ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > มรดกท่องเที่ยว > อนุสรณ์สถาน
 
อนุสรณ์สถานอดีตทหารจีนคณะชาติ
อนุสรณ์สถานอดีตทหารจีนคณะชาติ

        เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๘ ผมได้เชิญชวนท่านผู้อ่านไปร่วมทอดกฐินกับคณะของผม ซึ่งมีถึง ๓ คณะคือ ตัวผมเองกับท่านผู้อ่านหนังสือที่ผมเขียน คณะของเลขา ฯ ประจำตัวผมคืออักษรศาสตร์จุฬา ฯ รุ่นเข้าปี ๒๕๐๒ และ "ตอ.รุ่น ๒๐๐" ก็รุ่นเลขาผมอีกนั่นแหละ ผลการทอดกฐินที่วัดฝั่งหมิ่น ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้สตางค์มากพอที่จะสร้างเมรุเผาศพให้สุสานวัดฝั่งหมิ่น (ล้านนา จะแยกเมรุเผาศพไปไว้ในสุสานต้องนอกกำแพงวัด) ซึ่งได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และด้วยศรัทธาของชาวบ้านที่ไม่มีกำลังทรัพย์จะสร้างเองได้ แต่มีกำลังคือแรงงานทำให้ประหยัดค่าแรงไปเป็นอันมาก เงินจึงเหลือ ทางวัดจึงได้สร้างศาลา ที่หน้าเมรุเผาศพอีกหลังหนึ่ง และขออนุญาตเอาชื่อผมไปติดไว้คือ ติดชื่อผมเรียบร้อยแล้ว จึงมาบอกขออนุญาต เขาบอกว่าผมไม่ได้ห้าม เคยห้ามแต่เวลาสร้างห้องส้วม หรือเมรุเผาศพ ห้ามไม่ให้เอาชื่อไปติดไว้ที่หน้าห้องส้วม เพราะเคยสร้างฐานพระมาแล้ว ติดชื่อไว้เด่นเลย ตอนนั้นยังเป็นพันเอก เห็นแล้วต้องบอกหลวงพี่ช่วยเอาออกด้วย เพราะทำบุญไม่ต้องการเอาหน้า ไม่ต้องออกทีวีอะไรทั้งสิ้น เรื่องสร้างเมรุเผาศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากผมเล่าไปแล้วก็ต้องขออภัยด้วยครับ เพราะอายุชักจะใกล้ร้อยเข้าไปทุกที ออกจะเลอะ ๆ ไปบ้างก็อย่าถือสา เมื่อทอดกฐินแล้วก็เข้าไปในตัวเมืองเชียงราย พาพรรคพวกไปวัดพระแก้ว หรือเดิมชื่อวัดป่าเยียะ (ป่าไผ่) ซึ่งวัดนี้อยู่ถนนไตรรัตน์ ผมบอกทางเข้าวัดไม่ถูก เพราะเชียงรายเวลานี้ถนนหลายสายให้รถเดินทางเดียว เห็นวัดแล้วไม่รู้จะเข้าหน้าวัดได้อย่างไร วนเสียหลายรอบ หากบอกเส้นทางคงบอกได้ว่าวิ่งไปตามถนนพหลโยธิน จนเลยอนุสาวรีย์พญามังราย หรือพญาเม็งราย (เดิมผมเรียกพระนามของท่านว่า เม็งราย ตอนนี้เปลี่ยนเรียกให้ตรงกับหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาทางประวัติศาสตร์ ของเชียงของ) เลยอนุสาวรีย์ไปแล้ว ก่อนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กก ให้เลี้ยวซ้ายมาผ่านโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค ก็เลี้ยวซ้ายไปตามถนนไตรรัตน์ บอกให้ไปง่ายดี แต่ไปเข้าจริง ๆ จะเวียนหัวตรงถนนรถเดินทางเดียว ถามชาวเมืองจะชี้ทาง
                วัดพระแก้ว  คือ วัดที่ฟ้าผ่ามาถูกพระเจดีย์แตก (เวลานี้บูรณะพระเจดีย์องค์นี้แล้ว สีทองอร่ามตา) เมื่อ พ.ศ.๑๙๗๙ แผ่นดินพระเจ้าสามฝั่งแกน ครองนครเชียงใหม่ พบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ลงรักปิดทองตกลงมาจากพระเจดีย์ จึงอัญเชิญไปไว้หน้าวิหารหลวง ต่อมารักที่ทาอยู่ตรงปลายพระนาสิกกะเทาะออก จึงเห็นเป็นแก้ว เจ้าอาวาสจึงได้ขัดสีเอารัก และทองที่ปิดอยู่ออกก็พบว่าเป็นพระแก้วมรกตทั้งองค์ พระเจ้าสามฝั่งแกนจึงให้อัญเชิญไปเชียงใหม่ ประดิษฐานไปบนหลังช้าง พอใกล้ถึงทางแยกเข้าลำปางช้างเตลิดไปทางลำปาง ไม่ยอมเดินไปทางเชียงใหม่ หมื่นโลกนครจึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เขลางค์นคร ที่วัดพระแก้วกู้เต้าสุชาดาราม เป็นเวลานานถึง ๓๒ ปี จนมาถึงแผ่นดินของพระเจ้าติโลกราช ผู้ครองนครเชียงใหม่มีบุญญาธิการมาก จึงสามารถอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดเจดีย์หลวง อ.เมือง เชียงใหม่ได้ แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อพระเมืองเกษเกล้า ขึ้นครองนครเชียงใหม่ถูกโอรสคือ เจ้าชายคำชิงบัลลังก์ ไปครองเสีย ๕ ปี เมื่อสิ้นเจ้าทรายคำแล้ว พระเมืองเกษเกล้าก็กลับมาครองเชียงใหม่ เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อสิ้นพระเมืองเกษเกล้า จึงไร้โอรสที่จะสืบต่อได้อีก จึงพร้อมใจกันยกให้ "พระนางเจ้าจิรประภามหาเทวี" พระมเหสีของพระเมืองเกษเกล้า ขึ้นครองเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๘๘ - ๒๐๘๙ (แผ่นดินนี้ทำไมตรีกับทัพพระชัยราชา ที่ยกมาจะตีเชียงใหม่) พระนาง ฯ ไม่ปรารถนาครองราชย์เป็นการถาวร จึงพร้อมใจกันไปอัญเชิญพระไชยเชษฐาธิราช โอรสกษัตริย์ล้านช้าง ซึ่งเป็นหลานแท้ ๆ ของพระนางและพระเมืองเกษเกล้า  พระไชยเชษฐา ฯ ครองเชียงใหม่อยู่ ๒ ปี พระราชบิดาสิ้นพระชนม์จึงกลับไปครองล้านช้างด้วย กลายเป็นกษัตริย์สองแผ่นดิน ตอนที่เสด็จกลับไป ไม่ได้ไปมือเปล่า ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย ต่อมาย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมายังเวียงจันทร์จึงสร้างหอพระแก้วขึ้นไว้ พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในหอพระแก้ว ที่เวียงจันทร์นานกว่าสองร้อยปี (ไปล้านช้าง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๙๑) จนเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) นำทัพไปตีได้ลาว จึงอัญเชิญกลับมาในปี พ.ศ.๒๓๒๑ และประดิษฐานอยู่ ณ วัดในวังของแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีคือ วัดอรุณราชวราราม จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ตราบเท่าทุกวันนี้

                วัดพระแก้วเชียงราย  ปัจจุบันมีพระพุทธรูปสำคัญที่แม้จะสร้างใหม่ แต่ก็สร้างในวโรกาสที่สำคัญคือ คณะสงฆ์และชาวเชียงรายร่วมกันสร้างถวายเมื่อ "สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย" มีพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๓๓ สมเด็จย่าได้ถวายพระนามพระพุทธรูปไว้ว่า "พระพุทธรัตนากรนวุติวัสสานุสรณ์มงคล" มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตนะ และโปรดเกล้าให้เรียกนามสามัญ "พระหยกเชียงราย" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๔ เสร็จพระราชพิธีแล้ว ชาวเชียงรายจึงอัญเชิญกลับมาไว้ ณ วิหารวัดพระแก้วเชียงราย
                จากวัดพระแก้ว คณะของผม (เที่ยวนี้ไม่ได้ขับไป ไปกันหลายคนเช่ารถตู้ไป) เพื่อไปยังดอยแม่สลอง และขึ้นดอยแม่สลอง ตามเส้นทางสายหลักที่แคบ และคดเคี้ยวคือ สายที่แยกซ้ายจากถนนพหลโยธิน เมื่อเลยจากอำเภอแม่จันไปทาง อ.แม่สาย ที่ กม.๘๖๐ แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก ๓๖ กม.ทางค่อนข้างชันและคดเคี้ยว ปกติผมไปทางเส้นทางนี้ และหากไม่ไปต่อแม่สาย ผมจะกลับลงจากดอยแม่สลองอีกเส้นทางหนึ่ง จะมาลงถนนสาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ - อ.แม่จัน สาย ๑๐๘๙
                ไปดอยแม่สลองคราวนี้ยังไม่ทันเอามาเขียนเล่าให้ฟัง พอดีไปอีกเว้นระยะเวลาห่างกันไม่ถึง ๒ เดือน เลยเอามารวมเล่าให้ฟัง ไปคราวหลังไปเพื่อไปกล่าวคำถวายเมรุเผาศพ (มีคำกล่าวถวายเหมือนเราจะถวายสังฆทาน มีพระมาสวดด้วย) ให้แก่สุสานวัดฝั่งหมิ่น เมื่อถวายเมรุแล้วก็ขับรถ (คราวนี้ขับรถไปเองไปกัน ๒ คน) ขึ้นไปนอนบนดอยแม่สลอง เพราะทางกรรมการจัดงานบนดอยแม่สลองเขาเชิญให้ผมไปในงานนี้คืองาน "มหัศจรรย์ชา ซากุระบาน อาหารชนเผ่า" ซึ่งมีงานตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงปีใหม่ เป็นการจัดเป็นครั้งที่ ๑๐ ปีนี้ ไม่ทราบความจำเป็นของเขาน่าจะจัดเร็วไป ดอกซากุระเลยยังไม่บาน ปกติแล้วดอกซากุระบนดอยแม่สลองจะบานปลายเดือนมกราคม หรือเริ่มบานตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์สวยมาก
                คราวนี้ทางกรรมการเขาแนะว่า ถนนขึ้นดอยแม่สลองอีกเส้นทางหนึ่งนั้น มีการขยายเส้นทางเกือบตลอดสายแล้ว มีความกว้างมากกว่า และชันน้อยกว่า แต่เมื่อไปแล้วจึงทราบว่าไกลกว่าสัก ๑๐ กม.  แต่น่าจะทำความเร็วได้ดีกว่า ไปเส้นทางนี้คงไปจากตัวเมืองเชียงราย ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำตรงไปทางอำเภอแม่จันก่อนถึงแยกเข้าอำเภอประมาณ ๑ กม.  จะมีถนนแยกซ้ายป้ายบอกว่าไป อ.ฝาง  ถนนสาย ๑๐๘๙ วิ่งไปตามถนนสายนี้ ๓๑ กม.  จะถึงทางแยกขวาเพื่อขึ้นดอยแม่สลอง ตามเส้นทางจะผ่านศูนย์วัฒนธรรมลานทอง  กม.๑๒  มีที่พัก มีอาหาร มีการแสดงต่าง ๆ เคยเข้าไปชมตั้งแต่ตอนเปิดใหม่ ๆ  เลยไปอีกจะผ่านโป่งน้ำร้อนทางซ้ายมือ  รู้สึกว่าจะก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์คือ ให้คนไปเที่ยวอาบน้ำแร่ในห้อง สร้างเสียจนชักจะไม่สวยตามธรรมชาติแล้ว  ผมเห็นบ่อน้ำร้อนหลายแห่งที่สร้างเพื่อการพาณิชย์จนความงดงาม ตามธรรมชาติหายไป ผ่านคริสตจักรแห่งความรัก  ที่ตั้งโดดเด่นอยู่กลางป่า ก่อนถึงทางแยกขึ้นดอยแม่สลอง วัดพุทธหาไม่ได้เลย จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวเขาแถบนี้เลิกนับถือผี มานับถือคริสต์แทน
                กม. ๕๕ คือ ทางแยกขวาขึ้นดอยแม่สลอง จะมีป้อมตำรวจอยู่มุมทางขึ้น เป็นป้อมตำรวจใจดีที่ผมยกย่องมานานแล้ว  มีน้ำดื่มฟรี มีสุขาบริการ ตำรวจใจดีอย่างนี้หายาก เลี้ยวขวาเริ่มขึ้นดอยแล้ว จะวิ่งไปอีก ๑๓ กม.  จึงจะถึงชุมชน และจะผ่านสถานที่จัดงานมหัศจรรย์ชา ฯ ไป
                ถนนสายนี้ตอนขึ้นกับตอนลงได้ขยายแล้ว ๒ เลน  เช่นเดิมแต่ลาดยางเรียบ ตอนกลางเหลืออีกประมาณ ๑ ใน ๓ ยังเป็นสายเดิมแคบ ลาดยาง แต่ไม่เรียบบอกว่าปี ๔๙  นี้จะขยายตลอดสาย ดอยแม่สลองขึ้นกับอำเภอแม่ฟ้าหลวง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกที
                จะมีป้ายหลายป้ายอยู่ริมทางประชาสัมพันธ์โรงแรม  สมัยเมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว ผมเคยพักเพราะมีโรงแรมเดียว ผิดกับเดี๋ยวนี้มีหลายโรงแรม เขาปรับปรุงอะไรหรือเปล่า หรือปรับปรุงเฉพาะป้ายที่มาปักเอาไว้ข้างทางก็ไม่ทราบ ใกล้จะถึงชุมชนสัก ๕๐๐ เมตร ชุมชนตรงจุดนี้พึ่งเกิดใหม่ ไปเมื่อ ๒ ปีก่อน ยังไม่เคยเห็น แต่ผมก็เอามาเขียนไว้ว่า ไปดอยแม่สลองขอให้ขึ้นไปนมัสการ พระบรมธาตุศรีนครินทร์ บนยอดดอยให้ได้ หากไม่ใช่ชาวพุทธ ก็ขึ้นไปชมศิลปะการก่อสร้างได้ สวยเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดดอย และสมเด็จพระสังฆราชประทานนาม และพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุเอาไว้ ที่ทางแยกขึ้นพระบรมธาตุนี้ เดี๋ยวนี้ขึ้นสะดวกแต่รถและคนขับควรมีฝีมือ เพราะทางค่อนข้างชัน และปากทางขึ้น กลายเป็นแหล่งรวมขายสินค้า ขายกันเต็มไปหมดคงมากกว่า ๓๐ ร้าน ทั้งชาวเขา ชาวจีน ชาวเรา กำลังก่อสร้างเพิ่มก็อีกแยะ เป็นตึกแถวชั้นเดียว คูหาเดียวและฝั่งตรงข้ามที่เป็นโรงเรียน ในตอนเช้าสนามหน้าโรงเรียน จะเป็นตลาดนัดเช้า แต่ไปคราวนี้กำลังมีงานชาไม่มีนัด เพราะไปนัดกันอยู่ในงานหมด  เลยทางแยกขึ้นพระบรมธาตุมาแล้ว ก็มีที่พักคุ้มนายพลและร้านอาหาร แต่ร้านอาหารคุ้มนายพลขายแต่โซดา เครื่องดื่มประเภทมึนเมา ต้องพกเอาไปเองเขาไม่ขาย และสุสานนายพลต้วนก็อยู่บนดอยหลังที่พัก หลังห้องอาหารอีกทีหนึ่ง เยื้อง ๆ กันมีธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารเดียวที่ตั้งอยู่บนดอยแม่สลอง เลยต่อไปอีกจากปากทางขึ้นสู่พระธาตุ สองข้างทางของถนนแคบ ๆ สายนี้จะมีร้านค้าไปตลอด  ร้านอาหารก็พอมี ที่มีจนชิมไม่ไหวคือ "ชา"  ดูเหมือนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗  (หรืออาจะเป็นปี พ.ศ.๒๕๔๖)  มีการประกวดชาโลกกันบนดอยแม่สลอง ที่เดี๋ยวนี้เป็นแหล่งปลูกชาชั้นดีกันมากมาย หลายพันไร่ (มีไร่ใหญ่ขนาดพันไร่อยู่ ๓ เจ้าของ)  และชาอู่หลง ก้านอ่อนของดอยแม่สลองได้รับรางวัลที่ ๑ ของโลก  เรียกว่าชนะจีนไต้หวัน ที่เป็นเจ้าของพันธุ์เลยที่เดียว ผ่านร้านชามาเรื่อย ๆ จนถึงจุดหักข้อศอก เพื่อเลี้ยวออกทางขวา ก่อนจะถึงแม่สลองวิลล่า ที่อยู่ในกิ่งลง ก็จะพบป้ายแม่สลองรีสอร์ท ให้เลี้ยวซ้ายไป ตามเส้นทางที่ค่อนข้างจะชันพอสมควร จะไปยังแม่สลองรีสอร์ท มีอาหาร มีที่พัก ผมยังไม่เคยพัก  และชิมอาหารของเขา

แต่เมื่อขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดแล้ว จะเป็นสวนหย่อม และริมสวนติดหน้าผา ชาวดอยแม่สลองได้สำนึกในบุญคุณ ผู้ที่ช่วยเขามาตลอดคือ ท่านพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์  พวกเขาจึงสร้างบ้านรับรองเอาไว้หลังหนึ่งชื่อ บ้านเกรียงศักดิ์  สร้างบนยอดเนินอีกที  หน้าบ้านเป็นสวนหย่อม และริมสวนมีร้านค้าขายพวกผลไม้แช่อิ่ม  มีร้านอาหารของรีสอร์ท และผมแอบไปพบ (เพื่อหาสุขา) ว่าด้านหลังของสำนักงานจองห้องพักของรีสอร์ท ห้องเล็ก ๆ ทางขวามือของทางลง  ด้านหลังนอกจากจะมีสุขาราคา ๒ บาท แล้วยังมีร้านขายของที่ระลึก เสื้อผ้าและอาหารแห้งอยู่ ๒ - ๓ ร้านขายของดี ราคาถูก กว่าทุกแห่งเท่าที่เคยซื้อมาบนดอยแม่สลอง เช่น ถ้ำชาเซรามิค ถ้วยชามเซรามิค  โคมไฟ ฯ สินค้าจากจีนทั้งสิ้น ไปซื้อจาก จิว จ่ายโกว เมืองจีนยังโดนหลอกให้ซื้อในราคาแพงกว่านี้ ชมสวนซื้อผลไม้แช่อิ่ม ซื้อถ้ำชา ซื้อ ฯ  (ไม่แนะนำให้ซื้อใบชาที่นี่ให้ไปซื้อที่แม่สลองวิลล่า เจ้าของไร่ชาใหญ่ ๑ ใน ๓ ของแม่สลอง)  แล้วก็กลับออกมาถึงทางแยกก็เลี้ยวซ้าย (ยังไม่กลับไปงานที่อนุสรณ์สถาน ฯ )  คราวนี้ผ่าน "ประตูจีน" ที่สร้างไว้สวยงามมาก เดินออกไปแล้วจะเป็นหน้าผา มองเห็นภูมิประเทศที่งดงามของดอยแม่สลอง แลเห็นพระบรมธาตุ แต่จุดที่จะถ่ายภาพพระบรมธาตุให้สวยเด่นเป็นสง่า ยิ่งกว่าจะใดต้องถ่ายตอนขึ้นแม่สลองรีสอร์ท จะมีจุดที่มองเห็นพระบรมธาตุเด่นชัดที่สุด ส่วนที่ประตูจีนนี้เขาจารึกไว้ว่า "ดินแดน แห่งขุนเขา ม่านเมฆ ดอยแม่สลอง" เลยประตูจีนไปแล้ว ก็จะเป็นกิ่งลงเขา หรือขึ้นมาอีกเส้นทางหนึ่งคราวนี้จะผ่าน "เพ่าม่อ"  ไอศครีมของโปรด ร้านอาหาร มีเกี๊ยวซ่า ไก่ดำตุ๋นยาจีน ร้านเสริมสวยก็มี ร้านข้าวซอย ร้านขายเสื้อผ้าก็หลายร้าน ก้าวไปไกลแล้ว สุดท้ายของผมคือเข้าที่พักที่แม่สลอง ดีเยี่ยม ทั้งอาหาร ที่พัก และใบชา ผมกินอาหารร้านนี้มานานกว่า ๒๐ ปี  ส่วนที่พักเขาพึ่งจะมีสัก ๑๐ กว่าปีมานี้แล้ว ก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว เจ้าของพี่น้องฝาแฝดลูกชายนายพลรุ่นมาก่อตั้งชุมชน บนดอยแม่สลองเช่นกัน
                เราเรียกจีนที่เป็นอดีตทหารจีนชาติว่าจีนฮ่อ ความจริงเรียกกันผิด ๆ  อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของผม คือพันเอก กาญจะนะ  ประกาศวุฒิสาร ซึ่งคลุกคลีอยู่ที่ "บก.๐๔" นานกว่ายี่สิบปี  บก.ฯ นี้ตั้งอยู่ที่เชียงใหม่และทำงานเกี่ยวกับพวกทหารจีนชาติโดยตรง ได้เขียนหนังสือไว้ ๒ เล่มคือเรื่อง "ก๊กมินตั๋ง" ตกค้างทางภาคเหนือของประเทศไทย และออกมาใหม่อีกเล่ม "เสธ.เฉิน มังกรดอย" อ่านแล้วจะทราบข้อเท็จจริงที่ยังไม่ทราบ มากพอสมควร เพราะคนเขียนคลุกคลีอยู่กับพวกเขา และไปร่วมรบเมื่อพวกเขามาช่วยรบปราบปรามพวก ผกค.จนล้มตายกันไม่ใช่น้อย เป็นเหตุที่ทำให้เกิดอนุสรณ์สถาน ฯ  หนังสือ ๒ เล่มนี้คงจะไม่ได้วางขายทั่วไป เพราะ
ผู้เขียนพิมพ์เอง ขายเอง  ขออนุญาตช่วยประชาสัมพันธ์ว่าต้องสั่งซื้อทางโทรศัพท์ ๐๕๓ ๒๒๑๔๙๘, ๐๑ ๖๘๑๕๕๐๕ สนนราคาไม่แพง ลองโทรถามดู อ่านแล้วจะได้รู้เรื่องทหารจีนชาติที่หลงเหลืออยู่ในประเทศไทย และจากการตอบแทนที่พวกเขาร่วมรบกับทหารไทยในการเข้าปราบปรามพวก "ผกค." จนพวกเขาบาดเจ็บล้มตาย พวกเขาจึงได้ที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง และทุกคนเป็นคนไทย ได้สัญชาติไทยหมดแล้ว พวก "จคม." หรือโจรจีนคอมมิวนิสท์มาลายา (สายรัสเซียสนับสนุน) ที่ผมเคยเล่าเอาไว้ตั้งแต่ผมปิดล้อมกดดัน เข้าเจรจาจนพวกเขาเข้ามามอบตัวเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ๒ ครั้ง รวม ๖๔๔ คน จบสิ้นการสู้รบ และต่อมาสายจีนสนับสนุนอีกพันกว่าคน ก็มอบตัวในเวลา ๒ ปีต่อมา ซึ่งตอนนั้นผมทำหน้าที่แม่ทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้า  และพวกเขาสมัครใจที่จะช่วยปราบ
ขบวนการโจรห้าร้อยกลุ่มอื่นแบบทางภาคเหนือ  แต่ท่านผู้ใหญ่คือนายผมไม่เห็นด้วย  พวกนี้เหมือนไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่  และค่าใช้จ่ายจะถูกมาก เพียงแต่ให้ข้าวสาร กระสุน ไม่ต้องมีเบี้ยเลี้ยง (ทหารไทยต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ ไม่จ่ายอดตาย เพราะเงินเดือนลูกเมียต้องใช้) พวกเขาก็ออกรบได้แล้ว  เวลานี้พวก จคม.ทางใต้ที่นับถือผมมาก (ก็ขนาดมีรูปผมติดไว้ในพิพิธภัณฑ์ก็แล้วกัน) ได้โทรศัพท์มาบอกเมื่อ ๒ - ๓  วันนี้เอง ขอขอบคุณที่ผมไม่ลืมและไม่ทิ้งพวกเขา ๑๙ ปีนับตั้งแต่วันที่เขาออกมามอบตัวเมื่อ ๒๘ เมษายน ๒๕๓๐  บัดนี้เวลาที่เขารอคอยมาถึงแล้วคือวันที่เขาได้รับสัญชาติไทยเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ เป็นการรอคอยที่ยาวนาน และเขาจะเชิญผมไปฉลองวันครบรอบ ๑๙ ปี  วันที่ผมเขียนอยู่นี้ยังไม่ถึงวันครบรอบ ๑๙ ปีคือ วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๙  ขออภัยที่นำเอามาเล่าให้ฟังด้วย พวกเหล่านี้ไม่ว่าเหนือหรือใต้คือกันชนอย่างดี หากเขาภักดีต่อเราอย่างแน่นแฟ้นแล้วเราจะมีรั้วกั้นอยู่ที่ชายแดน เป็นรั้วที่มั่นคงแข็งแรง  ก็ยังเหลือเอกสารสิทธิ์ในที่ทำกินที่ต้องจัดการให้เขาด้วย เขาจะได้เหยียบแผ่นดินไทยอย่างคนไทยโดยสมบูรณ์
                กลับไปดอยแม่สลองกันใหม่ จีนฮ่อที่เรียกกันจนติดปากนั้นเป็นจีนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากมณฑลยูนนาน ลงมาอยู่ทางภาคเหนือของไทย ในรูปลักษณ์ของพ่อค้าเร่ ใช้ม้าต่างหรือฬ่อเป็นพาหนะบรรทุกสินค้าผ่านเข้ามาทางฮ่องลึกหรือด่านแม่สายตั้งแต่โบราณมาแล้ว ชนจีนกลุ่มนี้ไม่ใช่ชนจีนแต้จิ๋วซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย ชาวฮ่อประมาณ ๑ ใน ๓ นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษาจีนกลาง ได้พากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ปัจจุบันจีนฮ่อกลุ่มนี้กลายเป็นคหบดีในเชียงใหม่ ลำพูน และมีการผสมผสานกับคนท้องถิ่น จนกลายเป็นคนไทยไปหมดแล้ว แต่จีนฮ่อรุ่นใหม่ที่เราไปเรียกเขาทุกวันนี้เป็นจีนฮ่อที่เป็นกองกำลังทหารจีนคณะชาติ และจีนฮ่อพลเรือน ซึ่งอพยพลี้ภัยเข้ามาอยู่ในรัฐฉาน สหภาพพม่า ก่อนที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทย ความจริงน่าจะเรียก "จีนห้อ" คือหนีการกวาดล้างของพม่า วิ่งหน้าตั้งเข้ามาพึ่งไทย และกลุ่มของพวกนี้นั่นเอง ที่เมื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแล้ว กลุ่มผาตั้ง ดอยแม่สลอง และดอยอ่างขาง ก็ร่วมรบกับทหารไทยตีเขาย่า (ยอดสูงสุดของเขาค้อ)  ตีผาตั้ง จนได้ชัยชนะ และพวกเขาก็บาดเจ็บล้มตายไม่ใช่น้อย จึงสร้างอนุสรณ์สถานอดีตทหารจีนชาติภาคเหนือประเทศไทยขึ้นไว้บนดอยแม่สลอง เมื่อผ่านประตูเข้าไปทางซ้ายจะเป็นห้องประวัติศาสตร์ หลังกลางเป็นห้องที่จารึกชื่อตั้งป้ายวิญญาณเอาไว้ หลังทางขวาก็เป็นนิทรรศการ ผมยังไม่ได้เล่าเรื่องงานชา ขอติดเอาไว้ก่อนครับ
 

                ผมพักที่แม่สลอง ซึ่งที่พักดีเยี่ยม อยู่ตามไหล่เขาที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับไว้สวยงาม ที่ห้องอาหารซึ่งจะถึงก่อนทางขึ้นห้องพัก พื้นที่กว้างขวางกว่าที่เคยเล่าให้ฟัง เมื่อหลายปีมาแล้ว ติดต่อห้องพักก็ติดต่อที่ห้องอาหารนี้ รวมทั้งชมการชงชา และจำหน่ายชาชั้นเลิศก็ในห้องนี้ ผมกินอาหารของเขา ๒ มื้อ เพราะพักคืนเดียว  คราวหลัง ๒ คน สั่งอาหารมา ๓ อย่างเท่านั้น แต่ไปคราวแรกไปกัน ๘ คน สั่งอาหารอร่อย ๆ มาชิมได้หลายอย่างคือ
                มื้อค่ำ  ยำใบชา มีใบชาสดวางขอบจาน ยำกับปลาทูน่าและแครอทหั่นฝอย อมเปรี้ยวนิด ๆ
                ไข่ยัดไส้ยูนนาน เหมือนไข่ยัดไส้ ไส้ใช้หมูผัด รูปร่างเหมือนแฮ่กึ๊น จะหั่นมาลักษณะเดียวกัน  อาหารยูนนานนั้นรสจัด เหมือนคนไทยกินอาหารใต้ บนดอยแม่สลองเป็นอาหารยูนนาน แต่เขาบอกว่าลดความเผ็ดลงมา เรียกว่า ถูกลิ้นคนไทยยิ่งกว่าไปกินที่คุนหมิงด้วยซ้ำไป
                ไก่ดำตุ๋นยาจีน ดำจริง ๆ  ยกมาร้อน ๆ  อากาศกำลังหนาวด้วย อากาศจะหนาวเย็นตลอดปี
               ขาหมูหมั่นโถว คืออาหารจานเด็ด "ต้องสั่ง" เรียกว่าร้านนี้เติบโตมาจากขาหมูหมั่นโถวนี่แหละ มันน้อย แทบจะไม่มีเลือกขาหมูมาทำเก่งมาก น้ำพะโล้เข้มข้น เปื่อยแต่ไม่ยุ่ยได้เคี้ยว
               เป็ดยูนนาน เป็ดอบแห้งกรอบไปทั้งตัวเหมือนเป็ดเสฉวน
               หมูสามชั้นทรงเครื่อง ที่หาดใหญ่เรียกเคาหยก เครื่องสำคัญคือผักกาดดองต้องชั้นดีเยี่ยม
               เห็ดหอมนึ่งซีอิ๊ว หรือจะสั่งเห็ดหอมผัดน้ำมันหอย แต่ต้องสั่ง มากินอาหารบนดอยแม่สลองต้องสั่งอาหารจากเห็ดหอม เพราะสดมีรส แค่ปรุงด้วยซีอิ๊วเท่านั้น ก็อร่อยสุด ๆ แล้ว
               ของหวานไม่มี ซดชาจีนร้อน ๆ อูหลง ก้านอ่อน  ใครความดันสูง ซดชาเจียว กู้ หลาน
                มื้อเช้า อากาศหนาวเย็น ได้ใส่เสื้อหนาวกันสมใจ  พอนั่งโต๊ะ เขาก็ยกข้าวต้มมาร้อนโฉ่ ควันโขมง
                อาหารข้าวต้มมื้อนี้มีผัดผักปวยเล้ง ผักสดหวานในตัว  ปลาเค็มทอดกลิ่นหอม ไข่เค็มเห็นไข่แดงสีแดงจัด ยำเกี๊ยมฉ่าย และที่ผมยกให้เป็นอาหารประจำชาติไปแล้วคือ ไข่เจียว ไม่ได้สั่ง บอกเขาว่าจัดข้าวต้มให้ด้วย เขาก็ทอดไข่เจียวมาให้ และที่อร่อยจนต้องไปหาซื้อกลับมา (ซื้อจากในงานชา) คือไส้กรอกยูนนาน อาหารแห้งแบบเสบียงกรังของเขาเก็บได้นานแบบกุนเชียง
                อิ่มแล้วตามด้วยชาหรือกาแฟตามอัธยาศัย แต่ที่ทุกคนไม่ลืมคือ เดินไปที่เคาน์เตอร์ ที่เมื่อวานสาวน้อยชงชาให้ดู ให้ชิม สั่งซื้อชากันเป็นการใหญ่ ล้วนแต่ผู้เฒ่าวัยดึกทั้งนั้น ความดันจึงไม่ค่อยจะปกติ นอกจากสั่งซื้อชาอู่หลงแล้ว เห็นหิ้ว "ชาเจียวกู้หลาน" ชาหอมกรุ่น ลดความดันกันแทบทุกคน

.........................................................

| บน |

อนุสรณ์สถาน: ข้อมูลอนุสรณ์สถาน ท่องเที่ยวอนุสรณ์สถาน ข้อมูลเที่ยวอนุสรณ์สถาน


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์