ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > กรณีพิพาทฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสดำเนินการ อังกฤษเคลื่อนไหว ไทยเตรียมการ การรบที่ปากน้ำ หลังการรบ ฝรั่งเศสยื่นคำขาด ฝรั่งเศสปิดอ่าวไทย เจรจาสงบศึก ไทยเสียดินแดน จันทบุรีถูกยึด

| หน้าต่อไป |

กรณีพิพาท ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.๑๑๒

เหตุการณ์ก่อน ร.ศ.๑๑๒

1  สิบสองพันนา
2  เชียงรุ้ง
3  จีน
4  สิบสองจุไท
5  แถง
6  ตังเกี๋ย
7  จีน
8  อ่าวตังเกี๋ย
9  เกาะไหหลำ
10  หัวพันทั้งห้าทั้งหก
11  วิญ
12  คำโล
13  เว้
14  เขมราฐ
15  จำปาศักดิ์
16  โขง (สีทันดร)
17  สตึงเตรง (เชียงแตง)
18  ไซ่ง่อน
19  เขมร
20  พนมเปญ
21  เสม็ดนอก
22  แนวปิดอ่าว
23  แนวปิดอ่าว
24  เวียงจันทน์
25  เชียงขวาง
26  หลวงพระบาง

ลาวและเขมรเคยเป็นประเทศราชของไทย
            ประเทศลาวและเขมรเคยเป็นประเทศราชของไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาตลอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ บางคราวในห้วงเวลาดังกล่าวเมื่อไทยอ่อนแอ พม่าซึ่งเป็นประเทศข้างเคียงทางทิศตะวันตกและญวนทางทิศตะวันออก มีกำลังและอำนาจมากขึ้น ลาวก็จะยอมตกไปอยู่ในอำนาจของพม่าบ้าง และของญวนบ้างตามสภาวะแวดล้อม ส่วนเขมรนั้นบางคราวก็ได้อาศัยกำลังหนุนจากญวน และตกอยู่ใต้อิทธิพลของญวน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ ฝรั่งเศสได้ส่งเมอซิเออร์ เดอมองติญี (Monsieur de Montigny) เป็นราชฑูตเข้ามาเจรจาทำสัญญาทางพระราชไมตรี และการค้ากับไทย โดยยึดถือแนวทางการทำสัญญาเช่นเดียวกับอังกฤษ ที่ได้ทำไว้กับไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ได้เริ่มมีกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ กงสุลฝรั่งเศสคนแรกคือ คองต์ เดอ คาสเตลโน (Conte de Castenau)
            ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ ไทยได้ส่งพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร  บุนนาค) ไปทำสัญญากับฝรั่งเศสเรื่องเมืองเขมรกับฝรั่งเศสที่กรุงปารีส ตามสัญญาฉบับนี้ไทยยอมรับรู้ว่าเขมรอยู่ใต้ความคุ้มครองของฝรั่งเศส ส่วนเมืองพระตะบองและเสียมราฐนั้น ฝรั่งเศสยอมให้ไทยปกครองตามเดิม ต่อมาไทยกับฝรั่งเศสเริ่มแบ่งเขตแดนไทยกับเขมรบริเวณทะเลสาบกับแม่น้ำโขง ฝ่ายไทยต้องการเมืองจงกัล เมืองโซเตียน เมืองมโนไพร และเมืองท่าราชปริวัตรเป็นของไทย
            ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ ไทยได้ส่งพระยาราชวรากูล (บุญรอด  กัลยาณมิตร) ไปเจรจากับฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อน เกี่ยวกับปัญหาเขตแดนและการภาษีจับปลาในทะเลสาบ การเจรจาปัญหาเขตแดนไม่คืบหน้านัก เนื่องจากฝรั่งเศสเริ่มทำสงครามกับเยอรมนี
            ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ไทยยกกำลังไปปราบฮ่อ โดยมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพ ฝรั่งเศสได้กล่าวหาไทยว่าถือโอกาสรุกล้ำเข้าไปในดินแดนลาว ซึ่งอยู่ในอำนาจของญวน ซึ่งฝรั่งเศสกำลังจัดการปกครองเมืองญวนอยู่ ต่อมาไทยกับฝรั่งเศสได้ตกลงทำอนุสัญญาเมืองหลวงพระบาง โดยมี ม.ปาวี (Auguste Pavie) เป็นไวซ์กงสุล (Viee Consul) ประจำเมืองหลวงพระบาง เพื่อทำหน้าที่ดูแลความเคลื่อนไหวของไทยในดินแดนลาว และสำรวจการสร้างทางระหว่างตังเกี๋ยกับแม่น้ำโขง
            ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ไทยกับฝรั่งเศสได้เจรจาเรื่องปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับญวน โดยตั้งกรรมการผสม โดยมี ม.ปาวี เป็นหัวหน้าคณะ ออกทำการสำรวจแผนที่และภูมิประเทศชายแดน และในปีต่อมาไทยกับฝรั่งเศสได้ตกลงกันว่า กองทหารไทยจะไม่เข้าไปในแคว้นสิบสองจุไทย ส่วนในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และแคว้นพวน คงให้อยู่ในสถานะเดิมคือ ทหารฝ่ายใดตั้งอยู่ที่ใดก็ให้คงอยู่อย่างนั้น ห้ามรุกล้ำเขตซึ่งกันและกัน จนกว่าจะได้ทำความตกลงกันที่กรุงเทพ ฯ ส่วนทางด้านคำเกิด คำม่วน กองทหารไทยยกไปตั้งจนถึงเขตแดนญวน ม.ปาวี ก็ได้ทำความตกลงกับข้าหลวงเมืองหนองคาย ให้ต่างฝ่ายต่างรักษาสถานะเดิม คือให้ฝ่ายไทยอยู่ที่คำม่วน ฝรั่งเศสอยู่บ้านนาเป
            ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ม.ปาวี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นไวซ์กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ และได้เลื่อนฐานะเป็นราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๕
            ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสชื่อ ม.เดอลองดล์ ได้เสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศสให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้กำลังกับไทยในปัญหาดินแดน ซึ่งเคยเป็นของญวนและเขมร รัฐสภาฝรั่งเศสเห็นชอบ และให้รับดำเนินการต่อไป จากนั้นฝรั่งเศสได้ยกกำลังทหารเข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และส่งเรือปืนลูแตงเข้ามายังกรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการใช้กำลัง ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ใน ร.ศ.๑๑๒

การปราบฮ่อของไทย ระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๘ - ๒๔๓๑
            พวกฮ่อคือพวกจีนที่ร่วมกับการกบฏไต้เผง (Taiping Rebellion) ที่มุ่งหมายจะให้จีนพ้นจากอำนาจของพวกแมนจู จนเกิดการรบพุ่งกันเป็นการใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๕ พวกไต้เผงแพ้ต้องหลบหนีไปซุ่มซ่อนตัวตามป่าเขาในมณฑลต่าง ๆ ของจีน ในมณฑล ยูนาน ฮกเกี้ยน กวางไส กวางตุ้ง เสฉวน และส่วนหนึ่งหนีมายังตังเกี๋ย ทางตั้งเกี๋ยจึงดำเนินการปราบปรามทำให้พวกฮ่อต้องหนีไปอยู่ที่เมืองซันเทียน ซึ่งตั้งอยู่ชายแดนสิบสองจุไท เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ และได้ประพฤติตนเป็นโจรเที่ยวปล้นบ้านเมืองในดินแดนสิบสองจุไท และเมืองพวน
            ฝ่ายไทยเริ่มทำการปราบฮ่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะถือว่าพวกฮ่อเข้ามาก่อการกำเริบในราชอาณาจักรไทย
            ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ พวกฮ่อได้ยกกำลังมาตีจนถึงเมืองพวน เจ้าเมืองเชียงขวางได้ไปขอกำลังจากญวนมาช่วยแต่แพ้ฮ่อ ฮ่อยึดได้เมืองเชียงขวาง และได้ตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ทุ่งเชียงคำ และเตรียมการเข้าตีเมืองหลวงพระบาง และเมืองหนองคาย ต่อไป
            ในปี พ.ศ.๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดส่งกองทัพจากกรุงเทพ ฯ ไปปราบฮ่อ ซึ่งได้ยกกำลังล่วงล้ำเข้ามาจนถึงเมืองเวียงจันทน์ การปราบปรามฮ่อของไทยดำเนินการอยู่จนถึงปี พ.ศ.๒๔๒๘ จึงได้ถอนกำลังจากทุ่งเชียงคำ กลับมายังเมืองหนองคาย เนื่องจากขาดเสบียงอาหาร และแม่ทัพคือ พระยาราชวรากูลถูกฮ่อยิงบาดเจ็บ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมทหารที่ได้รับการฝึกหัดตามแบบยุโรปขึ้นไปปราบฮ่อ โดยจัดเป็นสองกองทัพคือ กองทัพฝ่ายใต้ และกองทัพฝ่ายเหนือ
           

กองทัพฝ่ายใต้ มีนายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพ ยกไปปราบฮ่อในแคว้นเมืองพวน ยกกำลังออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๘ ใช้เวลาเดินทางสามเดือนถึงเมืองหนองคาย และได้ตั้งกองบัญชาการกองทัพอยู่ที่เมืองหนองคาย แล้วให้พระอมรวิไสยสรเดช (โต  บุนนาค) ยกทัพหน้าไปตีค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ พวกฮ่อได้หนีไปในเขตญวน กองทัพไทยจึงรื้อค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำเสีย
            กองทัพฝ่ายเหนือ  มีนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม  แสงชูโต) เป็นแม่ทัพ ยกไปปราบฮ่อในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก ยกกำลังออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๘ ไปชุมนุมทัพที่เมืองพิชัย แล้วเดินทัพต่อไปยังเมืองน่าน แล้วยกกำลังไปถึงเมืองหลวงพระบาง เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๘ จากนั้นได้เคลื่อนกำลังเข้าสู่แคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก เมื่อปราบฮ่อในแคว้นนี้ได้แล้วจึงได้ยกกำลังไปปราบฮ่อในแคว้นสิบสองจุไท เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙ สามารถปราบฮ่อได้ราบคาบ แล้วจึงยกกำลังกลับถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๐
            ต่อมาพวกฮ่อได้รุกจากสิบสองจุไท ลงมาตีเมืองหลวงพระบางได้ เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ นายพลตรีพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม  แสงชูโต) เป็นแม่ทัพยกกำลังไปปราบฮ่ออีกครั้งหนึ่ง โดยให้ทัพหน้าออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๐ ในการปราบฮ่อครั้งนี้ ทางรัฐบาลฝรั่งเศสตกลงว่าจะทำการปราบ ในเขตแดนของฝรั่งเศสด้วย กองทัพไทยยกกำลังไปถึงเมืองหลวงพระบางเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๐
            ฝรั่งเศสได้ยกกองทัพจากเมืองเลากายมาตีเมืองไล เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๐ เมื่อตีเมืองไลได้แล้วก็เคลื่อนกำลังไปยังเมืองแถง จากนั้นได้ยกกำลังติดตามฮ่อไปทางเมืองม่วย เมืองลา
            ฝ่ายไทยเห็นพฤติกรรมของฝรั่งเศสดังกล่าว ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้ฝรั้งเศสเข้ายึดดินแดนที่ถือว่าเป็นของไทย หลวงดัษกรปลาส แม่ทัพหน้าของไทย และนายทหารอื่น ๆ จึงได้คุมกำลังไปรักษาเมืองแถง เมืองซ่อน เมืองแวน เมืองสบแอด และเมืองเชียงค้อเอาไว้ ส่วนกองทัพใหญ่ของไทยคงตั้งมั่นอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง เป็นเวลา ๘ เดือน เป็นการคุมเชิงกันระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพฝรั่งเศส
            ต่อมาองบา หัวหน้าฮ่อที่จงรักภักดีต่อไทย ได้ถึงแก่กรรม พวกฮ่อได้แตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า และได้ไปเข้าเป็นพวกกับฝรั่งเศสมากขึ้น กองทัพฝรั่งเศสจึงได้รุกเข้ามาในสิบสองจุไท มาประจัญหน้ากับกำลังทหารไทยที่ตั้งรักษาเมืองแถง นายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี จึงยกกองทัพใหญ่จากหลวงพระบาง เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๑ ไปถึงเมืองแถงเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๑ ม.ปาวีได้เข้าพบแม่ทัพไทย แถลงว่าสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหก เป็นเมืองขึ้นของญวน ขอให้ทัพไทยถอยออกไปให้พ้นเขต แต่แม่ทัพไทยได้ยืนยันสิทธิและอำนาจของไทย เหนือดินแดนดังกล่าว และปฏิเสธไม่ยอมถอนทหาร จนกว่าจะได้รับคำสั่งจากรัฐบาล
            ในที่สุด ผู้บังคับการทหารฝรั่งเศสในแคว้นสิบสองปันนาคือ นายพันตรี เปนเนอแกง ได้ทำสัญญากับพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๑ มีความดังนี้
            ๑.  ในระหว่างที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ข้อตกลงกัน ทหารฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ในสิบสองจุไท ทหารไทยจะตั้งอยู่ในหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองพวน ต่างฝ่ายต่างจะไม่ล่วงเข้าไปในเขตซึ่งกันและกัน
            ๒.  ที่เมืองแถงนั้นทหารไทยและทหารฝรั่งเศส จะตั้งรักษาอยู่ด้วยกันจนกว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน
            ๓.  ไทยและฝรั่งเศสจะช่วยกันปราบฮ่อที่เป็นโจรผู้ร้ายอยู่ตามเขตแดนของตนให้สงบราบคาบ
            พระยาสุรศักดิ์มนตรีได้ถอยทัพใหญ่มาอยู่ที่หลวงพระบาง ฝ่ายฝรั่งเศสพยายามจะให้ทหารไทยที่เมืองแถงถอยลงมา แต่แม่ทัพไทยปฏิเสธเด็ดขาด และแจ้งว่าพร้อมที่จะรบ ทำให้ฝรั่งเศสต้องสงบอยู่ ทางกรุงเทพ ฯ เมื่อเห็นเหตุการณ์สงบลงแล้วจึงให้กองทัพกลับจากหลวงพระบาง เจ้าเมืองหลวงพระบาง ได้ร้องทุกข์ว่ากลัวพวกฮ่อและฝรั่งเศสจะมารบกวนอีก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระพลัษฎานุรักษ์เป็นข้าหลวงบังคับการฝ่ายทหารอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง กับให้หลวงดัษกรปลาสอยู่ช่วยราชการด้วย กองทัพไทยได้ยกกำลังออกจากหลวงพระบาง เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๑ เดินทางกลับกรุงเทพ ฯ
            ในการปราบฮ่อครั้งนี้ ไทยได้ให้มิสเตอร์ แมคคาร์ธี ชาวอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็นพระวิภาคภูวดล ทำแผนที่ชายแดนทางภาคเหนือ จนถึงสิบสองจุไท แต่ยังไม่ได้ปักปันเขตแดน เพราะฝรั่งเศสหาว่าไทยรุกล้ำอาณาเขตของญวน ฝรั่งเศสมักส่งคนเข้ามาในเขตนี้อยู่เสมอ เช่น เข้ามาค้าขายบ้าง มาระเบิดแก่ลี่ผีในแม่น้ำโขงบ้าง มาบังคับให้ข้าหลวงไทยที่รักษาเมืองหน้าด่านให้ทำถนนบ้าง แต่ไทยพยายามจัดการให้ฝรั่งเศสกลับออกไปทุกครั้ง
            ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมหัวเมืองฝ่ายเหนือ และจัดแบ่งออกเป็นภาค ๆ เพื่อสดวกในการปกครอง โดยมีข้าหลวงไปประจำรักษาเป็นภาค ๆ ดังนี้
            ภาคลาวกาว  มีเมืองอุบล เมืองจัมปาศักดิ์ เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองอัตบือ เมืองสาลวัน เมืองคำทองใหญ่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองศรีษะเกษ เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ เมืองกมลาศัย เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม รวมเมืองใหญ่ ๒๑ เมือง เมืองขึ้นอีก ๔๓ เมือง มีกรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่
            ภาคลาวพวน  มีเมืองหนองคาย เมืองเชียงขวาง เมืองบริคัณหนิคม เมืองโพนพิสัย เมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร เมืองขอนแก่น เมืองหล่มศักดิ์ รวมเมืองใหญ่ ๑๑ เมือง เมืองขึ้นอีก ๓๖ เมือง มีกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่
            ภาคลาวเฉียง  มีเมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองน่าน เมืองแพร่ เมืองเถิน เมืองเชียงราย และเมืองขึ้นของหัวเมืองเหล่านั้น มีพระยาไกรโกษา เป็นข้าหลวงใหญ่
            ภาคลาวพุงขาว  มีเมืองหลวงพระบาง สิบสองปันนา สิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นในพระราชอาณาเขต มีกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญ่ และได้ให้พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุข) รักษาราชการแทน
            สำหรับหัวเมืองในแคว้นสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหก บางคราวหัวเมืองดังกล่าวก็อยู่ใต้อิทธิพลของญวน เรียกว่า เมืองสองฝ่ายฟ้า คือขึ้นกับทั้งสองฝ่าย คือ ขึ้นกับหลวงพระบางด้วย และขึ้นกับญวนด้วยในเวลาเดียวกัน ส่วนเมืองที่อยู่ใกล้กับจีนก็จำต้องขึ้นกับจีนด้วย เรียกว่า เมืองสามฝ่ายฟ้า
ประมวลข้อมูลจากสื่อมวลชนของฝรั่งเศสและอังกฤษ
            หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ได้ให้ความเห็นเรื่องไทยกับฝรั่งเศสพิพาทกันด้วยเรื่องเขตแดน เป็นทำนองส่งเสริมรัฐบาลฝรั่งเศสว่า ควรให้แม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับดินแดนของฝรั่งเศสในอินโดจีน ดินแดนลาวที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเคยเป็นของญวนและเขมร เพิ่งตกมาเป็นของไทยเป็นเวลาไม่นานนัก ควรแล้วที่จะให้ตกอยู่กับญวนและเขมรผู้เป็นเจ้าของเดิมอีก
            หนังสือพิมพ์อังกฤษ ชื่อ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ รายงานข่าวว่า ลอร์ด แลมมิงตัน ได้ถามรัฐมนตรีว่าการประเทศอินเดีย พม่า และมอญ ในที่ประชุมรัฐสภาอังกฤษที่กรุงลอนดอนว่า การแบ่งปันเขตแดนระหว่างประเทศไทย และเมืองเงี้ยวฝ่ายเหนือทั้งปวงที่ขึ้นแก่อังกฤษนั้น ได้ตกลงกันเสร็จแล้วหรือไม่ และการที่ปลัดกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสได้พูดในรัฐสภาฝรั่งเศสที่กรุงปารีสว่า รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกร้องจะเอาลำน้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน ระหว่างประเทศไทย กับประเทศญวนและตังเกี๋ย ซึ่งอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสนั้น รัฐมนตรีจะดำริเห็นประการใด ทางรัฐมนตรี ฯ ได้ตอบว่า อังกฤษได้สัญญาตกลงกับประเทศไทยแล้ว ในเรื่องการแบ่งปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและหัวเมืองเงี้ยวฝ่ายเหนือ ข้าหลวงไทยและข้าหลวงอังกฤษ ได้ไปตรวจแดนต่อแดนพร้อมกัน เพื่อจะได้ปักหลักแบ่งอาณาเขตตามที่ได้ตกลงกันแล้ว
            หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ของอังกฤษ ฉบับวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕ ได้เสนอข่าวว่า กรณีพิพาทเรื่องเขตแดนฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยอมให้มหาประเทศที่เป็นกลางตัดสิน และทางฝรั่งเศสได้มีคำสั่งไปยังราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ ว่าให้แจ้งต่อรัฐบาลไทยให้ทราบว่า ไม่ยอมให้ผู้ใดล่วงล้ำเขามาย่ำยีเขตแดนฝั่งซ้ายลำน้ำโขงอีกต่อไป ถือว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นของฝรั่งเศสแล้ว และได้สั่งให้ราชฑูตจัดการให้สำเร็จจนได้
            หนังสือพิมพ์อังกฤษ ชื่อ ฮ่องกงเดลีเพสส์ เสนอข่าวว่า ข้อพิพาทเรื่องดินแดนไทยกับฝรั่งเศสซึ่งยังโต้เถียงกันอยู่ ฝรั่งเศสแถลงว่า อาณาเขตตลอดฝั่งซ้ายลำน้ำโขงนั้น เป็นของญวน ซึ่งอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศสทั้งสิ้น ฝ่ายไทยก็แถลงว่า ลำน้ำโขงนั้นไม่ใช่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับญวน อาณาเขตของไทยอยู่เกินลำน้ำโขง เข้าไปจนถึงแนวภูเขาที่อยู่ทางทิศตะวันออกของลำน้ำโขง
            เมื่อเป็นเช่นนี้ คงจะต้องเกิดสงคราม เพราะไทยคงจะไม่ยอมถอยออกไปจากเขตแดนที่เป็นข้อพิพาทเป็นแน่ คงจะต้องต่อสู้ป้องกันเขตแดนเหล่านี้ไว้จนถึงที่สุด อย่างไรก็ตามไม่เห็นฝรั่งเศสจัดการเข้ารักษาเขตแดนดังกล่าวแต่ประการใด และไม่เห็นมีหลักฐานที่สำคัญอันใดที่จะต้องเป็นองค์พยานว่า เขตแดนดังกล่าวนี้เป็นของญวน นอกจากหลักอาณาเขตที่หมายไว้ว่าเป็นของญวนในแผนที่ ซึ่งฝรั่งเศสทำเอาเองตามชอบใจ
            ฝ่ายไทยกำลังตั้งด่าน และแผ่อำนาจในเขตแดนเหล่านี้อยู่ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำมานานแล้ว ต่อเมื่อมีการแย่งชิงเขตแดนกันไทยจึงเพิ่งค้นหลักฐานสำคัญ ที่จะใช้อ้างว่าเขตนั้น ๆ เป็นของไทย
            ดินแดนตั้งแต่ฝั่งซ้ายลำน้ำโขงจนถึงแนวภูเขาซึ่งกันอาณาเขตญวนนั้น ที่จริงหาได้เป็นอาณาเขตของผู้ใดไม่ เมื่อไทยล่วงเข้าไปตั้งด่าน และตั้งโรงภาษี ฝรั่งเศสก็อยากจะทำบ้างให้เหมือนกัน โดยหาเหตุอ้างว่าเป็นเขตแดนของญวนมาแต่ก่อน
            ดังนั้นจึงหวังว่า การเจรจาการเมืองกันโดยทางฑูตอาจระงับข้อพิพาทได้ ไม่อยากให้เกิดมูลสงครามขึ้นในทิศตะวันออกระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเลย
การดำเนินการของฝรั่งเศส
            สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสได้ นำปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ โดยกล่าวถึงกรณีที่ ม.มาสซี ถึงแก่กรรมที่เมืองจัมปาศักดิ์ และขอให้ถือเอามรณกรรมของ ม.มาสซี มาใช้ประโยชน์ต่อกรณีพิพาทดังกล่าว
            ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐสภาด้วยมติที่เกือบเป็นเอกฉันท์ รัฐสภาอนุมัติให้ดำเนินการโดยทันที เกี่ยวกับปัญหาเขตแดนไทย โดยมีเงื่อนไขว่า ให้รัฐบาลใช้วิธีการที่ดีที่สุด ที่จะทำการให้สำเร็จโดยเร็ว โดยเสียเงินและเลือดเนื้อน้อยที่สุด
            เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จึงได้มีคำสั่งไปยังผู้สำเร็จราชการอินโดจีน ให้ดำเนินการขับไล่ไทยไปให้พ้นเขตแดนที่กำลังพิพาทกันอยู่ ในการนี้ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการทั่วไป ได้มีคำสั่งไปยัง ม.บรีแอร์ เรสิดงต์ สุเปริเออร์ ประจำญวนเหนือ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕ มีใจความว่า รัฐบาลฝรั่งเศสได้ตกลงใจที่จะกำจัดการรุกล้ำเขตแดนที่ฝ่ายไทยกระทำอยู่ เห็นว่าการนี้คงจะกระทำได้โดยง่าย แต่เกรงว่าในขณะที่เรากำลังดำเนินการอยู่ ทางแม่น้ำโขงตอนล่าง ฝ่ายไทยคงจะหาทางก่อเหตุเป็นศัตรูแก่เราทางประเทศญวน จึงจำเป็นต้องเพิ่มกำลังตามชายแดนให้มีมากขึ้น ในกรณีที่ตกลงดำเนินการทุกแห่งพร้อมกัน จำเป็นที่กองทหารของเราจะต้องสามารถบังคับให้ฝ่ายไทยล่าถอยไปโดยไม่ต้องให้มีการรบ และจะต้องให้การปะทะที่รุนแรงมีน้อยที่สุด กับให้ผู้บังคับกองทหารแจ้งแก่ราษฎรให้ทราบว่า รัฐบาลจะให้ความคุ้มครองเต็มที่ ให้พยายามรวบรวมชักจูงราษฎรที่อยู่ตามดอยตามเขามาเป็นพวกของเรา และพยายามทุกวิถีทางที่จะให้คนเหล่านี้มีศรัทธาต่อเรา จะต้องศึกษาพิจารณาการทำแนวถนนเชื่อมต่อระหว่างญวนกับฝั่งลำน้ำโขง ขอให้ช่วยกันทำแผนที่เส้นทางที่เป็นประโยชน์ และตั้งแต่บัดนี้ให้จัดตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ (Inspecteurs des gaurdes) ดำเนินการสำรวจถนนหนทาง และทำการตบแต่งตลอดจนการศึกษาพิจารณาการก่อสร้างถนน และในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้เลือกเฟ้นเรสิดังต์ ที่มีสติปัญญาสุขุมเป็นผู้อำนวยการและปฏิบัติการให้เป็นไปในลักษณะที่เข้มแข็งแน่นอน
            ฝรั่งเศสเริ่มดำเนินการรุกล้ำเข้าไปในเขตแดนที่ไทยยึดครองโดยแบ่งกำลังออกเป็นสามกอง ใช้ทหารอาสาสมัครญวนแลเขมรเป็นส่วนใหญ่ โดยมีนายทหารฝรั่งเศสและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เป็นผู้บังคับบัญชา
            กองที่ ๑  มีทหาร ๑ กองร้อยสมทบอยู่ด้วย มุ่งเข้ายึดเมืองสตึงเตรง หรือเมืองเชียงแตง และเมืองโขง หรือเมืองสีทันดร ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตอนล่าง สภาพของแม่น้ำโขงระหว่างสองเมืองนี้ มีเกาะแก่งอยู่มากเรือเดินไม่สะดวก เหนือจากเมืองโขงขึ้นไปจนถึงเมืองเขมราฐ จึงเดินเรือได้สะดวก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยึดเมืองโขงไว้ให้ได้ เพื่อสะดวกในการคมนาคมติดต่อกับเมืองอื่นที่อยู่ทางเหนือขึ้นไปโดยอาศัยลำน้ำโขง
            กองที่ ๑  นี้ใช้กำลังทหารญวน ๒๐๐ คน และใช้กำลังทหารเขมรเป็นจำนวนมากเดินทางด้วยเรือ ๓๓ ลำ เข้าขับไล่กำลังของไทยที่ตั้งรักษาด่านอยู่ที่ตำบลตะบงขลา (Tbong Kla) และเสียมโบก ( Siemboc) ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ ได้รุกมาถึงเมืองสตึงเตรง ขับไล่ข้าหลวงเมืองสตึงเตรง คือหลวงพิพิธสุนทร (อิน)
ให้ออกไปอยู่เมืองท่าราชปริวัตร ซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของลำน้ำโขง
            วันที่ ๔ เมษายน กำลังทหาร ๔๐๐ คน เข้ายึดเมืองโขง ซึ่งมีพระประชาคดีกิจ (แช่ม) รักษาการณ์อยู่ มีการต่อสู้กันเล็กน้อย ปลายเดือนเมษายน ร้อยเอกโทเรอซ์ได้เดินทางกลับมาทางลำน้ำโขงตอนล่างเพื่อลำเลียงเสบียง เมื่อกลับขึ้นไปเมืองโขงกระแสน้ำซึ่งไหลเชี่ยว ได้พัดเรือของเขามาทางฝั่งขวาของลำน้ำโขง ทหารไทยจับร้อยเอกโทเรอซ์พร้อมทั้งทหารอีก ๑๖ คนไว้ได้ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม แล้วนำตัวส่งกรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ซึ่งประจำอยู่ที่เมืองอุบล ทหารไทยได้ขับไล่ทหารฝรั่งเศสถอยออกไปจากเมืองโขง เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม แต่ต่อมาฝรั่งเศสได้ส่งกำลังจากเขมรมาเพิ่มเติม และได้ยึดเมืองโขงไว้ได้อีก
            ในการนี้ฝ่ายไทย กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่อุบลได้โปรดให้เกณฑ์กำลังคนจากหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อป้องกันการรุกรานจากฝรั่งเศสคือ เกณฑ์คนจากเมืองศรีษะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองละ ๘๐๐ คน  เมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร เมืองละ ๕๐๐ คน ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้าหลวงเมืองขุขันธ์ คุมกำลังไปตั้งรักษาอยู่ที่เมืองมโนไพร และเมืองเซลำเภา ให้นายสุจินดาคุมทหาร ๑๐๐ คน และกำลังคนอีก ๕๐๐ คน พร้อมด้วยศาสตราวุธเป็นทัพหน้ารีบยกออกจากเมืองอุบล เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ลงไปสมทบช่วยพระประชาคดีกิจที่เมืองสีทันดร ให้ท้าวรกิติกา คุมคนเมืองอุบล ๕๐๐ คน พร้อมศาสตราวุธ ไปสมทบกองนายสุจินดา
            วันที่ ๒๐ เมษายน ให้ราชวงศ์ และราชบุตรเมืองยโสธร ๕๐๐ คน ให้อุปฮาด (บัว) คุมคนเมืองศรีษะเกษ ๕๐๐ คน พร้อมศาสตราวุธ
ยกไปสมทบกองทัพประชาคดีกิจที่เมืองสีทันดร
            ฝ่ายไทยจัดกำลังให้นายสุจินดาคุมกำลัง ๔๐๐ คน ไปตั้งรับอยู่ที่ดอนสาคร ให้หลวงเทเพนทรเทพคุมกำลัง ๔๐๐ คน ไปรักษาดอนสะดำและท้ายดอนสาคร ให้เจ้าราชบุตรจัมปาศักดิ์คุมกำลังตามสมควรไปรักษาอยู่ท้ายดอนสม และหัวดอนเดช
            วันที่ ๒๐ พฤษภาคม กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้จัดส่งคนเมืองสุวรรณภูมิ ๕๐๐ คน เมืองร้อยเอ็ด ๓๐๐ คน ยกออกจากเมืองอุบล ไปช่วยพระประชาคดีกิจที่ค่ายดอนสาคร
            วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ฝรั่งเศสคุมกองทัพเพิ่มเติมยกมาถึงบ้านพละอีกประมาณพันคนเศษ พระประชาคดีกิจเห็นข้าศึกมีกำลังกล้า จึงรวมกำลังตั้งรับที่ดอนสะดำ ดอนเดช และดอนสม
            ไทยกับฝรั่งเศสได้ปะทะกันหลายครั้ง ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ต่างฝ่ายต่างส่งกำลังหนุนขึ้นไปบริเวณเมืองโขงหรือสีทันดร ทั้งสองฝ่ายตกลงยุติการรบ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๖
            กองที่ ๒  มีกำลังทหารประมาณ ๗๕๐ คน อยู่ในบังคับบัญชาของไวซ์เรสิดังต์ เมืองกวางบิญ หรือดองหอย ได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการอินโดจีนมีใจความว่า ให้เป็นผู้อำนวยการในแคว้นคำโล (Camlo) และให้เดินทางไปยังเมืองอายหลาว (Ailao) และให้แจ้งแก่ข้าหลวงไทยว่ามาในนามของรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อยึดดินแดนที่ควรให้ฝรั่งเศสมีอำนาจโดยชอบธรรมแต่เพียงประเทศเดียว การใช้กำลังให้ใช้ในเวลาที่เห็นว่าจำเป็นจริง ๆ กวดขันให้มีการเคารพต่อสิทธิของบุคคล และทรัพย์สมบัติของเขา ให้จัดการแก่ฝ่ายไทยให้หมดฐานะที่จะก่อกวนเราได้ยิ่งกว่าการทำลายกวาดล้างให้สิ้นไป ระวังอย่าให้ทหารไทย รวมกำลังกับกองอื่นได้
หรือส่งข่าวขอกำลังหนุนมาก่อนฝ่ายเรา ให้เข้ายึดเมืองพ้องซึ่งเป็นจุดรวมของเส้นทางที่จะไปสู่เขมราฐริมฝั่งลำน้ำโขง ให้จัดตั้งกองทหารไว้ที่เมืองพ้อง เพื่อความมั่นคงและมีอิทธิพลในบริเวณนี้ และให้รีบจัดการพิจารณาเรื่องเส้นทางที่จะสร้างถนนระหว่างดินแดนญวนกับฝั่งลำน้ำโขง สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ
จะต้องทำให้ราษฎรในท้องถิ่นมีความพอใจที่เราได้เข้ามาปกครองแทนไทย จะต้องปฏิบัติต่อเขาด้วยความดูแลเอาใจใส่ เคารพต่อธรรมเนียมของเขา หลีกเลี่ยงต่อการที่จะให้เขามีความเดือดร้อนใจ และพ้นจากการปล้นสะดม อย่าใช้แรงงานโดยเขาไม่เต็มใจ และไม่ได้ค่าจ้างตามที่สมควรจะได้
            ทหารกองนี้ออกเดินทางจากเมืองคำโล เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ ได้ปฏิบัติการอย่างรวดเร็วเข้าขับไล่ทหารไทยที่อาซาว นาบอน เมืองวัง เมืองพิน เข้ายึดเมืองพ้อง และเคลื่อนที่ถึงเมืองสองดอนดง กับตำบลนาพระสูร ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเขมราฐ ฝรั่งเศสได้จัดแบ่งกำลังทหาร และจัดการปกครองเมืองต่าง ๆ ในบริเวณนี้ โดยได้ตั้งกองบังคับการอยู่ที่เมืองสองดอนดง มีกำลังทหารอยู่ ๒๐๐ คน ที่นาพระสูร ๑๕๐ คน ที่เมืองพ้อง ๕๐ คน นาบอน ๑๐๐ คน และที่อาบหลวง ๕๐ คน กองทหารของไทยต้องล่าถอยข้ามโขงมาทางฝั่งขวา กองทัพฝรั่งเศสได้เคลื่อนที่มาถึงฝั่งโขงอย่างรวดเร็ว
            กองที่ ๓  อยู่ในบังคับบัญชาของ เรสิดังต์ เมืองวิญ ยศร้อยเอกเหล่าทหารปืนใหญ่ ได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการอินโดจีนมีใจความว่า
            ให้จัดการให้ฝ่ายไทยถอยร่นออกไปจากบริเวณเมืองคำม่วนโดยทันที และสั่งการให้ผู้บังคับกองทหารอาสาสมัคร จัดการกับฝ่ายไทยให้หมดฐานะที่ก่อกวน ฝ่ายฝรั่งเศสได้ ยิ่งกว่าที่จะทำลายกวาดล้าง จะใช้กำลังเมื่อเห็นว่าจำเป็นจริง ๆ ให้จัดการปกครองโดยแบ่งเป็นเขต ๆ ตามที่ได้เคยจัดแบ่งไว้แต่เดิม โดยมอบอำนาจให้หัวหน้าราษฎรในเขตนั้นปกครองกันชั่วคราว และสัญญาว่าจะให้หัวหน้าราษฎรเหล่านั้นเก็บภาษีอากรได้ดังเดิม กับให้ศึกษาพิจารณาถึงเส้นทางถนนที่จะสร้างจากเมืองวิญ (Vinh) ไปยังท่าอุเทน อย่าได้เกณฑ์สิ่งของจากราษฎร อย่าใช้ให้ทำงานโดยที่เขาไม่เต็มใจ
            ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ทหารกองนี้ได้ออกเดินทางจากนาเป (Nape ) และมาถึงเมืองคำม่วน ซึ่งมีค่ายทหารไทยในบังคับบัญชาของ พระยอดเมืองขวางตั้งอยู่ ทหารฝรั่งเศสได้บีบบังคับให้พระยอดเมืองขวางถอยออกไปจากเมืองคำม่วน ไปยังฝั่งขวาของลำน้ำโขงที่ปากน้ำหินบูลย์ใกล้กับท่าอุเทน ได้เกิดการปะทะกัน ทหารญวน และทหารไทยบาดเจ็บล้มตายกันหลายคน ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเสียชีวิตไปคนหนึ่ง ฝ่ายฝรั่งเศสได้ถือเป็นเรื่องสำคัญทางการเมือง จึงได้ส่งทหารมาเพิ่มเติม และได้มีการสู้รบกันที่นากายใต้ เมืองคำม่วนอย่างรุนแรง ทหารทั้งสองฝ่ายล้มตายกันมาก ในที่สุดฝ่ายไทยได้ล่าถอย
และอพยพผู้คนมาทางฝั่งขวาของลำน้ำโขง ฝรั่งเศสจึงยึดพื้นที่บริเวณเมืองคำม่วนไว้ จัดการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยต่อไป
เรือลูแตงเข้ามากรุงเทพ ฯ

            ฝรั่งเศสกล่าวหาว่าไทยไม่รักษาคำมั่นตามข้อตกลงเรื่องการรักษาสถานะเดิม คือการตกลงให้ต่างฝ่ายต่างคงอยู่ในเขตแดนเดิม
และจะไม่รุกล้ำเข้าไปในแดนเขตของอีกฝ่ายหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไทยต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และให้ไทยปล่อยตัว ร้อยเอกโทเรอซ์ ที่ไทยจับตัวไว้ด้วย ในการนี้ฝรั่งเศสได้ดำเนินการต่อไปคือ
            ๑.    ให้กองเรือฝรั่งเศสเดินทางจากทะเลจีนมารวมกำลังกันที่ไซ่ง่อน
            ๒.    ส่งทหารต่างด้าว ๑ กองพันจากเมืองโบน ซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน ในเขตแอลจีเรียให้เดินทางมาไซ่ง่อน
            ๓.    ส่ง ม.เลอมีร์ เดอวิเลรส์ เป็นราชฑูตพิเศษมาเจรจากับรัฐบาลไทยที่กรุงเทพ ฯ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย และพิจารณาตกลงในปัญหาการพิพาทที่ยังค้างอยู่
            ฝ่ายไทยได้ดำเนินการติดต่อพวกการฑูตกับอังกฤษ และเตรียมการป้องกันทางปากน้ำเจ้าพระยา
            ฝรั่งเศสได้ส่งเรือลูแตง (Lutin) เข้ามาจอดอยู่หน้าสถานฑูตฝรั่งเศส โดยมีผู้บัญชาการสถานีทหารเรือเมืองไซ่ง่อนโดยสารเข้ามาสังเกตการณ์ในกรุงเทพ ฯ เรือลูแตงเดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕ ในระหว่างนั้นราชฑูตฝรั่งเศสในกรุงเทพ ฯ ได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยยอมรับเขตแดนญวน ว่าจดถึงฝั่งซ้ายลำน้ำโขง แต่รัฐบาลไทยคัดค้าน และขอให้การปักปันเขตแดนถือเอาดินแดนที่ใครได้ปกครองอยู่ในเวลานี้เป็นเกณฑ์ แต่ถ้าทางฝรั่งเศสยืนยันได้ว่า ญวนมีสิทธิอันชอบอยู่เพียงไร เกณฑ์นี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ รัฐบาลไทยเต็มใจที่จะนำข้อที่เป็นปัญหากันอยู่ให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย และรัฐบาลไทยเห็นว่าควรจะเชิญสหรัฐอเมริกามาเป็นผู้ตัดสิน แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธไม่ยอมรับ อนุญาโตตุลาการตามที่ไทยเสนอ และจะไม่ยอมถอนเรือรบออกไป ถ้าไทยไม่ยอมทำตามที่ร้องขอไป ต่อมาฝรั่งเศสได้เข้ายึดเกาะเสม็ด (นอก) เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖
การเคลื่อนไหวของอังกฤษ
            วันที่ ๒๒ มีนาคม กัปตันโยนส์ (Captain Jone) ราชฑูตอังกฤษได้ส่งโทรเลขไปยัง ลอร์ดโรสเบอรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษมีสาระว่า
"ในกรณีที่อาจเกิดสงครามยุ่งยากขึ้นเป็นการสมควรที่จะส่งเรือรบอังกฤษเข้ามาที่กรุงเทพ ฯ เพื่อคุ้มครองทรัพย์สมบัติของอังกฤษ และความสงบเรียบร้อย" หลังจากนั้นอังกฤษจึงได้ส่งเรือสวิฟท์ (Swiff ) เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ และได้จอดอยู่หน้าสถานฑูตอังกฤษ (เก่า) ซึ่งอยู่บริเวณไปรษณีย์กลางบางรัก
            อังกฤษทราบว่าฝรั่งเศสได้สั่งเคลื่อนกำลังทางเรือให้มารวมกันอยู่ที่ไซ่ง่อน และมีเสียงเล่าลือว่าฝรั่งเศสจะส่งกองเรือเข้ามารุกรานไทย ในขณะที่ฝ่ายไทยก็ได้เตรียมการป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้เอาเรือมาจมขวางไว้ที่ปากน้ำ เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลในวงการค้าทั่วไป
อังกฤษจึงคิดจะส่งเรือรบเขามาในไทยอีกเพื่อคุมเชิงฝรั่งเศส และเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของชนชาติอังกฤษ ดังปรากฏข้อมูลในเอาสารเหล่านี้
            พลเรือตรี เซอร์ อี ฟรีแมนเติล  ผู้บัญชาการกองเรืออังกฤษภาคทะเลจีน รายงานถึงกระทรวงทหารเรืออังกฤษ ลงวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า "ได้รับรายงานจากเรือสวิฟท์ที่กรุงเทพ ฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ในประเทศไทย ซึ่งมีความโกลาหลเป็นอันมาก เนื่องจากฝรั่งเศสยื่นคำเรียกร้องต่าง ๆ และได้เข้ายึดเมืองสตึงเตรงกับเมืองโขงทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง การที่เรือสวิฟท์เข้าไปจอดอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ได้ทำให้เป็นที่ไว้วางใจแก่ชนชาวยุโรป
และทำให้ความหวาดเกรงว่าจะเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงเทพ ฯ นั้นสงบลงด้วย"
            มิสเตอร์ฟิปปส์ (Phipps)  อุปฑูตอังกฤษประจำปารีส ได้มีโทรเลขถึง ลอร์ตโรสเบอรี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า "ฝรั่งเศสได้ยึดดินแดนต่อไปอีก ในวันที่ ๑๗ และ ๑๘ มิถุนายน ได้ยึดเกาะรงกับเกาะรงสามเหลี่ยม (หน้าอ่าวกำปงโสม) ไว้ได้แล้ว เกาะทั้งสองนี้เป็นเกาะสำคัญมาก เพราะเป็นที่จอดเรือได้อย่างดีที่สุด เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน เรือปืนของไทยได้เข้ามาที่เกาะเสม็ด (นอก) มีทหารหมู่หนึ่งพยายามจะขึ้นบก โดยฝ่าฝืนคำห้ามปรามของกองรักษาด่านของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ยิงเอาและทหารไทยได้ถอยกลับไป"
            หนังสือของห้างวอลเลศบราเธอร์ (Wallace Brolher ) เอเย่นต์ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ลงวันที่ ๒๒
มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า " บัดนี้ความยุ่งยากภายในได้เกิดขึ้นแล้วทั้งที่กองเรือฝรั่งเศสยังไม่ทันเข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ หากกองเรือฝรั่งเศสได้เข้าไปจริง ถึงจะไม่มีการรบพุ่งกันก็ตามเหตุการณ์ภายในเมืองคงร้ายแรงกว่านี้ การที่ฝรั่งเศสยึดเกาะเสม็ด ก็ยิ่งเพิ่มให้เกิดผลร้ายขึ้นอีก เป็นธรรมดาของรัฐบาลทางตะวันออก ที่ยังบกพร่องในวิธีดำเนินการปกครอง เมื่อได้ประสบความยุ่งยากที่สลับซับซ้อนโดยเร็วเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมได้รับความลำบากเป็นอย่างยิ่ง และถึงแม้จะเป็นรัฐบาลที่มั่นคงก็ตาม
แต่ก่อนที่จะสามารถจัดการอะไรลงไปได้  ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันมากก็ย่อยยับไปเสียก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ามีเรือรบอังกฤษหลาย ๆ ลำเข้าไปจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ และเตรียมพร้อมที่จะส่งทหารของเราขึ้นบกได้ทุกเมื่อที่จำเป็นแล้ว จะเป็นการช่วยระงับเหตุการณ์จลาจลในบ้านเมืองได้"
            กัปตันโยนส์ ราชฑูตอังกฤษประจำกรุงเทพ ฯ ได้มีโทรเลขไปถึง ลอร์ดโรสเบอรี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า "รัฐบาลไทยได้รับคำเตือนจากรัฐบาลฝรั่งเศสว่า บัดนี้รัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งให้กองเรือรบเดินทางมาไซ่ง่อนแล้ว และถ้าเหตุการณ์ถึงคราวจำเป็นรัฐบาลฝรั่งเศส จะส่งกองเรือรบนั้นเข้ามากรุงเทพ ฯ รัฐบาลไทยมีความตั่งใจจะปิดปากน้ำเจ้าพระยา และต่อสู้ป้องกันปากน้ำตามกำลังที่จะกระทำได้
            ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน กัปตัน โยนส์ ได้มีโทรเลขเพิ่มเติมมีความว่า "ในเวลานี้มีเรือรบอังกฤษประจำอยู่ที่กรุงเทพ ฯ เพียงลำเดียวเท่านั้น เพราะอีกลำหนึ่งได้ออกไปจากกรุงเทพ ฯ หลายวันแล้ว จึงคิดว่าเป็นการสมควรที่จะให้เรือรบของเราลำที่สองจอดอยู่ที่ปากน้ำเจ้าพระยา เผื่อมีความจำเป็นจะได้เรียกได้ อนึ่ง
เห็นว่าควรขอร้องให้รัฐบาลอเมริกา ปอร์ตุเกส ฮอลแลนด์ โดยการฑูตของเขาในกรุงลอนดอนให้ส่งเรือรบไปที่กรุงเทพ ฯ เพื่อคุ้มครองป้องกันชาวต่างประเทศด้วย"
            ลอร์ด โรส เบอรี ได้มีโทรเลขตอบกัปตันโยนส์ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน มีความว่า "ได้ส่งสำเนาโทรเลของกัปตันโยนส์ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ไปให้กระทรวงทหารเรือทราบแล้ว กระทรวงทหารเรือได้มีคำสั่งไปถึง พลเรือตรี ฟรีแมนเติลแล้ว เพื่อให้จัดส่งเรือรบอีกลำหนึ่งไปยังกรุงเทพ ฯ และให้จัดเตรียมเรือรบลำที่สามไว้ให้พร้อมเผื่อเรียกได้ทันท่วงที"
            มิสเตอร์ฟิปปส์ มีโทรเลขถึง ลอร์ด โรส เบอรี ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน มีความว่า ม.เดอ แวลล์ ได้กล่าวถึงเรื่องที่ได้รับรายงานว่า ทหารเรืออังกฤษ ได้สอนให้พวกไทยหัดยิงตอร์ปิโด เขายังได้กล่าวอีกว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะไม่ทำการรุนแรงอย่างใดที่กรุงเทพ ฯ โดยไม่บอกกล่าวให้รัฐบาลอังกฤษทราบเสียก่อน และยังได้แสดงความพอใจที่ ลอร์ดโรสเบอรี ได้กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้ด้วย"
            ลอร์ดโรสเบอรี มีโทรเลขถึง มิสเตอร์ ฟิปปส์ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน มีความว่า "ได้สอบสวนเรื่อง ม.เดอแวลล์ กล่าวถึงว่าพวกไทยได้รับคำสั่งสอนจากทหารเรืออังกฤษ ในวิธียิงตอร์ปิโดร์นั้น ยังไม่ได้ข่าวถึงเรื่องเช่นนี้เลย แต่อาจจะมีชาวอังกฤษซึ่งรับราชการอยู่ในราชนาวีไทยบ้างก็เป็นได้"
            ในที่สุดทางการทหารเรืออังกฤษได้กำหนดว่าจะส่งเรือพาลลาส (Pallas) และเรือพิกมี (Pigmy) ซึ่งประจำอยู่ที่สิงคโปร์เข้าไปกรุงเทพ ฯ แต่เนื่องจากเรือพิกมีติดราชการอื่น จึงได้ส่งเรือพาลลาส ซึ่งเป็นเรือธงของผู้บังคับกองเรืออังกฤษ ประจำช่องมะละกามากรุงเทพ ฯ ก่อนและจะส่งเรือพลัฟเวอร์ (Pluver ) ซึ่งมาแทนเรือพิกมีตามมาภายหลัง เรือเรือพาลาสเดินทางมาถึงสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ต่อมาจึงส่งเรือลินเนต (Linnet) มาแทนเรือพิกมี
มาถึงปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม
            ลอร์ดโรสเบอรี โทรเลขถึงมิสเตอร์ฟิปปส์ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ให้ยืนยันแก่ ม.เดอแวลล์ว่า เรือรบอังกฤษจะไม่ข้ามสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาเข้าไป และในวันเดียวกันก็ได้มีโทรเลขไปถึงกัปตันโยนส์มีความว่า "เรือพาลลาส จะข้ามสันดอนปากน้ำเข้าไปไม่ได้ ให้จัดการให้เรือพาลลาส และเรือพลัฟเวอร์ทั้งสองลำ จอดอยู่ทางเข้าแม่น้ำภายนอกสันดอน และให้เจรจากับรัฐบาลไทยให้แจ้งเรื่องนี้ให้ราชฑูตฝรั่งเศส (ที่กรุงเทพ ฯ) ทราบด้วย"
            มิสเตอร์ฟิปปส์ได้โทรเลขถึง ลอร์ดโรสเบอรี เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม แจ้งเนื้อความการเจรจากับ ม.เดอแวลล์มีความว่า "ม.เดอแวลล์แจ้งว่าเรือฝรั่งเศส ที่ส่งไปจะอยู่นอกสันดอน คงให้เรือลูแตงอยู่ในกรุงเทพ ฯ และแจ้งว่าตามข้อ ๑๕ แห่งหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ค.ศ.๑๘๕๖ ให้เรือฝรั่งเศสเข้าไปในลำแม่น้ำเจ้าพระยาได้จนถึงสมุทรปราการ และเมื่อแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบแล้วให้ล่วงเข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ ได้ จากนั้นมิสเตอร์พิปปส์แจ้งว่า ความตั้งใจของรัฐบาลอังกฤษมีหลักอยู่ว่า มีความจำเป็นจะต้องคุ้มครองผลประโยชน์ของเราในกรุงเทพ ฯ ซึ่งอังกฤษมีส่วนในการค้าขายอยู่ถึงสามในสี่ส่วน
และถ้าหากว่ามหาประเทศใดซึ่งมีปัญหา ระหว่างประเทศต้องพิพาทกับประเทศที่มีกำลังน้อย แล้วยกกำลังกองทัพเรือใหญ่โตมาขู่ขวัญภายในอาณาเขตเช่นนี้ ก็เหมือนกับว่าตัดสิทธิประเทศนั้นเสียในอันจะป้องกันตัวเอง ม.เดอแวลล์ตอบว่า ม.โกรสกูแรงถูกฆ่าตาย และได้มีการฆ่าฟันทหารญวนด้วย กับเรื่องการปล่อยตัวร้อยเอกโทเรอซ์
ดังนั้นโดยเกียรติยศของฝรั่งเศส จะไม่ยอมให้ต่างประเทศเข้ามาแทรกแซง และจะต้องได้รับข้อเรียกร้องอันชอบธรรมนี้ ซึ่งถ้าไม่ได้รับแล้วก็จะต้องบังคับเอา "
การดำเนินการของฝรั่งเศสขั้นต่อไป
            เมื่อฝรั่งเศสได้ทราบว่าอังกฤษได้จัดส่งเรือรบเข้ามาเพิ่มเติมในน่านน้ำไทยอีก และรู้สึกว่ามีทีท่าในทางส่งเสริมให้กำลังใจ ฝ่ายไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินการให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น ดังนั้นในวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้โทรเลขมายัง ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพ ฯ ให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยมีความว่า "รัฐบาลอังกฤษมีดำริส่งเรือรบหลายลำเข้ามายังกรุงเทพ ฯ เพื่อป้องกันรักษาชนชาติอังกฤษ
ฝ่ายเราเห็นสมควรจะต้องเพิ่มกำลังทางเรือของเราที่กรุงเทพ ฯ ให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยเป็นการล่วงหน้าว่า จะมีเรือรบฝรั่งเศสไปรวมกำลังกับเรือลูแตง โดยใช้ให้เห็นชัดว่าการดำเนินการครั้งนี้อย่างเดียวกับประเทศอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ได้กระทำก่อนแล้ว ให้เป็นที่เข้าใจว่า จะไม่ทำการรุกรบอย่างใด ๆ โดยไม่แจ้งให้ทราบเสียก่อน เว้นไว้แต่ในกรณีที่เรือของฝรั่งเศสถูกโจมตี และถูกบังคับ จึงจะยิงโต้ตอบกับฝ่ายข้าศึกได้
            ม.ปาวีได้มีหนังสือทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม มีความว่า "
รัฐบาลฝรั่งเศสขอให้แจ้งว่ารัฐบาลอังกฤษได้ดำริจะให้เรือรบหลายลำเข้ามาในกรุงเทพ ฯ อ้างว่ามีเหตุจำเป็นจะให้มาป้องกันรักษาคนในบังคับอังกฤษ ในสมัยที่เกิดการวุ่นวายกันนี้ เหตุฉะนี้รัฐบาลฝรั่งเศสจึงตั้งใจจะกระทำตามบ้าง เรือรบสองลำในกองทัพเรือฝรั่งเศส ได้รับคำสั่งให้เข้ามาอยู่ร่วมกับเรือลูแตงที่กรุงเทพ ฯ การที่เรือรบเข้ามาคราวนี้ ก็มีความประสงค์อย่างเดียวกันกับประเทศอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ที่ได้กระทำมาก่อน เรือรบสองลำที่ออกเดินทางมาแล้วนั้น ชื่อโคแมต
(Comete) และแองดองสตังค์ (Inconstang ) จะเดินทางมาถึงสันดอนในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม จึงขอได้โปรดมีคำสั่งให้มีนำร่องคอยไว้สำหรับเรือรบสองลำนี้

            เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทย ได้มีหนังสือถึง ม.ปาวี ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๒ มีความว่า "จนถึงเวลานี้รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่ได้รับคำแจ้งความจากรัฐบาลอังกฤษเลยว่า อังกฤษจะให้เรือรบเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ หรือที่สมุทรปราการ หรือที่แห่งใดแห่งหนึ่งในลำน้ำเจ้าพระยา นอกจากเรือสวิฟท์ที่จอดอยู่ที่หน้าสถานฑูตอังกฤษ เหมือนกับเรือลูแตงที่จอดอยู่ที่หน้าสถานฑูตฝรั่งเศส และที่แจ้งว่าความประสงค์ที่จะให้เรือรบเข้ามานี้ ก็เหมือนกันกับความประสงค์ของประเทศอังกฤษ และประเทศอื่น ๆ จึงเห็นว่า ถ้าประเทศอื่นมิได้ให้เรือรบเข้ามาเกินกว่าลำหนึ่งตราบใดแล้ว ประเทศฝรั่งเศสก็จะไม่ขืนให้เรือรบเข้ามาอีก นอกจากเรือลูแตง อนึ่งเรือรบลำแรกที่ได้เข้ามายังกรุงเทพ ฯ ในบรรดาเรือที่จอดอยู่ที่นี้แล้วคือเรือลูแตง
เมื่อเป็นเช่นนี้จะพูดว่าประเทศอื่นได้คิดจัดการเช่นว่านี้นำขึ้นก่อนนั้นหาถูกไม่ เรือลูแตงได้เข้ามาเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ และกำหนดว่าจะกลับออกไป เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ ครั้นถึงกำหนดจะกลับออกไปแล้วก็หาไปไม่ กลับได้รับคำสั่งให้รออยู่ไปก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งมาอีกภายหลัง จึงเห็นว่าถ้าเรือลูแตงกลับไปจากกรุงเทพ ฯ เรือรบลำอื่น ๆ ก็จะคงไม่อยู่ที่นี่ต่อไป และความยุ่งยากก็คงจะสงบเรียบร้อยเป็นปกติดังเดิม
            ตามที่แจ้งความมานั้น ตามเหตุที่กล่าวข้างต้น ท่านคงจะมีโทรเลขบอกไปยัง แอดมิราลแม่ทัพเรือ ชี้ให้เห็นว่าเหตุที่จะให้เรือรบเข้ามานั้นไม่มีเสียแล้ว
            ขอคัดค้านการแปลความในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีอันเป็นที่ทำให้เข้าใจว่า ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอำนาจเด็ดขาดที่จะให้เรือรบเข้ามาในลำน้ำของไทย และถึงพระมหานครแห่งพระราชอาณาจักรนี้หลาย ๆ ลำ ตามอำเภอใจของประเทศนั้น ๆ มูลนิติของหนังสือสัญญา ฯ หาได้ตัดอำนาจโดยชอบธรรม ซึ่งประเทศไทยควรมีได้เหมือนประเทศอื่น ๆ สำหรับการป้องกันตัว และรัฐบาลฝรั่งเศสควรแก้ไขได้โดยง่ายว่า ตามสรรพเหตุการณ์อันมีอยู่บัดนี้
ประเทศไทยจะยอมตามการแปลความหมายตามสัญญาดังกล่าวมาเช่นนี้ไม่ได้เลย เมื่อยอมเช่นนั้นแล้วก็เหมือนจะสละอำนาจที่เป็นประเทศเอกราชเสียเหมือนกัน

            ม.ปาวี ได้มีหนังสือทูลเสนาบดีการต่างประเทศของไทย ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๒ มีความว่า "ได้แจ้งข้อความไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส และแอตมราลแม่ทัพเรือแล้วว่ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คัดค้านไม่ยอมให้เรือรบเข้ามาในลำแม่น้ำเจ้าพระยา และได้แจ้งไปด้วยว่า ตัว ม.ปาวี กับเสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยขัดขืน ยังไม่ยอมให้เรืออแองดองสตังค์เข้ามาก่อน ให้จอดอยู่ที่สมุทรปราการ ตามนัยแห่งหนังสือสัญญา ฯ รอคอยจนกว่าจะได้รับตำตอบมา และเพื่อมิให้มีความเข้าใจผิดกันได้ จึงขอโปรดให้เข้าเฝ้าในเวลาพรุ่งนี้ตามที่จะทรงกำหนด"
            เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทย มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ถึง ม.ปาวี มีความว่า "ยินดีจะพบ ม.ปาวีในวันพรุ่งนี้เวลาย่ำค่ำ และขอกล่าวโดยไม่รั้งรอว่า
เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้ คำคัดค้านที่ไม่ยอมให้เรือแองดองสตังค์ ล่วงสันดอนเข้ามานั้น ย่อมเป็นข้อคัดค้านตลอดทั่วไปไม่ยอมให้เข้ามาจอดปากแม่น้ำ และแล่นเลยเข้ามากรุงเทพ ฯ แท้จริงไม่มีเรือรบอังกฤษลำใดนอกจากเรือสวิฟท์มาอยู่หรือมุ่งหมายว่าจะเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยาอีกเลย มูลเหตุที่ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศส ส่งเรือแองดองสตังค์ และเรือโกเมตเข้ามานั้น ย่อมเสียไป หาหลักมิได้อยู่เอง การแปลความหมายอันสมควรแก่หนังสือสัญญานี้ ต้องคำนึงถึงอำนาจอันชอบธรรมของประเทศไทย ในการรักษาความปลอดภัย และรักษาความเป็นเอกราชของตนเอง ซึ่งเกี่ยวด้วยน่านน้ำส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่อยู่ในราชอาณาจักรของไทย"
            เสนาบดีการต่างประเทศของไทย มีหนังสือ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ถึง ม.ปาวี มีความว่า "จากการสนทนากันวันนี้ ถึงแม้ว่าทาง ม.ปาวี คงจะยืนยันที่จะให้เรือแองดองสตังค์ และเรือโดเมต เข้ามาจอดอยู่เพียงปากน้ำก็ดี ถือว่าเป็นหน้าที่จะต้องคัดค้านไม่ยอมเลยเป็นอันขาด ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือฉบับก่อนที่ไม่ยอมให้เรือรบเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยา รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่สามารถยอมให้ประเทศใด ๆ นำเรือรบเข้ามาจอดอยู่ในลำน้ำนี้มากกว่าหนึ่งลำขึ้นไป จึงได้มีคำสั่งต่อกรมทหารบก กรมทหารเรือ ให้จัดการตามนี้โดยกวดขัน อนึ่ง เวลาเช้าพรุ่งนี้กรมทหารเรือ จะให้เรือกลไฟลำหนึ่งมาที่สถานฑูตฝรั่งเศส สำหรับท่านใช้มาที่เรือแองคองสตังค์ และเพื่อท่านจะได้ส่งข่าวไปตามที่ท่านจะดำริเห็นควร "
            เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของไทยมีโทรเลขลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ถึงพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส มีความว่า
            "ได้รับโทรเลขฉบับที่ ๓๕ แล้ว ราชฑูตฝรั่งเศสได้มาหาเย็นวานนี้ และมีหนังสือมาถึงหลายฉบับ มีความว่า ประเทศอังกฤษได้ให้เรือรบเข้ามาป้องกันคนในบังคับอังกฤษ เหตุนี้ประเทศฝรั่งเศสก็จะทำตามบ้าง จะให้เรือรบเข้ามา อีกสองลำในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ราชฑูตฝรั่งเศส มีหนังสือขอให้มีคนน้ำร่อง เรือรบสองลำนี้ และขออนุญาตเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ฝ่ายเราอนุญาตไม่ได้
ด้วยเรือรบอังกฤษจอดอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยาเพียงลำเดียว และต้องบอกกล่าวไม่ยอมแปลความในหนังสือสัญญษทางพระราชไมตรี
ว่าเป็นการยอมให้เรือรบเข้ามาในกรุงได้ ทำให้เสียความเป็นเอกราชของไทย ฝ่ายเรามีอำนาจอันชอบธรรม ที่จะไม่ยอมให้เรือรบเข้ามาในลำน้ำ อันอยู่ในพระราชอาณาจักรของเรา เพื่อประสงค์จะแสดงความขู่เข็ญ ให้อัคราชฑูตไทยนำความไปแจ้งแก่เสนาบดีฝรั่งเศส ผู้ว่าการต่างประเทศ และพูดจากว่ากล่าวให้ได้การดีที่สุด แล้วโทรเลขตรงมาให้ทราบ"
            โทรเลขของอัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ถึงเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศของไทย มีความว่า  "ได้แจ้งต่อเสนาบดีฝรั่งเศสผู้ว่าการต่างประเทศแล้ว เสนาบดี ฯ บอกว่าฝรั่งเศสไม่ได้มุ่งหมายจะให้เรือรบเข้าไปในกรุงเทพ ฯ เพื่อขู่ไทยเลย
แต่มีความประสงค์อย่างเดียวกันกับรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น และจะมีโทรเลขมาถอนคำสั่งเดิมเรื่องเรือรบนี้เสีย กับขอแจ้งให้พึงรู้แน่ว่า ฝรั่งเศสมิได้มีความมุ่งหมายจะให้ส่งทหารเข้ามาต่อตีรบพุ่งประเทศไทยเลย รัฐบาลฝรั่งเศสมีความปรารถนาจะส่งผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามากรุงเทพ ฯ โดยเร็วเพื่อจะได้จัดการให้ตกลงกันฉันมิตร
สัญญาทางพระราชไมตรี พ.ศ.๒๓๙๙ ข้อ ๑๕
            หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีการค้าขายและการเดินเรือ ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๙๙  ในข้อ ๑๕ มีข้อความดังนี้
            "เรือรบฝรั่งเศสจะเข้ามาจอดอยู่ได้เพียงหน้าด่านเมืองสมุทรปราการ ถ้าจะขึ้นมาถึงกรุงเทพ ฯ ให้บอกท่านเสนาบดีฝ่ายไทยให้รู้ก่อน ท่านเสนาบดีฝ่ายไทย ยอมให้ขึ้นมาจอดอยู่ที่ไหนก็ขึ้นมาจอดได้"

ม.เลอ มีร์ เดอวิเลรส์ ( M.Le Myre de Vilers) เข้ามาเจรจา
            ม.เลอ มีร์ เดอ วิเลรล์ เคยเป็นผู้ว่าการโคชินไชนาถึงสองคราว คราวแรกตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๒๒-๒๔๒๓ และคราวหลังเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔ - ๒๔๒๕ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศส จึงมอบหน้าที่ให้เป็นอัครราชฑูต ผู้มีอำนาจเต็มเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทย
            ม.เลอ มีร์ เดอ วิเลรส์ออกเดินทางจากเมืองมาร์เซยส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ พร้อมกับกองทหารต่างด้าวที่ส่งจากเมืองโบน และตูลองไปเพิ่มกำลังที่ไซ่ง่อน แต่ไทยกับฝรั่งเศสได้เกิดรบพุ่งกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่มีลักษณะเป็นอย่างอื่นผิดไปจากเดิม รัฐบาลฝรั่งเศสจึงถือโอกาสมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ทำสัญญาสงบศึก
            คำสั่งที่ ม.เดอ แวลส์มอบหมายให้แก่ ม. มีร์ เดอ วิเลรส์ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม มีข้อความดังนี้
            "เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และอาการกิริยาที่ประเทศไทยได้แสดงต่อเรานั้น รัฐบาลฝรั่งเศสคิดว่า จะถือโอกาสในการที่ท่านจะเดินทางไปไซ่ง่อน มอบให้ท่านเอาธุระรับหน้าที่เจรจาปัญหาที่ยังคาราคาซังกันอยู่ในเสร็จสิ้นไปถ้าสามารถทำได้
            เพราะได้ปรึกษาหารือกับท่านแล้ว เหตุนี้จึงส่งท่านไปกรุงเทพ ฯ เพื่อการนี้เป็นราชการพิเศษ ในจดหมายฉบับนี้ได้สอดหนังสือสำคัญให้อำนาจแก่ท่านอย่างกว้างขวาง เพื่อแสดงต่อพระเจ้าแผ่นดินไทย จะได้สั่งเรือรบลำหนึ่งมาคอยรับท่านที่สิงคโปร์ และนำท่านไปส่งยังกรุงเทพ ฯ ทันที
            การเรียกร้องของเราต่อประเทศไทยในครั้งนี้มีอยู่สองข้อ คือ
                ๑)    เราได้ให้ประเทศไทยถอนกองทหารที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เพราะเป็นการเหยียบย่ำสิทธิของญวนและเขมร
                ๒)    เราได้เรียกค่าปรับไหมในการที่ไทยสบประมาทธงฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ ในการขับไล่บุคคลที่ร่วมชาติของเราสองคน ให้ได้รับทุกข์ที่ท่าอุเทน เมื่อปีกลาย ในการข่มขี่ชาวฝรั่งเศสชื่อ บาโรตอง ในการจับกุมนายร้อยเอกโทเรอรซ์โดยไม่รู้ตัว และในการที่ข้าหลวงไทยประจำคำม่วน ทำการฆาตกรรมผู้ตรวจการโกรสกูแรง
            ในปัญหาเหล่านี้ ผู้แทนของเราที่กรุงเทพ ฯ ได้เรียกร้องไปแล้วแต่ไร้ผล เราได้รับคำตอบชนิดชักความยาวสาวความยืด จากรัฐบาลไทย
            ฉะนั้น ที่จะให้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย มีหัวข้อดังนี้
                ๑)    ให้รัฐบาลไทยรับรองข้อเรียกร้องดินแดนของเราบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
                ๒)    ให้ใช้ค่าเสียหายตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น กับให้เสียค่าปรับไหมด้วย
            ในกรณีที่รัฐบาลไทยไม่ยอมให้ความยุติธรรมเท่าที่เรียกร้องไปตามหัวข้อต่าง ๆ นี้แล้ว ถ้าถึงเวลาที่จะต้องกำหนดให้ ให้นำธงฝรั่งเศสออกจากกรุงเทพ ฯ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ในสถานกงสุลเยเนราล และบรรดาเรือรบฝรั่งเศสที่จอดอยู่ ณ ที่นั้น แล้วให้แจ้งแก่ผู้บัญชาการกองเรือให้ประกาศปิดอ่าวอย่าได้ช้า
            รัฐบาลฝรั่งเศสหวังอยู่ว่า ควรจะไม่จำเป็นถึงกับต้องใช้อำนาจบังคับข่มขี่ และเชื่อมั่นในไหวพริบ และความหนักแน่น ในอันที่จะโน้มรัฐบาลไทย ให้ยอมทำตามความพอใจของเราที่จะได้เรียกร้องโดยชอบธรรม
            เราไม่ได้ตั้งปรารถนาที่จะกระทบกระทั่งย่ำยีต่ออิสระภาพของไทย ถ้าเห็นว่าควรก็ให้อธิบายความข้อนี้ให้ราชสำนักกรุงเทพ ฯ ทราบโดยชัดแจ้ง และให้พยายามขจัดความหวาดเกรง อันจะพึงมีแก่รัฐบาลไทย อีกประการหนึ่งให้รู้ระลึกถึงประโยชน์อันเราจะได้รับในการเจรจากันที่กรุงเทพ ฯ จะต้องแสดงให้ชัดออกไปว่า
เราไม่ยอมเจรจากับบุคคลทั้งหลายอื่น นอกจากพระเจ้าแผ่นดินและคณะเสนาบดี ให้พยายามเสือกไสพวกที่ปรึกษาชาวต่างประเทศอย่าให้มาเกี่ยวข้องในวงการด้วย
            ให้แจ้งเหตุการณ์อันแน่ชัดในการเจรจาที่ดำเนินการกันครั้งนี้โดยทางโทรเลข
ฝรั่งเศสถอนคำสั่ง
            ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยได้มีโทรเลขไปยังอัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส แจ้งเรื่องเรีอรบฝรั่งเศส ที่จะเข้ามาแสดงความขู่เข็ญไทย ให้นำความไปร้องเรียนต่อ ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศส
            ม.เดอ แวลล์ตอบว่า ฝรั่งเศสไม่ได้มุ่งหมายจะให้เรือรบเข้าไปในกรุงเทพ ฯ  เพื่อขู่ไทย ฝรั่งเศสมีความประสงค์อย่างเดียวกับรัฐบาลอังกฤษ แล้ว ม.เดอ แวลล์ รับรองว่าจะถอนคำสั่งเดิมเสีย
            ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ม.เดอแวลล์ ได้มีโทรเลขไปยัง ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพ ฯ มีความว่า
            "ราชฑูตไทยได้แจ้งความว่าให้รัฐบาลฝรั่งเศสทราบด้วยว่า ได้วางลูกตอปิโดไว้ในร่องน้ำ จึงขอให้ทูลกรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ
ว่าเราไม่ยอมให้ประเทศไทยคัดค้านอย่างดี และเราสงวนไว้ซึ่งสิทธิอันชอบธรรมของเราที่มีอยู่ตามข้อ ๑๕ แห่งสัญญาทางพระราชไมตรี ค.ศ.๑๘๕๖ ให้บอกแก่กองเรือฝรั่งเศสทราบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงจะยับยั้งไม่ให้เรือลำใด ข้ามสันดอนเข้าไปก่อนเวลานี้ ถ้าแม้ว่าประเทศหนึ่ง ๆ มีเรือรบเกินหนึ่งลำในลำน้ำแล้ว เราก็จะไม่เปลี่ยนแผนความคิด
            ให้บอกไปยังนายพลฮูมานน์ว่า ฝ่ายเรายังสงวนสิทธิที่เรามีอยู่ตามข้อ ๑๕ แห่งสัญญาทางพระราชไมตรี ค.ศ.๑๘๕๖ ที่ทำไว้กับรัฐบาลไทยอย่างเด็ดขาด"
            (โทรเลขฉบับนี้มาถึง ม.อา.ปาวี เวลาเช้าของวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ )
  การเตรียมการของไทย
            เมื่อฝรั่งเศสได้เริ่มดำเนินการทางทหารบีบบังคับไทยในปลายเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕ โดยยกกองทหารบุกรุกเข้ามา และขับไล่กองทหารของไทยให้ถอยออกไปจากดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และในขณะเดียวกันก็ได้ส่งเรือลูแตงเข้ามาจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ อีกด้วย จึงได้โปรดเกล้า ฯ แต่ตั้งกรรมการปรึกษาการป้องกันพระราชอาณาเขต รวม ๘ ท่าน ด้วยกัน คือ
                ๑)  เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
                ๒)  กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ
                ๓)  เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงคลัง
                ๔)  กรมหมื่นพิทยลาภ พฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
                ๕)  กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
                ๖)  เจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม  ศรีไชยยันต์) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
                ๗)  นายพลเรือโท พระองค์เจ้าจรัสวงศ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
                ๘)  พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม - แสงชูโต) เสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชการ
            ทางด้านกองทัพบก ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นแม่ทัพด้านลาวกาว บัญชาการทัพอยู่ที่เมืองอุบล กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพด้านลาวพวน บัญชาการทัพอยู่ที่หนองคาย กรมยุทธนาธิการได้จัดส่งกำลังทหารบก พร้อมด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ไปเพิ่มเติมให้แก่กองทัพแต่ละด้าน และได้ระดมเกณฑ์คนทางหัวเมืองชายแดนเข้าประจำกองทัพ ส่งหนุนเนื่องไปยังตำบลต่าง ๆ ที่คาดหมายว่าฝรั่งเศสจะรุกล้ำเข้ามา

            ทางด้านทหารเรือได้มีการปรับปรุงป้อมแผลงไฟฟ้า ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ เพื่อเตรียมรับการบุกรุกของฝรั่งเศส ได้มีการติดต่อสั่งซื้อยุทธภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสิงคโปร์มาใช้ในราชการ เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖
            วันที่ ๑๐ เมษายน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จตรวจป้อมพระจุลจอมเกล้า และทรงเปิดการเดินรถไฟสายปากน้ำในวันรุ่งขึ้น
            วันที่ ๒๕ เมษายน โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งพระยาชลยุทธโยธินทร์ เป็นผู้จัดการป้องกันพระราชอาณาเขตทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก ซึ่งในเวลานั้น ขึ้นอยู่กับกระทรวงการต่างประเทศ (เดิมเป็นกรมท่า)
            วันที่ ๒๖ เมษายน พระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้มีหนังสือกราบทูลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศให้ทราบถึงแผนการจัดกำลังทหารเรือ ตามหัวเมืองฝ่ายตะวันออก มีความว่า
                ๑)  ที่เกาะกง  จัดทหารมะรีน จากกรุงเทพ ฯ ๑๔ คน ทหารจากเมืองตราด ๒๔ คน ทหารจากเมืองแกลง ๑๒ คน รวม ๕๐ คน แจกปืนมาตินี ๑๐๐ กระบอก พร้อมกระสุน
                ๒)  ที่แหลมงอบ  จัดทหารไว้ ๒๐๐ คน พร้อมที่จะส่งไปช่วยที่เกาะกง ถนนระหว่างแหลมงอบกับเมืองตราดมีสภาพไม่ดี ให้บ้านเมืองเร่งซ่อมให้เสร็จภายใน ๑ เดือน พอให้เกวียนเดินได้ จ่ายปืนเฮนรี มาตินี ๒๘๘ พร้อมกระสุน
                ๓)  ที่แหลมสิงห์  ปากน้ำจันทบุรี จัดคนจากเมืองจันทบุรี เมืองแกลง และเมืองขลุง (อายุ ๒๓ - ๔๑ ปี) มารวมไว้ที่แหลมสิงห์ เหลือคนไว้ที่เมืองจันทบุรี เมืองแกลง และเมืองขลุง พอรักษาการณ์ มีกำลังทหารที่แหลมสิงห์ ๖๐๐ คน ให้ฝึกหัดทั้งเช้า และเย็น กับให้ทำงานโยธาตกแต่งป้อมในเวลากลางวัน
            ย้ายปืนอาร์มสตรอง ๔๐ ปอนด์ จำนวน ๓ กระบอก จากป้อมหมู่บ้านแหลมสิงห์ไปตั้งไว้ทางเขาแหลมสิงห์ (ด้านกระโจมไฟ) รีบตกแต่งป้อมให้เสร็จโดยจ้างคนจีนก่ออิฐโบกปูน ในความควบคุมของมิสเตอร์ตรุศ และนายร้อยโท คอลส์ ซึ่งบังคับบัญชาทหารที่แหลมสิงห์ ที่เมืองจันทบุรี และแหลมสิงห์จ่ายปืนมันลิเดอร์ ๑,๐๐๐ กระบอก ที่เมืองแกลง และเมืองระยอง จ่ายปืนเฮนรี มาตินี ๑๐ กระบอก ให้แห่งละ ๑๐๐ กระบอก พร้อมกระสุน
            พวกกองรักษาด่านภายในจากเมืองระยองถึงเกาะกง จัดคนท้องถิ่นดูแลรักษาใช้คนประมาณ ๑,๑๐๐ คน จ่ายปืนเอนฟิลด์ ชนิดบรรจุปากกระบอก ๖๐๐ กระบอก มีดินปืน และกระสุนไว้ตามสมควร และจ่ายดาบให้ด้วย
            เดือนพฤษภาคม มีการปรึกษาถึงเรื่องการใช้แพไฟทำลายข้าศึก เตรียมถ่านหินไว้ให้เพียงพอแก่ราชการในยามฉุกเฉิน จัดเรือคอยเหตุไปจอดไว้นอกสันดอนโดยมีกัปตันวิล ผู้เป็นเจ้าท่าเป็นผู้ควบคุม
            วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปปากน้ำเจ้าพระยาโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เสด็จไปตรงป้อมพระจุลจอมเกล้า มีการทดลองยิงปืนใหญ่ให้ทอดพระเนตร
            วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จปากน้ำเจ้าพระยา เสด็จตรวจป้อมที่ปากน้ำจนถึง วันที่ ๑ มิถุนายน จึงเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ
            วันที่ ๒ มิถุนายน พระยาชลยุทธโยธินทร์ กราบบังคมทูลเรื่องการติดต่อกับนาย นาวาเอก แมค เคลาด์ ผู้บังคับการเรือพาลลาสว่าจะให้เรือสวิฟท์รออกไปฝึกยิงปืนในวันที่ ๓ มิถุนายน ในระยะนี้เจ้าพระยาอภัยราชา คอยติดต่อกับราชฑูตอังกฤษ และพระยาชลยุทธโยธินทร์ ติดต่อกับผู้บังคับการเรือรบอังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกันอยู่เสมอ
            วันที่ ๘ มิถุนายน มีพระราชหัตถเลขาถึง พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ มีความว่า ตกลงปิดปากน้ำโดยเอาเรือไปจม และให้พระยาชลยุทธโยธินทร์ กำหนดตำบลที่จะเอาเรือไปจมลงในแผนที่ แล้วเอามาถวายให้ทอดพระเนตร ให้จัดเตรียมเรือไว้สำหรับ จะจมได้ทันท่วงทีเมื่อถึงคราวจำเป็น
            วันที่ ๒๒ มิถุนายน พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า การจมเรือลำหนึ่งใช้เวลา ๑ วัน โดยทำในเวลาน้ำหยุด เอาเรือที่จะจมไปทอดสมอ แล้วตรึงด้วยโซ่สมอ ๔ สาย แล้วเจาะเรือให้จมในการนี้ต้องใช้เรือ ๑๐ ลำ เวลานี้มีอยู่เพียง ๓ ลำ ต้องจัดซื้อมาอีก เรือจำพวกเรือโป๊ะจ้ายคงจะจมได้วันละ ๒ ลำ ทำเร็วไม่ได้
            ต่อมามีพระราชกระแสว่า กองทัพเรือฝรั่งเศสมาถึงไซ่ง่อนแล้ว เรือลิออง มาที่เกาะอยู่เสม็ดลำหนึ่ง การปิดช่องทางเรือนั้นให้เหลือช่องไว้ชั่วเรือเดินได้ลำหนึ่ง และควรจะให้ปิดได้ทันทีเมื่อต้องการ เห็นว่าเป็นการดีกว่าที่จะยิงปืนห้ามไม่ให้เข้ามาโดยเรือรบของเขาไม่ได้ทำการยิงก่อน จะได้ไม่เป็นการก่อสงครามใหญ่ขึ้น ช่องทางเดินเดินเรือที่เปิดไว้นั้น ถ้ามีเรือรบเข้ามาห้ามไม่ฟังแล้ว ก็จะปิดช่องนั้นเสียโดยไม่ต้องรอคำสั่งอีก
            การจมเรือที่ปากน้ำเริ่มทำประมาณวันที่ ๒๖ มิถุนายน ในการนี้ฟังว่าราชฑูตอังกฤษประจำกรุงเทพ ฯ และผู้บังคับการเรือสวิฟท์เห็นพ้องด้วย
            วันที่ ๒๘ มิถุนายน กรมยุทธนาธิการ กราบบังคมทูลว่า นายพันตรี หลวงศัลวิธานนิเทศ (Major schau) สัญชาติเดนมาร์ค ผู้บังคับการโรงเรียนนายสิบ ได้วางแผนจัดกำลังทหารบก เพื่อป้องกันพระนครโดยกำหนดไว้ว่า
                ๑)  กำลังทหาร ๖๐๐ คน อยู่ที่สมุทรปราการ ที่ป้อมเสือซ่อนเล็บ มีปืนใหญ่ ๖ กระบอก
                ๒)  กำลังทหาร ๒๐๐ คน อยู่ที่คลองสำโรง มีปืนใหญ่ ๑๒ กระบอก
                ๓)  เตรียมปืนใหญ่ ๑๖ กระบอก ตั้งที่บางนา บางจาก และคลองพระโขนง
                ๔)  รายปืนใหญ่ไว้ตามริมแม่น้ำ ๙ กระบอก สำหรับยิงเรือ และเป็นกำลังหนุนกำลังทหารทางบางนา และบางจาก
            วันที่ ๓๐ มิถุนายน พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ มีหนังสือกราบบังคมทูล มีความว่า ในการจมเรือที่ปากน้ำนั้นได้จมเรือบางกอก และเรือแผงม้า กระแสน้ำแรงจึงทำให้เรือเหไปบ้าง พระยาชลยุทธโยธินทร์ จึงเอาโซ่คั่นต่อกันทุกลำแล้วลงหลักในระหว่างที่เป็นช่อง ร้อยโซ่ผนึกเป็นตับเข้ากับหลักไม่ให้มีช่อง และอาศัยยึดเหนี่ยวกันทุกลำ
            วันที่ ๔ กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับที่ปากน้ำเจ้าพระยาโดยรถไฟพิเศษ ได้ทอดพระเนตรป้อมเสือซ่อนเล็บ แล้วประทับในเรือองครักษ์ เสด็จไปทอดพระเนตรป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งมีทหารประจำอยู่ ๖๐๐ คน ปืนกรุป ได้วางที่แล้ว ได้เรียกทหารขึ้นประจำป้อมทดลองดู ทหารทำได้พรักพร้อม แล้วเสด็จไปตรวจเรือที่จมตั้งแต่ฟากตะวันออกจนถึงเรือแดง การจมเรือทำไปมากแล้ว แต่ยังไม่พอขาดเรือลำเลียงอีก ๔ ลำ เรือบางกอกและเรือแผงม้าที่จมนั้น กระแสน้ำพัดเชี่ยวพาเรือเคลื่อนที่ไปห่างจากจุดที่หมายไว้ แล้วมาตรวจทางฟากตะวันตกตรงมุมป้อม แนวนี้ปักไม้หลักแพต้นหนึ่งเป็นขาทรายค้ำด้วยอีกสองต้น ไม้เหล่านี้ปักลงดิน ๘ ศอก ขัดด้วยโซ่ดูเป็นการแน่นหนาดี
            การตรวจแนวป้องกันคราวนี้ ทรงมีพระราชดำรัสว่า อย่าว่าแต่จะจมเรือหรือจะทำเขื่อนเพียงเท่านี้เลย อย่างไร ๆ เรือของเขาก็คงที่ทำลงนี้พอเป็นสังเขปสำหรับที่จะห้าม ถ้าขืนดันเข้ามาก็ต้องยิงกันเท่านั้น
            เมื่อได้ตรวจแนวไม้หลักแล้ว ก็เสด็จมาจอดที่ริมช่องทางเดินเรือ ลองระเบิดตอร์ปิโดขนาดเล็ก ซึ่งทำที่กรุงเทพ ฯ หนึ่งลูก ปรากฏว่าเป็นผลดีมีอำนาจมาก จากนั้นไปตรวจเรือบรรจุตอร์ปิโด ที่บรรจุเสร็จแล้ว ๗ ลูก และยังจะบรรจุต่อไป ตอร์ปิโดทำในนี้มีสองขนาด เล็กอย่างหนึ่งโตอย่างหนึ่ง ตอร์ปิโดจากนอกรูปอย่างกระทะ ก็มีอยู่ในเรือนี้ด้วย จากนั้นได้เสด็จขึ้นเรือฟิลลา ซึ่งจอดอยู่ที่สะพานหน้าป้อมพระจุลจอมเกล้า เสวยกลางวันแล้วออกเรือฟิลลามาขึ้นที่สะพานรถไฟ เสด็จขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ ฯ
            วันที่ ๕ กรกฎาคม นายนาวาเอก แมคเคลาด์ ผู้บังคับการเรือพาลลาส ได้ติดต่อกับพระยาชลยุทธโยธินทร์ ขอเรือกลไฟเล็กลำหนึ่ง เพื่อเดินทางกลับไปเรือพาลลาส ซึ่งจอดอยู่นอกสันดอน เรือพาลลาสจะย้ายไปจอดที่เกาะสีชัง และขอพักบนเกาะสีชังเพื่อให้ทหารที่เจ็บป่วยได้ขึ้นพักบนเขา ขอส่งทหารจำพวกสัญญาณไปประจำที่เสาธงเกาะสีชัง กับขอน้ำจืดสำหรับหม้อน้ำ หากมีข่าวการเคลื่อนไหวของฝรั่งเศสก็ขอทราบด้วย และจะได้มาจอดอยู่ที่นอกสันดอนอีก เมื่อพระยาชลยุทธโยธินทร์นำความขึ้นกราบบังคมทูล ก็ทรงอนุญาตตามที่ผู้บังคับการเรือพาลลาสร้องขอมา และกำหนดว่าจะให้เรือจำเริญ ซึ่งจะกลับจากเกาะกงในอีก ๒ - ๓ วัน ลากเรือโป๊ะบรรทุกน้ำจากกรุงเทพ ฯ ไปส่งให้
            วันที่ ๗ กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับตรวจป้อมแผลงไฟฟ้า ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ปรากฏว่าปืนกรุป สำหรับจะยิงสลุตรับเจ้าชายออสเตรียจัดไว้พร้อมแล้ว ทรงเห็นว่าป้อมนี้มีทางปืนดี และเป็นที่แคบ สามารถใช้ตอร์ปิโดได้ถนัด มีรับสั่งให้จัดการวางตอร์ปิโดไว้ด้วย
            วันที่ ๙ กรกฎาคม พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า ควรจัดเตรียมป้อมวิชัยประสิทธิ์เตรียมไว้รับข้าศึกอีกป้อมหนึ่ง ทรงมีพระราชดำริว่าจะหมดเปลืองการใช้จ่ายมากไป ให้จัดการแต่เพียงถากถางบริเวณป้อม และกะที่จะตั้งปืนเท่านั้น ส่วนเรื่องแพไฟนั้นมีรับสั่งว่า ยังมิได้กการอย่างหนึ่งอย่างใดว่าใครจะเป็นผู้รับหน้าที่
            วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลายพระหัตถ์ถึงพระยาชลยุทธโยธินทร์ มีความว่า "กำหนดเรือรบฝรั่งเศสจะเข้าในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม เวลาเย็น และฝ่ายเราไม่ยอมนั้น ให้พระยาชลยุทธโยธินทร์ คิดวางตอร์ปิโดเสียให้เต็มช่อง ถ้าเข้ามาเมื่อไร ก็เป็นการจำเป็นที่จะต้องระเบิด อย่าให้ต้องรอคำสั่งอีกเลย และถ้าเขายิงก่อนแล้วเราต้องยิง"
            ในวันเดียวกัน กรมยุทธนาธิการ กราบบังคมทูลว่า ให้จัดทหารสำหรับรักษาพระนคร แบ่งออกเป็น ๔ กอง คือภายในกำแพงพระนคร ๑ กอง อยู่ที่ตำบลปทุมวัน ๑ กอง ที่ตำบลบางรัก ๑ กอง และที่ฝั่งธนบุรี ๑ กอง
            ทหารสำหรับรักษาพระนครนี้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี ขอรับอาสาเรียกระดมทหารเก่าที่เคยไปราชการทัพคราวปราบฮ่อด้วยกัน สมทบช่วยราชการร่วมกับทหารประจำการในกรุงเทพ ฯ โดยที่ตัวพระยาสุรศักดิ์มนตรีเอง เป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่อาสาสมัครในคราวนี้ด้วย มีจำนวนทั้งสิ้นกว่าหนึ่งพันคน
            วันที่ ๑๑ กรกฎาคม มีพระบรมราชโองการ ถึงพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ผู้บัญชาการทหารเรือเกี่ยวกับการป้องกันมิให้เรือรบฝรั่งเศสแล่นเข้ามากรุงเทพฯ เป็นเด็ดขาด
            วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ฝ่ายไทยเตรียมการรับเสด็จ อาร์ชดยุคออสเตรีย ซึ่งกำหนดว่าจะมาถึงปากน้ำเจ้าพระยาในวันนี้ จึงได้จัดส่งเรือมกุฏราชกุมาร และเรือนฤเบนทร์บุตรีออกไปรับที่ปากน้ำ เรือมกุฏราชกุมารออกไปจอดคอยอยู่ที่นอกสันดอน ภายหลังเมื่อทราบว่าเจ้าชายออสเตรียยังเสด็จมาไม่ถึง และในตอนเย็นราชฑูตฝรั่งเศสก็ได้แจ้งให้ทราบว่าเรือรบฝรั่งเศสสองลำจะเข้ามาถึงสันดอน โดยตกลงว่าจะจอดอยู่ที่สันดอนก่อน แต่เพื่อความไม่ประมาท นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้ออกไปที่สันดอนแต่เช้าได้สั่งให้ เรือมกุฏราชกุมารถอยเข้ามาจอดภายในแนวป้องกันที่ปากน้ำ ในวันนี้ฝ่ายไทยได้จมเรือโป๊ะที่แนวป้องกันอีกลำหนึ่ง และได้วางทุ่นระเบิดเพิ่มเติมอีก รวมแล้วได้วางทุ่นระเบิดได้ทั้งหมดเพียง ๑๖ ลูก
            เวลา ๑๗.๐๐ น. เรือมกุฏราชกุมารเข้าประจำที่ภายในแนวป้องกัน โดยมีเรือนฤเบนทร์บุตรี และเรือทูลกระหม่อมจอดอยู่ถัดไปทางฝั่งเดียวกันตรงแหลมฟ้าผ่า ทางฝั่งตะวันออกของช่องเดินเรือมีเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์จอดอยู่ กับมีเรือหาญหักศัตรูจอดอยู่ทางฝั่งเดียวกัน รวมเรือรบฝ่ายไทยที่คอยต้านทานอยู่ในแนวป้องกัน รวม ๕ ลำด้วยกัน นอกแนวป้องกันออกไปมีสนามทุ่นระเบิดบังคับการยิงจากเรือยิงทุ่นระเบิด ซึ่งจอดอยู่ทางฝั่งตะวันตกใกล้เรือทุ่นไฟ ที่แหลมลำพูราย มีสถานีโทรเลขสำหรับรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้าไปยังกรุงเทพฯ
            พระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้อำนวยการป้องกันอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และได้สั่งการแก่ผู้บังคับการเรือทุกลำว่า ในกรณีที่เกิดการสู้รบกันขึ้น เมื่อป้อมพระจุลจอมเกล้า ทำการยิงไปเป็นนัดที่สี่แล้ว เรือฝรั่งเศสยังไม่หยุด ก็ให้เรือเริ่มทำการยิงร่วมกับป้อมได้ทีเดียว
            เวลา ๑๗.๐๐ น. หมู่เรือรบฝรั่งเศสมาถึงสันดอน และได้หยุดเรือโดยไม่ทอดสมออยู่ใกล้ ๆ กับเรือนำร่อง และเรืออรรคราชวรเดช ซึ่งมีกัปตันวิล เจ้าท่าไทยสัญชาติเยอรมันประจำอยู่ เรือลาดตระเวณอังกฤษชื่อพาลลาสก็จอดอยู่ในบริเวณนี้ด้วย เมื่อเรือรบฝรั่งเศสมาถึง มิสเตอร์แจคสัน นำร่องใหญ่สัญชาติอังกฤษ ซึ่งอยู่ที่เรือนำร่องได้ขึ้นไปบนเรือเซย์ กัปตันวิลได้ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์ ห้ามปราบมิให้เรือรบฝรั่งเศสเดินทางเข้าไป เรือสตรู ซึ่งเป็นเรือกลไฟไทยเข้าเทียบเรือแองคองสตังต์ โดยมีนายเรือโทนายทหารประจำเรือลูแตงเอาถุงไปรษณีย์มาให้ด้วย ผู้บังคับการเรือพาลลาสได้ส่งนายเรือเอก เอดเวิดส์ นายทหารฝ่ายพลาธิการขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ราชฑูตฝรั่งเศสให้มีคำสั่งมาให้เรือรบฝรั่งเศสจอดทอดสมออยู่นอกสันดอนก่อน แต่ผู้บังคับการเรือแองคองสตังต์ไม่ยอมฟังการห้ามปรามใด ๆ ดังนั้นทุกคนที่ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์จึงล่ากลับ ส่วนมิสเตอร์แจคสันนำร่องไทยคงอยู่ในเรือเซย์ มิได้กลับไปยังเรือนำร่อง ม.วิเกล กัปตันเรือเซย์ได้ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์ ทำหน้าที่นำร่องตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว ต้นเรือเซย์ทำหน้าที่กัปตันเรือเซย์
            เวลา ๑๗.๓๐ น. มีฝนตกบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ทำให้อากาศมืดครึ้ม มองอะไรไม่ใครเห็น
            เวลา ๑๘.๑๕ น. ฝนหยุดตก ทางป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้แลเห็นเรือรบฝรั่งเศสกำลังแล่นผ่านกระโจมไฟเข้ามา เสียงแตรสัญญาณดังขึ้น เพื่อสั่งให้ทหารประจำป้อมพระจุลจอมเกล้า "เข้าประจำสถานีรบ"
            เรือสตรูออกจากเทียบ เดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ
            ขณะนั้นน้ำที่สันดอนกำลังจะขึ้น นายนาวาโทโบวี ผู้บังคับการเรือแองคองสตังต์ได้จัดเรือกลไฟเล็กของเรือแองคองสตังต์ ออกไปหยั่งน้ำล่วงหน้าที่บริเวณโป๊ะจับปลา ส่วนกัปตันวิลเมื่อกลับไปถึงเรืออรรคราชวรเดชแล้ว ก็ได้ชักธงสัญญาณประมวลให้ทางป้อมพระจุลจอมเกล้าทราบเพื่อ "เตรียมพร้อม"
            เวลา ๑๘.๐๕ น. หมู่เรือรบฝรั่งเศสออกเดินทางสู่ปากน้ำเจ้าพระยา โดยมีเรือเซยแล่นนำหน้า ติดตามด้วยเรือแองคองสตังต์ และเรือโคเมตเป็นขบวนเรียงตามกันปิดท้ายระยะ ๔๐๐ เมตร มีเรือสินค้าอังกฤษสามลำแล่นออกมาสวนทางกับเรือรบฝรั่งเศส อากาศครึ้มฝน ลมอ่อนพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีระลอกคลื่นตามชายฝั่งเล็กน้อย ดวงอาทิตย์กำลังใกล้จะตก
            เวลา ๑๘.๓๐ น. หมู่เรือรบฝรั่งเศสแล่นมาถึงทุ่นดำ ซึ่งเป็นจุดเลี้ยวของร่องน้ำ ป้อมพระจุลจอมเกล้าก็เริ่มยิงด้วยนัดดินเปล่าไม่บรรจุหัวกระสุน จำนวน ๒ นัด เพื่อเป็นสัญญาณเตือนมิให้เรือรบฝรั่งเศสแล่นเข้ามาแต่ไม่ได้ผล เรือรบฝรั่งเศสคงแล่นเรื่อยมาอย่างเดิม จึงได้ยิงโดยบรรจุกระสุนเป็นนัดที่สาม ให้กระสุนตกข้างหน้าเรือเป็นการเตือนอีก แล้วจึงยิงเป็นนัดที่สี่ให้กระสุนตกข้างหน้าเรือเช่นเดียวกัน ในตอนนี้ทางป้อมพระจุลจอมเกล้าสังเกตุเห็นว่า เรือลำหน้าทำท่าจะหยุดและหันกลับออกไป แต่ในไม่ช้าก็เดินมาตามเข็มเดิมอีก พร้อมกับชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นที่ยอดเสาทุกเสา และที่เสาก๊าฟด้วย แล้วได้ทำการยิงมายังป้อม ป้อมจึงยิงเรือรบฝรั่งด้วยปืนทุกกระบอก


การรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา

            รัฐบาลฝรั่งเศสได้แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบว่าเรือรบฝรั่งเศสอีกสองลำคือเรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมตจะจอดอยู่นอกสันดอน แต่จะด้วยเหตุอันใดไม่เป็นที่ประจักษ์ เรือรบทั้งสองลำดังกล่าวได้แล่นเลยข้ามสันดอนเข้ามา ทำให้เกิดการสู้รบกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อตอนเย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ หลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับตอนนี้ได้มีผู้บันทึกไว้ไม่ตรงกันนักจากหลายฝ่าย ทั้งไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส พอประมวลได้ดังนี้
หลักฐานจากบันทึกประจำวันของผู้บังคับการเรือโคแมต

    วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖
            เรือแองคองสตังค์ ได้มาถึง..... เรือลำนี้จะนำเราเดินทางไปกรุงเทพ ฯ..... มีเวลาเพียงพรุ่งนี้ตอนเย็นเวลาเดียวเท่านั้นที่จะมีระดับน้ำสูงพอที่จะให้เรือแองคองสตังค์ ซึ่งกินน้ำลึก ๔.๒๐ เมตร ผ่านสันดอนเข้าไปได้..... เรือโคแมตจึงเข้าเทียบรับถ่านมาเสีย ๒๐ ตัน

            เสร็จการขนถ่านแล้วผู้บังคับการเรือทั้งสองลำได้ร่วมกันอ่านโอวาทของผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกล..... รัฐบาลประสงค์จะบีบบังคับประเทศไทย..... ในเหตุการณ์ทางชายแดนที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เราจะต้องเดินทางไปจอดที่สมุทรปราการในวันพรุ่งนี้ตอนเย็น โดยอาศัยสิทธิของเราตามสนธิสัญญา เมื่อได้ทำความตกลงกับ ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสประจำราชสำนักกรุงเทพ ฯ แล้ว เราก็จะเดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ ในเย็นวันเดียวกัน รุ่งขึ้นวันที่ ๑๔ กรกฎาคม .....จะได้ชักธงราวแต่งเรือในวันชาติ การปรากฏตัวของเรือเราทั้งสามลำ..... คงจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินไทยต้องทรงตรึกตรองด้วยดี ในเรื่องเกี่ยวกับการปล่อยตัวร้อยเอกโทเรอซ์ การจ่ายเงินค่าทำขวัญ..... การทำอนุสัญญาเพื่อกำหนดเขตแดนของลาว ญวน และเขมร.....

            หน้าที่เฉพาะหน้าก็คือ..... การกำหนดแนวปฏิบัติต่าง ๆ หากว่าทางฝ่ายไทยบังคับให้เราหยุดอยู่ก่อน เราก็ปรึกษา ม.ปาวี..... หากเรือแองคองสตังค์ เกยตื้นเข้าไปไม่ได้ เรือโดแมตก็จะเดินทางต่อไปเพียงลำเดียว..... ถ้าฝ่ายไทยใช้ปืนป้อมยิงมายังเรา เราก็ทำการยิงตอบ.....



            เวลา๑๔.๐๐ น.  นาวาโทโบรี (Borry) เริ่มเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับหมู่เรือและได้ส่งสัญญาณให้ออกเรือ เรือโคแมตออกเดินทางจากอ่าวซาราเซน ติดตามเรือแองคองสตังค์ ไปที่กลางทะเล เราได้พบเรือยังบัปติสต์เซย์ (Jean Baptist Say) เรือสินค้าของบริษัทเมสซาเยอรี พลูวิอัลส์ ซึ่งเป็นเรือเดินประจำระหว่างไซ่ง่อนกับกรุงเทพ ฯ ม.จิเกล (Jiguel) กัปตันเรือเซย์มีความชำนาญในการนำเรือเข้าแม่น้ำเจ้าเจ้าพระยา จะเป็นผู้นำร่องให้แก่เรา.....

    วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖
            เมื่อคืนอากาศมืดมิด .....เราต้องผ่านสันดอนเข้าแม่น้ำให้ได้ก่อนน้ำลด.....

            ประมาณ ๑๖.๐๐ น. ฝั่งประเทศไทยก็ปรากฏขึ้นทางเหนือ และหนึ่งชั่วโมงต่อมาเรือของเราก็มาถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับเรือลาดตระเวนอังกฤษชือ พาลลาส.....

            เรือปืนจักรข้างของไทยลำหนึ่ง ชื่ออรรคราชวรเดช ทอดสมออยู่ไม่ห่างนัก มีเรือโบตลำหนึ่งมาจากเรือนั้น นำพนักงานเจ้าท่ามาขึ้นเรือแองคองสตังค์ เป็นคนชาติเยอรมันในขณะเดียวกัน มีเรือกลไฟลำใหญ่ของไทยซึ่งมาจากกรุงเทพ ฯ เข้าเทียบเรือแองคองสตังค์ มีนายเรือโทประจำเรือลูแตงคนหนึ่ง เอาถุงไปรษณีย์ถุงใหญ่มาด้วย  เจ้าพนักงานผู้นั้นมาห้ามมิให้นำเรือเข้าไป และไม่ยอมบอกอัตราน้ำที่สันดอน..... นายทหารอังกฤษผู้หนึ่งจากเรือพาลลาส ขึ้นมาเยี่ยมและบอกว่าได้ทราบว่า ม.ปาวี จะมาบอกให้เราทอดสมออยู่ข้างนอกสันดอนก่อน..... แต่นายทหารประจำเรือลูแตงไม่เห็นบอกเช่นนั้น และเขาเองก็ไม่ได้รับมอบคำสั่งด่วนแต่อย่างใด..... นาวาโท โบรี จึงให้เดินทางต่อไป

            เวลา ๑๘.๐๕ น. เราผ่านสันดอน..... เรือเซย์เดินนำหน้า เรือแองคองสตังค์ กับเรือโคแมตเดินเรียงตามกันปิดท้ายระยะห่าง ประมาณ ๔๐๐ เมตร..... ไม่กี่นาทีจากนั้น เรืออรรคราชวรเดชได้ส่งสัญญาณประมวลสากล มีความหมายว่า "เตรียมตัวรับพายุใหญ่"

            เวลา ๑๘.๓๐ น. เราเข้ามาใกล้ทุ่นดำ ได้ยินเสียงปืนใหญ่ดังขึ้นนัดหนึ่ง แล้วก็ดังซ้อน ๆ กันหลายนัด ปรากฏว่าที่แหลมตะวันตกทำการยิง..... มีกระสุนหลายนัดส่งเสียงหวือ ๆ มายังเรา.....

            "ประจำสถานีรบ" เป็นคำสั่งให้ทุกคนรีบเข้าประจำที่ของตน..... และชักธงชาติขึ้นยอดเสา.....


            เราเตรียมพร้อมแล้วที่จะยิงตอบ.....

            ป้อมพระจุลจอมเกล้ากลบไปด้วยแสงไฟและควันปืน..... เราอยู่ห่างถึง ๔,๐๐๐ เมตร ปืนเหล่านี้เมื่อยิงจะโผล่ขึ้นมา ครั้นยิงแล้วก็ผลุบลงไปในหลุม ที่มีเกราะป้องกันโดยทันที การยิงอย่างเต็มขนาดไปยังป้อมในขณะนี้ดูจะไร้ผล ดังนั้นเราจึงบรรจุปืนใหญ่ด้วยกระสุนลูกปราย ซึ่งจะระเบิดแตกทำลายคนประจำปืน และเครื่องประกอบปืนอันอยู่ในที่กำบัง..... บนสะพานเดินเรือมีเรือโทบาแซง ซึ่งเป็นต้นหนคอยนับจำนวนกระสุนที่ยิงมาด้วยเสียงอันดัง

            ทันใดนั้นเรือเซย์ได้หันหัวเรือไปทางซ้าย เราจึงแล่นผ่านเลยไป กัปตันของเรือตะโกนบอกมาว่า นำร่องไม่ยอมนำเรือต่อไปอีก และต้องการจะทอดสมอ เรือเซย์ถูกกระสุนปืนหนึ่งนัด และเพื่อมิให้เรือจมจึงจำต้องแล่นเกยตื้นใกล้ ๆ ทุ่นดำ ในไม่ช้าก็มีกระสุนอีกนัดหนึ่งระเบิดลงบนเรือแองคองสตังค์ หลักเดวิทเรือโบตหักสะบั้นลง พันจ่าช่างไม้ประจำเรือตายคาที่ นาวาโทโบรี จึงสั่งหันหัวเรือไปทางซ้าย และให้ถือท้ายมุ่งตรงต่อไปทางกลางปากน้ำ แล้วสั่งเริ่มยิง เรือโคแมตก็เริ่มยิงตาม ขณะนี้เวลา ๑๘.๔๓ น. การรบได้บังเกิดขึ้นแล้ว.....

            การรบได้เป็นไปอย่างเผ็ดร้อน..... ถัดจากเรือทุ่นไฟมีเรือเหล็กจมอยู่หลายลำ ซึ่งยึดไว้ให้อยู่กับที่ โดยเอาหลักปักไว้ขนาบไว้เป็นสองแถว และมีสายโซ่ขึงไว้เป็นแนวอย่างแข็งแรงเหลือช่องว่างให้เรือเข้าออกได้ราว ๘๐ เมตร ช่องที่ผ่านนี้ยังได้วางตอร์ปิโดไว้อีกด้วย เลยแนวกีดขวางเข้าไปมีเรือไทย ๙ ลำ จอดเรียงรายกันอยู่ปืนหัวเรือเหล่านี้ได้ร่วมยิงกับป้อมพระจุลจอมเกล้าด้วย ๔ ลำ อยู่ทางซ้ายอีก ๕ ลำ อยู่ทางขวา ประกอบกันเป็นช่องทางที่เราต้องผ่านไป..... เดินหน้าเต็มตัว เราจะได้พุ่งเข้าชนเครื่องกีดขวาง

            เวลา ๑๘.๕๐ น. ขณะที่เรือแองคองสตังค์ แล่นเข้าไปใกล้เรือทุ่นไฟนั้น ตอร์ปิโดลูกหนึ่งได้ระเบิดข้างหน้าเรือแต่ไม่ถูกเรือ เรือแองคองสตังค์ ได้แล่นผ่านแนวกีดขวาง พร้อมทั้งทำการสู้รบกับเรือข้าศึกที่ตั้งเรียงรายเป็นสองแนว.....

            .....เรือโคแมต ซึ่งแล่นตามแนวทางของเรือแองคองสตังค์ ก็ได้ผ่านกองเรือไทย และได้ยิงโต้ตอบไปทางขวาบ้างทางซ้ายบ้างด้วยปืนใหญ่ประจำเรือ..... ฝ่ายข้าศึกให้ใช้ปืนกลยิงมายังเรา..... รวมทั้งปืนใหญ่ก็ยิงมาดังห่าฝน..... ขณะที่เราแล่นผ่านเรือใบลำใหญ่ทาสีขาว ซึ่งเป็นเรือลำสุดท้ายทางซีกซ้ายในระยะห่างกัน ๑๐๐ เมตร เรือลำนี้ได้ยิงมายังเราตับหนึ่ง ถูกพลประจำปืนตายไปสองคน..... ปืนท้ายของเราได้ยิงตอบไปบ้าง ถูกตัวเรือที่ทำด้วยไม้อย่างจัง การยิงได้ผลลงเมื่อเวลา ๑๘.๕๘ น. ..... เส้นทางเดินก็ปลอดโปร่งไปชั่วขณะ

            .....ยังเหลือป้อมที่เกาะเล็กอีกป้อมหนึ่ง..... เวลา ๑๙.๐๐ น. ได้มาถึงป้อมนี้ซึ่งยังคงสงบเงียบอยู่..... เราได้ยิงกราดเข้าไป และปืน ๒๑ เซนติเมตร ของป้อมก็ได้ยิงตอบโดยไม่ถูกเรือเรา..... เราแล่นเลยสมุทรปราการไปโดยไม่มีข้าศึกกล้าติดตามมาเลย.....

            .....ความมืดช่วยเขาไว้ได้ การยิงของฝ่ายไทยไม่ใคร่แม่น อำนวยการยิงไม่ดี และไม่มีการคำนึงถึงความเร็วเรือเพื่อแก้ศูนย์ กระสุนส่วนใหญ่จึงตกสูง หรือหลุดท้ายเรือเราไป ตอร์ปิโดก็ระเบิดก่อนเวลาอันสมควร จึงไม่บังเกิดผลแต่อย่างใด

            เรือโคแมตไม่ได้รับความเสียหายเท่าใด..... มีบ้างเล็กน้อย ตัวเรือ เพดานเรือ เครื่องเสา ปล่องเรือ และปล่องลม มีรอยกระสุนมัลลิเคอร์อยู่มากมาย มีรอยกระสุนถากไปหนึ่งหรือสองแห่ง กระจกบนสะพานเดินเรือแตก เรือกลเล็กที่อยู่ตอนหัวเรือ แตกมีรูรั่ว เรือไวหมายเลข ๒ ไฟไหม้จนไม่เป็นรูป.....

            .....เวลา ๒๑.๐๐ น. ผู้บังคับหมู่เรือส่งสัญญาณมาว่าให้ทอดสมอพร้อมกัน..... พอเลี้ยวตามแม่น้ำคุ้งแรกก็แลเห็นท่าจอดเรือกรุงเทพ ฯ แม่น้ำตอนนี้แคบมากและเต็มไปด้วยเรือกลไฟ เรือใบ และมีเรือเล็ก ๆ มีแสงสว่างทั่วไปหมด กระแสน้ำก็ไหลแรง ทางเรือก็ไม่มีนำร่อง..... เรือแองคองสตังค์ ได้ทอดสมออยู่ใกล้ ๆ สถานฑูตฝรั่งเศส เรือโคแมตก็ทอดสมออยู่ใกล้กัน

            .....ในเรือแองคองสตังค์ มีทหารตายเพียงคนเดียว และบาดเจ็บสองคน เครื่องเสา และตัวเรือมีรอยถูกยิงด้วยกระสุนปืนเล็ก และรอยกระสุนปืนใหญ่หลายแห่ง นอกจากหลักเดวิทเรือโบตหักแล้ว ก็ไม่มีอะไรเสียหายร้ายแรง

            ในระหว่างนี้ข่าวการรบและการเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ของเรายังไม่แพร่กระจายออกไป นครหลวงอันกว้างใหญ่ พร้อมพลเมืองสามแสนคนยังคงนอนหลับสงบเงียบอยู่ ผู้บังคับการเรือลูแตง กล่าวว่าไม่ได้ยินเสียงปืนที่ยิงกันเลย.....

            ก่อนจะขึ้นไปรายงานตัวต่อ ม.ปาวี นาวาโทโบรี ได้ประชุมผู้บังคับการเรือลูแตง และเรือโคแมต เพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติในอันที่จะแก้แค้นฝ่ายไทย ที่ทำการคุกคามโดยไม่สมควร ตกลงกันว่าพรุ่งนี้เวลาเช้าตรู่เรือของเราทั้งสามลำ จะออกเรือเพื่อทำการจมเรือลาดตระเวนมหาจักรี ซึ่งทอดสมออยู่ที่หน้าอู่หลวง แล้วเราจะตรึงเรือเป็นแนวอยู่ตรงหน้าพระบรมมหาราชวัง หากไม่ได้รับความตกลงที่พอใจ ก็จะได้ระดมยิงพระบรมมหาราชวังต่อไป ความจำเป็นในเบื้องแรกคือ ให้กองเรือไทยยอมจำนน และให้ฝ่ายไทยจัดการถอนคน และรื้อป้อมที่ปากน้ำเสีย ในขั้นต่อไปทหารเรือเราก็จะมอบให้ฝ่ายการฑูตเจรจากันต่อไป.....

    วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖
            เวลา ๐๒.๐๐ น. ผู้บังคับหมู่เรือได้มาบอก ผู้บังคับหมู่เรือมาบอกยกเลิกคำสั่งสุดท้ายของเขา ม.ปาวี ได้อธิบายแก่เขาว่า ถ้าเราได้ยิงปืนในท่าเรือกรุงเทพ ฯ แม้แต่เพียงนัดเดียวก็จะกลายเป็นสัญญาณให้เกิดการจลาจลอย่างน่ากลัว พวกชาวจีนที่กำลังมั่วสุมประชุมกันเป็นสมาคมลับที่เข้มแข็ง จะถือโอกาสลุกฮือขึ้นทำการปล้นสะดม และเผาผลาญบ้านเรือนของชาวยุโรปตลอดจนพระราชวัง และวังเจ้านาย เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้เกิดการจลาจลขึ้นโดยไม่สามารถปราบปรามลงได้..... ควรจะได้หาทางทำสัญญาสงบศึกเสีย โดยเริ่มเจรจาทำความตกลงกัน.....


            .....เวลา ๐๘.๐๐ น. หมู่เรือฝรั่งเศสได้ชักธงราวแต่งเรือเป็นเกียรติในวันชาติ ตามกฎธรรมเนียมแห่งมารยาท เรือต่างประเทศที่จอดอยู่ในลำน้ำทุกลำก็ชักธง แต่งเรือให้เป็นเกียรติแก่เรา เรือกลไฟลำใหญ่ของไทยซึ่งทอดสมออยู่ใกล้ ๆ กับเราก็ได้ชักธงฝรั่งเศสให้ด้วย ทราบมาว่าข้าศึกของเราเมื่อวานนี้ จำนวนหลายลำที่ถูกยิงอย่างฉกรรจ์จนไม่สามารถแล่นขึ้นมาได้ต้องเกยตื้นอยู่แถวล่าง ๆ ก็ยังได้ชักธงราวแต่งเรือให้เป็นเกียรติแก่เรา.....
ฯลฯ             บัดนี้เราพอจะทราบถึงแผนการป้องกันของฝ่ายไทยได้บ้างแล้ว ทั้งมูลเหตุที่ทำให้เกิดการสู้รบกันขึ้น..... พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงใช้โวหารแบบการฑูตของชาวตะวันออก ได้ทรงประกาศแต่เพียงว่า ที่เกิดการรบขึ้นนี้เนื่องจากการเข้าใจผิด.....
            นับตั้งแต่เดินทางออกจากไซ่ง่อน นาวาโทโบรีก็อยู่ในทะเล ห่างไกลการติดต่อทั้งสิ้น โทรเลขทางราชการที่ส่งมาเพื่อเพิ่มเติมว่าให้จอดรออยู่ที่สันดอนนั้น เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ของไทย ก็เพิ่งส่งเข้ามาให้ทราบ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่ได้ทำการรบกันแล้ว โทรเลขของผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกลก็มาถึงโดยล่าช้าเช่นกัน ม.ปาวีคนเดียวเท่านั้น ที่สามารถปัดเป่าความยุ่งยากที่เกิดขึ้นใหม่นี้ กระนั้น จดหมายของ ม.ปาวีเองที่รวมอยู่ในถุงไปรษณีย์อันใหญ่โตก็ไม่ได้สังเกตเห็น เพราะการตรวจแยกหนังสือทำไม่ทันในเย็นวันที่ ๑๓

            การที่เรือทั้งสองลำแล่นผ่านสันดอนเข้ามานั้นก็อาศัยข้อความในสนธิสัญญา มิได้มีเจตนาหรือความคิดอันใดที่นะโน้มไปในทางรุกราน..... ประเทศฝรั่งเศสเป็นมหาประเทศ พูดคำไหนต้องเป็นคำนั้น และถ้าตั้งใจจริง ๆ แล้ว คงหาใช่ด้วยเรือปืนเล็ก ๆ เพียงสองลำมีพลประจำเรือเพียง ๑๙๖ คนเท่านั้น ที่ฝรั่งเศสคิดจะโจมตีเมืองที่มีพลเมืองถึง ๓,๐๐๐,๐๐๐ คน และเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย มีพลเมือง ๖,๐๐๐,๐๐๐ คน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ปากน้ำ ในทำนองที่ปล่อยให้เรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมตตกอยู่ในหลุมพรางเช่นนี้ หาใช่อื่นไกลไม่ เป็นเพราะรัฐบาลไทยหลงเชื่อคำปรึกษาที่ก่อให้เกิดอันตรายจาก ม.โรแลงยัคเกอแมงส์ และเดอริชลิเออกับพวก.....


            ป้อมของฝ่ายไทยสองป้อม คือ ป้อมพระจุลจอมเกล้ามีปืนใหญ่อาร์มสตรอง ชนิดผลุบโผล่ขนาด ๒๑ เซนติเมตร ๙ กระบอก ป้อมผีเสื้อสมุทรมีปืนอย่างเดียวกัน ๘ กระบอก เราจำเป็นต้องผ่านป้อมทั้งสองนี้ในระยะใกล้ ๆ นับเป็นกำลังป้องกันที่แข็งแรงอย่างน่ากลัว กัยแนวกีดขวางที่เรือทุ่นไฟนั้น ก็ได้จัดทุ่นดินระเบิดไดนาไมท์วางไว้เป็นแนว..... พลเรือจัตวา เดอริชลิเออ ยังได้จัดวางเรือรบไว้ถัดจากแนวกีดขวางขึ้นไป โดยจัดเรือเรียงเป็นสองแนวทั้งสองข้างช่องทาง ระยะระหว่างลำ ๑๐๐ เมตร ด้านทิศตะวันตกมีเรือปืนไมดา นฤเบนทร์บุตรี มูรธาวสิตสวัสดิ์ และเรือฝึกนักเรียนชื่อทูลกระหม่อม ด้านทิศตะวันออกมีเรือปืนหาญหักศัตรู เรือกลไฟชื่อเกาะสีชัง ฟิลลาแกลดิส ซึ่งมีทหารปืนเล็กอยู่ในเรือ และเรือปืนลำใหญ่ชื่อมกุฏราชกุมาร กองทหารบนบกใช้ปืนมันลิเดอร์ขนาด ๘ มิลลิเมตร แบบสมัยใหม่ จ่ายให้ประจำอยู่ตามป้อม ่และตามตำบลริมแม่น้ำ

            พลเรือจัตวา เดอ ริชลิเออ สัญชาติเดนมาร์ค เป็นผู้อำนวยการป้องกันปากน้ำ มิสเตอร์ เวสเตนโฮลซ์ สัญชาติเดนมาร์ค ผู้จัดการรถรางในกรุงเทพ ฯ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายตอร์ปิโด ซึ่งมีสถานียิงอยู่บนเรือกลไฟ ขนาดย่อมจักรท้าย เรือนี้ทอดสมออยู่ทางฝั่งขวา ถัดจากแนวกีดขวางขึ้นไปเล็กน้อย แนวของตอร์ปิโด ซึ่งมีลักษณะเป็นทุ่นระเบิดบรรจุดินระเบิดไดนาไมท์วางเป็นรูปครึ่งวงกลมปิดอยู่เต็มแนวกีดขวาง ซึ่งมีช่องว่างกว้าง ๘๐  เมตร เปิดให้เรือเดินเข้าออกได้
ฯลฯ             เรือมกุฏราชกุมารถูกยิงหลายแห่งโดยปืน ฮอทช์กิส กระสุนปืนใหญ่ขนาด ๑๐ เซนติเมตร ยิงถูกเครื่องกว้านสมอ ในจำนวนทหาร ๘๐ คนนั้น มีตาย ๑๒ คน บาดเจ็บ ๒๐ คน..... เรือนี้ต้องเกียตื้นเพื่อซ่อมที่ตำบลบางคอแหลม
            เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ ซึ่งถูกแองคองสตังค์ เบียดจนเสาธงหักไปเวลาเข้ามาทางท้ายเรือแองคองสตังค์ นั้น ได้ถูกกระสุนปืนใหญ่หนึ่งนัดเจาะทะลุห้องเครื่องทั้งสองข้าง ถูกกระสุนปืน ๑๐ เซนติเมตร หนึ่งนัดที่ตอนหน้าสะพานเดินเรือ กับมีรอยกระสุนปืน ฮอทชกิส อีกหลายแห่ง เรือนี้จึงต้องแล่นเกยตื้นเพื่อมิให้จม

            เรือทูลกระหม่อมถูกกระสุนปืนขนาด ๑๐ เซนติเมตร ของเรือโคแมตที่ตัวเรือเข้าอย่างจัง

            เรือหาญหักศัตรู ถูกยิงที่กราบซ้ายเรือมีช่องโหว่

            เรือไมดาได้รับความเสียหายมากเช่นกัน

            ป้อมผีเสื้อสมุทรได้รับความเสียหายอย่างเห็นได้ชัดจากกระสุนปืนเมลิไนท์ของเรือโคแมต หลังคาเหล็กของปืนสี่กระบอกทางด้านตะวันออก ได้ถูกยิงยุบลงมาทับตัวปืนทำให้ปืนเคลื่อนไหวไม่ได้

            ป้อมพระจุลจอมเกล้า ถูกยิงได้รับความเสียหายจากกระสุนปราย

            ฝ่ายไทยอ้างว่ามีทหารตาย ๒๕ คน และบาดเจ็บ ๓๙ คน.....

            ชาวยุโรปที่รับราชการในประเทศไทยมีจำนวนมาก จึงได้จ่ายไปประจำตามป้อม และประจำตามเรือต่าง ๆ ได้พยายามทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ การกระทำของเขาเหล่านั้น แม้จะไม่ชอบด้วยกฎแห่งการทำสงคราม..... แต่ทหารชาวพื้นเมืองมิได้ช่วยการปฏิบัติงานของเขาให้เป็นไปด้วยดีได้ ทหารประจำเรือส่วนหนึ่งเป็นชาวเขมร..... นายทหารที่เป็นชนชาติเดินมาร์คหรือเยอรมัน ต้องเล็งยิงปืนเสียเอง หรือเข้าช่วยคนถือท้ายเรืออยู่บ่อย ๆ ทหารประจำเรือบางคนคิดว่าที่ตนมาอยู่ปากน้ำนี้ก็เพื่อรับเสด็จอาร์ชดุก แห่งออสเตรีย ซึ่งมีข่าวว่าจะเสด็จเยี่ยมกรุงเทพ ฯ.....

            ท้องแม่น้ำเต็มไปด้วยสิ่งแปลก ๆ นักถ่ายรูป ฝูงชนแต่งกายหลากสี..... ต่างมาชมดูเรือขนาดย่อม ๆ ของฝรั่งเศส.....

            ในระหว่างนี้มีการส่งโทรเลขอันยืดยาวไปมากับกรุงปารีส ม.ปาวีพยายามเจรจาและขบปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการยอมยกเมืองหลวงพระบาง การเคารพสิทธิของเราทางฝั่งซ้าย และเกาะในแม่น้ำโขง ซึ่งต้องประชุมหารือโดยไม่หยุดหย่อนกับรัฐบาลไทย เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทย คงจะขุ่นเคืองพระทัยอยู่ไม่น้อย
จากรายงานของผู้บังคับการเรือพาลลาส
            รายงานของนาวาเอก แองกัส  แมคเคลาด์ (Angus Maciead) ผู้บังคับการเรือพาลลาสถึง พลเรือตรีฟรีแมนเติล ผู้บัญชาการกองเรืออังกฤษภาคทะเลจีน ลง ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า

            วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ เวลาเช้าตรู่ ได้รับจดหมายจากพลเรือจัตวา เดอ ริชลิเออ แห่งราชนาวีไทย มีใจความว่า "เรือแองคองสตังค์ จะมาถึงวันนี้ แต่ ม.ปาวี ตกลงยินยอมจะส่งเรือกลไฟลำหนึ่งให้นายทหารประจำเรือลูแตงไปด้วย เพื่อไปบอกให้อยู่เพียงนอกสันดอน หวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้น"

            เวลา ๑๕.๓๐ น. ได้รับจดหมายจากกัปตันโยนส์ มีใจความว่า

            "มีเหตุผลพอเชื่อถือได้ว่าเย็นวันนี้ที่ปากน้ำเจ้าพระยา จะพยายามให้เขาเชื่อไม่ให้เดินทางเข้ามาคงให้ทอดสมออยู่ที่นอกสันดอน"

ฯลฯ             ภายนอกแม่น้ำเจ้าพระยามีเรือนำร่องกับเรือจักรข้างเก่าลำหนึ่ง เป็นเรือที่กัปตันวิล (Captain J.R. Vil) เจ้าพนักงานเจ้าท่าประอยู่ ก่อนเกิดเหตุกัปตันวิลได้รับคำสั่งให้ขึ้นไปบนเรือฝรั่งเศสทุกลำ ที่เข้ามาเพื่อขอร้องมิให้ข้ามสันดอนเข้ามา กัปตันวิลมีประมวลสัญญาณติดตัวไปด้วย เพื่อส่งไปยังประภาคารที่สันดอน แล้วส่งต่อไปยังปากน้ำ เพื่อให้ทราบเหตุการณ์ภายนอกแม่น้ำได้
            เวลา ๑๕.๐๐ น. วานนี้ เห็นเรือสองลำแล่นมาทางทิศตะวันออก แสดงว่าเป็นเรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมต กับมีเรือกลไฟขนาดย่อมอีกลำหนึ่ง ไม่ติดธงหรือเครื่องหมายทางราชการอย่างใด แต่เชื่อว่าเป็นเรือฝรั่งเศส เรือลำนี้นำหน้าและเดินทางร่วมกันมา เรือเหล่านี้แล่นมาอย่างเร็วตรงมายังเรือนำร่อง และ ณ ที่ใกล้ ๆ นี้ เรือบริษัทก็ได้ทอดสมอมีนำร่องคนหนึ่งขึ้นไปบนเรือนี้ เขาคงถูกกักตัว เพราะไม่ได้กลับมายังเรือนำร่องอีก
            ข้าพเจ้าได้ส่งเรือเอก เอดเวดส์ (Edwards) ไปกับเรือกลเล็กลำหนึ่งให้นำจดหมายไปแจ้งแก่ผู้บังคับการเรือแองคองสตังค์ ว่าได้ข่าวว่า ม.ปาวี กำลังเดินทางมาจากแม่น้ำเพื่อจะมาพบที่สันดอน เพราะคิดว่าอาจขจัดอันตรายที่จะเกิดปะทะกับป้อมได้ ถ้าหากผู้บังคับการเรือจะนำเรือเข้าไป ฯลฯ             ต่อจากนั้น กัปตันวิลก์ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังค์ ได้แสดงคำสั่งและคำขอร้อง แต่ได้รับคำตอบว่า เรือฝรั่งเศสเจ้าไปกรุงเทพ ฯ กัปตันวิลจึงกลับไปเรือจักรข้าง และส่งสัญญาณไปว่า ให้ระวังตัว (Keep prepare)
            เรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมตไม่ได้ทอดสมอแต่เตรียมพร้อมที่จะออกเดินทางต่อไป.....
            เวลา ๑๗.๑๐ น. ราชฑูตหรือผู้ช่วยของเขาคนใดคนหนึ่ง ได้ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังค์ อยู่บนเรือประมาณ ๑๐ นาที ก็ลงจากเรือเดินทางกลับเข้าแม่น้ำ เขามากับเรือกลไฟไทยลำหนึ่ง ทันทีที่เรือลำนั้นเข้าแม่น้ำ เรือบริษัทก็ถอนสมออกเดินทางเข้าแม่น้ำ เรือแองคองสตังค์ กับเรือโคแมตก็เดินตามไป ดูเหมือนใช้ฝีจักรเต็มที่ ระดับน้ำที่สันดอนสูง ๑๔ ฟุต เมื่อเรือฝรั่งเศสเข้าไปใกล้ทุ่นเลี้ยว (Turningbuoy) เป็นเวลา ๑๘.๓๐ น. อยู่ห่างจากป้อมแหลมตะวันตก ๑.๕ - ๒ ไมล์ ก็มีกระสุนปืนยิงมาเรือฝรั่งเศสจึงส่งประจำสถานีรบ และชักธงชาติฝรั่งเศสที่ยอดเสาทุกเสา การยิงมายังเรือฝรั่งเศสทวีความเร็วยิ่งขึ้น แต่เรือฝรั่งเศสยังไม่ยิงตอบจนกระทั่ง ๑๘.๔๕ น. จึงได้ทำการยิงไปยังป้อม นับจำนวนกระสุนที่ป้อมยิงมา ประมาณ ๑๘ นัด ก่อนที่ฝ่ายฝรั่งเศสจะเริ่มยิง จนเวลา ๑๙.๐๕ น. การยิงจึงยุติลง เวลา ๑๙.๑๔ น. เริ่มยิงอีก จนเวลา ๑๙.๒๔ น.ทุกอย่างก็เงียบเป็นปกติ
            มีเรือกลไฟอังกฤษสามลำแล่นออกจากแม่น้ำในตอนเย็นวันนั้น (ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้าไปสักครู่) ได้มารายงานว่า ไทยได้ปิดช่องทางเดินเรือเสียสิ้นแล้ว และมีเรือไทยสี่ลำออกมาเรียงกันอยู่ภายในแนวเรือที่จมขวางไว้..... เมื่อเวลา ๒๒.๐๐ น. ได้ทราบจากเรือกลไฟลำหนึ่งว่า เรือฝรั่งเศสได้ผ่านป้อมไปได้ในเวลาฝนตก และท่ามกลางความมืด
            โดยที่รู้สึกหวาดเกรงถึงความปลอดภัยของชาวยุโรป..... จึงถือโอกาสส่งทหารหมวดหนึ่งอาวุธพร้อม ในบังคับบัญชาของเรือเอก มัวร์ (Moore) ไปสมทบกับกำลังรักษาการณ์ของนาวาโทกีรบีย์ (Girby) ผู้บังคับการเรือสวิฟท์ที่สถานฑูตอังกฤษ และบริเวณใกล้เคียง
            เวลา ๒๓.๐๐ น. เรือลินเนตมาถึง จึงสั่งให้รับเข้าไปในแม่น้ำ เรือสามารถผ่านสันดอนได้พอดี และได้จอดทอดสมออยู่เลยสันดอนเข้าไปหน่อย รุ่งขึ้นเรือนี้ได้ไปถึงสถานฑูต เวลา ๑๐.๐๐ น.
            ได้รับข่าวว่าเรือลาดตระเวนฝรั่งเศสชื่อ ฟอร์แฟต์ จะเข้ามาในวันนี้..... ประหลาดใจว่าเขาเข้ามาทำไม
            เวลา ๐๘.๓๐ น. เห็นเรือฟอร์แฟต์ แล่นมาทางเกาะสีชังด้วยความเร็วเต็มที่ ๐๙.๓๐ น.ก็ได้ทอดสมอ ฯลฯ             นาวาเอก เรอ กูลูซ์ ผู้บังคับการเรือฟอร์แฟต์ ได้มาเยี่ยม เมื่อเวลา ๑๑.๓๐ น. ..... ได้อธิบายถึงข่าวสาร และเหตุการณ์ในวันที่แล้วมาและได้ให้ความเห็นว่า นาวาโทโบรี ทำผิดในการที่ได้ตีฝ่าแม่น้ำเข้าไป เป็นการขัดคำสั่งของราชฑูตที่ได้สั่งออกมาให้ทราบแล้ว และได้เตือนให้มีความอดทน และมีความระวังให้มาก..... และเชื่อว่าทางการฑูตจะสามารถตกลงปรองดองกัน ในปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ได้.....
            เวลา ๑๓.๓๐ น. นาวาเอก เรอ กูลูซ์  ลากลับ..... เวลา ๑๕.๐๐ น. ได้ไปเยี่ยมตอบ..... นาวาเอกเรอกุลูซ์ แจ้งว่าเขาอยากเข้าไปในแม่น้ำ..... เวลานี้ยังไม่ห้ามเรือค้าขายเข้าออก..... นาวาเอก เรอกุลุซ์บอกว่า มีเรือปืนสี่ลำ เรือตอร์ปิโดสองลำเตรียมพร้อมที่จะเดินทางจากไซ่ง่อน เพื่อมารวมกำลังกันที่นี่ ถ้าหากไม่ได้รับความพอใจอย่างเต็มที่จากฝ่ายไทยเกี่ยวกับข้อเรียกร้องต่าง ๆ และเรือรบที่อยู่ข้างในสามลำก็จะไม่เคลื่อนย้ายไปไหน จนกว่าจะได้ตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
            .....ตามสภาพที่เป็นอยู่นี้เรือของเราและเรือปืนฮอลแลนด์ซุมบาวา อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องได้รับอันตราย.....
            วันที่ ๑๔ กรกฎาคม เวลา ๑๖๐๐ ได้เดินทางเข้าไปในแม่น้ำโดยเรือกลไฟฮอลแลนด์ ชื่อมหาวชิรุณหิศ ได้สังเกตดูผลการยิงของฝรั่งเศส ปรากฏว่าไม่เห็นผลจริงจัง ตามป้อมมีคนประจำอยู่อย่างระมัดระวัง เผื่อว่าฝรั่งเศสจะเข้ามาอีก เรือปืนทุกลำเตรียมพร้อม เรือได้ทอดสมอห่างจากกรุงเทพ ฯ ๘ ไมล์ แล้วลงเรือเล็กไปขึ้นที่สถานฑูตอังกฤษ ผ่านเรือปืนไทยสี่ลำ ทอดสมออยู่ไม่เป็นระเบียบ..... เมื่อเรือไทยแล่นขึ้นมาจะโจมตีนั้น ไม่ปรากฏมีการสู้รบอีก เนื่องด้วยพระเจ้าแผ่นดินไทยสั่งห้ามไว้ มีการประชุมเสนาบดีเมื่อเวลา ๒๓.๐๐ น. โดยมีราชฑูตฝรั่งเศสเข้าร่วมด้วย ได้ตกลงยุติการรบโดยหวังว่าจะตกลงกันได้ทางการฑูต เหตุการณ์ในนครหลวงเป็นปกติดี ฝ่ายไทยได้จัดการรักษาการณ์อย่างแข็งแรง ประตูเมืองปิด แม่น้ำเรียงรายไปด้วยกองทหารเรือฝ่ายไทย และเรือแองคองสตังค์ กำลังซ่อมที่ชำรุด มีการฝังศพทหารฝรั่งเศสสองคนในตอนเย็น ทหารไทยตาย ๑๕ คน บาดเจ็บ ๒๐ คน โดยมากเป็นทหารประจำเรือมกุฏราชกุมาร เรือมกุฏราชกุมารเข้าปิดทาง จึงได้รับความเสียหายมาก เรือบริษัท คือ เรือ ยี.เบ.เซย์ ได้แล่นเกยตื้นเพื่อมิให้จม ได้ชักธงไทยแทนธงฝรั่งเศส กะลาสีของเรือนี้ตกเป็นเชลย
จากบันทึกของมิสเตอร์ วาริงตันสไมร์
            ในตอนบ่ายวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ได้ไปที่ปากน้ำโดยเรือใบเพื่อดูสถานการณ์ทางทหาร ได้ขึ้นไปบนเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ มิได้จัดการเตรียมพร้อมอย่างใด ต่างพูดถึงการรบโดยคิดว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทหารประจำเรือไม่เคยเห็นการยิงปืนใหญ่เลยเว้นแต่ผู้บังคับการเรือคนเดียว ทหารประจำเรือเป็นคนเกณฑ์ใหม่มาจากท้องนา กระสุนดินปืนก็ไม่เคยรู้จัก ทหารประจำเรือลำอื่น ๆ และประจำป้อมก็คงมีสภาพอย่างเดียวกัน อาวุธประจำเรือมูรธา ฯ มีปืนใหญ่บรรจุปากกระบอก ขนาด ๗๐ ปอนด์ หนึ่งกระบอก ติดอยู่ทางหัวเรือ ปืนทองเหลือง สำหรับยิงสลุตสี่กระบอก และปืนกลฮอทชกีส ห้าลำกล้อง หนึ่งกระบอก ติดอยู่ที่ดาดฟ้าชั้นบนตอนหัวเรือ ได้มีคำสั่งมาว่าให้ทางเรือเตรียมกำลังไอน้ำให้พร้อม เพราะได้ข่าวมาว่าเรือรบฝรั่งเศสจะเข้ามาปรากฏตัว ทุกคนต่างนึกว่าเป็นเรื่องตลกไม่จริง
            จากนั้นได้ไปที่ป้อมผีเสื้อสมุทร ได้พบกับผู้บังคับการป้อม ซึ่งไม่ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่สันดอน และทหารไม่เคยยิงปืนใหญ่เลย หลังจากนั้นได้ขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ ฯ ตอนบ่ายคิดว่าการป้องกันที่ปากน้ำจะไม่แข็งแรงพอดังที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมั่นพระทัย ฯลฯ             เมื่อเดินทางกลับจากปากน้ำแล้ว ปรากฏว่าเรือมูรธาและเรือมกุฏราชกุมาร ได้เข้าประจำที่ภายในแนวกีดขวาง จอดอยู่ลำละช่องทางผ่าน..... มีเรือปืนแบบเก่าอีกสองลำ และเรือฝึกอีกหนึ่งลำจอดอยู่ในบริเวณนั้น แต่ละลำมีปืนทองเหลืองสำหรับยิงสลุตลำละ หกกระบอก ฯลฯ             ประมาณเวลา ๑๗.๐๐ น. หนังสือของ ม.ปาวี ที่เรือกลไฟไทยนำมาส่งให้ก็ได้ส่งไปให้เรือแองคองสตังค์ กัปตันเรือเซย์ได้ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังค์ ทำหน้าที่นำร่อง.....
            กระแสน้ำไหลเชี่ยวมาก และฝนทำท่าจะตก ทำให้มืดค่ำเร็วกว่าธรรมดา เรือเซย์ออกนำหน้า มีเรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมตตามมา เวลา ๑๘.๓๐ น. พลเรือจัตวา ริชลิเออ สั่งให้ป้อมยิงโดยไม่บรรจุกระสุนสองนัดเป็นการเตือน แล้วต่อมายิงอีก หกหรือแปดนัด กระสุนตกข้ามหัวเรือฝรั่งเศส เรือฝรั่งเศสจึงเตรียมเรือเข้ารบ เรือฝรั่งเศสยิงตอบ เมื่อเวลา ๑๘.๔๕ น. นัดแรก ๆ ตกต่ำลงบนเลน นัดต่อไปตกสูงข้ามป้อมลงไปในป่า..... กระสุนนัดที่ ๖ และนัดที่ ๑๑ ของไทยถูกที่หมาย นัดที่ ๑๙ ตกที่ดาดฟ้าทะลุหัวเรือกราบขวาของเรือแองคองสตังค์ .....
            เมื่อเรือแล่นเข้ามาใกล้แนวกีดขวาง เรือแองคองสตังค์ ออกนำหน้า แล่นเป็นวงกว้าง ๆ ไปทางทิศเหนือ..... ต่อมาได้แล่นเฉียดเข้าไปใกล้เรือทุ่นไฟ ซึ่ง ณ จุดนี้ ป้อมทำการยิงไม่ได้
            เรือมูรธา ฯ ได้ยิงด้วยปืนใหญ่บรรจุปากลำกล้อง ขนาด ๗๐ ปอนด์ ๑ นัด แล้วถอนสมอ โดยที่ไม่มีเวลากลับลำ จึงต้องเดินถอยหลังเต็มตัว เมื่อได้ยิงนัดที่สองออกไปรางปืนก็แตกทำให้หันปืนไม่ได้
            เรือมกุฏ และเรือมูรธา ฯ ต่างมีผู้บังคับการเรือ และต้นกลเรือเป็นชาวยุโรป โดยที่ทหารประจำเรือไม่มีความชำนาญพอ นายทหารดังกล่าวจึงต้องทำการเล็งปืนเอง แล้วก็วิ่งขึ้นไปบนสะพานเดินเรือ เพื่อทำการนำเรืออีก ในขณะที่เรือมูรธา ฯ และเรือแองคองสตังค์ แล่นเข้าหากัน เรือแองคองสตังค์ ได้สั่งหางเสือขวาหมด เพื่อมิให้เรือชนฝั่งแม่น้ำ เรือมูรธา ฯ ก็ได้สั่งเดินหน้าเต็มตัวและสั่งหางเสือขวาหมดเพื่อหลบการถูกชน เรือทั้งสองเบียดกันจนกระทั่งเสาธงท้ายของเรือมูรธา ฯ หัก เรือโบตซึ่งได้หย่อนลงไว้เพื่อมิให้กีดขวางทางปืนขนาด ๗๐ ปอนด์ ก็ต้องดึงเข้ามาในเรือ ทหารในเรือมูรธา ฯ ได้ยินเสียงสั่งการยิงจากเรือแองคองสตังค์ ได้ชัดเจน เนื่องจากมีดาดฟ้าชั้นบนกำบังไว้ จึงรอดจากการถูกยิงด้วยปืนเล็ก เรือมูรธา ฯ ถูกยิงด้วยกระสุนปืนเล็กที่ตัวเรือ ๒๑๖ นัด ถูกยิงด้วยกระสุนปืนใหญ่ดินเมลิไนท์ ระเบิดเข้าไปภายในเรือ เมื่อตอนที่ผ่านท้ายเรือแองคองสตังค์ ทำให้เกิดรูข้างเรือทางกราบซ้ายโตหลายฟุต และต่ำกว่าแนวน้ำ ประมาณ สามนิ้ว เรือมูรธา ฯ ได้เดินหน้าแล้วทอดสมอ จัดการเลื่อนปืนใหญ่ไปไว้ทางกราบขวา รวมทั้งเอาน้ำหนักอื่น ๆ มารวมอยู่ด้วย เพื่อถ่วงให้รูทางกราบซ้ายพ้นน้ำจะได้ซ่อมแซมได้สะดวก
            พลประจำเรือมกุฏ ฯ ก็ใช้การไม่ได้เช่นกัน ผู้บังคับการเรือกัปตันกลเรือต้องช่วยปฏิบัติงานอีกด้วย เรือมกุฏ ฯ ถูกยิงมากพอสมควร แต่ยังสามารถแล่นตามเรือฝรั่งเศส เข้ามาจนถึงบางคอแหลม เพื่อฟังคำสั่งต่อมาเรือมูรธา ฯ ได้แล่นขึ้นมาสมทบ
            ป้อมผีเสื้อสมุทรมองอะไรไม่ใคร่เห็น เพราะเมื่อเรือฝรั่งเศสแล่นขึ้นมาถึงสมุทรปราการ ก็เป็นเวลาค่ำมืดได้มีการยิงกันเพียง ๕ นาที ต่อจากนั้นเรือฝรั่งเศสก็แล่นเข้ากรุงเทพ ฯ
            ในระหว่างยิงต่อสู้กันเรือเซย์ ถูกกระสุนปืนของเรือมูรธา ฯ หนึ่งนัดที่ใต้แนวน้ำ จึงได้แล่นไปเกยฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ.....
            มีคนในเรือมูรธา ฯ สามคน ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีมาก เป็นพลประจำปืนกล ได้ใช้อาวุธของเขาอย่างเต็มความสามารถ.....
            ความเสียหายของทั้งสองฝ่าย..... ฝ่ายฝรั่งเศสมีทหารตาย ๓ คน บาดเจ็บ ๓ คน ฝ่ายไทยมีทหารตาย ๑๕ คน บาดเจ็บ ๒๐ คน ทั้งหมดถูกยิงจากปืนกลบนหอรบของเสา และจากปืนเล็กยาวในขณะที่เรือเข้ามาใกล้กัน
            พลเรือจัตวา ริชลิเออ ผู้มีหน้าที่อำนวยการป้องกันไม่ใคร่มีโอกาสได้ทำอะไรมาก เขาเคยเสนอให้จมเรือขวางช่องทางเดินเรือเพิ่มขึ้นอีก แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะเสนาบดี ถึงแม้จะเข้าอำนวยการรบด้วยตนเอง แต่ทหารในบังคับบัญชาทั้งหมดเป็นคนเข้าเวรใหม่ และไม่ได้รับการฝึกเพียงพอ การร้องขอให้จัดเตรียมทุ่นระเบิด และสิ่งอื่น ๆ ก็ประสบแต่ความโอ้เอ้ล่าช้า
            ป้อมที่ปากน้ำเพิ่งสร้างเสร็จ นายทหารชาวยุโรปที่ป้อมอีกสามคน พูดภาษาได้คนเดียว อีกสองคนยืมตัวมาจากกรมแผนที่ ซึ่งเพิ่งเดินทางเข้ามาเมืองไทย และสมัครใจจะมาปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างทำการรบครั้งนี้ นายทหารดังกล่าวนี้ได้สั่งการต่าง ๆ ที่คนไทยยากจะเข้าใจ นอกจากนี้ก็ปืนใหญ่สนามหมู่หนึ่งร่วมทำการยิงด้วย แต่กระสุนตกน้ำหมดไม่ถูกเป้าหมายเลย
            ทหารที่มีส่วนเข้ารบนั้นมิได้รับการฝึกเพียงพอ..... ผู้บังคับการป้อมผีเสื้อสมุทรถูกไล่ให้ออกไปจากป้อมในเย็นวันที่มีการสู้รบกันนั้นเอง ทหารประจำป้อมพระจุลจอมเกล้า ก็แสดงความขัดขืนไม่พอใจ นอกจากนี้ทางกรุงเทพ ฯ ก็ไม่ได้แจ้งเหตุการณ์ให้ทราบว่าจะทำอย่างไรกัน การบังคับบัญชาจึงหย่อนรวนเร ไม่มีคำสั่งเพิ่มเติม ต่างเกรงจะถูกโจมตีด้านหลังโดยปล่อยให้ต่อสู้โดดเดี่ยว ความวุ่นวายดังกล่าวเกือบถึงขั้นจลาจล.....             ฯลฯ             พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระสติสุขุมคัมภีรภาพ ไม่ยอมฟังเสียงหมู่อำมาตย์ จึงได้สั่งให้งดการสู้รบ และในวันรุ่งขึ้นก็ได้มีการตกลงให้ทั้งสองฝ่ายยุติการรบ
จากการแถลงข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ออกวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖
            เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๒ เวลาเช้า เรือรบสามลำคือเรือมกุฏราชกุมาร เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เรือนฤเบนทร์บุตรี และเรือหาญหักศัตรู ได้จอดอยู่ที่สันดอนเพื่อคอยรับ อาร์ชดุก ฟรานซ์เฟอร์ดินันด์ รัชทายาท แห่งออสเตรีย แต่เรือรบทั้งสี่ลำนี้ต้องกระทำการหนักมาก ด้วยเมื่อเวลาบ่ายห้าโมงสิบห้านาทีเกิดฝนตกหนัก คนในเรือรบและคนบนฝั่งแทบไม่แลเห็นกัน ขณะนั้นเรืออรรคราชวรเดชอยู่นอกสันดอน ส่งสัญญาณเข้ามาว่า มีเรือรบฝรั่งเศสสองลำแล่นเข้ามา ภายหลังก็ลดสัญญาณลง คนข้างในก็เข้าใจว่า เรืออรรคราชวรเดชส่งสัญญาณผิด ที่จริงนั้นต่างเข้าใจว่า เรือรบสองลำนี้เป็นเรือรบอังกฤษชื่อลินเนต และเรือรบเยอรมันชือโวล์ฟ เพราะเรือทั้งสองลำกำหนดจะมาถึงในวันนั้น เมื่อแรกจึงไม่สงสัยว่าเป็นเรือรบฝรั่งเศสด้วย ม.ปาวี ได้สัญญาไว้ว่ายังจะไม่มา..... ลำแรกคือเรือแองคองสตังค์ มีเรือเมล์ฝรั่งเศสชื่อ ยี.เบ.เซย์ ซึ่งเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพ ฯ และไซ่ง่อนนำทางเข้ามาในปากอ่าว..... ทหารที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าจึงได้ยิงปืนใหญ่ไม่ใส่ลูกกระสุน สามนัด บอกสัญญาณให้เรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำแล่นกลับออกไปเสีย..... ขณะนั้นพระยาชลยุทธโยธิน (A.de Richelier ) กับกัปตัน ซี.ฟอนโฮลด์ (C.von Holck) เป็นผู้บังคับทหารอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า เรือรบฝรั่งเศสได้ยินเสียงปืนสัญญาณก็หาฟังไม่..... ทหารป้อมพระจุลจอมเกล้าได้ยิงปืนทุกกระบอก เรือรบไทยก็เข้ามาช่วยกัน.....
            ขณะนั้นเกิดโกลาหลวุ่นวายมาก..... ครั้นเรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมตได้รีบแล่นเข้ามาโดยเร็ว..... ครั้นเรือแองคองสตังค์ แล่นเลยเรือทุ่นไฟเข้ามาแล้ว ทหารไทยจึงได้จุดตอร์ปิโดระเบิดขึ้น แต่ไม่ถูกเรือแองคองสตังค์.....
            ทันใดนั้น เรือมกุฏราชกุมารกับเรือมูรธา ฯ ก็แล่นติดตามขึ้นมายิงโต้ตอบกับเรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำ คอมมานเดอร์ กุลด์ แบร์ก (Guldberg) นายเรือมกุฏราชกุมาร เข้ามายิงกับเรือรบฝรั่งเศสเป็นสามารถ.....
            ในการยิงต่อสู้กันนี้ ปืนในเรือรบฝรั่งเศสยิงเร็วกว่าปืนในเรือรบของไทย ด้วยเป็นปืนทำขึ้นอย่างใหม่..... ฝ่ายเรือมูรธา ฯ ซึ่งกัปตันคริสตมาส (Chrismas) คุมมานั้นได้แล่นติดตามเรือแองคองสตังค์ มาเรือแองคองสตังค์ ก็ตัดท้ายหันเข้าต่อสู้กับเรือมูรธา ฯ ยิงโต้ตอบกัน.....
            เวลาหนึ่งทุ่มก็สงบการยิงกันด้วยความมืดมากแล้ว ที่ป้อมผืเสื้อสมุทรนั้นกัปตันเกิตส์เช (Goltsche) รักษาอยู่แต่เป็นเวลามืดมากแล้ว ไม่รู้ว่าปืนที่ป้อมผีเสื้อสมุทรยิงออกไปนั้นถูกเรือรบฝรั่งเศสบ้างหรือไม่..... กัปตันสมิเกโล (Smiegelow) เป็นผู้บังคับการเรือหาญหักศัตรูได้ยิงสองนัด
            หลังจากเรือฝรั่งเศสเข้าปากน้ำมาได้แล้ว พระยาชลยุทธโยธิน มีคำสั่งให้เรือไทยแล่นไล่รบตามเข้ามาในลำแม่น้ำ และให้แล่นชนให้ล่มลงจนได้ แล้วพระยาชลยุทธโยธินก็ขึ้นรถไฟเข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อจะเอาเรือพระที่นั่งมหาจักรีไปช่วยรบด้วย แต่กระทรวงการต่างประเทศห้ามไว้เสีย.....
            คอมมานเดอร์โบรี นายเรือฝรั่งเศสควรได้รับความสรรเสริญที่มีใจองอาจกล้าหาญ..... มีความเสียใจด้วยมิสเตอร์แจคสันคนนำร่องนี้เป็นชาติอังกฤษ นำร่องเรือเมล์ ยี.เบ.เซย์ เข้ามาในแม่น้ำควรจะต้องมีโทษตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี และทางเจ้าพนักงานไทยจะต้องเรียกเอาหนังสือสำคัญสำหรับคนนำร่องคืน รุ่งขึ้นเวลาเช้า เรือ  ยี.เบ.เซย์ ได้ไปจอดเกยชายฝั่งแม่น้ำอยู่ กัปตันฟอนโฮลด์ จึงให้ทหารลงเรือกลไฟเล็กไปบอก ม.แดสเตอแลง นายเรือเมล์ ยี.เบ.เซย์ ให้ยอมแพ้โดยดี..... ม.เดสเตอแลงก็ยอมให้ทหารจับมาโดยดี..... กัปตันฟอนโฮลด์จึงเรียกเอาหนังสือสำหรับเรือมาไว้ แล้วให้ทหารไปจับเอาพวกกะลาสี กับมิสเตอร์แจคสันคนนำร่อง อินยิเนียกับคนที่มาจากเรือลูแตงสองคนทั้งคนโดยสารด้วย รวมทั้งสิ้น ๓๒ คน แล้วส่งคนเหล่นนี้เข้ากรุงเทพ ฯ กรมทหารเรือให้ปล่อยตัวเมื่อวันเสาร์ (วันที่ ๑๕ กรกฎาคม) ฯลฯ             รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคอมมานเดอร์โบรี ซึ่งเป็นผู้บังคับกองเรือรบฝรั่งเศสสามลำที่จอดอยู่ในลำแม่น้ำเจ้าพระยา ได้สัญญาตกลงกันว่า ไทยกับฝรั่งเศสยอมสงบหยุดการรบกันไว้ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายฝรั่งเศสสัญญาว่าจะไม่รบและไม่ทำอันตรายแก่บ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์ ฝ่ายไทยสัญญาว่า จะไม่ทำอันตรายแก่เรือรบฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาใหม่นี้ จะถือว่าเป็นเหมือนอย่างเรือรบของประเทศอื่น ซึ่งบัดนี้จอดอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยา
จากรายงานของนายทหารฝ่ายไทย
            รายงานของป้อมผีเสื้อสมุทร  กัปตัน เอ เกิตส์เช ได้รายงานพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า
            "เมื่อเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๙๓ ได้รับข่าวว่าเรือรบฝรั่งเศสกำลังแล่นเข้ามา และได้รับคำสั่งให้ทำการยิง ถ้าเรือเหล่านั้นพยายามจะแล่นขึ้นไปตามลำแม่น้ำ
            ต่อมาได้ยินเสียงปืนใหญ่ขนาดหนักจากป้อมพระจุลจอมเกล้า และภายหลังเวลา ๑๙.๐๐ น. เล็กน้อย ได้เห็นไฟเดินเรือเคลื่อนขึ้นมาตามลำแม่น้ำ แต่เนื่องจากความมืดไม่สามารถทราบได้ว่าจะเป็นเรือปืนฝรั่งเศสหรือไม่ เกรงว่าเป็นเรือของฝ่ายเราเองแล่นกลับขึ้นมาก็ได้ จึงได้รออยู่ครู่หนึ่ง แต่เมื่อได้เห็นเรือลำหนึ่งทำการยิงมาจากเสาเรือ จึงได้สั่งให้ยิงไปยังเรือเหล่านั้นทันที เรือปืนฝรั่งเศสจึงได้เริ่มยิงด้วยกระสุนระเบิด กระสุนเกือบทั้งหมดตกสูงเกินไปมีเพียง ๕ นัดตกลงในป้อม และได้ยิงกระสุนปืน ฮอทชกีส จำนวนมากเข้ามาในป้อมอีกด้วย แต่ไม่ทำให้เกิดผลเสียหายอย่างใด มีทหาร ๑๒ คนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย การยิงต่อสู้ดำเนินไปประมาณ ๒๐ นาที"
            รายงานของ ร.ล.มูรธาวสิตสวัสดิ์  กัปตันคริสมาสได้รายงาน รองผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า

            "เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ได้นำเรือไปจอดทอดสมอยังตำบลที่หมายในแผนที่ ได้เตรียมพร้อมทุกอย่างที่จำเป็นในการต่อสู้ ได้หย่อนเรือเล็กลง และบรรจุปืน (ปืน ๗๐ ปอนด์ ๑ กระบอก ปืนทองเหลือง ปืนทองเหลืองบรรจุทางปากกระบอก จำนวน ๔ กระบอก และปืนลูกโม่ ๑ กระบอก)
            ประมาณ ๑๗.๔๕ น. ได้เห็นเรือกลไฟทาสีดำจูงเรือรบลำหนึ่งในระยะไกลพอสมควร จากเรือทั้งสองนี้มีเรือรบอีกลำหนึ่ง ทราบทันทีว่าเป็นเรือรบฝรั่งเศส แม้ว่าจะไม่ได้ชักธงชาติขึ้นก็ตาม
            หลังจากที่ป้อมเริ่มยิง และเมื่อยิงถึงนัดที่ ๔ จึงได้ยิงปืนใหญ่ไปที่เรือแองคองสตังค์ ซึ่งได้ผ่านทุ่นดำมา และได้ชักธงชาติขึ้นแล้ว ขณะนี้ไปเห็นเรือ ยี.เบ.เซย์ แต่เรือแองคองสตังค์ ได้แล่นเข้ามาด้วยความเร็วเต็มที่ เมื่อแล่นมาถึงที่หมาย ๒ จึงได้ยิงกระสุนนัดที่ ๒ ไป และได้ทำการยิงด้วยปืนกราบขวา และปืนลูกโม่อยู่ตลอดเวลา
            เมื่อเรือแองคองสตังค์ แล่นมาถึงตำบลหมายเลข ๓ จึงได้ทำการยิงนัดที่ ๕ ด้วยปืน ๗๐ ปอนด์ กระสุนถูกเรือแองคองสตังค์ ที่กราบขวา เรือนี้ได้เลี้ยวเข้ามาตั้งใจจะชนเรือมูรธา ฯ ด้วยทวนหัวเรือให้จมลง เรือมูรธา ฯ อยู่ห่างจากเรือแองคองสตังค์ ไม่กี่ร้อยหลา และกำลังใช้จักรถอยหลังเต็มตัว จึงได้สั่งให้เรือใช้จักรเดินหน้าเต็มตัว และใช้หางเสือขวาหมด จึงพ้นจากการถูกชน เพียงแต่ถูกกระทบทำให้เสาธงหักไปเบียดเพดาน และเรือเล็กลำหนึ่งเสียหาย
            เรือแองคองสตังค์ ได้ระดมยิงเรือมูรธา ฯ ด้วยปืนลูกโม่ทั้งหมด ปืนอื่นและปืนเล็กยาว เรือถูกกระสุน ๒๑๖ นัด ที่ห้องหม้อน้ำแห่งเดียวถูก ๑๘ นัด ถูกห้องเครื่องจักร ๑๖ นัด กระสุนระเบิดดินเมลิไนท์ ๒ นัด นัดหนึ่งถูกที่แนวน้ำ อีกนัดหนึ่งระเบิดบนเรือ เมื่อเรือแองคองสตังค์ แล่นผ่านเรือมูรธา ฯ ได้สั่งการให้ทหารทุกคนไปอยู่ข้างล่าง มีผู้บังคับการเรืออยู่บนสะพานเดินเรือแต่ผู้เดียว ัดังนั้นจึงมีทหารบาดเจ็บสาหัสเพียงสองคน บาดเจ็บเล็กน้อย สองคน หายไปหนึ่งคน
            เมื่อเรือแองคองสตังค์ แล่นผ่านไปแล้ว ผู้บังคับการเรือยังคงสั่งให้ยิงด้วยปืนลูกโม่ ติดตามต่อไปเท่าที่ยังเห็นลำเรืออยู่ กับสั่งให้ยิงปืนทองเหลืองทางกราบซ้ายด้วยอีก ๔ นัด ส่วนปืนอื่น ๆ เสียใช้การไม่ได้.....
            เมื่อเรือโคแมตแล่นขึ้นมานั้นเป็นเวลาค่ำและมืดมาก ได้สั่งยิงติดตามไปยังเรือลำนี้ ๒ - ๓ นัด  แตไม่ปรากฏผลประการใด
            เมื่อการสู้รบสิ้นสุดลงแล้ว ได้ตรวจพบรูใหญ่แห่งหนึ่งที่เกิดจาก..... ซึ่งได้ระเบิดขึ้นทางกราบซ้ายของเรือ อยู่สูงจากน้ำเพียงสองสามนิ้วเท่านั้น จึงได้ทำการย้ายปืนกราบซ้ายมาไว้ทางกราบขวา เพื่อให้รูดังกล่าวอยู่เหนือน้ำมากขึ้น ยังไม่มีเวลาซ่อม เพราะตั้งใจที่จะติดตามเรือรบฝรั่งเศสขึ้นไปยังกรุงเทพ ฯ
            นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้ขึ้นมาบนเรือ และสั่งให้นำเรือไปยังสมุทรปราการ รอจนนายนาวาโท กูลด์ แบร์ค นำเรือมกุฏราชกุมารมาสมทบแล้ว จึงแล่นด้วยความเร็วเต็มที่ขึ้นไปตามลำแม่น้ำเพื่อเข้าชนเรือข้าศึกให้จมลง ณ ตำบลที่จะได้พบนั้น
            เรือได้แล่นขึ้นมาตามลำน้ำ เมื่อเวลา ๒๐.๐๐ น. ถึงตำบลบางคอแหลม เรือทั้งสองได้พบท่านนายพลเรือจัตวา ซึ่งมาในเรือกลไฟพร้อมกับคำสั่ง ให้งดการดำเนินการตามที่สั่งไว้ เรือทั้งสองจึงจอดทอดสมอ ไม่ได้แล่นเลยตำบลนี้เข้ามาในคืนวันนั้น
            ในระหว่างการรบ ทหารประจำเรือได้ปฏิบัติการเป็นอย่างดี.....
            โดยเหตุที่ได้ทอดทุ่นระเบิดใต้น้ำไว้..... จึงขอรายงานให้ทราบดังนี้
            ดินระเบิดเพิ่งได้รับเวลาค่ำ ก่อนวันที่มีการสู้รบ..... ไม่มีเวลาพอที่จะทำการวางได้ มากกว่า ๔ สถานี และวางได้จำนวน ๑๖ ลูก เมื่อสองชั่วโมงก่อนที่จะมีการสู้รบ.....
            มร.เวสเตนโฮลซ์..... เข้าไปปฏิบัติหน้าที่อย่างดียิ่งระหว่างการรบ โดยพยายามที่จะระเบิดเรือแองคองสตังค์ ด้วยทุ่นระเบิด ซึ่งได้ระเบิดในระยะห่างจากเรือเพียงเล็กน้อย ฯลฯ             มั่นใจว่าหากมีเรือบรรทุกทุ่นระเบิดสักสองสามลำ และทุ่นระเบิดอย่างดี ประมาณ ๒๐๐ ลูก พร้อมเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอย่างดีมาแล้ว จะทำให้เรือรบฝรั่งเศสไม่สามารถผ่านสันดอนเข้ามาได้ นอกจากจะได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รายงานของกรมทหารเรือ

            รายงานเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๙๓ มีความว่า
            "วันพฤหัสบดี ที่ ๑๓ กรกฎาคม เวลา ๘ โมงเช้า กระหม่อมได้ออกไปยังนอกสันดอน ซึ่งเรือมกุฏราชกุมารจอดทอดสมอรอการมาถึงของอาร์คดยุค ออสเตรีย ตามรายงานครั้งสุดท้ายทราบว่า ยังมาไม่ถึง และเรือรบฝรั่งเศสสองลำ ก็คาดว่าจะมาถึงเช่นเดียวกัน จึงสั่งให้เรือมกุฏราชกุมารกลับเข้ามาในสันดอนโดยเร็วที่สุด เท่าที่ระดับน้ำที่สันดอนจะสูงพอให้เรือผ่านได้ในเวลาบ่าย และเข้าประจำอยู่ในแนวป้องกันของฝ่ายเรา
            .....แม้ว่าจะได้รับรายงานว่าเรือฝรั่งเศสจะจอดอยู่นอกสันดอนก็ตาม ก็ได้เตรียมการไว้ทุกอย่าง ซึ่งฝ่ายเราจะสามารถทำให้ข้าศึกหยุดได้ ถ้าหากพยายามจะฝ่าช่องทางปากแม่น้ำเข้ามา
            เราจมเรือโป๊ะจ้าย เพิ่มขึ้นอีกลำหนึ่ง เรือลำนี้เป็นเรือลำเดียวที่ยังเหลืออยู่ และได้บรรจุดินไดนาไมท์ลงในทุ่นระเบิดให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ดินระเบิดเหล่านี้เพิ่งมาถึงเมื่อคืนวันก่อน.....
            เวลา ๗ โมงเช้า เรือมกุฏราชกุมารได้เข้ามาข้างใน จอดทอดสมอรวมทั้งเรือมูรธา ฯ ด้วย ให้จอดอยู่ลำละข้างของช่องใหญ่ระหว่างเครื่องกีดขวาง ซึ่งฝ่ายเราได้จัดทำขึ้น
            เรือหาญหักศัตรู จอดทอดสมอห่างออกไปทางตะวันออก เรือนฤเบนทร์บุตรีจอดอยู่ใกล้แหลมฟ้าผ่า เรือทูลกระหม่อมจอดห่างเข้าไปข้างในแม่น้ำอีกเล็กน้อย
            เรือทุกลำและป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้รับคำสั่งให้เตรียมการทุกอย่างให้พร้อมเพื่อการต่อสู้ แต่ไม่ให้เรือลำใดยิงก่อนที่ป้อมจะได้ยิงไปแล้วเป็นนัดที่สี่
            เมื่อเรือมกุฏราชกุมารได้เข้ามาข้างใน นายนาวาโท กุลด์ แบร์ก ได้รายงานว่าเรือรบสองลำกำลังเข้ามาใกล้สันดอน เรือทั้งสองนั้นคิดว่าลำหนึ่งเป็นเรืออังกฤษชื่อ ลินเนต และอีกลำหนึ่งเป็นเรือปืนเยอรมันชื่อ โวลฟ์ ทั้งนี้เพราะเข้าใจว่า สัญญาณจากเรืออรรคราชวรเดช ซึ่งแสดงว่าเรือรบฝรั่งเศสเข้ามานั้น ได้ชักขึ้นเพียงชั่วขณะเท่านั้น แล้วก็เอาลง ขณะนี้เป็นเวลา ๑๗.๓๐ น. เราอาจแลเห็นเรือหลายลำอยู่ที่นอกสันดอน แต่พายุฝนอย่างหนักได้ปกคลุมมิให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อฝนหยุดตก เวลาประมาณ ๑๘.๑๕ น. เห็นเรือรบสองลำมีเรือยัง บัฟติส เซย์ แล่นนำหน้าเข้ามาในสันดอนแล้วและผ่านประภาคาร แต่เมื่อเรือทั้งสองไม่ชักธงชาติหรือไม่ก็เป็นธงเล็กเกินไป เราจึงไม่ทราบว่าเป็นเรือชาติใด
            กระหม่อมได้สั่งให้แตรเดี่ยวเป่าสัญญาณประจำสถานีรบ..... และได้ออกไปยังป้อมพระจุลจอมเกล้า..... เมื่อเวลา ๑๘.๔๕ น. ได้ยิงกระสุนดินเปล่าไปสองนัด เพื่อเตือนเรือเหล่านั้น แต่เรือเหล่านั้นไม่สนองตอบ จึงได้ยิงด้วยกระสุนนัดหนึ่งข้ามหัวเรือลำหน้าไป ต่อมาก็ยิงนัดที่สี่ ให้กระสุนข้ามหัวเรือเช่นกัน ดูเหมือนว่าเรือลำหน้าได้หยุด และกำลังจะหันกลับออกไป แต่ต่อมาก็ได้แล่นตามเข็มเดิมอีก และได้ชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นทั้งสามเสาตลอดจนที่ก๊าฟด้วย และได้ทำการยิงมายังป้อมขณะนี้เรือลำหน้าเป็นเรือแองคองสตังค์ ได้ผ่านทุ่นดำเข้ามาแล้ว กำลังแล่นตรงไปยังเรือทุ่นไฟ ทางป้อมนั้นบัดนี้ได้ยิงด้วยปืนทุกกระบอก เรือมูรธา ฯ และเรือมกุฏราชกุมารก็ได้ยิงเช่นเดียวกัน เรือฝรั่งเศสก็ได้ยิงมาอย่างรุนแรงชั่วระยะเวลาหนึ่ง.....
            เมื่อเรือแองคองสตังค์ แล่นผ่านเรือทุ่นไฟ ทุ่นระเบิดใต้น้ำทุ่นหนึ่งถูกบังคับให้ระเบิดโดยนายร้อยเอกเวสเตนโฮลซ์ ซึ่งระเบิด ๓๐ หรือ ๔๐ หลาจากเรือ.....
            เรือโคแมตแล่นตามเรือแองคองสตังค์ มาในระยะใกล้ และแล่นผ่านเข้ามาในเครื่องกีดขวางที่วางไว้ กล่าวกันว่านายเรือ ยัง บัฟติสต์ เซย์ และนายทหารประจำเรือลูแตงนายหนึ่งเป็นผู้ทำการนำร่องให้เรือทั้งสองแล่นด้วยความเร็วเต็มที่ และถูกยิงจากเรือฝ่ายเรานานเท่าที่จะเห็นลำเรือได้ หรือนานเท่าที่ปืนต่าง ๆ จะสามารถทำการยิงได้..... เรือต่าง ๆ หมดโอกาสที่จะทำอันตรายข้าศึกด้วยปืนอย่างเก่าบรรจุทางปากลำกล้อง ยิงได้ช้า ในการต่อสู้กับปืนยิงเร็วที่มีคุณภาพของเรือฝรั่งเศส เมื่อเรือรบฝรั่งเศสเข้าใกล้เรือของฝ่ายเรา ฝ่ายเราได้ถูกยิงเพิ่มเติมด้วยปืนลูกโม่แบบฮอทชกีสจากหอรบบนเสาเรือฝรั่งเศส..... ทั้งเรือมูรธา ฯ และเรือมกุฏราชกุมารได้ถูกยิงด้วยกระสุนปืนใหญ่ และเล็กมากกว่า ๒,๐๐๐ นัด ถ้าเรือของฝ่ายเราได้ติดตั้งปืนยิงเร็ว ซึ่งราชนาวีต้องการเป็นอย่างยิ่ง และได้ขอร้องไปเป็นเวลากว่า ๓ เดือนมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ เราก็อาจจะได้ผลที่แตกต่างไปจากนี้
            เรือหาญหักศัตรู สามารถยิงปืนขนาดใหญ่ได้เพียงสองนัด นัดหนึ่งเข้าใจว่าถูกเรือกลไฟยัง บัฟติสต์ เซย์ ที่บริเวณหัวเรือ.....
            เรือทูลกระหม่อม และเรือนฤเบนทร์ ก็ได้ยิงปืนทองเหลืองขนาดย่อม ซึ่งไม่มีคุณค่าในการต่อสู้ไปยังเรือฝรั่งเศส.....
            เมื่อเรือฝรั่งเศสได้ผ่านป้อมผีเสื้อสมุทรนั้น เป็นเวลาที่มืดมากจนมองไม่เห็นอะไรถนัด เพราะฉะนั้น การยิงจากป้อมนี้จึงได้รับรายงานว่าได้ผลเพียงเล็กน้อย
            เครื่องกีดขวางที่ปากแม่น้ำ ซึ่งฝ่ายเราเชื่อว่าจะให้ประโยชน์ได้มากในเวลาค่ำคืนก็ยังจัดทำไม่สำเร็จเรียบร้อย เนื่องจากไม่มีเรือเพียงพอที่จะเอามาจม และช่องการเดินเรือก็ยังเปิดอยู่ถึงสี่ช่อง
            ในร่องน้ำนั้น ฝ่ายเราได้วางทุ่นระเบิดที่เรามีอยู่ และในจำนวนทุ่นระเบิดที่วางไว้นี้ มีเพียงลูกหนึ่งเท่านั้นที่ถูกบังคับให้ระเบิดขึ้น ส่วนลูกอื่น ๆ อยู่ห่างเกินไปที่จะทำอันตรายแก่เรือฝรั่งเศส หากจะได้บังคับให้ระเบิดขึ้น ดินไดนาไมท์รุ่นใหม่ก็เพิ่งเข้ามาถึงจากสิงคโปร์เมื่อคืนวันก่อน และถึงแม้ว่าฝ่ายเราจะได้รีบเร่งทำการบรรจุทุ่นระเบิดเหล่านั้น แต่ก็ไม่มีเวลาพอที่จะทำการวางได้
            เมื่อปืนป้อมพระจุลจอมเกล้า ไม่สามารถจะยิงไปยังเรือฝรั่งเศสได้อีกแล้วเนื่องจากความมืด.....จึงให้เรือมกุฏราชกุมาร กับเรือมูรธา ฯ แล่นขึ้นไปตามลำแม่น้ำ ให้รออยู่ที่บริเวณสถานีโทรเลขที่สมุทรปราการ เพื่อรับคำสั่งต่อไป
            กระหม่อมได้ขึ้นไปยังป้อมผีเสื้อสมุทร ซึ่งได้สั่งให้ร้อยเอก เกิตส์เช รื้ออาคารบ้านเรือนซึ่งอยู่ด้านหลังของป้อมเสีย สิ่งเหล่านี้จะกีดขวางการยิงของป้อมขึ้นไปทางเหนือแม่น้ำ หากมีการถูกโจมตีทางด้านนี้ ได้พบกระสุนหลายนัดและลูกปรายเป็นอันมากตกสู่ป้อมผีเสื้อสมุทร กระสุนระเบิดดินเมลิไนท์นัดหนึ่งได้ระเบิดที่ริมเขื่อนทำให้ดินกระเด็นขึ้นไปบนป้อม
            .....กระหม่อมได้ขึ้นไปยังสถานีโทรเลขเพื่อสอบสวนดูว่าเรือรบฝรั่งเศสนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เรือฝรั่งเศสเพิ่งจอดทอดสมออยู่ที่บริเวณศุลกสถาน..... จึงได้สั่งให้เรือมกุฏราชกุมาร และเรือมูรธา ฯ ออกเดินทางสู่กรุงเทพ ฯ ด้วยกัน ด้วยความเร็วเต็มที่ และดับไฟในเรือทั้งลำ เมื่อมาถึงกรุงเทพ ฯ แล้ว ณ ตำบลที่เรือฝรั่งเศสจอดอยู่ให้เข้าชนด้วยกำลังแรง กระหม่อมจะเดินทางไปกรุงเทพ ฯ ด้วยรถไฟซึ่งตัวรถจักรมีกำลังไอน้ำอยู่แล้ว เพื่อนำเรือพระที่นั่งมหาจักรีลงมาชนเรือฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน..... คาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อยสองชั่วโมงครึ่ง กว่าเรือฝ่ายเราจะถึงกรุงเทพ ฯ การเดินทางโดยรถไฟเสียเวลาเพียง ๓๐ นาทีเท่านั้น เชื่อแน่ว่าเรือพระที่นั่งมหาจักรรีจะมีกำลังไอน้ำพอ และคิดว่าการเข้าชนเรือฝรั่งเศสในเวลากลางคืนเดือนมืด ฝ่ายเราอาจมีโชคดีในการทำลายเรือฝรั่งเศสได้ ความมืดจะทำให้การใช้ปืนของเรือฝรั่งเศสไม่ได้ผล เมื่อมาถึงกรุงเทพ ฯ ได้ทราบว่าแผนการณ์นี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ลงเรือกลไฟเล็กล่องลงไปตามลำแม่น้ำทันที และพบเรือของฝ่ายเรากำลังขึ้นมาที่ตำบลบางคอแหลม จึงได้สั่งให้เรือจอดทอดสมอ ณ ที่นั้น และรอฟังคำสั่งต่อไป แต่ให้ออกเรือได้ทันทีที่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น ทางตอนเหนือของแม่น้ำ
            การตีฝ่าเข้ามาในแม่น้ำของเรือฝรั่งเศสนั้น เป็นไปตามคาดการณ์อย่างถูกต้อง และกระทำอย่างกล้าหาญ ทั้งสามารถเลือกเวลาได้เหมาะ ด้วยการใช้ประโยชน์จากทวนหัวเรือและความมืด เรือเหล่านี้ก็สามารถทำให้อำนาจของป้อมลดน้อยลงไปถึงที่สุด และด้วยการที่มีนำร่องรู้จักทางเดินเรือในแม่น้ำเป็นอย่างดี เรือเหล่านี้จึงสามารถแล่นผ่านเครื่องกีดขวางเข้ามาได้.....
ประกาศทางราชการเรื่องการรบที่ปากน้ำ
            มีพระบรมราชโองการ ฯ ให้ประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และราษฎรทั้งปวงทราบทั่วกันว่า
            ในการที่ฝรั่งเศสกับกรุงสยามทุ่มเถียงกันด้วยเขตแดนทางฝั่งโขงคราวนี้ แต่แรกฝรั่งเศสก็ได้ส่งเรือรบลำหนึ่งเข้ามารักษาคนในบังคับช้านานมาแล้ว บัดนี้อ้างเหตุว่าเรือรบฝ่ายประเทศอังกฤษ จะเข้ามารักษาผลประโยชน์ของชาตินั้นอีก ฝ่ายฝรั่งเศสจึงจะขอเอาเรือรบเข้ามาอีก ๒ ลำ เพื่อรักษาผลประโยชน์บ้าง
ราชฑูตฝรั่งเศสกรุงเทพ ฯ ได้นำความมาบอกขออนุญาตให้เรือทั้งสองนี้ขึ้นมาแล้ว ฝ่ายเราเห็นว่าเวลานี้เป็นสมัยที่ยังไม่ควรจะมีเรือรบต่างประเทศเข้ามาจอดในลำแม่น้ำอีกกว่าประเทศละหนึ่งลำขึ้น จึงได้ปรึกษาด้วยราชฑูตฝรั่งเศส และมีโทรเลขไปยังรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงปารีสแล้ว ก็ได้ตอบทางโทรเลขรับรองตกลงว่า จะสั่งเลิกการที่จะส่งเรือเข้ามาในแม่น้ำอีกนั้นแล้ว และข้างฝ่ายราชฑูตฝรั่งเศสในนี้ ก็ได้ตกลงยอมไม่ให้เรือรบขึ้นมา และขอเรือไฟให้นายทหารเรือออกไปห้ามแล้ว แต่เรือทั้งสองก็ยังขืนเข้ามาในปากน้ำ ถึงที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า เจ้าพนักงานทหารเรือจึงได้ยิงห้ามนัดหมายตามธรรมเนียม เรือรบไม่ฟังกับยิงโต้ตอบบ้าง จึงเกิดยิงโต้กันขึ้น แล้วเรือรบทั้งสองก็ได้ขึ้นมาทอดสมออยู่ในลำน้ำหน้าสถานฑูตฝรั่งเศส การที่เป็นไปแล้วทั้งนี้ ยังเชื่อว่าจะมีเหตุการณ์ที่เข้าใจผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะในคำโทรเลขแต่ปารีสบอกความชัดว่า เสนาบดีต่างประเทศฝรั่งเศสแสดงถ้อยคำว่า ไม่ได้หมายจะทำภัยอันตรายอันใด ต่อความเป็นใหญ่เป็นเจ้าของกรุงสยาม เพราะเหตุฉะนี้ อย่าให้ชนทั้งหลายวิตกตื่นไปว่า จะมีการรบพุ่งอันตรายอันใดในกรุงเทพ ฯ นี้เลย และเรือรบที่เข้ามาใหม่ประสมกับลำเก่า รวมเป็น ๓ ลำด้วยกันนี้ แม้ว่าจะคิดอันตรายอันใด ก็ไม่อาจทำได้จริงให้เป็นผลแก่ฝรั่งเศสได้ กำลังในเรือรบทั้ง ๓ ลำนี้มีเพียง ๓๐๐ คนเท่านั้น ไหนเลยจะสามารถขึ้นมารุกรานเข้าตีในหมู่กลางประชุมทหารนี้ได้  แต่เหตุสำคัญที่ควรจะป้องกันแก้ไขบัดนี้ มีอยู่ที่ชนทั้งหลายจะพากันวิตกตื่นเต้นไปต่าง ๆ โดยความที่ไม่ได้ทราบความหนักเบา จึงได้ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้กรมนครบาลจัดการป้องกันระวังรักษาทรัพย์สมบัติ และพลเมืองให้พ้นจากคนพาลเบียดเบียน อนึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินออกทอดพระเนตรตรวจตรา พลทหารประจำซองกรุงเทพ ฯ ทั่วไปแล้ว เป็นที่ทรงยินดีต้องพระราชหฤทัยยิ่งนัก ว่าจะระงับเหตุการณ์ในบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย และป้องกันรักษาอาณาประชาชนให้พ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ ได้ และในการครั้งนี้ ก็ยังไม่ได้มีการโต้ตอบปรึกษาหารือกับด้วยรัฐบาลฝรั่งเศสทั้งที่กรุงเทพ ฯ และที่กรุงปารีส ดังปรากฏในหนังสือในเรื่องนี้ ซึ่งได้ตีพิมพ์ประกาศมาให้ทราบแล้วด้วย ขอให้ชนทั้งหลายพิเคราะห์เหตุผลตามกระแสพระราชดำริ ที่ได้ชี้แจงมาแล้วนี้ อย่าให้หวาดหวั่นวิตกตื่นไปกว่าเหตุนั้น จงรักษาความสงบเรียบร้อยตามปกติของตนทั่วกันเถิด
ประกาศมา ณ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๒ เหตุการณ์ภายหลังการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา

การดำเนินการของฝรั่งเศส
    คำสั่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศส
            เมื่อเกิดการสู้รบกันขึ้นที่ปากน้ำเจ้าพระยาในตอนเย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม แล้ว ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสได้รายงานเหตุการณ์ไปยังกรุงปารีสโดยทันที และในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสได้โทรเลขมายัง ม.ปาวี มีความว่า
            "ให้ท่านขอคำอธิบายจากเสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศโดยทันที ตามเหตุการณ์ที่บอกมาในโทรเลขเมื่อเย็นวานนี้ เราก็ได้แสดงความตั้งใจอย่างสงบของเราแก่รัฐบาลไทยแล้ว และก็ไม่ใช่ไม่รู้ว่าเราได้สั่งไปยังนายพลเรือ ฮูมานน์ นี้แล้ว ให้เรือของเราหยุดอยู่ที่สันดอน เรื่องนี้จะได้ทูลให้พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ทรงทราบเอง"
            ในสภาพการณ์เช่นนี้ จึงเป็นกลอุบายแท้ จะหาเหตุผลมาพิสูจน์ไม่ได้
            ให้ท่านคัดค้านให้เต็มที่ ยกความรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันนี้ ว่าเป็นการริเริ่มของรัฐบาลไทยดำเนินการขึ้น บรรดาเรือรบให้ทอดสมออยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อถูกโจมตีหรือถูกขู่เข็ญ ให้เริ่มลงมือยิงได้
            ทางกรุงเทพ ฯ เหตุการณ์ตึงเครียดมาก ได้พยายามทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายมิให้เกิดการสู้รบกันขึ้นอีก ฝ่ายฝรั่งเศสคงยืนยัน และบีบบังคับให้ไทยตกลงยินยอมตามคำเรียกร้องของตนยิ่งขึ้น โดยมีเรือรบสามลำจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ และยังมีกองเรือในบังคับบัญชาของนายพลเรือ ฮูมานน์ เป็นกำลังคอยสนับสนุนอยู่ในทะเลอีกด้วย เป็นการแสดงกำลังเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการเจรจาทางการฑูตให้แก่ฝรั่งเศส
     รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสแถลงในสภา
            วันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสได้ประชุมที่รัฐสภาในกรุงปารีส ได้ถามรัฐบาลถึงเรื่องฝรั่งเศสกับไทย วิวาทบาดหมางกันหลายประการ ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสได้ตอบมีความว่า

            ตามที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ดำริเมื่อไม่นานมานี้ ทุกคนคงไม่ลืมมูลเหตุซึ่งทำให้เกิดการวิวาทกัน คำร้องทุกข์ของฝรั่งเศสที่กล่าวว่ารับบาลไทยทำการข่มเหงเราก่อน เหตุอันนี้ใช่แต่รัฐบาลไทยทำการหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมทำขวัญราษฎรของเรา ซึ่งได้รับความกดขี่ข่มเหงเท่านั้น รัฐบาลไทยยังบุกรุกล่วงเข้ามาชิงเอาดินแดนของเมืองเขมร และเมืองญวนซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเราไปด้วย ไม่อาจกล่าวได้ว่าไทยได้ตั้งต้นล่วงแดนเข้ามาแต่เมื่อใด เพราะเรานิ่งเฉยเสียช้านานมิได้คิดจัดการป้องกัน ประเทศไทยจึงกล้าหาญให้ทหารเข้ามาตั้งด่านอยู่ห่างกรุงเว้เมืองหลวงของญวน ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร และเข้ามาตั้งด่าน ณ ที่ตำบลอื่น ๆ อีกหลายแห่ง เพื่อจะตัดทางระหว่างตั้งเกี๋ยกับญวนให้ขาดจากกันเสีย รัฐบาลฝรั่งเศสจะนิ่งยอมให้ไทยข่มเหงล่วงแดนอย่างนี้ต่อไปอีกไม่ได้ อนึ่งได้เห็นอยู่เสมอว่า ดินแดนซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายลำน้ำโขงนี้ ควรจะยกเอาเป็นอาณาเขตทางทิศตะวันตกของเมืองทั้งหลายของเรา และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ก่อนนี้ ม.เดอคาสเซ ปลัดกระทรวงประเทศราชก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็เห็นชอบด้วยทุกประการ จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ที่ควรจะต้องจัดการเอาตามอำนาจอันชอบธรรมของประเทศฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงได้ตั้งใจจะเอาดินแดนฝั่งซ้ายแห่งลำน้ำโขงกลับคืนมาให้จงได้
            การจัดการเรื่องนี้ให้สำเร็จได้นั้นมีอยู่สองทาง เราต้องเลือกเอาทางหนึ่ง ทางหนึ่งย่อมเป็นเกียรติยศและสง่าแก่เรา คือให้กองทัพเรือยกไปกรุงเทพ ฯ แล้วยื่นคำขาดไปยังรัฐบาลไทย ขอให้เรียกทหารไทยทั้งหมดกลับมายังฝั่งขวาของลำน้ำโขง เมื่อทำดังนี้แล้วเห็นว่าการจะสำเร็จได้โดยเร็ว แต่เราไม่สามารถจะห้ามผลอันร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นจากสาเหตุนี้ได้ ด้วยกรุงเทพ ฯ มีประชากรอยู่ถึง ๓๕๐,๐๐๐ คนเศษ รวมคนชาติต่าง ๆ อยู่ในบังคับต่างประเทศด้วย เมื่อเกิดการสู้รบขึ้นในกรุงเทพ ฯ แล้วก็จะเกิดโจรผู้ร้ายปล้นสะดมภ์กันขึ้นวุ่นวายมาก และบางทีเราอาจต้องยึดเอาเมืองและเขตแดนบางแห่งไว้ด้วย ดังนั้น เราก็ต้องยกกองทัพเพิ่มเติมไปอีก รัฐบาลก็จะต้องปรึกษาหารือกับรัฐสภาเสียก่อน เพื่อจะขอทหารและเงิน และในระหว่างนั้น การโจรกรรมปล้นสะดมภ์กัน ก็อาจเป็นเหตุให้ประเทศอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในการป้องกันคนในบังคับของเขา อนึ่ง เมื่อต้องมีการรบกันขึ้นที่กรุงเทพ ฯ แล้วก็อาจเป็นเหตุทำลายความเป็นเอกราชของประเทศไทยเสียได้ แต่การนี้เรามิได้มุ่งหมายจะทำลายเสียเอง เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้ รัฐบาลจึงมิได้ยกกองทัพเรือเข้าไปในกรุงเทพ ฯ
            เราจึงได้เลือกเอาแนวทางอื่น คือรัฐบาลได้สั่งให้ผู้สำเร็จราชการเมืองญวน เขมร และตังเกี๋ย รวบรวมทหารญวนไว้ตามแต่จะได้ แล้วให้ยกจากเมืองไซ่ง่อนไปเมืองเว้ ไปยังลำน้ำโขง ให้ก้าวสกัดไล่ต้อนทหารไปให้หมด การนี้ก็น่าจะเร็วได้ดังประสงค์ ทหารไทยมิใคร่ได้ต่อสู้กับทหารของเรา เราจึงตีเอาเขตแดนกลับคืนมาได้โดยยาว ประมาณ ๓๐๐ ไมล์ ถึงกระนั้นก็ดี ก็ยังเกิดการสู้รบกันถึงสองครั้ง ด้วยทหารไทยที่ถอยไปจากดอนสาครนั้น กลับพยายามจะเข้าตีกลับคืน แล้วจับเอาร้อยเอกโทเรอซ์กับทหารไปได้ จึงได้มีคำสั่งให้ ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสให้แจ้งความต่อรัฐบาลไทยว่า ถ้าไทยไม่ปล่อยร้อยเอกโทเรอซ์แล้ว ก็ให้ ม.ปาวี ลาออกจากกรุงเทพ ฯ ให้เชิญราชฑูตไทยประจำกรุงปารีสมาพบ และแจ้งว่าถ้าไม่ปล่อยร้อยเอกโทเรอซ์แล้ว ตัวราชฑูตก็จะต้องออกจากกรุงปารีสเช่นกัน แล้วรัฐบาลก็ได้รับคำปฏิญาณจากรัฐบาลไทยว่า จะปล่อยตัวร้อยเอกโทเรอซ์ และก็ได้รับการปล่อยตัวมา ต่อมาอีกครั้ง ม.โกรสกูแรง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้รับคำสั่งให้พาข้าหลวงไทยคนหนึ่ง (พระยอดเมืองขวาง) ส่งกลับไปให้พ้นแดนเพื่อจะได้ป้องกันมิให้ราษฎร ซึ่งมีน้ำใจเจ็บแค้นทำอันตรายได้ตามทาง ข้าหลวงไทยผู้นั้นกลับลอบสั่งให้ทหารเข้าไปฆ่า ม.โกรสกูแรง ถึงในที่พัก...รัฐบาลไทยมิได้โต้แย้งว่าไม่ผิดเลย แต่ขอผลัดเวลาไต่สวน ถ้าได้ความจริงก็จะยอมทำขวัญตอบแทนให้ ในระหว่างนี้เราเห็นว่าควรจะต้องเจรจากันในปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนลำน้ำโขง และเรื่องอื่น ๆ ที่ยังค้างอยู่ให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน แต่ไม่เห็นควรที่จะเจรจาตกลงกันที่กรุงปารีส จึงตั้งให้ ม.เลอมีร์ เดอ วิเลร์ส เป็นอัครราชฑูตพิเศษเข้าไปกรุงเทพ ฯ ..... ได้ออกเดินทางจากกรุงปารีสเมื่อวันเสาร์ในสัปดาห์ก่อน จะได้ให้เรือรบไปรับที่เมืองสิงคโปร์ส่งไปกรุงเทพ ฯ
            เราแน่ใจว่าการเจรจาปรึกษาปรองดองกันนี้ จะตกลงกันได้โดยเร็ว เผอิญมาเกิดเหตุร้ายเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม..... ในเรื่องนี้คนทั้งหลายพากันติว่าข้าพเจ้าได้แสดงความนบนอบอ่อนน้อมต่อรัฐบาลอังกฤษมากเกินไป..... มีผู้ถามว่าได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ต่อรัฐบาลอังกฤษอย่างไรบ้าง... รัฐบาลอังกฤษมิได้ขอคำมั่นสัญญาอะไร...เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ค.ศ.๑๘๙๒ ลอร์ดโรส เบอรี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษได้บอกแก่ ม.เวดดิงตอน เอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอนว่า อัครราชฑูตไทยประจำกรุงลอนดอน ได้มาหาลอร์ดโรสเบอรีร้องว่า ฝรั่งเศสบุกรุกล่วงเข้ามาแย่งชิงเอาดินแดนลำน้ำโขง ลอร์ดโรสเบอรีจึงตอบว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเรื่องนี้ ต่อมาลอร์ดดัฟเฟอรีน เอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำกรุงปารีสแจ้งว่า การพิพาทระหว่างฝรั่งเศสกับไทยด้วยเรื่องเขตแดนนั้น อังกฤษจะไม่เข้ามาขัดขวาง..... ประเทศฝรั่งเศสไม่มีเจตนาจะคิดทำลายความเป็นเอกราชของไทย รัฐบาลฝรั่งเศสคิดแต่จะจัดการช่วยประชาชนทั้งหลายให้พ้นภัยอันตรายเท่านั้น ด้วยประเทศฝรั่งเศสได้เสียทหารและเงิน เพราะการช่วยคนเหล่านี้มามากแล้ว
            ต่อมา บรรดาหนังสือพิมพ์พากันลงข่าวอันน่าตกใจ เป็นเหตุให้มหาชนในยุโรป พากันแตกตื่นมากมาย มีคนประเทศอังกฤษ และฮอลแลนด์เป็นต้น ลงข่าวว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสได้ยกไปยังกรุงเทพ ฯ แล้ว และจะเข้ามายิงกรุงเทพ ฯ เมื่อเป็นดังนั้น จึงเห็นว่าเราควรจะต้องบอกให้รัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลฮอลแลนด์ทราบว่า เรามิได้มีความประสงค์จะมีคำสั่งให้ลงมือทำการเช่นนั้นเลย และถ้าหากเราจำต้องทำดังนั้น ก็จะต้องบอกให้รัฐบาลทั้งสองทราบล่วงหน้าก่อน ใช่แต่เท่านั้นรัฐบาลก็จะต้องขออนุญาตต่อที่ประชุมนี้เสียก่อนเหมือนกัน..... อนึ่ง อังกฤษก็ได้ให้เรือรบเข้าไปจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ ลำหนึ่งแล้ว และกำลังแล่นไปกลางทางอีกลำหนึ่ง และยังจะไปเพิ่มเติมอีกลำหนึ่ง รวมสามลำด้วยกัน ข้าพเจ้าได้มีโทรเลขไปยังผู้รักษาราชการแทนเอกอัครราชฑูตของเรา ในกรุงลอนดอนว่า เมื่อวานนี้ เซอร์ เอดเวิร์ด เกรย์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้พูดประกาศในรัฐสภาด้วยเรื่องไทยกับฝรั่งเศสนั้น เห็นว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องชี้แจงเรื่องพิพาทกับไทยต่อ ลอร์ดโรสเบอรีว่า ฝรั่งเศสจะต้องจัดการห้ามมิให้ไทยบุกรุกล่วงดินแดนเข้ามาอีกได้..... ขอให้รัฐบาลของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระราชินีอังกฤษพึงเข้าใจว่า เราจะนิ่งเฉยอยู่อีกไม่ได้แล้ว..... จำเป็นจะต้องลงมือโดยเรี่ยวแรง ที่จะให้รัฐบาลไทยยอมตามคำขอร้องอันยุติธรรมของเราให้จงได้
            เมื่อประเทศไทยเห็นว่า กระทรวงต่างประเทศอังกฤษได้พูดประกาศในรัฐสภาว่าด้วยเรื่องที่จะให้เรือรบอังกฤษ เข้าไปกรุงเทพ ฯ นั้น ไทยก็คิดกล้าขึ้นในการสู้รบต่อไป..... เพราะ เซอร์ เอด เวิร์ด เกรย์ และ ลอร์ด ดัฟเฟอรี ได้กล่าวถ้อยคำไว้อย่างหนึ่ง ทำให้เราเชื่อว่ารัฐบาลของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระราชินีอังกฤษ จะนิ่งอยู่เป็นกลางไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยการพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเลย
            .....ลอร์ด โรส เบอรี ตอบว่า การที่อังกฤษให้เรือรบเข้าไปกรุงเทพ ฯ นั้น ไม่ได้คิดจะเข้าไปช่วยประเทศไทยเลย ไปเพื่อประสงค์จะให้เข้าไปป้องกันคนในบังคับอังกฤษ เมื่อมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นเท่านั้น ฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศสจึงเห็นว่าควรจะให้เรือรบฝรั่งเศสเพิ่มเติมเข้าไปในกรุงเทพ ฯ บ้างเหมือนกัน ครั้นวันที่ ๘ กรกฎาคม จึงมีคำสั่งทางโทรเลขไปยัง ม.ปาวี ราชฑูตของเราที่กรุงเทพ ฯ..... ขอให้แจ้งความแก่รัฐบาลไทยทราบว่า เรือรบฝรั่งเศสจะเข้ามารวมกับเรือลูแตงอีก..... อย่าให้เรือรบลงมือรบเป็นอันขาด เว้นไว้แต่ได้บอกมาให้รัฐบาลรู้เสียก่อนเท่านั้น แต่ถ้าฝ่ายศัตรูยิงเราก่อนจึงให้ยิงตอบโต้ป้องกันตัว ต่อมาอีกสองวันรัฐบาลไทยจึงแจ้งความว่า ไทยจะให้นานาประเทศส่งเรือรบเข้ามาในกรุงเทพ ฯ ประเทศละหนึ่งลำเท่านั้น.....
            เมื่อเราต้องรักษาอำนาจอันชอบธรรมอันมีอยู่ตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีในปี ค.ศ.๑๘๕๖ นั้น จึงได้มีคำสั่งไปว่า อย่าเพิ่งให้เรือรบของเราแล่นล่วงสันดอนไปก่อนที่เราจะได้สั่งต่อไปภายหลัง แต่การบอกข่าวไปมาต่อประเทศไทยนั้น ย่อมชักช้าไม่เรียบร้อยเสมอได้ คำโทรเลขจึงมิได้ไปถึงทันเวลา เมื่อการเป็นดังนี้แล้วมีเหตุอันใดเกิดขึ้นเลย ป้อมไทยและเรือรบไทยก็ยิงเรือเรา คือเรือแองคองสตังต์และเรือโคแมต ฝ่ายพวกทหารเรือของเราก็กล้าหาญ สามารถแล่นเรือฝ่าตอร์ปิโดเข้าไป ข้ามสันดอนมิได้มีสิ่งใดขัดขวาง แล้วแล่นเลยไปจอดทอดสมออยู่ในกรุงเทพ ฯ ม.ปาวี และรัฐบาลไทยก็รู้ชัดอยู่แล้ว การที่เราให้เรือรบเข้าไปนั้น ก็มีความมุ่งหมายต่อทางพระราชไมตรีอย่างเดียวเท่านั้น ฝ่ายรัฐบาลไทยก็ยอมรับอยู่ว่า หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ปี ค.ศ.๑๘๕๖ ซึ่งยังมิได้เลิกถอนคงใช้อยู่เสมอ ถึงกระนั้นก็ดียังกลับมีคำสั่งให้ยิงเรือรบของเรา เหตุฉะนี้จึงขอประกาศว่า นายเรือของเรากลับต้องเป็นเหยื่อในการสู้รบ ซึ่งเป็นเหตุทำลายล้างอำนาจอันชอบธรรมของนานาประเทศ ครั้นรุ่งขึ้น พวกไทยในกรุงเทพ ฯ กลับจมเรือ ยี.เบ.เซย์ ซึ่งเป็นเรือค้าขายของคนฝ่ายเราเสีย แล้วกลับทำการข่มเหงพวกกลาสีต่าง ๆ อีก
            ความจริงเกิดขึ้นดังนี้แล้ว บัดนี้เราจะต้องคิดทำการอย่างใดต่อไป การที่รัฐบาลไทยกระทำลงแล้วนั้น ไม่อาจที่จะทำให้เรานิ่งอยู่ต่อไปอีกได้ เราจะต้องรู้โดยทันทีว่า รัฐบาลไทยจะยอมให้สิ่งตอบแทนอันพอใจแก่เราหรือไม่ ในเหตุที่เกิดขึ้นแล้วในลำน้ำโขง การฆ่า ม.โกรสกูแรง และการทำลายหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ค.ศ.๑๘๕๖ นี่เป็นการขอเล็กน้อย ที่เป็นเกียรติยศของประเทศฝรั่งเศสและผลประโยชน์ของเมืองขึ้นของเราในทิศตะวันออกจะต้องร้องขอเอา เรามิได้มีความมุ่งหมายจะคิดทำลายล้างความเป็นเอกราชของประเทศไทย แต่เรามีอำนาจโดยชอบธรรมที่จะต้องได้รับคำตอบที่พึงพอใจ ถ้ามิยอมให้แล้ว ก็จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องคิดการสืบไป พึงให้ความไว้วางใจในความคิดของรัฐบาล จงทุกท่าน
ฝรั่งเศสยื่นคำขาด

            ภายหลังการประชุมหารือกันในรัฐสภาฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ รัฐสภาได้ลงมติมอบอำนาจให้รัฐบาลฝรั่งเศส จัดการให้รัฐบาลไทยรับรอง และเคารพสิทธิของฝรั่งเศส ตามคำแถลงของ ม.เดอแวลล์ ดังนั้นในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ม.เดอแวลล์ จึงได้โทรเลขถึง ม.ปาวี ให้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลไทยมีความดังนี้
            "ณ บัดนี้พอจะรู้ได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ร้ายแรงเพียงใด รัฐบาลไทยจะต้องรับผิดยิ่งขึ้น ไปอีกอย่างไรนอกจากที่เคยทำกับเรามาแล้ว เราควรคำนึงตามที่ชอบด้วยว่า หน้าที่รัฐบาลไทยจะต้องรีบคิดจัดการแก้ไขฐานะความเป็นไปนี้เสียโดยเร็ว  แต่ตรงกันข้าม..... รัฐบาลไทยยังขืนทำโอ้เอ้ขัดต่อการที่เราเรียกร้องไป เราจะปล่อยให้เป็นไปดังนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว
            ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ให้ไปเฝ้ากรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ชี้ให้เห็นเป็นครั้งสุดท้ายถึงข้อร้ายแม้ตามความสัตย์จริง เรามิได้คิดจะขู่เข็ญความเป็นเอกราชของไทย ก็อาจทำให้ไทยหมิ่นอันตรายหากไม่ยอมทำตามที่เราเรียกร้องไปโดยทันที ให้นำข้อความนี้ไปแจ้งให้ทราบ
     รัฐบาลฝรั่งเศสบังคับดังต่อไปนี้
                (๑)  ให้เคารพสิทธิของญวน และเขมร เหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายลำน้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำนี้
                (๒)  ให้ถอนทหารไทยที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน หนึ่งเดือน
                (๓)  ให้เสียค่าปรับไหมแก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน และทั้งในการที่ได้ทำอันตราย และความเสียหายแก่เรือและทหารประจำเรือฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา
                (๔)  ให้ลงโทษผู้กระทำผิดและเสียเงินค่าทำขวัญแก่ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต

                (๕)  ให้เสียเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ เป็นค่าปรับไหมในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดแก่ชนชาติฝรั่งเศส
                (๖)   ให้จ่ายเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ ชำระเป็นเงินเหรียญโดยทันที เป็นมัดจำการจะชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ และเงินค่าทำขวัญ หรือถ้าไม่สามารถก็ต้องยอมให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ
            ให้รัฐบาลไทยตอบให้ทราบภายใน ๔๘ ชั่วโมง ว่าจะรับปฏิบัติตามนี้ได้หรือไม่
            ในกรณีนี้ เมื่อมีการตกลงอย่างไร จงทำเป็นหนังสือสัญญาไว้
            ถ้ารัฐบาลไทยไม่ตอบ หรือผัดเพี้ยนไม่ยินยอม เมื่อสิ้น ๔๘ ชั่วโมงแล้ว ให้ออกจากกรุงเทพ ฯ และไปขึ้นพักบนเรือฟอร์แฟต์ (ที่คอยอยู่นอกสันดอน) ไปพลางก่อน แล้วจึงทำการปิดอ่าวไทยโดยทันที
            หากว่าในระหว่างที่ท่านโดยสารเรือออกจากกรุงเทพ ฯ มาสันดอน ฝ่ายไทยทำการรุกรบ ให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่า เราจะต้องกระทำตอบทันที
            เมื่อ ๔๘ ชั่วโมงไปแล้ว ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลไทยให้เป็นที่พอใจ ให้มอบหมายการปกปักรักษาผลประโยชน์ของชนชาติฝรั่งเศส ไว้แก่กงสุลเยเนอราลฮอลแลนด์ และการอันใดที่จะพึงปฏิบัติแก่รัฐบาลไทยสถานใดนั้น เห็นสมควรอย่างไรจงสั่งเสียให้ผู้ที่ร่วมงานในครั้งนี้ทราบโดยทั่วกัน
            ให้ท่านกับเรือปืนสามลำไปรวมอยู่ที่เรือฟอร์แฟต์ และให้แจ้งไปให้พลเรือตรีฮูมานน์ทราบไว้ ส่วนพลเรือตรีฮูมานน์นั้นจะได้รับคำสั่งอันจำเป็นต่างหาก
            มั่นใจว่าอาศัยความชำนิชำนาญ และความเสียสละให้แก่ชาติ จะเป็นปัจจัยช่วยให้ การปฏิบัติการตามหน้าที่จะสงวนประโยชน์ที่มีอยู่ในโอกาสเช่นนี้ไว้ได้ ด้วยความพินิจพิจารณาของท่าน"
ไทยตอบคำขาด

            ม.ปาวีได้รับคำตอบจากรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า
            "เพื่อตอบสนองหนังสือที่ได้ยื่นมาตามคำสั่งรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันพฤหัสบดี (๒๐ กรกฎาคม) เวลา ๑๘.๔๕ น. นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้แจ้งให้ทราบดังนี้

                (๑)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรู้สึกเสียพระทัยที่ยังไม่ได้รับคำอธิบายอย่างแจ่มแจ้งของประโยคที่ว่า  "สิทธิของญวน และเขมรเหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่าง ๆ" ในข้อนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยอยู่เหมือนกันว่า จะยอมโอนกรรมสิทธิดินแดนส่วนใด ๆ ให้ ถ้าหากฝรั่งเศสแสดงให้เห็นโดยเด่นชัดว่าญวนและเขมรมีสิทธิโดยชอบอยู่ อยู่เหนือดินแดนนั้นอย่างไร ทั้งนี้เป็นเวลา ๕ เดือนมาแล้วที่รัฐบาลไทยขอร้องให้นำกรณีพิพาทนี้ขึ้นสู่อนุญาโตตุลาการ
            อาศัยความจำเป็นในโอกาสนี้ และด้วยความมุ่งหมายที่จะให้สันติภาพเกิดแก่อาณาประชาราษฎร์ และให้เกิดความปลอดภัยแก่ผลประโยชน์ทางพาณิชยการที่ต่างประเทศได้กระทำอยู่ในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับว่า ในการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับญวน และเขมรนั้น บรรดาดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่อยู่ทางใต้เส้น แลต. ๑๘ น. รัฐบาลไทยยอมยกให้เป็นดินแดนส่วนแม่น้ำโขงตอนใต้แลต.๑๘ น. ลงมาจนถึงตอนที่ไหลเข้าไปในดินแดนเขมรนั้นให้ถือเป็นเส้นปันเขตแดน และที่อาศัยเกาะเหล่านี้เพื่อประโยชน์ในการเดินเรือควรให้ใช้ร่วมกันได้ทั้ง ๓ ประเทศ (ไทย ญวน เขมร )
                (๒)  กองทหารไทยที่ตั้งอยู่ในดินแดนที่ระบุไว้ในข้อ (๑) จะได้ถอยกลับมาสิ้นภายใน ๑ เดือน
                (๓)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอแสดงความเสียพระทัย ในกรณีอันนำมาซึ่งความเสียหายร่วมกันแก่ฝ่ายไทยและฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน (แก่งเจ๊ก) และทั้งที่ได้เกิดกระทบกระทั่งกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาด้วย
            จะได้ปล่อยตัวบางเบียนไป และปฏิบัติตามคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสอื่น ๆ ด้วย ถ้าเห็นว่าจำเป็น โดยอนุโลมตามลักษณะแห่งความยุติธรรม และตามความเป็นเอกราชของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสว่าจะเคารพนั้น
                (๔)  บุคคลใดที่ต้องหาว่าได้ทำการย่ำยีชนชาติฝรั่งเศสเป็นการส่วนตัวในคดีใดก็ดี อันปรากฏว่าละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะลงโทษตามรูปคดีนั้น ๆ หรือหากว่าสมควรจะชดใช้เป็นค่าทำขวัญ ก็จะได้ชำระให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตนั้นให้เสร็จสิ้นไป
                (๕)  รัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลไทยได้โต้แย้งกันมาเป็นเวลานานในเรื่องเกี่ยวกับชนชาติฝรั่งเศส ขอเรียกร้องให้ชำระเงินที่ตนต้องได้รับความเสียหาย เพราะข้าราชการไทยดำเนินการผิดนั้น ข้อนี้ในนามแห่งรัฐบาลไทยขอปฏิเสธว่า ไม่ใช่ความผิดของข้าราชนั้น ๆ
            บัดนี้เมื่อได้ยินยอมปรองดองไปตามที่ได้ชี้แจงไปแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าไม่ควรยึดหลักอันใดมาคัดค้าน จึงยอมชำระเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ ให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศสเท่าที่ได้เสียหายไปในกรณีที่ได้ระบุมาแต่ข้างต้นนั้น อนึ่ง รัฐบาลไทยมีความเห็นว่า ชอบที่จะจัดตั้งกรรมาธิการผสมพิจารณาเงินค่าทำขวัญในกรณีที่ได้อ้างมาในข้อ (๔) นั้น
                (๖)  ที่จะให้จ่ายเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังค์ เป็นเงินเหรียญโดยทันทีที่เพื่อมัดจำในการที่จะต้องชดใช้ค่าทำขวัญ และค่าปรับไหม ดังนั้น ถ้าได้พิจารณาให้ละเอียดเป็นราย ๆ ตามสมควรแก่การแล้ว รัฐบาลไทยเชื่อในความยุติธรรมของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า จะได้รับเงินจำนวนที่เหลือคืนจากที่ได้จ่ายไปจริง เท่าที่ได้เรียกร้องในกรณีทั้งปวงโดยครบถ้วน
            เท่าที่ได้ยินยอมไปตามที่รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกร้องมาตามคำแถลงข้างบนนี้ รัฐบาลไทยมั่นใจว่าคงจะพอเป็นเครื่องแสดงให้เห็นชัดว่า รัฐบาลไทยยังมีความปรารถนาที่จะอยู่ในความสามัคคีกับประเทศฝรั่งเศส และข้อพิพาทในระหว่างรัฐบาลทั้งสองที่คั่งค้างอยู่ สำเร็จเสร็จสิ้นไปโดยบริบูรณ์"
ฝรั่งเศสตัดสัมพันธ์ทางการฑูต
            เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยได้รับหนังสือ ม.ปาวี ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม รวม ๓ ฉบับ มีใจความดังนี้
            ฉบับที่ ๑
            "ข้าพระพุทธเจ้าขอตอบรับคำตอบ ซึ่งฝ่าพระบาทในนามของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย ได้ตอบสนองแก่สาส์นที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายแก่ฝ่าพระบาท ในนามรัฐบาลฝรั่งเศส
            ข้าพระพุทธเจ้าขอรับทราบไว้ และพิจารณาเห็นว่า จะไม่ขอเจรจาในประเด็นข้อใด ๆ อีกเลย คำตอบสนองนี้ถือว่ายังขัดขืนไม่ยอมมอบดินแดนส่วนใหญ่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ "
            ฉบับที่ ๒
            "เนื่องจากหนังสือของข้าพระพุทธเจ้าลงวันนี้ ซึ่งได้รับทราบคำตอบสนองของรัฐบาลไทยแก่คำขอร้องของฝรั่งเศส เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลของฝรั่งเศส จึงขอทูลให้ทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้มอบหมายการปกปักรักษา และการคุ้มครองชนชาติฝรั่งเศส และคนในบังคับฝรั่งเศสไว้ให้แก่กงสุลเยเนอราลฮอลแลนด์ และตัวข้าพระพุทธเจ้าจะได้โดยสารเรือแองคองสตังต์ออกไปในวันที่ ๒๖ กรกฎาคมนี้"
            ฉบับที่ ๓
            "เนื่องจากเรือฝรั่งเศสสามลำจะออกไป ขอได้โปรดจัดการให้นำร่องสามคนไปรับใช้นาวาโท โบรี ในวันที่ ๒๕ เวลาเย็น"
            ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม กรมหลวงเทวะวงศ์ ได้ตอบหนังสือสามฉบับของ ม.ปาวี มีความว่า
            "ได้รับหนังสือของท่านที่ส่งมาซ้อน ๆ กัน รวม ๓ ฉบับ ลงวันที่เมื่อวานนี้ (วันที่ ๒) แล้ว
            ในหนังสือของท่าน ฉบับที่ ๑ ท่านกล่าวว่าจะไม่ขอเจรจาในประเด็นข้อใด ๆ อีกเลย เพราะคำตอบสนองนี้ยังขัดขืนไม่ยอมมอบดินแดนส่วนใหญ่ บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้แด่ท่านให้รัฐบาลของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคารพ (acknowlegement) สิทธิของญวนและเขมร บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และเกาะแก่งต่าง ๆ
            คำตอบของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นอันว่าไม่สามารถที่จะเคารพได้โดยแท้ เพราะไม่ได้ให้คำอธิบายชัดเจน ฉะนั้นคำตอบของเราในข้อหนึ่งจึงต้องยุติกันเพียงเท่านั้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ไกลกว่านี้ โดยที่มิปรารถนาที่จะแสดงถึงเจตนาอันชอบโดยทันที และโดยน้ำใสใจจริงจึงได้แถลงว่า ยินดีให้ญวนและเขมรมีอธิปไตยเต็มที่เหนือดินแดนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แต่เพียงเท่าที่ตามบริเวณกองทหาร ซึ่งทหารไทยได้ตั้งมั่นยึดไว้ และได้เกิดพิพาทกันรายที่แล้ว ๆ มาก็หาไม่ ยังรวมยกเอาเมืองสตึงเตรง และเมืองโขง (สีทันดร) อันเป็นที่ไทยมีอธิปไตยอยู่โดยชอบธรรมแท้ ๆ ด้วย ถ้าหากว่าเท่านี้ยังไม่เป็นที่พอใจรัฐบาลของท่าน ข้าพเจ้าจำเป็นต้องฝืนให้ท่านอธิบายถึงลักษณะและเขตของสิ่งที่ท่านเรียกว่า "สิทธิของญวนและเขมรเหนือดินแดนบนฝั่งแม่น้ำโขง" นั้น
            ตามหนังสือของท่านฉบับที่ ๒ แจ้งให้ทราบว่า..... นั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าพเจ้าแสดงความเสียใจ และความประหลาดใจในการตกลงใจโดยปัจจุบันทันด่วนนี้ และข้าพเจ้าขอร่วมแสดงความเสียใจส่วนตัวมาด้วย ที่สัมพันธ์ฉันท์มิตรในระหว่างเราทั้งสองต้องขาดลง
            ตามหนังสือของท่านฉบับที่ ๓ ท่านขอร้องข้าพเจ้าว่า..... ข้าพเจ้าจะจัดการให้ตามประสงค์"
            วันที่ ๒๔ กรกฎาคม เวลา ๑๒.๐๐ น. ได้มีการชักธงชาติฮอลแลนด์ขึ้นที่สถานฑูตฝรั่งเศส ม.ปาวี พร้อมด้วยคณะฑูตลงเรือ แองคองสตังต์ เวลา ๑๖.๐๐ น. เรือแองคองสตังต์ เรือโคแมต และเรือลูแตง ออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ เวลา ๑๙.๐๐ น. เรือฝรั่งเศสทั้งสามลำ จอดทอดสมอที่ปากน้ำเจ้าพระยา
            วันที่ ๒๖ กรกฎาคม เวลาเช้า พระยาพิพัฒน์โกษา และข้าราชการไทยอีกคนหนึ่งมาที่เรือแองคองสตังต์ เพื่อติดต่อให้ความสะดวกในการที่ราชฑูต และเรือรบฝรั่งเศสจะไปจอดที่เกาะสีชัง เมื่อน้ำขึ้นแล้ว เรือรบฝรั่งเศสทั้งสามลำ ก็ออกเดินทางผ่านสันดอนและจะได้ปฏิบัติการในการปิดอ่าวต่อไป
ฝรั่งเศสปิดอ่าวไทย

    การประกาศปิดอ่าวไทยครั้งที่ ๑

           วันที่ ๒๖ กรกฎาคม นาวาเอก เรอกุลุซ์ ผู้บังคับการเรือลาดตระเวนฟอร์แฟต์ ซึ่งออกจากไซ่ง่อนติดตามเรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมตมา ได้จอดคุมเชิงอยู่ภายนอกสันดอน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กรกฎาคม และได้ส่งทหารหนึ่งหมวด ขึ้นยึดเกาะสีชังเมื่อตอนเช้า แล้วออกประกาศปิดอ่าวไทย มีความว่า
            "ข้าพเจ้านาวาเอก ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ เป็นผู้บังคับการกองเรือฝรั่งเศส ทำการอยู่ในอ่าวไทย ตามคำสั่งพลเรือตรี ผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกล ซึ่งอาศัยอำนาจที่มีอยู่ ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
            ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๙๓ เวลา ๑๑.๐๐ น. บรรดาเมืองท่าตามทางเดินเรือเข้าออกชายฝั่งและเกาะต่าง ๆ ของประเทศไทยที่อยู่ระหว่างแหลมเจ้าลาย และแหลมกระบังขึ้นไปทางเหนือ (แหลมเจ้าลายอยู่ที่เส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๐๒ ลิบดาเหนือ เส้นแวง ๙๗ องศา ๔๓ ลิบดา ตะวันออก เมอริเดียนปารีส และแหลมกระบังอยู่ที่เส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๐๕ ลิลดาเหนือ และเส้นแวง ๙๘ องศา ๓๑ ลิบดา  ตะวันออก เมอริเดียน ปารีส)  จะเป็นเขตที่กองเรือในบังคับบัญชาของข้าพเจ้าทำการปิดอ่าวโดยแท้จริง บรรดาเรือของชาติที่เป็นไมตรีกันให้เวลาอีกสามวัน เพื่อถอยออกไปจากตำบลที่ปิดอ่าวนี้
            เรือใดที่พยายามฝ่าฝืน จะได้จัดการไปตามนัยแห่งกฎหมายระหว่างประเทศและสัญญาทางไมตรีที่ใช้อยู่กับประเทศเป็นกลาง ณ ปัจจุบันนี้"
ประกาศปิดอ่าวไทยครั้งที่ ๒

            วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เมื่อพลเรือตรี ฮูมานน์ ผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกลมาถึงเกาะสีชัง ก็ได้ออกประกาศปิดอ่าวฉับบที่ ๒ แก้ไขประกาศปิดอ่าวฉบับที่ ๑ มีความว่า
            "ข้าพเจ้า พลเรือตรี ฮูมานน์  ผู้บัญชาการกองเรือภาคตะวันออกไกลผู้ลงนามข่างล่างนี้ เนื่องจากฐานะแห่งการตอบแทนกระทำแก่กัน และกันระหว่างฝรั่งเศสกับไทย และโดยอาศัยอำนาจที่มีอยู่ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
            ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๙๓ ฝั่งและเมืองท่าประเทศไทยตั้งอยู่
                (๑)  ในระหว่างแหลมเจ้าลาย เส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๐๒ ลิบดาเหนือ เส้นแวง ๙๗ องศา ๔๓ ลิบดา ตะวันออก และแหลมกระบัง เส้นรุ้ง ๑๓ องศา ๐๕ ลิบดาเหนือ เส้นแวง ๙๘ องศา ๓๑ ลิบดา ตะวันออก

                (๒)  ในระหว่างแหลมทิศใต้เกาะเสม็ด เส้นรุ้ง ๑๒ องศา ๓๑ ลิบดาเหนือ เส้นแวง ๙๙ องศา ๐๖ ลิบดา ตะวันออก และแหลมลิง เส้นรุ้ง ๑๒ องศา ๑๑ ลิบดาเหนือ เส้นแวง๙๙ องศา ๕๘ ลิบดา ตะวันออก
            จะเป็นเขตที่กองเรือในบังคับของข้าพเจ้าทำการปิดอ่าวโดยแท้จริง บรรดาเรือของชาติที่เป็นไมตรีหรือเป็นกลาง ให้เวลาอีกสามวัน เพื่อบรรทุกสินค้าให้เสร็จ และถอยออกไปนอกเขต เขตปิดอ่าวกำหนดไว้ดังนี้
                (๑)  เขตที่ ๑ ปิดตั้งแต่เส้นขีดจากแหลมเจ้าลาย ถึงแหลมกระบัง
                (๒)  เขตที่ ๒ ปิดตั้งแต่เส้นขีดจากเกาะเสม็ด ถึงแหลมลิง
            เรือใดที่พยายามฝ่าฝืนการปิดอ่าวนี้ จะได้จัดการไปตามนัยกฎหมายระหว่างประเทศ และสัญญาทางไมตรีที่ใช้อยู่กับประเทศที่เป็นกลาง ณ ปัจจุบัน"
ให้ถุงเมล์ผ่านเข้ากรุงเทพฯ ได้
            ได้มีการผ่อนปรนให้ถุงเมล์ผ่านเข้าไปกรุงเทพฯได้ โดยให้ปล่อยเรือที่นำถุงเมล์มาจากยุโรปให้เข้าไปจนถึงท่าจอดเรือเกาะสีชัง ด้วยเหตุผลตามที่พลเรือตรี ฮูมานน์ มีหนังสือแจ้งไปยังกลสุลเยเนราลฮอลแลนด์ที่ว่า เพื่อให้เป็นที่พึงพอใจแก่คณะทูตและกงสุล กับเพื่อไปไม่ให้ขักขวางการติดต่อในทางการค้าของชาวยุโรปในกรุงเทพฯ บรรดาจดหมายและไปรษรีย์ภัณฑ์ดังกล่าวทาง ม.ปาวี จะเป็นผู้จักส่งไปให้โดยเร็วที่สุด
ไทยยอมรับคำขาด
            วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ได้นำหนังสือยอมรับคำขาดไปยื่นแก่ ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส มีความว่า
            "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย ทรงเสียพระไทยอย่างยิ่ง เมื่อได้ทรงวิจารณ์เห็นว่า คำตอบของรัฐบาลไทยต่อคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งได้ยื่นมา ณ  วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ที่แล้วมา และเงื่อนไขต่างๆ ที่ได้บังคับมานั้น ถือเสมือนว่ายังไม่ให้ความพอใจแก่รัฐบาลฝัร่งเศสเท่าที่เรียกร้องมา ข้าพเจ้าจึงได้รับคำสั่งจากรัฐบาลของข้าพเจ้าให้แจ้งแก่ท่านว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงคำนึงถึงการที่จะรักษาสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสให้ดียิ่งไว้ จึงทรงยอมรับคำเรียกร้องของฝรั่งเศสโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างไร
            ข้าพเจ้าขอเสนอสาส์นนี้มาเป็นหลักฐาน ตามข้อความที่ท่านให้โอกาสแก่ข้าพเจ้า ได้มาเจรจากับท่านเมื่อเช้านี้ และขอแสดงให้ท่านเห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุผลที่ยังให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยอมตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสนั้นอยู่ดังนี้
                (๑)  เพื่อระงับและขจัดเหตุวุ่นวายที่นับวันจะมียิ่งขึ้นในหมู่ประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งอันตรายได้
                (๒)  เพื่อความสอบและสันติสุขของพลเมือง
                (๓)  เพื่อรักษาสันติภาพไว้
                (๔) เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการพาณิชย์
                (๕)  เพื่อผูกความสัมพันธ์ในระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในทางการทูตที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องขาดสะบั้นลงอย่างสลดใจนั้น
                (๖)  เพื่อให้สัมพันธ์ไมตรี และความสนิทชิดเชื่ออันมีมาแล้ว ฐานที่เป็นประเทศใกล้เคียง และให้ผลประโยชน์ของประเทศทั้งสองคงเป็นอยู่ดังเดิม
            ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้นำข้อความดังกล่าวแล้วมาเรียนท่าน และเพื่อที่จะให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศสสิ้นสุดลง ข้าพเจ้าหวังไว้ว่า ทางรัฐบาลฝรั่งเศสคงจะเปลี่ยนคำสั่งที่สมควร อันเกี่ยวกับที่กองเรือฝรั่งเศสทำการปิดอ่าวไทยอยู่ในเวลานี้"
บันทึกคำขาดเพิ่มเติม
            ม.เดอแวลล์ ได้ยื่นบันทึกทำนองคำขาดเพิ่มเติมให้ไทยยอมรับ อีกฉบับหนึ่งมีความว่า
            "การที่รัฐบาลไทยชักช้าไม่ยอมรับคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศส ที่ยื่นไปเมื่อ ๒๐ กรกฎาคม นั้น สมควรที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องทวีข้อมัดจำยิ่งขึ้น
            โดยปรารถนาจะให้เป็นพยานแห่งความผ่อนปรน ซึ่งเป็นหลักดำเนินรัฐประศาสน์โนบายของรับบาลฝรั่งเศสเป็นนตย์มา และเห็นว่าจำเป็นที่จะให้รัฐบาลไทยปฎิบัติตามนัย แห่งข้อเรียกร้องทุกๆ ข้อให้ครบ รัฐบาลฝรั่งเศสจะยึดปากน้ำ และเมืองจันทบุรีไว้ จนกว่ากองทหารไทยที่ตั้งมั่นอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจะถอนไปสิ้น และเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นแล้ว
            อนึ่ง เพื่อประกับมิตรภาพอันเคยมีมาแล้วระหว่างประเทศทั้งสอง และเพ่มไม่ให้เกิดความยุ่งยากขึ้นในบริเวณทะเลสาบ รัฐบาลไทยจะต้องไม่รวมกำลังทหารใดๆ ไว้ที่เมืองพระตะบองและเสีบมราฐ รวมทั้งเขตที่ตั้งอยู่ในระยะรัศมี ๒๔ กิโลเมตร บนฝั่งขวาแม่น้ำโขงนับแต่ดินแดนเขมรขึ้นไป รัฐบาลไทยจะจัดให้มีกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไว้ได้เท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาความสงบโดยแท้จริงเท่านั้น กับห้ามไม่ให้รัฐบาลไทยใช้หรือให้เรือหรือพาหนะทางเรือใด ๆ ที่ติดอาวุธเดินไปมาในทะเลสาบเขมร และในลำน้ำโขง
            รัฐบาลฝรั่งเศส จะสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะตั้งกงสุลไว้ที่เมืองนครราชสีมา และเมืองน่าน
            เมื่อรัฐบาลไทยรับปฏิบัติตามนี้แล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสจะได้เลิกปิดอ่าวทันที
            วันที่ ๑ สิงหาคม พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีสได้ไปแจ้งแก่ ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศว่า รัฐบาลไทยยอมรับคำขาด และบันทึกคำขาดเพิ่มเติมทุกประการ
อังกฤษประท้วงฝรั่งเศสเรื่องคำขาดที่ฝรั่งเศสยื่นให้ไทย
            ลอร์ดโรสเบอรี รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอังกฤษ ได้มีคำสั่ง ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ให้ลอร์ด ดัฟเฟอริน เอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำกรุงปารีส เปิดการเจรจากับ ม.เดอแวลล์ เรื่องคำขาดที่ฝรั่งเศสยื่นให้ไทย ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้เจรจากับ ม.เดอแวลล์ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม และได้รายงานไปยังลอร์ด โรสเบอรี มีใจความว่า
            ได้เจรจาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตีความหมายของคำที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะกำหนดลงในข้อ (๑) แห่งคำขาด อาทิ ขอให้ไทยถือว่า "ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง" เป็นเขตแดนด้านตะวันตกของดินแดนในปกครองของฝรั่งเศสในอินโดจีน ได้ย้ำถึงนัยต่าง ๆ ถึงการใช้คำนี้ จะมิหมายจะเรียกร้องถือสิทธิเหนือดินแดนอันกว้างใหญ่ของไทย ซึ่งแผ่ไปทางทิศตะวันออกจนจดดินแดนญวนเอาเป็นของฝรั่งเศส และหมายไปถึงดินแดนภาคเหนือของแม่น้ำโขงตอนเหนือ และที่ประชิดกับดินแดนประเทศจีน รวมทั้งแคว้นอื่น ๆ อันอยู่ถัดขึ้นไป ซึ่งได้รวมเข้ากับอาณาจักรอินเดียของสมเด็จพระนางเจ้า (อังกฤษ) ภายหลังที่ได้ปราบปรามพม่าลงเรียบร้อยแล้ว
            ม.เดอ แวลล์ตอบว่า ฝรั่งเศสกำลังเกี่ยวข้องอยู่กับประเทศไทย ประเทศเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับดินแดนอื่นนอกไปจากราชอาณาจักรไทย และรับรองว่าตามข่าวที่ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสประสงค์จะเข้าครองดินแดนไทย คือพระตะบอง และเสียมราฐ นั้น ไม่เป็นความจริงเลย
            ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้แสดงให้เห็นในแผนที่ว่า แม่น้ำโขงได้หักโค้งเต็มที ณ ที่เหนือเส้นรุ้งที่ ๑๘ โดยหักโค้งไปทางใต้ และทางตะวันออกต่อไปที่แนวเส้นรุ้งที่ ๒๐ ก็หักโค้งเช่นเดียวกันอีก จึงได้ถาม ม.เดอ แวลล์ว่า ดินแดนอันกว้างใหญ่ที่ตั้งอยู่ระหว่าง แม่น้ำโขงกับเส้นกั้นเขตแดนที่แท้จริงของฝรั่งเศส ดังที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ฝรั่งเศสเวลานี้รวมทั้งหลวงพระบาง และแคว้นอื่น ๆ ด้วยนั้น ฝรั่งเศสจะเรียกร้องเอาว่าตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงด้วยหรือไม่ ม.เดอ แวลล์ตอบว่าจะต้องนับรวมด้วย การที่เรียกร้องสิทธิเหนือหลวงพระบาง และแว้นแคว้นใกล้เคียง ก็เพราะถือว่าเป็นดินแดนแต่โบราณมา และตามประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่แก่ญวน ญวนยืนยันว่าอธิปไตยแห่งดินแดนของญวนนั้นแผ่ไปตลอดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
            ลอร์ด ดัฟเฟอรินได้ขอให้ ม.เดอ แวลล์ ระลึกถึงการเจรจาที่ ม.แวดดิงตอน (ออท.ฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอน) ที่ได้เจรจากับ ลอร์ด ซอลิสเบอรี (รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษคนก่อน) ม.แวดดิงตอน ได้ปฏิเสธอย่างชัดแจงว่า มิได้มีความประสงค์จะเรียกร้องกรรมสิทธิดังกล่าวนี้ในนามของรัฐบาลฝรั่งเศสแม้แต่ในส่วนใด ๆ เลย
            จากนั้นได้ย้อนไปถึงเรื่องที่ฝรั่งเศสตั้งใจจะรวมเอาหลวงพระบางกับแคว้นอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง อันมีพื้นที่รวมกันเพียง ๑๐๐,๐๐๐ ตารางไมล์ ซึ่งทั่วโลกได้รับรองกันมาหลายปีแล้วว่า เป็นดินแดนส่วนหนึ่งอันจะแบ่งแยกมิได้ของราชอาณาจักรไทย เอาเป็นของฝรั่งเศส..... การที่ฝรั่งเศสจะเข้าครองดินแดนอันกว้างใหญ่ส่วนหนึ่งแบ่งราชอาณาจักรไทย ซึ่ง ม.เดอแวลล์ กับรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้เคยรับรองไว้แล้วว่า แม้จะมีข้อทุ่มเถียงกับไทยในเรื่องแม่น้ำโขงตอนใต้ ก็จะไม่ยกเอามาเป็นสาเหตุย่ำยี บูรณะภาพและอิสระภาพของไทยเลย..... เหตุใดคำรับรองนี้..... จึงกลับกลายไปเป็นการเชือดเฉือนดินแดนของราชอาณาจักรนี้ไปเกือบหนึ่งในสาม
            ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้กล่าวถึงข้อตกลงของรัฐบาลทั้งสองแต่เดิม ที่คิดจะปกปักรักษาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีอิสระภาพสมบูรณ์ จะได้เป็นรัฐกันชน ระหว่างมหาประเทศทั้งสอง
            ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้กลับมากล่าวถึงเรื่องเดิมต่อไปว่า ฐานะเหตุการณ์จะน่าวิตกเพียงไร ถ้าหากฝรั่งเศสจะบังคับบีบคั้นไทยเกินกว่าที่ถูกที่ควร โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์อันชอบธรรมของประเทศอื่น ๆ ด้วย..... ฝรั่งเศสรู้ชัดอยู่แล้วว่า ฝรั่งเศสไม่มีสิทธิโดยชอบอย่างใด ๆ ในดินแดนนั้น ๆ และฝรั่งเศสจะเสี่ยงอันตรายในความยุ่งยาก ซึ่งอาจบังเกิดขึ้นโดยจะเลี่ยงเสียมิได้ ถ้าหากฝรั่งเศสจะเรียกร้องกรรมสิทธิเหนือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงโดยไม่มีความหมายที่จำกัด และด้วยคำเรียกร้องที่กินความกว้างนั้น ตามความในข้อ (๑) แห่งคำขาด มีข้อความโน้มไปในทางจะเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเขตแดนของเขมรและญวน..... ม.เดอ แวลล์ จะต้องเข้าใจว่า แม้หากว่าในเบื้องต้นแห่งการพิพาท รัฐบาลอังกฤษจักได้ถือว่าเป็นความเข้าใจผิด ระหว่างฝรั่งเศสกับไทย เกี่ยวกับปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดนทางแม่น้ำโขงตอนใต้ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการที่รัฐบาลอังกฤษจะรู้เห็นด้วยก็จริง แต่บัดนี้เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปรไปอีกอย่างหนึ่ง เนื่องด้วยข้อเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นภัยกระทบต่อบูรณภาพของราชอาณาจักรไทย ทำให้ดินแดนฝรั่งเศสใกล้กรุงเทพ ฯ เข้าไปถึงกึ่งทาง และทำให้ฝรั่งเศสประชิดติดต่อกับเราเองด้านพม่า การเปลี่ยนรูปข้อเรียกร้องนี้...ยังให้เกิดความหวั่นไหวขึ้นภายในวงการบริหารของรัฐบาลแห่งสมเด็จพระนางเจ้า
            ม.เดอ แวลล์ กล่าวว่าความในข้อ (๑) แห่งคำขาดนั้น ได้พิมพ์ประกาศออกไปทั่วโลกแล้ว และประชาชนชาวฝรั่งเศสก็ทราบแล้ว ไม่อาจจะแก้ไขได้..... คนไทยได้ทำผิดหลายประการ ได้ทำการย่ำยีคนในบังคับฝรั่งเศส ยิงเรือรบฝรั่งเศส..... ถ้าเป็นอังกฤษหากประสงค์อย่างนี้ก็จะต้องดำเนินการอย่างเดียวกัน
            ม.เดอ แวลล์ พร้อมที่จะรับรองความเห็นในเรื่องรัฐกันชน (Buffer State ) ระหว่างดินแดนของอังกฤษ และของฝรั่งเศสในเอเซียเสมอ ฯลฯ             ต่อคำถามที่ว่า ถ้าหากไทยไม่ยอมปฏิบัติตามคำขาดจะทำอย่างไร ม.เดอ แวลล์ ตอบว่า ในกรณีนี้คณะฑูตฝรั่งเศสจะลงโดยสารเรือของรัฐบาลลำใดลำหนึ่ง ซึ่งทอดสมออยู่ที่กรุงเทพ ฯ กองเรือรบฝรั่งเศสก็จะถอยออกมานอกปากน้ำเจ้าพระยา และคงจะคิดปิดอ่าว ในข้อนี้ลอร์ดดัฟเฟอรินได้คัดค้าน การปิดอ่าวในลักษณะนี้ เท่ากับขี่ม้าของผู้อื่นแล้วสับด้วยสเปอร์ของตน จะเป็นเหตุให้ผลประโยชน์ของเยอรมัน และอังกฤษเสียหายมาก.....
            ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้เจรจากับ ม.เดอ แวลล์อีก และได้รายงานให้ ลอร์ด โรสเมอรี มีความว่า
            ม.เดอ แวลล์ ได้กล่าวโทษไทยเรื่องตอบคำขาดของฝรั่งเศสอย่างก้าวร้าว จึงได้แย้งไปว่า คนไทยยังไม่สู้คุ้นเคยสันทัดต่อภาษาการฑูตชั้นสูง ๆ ของชาวยุโรป และความจริงไทยก็ได้ยินยอมตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสทุกประการแล้ว เว้นแต่ความในข้อ (๑) ของคำขาดเท่านั้น ม.เดอ แวลล์ได้โต้แย้งต่อไปอีกว่า ไทยยังยืนยันว่าถ้าหากเงินชดใช้ค่าเสียหายนั้น...ยังเหลืออยู่เท่าใดจะต้องส่งคืน..... ม.เดอ แวลล์ ยังคงยึดมั่นอยู่ในหลักสองประการของเขาคือ
                ๑)  หลวงพระบางเป็นเมืองขึ้นของญวน และ
                ๒)  ญวนได้ถือสิทธิถึงฝั่งแม่น้ำโขงนี้มาแต่ครั้งโบราณ
            ลอร์ดดัฟเฟอริน จึงแย้งว่า การที่จะอ้างตามประวัติศาสตร์ของญวนว่าหลวงพระบางเป็นเมืองขึ้นนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่ปลอดภัยนัก เพราะอังกฤษก็อาจจะอ้างเอาได้เหมือนกัน เพื่อให้ฝรั่งเศสคืนแคว้น นอร์มังดี (Noemandy) กาสโคนี (Cascony) และเกียน (Guiene) ให้แก่เรา ม.เดอ แวลล์ ก็ได้ทราบว่าในสมุดรายงานประจำปีของฝรั่งเศสทุก ๆ ฉบับ ก็ได้แสดงว่า ลงหลวงพระบางเป็นส่วนหนึ่งอันจะแบ่งแยกมิได้ของราชอาณาจักรไทย จนกระทั่งถึงเมื่อปีหนึ่งที่ล่วงมานี้..... จะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแปลกประหลาดขึ้นในความคิดของนักภูมิศาสตร์ฝรั่งเศส..... เขตของแคว้นที่เป็นปัญหานี้ ได้เป็นส่วนที่แนบสนิทในดินแดนของประเทศไทยเกือบร้อยปี แล้วฝรั่งเศสจะยื้อแย่งเอาเป็นของฝรั่งเศส โดยไม่ละเมิดต่อคำสัญญาเดิมที่ให้ไว้ต่ออังกฤษ ในข้อที่ว่าจะไม่ทำการอันใดอันเป็นภัยต่อบูรณภาพของประเทศไทยนั้นไม่ได้ การที่ฝรั่งเศสอ้างประวัติศาสตร์โบราณเพื่อรุกรานดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงนั้น..... ยังจะผิดตรงกันข้ามกับอนุสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ปี ค.ศ.๑๘๘๖ ด้วยอีกสถานหนึ่ง เพราะอนุสัญญาฉบับนั้น ฝรั่งเศสได้ขอสิทธิที่จะตั้งกงสุลไปประจำไว้ที่หลวงพระบาง นี่เป็นข้อพิสูจน์อยู่ในตัวแล้วว่า แคว้นนั้นเป็นดินแดนของไทย  ม.เดอ แวลล์ แก้ว่าคณะรัฐมนตรีฝรั่งเศส มิได้ยอมให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาฉบับนั้น.....
            ม.เดอ แวลล์ ได้พยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนคำโต้แย้งของเขาหลายประการ และยังพยายามพูดกลบเกลื่อนความคิดที่จะรวมเอาดินแดนตอนนี้ ในที่สุดก็ได้กล่าวว่า คำขาดได้ประกาศไปทั่วประเทศฝรั่งเศส และประเทศไทย ในขณะนี้มติมหาชนกำลังไหวตัวเป็นการสุดวิสัยที่รัฐบาลจะเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงได้
            ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ลอร์ด ดัฟเฟอริน ได้เจรจากับ ม.เดอ แวลล์อีก เริ่มด้วยการที่จะจัดตั้งรัฐกันชนขึ้นในระหว่างดินแดนของฝรั่งเศสและของอังกฤษ และคำขาดข้ออื่น ๆ และได้รายงานไปยังลอร์ด โรสเมอรี มีความว่า
            "ได้พูดถึงความในคำขาด ข้อ (๖) ที่ให้จ่ายเงินสามล้านฟรังค์ โดยทันทีเพื่อเป็นมัดจำประกันข้อเรียกร้องในข้อ (๔) และ (๕) จึงได้ขอคำอธิบายเพิ่มเติม เพราะเพิ่งได้อ่านพบความเห็นในหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่ง ม.เดอ ลา เนสซัง ผู้สำเร็จราชการแห่งอินโดจีนคนปัจจุบันเป็นผู้เขียน ม.เดอ ลา เนสซัง ได้เสนอขอให้เลิกสัญญาทางไมตรี ระหว่างฝรั่งเศสกับไทย เมื่อปี ค.ศ.๑๘๖๗ (สัญญาฉบับนี้ฝรั่งเศสยอมรับรองโดยเปิดเผยว่า ไทยมีกรรมสิทธิเหนือเมืองพระตะบองและเสียมราฐ ) และให้รวมเมืองทั้งสองเข้าไว้ในเขตแดนของฝรั่งเศส จึงได้กล่าวว่า อิสรภาพและบูรณภาพของประเทศไทย เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องสงวนไว้จนถึงวินาทีสุดท้าย..... แทนที่จะให้คำรับรองโดยตรง ม.เดอ แวลล์ กลับพลิกเรื่องไปยืดยาว...ยกเอาข้อความที่ไทยได้โต้ตอบคำขาดของฝรั่งเศสมาอ้างอีกอย่างแค้นเคืองมาก และอ้างว่าไทยคงจะประสงค์ให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น เพื่อพิจารณาคำเรียกร้องค่าทำขวัญแก่ชาวฝรั่งเศสผู้เสียชีวิต..... การที่ประเทศเล็กทำรีรอชักช้า และขอแก้ข้อความอย่างไม่เคารพต่อมหาประเทศเช่นฝรั่งเศสนี้ นับว่าเป็นภาวะที่สุดแสนจะให้เป็นไปได้ เป็นความชอบธรรมแท้ที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องใชกำลังทหาร หรือใช้วิธีใดวิธีหนึ่งบังคับเอาเท่าที่จะเห็นสมควร...... สังเกตเห็นว่า ม.เดอ แวลล์ กระหายที่มีสิทธิเต็มที่ในแคว้นพระตะบอง และเสียมราฐ..... ม.เดอ แวลล์ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า ถ้าไทยยอมปฏิบัติตามคำขาด รวมทั้งข้อ (๑) ด้วยโดยบริสุทธิใจและเรียบร้อยแล้ว คำขู่ที่จะใช้กำลังทหารต่อไปก็จะระงับเสีย"

คำสั่งรัฐบาลฝรั่งเศสในการเจรจาสงบศึก
            เมื่อพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ได้ไปแจ้งแก่ ม.เดอ แวลล์ ว่า รัฐบาลไทยยอมรับคำขาดลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม และข้อรับประกันเพิ่มเติม ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม แล้ว ม.เดอ แวลล์ จึงได้มีโทรเลขสั่งการไปยัง ม.ปาวี เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม มีความว่า
            ".....รัฐบาลไทยยอมรับข้อรับประกันเพิ่มเติมที่ฝรั่งเศสเรียกร้องไปตามบันทึก ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม กรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ก็คงจะได้แจ้งแก่ตัวท่านเองว่า รัฐบาลไทยยอมรับแล้ว เมื่อท่านได้แลกเปลี่ยนสาส์นเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการยอมรับคำขาด และข้อรับประกันเพิ่มเติมกับกรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ เป็นการถูกต้องแล้ว ให้ท่านแจ้งแก่ นายพลเรือฮูมานน์ให้เลิกการปิดอ่าว และให้คงยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้ตามเดิม..... อนุญาตให้ไปประจำอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ได้ ม.เลอมีร์เดอวิเลร์ส จะมาถึงที่นั่นในไม่ช้า....."
            ม.เดอ แวลล์ได้มีโทรเลขด่วนไปยัง ม.เลอมีร์ เดอริเลร์ส ที่กำลังเดินทางไปถึงเมืองเอเดน มีความว่า
            "ประเทศไทยได้ยอมรับคำขาด รวมทั้งได้ยอมรับข้อประกันเพิ่มเติม ขอให้ท่านตรงไปที่กรุงเทพ ฯ โดยเรือลำใดลำหนึ่งของเรา...ที่ท่านจะต้องจัดการทำความตกลงกับรัฐบาลไทย คือ ตามธรรมดาจะต้องคัดเขียนข้อความในคำขาดที่ฝ่ายไทยได้รับแล้วลงเป็นสัญญา เป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องเพิ่มเติมข้อความที่ท่านเห็นสมควรสำหรับจะให้เป็นเครื่องประกันความสัมพันธ์ ในระหว่างเรากับไทย ซึ่งมีมาแล้วด้วยดี และให้พยายามสอดส่องถึงความยากอันจะพึงมีมาในวันข้างหน้าด้วย"
            วันที่ ๘ สิงหาคม ม.ปาวี ได้โดยสารเรือ อาลูแอตต์ (Alouette) เข้าไปประจำอยู่ ณ สถานฑูตฝรั่งเศสตามเดิม
            วันที่ ๙ สิงหาคม กองเรือฝรั่งเศสทั้งหมดเดินทางกลับไปไซ่ง่อน คงเหลือแต่เรือ อาลูแอตต์ คงอยู่ที่สถานฑูตฝรั่งเศส ส่วนเรือลูแตง คงประจำอยู่กับกองทหารฝรั่งเศสที่ยึดจันทบุรี เรือปาแปง (Papin) ไปรับ ม.เลอมีร์เดอวิเลร์สที่สิงคโปร์ ม.เลอมีร์ เดอวิเลร์ส เดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อ ๑๖ สิงหาคม และได้เข้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม เวลาบ่าย
ฝรั่งเศสเลิกปิดอ่าวไทย
            ประกาศเลิกปิดอ่าวไทยมีความว่า
            "ข้าพเจ้า นายพลเรือตรี ฮูมานน์ ผู้บัญชาการกองเรือฝรั่งเศสในอ่าวไทย ผู้ลงนามข้างท้าย โดยอาศัยอำนาจที่ข้าพเจ้ามีอยู่ ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
            การปิดอ่าวฝั่ง และเมืองท่าประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่..... ได้เลิกแล้วตั้งแต่ วันที่ ๓ สิงหาคม ค.ศ.๑๘๙๓ เวลา ๑๒.๐๐ น."
สัญญาสงบศึก

            หนังสือสัญญา ทำเมื่อ วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๒ ระหว่างรัฐบาลแห่งสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

            สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามกับประธานาธิบดี แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส มีความปรารถนาจะระงับข้อพิพาทต่าง ๆ..... ระหว่างประเทศทั้งสอง และเพื่อกระชับสัมพันธไมตรี..... จึงได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่าย
            ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ..... เสนาบดีว่าการต่างประเทศ
            ฝ่ายประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ม.ชาร์ลส์ มารี เลอมีร์เดอ วิเลร์ส..... อัครราชฑูตผู้มีอำนาจเต็มชั้นที่หนึ่ง และสมาชิกรัฐสภา
            .....ได้ตกลงกันทำสัญญาเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้
                ข้อ ๑  รัฐลาลสยามยอมสละข้ออ้างทั้งปวงว่า มีกรรมสิทธิอยู่เหนือดินแดนทั่วไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น
                ข้อ ๒  รัฐบาลสยามจะไม่มีเรือใหญ่น้อยติดอาวุธไว้ใช้ หรือให้เดินไปมาในน่านน้ำของทะเลสาบ และของแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกจากแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ภายในเขตที่ระบุไว้ในสัญญาข้อต่อไป
                ข้อ ๓  รัฐบาลสยาม จะไม่สร้างค่ายหรือที่ตั้งกองทหารไว้ในเมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ และบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในรัสมี ๒๕ กิโลเมตร
                ข้อ ๔  ภายในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ นั้น กำลังตำรวจจะมีไว้ตามธรรมเนียมการปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ และมีจำนวนได้เพียงเท่าที่จำเป็น กับจะไม่จัดตั้งกองทหารประจำการหรือไม่ประจำการใด ๆ ไว้ ณ ที่นั้นเลย
                ข้อ ๕  รัฐบาลสยามรับรองว่า จะเปิดการเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยเรื่องระเบียบการศุลกากร และการค้าภายในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ ภายในกำหนด ๖ เดือนเป็นอย่างช้า และให้มีการแก้ไขสัญญา ปี ค.ศ.๑๘๕๖ ด้วย รัฐบาลสยามจะไม่เก็บภาษีใด ๆ ในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ จนกว่าจะได้มีการตกลงกันในข้อนี้ และรัฐบาลฝรั่งเศสจะได้กระทำการตอบแทนเช่นเดียวกันแก่นานาสินค้าที่ผลิตได้ในเขตดังกล่าวนี้
                ข้อ ๖  ความเจริญแห่งการเดินเรือในแม่น้ำโขงนั้น อาจมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างหรือตั้งท่าเรือ และจอดทำที่ไว้ฟืนและด่านบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงแล้ว รัฐบาลสยามรับรองว่าเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสร้องขอมาแล้ว ก็จะให้ความสดวกทั้งปวงเท่าที่จำเป็นเกี่ยวกับการนี้
                ข้อ ๗  บุคคลสัญชาติฝรั่งเศสก็ดี บุคคลในบังคับหรือในปกครองฝรั่งเศสก็ดี จะไปมาหรือค้าขายได้โดยเสรีในดินแดนที่ระบุไว้ในข้อ ๓ ในเมื่อหนังสือเดินทางที่เจ้าพนักงานฝรั่งเศสให้ไว้ ส่วนราษฎรที่อยู่ในเขตดังกล่าวนี้ ก็จะได้รับสิทธิด้วยเช่นกัน
                ข้อ ๘  รัฐบาลฝรั่งเศสสงวนไว้ ซึ่งสิทธิที่จะตั้งกงสุล ณ ที่ใด ๆ ก็ได้ เท่าที่เห็นสมควร เพื่อรักษาประโยชน์ของคนในปกครอง เช่นที่โคราช และที่เมืองน่าน เป็นต้น
                ข้อ ๙  ในกรณีเกิดความยุ่งยากในการตีความหมายของสัญญานี้ ฉบับภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น ที่จะใช้เป็นหลัก
                ข้อ ๑๐  สัญญาฉบับนี้จะต้องได้รับสัตยาบันภายในสี่เดือน เป็นอย่างช้า นับแต่วันที่ได้ลงนาม
อนุสัญญาต่อท้ายสัญญาสงบศึก
                อนุสัญญาทำเมื่อ วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๒ ผนวกต่อท้ายหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยาม กับกรุงฝรั่งเศส
                ผู้ที่มีอำนาจเต็มในการทำหนังสือสัญญาทั้งสองฝ่าย ได้ตกลงกันทำหนังสือสัญญาฉบับนี้ไว้ เพื่อเป็นมาตรการ และวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาสงบศึกที่ได้ลงนามในวันนี้ และตามคำขาดที่ได้ยอมรับเมื่อ วันที่ ๕ สิงหาคม ที่แล้วมา
                ข้อ ๑  กองทหารกองสุดท้ายของไทย บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จะต้องถอนออกไปอย่างช้าที่สุดในหนึ่งเดือนนับจากวันที่ ๕ กันยายน
                ข้อ ๒  บรรดาป้อมปราการที่อยู่ในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ แห่งสัญญาที่ได้ลงนามกันในวันนี้นั้นจะต้องรื้อถอนให้หมดสิ้น
                ข้อ ๓  ผู้เป็นตัวการก่อเหตุร้ายที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วนนั้น เจ้าพนักงานฝ่ายสยาม จะต้องนำตัวมาพิจารณาลงโทษ ผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสคนหนึ่งจะมาทำการพิจารณาพิพากษาด้วย และจะดูแลการปฏิบัติในการลงโทษที่พิพากษาไว้ รัฐบาลฝรั่งเศสคงสงวนไว้ ซึ่งสิทธิที่จะเห็นชอบด้วย เมื่อการลงโทษนั้นสมควรแก่รูปคดี และถ้าไม่เห็นชอบด้วยแล้ว จะได้ร้องขอให้มีการพิจารณาคดีนั้นโดยศาลผสม ซึ่งฝรั่งเศสเป็นผู้จัดการตั้งตุลาการ
                ข้อ ๔  รัฐบาลสยามจะต้องส่งมอบบรรดาคนในบังคับฝรั่งเศส คนญวน คนลาว ที่อยู่ทางฝั่งซ้าย รวมทั้งคนเขมรที่จับกุมเอาไว้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ตามที่ราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ จะได้กำหนด หรือส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานฝรั่งเศสประจำพรมแดน รัฐบาลสยามจะไม่ทำการขัดขวางการเดินทางกลับถิ่นเดิมของผู้คนที่เคยอยู่ทางฝั่งซ้าย
                ข้อ ๕  ผู้แทนเสนาบดีว่าการต่างประเทศคนใดคนหนึ่ง จะต้องนำบางเบียนแห่งทุ่งเชียงคำ และพรรคพวกของเขา พร้อมทั้งเครื่องอาวุธและธงฝรั่งเศส ซึ่งเจ้าพนักงานฝ่ายสยามยึดคร่าไว้นั้น มาส่งมอบให้สถานฑูตฝรั่งเศส
                ข้อ ๖ รัฐบาลฝรั่งเศสจะคงยึดครองเมืองจันทบุรีไว้ จนกว่ารัฐบาลสยามจะได้ปฏิบัติตามนัยแห่งอนุสัญญานี้แล้ว เช่นการถอนทหารกลับมาเสร็จสิ้นแล้ว และมีความสงบเรียบร้อยเกิดขึ้นแล้ว ทางฝั่งซ้ายและในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ แห่งสัญญาที่ได้ลงนามกันในวันนี้
บันทึกวาจาต่อท้ายอนุสัญญา ที่ผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายฝรั่งเศสและฝ่ายสยาม ได้ลงนามเมื่อ วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๒
            พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงเกรงว่าจะไม่สามารถถอนกองทหารที่อยู่ห่างไกลมาก ให้พ้นกำหนดในวันที่ ๕ ตุลาคมได้ เพราะมีสิ่งที่จะทำไปไม่ได้เกี่ยวกับการขนย้ายสิ่งของ ม.เลอมีร์ เดอวิเลร์ส ตอบว่า ควรที่รัฐบาลสยามจะขอระยะเวลาเสียใหม่ โดยแจ้งตำบลที่ตั้งกองทหาร และระยะเวลาอย่างมากที่ต้องใช้ ก็คงจะได้รับการผ่อนผันโดยแน่นอน ตามความจำเป็นที่ควรขยายระยะเวลานั้นออกไปอีก
            พระเจ้าน้องยาเธอ รับสั่งถามว่า วิธีดำเนินการตามความในข้อ ๒ นั้น จะต้องรื้อป้อมปราการโบราณที่ไม่ใช้แล้ว และไม่เกี่ยวกับราชการทหารมานานปีแล้ว และมีคุณลักษณะทางประวัติศาสตร์ แต่อย่างเดียวเท่านั้น เช่นกำแพงบ้านเจ้าเมืองพระตะบอง ฯลฯ นั้นด้วยหรือ
            ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า ป้อมปราการนั้นหมายถึงการก่อสร้างทางทหารสำหรับใช้ในการป้องกัน และมิได้หมายถึงกำแพงเมือง ซึ่งมีไว้เพื่อประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์เท่านั้น
            พระเจ้าน้องยาเธอรับสั่งถามว่า ศาลอุธรณ์ตามที่กล่าวในข้อ ๓ นั้น จะตั้งอยู่ใน ณ ที่ใด
            ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า จะตั้งที่กรุงเทพ ฯ
            พระเจ้าน้องยาเธอรับสั่งถามว่า คำว่า "ผสม" นั้น หมายความว่าอย่างไร
            ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า หมายถึงศาลผสม ฝรั่งเศส - ไทย
            พระเจ้าน้องยาเธอทรงตั้งข้อสังเกตว่า วิธีดำเนินการเช่นนี้ จะมิเป็นเหตุให้คนในบังคับสยามขาดจากอำนาจศาล ตามธรรมเนียมของเขาไปหรือ
            ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า ประเทศสยามเป็นประเทศที่มีอำนาจพิพากษาคดีความ และการมีศาลผสมนั้น ก็ได้มีมาแล้วมิใช่เพิ่งคิดทำขึ้นใหม่
            ตามความในข้อ ๕  แห่งอนุสัญญานั้น พระเจ้าน้องยาเธอทรงแจ้งให้ทราบว่า บางเบียนคงจะเข้าไปในดินแดนฝรั่งเศสแล้ว และด้วยเหตุนี้ จะไม่สามารถนำตัวข้าราชการผู้นี้มามอบให้แก่ราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ ได้
            ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า หากบางเบียนคงอยู่ในแดนฝรั่งเศส ความข้อนี้ก็เป็นอันตกไปเอง การที่ยังรักษาความข้อนี้ไว้ ก็เพราะยังมีความจำเป็นที่รัฐบาลสยาม ควรจะจัดการให้ข้าราชการผู้นี้ กลับคืนไปสู่แดนฝรั่งเศส ฉะนั้นจึงควรมีหนังสือแจ้งไปให้ทราบว่า บางเบียนได้ออกจากแดนสยามที่ตำบลใด เพื่อที่จะสามารถทราบตำบลที่อยู่ของเขา ความในข้อนี้นำมาใช้กับล่าม และทหารญวนด้วย
            ในกรณีที่บางเบียน และบรรดาคนในบังคับฝรั่งเศสอื่น ๆ ยังตกค้างอยู่ในแดนสยาม ความในข้อ ๔ นี้คงบังคับใช้ด้วย
            ตามความในข้อ ๖  พระเจ้าน้องยาเธอ ฯ รับสั่งขอคำอธิบายเกี่ยวกับคำว่า "ความสงบเรียบร้อย" ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสขอสงวนความข้อนี้ไว้โดยเห็นว่าอาจมีความยุ่งยากหรือการจลาจลที่คนไทยจะไปก่อเหตุขึ้น
            พระเจ้าน้องยาเธอ ทรงเกรงว่า ความในข้อนี้จะเป็นเหตุให้ยกขึ้นกล่าวอ้างได้เสมอว่า ยังไม่มีความสงบเรียบร้อย โดยคนไทยเป็นผู้ไปก่อเหตุขึ้น
            ม.เลอมีร์ เดอ วิเลร์ส กล่าวว่าสัญญาและอนุสัญญาสงบศึกนั้น กระทำไปด้วยความเชื่อถือต่อกัน และหลักการนี้ครอบคลุมงานของผู้มีอำนาจเต็ม หากจะมีการโต้แย้ง ไม่ถือหลักการนี้แล้วการเจรจาปรองดองกันก็จะมีขึ้นไม่ได้เลย
            พระเจ้าน้องยาเธอรับสั่งถามว่า จะเชื่อถือได้อย่างไรว่าเมืองจันทบุรีจะเลิกถูกยึดครอง ในเมื่อได้ถอนทหารไทยกลับมาหมดแล้ว
            ม.เลอมีร์ เดอ วิเลร์ส ตอบในทำนองปฏิเสธ อ้างว่าก่อนอื่นรัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องมั่นใจว่า รัฐบาลสยามให้ปฏิบัติแล้วซึ่งวิธีดำเนินการตามคำขาดด้วยความสุจริต
            พระเจ้าน้องยาเธอทรงถามว่า จะพิสูจน์ความสุจริตของรัฐบาลสยามได้อย่างไร เพื่อให้มีการถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี
            ม.เลอ มีร์ เดอ วิเลร์ส ตอบว่ารัฐบาลฝรั่งเศสไม่มีความประสงค์จะเอาเมืองจันทบุรีไว้ และถือว่าประโยชน์อันแท้จริงของฝรั่งเศสนั้นคือรับถอนทหารกลับไปโดยด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และนอกจากนี้แล้วก็คือปัญหาของการเชื่อถือต่อกัน
ไทยเสียดินแดนฝั่งขวา แม่น้ำโขง

1  ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐ (ร.ศ.๘๖)
2  ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ (ร.ศ.๑๐๗)
3  ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒)
4  ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ (ร.ศ.๑๒๓)
5  ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ (ร.ศ.๑๒๖)

            ไทยได้ปฏิบัติตามคำบังคับต่าง ๆ ครบถ้วนทุกประการแล้ว แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมออกจากจันทบุรีจนเวลาล่วงไป ๑๐ ปี ฝรั่งเศสก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะออกไปจากจันทบุรี ฝ่ายไทยจึงต้องขอแลกเปลี่ยนกับฝรั่งเศส  ทำให้เกิดมีสัญญากับฝรั่งเศสขึ้นอีกสองฉบับ คืออนุสัญญา ลงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๕ และอนุสัญญา ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖
            อนุสัญญาฉบับ ลงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๕ มีอยู่ ๑๐ ข้อ มีใจความว่า
                ข้อ ๑  กำหนดพรมแดนระหว่างไทยกับเขมรตอนเหนือ และรวมเอาดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงแคว้นหลวงพระบาง
                ข้อ ๒  ให้ไทยยกเมืองมโนไพร และจำปาศักดิ์ให้ฝรั่งเศส
                ข้อ ๓  ให้ไทยมีได้แต่ทหาร และนายทหารที่เป็นคนไทยในดินแดน ภาคอีสาน
                ข้อ ๔  การสร้างท่าเรือคลอง และทางรถไฟ ในดินแดนภาคอีสาน จะทำได้ด้วยทุนของไทยและโดยคนไทย
                ข้อ ๕,๖ และ ๗ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนในบังคับ
                ข้อ ๘,๙ และ ๑๐ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับใช้และการตีความในสัญญา
            แม้ว่าไทยกับฝรั่งเศสจะได้ทำอนุสัญญาฉบับนี้กันแล้ว แต่ทางรัฐสภาฝรั่งเศสยังไม่ยอมให้สัตยาบัน และฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมออกไปจากจันทบุรี ดังนั้นต่อมาอีกปีเศษจึงได้มีการทำอนุสัญญาฉบับลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖ แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับก่อน มี ๑๖ ข้อ มีใจความว่า
                ข้อ ๑  กำหนดเขตแดนไทยกับเขมรโดยถือเอาภูเขาบรรทัดเป็นหลัก แล้ววกกินดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามปากเซ
                ข้อ ๒  กำหนดเขตแดนทางหลวงพระบาง โดยไทยต้องยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงหน้าหลวงพระบางให้ฝรั่งเศส
                ข้อ ๓  บัญญัติให้ตั้งข้าหลวงผสมปักปันเขตแดนตามความในข้อ ๑ และ ๒ ให้เสร็จภายในสี่เดือน
                ข้อ ๔  ให้รัฐบาลไทยยอมเสียสละอำนาจที่จะเป็นเจ้าของแผ่นดินเมืองหลวงพระบางทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แต่อนุญาตให้คนไทยขึ้นล่องในแม่น้ำโขงตอนทีตกเป็นของฝรั่งเศสตอนนั้นได้สะดวก
                ข้อ ๕  เมื่อได้ทำการปักปัน และตกลงกันตามความข้างต้นนั้นเสร็จสิ้นแล้ว ฝรั่งเศสรับว่าจะออกไปจากจันทบุรีทันที
                ข้อ ๖  ทหารของประเทศไทยที่จะประจำดินแดนภาคอีสานต้องเป็นชาติไทยทั้งหมด ส่วนตำรวจนั้นให้นายตำรวจเป็นชาติเดนมาร์ค แต่ถ้าจะเปลี่ยนเป็นชาติอื่นต้องให้ฝรั่งเศสตกลงด้วยก่อน ส่วนตำรวจที่รักษาพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณนั้น ต้องเป็นคนพื้นเมืองนั้นทั้งสิ้น
                ข้อ ๗  การทำท่าเรือ คลอง ทางรถไฟในดินแดนภาคอีสาน ต้องทำด้วยทุนและแรงงานของไทย ถ้าทำไม่ได้ต้องปรึกษาฝรั่งเศส
                ข้อ ๘  ไทยจะต้องให้ฝรั่งเศสเช่าที่ทำท่าเรือที่เชียงคาน หนองคาย ชัยบุรี ปากน้ำก่ำ มุกดาหาร เขมราฐ และปากน้ำมูล
                ข้อ ๙  ไทยกับฝรั่งเศสจะต้องร่วมมือกันสร้างทางรถไฟจากพนมเปญถึง พระตะบอง
                ข้อ ๑๐ และข้อ ๑๑  บัญญัติวิธีการจดทะเบียนคนในบังคับของฝรั่งเศส
                ข้อ ๑๒ และข้อ ๑๓  ว่าด้วยอำนาจศาล
                ข้อ ๑๔ ข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับใช้และการตีความในสัญญา
            ฝรั่งเศสยังไม่ยอมออกจากเมืองจันทบุรี เพราะไทยต้องปฏิบัติตามข้อตกลง (Agrement) ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๗ เกี่ยวกับการปักปันเขตแดนใหม่ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ฝรั่งเศสได้ถอนทหารออกจากจันทบุรีหมดเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๗ โดยไทยต้องเสียดินแดนไปถึง ๖๒,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร
            ฝรั่งเศสออกจากเมืองจันทบุรีแล้ว ได้ไปยึดเมืองตราดแทน เพื่อเรียกร้องจากไทยต่อไปอีก
ไทยเสียพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ
            การที่ฝรั่งเศสยึดเมืองตราด ทำให้เกาะทั้งหลายใต้แหลมลิงไปจนถึงเกาะกูด คงอยู่ในความยึดครองของฝรั่งเศส ดังนั้น เพื่อให้ฝรั่งเศสออกไปจากเมืองตราดไทยต้องเสียพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ไปให้ฝรั่งเศสอีก โดยสัญญา ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๙ และมีพิธีสาร (Protocol) ต่อท้ายว่าด้วยการปักปันเขาแดน ลงวันที่เดียวกัน มีใจความว่า
            "ไทยยอมยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยอมยกเมืองด่านซ้าย (อยู่ในเขตจังหวัดเลย) เมืองตราด และเกาะทั้งหลายที่อยู่ใต้แหลมลิง ลงไปจนถึงเกาะกูดให้แก่ไทย
            มีพิธีสารต่อท้ายอีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่เดียวกันเรื่องอำนาจศาลในกรุงสยาม มีใจความว่า
            "ให้คนในบังคับฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในประเทศไทยมีสิทธิมากขึ้น" ครั้งนี้ไทยต้องเสียดินแดนไปอีก ๕๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร
            ได้มีการประกอบพิธีรับมอบเมืองตราดจากฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๐ โดยมีพระยาศรีสหเทพ (เส็ง  วิริยะศิริ) ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยทหารเรือ ๑ กองร้อย เดินทางไปรับมอบ
จันทบุรีถูกยึดครอง

            ในสมัย ร.ศ.๑๑๒ เมืองจันทบุรีขึ้นกับกระทรวงการต่างประเทศ มีข้าราชการในตำแหน่งสำคัญประจำอยู่ ดังนี้
                พระยาวิชยาธิบดี (หงาด  บุนนาค) เป็นผู้ว่าราชการเมือง
                พระยาเทพสงคราม (เยื้อง  สาณะเสน) เป็นปลัดเมือง
                พระกำแพงฤทธิรงค์ (แบน  บุนนาค) เป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมือง
                พระวิเศษสงคราม เป็นนายด่านปากน้ำ
                ขุนกลางบุรี (ปลิว  พันธุมนันท์) เป็นตุลาการ
                นายร้อยเอก ตรุศ เป็นผู้บังคับการทหารเรือ
                นายร้อยโท คอลส์ ชาติเดนมาร์ค เป็นครูทหารเรือ
                นายร้อยโท จ้อย  เป็นผู้บังคับกองทหารเรือ
            ในระหว่างที่กองเรือฝรั่งเศสประกาศปิดอ่าว เรือฟอร์แฟได้มาตรวจการปิดอ่าวทางด้านเมืองจันทบุรี เมื่อประมาณ วันที่ ๓๐ - ๓๑ กรกฎาคม ได้มาทำการหยั่งน้ำทำแผนที่บริเวณปากน้ำจันทบุรี และได้จัดส่งเรือกลไฟเล็กไปที่ป้อมที่แหลมลิง เอาประกาศปิดอ่าวมาแจ้งให้ทราบ
            เมื่อเลิกการปิดอ่าวแล้วเรือลูแตงและเรือแองคองสตังต์ได้ไปยึดปากน้ำจันทบุรี ต่อมาเมื่อได้มีการลงนามในสัญญาสงบศึกที่กรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ กองทหารฝรั่งเศสก็ได้ยกไปตั้งที่เมืองจันทบุรี ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งหลวงอุดมสมบัติ (หนา  บุนนาค) กับหลวงวิสูตรโกษา (เจิม  บุนนาค) เป็นข้าหลวงออกไปช่วยราชการ ม.ปาวี ได้ไปตรวจราชการพร้อมกับนี้ด้วย ก่อนที่กองทหารฝรั่งเศสจะยกไป กองทหารเรือที่แหลมสิงห์ และที่เมืองจันทบุรีก็ต้องย้ายไปตั้งที่เมืองขลุง
            เรืออาสปิค ซึ่งรับ ม.เลอมีร์ เดอ วิเลร์ส จากกรุงเทพ ฯ กลับไซ่ง่อน ได้แวะที่ปากน้ำจันทบุรี เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖
            เรือสวิฟท์ของอังกฤษ ได้เดินทางไปจอดที่ปากน้ำ จันทบุรี เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ได้ติดต่อสอบถามกับผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรี ในฐานะที่ต้องถูกยึดครอง
            เรือเมล์เยอรมัน ชื่อ ชวัลเบ (Schalbe) ซึ่งฝรั่งเศสเช่ามาได้บรรทุกกองทหารฝรั่งเศสหนึ่งกองพัน เดินทางจากไซ่ง่อนมาถึงปากน้ำจันทบุรี เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ กองทหารนี้ มีทหารฝรั่งเศสประมาณ ๑๐๐ คน ทหารญวน ประมาณ ๓๐๐ คน ได้จัดกำลังทหารประมาณ หนึ่งกองร้อย รักษาการณ์อยู่ที่แหลมสิงห์ห์ นอกนั้นไปตั้งอยู่ที่ค่ายทหารในเมืองจันทบุรี ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้งกองทหารเรือ
            กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีทราบล่วงหน้าถึงการที่กองทหารฝรั่งเศส จะยกมาตั้งที่เมืองจันทบุรี ดังนั้นผู้ว่าราชการเมือง พร้อมด้วยกรมการจึงได้ไปต้อนรับกองทหารฝรั่งเศสที่ปากน้ำแหลมสิงห์ห์ฉันมิตร ข้าหลวงจากกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองนาย ก็ได้ช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่กองทหารฝรั่งเศส ในการติดต่อกับข้าราชการฝ่ายไทย เมื่อทหารฝรั่งเศสเข้าอยู่ในที่ตั้งแล้ว ก็ได้จัดการก่อสร้างที่พักของทหาร จัดการคมนาคมติดต่อระหว่างหน่วยทหารในเมืองกับหน่วยทหารที่ปากน้ำแหลมสิงห์
            ในระหว่างที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีอยู่นั้น กองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งด่านตรวจเรือที่หัวแหลมตึกแดงปากน้ำแหลมสิงห์ โดยทำสะพานยื่นจากหัวแหลมตึกแดงออกไปทางทะเล สำหรับให้เจ้าหน้าที่ตรวจตราบรรดาเรือเมล์ หรือเรือใบที่จะผ่านเข้าออกไปมา บรรดาเรือเมล์ก่อนที่จะผ่านเข้าออกปากน้ำจันทบุรี เมื่อใกล้ถึงหัวแหลมตึกแดงแล้ว ต้องชักหวูดให้กองทหารฝรั่งเศสได้ยิน และต้องคอยให้พวกทหาร หรือล่ามของเขาขึ้นมาตรวจก่อนทุกครั้ง กัปตันเรือจะต้องยื่นบัญชีจำนวนสินค้า และจำนวนคนโดยสารให้เขาทราบทุกเที่ยวเมล์ เมื่อเขาการตรวจและรับบัญชีไปแล้ว เรือเมล์จึงเดินทางต่อไปได้ เรือเมล์ที่เดินอยู่ระหว่างกรุงเทพ ฯ กับจันทบุรีในยุคนั้น มีอยู่หลายลำและหลายเจ้าของด้วยกัน
            ส่วนบรรดาเรือใบ ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสินค้า ก็ต้องแวะให้ตรวจเช่นกัน ถ้าเรือลำใดไม่แวะให้เขาตรวจเขาก็ใช้อำนาจยิงเอา การเช่นนี้ทำความลำบากแก่บรรดาเรือกลไฟ และเรือใบที่ต้องเสียเวลาหยุดเครื่องจักรหรือลดใบให้เขาตรวจเสียก่อน

            ในระยะแรกที่ฝรั่งเศสยึดครองจันทบุรี จะพักอาศัยอยู่ตามโรงเรือนฝ่ายไทย เช่น โรงทหารเก่าของไทย และบ้านเรือนของข้าราชการ ต่อมาฝรั่งเศสจึงได้ก่อสร้างบ้านเรือนและที่พักทหาร ที่สร้างเป็นตึกถาวรในบริเวณค่ายทหาร มีอยู่หลายหลังคือ
                ตึกรูปสี่เหลี่ยมชั้นเดียว หลังคาตัด ใช้เป็นตึกกองบังคับการ และเป็นที่อยู่ของผู้บังคับกองทหาร (ตึกดองมันดอง)
                ตึกชั้นเดียวขนาดใหญ่ ใช้เป็นที่เก็บอาวุธยุทธภัณฑ์
                ตึกชั้นเดียวขนาดเล็ก ใช้เป็นที่อยู่ของพนักงานคลัง
                ตึกชั้นเดียวขนาดยาว ใช้เป็นโรงพยาบาลทหาร
                ตึกชั้นเดียวขนาดใหญ่ ใช้เป็นที่อยู่ของนายทหารมี ๒ หลัง
                ตึกชั้นเดียวขนาดใหญ่ ใกล้ประตูหน้าค่ายทหารใช้เป็นที่อยู่ของกองรักษาการณ์ ด้านหลังใช้เป็นที่คุมขังนักโทษทหาร

            นอกจากนี้ ยังได้สร้างตึกถาวรอีกแห่งหนึ่งที่ปากน้ำแหลมสิงห์เรียกกันว่า ตึกแดง และได้สร้างคุกทหารไว้หลังหนึ่งด้วย
            เมื่อไทยได้ทำอนุสัญญากับฝรั่งเศสอีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖ แล้ว ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกไปจากเมืองจันทบุรี แต่เมื่อออกจากจันทบุรีไปแล้ว ก็ได้ไปยึดครองเมืองตราดต่อไปอีก
            กองทหารฝรั่งเศสในบังคับบัญชาของ นายพันตรี โฟเดต์ ได้ถอนกำลังออกจากเมืองจันทบุรี เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๗ แล้วไปตั้งอยู่ที่เมืองตราด กองทหารฝรั่งเศสเริ่มย้ายออกไปจากเมืองจันทบุรี ตั้งแต่วันที่ ๒ มกราคม และได้ถอนกำลังออกไปเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ ๘ เดือนเดียวกัน
            ในระยะแรกที่กองทหารฝรั่งเศสเข้ามายึดครองจันทบุรี ได้มีเรือรบฝรั่งเศสผลัดกันมารักษาการณ์ อยู่ที่ปากน้ำจันทบุรี และมีทหารประมาณ หนึ่งกองร้อย ประจำอยู่ที่แหลมสิงห์ จนถึงปลายเดือน มกราคม พ.ศ.๒๔๓๘ จึงไม่ส่งเรือรบมาจอดที่ปากน้ำจันทบุรีอีกต่อไป และเพื่อความสะดวกในการติดต่อกับไซ่ง่อนและกรุงเทพ ฯ จึงได้มีเรือเมล์ของฝรั่งเศสเดินระหว่างไซ่ง่อนกับกรุงเทพ ฯ เป็นประจำ และได้แวะที่จันทบุรีทั้งขาไป และขากลับ นอกจากนี้ยังมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่เดินทางจากไซ่ง่อน มาตรวจกองทหารที่จันทบุรีตามระยะเวลา

            วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๗ พระยาศรีสหเทพ ราชปลัดทูลฉลองมหาดไทย ได้ออกเดินทางจากจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยเรือจำเริญ บรรทุกทหารเรือ ๑ กองร้อยเดินทางไปฉลองเมืองจันทบุรี ในโอกาสที่กองทหารฝรั่งเศสได้ถอนกำลังออกไปแล้ว
            งานพิธีฉลองเมืองจันทบุรีได้จัดทำที่ค่ายทหาร มีการตั้งเสาธงสูง ๑๓ วา ที่กลางค่ายปลูกโรงพิธี โรงเลี้ยง โรงการเล่น มีงิ้ว หุ่นจีน ละคร ลิเก ในเวลากลางคืนมีการจุดโคมไฟสว่างไสวตามค่ายทหาร และตามบ้านเรือนราษฎรทั่วไป วันที่ ๑๔ มกราคม ตอนเย็นมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วมีการเลี้ยงใหญ่ ไวซ์กงสุลฝรั่งเศสและภริยาก็มาร่วมงานด้วย มีผู้มาร่วมงาน ประมาณ ๒,๐๐๐ คน เป็นที่รื่นเริงกันมาก รุ่งขึ้นวันที่ ๑๕ มกราคม ตอนเช้าถวายอาหารบิณฑบาต และเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์ เวลา ๐๙.๐๐ น. พระยาศรีสหเทพ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมือง กรมการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า และประชาชน มาประชุมพร้อมกันรอบเสาธง พระยาศรีสหเทพได้อ่านประกาศ และคำถวายพระพรชัยมงคล เสร็จแล้วได้ชักธงมหาราชขึ้นสู่ยอดเสา ดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เรือรบที่จอดอยู่ที่ปากน้ำแหลมสิงห์ยิงสลุต ๒๑ นัด
            เมื่อกองทหารฝรั่งเศสได้ถอนออกไปจากเมืองจันทบุรีแล้ว ก็ได้ย้ายกองทหารเรือที่เมืองขลุง กลับมาตั้งอยู่ที่เมืองจันทบุรีอีก ได้เข้าไปตั้งอยู่ที่ค่ายทหารฝรั่งเศส แล้วเรียกกองทหารเรือนี้ว่า กองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๗ ขึ้นกับกรมทหารเรือชายทะเล

| หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์