พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.น่าน

0

ทริปนี้เราอยู่ที่จังหวัดน่าน แหล่งท่องเที่ยวและศูนย์รวมวัฒนธรรมสมัยเก่าอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย วันนี้ดูเอเซียแวะมาเที่ยวในตัวเมืองจังหวัดน่าน มองไปทางไหนก็เจอแต่วัดวาอาราม โบราณสถาน บ้านไม้โบราณอายุกว่าร้อยปี เลยเกิดไอเดียขึ้นมาว่าอยากจะทราบถึงความเป็นมาและวัฒนธรรมของคนสมัยก่อน ว่าน่านนั้นมีที่มาที่ไปและวัฒนธรรมทางโบราณวัตถุอย่างไร เมื่อคิดได้เท่านั้นแหละ อย่ารอช้าเลยครับ วันนี้ดูเอเซียจะพาไปเยี่ยมชมแหล่งรวบรวมอดีตและวัฒนธรรมของชนรุ่นก่อนที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.น่าน” ไปดูกันว่าจะมีอะไรที่สำคัญ ๆ ที่ยังคงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสกันบ้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ตั้งอยู่ภายในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน ที่เรียกว่า “หอคำ” โดยเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน สร้างขึ้นเป็นที่ประทับ เมื่อ พ.ศ. 2446 ลักษณะตัวอาคารโอ่โถงงดงามก่ออิฐถือปูนแข็งแรง แต่ตกแต่งให้อ่อนช้อยสวยงามด้วยลายลูกไม้ นับเป็นสถาปัตยกรรมก่อสร้างที่ดีเด่นแห่งหนึ่งของเมืองไทย นอกจากนั้นบริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ผู้เป็นเจ้าของหอคำแห่งนี้ด้วย กรมศิลปากรได้รับมอบอาคารหอคำเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน เมื่อปี พ.ศ. 2517 แล้วจึงนำโบราณวัตถุ ตลอดจนสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยาประจำท้องถิ่น มาจัดแสดงให้ชมอย่างมีระบบและระเบียบสวยงาม คือ ส่วนที่เป็นห้องจัดแสดงชั้นล่าง จัดแสดงชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับล้านนา เช่นลักษณะอาคารบ้านเรือนและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน การทอผ้าและผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ ที่สวยงามมาก การสาธิตงานประเพณีและความเชื่อต่างๆ เช่น การแข่งเรือ จุดบ้องไฟสงกรานต์ และพิธีสืบชะตา เป็นต้น ที่น่าสนใจในการจัดแสดงห้องโถงข้างล่างนี้ ยังมีการจัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่และเครื่องใช้ของชนกลุ่มน้อยในเมืองน่าน รวม 5 เผ่าด้วยกัน คือ ไทยลื้อ แม้ว เย้า ถิ่น และผีตองเหลือง ส่วนบริเวณห้องจัดแสดงชั้นบน เป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน การสร้างเมือง และ โบราณสถานที่สำคัญ รูปถ่ายโบราณ งานประณีตศิลป์ เครื่องใช้เงินตรา อาวุธ ศิลาจารึก และเครื่องถ้วยชามที่ค้นพบในเมืองน่านที่สำคัญที่สุดได้แก่ ห้องเก็บ “งาช้างดำ” ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุคู่เมืองน่าน ตามประวัติกล่าวไว้ว่า ได้มาจากเมืองเชียงตุง ตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลานจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดินพร้อมหอคอย ลักษณะของงาช้างดำนี้เป็นงาปลีเปลือกสีน้ำตาลเข้า ขนาดความยาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบ 47 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 18 กิโลกรัม ส่วนปลายมนมีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยกำกับไว้ว่า “กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน” หรือประมาณ 18 กิโลกรัม วัตถุโบราณที่สำคัญ พระพุทธรูปปางประทับยืน องค์พระพุทธรูปประทับยืน ทอดพระกรทั้งสองข้างขนานไปกับพระวรกาย มีฉัตรชั้นเดียวกั้นอยู่ทางด้านบน ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา แนวชายจีวรขนาดใหญ่ยาวลงมาจรดพระนาภี ทรงเครื่องทรงอย่างกษัตริย์ ประกอบไปด้วยมงกุฎยอดแหลม มีกรรเจียกกรองศอ พาหุรัด ทองพระกร ธำมรงค์ และฉลองพระบาท สบงทำเป็นผ้านุ่งซ้อนกัน 3 ชั้น ชักชายพลิ้วออกทางด้านข้าง มีชายไหวประดับอยู่ทางด้านหน้าของชายพับ ส่วนฐานเป็นบัวฐานปัทม์หกเหลี่ยม มีแนวลูกแก้วคั่น ตอนบนทำเป็นกลีบบัวมีเกสรเมื่อได้เข้าไปเยี่ยมชมภายในชั้นหนึ่ง เป็นที่น่าเสียดายที่ภายในตัวชั้นหนึ่งกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุง ทำให้พลาดโอกาสเยี่ยมชมประวัติและที่มาของจังหวัดน่าน แต่ภายในยังมีชั้นสอง ซึ่งเป็นแหล่งรวมโบราณวัตถุเก่าแก่หลายยุคหลายสมัย บางชิ้นมีอายุหลายร้อยปีเลยทีเดียว เมื่อขึ้นไปชั้นสองจะพบว่าภายในกว้างขวางและจัดสัดส่วนลำดับความสำคัญของโบราณสถานแต่ล่ะชิ้นได้น่าสนใจ มีทั้งห้องเครื่องพุทธบูชา ห้องศิลาจารึกสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น เรียกได้ว่าแต่ล่ะชิ้นนี่สำคัญและมีมูลค่าทางประวัติศาสตร์มากมายจนประเมินค่ามิได้เชียวครับ แต่ที่ผมตื่นตาตื่นใจที่สุดเลยก็เห็นจะเป็น “ไม้กลายเป็นหิน” จากท่อนไม้ธรรมดาแต่กับกลายเป็นหินไปได้ แค่ได้ยินก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมครับ ต้องมาลองเห็นและสัมผัสด้วยตาคุณเองครับ มันมหัศจรรย์มาก ๆ เลยครับ หากใครมีโอกาสได้แวะมาเที่ยวที่จังหวัดน่านเมื่อไหร่ ไม่ควรพลาดที่จะมาเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ความเป็นมาเป็นไปของจังหวัดน่านกันน่ะครับแล้วเพื่อน ๆ จะได้เที่ยวเมืองน่านกันอย่างเข้าใจและภูมิใจที่ครั้งหนึ่งได้มาสัมผัสเมืองที่รวบรวมประวัติศาสตร์ไว้มากมายเช่นนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน 55000
โทรศัพท์ (054) 710-561, 772-777  โทรสาร (054) 772-777

เวลาทำการ
เปิดทำการทุกวัน เวลา 09.00 – 16.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าธรรมเนียม
ชาวไทย20 บาท
ชาวต่างประเทศ 100 บาท

เชิญแสดงความคิดเห็น