูเขาชะอม และเขาลำปลายประแกด ในเขตอำเภอแก่งหางแมว
            ในทางตอนเหนือและตะวันออกของจังหวัด มีทิวเขาจันทบุรีซึ่งประกอบด้วย เขาสอยดาวเหนือ เขาตะเคียนทอง เขาพระบาทพลวง เขาปล้อง เขาสอยดาวใต้ ทอดตัวจากเขตติดต่อจังหวัดสระแก้วลงมาตอนกลางของจังหวัด บรรจบกับเขาสามง่ามที่ยื่นออกมาจากทิวเขาบรรทัดมาทางด้านทิศตะวันตก ทิวเขาจันทบุรีครอบคลุมพื้นที่ทางด้านตะวันออก ของกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ ทางด้านตะวันตกของเขาสอยดาว และอำเภอบ้านโป่งน้ำร้อน ส่วนเขาสามง่ามอยู่ทางใต้ของอำเภอโป่งน้ำร้อน ด้านตะวันออกของอำเภอมะขาม และทางตอนเหนือของอำเภอขลุง
            นอกจากนี้ยังมีภูเขาสูงได้แก่ ภูเขาสระบาป อยู่ในเขตติดต่ออำเภอเมือง ฯ อำเภอมะขาม และอำเภอขลุง นอกจากนั้นเป็นเนินเขาที่กระจายอยู่ทั่วไปในทุกอำเภอ
            ที่ราบเชิงเขา ได้แก่ พื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกของเขาสอยดาว คืออำเภอสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน ด้านใต้ของเขาสามง่ามคือพื้นที่ตอนกลางของอำเภอขลุง และด้านทิศตะวันออกของอำเภอมะขาม อีกบริเวณหนึ่งอยู่ระหว่างเขาสอยดาวกับทิวเขาชะมูล ได้แก่พื้นที่อำเภอแก่งหางแมว กิ่งอำเภอคิชฌกูฏ และทางตอนเหนือของอำเภอท่าใหม่ บริเวณนี้พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่น

            ที่ราบลุ่มน้ำและชายฝั่งทะเล  ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำจันทบุรี ซึ่งไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอมะขาม และอำเภอเมือง พื้นที่ลุ่มน้ำคลองโตนด ซึ่งไหลผ่านอำเภอแก่งหางแมว และอำเภอท่าใหม่ พื้นที่ลุ่มน้ำเวฬุซึ่งไหลผ่านอำเภอขลุง
            ส่วนที่ราบชายฝั่งทะเลได้แก่ พื้นที่ทางตอนใต้ของอำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ อำเภอแหลมสิงห์ และอำเภอขลุง
            บริเวณชายฝั่งทะเลประกอบด้วย ที่ราบชายฝั่งทะเลแคบ ๆ และที่ราบลุ่มบริเวณปากแม่น้ำ บริเวณที่ราบดินตะกอนสามเหลี่ยม เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขัง เช่น บริเวณปากแม่น้ำพังราด แม่น้ำวังโตนด แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำเวฬุ บริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง สภาพพื้นที่จะเป็นป่าชายเลน
            ส่วนบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลที่เกิดจากการทับถมของตะกอนทราย ทำให้เกิดลักษณะของหาดทราย ส่วนบริเวณชายฝั่งที่เป็นดินจะมีลักษณะเป็นแหลมยื่น เช่นหาดคุ้งวิมาน แหลมเสด็จ เจ้าหลาว และแหลมสิงห์ เนื่องจากบริเวณชายฝั่งทะเลแถบนี้อยู่ติดกับปากแม่น้ำ ดังนั้นชายหาดบางแห่งจึงมีตะกอนของโคลน และทรายปะปนกันอยู่ทั่วไป
เกาะในเขตจังหวัด

            เกาะที่พบในเขตจังหวัดจันทบุรี เป็นเกาะเล็ก ๆ เช่น เกาะนมสาวอยู่ตรงข้ามอ่าวกระทิง มีพื้นที่ประมาณ ๒๐ ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศของเกาะ เป็นเนินเขาสูง ๑๑๐ เมตร สูงขึ้นไปทางทิศตะวันตก มีพื้นราบชายฝั่งทางด้านตะวันออก ชายฝั่งทะเลประกอบด้วยหิน กรวด และแนวปะการัง
            เกาะจุฬา  เป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ที่ปากน้ำจันทบุรี มีพื้นที่ประมาณ ๐.๐๑ ตารางกิโลเมตร
            เกาะนางรำ  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเปริด มีพื้นที่ประมาณ ๐.๑๒ ตารางกิโลเมตร
            เกาะเปริด  อยู่ในเขตอำเภอแหลมสิงห์ ปัจจุบันเกาะเปริดมีโคลนตะกอนมาทับถมจนสามารถทำถนนเชื่อมระหว่างชายฝั่งกับเกาะ มีพื้นที่ประมาณ ๐.๕๒ ตารางกิโลเมตร
           เกาะขวาง  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเปริด มีพื้นที่ประมาณ ๐.๓๖ ตารางกิโลเมตร
           เกาะจิกนอก  อยู่ในเขตอำเภอขลุง ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปากน้ำเวฬุ มีพื้นที่ประมาณ ๐.๖๒ ตารางกิโลเมตร
ทรัพยากรธรรมชาติ

           ลุ่มน้ำลำธาร  แม่น้ำลำธารในจังหวัดจันทบุรีจะเป็นสายสั้น ๆ มีอยู่หลายสายด้วยกัน มีทิศทางการไหลจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ เป็นส่วนใหญ่
                 แม่น้ำพังราด  เป็นลำน้ำกั้นพรมแดนระหว่างจังหวัดจันทบุรีกับจังหวัดตราด มีความยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ลำน้ำตอนต้นเกิดจากคลองเขาวง คลองนายายอาม นอกจากนั้นยังมีคลองห้วงหิน คลองห้วยเตย ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเขาทะลายไหลลงสู่คลองนายายอาม
                 แม่น้ำวังโตนด  ต้นน้ำเกิดจากเนินเขาบริเวณเขตติดต่อระหว่างอำเภอท่าใหม่ จังหวัดสระแก้ว และอำเภอสนามไชยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วยคลองโตนด และคลองประแกด คือ เขาช่อง เขาป้อม เขาลำปลายประแกด เขาเลือดแตก และเขาสอบแม เนินเขาเหล่านี้อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเขาชะมูล และทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านขุนซอง ลำคลองประแกดจะไหลลงมาทางทิศใต้บรรจบกับคลองโตนด
                      คลองประแกด  มีต้นน้ำเกิดจากลำห้วยที่ไหลมาจากเนินเขาติดต่อระหว่างอำเภอสนามไชยเขต และอำเภอท่าใหม่ ที่บ้านหินโค้ง หุบเขาคลองประแกดจะมีลักษณะเป็นเนินสูง สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๗๐ เมตร
                      คลองโตนด  มีต้นกำเนิดมาจากตอนใต้ของเขาซับพลูไก่เถื่อน บริเวณรอยต่อของจังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี  ลำน้ำไหลลงมาทางทิศใต้ มีลำน้ำสาขาหลายสายไหลมาบรรจบทับคลองโตนดทั้งสองฝั่ง เช่น คลองพรานบุญ และคลองพลู มีต้นน้ำมาจากด้านทิศตะวันออกของเขาป้อม คลองยายไทย คลองหนองเตียน มีต้นน้ำจากเขาปลายยายไทย และเขาหนองเตียน แล้วไหลมาบรรจบคลองโตนดที่บ้านแก่งหางแมว
                      สาขาคลองโตนดที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาจันทบุรี ได้แก่ คลองไทร คลองคด เกิดจากเขาสิบห้าชั้น  คลองน้ำเป็น คลองยาง คลองสีเสียด เกิดจากเขาคะวัดกอง เขาสีเสียด คลองหางแมว เกิดจากเขาสีเสียด เขาลึ่งทึ่ง แล้วไหลผ่านบ้านขุนซ่อง บ้านช่องกะพัด บ้านตาหน่อง แล้วไหลผ่านหุบเนิน ไหลขนานกับเขาทะลาย ไหลผ่านบ้านวังส้มโอ บ้านหนองคล้า โดยมีคลองแพร่ขาหยั่ง คลองห้วยสะท้อน คลองหนองคล้า และคลองสองพี่น้อง ซึ่งมีต้นน้ำจากเขาแพร่ขาหยั่ง (เขาสุกิม)  เขาแกลด ไหลมาบรรจบคลองวังโตนด
                      ลำน้ำเริ่มไหลคดเคี้ยวมากขึ้น เกิดคุ้งน้ำหลายแห่ง บางแห่งกลายเป็นทะเลสาบรูปแอกวัว เช่น ที่หนองแฟบ พื้นทื่ช่วงนี้เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำจนถึงปากน้ำแขมหนู  ส่วนบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง จะเป็นป่าชายเลน
ตามบริเวณสองฟากของลำน้ำจนถึงทางตอนใต้ของบ้านหนองหงส์
                      แม่น้ำวังโตนดไหลลงสู่อ่าวเกาะนก (ทิศใต้ของบ้านโขมง)  อ่าวเกาะนก ยาวประมาณ ๖ กิโลเมตร  บริเวณปากอ่าวเรียกว่า ปากน้ำแขมหนู  ปากอ่าวจะแคบเหมือนปากขวด โดยมีแหลมท้ายร้านดอกไม้ ยื่นลงไปทางทิศใต้ ทำให้ปากแม่น้ำด้านปากน้ำแขมหนู เป็นแหลมทรายยื่นตรงไปทางทิศใต้ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีสันทรายยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร บริเวณชายทะเลด้านทิศตะวันออกของแหลมเสด็จ เรียกว่า คลองจาก

                 แม่น้ำจันทบุรี  เป็นแม่น้ำที่สำคัญที่สุดของจังหวัดจันทบุรี มีสาขาที่สำคัญคือคลองตารอง คลองตาหลิว คลองทุ่งเพล (คลองปรือหรือคลองพยาธิ) ไหลมาบรรจบ มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ ๑๒๓ กิโลเมตร
                      คลองตารอง  ประกอบด้วยคลองเส คลองทับมาก คลองย่านยาว คลองจก คลองดินสอ คลองบุญมาก ซึ่งมีต้นน้ำจากสันเขาจันทบุรีตอนบน บริเวณเขตติดต่อกับจังหวัดสระแก้ว น้ำส่วนหนึ่งไหลไปทางทิศเหนือไปบรรจบคลองพระสะทึง อีกส่วนหนึ่งไหลมาทางใต้ลงสู่ลุ่มแม่น้ำจันทบุรี
                      คลองตารองไหลมาบรรจบกับคลองตาหลิว ทางทิศใต้ของบ้านคลองใหญ่  คลองตาหลิวมีต้นน้ำจาก
ยอดเขาสอยดาวใต้ เขาปล้องและเขาตะเคียนทอง ไหลผ่านเทือกเขาจันทบุรีเป็นระยะทางประมาณ ๑๓ กิโลเมตร แล้วจึงไหลลงสู่เชิงเขา ผ่านบ้านทุ่งกะบิล บ้านคลองใหญ่ แล้วไหลมาบรรจบกับคลองที่ตอนใต้ของบ้านคลองใหญ่ ลำน้ำช่วงนี้เรียกว่า คลองจันทบุรี ลำน้ำคดเคี้ยวมากทำให้เกิดคุ้งน้ำมากมาย  ลำน้ำไหลผ่านบ้านน้ำขุ่น บ้านทุ่งตะเภา แล้วมีคลองตะเคียนทองไหลมาบรรจบทางด้านทิศตะวันออก จากนั้น ลำน้ำไหลผ่านบ้านคลอน้ำเป็น บ้านพังกะแลง บ้านทุ่งตาอิน มีคลองน้ำเป็นซึ่งเกิดจากเขาลูกช้าง คลองลำพัง ห้วยกระสือน้อย ห้วยกระสือใหญ่ซึ่งเกิดจากเขากระสือ คลองตะเคียนซึ่งเกิดจากเขาพระเวท ไหลมาบรรจบ
                      คลองจันทบุรีตั้งแต่ใต้บ้านทุ่งตาอิน มีขนาดใหญ่ขึ้น มีคลองบูซู คลองมาบชะโอน และคลองแพรกชะโอน ซึ่งเกิดจากเขาแพร่งขาหยั่ง ไหลมาบรรจบที่บ้านเนินดินแดง จากนั้นลำน้ำจะไหลไปทางทิศตะวันออกถึงบ้านกระทิง มีคลองกระทิงซึ่งเกิดจากเขาพระบาทหลวง ไหลมาบรรจบ
                      คลองจันทบุรีไหลมาบรรจบกับคลองพยาธิทางใต้ของบ้านพญาล่าง ตั้งแต่บ้านพญาล่างลงมา พื้นที่เป็นที่ราบ บางแห่งเป็นที่ลุ่ม เกิดหนองน้ำมากมาย เช่น หนองพระเพลิง หนองโลงโคง หนองตะโกรม หนองตะเคียนเฒ่า หนองกุ้ง หนองสำมะสัก หนองจระเข้ หนองตะพอง หนองเสือ
                      ลำน้ำจันทบุรีไหลผ่านตัวเมืองจันทบุรี  เมื่อถึงบ้านคลองน้ำใส ลำน้ำเริ่มคดเคี้ยวและแยกสาขา
ออกจากกัน เกิดคลองลัดที่บ้านเกาะลอย คลองลำแพน มีขนาดใหญ่  แม่น้ำจันทบุรีน่าจะเป็นลำน้ำสายเดิมที่ไหลลงสู่ทะเลมาก่อน ปัจจุบันมีคลองชายเคือง และคลองบางจะกา เชื่อมลำน้ำทั้งสองสายนี้อยู่
                      บริเวณใกล้ปากแม่น้ำ มีคลองบางสระเกล้า คลองพลิ้ว ไหลมาบรรจบแม่น้ำจันทบุรีทางฝั่งซ้าย  ลำน้ำดังกล่าวประกอบด้วยคลองเกาะขวาง คลองคมบาง คลองนาป่า มีต้นน้ำจากเขาสระบาปและเขามาบหว้ากรอก
                 แม่น้ำเวฬุ  มีต้นกำเนิดจากคลองขวางซึ่งมีต้นน้ำจากหุบเขาชะอมและเขาทุ่งตะพานหิน ในเขตอำเภอมะขาม  แม่น้ำเวฬุยาวประมาณ ๘๘ กิโลเมตร มีสาขาอยู่น้อย ได้แก่คลองเวฬุ คลองญาติ คอลงมาบไพ คลองตรอกนอง ซึ่งเกิดจากภูเขาสระบาป
                คลองเวฬุตอนบน พื้นที่ประกอบด้วยเนินเขาหนาแน่น เช่น เขาตะเสียม เขาวัด เขาสองพี่น้อง เขาเพกา ลำน้ำไหลลงมาทางทิศใต้ตั้งแต่บ้านตะลุมพุก พื้นที่ค่อนข้างราบเรียบ ลำน้ำคดเคี้ยวค่อนข้างมาก ตั้งแต่บ้านตะลุมพุกถึงบ้านตกณรงค์ ลำน้ำแยกออกเป็นสองสายแล้วกลับมารวมกันอีก  บริเวณลุ่มน้ำมีที่ราบลุ่มชื้นแฉะ ชาวบ้านเรียกว่า ตะกาด กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป  แม่น้ำเวฬุตอนที่กว้างที่สุดกว้างประมาณ ๓ กิโลเมตร
                 พื้นที่ปากแม่น้ำเวฬุเป็นที่ราบลุ่มต่อเนื่องกับแม่น้ำจันทบุรี เริ่มตั้งแต่ชายฝั่งเกาะเปริด จนถึงสะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรีตามถนนสุขุมวิท
                 บริเวณปากแม่น้ำเวฬุ ลำน้ำแยกออกเป็นสองสาย สายแรก ปากน้ำเวฬุจากบ้านท่าจอด ถึงปากแม่น้ำ สายที่สองเริ่มตั้งแต่คลองวันยาว ซึ่งไหลผ่านเทศบาลตำบลขลุง ลำน้ำช่วงนี้ ๑.๕ - ๒.๐ กิโลเมตร ลำน้ำไหลคดเคี้ยวมีลำคลองสาขาเชื่อมระหว่างลำน้ำทั้งสองสาย
           แหล่งน้ำขนาดกลาง จากการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร กรมชลประทานและกรมการพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน วางแผนพัฒนาลุ่มน้ำ โดยให้กรมชลประทานก่อสร้าง ดังนี้
                 อ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย  อยู่ในตำบลคลองพลู ถึงอำเภอเขาคิชฌกูฏ มีความจะประมาณ ๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยพื้นที่เกษตรประมาณ ๒๐,๐๐๐ ไร่ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗
                 อ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว  อยู่ในเขตตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ มีความจุประมาณ ๓๔ ล้านลูกบาศก์ ช่วยพื้นที่เกษตรประมาณ ๓๐,๐๐๐ ไร่
                 อ่างเก็บน้ำคลองตารอง  อยู่ในเขตตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ มีความจุประมาณ ๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยพื้นที่เกษตรประมาณ ๒๐,๐๐๐ ไร่
                 อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด   อยู่ในตำบลสามพี่น้อง อำเภอแก่งหางแมว มีความจุประมาณ ๗๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยพื้นที่เกษตรประมาณ ๖๖,๐๐๐ ไร่
                 อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อยู่ในตำบลสามพี่น้อง อำเภอแก่งหางแมว มีความจุประมาณ ๕๒ ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยพื้นที่เกษตรประมาณ ๕๗,๐๐๐ ไร่
                 อ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่  อยู่ในตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว มีความจุประมาณ ๕๓ ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยพื้นที่เกษตรประมาณ ๑๘,๐๐๐ ไร่
                 อ่างเก็บน้ำคลองตรกนอง  อยู่ในตำบลตรกนอง อำเภอขลุง มีความจุประมาณ ๓ ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยพื้นที่เกษตรประมาณ ๑,๔๐๐ ไร่
                 อ่างเก็บน้ำคลองโป่งร้อน  อยู่ในตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอโป่งน้ำร้อน มีความจุประมาณ ๒๑ ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยพื้นที่เกษตรประมาณ ๒๑,๐๐๐ ไร่
                 อาคารชลประทานถาวร  อยู่ในตำบลวังโตนด อำเภอนายายอาม ช่วยพื้นที่เกษตรในตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ และตำบลวังโตนด อำเภอนายายอาม
                 เขื่อนทุ่งเพล  อยู่ในตำบลพลวง และตำบลฉนัน อำเภอมะขาม เป็นเขื่อนเอนกประสงค์ ผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละประมาณ ๓๐ ล้านหน่วย เก็บกักน้ำได้ประมาณ ๘๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยพื้นที่เกษตรประมาณ ๗๕,๐๐๐ ไร่
                 ฝายยางกั้นแม่น้ำจันทบุรี  อยู่ที่บ้านท่าระม้า ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม ช่วยพักเก็บน้ำในแม่น้ำจันทบุรี ไม่ให้ไหลลงทะเลเร็ว และเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม เอ่อเข้ามาในพื้นที่การเกษตร
                 อ่างเก็บน้ำคลองบอน  อยู่ในตำบลหนองตามา อำเภอโป่งน้ำร้อน มีความจุประมาณ ๒.๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยพื้นที่ชลประทานประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่
ป่าไม้

            จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ ๑,๘๗๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณร้อยละ ๒๙ ของพื้นที่จังหวัด มีป่าสงวนแห่งชาติ ๑๗ แห่ง อุทยานแห่งชาติ ๒ แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติน้ำตกพริ้ว และอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ วนอุทยาน ๑ แห่งคือ วนอุทยานเขาแหลมสิงห์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ๑ แห่งคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และป่าไม้ถาวร ตามมติ ครม. ๑ แห่งคือ ป่าโป่งน้ำร้อน
ประชากร
            ประชากรเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ มีประมาณ ๒๘๔,๐๐๐ คน ความหนาแน่นเฉลี่ยประมาณ ๗๔ คนต่อ ๑ ตารางกิโลเมตร อำเภอที่มีประชากรมากสามอันดับคือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอท่าใหม่ และอำเภอสอยดาว
            ศาสนา  ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประมาณร้อยละ ๙๔.๕ ศาสนาคริสต์ ประมาณร้อยละ ๒.๕ ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ ๐.๑ ศาสนาอื่น ๆ ประมาณร้อยละ ๒.๙
            มีวัดในพระพุทธศาสนาอยู่ ๒๖๕ วัด โบสถ์คริสต์ ๙ โบสถ์ และมัสยิด ๑ มัสยิด
            อาชีพ  ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ทำนา และประมง รวมประมาณร้อยละ ๘๐ ประกอบอาชีพด้านธุรกิจภาคเอกชนประมาณร้อยละ ๑๔ รับราชการประมาณร้อยละ ๖
            กลุ่มชนต่าง ๆ นอกจากชาวไทยแล้ว ยังมีกลุ่มชนอื่นในจังหวัดจันทบุรี ดังนี้
                 ชาวชอง  เชื่อกันว่าเป็นชนพื้นเมืองเดิมในดินแดนแถบนี้ ส่วนใหญ่รวมกลุ่มกันอยู่บริเวณเชิงเขาสอยดาว และเขาคิชฌกูฏ ในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอมะขาม และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ โดยเฉพาะในตำบลตะเคียนทอง คลองพลู และพลวง
                 ชาวชองมีรูปร่างสันทัด สูงประมาณ ๕.๐ - ๕.๕ ฟุต ผมหยิกขอด ตาโต ริมฝีปากหนา อยู่ในกลุามเขมร-มอญ ซึ่งเป็นสาขาย่อยของกลุ่ม ออสโตร - เอเชียติค
                 ชาวชอง มีภาษาพูดและวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง นับถือผีบรรพบุรุษ มีการทำพิธีเซ่นไหว้ทุกปี เป็นการรวมญาติ เรียกว่า พิธีเลี้ยงผีหิ้ง ผีโรง แต่เดิมชาวชองอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเชิงเขา ปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่อย่างง่าย ๆ  และมักโยกย้ายที่อยู่ หากมีคนตายในบ้าน
                 อาชีพ นอกจากปลูกข้าวไร่แล้ว ยังเป็นนักเก็บของป่า และเป็นพรานที่ชำนาญ ปัจจุบันประกอบอาชีพทำสวนผลไม้และรับจ้าง
                 ชาวจีน  จันทบุรีมีชุมชนชาวจีนดั้งเดิม อยู่ตามชายฝั่งทะเลหลายแห่ง ทั้งในเขตอำเภอขลุง อำเภอแหลมสิงห์ และอำเภอท่าใหม่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง และค้าขาย
                 ในเขตอำเภอเมืองมีชุมชนชาวจีนเก่าเป็นจีนฮกเกี้ยน อยู่บริเวณริมแม่น้ำจันทบุรี เรียกว่า ย่านท่าหลวง ไปถึงบริเวณชุมชนชาวญวน ที่เรียกว่า ตลาดล่าง โดยมีศาลเจ้าเป็นที่หมายเขต ชาวจีนเป็นผู้บุกเบิกก่อการหลายอย่าง เช่น การต่อเรือสำเภา การค้า รวมทั้งเป็นนายอากรส่วยด้วย
                ชาวญวน  ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดจันทบุรีตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย จากประวัติวัดคาทอลิกจันทบุรี มีว่าสังฆราชซัวปิออง เดอซิเซ ได้ให้บาทหลวงเฮิด เดินทางมาดูแลพวกคาทอลิกชาวญวนที่อพยพหนีภัยทางศาสนาในญวนเข้ามาอยู่ในจันทบุรี ก่อนหน้าที่บาทหลวงเฮิดเดินทางมาถึง เมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๔ (รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) พบว่าขณะนั้น จันทบุรีมีพวกคาทอลิกชาวญวนอยู่ประมาณ ๑๓๐ คน บาทหลวงเฮิดได้สร้างโบสถ์หลังเล็ก ๆ ขึ้น ต่อมาได้มีการย้ายอีกสามครั้ง จนมาตั้งอยู่บริเวณปัจจุบัน หลังจากนั้นชุมชนชาวญวนคริสต์ก็ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมาเมื่อชุมชนชาวญวนริมแม่น้ำจันทบุรี ไม่สามารถขยายเขตไปได้อีก จึงแยกไปตั้งในถิ่นอื่นเช่น ที่อำเภอขลุง อำเภอท่าใหม่ และบ้านท่าแฉลบ
                 ชาวเขมร  เนื่องจากจันทบุรีมีเขตแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา จึงมีหมู่บ้านชาวเขมรอยู่ตามแนวชายแดนหลายแห่ง เช่น บ้านแหลม บ้านโอลำเจียก และบ้านผักกาด อำเภอโป่งน้ำร้อน
                 ชาวกุหล่า  เป็นชนกลุ่มน้อยจากพม่า เข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดจันทบุรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ชาวกุหล่าเรียกตนเองว่า ไต แต่คนไทยจะเรียกว่า ไทยใหญ่ ชาวเขมรจะเรียกชาวต่างชาติว่า กาลา ชื่อกุหล่า ก็เรียกตามภาษาเขมร แต่เพี้ยนเสียงเป็น กุหล่า
                 ผู้สูงอายุของชาวกุหล่าเล่าให้ฟังว่า พวกเขาอพยพมาตามพลอย โดยเริ่มเข้ามาทำพลอยที่ตำบลบางกะจะ ต่อมาได้อพยพไปทำพลอยที่บ่อไร่ แล้วข้ามไปถึงบ่อไพลิน บ่อเวฬุ และได้กลับมาตั้งถิ่นฐานในจันทบุรีในช่วงหลังปี พ.ศ.๒๔๙๘
             ภาษา  ภาษาพูดของชาวจันทบุรีจัดอยู่ในกลุ่มภาษาไทยถิ่นตะวันออก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะคล้ายกับภาษาไทยกลาง จะต่างกันบ้างตรงวิธีการออกเสียง ซึ่งดูหนักแน่นจริงจัง และมีศัพท์บางคำที่ใช้กันเฉพาะท้องถิ่น สำเนียงพูดฟังได้ไม่ยากนัก  การออกเสียงสูงต่ำหลายคำแตกต่างไปจากสำเนียงกรุงเทพ ฯ
            นอกจากนี้สำเนียงในท้องถิ่นต่าง ๆ ยังมีระดับเสียงต่างกันอีก เช่น สำเนียงท่าใหม่ สำเนียงขลุง สำเนียงแหลมสิงห์ และกลุ่มหมุ่บ้านตะกาดเง้า บางกะไชย ชำห้าน จะออกสำเนียงคล้ายคลึงกับสำเนียงทางภาคใต้
ทำเนียบพระยาจันทบุรี และผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรี
            ตำแหน่งผู้ครองเมืองจันทบุรีเรียกว่า พระะยาจันทบุรี ตำแหน่งนี้ใช้เรียกกันมานานจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ผู้ว่าราชการเมือง จะมีบรรดาศักดิ์อย่างอื่น แต่พระองค์ก็ยังคงเรียกว่า พระยาจันทบุรี อยู่
            ตามทำเนียบกฎหมายเก่า ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีมีราชทินนามว่า พระยาวิชชยาธิบดีศรีณรงค์ฤาชัยอภัยพิระยะพาหา เพิ่งมายกเลิกเมื่อมีกฎหมายจัดการปกครองใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙
            นามผู้ครองเมืองจันทบุรีปลายสมัยอยุธยา และต่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีดังนี้
                 ก่อนสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  เจ้าขรัวหลาน (ราษฎรเลือกตั้งขึ้นเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา) คำว่า เจ้าขรัว เป็นนามเรียกคหบดีจีน ที่มาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย
                 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  นายแก้ว (ตั้งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
                 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้ามหาราช  มีอยู่สามท่านด้วยกันคือ
                      - นายสมบุญ (ถูกถอด)
                      - นายพัก (ถูกถอด)
                      - นายสมบุญ (ที่ถูกถอดครั้งแรก ได้รับแต่งตั้งใหม่จนถึงอนิจกรรม)
                 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีอยู่สามท่าน คือ นายลา
                      - นายกล่อม (ภายหลังต้องโทษ)
                      - นายเส้ง (ภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสมบัติยาภิบาล)
                 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีอยู่ห้าท่านคือ
                      - นายโก ได้เลื่อนเป็นพระยาสุนทรเศรษฐี
                      - พระยาโชฎึก (ฉิม) ได้เลื่อนเป็นพระยาพลเทพ
                      - พระยาชลบุรี (ทองอิน) ภายหลังมีความผิดด้วยปล่อยทูตญวนเข้ามาถึงจันทบุรี จึงถูกย้ายกลับไปเป็นพระยาชลบุรีตามเดิม
                      - พระยานนทบุรี (สองเมือง) ภายหลังได้เป็นพระยาไกรโกษา รับราชการในกรุงเทพ ฯ
                 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่สองท่านคือ
                      - หลวงสุนทร (เมือง) ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอรรคราชนารถภักดี ในกรมท่า
                      - พระศิลาการวิจารณ์ (โต บุนนาค) บุตรพระยาอภัยพิพิธ (กระต่าย) เดิมมาทำการกับบิดาเมื่อครั้งสร้างค่ายเนินวง มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิชัยธิบดี ฯ
                 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                      - พระยาวิชชยาธิบดี
                      - พระศรีธรรมศาสน์ (หวาด บุนนาค) ต่อมาเป็นพระยาอรรคราชนารถภักดี
                      - พระเทพสงคราม (แบน บุนนาค) บุตรพระยาอรรคราช ฯ (หวาด บุนนาค)
                ต่อมา เมื่อเริ่มปกครองเป็นจังหวัดและมณฑล จึงมีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วเปลี่ยนเป็นข้าหลวงประจำจังหวัด แล้วเปลี่ยนกลับเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอีก

| หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์