วัวลานแข่งวัวเทียมเกวียน

0

วัวลาน กีฬาพื้นบ้านที่ไม่ธรรมดา ในช่วงสงกรานต์ที่มา ทางจังหวัดเพชรบุรีได้จัดให้มีงานพระนครคีรีขึ้นมา และยังมีงานแข่งวัวเทียมเกวียน วัวลาน ขึ้นมาที่อำเภอบ้านลาด ซึ่งจัดเป็นที่สนุก คึกคัก ซึ่งเป็นกิจกรรมพื้นบ้านที่นิยมเฉพาะกลุ่มชาวบ้านในละแวกนั้น ในงานการแข่งวัวเทียมเกวียน ยังมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนอยู่ด้วย อย่างเช่น การแข่งขึ้นตาล เพราะเมืองเพชร เป็นแหล่งน้ำตาลที่เลื่องชื่อ การแข่งวัวลานหรือวัวเทียนเกวียน ก็เป็นวิถีชีวิตชาวนาที่ผูกพันกับวัวมาช้านาน

ในงานแข่งวัวเทียมเกวียนจะมีเป็นรอบๆ ในบริเวณงานจะมีลานวิ่งของวัวเทียมเกวียน มีการจับคู่เป็นรุ่นๆ มีกรรมการการตัดสิน มีผู้พากย์ที่สนุกสนานการแข่งวัวเทียมเกวียน ก็ใช้วัวตามรุ่นตามขนาด แข่งในลานวิ่ง ใครเข้าเส้นชัยก่อน ถือว่าเป็นผู้ชนะ  แต่ตอนปลายเส้นชัย บรรดาวัวที่เข้าแข่งขัน จะวิ่งเลยเตลิดไปไม่หยุด จนทีมผู้เข้าแข่งขัน ต้องไล่ตามยื้อยุด เพื่อหยุดทั้งวัวและเกวียนให้ได้ ซึ่งกลายเป็นความสนุกสนานของผู้ชม

ในงานแข่งวัวเทียมเกวียน ยังมีกิจกรรมการแข่งขันปีนต้นตาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพราะชาวเมืองเพชรบุรี ส่วนหนึ่งมีอาชีพทำตาลมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การแข่งขันแข่งต้นตาลก็เรียกผู้ชมและเสียงเฮฮาได้ไม่น้อยกิจกรรมต่อไปจัดว่าเป็นความท้าทายที่สนุกสุดฮา เป็นการแข่งขันจับลูกหมูป่า ใครจับได้เอาไปเลย โดยรับสมัครเด็กๆ อายุไม่เกิน 13 ปี จึงมีบรรดาลูกเจี๊ยบมาสมัครกันมากมาย รวมทั้งสาวน้อยอีก 2-3 คน ที่ลงสนามมาสู้กับผู้ชาย โดยให้ผู้ชายถอดเสื้อ ผู้หญิงไม่ต้องถอด สนามก็เอาน้ำมารดให้ชุ่มเป็นโคลน พร้อมกับจัดทีมลงมาจับหมูรอบละ 5 คน ใครแพ้คัดออก จนเหลือผู้แข่งที่ชนะจำนวน 11 คน เท่ากับจำนวนหมู จากนั้นผู้ชนะทั้งหมดลงสนามพร้อมกันแข่งกันจับหมู กติกาเที่ยวนี้ใครจับได้เอาเลย

 

ทีนี้แหล่ะ คนสุดท้าย ตัวสุดท้าย วิ่งกันเหนื่อยทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครช่วยไล่ต้อน สงสารเจ้าตัวน้อย เหนื่อยก็เหนื่อย ยังจับไม่ได้ มีอายหน่อยๆ กรรมการเลยให้ผู้ช่วยลงมาช่วยจับหมู ที่สุดก็ได้หมูกลับไปสมใจหมาย ส่วนการแข่งขันวัวลานนั้นต้องรอถึงสี่ทุ่ม จึงจะมีการแข่งขัน โดยรอบๆสนาม มีการนำมาวัวมาผูกไว้ตามคอก รอเวลาลงแข่งขัน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านในเขตเพชรบุรี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายทั้งรุ่นใหญ่ และเด็กรุ่นหนุ่มๆ ที่จัดวัวมาร่วมแข่ง

ประวัติความเป็นมาของ วัวลานวัวลาน หรือ วัวระดอก เป็น การละเล่นพื้นบ้านในภาคกลางของไทย โดยใช้วัวพันธุ์ไทย มักจะเล่นในเวลากลางคืน เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ทำงานในตอนกลางวัน จึงใช้เวลากลางมาทำการแข่งขัน การเล่นวัวลาน ได้มีวิวัฒนาการมาจากการใช้วัวนวดข้าว โดยใช้วัวผูกเดินหมุนวนเป็นรอบ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าข้าวจะหลุดออกจากรวงข้าวหมด แต่วัวตัวที่อยู่นอกสุดอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลาง ระยะทางที่ต้องหมุนจะยาวกว่า จึงต้องเลือกวัวตัวที่มีกำลังและฝีเท้าดี  จึงเกิดความสนุกมีการแข่งวัวขึ้นมาจึงเป็นเหตุให้มีการแข่งวัวลานขึ้นมา 

การวัวลานในปัจจุบันนิยมเล่นในงานวัด เพื่อหารายได้ให้ทางวัด และในท้องนา จะเริ่มเล่นกันประมาณเวลา 22:00 – 8:00 น. วัวทั้งหมดจะวิ่งเป็นวงกลมรอบๆ ลาน มีเสาอยู่ตรงกลาง จะมีสองกลุ่ม ทั้งหมดมี 19 ตัว เรียกว่า วัวนอก กับ วัวคาน วัวคานจะมี 18 ตัว (ตัวที่ 18 เรียกว่า วัวรอง) นำวัวคาน 18 ตัว มาผูก แล้วก็นำวัวนอก (ตัวที่ 19) มาผูกวิ่งเป็นวงนอกสุดซึ่งมีระยะการวิ่งไกลมาก

หลังจากนั้นก็ปล่อยให้มันวิ่ง แล้วก็ใช้เหล็กแหลมแทง (ปฏัก) มันเพื่อกระตุ้นพลัง การแพ้ชนะคือ เช่น วัวนอกหมดแรง หรือ วัวคานเชือกหลุด หรือวัวรองโดนวัวนอกแซงแล้วเบียดเข้ามาข้างในแทนตำแหน่งที่ 18 หรือวัวนอก สามารถวิ่งครบจำนวนรอบ ก็ถือว่าชนะ เพราะสามารถสิ่งสู้วัวคานได้ครบจำนวนรอบอย่างน้อยๆ ก็ 10 รอบการแข่งขันวัวลานแต่ละรอบแต่ละครั้ง มักจะมีการต่อรอง จะมากหรือน้อยต้องดูกันเอาเอง การแข่งขันดูจะเอาจริงเอาจัง ถึงขั้นมีการกระตุ้นวัวด้วยวิธีต่างๆ เพื่อหวังชนะแก่วัวของตน  การแข่งวัวลาน ที่อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เป็นกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านที่ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นการพนันขันต่อมากขึ้น คนดูก็ควรดูเป็นความรู้ความสนุกสนานก็เพียงพอแล้ว อย่างไปยุ่งเรื่องการต่อรองกับการแข่งขันเลย

เชิญแสดงความคิดเห็น