ภูแว อลังการขุนเขาเมืองน่าน

0

เมืองน่าน เป็นส่วนของแผ่นดินล้านนาตะวันออก ที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ยังสมบูรณ์แบบ มีดอยภูคาเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ เราคงได้ชื่อเสียงของดอกชมพูภูคา  เป็นพันธุ์ไม้ที่หายากอีกชนิดหนึ่งของเมืองไทย พบเฉพาะดอยภูคาเท่านั้นในพื้นที่ของเทือกดอยภูคา ยังมีขุนดอยที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง คือ ดอยภูแว ที่มีระดับความสูง 1,837 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นเทือกเขาที่มีความงดงามมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้า ป่าหิน มีพรรณไม้ที่แปลกๆ อาจจัดว่าเป็นป่ากึ่งอัลไพน์ ภูแว  สัณฐานภูมิประเทศที่สวยงาม จึงกลายเป็นจุดดึงดูดใจให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปสัมผัสธรรมชาติบริสุทธิ์ ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น แม้ว่าจะขุนเขาดอยสูงก็ตามที คนที่มีใจรักธรรมชาติก็มุ่งแสวงหาทางขึ้นไปอย่างไม่ย่อท้อ

การเดินทางสู่ดอยภูแว ที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เราต้องใช้เจ้าหน้าที่ป่าไม้นำทางขึ้นไป และต้องขึ้นไปพักค้างแรมแบบแค้มปิ้งกัน 1 คืน รวมเวลาที่ใช้ก็ 2 วัน 1 คืน ก็เพียงพอกับการศึกษาธรรมชาติบนดอยสูงแห่งนี้ได้อย่างเต็มที่

เริ่มต้นจากจังหวัดน่าน ก็เดินทางไปยังอำเภอปัว แล้วขึ้นไปยังอำเภอบ่อเกลือ ผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ยังไม่ทันไรก็ตั้งท่าเก็บเงินเข้าอุทยานฯ เสียแล้ว ใครที่ไม่เที่ยวก็ต้องแจ้งที่ด่านว่าเราไปธุระที่อื่น ไม่ได้เข้าไปเที่ยว มิเช่นนั้นอาจถูกเงินไปเปล่าๆ

ระหว่างทางผ่านต้นชมพูภูคา ซึ่งช่วงจะมีดอกผลิบานก็เป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แล้วไปยังอำเภอบ่อเกลือ แวะชมการทำเกลือภูเขาแบบฉบับดั้งเดิมกันซะหน่อย จากนั้นก็แยกซ้ายไปยังบ้านด่าน ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะออกไปห้วยโก๋น

ก่อนถึงบ้านด่านเล็กน้อย เราจะพบกับหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูแว อยู่ทางด้านซ้ายมือ  เป็นจุดเริ่มของการเดินป่าสู่ยอดภูแวที่มีความสูง 1,837 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นเส้นทางสู่ธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง

การเตรียมตัวขึ้นยอดภูแว เราต้องมีการเตรียมอุปกรณ์แค้มปิ้งไปให้ครบถ้วน เต็นท์ ถุงนอน เครื่องหนาว เสบียงอาหาร และน้ำดื่ม เนื่องจากด้านบนยอดเขาจะไม่มีแหล่งน้ำอย่างใดเลย เรื่องจะอาบน้ำนั้น ไม่ต้องพูดถึงกันเลย ซักแห้งอย่างเดียว ควรมีผ้าเย็นติดไปด้วย จะช่วยทำความสะอาดร่างกายได้เหมือนอาบน้ำ ประกอบกับอากาศหนาวเย็นมาก  จึงจำเป็นต้องตรียมเครื่องกันหนาวให้เพียงพอด้วยถ้าเราต้องการลูกหาบช่วยแบกสัมภาระก็สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่หน่วยแห่งนี้ได้  จะมีชาวบ้านปู่ดู่ ที่อยู่ข้างบนเขาจะมาเป็นลูกหาบ แต่เราต้องเดินขึ้นเขาบ้านหมู่บ้าน แล้วจึงไปบอกให้ลูกหาบมาช่วยแบกสัมภาระตามขึ้นไป

เริ่มเดินเท้าจากหน่วยย่อยด้านล่างไปตามเส้นทางลำลองสู่บ้านปู่ดู่ ที่เป็นหมู่บ้านชนเผ่าลัวะ ใช้เวลาเดินประมาณ 1.20 ชั่วโมง  เป็นความเร็วของคนเดินป่าระดับมาตรฐานที่ไม่เร่งรีบ เมื่อถึงบ้านปู่ดู่แล้ว เจ้าหน้าที่จะติดต่อหาลูกหาบช่วยแบกสัมภาระต่างๆ ที่วางอยู่ที่หน่วย ระดับชาวบ้านที่เป็นมืออาชีพเดินป่าอยู่แล้ว จะลงไปเอาสัมภาระข้างล่าง แล้วจะตามพวกเราขึ้นมาทันที และจะไปทันในระหว่างทางก่อนขึ้นยอดภูแว

จะมีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ อีกทั้งบอกแหล่งน้ำสุดท้ายที่เราต้องเตรียมน้ำไปให้เพียงพอ สำหรับการพักค้างแรมบนยอดเขา ป้ายบางป้ายเขียนไว้เสียน่ารัก “ใกล้ตา ไกลตีน” นั้นเป็นความหมายที่ชัดเจนที่สุดสำหรับนักเดินป่า แม้จะไกลแค่ไหน เราต้องไปให้ถึง สำหรับยอดภูแวก็น่าจะทำได้เสมอสำหรับคนที่ชอบธรรมชาติป่าเขา

เส้นทางเดินป่าสู่ยอดภูแว มีลักษณะเป็นป่าโล่ง เดินตามเส้นเขาที่ทอดยาวเชื่อมต่อกันตลอด จะมีช่วงลาดชันอยู่บ้าง แต่ไม่ชันเหมือนกับดอยอื่นๆ สภาพธรรมชาติเป็นป่าเบญจพรรณ มีการปล่อยฝูงวัวให้หากินหญ้าตามธรรมชาติจนกระทั่งมองเห็นยอดเขาที่เป็นทุ่งหญ้า คล้ายกับเขาหัวโล้น และอีกไม่นานเราก็มาถึงลานตั้งแค้มป์ที่อยู่เชิงยอดภูแว ซึ่งเป็นทำเลที่ดีที่สุด ทว่าลมค่อนข้างแรงที่พัดเอาเต็นท์แทบจะปลิวไปเลย เราต้องปักสมอบกให้แน่นหนาบริเวณเชิงยอดเขาที่เป็นลานโล่ง อิงแอบกับยอดภูแวที่มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าปกคลุม และยังพบป่าหินปูนผุดโผล่ขึ้นมามากมาย รวมไปถึงแนวสันเขาที่ทอดยาวลงไปยังภูแวน้อยที่อยู่ด้านล่าง

ยามเย็นเราก็ได้ขึ้นไปชมยอดภูแวที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบด้าน ทางด้านตะวันออกจะเป็นแนวเทือกเขาหัวโล้นที่มีร่องรอยการทำไร่ ราวกับว่าใครมาปะผุบนผืนดอย ข้ามสันดอยออกไปจะเป็นเขตประเทศลาว แนวเทือกเขาด้านตะวันออกนี้จะเป็นแนวเขตแดนไทย-ลาว โดยมีเทือกเขาหลวงพระบางเป็นเส้นเขตแดนทางด้านเหนือจะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ส่วนทางด้านใต้จะเป็นสันดอยหินปูนที่ปกคลุมด้วยทุ่งหญ้า ทอดยาวเชื่อมต่อกันไปถึงยอดภูแวน้อย มองเห็นป่าหินโผล่ขึ้นมาจากทุ่งหญ้า และมองเห็นหน้าสูงชันด้วย สภาพธรรมชาติโดยรวมๆ แล้วจะมีลักษณะเป็นป่าหินที่คล้ายกับดอยเชียงดาว ที่เชียงใหม่

ส่วนทางด้านตะวันตกจะมีหุบผาชันลึกลงไป ชะเง้อมองที่ริมผาสามารถมองเห็นกำแพงผาขนาดกว้างใหญ่ ในช่วงยามเย็นที่มีแสงสีทองสาดเข้าหา ก็จะแลดูงดงามไม่น้อยทีเดียว

ผ่านช่วงเวลาความสวยงามในยามเย็นแล้ว ความมืดค่อยๆ โอบคลุม สายลมหนาวเริ่มแรงขึ้น ทำให้เราต้องรีบเข้าเต็นท์ไปตั้งแต่หัวค่ำ ช่วงเช้าตรู่ที่ท้องฟ้ากำลังขับสีสันออกมาจากขอบฟ้าด้านตะวันออก เราก็ได้ขึ้นยอดเขาอีกครั้ง เพื่อไปชมพระอาทิตย์ขึ้น และอาจได้พบกับทะเลหมอกที่สวยงามด้วย ถ้าสภาพอากาศท้องฟ้าแจ่มใสเราสามารถได้พบเห็นภาพธรรมชาติที่สวยงามรอบด้าน

ท้องฟ้าในยามเช้าค่อนข้างสดใส พระอาทิตย์สีส้มค่อยๆ เคลื่อนคล้อยขึ้นจากขอบฟ้า แต่งเติมความงดงามให้กับยอดภูแวให้เกิดเป็นความงามที่ลงตัวมากขึ้นประกอบทุ่งหญ้าสีทองแลดูตระการตา ปะปนไปกับป่าหินที่เป็นเอกลักษณ์ของยอดภูแห่งนี้ ในบริเวณป่าหินเรายังพบกับพืชพรรณไม้แปลกๆ เป็นจำพวกกุหลาบหินที่ผลิดอกบานอยู่ตามซอกหินปูน บางแห่งเราได้พบกุหลาบป่าที่มีลักษณะคล้ายกับกุหลาบบ้านมากทีเดียว นอกจากนี้ก็ยังมีดอกไม้ป่าที่ขึ้นตามช่วงฤดูกาลต่างๆ ด้วย และน่าเป็นที่วิตกว่า ฝูงวัวที่ชาวบ้านปล่อยมาหากินในป่า อาจขึ้นมากินหญ้า และพืชพรรณไม้บนยอดภูแว อาจก่อให้เกิดความเสียหายตามมา อีกทั้งยังเป็นมลภาวะขี้วัวกระจายไปทั่วดอย และที่สำคัญคือ จำพวกริ้น ไร เหลือบ ที่อยู่กับวัว จะสร้างความรำคาญแก่นักท่องเที่ยวไม่น้อยทีเดียว

ยอดภูแวที่ได้พบกับธรรมชาติความสวยงามที่เกิดขึ้นตามช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะการชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก รวมถึงการศึกษาพืชพรรณไม้ของภูแวแห่งนี้ นับว่าเป็นยอดดอยที่ผู้รักธรรมชาติควรไปสัมผัสดูสักครั้’

ข้อมูลการเดินทาง

  • รถยนต์น่าน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 668 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายกรุงเทพฯ- นครสวรรค์-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์- เด่นชัย- แพร่-น่าน ใช้เวลาเดินทางราว 8 ชั่วโมง
  • รถโดยสารจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิตใหม่) บขส. มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ วันละหลายเที่ยวทุกวัน โทร. 0-2936-3659, 0-2936-3666
  • บริษัทสมบัติทัวร์ โทร. 0-2282-3938, 0-2936-2495-9, 0-2936-3720
  • บริษัทแพร่ทัวร์ โทร 0-2245-1697, 0-2248-2326, 0-2936-3720
  • บริษัทเชิดชัยทัวร์ โทร. 0-2936-0199
  • จากเชียงใหม่ (สถานีขนส่งอาเขต) มีธรรมดาและรถปรับอากาศทุกวัน ติดต่อที่บริษัทไทยพัฒนกิจขนส่ง โทร. 0-5324-2214-5, 0-5324-6503
  • รถไฟจากสถานีหัวลำโพงทุกวัน และ มีบริการแวะค้างคืนที่เด่นชัยจังหวัดแพร่ ก่อนจะต่อรถเมล์ อีกประมาณ 146 กม. มาถึงตัวเมืองน่าน
  • โปรแกรมการเดินป่า เส้นทางเดินป่ายอดภูแว จะมีให้เลือก 2 วัน 1 คืน

การติดต่อ
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ตู้ ป.ณ.8  อ.ปัว จ.น่าน 55120   โทร.0 5470 1000, 0 5473 1362
แฟกซ์  โทร.0 5473 1362

ช่วงฤดูกาลที่ควรเที่ยว เป็นช่วงหน้าหนาวตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์

เชิญแสดงความคิดเห็น