ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > พระธาตุศรีคูณ
 
พระธาตุศรีคูณ
| ย้อนกลับ |

ไหว้พระธาตุประจำวันเกิด (พระธาตศรีคูณ)

            พระธาตุศรีคุณ  หรือศรีคูณ  นี้เป็นพระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันอังคาร ซึ่งมีพระพุทธรูปประจำวันเกิด ของคนวันเกิดวันนี้เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์  (ประทับนอน ตะแคงขวา พระหัตถ์ขวาจะขึ้นประคองเศียรให้ตั้งขึ้น)  องค์พระธาตุประดิษฐานอยู่ที่วัดธาตุศรีคูณ บ้านนาแกน้อย หมู่ ๓ ตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
            วัดธาตุศรีคูณ ตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ ลักษณะของพระธาตุเช่นเดียวกับพระธาตุพนม ซึ่งจะเป็นที่น่าสังเกตว่า พระธาตุในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม ที่สำคัญมักจะมีลักษณะเช่นเดียวกับองค์พระธาตุพนม ที่อำเภอธาตุพนม ซึ่งเป็นพระธาตุที่สำคัญองค์หนึ่ง พระธาตุศรีคูณ ก็เช่นกันคือ มีลักษณะคล้ายกับพระธาตุพนม ต่างกันที่ชั้น ๑ มี ๒ ตอน เป็นรูปสี่เหลี่ยม ประดับลวดลายปูนปั้น แต่ชั้นที่ ๒ สั้นกว่าพระธาตุพนม ภายในบรรจุพระอรหันต์ธาตุของโมคคลานะ พระสารีบุตร และพระสังกัจจายนะ ใครได้ไปนมัสการพระธาตุศรีคุณ ไม่ว่าจะเกิดวันใด จะได้อานิสงค์ให้มีศักดิ์ศรีทวีคูณ
            คาถาบูชาดวงประจำวันเกิดวันอังคาร "ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง"  สวดบูชาวันละ ๘ จบ ชื่อคาถาฝนเสน่หา ใช้ทางเมตตามหานิยม ประจำอยู่ทิศอาคเนย์ หรือตะวันออกเฉียงใต้
            สิ่งของบูชาพระธาตุ ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวหนียวปิ้ง ดอกไม้สีชมพู ธูป ๘ ดอก เทียนขาว ๒ เล่ม
            ก่อนที่จะเล่าถึงตำนานเก่าแก่ของวัดพระธาตุศรีคุณ หรือศรีคูณ ผมขอเล่าถึงการเดินทางมาเพื่อไหว้ พระธาตุประจำวันเกิดของผมเสียก่อน ผมเคยพาไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิด ของคนเกิดปีต่าง ๆ ทั้ง ๑๒ ราศี มาแล้ว ซึ่ง ๑๑ ราศี จะรวมกันอยู่ในภาคเหนือ คือ ที่จังหวัดตาก ๑ แห่ง จังหวัดลำปาง ๑ แห่ง จังหวัดลำพูน ๑ แห่ง จังหวัดเชียงหใม่ ๕ แห่ง จังหวัดเชียงราย ๑ แห่ง จังหวัดน่าน ๑ แห่ง จังหวัดแพร่ ๑ แห่ง  รวมเป็น ๑๑ แห่ง ๑๑ ปีเกิด ยังหายไปอีก ๑ แห่ง และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดเพียงองค์เดียว ที่ไปอยู่ทางภาคอีสานคือ พระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม
            แต่พอมาถึงพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง ๗ วัน กลับไปรวมกันอยู่ในเขตจังหวัดนครพนมทั้ง ๗ วัน ใครไปไหว้พระธาตุประจำวันเกิด ให้เดินทางไปนครพนมจังหวัดเดียว จะได้ไหว้พระธาตุครบทั้ง ๗ วัน ไม่ว่าเกิดวันไหนก็จะมีองค์พระธาตุประจำวันให้กราบไหว้ ผมจะเล่าเรียงไปตามการเดินทางของผม ที่เป็นการไปไหว้ครั้งแรกครบทั้ง ๗ วัน แต่ไปในเส้นทางที่ไปพระธาตุบางองค์เชื่อตามป้าย จึงค่อนข้างจะอ้อมมากไป หรือไปในเส้นทางที่ชาวเมืองเขาคงไม่ไปกันในเส้นทางนี้
            พระธาตุประจำวันเกิด ของคนเกิดวันอังคาร คือ พระธาตุศรีคุณ หรือพระธาตุศรีคูณ อยู่ที่อำเภอนาแก
            พระธาตุประจำวันเกิด ของคนเกิดวันอาทิตย์ คือ พระธาตุพนม อยู่ที่อำเภอธาตุพนม
            พระธาตุประจำวันเกิด ของคนเกิดวันจันทร์ คือ พระธาตุเรณู อยู่ที่อำเภอเรณูนคร
            พระธาตุประจำวันเกิด ของคนเกิดวันพุธ คือ พระธาตุมหาชัย อยู่ที่อำเภอปลาปาก
            พระธาตุประจำวันเกิด ของคนเกิดวันเสาร์ คือ พระธาตุนคร อยู่ที่อำเภอเมืองนครพนม
            พระธาตุประจำวันเกิด ของคนเกิดวันศุกร์ คือ พระธาตุท่าอุเทน  อยู่ที่ อำเภอท่าอุเทน
            พระธาตุประจำวันเกิด ของคนเกิดวันพฤหัสบดี  คือ พระธาตุประสิทธิ์  อยู่ที่อำเภอนาหว้า
            ที่ผมบอกชื่อพระธาตุมาไม่ได้บอกเรียงไปตามวัน บอกเรียงไปกตามการเดินทางของผมว่า เดินทางไปตามเส้นทางใด แต่พอในตอนต่อ ๆ ไป ซึ่งก็คงจะต้องเล่ากันยาวทั้ง ๗ ตอน ๗ วัน นั่นแหละจะได้คุ้มค่า สำหรับท่านที่จะเดินทางไปไหว้พระธาตุ และถือโอกาสไปเที่ยวนครพนม และเมืองตามเส้นทางได้ด้วย จะได้ใช้เป็นคู่มือในการเดินทางได้เลย และต้องมีเวลาไปสัก ๔ - ๕ คืน จะสนุก และได้รายละเอียด ไม่ใช่แต่วิ่งไปถึงยกมือไหว้แล้ววิ่งกันต่อไป หากทำเช่นนี้แทบจะไม่ได้อะไร นอกจากจะได้ความเหนื่อยเอากลับมาเท่านั้น
            ก่อนจะไปถึงตำนานของพระธาตุศรีคูณ เอารายละเอียดของเส้นทางเสียก่อน ว่าผมไปทางไหน ไปนครพนมคราวนี้ผมลองไปตามเส้นทางที่ยังไม่เคยไป และจะไม่ผ่านเทือกเขาสูง ที่วิ่งวกวนตามไหล่เขา จะไม่พบเลย ไปตามเส้นทางนี้ คือ
            จากกรุงเทพ ฯ ไปเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินสาย ๒ หรือมิตรภาพที่สระบุรี จากนั้นไปตามเส้นทางสาย ๒ ไปจนถึงนครราชสีมา เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสาย ๒ เช่นเดิม แต่พอถึงขอนแก่น จะต้องตัดสินใจว่า จะเลือกไปทางไหนดี

            เส้นดั้งเดิม ที่เขาไปกันคือ จากขอนแก่น เลี้ยวขวาที่บ้านไผ่ก็ได้ หรือไปเลี้ยวเข้าเมืองขอนแก่นก่อน แล้วตัดไปออกกาฬสินธ์ ผ่านอำเภอสมเด็จ ผ่านเทือกเขาภูพาน ไปออกที่สกลนคร ไปเส้นนี้ผ่านผาเสวย ที่มีไดโนเสาร์จำลองไว้ให้ชมหลายตัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยมาประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันที่ผาเสวยแห่งนี้ จากผาเสวยไปแล้วก็ยังได้ผ่านภูพานราชนิเวศน์ แล้วจึงเข้าสู่ อำเภอเมืองสกลนคร
            ส่วนเส้นทางที่ผมทดลองไป หรือใครจะเรียกว่าอุตริไปก็ได้ เพราะคงจะไม่ค่อยมีใครเขาไปสกลนครกันตามเส้นทางนี้ คือ ไปจากขอนแก่น แล้วตรงต่อไปผ่านดงไก่ย่างเขาสวนกวาง เลยต่อไปจนถึง กิโลเมตร ๘๒ ก็เลี้ยวขวาไปอีก ๘ กิโลเมตร ถึงอำเภอกุมภวาปี  ผมพักนอนที่นี่ ๑ คืน และควานหาร้านอร่อยชิม หาได้อร่อยมากจริง ๆ ซึ่งเมื่อไปตามเส้นทางนี้แล้วก็จะไปต่อยังอำเภอหนองหาน ซึ่งมรดกโลกบ้านเชียง อยู่ที่อำเภอนี้ จากหนองหาน ก็จะไปผ่านอำเภอพรรณานิคม ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ของพระอาจารย์ฝั้น จากพรรณานิคมก็ต่อไปยังอำเภอเมืองสกลนคร ได้แวะเที่ยวหนองหาน พระธาตุเชิงชุม ได้ไหว้พระองค์แสน ในพระอุโบสถวัดเชิงชุม ไปไหว้พระธาตุดุม พระธาตุนารายณ์เจงเวง แล้งจึงต่อไปยังอำเภอนาแก ไหว้พระธาตุศรีคูณ และไปวัดภูพานดานสาวคอย ก่อนที่จะต่อไปยังอำเภอธาตุพนม จึงมีสองเส้นทางให้ท่านเลือกเดินทาง ไปยากนิดขับรถบนเขาหลายสิบกิโลเมตร ก็ไปทางกาฬสินธ์ หากขี้เกียจขับบนภูเขา ทางแคบนิดหนึ่งได้ไปในเส้นทางแปลก ๆ ไปทางกุมภวาปี
            หากไปตามเส้นทางที่ผ่านอำเภอกุมภวาปี ก็ขอแนะให้นอนเสียหนึ่งคืน รีสอร์ทที่อำเภอนี้มีหลายแห่งพอพักได้ สะอาดพอใช้  อำเภอเล็ก ๆ แห่งนี้มีความสำคัญชนิดที่ผมเองก็ไม่ทราบมาก่อน มาทราบและพบเข้าโดยบังเอิญคือ "พระธาตุดอนแก้ว" ซึ่งเป็นพระธาตุเก่าแก่ ที่มีตำนานการสร้างว่าสร้างหลังจากสร้างพระธาตุพนมแล้วเพียง ๓ ปี เท่านั้น
            พระธาตุพนม สร้างเมื่อ พ.ศ. "๘"  พระธาตุดอนแก้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. "๑๑"  เรียกว่าแปลกมาก ทำไมพระธาตุที่มีประวัติเก่าแก่เช่นนี้ จึงไม่ถูกประชาสัมพันธ์กระจายข่าวออกไป
            เส้นทางไปวัดมหาธาตุเจดีย์  วิ่งผ่านตัวอำเภอกุมภวาปี ไปก่อนแล้วเลี้ยวซ้ายจะผ่านสถานีตำรวจ สภอำเภอกุมภวาปี ผ่านวัดศรีนคราราม มีพระธาตุบรรจุอยู่ริมน้ำปาว ต่อไปอีก ๓ กิโลเมตร จะผ่านหนองน้ำ มีนกน้ำให้ชม จากนั้นจะถึงบ้านดอนแก้ว มาผ่านวัดป่าอรัญวิเวกธรรม ก็จะวิ่งตรงเข้าประตูวัดดอนแก้ว ไปเลย
            เป็นวัดเล็ก ๆ แต่ร่มรื่นและสะอาดไปทั้งวัด ตอนที่ผมไปถึงนั้นประมาณห้าโมงเย็นแล้ว เห็นพระเห็นเณรกำลังกวาดวัด ทำวความสะอาดวัดอยู่ พระธาตุนั้นเมื่อเข้าประตูแล้ว ตรงไปสัก ๕๐ เมตร องค์พระธาตุดอนแก้ว ที่เก่าแก่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงทางเข้าประตูวัด
            ตำนานองค์พระธาตุ  เป็นคำบอกเล่าของพระเถระ และผู้เฒ่าสืบเนื่องกันมา ความว่า เจดีย์พระธาตุพนม สร้างเมื่อ พ.ศ. "๘" พอถึง พ.ศ. "๑๑"  พระอรหันต์คณะหนึ่งไปนมัสการพระธาตุพนม ตอนเดินทางกลับได้เดินทางกลับมาผ่านกุมภวาปี พอมาถึงบ้านดอนแก้ว ในปัจจุบันพระองค์หนึ่งอาพาธ ดับขันธ์ จึงได้ประชุมเพลิงกัน ณ สถานที่นี้แล้ว เก็บอัฐิเอาไว้โดยสร้างเจดีย์
            แต่นักโบราณคดี สันนิษฐานว่า พระมหาธาตุเจดีย์ตลอดจนในเสมา เสาหิน สร้างเมื่อราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓ วัสดุก่อสร้างเป็นหินทราย ภาพแกะสลักฝีมือสมัยทวารวดีตอนปลาย หรือลพบุรีตอนต้น เจดีย์มีรูปทรงคล้ายพระธาตุพนม สูง ๑๘ วาเศษ  (๓๖ เมตร)
            นอกจากความสะอาดควรแก่การยกย่องของวัดแล้ว ยังมีดรงปลูกเอาไว้เก็บเรือแข่ง ชื่อเรือ "คำเมืองทอง"  เณรกำลังกวาดวัดอยู่บอกว่า เป็นเรือที่ยังแบกไปลงน้ำ ใช้ในการแข่งขันได้
            นอกจากนี้ในตัวอำเภอกุมภวาปี ยังมีสวนธรรมชาติ เขาเรียกกันว่า สวนลิง เพราะมีลิงอาศัยอยู่ด้วย มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น กลางสวนมีพระศิวลี สวนนี้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน เลยอำเภอไปตามถนนสายที่เข้ามา พอข้ามลำน้ำปาวไปแล้ว ตอนเย็นมีตลาดนัด จะมีทุกเย็นหรือเปล่าลืมถามเขาไป เรียกว่า ตลาดนัดเวียงคำ
            ขอแนะนำ ร้านอาหารที่ผมขอยกย่องว่าระดับเพชร ซ่อนอยู่ในตมเลยทีเดียว เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเล็ก ๆ ที่คนไม่ค่อยรู้จัก แต่ความจริงฟังแต่ชื่อจะรู้สึกไพเราะดี ตอนกลับจากการไปตระเวณไหว้พระธาตุประจำวันเกิด ผมมีโอกาสไปกินของอร่อยที่อีกอำเภอหนึ่ง หลงทิศไปเช่นกันคือ อำเภอกุมภวาปีปทุม หากไม่ลืมผมจะเอามาเล่าให้ฟัง การหลงทางไปบ้างก็เท่ากับได้สำรวจเส้นทางไปในตัว ผมรู้จักทางมาก เดินทางรอบประเทศไทยมาหลายรอบแล้ว ก็เพราะการหลงไปหลงมานี่แหละ มีส่วนช่วยให้รู้จักเส้นทางมากขึ้น โดยมิต้องเสียเวลาไปอ่านแผนที่
            ตามเส้นทางที่แยกมาจากถนนสาย ๒ ที่กำลังมุ่งหน้าไปทางอุดรธานี พอถึง กิโลเมตร ๘๒ ก็เลี้ยวขวามากุมภวาปี ประมาณ ๘ กิโลเมตร เลี้ยวมาแล้วจะผ่านชุมชนกุมภวาปีเมืองเก่า อย่าไปสนใจคงตามป้ายที่บอกว่า ไปกุมภวาปีอย่างเดียว มาผ่านรีสอร์ทนาทอง ตรงเรื่อยไปจนมาเข้าอำเภอ ถึงสี่แยกมุมซ้ายมีโรงเรียนบ้านดงเมือง ให้เลี้ยวขวาที่สี่แยกที่มุมขวาบนของสี่แยก มีคลินิคหมอจักรวาฬ เลี้ยวขวาแล้วจะมาชนวงเวียนเล็ก หรือสี่แยก ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนแชแล จะผ่านตลาดทางขวามือ ผ่านร้านอาหาร เอาไว้กินเช้า ทางซ้ายมือเช้า ๆ ขายเลือดหมู ข้าวหน้าเป็ดอร่อยใช้ได้  ร้านเป็นศาลากว้าง ตอนเย็นคนเต็ม แสดงว่าชาวเมืองมานั่งกินกัน เขาคงรู้กันว่าอร่อย ผมเลยเข้าไม่ผิดร้าน
            ปลานึ่ง แจ่วดิบ คู่มากับผักนึ่ง ดอกกล่ำ บวบ กล่ำปลี ปลาทับทิมนึ่งมาตัวโต แจ่วรสชาตดีมาก
            แก่งอ่อมปลา น้ำใส รสเข้ม ปลาหลายชนิด
            ลาบเป็ด อุดรมีชื่อเสียงลาบเป็ด รสไม่จัด ถามเขาทีหลังเขาว่ากลัวคนกรุงจะไม่กินเผ็ด
            หมูสะเต๊ะ  อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด ขอชวนชิมเป็นพิเศษ ไม่นึกเลยว่าจะมาเจอเอาหมูสะเต๊ะ อร่อยที่กลางป่า กลางดงอย่างนี้ ไม้ใหญ่ เนื้อนุ่ม มีกลิ่นหอม น้ำจิ้มไม่หวานนัก
            กุ้งอบวุ้นเส้น วุ้นเส้นคลุกเคล้ามีรสเข้ากับกุ้ง
            สลัดผัก สลัดน้ำข้น น้ำสลัดเก่งมาก เก่งจนต้องซื้อหิ้วกลับเอามาด้วย
            นอกจากนี้ยังมีอาหารแนะนำของร้านอีกหลายอย่างเช่น ลาบหมู แกงคั่วหอยขม ลาบปลาโจก
            รุ่งขึ้นเดินทางต่อ ก่อนออกเดินทางแวะชิมอาหารเช้า เข้าร้านที่อยู่ถนนแชแล หมายหตาเอาไว้ตั้งแต่ตอนเข้ามา และเที่ยวตลาดนัดเช้า ของขายแยะดี น่าสนุก
            จากอำเภอกุมภวาปี ก็ไปยังอำเภอหนองหาน มีศาลหลักเมือง อำเภอนี้เป็นเมืองเก่า คือ เมืองหนองหานน้อย มีศาลเจ้าปู่หอคำ ศาลเจ้าปู่เจ้าฟ้า จากหนองหานไปบ้านเชียงมรดกโลก แล้วต่อไปยังสกลนคร เที่ยวในสกลนคร จากสกลนครไปยังอำเภอนาแก ตามถนนสาย ๒๒๓ ซึ่งจะต่อจากนาแกไปยังธาตุพนม เรณูนคร และ อำเภอเมืองนครพนม  แต่หากจากสกลนครจะตัดตรงไปยังเมืองนครพนมเลยก็ไปตามถนนสาย ๒๒ อีก ๗๔ กิโลเมตร จนถึงนครพนมส่วนจากสกลนครไปนาแก ระยะทาง ๔๙ กิโลเมตร
            ก่อนถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณในตัวอำเภอสัก ๕๐ เมตร ให้เลี้ยวขวาตรงร้าน ๗ อีเลฟเว่นไปอีก ๒๐๐ เมตร ก็จะได้นมัสการพระธาตุศรีคุณ หรือศรีคูณ
            ทำไมผมต้องมีคำว่าหรือ เพราะป้องกันไม่ให้ใครประท้วงมาว่าผมเขียนผิด ก็ขอชี้แจงว่าค้นอ่านจากหนังสือหลายเล่ม เช่นการท่องเที่ยวเรียกว่าพระธาตุศรีคุณ แต่หนังสือที่เป็นทางราชการแท้ ๆ เพราะผู้จัดทำ ทำตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีและทำถวายในวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนม์พรรษา ๖ รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่นนี้น่าจะถูกต้องที่สุดเรียกว่า "พระธาตุศรีคูณ" หรือพุทธศาสนคดีของคุณไพโรจน์ เสรีรักษ์ เรียกว่า พระธาตุศรีคูณ และอีกหลายเล่ม ผมตัดสินใจไม่ถูก เวลาเรียกพระธาตุศรีคุณ ผมเลยเติมหรือเข้าไปอีกคำว่า พระธาตุศรีคุณ ท่านผู้ใดจะคัดค้านทางไหน และจะสนับสนุนทางไหนว่าถูกว่าผิดก็ไปต่อว่าหักล้างกันเอาเอง ผมบอกให้แล้วว่าผมไปค้นมาจากตรงไหนและยังมีอีกหลายเล่มที่ใช้ชื่อว่าพระธาตุศรีคูณ
            รายละเอียดของพระธาตุศรีคูณ ผมได้เล่าไว้ตอนต้นบ้างแล้ว แต่หากค้นอ่านจากหลาย ๆ ฉบับจะสับสน เพราะบอกไว้ไม่ตรงกัน แต่ที่น่าจะแน่นอนคือสร้างมานานแล้ว และเพิ่งมาค้นพบเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๐ ส่วนจะสร้างเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐาน ผู้ที่ค้นพบคือกลุ่มชาวบ้านที่เป็นชาวลาวอพยพมาอยู่ในนาแกจะสร้างหมู่บ้าน จึงพบองค์พระธาตุร้าง และต่อมาจึงมีการสร้างวัดพระธาตุ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ ภายในวัดมีหลักฐานสำคัญคือ
            พระธาตุที่มีลักษณะเดียวกับพระธาตุพนม
            หอแจก เป็นหอแจกแบบโปร่ง ยกพื้นสูง ผนังเปิดโล่ง ทั้ง ๓ ด้าน สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒
            ใบเสมา ปักอยู่รอบอุโบสถในลักษณะการยึดคติตามทิศทั้งแปด จำนวนทั้งหมด ๑๑ ใบ และมี ๒ แบบคือ แบบที่มีลวดลายสลักและแบบเรียบ แบบสลักนั้นลวดลายลักษณะเป็นภาพสัญลักษณ์ทางพุทธศานาเช่น สถูป หม้อปุรณฏะ ลายกลีบบัว ลายคั่นลูกประคำ ซึ่งจัดอยู่ในสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖ คือประมาณพันปีล่วงมาแล้ว
            จากพระธาตุศรีคุณ กลับมาออกสาย ๒๒๓ เลี้ยวขวาไปอีก ๕๐ เมตร จะถึงสี่แยกทางมุมขวาบนจะมีป้ายบอกไว้ว่าไปวัดรอยพระพุทธบาท และวัดภูพานดานสาวคอยวนาราม หากเลี้ยวไปประมาณ ๖ กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายไปยังวัดรอยหพระบาท และมีทางแยกซ้ายไปยังมหาวิทยาลัยรามคำแหง และไปอีก ๒ กิโลเมตร ถนนคอนกรีตกว้างกว่าเดิมจะไปบนเขาสู่วัดภูพานดาน (ลาน) สาวคอยวนาราม หรือนามพระราชทานว่า วัดภูพานอุดมธรรม เป็นวัดที่ร่มรื่น สะอาดมาก ทีทั้งพระทั้งชีและเณร เป็นสำนักปฏิบัติธรรม ๖ ของวัดนครพนม มีบ้านรับรองที่จะรับรองผู้มาปฏิบัติธรรมได้เป็นจำนวนนับร้อย โดยติดต่อกับเจ้าอาวาส พระครูอุดมธรรมานุกูล ๐ ๑๕๕๘ ๔๘๐๙ ทางวัดจัดการอบรมให้ จัดทำอาหารให้ แต่จะช่วยบำรุงทางวัดคนละเท่าใดผมไม่ได้สอบถามรายละเอียด แต่ก็มีความศรัทธาอย่างแท้จริงต่อสถานที่ ข้างลานจอดรถมีพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ ๕ ย่อส่วน เดินขึ้นไปสัก ๑๐๐ เมตร หรือเอารถขึ้นไปก็ได้จะได้เข้าไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ในพระอุโบสถ ส่วนด้านหน้าบนหลังคาอุโบสถสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีขาวเอาไว้ หน้าอุโบสถมีพระนามาภิไทยย่อของ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในอุโบสถมีพระพุทธรูปพระประธานหินอ่อน และมีพระบรมธาตุที่รอการบรรจุโดยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ ตั้งไว้ให้กราบไหว้บูชาได้ พระบรมธาตุนี้สมเด็จพระสังฆราชพระราชทานมาให้ เพื่อบรรจุที่พระเศียรของพระพุทธรูปที่หน้าอุโบสถ และในอุโบสถยังมีพระสงฆ์ ๒ รูป นั่งคอยประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ ส่วนอุโบสถที่สร้างก็งามน่าชมเพราะเป็นแบบประยุกต์คือเป็นเรือนกระจกมีหน้าต่าง ๘ บาน หน้าต่างมีทั้งบานไม้และบานกระจก ประตูบานกระจกแต่แกะสลัก
            ยังเสียดายที่ไปไม่พบเจ้าอาวาส และเย็นแล้ว หารายละเอียดมากนักก็จะค่ำ เพราะผมต้องเดินทางไปอีกกว่า ๓๐ กิโลเมตร เพื่อไปนอนที่อำเภอธาตุพนม และเตรียมนมัสการพระธาตุพนม พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีวอก และประจำวันเกิดของคนเกิดวันอาทิตย์ต่อไป

.............................................


| ย้อนกลับ | บน |

พระธาตุศรีคูณ: ข้อมูลพระธาตุศรีคูณ ท่องเที่ยวพระธาตุศรีคูณ ข้อมูลเที่ยวพระธาตุศรีคูณ


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์