ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

    ยุคแห่งเมือง แว่นแคว้นหรือนครรัฐ
            หลักฐานทางเอกสาร  จากพระราชพงศาวดารถังฉบับใหม่ หัวข้อพัน - พัน มีความตอนหนึ่งว่า
                   "รัฐพัน - พัน ตั้งอยู่ที่อ่าวทะเลตอนใต้ ทางเหนือติดต่อกับหวงอ๋วง (จาม) จดทะเลอยู่บ้าง อาณาเขตติดต่อ หลัง - ยา - ชิง เดินทางทางทะเลจากเมืองเจียวโจ ใช้เวลา ๔๐ วันก็ถึง กษัตริย์มีพระนามว่า เอี้ยงสู้ซื่อ ประชาชนอาศัยตามริมน้ำกั้นรั้วบ้านด้วยไม้ ใช้หินติดปลายแหลมของธนู กษัตริย์ประทับบนพระแท่นขนาดใหญ่จินหลง (มังกรทอง) บรรดาขุนนางที่เข้าเฝ้ากษัตริย์ต้องประสานมือจับไหล่และคุกเข่าลง มีวัดทางพระพุทธศาสนาและอาศรมของนักพรต เมื่อครั้งรัชสมัยเจ่งกวน (รัชกาลที่ ๑ ของราชวงศ์ถัง พ.ศ.๑๑๒๐ - ๑๑๙๒) ได้ส่งทูตมาเฝ้า"
             บันทึกของมา - ตวน - หลิน นักเดินเรือชาวจีนเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้เขียนเรื่องของรัฐพัน - พัน ไว้ตอนหนึ่งว่า
                   "รัฐพัน - พัน ได้ติดต่อกับจีนในสมัยราชวงศ์เหลียง รัฐนี้ตั้งอยู่ที่เกาะใหญ่ มีทะเลน้อย (อ่าวไทย) คั่นระหว่างหลินยี่ (จามปา) เรือสำเภาแล่นจากเมืองเกียวเจา (ตังเกี๋ย) มาถึงได้ใน ๔๐ วัน กษัตริย์มีพระนามว่า หยาง - หลี่ - จี่ พลเมืองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามริมลำน้ำ กำแพงล้อมราบด้วยไม้ พระเจ้าแผ่นดินประทับเอนพระวรกายบนบัลลังก์จำหลักรูปมังกร (นาค) มีวัดใหญ่สิบวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์ และนางชีเล่าเรียนพระธรรมเป็นจำนวนมาก ราชทูตพัน - พัน มาถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นประจำในสมัยราชวงศ์เหลียง (พระเจ้าเหลียงบู๊เต้ พ.ศ.๑๐๗๐ - ๑๐๗๓)"
             หลักฐานทางโบราณคดี  ในช่วงเวลาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๘ ได้พบหลักฐานทางโบราณคดี ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายซับซ้อนของชุมชน รอบอ่าวบ้านดอนเพิ่มขึ้นจากยุคที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก ปรากฏชุมชนหมู่บ้านเมืองเล็กเมืองใหญ่ กระจัดกระจายอยู่บนพื้นราบตามแนวสันทราย ที่ราบเชิงเขา และที่ราบริมลำน้ำ ส่วนใหญ่เป็นชุมชนเมืองท่าและที่อยู่อาศัย

                   -  เมืองท่าริมฝั่งทะเล  แหล่งใหญ่อยู่ที่แหลมโพธิ์ พุมเรียง อำเภอไชยา พบโบราณวัตถุที่เป็นสินค้าจากต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง ที่มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕ ได้แก่ ไหเคลือบสีเขียวมะกอก เหยือกมีพวยหกเหลี่ยมเคลือบสีเขียวมะกอก และถ้วยชามเคลือบสามสีมีลายขูดภายใน สินค้าที่ผลิตเองในท้องถิ่นได้แก่ลูกปัดแก้ว พบเศษแก้วที่เป็นวัสดุดิบ ในการผลิตเป็นภาชนะแตกหัก ที่นำเข้ามาจากตะวันออกกลาง

            แหล่งเมืองท่าริมชายทะเลอื่น ๆ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านท่าม่วง ใกล้วัดอัมพาวาส  แหล่งโบราณคดีเชิงเขาประสงค์ ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ พบลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน วัตถุทำด้วยหินหยก  หินวัตถุดิบจำพวกแร่ควอร์ทสำหรับผลิตลูกปัดหิน  เศษแก้ววัตถุดิบสำหรับผลิตลูกปัดแก้ว ต่างหูโลหะ  แหล่งโบราณคดีวัดพิฆเนศวร์ (ร้าง) เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนโบราณที่นับถือศาสนาพราหมณ์ พบเอกมุขลึงค์เศียรพระวิษณุ เศษชิ้นส่วนศิวลึงค์ ชิ้นส่วนพระพิฆเนศวร์และซากโบราณสถานก่ออิฐ

                   -  เมืองท่าริมฝั่งแม่น้ำ  ได้แก่แหล่งโบราณคดีควนพุนพินหรือควนท่าข้าม กับแหล่งโบราณคดีวัดเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน พบลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน ลูกปัดทองคำรูปผลฟักทอง เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซัว เงินเหรียญอาหรับ พระพิมพ์ดินเผา พบศาสนสถานบนควนพุนพินที่น่าจะเป็นฐานพระสถูป พบประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พบพระประติมากรรมรูปพระวิษณุ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ พบรากฐานเทวาลัยก่อด้วยอิฐ แหล่งโบราณคดีบ้านกะแดะและวัดถ้ำคูหา ตำบลช้างขวา ตำบลช้างขวา อำเภอกาญจนดิษฐ์ เป็นแหล่งชุมชนเมืองท่า และย่านที่อยู่อาศัยอีกจุดหนึ่ง ตามริมแม่น้ำท่าทองที่วัดถ้ำคูหาพบว่า ชุมชนชาวพุทธฝ่ายมหายานใช้ถ้ำคูหา เป็นพุทธสถานมีประติมากรรมนูนสูงและนูนต่ำ ทำจากดินเหนียวปั้นประดับไว้บนเพดานถ้ำเล่าเรื่องตามคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร ตอนที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่พระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ และโพธิ์สัตว์ ๘๐,๐๐๐ องค์ บนยอดเขาคิชกูฎใกล้กรุงราชคฤห์ ประติมากรรมแสดงอิทธิพลศิลปะทวารวดี และศิลปะจาม มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ บางภาพคล้ายเป็นรูปอาคารศาสนสถาน คล้ายปราสาทอิฐที่วัดแก้ว อำเภอไชยา
                   -  เมืองโบราณ  ได้แก่เมืองเวียงสระ อำเภอเวียงสระ ผังเมืองเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมจตุรัส ใช้แม่น้ำตาปีสายเก่าและคลองตาลเป็นคูเมือง มีการขุดชักน้ำเข้ามาในคู ขุดโอบรอบเป็นอาณาเขตเมืองโบราณ วัตถุที่พบในเมืองมีอยู่ค่อนข้างหลากกลาย มีประติมากรรมเป็นภาพสลักนูนสูงรูปพระศากยมุนีพุทธเจ้า อิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ สกุลช่างสารนาถ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ โบราณวัตถุในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกายได้แก่ เทวรูปพระวิษณุศิลาสกุลช่างปัลลวะ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เทวรูปพระวิศณุศิลาสกุลช่างโจฬะ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ และเทวรูปพระศิวะไพรวะ (ปางดุร้าย) สกุลช่างโจฬะ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖

                   -  เมืองโบราณไชยา  ชุมชนโบราณที่อำเภอไชยา ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๔ มีหลักฐานว่า เป็นชุมชนที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ประติมากรรมรูปเคารพ ในศาสนามีลักษณะคล้ายคลึงกับศิลปกรรมสมัยทวารวดี ที่พบในแหล่งโบราณคดีแถบภาคกลางของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเมืองโบราณรอบอ่าว บ้านดอนกับเมืองโบราณสมัยทวารวดี ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแหล่งสำคัญได้แก่ วัดเววน ตำบลป่าเว พบพระพุทธรูปศิลา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แหล่งโบราณคดีที่ตำบลทุ่ง พบชิ้นส่วนธรรมจักรศิลา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓

             ที่วัดเวียงและวัดแก้ว พบพระพุทธรูปศิลาปางแสดงธรรม (วิตรรกะมุทรา) มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ที่วัดพระบรมธาตุไชยา พบพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิประทับบนปัทมะ เป็นพระพุทธรูปที่เก่าที่สุดองค์หนึ่งที่พบในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ และพระพุทธรูปศิลาปางแสดงธรรม มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓

             ส่วนพระพุทธรูปปางแสดงธรรม พบที่ห้องโถงกลางของพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยศรีวิชัย แสดงถึงพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ได้เผยแพร่เข้ามายังเมืองไชยาก่อนพุทธศานาฝ่ายมหายาน ซึ่งเจริญอย่างสูงสุดในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๕

             หลักฐานรูปเคารพในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เก่าที่สุดในเมืองไชยา ได้แก่ ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่วัดศาลาทึง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ส่วนโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ศิลปะศรีวิชัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ พบอยู่มากในเมืองโบราณไชยา ซึ่งอยู่บนแนวสันทรายที่เรียกว่า สันทรายไชยามีขอบเขตตั้งแต่บ้านเวียง จนถึงบ้านวัดแก้วเกือบจดเขาน้ำร้อน ยาวตามแนวเหนือใต้เกือบสามสิบกิโลเมตร กว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร พบโบราณสถานก่ออิฐขนาดใหญ่ที่วัดแก้ว และวัดหลงถ้ำ อยู่ในสภาพสมบูรณ์ จะมีขนาดใหญ่กว่าพระบรมธาตุไชยา ประมาณ ๑ เท่า ศาสนสถานเป็นพุทธสถานในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน รูปแบบคล้ายสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า จันทิ ในชวากลาง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ เชื่อกันว่า เรือนอิฐ (ปราสาท) ที่วัดแก้วและวัดหลง เป็นปราสาทอิฐสองหลัง ในจำนวนสามหลังที่ปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ ซึ่งได้กล่าวถึงพระเจ้ากรุงศรีวิชัย จึงให้สร้างปราสาทอิฐสามหลัง เพื่อเป็นที่บูชาพระโพธิสัตว์ผู้ถือดอกบัว พระผู้ผจญมาร และพระโพธิสัตว์ผู้ถือวัชระ จารึกเมื่อปีมหาศักราช ๖๙๗ ตรงกับปี พ.ศ.๑๓๑๘
             หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งคือพระพุทธรูปปางนาคปรกสำริด พบที่วัดเวียง จัดเป็นศิลปะศรีวิชัยตอนปลาย ที่ฐานนาคมีจารึกอักษรขอมเป็นภาษาเขมร กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้เมื่อปี พ.ศ.๑๗๒๖
             ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หลัง พ.ศ.๑๗๗๓ หลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีทิ้งช่วงขาดหายไป มาปรากฎอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ยุคร่วมสมัยกับที่ภาคกลาง ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ เข้าใจว่าเมืองไชยาน่าจะขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ที่มีกษัตริย์พระนามพระเจ้าจันทรภาณุ มีศักดิ์เทียบเท่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช จากจารึกหลักที่ ๒๔ พบที่วัดเวียง อำเภอไชยา กล่าวถึงพระเจ้าจันทรภาณุ ผู้เป็นใหญ่แห่งตามพรลิงค์ ทรงปลดปล่อยประชาชนของพระองค์ ที่ถูกชนชาติต่ำปกครองมาแล้วให้สว่างรุ่งเรือง และเมื่อปี พ.ศ.๑๕๖๘ ตามพรลิงค์ในชื่อมัทธมาลิงคัม ถูกกองทัพพรพเจ้าราเชนทร์โจฬะที่ ๑ ตีแตก จารึกหลักนี้สลักไว้ที่เมืองตันชอร์ ประเทศอินเดีย
    สภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
             แว่งแคว้นที่เติบโตขึ้นรอบอ่าาวบ้านดอนเป็นผลการค้ามากับชุมชนภายนอกและมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับหัวเมืองภายใน โดยมีการเกษตรกรรมเป็นพื้นฐาน การปรากฎนครรัฐที่ไชยาในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ มีแหลมโพธิเป็นตลาดการค้าและอุตสาหกรรม (ผลิตลูกปัดแก้วเป็นสินค้าส่งออก) ผู้ปกครองมีฐานะเป็นพระราชาตามแบบวัฒนธรรมอินเดีย มีพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นศาสนาประจำรัฐ
    ยุครวมสมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๙)
             หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ของสุราษฎร์ธานีค่อนข้างขาดแคลน ต้องอาศัยหลักฐานจากภายนอกมาเป็นตัวประกอบ หลักฐานเอกสารต่างประเทศได้แก่ หนังสือมหาวงศ์ หนังสือจุลวงศ์ พงศาวดารลังกา และจารึกของบัณฑยะในอินเดียใต้ ได้กล่าวว่าพระเจ้าจันทรภาณุได้ยกกองทัพไปโจมตีลังกาสองครั้ง ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๒ แห่งลังกา การรบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๐ และครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๑๘๑๓ ต้องพ่ายแพ้แก่กองทัพลังกาทั้งสองครั้ง ในห้วงเวลานี้นครรัฐตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช จะต้องยิ่งใหญ่และเข้มแข็ง จึงเชื่อว่าเมืองไชยาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ น่าจะอยู่ในอาณาจักรของนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ ได้แผ่อำนาจลงมายังดินแดนภาคใต้ของประเทศไทยทั้งหมด
    ยุคร่วมสมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๓)
             จากพระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายของราชอาณาจักรสยาม สมัยอยุธยา ประกาศไว้ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ กล่าวถึงเมืองขึ้นของอยุธยา บริเวณคาบสมุทรไว้สี่หัวเมืองคือ เมื่อนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองไชยา และเมืองชุมพร เมืองไชยา ให้เป็นหัวเมืองตรี เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระ มีราชทินนามว่า ออกพระวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม ถือศักดินา ๕,๐๐๐
             ในพื้นที่เขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีปรากฎชื่อเมืองสำคัญสี่เมืองที่ให้สร้างป่าเป็นนาคือเมืองไชยา เมืองท่าทอง เมืองไชยสงครามและเมืองเวียงสระ ทางอยุธยาได้ส่งข้าราชการสามคนมาสร้างเมืองใหม่
             เข้าใจว่าในสมัยตั้งแต่รัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เป็นต้นมา ได้มีการฟื้นฟูบูรณะวัดต่างๆ ในเมืองไชยาที่สำคัญคือ วัดพระบรมธาตุ ให้เป็นวัดสำคัญประจำเมืองไชยา
             บทบาทของเมืองในสุราษฎร์ธานีในสมัยอยุธยา ค่อนข้างราบเรียบ คงจะเป็นเพราะศูนย์กลางการค้าทางทะเล ได้เปลี่ยนสถานที่ไปทำให้บทบาทของเมืองต่าง ๆ น่าจะเป็นเมืองกสิกรรมไม่โดดเด่นเช่นเมืองปัตตานี สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช
    ยุคร่วมสมัยธนบุรี (ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔)
             ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่ายกกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เมืองไชยา และเมืองท่าทอง ได้รับความเสียหายมาก ผู้คนอพยพออกไปจากตัวเมือง เข้าใจว่าน่าจะย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่พุมเรียง พุมเรียงได้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองไชยา จนกระทั่งมีการสร้างทางรถไฟสายใต้ ผ่านเมืองไชยา ทำให้ศูนย์กลางเมืองไชยาได้ย้ายกลับมาอยู่ใกล้สถานีรถไฟ การที่เมืองไชยาเก่าบริเวณที่ตั้งวัดเรียง ย้ายไปอยู่ที่พุมเรียงเป็นเวลาประมาณศตวรรษเศษ เป็นเหตุให้วัดต่าง ๆ ในเมืองไชยาที่เคยเจริญมาตั้งแต่ครั้งอยุธยากลายสภาพเป็นวัดร้าง เช่นวัดพระบรมธาตุไชยา วัดแก้วกาหลง เป็นต้น
             ในปี พ.ศ.๒๓๗๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) มาตั้งอู่เรือที่บ้านดอนและเมืองท่าทอง ตั้งเป็นโรงอู่ต่อเรือกำปั่นแปลงขนาดยาว ๑๑ วา ทั้งเรือพระที่นั่ง และเรือรบ สำหรับทะเลเพื่อใช้ในราชการจำนวน ๓๑ ลำ ด้วยทรงเห็นว่าชาวเมืองมีความรู้ความชำนาญในการต่อเรือมาแต่เดิม และมีไม้ตะเคียนทองที่มีคุณภาพดี หาได้ง่าย จากพื้นที่บริเวณคลองพุมดวง คลองยัน และคลองท่าทอง
             ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ - ๒๔๑๑  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเมืองท่าทองมาตั้งที่บ้านดอน เพราะมีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่น นับตั้งแต่เจ้าพระยานคร (น้อย) เข้ามาตั้งกองต่อเรือ พระราชทานนามเมืองใหม่ว่า เมืองกาญจนดิษฐ์  ยกฐานะเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ และได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นายพุ่ม บุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นพระยากาญจนดิษฐ์บดี ครองเมืองกาญจนดิษฐ์
    ยุคปัจจุบัน (ตันพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ถึงปัจจุบัน)
             ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกระบบกินเมือง มาเป็นระบบเทศาภิบาล ในปี พ.ศ.๒๔๔๐  ได้มีตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ฉบับแรกในภาคใต้ แบ่งเขตการปกครองเป็นสายมณฑลได้แก่ มณฑลภูเก็ต มณฑลชุมพร และมณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลชุมพรได้รวมเมืองไชยา เมืองกาญจนดิษฐ์ (บ้านดอน) เมืองหลังสวน และเมืองชุมพร โปรดให้รวมเมืองไชยา และเมืองกาญจนดิษฐ์ เข้าเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่า เมืองไชยา (เป็นไชยาที่บ้านดอน) ชาวบ้านจึงเรียกชื่อเป็นไชยาเก่าคือ ไชยาที่พุมเรียง และไชยาใหม่คือ ไชยาที่บ้านดอน
             ต่อมาทางกรุงเทพ ฯ ได้ย้ายศูนย์กลางของมณฑลจากชุมพรมาอยู่ที่ไชยา (บ้านดอน) ผู้ที่มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคือ พระยามหิบาลบริรักษ์ คนต่อมาคือ พระยาคงคาวราธิบดี ครองตำแหน่งมาถึงปี พ.ศ.๒๔๖๘
             ในปี พ.ศ.๒๔๕๘  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ได้ประทับแรมที่ตำหนัก ณ ควนพุนพิน หรือควนท่าข้าม ทรงทอดพระเนตรเห็นประชาชนพลเมือง มีกิริยามารยาทเรียบร้อยและทรงทราบจากเจ้าเมืองว่า ประชาชนตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมเคารพหนักแน่นในพระพุทธศาสนา จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยา (บ้านดอน) เป็นเมืองสุราษฎร์ธานี  ทรงเปลี่ยนชื่อแม่น้ำหลวงเป็นแม่น้ำตาปี ตามชื่อแม่น้ำตาปติในอินเดีย ซึ่งที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำมีเมืองชื่อ สุรัฎฐ (สุราษฎร์)  จึงทรงพระราชทานนามอันเป็นมงคลไว้ แกละโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายศาลาว่าการมณฑลมาตั้งที่บ้านดอน บริเวณเดียวกับศาลากลางเมืองไชยา ให้ยกฐานะเมืองท่าทองเป็นอำเภอ และเชื่อเมืองกาญจนดิษฐ์เป็นชื่ออำเภอ เมืองไชยาเก่าให้เปลี่ยนเรียกว่าอำเภอพุมเรียง (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองไชยา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐  และได้ตัดคำว่าเมืองออกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑) ทรงเปลี่ยนชื่อมณฑลชุมพรเป็นมณฑลสุราษฎรธานี
             ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ยุบมณฑลสุราษฎร์มาขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๖  ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.๒๔๗๖ ทำให้ระบบเทศาภิบาลถูกยกเลิกไป จังหวัดสุราษฎรธานีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรสยาม ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย
             สภาพเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง  ตั้งแต่ปลายพุทธศตววรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา ได้เกิดรัฐใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดรัฐใหม่ตามเขตลุ่มน้ำ และเมืองท่าที่สำคัญได้แก่
                   -  การเสื่อมอำนาจของราชอาณาจักรเขมร หลังรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายของกัมพูชา
                   -  ความอ่อนแอของอาณาจักรศรีวิชัย ที่ไม่สามารถคุมเมืองท่าชายทะเลที่เคยอยู่ในอาณัติได้อีกต่อไป
                   -  จีนในสมัยปลายราชวงศ์ซุ้ง ได้เปลี่ยนนโยบายการค้าจากเดิมที่มีศรีวิชียเป็นพ่อค้าคนกลาง มาเป็นเปิดให้มีเสรีทางการค้า ทำให้พ่อค้าชาวจีนเดินทางมาค้าขายกับเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้โดยตรง
             คาบสมุทรมลายูในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘  จึงมีรัฐนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่แทนที่ศรีวิชัย มีพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ เข้ามาแทนที่พุทธศาสนามหายาน พระบรมธาตุที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ จึงเชื่อว่าบ้านเมืองในคาบสมุทรมลายูรวมทั้งเมืองต่าง ๆ ในเขตจังหวัดสุราษฎรธานีน่าจะอยู่ใต้เขตการปกครองดูแลของนครศรีธรรมราช ในชื่อรัฐตามพรลิงค์
             เมื่อรัฐในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตั้งราชธานีขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ และในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งได้รวบรวมอาณาจักรสุโขทัยไว้ได้ทั้งหมด และควบคุมหัวเมืองปักษ์ใต้มาไว้ทั้งหมด

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์