ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > ปราสาทสด๊กก็อกธม
 
prasatsadokkoktom

ปราสาทสด๊กก็อกธม 

            ปราสาทสต๊กก็อกธมแห่งนี้เหมือนมีหลายชื่อ เพราะแต่ละป้าย แต่ละเอกสารเขียนไม่ค่อยจะเหมือนกัน เพื่อป้องกันท่านผู้รู้คัดค้านมา จึงขออธิบายเสียก่อน ที่จะพาท่านไปยังปราสาทที่เก่าแก่ที่สุดในภาคตะวันออกแห่งนี้ เท่าที่ผมได้พบมามีการสะกดชื่อปราสาทนี้ดังนี้
            เอกสารของการท่องเที่ยวปี ๒๕๔๔ สะกดว่า สล็อกก็อกธม ส่วนฉบับหลังสุดสะกดสต๊กก๊อกธม ส่วนสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสระแก้ว สะกด สต็อกก็อกธม ส่วนป้ายที่ปักเอาไว้เช่นป้ายชี้ทาง ป้ายสถานที่มีหลายชื่อเช่น สต็อกก็อกธม (ริมถนนป้ายใหญ่ก่อนแยกเข้าเส้นไปปราสาท) แล้วยังมีป้ายสล็อกก็อกธม สต็อกก็อกธม อาจจะมีแตกต่างจากนี้อีกก็ได้ เพราะป้ายแยะเหลือเกิน จำได้ว่าเมื่อผมไปครั้งแรกคงร่วมสิบปีมาแล้วป้ายมากกว่านี้ ชื่อแตกต่างกันทั้งนั้น เหตุที่ผมเลือกเอาชื่อนี้มาเป็นชื่อเรื่อง และสะกดอย่างนี้คือ สต็อกก็อกธม เพราะเห็นมีเพื่อนหลายสถานที่ จากเอกสารการท่องเที่ยวภาคกลางเขต ๘ ฉบับหลังสุด และที่สำคัญที่สุดคือจากหนังสือ "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสระแก้ว" ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นในโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ เป็นการจัดทำโดย คณะกรรมการระดับชาติและมีหน่วยงานหลายหน่วยงานเช่น กรมศิลปากร ผู้ว่าราชการจังหวัด นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิในท้องถิ่น ดังนั้นหากเอกสาร (ทำทั้ง ๗๕ จังหวัด เว้นกรุงเทพ ฯ หาซื้อยากมาก) ฉบับนี้ผิดก็คงจะไม่ต้องไปหาเอกสารใดมาเป็นบรรทัดฐานได้อีกแล้ว ชื่อต่าง ๆ และหลักฐานต่าง ๆ ผมจึงถือจากฉบับนี้เป็นหลัก เช่น ผมเคยเขียนพระนามของกษัตริย์ ผู้สร้างเวียงเชียงใหม่ เวียงเชียงรายว่า "พระเจ้าเม็งราย" แต่เมื่อเอกสารฉบับนี้ของเชียงรายเรียกพระนามท่านว่า "พระเจ้ามังราย" ผมก็แก้ไขเรียกตามทั้งหมด เพราะหากใครจะค้านผมจะได้มีหลักฐานอ้างอิงได้ ดังนั้ผมจึงขอใช้ชื่อปราสาทว่า "ปราสาทสต๊อกก๊อกธม" ไม่ต้องมาคัดค้านผม หากใครอยากจะค้าน ต้องไปเรียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ซึ่งท่านเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นกรรมการทราบ ซึ่งถือว่าท่านปัจจุบันต้องรับทราบด้วยแล้ว ให้ท่านผู้ว่า ฯ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตกลงกันเสียว่า จะใช้ชื่ออะไรกันแน่ แล้วทุกป้าย ทุกเอกสาร ต้องเขียนให้เหมือนกันหมด แต่หากจะให้สะกดเป็นทางการแตกต่างจากหนังสือที่ผมอ้างถึง คงจะเป็นเรื่องใหญ่ในการแก้ไข เพราะเป็นหนังสือที่สร้างขึ้น ในส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติ คณะกรรมการย่อมหาหลักฐานมาเขียนมาทำกันอย่างประณีต
            ผมเคยเขียนแนะนำไว้ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ว่าป้ายหนึ่งเล่าประวัติของพระวอว่า เป็นนายด่านของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และมีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ อีกป้ายอยู่ไม่ไกลกันคนละหน่วยงาน บอกว่าพระวอคือ นายด่านของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และมีคำแปลเช่นกัน ผมเขียนไปแล้วไม่ช้าทางจังหวัดตาก มีหนังสือมาถึงผม (ลงนามโดยรองผู้ว่า ฯ) บอกว่าได้ตรวจสอบแล้ว ที่ถูกต้องคือ พระวอเป็นนายด่านในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และได้แก้ไขป้ายต่าง ๆ แล้ว เรียกว่าทางจังหวัดไม่ปล่อยให้เกิดความบกพร่องผิดพลาด และยังแปลไว้เป็นภาษาอังกฤษอีก ชาวต่างประเทศเกิดอ่านละเอียดขึ้นมาไม่อายเขาหรือ สระแก้วก็น่าพิจารณาเช่นกัน จะได้เหลือชื่อของปราสาทเพียงชื่อเดียว เหมือนกันทุกป้าย ทุกเอกสาร
            เส้นทาง หากไปชมละลุ ก่อนเมื่อกลับมาก็แวะไปชมปราสาทเลย ก็มาดังนี้ กลับจากละลุ ๑๘ กม. จากบ้านหนองผักแว่น มาขึ้นถนนสาย ๓๔๘๖ เลี้ยวขวาไป ๘ กม. ถึงสามแยก เลี้ยวขวาเข้าถนน ๓๔๘ มาจนเห็นเสาอากาศสูง ๆ เห็นสถานีอนามัยหนองแวง ก็เลี้ยวซ้ายตรง กม.๒๔.๕ วิ่งไป ๑๒ กม. จะมีป้ายบอกเป็นระยะ ๆ จนบรรจบกับเส้นทางที่มาจากโคกสูง ที่หน้าวัดหนองเสม็ด ให้เลี้ยวซ้ายวิ่งผ่านหมู่บ้านบ้านมาสัก ๒ กม. จะพบป้ายทางขวา ให้เลี้ยวขวาไปอีก ๒.๖ กม. ถนนลาดยางบาง ๆ ผ่าน ฉก.ตชด. ๑๒๕ พบป้ายการท่องเที่ยว สต็อกก็อกธม ป้ายสีจาง ๆ ตรงเข้าไปไม่ได้ทางปิด เลี้ยวขวามานิดจะพบป้ายวัดสล๊กก็อกธม เลี้ยวซ้ายผ่านวัด (มีพระสงฆ์อยู่องค์เดียว) จะถึงจุดจอดรถ มีที่ทำการของบริษัทที่กำลังบูรณะปราสาท (โดยกรมศิลปากร ตอนนี้หยุดชั่วคราวรอ งบประมาณปี ๒๕๕๐)  มีร้านค้าย่อย ๆ ไม่มีสุขาไว้บริการ จอดรถที่ลานนี้จะมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่น นำสมุดมาให้เซ็นเยี่ยม (ทำนองนี้) และพาชม เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ที่ได้รับการอบรมมาแล้ว ไม่ใช่ไกด์เถื่อน ดำเนินการโดย อบต.โคกสูง เจ้าของท้องที่ ค่านำเที่ยวตามแต่จะบริจาค
            เส้นทาง หากไปจากอำเภออรัญประเทศ ถนนสาย ๓๔๘ หรือธนะวิถี ก็เลี้ยวซ้ายมาตามถนนสายนี้ จนผ่านอำเภอโคกสูง กม.๒๒.๕ แยกขวาไปตามถนนสาย ๓๓๘๑ ระยะทาง ๑๗ กม. จะผ่านวัดละลมติม ตัวตำบลโคกสูง สถานีอนามัยโคกสูง แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านหมู่บ้านไปจนบรรจบกับถนนที่เลี้ยวมาจาก กม.๒๔.๕ ที่หน้าวัดหนองเสม็ด เส้นนี้เป็นเส้นทางดั้งเดิมที่ผมเคยไป เมื่อสักสิบปีมาแล้ว ถนนดีหมดแล้วแต่ไกลกว่า ขอแนะนำว่าไปเลี้ยวขวาเข้าตรง กม.๒๔.๕๐๐ ไปตามเส้นทางที่ ๑ จะใกล้กว่า ถนนตัดตรงเร็วกว่าด้วย
            มีผู้ให้ความหมายของปราสาทสด๊กก๊อกธมไว้ดังนี้
            สด๊ก  แปลว่า  รกรุงรัง
            ก๊อก  แปลว่า  ต้นกก
            ธม  แปลว่า ใหญ่
            เมื่อแปลแล้วคือ ปราสาทใหญ่ที่มีต้นกกขึ้นรกรุงรัง

                ปราสาทสด๊กก๊อกธม  เป็นโบราณสถานที่ใหญ่ที่สุด และสำคัญของจังหวัดสระแก้ว ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเสม็ด ตำบลโคกสูง กิ่งอำเภอโคกสูง อำเภอตาพระยา (แต่บางป้าย บางเอกสารยกเป็นอำเภอโคกสูงแล้ว และน่าจะเป็นอำเภอแล้ว ลืมมองป้ายที่ตัวอำเภอ) สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๔ โดยฝีมือช่างขอม เพื่อใช้ประดิษฐานรูปเคารพ และใช้ประกอบพิธีกรรม ตามคติความเชื่อถือในลัทธิศาสนาฮินดู
                    โบราณสถาน ประกอบด้วย องค์ปราสาท ๓ หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคคูน้ำล้อมรอบ ๔ ด้าน มีกำแพงแก้ว ๒ ชั้น ชั้นนอกทำด้วยศิลาแลง ชั้นในทำด้วยหินทราย มีโคปุระหรือซุ้มประตูเหลืออยู่เพียงด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตกเท่านั้น ภายในระเบียงคตมีบรรณาลัยก่อด้วยหินทราย ๒ หลัง อยู่ด้านหน้าปราสาทหลังกลาง ซึ่งเป็นปรางค์ประธาน ปราสาททุกหลังเดิมอยู่ในสภาพที่ปรักหักพัง แต่กำลังบูรณะ เมื่อเสร็จเรียบร้อยยกหินทุกก้อนไปไว้ยังที่ที่เคยอยู่ ปราสาทก็จะงามเหมือนปราสาทหินพิมาย หรือปราสาทพนมรุ้ง ที่เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ผมไปพนมรุ้งก็เห็นแต่กองหินที่มีหมายเลขกำกับ แล้วกองเกลื่อนอยู่บนพื้นดิน ด้านหน้าของปราสาททางทิศตะวันออก มีสระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยม มีถนนปูด้วยหินจากตัวปราสาทไปจนถึงสระน้ำตลอดแนว (เมื่อสิบปีที่แล้วยังไม่พบแนวถนนหินนี้)
                    มีการค้นพบศิลาจารึก ๒ หลัก จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ เป็นหลักสำคัญที่บ่งบอกถึงอายุการสร้างปราสาทสต๊อกก๊อกธมแห่งนี้ ตลอดจนบอกวัตถุประสงค์ของการสร้างศิลาจารึกหลักที่ ๒ ว่าเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ ๒ ในโอกาสที่บูรณะปราสาทสต๊อกก๊อกธมสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๙๕
                    ปัจจุบันศิลาจารึกทั้ง ๒ หลัก ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร จากหลักฐานศิลาจารึก กล่าวว่า "พ.ศ.๑๔๘๐ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ โปรดให้กัมรเตงอัญศรีวีเรนทรวรมัน นำศิลาจารึกไปปักไว้ที่ปราสาทแห่งนี้" จึงเชื่อได้ว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างครั้งแรกในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ (พ.ศ.๑๔๗๑ - ๑๔๘๕ ) แต่ต่อมาถูกทำลายลง ลุถึงสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๕๕๓ - ๑๕๙๓) จึงได้บูรณะก่อสร้างปราสาทสต๊อกก๊อกธมขึ้นใหม่ ที่เมืองภัทรนิเกตนะ โดยพราหมณ์กัมรเตงอัญศรีชเยนทรวรมัน สร้างแล้วเสร็จในปี ๑๕๙๕ ในสมัยพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ ๒ พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (ผู้สร้างนครวัตคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ บ้างก็ว่าสร้างเพื่อดูแบบเอาไว้สร้างนครวัต)
                    ปราสาทสต๊อกก๊อกธม หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมี "บาราย" (สระน้ำ กว้างใหญ่ ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส อยู่ด้านหน้าปราสาท ซึ่งปัจจุบันยังมองเห็นแนวคันดินรอบ ๆ ได้ชัดเจน ถัดจากบาราย มีทางดำเนินก่อด้วยศิลาแลงมุ่งตรงไปยังตัวปราสาท สองข้างทางปักเสานางเรียงเป็นระยะ ทางด้านเหนือของทางดำเนินนี้ มีการขุดแต่งพบแนวศิลาแลงก่อ ยาวขนานไปกับทางดำเนินด้วย เข้าใจว่าเป็นขอบคูน้ำชั้นนนอก
                    ต่อจากทางดำเนินเป็นโคปุระ (ประตู) ชั้นนอก มีขนาดใหญ่ก่อด้วยหินทราย ฐานเป็นศิลาแลงจากการบูรณะใหม่ มีการหล่อชิ้นส่วนทับหลังและเสาประดับ กรอบประตูเข้ามาเสริม ส่วนที่ชำรุดเสียหายหรือถูกลักลอบโจรกรรมไปจนสมบูรณ์
                    จากโคปุระชั้นใน มีระเบียงคตออกล้อมทั้ง ๔ ทิศ โดยดูจากส่วนที่เหลืออยู่ เข้าใจว่าผนังด้านนอกก่อทึบ อาจจะมีหน้าต่างหลอกที่ผนังตอนบน ส่วนด้านในของระเบียงคตเจาะช่องหน้าต่างทั้งหมด ที่น่าสังเกตคือ โคปุระทิศอื่น ๆ นอกจากทิศตะวันออกจะผ่านเข้าไปเป็นห้องที่ก่อตัน ไม่มีประตตูทางเข้าจากภายนอก แต่กลับมีประตูทางเข้าจากภายในระเบียง อยู่มุมทั้งสี่ของระเบียงคตแทน ภายในระเบียงคตปูพื้นลานด้วยศิลาแลง มีปราสาทประธาน (เคยเห็นมีเทวรูปอยู่ในนี้ ตอนนี้หายไปแล้ว ไม่ทราบว่าเอาไปเก็บหรือเปล่า) ก่อด้วยหินทรายขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีประตูเข้าทางทิศตะวันออก ด้านอื่นเข้าไม่ได้ทำเป็นประตูหลอกเอาไว้ ลักษณะพิเศษที่พบเฉพาะปราสาทนี้คือ "มีเสานางเรียงปักอยู่รอบปราสาทประธาน จำนวน ๑๘ ต้น" กรมศิลลปากรได้เริ่มทำการบูรณะปราสาทสต๊อกก๊อกธมอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘ (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๓) ด้วยวิธีอนัสติโลลิสคือ การพยายามค้นหาชิ้นส่วนหินที่ตกหล่นกระจัดกระจายอยู่ มาทดลองประกอบกลับคืนตำแหน่ง แล้วจึงรื้ออาคารลงเสริมฐานรากใหม่ ต่อจากนั้นจึงนำชิ้นส่วนกลับขึ้นไปประกอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยเสริมส่วนที่สูญหายไปด้วยวัสดุใหม่ ทับหลังพอมีให้ชมแต่ก็ไม่สมบูรณ์นัก หน้าบันก็เช่นเดียวกัน แต่ดูจะมีความสมบูรณ์มากว่าทับหลัง อาจจะถูกมนุษย์ใจทรามมาแคะเอาไปก่อนก็ได้
                    สิ่งที่มีคุณค่ายิ่งของปราสาทแห่งนี้คือ การพบหลักศิลาจารึกสต๊อกก๊อกธม (หลักที่ ๒) ที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชนชาติขอม เป็นช่วงระยะเวลาที่ยาวนานถึง ๒๐๐ ปี นับจากรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (พ.ศ.๑๓๔๕ - ๑๓๙๓) กษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักร "เมืองพระนคร" (Angkor) และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบเทวราชและยังกล่าวถึงกษัตริย์อีกหลายองค์ จนถึงสมัยพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ ๒
                    ปราสาทสต๊อกก๊อกธม  จึงเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ขอมโบราณ ที่มาตั้งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดสระแก้ว ประเทศไทยในปัจจุบัน
                    ชมปราสาทจนอิ่มตา อิ่มใจแล้วก็เดินทางกลับมาอรัญประเทศ มากินอาหารกลางวันที่อรัญประเทศ ร้านอาหารเวียดนามร้านแรกของอรัญประเทศ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง ขอเพิ่มเติมปราสาทหินในอำเภอโคกสูงเอาไว้ด้วย ผมไปอีกเมื่อไรจะเอากลับมาเล่าให้ทราบ หรือท่านผู้อ่านวัยรุ่นใจร้อนชิงไปก่อนก็ได้ ลองถามรายละเอียดจากการท่องเที่ยว ภาคกลางเขต ๘ อยู่ด้านหน้าทางออกของศาลากลางจังหวัดนครนายกดูก็ได้ แต่หากจะฟังเขาอธิบายต้องศึกษาแผนที่หรืออ่านที่ผมเล่าเส้นทางต่าง ๆ ไปเสียก่อนจึงจะเข้าใจ มีดังนี้
                ปราสาทตาใบ  อยู่ตำบลโคกสูง มีปราสาท ๑ องค์ ก่อด้วยศิลาแลง
                ปราสาททัพเซียม  เขตตำบลหนองแวง เป็นปราสาทก่อด้วยศิลาแลง พบศิลาจารึก ๒ หลัก
                ปราสาทพูนผลหรือปราสาทหนองตาบูน  ตั้งอยู่ในเขตตำบลโคกสูง เป็นโบราณสถานอยู่ในทุ่งนาและพืชไร่ เหลือเพียงรากฐานของปราสาทแบบขอม ก่อด้วยศิลาแลง
                ปราสาทหนองผักบุ้งใหญ่  ตั้งอยู่ในเขตบ้านน้อยละลมติม ตำบลโคกสูง เป็นปราสาทแบบขอม เหลือเพียงส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง มีบารายขนาดใหญ่ มีถนนโบราณอายุร่วมพันปี
                วัดอนุบรรพต (วัดเขาน้อย)  ออกจากโรงแรมเลี้ยวซ้ายไปตามถนน ๓๔๘ ประมาณ ๕๐๐ เมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือ วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กำลังมีโครงการสร้างทางรถไฟสายตะวันออก ต่อจากแปดริ้ว อุโบสถวัดนี้สวยมาก แปลกกว่าวัดทั่วไป มีลักษณะฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาทรงไทย มีบันไดนาคลงมา ๔ ทิศ
                วัดสันติธรรม (ไทยสามารถ)  ตำบลบ้านด่าน อ.อรัญประเทศ เป็นวัดที่มีศิลปกรรมหลากหลายคือ เอาศิลปะของไทย จีน และเขมรมาประยุกต์กัน ผสมผสานกันได้สัดส่วนที่งดงาม

                บุษบกพระสยามเทวาธิราช  เลี้ยวขวาตรงหอนาฬิกา บุษบกจะอยู่ตรงสี่แยกมุมขวา เป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช (จำลอง) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นสถาปัตยกรรมไทย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มับันไดทางขึ้น ๘ ทาง บุษบกมีความสูง ๑๗.๑๙ เมตร ด้านบนมีบันไดทางขึ้น ๔ ทาง ฐานของบุษบกมีขนาดใหญ่ ด้านบนเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช (จำลอง)
                อาคารสำนักงานเทศบาลตำบลอรัญประเทศ มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นงดงาม สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๓ ลักษณะอาคารเป็นทรงยุโรป แต่หลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์
                ประตูชัยอรัญประเทศ  ตั้งอยู่ติดพรมแดนไทย - กัมพูชา เป็นประตูทางผ่านเข้า - ออก ไปยังประเทศกัมพูชา และเคยถูกยิงสมัยสงครามอินโดจีน แต่ได้รับการซ่อมแซมจนงดงามเช่นเดิม เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑  วันหยุดจะมีผู้คนผ่านเข้าออกมากที่สุด ไม่ได้ไปเที่ยวอะไรที่ไหน พอข้ามเข้าไปได้ก็มุ่งหน้าไปเข้าบ่อน
            ตลาดโรงเกลือ  คือตลาดชายแดนไทย - กัมพูชา อยู่ห่างจากสถานีรถไฟอรัญประเทศประมาณ ๖ กม. เลยไปคือ ประตูชัย ไปตลาดโรงเกลือ เลี้ยวซ้ายก่อนตรงไปประตูชัย (ทางขวามีลานจอดรถให้เช่า ทิ้งรถไว้แล้วไปเข้าบ่อน เขาว่าวันละ ๕๐ บาท) เมื่อไปถึงตลาดโรงเกลือที่เป็นตลาดชายแดน เดี๋ยวนี้ขยายออกไปใหญ่โตยิ่งกว่าเดิม เลยออกไปจากตลาดโรงเกลือ แต่อยู่ติดกันคือ ตลาดเบญจวรรณ พอหาที่จอดรถที่ตลาดนี้ได้ วันหยุดหากไปตอนสาย ๆ ใกล้เที่ยงพื้นที่ที่ว่ากว้างขวางของตลาดโรงเกลือ จะเต็มไปด้วยคน ลานจอดรถหาที่ว่างแทบไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้พัฒนาไปถึงขั้นมีจักรยานให้เช่าวันละ ๒๐ บาท และยังมีแบบใช้ชื้อของมาก ๆ คือจักรยานพ่วงข้าง จอดรถยนต์ไว้แล้วขี่จักรยานเที่ยว พ่อค้าแม่ค้าตลาดโรงเกลือก็ข้ามมาจากฝั่งกัมพูชาเป็นส่วนใหญ่ ไม่ควรข้ามไปซื้อสินค้าฝั่งปอยเปตของกัมพูชา สินค้าน้อยกว่าฝั่งไทยแล้ว ราคาใกล้เคียงกัน ไปซื้อก็พูดไทยกับคนเขมร ซื้อฝั่งเขมรก็ซื้อกับคนเขมรแต่พูดไทย แถมข้ามไปยังโดนเก็บภาษี (ค่อนข้างเถื่อน) จากศุลกากรเขมร แถมด้วยตรวจคนเข้าเมือง ผมโดนมาแล้วเลยเลิกไป สินค้าที่ตลาดโรงเกลือมีทั้งที่มาจากรัสเซีย จีน เวียดนาม ยุโรป ที่มาไกลเพราะสินค้าที่เรียกว่ามือสอง เช่นเสื้อผ้า หรือรองเท้าเก่า ผมเรียกว่ารองเท้าตีนสอง ชาวยุโรปเขารวมบริจาคให้แก่ผู้ยากไร้ในกัมพูชา ที่มีสงครามกันเกือบตลอดเวลา กางเกงยีนดี ๆ เสื้อยืด เสื้อเชิ๊ต เสื้อกันหนาว จึงหลุดออกมาสู่ตลาดโรงเกลือ (เมื่อก่อนใช้เก็บเกลือก่อนส่งออกไปขายเขมร) เดี๋ยวนี้สงครามสงบของบริจาคมีน้อยลง แต่สิ้นค้าใหม่เลียนแบบยี่ห้อดังเข้ามาขายแทน แต่ผลิตจากเขมร หรือเวียดนาม คณะผมเคยโดนตื้อให้ซื้อแว่นตาบอกว่าจากฝรั่งเศส บอกราคา ๘๐๐ บาท ลดพิเศษ ไม่ยอมซื้อเดินหนี คนขายเดินตามพอถึงรถแว่นตาแปดร้อยบาทลดเหลือ ๒๐๐ บาท ของกินของใช้มากมาย
            ร้านอาหารเวียดนามที่ชวนชิมมื้อเที่ยงบ่าย ๆ หมดแล้ว ชาวเวียดนามอพยพหลบภัยสงครามเข้ามาอยู่ในประะทศไทยประมาณ ๖๐ ปีแล้ว กลายเป็นคนไทยไปหมดแล้ว เวลานี้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ชั้นลูกชั้นหลาน ร้านอาหารเวียดนามร้านแรกของอรัญประเทศ "เส้นทาง" จากหอนาฬิกาตรงไปพอผ่านธนาคารกรุงไทยก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนข้างธนาคาร สายนี้สายเวียดนามทั้งสาย วิ่งตามป้ายยายต๊ามไปสัก ๕๐ เมตร ร้านอยู่ซ้ายมือ จอดรถในร้านหรือริมถนน วันหยุดคนจะแน่นมาก ขายตั้งแต่ตอนสายไปยันบ่าย มีป้ายคลีนฟู๊ดกู๊ดเทสท์ รับรองความสะอาดรสชาติอร่อย ของกรมอนามัย ผมไปวันหยุดยาวด้วยคนยิ่งแน่น นั่งในห้องแอร์ก็ได้ ข้างนอกก็ได้ วันนั้นคนแน่นจนเลือกอาหารตามสั่งไม่ได้ดังใจ ส่งอะไรมาเอาหมด
            แหนมเนือง มาพร้อมกับผักตะกร้าใหญ่ มีทั้งผักกาดหอมผักชีฝรั่ง สะระแหน่ ใบโหระพา
            บั๊นหอย จานนี้ต้องสั่งเหมือนมากินอาหารเวียดนาม ไม่สั่งแหนมเนืองผิดกฎหมาย บั๊นหอย เช่นเดียวกันไปหลายคนรีบสั่ง ๒ - ๓ จานเลย มีเส้นหมี่ขาว หมูสามชั้นนึ่ง แตงกวา ถั่วงอก อร่อยเพราะน้ำจิ้มที่ถ้วยนี้เป็นน้ำจิ้มอเนกประสงค์ อาหารเวียดนามมีน้ำจิ้มทุกอย่าง หมูจะต้องนึ่งให้สุกพอดี ไม่เปื่อยยุ่ย เคี้ยวต้องกรุ๊บ ๆ วางหมูบนเส้นหมี่ ราดด้วยน้ำจื้ม ส่งเข้าปากเด็ดนัก
            บั๊นแส่ว คือขนมเบื้องญวน สีเหลืองน่ากิน แป้งกรอบ ไส้อร่อย
            จ๋าเจียว ทอดมันญวน ทอดแล้วหั่นมาเป็นชิ้น ไม่ถึงขั้นเหนียวหนึบ แต่ก็ได้เคี้ยวหนุบหนับ
            ปอเปี๊ยะทอด ไม่ทันสั่งเขาเอามาวาง กำลังหิวเลยรีบเอาไว้ก่อน ไม่ผิดหวัง
            ของหวานไม่มี แต่หากวิ่งรถผ่านร้านออกไปยังถนนใหญ่ที่ไปตลาดโรงเกลือแล้วเลี้ยวซ้ายจะมีร้านอาหารเวียดนามอีกขยายร้านออกมา คนแยะเหมือนกัน เลยไปมีของหวานจานโปรดคือร้านไอศครีม อยู่ตรงหลัก กม.๒๙๙ ขายตอนกลางวัน มีโต๊ะให้นั่งกินได้ที่ริมฟุตปาธ กินไป ดูรถไป
            วันกลับจากอรัญประเทศ พอมาถึงวัฒนานคร ก็ไปแวะดังนี้

                วัดนครธรรม  ตรงสี่แยกมีไฟสัญญาณ เลี้ยวซ้ายตรงเข้าประตูวัดไปได้เลย อุโบสถเดิม เดี๋ยวนี้เป็นวิหาร พระพุทธรูปองค์สำคัญคือ หลวงพ่อขาว และพระบรมสารีริกธาตุ อัญเชิญมาจากศรีลังกา อยู่ในวิหารแห่งนี้ ติดวิหารมีใส่บาตรพระประจำวัน และมีถังสังฆทานราคาตามศรัทธา
                ออกไปทางด้านหลังวัด ทางซ้ายมือคือ ข้าวหลามป้าบาง ย้ายมาจากที่เดิมที่อยู่ไกลออกไปอีกนิด ข้าวหลามวัฒนานครมีชื่อเสียง มีไส้ธรรมดา กับไส้สังขยา อร่อยมาก ป้าบางติดป้ายขายทั่วไป

                พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  งามสง่ายิ่งนัก อยู่ติดกับสวนเฉลิมพระเกียรติ เยื้อง ๆ กับที่ว่าการอำเภอ หลัก กม.๒๗๕ หน้าประตูเข้าเป็นช้างทรง จัดสวนสวยและสะอาดมาก พระบรมรูปประทับยืน ชูดาบเหนือพระเศียร เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย

...............................................................


| บน |

ปราสาทสด๊กก็อกธม: ข้อมูลปราสาทสด๊กก็อกธม ท่องเที่ยวปราสาทสด๊กก็อกธม ข้อมูลเที่ยวปราสาทสด๊กก็อกธม


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์