เยือนเมืองสองแคว แลสวนพรรณไม้

0

โลกของเราหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่ร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ไม่เคยจางหายไป ไม่ว่าวันพรุ่งนี้ ชาติไทยของเราจะก้าวไปในทิศทางใด วีรกรรมของวีรบุรุษแห่งเมืองพิษณุโลกสองแคว ก็ยังถูกจารึกไว้ ตราบนานเท่านานสวัสดีค่ะเพื่อนๆ ทริปนี้ดูเอเซีย.คอม ได้รับเกียรติจากนิตยสาร Voyage และ บริษัท สมายไทยแลนด์ทัวร์ ให้ร่วมเดินทางไปกับทริป “เยือนเมืองสองแคว แลสวนพรรณไม้ สร้างฝายถวายพ่อ” สู่จังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 15-17 มกราคม 2554 โดยมีจุดหมายหลักคือการไป ปลูกต้นไม้ สร้างฝายทดน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่า เรียนรู้ประวัติศาสตร์และเข้าร่วมงานสมเด็จพระนเศวร เป็นการเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อให้ความรู้และความรักในป่าไม้และผืนแผ่นดินไทย ซึบซาบเข้าไปในหัวใจของนักท่องเที่ยว

เริ่มมาวันแรก วันที่ 15 ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เวลา 5:30 น. ตรงสู่จังหวัดพิษณุโลก รับประทานอาหารกลางวันที่ร้านครัวแควน้อย ซึ่งเป็นร้านสไตล์ธรรมชาติ เสาไม้ ไร้ผนัง หลังคงมุงจาก เมนูหลักของร้านนี้ก็คือปลา ปลาที่จับได้จากแม่น้ำ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ซึ่งเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ก็คือจุดแรกที่เราจะไปเที่ยวกันในครั้งนี้ หลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว รถทัวร์ก็พาเราเข้าไปยังเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเป็นโครงกาfรพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ ประกอบด้วย 3 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนปิดช่องเขาต่ำ ลักษณะเป็นเขื่อนดินสูง 16 เมตร ยาว 640 เมตร เขื่อนแควน้อย เป็นเขื่อนหินทิ้งดาดหน้าคอนกรีตสูงจากพื้น 75 เมตร ยาว 681 เมตร และเขื่อนสันตะเคียน ลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนดินเหนียวสูง 80 เมตรยาว 1,270 เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เป็นเขื่อนที่เพิ่งเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ไม่นาน ภูมิทัศน์โดยรอบเป็นทะเลสาป มีรถพานักท่องเที่ยวนั่งชมบนสันเขื่อน มีวิทยากรอธิบายประวัติความเป็นมา และโครงการต่างๆบริเวณรอบตัวเขื่อน

จากนั้น ออกเดินทางสู่ สวนพฤกศาสตร์ บ้านร่มเกล้า ในพระราชดำริ อำเภอชาติตระการ ในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาภูสอยดาว เมื่อไปถึงบริเวณตีนเขา ก็ต้องลงจากรถทัวร์ ไปขึ้นรถทหารขึ้นไป เพื่อความปลอดภัย ระหว่างทาง เต็มไปด้วยธรรมชาติและแมกไม้นานาพรรณ มีพืชหลากหลายชนิด หลายชนิดไม่เคยเห็นมาก่อน จนรู้สึกได้ว่าที่นี่มีความหลากหลายทางธรรมชาติสูงจริงๆ หลังจากที่ขึ้นเขามาสักพัก อากาศก็เริ่มเย็นๆลงเรื่อยๆ บนเทือกเขาแห่งนี้ มีอากาศหนาวตลอดทั้งวัน ทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว กลางทางแอบเห็นทิวทัศน์แปลกตา ที่เกิดจากแสงอาทิตย์และมุมที่พอดีของเทือกเขา ทำให้เห็นเป็น “ภูเขาสองสี” บ้างก็เรียก “เขาตัด” ซึ่งดูเอเซียก็ไม่พลาดเก็บภาพมาให้ได้ชมกัน

เมื่อขึ้นไปถึงจุดหมาย สาวน้อยในชุดชาวม้ง ก็ออกมาเสิร์ฟน้ำเสาวรสรสเปรี้ยวหวานเย็นชื่นใจ แต่กว่าจะขึ้นถึงจุดหมาย ดวงอาทิตย์ก็ลับเหลี่ยมเขาไปแล้ว คงเหลือแต่แสงสีส้มสาดประกายบนทิวเขาลิบๆ ให้นักท่องเที่ยวเก็บภาพเทือกเขายามเย็น มื้อเย็นของที่นี่ เป็นข้าวแกงใส่กะทิธรรมดาแต่รสชาติอร่อย ที่พิเศษก็คือมีน้องๆชาวเขา มาแสดงการร่ายรำในแบบชาวม้งให้ได้ชมกัน จากนั้น ก็เป็นการบรรยายถึงประวัติและจุดประสงค์ของสวนพฤกศาสตร์ แห่งนี้ โดย นายดนัย สรรพศรี หัวหน้าศูนย์รวมพรรณไม้บ้านร่มเกล้าฯ หัวหน้าดนัยเล่าว่า สถานที่แห่งนี้ เคยเป็นสมรภูมิ บ้านร่มเกล้า ที่ไทยรบกับประเทศเพื่อนบ้านเมื่อปี 2530-2531 หลังจากนั้นในปี 2542 พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานของโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อ.ชาติตระการ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2542 ที่ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายก รัฐมนตรี ดำเนินการจัดตั้งศูนย์รวมพรรณไม้บ้านร่มเกล้าในพระราชดำริ ขึ้นในพื้นที่ส่วนปลายของเทือกเขาภูสอยดาว โดยศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์รวมและอนุรักษ์พรรณพืชประจำถิ่น ซึ่งเก็บรวบรวมพรรณไม้ในพื้นที่ ซึ่งบางชนิด พบได้ที่นี่เพียงแห่งเดียวในโลก นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่อนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธาร ที่เสื่อมโทรมจากการบุกรุกทำลายจากการทำไร่เลื่อนลอย โดยพัฒนาคุณภาพชีวิต ของชุมชนชาวเขาควบคู่กันไปสำหรับคืนนี้ คณะของเราได้นอนเต๊นท์ ที่ทางสวนพฤกศาสตร์บ้านร่มเกล้า จัดไว้ให้ ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นถึง 13 องศา ใต้แสงดาวระยิบระยับเต็มฟ้า ที่ไม่มีวันได้เห็น จากท้องฟ้าในเมืองกรุง

เช้าวันรุ่งขึ้น ทานอาหารเช้าเป็นเข้าวต้มกับไข่ลวก นัยว่าวันนี้ต้องใช้แรงงานแล้วนะ จากนั้น พี่ทหารก็พาเราขึ้นสู่เนินเขา ซึ่งไม่ไกลจากสวนพฤกศาสตร์มากนัก เนินเขาแห่งนี้เป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ พี่ทหารพาเราเดินจากเนินเขาขึ้นสู่ยอดเขา ด้วยเส้นทางผ่านร่องรอยประวัติศาสตร์ของสมรภูมิรบบ้านร่มเกล้า ที่ฝ่ายไทยของเราได้รับความสูญเสียไม่น้อย ภายในบริเวณเราได้พบกับสนามเพลาะและหลุมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ ที่ทำหน้าที่ยิงสนับสนุนในสงครามครั้งนั้น เมื่อขึ้นไปถึงจุดที่เป็นยอดเขา อันเป็นจุดชมวิว ก็ได้พบกับทิวทัศน์ที่ งดงามของเทือกเขาภูสอยดาว อันเป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย มีต้นค้อสูงเด่นยืนตระหง่านอยู่กลางป่า พี่ดนัยเล่าให้ฟังว่า ต้นค้อต้นนี้ เคยมีนักวิจัยมาสำรวจพบว่ามีอายุถึง 400 ปี หลังจากที่นักท่องเที่ยวได้ชมทิวทัศน์และเก็บภาพกันพอสมควร ก็เดินทางกลับสู่ที่ตั้งของ สวนพฤกศาสตร์บ้านร่มเกล้า

กิจกรรมแรกของวันนี้ คือการศึกษาพรรณไม้ชนิดต่างๆ มีการสาธิตการนำกล้วยไม้ต้นอ่อนที่เพาะเลี้ยงไว้ออกจากขวด มีการพาชมดอกไม้พรรณไม้ต่างๆ ที่สวนพฤกศาสตร์บ้านร่มเกล้าได้รวบรวมไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ดอกสร้อยสยาม ซึ่งเป็นดอกไม้ที่พบได้ในจังหวัดพิษณุโลก ประเทศไทยของเราเพียงแห่งเดียวเท่านั้นค่ะ ดอกสร้อยสยามเป็นพืชในตระกูลชงโค มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยออกดอกเป็นช่อห้อยสีชมแดงสดใส แต่ละช่อจะมีมากกว่า 10 ดอกขึ้นไป เหมาะกับการปลูกเป็นซุ้มไม้ในสวน

หลังจากนั้น พี่ดนัยก็พาเราเข้าป่าไปยังจุดต้นน้ำ เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำตามรอยพระราชดำริ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในกิจกรรมนี้ คณะของเราร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี ทั้งขุดดิน บรรจุทรายใส่ถุงและนำไปสร้างฝาย น่ารักกันทุกคนเลย การสร้างฝายชะลอน้ำจะช่วยเก็บกักน้ำสำหรับ สร้างความชุ่มชื้นให้กับบริเวณต้นน้ำ ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายอกไปทั้งสองข้าง ช่วยฟื้นฟูบริเวณต้นน้ำที่เสื่อมโทรมให้เขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับหลังจากที่สร้างฝายกันเสร็จแล้ว ก็เป็นกิจกรรมปลูกต้นไม้คืนป่า ซึ่งอยู่อีกจุดไม่ไกลกันนัก พี่ดนัยเล่าให้ฟังว่า ที่นี่คือแหล่งต้นน้ำ น้ำจากที่นี่จะไหลไปรวมกับแหล่งต้นน้ำอื่นๆ กลายเป็นลำธาร เป็นแม่น้ำ ถ้าที่นี่ไม่มีน้ำ ก็ไม่ต้องมีเขื่อนแควน้อย หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ ก็เก็บสัมภาระ ออกเดินทางสู่ตัวเมืองพิษณุโลก

เมื่อมาถึงเมืองพิษณุโลก สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการสักการะพระพุทธชินราช พระคู่บ้านคู่เมือง ดังคำขวัญที่ว่า “พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา” พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท จัดเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทยองค์หนึ่ง ถึงขั้นที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้ชลอมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แต่ทรงรับฟังคำทูลขอร้องของชาวพิษณุโลก ที่ว่าพระพุทธชินราชองค์นี้ เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง จึงทรงตัดสินพระทัยหล่อ พระพุทธชินราชจำลอง ขึ้นมาแทน พระพุทธชินราช ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ภายในวิหารพระพุทธชินราช เขาห้ามยืนถ่ายรูปนะคะ เพื่อเป็นการเคารพต่อพระพุทธชินราช อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองพิษณุโลก หากจะถ่ายต้องนั่งคุกเข่า และข้อปฏิบัติอีกประการหนึ่งก็คือ ธูปเทียนต่างๆ จะต้องจุดและปักกระถางธูปข้างนอก เพื่อป้องกันไม่ได้เขม่าไปจับองค์พระ

ตลอดการเดินทาง พี่จิ๊ก ไกด์แห่งสมายด์ไทยแลนด์ทัวร์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ทำให้การท่องเที่ยวทริปนี้ ไม่เป็นเพียงการผ่านมาแวะชมแล้วก็กลับไป แต่เป็นการมาถึงที่มาถึงสถานที่แห่งนั้นจริงๆ ด้วยความเข้าใจเรื่องราวต่างๆอย่างลึกซึ้ง หากเพื่อนๆสนใจจะออกทริป ติดต่อได้ที่ www.smilethailandtour.com โทร. 02-9064469ค่ำวันนี้ คณะของเรามีรายการพิเศษ คือการเข้าชมงานแสดงชีวประวัติสมเด็จพระนเรศวร ณ พระราชวังจันทน์ ซึ่งจัดแสดงและตรียมงาน โดยลูกหลานชาวพิษณุโลกล้วนๆ การแสดงจัดโดยใช้สนามกว้างหน้าพระราชวังเป็นเวที ยิ่งใหญ่อลังการ มีการใช้แสงสีเสียงเต็มรูปแบบ

พร้อมทีมนักแสดงจากสถาบันราชภัฏนับร้อยชีวิต ในบทบาทต่างๆกัน เล่าถึงชีวประวัติของสมเด็จพระนเรศวรผ่านการแสดง บทพูดตลอดเรื่อง เป็นร้อยกรอง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ตั้งแต่พระนเรศวรยังทรงพระเยาว์ต้องจากบ้านเกิดเสด็จไปเป็นตัวประกัน ณ เมืองหงสาวดี กับพระสุพรรณกัลยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเติบใหญ่ ก็หนีกลับ มาซ่องสุมกำลังคนและประกาศอิสระภาพ และฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง การทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา จนได้รับชัยชนะ ในฉากนี้เราได้เห็นกองทัพไทยกับพม่ารบกัน พัลวัน บ้างก็ใช้แม่ไม้มวยไทย บ้างก็ใช้สรรพอาวุธ ท่ามกลางระเบิดจากปืนใหญ่ที่ยิงเข้าใส่กัน จนกระทั่งสมเด็จพระนเรศวรออกมาท้ารบกับพระมหาอุปราชา โดยประกาศว่า “พระเจ้าพี่ จะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างได้อย่างเรา จะไม่มีอีกแล้ว” ก่อนจะขี่ช้างเข้าไปทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาอย่างกล้าหาญ และได้รับชัยชนะในที่สุด หลังจากที่การแสดงจบลง คณะนักแสดงก็ออกมาตั้งแถว ให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพ รวมทั้งช้างตัวใหญ่ ที่ฝึกมาเป็นอย่างดี โดยภาพรวมแล้ว การแสดงครั้งนี้ สนุกสนานไม่แพ้พระนเรศวรฉบับภาพยนต์เลยทีเดียว

ค่ำคืนนี้ เราได้พักที่โรงแรม Kresident (อ่านว่า เครสสิเด้นท์) ตั้งอยู่ที่ 199/99 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก พิษณุโลก 65000 ใครสนใจพักโทรติดต่อได้ที่เบอร์ 0-5522-7484-8 ค่าห้องประมาณคืนละ 550 บาทค่ะเช้าวันที่ 17 มกราคม เราออกเดินทางไปยัง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวีเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลของจ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ จัดตั้งขึ้นหลังจากที่ท่านได้รวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน จำนวนมาก แล้วนำมาจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านไทยในอดีต และเปิดให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาหาความรู้ ด้วยตระหนักในคุณค่าของเครื่องมือเครื่องใช้ทุกชิ้นที่พบ พยามยามขอแลกซื้อสิ่งของเหล่านั้นมาซึ่งในช่วงแรกทำได้ยากเพราะท่านเป็นคนจน จนกระทั่งเมื่อมีฐานะดีขึ้นจึงทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อที่เสาะแสวงหา โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวอีกมากเพื่อสร้าง และดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ได้รับการนับสนุนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดเยี่ยมแห่งหนึ่ง ของจังหวัดพิษณุโลก ภายในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย ห้องแสดงภาพ อาคารจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งหลายชิ้นยังใช้ได้จริง ศูนย์รวมพันธ์ปลาน้ำจืด และร้านขายของที่ระลึก ภายในพิพิธภัณฑ์ มีวิทยากรเดินให้ความรู้ตลอดเส้นทาง พร้อมสาธิตการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำให้เราต้องทึ่งกับภูมิปัญญาของคนโบราณ

มื้อกลางวันของวันนี้ทีม Voyage พาเราไปทานอาหารบุฟเฟต์นานาชาติสุดหรูของโรงแรม อมรินทร์ พิษณุโลก ร่วมกับท่านนวล สารสอน ผู้อำนวยการสำนักงานพิษณุโลก ททท. ได้สละเวลามาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในจังหวัดพิษณุโลก ให้คุณะทัวร์ของเราได้ฟังในช่วงบ่าย คณะทัวของเราได้แวะสักการะเจ้าแม่กวนอิมหยกขาว ณ วัดราชคีรีหิรัญญาราม วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนไฟล่เขาสมอแครง มีรถสองแถวบริการรับส่ง ขึ้นไปถึงวัด ภายในวัดอับสงบเงียบ เป็นที่ประดิษฐาน พระอวโลกิเตศวร พระบรมมหาโพธิสัตว์ เจ้าแม่กวนอิมหยกขาว ความสูง 3 เมตร 5 เซนติเมตร น้ำหนัก 3 ตัน หรือ 3,000 กิโลกรัม นับได้ว่าเป็นหินทะเลหยกขาวองค์เดียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก รอบๆเจ้าแม่กวนอิมเป็นสระน้ำ ตกแต่งด้วยน้ำพุและรูปปั้นนกระเรียนอย่างสวยงาม หลังจากที่ดูเอเซียเดินสำรวจภายในวัด ก็มาสะดุดตากับ ฆ้องใหญ่ ที่มีข้อความติดไว้ว่า ห้ามใช้ไม้ตี (แต่มีไม้ตีแขวนอยู่?) หลวงพ่อเจ้าอาวาสเฉลยให้ฟังว่า ฆ้องที่นี่ แค่ใช้มือลูบเบาๆ ก็มีเสียงได้ ว่าแล้วก็สาธิตให้ดู ก็มีเสียงดังกังวาลออกมาจริงๆ เพื่อนๆชาวคณะก็ลองทำดูบ้าง แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่เห็น หลังจากพยายามลูบอยู่สักพัก ก็มีเสียงดังขึ้นมาจนได้

เชิญแสดงความคิดเห็น