ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > พระพุทธรูปของไทย พระพุทธรูปไทย พระไทย
 
พระพุทธรูปที่สำคัญของไทย
พระพุทธรูปสำคัญของไทย

พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์ให้เราได้มีพุทธานุสสติ คือระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงมี พระคุณอันล้ำเลิศเพื่อประโยชน์สุขต่อมนุษยชาติและสัตว์โลกทั้งปวง พระพุทธคุณดังกล่าวได้แก่

พระกรุณาคุณ       ที่ทรงช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์
พระปัญญาคุณ      ที่ทรงตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ แล้วนำมาเปิดเผยให้ชาวโลกได้ทราบอย่างถูกต้อง
พระบริสุทธิคุณ     ที่ทรงพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง เป็นตัวอย่างที่ถูกต้องของสัตว์โลกอย่างแท้จริง
การได้บูชาพระพุทธรูป ด้วยความรู้และศรัทธาอย่างถูกต้อง ตามหลักพุทธศาสนา จึงจะอำนวยประโยชน์แก่ตนเองและแก่ผู้อื่น โดยปราศจากโทษ มีแต่คุณประโยชน์แก่ทุกฝ่ายสถานเดียว



พระพุทธมหามณีรัตน์ปฏิมากร (แก้วมรกต)
ตามประวัติกล่าวว่า พระแก้วมรกตพระองค์นี้ เทวดาสร้างถวายพระอรหันต์องค์หนึ่ง มีนามว่า พระนาคเสนเถระ แห่งเมืองปาตลีบุตร ในอินเดีย พระนาคเสน ได้อธิษฐานอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมนาสัมพุทธเจ้า ให้ประดิษฐานอยู่ในองค์พระแก้วมรกต ๗ พระองค์ คือ ในพระโมฬี พระนลาฏ พระอุระ พระอังสาทั้ง ๒ ข้าง พระชานุทั้ง ๒ ข้าง ต่อมาพระแก้วมรกตได้ตกไปอยู่ที่เมืองลังกา เมืองกัมโพชา เมืองศรีอยุธยา เมืองละโว้ เมืองกำแพงเพชร และเมืองเชียงราย ตามลำดับ เจ้าเมืองเชียงรายได้เอาปูนทาแล้วลงรักปิดทอง นำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่เมืองเชียงราย เพื่อซ่อนเร้นจากศัตรู
เมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๙ เกิดฟ้าผ่าที่องค์เจดีย์ ชาวเมืองได้เห็นพระพุทธรูปปิดทองปรากฎอยู่ คิดว่าเป็นพระพุทธรูปศิลาทั่วไป จึงได้อัญเชิญไปไว้ในวิหารในวัดแห่งหนึ่ง ต่อมาปูนที่ลงรักปิดทอง
ได้กะเทาะออกที่ปลายพระนาสิก เห็นเป็นเนื้อแก้วสีเขียว จึงได้แกะปูนออกทั้งองค์ จึงพบว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วทึบทั้งองค์ ผู้คนจึงพากันไปนมัสการ พระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงจัดกระบวนไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาเชียงใหม่ แต่ช้างที่ใช้อัญเชิญได้หันเหไปทางลำปางถึงสามครั้ง จึงต้องยอมให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ นครลำปางถึง ๓๒ ปี ที่วัดพระแก้ว ยังปรากฎอยู่ถึงปัจจุบันนี้
เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๑ พระเจ้าติโลกราชครองเมืองเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต
มาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ เป็นเวลา ๘๔ ปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๔ พระเจ้าไชยเชษฐา โอรสพระเจ้าโพธิสาร ซึ่งเป็นพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระอัยกา ครั้นเมื่อพระเจ้าโพธิสารทิวงคต ทางกรุงศรีสัตนาคนหุต จึงเชิญพระเจ้าไชยเชษฐา กลับไปเมืองหลวงพระบาง จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๕ และได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง
๑๒ ปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๗ ได้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย พระแก้วมรกต ได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์อีก ๒๑๔ ปี
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะที่ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ยกกองทัพ ไปตีได้เมืองเวียงจันทน์ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตพร้อมกับพระบาง มายังกรุงธนบุรี ได้ประดิษฐานไว้ ณ โรงพระแก้วในบริเวณพระราชวังเดิม ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ ได้ครองราชย์ที่กรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้ทรงโปรดให้ประดิษฐานพระแก้วมรกต ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗


พระพุทธรูปที่สำคัญของไทย
พระพุทธชินราช
ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารใหญ่ด้านทิศตะวันตกของวัด ซึ่งเป็นด้านหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หน้าตักกว้าง ๕ ศอก คืบ ๕ นิ้ว
ผันพระพักตร์ไปทางแม่น้ำ พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทรงเคารพนับถือสักการะบูชา
มาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังมีรายพระนามที่ปรากฎในพงศาวดาร คือ สมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร สมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าบรมโกฐ พระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี องค์ต่อ ๆ มาเกือบทุกพระองค์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสรรเสริญไว้ว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศาสดา ทั้ง ๓ พระองค์ เป็นพระพุทธปฏิมากรดีล้ำเลิศ ประกอบไปด้วยพุทธลักษณะอันประเสริฐ มีสิริอันเทพยดาหากอภิบาลรักษา  ย่อมเป็นที่สักการะบูชานับถือแต่โบราณ

พระพุทธสิหิงค์
เป็นพระพุทธรูปหล่อหุ้มทอง ปางสมาธิ ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้ากรุงลังกาองค์หนึ่งได้สร้างขึ้นไว้ ต่อมาเจ้านครศรีธรรมราช ได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้มีผู้นำไปไว้ที่ เมืองกำแพงเพชร และที่เชียงราย  เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานที่เชียงใหม่ พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา ๑๐๕ ปี เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ชาวเชียงใหม่ซึ่งสมัยนั้นยังอยู่ข้างพม่า ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่
เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทย ในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท จึงได้โปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพ ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ โดยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระบวรราชวัง

พระพุทธเทวปฏิมากร
เป็นพระประธานในอุโบสถวัดพระเชตุพน ฯ ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๕ ศอก คืบ ๔ นิ้ว เดิมเป็นพระประธานอยู่ที่ วัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์ปัจจุบัน) แขวงจังหวัดธนบุรี เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างวัดโพธาราม ให้เป็นวัดใหญ่สำหรับพระนคร และได้ทรงขนานนามใหม่ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระองค์ได้ทรงเลือกหาพระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณะงามสมควรเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัด จึงได้พบและเลือกพระพุทธรูปองค์นี้จากวัดศาลาสี่หน้า ดังกล่าว

พระศรีสากยมุนี
เป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม หล่อด้วยโลหะ หน้าตักกว้าง ๓ วา ๑ คืบ นับเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในยุคก่อน ๒๕ พุทธศตวรรษ เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวง
วัดมหาธาตุ สุโขทัย สร้างสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ให้อัญเชิญมายังกรุงเทพ ฯ ได้ทรงมีพระราชดำริจะสร้างพระอาราม ที่มีพระวิหารใหญ่อย่างวัดพนัญเชิงที่อยุธยา โดยประดิษฐานไว้กลางพระนคร เมื่อชลอพระศรีศากยมุนีมาถึงกรุงเทพ ฯ แล้วให้ประทับท่าสมโภช ๗ วัน แล้วจึงทรงชักเลื่อนองค์พระทางสถลมารค และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินตามขบวนแห่พระในรัชสมัยของพระองค์ ทำได้เพียงอัญเชิญองค์พระขึ้นตั้งไว้ ตัววิหารลงมือสร้างในรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระพุทธชินสีห์
สร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราช และพระศาสดา เป็นพระพุทธรูปสำคัญพระองค์หนึ่งของหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกมาแต่ต้น ต่อมาพระวิหารชำรุดทรุดโทรมลง ขาดการปฏิสังขรณ์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ โดยประดิษฐานไว้มุขหลังของพระอุโบสถที่เป็นจตุรมุข ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยเมื่อยังทรงผนวช และครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ ได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพนับถือพระพุทธชินสีห์มาก ได้โปรดให้กะไหล่รัศมีองค์พระด้วยทองคำ ฝังพระเนตรฝังเพชรที่พระอุณาโลม แล้วปิดทองทั้งองค์พระ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ ได้โปรดให้หล่อฐานด้วยทองสัมฤทธิ์ ปิดทองใหม่ทั้งองค์พระและฐาน แล้วให้มีการสมโภช ๕ วัน

พระพุทธรูปที่สำคัญของไทย

พระศาสดา
สร้างคราวเดียวกับพระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์ ได้ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านทิศใต้ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาแต่ต้น ต่อมาพระวิหารชำรุดไม่มีผู้ปฏิสังขรณ์ จึงได้อัญเชิญพระศาสดามาไว้ ที่วัดบางอ้อช้าง ทางแม่น้ำอ้อม จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ต้นสมัยกรุง รัตนโกสินทร์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติปฏิสังขรณ์วัดประดู่ คลองบางหลวง จึงได้ขออัญเชิญพระศาสดาไปเป็นพระประธาน
ล่วงมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง พระราชดำริว่า พระศาสดาเป็นพระพุทธรูปอยู่ที่พระอารามหลวงมา แต่โบราณ ไม่สมควรอยู่ที่วัดอื่น จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญมา ประดิษฐานไว้ที่มุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ต่อมาได้ทรงพระราชดำริว่า พระศาสดาและพระพุทธชินสีห์ เคยประดิษฐานอยู่ในพระอารามเดียวกันที่เมืองพิษณุโลก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นใน วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วอัญเชิญพระศาสดาจากวัดสุทัศน์ ฯ ไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖

พระโต (วัดบวรนิเวศวิหาร)
เป็นพระประธานองค์ใหญ่ของวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระพุทธรูปโบราณ หน้าตักกว้าง ๙ ศอก ๒๑ นิ้ว เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดสะพาน เมืองเพชรบุรี ชาวบ้าน เรียกกันว่า พระโต  สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ โปรดให้อัญเชิญมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร  เข้าใจว่าน่าจะมีการซ่อมใหม่ในโอกาส นี้ เพราะมีลักษณะที่เป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ปรากฎ อยู่มาก ลักษณะเดิมขององค์พระมีเค้าว่าเดิมน่าจะเป็นพระขอม

พระสิทธารถ
เป็นพระประธานวัดพิชัยญาติ  มีประวัติว่าได้อัญเชิญมาจากเมืองพิษณุโลก เป็นพระพุทธรูป ฝีมือช่างสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่า เดิมน่าจะประดิษฐานอยู่วัดที่สำคัญของเมืองพิษณุโลกคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  วัดวิหารทอง  วัดราชประดิษฐาน และวัดจุฬามณี ไม่วัดใดก็วัดหนึ่ง พระสิทธารถ และพระทศพลญาณ เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่อัญเชิญมาจาก เมืองเหนือในชั้นหลัง

หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์
หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์  เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณมาแต่โบราณกาล  ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า  พระเจ้ากาแลโปรดให้บูรณะวัดป่าเลไลยก์  เมื่อ พ.ศ. 1724 แสดงว่าแสดงว่าวัดนี้ได้สร้างมาแล้วก่อนหน้านั้น
องค์พระประดิษฐานอยู่ในวิหารที่สูงใหญ่  มองเห็นเด่นแต่ไกล  เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปาง ป่าเลไลยก์ขนาดใหญ่สูง 23 เมตรเศษ  สร้างตามแบบศิลปอู่ทองรุ่นที่สอง  ซึ่งเป็นศิลปะฝีมือสกุลช่างอู่ทองแท้ ๆ เดิมทีองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง พระหัตถ์ขวาหัก ช่างได้สร้างวิหารครอบ โดยให้ผนังวิหารชิดกับพระ หัตถ์ขวา ส่วนทางพระหัตถ์ซ้ายให้มีที่ว่าง  ด้านหลังองค์พระสร้างชิดกับผนังวิหารทำให้แข็งแรง  นับเป็นความ ชาญฉลาดของช่างเป็นอย่างยิ่ง
มีผู้สันนิษฐานว่า  เดิมเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง พระกรทั้งสองข้างหักหายไป ผู้ที่มาบูรณใหม่ได้ทำเป็นปางป่าเลไลยก์ตามที่นิยมกันในสมัยหลัง  ลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท  พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุข้างซ้าย พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุข้างขวาในท่าทรงรับของถวาย  พระวิหารที่สร้างครอบองค์พระ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ  จะเห็นว่าที่หน้าบันของพระวิหาร มีพระราชลัญจกรประจำพระองค์ คือเป็นรูปพระมหามงกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ปรากฎอยู่
วัดป่าเลไลยก์ เป็นที่คุ้นของคนทั่วไป  เนื่องจากปรากฎอยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน  ขุนแผนเมื่อเยาวัยได้มาบวชดเรียนที่วัดนี้ในชื่อว่าเณรแก้ว  ความสำคัญของวัดป่าเลไลยก์ตามที่พรรณาไว้ใน เสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนหนึ่งมีดังนี้
ทีนี้จะกล่าวเรื่องเมืองสุพรรณ                      ยามสงกรานต์คนนั้นก็พร้อมหน้า
จะทำบุญให้ทานการศรัทธา ต่างมาที่วัดป่าเลไลยก์
หญิงชายน้อยใหญ่ไปแออัด ขนทรายเข้าวัดอยู่ขวักไขว่
ก่อพระเจดีย์ทรายเรียงรายไป จะเลี้ยงพระกะไว้วันพรุ่งนี้......
งานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ มีปีละสองครั้ง  คือในวันขึ้น 5-9 ค่ำ เดือน 5 และเดือน 12

พระพุทธไตรรัตนนายก
พระพุทธไตรรัตนายก เรียกกันเป็นสามัญว่า หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดพนัญเชิง ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก  ตรงข้ามกับมุมตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ตามพระศาวดารกล่าวว่า  พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1867  ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสร้างกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี 26 ปี  ตอนสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้บูรณะซ่อมแซมให้อยู่ใน สภาพดีมาโดยตลอด กล่าวกันว่าเมื่อคราวจะเสียกรุงศรีอยุธยาได้ปรากฎมีน้ำพระเนตรไหลออกมาจากพระเนตรทั้งสองข้างเป็นที่อัศจรรย์
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงบูรณะองค์พระพุทธรูปใหม่ทั้งองค์และถวายพระนามว่า พระพุทธไตรรัตนายก
ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ทรงสร้างขึ้น ณ บริเวณที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก ส่วนที่มาของคำว่าพนัญเชิงนั้น ตามตำนานมูลศาสนากล่าวว่าเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า พะแนงเชิง ซึ่งแปลว่า การนั่งพับเพียบ ซึ่งเป็นอาการที่พระเจ้าสายน้ำผึ้งและพระนางสร้อยดอกหมากใช้ในวาระสุดท้ายของเรื่อง นอกจากนั้น จากการวิเคราะห์ศัพท์ที่ใกล้เคียงพบว่า คำว่าพะแนงเชิง ทางภาษาปักษ์ใต้หมายถึงอาการนั่งแบบขัดสมาธิ
หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 20 เมตร สูง 19 เมตร เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปมาแต่โบราณกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีน ซึ่งขนานนามหลวงพ่อโต องค์นี้ว่าซำปอกง

หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร
พระมงคลบพิตร  ไม่ปรากฎหลักฐานชัดว่าสร้างในรัชกาลใดแห่งกรุงศรีอยุธยา  สันนิษฐานว่าสร้างใน สมัยอยุธยาตอนต้น  เพราะพระพักตร์แม้จะมีลักษณะค่อนข้างเป็นวงรีแล้ว แต่ก็ยังคงเห็นเค้าพระพักตร์เป็น เหลี่ยมอยู่ ซึ่งเป็นพุทธลักษณะแบบอยุธยาตอนต้น  เมื่อพิจารณาถึงเส้นพระขนงที่โค้ง ก็จะพบว่าเป็นศิลปที่ ผสมผสานกับศิลปะสุโขทัยอีกด้วย  องค์พระก่อด้วยอิฐแล้วหุ้มสำริดแผ่น  นับเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดองค์ หนึ่งของไทย
จากหลักฐานมีอยู่ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2146  พระเจ้าทรงธรรมได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชะลอหลวงพ่อวัดมลคลบพิตร จากด้านตะวันออกของวังหลวงมาไว้ทางด้านตะวันตก  ณ  ที่ประดิษฐานปัจจุบัน  และยังได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระมณฑปที่มีลักษณะเช่นเดียวกับมณฑปพระพุทธบาทสระบุรีสวมไว้ด้วย
ในสมัยพระพุทธเจ้าเสือ เกิดอสุนีบาตต้องยอดพระมณฑป เกิดไฟไหม้พังลงมาต้องพระศอของพระมงคล บพิตรหัก  พระองค์จึงโปรดเกล้า ฯ ให้รื้อเครื่องบนออกแล้วสร้างใหม่เป็นพระวิหาร แต่คงทำเครื่องยอดอย่าง มณฑปของเดิม  ต่อมาในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศน์เป็นแม่กองบูรณะปฏิสังขรณ  และได้รื้อยอดมณฑปเดิมเปลี่ยนเป็นพระวิหาร
วิหารพระมงคลบพิตรถูกไฟเผาผลาญ ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2310  จนเครื่องบนของพระวิหารพังลงมา ถูกพระเมาฬีและพระกรขวาขององค์พระชำรุด พระยาโบราณราชธานินทรเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้บูรณะซ่อมแซมให้คืนดี  สำหรับพระวิหารที่ชำรุดหักพังเกือบจะโดยสิ้นเชิงนั้น ได้บูรณะขึ้นใหม่อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ. 2499  โดย นายอูนุ  นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าในขณะนั้น ได้บริจาคเงินจำนวนสองแสนบาท ร่วมกับฝ่ายรัฐบาลไทยอีกสองแสนห้าหมื่นบาท

พระพุทธรูปที่สำคัญของไทย

พระไสยา
เป็นพระศิลาโบราณปางพระเจ้าเข้านิพพาน ครั้งราชวงศ์พระร่วงสมัยสุโขทัย องค์พระยาวจาก พระบาทถึงพระจุฬา (พระเกศ) ๖ ศอก คืบ ๕ นิ้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญ เชิญมาจากเมืองสุโขทัย ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ ได้ประดิษฐานไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในวิหารเดียวกับพระศาสดา

พระนอนจักรสีห์
พระพุทธไสยาสน์องค์นี้  เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่และยาวที่สุดของประเทศ สร้างมานานเก่าแก่จนไม่ทราบ แน่ชัดว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าในทำนองนิยายปรำปรา ทำนองเดียวกันกับพระ ปฐมเจดีย์  เช่น กล่าวว่าพระเจ้าสิงหพาหุเป็นผู้สร้าง  แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าพระเจ้าพาหุคือผู้ใด ครองเมืองอะไร ในยุคสมัยใด  สันนิษฐานว่าสร้างก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  องค์พระหันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ความยาว 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว
วัดพระนอนจักรสีห์  เป็นพระอารามหวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร  อยู่ที่ตำบลจักรสีห์  อำเภอเมือง  จังหวัดสิงหบุรี  พื้นที่ของวัดมีขนาดกว้างประมาณ 7 เส้น (280 เมตร) ยาวประมาณ 10 เส้น (400 เมตร) สภาพที่เป็นอยู่เมื่อปี พ.ศ. 2421  จากพระราชนิพนธ์เรื่อง ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา มีว่า " วัดนี้อยู่ ห่างแม่น้ำสามสิบวา เป็นที่ลุ่มน้ำท่วม ต้องทุบถนนและมีสะพานข้าม  รอบวิหารพระนอนมีกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ชั้นหนึ่ง  ตัวพระวิหาร ยาว 1 เส้น 7 วา กว้าง 11 วา เสาข้างในเป็นแปดเหลี่ยม อาการที่พระพุทธไสยาสน์บรรทม ไม่เหมือนอย่างกรุงเก่า หรือกรุงเทพ ฯ  พระกรทอดออกไปมากเพราะเขนยหนุนไม่สู้ชันนัก เป็นบรรทมราบ แต่พระบาทซ้อนกันตรงเหมือนอย่างพระนอนทั้งปวง "
หลักฐานที่มีอยู่คือ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการ เมื่อปีจอ ฉศก จุลศักราช 1111  ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2297  และได้เสด็จไปอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2299  เพื่อสมโภชฉลอง  ต่อมาสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้เสด็จไปทรงนมัสการ เมื่อปี พ.ศ. 2421  ในครั้งนั้น พระวิหารและพระนอนชำรุดทรุดโทรมมาก เนื่องจากขาดการบูรณะปฏิสังขรณ์มานาน  พระธรรมไตรโลก (อ้น) วัดสุทัศน  ได้ทูลขอพระราชทานเงินค่านาสำหรับวัดเพื่อทำการปฏิสังขรณ์ พระองค์ก็ได้มอบถวายให้ และโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบำราศปรปักษ์เป็นที่ปรึกษา การปฏิสังขรณ์ทำเสร็จในปี พ.ศ. 2428 การปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดทำเมื่อปี พ.ศ. 2510

พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก
พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก  ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดป่าโมก  ซึ่งมีชื่อเดิมว่า วัดตลาด  อยู่ที่อำเภอป่าโมก  จังหวัดอ่างทอง  วัดป่าโมก เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา  ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง
พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ มีความเก่าแก่คู่กันมากับวัด มีขนาดใหญ่โตและงดงามมาก สร้างก่อนรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จมาประชุมพลก่อนจะเสด็จไปรบกับ พระมหาอุปราชา  ได้เสด็จมาทรงสักการะพระพุทธไสยาสน์ก่อน เมื่อปี พ.ศ. 2135
เดิมองค์พระพุทธไสยาสน์และพระวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อยห่างจากที่ตั้งปัจจุบัน 4 เส้น 4 วา เนื่องจาก ที่ตั้งนั้นเป็นคุ้งน้ำ  น้ำจึงเซาะตลิ่งพังลงไปจนใกล้ถึงองค์พระ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ พระราชสงครามเป็นนายกองดำเนินการชะลอพระพุทธไสยาสน์ ให้ลึกเข้ามาจากฝั่ง 4 เส้น 4 วา  แล้วสร้าง พระวิหารสำหรับพระพุทธไสยาสน์ เรื่องราวการชะลอพระพุทธไสยาสน์นี้มีปรากฎอยู่ในศิลาจารึก ติดไว้ที่ฝา ผนังพระอุโบสถของวัดป่าโมก มีใจความดังนี้
เมื่อปี พ.ศ. 2271  พระเจ้าปราสาททอง เสด็จพระราชดำเนินมายืนบกชะลอพระพุทธไสยาสน์  ณ  อำเภอ ป่าโมก  ให้พ้นอันตรายจากน้ำเซาะตลิ่งพัง  โดยชะลอให้ห่างฝั่งแม่น้ำ 4 เส้น 4 วา  แล้วให้สร้างพระวิหาร สำหรับองค์พระพุทธไสยาสน์ที่วัดตลาด  เนื่องจากพระวิหารเดิมฝาผนังและหลังคาชำรุดทรุดโทรม
นอกจากนั้นยังมีโคลงพระราชนิพนธ์ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เรื่อง การชะลอพระพุทธไสยาสน์  เมื่อครั้งเป็นกรมพระราชวังบวร ฯ นิพนธ์  ถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เป็นจำนวนโคลง 69 บท มีสำนวนตามบทที่ 2 ดังนี้
ตะวันลงตรงทิศทุกัง                      แทงสาย
เซราะฝั่งพงรหุรหาย รอดน้ำ
ขุดเขื่อนเลื่อนทลมทลาย ริมราก
ผนังแยกแตกแตนซ้ำ รูปร้าวปฏิมา
ในโคลงดังกล่าวยังได้บรรยายว่า พระราชสงครามเป็นผู้ที่มีความสามารถ  เคยทำงานสำคัญมาหลายครั้ง การชะลอครั้งนี้ได้จัดการขุดดิน  ทำร่อง  ทำราง  ด้วยความยากลำบากจนเป็นผลสำเร็จ

พระนอนวัดขุนอินทประมูล
พระนอนวัดขุนอินทประมูล ประดิษฐานอยู่ ณ วัดขุนอินทประมูล ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง อยู่ห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 7 กิโลเมตร องค์พระยาว สองเส้นห้าวา ซึ่งนับเป็นพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
จากตำนานกล่าวว่า ขุนอินทประมูล ได้ยักยอกเงินหลวงมาสร้าง ครั้งถูกสอบถามว่าเอาเงินจากใหนมาสร้างพระ ขุนอินทประมูลก็ไม่ยอมบอกความจริง จึงถูกลงโทษจนตาย คงมีความชื่อที่ว่า ถ้าบอกแหล่งที่มาของเงินแล้ว ตนจะไม่ได้กุศลตามที่ปราถนา
จากการสันนิฐานมีความเห็นว่าได้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระพักตรหันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก  เมื่อมองตลอดทั้งองค์มีความสง่างามมาก  พระพักตรงดงามได้สัดส่วน แสดงออกถึงความมีเมตตาปัจจุบัน องค์พระนอนอยู่กลางแจ้งไม่มีวิหารคลุมเช่นพระนอนองค์อื่น เนื่องจากวิหารเดิมคงหักพังไปนานแล้ว ดังจะเห็นได้จาก เสาพระวิหารที่ยังปรากฎอยู่รอบองค์พระนอน รอบ ๆ องค์พระมีต้นไม้ขนาดใหญ่หลายต้นขึ้นอยู่โดยรอบ ทำให้มีความสงบร่มเย็น เหมาะแก่การไปนมัสการให้เกิดความสุข สงบ ตามธรรมชาติ ซึ่งแปลกออกไปจากบรรยากาศในพระวิหาร
ไม่พบว่ามีการนมัสการประจำปี อาจจะเนื่องจากอยู่ที่วัดร้างกลางทุ่งนา ห่างไกลจากชุมชนมาก

พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์
พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ หรือเรียกกันว่า พระนอนวัดโพธิ์ ประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารวัดพระเชตุพนวิมล
มังคลาราม หรือที่เรียกกันว่าวัดโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวังด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระนอนที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสามของประเทศไทย คือยาวถึงสองเส้นสามวา, รองลงมาจากพระนอนวัดขุนอินทประมูล (ยาวสองเส้นห้าวา) และพระนอนจักรสีห์ (ยาวสองศอก หนึ่งคืบ เจ็ดนิ้ว)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพล ฯ ทั้งวัด องค์พระก่อด้วยอิฐคือปูน ลงรักปิดทองทั้งองค์
พระบาทของพระพุทธไสยาสน์แต่ละข้าง กว้าง 1.5 เมตร ยาว 5 เมตร มีภาพมงคล 108 ประการ เป็นลวดลาย
ประดับมุก ภาพมงคลแต่ละอย่างจะอยู่ในช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ล้อมรอบด้วยภาพกงจักร ซึ่งอยู่ตรงกลางพระบาท ทั้งสองข้างมีภาพเหมือนกัน

พระนอนวัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ)
พระนอนวัดคูหาภิมุข ซึ่งประชาชนทั่วไปเรียกว่า พระนอนวัดหน้าถ้ำ ประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำวัดคูหาภิมุข อำเภอเมือง จังหวัดยะลา อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นพระนอนที่เก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย
ตามตำนานพื้นเมืองกล่าวว่า ในครั้งที่สร้างพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองต่าง ๆ ในแถบนั้น ที่ยังอยู่ในอำนาจของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรศรีวิชัย อันได้แก่ เมืองพัทลุง ปัตตานี กลันตัน ตรังกานู ป่าหัง และเมืองไทรบุรี ได้ทราบข่าวการสร้างพระบรมธาตุดังกล่าว ใคร่จะร่วมการกุศลด้วย จึงได้พากันนำสิ่งของต่าง ๆ บรรทุกเรือสำเภา แล่นใบมายังเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อจะร่วมสร้างพระบรมธาตุ แต่เมื่อเดินทางมาถึงก็ปรากฎว่า พระบรมธาตุได้สร้างเสร็จแล้ว บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ดังกล่าวเมื่อไม่ได้มีโอกาสร่วมพระบรมธาตุ ก็เดินทางกลับเมืองตนด้วยความผิดหวัง เมื่อเรือแล่นมาถึงชายทะเลแห่งหนึ่ง เห็นมีภูเขาสูงใหญ่อยู่ริมฝั่งทะเลก็พากันจอดเรือแวะพัก แล้วขึ้นไปสำรวจดูเขาลูกนั้น ก็ได้พบถ้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ภายในถ้ำมีความวิจิตรงดงามยิ่งนัก บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ เหล่านั้นจึงได้ปรึกษาหารือกันว่า เมื่อไม่ได้มีโอกาสสร้างพระบรมธาตุแล้ว ก็น่าจะมาช่วยกันสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นไว้ในถ้ำแห่งนี้ จึงได้ร่วมกันสร้างพระนอนองค์ใหญ่ ขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1300 มีขนาดยาวประมาณ 81 ฟุต รอบองค์พระประมาณ 35 ฟุต พระบาททั้งสองซ้อนกันสูงประมาณ 10 ฟุต
ปัจจุบันเมื่อเวลาผ่านไปประมาณกว่า 1200 ปี ชายฝั่งทะเลได้ถอยห่างจากภูเขาลูกนี้ออกไป ประมาณ 40 กิโลเมตร แต่มีร่องรอยที่แสดงว่าน้ำทะเลเคยท่วมถึงบริเวณนี้ คือมีเปลือกหอยชนิดต่าง ๆ อยู่ตามผนังถ้ำด้านล่าง
พระนอนองค์นี้มีลักษณะของส่วนประกอบที่แปลกออกไปจากพระนอนองค์อื่น คือมีพญานาคแผ่พังพานอยู่เหนือเศียรพระนอน ทำให้มีผู้สันนิษฐานถึงที่มาของพระนอนองค์นี้ว่า เดิมอาจเป็นเทวรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตามศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามายังดินแดนส่วนนี้ จึงได้ดัดแปลงเทวรูปดังกล่าวให้เป็นพระพุทธรูปดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

พระพุทธรูปที่สำคัญของไทย

พระพุทธโสธร
พระพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา  ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวราราม ราชวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปพอกปูน ลงรักปิดทอง ปางสมาธิแบบล้านช้าง หน้าตักกว้างประมาณสามศอกครึ่ง
ตามประวัติกล่าวว่า มีพระพุทธรูปสามองค์ ลอยน้ำมาจากทิศเหนือ แล้วมาผุดขึ้นที่แม่น้ำปางปะกง ในลักษณะที่ลอยทวนน้ำ ชาวบ้านเห็นเข้าจึงเอาเชือกไปคล้ององค์แล้วช่วยกันดึงเข้าฝั่ง แต่ไม่สำเร็จเชือกขาด และพระพุทธรูปได้จมน้ำไป ชาวบ้านจึงเรียกตำบลนั้นว่า สามพระทวน พระพุทธรูปทั้งสามองค์หลังจากจมลงไปในน้ำแล้ว ก็ได้ไปผุดขึ้นในที่หลายแห่ง แต่ละแห่งชาวบ้านได้พยายามฉุดดึงเข้าฝั่งแต่ไม่สำเร็จ บริเวณที่พบพระพุทธรูปดังกล่าวจึงได้ชื่อต่าง ๆ กันไป ได้แก่ บางพระ  แหลมหัววน และคลองสองพี่น้อง เป็นต้น สำหรับพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้ลอยไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านเป็นจำนวน มากช่วยกันฉุดขึ้นฝั่งแต่ไม่สำเร็จ ตำบลนั้นจึงได้ชื่อว่าสามแสน ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็นสามเสนในที่สุดได้มีอาราธนา พระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชื่อว่าหลวงพ่อบ้านแหลม องค์ที่สาม ชาวบางพลีได้อาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนองค์กลางได้ลอยไปตามแม่น้ำบางปะกง ไปจนถึงวัดหงษ์  ชาวบ้านได้อาราธนาขึ้นไปประดิษฐานในอุโบสถวัดหงษ์ และเปลี่ยนมาเป็นวัดโสธร เล่ากันว่า ที่วัดนี้เดิมมีเสาใหญ่มีรูปหงษ์อยู่บนยอดเสา  จึงได้ชื่อว่าวัดหงษ์ ต่อมาหงษ์ที่ยอดเสาหักตกลงมา ทางวัดจึงเอาธงไปติดไว้ที่ยอดเสาแทนรูปหงษ์ จึงได้ชื่อว่าวัดเสาธง ต่อมาเกิดมีพายุพัดเสานี้หักลงส่วนหนึ่ง จึงได้ชื่อว่าวัดเสาทอน และต่อมาชื่อนี้ได้กลายไปเป็น วัดโสธร
งานเทศกาลประจำปีของหลวงพ่อโสธร มีปีละ 2 ครั้ง คือในกลางเดือนห้า ซึ่งเป็นวันที่อาราธนาหลวงพ่อโสธรขึ้นจาก แม่น้ำมาประดิษฐานในพระอุโบสถของวัดโสธรจะมีงานฉลอง 3 วัน 3 คืน และในเทศกาลตรุษจีน จะมีงานฉลอง 5 วัน 5 คืน การแก้บนหลวงพ่อโสธรที่นิยมทำกันคือ แก้บนด้วยละครชาตรี

หลวงพ่อเพชร
หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสนรุ่นแรก ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารของวัดท่าถนน ตลาดบางโพ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ วัดท่าถนนเดิมชื่อวัดวังเตาหม้อ เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2436 หลวงพ่อด้วง เจ้าอาวาสวัดหนองไม้ อำเภอหนองโพ ซึ่งเป็นอำเภอเมืองปัจจุบัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เดินทางผ่านวัดร้างแห่งหนึ่งเป็นวัดโบราณ พบจอมปลวกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งรูปร่างรูปแหลมผิดกลับจอมปลวกทั่วไป จึงได้เอาไม้เคาะปลายแหลมที่เป็นยอดของจอมปลวกนั้นจนดินหลุดออก เห็นเกศพระพุทธรูปโผล่ออกมา หลวงพ่อด้วงจึงสั่งให้พระและลูกศิษย์วัดที่ร่วมเดินทางไปด้วยช่วยกันขุดดินจอมปลวกออก ก็พบพระพุทธรูปขนาดค่อนข้างใหญ่ ฝังอยู่ในจอมปลวกแห่งนั้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นั้นไปไว้ที่วัดหนอนไม้
ต่อมาหลวงพ่อด้วงเห็นว่า วัดหนอนไม้ไม่มีพระอุโบสถที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปได้อย่างเหมาะสม ประกอบกับมีประชาชนที่ทราบข่าวพระพุทธรูปองค์นี้ ได้มากราบไหว้บูชาสักการะเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังอาจมีปัญหาเรื่องโจรผู้ร้าย จึงพิจารณาเห็นว่า หากเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ไปประดิษฐานที่วัดวังเตาหม้อ (คือวัดท่าถนนในปัจจุบัน) ซึ่งมีหลวงพ่อเพชรเป็นเจ้าอาวาสอยู่ วัดแห่งนี้มีพระอุโบสถ และตั้งอยู่ในที่ชุมนุมชน สะดวกแก่การไปนมัสการของประชาชน ท่านจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อ และถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อเพชร
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร ได้มีการรวบรวมพระพุทธรูปที่เก่าแก่และสวยงาม ที่อยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ มาประดิษฐานไว้ที่วัดเหล่านี้ พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร มีพุทธลักษณะงาม ก็ได้รับเลือกสรรให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร พร้อมกับพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ จากทั่วราชอาณาจักร การที่ต้องนำหลวงพ่อเพชรไปจากวัดลังเต้าหม้อทำให้เจ้าอาวาสเสียใจมาก จึงได้ออกจากวัดธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ สุดท้ายได้มรณภาพบนภูเขาในป่า บ้านนาตารอด ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร
กลับคืนไปประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อตามคำขอของชาวเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2473 พระครูธรรมกิจจาภิบาล ร่วมกับประชาชนชาวเมืองอุตรดิตถ์ได้ช่วยกันสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ และอัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้ในพระวิหาร เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาสักการะบูชาได้สะดวก
พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรก ที่เรียกกันว่าพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง หล่อด้วยทองสำริด ปางมารวิชัย ชายสังฆาฎิสั้น ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 32 นิ้ว สูง 41 นิ้ว มีพุทธลักษณะงามมาก ชาวอุตรดิตถ์ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง มีงานนมัสการประจำปีในวันกลางเดือนสี่ของทุกปี

หลวงพ่อบ้านแหลม
เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร สูงประมาณ 2 เมตร 80 เซนติเมตร  หล่อด้วยทองเหลืองปิดทอง  ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหาร หรือที่เรียกว่าวัดบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาวเมืองแม่กลอง หรือจังหวัดสมุทรสงคราม
ตามตำนานเล่ากัน มีความสัมพันธ์กับตำนานพระพุทธรูปโสธร แต่มีเพิ่มเติมจำนวนพระพุทธรูปจาก 3 องค์ เป็น 5 องค์ กล่าวคือ มีเรื่องเล่ากันมาว่า มีพระพุทธรูป 5 องค์ ลอยน้ำมาจากเมืองเหนือ เมื่อมาถึงภาคกลางก็ได้แยกย้านกันไป ประดิษฐานอยู่ตามจังหวัดต่าง  ๆ รวม 5 จังหวัด
องค์แรกได้ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง และได้ประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดโสธร ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโสธร
องค์ที่สอง ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และได้ไปประดิษฐานที่วัดไร่ขิง เมืองนครชัยศรี ที่เป็นอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน ได้ชื่อว่าหลวงพ่อวัดไร่ขิง
องค์ที่สาม ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ไปประดิษฐานที่วัดบางพลี ณ ปากคลองบางพลี อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้ชื่อว่าหลวงพ่อบางพลี
องค์ที่สี่ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง และได้ไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม เมืองแม่กลอง ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชื่อว่าหลวงพ่อบ้านแหลม
องค์ที่ห้า ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี และได้ไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี ได้ชื่อว่าหลวงพ่อเขาตะเครา
สำหรับหลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวว่า ชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากอยู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2307 ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง ซึ่งไปลากอวนหาปลาที่ปากน้ำแม่กลอง อวนได้ติดพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์องค์หนึ่งเป็น พระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง จึงอาราธนาพระพุทธรูปยืนมาประดิษฐานที่ศรีจำปา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองแม่กลอง ส่วนพระพุทธรูปนั่ง ได้มอบให้ญาติพี่น้องนำไปประดิษฐานที่วัดตะเครา เมืองเพชร
วัดศรีจำปานี้ต่อมาได้ชื่อว่าวัดบ้านแหลม แลต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทวรวิหาร
บาตรแก้วสีน้ำเงินที่เห็นอยู่ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าบรมเธอกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้ถวายไว้เนื่องจาก บาตรเดิมอาจจมหายอยู่ในน้ำ ก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลอง

หลวงพ่อโตวัดอินทร์
เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร ก่อด้วยอิฐหรือปูน ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทรวิหาร ซึ่งเป็นวัดโบราณ ชื่อวัดบางขุนพรหมนอก อยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม อำเภอพระนคร กรุงเทพ ฯ
ตามประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต  พรหมรังษี) เป็นผู้สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แต่ยังสร้างไม่เสร็จ คงสร้างค้างไว้เพียงถึงพระนาภี สูงประมาณ 9 วาเศษ พระครูจรรยานุกูล (หลวงปู่ภู) เจ้าอาวาสวัดอินทร์จึงดำเนินการสร้างต่อแต่ก็ยังไม่เสร็จ พระครูสังฆบริบาล (แดง) ได้สร้างเพิ่มเติมได้สร้างต่อจบเกือบเสร็จ ขาดเพียงยอดพระเมาลี  ได้องค์พระสูงประมาณ 16 วา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2467 พระครูสังฆรักษ์ (เงิน) เจ้าอาวาสได้ดำเนินการสร้างต่อมา ใช้เวลา 4 ปี จึงสำเร็จเรียบร้อย และได้จัดให้มีงานสมโภช เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2471
ปัจจุบันมีงานฉลองเป็นเทศกาลประจำปี ระหว่างวันที่ 1-7 เมษายน ของทุกปี


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์