ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
 
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (ลพบุรี)

           ท่านเจ้าคุณ ศรีธรรมเมธี  วัดมหรรณพาราม  ท่านได้เมตตาส่งหนังสือดีๆ มาให้ผมเสนอ คราวนี้ได้รับจากท่าน ๑ เล่ม ชื่อเรื่อง ลพบุรีที่น่ารู้ ของอาจารย์ หวน พินธุพันธ์  ซึ่งพิมพ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๒  ท่านอาจารย์เป็นอาจารย์อยู่ในสถาบันราชภัฎเทพสตรีซึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ นั้น ยังเป็นวิทยาลัยครูเทพสตรี อยู่ ท่านได้เขียนไว้อย่างละเอียดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยท่านรวบรวมไว้ได้หมด เมื่ออ่านหนังสือของอาจารย์หวน แล้วบางสถานที่ผมต้องตามไปดู หรือตามไปชมใหม่ เพราะอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการบูรณะปฎิสังขรณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น ปรางค์แขกที่มีภาพในหนังสือของอาจารย์ หวน กับปรางค์แขกในปัจจุบันผิดกัน หรือที่วัดสันเปาโลเป็นต้น ลพบุรีได้พยายามพัฒนาบูรณะโบราณสถานหลายแห่ง แต่ยังไม่เรียบร้อยดีทีเดียวต้องลงทุนมากกว่านี้เพือให้โบราณสถานเด่น สมกับที่เวลานี้มีนักท่องเที่ยวชางต่างประเทศพากันมาเที่ยวทุกวัน และจำนวนมากด้วย เช่น จะให้ปรางค์สามยอดเด่นเป็นสง่าก็ต้องเวนคืนที่ดินรอบ ๆ ปรางค์สามยอดทางด้านทิศเหนือ ซึ่งเวลานี้เป็นโรงภาพยนตร์รื้อออกไปเสียให้เกิดที่ว่าง คนที่นั่งรถไฟมาจากเหนือ พอเข้าเขตสถานีรถไฟลพบุรี ก็จะเห็นปรางค์สามยอดเด่นเป็นสง่าหรือเขตสังฆาวาสของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุซึ่งอยู่ติดกับวัดนครโกษา วัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งก็เป็นที่พักอาศัยของชาวบ้านไปหมดแล้วแต่หากได้ย้ายสถานีรถไฟลพบุรีออกไปเสีย ไปอยู่ทางทิศใต้ก็ได้ เพราะมีถนนตัดมาแล้วเมื่อย้ายแล้ววัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จะเด่นเป็นสง่าขึ้นมาทันที รวมทั้งวัดนครโกษาด้วยบางทีเราต้องยอมเสียสละกัน เพื่อรักษาโบราณสถานซึ่งเชิดหน้าชูตา ของประเทศของเราไว้จงอย่าลืมพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เคยรับสั่งไว้ว่า "แม้แต่อิฐแผ่นเดียวยังมีค่า..." ไม่ลองคิด ลองพิจารณากันดูบ้างหรือและภาครัฐบาลก็ควรจะจัดสรรงบประมาณในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น ไม่ใช่พัฒนาแต่ด้านวัตถุให้มุ่งพัฒนาด้านศาสนาและวัฒนธรรมด้วย ผมเคยใช้ ศาสนา วัฒนธรรมและการกีฬาเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฎิบัติการปราบปราม พวกก่อการร้ายที่ใช้ชื่อเสียโก้เก๋"ว่า ขบวนการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน" เมื่อผมทำหน้าที่แม่ทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้าในปีพ.ศ.๒๕๒๙ - ๒๕๓๐  ผมได้ใช้วิธีการที่เข้าถึงประชาชนด้วยการ เข้าถึงศาสนาที่พวกเขานับถือเช่น การสร้างมัสยิด (โดยไม่ได้ใช้เงินของทางราชการ)  ที่ตำบลปะแต ในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา มัสยิดนี้งดงาม ยังยืนยงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ สร้างที่ล้างมือ(ล้าง ๕ จุด ก่อนละหมาด) ให้แก่โรงเรียนหลาย ๆ โรงเรียน ทางด้านวัฒนธรรม เช่นฟื้นฟูจัดตั้งการแสดงลิเกฮูลูซึ่งจะดูสนุก ฟังเสียงตีกลองก็มันแล้ว ผมตั้งคณะลิเกฮูลู เอาทหารที่นับถืออิสลามมาฝึกเล่นฝึกโดยครูชาวพื้นบ้าน เป็นแล้วหาเครื่องแต่งตัวสวย ๆ ให้หาเครื่องดนตรีให้ซึ่งโดยมากก็คือ กลอง ซึ่งจะตีกันสนุกจริง ๆ การกีฬาผมได้เป็นผู้จัดตั้งสมาคมกีฬาปัญจักสิลัตแห่งประเทศไทยเพื่อนำนักกีฬาเข้าแข่งขันซีเกมส์ ซึ่งเวลานั้นไม่มีใครรู้จักกีฬาประเภทนี้เลยผมโดนโยนลูกมาให้รับจัดการ มีเวลา ๖ เดือน เพื่อหานักกีฬามา เพื่อฝึก (โดยครูจากอินโดนิเซียส่งมาให้) แล้วส่งเข้าแข่งขันชิง ๑๕ เหรียญทอง ทั้งชายและหญิง ปรากฎว่ามีเวลาแค่นั้นอุตสาห์ได้เหรียญกลับมา แต่ต่อจากนั้นระหว่างที่ผมเป็นนายกสมาคา ฯ อยู่ก็ไปคว้าเหรียญมาได้ทุกครั้งจากซีเกมส์และการแข่งขันระหว่างประเทศ เช่น การชิงแชมป์โลกปัญจักสิลัต ไทยมีแชมป์โลกหญิงถึง๒ รุ่น และชายอีก ๑ รุ่น ต่อมาบรูไนไม่ได้เหรียญทองกับเขาเลย พวกแขกเขาก็ช่วยกันด้วยการเพิ่มเหรียญขึ้นมาอีก ๖ เหรียญ เป็นชิงเหรียญทอง ๒๑ เหรียญ เหรียญที่เพิ่มมานี้เป็นเหรียญในท่วงท่าร่ายรำไม่มีการต่อสู้ คล้ายกัยการละเล่น "ศิระ หรือสิระ" ของปักษ์ใต้บ้านเรา (หมายถึง สตูล ยะลา นราธิวาส และปัตตานี)  การตัดสินไม่ได้มาตรฐานฮั้วกันได้ทำให้บรูไนมีโอกาสได้เหรียญทองกับเขาบ้าง จากกีฬานั้ วิธีนี้เราก็เอาเด็กหนุ่มที่กำลังห้าวฮึกประเภทขี่จักรยานยนต์ซิ่งนี่แหละ มาฝึกดีนัก ฝึกแล้วก็พาไปแข่งขัน แต่ต้องฝีมือดีจริงๆ ที่มือไม่ถึงก็ให้แข่งภายใน เขาก็ถ่ายอารมณ์ฮึกด้วยการได้ไล่เตะ ไล่ต่อยบนเวทีปัญจักสิลัตพอชนะก็โก้อย่าบอกใคร ทำให้ไปจูงใจคนอื่นให้มาสมัครเข้าฝึก ต้องใช้ศาสนา วัฒนธรรมและการกีฬา ร่วมด้วยจึงจะได้ผล และผู้ใหญ่ในการนำการปราบปรามนั้น ต้องเข้าถึงประชาชนถึงพื้นบ้าน เดินดินกินข้าวเปิปไปด้วยมือ ขอกินจากชาวบ้าน (เราช่วยออกค่าอาหาร) เลยทีเดียว กินด้วยความเอร็ดอร่อยกันจริง ๆ กินให้อร่อย เช่น เช้า ๆ ผมไปเดินตลาดปัตตานีซื้อข้าว "นาซิ ดาแง"จากแม่ค้าเจ้าประจำมากิน ที่ร้านกาแฟ ใคร ๆ ก็เห็นแม่ทัพกล้านั่งกินกลางตลาดแถมเอามือเปิปเสียอีก นาซิ แปลว่า ข้าว ตาแง หรือดาแง แปลว่า เขียง ข้าราดแกงที่หอมกรุ่นมีเนื้อหวานด้วย อร่อยนักและจากการปฎิบัติการดังกล่าว ที่เล่าให้ฟังนี้เป็นผลให้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ผมก็สับหางพวกนี้สำเร็จคงเหลือแต่คำว่า "ผู้ก่อการร้าย"คำว่า "แบ่งแยกดินแดนหายไป"  กองทัพก็ปิดกองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้าผมได้ย้ายเข้ารับราชการในกรุงเทพ ฯ ในตำแหน่งและยศที่สูงขึ้น ๑๗ ปี ผ่านไปมกราคม ๒๕๔๗ ทางกองทัพต้องเปิดกองบัญชาการ กองทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้าขึ้นใหม่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก ปัตตานี ตั้งที่เดิมที่ผมตั้งกองบัญชาการมาแล้วนั่นแหละเพราะว่า "ขาดความต่อเนื่อง"ละเลยทอดทิ้งที่ทำเอาไว้ให้แล้วดี ๆ ไปเสีย ไม่มองเห็นความสำคัญ กองพันทหารจึงถูกปล้นปืนนับร้อยกระบอกงานปล้นขนาดนี้เป็นสมัยผมจะทำไม่ได้ ผมจะรู้ล่วงหน้าเป็นเดือน เพราะเราเข้าถึงชาวบ้านได้ข่าวที่เป็นข่าวกรองจากชาวบ้าน  ด้วยการซื้อข่าว เมื่อทราบแน่เราก็ป้องกันเสียฝ่ายเขาการข่าวย่อมดีเหมือนกัน เขารู้ว่าเรารู้เขาก็ไม่กล้าออกปฎิบัติการผมเขียนลพบุรีแต่ยาวลงไปจนถึงภาคใต้ ที่กำลังวุ่นวายกันอยู่ เพราะเพื่อเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระลึกถึงโบราณสถานให้มาก ๆ "ลังกาสุกะ"เมืองที่อยู่ในอำเภอยะรัง นั้น เดิมชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธกันทั้งสิ้นปัตตานีมาเปลี่ยนศาสนาในภายหลัง แล้วก็เกาะแน่นกับศาสนาอิสลามจนคนในพื้นที่เข้าใจว่า เขาอยู่ในดินแดนของอิสลาม แต่หากเขารู้จักประวัติศาสตร์รู้จักวัฒนธรรม และโบราณสถานแล้ว จะเถียงไม่ออกว่า ดินแดนนี้คือ ดินแดนของพุทธศาสนาเดิม หลักฐานที่เป็นโบราณสถานของเมืองลังกาสุกะยังมีอยู่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ก็เคยเสด็จไปชมโบราณสถานแห่งนี้ อำเภอยะรังจังหวัดปัตตานี
           ผมถึงพยายามเขียนเตือนเอาไว้ว่า ให้เราคำนึงถึงโบราณสถานกันให้มาก ๆ จะเสียเงินเสียทองก็ต้องยอมแจกหมู่บ้านละล้านยังทำได้ ทำแล้วความเจริญในหมู่บ้านไม่เกิด หรือเกิดก็น้อยมากเพราะชาวบ้านกู้เอาเงินผันไปซื้อรถมอเตอร์ไซต์ ไปใช้หนี้ที่เสียดอกเบี้ยสูงไม่ได้ไปสร้างสรรค์ลองตั้งงบสร้างมัสยิดทุกหมู่บ้าน (เฉพาะที่ไม่มีมัสยิด)  ออกแบบให้สวยๆ สัก ๕ - ๖ แบบ แล้วตั้งงบไม่เกินหลังละ ๑ ล้าน สร้างสัก ๑๐๐ หลัง สร้างที่ล้างมือล้าง ๕ จุด ให้โรงเรียนต่าง ๆ ที่นักเรียนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นักเรียนนับร้อยจะได้ไม่ต้องเข้าแถวเป็นชั่วโมงเพื่อรอล้างมือ ย้ายสมาคมปัญจักสิลัตที่นักการเมืองเอาไปครองแล้ว ไม่ได้เหรียญทองลงไปไว้ที่ภาคใต้ดีที่สุดคือที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อฝึกเด็กหนุ่ม สาว ที่กำลังฮึกให้เป็นนักสู้ที่ถูกวิธีอยู่ในกรอบ ควบคุมดูแลโรงเรียนปอเนาะให้ดี ๆอย่าปล่อยตามสบายอย่างนี้ รวมถึงโรงเรียนสอนภาษาจีน บนดอยอ่างขาง เชียงใหม่ที่เวลานี้เปิดสอนในเวลากลางคืน สอนภาษาจีนล้วนๆ ไม่มีการควบคุมโดยทางราชการท่านทราบกันบ้างหรือเปล่า ผมไม่มีอำนาจหน้าที่อะไรแล้ว ก็ได้แต่เขียนเตือนเท่านั้นอย่าลืมว่าผมเป็นนักเดินทางเดินทางตลอดปี ทั่วประเทศไทย

           กลับมาเมืองลพบุรี เขียนเรื่องนี้ทีไรแล้ว เพ้อไปไกลขออภัยท่านผู้อ่านด้วยแต่น่าจะมีประโยชน์
           ลพบุรี สมัยหลายพันปีมาแล้วนั้น เชื่อว่าเป็นเมืองที่อยู่ปากอ่าวไทย คือ ริมฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าว และเก่าแก่ยืนนานคู่กันมากับ นครปฐม ที่เป็นเมืองอยู่ทางปากอ่าวทางฝั่งตะวันตกทั้งลพบุรีและนครปฐมคือ จังหวัดที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย เป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวาราวดีและเชื่อกันว่า ลพบุรีนั้นน้ำทะเลขึ้นถึง จนมีชื่อตำบลทะเลชุบศร อยู่ในเขตอำเภอเมืองลพบุรี
           ลพบุรีแบ่งออกเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ แล้วมาถึงยุคทวาราวดี ยุคลพบุรี ยุคสุโขทัยสู่ยุคอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ตราบเท่าทุกวันนี้
           ในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น ค้นพบหลักฐานที่บ้านโคกเจริญตำบลบัวชุม อำเภอโคกสำโรง ลพบุรี
           ขุดค้นพบที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ที่ผมเคยรับราชการอยู่นานถึง ๑๑ ปี ตั้งอยู่ที่ โคกกระเทียม อำเภอเมืองลพบุรีได้หลักฐานมนุษย์ยุคสัมฤทธิ์
           สมัยเริ่มประวัติศาสตร์ ได้หลักฐานว่า ลพบุรีอยู่ติดทะเล เป็นเมืองรุ่งเรืองมาก่อนคู่กับนครปฐมแห่งสมัยทวาราวดี
           พงศาวดารเหนือมีหลักฐานแน่นอนกล่าวไว้ว่า พระยากาฬวรรณดิศมาสร้างเมืองลพบุรีเมื่อ พ.ศ.๑๐๐๒  โดยสร้างเมือง"ละโว้" พระยากาฬวรรณดิศ เป็นชาวละว้า ยกไพร่พลลงมาจากจังหวัดตาก มาสร้างเมือง
           พ.ศ.๑๒๐๔  พระนางจามเทวี ราชธิดากษัตริย์ละโว้ได้รับการอัญเชิญไปครองเมืองหริภุญชัย (ลำพูน)
           พ.ศ.๑๔๐๐  ขอมเข้ามามีอำนาจในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงนครปฐมแต่ยังมีอำนาจไม่มากนัก และขอมเมื่อเห็นความเจริญรุ่งเรืองของละโว้ จึงตั้งละโว้เป็นราชธานีของขอมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
           พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒  ยกละโว้เป็นเมืองลูกหลวง
           พระเจ้าสุริยวมันที่ ๑  กษัตริย์ขอมกลับมาตีละโว้คืนมาได้หลังจากที่ละโว้พ้นอำนาจขอมไประยะหนึ่ง ซึ่งในช่วงนี้จะใกล้เคียงกับการสร้างปราสาทนครวัดและการสร้างปรางค์สามยอดที่ละโว้ ปรางค์สามยอดจึงมีอายุแก่กว่าปราสาทนครธมที่สร้างหลังนครวัดที่เสียมราฐเช่นกัน หลังกว่า ๒๐๐ ปี
           พ.ศ.๑๖๑๒ พระนารายณ์ราชโอรส ของพระเจ้าจันทโชติ ได้กู้อิสรภาพของละโว้กลับคืนมาได้แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองละโว้เป็นชื่อ"เมืองลพบุรี" เป็นการพ้นจากอำนาจของขอม
           พ.ศ.๑๘๐๐  สมัยสุโขทัย ละโว้มาขึ้นกับกรุงสุโขทัยเป็นการพ้นจากอำนาจขอมโดยเด็ขาด ขอมสิ้นอำนาจจากผืนแผ่นดินไทยทุกแห่ง
           พ.ศ.๑๘๙๓  พระเจ้าอู่ทอง ตั้งกรุงศรีอยุะยาและได้ลพบุรีมาอยู่ในอำนาจ และได้ส่งให้ราชโอรสคือพระราเมศวร มาครองเมืองลพบุรี แต่เคยให้ไปตีขอม ตีไม่ได้ต้องให้พี่ชายพระมารดาที่ครองสุพรรณบุรีอยู่คือขุนหลวงพะงั่ว ไปตีจึงได้พระนครหลวงของขอมมา เป็นผลให้เมื่อพระเจ้าอู่ทองสวรรคต มอบราชสมบัติแก่พระราเมศวร พระราเมศวรต้องถวายราชสมบัติให้แก่ขุนหลวงพะงั่วเป็นรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่พอขุนหลวงพะงั่วสวรรคตบ้าง ราชโอรสขึ้นครองแทนพระราเมศวรซึ่งท่านกล้าแข็งในกำลังรบเสียแล้ว ก็กลับมายึดบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาคืนพระราเมศวรจึงครองอยุ่ที่ลพบุรีนานถึง ๓๘ ปี
           พ.ศ.๒๒๐๘  สมเด็จพระนารายณ์ โปรดเกล้าให้สร้างลพบุรีเป็นราชธานีอีกแห่งหนึ่ง
           พ.ศ.๒๓๑๐  สมัยกรุงธนบุรี เมื่อปราบภายในสงบแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็เริ่มส่งกองทัพไปตีเมืองต่างๆ เพื่อขยายพระราชอาณาเขต เช่น ตีได้เวียงจันทน์ตีได้หลวงพระบาง ตีได้ศรีสัตนาคนหุต ที่พูดภาษาเงี้ยว และมีพวกมอญที่หนีพม่ามาจากหงสาวดีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ชนเเหล่านี้อพยพ หรือถูกกวาดต้อนมาอยู่ลพบุรี หลายครั้งหลายหนด้วยกันเป็นผลให้ลพบุรีในทุกวันนี้ มีภาษาท้องถิ่นหลายภาษา
           สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ซ่อมสร้างพระราชวังเก่าคือวังนารายณ์ราชนิเวศน์ในปี พ.ศ.๒๔๐๖  ทั้งนี้เพื่อเตรียมตั้งเป็นราชธานีแห่งที่ ๒ เพราะอิทธิพลของยุโรปเริ่มเข้าแผ่ในเมืองไทย มีพระราชดำริเช่นเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
           พ.ศ.๒๔๘๓  จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อดีตของท่านคือ นายทหารปืนใหญ่เคยรับราชการอยู่ในศูนย์การทหารปืนใหญ่ เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือวารสารทหารปืนใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๒  ผมเป็นบรรณาธิการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔  และได้วิธีการเขียนจากท่านมาเพราะทหารเขียนหนังสือให้คนอ่านนั้นหายาก ปรากฎว่าหนังสือที่ท่านจอมพล ฯ ทำนั้นบางเล่มมีเรื่องของท่านมากถึง๘ เรื่อง  และท่านใช้นามจริง ส่วนผมเคยทำได้สูงสุดแค่ ๕ เรื่อง แต่ใช้นามปากกาของท่านใช้นามจริงทุกเรื่อง คือ "ร้อยเอก แปลก ขีตังคะ"  เสียดายที่หนังสือทหารปืนใหญ่เล่มที่ท่านจอมพลฯ เป็นบรรณาธิการหามาได้เล่มเดียว ที่บรรรณาธิการต้องเขียนกันมากเพราะไม่มีเรื่องจะลงค่าเรื่องไม่มีจ่ายไม่มีใครอยากเขียนให้ บรรณาธิการจึงต้องรับไม่งั้นถึงเวลาหนังสือออกไม่ได้
           ท่านจอมพล ป. ท่านจึงผูกพันกับลพบุรีมาตั้งแต่ท่านออกเป็นนายทหาร ท่านมองเห็นแล้วว่าศาลากลางไปอยู่ในวังนารายญ์ มีแต่ทำลายโบราณสถานแห่งนี้ บ้านเรือนราษฎรรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่โบราณสถานท่านจึงคิดสร้างเมืองใหม่ทางตะวันออกของทางรถไฟ เริ่มตั้งแต่โรงแรมทหารบกหลังศาลพระกาฬเรื่อยมาจนถึงสระแก้วโดยมีสระแก้วเป็นศูนย์กลางของเมืองใหม่ ถนนเมืองใหม่ชื่อ ถนนสมเด็จพระนารายณ์
           ถ้าเราเดินทางมาจากกรุงเทพ ฯ มาตามถนนพหลโยธินที่คนรู้จักกันน้อยเต็มที เพราะได้ขยายได้สร้างทับกันจนเต็มไปหมดเอากันแน่ ๆ ที่เป็นพหลโยธินคือ จากรังสิตเป็นต้นมา มาผ่านอยุธยา (วังน้อย) หินกอง สระบุรี พระพุทธบาท ก็จะถึงวงเวียนที่มีพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประทับยืนอยู่ ได้รับการตกแต่งใหม่จากเทศมนตรีชุดก่อน เขาว่าด้วยราคาที่แพงมากต้นไม้ยังไม่ร่มรื่น นายกเทศมนตรีชุดปัจจุบันเป็นหญิง กำลังแก้ไขอยู่ ผมอยากเห็นด้านหลังที่เป็นแผ่นคอนกรีตหนาทึบเหมือนกั้นไม่ให้ชาวเมืองลพบุรีออกนอกเมือง แต่หากได้เขียนภาพจิตรกรรมหลังราชานุสาวรีย์เช่น เอาภาพตอนที่ทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มาถวายสารตราตั้งก็จะมีความหมายและงดงามอย่างยิ่งและเป็นภาพประวัติศาสตร์ด้วย มีในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ในวังนารายณ์
           จากพระพุทธบาท จะผ่านราชานุสาวรีย์ชาวลพบุรีเรียกว่า วงเวียนพระนารายณ์ความจริงชื่อว่า วงเวียน"เทพสตรี" ต่อมาถึงวงเวียนสระแก้วความจริงชื่อว่า "วงเวียนพระสุริโยทัย" ตรงนี้ทางด้านเหนือมีอนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงคราม (รูปเหมือนของท่านเอามาจากศูนย์การทหารปืนใหญ่แต่อนุสาวรีย์แห่งแรกของท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งผมได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสร้างและจัดหาทุนเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓  นั้น ได้ให้กรมศิลปากรปั้นและหล่อรูปของท่านจอมพลขึ้นใหม่อนุสาวรีย์อยู่หน้าทางเข้าศูนย์การทหารปืนใหญ่)   และด้านหลังอนุสาวรีย์คือโรงภาพยนตร์ทหารบก แบบอาคารยุคจอมพล อีกแบบหนึ่ง ที่เรียบง่าย ประหยัด
           ด้านหลังโรงภาพยนตร์คือ สวนสัตว์ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทย ตั้งมาตั้งแต่สมัยสร้างโรงภาพยนตร์ต่อมาจะผ่านมหาวิทยาลยเทพสตรี ผ่านศาลพระกาฬ เห็นปรางค์สามยอดอยู่ทางขวา ข้ามทางรถไฟแล้วเลี้ยวซ้ายถึงสถานีรถไฟ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อยู่ทางขวามือ อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรแล้วมีพนักงานนั่งขายบัตรเข้าชมคนละ ๑๐  บาท มีคนงานตัดแต่งหญ้าเรียบร้อย
           วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรีนี้ อยู่ในคติของโบราณที่เมืองใหญ่ จะต้องสร้างวัดสำคัญไว้กลางเมืองและมีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วัดพระธาตุลพบุรี ก็เป็นแห่งหนึ่ง สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยละโว้  จนมาต่อเนื่องกับสมัยอโยธยา มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ได้บูรณะปฎิสังขรณ์เพิ่มเติม เช่น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นต้น
           วัดมหาธาตุ แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนพุทธาวาส และสังฆาวาส ซึ่งส่วนหลังนี้ถูกบุกรุกไปหมดแล้วคงเหลือพื้นที่ส่วนพุทธาวาส มีพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่ มีถนนตัดรอบวัด ไม่ได้เข้าไปชมวิ่งรถวนชมรอบ ๆ วัดก็ได้
           เมื่อผ่านประตูเข้าไปจะเห็น ดังนี้
           พระอุโบสถ  มีขนาดใหญ่โตมากและเหลือแต่ผนังทั้ง ๔ ด้าน แต่ก็ไม่สมบูรร์นักกับกองพระพุทธรูปที่หัก ๆ
           ทางซ้ายของพระอุโบสถมี "ศาลาเปลื้องเครื่อง" ซึ่งสันนิษฐานว่า คงสร้างขึ้นภายหลัง เชื่อว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ ฯ จะมาประกอบพิธีทางศาสนาคงจะต้องมาเปลื้องเครื่องทรงที่ศาลาหลังนี้
           ศาลาเปลื้องเครื่อง อยู่ติดกับวิหารเล็ก ๆ  แต่ปิดประตูใส่กุญแจไว้ มีพระพุทธไสยาสน์ประทับอยู่มองเห็น

           ด้านหลังพระอุโบสถคือ พระปรางค์ซึ่งพระปรางค์เป็นพระปรางค์องค์เดียวโดด ๆ ไม่ใช่เรียงกันสามองค์เช่น พระปรางค์สามยอดแต่เชื่อว่าสร้างในรุ่นเดียวกัน คือ ระหว่าง พ.ศ.๑๕๐๐ - ๑๘๐๐ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและได้ชื่อว่ามีลวดลายปูนปั้นงามเป็นเลิศ แต่น่าเสียดายในการบูรณะทำให้เสียหายไปไม่ใช่น้อยแต่ยังพอหลงเหลือให้ชมความงามคือ
           ทางซ้ายหรือทางใต้ของพระปรางค์ เงยหน้ามองสูงสักหน่อย ที่หน้าบันจะเห็นภาพพระอมิตาประทับบนดอกบัวมีก้านในสวรรค์สุขาวดี
           ตามคติพุทธมหายาน ลายปูนปั้นที่หน้ากระดานแถวบนสุด เป็นลายกระหนกที่รับอิทธิพลขอมศิลปะสมัยละโว้
           ลายปูนปั้น มกรคายนาคหน้าบันซุ้มโคปุระ หรือซุ้มหน้าของปรางค์ประธาน เป็นศิลปะละโว้ กับอโยธยา
               วิหารหลวง อยู่ทางขวาของพระอุโบสถ เข้าใจว่าปฎิสังขรณ์จนกลายแบบไปแล้ว เดิมประตูเป็นศิลปะไทยแต่หน้าต่างนั้นเป็นศิลปะแบบโกธิค ของฝรั่งเศสแสดงว่าสร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ
               เจดีย์รายอยู่รอบพระปรางค์ใกล้ชิดกำแพงวัด หลายองค์ยังมีภาพลวดลายปูนปั้นที่งดงามอยู่
               วิหารคด ยังมีสภาพที่ดีเหลือให้ชมมาบรรจบกันที่ท้ายวิหารหลวง
           ชมวัดพระธาตุจบแล้ว จะเดินข้ามฟากไปชมวัดนครโกษาต่อเลยก็ได้ ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าพระยาโกษาสร้างเปลี่ยนแปลง ต่อเติมจากเทวสถานที่ขอมสร้างไว้เดิม
           ไปร้านอาหาร ร้านนี้ดูเหมือนจะเคยเล่าให้ทราบไปแล้ว แต่คงจะนานเต็มที ร้านเขาเจริญเติบโตจนย้ายร้านเลยนำมาเล่าอีกครั้ง และอาหาร สถานที่ ห้องสุขา ดีกว่าเดิมมากควรแก่การมาชิมเมื่อมาลพบุรี เป็นอาหารภาคใต้ ตำรับทุ่งสง เพราะแม่ครัวเอกและมารดานั้น เป็นชาวทุ่งสงนครศรีธรรมราช
           เส้นทาง มาจากพระพุทธบาทสระบุรี วิ่งมาถึงวงเวียนพระนารายฯ์ เลี้ยวขวาไปสัก๕๐๐ เมตร ถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณ ให้เลี้ยวขวาผ่านที่ตั้งร้านเดิมไปประมาณ ๑กิโลเมตร ร้านจะอยู่ทางซ้ายมือ ร้านใหญ่โต โอ่โถงนั่งสบาย
           ข้าวยำปักษ์ใต้ อร่อยนัก รัฐมนตรี สุดารัตน์ ฯ ออกทีวีเอง บอกว่า ข้าวยำปักษ์ใต้เป็นอาหารพร้อมด้วยสมุนไพรและป้องกันโรคมะเร็งได้ มีส้มโอ ตะไคร้ ใบมะกรูด หั่นฝอยถั่วงอกดิบ มะม่วงซอย ถั่วฝักยาว และมะพร้าวคั่ว ราดน้ำบูดู ทำได้เก่งมากยังกับน้ำบูดูที่สายบุรี ปัตตานี นั่นแน่ะ
           แกงซี่โครงหมู รสใต้แท้ ทั้งเด็ด และเผ็ด อร่อย
           คั่วกลิ้งหมู เนื้อของเขาก็มี น้ำพริกผัก จะขาดไม่ได้สำหรับอาหารใต้
           ปลาทับทิมราดกระเทียม ทอดไม่เหมือนใครเพราะจะมีความหวานนิด ๆ ติดมาด้วย
           หมูหวาน และไข่ลูกเขยต้องสั่งมาด้วย มาช่วยแก้ความเผ็ดอร่อย ไม่ใช่เผ็ดร้าย
           นอกจากนี้ยังมี  แกงเหลือง ข้าวหมกไก่ ข้าวขาหมู แกงหอยแครง ฯ มีอาหารกว่า๓๐ อย่างทุกวัน
           แก้เผ็ดด้วยความหวานของขนมน้ำกะทิ เช่น แตงไทย ลอดช่อง รวมมิตร และมันเชื่อมราดกะทิสดทั้งหวาน มัน เย็นชื่นใจ ครบเครื่องเลยทีเดียว

..............................................................



| บน |

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ: ข้อมูลวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ท่องเที่ยววัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ข้อมูลเที่ยววัดพระศรีรัตนมหาธาตุ


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์