ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > วัดพระเจ้าเม็งราย
 
วัดพระเจ้าเม็งราย
วัดพระเจ้าเม็งราย

            ผมไปเชียงใหม่ ในคราวนี้ ไปตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑ ที่เมื่อถึงลำปางแล้วก็แยกไปเชียงใหม่ โดยเส้นทางนี้จะตั้งต้นที่พิษณุโลก เส้นเดินทางของผมไปเพชรบูรณ์ก่อน แล้วไปแวะนอนที่เขาค้อ วัลเลย์ เสียหนึ่งคืน รุ่งขึ้นก็มุ่งหน้ามาทางพิษณุโลกตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๒ เหลืออีก ๖ กม. จะถึงตัวเมืองพิษณุโลก ก็จะมีทางแยกขวาคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๑ เส้นทางนี้จะไปผ่านอุตรดิตถ์ เด่นชัย ลำปาง ตัดกับสาย ๑ ไปสุดทางที่เชียงใหม่ ระหว่างทางตามเส้นทางหมายเลข ๑๒ จะมีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง จะเป็นน้ำตกสวย ๆ ที่ตกจากแก่งหิน ในลุ่มน้ำเข็ก และทุกแห่งจะมีป้ายบอกอยู่ข้างทาง รถเข้าได้สะดวกทุกแห่ง ผ่านทางแยกขวาไปอำเภอนครไทย ที่จะมีถนนต่อขึ้นไปได้สะดวกจนถึง อุทยานแห่งชาติหินร่องกล้า ผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ในเขตจังหวัดพิษณุโลก (หากไปทุ่งหญ้าสวันนาของทุ่งแสลงหลวง ต้องไปจากบนเขาค้อจะไปสะดวกกว่า) การเดินทางตามเส้นทางสาย ๑๒ จากหล่มสักมายังพิษณุโลก ส่วนใหญ่ถนนจะคดโค้งไต่ไปตามไหล่เขาเกือบตลอดเส้นทาง และสาย ๑๒ นี้ จะยาวตั้งแต่จังหวัดตาก มาผ่านพิษณุโลก หล่มสัก (เพชรบูรณ์) ไปสิ้นสุดที่ขอนแก่น
            จากพิษณุโลก เลี้ยวขวาไปตามสาย ๑๑ ส่วนใหญ่จะวิ่งไปบนเขามากกว่าที่ราบ แต่ยังน้อยกว่าตอนมาตามสาย ๑๒ ชุมทางแหล่งกิน แหล่งจับจ่ายสินค้าพื้นเมืองจะอยู่ที่สามแยกเด่นชัย ซึ่งหากเลี้ยวขวาจะไปแพร่ น่าน หากเลี้ยวซ้ายไปลำปาง
            ผ่านมาหิวข้าวให้แวะที่นี่มีที่พัก ๒๔ ชั่วโมง ยกป้ายไว้อย่างนี้ ไปแวะคราวนี้เห็นแขวนป้าย คลีนฟู๊ด กู๊ดเทสท์ ไว้แล้ว สถานที่สะอาดสะอ้าน มีศาลาน้อยให้นั่งกินอาหาร บรรยากาศแจ่มแจ๋ว สุขาเป็นสากล อาหารอร่อยแวะชิม แกงแคกบ อร่อยมาก ลาบคั่วตามตำรับเหนือของแพร่ คือจะใส่มะแขว่นลงไปด้วยทำให้หอม สั่งอาหารมาแค่ ๒ อย่าง เพราะจานเด็ดของร้านที่นำชื่อเสียงมาสู่คือ ผัดไทย มีน้ำผลไม้ น้ำสัปปะรส น้ำแครอต และปิดท้ายด้วยกาแฟเย็น กรมอนามัยรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัย และให้ประกาศนียบัตรแต่งตั้งให้ผมเป็นทูตอาหารปลอดภัย เวลาไปไหนผมเลยเป็นผู้ตรวจการณ์ให้ด้วย และกรมอนามัยรณงค์เรื่องการใช้ช้อนกลางมาก ซึ่งผมเห็นดีด้วยเป็นอย่างยิ่ง และรณรงค์เรื่องส้วมสะอาด เพราะไทยจะเป็นเจ้าภาพประชุมส้วมโลก ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๙ นี้ ร้านอยู่ก่อนถึงสามแยกเด่นชัย ระหว่างหลัก กม.๑๔๒ - ๑๔๓ ถนนในช่วงนี้ของสาย ๑๑ ยกป้ายเป็น "ถนนอาหารปลอดภัย" ออกจากร้านอาหารมาผ่านสามแยกเด่นชัย เดี๋ยวนี้ร้านต่าง ๆ ย่านสามเแยก สร้างร้านเป็นเรือนไม้ถาวร แบบล้านนา เป็นแถวยาวขายเครื่องไม้ทั้งหลายราคาถูก ยิ่งเมื่อถึงสามแยกแล้ว เลี้ยวขวาไปทางแพร่ ก่อนถึงแพร่จะผ่านอำเภอสูงเม่น แถวนี้ริมถนนจะเต็มไปด้วยร้านเครื่องเรือนที่ทำด้วยไม้มากมาย ราคาย่อมเยาแต่เอารถเก๋งไป ได้แต่แล
            จากสามแยกเด่นชัย เลี้ยวซ้ายมาลำปาง ก่อนที่จะเลี้ยวขวาอีกทีทางขวาคือ วัดพระธาตุสุทนคีรี มีพระเจดีย์ที่พยายามสร้างใกล้แบบพระเจดีย์ชเวดากอง สีทองอร่ามตาและมีพิพิธภัณฑ์เรือนไม้สักทองทั้งหลังงามมาก ผ่านลำปาง ผ่านลำพูน สู่เชียงใหม่
            เมื่องานสัปดาห์การท่องเที่ยวที่ศูนย์สิริกิต์ ผมซื้อห้องพักที่เขามาขายในงาน ซื้อไปเกาะลันตา และซื้อมาเชียงใหม่ ซื้อในงานจะได้ราคาถูกพอสมควร แต่ต้องจ่ายเงินเลย จะไปพักเมื่อไรก็แจ้งเขาไป คราวนี้ซื้อห้องพักของโรงแรมชื่อยาว โรงแรมเล็ก ๆ แต่บริการเยี่ยม สะอาด เงียบสงบ น่าพัก พักแล้วติดใจไปคราวหลังจะไปพักอีก แต่คงไม่ได้ราคานี้โดยเฉพาะไปในฤดูหนาว ฤดูของนักท่องเที่ยวไปเชียงใหม่กันมาก และโรงแรมบรรยากาศแบบนี้ฝรั่งชอบ สังเกตว่าฝรั่งพักมากกว่าคนไทย มีสระว่ายน้ำ โรงแรมสูง ๔ ชั้น แต่มีลิฟขึ้นไม่ต้องไต่ขึ้นไป แถมด้วยอาหารเช้า มีข้าวต้ม ไข่ดาว ขนมปัง แฮม ไส้กรอก ส่วนผลไม้แปลกดีมีกล้วยน้ำหว้า เป็นยารักษาสารพัดโรค มีปาท่องโก๋ และน้ำส้มให้ด้วย อาหารตามสั่งมีทั้ง ๓ มื้อ แต่มื้อเช้าฟรี ไม่ต้องจ่ายสตางค์
            ไปคราวนี้ผมไปในงานพระราชทานเพลิงศพด้วย ล้านนาจะไม่เผาศพในวัดจะไปเผาในสุสาน ซึ่งสุสานก็จะมีศาลาตั้งศพ แต่พิธีศพจะตั้งศพในวัด เช่นตั้งศพ เก็บศพจะทำที่วัด อาจจะเป็นวัดที่เป็นพระอารามหลวงเช่น วัดเจดีย์หลวง ทำพิธีทุกอย่างที่วัด สวดศพ เลี้ยงพระ พอใกล้เวลาก็จะเคลื่อนศพไปยังสุสาน สมัยผมรับราชการอยู่ที่เชียงใหม่ มักจะเผาศพกันที่สุสานประตูหายยา เตาเผาแบบก่อนอิฐแล้ววางหีบศพเผากันกลางแจ้ง คนไปเผาก็ไม่มีที่นั่ง ไปถึงก็ยืนรอ ได้เวลาก็เผาและเผากันจริง ๆ จุดไฟกันเลย ที่ผมเล่านี้สี่สิบปีผ่านมาแล้ว ตอนนั้นไปบ่อยเพราะเป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ลูกน้องแยะ ลูกน้องไม่ได้ตาย แต่ญาติเขาตายเขาก็อยากให้เราไปงานศพญาติของเขา ตั้งแต่ย้ายจากเชียงใหม่มากว่า ๓๗ ปีแล้ว ไม่เคยไปงานศพใครที่เชียงใหม่อีกเลย ไปคราวนี้ ไปเห็นสุสานประตูหายยาแล้วก็ตกใจ เพราะสภาพเป็นป่าช้าเหมือนเมื่อก่อน ไม่มีกลายเป็นสุสานเพื่อเผาศพมีเมรุเผาถึง ๔ เมรุ มีงานศพพร้อมกันได้ ๔ ศพ ในเวลาเดียวกัน และเมรุใหญ่นั้นก็ทันสมัยมาก ตั้งศพบนเมรุได้เวลาเผาจริงคือ ประธานและแขกทั่วไปขึ้นเผาแล้ว เขาจะกดปุ่มให้หีบศพเลื่อนลงไปข้างล่าง ผู้ที่จะเผาจริงต้องเดินลงไปจุดไฟกันข้างล่างมองไม่เห็นเตาเผาจริง สักครู่จะเห็นแต่ควันลอยขึ้นมาทางปล่องสูง เชื่อว่าท่านที่อยู่ภาคอื่นจะไม่เคยเห็นพิธีเผาศพของล้านนา และทำพิธีในสุสานที่น่าจะใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงใหม่ อีกแบบที่ผมเคยเห็นไม่ทราบว่า เดี๋ยวนี้ยังมีทำกันหรือเปล่าคือ ศพของคนรวย ๆ ที่มีบริเวณของตัวเองกว้างขวาง เขาสร้างเมรุเผาศพ หรือปราสาทแล้วจุดไฟเผาไปทั้งเมรุเลย คอยเลี้ยงไฟให้ไหม้ศพก่อนที่จะเผาเมรุไปด้วย เห็นตั้งแต่สี่สิบปีผ่านมาแล้ว สมัยนี้คงหาใครทำแบบนี้คงจะหายาก แต่หากเป็นศพพระสงฆ์และยิ่งมีผู้นับถือมาก เขาจะสร้างปราสาท (ออกเสียงผาสาด) นิยมทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ วางบนแม่ตะเฒ่สำหรับชักลากไปยังสุสานหรือกลางทุ่ง แล้วเผาปราสาทไปพร้อมศพ เรียกว่า ประเพณีพอยล้อ


            เชียงใหม่ สร้างโดยพระเจ้ามังรายมหาราช แล้วเสด็จขึ้นครองราชสมบัติที่เชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๓๙ - พ.ศ.๑๘๕๔ ก่อนที่จะมาสร้างเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่ขึ้นครองเมืองเงินยางเชียงแสน เมื่อ พ.ศ.๑๘๐๑ มีอำนาจทางทหารมากมีพระประสงค์จะรวบรวมเมืองต่าง ๆ ไว้ในพระราชอำนาจ จึงเริ่มสร้างเมืองเชียงราย เมื่อ พ.ศ.๑๘๐๕ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๑๘๑๗ สร้างเมืองฝาง และได้ส่งขุนนางชื่อ อ้ายฟ้า มาเป็นไส้ศึกจนมายึดได้เมืองหริภุญไชย (ลำพูน) จึงทรงสร้างเมืองชะแว แต่เกิดน้ำท่วมจึงมาสร้างเวียงกุมกาม (แถว ๆ อำเภอสารภี เชียงใหม่) ซึ่งก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ เพราะสร้างขวางทางน้ำแม่ปิง คราวนี้ได้ทูลเชิญพระสหายของพระองค์คือ พญางำเมือง พ่อเมืองพะเยา พ่อขุนรามคำแหง พ่อเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นพระสหายสนิทจากสำนักตักศิลาสมัยนั้นคือ เขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ท่านอยู่คนละทิศห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร จึงได้มาเป็นพระสหายกัน สามพระสหายมาร่วมพิจารณาในการสร้างเมือง เมื่อเห็นชอบในสถานที่จะสร้างแล้ว ก็ใช้เวลาสร้างอยู่ ๒ ปี แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙ ขนานนามเมืองว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
            พญามังราย  ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ถูกสายฟ้าฟาดเสด็จสวรรคต ขณะเสด็จประพาสตลาดในเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๑๘๕๔ (ปัจจุบันจุดนี้สร้างศาลไว้) ต่อจากพญามังรายก็มีเชื้อสายของพระองค์ ครองเมืองเชียงใหม่สืบมาอีก ๑๗ พระองค์ เรียกว่า ราชวงศ์มังราย หรือวงศ์ลวจังกราช สิ้นสุดเมื่อ พ.ศ.๒๑๐๑ ในสมัยพระเจ้าเมกุฎิ ครองเมือง ต้องเสียเมืองให้แก่พม่า อยู่ใต้การปกครองของพม่านับตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๐๑ - ๒๓๑๗ จึงพ้นจากอำนาจพม่า มาขึ้นกับกรุงธนบุรี มีเจ้าผู้ครองนครซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพ ฯ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดตั้งการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๗ - ๒๔๗๖ ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นจังหวัด เชียงใหม่จึงเป็นจังหวัดมาตราบเท่าทุกวันนี่
            พญามังราย ทรงเป็นกษัตริย์นักรบ รวมรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ในล้านนาไว้ในอำนาจมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง แห่งอำนาจของล้านนา สร้างกฎหมาย เพื่อปกครองบ้านเมืองชื่อว่า มังรายศาสตร์  เป็นนักการทูตสร้างสัมพันธไมตรี กับอาณาจักรไทยด้วยกัน เช่น สุโขทัย พะเยา รวมพลังกันเพื่อป้องกันการรุกรานของมองโกล ที่รุกเข้ามาถึงแดนพม่าคือ พุกามแล้ว และเป็นกษัตริย์นักพัฒนา จะเห็นว่าทรงสร้างเมืองต่าง ๆ ขึ้นมา และที่สำคัญทางพุทธศาสนานั้น สร้างวัดสำคัญไว้หลายวัด เฉพาะในเมืองเชียงใหม่ (ไม่นับในเวียงกุกาม) ได้โปรดให้สร้างไว้ ๓ วัด ๑ ใน ๓ วัดนั้นคือ วัดพระเจ้าเม็งราย หรือวัดกาละก๊อต หรือวัดศรีสร้อยห้าแจ่ง
            จะขอเล่าถึงวัดแรกที่พญามังรายได้สร้างเสียก่อนคือ วัดเชียงมั่น เมื่อจะสร้างเวียงเชียงใหม่นั้น ได้สร้างที่ประทับอยู่ที่ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ในเวลานี้ หากถามผมว่าอยู่ตรงไหน คงจะต้องตั้งต้นตรงราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ คือ พญามังราย พ่อขุนงำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งพึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ อยู่หน้าศาลากลางหลังเก่า หากตั้งต้นตรงนี้แล้วเลี้ยวขวาข้างโรงเรียนยุพราช ถึงสี่แยกเลี้ยวซ้าย แล้วเลี้ยวซ้ายอีกทีก็จะถึงวัดเชียงมั่น เมื่อสร้างวังที่ประทับเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่มีพระประสงค์จะให้ใครมาปลูกบ้านเรือนทับที่พระองค์ประทับอยู่ถึง ๒ ปี จึงโปรดให้สร้างเจดีย์แล้วสร้างวัดขึ้น วัดเชียงมั่นจึงเป็นวัดแรกของเมืองเชียงใหม่ สิ่งสำคัญภายในวัดคือ เจดีย์ช้างล้อม มีช้างประจำอยู่ทุกด้าน ๑๕ เชือก ที่สร้างเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙ บริเวณที่เป็นหอนอนของพญามังราย ต่อมาพระเจ้าติโลกราชโปรดให้ซ่อมด้วยศิลาแลงเมื่อ พ.ศ.๒๐๑๔ และมีการซ่อมใหญ่อีกครั้งใน พ.ศ.๒๑๑๔
            วิหาร  เจ้าราชวงศ์ได้รื้อเอาหอของพระยาธรรมลังกา มาสร้างภายในมีโขงปราสาท ส่วนหอไตรสร้าง ๒ ชั้น ใต้ถุนโล่ง ฝาหนังชั้นบนมีภาพลายทอง
            พระอุโบสถ  ไม่มีหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด แต่มีหลักฐานปรากฎว่าเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๗ พระเจ้ากาวิละได้มาปฎิสังขรณ์พระอุโบสถวัดเชียงมั่น
                พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว  หน้าตักกว้าง ๔ นิ้ว สูง ๖ นิ้ว ศิลปะทวารวดี ฝีมือช่างสกุลละโว้ พระนางจามเทวีอัญเชิญมาจากละโว้ เมื่อคราวเชิญเสด็จพระนางมาครองหริภุญไชย และพญามังรายนำมาจากหริภุญชัย มาเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง
                พระพุทธรูปหินปางปราบช้างนาฬาคิรี  สกุลช่างปาละ พุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๗ ศิลปะคุปตะ เป็นพระพุทธรูปยืนยื่นพระหัตถ์ขวาเหนือหัวช้างที่หมอบอยู่ เป็นพระพุทธรูปที่คู่กับพระเสตังคมณี สันนิษฐานว่าคงจะอัญเชิญมาจากลำพูนเช่นกัน
                วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) หรือวัดเฬุกัฎฐาราม  เป็นวัดที่สงบ ร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เส้นทางวิ่งผ่านโรงพยาบาลมหาราช ผ่านตลาดต้นพยอม ไปประมาณ ๕๐๐ เมตร สังเกตทางซ้ายให้ดี ๆ จะมีป้ายเล็ก ๆ ปากซอยว่า วัดอุโมงค์ เลี้ยวเข้าไปสัก ๑,๒๐๐ เมตร วัดจะอยู่ทางขวามือเป็นวัดที่สร้างในสมัยพญามังราย เพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสีจำพรรษา ต่อมากษัตริย์องค์ที่ ๘ พญากือนาทรงสร้างอุโมงค์เพื่อให้พระมหาเถระจันทร์ ใช้เป็นที่นั่งวิปัสสนากรรมฐาน เจดีย์ใหญ่อยู่ทางทิศใต้ของมหาวิหาร น่าจะสร้างตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ และเป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่ของล้านนา เข้ามาจะผ่านหอธรรมโกษาจารย์ มีห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ตรงลานก่อนขึ้นไปบนเจดีย์ หรือก่อนเข้าอุโมงค์จะมีชั้นวางหนังสือของท่านพุทธทาส ไม่มีคนขาย ใครอยากซื้อก็หยิบเอาไปเอาเงินหยอดตู้ไว้เล่มละ ๑๐ บาท วันที่ผมไปพอดีฝนกำลังตก เขาเอาผ้าพลาสติกมาคลุมหนังสือไว้ เลยอดได้หนังสือขืนไปรื้อกองหนังสือจะเปียกฝน ใต้เจดีย์มีอุโมงค์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโมงค์ มีโรงมหรสพทางวิญญาน สวนสมุนไพร
            วัดพระเจ้าเม็งราย  ตำบลพระสิงห์ เป็นวัดที่สร้างในสมัยพญามังราย เส้นทางหากตรงไปจะไปวัดพระสิงห์ ถึงหน้าวัดเลี้ยวซ้าย แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชมรรคาที่แยกแรกวิ่งไป จะมีซอยแยกทางขวาราชมรรคาซอย ๖ วัดอยู่ขวามือ (ถนนสายนี้รถเดินทางเดียว จึงต้องไปตั้งต้นหน้าวัดพระสิงห์) วัดนี้เดิมชื่อว่าวัดกานกอด คงจะเพี้ยนมาจากคำว่า กาละก้อดตามจารึกผอบเงิน ฝังอยู่ใต้ฐานพระประธานในวิหาร สิ่งสำคัญภายในวัดคือ พระพุทธรูปที่จำลองจากพระพุทธสิหิงค์ สร้างโดย "ศรีสัทธัมมะมหาสังฆราช" เมื่อ พ.ศ.๒๐๑๒ ประดิษฐานในพระวิหารใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง ๘๖ เซนติเมตร และยังมีกลุ่มพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริดอีกหลายองค์ เป็นรูปแบบของพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑
            พระพุทธรูปปางลีลา ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย ตรงประตูทางเข้า ศิลปะล้านนา สกุลช่างเชียงใหม่ สำริดปิดทองพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ มีพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้สัก ประทับยืนปางเปิดโลก ลงรัก ปิดทอง สูงเท่าตัวคนอยู่สองข้างของพระพุทธรูปลีลา "ค่าคิงพญามังราย" อายุการสร้างอยู่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
            หลักฐานต่าง ๆ  มีน้อยมาก เป็นวัดเล็ก ๆ เงียบสงบสันนิษฐานว่า วัดนี้เป็นพระอารามแหล่งที่ ๓ ที่พญามังรายได้สร้างขึ้น (ทางวัดเขียนว่า วัดเม็งราย)
            ผมได้เล่าถึงสุสานประตูหายยา หากเราไปตามถนนที่จะไปสนามบิน พอเลี้ยวซ้ายมาจะผ่านประตูหายยา หากตรงผ่านสี่แยกไปจนถึงวัดศรีปิงเมือง จะมีร้านอาหารจีนอร่อยมากราคาถูก ฝีมือกุ๊กเก่าเยาวราชอยู่หน้าบ้านทางซ้ายมือก่อนถึงวัด เลยเอามาบอกไว้ด้วย ขายตั้งแต่มื้อเที่ยงไปเลย กระเพาะปลาน้ำแดง ข้าวผัดกวางเจา หอยจ้อ ผัดผักปวยเล้ง เนื้อกระทะแรมโบ้
            ร้านอาหาร เส้นทางไปทางเดียวกับวัดอุโมงค์ ผ่านหลัง มช. ไปจนสุดถนนสุเทพ สุดทางหากตรงไปจะไปร้านกาแล ให้เลี้ยวขวาตามป้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ ถนนจะพาไปบนเขาตามป้ายไปเรื่อย ๆ จนพบน้ำตกผาลาดอยู่ทางซ้าย ร้านจะอยู่ทางขวามือ ยามค่ำจะมองเห็นแสงไฟในเมืองเชียงใหม่งามนัก หากจองโต๊ะมาจะได้นั่งตรงระเบียง มีวงดนตรีโฟล์คซองวงเล็ก ๆ บรรเลงไพเราะ ร้องทั้งเพลงไทยและเพลงสากล
            อาหารไทยรสจัดจ้าน ริมธารนามผาลาด ธรรมชาติป่ากลางเมือง
            จุดชมวิวที่สวยที่สุด ไม่ใช่อาหารเมืองเหนือ แต่เป็นขาหมูเยอรมัน แบบเดียวกันต้องสั่งว่า "ขาหมูตะวันรอน" จะได้ขาหมูทอดจานใหญ่ ไร้มันตือ ทอดเอามันออกหมดแล้ว หนังกรอบมีแต่เนื้อ น้ำจิ้มแบบไทยรสจัดจ้าน เป็นไทยตรงนี้ แต่ขาหมูเป็นเยอรมัน เคียงด้วยมันบด กล่ำปลีดอง
            ไส้กรอกรวม มีไส้กรอกมากถึง ๕ ชนิด เสริฟมาพร้อมผักดอง มีน้ำจิ้มให้จิ้มถึง ๓ ถ้วย เลือกจิ้มเอาคือ มัสตาร์ดเผ็ดนิด ๆ ซ๊อสมะเขือเทศ ซ๊อสพริก แต่ไส้กรอกก็มีรสในตัว ไม่ต้องจิ้มก็อร่อยแล้ว ไส้กรอกท่อนใหญ่ น่ากินจริง ๆ กลิ่นหอมกรุ่น
            ปลาหมึกไข่นึ่งมะนาว หมึกมีไข่ น้ำนึ่งมาก รสเปรี้ยวนิด ๆ ซดตอนร้อน ๆ วิเศษนัก
            ปลากะพงทอดน้ำปลา มีผักวางเคียง มีน้ำจิ้ม
            ลาบคั่ว ไม่ใช่อาหารจานเด่นของร้าน แต่ผมมาเมืองเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ ต้องสั่งลาบเหนือมาชิมทุกทีไป แล้วก่อนกลับจะต้องดั้นด้นไปค้นหาร้านข้าวซอย ชิมให้ได้สักชาม หรือแถมด้วยขนมจีนน้ำเงี้ยว ไม่เช่นนั้นเหมือนไม่ได้มาเมืองเหนือ 

..............................................................

| บน |

วัดพระเจ้าเม็งราย: ข้อมูลวัดพระเจ้าเม็งราย ท่องเที่ยววัดพระเจ้าเม็งราย ข้อมูลเที่ยววัดพระเจ้าเม็งราย


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์