ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > ถ้ำเขาหลวง
 
ถ้ำเขาหลวง
ถ้ำเขาหลวง

            ถ้ำเขาหลวง อยู่ในพื้นที่ของอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจังหวัดนี้มีประวัติและความเป็นมาที่น่าศึกษา เคยเป็นเมืองที่จมอยู่ในทะเลในสมัยทวารวดี ในพื้นที่ราบทางตะวันออกของจังหวัด ตั้งแต่อำเภอชะอำ อำเภอท่ายาง อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม จนถึงอำเภอเขาย้อย จะเป็นทะเลทั้งหมดไปจนถึงตัวเมืองราชบุรี และมีเมืองโบราณสมัยทวารวดี อยู่ในจังหวัดราชบุรีคือ เมืองคูบัว ชุมชนโบราณสมัยทวารวดีที่สำคัญ ได้แก่ เขตชุมชนโบราณหนองปรง เขตอำเภอเมืองเพชรบุรี โบราณสถานทุ่งเศรษฐี ที่บ้านโคกเศรษฐี ตำบลนายาง อำเภอชะอำ ชื่อเมืองเพชรบุรี มาปรากฎหลังชมุชนโบราณพ้นสมัยทวารวดีแล้วคือ สมัยสุโขทัย มาสมัยอยุธยา เพชรบุรีอยู่ในฐานะเมืองหน้าด่าน เมืองอู่ข้าว อู่น้ำ และมีความสำคัญดังกล่าวมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
            ถ้ำเขาหลวง  เป็นแหล่งท่องเที่ยวถ้ำของเพชรบุรี ซึ่งมีถ้ำสำคัญที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่ ๔ ถ้ำคือ ถ้ำเขาย้อย ถ้ำเขาบันไดอิฐ ถ้ำเขาเตาหม้อ และถ้ำเขาหลวง ซึ่งถ้ำเขาหลวงนี้นิยมเป็นแหล่งท่องเที่ยวกันมานานนับร้อยปีแล้ว
                การเดินทาง ไปเที่ยวเพชรบุรีจะไปทางรถยนต์ หรือทางรถไฟก็สะดวกทั้งสิ้น แต่หากไปทางรถไฟ ซึ่งมีไปวันละหลายขบวน แต่เมื่อไปถึงเมืองเพชรบุรีแล้ว ต้องหารถพรรคพวกมารับไปเที่ยว หรือเที่ยวโดยรถสี่ล้อเล็กที่ชาวเมืองเรียกว่า "รถเล้ง" หรือไปเที่ยวกับรถไฟ ไปเช้า เย็นกลับ ไม่ทราบว่ายังจัดอยู่หรือเปล่า สนใจลองโทรถามดู ๐๒ ๒๒๕ ๖๙๖๔ ต่อ ๕๒๑๗ แต่ผมชอบขับรถไปเองสนุกกว่า เพชรบุรีอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ฯ มีสถานที่เที่ยวในตัวเมืองได้หลายแห่ง ของกิน อร่อย ๆ หากินได้แยะ รวมทั้งของฝากที่จะหิ้วกลับมาด้วย ขนมอร่อยที่ลือชื่อคือ ขนมหม้อแกง หากเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว มีเส้นทางไปได้ ๒ เส้นทางคือ
                    เส้นทางที่ ๑  ไปตามถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ผ่านไปตั้งแต่บางแค นครปฐม ราชบุรี ปากท่อ เขาย้อย เพชรบุรี เส้นนี้ระยะทางประมาณ ๑๖๖ กม. ไกลพอ ๆ กับไปลพบุรี หากมีเวลาเส้นนี้เหมาะสำหรับเที่ยวกลับ เพราะได้แวะนครปฐม แหล่งของกินใหญ่ยามค่ำคือ ที่บริเวณด้านตะวันตกขององค์พระปฐม มากมายหลายสิบเจ้าเลยทีเดียว
                    เส้นทางที่ ๒  หากมาทางด่วนพระราม ๙ พอลงจากทางด่วนมาสู่ถนนพระราม ๒ แล้ววิ่งไปผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปากท่อ เส้นนี้หากเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ ในวันกลับรถจะติดมากคือ ติดกันตั้งแต่เลี้ยวเข้าสาย ๓๕ (พระราม ๒) ที่บริเวณแยกวังมะนาว รถจะเริ่มติดมาจนยันทางด่วนนั่นแหละ จากปากท่อก็ทับกับเส้นทางที่มาจากราชบุรีคือ ถนนเพชรเกษมเส้นนี้ประมาณ ๑๒๑ กม. ใกล้กว่ามาก แต่ทำเวลาไม่ค่อยได้ ถ้าเป็นวันหยุด ยิ่งหยุดยาวก็ติดยาวดีนัก
                    จะไปเส้นทางที่ ๑ หรือที่ ๒ หากออกเช้ากะไปกินข้าวเช้าตามทาง ก็ขอแนะนำว่าไปกินข้าวแกงที่เขาย้อยดีที่สุด อร่อยสุด ๆ เช่นกัน ก่อนถึงทางแยกไปสถานีรถไฟเขาย้อย จะมีร้านข้าวแกงร้านใหญ่ ๆ อยู่หลายร้าน ร้านที่ผมชิมเขาประจำ และชิมมานานเลยสิบปี จนเขาขยายร้านใหญ่โต ขาไปจะอยู่ทางขวามือ ต้องไปกลับรถมาจากสี่แยก มีอาหารคงจะถึงร้อยอย่าง
                    เมื่อวิ่งมาถึงเขตเพชรบุรี ก่อนเข้าเมืองจะพบทางเลี้ยงเมืองทางขวา หากจะไปชะอำ หัวหิน ก็แยกขวาไปได้เลย แต่ถ้าจะเข้าเมืองก็ตรงไปจะชนกับสามเแยกศาลหลักเมือง ถ้าเลี้ยวขวาก็จะไปยังเขาวัง แต่หากขึ้นเขาวังทางนี้ต้องเดินขึ้นเขาไป แต่ถ้าจะขึ้นโดยรถรางไฟฟ้า หรือเคเบิลคาร์ถึงทางเลี่ยงเมืองให้เลี้ยวขวาไปนิดเดียว จะเห็นสถานีรถไฟฟ้าอยู่ทางซ้ายมือ ขึ้นรถไฟฟ้าไม่ต้องเดินขึ้นบันไดไปสู่เขาวัง
                    ตรงสามแยกศาลหลักเมือง ที่เลี้ยวขวามาเขาวัง หากเลี้ยวซ้ายไปตามถนน ๓๑๗๓ อีกประมาณ ๓ กม. เศษ ๆ คือ ทางลงถ้ำเขาหลวง ซึ่งเดี๋ยวนี้สะดวกมาก ถนนคอนกรีตอย่างดี เมื่อไปถึงลานจอดรถ ทางซ้ายมีทางลงสู่ถ้ำจันทน์ เป็นสำนักสงฆ์วิปัสสนา ทางขวามีที่ขายอาหารลิง เพราะลิงแยะ และมีห้องสุขาที่สะอาด แต่ไม่สากล เก็บค่าบริการคนละ ๒ บาท สุดทางของถนนก่อนลงถ้ำคือ ศาลาที่จำลองแบบมาจาก "ศาลาสวนหลวง ร.๙"
                    ทางซ้ายของศาลาสวนหลวง ร.๙ มีบันไดคอนกรีตเดินไปสู่ปากน้ำ พอถึงปากถ้ำต้องเดินลงบันไดที่ค่อนข้างชัน เดินลงไปอีก ๙๙ ขั้น ซึ่งผมต้องใช้ความอดทน ความมานะพยายามอย่างสูง ในการเดินลงไป ขาลงไม่กลัว ขาขึ้นไม่แน่ใจว่าจะไต่ขึ้นมาไหวหรือไม่ และน่าจะเป็นการลงไปถ้ำเขาหลวงเป็นครั้งสุดท้ายของผม ที่จะไปแล้วลงไปในถ้ำ สมัยก่อนเคยไปมาตั้งแต่สี่สิบปีที่แล้ว เป็นการไปครั้งแรก ซึ่งครั้งนั้นจะต้องเดินไปจากจุดที่เรียกว่า ลานจอดรถ ยังไม่มีลาน ไม่มีบันไดเดินไปปากถ้ำ ต้องเดินไต่เขาไป พอถึงปากถ้ำต้องลงไปในถ้ำ ด้วยบันไดไม้ไผ่หวาดเสียวดีพิลึก แต่ตอนนั้นกับตอนนี้ผิดกัน เพราะร่างกายมันไม่ยอมไต่บันได ก็ยังดีที่ลงไปตามบันได ๙๙ ขั้น และไต่กลับขึ้นมาได้โดยไม่ต้องอาศัยโคร ค่อย ๆ ขึ้นมาอย่ารีบร้อนมันก็ขึ้นได้เอง
                    ประวัติเล่าไว้ว่า รัชกาลที่ ๔ เสด็จมาพร้อมโอรส ๒ พระองค์ และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ร่วมกันสร้างพระ และทรงบูรณะ เช่น สร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมาบูรณะต่อ แล้วพระราชทานนามว่า วิมานจักรี ปัจจุบันมีพระพุทธรูปในถ้ำรวม ๑๗๐ องค์ มีเจดีย์ในถ้ำ ๖ องค์ ภายในถ้ำแบ่งพื้นที่โดยธรรมชาติเป็น ๓ ห้องคือ
                    ห้องแรก  มีพระพุทธบาทจำลอง มีหินที่เกิดจากน้ำหยดลงมาเป็นรูปเหมือนเต่า ห้องนี้หินงอก หินย้อยสวยมา และหินย้อยบางก้อนถูกคนลักตัดเอาไป
                    ห้องที่ ๒  เดินต่อไปจากห้องแรก เดินสะดวกถึงกันหมดทั้ง ๓ ห้อง มีพระพุทธรูปเรียงรายรอบห้อง มีปล่องให้แสงสว่างเข้ามาพื้นถ้ำ นอกจากสวยแล้วยังให้ความสว่าง มีพระพุทธไสยาสน์ หลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ลงมาเที่ยวถ้ำ จะมากราบไหว้บูชา มีธูปเทียนจำหน่ายให้นำไปบูชา มีพระนาคปรก และที่ฐานพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ยังมีตราประจำพระองค์ของรัชกาลที่ ๑ - ๕ จารึกไว้ด้วย
                    ภายในถ้ำทุกห้องงามด้วยหินงอกหินย้อย และมีอากาศเย็นสบาย ไม่อับชื้น  ถ้ำเขาหลวงมีชาวไทย ชาวต่างประเทศ ลงมาเที่ยวกันนานนับร้อยปีแล้ว มีบันทึกของชาวยุโรปและภาพปรากฏในงานพิมพ์ของอังรี มูโอ นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมายังไทย ลาว กัมพูชา แล้วกลับไปตีพิมพ์ไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๗  ถ้ำเขาหลวงนี้สุนทรภู่ได้เคยมาเที่ยวและเล่าไว้ในนิราศเมืองเพชร
 

        "ดูว้างเวิ้งเชิงพนมน่าชมเชย  ต่างแหงนเงยชมชะง่อนก้อนศิลา
เป็นลดหลั่นชั้นช่องมีห้องหับ แลสลับเลื่อมลายคล้ายเลขา
กลางคีรินหินห้อยย้อยระย้า ดาษดาดูดูดังพู่พวง"

           สถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองเพชรบุรีที่สำคัญ คือ
                ศาลหลักเมือง  ถนนเพชรเกษมที่วิ่งเข้าเมืองเพชรบุรีจะมาชนสามแยกที่ตรงเข้าไปคือศาลหลักเมือง (เลี้ยวซ้ายไปถ้ำ เลี้ยวขวาไปเขาวัง) ควรแวะกราบศาลหลักเมืองเสียก่อน เสมือนขออนุญาตเข้าเมือง  เดิมทีเดียวอยู่ใจกลางเมือง ปัจจุบันคือ บริเวณท่าราบ ต่อมาแม่น้ำเพชรบุรีเปลี่ยนเส้นทาง ผู้คนจึงย้ายตามแม่น้ำมาตั้งชุมชนใหม่ ศาลหลักเมืองเดิมหายไปแล้ว ศาลปัจจุบันสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ โดยกรมศิลปากรออกแบบสร้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงสุหร่าย และเจิมยอดเสาหลักเมือง เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๐  เสาหลักเมืองทำจากไม้ชัยพฤกษ์จากบ้านลิ้นช้าง อำเภอหนองหญ้าปล้อง ถอดออกได้เป็นสามท่อน ท่อนกลางบรรจุสิ่งอาถรรพณ์ ท่อนปลายบรรจุชะตาเมืองไว้


                เขาวัง หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเพื่อเป็นที่ประทับยามเสด็จแปรพระราชฐาน ด้วยทรงพอพระทัยธรรมชาติบนเขานี้  หากเดินขึ้นด้านหน้ามีบันไดให้ขึ้นไป มีฝูงลิงยั้วเยี้ยอยู่ตามราวบันได แต่ไม่ทำอันตรายใคร  ใช้เวลาเดินขึ้นก็คงจะร่วม ๆ ชั่วโมง  แต่หากจะขึ้นโดยรถรางไฟฟ้า ถ้ามาตามถนนเพชรเกษม แต่ไม่เลี้ยวขวาเข้าเลี่ยงเมือง ตรงต่อมาทางสามแยกศาลหลักเมือง พอมองเห็นธนาคารศรีอยุธยาอยู่ทางซ้าย ธนาคารกรุงไทยอยู่ทางขวา ให้กลับรถมาแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลียบคลองชลประทานข้างธนาคารประมาณ ๘๐๐ เมตร ก็จะถึงสถานีรถเคเบิลคาร์  แต่
หากไปทางเลี่ยงเมือง สถานีอยู่ซ้ายมือ
                วัดมหาสมณาราม  อยู่เชิงเขาวัง ในอุโบสถบริเวณฝาผนังทั้งสี่ด้านมีภาพเขียนฝีมือขรัวอินโข่ง "จิตรกรเอกสมัยรัตนโกสินทร์" ท่านเป็นชาวเมืองเพชร ต.บางจาน เมืองเพชรบุรี อุปสมบทอยู่ ณ วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ในกรุงเทพ ฯ เป็นผู้เขียนภาพสามมิติเป็นคนแรก เป็นศิลปินเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ ๔  ภาพจิตรกรรมวัดราชบูรณะก็ฝีมือของท่าน
                พระราชวังพระนครคีรี  ตั้งอยู่บนยอดเขาด้านตะวันตก ประกอบด้วยกลุ่มอาคารหลายหลัง ที่สำคัญ และเปิดให้ชมได้คือ
                    พระที่นั่งสันถาคารสถาน  เป็นหมู่พระที่นั่งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครคีรี ใช้พระที่นั่งสององค์จัดแสดง มีเครื่องราชูปโภค เช่น พระแท่นบรรทม พระฉาย เครื่องมุก เครื่องถ้วยชาม ตุ๊กตาโลหะจากยุโรป  ส่วนพระที่นั่ง
ปราโมทย์มไหสวรรค์เป็นที่ประดิษฐานพระแท่นบรรทม ร.๔ และ ร.๕
                    พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท  เป็นปราสาทยอดปรางค์ขนาดย่อม
                    พระที่นั่งราชธรรมสภา  สร้างด้วยศิลปะแบบผสมระหว่างไทย จีนและตะวันตก
                    หอชัชวาลเวียงชัย  เป็นหอทรงกลมสูงสองชั้น เป็นหอดูดาว เป็นที่หมายของชาวเรือ
                    พระธาตุจอมเพชร  อยู่บนยอดเขาลูกกลาง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
                    วัดพระแก้วหรือวัดพระแก้วน้อย  อยู่บนยอดเขาด้านตะวันออก ไปชมเจดีย์แดง พระอุโบสถที่หน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้นรูปตราพระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นงานปูนปั้นที่มีชื่อของเพชรบุรี
                    พระสุทธเสลเจดีย์  เป็นเจดีย์หินอ่อนสีเทาอมเขียว ตอนสร้างนั้นสลักหินอ่อน และประกอบที่เกาะสีชังก่อน แล้วจึงรื้อนำลงเรือมาประกอบใหม่บนเขาวัง
                    ขอนำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีฉบับย่อเอาไว้เพียงเท่านี้
            เที่ยววัด วัดสำคัญในอำเภอเมืองมีหลายวัด เช่น
                วัดมหาธาตุวรวิหาร  บอกทางไปยาก ถามเขาดูจะง่ายกว่า แต่ไปเมืองเพชรขอให้ไปให้ได้ ลองตามผมไป จากสามแยกศาลหลักเมือง เลี้ยวขวาถึงหน้าทางขึ้นเขาวัง เลี้ยวซ้ายตรงเรื่อย ไปจนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเพชรบุรี ไปสู่ฝั่งเมืองอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นย่านตลาดสด เลี้ยวขวาผ่านตลาดไปวัดพระมหาธาตุจะอยู่ทางขวามือ และถนนสายนี้ หากวิ่งตรงเรื่อยไป จะไปบรรจบกับถนนเพชรเกษมเดินทางต่อไปชะอำได้เลย  ก่อนเข้าวัดจะสำรวจเสียก่อนก็ได้ ครงข้ามประตูวัดมีร้านเล็ก ๆ ขายอาหารแปลก ซื้อติดมือไปกินพร้อมอาหารกลางวันได้เห็นมีแห่งเดียว น่าจะเป็นในประเทศไทยด้วยซ้ำไป ส่วนในเมืองเพชรพบแล้ว ๒ แห่ง แต่ที่หน้าวัดพระธาตุ
เป็นต้นตระกูลดั้งเดิมเลยทีเดียว อาหารที่ว่านี้คือ "ทอดมัน - ขนมจีน" ทอดมันก็ทอดมันธรรมดา แต่จะเหนียวหนึบ เคี้ยวหนุบหนับ ชิ้นไม่โตมากนัก ขนมจีนก็ขนมจีนธรรมดา แต่เส้นจะเหนียวมาก และมีน้ำจิ้มรสเข้ม ซื้อชุดหนึ่งมีทอดมัน ๘ ชิ้น ขนมจีน และน้ำจิ้มอีกถุงหนึ่ง เวลาจะกินก็เอาขนมจีนวางรองก้นจาน วางทอดมันแล้วราดน้ำจิ้มลงไปให้ชุ่ม คลุกเคล้ากันจะได้อาหารแปลกที่ไม่น่าอร่อย แต่อร่อยเข้ากันระหว่างทอดมัน ขนมจีนและน้ำจิ้ม ไม่เคยชิมลองชิมดูทอดมัน - ขนมจีน หน้าวัดพระธาตุแล้วจะติดใจ
                วัดพระมหาธาตุตั้งอยู่กลางเมือง อยู่ริมแม่น้ำเพชร มองเห็นยอดพระปรางค์องค์ใหญ่เห็นแต่ไกล ภายในวัดจะมีพระปรางค์ห้ายอด ที่ลักษณะสร้าง ตามคติพุทธฝ่ายมหายานของขอม เพราะมีพงศาวดารระบุว่าโบราณสถานในวัดนี้เป็นฝีมือช่างขอม สร้างมาเมื่อกว่า ๘๐๐ ปี สมัยขอมมีอำนาจในดินแดนแถบนี้  ปรางค์ห้ายอดมีปรางค์องค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยปรางค์เล็กสี่องค์ ปรางค์แต่ละองค์สร้างด้วยศิลาแลง ปรางค์องค์ใหญ่สูง ๔๒ เมตร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และวัดนี้งามด้วยลายปูนปั้น เช่น หน้าบันพระวิหาร  ภายในพระอุโบสถซึ่งมีขนาดไม่โตนักประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๓ องค์คือ พระพุทธมหาธาต
หลวงพ่อบ้านแหลม และหลวงพ่อตะเครา (๒ องค์หลังน่าจะเป็นพระพุทธรูปจำลองมา) แต่มีพระพุทธรูปโบราณอยู่หน้าพระอุโบสถ ซึ่งที่ฐานมีลายปูนปั้น ซึ่งน่าจะเป็นฝีมือรุ่นใหม่ แต่ก็สวย หรืออาจจะเป็นฝีมือครูทองร่วง เอมโอษฐ์
                พระรามราชนิเวศน์ หรือเรียกกันว่า พระราชวังบ้านปืน  มีเนื้อที่ ๓๔๙ ไร่เศษ เริ่มการก่อสร้างเมื่อเดือนมกราคม ๒๔๕๓ ตามพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เพื่อเป็นสถานที่เสด็จแปรพระราชฐาน งานก่อสร้างนั้นโปรดให้มิสเตอร์คาล ดอห์ริง นายช่างเยอรมัน เป็นผู้ออกแบบ นายคาลเคยรับราชการอยู่กรมรถไฟมาก่อน แต่การก่อสร้างพึ่งเริ่มต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ก็เสด็จสวรรคต ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ดำเนินการสร้างต่อจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๖๑
                    พระราชวังบ้านปืน  อยู่ในเขตของทหารบก เปิดให้เข้าชมได้ทุกวันไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้า ไปแลกบัตรที่หน้าประตู ทหารสารวัตรเขาจะให้รถเข้าไปได้ ไปพระราชวังหากมาตามถนนเลี่ยงเมือง จนผ่านโรงพยาบาลเพชรรัตน์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนดำรงษ์รักษ์ มีป้ายบอก
                    พระที่นั่งศรเพชรปราสาท  เป็นพระตำหนักเพียงหลังเดียวของพระรามราชนิเวศน์ แต่เป็นพระที่นั่งที่มีรูปทรงและการตกแต่งน่าชมอย่างยิ่ง มีรูปแบบของตะวันตกเต็มตัวและมีลักษณะทางสถาปัตยกรรม ตามความนิยมของเยอรมันในเวลานั้นคือแบบบาโรก (BAROQUE ) ในเมืองไทยจะหาชมศิลปะแบบนี้ได้ยาก อาคารสร้างเป็นตึกสี่เหลี่ยม ล้อมรอบด้วยสวนหย่อม มีสระน้ำพุอยู่ตรงกลาง ที่ประทับเป็นตึกสองชั้นขนาดใหญ่ หลังคาทรงสูงรูปโดม ภายในชั้นล่างเป็นโถงสูง มีบันไดโค้งขึ้นสู่ชั้นสองซึ่งงามน่าชมยิ่งนัก นายช่างผู้สร้างมีเทคนิคในการตกแต่งมาก เช่น เล่นสีของแต่ละห้อง ประดับผนังด้วยกระเบื้องเคลือบ หัวเสามีภาพเขียน ฯ ต้องชมอย่างมีสมาธิ อย่างพินิจพิเคราะห์ จะเห็นความงามที่น่าทึ่ง หากเดินตามกันเรื่อยไป ก็จะเห็นว่าเป็นอาคารธรรมดา ๆ
            วัดในตัวเมือง  นอกจากวัดมหาธาตุแล้ว ก็ยังมีอีกหลายวัดเช่นกัน
                วัดพุทธไสยาสน์  ไหว้พระนอนองค์ใหญ่ อยู่เชิงเขาวัง พระนอนยาว ๒๑ วาเศษ
                วัดสระบัว  ชมปูนปั้นสมัยอยุธยา ฝีมือสกุลช่างเมืองเพชร วัดอยู่ติดกับวัดพระพุทธไสยาสน์ ชมอุโบสถฝีมือช่างสมัยอยุธยา และพัทธสีมา งานปูนปั้นงามมาก
                วัดเขาบันไดอิฐ  ไปตามถนนเพชรเกษมก่อนถึงสี่แยกเลี่ยงเมือง เลี้ยวขวาตรงหลัก กม.๑๖๙ มีป้ายบอก เลี้ยวไปประมาณ ๘๐๐ ม. วัดอยู่ขวามือ รถขึ้นได้ถึงยอดเขา เป็นวัดโบราณ ปูนปั้นที่หน้าบันอุโบสถสวยนัก เป็นลายกนกเปลวพลิ้วโอบล้อมรูปครุฑ มีถ้ำสำคัญ ๓ ถ้ำคือ ถ้ำประทุน มีพระพุทธรูป ถ้ำเสือ ตำนานบอกว่าพระเจ้าเสือเคยมานมัสการ "อาจารย์แสง" ถ้ำพระพุทธไสยาสน์ และยังมีถ้ำเล็ก ๆ อีกหลายถ้ำ มีสังขารหลวงพ่อแดง ที่เป็นพระเกจิอาจารย์โด่งดังมาก
                วัดเขาตะเครา  อยู่ในท้องที่อำเภอบ้านแหลม ประดิษฐานหลวงพ่อเขาตะเครา ที่เคารพนับถือกันมาก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปองค์นี้มีตำนานว่าท่านเป็นพี่น้องกับพระพุทธรูปอีก ๔ องค์ คือหลวงพ่อพุทธโสธร ที่ฉะเชิงเทรา หลวงพ่อวัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม หลวงพ่อวัดไร่ขิง จ.นครปฐม และหลวงพ่อบางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ
                ร้านอาหารเก่าแก่ของจังหวัดเพชรบุรี ร้านนี้เปิดมานานกว่า ๕๐ ปี ดั้งเดิมที่ผมชิมครั้งแรก ๆ นั้น ไม่ได้ตั้งอยู่ที่ตรงที่ตั้งปัจจุบันนี้ แต่อยู่ฝั่งตลาดสด อยู่ติดกับตลาดเพชรบุรีเลยทีเดียว นับเวลาตั้งแต่ชิมครั้งแรกก็คงเกินกว่า ๒๐ ปีแล้ว ตอนนี้ย้ายมาตั้งอยู่ใกล้ ๆ ถนนเลียบคลองประปา ใกล้สถานีรถรางไฟฟ้าที่จะขึ้นเขาวัง
                เส้นทาง หากออกมาจากเมืองเพชรบุรี จากสามแยกศาลหลักเมือง (ที่เลี้ยวไปถ้ำเขาหลวง) มุ่งหน้ามาตามถนนเพชรเกษม ทิศกลับกรุงเทพ ฯ จะมาผ่านสะพานลอยคนเดินข้ามถนน ผ่านถนนเลี้ยวไปสถานีรถไฟฟ้า ผ่านธนาคารกรุงไทย เลยมานิดเดียวฝั่งตรงข้ามทางขวาคือ ธนาคารศรีอยุธยา ให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอยโรงแรมรอแยล ไดมอนด์ (ปากซอยทางซ้ายมีร้านแม่จุกขายขนมจีน ทอดมัน ซื้อติดมือไปชิมได้ หากไม่ได้ซื้อมาแล้วจากหน้าวัดมหาธาตุ) เข้าซอยไปสัก ๓๐ เมตร ร้านอยู่ซ้ายมือ ร้านใหญ่ มีชั้นบนเป็นห้องจัดเลี้ยงได้ ชั้นล่างเป็นห้องโถง นั่งสบาย มีป้ายคลีนฟู๊ด กู๊ดเทสท์ รับรองความสะอาด รสชาติอร่อย พ่อครัวใหญ่ เคยเป็นพ่อครัวห้อยเทียนเหลาในกรุงเทพ ฯ แต่ซิ้มยังอยู่ แต่ก็ไม่ทำบะหมี่เองแล้ว บอกว่าต้องให้เด็ก ๆ ทำไม่งั้นจะลวกเอามือตัวเองเข้าให้ แต่บะหมี่ก็ยังอร่อยมาก เช่นบะหมี่เกี๊ยวปู อาหารพวกน้ำแดงร้านนี้จะเก่งมาก หากินยากฝีมือนี้ เช่นปลิงทะเลน้ำแดง กระเพาะปลาน้ำแดง
                กระเพาะปลาน้ำแดง ยกมาร้อน ๆ อมความร้อนเอาไว้ ไม่มีควัน ระวังอย่าเผลอซดเข้าปาก ค่อย ๆ ตักใส่ถ้วยแบ่งเสียก่อนแล้วค่อยซด รีบร้อน จะทนร้อนไม่ไหว ร้อน อร่อยชื่นใจนัก
                แฮ่กึ๊น หรือจะสั่ง หอยจ๊อ อาหารมีชื่อของร้านนี้ ไม่มีผักรองก้นจาน จิ้มนย้ำบ่วยเจี่ย
                ลูกชิ้นกุ้ง ผัดผักโสภณ ลูกชิ้น ลูกโต จะเหนียวหนึบ ผักผัดแล้วยังเขียวสวยและกรอบ
                โกยซีหมี่ ไปหลายคนสั่งมาเป็นจานโต ๆ ผัดกับไก่ เห็ดหอม หน่อไม้ เส้นเหนียว ตักแบ่งใส่จานของเราแล้ว เหยาะเสียด้วยจิ๊กโฉ่ เพิ่มรส เพิ่มกลิ่น
                ข้าวผัดปู อีกจานหนึ่งที่ร้านน่ำเทียนผัดอร่อยนัก สั่งโกยซีหมี่แล้วยังไม่สะใจ ต้องสั่งข้าวผัดจานโต ๆ มาอีกจาน (ผมไปกันเจ็ดคน) ตามด้วยจานต้นหอมเขียวสดและแตงกวา จานนี้จะต้องมีน้ำปลาพริก อีกถ้วยจึงจะครบเครื่อง
                ให้สังเกตว่าอาหารร้านนี้ ไม่มีผักรองประดับก้นจาน มั่นใจในฝีมือ ไม่ต้องประดับตกแต่ง
                ของหวาน มีของหวานที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาเอง ทำเอง คิดสูตรเองคือเต้าหู้นมสด ถ้วยเดียวไม่พอ ผมต้องสั่ง ๒ ถ้วย เขาใช้นมสดทำเต้าหู้แล้วใส่กาละมังใบโตเอาไว้ ใครสั่งก็ตักเต้าหู้ใส่ถ้วย ราดด้วยน้ำเชื่อมและนมสด หวานกำลังดี โรยหน้าด้วยชิ้นผลไม้เชื่อม ถ้วยละสิบบาท หาซื้อกลับมาใส่กล่องให้ กล่องละสิบห้าบาท อย่าไปคิดสั่งไอศริม มาชิมหลังอาหาร ต้องสั่งเต้าหู้นมสดมีอยู่แห่งเดียว ไม่ได้ชิมจะเสียใจ

................................................

| บน |

ถ้ำเขาหลวง: ข้อมูลถ้ำเขาหลวง ท่องเที่ยวถ้ำเขาหลวง ข้อมูลเที่ยวถ้ำเขาหลวง


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์