ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > แม่ฝาง
 
อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง

            ผมไปเที่ยวบ่อน้ำร้อนหรือน้ำพุร้อนที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ผมยังรับราชการอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ คือเมื่อประมาณ ๓๖ ปีมาแล้ว ตั้งแต่น้ำพุร้อนแห่งนี้ยังอยู่ตามธรรมชาติจริง ๆ ยังไม่มีการพัฒนาดัดแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น และยังไม่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ (ยังหาไม่พบว่าประกาศไว้เมื่อใด) และยุคนั้นการเดินทางไปตามถนนเส้นเชียงใหม่ - ฝาง ลำบากอย่าบอกใครเพราะถนนราดยางไม่มีเท่าไร ส่วนมากเป็นดินลูกรังและถนนแคบ คดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ส่วนถนนสายที่จะต่อไปยัง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายนั้นยังไม่เป็นถนน แต่หากฤดูแล้งรถจิ๊ปทหารพอคลานไปได้ ไม่เหมือนในปัจจุบันนี้ถนนดีตลอดเส้นทาง จากเชียงใหม่ไปจนถึงฝางต่อไปยังอำเภอแม่อาย ข้ามเขตจังหวัดไปยังเชียงรายไปโผล่ที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน หรือแม่ฟ้าหลวงได้อย่างสบาย ๆ
            แต่ผมเป็นนักเดินทางประเภททรหดและอุตริจึงไปในคราวนี้ไม่ได้ไปตามเส้นทางสายตรงคือ เชียงใหม่ - ฝาง สาย ๑๐๗ แต่อุตริไปผ่านทางอำเภอดอยเสก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และไปยังอำเภอแม่สรวย เพื่อแวะชมโรงงานทำเหล้าไวน์ โดยทำจากผลไม้ เช่น กระท้อน มะม่วงโชคอนันต์ ที่สำคัญคือไวน์ขาวจากต้นโด่ไม่รู้ล้ม และไวน์แดงจากกระชายดำ บันลือฤทธิ์ซึ่งไม่ทราบว่าผมเล่าไปแล้วหรือยัง ว่าโรงงานไวน์ชื่อ เชียงรายไวน์เนอรี่นี้อยู่ประมาณกิโลเมตร ๑๒๑.๕ แล้วเลี้ยวซ้ายไปสัก ๓ กิโลเมตร ส่วนอำเภอแม่สรวยนั้นอยู่ที่ประมาณกิโลเมตร ๑๓๑
            ดังนั้นผมไปฝางงวดนี้จึงไปตามถนนที่ไปอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย พอถึงกิโลเมตร ๑๒๑.๕ ผมก็เลี้ยวเข้าไปชิมไวน์ที่โรงงานไวน์ หรือป้ายเขาบอกว่าสวนเจ้าคุณ ที่เดียวกัน จากนั้นก็มาถึงหลักกิโลเมตร ๑๓๑ แถว ๆ อำเภอแม่สรวย ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายแม่สรวย - ฝาง วิ่งไปสัก ๓ กิโลเมตร ก็เลี้ยวขวาเข้าไปกินอาหารกลางวันที่เชียงราย คันทรี ฮิลล์รีสอร์ท อาหารพื้นเมืองอร่อย และรีบแวะเพราะเขาบอกว่าไวน์กระชายดำของเขาแกล้มกับไข่เจียวหมูสับอร่อยเด็ดนัก เลยต้องทดลองซึ่งเป็นความจริง ไวน์กระชายดำของโรงงานนี้มีขายในกรุงเทพ ฯ ที่ฟู๊ดแลนด์ และจัสโก้ ราคาไม่แพง กินให้เลือดสูบฉีดไปทั่วร่าง ไวน์กระท้อน ไวน์โด่ ไวน์มะม่วง เขาก็มี
            ถนนสาย แม่สรวย - ฝาง นี้เป็นถนนสายหนึ่งที่งดงาม เพราะคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา มองเห็นความงดงามของป่าที่เขียวชอุ่มไปตลอดทาง พอใกล้จะถึงฝาง ก็จะพบกับบ่อน้ำมันฝางของอุตสาหกรรมทหาร ซึ่งศูนย์นี้ปริมาณการผลิตคือ สูบน้ำมันขึ้นมาได้แทบจะคงที่คือประมาณ ๗๐๐ - ๑๐๐๐ บาเรลต่อวัน แต่ที่บ่อน้ำมัน กำแพงเพชร (ไม่ใช่ของทหาร) สูบได้มากกว่าวันละ ๒๐,๐๐๐ บาเรล ๓๐ กว่าปีผ่านไป น้ำมันสูบได้พอ ๆ กัน คงขยายแต่อัตราของเจ้าหน้าที่ตอนนี้เป็นนายพลแล้ว สมัยก่อนเป็นแค่พันเอกเท่านั้น
            หากไปฝางตามเส้นทางที่เขาไปกัน คือไปจากเชียงใหม่ก็ผ่านไปตามลำดับจะแวะเที่ยวดะไปก็ได้เช่นกัน เว้นอย่าเพิ่งไปขึ้นพระพุทธบาทสี่รอย บนอุทยานดอยปุยที่ขึ้นทางอำเภอแม่ริม ซึ่งระยะทางตอนขึ้นนั้นแค่ ๑๘ กิโลเมตร แต่ใช้เวลาร่วม ๆ ๒ ชั่วโมง และรถต้องแจ๋วจริง ๆ ไม่งั้นกินดินไม่รับรู้ด้วย ทั้งรถ ทั้งยาง ต้องแจ่มแจ๋วจึงจะขึ้นได้ คิดจะไปฝาง ก็แค่ผ่านแวะตามรายทางได้ เช่น
            แวะแม่ริม ชมพิพิธภัณฑ์เจ้าดารารัศมี ในค่ายตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายดารารัศมี
            หรือเลี้ยวซ้ายเข้าไปหน่อยไปยังวัดป่าดาราภิรมย์ของท่านเจ้าคุณธรรมดิลก ตอนนี้ท่านเลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นพรหม หรือชั้น รองสมเด็จแล้ว หรือไปดูปางช้าง ดูบ้านควายไทย ไปน้ำตกแม่สาก็ไปได้ แต่หากวิ่งเรื่อยไปก็จะไปผ่านโป่งแยงแอ่งดอย ที่มีร้านอาหารและไปกันจนหลุดออกอำเภอหางดง ผ่านรีสอร์ทไปมากมายหลายแห่ง
            อำเภอแม่แตง คือทางผ่านก่อนถึงตัวอำเภอหากเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนสายไปปาย ไปแม่ฮ่องสอน จะมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าแวะเที่ยวหลายแห่ง เช่น สวนกุหลาบกุณฑีทอง โป่งเดือดป่าแป๋ ต้องเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามเส้นทางไปปายประมาณ ๓๕ กิโลเมตร แล้วแยกขวาอีก ๖.๕ กิโลเมตร ที่มีน้ำพุร้อนแห่งนี้จะพุ่งขึ้นสูงประมาณ ๔ เมตร เป็นน้ำพุร้อนที่ใหญ่ และสูงที่สุดของประเทศไทยเลยทีเดียว ไปฤดูแล้งแหละดีเพราะถนนตอนที่แยกไปยังไม่สะดวกนัก ม่อนอังเกตุก็ไปตามเส้นทางนี้ไปดูโรงงานเพาะเห็ดหอม สวนสัตว์เปิด ความงดงามตามธรรมชาติ หรือไปห้วยน้ำดัง แยกไป ๔๐ กิโลเมตร แล้วแยกไปตามเส้นทางแม่มาลัย ปาย อีก ๖๐ กิโลเมตร ดูทะเลหมอก แปลงดอกไม้ น้ำตกเซาะริมหิน หมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซอ พอเลยมาจนถึงอำเภอเชียงดาว ก็มีถ้ำเชียงดาว ขึ้นยอดดอยเชียงดาว ไปดูป่าเกี๊ยะหรือไปขอนอนจากป่าไม้มีบ้านพัก ผมเคยขึ้นไปนอนหนาวจับใจดีนัก และที่ตัวของอำเภอเชียงดาว ขาหมูเจ้าอร่อยยังอยู่ดี
            ที่นี้ผ่านอำเภอเชียงดาวไปแล้ว วิ่งเรื่อยไปจนถึงกิโลเมตร ๑๓๗ ก็จะมีทางแยกซ้ายเข้าถนนไปดอยอ่างขาง ซึ่งจะต้องวิ่งขึ้นเขาไปประมาณ ๒๖ กิโลเมตร จึงจะถึงยอดดอยอ่างขาง "โครงการหลวง" ซึ่งเมื่อสัก ๒๐ ปีที่แล้วผมเคยเขียนเรื่องหม้อไฟคุนหมิง ลงในหนังสือต่วยตูนเป็นการขึ้นดอยอ่างขางครั้งแรกของผม ในสมัยที่ถนนยังเป็นลูกรัง รถเก๋ง รถบัส รถตู้ ขึ้นไม่ได้ทั้งสิ้น ต้องรถกระบะ รถจิ๊ปทหารจึงจะไต่ขึ้นเขาไหว และหม้อไฟคุนหมิงนั้นเป็นอาหารพิเศษ ใช้ไก่ดำตุ๋น ต้องเตรียมการล่วงหน้าถ้าจะทำอาหารหม้อนี้ และทั้งวงจะกินกันอย่างเดียวคือ หม้อไฟนี่แหละ ไม่มีขาย ผมไปกินที่หมู่บ้านของจีนฮ่อ "เสธ.กู้" ซึ่งเคยประสานการปฏิบัติในการปราบปราม ผกค.ที่เข้าค้อ เป็นเจ้ามือเลี้ยงรับรอง จำได้ว่าวันนั้นดื่มกันไป พร้อมกับร้องว่า  "กัมเปย์" ก่อนดื่ม คือต้องซดหมดแก้ว เหล้าแม่โขงเพรียว ๆ ไม่มีการเติมโซดา ใครนำร้อง ทั้งวงต้องซดตาม ซดกันหมดแก้วเลยทีเดียว และวันนั้นชัยชนะเป็นของฝ่ายไทย หลังจากที่พรรคพวกหลับผลอยไปหมดแล้ว เหลือผมกับเสธ.กู้แก้วสุดท้ายที่ เสธ.กู้ อ้อ แอ้ ร้องกัมเปย์ ผมร้องรับ "เสธ.กู้" ยกได้แค่หน้าอก จอกเหล้าหล่นลงพื้นฟุบคาวง ของผมไปได้ถึงจ่อริมฝีปากแล้วล่วงเหมือนกัน เป็นการดื่มที่ประทับใจสุด ๆ ไม่เคยดื่มแบบนี้อีกเลย
           โครงการหลวงดอยอ่างขาง อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลบ้านคุ้ม ตำบลม่อนปิง อำเภอฝาง เชียงใหม่ ก่อนจะเป็นโครงการหลวงดอยอ่างขาง ก็เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ได้เสด็จขึ้นไปบนดอยปุยเมื่อปลายปี ๒๕๑๒ ก่อนหน้านั้นได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อที่ดินสองแสนบาทที่ดอยปุย เพื่อให้นักวิชาการช่วยกันวิจัย ทดลองปลูกพืชเมืองหนาว และพระราชทานนามส่วนนี้ว่า สวนสองแสน มาเสด็จคราวนี้ได้เห็นสภาพพื้นที่ของดอยอ่างขางแล้วก็ทรงเห็นว่าต้องดำเนินการแก้ไข เพราะพื้นที่บนเขาโล่งเตียนไปหมดแล้ว ด้วยฝีมือชาวเขาตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกฝิ่น ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดิน และไร่ของชาวเขาพื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่เศษ ด้วยเงิน ๑,๕๐๐ บาท จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า สวนพันห้า จากนั้นทรงมอบให้ ม.จ.ภีศเดช  รัชนี ดำเนินการใช้เป็นสถานีทดลองปลูกไม้เมืองหนาว ซึ่งมีทั้งผลไม้ ไม้ดอกเช่น พลับ ท้อ สาลี่ เห็ดหอม ผักสด ไม้ดอกก็เช่น แกลดิโอลัส เยอร์บีร่าพันธุ์ยุโรป คาร์เนชั่น เป็นต้น ส่วนผักก็มี ซูกินี เบบีคารอต กระเทียมต้น หอมญี่ปุ่น มันฝรั่ง ถั่วแดงหลวง พัฒนาและขยายพื้นที่ออกไปเรื่อย ๆ จนเป็นโครงการหลวงที่สมบูรณ์ในปัจจุบัน บนดอยแห่งนี้บริเวณของโครงการหลวงมีที่พัก มีสโมสร "บ้านมิตรานุสรณ์" และการพัฒนายังมีชาวไต้หวันมาร่วมด้วย
            แหล่งท่องเที่ยวบนดอยอ่างขาง มีหมู่บ้านชาวเขาเผ่ามูเซอ "ชาวปะหล่อง" เป็นชาวกะเหรี่ยง ที่มีธรรมเนียมใส่กำไลที่เอว ผิดกับกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนคือ "ปะต่อง" นั่นใส่กำไลทองเหลืองไว้ที่คอ ใส่กันจนคอยาวยืด พอเห็นตอนกลางคืนเมื่อไรเป็นวิ่งกันป่าราบ มองไม่ออกว่าสวยตรงไหน มีกิจกรรมไปดูนกที่สถานีเกษตรดอยอ่างขาง มีนกปรอดหัวโขนเคราแดง นกปรอดหัวตาขาว ฯ ไปจุดชมวิวยอดเขา โชคดีเจอนกอินทรีดำ นกพญาไฟพันธุ์เหนือ นกพญาไฟแม่สะเรียง และที่ข้ามไม่ได้เป็นอันขาดคือ ทางขวามือของทางเข้าโครงการหลวงเป็นสวนบอนไซ และเนสสารี่ จำหน่าย ไม้ดอก ไม้ประดับ "บอนไซ" ที่งดงามเหลือเกิน ใครชอบบนไซเข้าไปชมสวนนี้ไม่ต้องไปไหนเดินชมอยู่นั่นแหละ ใครจะพาไปเที่ยวโครงการหลวงละก็ พาไปชมความงดงามของไม้ดอก ไม้ประดับไม้ผลในโครงการเสียก่อน จบแล้วค่อยมาแวะที่สวนบอนไซ อ้างกับผู้ชมว่าเวลาซื้อจะได้ซื้อแล้วกลับบ้านได้เลย ไปดอยอ่างขาง ต้องพักสักหนึ่งคืน เช้าจะได้วิ่งไล่งับหมอก โรงแรมดี ๆ ก็มีให้พัก ที่พักของโครงการลองติดต่อ ๐๕๓ ๒๗๘๓๓๒ , ๒๗๘๒๐๔ จะได้พักสมใจ หรือที่รีสอร์ทธรรมชาติ
            ลงจากดอยอ่างขาง เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ก็จะเข้าเมืองฝาง เมืองโบราณอายุพันปี เพราะพระเจ้าเม็งรายมหาราช กษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ดั้งเดิมท่านเป็นกษัตริย์โยนกที่นครเชียงแสน ต่อมาท่านมาสร้างเชียงราย จากเชียงรายท่านมาประทับที่ฝาง จากฝางท่านยกทัพไปตีได้หริภุญชัย คือ ลำพูน จากนั้นท่านไปสร้างเวียงกุมกามแถว ๆ อำเภอสารภี เชียงใหม่แต่น้ำท่วมทุกปี ท่านเลยไปสร้างนครเชียงใหม่ซึ่งขนาดเชียงใหม่ยัง ๗๐๕ ปีแล้ว ฝางต้องนานกว่านั้นมาก
            ทีนี่มาดูตำนานเมืองฝางบ้าง บอกไว้ว่าฝางสร้างเมื่อ พ.ศ.๑๑๘๘ โดยเจ้าหลวงจักราชเป็นผู้สร้างเมืองนี้ และในปี พ.ศ.๒๓๓๐ ถูกอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าตีได้ (เดี๋ยวผมจะค้าน) มาถึง พ.ศ.๒๔๑๖ เจ้าหลวงอินทวิชัยยานนท์ ได้พัฒนาจนรุ่งเรือง
            ทำไมจึงคัดค้านการยกทัพมาตีของอะแซหวุ่นกี้ เพราะเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพพม่ามาตีเมืองพิษณุโลก ล้อมอยู่หลายวันก็ยังตีไม่ได้เพราะแม่ทัพไทยเข้มแข็งนัก จึงนัดวันขอดูตัวกัน และได้ออกมาดูตัวกันที่นอกเมืองพิษณุโลก ตรงจุดไหนผมไม่แน่ใจ และเมื่อเห็นแม่ทัพไทยคือเจ้าพระยาจักรีแล้วก็บอกว่าให้รักษาตัวไว้ให้ดี นานไปจะได้เป็นกษัตริย์ คำกล่าวของอะแซหวุ่นกี้เป็นความจริง เพราะอีก ๗ ปีต่อมา พระยาจักรีคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต้นราชวงศ์จักรี ตำนานทุกเล่มตรงกันหมดว่าวันที่มาดูตัวนั้น อะแซหวุ่นกี้อายุ "๗๒ ปี" ซึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๘ อายุ ๗๒ ปี ดังนั้น ปี พ.ศ.๒๓๓๐ ก็จะต้องอายุ ๘๔ ปี อย่าว่าแต่คนโบราณสมัย อะแซหวุ่นกี้ที่ยังไม่มีหมอถอนฟันเลย คนสมัยนี้อายุ ๘๔ เดินเที่ยวไป กินไป ให้ไหวเสียก่อนเถอะ ไม่ต้องถึงขนาดขี่ม้าข้ามเขา ลุยป่ามาเป็นเดือนและยังคุมกองทัพพลนับหมื่นมาอีกผมาจึงไม่เชื่อ อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพสำคัญของพม่าที่เคยรบกับไทย กับจีน กับพม่าด้วยกันมาแล้วไม่น่าจะอายุยืนขนาดนี้ แม้จะขึ้นเสลี่ยงมารบด้วยก็คงไม่ไหว แต่พม่านั้นชื่อลงท้ายด้วย "ยี" มีแยะ อะแซหวุ่นกี้นามตามตำแหน่ง หรืออาจจะตรงกับบรรดาศักดิ์ของไทยคือ "หวุ่นหยีมหาสีหสุระ" แม่ทัพอีกท่านชื่อ  "หวุ่นหยีมหาชัยสุระ" จึงน่าจะเป็นท่านผู้นี้มากกว่า แม่นแต่สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงประทานวิจารณ์ไว้ในหนังสือไทยรบพม่า ว่า "ท่านอะแซหวุ่นกี้ อายุ ๘๔ ปี คงรบกับไทยไม่ไหวแล้ว"
            โบราณสถานในเมืองฝาง จึงมีกำแพงเมืองเก่า (มีป้ายบอกเรื่องอะแซหวุ่นกี้ยกทัพมา) เจดีย์ วัด วิหาร พระพุทธรูป โดยเฉพาะกำแพงเมืองนั้นบอกว่าอายุ ๑,๓๕๐ ปี

            ถ้าวิ่งเข้าเมืองฝาง พอเข้าเขตเมือง หรืออำเภอที่เป็นแหล่งชุมชน ก็จะผ่านโรงแรมที่ผมพัก ซึ่งพอใช้หรือคิดว่าดีที่สุดในฝางคือ โชคธานี ผ่านทางแยกซ้ายไปบ่อน้ำร้อน หรือ อุทยานแม่ฝาง ซึ่งจะต้องตามป้ายไปอีกประมาณ ๙ กิโลเมตร ตรงต่อไปตามถนนเส้นหลักผ่านตู้โทรศัพท์ทางซ้าย ขวาคือ ข้าวมันไก่ โชคธานี เหมาะเป็นอาหารเช้า อร่อยเอาเรื่องทีเดียว ข้าวมันไก่ หมูกรอบ ลองมองดูหมูกรอบที่แขวนไว้ในตู้สีเหลืองอ่อนน่ากิน ดูหมูกรอบก็รู้แล้วว่าของอร่อยแขวนอยู่ในตู้ เลยข้าวมันไก่ก็จะถึงสี่แยกไฟสัญญาณ เลยสี่แยกมานิดหนึ่งทางขวาคือร้านอาหารเป้าหมายของวันนี้ชื่อร้าน "คูเจริญชัย" อยู่ติดกับร้านขายทอง ร้านคูเจริญชัยเป็นร้านสองห้อง หาง่าย ตรงข้ามกับตลาดสด ผ่านตลาดเจ้าฝางทางขวา ในตลาดนี้ตั้งแต่เช้าร้านอยู่ทางขวามือ เป็นร้านข้าวซอยอิสลาม พอเลยตลาดเจ้าฝางคือ วัดเจดีย์งาม วัดนี้ต้องแวะเข้าไปให้ได้ แม้จะสร้างใหม่แต่ก็งดงาม และมีพระพุทธรูปหินอ่อน โบสถ์ วิหาร กุฏิทรงล้านนา อุโบสถนั้นเป็นไม้สักทั้งหลังงดงาม
            หากผ่านวัดตรงต่อไปจนสุดทาง จะผ่านศาลาขนมจีน (ผ่านแยกไฟสัญญาณที่ ๒) เขาบอกว่าเป็นขนมจีนน้ำเงี้ยวพันธุ์แท้ น้ำยา และแกงเขียวหวาน หยุดวันอาทิตย์เลยยังไม่ได้ชิม ตรงต่อไปอีกจะมีวัดจองตก เป็นวัดศิลปะพม่า วัดพระบาทอุดม ติดกับวัดจองตก สุดทางคือ อนุสาวรีย์พระเจ้าฝางอุดมสิน กับพระนางสามผิว มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ตรงหน้าอนุสาวรีย์ แต่สร้างตาข่ายปิดปากบ่อเอาไว้ มีตำนานเล่าว่า
            เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๒ พระเจ้าฝางอุดมสิน เดิมชื่อพระยาเชียงแสน ราชบุตรเจ้าเมืองเชียงแสน ได้มาครองเมืองฝาง พร้อมพระชายาคือพระนางสามผิว เหตุที่ได้นามว่าพระนางสามผิวก็เพราะว่า ยามเช้านางจะมีสีกายขาวดังปุยฝ้าย ตกบ่ายสีแดงดังผลตำลึงสุก พอเย็นจะเป็นสีชมพูดังบัวปุณฑริกา เป็นราชบุตรของเจ้าเมืองล้านช้าง พระเจ้าฝางอุดมสิน ครองเมืองฝางระหว่าง พ.ศ.๒๑๗๒ - ๒๑๘๐ ที่ครองในระยะเวลาอันสั้นเพราะแข็งเมืองกับพม่า พม่ายกทัพมาล้อมเมืองไว้ถึง ๓ ปี ๖ เดือน ก็ยังตีไม่แตก พม่าก็ล้อมอยู่อย่างนั้น ราษฎรได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง พระเจ้าฝางจึงจุงมือพระนางสามผิวโดดบ่อที่ลึกถึง ๒๐ วา ตายในบ่อนั้น บ่อนี้จึงถือว่าเป็นบ่อศักดิ์สิทธิ์ และสร้างตาข่ายปิดไว้ สร้างอนุสาวรีย์ที่หลังบ่อ และได้รับการยกย่องจากพระเจ้าอังวะว่าเป็นวีรชน
            ทีนี้ไปบ่อน้ำร้อนฝาง หรืออุทยานแห่งชาติแม่ฝาง อยู่ห่างจากตัวอำเภอฝางประมาณ ๙ กิโลเมตร ตามป้ายชี้บอกทางไปจะง่ายกว่าผมบอกทางให้ เพราะป้ายมีแยะ หาง่าย เมื่อไปถึงก็จ่ายค่าเข้าชมอุทยานคนละ ๒๐ บาท รถคันละ ๓๐ บาท ภายในอุทยานแห่งนี้จะประกอบด้วย.-
            บ่อน้ำร้อนฝาง มีอุณหภูมิสูงจนเกือบเดือดประมาณ ๘๗ องศาเซ็นเซียส ซื้อไข่มาต้มให้สุกได้ภายใน ๑๐ นาที ใกล้ ๆ มีร้านค้าขายไข่ไก่ และไข่นกกะทาที่ต้มแล้วก็มี ความร้อนเกิดจากใต้พื้นพิภพของหินแกรนิตที่มีความร้อนสูงมาก บ่อน้ำร้อนที่นี่มีรวม ๆ มากกว่า ๕๐ แห่ง แต่ตอนที่พัฒนาแล้วต้องเดินดู สมัยก่อนผมว่าดูง่ายกว่าคือมองเห็นเต็มไปหมด พวยน้ำพุร้อนพุ่งขึ้นมาหลายจุด และจุดที่เรียกว่าบ่อวิเชียร พุ่งมาจากใต้ดินที่ลึกถึง ๑๖๐ เมตร และเขานำพลังที่พุ่งขึ้นมานี้ไปทำไฟฟ้ากับเครื่องไฟฟ้าขนาดเล็ก ๆ ไม่เหมือนนิวซีแลนด์ที่เขาสำรวจจนพบบ่อที่มีพลังน้ำร้อนสูงมากจนทำไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้
           ดอยผาหลวง หรือดอยผ้าห่มปก ซึ่งสูงเป็นลำดับ ๒ ของประเทศคือสูงถึง ๒,๒๘๘ เมตร แต่ต้องไปขึ้นทางอำเภอแม่อายที่อยู่เลยฝางไปอีกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ที่บ้านป่าซาง แล้วแยกซ้ายไปยังที่ทำการหน่วยพัฒนาต้นน้ำล่าว ระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร มีเส้นทางต่อไปอีก ๕ กิโลเมตร ก็สุดทางรถยนต์ ทีนี้ต้องเดินลูกเดียวเป็นระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร แข้งขาดีจะใช้เวลาเดินขึ้นดอยผ้าห่มปกประมาณ ๔ ชั่วโมง
            ย้อนกลับเข้ามาในอุทยานอีกที ไม่ไกลจากบ่อน้ำร้อนฝางนัก เดินไปก็ได้ เอารถไปจอดก็ได้ คือธารน้ำ "ห้วยแม่ใจ" มีโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สร้างเอาไว้ให้ดูมากกว่าจริงจัง เพราะขนาดเล็ก สร้างขวางธารน้ำตกที่เย็นเฉียบ (อยู่ห่างจากน้ำพุร้อนประมาณสัก ๓๐๐ เมตร) น้ำที่ไหลลงมาเชี่ยวกรากจะไปพักผ่านใบจักรให้หมุนไดนาโมทำให้เกิดไฟฟ้า แต่น้ำที่ไหลผ่านแล้วยังแรงมาก หากสร้างท่อให้ไหลผ่านเข้ามาในท่อที่มีใบจักรไว้อีกหลาย ๆ แห่งน่าจะติดตั้งไดนาโมทำไฟฟ้าได้หลายตัว "น่าจะ" ผมไม่ได้บอกว่าทำได้
            อุทยานแห่งชาตินี้จึงมีพื้นที่กว้างขวาง ร่มรื่น งดงาม มีทั้งบ่อน้ำร้อน ธารน้ำเย็น ดอยสูงอันดับ ๒ ของประเทศ
            ไปร้านอาหาร คูเจริญชัย ผมบอกทิศทางให้แล้ว ว่าตรงเรื่อยมาจนผ่านไฟสัญญาณที่ ๑ ร้านจะอยู่ขวามือ มี ๒ ห้อง ข้างนอกก็มีโต๊ะนั่ง แต่เข้าไปข้างในก็ดีโดยเฉพาะมื้อค่ำเพราะเป็นสวนอาหาร บริการดีมาก ยิ้มแย้มแจ่มใส ตอนกลับฝนตกหนัก แม่สาวน้อยยังกางร่มมาส่งแถมยังเรียก "คุณอา" เสียอีก (น่าจะเรียกว่า คุณตา ใครเรียกคุณตางดไม่ไปชิม)จึงเป็นปลื้ม
            ไส้หมูพะโล้ ท่านที่อ่านที่ผมเขียนมาจะเห็นว่าผมไปเจอ ไส้หมูพะโล้ เข้าที่ไหนเป็นสั่ง ร้านนี้ก็เช่นกัน ต้องสั่งไส้หมูพะโล้ ของเขาเด็ดนัก จะกินเล่น กินจริง เอาน้ำพะโล้คลุกข้าวดีทั้งนั้นเหยาะน้ำส้มนิดหนึ่ง
            ปลาช่อนแดดเดียว เขาแยกน้ำยำมาให้อีกถ้วยหนึ่ง ทอดเกรียมที่ข้างนอกนุ่มข้างใน รสแจ่มแจ๋ว
            ยอดมะระหวานผัดน้ำมันหอย ผักสดกรอบ เคี้ยวเพลิน เสียดายน้ำผัดน้อยไปนิดไม่งั้นจะตักซด
            กระเพาะปลาผัดแห้ง ผัดกระเพาะปลากับกุ้ง เห็ดหอม หน่อไม้ ไข่นกกระทา ต้นหอม เม็งมะพร้าวและปลาหมึก ยกนิ้วให้ได้ว่าอร่อยติดอันดับทีเดียว

จบแล้วปิดท้ายด้วยไอศกรีม

----------------------------------


| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |

แม่ฝาง: ข้อมูลแม่ฝาง ท่องเที่ยวแม่ฝาง ข้อมูลเที่ยวแม่ฝาง


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์