ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > พุทธสถานจีเต็กลิ้ม
 
พุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม
พุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม (นครนายก)

           พุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม เขามีวงเล็บเอาไว้ด้วยว่า นครนายก ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีจุฬา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ที่ต้องมีวงเล็บ "นครนายก" คงจะเป็นเพราะ พุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม ดูแลโดยมูลนิธิ จี เต็ก ลิ้ม ซึ่งอยู่ข้างวัดราชนัดดา ในกรุงเทพ ฯ และพุทธสถานอีกแห่งอยู่ที่ นนทบุรี ที่อยากจะนำเรื่องของพุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม ที่นครนายก มาเล่าให้ฟัง เพราะผมไปมา ไปตามคำบอกเล่าที่ว่า พุทธสถานแห่งนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ไม่ได้อยู่ในชุมชน ในอำเภอเล็ก ๆ แถมในจังหวัดเล็ก ๆ อีกด้วย
            เส้นทาง ไปได้หลายเส้นทางคือ
                เส้นทางที่ ๑  ไปจากกรุงเทพ ฯ ข้ามสะพานรังสิตก็เลี้ยวขวา เพื่อวิ่งไปตามถนนเลียบริมคลองรังสิต ไปผ่านคลอง ๑๕ ตลาดต้นไม้ที่ปลูกต้นไม้ขายส่ง ขายปลีก น่าจะใหญ่ที่สุดในประเทศไปแล้ว เดี๋ยวนี้คงมีหลายร้อยสวนที่เพาะชำต้นไม้ ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ ขายในราคาถูกมาก เช่น ไม้ประดับประเภทชำในถุงแกลบ ถุงละ ๒ - ๓ บาท ยังมี ตลาดนัดล้วนแต่มารับไปจากแหล่งนี้แทบทั้งสิ้น ไปพุทธสถานแล้ว คนรักต้นไม้ เที่ยวกลับ หากกลับทางเดิมอย่าลืมแวะ ตลาดต้นไม้ไปคลอง ๑๕ พอถึงเชิงสะพานคลอง ๑๕ ก็เลี้ยวซ้ายเข้าไป วิ่งผ่านสวนขายไม้ดอก ไม้ประดับ ไปเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรเลยทีเดียว เดี๋ยวนี้ยาวไปจนทลุถนนสายองค์รักษ์ - นครนายก แล้ว และจะเริ่มมีขายตั้งแต่คลอง ๑๔ และยังมีวางขายตามริมทางไปจนถึงเชิงสะพานคลอง ๑๕
                เลยคลอง ๑๕ แหล่งต้นไม้ไปแล้ว ก็จะมาถึงอำเภอองครักษ์ เคยมีร้านอาหารชวนชิมเอาไว้ ก่อนถึงโค้งถนนเข้าอำเภอองค์รักษ์ ก็เลี้ยวซ้ายตัดเข้าไปจะผ่านร้าน แต่หากไม่เลี้ยวเข้ามา ตรงไปถึงโค้งของถนน หากเลี้ยวซ้ายก็จะไปต่อเพื่อไปยังพุทธสถาน ที่อยู่ในเขตอำเภอบ้านสร้าง แต่หากไม่เลี้ยวซ้ายตามโค้ง ตรงเข้าอำเภอองค์รักษ์ไปที่ข้าง ๆ สถานีตำรวจ ห่างกันสัก ๑๐๐ เมตร ของอร่อยอีกแห่งคือ ก๋วยเตี๋ยวผู้กำกับ ที่เคยแนะนำไปแล้ว และตอนนี้เปิดสาขาอีก ๒ แห่ง คือ ที่สโมสรโรงเรียนนายร้อย จปร. เป็นผลให้นักกอล์ฟที่มาพักตีกอล์ฟกันในวันหยุด ได้ซดกันสนุกสนาน อีกแห่งเดี๋ยวผมจะบอกให้ พอเลยโค้งถนนเข้าอำเภอองค์รักษ์มาแล้ว ก็จะเป็นดงไก่ย่าง ราคาถูกรสดีพอสมควร มีหลายสิบเจ้า ๓ ตัว ร้อยบาทก็มี มีหลายราคา เลยดงไก่ย่างไปแล้ว ก็มาเข้าโค้งอีก ตรงโค้งนี้คือ ทางออกหากเรามาจากตลาดไม้คลองสิบห้า เลยโค้งไปหากข้ามสะพานข้ามคลองชลประทาน วิ่งไปจนข้ามสะพานเลี้ยวขวาอีก จะไปยังแหล่งเพาะขาย "ต้นบอนสี" ที่มากถึงขั้นส่งออกไปขายต่างประเทศ เช่น บรูไน เลยทางเลี้ยวซ้ายไปดงบอน ก็จะมาผ่านดงแผงขายผลไม้ มีมากมายนับสิบแผง ทั้งส้ม สาลี่ แก้วมังกร ฯ นครนายกนั้นเดิมมีสวนส้มมากมาย แต่ตอนนี้น่าจะลดลงไป เพราะส้มปลูกในดินตรงไหนไม่กี่ปี ผลผลิตก็จะลดลง เพราะอาหารในดินหมด ให้ปุ๋ยอย่างไร่ก็ยากที่จะฟื้น สวนส้มจึงเปลี่ยนที่ไปเรื่อย ๆ ที่บอกว่าส้มบางมดนั้น น่าจะเหลือแต่พันธุ์ แต่ที่ปลูกกันตรงบางมด ธนบุรี คงเหลือพื้นที่ปลูกน้อยเต็มที วิ่งเลียบคันคลองเรื่อยไป จนพบป้ายชี้ว่าเลี้ยวซ้ายข้ามคลองชลประทานไปโรงเรียนเตรียมนายร้อย เลยต่อไปอีกก็จะพบสะพานสวยเหมือนสะพานมัฆวาน ในกรุงเทพ ฯ มีป้ายชื่อบอกว่าไปโรงเรียนนายร้อย จปร. หากไปก็ข้ามสะพานมัฆวานน้อยนี้ ตรงไปอีกสัก ๙ - ๑๐ กม. ก็จะหลุดเข้าประตู รร.นายร้อย จปร. ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแหล่งหนึ่ง และมีสนามกอล์ฟปราบเซียน ให้นักกอล์ฟไปประลองฝีมือกัน เลยสะพานข้ามคลองมัฆวาน (ไม่ได้ชื่อนี้ ผมเรียกเอง เพราะเขามาสร้างให้เหมือนสะพานมัฆวาน ที่เมื่อก่อนนักเรียนนายร้อยต้องเดินข้ามมาเรียนหนังสือทุกวัน) ไปแล้ววิ่งเลียบริมคลองชลประทานต่อไป จนถึงสี่แยกสามสาว หากเลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองนครนายก ตรงไปยังน้ำตกสาริกา นางรองได้ และเส้นเดียวกันนี้หากไม่ไปน้ำตก เลี้ยวขวาจะไปยังปราจีนบุรี ไปอ่างเก็บน้ำที่สร้างตามแนวพระราชดำริ และกำลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของนครนายก)
                ผมบรรยายเส้นทางไปยาวมากไปหน่อย เพราะไปผ่านอะไรที่ไหน ที่เคยเล่าเอาไว้ก็ถือโอกาสทบทวนด้วย
                สรุปเส้นทาง ๑ เลียบคลองรังสิต ไปจนถึงแยกสามสาวนครนายก ตรงต่อไปประมาณ ๒๒ กม. (ผ่านทางแยกขวาเข้าบ้านดงละคร) จนถึงสามแยกไป อ.บ้านสร้าง (ไปบ้านสร้างให้เลี้ยวซ้าย) ตรงต่อไปตามถนนแคบ ๆ จะผ่านบ่อปลา เลี้ยวขวาข้ามสะพาน พุ่งเข้าประตูพุทธสถานได้เลย
                เส้นทางที่ ๒  จากกรุงเทพ ฯ ไปถึงหินกอง เลี้ยวขวาไปตามถนนจะไปนครนายก ผ่านอำเภอวิหารแดง ที่มีเป็ดพะโล้อร่อย ผ่านบ้านนา ผ่านทางแยกซ้ายเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร มาถึงสี่แยกที่เลี้ยวซ้ายจะเข้าโรงเรียนนายร้อย จปร. ให้ "เลี้ยวขวา" ตรงมาจนถึงเชิงสะพานมัฆวานน้อย (ชื่อที่ผมตั้ง) ทางขวามือเชิงสะพานคือ ร้านอาหารที่จะมาชิมมื้อเที่ยงวันนี้
                หากไปเที่ยวแปดริ้วมาก่อน จะมาจบที่พุทธสถานก็ได้คือ ไปตามเส้นทางที่ ๓
                กรุงเทพ ฯ ถนนรามอินทรา มีนบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุวินท์วงค์ เลี้ยวซ้ายไปบางน้ำเปรี้ยว ไปต่ออำเภอบ้านสร้าง เลยมาทางนครนายกหน่อยเดียว ก็เลี้ยวซ้ายเข้าพุทธสถาน หรือจะเข้าตัวเมืองแปดริ้ว ไหว้พระพุทธโสธรเสียก่อน เที่ยวในเมืองแล้วกลับมาบางน้ำเปรี้ยว ไปบ้านสร้างก็ได้ ล้วนแต่เป็นเส้นทางที่จะเที่ยวจบภายใน ๑ วัน หากอยากนอนค้างก็พักที่นครนายก ไปทางไปน้ำตก มีรีสอร์ทมากมายหลายแห่ง หากไปทางน้ำตกนางรองไปนอนวังตะไคร้ เล่นน้ำตกเสียอีกวัน
            พุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม นครนายก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ ในพื้นที่ ๒๕๕ ไร่ เพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่ปฎิบัติธรรมของประชาชนทั่วไป ก่อสร้างอาคารตลอดจนรูปหล่อพระพุทธเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ และโรงเจ เพื่อให้เป็นที่สาธารณกุศล ให้ประชาชนมาปฎิบัติธรรม ปัจจุบันพุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม อยู่ในความดูแลของมูลนิธิ จี เต็ก ลิ้ม อันเป็นมูลนิธิเพื่อการกุศล ตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง
            เป้าหมายอีกประการหนึ่งของพุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม นอกจากเป็นสถานปฎิบัติธรรมแล้ว ยังได้พัฒนาเพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนครนายก โดยจะเน้นความเป็นธรรมชาติที่ร่มรื่น และยังต้องการให้เป็นที่ศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและศาสตร์จีนด้านต่าง ๆ ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรม และจัดพิมพ์เอกสารหนังสือเพื่อเผยแพร่ออกไป
            ในปี ๒๕๔๗ ทางมูลนิธิได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรู้จักได้ร่วมกับชมรมอนุรักษ์ และเผยแพร่พุทธศิลป์จีนศาสตร์ ซึ่งเป็นชมรมของผู้ที่มีความรู้ทางศาสตร์จีน หลายแขนงทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ดำเนินการจัดสร้างรูปหล่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภคือ เทพไฉ่ชิ้งเอี้ย โดยคัดเลือกปางใหญ่ที่สุดคือ ปางมหาเศรษฐีชัมภล โดยใช้หลักของโหราศาสตร์จีน ฮวงจุ้ย ตลอดจนศาสตร์ด้านพิธีกรรมชั้นสูง ที่สืบทอดกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ
            ชัยภูมิโลก หรือฮวงจุ้ย ตามตำราจีนโบราณ ได้แบ่งออกเป็น ๙ ยุค เวลานี้เข้าสู่ยุคที่ ๘ โดยเริ่มจากปี พ.ศ.๒๕๔๖ และจะยาวไปอีก ๒๐ ปี ผลการเปลี่ยนแปลงชัยภูมิโลก จะเข้ามาสู่ประเทศแถบเอเซีย อันประกอบด้วย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ใต้หวัน อินเดีย ฯ และประเทศไทย ก็ได้เอี่ยวกับเขาด้วย ที่ขยับมากที่สุดคือ "จีน" เจ้าตำรับแห่งฮวงจุ้ย เริ่มขยับตัวดังที่เรียกว่า พญามังกรได้ตื่นจากหลับใหลแล้ว
            เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ไฉ่ซิ้งเอี้ย เป็นเทพเจ้าที่คนจีนนับถือ กราบไหว้กันทั่วโลกเพื่อให้เฮง
            เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ไฉ่ซิ้งเอี้ย สามารถจัดแบ่งได้ดังนี้คือ
                ปางมหาเศรษฐีชัมภล  ซึ่งเป็นปางที่ใหญ่ที่สุด และมีความเก่าแก่มากที่สุดนานกว่า ๑,๒๐๐ ปี (กำเนิดจากพุทธศาสนามหายาน)
                ปางบู๊  ทรงเครื่องนักรบโบราณ มีเสือประทับอยู่ด้วย คติมาจากความที่เป็นยักษ์นั่นเองมีทั้งพุทธมหายาน และเต๋าก็มีการประยุกต์มาเช่นกัน
                ปางบุ๋น  เป็นรูปขุนนางจีน ซึ่งปางนี้กำเนิดในภายหลัง คล้ายคลึงกับเทพเจ้าองค์อื่นของจีน อาจจะมีคฑายู่อี่ และถือก้อนเงินจีนโบราณ ซึ่งมาจากลัทธิเต๋า เทพเจ้าแห่งโชคลาภ มีความเก่าแก่ยาวนาน มีประวัติความเป็นมาที่สากล ปรากฎอยู่ในหลายประเทศแถบทวีปเอเซีย แต่ของลัทธิเต๋านั้นมากำเนิดขึ้นภายหลังในประเทศจีน ซึ่งจะเป็นกึ่งตำนาน หรือกึ่งนิทานตามตำนานมหาเทพของจีน (ฮงสิงปั้ง) ที่เป็นบุคคลธรรมดา ต่อมาเมื่อตายแล้วจึงได้รับการยกย่องขึ้นเป็นเทพในภายหลัง เช่น เทพเจ้ากวนอู

                    รูปลักษณะของเศรษฐีชัมภล  มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกับเทพเจ้าองค์อื่นอย่างเห็นได้เด่นชัด คือ มีลักษณะอวบอ้วน พุงพลุ้ย ใบหน้าใหญ่ ล่ำ ใบหน้ามีความจริงจัง แต่แฝงไปด้วยความเมตตากรุณา เปลือยท่อนบน แต่ประดับไว้ด้วยสร้อยสังวาล เพชร นิล จินดา กำไล ทั้งองค์เต็มไปด้วยอัญมณีล้ำค่า แสดงถึงความมั่งคั่งอย่างเหลือคณานับ ประทับนั่งบนแท่นดอกบัว และห้อยพระบาท ข้างหนึ่งเหยียบหอยสังข์ มือข้างหนึ่งถือแก้วมณี อีกด้านถือตัวพังพอนไว้ และท่านจะบีบคอพังพอนให้พังพอนอ้าปากคายแก้วแหวนเงินทองออกมา เป็นเคล็ดลับแต่โบราณกล่าวไว้ว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหลายบนพื้นพิภพล้วนแต่อยู่ในผืนแผ่นดิน ความสมบูรณ์ต่าง ๆ ก็มาจากดินจากน้ำใต้ดินทั้งสิ้น แก้วแหวนเงินทองก็ล้วนมีกำเนิดจากพื้นปฐพี งู คือเจ้าแห่งเมืองใต้บาดาล สัตว์ที่จะนำมาแก้เคล็ดกับงูได้ก็คือพังพอน โบราณจึงกำหนดรูปลักษณะของมหาเศรษฐีชัมภลไว้ตามที่ต่าง ๆ ล้วนแต่มีพังพอนเป็นสำคัญ
                    เทพเจ้าแห่งโชคลาภ  องค์ที่ประทับหน้าประตูทางเข้าของวิหารหลังหน้า เทพเจ้าองค์มีพังพอนในมือข้างซ้าย
                    เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ไฉ่ชิ้งเอี้ย ปางมหาเศรษฐีชัมภล ในประเทศไทยเรามักเรียกท่านว่าท้าวกุเวร ท้าวชุมพล บางแห่งเรียกว่าเจ้าพ่อแห่งขุมทรัพย์ นอกจากจะให้คุณทางด้านโชคลาภทรัพย์สมบัติแล้ว ยังสามารถคุ้มครองป้องกันสิ่งอัปมงคลได้ทุกชนิด สามารถปัดเป่าพลังอำนาจที่ไม่ดีออกไป พุทธสถานจี เต็ก ลิ้ม นครนายกได้ค้นคว้าหาต้นตำรับ เพื่อเผยแพร่เรื่องของเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ปางมหาเศรษฐีชัมลภให้เป็นที่รู้จักกัน
                ทีนี้มารู้จักหยกกันก่อนที่จะเดินขึ้นไปตามวิหารต่าง ๆ หยกมี ๒ ประเภทคือชนิดเจไดต์ Jadeite และหยกชนิดเนไฟรต์ Nephrite  หยกเจไดต์ จะมีคุณภาพดีที่สุด หยกที่นำมาจัดสร้างเป็นเหรียญไฉ่ซิ้งเอี้ย นำมาจากประเทศพม่า ซึ่งถือกันว่าแหล่งหยกอันดับหนึ่งของโลก
                หยก  เป็นที่รู้จักกันมานานนับพันปี กำเนิดขึ้นมาจากหินธรรมชาติ ตามศาสตร์จีนกล่าวไว้ว่า หยกเกิดขึ้นจากการที่หินซึมซับพลังงานจักรวาล แสงอาทิตย์ แสงจันทร์ พลังความร้อน ความเย็น แร่ธาตุต่าง ๆ นับเป็นเวลาล้าน ๆ ปี เปลี่ยนสภาพจากหินธรรมดากลายเป็นหยกอันทรงคุณค่า มีพลังแห่งชีวิต คนโบราณจึงนิยมนำหยกมาเป็นเครื่องประดับ และสิ่งมงคลคู่กับตัวเช่น กำไล แหวน แผ่นหยก เป็นต้น ถือว่าหยกเป็นของสูง เชื่อกันว่าหยกจะสามารถช่วยปรับสมดุลย์ธาตุในร่างกายของมนุษย์ มีพลังที่จะบำบัดโรคภัยไข้เจ็บบางชนิดได้ และยังมีพลังคุ้มครองสิ่งอัปมงคลได้ด้วย จึงนิยมพกพาหยกติดตัวเป็นเครื่องราง บางครั้งหยกจะเปลี่ยนสีได้ การเปลี่ยนสีของหยกอาจจะหมอง และหากเคารพเชื่อถือจริง หยกจะรับอันตรายแทนเจ้าของได้ พลังแห่งหยกนี้ชาวจีนเชื่อถือกันมานานกว่า ๕,๐๐๐ ปี และการใช้น้ำมันมะกอกเช็ดทาหยก จะทำให้หยกดูเป็นมันวาว
                เมื่อเข้าประตูพุทธสถานไปแล้ว ทางขวามือจะเป็นวิหารเทพเจ้าแห่งโชคลาภที่สร้างด้วยหยก บอกว่าองค์นี้สร้างด้วยเนื้อหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคำจารึกบอกไว้ในวิหารหลังนี้มี ๒ องค์ องค์ใหญ่สร้างด้วยเนื้อโลหะ องค์เล็กสร้างด้วยเนื้อหยก เดินต่อไปทางขวามือ มีสะพานข้ามไปยังพระโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระแม่กวนอิมประทับยืน หัตถขวาถือกิ่งไผ่ ทางด้านขวาของเจ้าแม่กวนอิม ห่างกันสัก ๒๐๐ เมตร มีเห้งเจียเนื้อโลหะ องค์นี้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเทพต่าง ๆ มากเหลือเกิน ทั้งในวิหาร และกลางแจ้งเช่นอั้งไฮ้ยี้ผู้รับใช้เจ้าแม่กวนอิม ซัวเจ๋ง ตือโป๊ยก่าย ไท้เสียงเหล่ากุน เจ้าแม่กวนอิมพันมือ พระถังซัมจั๋ง ขี่ม้าเพราะเป็นผู้เชิญพระไตปิฎกจากอินเดียมาสู่จีน เจ้าพ่อเสือ (ตั่วเหล่าเอี้ย) ปางปุ๋น เจ้าพ่อเสือ (ตั่วเหล่าเอี้ย) ปางบู๊ เทพเจ้ากวนอู เกียงไท้กงขี่ม้าเป็นผู้สถาปนาเทพเจ้า ๓๖๕ องค์ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ผู้ดูแลโลกมนุษย์และสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ
                บนวิหารหลังหน้า เทพหลายองค์สถิตอยู่ในหลังนี้ และมีพระพุทธไตรรัตน์นายกปฏิมากร หรือหลวงพ่อโตซำปอกง องค์ที่ ๔ ของประเทศไทย ขนาดหน้าตัก ๑๖ นิ้ว สูง ๓๒ นิ้ว ที่สังฆาติมีภาษจีนเขียนไว้ว่า "ซำปอกง ฮ้วยกิมซิง หรือ ซำปอกง ฮั่วจินเซิน" เสมือนเป็นการประกาศว่าข้าคือซำปอกง โดยถอดแบบออกจากองค์จริง ซึ่งสร้างในสมัยอยุธยาคือ หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง องค์นี้สร้างโดยช่างจีน องค์รองอยู่ที่วัดกัลยา ธนบุรี องค์เล็กอยู่ที่แปดริ้ว องค์นี้เล็กกว่าเพื่อน
                วิหารหลังใหญ่ตอนในสุด  เวลาไปควรเลยเข้าไปที่วิหารหลังใหญ่ตอนในสุดเสียก่อน ใหญ่โตมาก ทุกหลังที่ก่อสร้างล้วนแต่ประณีต งดงามทุกหลัง และเทพทุกองค์ก็สร้างสวย ได้สัดส่วน ด้วยเนื้อโลหะ หรือหยกที่ดีเยี่ยม ที่วิหารหลังใหญ่นี้มีพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า พระพุทธองค์ผู้คุ้มครองดวงชะตาชีวิต ประดิษฐาน ณ พระวิหารนพเคราะห์ชันษาไภษัชยราชา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียงแห่งเดียว ในวิหารหลังนี้ข้างฝาผนังมีองค์พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า ประดับอยู่อีกหมื่นองค์
                ด้านตรงข้ามกับวิหารหลังใหญ่คือ ศาลาจำหน่ายวัตถุมงคล
                เทพต่ออายุ มีแห่งเดียวในประเทศไทย ไหว้เพื่อต่อชะตาชีวิตตามคติความเชื่อในลัทธิเต๋า
                ร้านอาหาร ร้านนี้ชิมกันมาหลายครั้ง วันนี้ชิมตอนกลับจากพุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม ย้อนกลับมาตามเส้นทางเดิมจนมาถึงสี่แยกสามสาว ก็ตรงเพื่อกลับมาทางองค์รักษ์ พอมาถึงตรงที่ผมเรียกว่า สะพานมัฆวานน้อยทางขวามือ ก็เลี้ยวขวาข้ามคลองชลประทานจะไปตามถนนไปโรงเรียนนายร้อย จปร. พอข้ามสะพานร้านจะอยู่ทางซ้ายมือ โอ่โถง นั่งสบายริมคลอง

                อาหารสำคัญของร้านนี้และต้องสั่ง จะมาเร็วด้วยเพราะสั่งกันทุกโต๊ะคือ ปลาช่อนเผาเกลือ มีน้ำจิ้มมา ๒ ถ้วยไม่เหมือนกัน แจ่วแมงดา ใครชอบกลิ่นแมงดา จะต้องชอบมากขึ้น อีกถ้วยเป็นน้ำจิ้มสามรส มีจานผัก ในจานมีบวบต้ม ถั่วฝักยาวลวก มะเขือยาวเผา กล่ำปลีต้ม
                เต้าหู้ทรงเครื่อง มีปลาหมึก เห็ด แคร็อท ใส้กรอกรมควัน กุ้ง หมู แผ่นห่อเต้าหู้ ยกมากำลังร้อนมีน้ำมาก ซดได้เลย จานนี้ต้องรีบกิน ตอนกำลังร้อนจึงจะเด็ด
                ทอดมันปลากราย ยกมาตั้งพอชิมก็ตรงตามสูตรของผม คือ เหนียวหนึบ ได้เคี้ยวหนุบหนับ มีน้ำจิ้มรสเข้ม
                ผัดเผ็ดปลาเนื้ออ่อน กินกับข้าวสวยวิเศษนัก
                อาหารทุกจานจะมาเร็วมาก คงไปสั่งตรงอาหารชวนชิมของร้านเข้าก็ได้ จึงมาเร็วมากเห็นอาหารมาเร็วเลยสั่งเพิ่มอีก คราวนี้มาช้าคงจะไม่ค่อยมีใครสั่งคือ เป็ดน้ำแดง ปรากฎว่ามาช้า มาเอาเกือบอิ่ม หากไม่ทันเสียดาย เพราะอร่อยมาก เนื้อเป็ดนุ่มเปื่อย ไม่ยุ่ยได้เคี้ยว รสดีมาก แถมน้ำแดงมีมากพอที่ตักซดตอนร้อน ๆ วิเศษอย่าบอกใครเชียง อย่าลืมเหยาะจิ๊กโฉ่ลงไปนิดหนึ่ง เพื่อเพิ่มรสชาติให้วิเศษมากขึ้น

...........................................................


| บน |

พุทธสถานจีเต็กลิ้ม: ข้อมูลพุทธสถานจีเต็กลิ้ม ท่องเที่ยวพุทธสถานจีเต็กลิ้ม ข้อมูลเที่ยวพุทธสถานจีเต็กลิ้ม


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์