ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > วัดจันทาราม
 
วัดจันทาราม (ท่าซุง)
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

วัดจันทาราม

            วัดจันทารามหรือวัดท่าซุง ตั้งอยู่ที่หมู่ ๒ ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี บอกแค่นี้ก่อนเดี๋ยวผมจึงจะอธิบายว่าไปอย่างไร และหากบอกว่าวัดจันทารามท่านผู้อ่านอาจจะเฉย ๆ เรียกว่าไม่รู้สึกตื่นเต้น เพราะคงไม่คุ้นกับชื่อนั้น พอบอกว่าวัดท่าซุงค่อย ๆ คุ้นขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แต่หากบอกเป็นวัดที่หลวงพ่อฤษีลิงดำท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดนี้ ทีนี้ร้องกันได้ทันทีว่า รู้จักเพราะความดังของหลวงพ่อฤษีลิงดำ ซึ่งเวลานี้ท่านมรณภาพไปแล้ว ตั้งแต่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๕ แต่สังขารของท่านยังอยู่ ไม่เน่า ไม่เปื่อย อยู่ให้กราบไหว้กัน
            วัดท่าซุงได้ชื่อเพราะว่าวัดอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง ในสมัยก่อนยังมีการล่องซุงตามลำน้ำ แพซุงจะมาพักอาศัยที่ท่าน้ำหน้าวัด วัดนี้เลยเรียกกันว่าวัดท่าซุง ทั้งที่ชื่อดั้งเดิมกลับชื่อวัดจันทาราม ซึ่งตั้งชื่อนี้ตามชื่อของอดีตเจ้าอาวาส จันทร์ เจ้าอาวาสที่มีความสำคัญอีก ๔ องค์ คือหลวงปู่ใหญ่ หลวงพ่อเล่ง หลวงพ่อไล้ และหลวงปู่ขนมจีน สำหรับหลวงปู่ขนมจีนและหลวงปู่ใหญ่ มีรูปเหมือนของหลวงปู่ทั้งสองอยู่ในมณฑป
            หลวงพ่อฤษีลิงดำ หรือพระราชพรหมยาน เดิมท่านมิได้อยู่ที่วัดนี้ แต่พระครูสังฆรักษ์อรุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุง เห็นว่าวัดท่าซุงทรุดโทรมมากต้องพัฒนา จึงได้นิมนต์หลวงพ่อฤษีลิงดำมาจากวัดสะพานจังหวัดชัยนาท ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑ เพื่อช่วยบูรณะวัดท่าซุง
            ประวัติของหลวงพ่อฤษีลิงดำ มีโดยย่อดังนี้ ท่านเกิดวันพฤหัสบดี ตรงกับวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ชื่อเดิมของท่านคือ สังเวียน เป็นบุตรคนที่ ๓ เกิดที่ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ได้เข้ามาอยู่กับยายที่อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี และได้เริ่มศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ พออายุได้ ๑๙ ปี ก็เข้าไปเป็นเภสัชกรทหารเรือ สังกัดกรมแพทย์ทหารเรือ เมื่ออายุครบปีบวชจึงได้มาบวชที่วัดบางนมโค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ สอบได้นักธรรมเอกเมื่ออายุได้ ๒๓ ปี
            ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๔๘๔ ได้ศึกษาพระกรรมฐานจากครู อาจารย์หลายท่าน องค์ที่สำคัญที่สุดคือ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโคที่ท่านบวชอยู่นั้นเอง นอกจากนี้ยังมี หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อยุธยา พระอาจารย์เล็ก วัดบางนมโค พระครูรัตนาภิรมย์ วัดบ้านแพน พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย หลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน (คลองมะดัน) และหลวงพ่อเนื่อง
            พอถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงเข้ามาจำพรรษาที่วัดช่างเหล็ก อำเภอตลิ่งชัน เพื่อเรียนบาลี สอบได้เปรียญ ๓ ประโยค แล้วย้ายวัดมาอยู่ที่วัดอนงคาราม มาวัดประยูรวงศาวาส กลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโค สุดท้ายจังไปอยู่วัดสะพานและรับนิมนต์มาอยู่ที่วัดท่าซุงจนมรณภาพ ซึ่งรวมแล้วอยู่ที่วัดท่าซุงเป็นเวลา ๒๔ ปี ได้สร้างความเจริญให้แก่วัดอย่างมากมาย เรียกว่าท่านไม่ได้หยุดการพัฒนาวัดเลย พัฒนาวัดแล้วก็พัฒนาคน ท่านทำตรงตามหลักยุทธศาสตร์พัฒนา หรือยุทธศาสตร์พระราชทานเลยทีเดียว ทำโดยที่ท่านไม่รู้ว่าท่านนี้ตรงกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวความคิดไว้ในการพัฒนาประเทศที่เรียกว่ายุทธศาสตร์พัฒนา และทรงพระราชทานแนวความคิดในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และผู้ก่อการร้ายทั้งหลายว่าต้องใช้ระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จ ซึ่งการพัฒนาวัดของหลวงพ่อนับว่าทันสมัยมาก เพราะในยุครัฐบาลคิดใหม่ทำใหม่นี้จะได้ยินคำว่า ยุทธศาสตร์ บ่อยครั้ง คือการวางแผนระยะยาวให้ปฏิบัติได้จริง ในการปฏิบัติงานต่าง ๆ เช่นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ไม่ใช่แก้ปัญหากันแต่เฉพาะหน้า แก้กันระยะยาว จึงใช้คำว่ายุทธศาสตร์ ยิ่งคำว่าการต่อสู้เบ็ดเสร็จยิ่งใช้กันมากขึ้น ผมก็เลยขอออกนอกเรื่องวัดสักนิด ปัจจุบันผมเป็นนายทหารนอกราชการ คือปลดเกษียณแล้วหลายปี แต่ผู้ที่รู้จริงในเรื่องระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวความคิดไว้นั้น มีน้อยคนเต็มที หาคนรู้จริงหายาก และยิ่งคนรู้จักและเคยปฏิบัติจริงด้วยแล้วมีไม่กี่คน ในจำนวนไม่กี่คนนั้นมีผมรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง และนำไปใช้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติปราบปรามโจรคอมมิวนิสต์มาลายา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ จนทำให้พวกเขาออกจากป่า มารายงานตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และผมกับพวกเขากลายเป็นเพื่อนกัน เพราะรบวิธีนี้ไม่พยายามฆ่ากัน พัฒนาให้คนไทยอยู่ดี กินดี แล้วกลายเป็นกำลังในการร่วมป้องกันและปราบปราม เป็นการบีบ ปิดล้อมให้ฝ่ายตรงข้ามยอมแพ้ หรือเรียกว่ากลับเข้ามาเป็นพวกของเรา ทุกวันนี้ผมจึงยังคงเป็นอาจารย์บรรยายในโรงเรียนทหารหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงเรียนเสนาธิการทหารบก บรรยายระบบต่อสู้เบ็ดเสร็จ ติดต่อกันมาเป็นเวลานานถึง ๑๓ ปีแล้ว เลยเอามาบวกกับเรื่องของหลวงพ่อฤษีลิงดำ เพราะไปเห็นวัดของท่านแล้วต้องยอมรับในการพัฒนาของท่าน พัฒนาทั้งพื้นที่  และพัฒนาคน และปัจจุบันนี้ (๒๕๔๔) ผมได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
            วัดท่าซุงเมื่อหลวงพ่อมาอยู่นั้นมีเนื้อที่เพียง ๗ ไร่ มีโบสถ์เล็ก ๆ มีเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีเนื้อที่ ๒๙๐ ไร่ มีอาคาร สิ่งปลูกสร้างมากมาย เดี๋ยวผมจะพยายามพาชม เพราะผมเองก็เดินชมไม่ไหวเหมือนกัน แต่จะประหยัดการเดินได้ ด้วยการนั่งรถสามล้อเครื่อง เขาคอยรับพาเที่ยวอยู่ในวัดคนละ ๓ บาท คันหนึ่งนั่งได้หลายคน หากเราไปกันหลายคนก็เหมาคันเขาเสียเลย พวกนี้เขาอยู่ที่วัดคอยบริการ เขารู้หมดว่าจะชมอะไร ที่ไหนก่อน ที่ไหนหลัง
            การเดินทาง ผมไปถึงวัดแล้วจึงรู้ว่ามีทางไปที่ใกล้กว่าอีกเส้นทางหนึ่ง เลยใช้เป็นทางเที่ยวกลับ รู้เพราะตำรวจที่อยู่ประจำที่วัดกรุณาบอกให้แต่บอกไม่หมด เล่นเอาไปจอดชะเง้ออยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง
            ผมไปตามถนนสายเอเซีย ผ่านอยุธยา สิงห์บุรี ผ่านแยกเข้าจังหวัดชัยนาท ผ่านอำเภอมโนรมย์ เดี๋ยวผมจะบอกให้ว่าสำคัญอย่างไร จากนั้นถึงทางแยกซ้ายเข้าจังหวัดอุทัยธานี ก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก ๑๖ กิโลเมตร จะชนกับสามแยก เลี้ยวซ้ายมาหน่อยหนึ่ง พบสามแยกอีกให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนน ๓๒๖๕ ไปอีก ๕ กิโลเมตร จะเห็นป้ายวิหารแก้วอยู่ทางขวา และเลยป้ายนี้ไปนิดหนึ่งจะเห็น สวนอาหารที่จะพาไปชิมวันนี้ชื่อ พรหมท่าซุงอยู่ทางซ้าย พอเลยสวนอาหารไปแล้วก็จะถึงวัด ซึ่งเป็นบริเวณดั้งเดิมของวัดจันทาราม อุโบสถหลังเก่าอยู่ทางด้านนี้ ส่วนทางฝั่งขวาของถนน ซึ่งมีพื้นที่อีกมากมายคือบริเวณที่หลวงพ่อได้พัฒนาขึ้นรวมทั้งอุโบสถหลังใหม่ที่แสนจะงดงามด้วย
            หากจะแบ่งเขตพุทธาวาสน่าจะแบ่งได้ ๓ อาณาเขตคือ
            เขตวัดเก่าแต่ก็พัฒนาใหม่หมดแล้ว อยู่ทางซ้ายมือ ๕ กิโลเมตร จากในเมือง ต้องไปที่นี่ก่อน เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าวัดไปแล้ว จะเห็นว่าวัดนี้มีสุขามากจริง ๆ ไม่ว่าไปทางไหนก็เจอสุขาหมด โดยเฉพาะด้านตรงข้ามกับวัดยิ่งมีมาก แถมบางแห่งยังเป็นแบบผสมคือมีทั้งแบบสากล หรือที่เรียกว่าชักโครก กับแบบนั่งยอง ๆ ผมยังไม่เคยเห็นวัดไหนในโลกนี้ (เท่าที่ผมไปมา) มีห้องสุขาเอาไว้บริการผู้มาเที่ยว มาแสวงบุญมากเท่าวัดท่าซุงนี้เลย แสดงว่าหลวงพ่อเข้าใจทุกข์ของผู้คนที่มาที่วัด และเข้าใจถึงสภาพของคนสูงอายุว่าเป็นอย่างไร พื้นที่บริเวณวัดของท่านกว้างมาก หากมีสุขาน้อยคนสูงอายุจะลำบากมาก แต่วัดของท่านมีบริการทุกจุด
            ทางด้านวัดดั้งเดิมหรือเขตที่ ๑ ที่ผมตั้งให้นี้ มีอุโบสถหลังเก่า ซึ่งเป็นหลังเล็กแต่ก็พัฒนาไปแล้วทาสีสรรงดงาม ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือพื้นบ้าน มีวิหารหลวงพ่อใหญ่ มีมณฑปท้าวมหาราชซึ่งมีพลเทพ ๔ องค์ มณฑปแก้วอยู่ติดกัน มีเรือนรับแขกหลังใหญ่มาก บอกว่าเมื่อหลวงพ่อยังอยู่นั้นจะรับแขกที่อาคารสีเหลืองหลังนี้ ปัจจุบันก็เป็นที่สำหรับจำหน่ายเทป หนังสือธรรมมะซึ่งราคาถูกมาก ผมขนซื้อมาแยะ อ่านกันอีกนานกว่าจะหมด รวมทั้งวัตถุมงคลก็มีจำหน่ายอยู่ที่อาคารแห่งนี้ และมีรูปเหมือนหลวงพ่อ มีภาพของหลวงพ่อที่ยังไม่เน่าไม่เปื่อย ส่วนสังขารนั้นอยู่อีกฟากหนึ่ง และได้ยินเสียงเทปที่อัดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อดังอยู่ตลอดเวลา อาคารหลังนี้ไม่ได้เปิดทั้งวัน ภาคเช้าดูเหมือนจะเปิดแค่พระฉันเพล แต่ตอนบ่ายตั้งแต่ ๑๓.๐๐ เปิดไปจนถึง ๑๖.๐๐ และหลังอาคารคือ ท่าน้ำของวัดซึ่งเป็นวังมัจฉา และมีอาหารปลาจำหน่าย ทั่วบริเวณวัดฝั่งนี้ร่มรื่นไปหมด
            ส่วนริมถนนหน้าวัดเขตนี้ก็จะอุดมไปด้วยแผงขายอาหารต่าง ๆ ราคาถูกทั้งนั้น ขนม ๑๐ บาท มีมากมาย ผมตั้งชื่อให้เองเห็นอะไรๆ ไปถามเขา ๑๐ บาทหมด นางเล็ด ๑๐ บาท เม็ดขนุน ๑๐ บาท และมีมากมาย รวมทั้งประเภทซื้อกลับบ้านเช่น มะขามเปียก เป็นต้น กรุงเทพฯ หาซื้อกินยากเข้าไปทุกทีแล้ว นักทำอาหารไปเจอเข้าควรซื้อกลับมา ราคาถูกด้วย
            เขตที่ ๒ ผมยกให้เป็นเขตพุทธาวาสที่แท้จริง คนเข้าไปเที่ยวชมน้อยด้วย อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเขตวัดเก่า เยื้องไปทางซ้าย คือเขตอุโบสถหลังใหม่ที่สร้างงดงามมาก วันที่ผมไปนั้นไม่เปิด จึงไม่ได้เข้าไปชมภายในโบสถ์
            เขตที่ ๓ ซึ่งเป็นเขตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อยู่ตรงข้ามกับวัดเขต ๑ เช่นกันแต่เยื้องไปทางขวา หากมาจากในเมืองก็จะถึงเขตนี้ก่อนที่เขียนว่าวิหารแก้ว เป็นเขตที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก เมื่อเลี้ยวเข้าไปแล้วทางซ้ายจะมองเห็นศาลา หรือมหาวิหาร ๑๐๐ เมตร ก็ยาวร้อยเมตรจริง ๆ แต่กว้าง ๒๘ เมตร สูง ๘ เมตร หรือตั้งชื่อห้องปฏิบัติพระกรรมฐานว่าศาลา ๒ ไร่ ศาลา ๓ ไร่ ศาลา ๔ ไร่ และศาลา ๑๒ ไร่
            ภายในมหาวิหารนี้ ก่อนจะเข้าไปด้านนอกจะมีพระราชานุสาวรีย์ประทับนั่งของรัชกาลที่ ๑,๕,๖ และ ๗ เป็นการสร้างมหาวิหารถวายแก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อมีพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา มหาวิหารจะเปิดเป็นเวลาเช่นกัน คล้าย ๆ อาคารที่จำหน่ายวัตถุมงคล คงจะเพื่ออำนวยความสดวกแก่ พระที่ทำหน้าที่ให้ความสดวก ไม่ไปรบกวนเวลาฉันของท่าน เวลาที่เปิดแน่นอนคือตั้งแต่ ๑๓.๓๐ เป็นต้นไป เมื่อเข้าไปในวิหาร ๑๐๐ เมตร จะเห็นพื้นที่แบ่งออกเป็น ๒ ตอน ด้านนอกมีโต๊ะหมู่บูชา ส่วนมากเป็นโต๊ะมุกตั้งอยู่หลายสิบชุด ทางด้านซ้ามมีน้ำมนต์ให้ซื้อไปได้ขวดละ ๕ บาท พอเข้าไปข้างในที่นี้จะละลานตาไปหมด ทางซ้ายมีโต๊ะตั้งวางไว้ให้ทำบุญเพื่อนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาได้ เสาภายในประดับด้วยกระจกทุกต้น เพดานข้างฝาทั้งพระวิหารแห่งนี้จะประดับด้วยกระจกหมด เมื่อเปิดไฟ แสงสะท้อนไปมางดงามอย่างยิ่ง ใครจะทำบุญถวายสังฆทานก็ทำได้ ทางซ้ายสุดทำเป็นบุษบกที่งดงามมาก และสังขารของหลวงพ่ออยู่ในโลงแก้ว ตั้งอยู่บนนี้ ส่วนทางขวาสุดของมหาวิหารคือพระประธาน พระพุทธชินราช และยังมีรูปปั้นของพระอรหันต์อีก ๗ องค์ เช่น พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร  อยู่หน้าพระพุทธชินราช เป็นต้น และมีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ทางซ้ายของพระพุทธชินราช มีรูปหล่อของหลวงพ่อยืนถือไม้เท้า เพดานติดไฟช่อรวม ๑๑๐ ช่อ จึงสว่างและงดงามมาก ไปทั้งวิหารเลยทีเดียว
            พระวิสุทธิเทพ เป็นพระองค์สำคัญของวัดท่าซุง ซึ่งอธิบายไว้ว่าหลวงพ่อได้จำลองจากของจริงบนพระนิพพานชั้นดาวดึงษ์ (ผมไม่เข้าใจว่าจำลองมาอย่างไร ไม่มีใครอธิบายให้ทราบโดยละเอียด) ประดับด้านในพระจุฬามณีเจดีย์สถาน พระจุฬามณีตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดท่าซุง ฝั่งตรงกันข้ามกับโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา และใกล้ ๆ กับอนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช พระจุฬามณี ในโลกนี้ ทางวัดบอกว่ามีแห่งเดียวคือที่วัดท่าซุง
            จุดที่น่าชมที่สุดคือจุดมหาวิหาร ๑๐๐ เมตรนี่แหละ เมื่อลึกเข้าไปก็จะถึงพระพุทธรูปยืน และเข้าไปยังปราสาททองซึ่งยังสร้างไม่เรียบร้อยดี แต่ขนาดยังไม่เสร็จนี้ก็งดงามมาก และที่สำคัญอีกอย่างคือ ระเบียงที่มีหลังคาริมรั้วโดยรอบนั้น สร้างพระพุทธรูปปางประทับนั่ง แต่ละองค์ขนาดเป็นพระประธานตามวัดต่าง ๆ ได้อย่างสบาย และคงมีหลายร้อยองค์ เพราะประทับนั่งในศาลาระเบียงที่ยาวไปตามแนวริมรั้วรอบวัดทางด้านเขตที่ ๓ นี้ ลองนับดูก็แล้วกัน ต้องเกินร้อยองค์แน่นอน
            ภายในวัดตอนหน้ามหาวิหาร ยังมีร้านอาหารลูกหลวงพ่อ ขายอาหารประเภทจานเดียว เครื่องดื่มและติดกันก็มีร้านแบบสหกรณ์ขายของใช้ที่จำเป็น สมัยหลวงพ่อมีชีวิตอยู่น่าจะมีคนมาพักกัน เพื่อปฏิบัติธรรม จึงต้องมีร้านเหล่านี้ไว้บริการด้วย
            ไปอุทัยธานี อย่าลืมแวะเสียก่อนมาวัดท่าซุงคือ วัดสังกัสรัตนคีรี ที่อยู่เชิงเขาสะแกกรัง ผ่านมาจะเห็นอยู่ทางขวามือ มีพระวิหารประดิษฐาน พระพุทธรูปมงคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของอุทัยธานี จากบริเวณลานวัดจะมีบันไดขึ้นไปยังยอดเขา มีมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง และใกล้กับมณฑปมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมพระบรมมหาชนก แห่งรัชกาลที่ ๑ เป็นรูปหล่อขนาดเท่าองค์จริง รถขึ้นได้ถึงยอดเขา
            และอีกวัดที่น่าไป คือวัดโบสถาราม (วัดโบสถ์มโนรมย์) จากตลาดสดเทศบาล จะมีสะพานข้ามแม่น้ำไปยัง วัดอุโบสถาราม ตั้งอยู่บนเกาะเทโพ ภายในวัดมีอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่หลายหลัง มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ เป็นภาพเขียนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และจิตรกรรมฝาผนังในวิหาร
            เที่ยวกลับจากวัดท่าซุง ตำรวจบอกทางให้ว่า ไม่ต้องย้อนกลับทางเดิม ให้ไปทางอำเภอมโนรมย์ซึ่งอยู่ห่างจากหน้าวัดไปอีกประมาณ ๘ กิโลเมตร เท่านั้น เรียกว่าใกล้ไปอีกร่วม ๒๐ กิโลเมตร หรือมากกว่านั้น แต่ตำรวจไม่บอกให้ละเอียดว่าเมื่อไปถึงฝั่งริมแม่น้ำสะแกกรังแล้วอย่าตกใจ จะมีแพขนานยนต์เขาคอยวิ่งรับรถข้ามฟากราคา คันละ ๒๐ บาท ตอนไปถึงไม่ทราบมาก่อน แถมไม่รู้ว่ามีแพเลยนึกว่าตูต้องเอารถวิ่งข้ามแม่น้ำไปแน่ เมื่อขึ้นจากแพแล้วหากเป็นตอนเย็นหลัง ๑๖.๐๐ แล้วมาทางซ้ายจะมีอาหารรถเข็น เจ้าที่อร่อยและซื้อกลับบ้านมาคือ รถขายอาหาร ๕ หมู มีหมูมะนาว, ขาหมูพะโล้, ลาบหมู, น้ำตกหมู, และหมูทอดกระเทียมพริกไทย จากท่าน้ำวิ่งตรงลิ่วไป จะชนกับถนนสายเอเซีย ที่แยกขวาจะกลับไปกรุงเทพ ฯ
            กลับมาร้านพรหมท่าซุง ซึ่งร้านนี้หากมาจากในเมืองจะอยู่ก่อนถึงวัดท่าซุงสัก ๕๐๐ เมตร บรรยากาศแจ่มแจ๋ว อยู่ริมแม่น้ำ เลี้ยวรถเข้าไปจนถึงริมแม่น้ำ จะนั่งในศาลาหรือริมน้ำ ดีทั้งนั้น
            กินอาหารอุทัยธานี ต้องกินปลาแรด เพราะปลาแรดอุทัยธานี แม้จะเป็นปลาที่เลี้ยงในกระชัง แต่เนื้อปลาจะออกมาดีที่สุดยิ่งกว่าเลี้ยงที่อื่น ๆ และราคาย่อมเยาว์
            ปลาแรดราดพริก ปลาตัวโตเบ้อเริ่ม ทอดเกรียมเปิดหนังเห็นเนื้อขาว เครื่องแกงที่ผัดใช้กะทิใส่ด้วย จึงมีกลิ่นหอมและมันเอามาคลุกข้าวได้ เหนือตัวปลาโรยด้วยใบกระเพราทอดกรอบ ที่ว่าตัวโต ๆ นั้นเดี๋ยวเดียวหายหมด จานนี้ราคาเพียง ๑๘๐ บาท หากกินในกรุงหลายร้อย
            เอาอีกแรด ปลาแรดต้มยำ เนื้อปลานุ่มแน่น มีทั้งเห็ด มะเขือเทศ ตะไคร้ ข่า ร้อน ๆ ซดชื่นใจ
            ยำสะเดา ยำสี่รส คือเปรี้ยวนิด หวานน้อย เค็มหน่อย แถมรสขม เคี้ยวสนุก จะดื่มหรือไม่ดื่มก็ควรสั่ง รสไม่ขม แล้วยังมีเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง หมูเส้น โรยหน้ามาเคี้ยวให้มัน
            ปลาอินทรีย์ผัดคึ่นฉ่าย เคยพบแต่ปลาช่อนผัดคึ่นฉ่าย แต่ที่นี่ใช้ปลาอินทรีย์ เนื้อปลาแข็ง น้ำผัดไม่ซึมเข้าไปชุ่มในเนื้อปลา แต่น้ำผัดของเขามาก ต้องตักปลา ตักผัด ราดน้ำผัดให้ชุ่มจึงจะซึมซาบไปทั่ว
           เชิงปลากรายทอดกระเทียมพริกไทย เป็นเชิงที่กินได้ ไม่ใช่มีแต่ก้างหอมกลิ่นกระเทียมพริกไทย
            ของหวานมีแต่ผลไม้รวม งัดเอาขนมที่ซื้อมาจากหน้าวัดมาเป็นขนมหวานได้ ไปกัน ๔ คน จ่ายสตางค์ไป ๕๗๗ บาท ขอยกให้ในราคาถูก และรสที่อร่อย บรรยากาศดี

------------------------

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |

วัดจันทาราม: ข้อมูลวัดจันทาราม ท่องเที่ยววัดจันทาราม ข้อมูลเที่ยววัดจันทาราม


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์