ศาลเจ้าฮกฮั้วเก็ง

0

ศาลเจ้าฮกฮั้วเก็ง หรือ ศาลแปะกง บ้านนาบอน

ศาลเจ้าฮกฮั้วเก็ง หรือ ศาลแปะกง เป็นศาลเจ้า ประเภทศาลเจ้าเอกชน โดยอยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐ ปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๑ ตำบลนาบอน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายวสันต์ ลีลารัศมีวงศ์เป็นผู้ปกครองศาลเจ้า

จากคำบอกเล่าของลูกหลานฮกจิว ในนาบอน (ทายาทรุ่นที่ ๒, ๓) เล่าว่าบรรพบุรุษซึ่งเป็นชาวจีนฮกจิวได้ย้ายมาจากอำเภอกู่เถียน และอำเภอหมิงฉิง จังหวัดฟุโจว ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของมลฑลฮกเกี้ยน ชาวจีนฮกจิวต่างจากชาวจีนกลุ่มอื่น ๆ คือเด่นชัดตรงภาษาพูด ได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศมาเลเซียก่อน และในช่วงต่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้เดินทางผ่านปินะ (ปิระ) หรือรัฐเปรัค โดยมาทางรถไฟและมาลงที่สถานีรถไฟคลองจัง ได้จับจองที่ดินและได้นำพันธุ์ยางพารามาปลูก ต่อมาได้ขยายเข้าเขตนาบอน และบางส่วนเลยไปถึงคลองกุยซึ่งในสมัยก่อนจะมีสถานีรถไฟ ทุ่งสง คลองจัง และคลองกุย

ในสมัยแรกที่ชาวจีนฮกจิวซึ่งเป็นบรรพบุรุษ รุ่นที่ ๑ ได้เข้ามาจับจองที่ดินทำกินนั้น นาบอนจะมีเสือดุร้ายมาก ได้ออกมาทำร้ายสัตว์เลี้ยงและผู้คน ชาวบ้านอยู่ไม่ค่อยจะมีความสุขและมีคนล้มป่วยบ่อย ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีโรงพยาบาล คนกลุ่มดังกล่าวได้ คิดร่วมกันว่าจะอัญเชิญเทพเจ้า “ตั่วแปะกง”มาปกป้องคุ้มครองรักษา โดยมีคนแก่ท่านหนึ่งชื่อ “นายหวาลิ่ง แซ่เล่า” ได้ไปอัญเชิญเทพเจ้า “ตั่วแปะกง” อีกภาคหนึ่งมาจากประเทศมาเลเซีย รูปเคารพที่อัญเชิญมาเป็นแผ่นไม้ที่เขียนตัวอักษรจีน บอกความหมายว่า เป็นสถานที่สถิตของเทพแปะกง และได้สร้างศาลเป็นเรือนไม้เล็ก ๆ กว้างยาวประมาณ ๓ คูณ ๔ เมตร เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน โดยตั้งชื่อว่า ”ศาลเจ้าฮกฮั้วเก็ง” ตั้งอยู่ในสวนยางของนายอิ่วซิ่ว แซ่ฉั่ว (อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับที่ตั้งศาลเจ้าในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นศาลเจ้าแห่งแรกของลูกหลานฮกจิวในนาบอน และหลังจากได้อัญเชิญเทพแปะกงมาคุ้มครองรักษาแล้ว เสือก็หายไป คนก็หายเจ็บป่วย ผู้คนอยู่กันอย่างมีความสุข และการทำมาหากินและการค้าขายก็เจริญรุ่งเรืองขึ้น

 

เพื่อให้ลูกหลานได้ไปเคราพกราบไหว้เทพแปะกงให้สะดวกขึ้น ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายชาวจีนฮกจิว จึงได้รวมตัวกันสร้างศาลหลังใหม่ขึ้นเป็นอาคารไม้หลังใหญ่กว่าเดิม ซึ่งตั้งอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบันนี้ โดยนายจู่กี้ แซ่ตั้ง เป็นผู้อุทิศที่ดิน และได้อัญเชิญเทพแปะกง ย้ายมาประดิษฐาน ณ ศาลหลังใหม่ และต่อมาได้ต่อเติมและสร้างอาคารหลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีตถาวร โดยมีเทพแปะกง เป็นเทพประธานประจำศาล มีลักษณะรูปที่เคารพเป็นปูนปั้น การแต่งกายเป็นแบบขุนนาง มือขวาถือหยูอี้ มือซ้ายถือก้อนเงิน นอกจากเทพแปะกงแล้ว ลูกหลานชาวฮกจิว ได้อัญเชิญเทพองค์อื่น ๆ มาประดิษฐานเพื่อคุ้มครองรักษาให้ลูกหลานได้อยู่เย็นเป็นสุข และเจริญรุ่งเรือง เช่น ขุนพล เจ้าแม่กวนอิม ไซกง พระถังซัมจั่ง เป็นต้น

อภินิหารเทพแปะกง
เมื่อมีคนเจ็บป่วย จะอัญเชิญเทพแปะกงมาประทับทรง ร่างทรงจะเขียนใบสั่งยา แล้วนำไปจัดยาเพื่อต้มให้คนป่วยรับประทาน อาการไข้ก็หายไป ใครอยากได้อะไรก็จะมาบนบานศาลกล่าว ก็ได้สมดังใจปรารถนา

การจัดงานเทศกาลประจำปี
ศาลเจ้าฮกฮั้วเก็ง จะจัดงานเทศกาลประจำปี ๆ ละ ๑ ครั้ง เป็นการจัดงานฉลองคล้ายวันเกิดของเทพแปะกง ตรงกับเดือน ๘ ของจีน ขึ้น ๑๕ ค่ำ (ตรงกับวันไหว้พระจันทร์) ในสมัยก่อนจะจัดกัน ๑๐ วัน ๑๐ คืน ต่อมาลดเหลือ ๗ วัน ๗ คืน และ ๕ วัน ๕ คืน และในปัจจุบันจัดกัน ๑๐ วัน ๑๐ คืน กิจกรรมที่จัดในงานเทศกาลประจำปี มีดังนี้  – วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ตอนกลางวัน ลูกหลานฮกจิวจะนำสิ่งของมาไหว้พระ(เทพ) ส่วนใหญ่ไหว้แล้วจะไม่นำ กลับบ้าน ตอนกลางคืนจะมีการประมูลสิ่งของเหล่านั้นในคืน ๑๕ ค่ำ และคืน ๑๏ฟฝ ค่ำ เพื่อนำไปรับประทานหรือเก็บไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล เงินที่ได้จากการประมูลก็ได้นำไปใช้ประโยชน์ในศาลเจ้า และลูกหลานชาวฮกจิวยังเชื่อว่า หากได้ยืมเงินของศาลแปะกงเก็บเป็นขวัญถุง การทำมาหากินและการค้าขายจะเจริญรุ่งเรือง สมัยก่อนจะให้ยืมคนละ ๑๐ บาท โดยคนยืมจะโยนโปยเซียมเพื่อเสี่ยงดวง หากโยนโปยเซียมหงายขึ้นและคว่ำทั้งสองอัน จะเชื่อว่าโชคดี และร่างทรงจะเป็นผู้กำหนดว่าในปีถัดไปจะต้องคืนเป็นจำนวนเงินเท่าไร สำหรับมรหสพในภาคกลางคืนจะมีงิ้วมาแสดงเป็นประจำทุกปี

วิธีการเคารพบูชา มีลำดับขั้นตอนดังนี้
– เข้าไปจุดเทียนแดง ปักด้านซ้ายมือของเทพก่อน ๑ เล่ม ด้านขวามือเทพ ๑ เล่ม แล้วจุดธูป ๒๘ ดอก ถือธูปดังกล่าวไปนั่งอธิษฐานจิตและขอในสิ่งที่ต้องการ แล้วนำธูปไปไหว้เคารพเทพต่าง ๆ ดังนี้

๑. ไหว้เทวดา (ด้านหน้าศาล) ๓ ดอก
๒. ไหว้เทพรักษาประตู ปักทางซ้าย ก่อน ข้างละ ๑ ดอก
๓. ไหว้เทพแปะกง ปักในกระถางธูป ตรงกลาง ๓ ดอก, ปักในกระถางธูปทางซ้าย ๓ ดอก, ปักในกระถางธูป ทางขวา
๓ ดอก แล้วกลับมาปักในกระถางธูปตรงกลางอีก ๓ ดอก
๔. ไหว้เทพเจ้าแม่กวนอิม ๓ ดอก
๕. ไหว้เทพพระถังซัมจั่ง ๓ ดอก
๖. ไหว้เจ้าที่ ๕ ดอก แล้วออกมาเผากระดาษเงินกระดาษทองที่เจดีย์(เตาเผา) เสร็จสิ้นพิธี

เชิญแสดงความคิดเห็น