ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > เวียงท่ากาน
 
เวียงท่ากาน
เวียงท่ากาน

            หากขับรถในอำเภอเมือง ของเมืองใหญ่ ๆ เดี่ยวนี้ขับลำบากพอสมควร  ด้วยเหตุหลายประการ เช่น รถกระบะไม่ค่อยจะรักษากฎจราจร รถมอเตอร์ไซด์ ขับซิ่งกันเหลือเกินรถยนต์ต้องเป็นฝ่ายระวังทั้ง ๆ ที่รถของเขามีขนาดเล็กกว่า และที่ปวดหัว เรียกว่า มึน ก็ตอนที่เขาจัดการจราจร ให้ถนนรถเดินทางเดียว มีมากเกินไป คนต่างเมืองไม่รู้ขับช้าก็โดนรถชาวเมืองบีบแตรไล่ ขับเร็วก็วิ่งเลย เข้าถนนไม่ถูก เช่น ที่เชียงราย เห็นวัดพระแก้วอยู่ตรงหน้า แต่ต้องวนเสียหลายรอบ กว่าจะหาทางเข้า ถนนที่ผ่านหน้าวัดได้ คราวนี้ไปเชียงใหม่ เมืองที่เคยรับราชการอยู่นานถึง ๕ ปี  และยังไปเชียงใหม่ทุกปี  ยังขับรถหลงเพราะถนนรถเดินทางเดียวมีหลายสาย มีถนนเกิดใหม่ มีสะพานข้ามสี่แยก มีอุโมงค์ลอดใต้สี่แยก และกำลังสร้างอีกหลายสี่แยก คนต่างเมืองนาน ๆ มาขับทีเลยวิ่งวนเวียนไปหมด เช่น ไปคราวนี้ตั้งใจจะไป "เวียงท่ากาน"  ให้ได้ เคยได้ยินชื่อเพราะสมัยที่ผมรับราชการอยู่นั้น มีแต่ชื่อ เวียงกุมกาม ซึ่งเป็นเมืองที่พ่อขุนมังราย (เรียกให้ตรงกับหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ จ.เชียงใหม่" สร้างขึ้นก่อนเชียงใหม่แล้วถูกน้ำท่วม ทำลายเมืองเสียจึงมาสร้างเมืองเชียงใหม่ ในภายหลังก็ได้ยินแต่ชื่อ พึ่งมาขุดคุ้ย ค้นพบกันจริง ๆ คงจะไม่เกิน ๒๐ ปี  ยิ่งเวียงท่ากานชื่อก็ไม่เคยได้ยิน มาเจอกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง  และศิลปากรได้เริ่มตกแต่งแล้ว มองเห็นเป็นรูปเมือง แต่อีกหลายสถานที่ที่ยังปะปนอยู่ในหมู่บ้าน  ขอเล่าเลยไปถึงภาคใต้ ที่ปัตตานีคือ เมืองลังกาสุกะ ที่อำเภอยะรัง เมืองที่นับถือพุทธศาสนา แต่โบราณสถานส่วนใหญ่ยังแทรกอยู่กับบ้านของราษฎร์ ที่เป็นไทยมุสลิม เวียงท่ากานก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน  ถ้าเราพยายามให้นักเรียนปัจจุบันเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันจริง ๆ แบบเรียนต่อเนื่องกันไปเหมือนสมัยที่พวกรุ่นผมเรียน  บางทีจะช่วยให้วัยรุ่นของ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทราบบ้างว่า  ดั้งเดิมนั้นปัตตานีเมื่อกว่าพันปีมาแล้ว คือ นครลังกาสุกะ และประชาชนนับถือศาสนาพุทธ ยังมีโบราณสถานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้แล้ว เป็นหลักฐาน และสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา เคยเสด็จไปศึกษามาแล้ว อยู่ในอำเภอยะรัง  จังหวัดปัตตานี
            เมื่อตอนไปอำเภอจอมทองเมื่อครั้งก่อน ผมเห็นป้ายชี้บอกว่าไปเวียงท่ากาน เห็นที่อำเภอสันป่าตอง ก็เลยจำไว้ว่านอกจากเวียงกุมกามแล้ว ยังมีเวียงท่ากานอีกด้วย  เรียกว่าอาฆาตเอาไว้ก่อน แต่อาฆาตเอาไว้นานหน่อยคงจะร่วมสองปี จึงมีโอกาสได้ไปในคราวนี้
            หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเวียงท่ากาน ค่อนข้างจะมีน้อย ไม่ละเอียดทั้ง ๆ ที่เป็นเมืองโบราณมีอายุประมาณ ๗๐๐ ปี  คือ อาจจะก่อน หรือหลังการสร้างเชียงใหม่  จึงต้องมาทบทวนเรื่องของเมืองเชียงใหม่ ที่พ่อขุนมังรายมหาราชได้สร้างขึ้นไว้ เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙  และครบ ๗๐๐ ปี  เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙  "เมืองเชียงใหม่"  หรือตำนานเขียนไว้ว่า  " นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ "
            "เชียง"  พงศาวดารไทใหญ่ และพงศาวดารไทอาหม  (อาหมบุราญจี)  หมายถึง เมืองที่มีเจ้าปกครอง ตำนานเชียงใหม่และตำนานอื่น ๆ  ในล้านนาใช้คำว่า เชียงในฐานะเป็นชุมชนหรือหมู่บ้าน เช่น เชียงหมั้น เชียงโฉม เชียงยืน ฯ เชียงตุง ก็ใช้คำว่าเชียงนำหน้าเช่นเดียวกัน
            "เวียง"  พงศาวดารไทอาหม แปลว่า กำแพง หรือค่าย  และเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ
            "นพบุรี"  ตำนานสุวรรณคำแดง เขียนเล่าเป็นนิทานไว้ว่า เชิงดอยสุเทพ เป็นที่อยู่ของชนเผ่าลัวะ ๙ ตระกูล  บ้านเมืองของลัวะกลุ่มนี้มีชื่อว่า "นพบุรี"
            "นครพิงค์"  มาชื่อแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านเมืองเชียงใหม่ (ระมิง รามัญแปลว่า แม่น้ำ)
            "เชียงใหม่"  หมายถึง เมืองที่พญามังรายสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งชาวไท - ยวน (ชุมชนสวนใหญ่ของเชียงใหม่) จะเรียกชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า บ้านใหม่ เมืองใหม่ หรือ "เชียงใหม่"
            "ส่วนจีน"  เรียกเชียงใหม่ว่า ปาไป่สีฟู  และปาไป่ต้าเสี้ยน  แปลว่า เมือง ๘๐๐ ชายา หรือเมืองที่มีประมุขมีชายา ๘๐๐ นาง  (สงสัยจีนจะเพ้อไป เพราะไม่เคยได้ยินว่ากษัตริย์ไทยพระองค์ไหน จะมีพระชายามากถึง ๘๐๐ นาง เหมืองฮ่องเต้ของจีน)
                เมืองที่สร้างไว้สี่ทิศของเมืองเชียงใหม่  และบางเมืองอาจจะสร้างไว้ก่อนก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้หายไปในหมู่ชุมชนของอำเภอเมืองเชียงใหม่หมดแล้ว  แทบจะหาหลักฐานไม่เจอ ยังดีที่เวียงท่ากาน ยังมีโบราณสถานไว้ให้ชม ในลักษณะของรูปร่างของเมือง เมืองที่อยู่ในสี่ทิศของเชียงใหม่คือ
               เวียงแก้ว  เป็นชื่อเรียกพระราชวังของกษัตริย์เชียงใหม่  ปัจจุบันคือ บริเวณเรือนจำกลางของเชียงใหม่ วัดในเขตพระราชฐานคือ วัดสุทธาวาส  เหลือเพียงชื่อถนนคือ "ถนนเวียงแก้ว" และ "สะดือเมือง" มีวัดสะดือเมือง หรือวัดกลางเวียง  เหลือหลักฐานคือ เจดีย์ข้างศาลากลางเก่าหลังราชานุสาวรีย์ ๓ กษัตริย์   เมืองนี้ถือว่าเป็น "เมืองในเมือง" เหมือนพระบรมมหาราชวัง  ฯ
                เมืองที่ตั้งรายล้อมและอยู่ไม่ไกลกับตัวเมืองสี่ทิศ แต่มีห้าเมืองคือ
               เวียงนพบุรี   น่าจะเป็นตัวเมืองเชียงใหม่ นอกเขตพระราชบาน หารายละเอียดไม่ได้
               เวียงสวนดอก  อยู่ห่างจากกำแพงเมืองเชียงใหม่ไปทางตะวันตก ๑ กม.   มีวัดสวนดอก เป็นศูนย์กลางของเมือง ยังมีแนวกำแพง และคูเมืองบางส่วนเหลืออยู่
               เวียงเจ็ดลิน  ตั้งอยู่บนดอยเจ็ดลิน  หรือดอยลัวะ  กลางเวียงเจ็ดลิน มีถนนห้วยแก้วตัดผ่าน (ได้รับการยกย่องว่า เป็นถนนอาหารปลอดภัยแล้ว)  และปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถาบันราชมงคลภาคพายัพ  เวียงนี้เป็นเวียงของชาวลัวะ เช่นเดียวกับเวียงสวนดอก  น่าจะสันนิษฐานได้ว่าลัวะ จะเป็นผู้สร้างเวียงเจ็ดลิน  สร้างก่อนเชียงใหม่ และกษัตริย์วงศ์มังรายคงมาฟื้นฟู สร้างใหม่ในภายหลัง เพราะมามีหลักฐานว่า พระเจ้าสามฝั่งแกน  กษัตริย์เชียงใหม่ ลำดับที่ ๘  ได้สร้างขึ้นใหม่
               เวียงรั้วน่าง  หรือ น่างรั้ว  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประตูเชียงใหม่ ปัจจุบันอยู่ใกล้กับวิทยาลัยนาฎศิลป์เชียงใหม่  และเป็นชุมชนมาก่อนเมืองเชียงใหม่  เพราะตำนานเล่าไว้ว่า มีมหาเถรตนหนึ่ง ได้นำต้นโพธิ์ ๔ ต้น มาถวายพญามังรายที่เวียงกุมกาม (แสดงว่ายังไม่ได้สร้างเชียงใหม่) พญามังรายจึงโปรดให้นำต้นโพธิ์ต้นหนึ่ง ไปปลูกที่รั้วน่าง แสดงว่าต้องเกิดชุมชนหรือเมืองแล้ว
                ในรัชสมัยพระนางจิรประภาเทวี  ซึ่งเป็นพระมเหสี ของพระเมืองเกษเกล้า และพระเมืองเกษเกล้าถูกเจ้าทรายคำ (โอรส)  ชิงราชสมบัติ ปกครองเชียงใหม่ได้ ๕ ปี ก็หมดอำนาจ หากษัตริย์ปครองไม่ได้ จึงยกพระนางจิรประภาเทวี ขึ้นเป็น"กษัคริย์" และเป็นอยู่ ๒ ปี  (พ.ศ.๒๐๘๘ - ๒๐๘๙)  จึงอัญเชิญ พระไชยเชษฐาธิราช  โอรสกษัตริย์ล้านช้างแต่เป็นหลาน "ตา" ของพระเมืองเกษเกล้าและพระนางจิรประภาให้มาครองเชียงใหม่  ซึ่งพอพระบิดาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสวรรคต พระไชยเชษฐาธิราชก็กลายเป็นกษัตริย์สองเมือง เพราะกลับไปครองล้านช้าง และไม่กลับไปมือเปล่า อัญเชิญ "พระแก้วมรกต" จากวัดเจดีย์หลวง ไปอยู่ลาวเสียร่วมสองร้อยปี เจ้าพระยาจักรี หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ชนะศึกในลาวจึงอัญเชิญกลับมาจากเวียงจันทน์ มาประดิษฐานอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม (วัดในวังสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี) และเมื่อถึงแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตราบเท่าทุกวันนี้ ที่เล่ายาวเกี่ยวกับพระนางจิรประภา ก็เพราะมาเกี่ยวข้องกับ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาติไทย และรัชสมัยของพระนาง พระชัยราชากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ยกทัพมาตีเชียงใหม่ตั้งทัพอยู่บริเวณเวียงรั้วน่าง ตำนานเล่าไว้เป็นภาษาล้านนาว่า  "......พระเป็นเจ้ามหาจิรประภาเทวี จึงแต่งเจ้าขุนเอาบันนาการไปถวายหั้นแล เดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำ วัน ๗ ไทยกดสี  มาตั้งทัพอยู่เวียงรั้วน่าง " แสดงว่ากรุงศรีอยุธยายังไม่ทันตีได้เชียงใหม่ พระนางจิรประภาเทวีก็ขอเป็นไมตรีเสียก่อน
               เชียงโฉม  เมืองนี้มีในตำนานค่อนข้างจะชัดเจนว่า สร้างขึ้นในสมัยพระราชวงศ์มังราย หรือก่อนหน้านั้น ตั้งอยู่นอกกำแพงด้านทิศเหนือ ห่างจากประตูช้างเผือกสัก ๒ กม. บริเวณสถาบันราชภัฎเชียงใหม่ เหลือวัดร้างคือ วัดเจดีย์ปล่อง หรือวัดเชียงโฉม มีองค์เจดีย์
                ที่ผมตั้งหน้า ตั้งตาเล่าเมืองเล็ก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเชียงใหม่ให้ทราบ จะเห็นว่าไม่มีการกล่าวถึงเวียงกานเลย และเมื่อลองค้นหามาอ่านก็พบว่าเวียงท่ากาน เป็นเมืองเก่าแก่ ศิลปากรพึ่งมาขุดแต่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑  นี้เอง  และปัจจุบันมีศูนย์ข้อมูลของศิลปากร (แยกมาจากหน่วยศิลปากรที่ ๔ เชียงใหม่)   ตั้งอยู่บริเวณกลุ่มโบราณสถานที่ดีที่สุด แต่คงจะพัฒนาต่อไปยาก เพราะที่หน่วยงานแห่งนี้  (ด้านหลังมีสุขาอย่างดี เป็นสากลด้วย)  มี "เจ้าหน้าที่คนเดียว"  เป็นคนหนุ่ม ผมไปพบกำลังกวาดใบไม้ทำความสะอาดบริเวณสำนักงานอยู่  บอกว่าเป็นคนบ้านนี้รักงานนั้มากจึงสมัครอยู่ที่นี่  ทำงานตั้งแต่สากกระเบือไปจนสร้างเรือรบนั่นแหละ  ผมขอคุยด้วยและได้ความรู้ส่วนใหญ่ของเวียงท่ากาน จากเจ้าหน้าที่คนหนุ่มผู้นี้ลืมถามชื่อไป  ก็ขอขอบคุณเอาไว้ตรงนี้ด้วย  ศิลปากรไม่คิดตั้งงบประมาณเพิ่มเติม แล้วบรรจุเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น หรือทำการขุดค้นตกแต่งให้มากกว่านี้บ้างหรือ
                สมัยก่อนไปอำเภอหางดง  ที่เป็นอำเภอต้นทางที่จะไปต่อยังอำเภอสันป่าตอง จอมทอง ฮอด ทลุออกไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจะผ่านอำเภอแม่สะเรียง  แม่ลาน้อย ขุนยวม หาทางไปไม่ยาก เดี๋ยวนี้ถนนมาก ตัดใหม่ก็แยะดังที่ผมได้บอกไว้ในตอนต้น เอาเป็นว่าออกจากเมืองผ่านไป ทางประตูสวนปรุงแล้วไปตามถนนสาย "๑๐๘"  ถนนสายนี้จะยาวไปจนถึงแม่ฮ่องสอนเลยทีเดียว
                เริ่มต้นจะผ่านอำเภอหางดงที่ห่างจากเมืองประมาณ ๑๖ กม.  เมื่อวิ่งเข้าถนน ๑๐๘ ได้แล้ว จะผ่านจุดที่น่าท่องเที่ยวคือ
               ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่  ๐๕๓  ๒๐๒ ๙๙๓ - ๕  ที่นี่ทุกค่ำจะมีจัดอาหารขันโตกเลี้ยงทุกวัน ต้องจองไปมีการฟ้อนพื้นเมืองด้วย  ใครไม่เคยกินขันโตก ลมฟ้อนไปชม ไปชิมได้เลย
               บ้านเหมืองกุง  วิ่งไปประมาณ ๑๐ กม.  เป็นหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา เช่นปั้นน้ำต้น คือ คนโท
               วัดต้นแกว๋น  เป็นวัดที่แสดงออกถึงศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่งดงามยิ่ง  ตั้งอยู่ที่บ้านต้นแกว๋น ไปตามสาย ๑๐๘  สัก ๑๐ กม.  เลี้ยวขวาเข้าสายไปสะเมิง สาย ๑๒๖๙  ไปจนถึง กม.๓๗  เลี้ยวซ้ายเข้าซอยไปประมาณ ๑๐๐ เมตร วัดจะอยู่ในซอยนี้
               วัดหางดง  ไปชมวิหารประดับลายปูนปั้น และพรรณพฤกษาเลี้ยวขวาเข้าซอยข้างตลาดสด
               บ้านถวาย  แหล่งผลิต แหล่งรวมเครื่องไม้แกะสลัก  เครื่องตกแต่งบ้านที่ใหญ่ที่สุด วิ่งมาตามถนน ๑๐๘ สัก ๑๑ กม.  มีถนนแยกซ้าย  (ไปลำพูนได้)  เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายนี้
               เวียงกุมกาม  หากมาตามถนนเลียบคลองชลประทาน สายที่อยู่ตรงข้ามโรงเรียนเชียงใหม่ภูคำ  จะไปสะดวกว่ามาทางประตูสวนปรุง  หากเลาะมาตามริมคลองชลประทานที่จะผ่านด้านข้างของตลาด ต้นพยอมที่มีของกินอร่อยตั้งแต่เช้ายันดึก  (ยามเช้าพระหลายร้อยรูปจะเดินมาบิณฑบาตที่หน้าตลาดต้นพยอม)  จะไปได้จนถึงทางแยกซ้าย (มีป้ายบอก)  ที่จะไปบรรจบกับถนนสาย ๑๐๘  ได้ไปได้เร็วและสะดวกมาก  หากไปตามเส้นนี้จนเลี้ยวซ้ายแล้ว วิ่งไปบรรจบกับสาย ๑๐๘   แล้วจะเป็นสี่แยก  หากเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกจะเข้าเมือง เลี้ยวขวาจะไปหางดง สันป่าตอง ไปเวียงท่ากาน ตรงไปเวียงกุมกาม  เมืองที่พญามังราย สร้างไว้ก่อนเชียงใหม่ และถูกน้ำท่วมทำลายเมืองจนจมใต้ดิน
                บ้าน ๑๐๐  อัน ๑๐๐๐ พันอย่างของเอกชน เปิดให้ชม ถึงก่อนที่ว่าการอำเภอ ๓ กม.
               อำเภอสันป่าตอง  จวนจะถึงเวียงท่ากานแล้ว มีทางแยกไป อำเภอแม่วาง  ไปขี่ช้าง ไปล่องแพ วิ่งต่อไปตามถนน ๑๐๘  จะไปผ่าน
                กม. ๒๙  ทางซ้าย (ความจริง ๒๙.๓๐๐) จะมีหลัก กม. เมืองยักษ์ ทำลายสถิติหลัก กม. ที่ถนนสายสกลนคร - กาฬสินธ์  ที่บอกไว้ว่าใหญ่ที่สุดในโลก  หลักนี้ใหญ่กว่ามาก จาก กม. ยักษ์ไปอีกเกือบ ๑ กม. จะพบหลัก กม.๓๐  เป็นชุมชนตลาดทุ่งเสี้ยว แต่ใหญ่มากขนาดมีธนาคารไทยพาณิชย์
                วิ่งต่อไปจนจนสี่แยกมีไฟสัญญาณ มีป้ายเล็กมาก ไม่สังเกตจะขับรถเลยทันที "ป้ายบอกว่า ไปเวียงท่าการ โบราณสถาน" เลี้ยวซ้ายไป (เอกสารศิลปากรและหนังสืออื่น ๆ สะกดเวียงท่ากาน) เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายแคบ ๆ เข้าหมู่บ้าน จะเริ่มผ่านโรงเรียนวัดต้นกอก จะพบโบราณสถานนอกเมืองเวียงกานเป็นแห่งแรก คือ เจดีย์โบราณ สุสานเก่าแต่บูรณะแล้ว เวียงท่ากาน และก่อนถึงป้ายใหญ่มีป้ายเล็ก ๆ ให้เลี้ยวซ้ายบอกว่าไป วัดป่าเป้า วัดหนองล่ม คูเมืองกำแพงเมือง หากใจร้อนก็เลี้ยวไปตามนี้ก่อนเพื่อชมดูเมือง กำแพงเมืองและซากวัด หรือจะตรงเข้าเมืองไปยังศูนย์ข้อมูลของ
หน่วยศิลปากรเลยก็ดี อย่าใจร้อนเหมือนผมที่เลี้ยวซ้ายตามป้ายไปเลย
                ประวัติ เวียงท่ากาน ตั้งอยู่ในเขตบ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ ติดกับบ้านพระเจ้าทองทิพย์ บ้านสันกะวาน บ้านหนองข่อย บ้านต้นกอก และบ้านต้นแหนหลวง เมืองนี้มีลักษณะเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวประมาณ ๗๐๐ เมตร กว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร ปรากฏแนวคูเมือง ๑ ชั้น กว้างประมาณ ๗ - ๘ เมตร และมีกำแพงดิน หรือคันดินล้อมรอบ ๒ ชั้น  ปัจจุบันเหลือสภาพแนวคูน้ำคันดินให้เห็น ๓ ด้าน เว้นด้านทิศใต้ยังมีน้ำเต็มเปี่ยมแม้แต่ในช่วงฤดูหนาว  ตัวเมืองโบราณมีสภาพเป็นเนินสูง พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบลุ่ม ห่างจากลำน้ำปิงประมาณ ๓ กม. มีแม่น้ำขานไหลผ่านทางทิศตะวันออกของเมือง ห่างตัวเมืองสัก
๒ กม. มีลำเหมืองสายเล็ก ๆ ชักน้ำจากแม่น้ำขานมายังคูเมืองด้านทิศใต้ และด้านตะวันออกก็มีลำเหมืองชักน้ำเข้ามาใช้ภายในตัวเมือง แสดงว่าระบบชลประทานสมัยโบราณดีเยี่ยม
                สภาพภายในตัวเมืองเดิมเป็นป่าทึบ ต่อมาถูกหักร้างถางพงกลายเป็นทุ่งนา เป็นหมู่บ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นตัวเมืองเดิม ชนพื้นเมืองในปัจจุบันเป็นพวก "ไทยยอง" ที่พระเจ้ากาวิละฟื้นเมืองเชียงใหม่จากเมืองร้างกลับเป็นเมืองที่มีคนอยู่ เมื่อพ.ศ.๒๓๓๘ จึงกวาดต้อนผู้คนให้อพยพมาจากที่ต่าง ๆ ทั่วล้านนา ภาษาท้องถิ่นเป็นภาษา "ยอง"  ท่ากาน มาจากคำว่า "ต๊ะก๋า" เป็นภาษาพูดเพื่อไล่กา ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ เจ้าอาวาสวัดท่ากานจึงเปลี่ยนให้เป็นภาษาเขียนว่า "ท่ากาน"
                จากตำนานหลายฉบับ กล่าวไว้ว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาเมืองนี้
                เวียงท่ากานปรากฏชื่อในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า "เวียงพันนาทะการ" ต้องเป็นเมืองสำคัญเพราะพญามังรายนำต้นศรีมหาโพธิ์ จากลังกามาปลูกไว้หนึ่งต้น ตั้งแต่ประทับที่เวียงกุมกาม
                เวียงท่ากานมีเจ้าเมืองปกครองขึ้นกับเชียงใหม่ เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหาร "พันนา" ในภาษาล้านนาคือ "ตำบล" ในแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช ยกทัพไปตีเงี้ยว และเมื่อรบชนะแล้ว ก็กวาดต้อนพวกเงี้ยวมาอยู่ที่เวียงพันนาทะการ (ระหว่าง พ.ศ.๑๙๘๔ - ๒๐๓๐)
                พม่าตีเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ.๒๑๐๑ สมัยพระเจ้าเมกุฎิ โดยทัพของพระเจ้าบุเรงนอง เวียงท่ากานจึงตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าเช่นกัน และเมื่อเชียงใหม่กลับต่อสู้พม่า ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.๒๓๑๘ เป็นผลให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองร้างอยู่จน พ.ศ.๒๓๓๙ จนพระเจ้ากาวิละ ทรงตีเชียงใหม่คืน กลับจากอำนาจพม่าได้ จึงอพยพพวกไทยองเข้ามาอยู่จนบัดนี้ ได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก แต่ส่วนมากจะนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ศูนย์ข้อมูลมีแต่ภาพนิทรรศการให้ชม เช่น พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูป พระสำริด เป็นศิลปะแบบหริภุญไชย  กลุ่มโบราณสถานที่เหลือให้ชม และตกแต่งแล้วมี ๖ กลุ่มคือ
               กลุ่มที่ ๑ โบราณสถานกลางเมือง  ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีเนื้อที่ประมาณ ๑๔ ไร่ ประกอบด้วยเจดีย์แปดเหลี่ยม แบบหริภุญไชย  เจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา เนินโบราณสถานซึ่งเดิมคือเจดีย์ วิหาร และขุดพบ "ไหลายคราม" สมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ.๑๘๒๓ ก่อนสร้างเชียงใหม่) ปัจจุบันอยู่ที่วัดท่ากาน (ใกล้กับหน่วยศูนย์ข้อมูล)  กลุ่มวัดกลางเมืองประกอบด้วยโบราณสถาน ๓ กลุ่ม
                    - วัดกลางเมืองกลุ่มที่ ๑  มีแนวกำแพงล้อมรอบ มีเจดีย์ประธานทรงระฆังอยู่ด้านหลังวิหาร
                    - วัดกลางเมืองกลุ่มที่ ๒  มีเนื้อที่น้อย ใช้กำแพงร่วมกัน กลุ่มที่ ๓ มีฐานวิหาร บ่อน้ำ
                    - วัดกลางเมืองกลุ่มที่ ๓  ประกอบด้วยโบราณสถาน ๗ แห่งล้อมรอบด้วยกำแพง
               กลุ่มที่ ๒  กลุ่มวัดและพระอุโบสถ เป็นศิลปะแบบล้านนา จะพบตั้งแต่เข้ามา
               กลุ่มที่ ๓  กลุ่มวัดต้นโพธิ์ อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ เชื่อว่าต้นศรีมหาโพธิ์ปลูกไว้ที่นี่
               กลุ่มที่ ๔  กลุ่มที่วัดหัวข่วง อยู่ตอนกลางของเมือง มีเจดีย์และวิหาร เหลือเพียงฐาน
               กลุ่มที่ ๕  กลุ่มวัดพระเจ้าก่ำ อยู่ทางทิศตะวันออก มีเนินโบราณสถานขนาดใหญ่สองเนิน ชาวบ้านขุดพบพระพุทธรูปสำริด ถูกไฟเผาจนเป็นสีดำ เลยเรียกว่า พระเจ้าก่ำ

                กลุ่มที่ ๖  กลุ่มวัดต้นกอก อยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง มีเจดีย์ทรงกลม
                การชมเมืองเวียงท่ากาน ขับรถไปตามป้าย ไปตามถนนแคบ ๆ ในหมู่บ้าน ก็จะพบโบราณสถาน แต่จะวนไปวนมา ดีที่สุดคือ ตามป้ายไปหาข้อมูล ที่ศูนย์ข้อมูลเสียก่อน อย่าทำตัวเป็นวัยรุ่นใจร้อนอย่างผม วนหากันจนมึนหัว แล้วจึงกลับไปหาความรู้ที่ศูนย์ข้อมูล
                จบแล้วไปวัดท่ากานที่กำลังบูรณะอุโบสถ พิพิธภัณฑ์ของวัดมีให้ชม แต่วันที่ผมไป ไม่ได้ชม มีพระเครื่องกรุวัดเวียงท่าการ อายุกว่าร้อยปีให้เช่าบูชา เอาเงินมาปฏิสังขรณ์อุโบสถ มีพระประธานโบราณอยู่ในอุโบสถ และเจดีย์เก่าแก่ จบแล้วเลาะข้างวัดมาบรรจบกับทางที่เริ่มต้น
                ร้านข้าวซอย ข้างที่ว่าการอำเภอสันป่าตอง เยื้องโรงเรียนพัฒนวิทย์ศึกษา ตรงข้ามป้าย KODAK มองเห็นชัด กลับมาจากเวียงท่ากาน ร้านอยู่ทางซ้ายมือ เข้ามาแล้วถึงเห็นยกป้าย คลีน ฟู้ด กู๊ด เทสท์ รับรองความสะอาดและความอร่อยไว้ด้วย ร้านนี้ขายมาแต่รุ่นแม่นานกว่า ๕๐ ปีแล้ว จัดร้านสะอาด เป็นศาลาหน้าบ้าน จอดรถในบ้านหรือริมถนนก็ได้
                ต้องสั่งคือ ข้าวซอย มีข้าวซอยปลา หมู ไก่ ลูกชิ้น  ผมสั่งข้าวซอยหมู ตามด้วยข้าวซอยไก่ รสเยี่ยมรับรองในความอร่อย ชวนชิมได้ ชามไม่โตนักจะกินสัก ๓ ชามยังไหว แต่จะเก็บท้องเอาไว้ชิมอย่างอื่นอีก แนมด้วยจานน้อยใส่ผักกาดดองและมะนาวฝานมาครึ่งซีก
                ขนมจีนน้ำเงี้ยว โรยมาด้วยถั่วงอกและผักกาดดอง น้ำเงี้ยวรสเด็ด ไม่เผ็ด
                ข้าวหมกไก่ ของเขาก็มี แต่ไม่ได้ชิม มองดูจากโต๊ะอื่นที่เขาสั่งมาน่ากิน
                ก๋วยเตี๋ยวหมู และเย็นตาโฟก็ไม่ได้ลองชิมเช่นกัน แต่ที่ควรชิมและยกนิ้วให้ทั้งมือคือ "ข้าวซอยหมู" อร่อยมากจริง ๆ พอ ๆ กับร้านในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่เคยชวนชิมไปแล้ว เช่น ย่านฟ้าฮ่าม  ชิมแล้วไม่ผิดหวัง ไม่ต้องหิ้วท้องกลับไปหากินในเมือง
                เครื่องดื่มของเขามีทั้งน้ำ น้ำตะไคร้ขายเป็นแก้ว และโอเลี้ยง
                ของหวานไม่มี แต่มีขนมใส่ถุงเอาไว้ขาย ซื้อมากินเป็นของหวานได้คือ กาละแม ฟักทองอบแห้ง ร้านนี้แน่ใจว่าอร่อยตั้งแต่เห็นคนเมืองนั่งชิมกันเต็มศาลา เป็นเครื่องหมายว่า ไม่ผิดหวังแท้แน่นอน

.........................................................

| บน |

เวียงท่ากาน: ข้อมูลเวียงท่ากาน ท่องเที่ยวเวียงท่ากาน ข้อมูลเที่ยวเวียงท่ากาน


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์