ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดศรีสะเกษ

            จังหวัดศรีสะเกษตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภาคอีสานของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ ๘,๘๔๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕,๕๒๕,๐๐๐ ไร่ มีความยาวจากเหนือจดใต้ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ความกว้างจากทิศตะวันออก จดทิศตะวันตกประมาณ ๙๐ กิโลเมตร มีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๑๒๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ โดยทางรถไฟประมาณ ๕๑๕ กิโลเมตร และทางรถยนต์ประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
                ทิศเหนือ  ติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร  และร้อยเอ็ด โดยมีแม่น้ำชีและพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้บางส่วนเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัด
                ทิศตะวันออก  ติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีบางส่วนของลำห้วยขะยุงเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัด
                ทิศใต้  ติดต่อกับประเทศกัมพูชาโดยมีเทือกเขาพนมดงรักเป็นแนวแบ่งเขตแดน
                ทิศตะวันตก  ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดสุรินทร์ โดยมีบางส่วนของทุ่งกุลาร้องไห้ ลำห้วยทับทันและห้วยสำราญเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัด
                ลักษณะทางธรณีวิทยาของจังหวัดจัดอยู่ในชุดหินโคราช เกิดจากการตกตะกอนของน้ำทะเลมาก่อน ยกเว้นดินตะกอนลำน้ำ ซึ่งคาดว่าเกิดในยุคควอเทอร์นารี ถึงยุคปัจจุบันเป็นชั้นที่อยู่บนสุด
ลักษณะภูมิประเทศ
            จังหวัดศรีสะเกษตั้งอยู่บนขอบแอ่งที่ราบลุ่มโคราชด้านตะวันออก เป็นบริเวณที่มีผืนแผ่นดินกว้างขวาง อาจเรียกได้ว่าเป็นบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล - แม่น้ำชีตอนล่าง ซึ่งอุดมไปด้วยลุ่มน้ำลำห้วยหลายสาย ไหลมาบรรจบในเขตอีสานใต้
            ลักษณะภูมิประเทศด้านใต้เป็นที่สูงแล้วค่อย ๆ ลาดเอียงไปทางเหนือ ตอนกลางเป็นที่ลาดเอียงเล็กน้อยและที่ราบลอนลาด ตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่ม แบ่งออกเป็นสามบริเวณคือ

            บริเวณที่สูงและเทือกเขา  ได้แก่ พื้นที่อำเภอกันทรลักษณ์ อำเภอขุนหาญ ตอนใต้ของอำเภอขุขันธ์ และอำเภอภูสิงห์ พื้นที่บริเวณดังกล่าวจะเป็นบริเวณที่สูง เช่น ภูดินแดง ภูดิน ภูทอง มีความสูงประมาณ ๑๕๐ - ๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่สูง ๑๖๐ เมตร
            บริเวณขอบด้านทิศใต้จะเป็นเทือกเขาพนมดงรักซึ่งทอดยาวในแนวตะวันตกไปตะวันออก โดยเริ่มจากช่องตะโก จังหวัดบุรีรัมย์ ไปทางทิศตะวันออก ผ่านจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ไปสิ้นสุดที่อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบล ฯ รวมความยาวประมาณ ๕๔๕ กิโลเมตร เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา เทือกเขายกสูงนี้เป็นแบบเขาอีโต้ มีหน้าผาสูงชันทางด้านใต้ ลาดเอียงไปทางเหนือ
            เขตภูเขานี้มีความสูงจากประมาณ ๒๐๐ - ๖๗๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล มียอดเขาสูงสุดคือยอดเขาพนมตาเหมือน ในเขตอำเภอขุนหาญ สูงประมาณ ๖๗๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล
            เทือกเขาพนมดงรักเป็นต้นกำเนิดลำน้ำหลายสายได้แก่ห้วยสำราญ ห้วยขะยุง ห้วยทา ห้วยเหนือและห้วยทับทัน ลำน้ำทุกสาย จะไหลลงสู่แม่น้ำมูล ซึ่งไหลผ่านที่ราบลุ่มตอนเหนือของจังหวัด ในเขตจังหวัดศรีสะเกษมีช่องทางติดต่อเข้าออกอยู่ ๔๑ ช่อง ที่สำคัญได้แก่ ช่องสะงำ ช่องเปรี้ยะจำบ๊อก (ช่องบก)  ช่องหัวเสา ในเขตอำเภอภูสิงห์  ช่องพลุ้ยในเขตอำเภอขุนหาญ  ช่องสะแจง (ช่องแปดหลัก)  ช่องโดนเอาว์ ช่องบันไดหัก (เขาพระวิหาร)  ช่องตาเฒ่า ช่องโพย ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ เป็นต้น

            บริเวณที่ราบลอนลาด  เป็นพื้นที่ทางตอนกลางของจังหวัดไปจดที่ราบสูงตอนใต้ ได้แก่บริเวณพื้นที่อำเภอโนนคูณ อำเภอเบญจลักษณ์ ตอนใต้ของอำเภอศรีรัตนะ ตอนใต้ของอำเภอไพรบึง อำเภอขุขันธ์ และตอนใต้ของอำเภอปรางค์กู่  มีความสูงระหว่าง ๑๕๐ - ๑๗๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล
            พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบสูงลอนลาดจากพื้นที่ด้านตะวันออกของอำเภอโนนคูณ ผ่านตอนเหนือของอำเภอเบญจลักษณ์ สู่ตอนใต้ของอำเภอศรีรัตนะ ติดต่อกับตอนเหนือของอำเภอขุนหาญ พาดผ่านตอนใต้ของอำเภอไพรบึง ตอนเหนือของอำเภอขุขันธ์ จนถึงตอนใต้ของอำเภอปรางค์กู่
            ลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้จะกลายสภาพเป็นขอบยกที่ราบในเขตบริเวณตะวันออกของอำเภอกันทรลักษณ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอขุขันธ์ ให้สูงขึ้น

            บริเวณที่ราบลุ่มน้ำ  เป็นพื้นที่ราบตอนกลางค่อนไปทางเหนือ และบริเวณที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำมูล แบ่งออกได้เป็นสองส่วนคือ
                บริเวณที่ราบลุ่มน้ำมูล  แม่น้ำมูลช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดศรีสะเกษ พบว่าตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำมูลจะมีความสูงระหว่าง ๑๑๕ - ๑๑๗ เมตร  จากระดับน้ำทะเล สำหรับพื้นที่โดยทั่วไปของบริเวณที่ราบลุ่ม จะมีความสูงระหว่าง ๑๑๕ - ๑๓๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล
                บริเวณที่ราบลุ่มน้ำลำห้วย   บริเวณนี้จะมีพื้นที่เป็นเนินดิน มีความสูงประมาณ  ๑๓๐- ๑๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล พาดผ่านในแนวตะวันออก - ตะวันตก โดยเริ่มตั้งแต่เขตอำเภอโนนคูณ อำเภอกันทรารมย์ อำเภอเมือง ฯ อำเภออุทุมพรพิสัย กิ่งอำเภอโคกศรีสุวรรณ จึงกลายเป็นขอบกั้นระหว่างที่ราบลุ่มน้ำมูล และที่ราบลุ่มลำห้วยออกจากกัน ที่ราบลุ่มน้ำลำห้วยประกอบด้วย
                   ที่ราบลุ่มห้วยขะยุง   อยู่ในเขตอำเภอน้ำเกลี้ยง
                   ที่ราบลุ่มห้วยหา  อยู่ในเขตอำเภอคีรีรัตน
                   ที่ราบลุ่มห้วยแฮด  อยู่ในเขตอำเภอไพรบึง อำเภอพยุห อำเภอเมือง ฯ และอำเภอวังหิน
                   ที่ราบลุ่มห้วยสำราญ  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอวังหิน อำเภอปรางค์กู่ อำเภอห้วยทับทัน และอำเภออุทุมพรพิสัย
                   ที่ราบลุ่มห้วยทับทัน  อยู่ในเขตอำเภอห้วยทับทัน และอำเภอเมืองจันทร์
ทรัพยากร
             ป่าไม้  ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นป่าบนพื้นราบ ราษฎรเข้าไปหักร้างถางพง เพื่อทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย ทำให้ป่ามีสภาพเสื่อมโทรมอยู่โดยทั่วไป ยังคงมีสภาพป่าที่สมบูรณ์อยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น บริเวณติดชายแดน บริเวณภูเขา ป่าไม้ในจังหวัดสามารถจำแนกได้เป็นสามประเภทคือ
                 ป่าไม้เบญจพรรณ  ได้แก่ ป่าไผ่ ไม้รวก ไม่สีเสียด ไม้ตะเคียนหนู ราชพฤกษ์ รกฟ้า เสลา ชิงชัน ประดู่ มะค่าโมง พะยุง แกลบ มะเกลือ ก้านเหลือง ยางเสี้ยน ตะแบกใหญ่ ฯลฯ
                 ป่าแดงหรือป่าโคก ป่าแพะหรือป่าเต็งรัง  มีลักษณะโปร่ง ค่อนข้างเป็นทุ่งหญ้า มีต้นไม้ขึ้นอยู่ห่าง ๆ กัน พืชธรรมชาติได้แก่หญ้าคา ไม้ไผ่ หญ้าเพ็ก ไม้สกุลยาง ไม้พลวง ไม้เหียว ไม้สะแบง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า ไม้แต้ ต้มน้ำ เกลี้ยง ไม้จะบก
                 ป่าบุ่ง ป่าทาม  เป็นป่าในที่ลุ่มริมฝั่งน้ำ มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน เป็นระบบนิเวศที่มีความสลับซับซ้อน มีความหลากหลายทางด้านชีวภาพสูง มีประโยชน์ต่อการรักษาดุลยภาพของระบบนิเวศลำน้ำ และเป็นแหล่งที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของชุมชน ต้นไม้ที่เกิดในป่าบุ่งป่าทาม เป็นต้นไม้ที่ทนทานต่อการถูกน้ำท่วมเช่น ต้นหัวลิง ต้นกล้วยน้อย ต้นเดือยไก่ ต้นโคยลิง ต้นเสียว ต้นนมวัว ต้นผักแสง ต้นตะเคียน ต้นกระเบา ต้นหว้า ฝักกระโดนน้ำ ผักกระโดนทุ่ง หญ้าแฝก
                    ป่าทามในอดีต จะมีปลักควาย หนองน้ำ บึง และกุด กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในลุ่มน้ำริมฝั่งแม่น้ำ เป็นแหล่งกำเนิดสระน้ำ และพืชพันธุ์ที่เป็นอาหารของพืชและสัตว์
                    ป่าบุ่ง จะอยู่ริมฝั่งน้ำ ข้างล่างจะเป็นแอ่งน้ำหรือที่ลุ่ม ข้างบนจะปกคลุมด้วยป่าไม้จนรกทึบ
                    ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ป่าประมาณ ๔๕๑,๐๐๐ ไร่ หรือประมาณ ๗๒๐ ตารางกิโลเมตร มีอุทยานแห่งชาติ ๑ แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ ๒ แห่ง
            แหล่งน้ำ  มีทั้งที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำเพื่อการชลประทาน
                แหล่งน้ำธรรมชาติ  ได้แก่ แม่น้ำมูล และลำห้วยต่าง ๆ อีกประมาณ ๒๐ ลำห้วย

                    แม่น้ำมูล  ชาวบ้านเรียกน้ำมูล มีต้นกำเนิดในเขตจังหวัดนครราชสีมา ไหลเข้าสู่จังหวัดศีรษะเกษ โดยผ่านอำเภอราษีไศล ซึ่งเป็นที่ไหลมาบรรจบของลำน้ำเสียว ที่หัวภูดินเรียกกันว่า วังใหญ่ แล้วไหลผ่านเขตอำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอเมือง ฯ อำเภอยางชุมน้อย อำเภอกันทรารมย์ แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำชีที่จังหวัดอุบล ฯ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูลเป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน และมีแหล่งน้ำธรรมชาติเรียงรายตามริมฝั่งที่ลุ่มริมน้ำตลอดสาย
                    ในช่วงที่ผ่านจังหวัดศรีสะเกษ มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมูลอยู่สองฝายคือ ฝายราษีไศล ที่บ้านดอนงูเหลือม ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล และฝายบ้านหัวนา ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์
                    ห้วยทับทัน  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตอำเภอบัวเชต จังหวัดสุรินทร์ เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดสุรินทร์กับจังหวัดศรีสะเกษ ไหลไปบรรจบแม่น้ำมูลที่บ้านห้วยอำเภอราษีไศล

                    ห้วยสำราญ  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลผ่านเขตอำเภอภูสิงห์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอวังหิน อำเภอเมือง ฯ แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำมูลที่ท่าบ้านผักขะ
                    ห้วยขะยุง  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก แล้วไหลผ่านเขตอำเภอกันทรลักษ์ อำเภอเบญจลักษ์ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอโนนคูณ อำเภอกันทรารมย์ แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำมูลที่ระหว่างรอยต่อจังหวัดศรีสะเกษ กับจังหวัดอุบล ฯ
                    ห้วยทา  ต้นกำเนิดจากเทือกเขาพนมดงรัก แล้วไหลผ่านอำเภอขุนหาญ อำเภอศรีรัตนะ อำเภอไพรบึง กิ่งอำเภอพยุห์ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอโนนคูณ แล้วไหลไปบรรจบห้วยขะยุง
                    ห้วยเหนือ  มีต้นกำเนิดในเขตอำเภอขุขันธ์ แล้วไหลไปบรรจบห้วยสำราญ
                    ห้วยแฮด  มีต้นกำเนิดในเขตอำเภอขุขันธ์ ไหลผ่านเขตอำเภอไพรบึง อำเภอพยุห์ อำเภอเมือง ฯ แล้วไหลไปบรรจบห้วยสำราญ ที่อำเภอเมือง ฯ
                    ลำน้ำเสียว  หรือลำเสียวใหญ่ มีต้นกำเนิดอยู่ในเขตจังหวัดมหาสารคาม ไหลผ่านเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ผ่านเขตกิ่งอำเภอศิลาลาด แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำมูลที่ภูดิน อำเภอราษีไศล
                    ห้วยคล้า  ไหลจากพื้นที่ด้านตะวันออกของอำเภอขุขันธ์ ผ่านเขตอำเภอวังหิน แล้วไหลไปบรรจบห้วยสำราญ ในเขตอำเภอเมือง ฯ
                    ห้วยฆ้อง  ไหลมาจากเขตอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ไหลผ่านอำเภอขุขันธ์ อำเภอปรางค์กู่
                    ห้วยวะ  ไหลจากเขตอำเภอปรางค์กู่ อำเภอห้วยทับทัน แล้วไหลไปบรรจบห้วยสำราญ ในเขตอำเภออุทุมพรพิสัย
                    ห้วยกระเดิน  ไหลจากเขตอำเภอพยุห์ อำเภอเมือง ฯ อำเภอกันทรารมย์ แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำมูล
                    ห้วยตามาย  ไหลจากเขตอำเภอกันทราลักษ์ ไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยตามาย อำเภอกันทราลักษ์ แล้วไหลไปบรรจบห้วยขะยุง ในเขตอำเภอเบญจลักษ์
                    ห้วยจันทน์  เป็นต้นน้ำห้วยทา สาขาหนึ่ง เกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตอำเภอขุนหาญ
                    ห้วยน้ำคำ  เป็นลำห้วยขนาดเล็ก ต้นน้ำเกิดในเขตอำเภอเมือง ฯ
                    นอกจากนั้นยังมีลำห้วยเล็ก ๆ อีกจำนวนมาก เช่น ห้วยปูน ในเขตอำเภอเมือง ฯ ห้วยขนุน ลำซอบ ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ ห้วยครก ในเขตอำเภอยางชุมน้อย ห้วยน้ำเค็ม ห้วยก้ากราก ในเขตอำเภอราษีไศล
                แหล่งน้ำเพื่อการชลประทาน  ไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่  ที่มีความจุตั้งแต่ ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป คงมีแต่แหล่งน้ำขนาดกลาง  ที่มีความจุ ๑ - ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และแหล่งน้ำขนาดเล็ก  ที่มีความจุน้อยกว่า ๑ ล้านลูกบาศก์เมตร
                    แหล่งน้ำขนาดกลาง  มีอยู่ ๑๔ แห่ง ได้แก่
                        - อ่างเก็บน้ำห้วยตามาย  อยู่ในตำบลภูเงิน อำเภอกันทรลักษ์  กักเก็บน้ำได้ ๓๘ ล้านลูกบาศ์กเมตร
                        - ฝายราษีไศล  กั้นแม่น้ำมูล อยู่ที่บ้านดอนงูเหลือม ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล เพื่อการเกษตร กักเก็บน้ำได้ ๗๔ ล้านลูกบาศก์เมตร
                        - ฝายหัวนา  กั้นแม่น้ำมูล ที่บ้านหัวนา ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล เพื่อการเกษตร
                        - เขื่อนห้วยศาลา  กั้นลำน้ำห้วยศาลา ในตำบลโคกตาล อำเภอภูสิงห์ กักเก็บน้ำได้ ๓๒ ล้านลูกบาศก์เมตร
                            อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ  กั้นลำน้ำห้วยสำราญในตำบลห้วยตามอญ อำเภอภูสิงห์ กักเก็บน้ำได้ ๑๒ ล้านลูกบาศก์เมตร
                            อ่างเก็บน้ำห้วยตึ๊กชู  อยู่ในตำบลตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์
                            เขื่อนห้วยขนุน  อยู่ในตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ กักเก็บน้ำได้ ๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร
                            อ่างเก็บน้ำห้วยคาจู  อยู่ในตำบลกันทรอบ อำเภอขุนหาญ กักเก็บน้ำได้ ๒๖ ล้านลูกบาศก์เมตร
                            อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำคำ  อยู่ในตำบลหนองครก อำเภอเมือง ฯ กักเก็บน้ำได้ ๑ ล้านลูกบาศก์เมตร
                            อ่างเก็บน้ำห้วยชัน  อยู่ในตำบลโพนข่า อำเภอเมือง ฯ กักเก็บน้ำได้ ๓ ล้านลูกบาศก์เมตร
                            อ่างเก็บน้ำโอตาลัด  อยู่ในตำบลโคกดาล อำเภอสิงห์ กักเก็บน้ำได้ ๔ ล้านลูกบาศก์เมตร
                            อ่างเก็บน้ำหนองสิ  อยู่ในเขตอำเภอขุนหาญ กักเก็บน้ำได้ ๔ ล้านลูกบาศก์เมตร
                            อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม  อยู่ในตำบลคู่ อำเภอราษีไศล กักเก็บน้ำได้ ๑ ล้านลูกบาศก์เมตร
                แหล่งน้ำขนาดเล็ก ที่สำคัญได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยสะอาง ในตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ ฝายบ้านห้วยทับทัน ในตำบลห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน  ฝายบ้านเศวต ในตำบลสำโรง ตาเจ็น อำเภอขุขันธ์ ฝายบ้านลุมพุก ในตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ อ่างเก็บน้ำห้วยปูน ในตำบลหนองครก อำเภอเมือง ฯ อ่างเก็บน้ำกุดชมพู ตำบลดอนกาม อำเภอยาวชุมน้อย และอ่างเก็บน้ำห้วยกากราก ตำบลคลีกลิ้ง อำเภอศิลาสาด
ประชากร
            จังหวัดศรีสะเกษ มีประชากรหลายเผ่าพันธุ์ ประกอบด้วยส่วย ลาว เขมร เยอ ไทย จีน แขก แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นชนพื้นเมืองจะประกอบด้วย ลาว เขมร ส่วย เยอ
            พัฒนาของชาติพันธุ์ในอดีต  ชุมชนโบราณที่พบร่องรอยมักเป็นเนินดินที่มีทั้งคูน้ำล้อมรอบและไม่มีคูน้ำล้อมรอบ กระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงการอยู่สืบเนื่องของผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ของศรีสะเกษคือ ชุมชนในยุคเหล็ก ประมาณ ๒,๕๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว
            ชุมชนขนาดใหญ่ที่มีอายุอยู่ในสมัยทวารวดีและสมัยขอม ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๘ ลงมาคือชุมชนที่มีน้ำล้อมรอบสองชั้น มีการปั้นภาชนะดินเผา และมีใบเสมาหินที่มีอายุสมัยทวารวดี มีประสาทหินกระจายอยู่จำนวนมากทั่วเขตพื้นที่ แสดงให้เห็นอิทธิพลของขอม
            การเติบโตและการขยายตัวของประชากรน่าจะพัฒนาขึ้นในที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล แม่น้ำชีตอนล่าง ซึ่งมีทุ่งราษีไศลเป็นส่วนหนึ่งก่อน แล้วจึงขยายตัวไปทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงที่มีเขตการคมนาคมติดต่อกับบ้านนอกภูมิภาคอื่นที่ไกลออกไป ทั้งในเขตพื้นที่ประเทศลาว ญวนและเขมร

                ชาวลาว ในจังหวัดศรีสะเกษ มีความสัมพันธ์กับชาวลาวในประเทศลาวเป็นอย่างมาก และเนื่องจากประเทศลาวมีหลายเผ่าพันธุ์ การกล่าวถึงชาวลาวในจังหวัดศรีสะเกษ จึงจะกล่าวเฉพาะเผ่าไทลาวเท่านั้น
                ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๗ ได้มีชนเผ่าไทจำนวนหนึ่งล่องเรือลงมาจากตอนใต้ของประเทศจีน ตามลำแม่น้ำแคว แม่น้ำอูและแม่น้ำโขง ลงมาประเทศลาว นำโดยขุนลอเข้ารบกับขุนกันฮาง จากขุนลอราชวงศ์ลาว ได้สืบทอดกันมาอีก ๒๐ รัชกาล จนถึงสมัยท้าวฟ้างุ้ม ได้สร้างอาณาจักรล้านช้างขึ้น มีพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ และวัดได้กลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมลาวตั้งแต่นั้นมา
                ในสมัยอยุธยา ประเทศลาวเป็นพันธมิตรของอาณาจักรอยุธยา มีแบบการปกครองอยู่ที่นครเวียงจันทน์ พระเจ้าไชยเชษฐา ฯ ได้สร้างนครเวียงจันทน์ เป็นเมืองหลวงของลาวล้านช้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๓
                ในปี พ.ศ.๒๒๓๗ ทางราชสำนักเวียงจันทน์เกิดแย่งชิงอำนาจกัน พวกราชวงศ์ลาวต้องลี้ภัยการเมืองไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้มีการสถาปนาอาณาจักรลาวใต้ขึ้นมา ณ นครจำปาศักดิ์นัคบุรี มีกษัตริย์เชื้อสายลาวที่อยพยลงมาครั้งนั้นขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ.๒๒๕๖ แล้วจัดการปกครองหัวเมืองข่าทั้งปวงในเขตลาวใต้อันได้แก่ สาละวัน จำปาศักดิ์ อัตบือ และได้ส่งคนไปตั้งเมืองถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ถึงเมืองศรีนครเขต อยู่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน
                ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ พวกเจ้าลาวกลุ่มพระวอ พระตา ได้อพยพจากนครเวียงจันทน์ เข้ามายังบริเวณลุ่มน้ำมูล - น้ำชี
                ในปี พ.ศ.๒๓๒๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ได้ชัยชนะ ได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทน์มาเป็นจำนวนมาก มาอยู่ที่ตำบลสิ ตำบลขุนหาญ อำเภอขุนหาญ ตำบลหมากเขียบ อำเภอเมือง ฯ บ้านตาอุด บ้านโสน อำเภอขุขันธ์
                หลังจากชาวลาวได้เข้ามาตั้งหลักฐานในพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง ชาวลาวส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ได้เผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมทางภาษา เข้าไปยังชุมชนชาวพื้นเมืองที่เป็นชาวกวย เขมร และเยอมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันภาษาลาวได้กลายเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารส่วนใหญ่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษ

                ชาวเขมร  ชาวเขมรถิ่นไทยเรียกตนเองว่า ขแมร์ เรียกภาษาและชาติพันธุ์ตนเองว่า ขแมร์ลือ แปลว่า เขมรสูง เรียกภาษาเขมร และชาวเขมรในประเทศกัมพูชาว่า ขแมร์ - กรอม แปลว่า เขมรต่ำ และเรียกคนไทยหรือคนพูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ว่า ซิม ซึ่งตรงกับคำว่า สยาม ในภาษาไทย และคำว่า เซียม ในภาษากวย
                มีผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทยอยู่เป็นจำนวนมากในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และทางอำเภอของจังหวัดอุบล ฯ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และบางอำเภอในภาคตะวันออกของไทยคือจังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว
                ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ มีประชากรชาวไทยเชื้อสายเขมรที่พูดภาษาเขมร อยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ อยู่ประมาณ ๒๘๕,๕๐๐ คน
                ชาวเขมรสูงได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดศรีสะเกษมาแต่โบราณกาลแล้ว และได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยจะอยู่ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ ด้านที่ติดกับเขาพนมดงรักแถบบ้านทุ่งใหญ่ บ้านประทาย บ้านบึงมะลู บ้านโดนเอาว์ บ้านรุง บ้านทุ่งยาว เป็นต้น และบริเวณบ้านปักดอง บ้านพราน บ้านทุ่งเลน บ้านสำโรงเกียรติ บ้านไพร บ้านกระมัล บ้านกราม บ้านกันกรอม อำเภอขุนหาญ บ้านไพรบึง บ้านพราน บ้านสำโรงพลัน บ้านไทร บ้านไพรบึง บ้านสำโรงระวี บ้านศรีแก้ว อำเภอศรีวัตนะ ชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนบริเวณโดยรอบของปราสาทเขาพระวิหาร
                อีกบริเวณหนึ่งที่มีชาวเขมรอาศัยอยู่จำนวนมากคือ บริเวณแถบที่ราบลุ่มห้วยสำราญ แถบอำเภอขุขันธ์ ปราวค์กู่ เช่น ในเขตตำบลกันทรารมย์ หัวเสือ ใจดี โคกเพชร สะเดาใหญ่ อำเภอขุขันธ์ ตำบลละลม อำเภอภูสิงห์ ตำบลตูม สำโรงปราสาท อำเภอปรางกู่ จนศีรษะเกษได้ชื่อว่า เมืองเขมรป่าดง
                ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ.๒๓๒๔  เมืองกัมพูชาเกิดจลาจล จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปปราบ ในสงครามครั้งนี้เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร และเมืองสังขะ ได้ร่วมยกกองทัพไปตีเมืองเสียมราฐ กำพงสวาย บันทายเพชร บันทายมาศ และได้นำชาวเขมรจำนวนมากมาไว้ที่สุรินทร และบุรีรัมย์
                ชาวเขมรรุ่นสุดท้าย ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดศีรษะเกษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐
                ชาวเขมรสูง ส่วนมากอยู่ในชนบทมีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ว่างจากการทำนา ทำไร่ จะเดินทางไปรับจ้างทำงานในตัวเมือง และในกรุงเทพ ฯ เมื่อถึงฤดูเพาะปลูกก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ประกอบอาชีพหลักของตน

                ชาวส่วย (กูย)  มีกระจายอยู่หลายจังหวัดทางภาคอีสานตอนล่าง ที่มีอยู่หนาแน่นได้แก่ จังหวัดศีรษะเกษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐  จังหวัดศีรษะเกษ ยังเป็นเมืองที่มีชาวส่วย (เรียกตนเองว่า กูย กุย โกย หรือกวย )  อาศัยอยู่กันทั้งเมือง มีพวกลาวเวียง (สาขาเวียงจันทน์) ปะปนอยู่บ้างบางหมู่บ้าน แต่วัฒนธรรมของชาวลาวได้เข้ามามีอิทธิพลในหมู่ชาวส่วย จึงทำให้มีการผสมผสานวัฒนธรรม
                    ภาษาส่วย  เป็นกลุ่มภาษาเดียวกับภาษามอญ - เขมรสาขาหนึ่ง ชาวส่วยแต่ละถิ่นจะมีการใช้สำเนียงภาษาที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าหากใช้ระบบเสียงมาเป็นเกณฑ์ ในการแบ่งอาจแบ่งภาษาส่วยออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มภาษากูย (กุย - กูย) และกลุ่มภาษากวย (กูย - กวย)  ปัจจุบันชาวส่วยส่วนใหญ่พูดได้ทั้งภาษากูย และภาษาไทยกลาง ในชุมชนส่วยที่ไม่มีผู้พูดภาษาไทยถิ่นอีสาน จะไม่มีการใช้ภาษาไทยถิ่นอีสาน ในชุมชนส่วยที่มีคนเขมร และคนลาวอาศัยปะปนกัน จะพูดภาษากันและกันได้
                    คนไทยรู้จักพวก กวย กุย กูย ในฐานะชนชาติหนึ่งมานานแล้ว ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ.๑๙๗๔ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)  ได้ประกาศห้ามยกลูกสาวให้แก่คนต่างชาติ ต่างศาสนา ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ กบิตัน วิลันดา กุลา ชวา มลายู แขก กวย แกว และในมาตรา ๒๕ ของกฎหมายปีเดียวกันนั้น ก็กล่าวถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศสยาม ว่ามีแขกพราหมณ์ ญวน (แกว) ฝรั่ง อังกฤษ จีน จาม วิลันดา ชาว มลายู กวย ขอม พม่า รามัญ
                    ชาวส่วยชอบอพยพเคลื่อนย้ายอยู่เสมอ เพื่อแสวงหาที่ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก การอพยพเข้ามาในประเทศไทยทางตอนล่างของภาคอีสาน เริ่มแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑)  และได้มีการอพยพครั้งใหญ่เข้ามาในเขตจังหวัดสุรินทร และศีรษะเกษ ในปลายสมัยอยุธยาจนถึงสมัยธนบุรี (พ.ศ.๒๒๔๕ - ๒๓๒๖) ชาวส่วยแต่ละกลุ่มอพยพมาตั้งหลักแหล่ง หรือหาบริเวณล่าช้างแหล่งใหม่ เพราะมีความชำนาญในการเดินป่า และฝึกช้าง การอพยพได้หยุดลง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                    ความเชื่อทางศาสนาของชาวส่วย มีลักษณะผสมผสานระหว่างพระพุทธศาสนากับการนับถือผี ในชุมชนชาวส่วยจะมีทั้งวัดและศาลผีประจำหมู่บ้าน บนบ้านจะมีหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษ บางบ้านจะสร้างเป็นศาลผีบรรพบุรุษไว้ใกล้กับศาลเจ้าที่ บ้านส่วนใหญ่จะมีห้องบูชาพระพุทธรูปไว้ในบ้าน และจะสร้างศาลผีบรรพบุรุษไว้ใกล้บ้าน การเซ่นผีบรรพบุรุษจะทำอย่างน้อยปีละครั้ง

                ชาวเยอ  เป็นชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มภาษามอญ - เขมร  เรียกตนเองว่า กวย มีความหมายว่า คน ชาวเยอจัดอยู่ในกลุ่มของชาวกูย มีภาษาพูดเดียวกัน มีบางคำเท่านั้นที่แตกต่างกัน
                ชาวเยอทั่วไป จะสูงประมาณ ๑๖๕ เซนติเมตร ผิวดำแดง การตั้งหมู่บ้านส่วนใหญ่จะตั้งในเขตใกล้ลำน้ำ หรือลำห้วย ชาวเยอในแต่ละหมู่บ้านมีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติ ปกติชาวเยอมีอาชีพทำนา แต่บางส่วนมีความชำนาญด้านการช่าง
                ตำนานชาวเยอ ในจังหวัดศีรษเกษ เริ่มต้นที่พญากตะศิลา เป็นหัวหน้า นำคนเผ่าเยออพยพมาโดยทางเรือ มาตั้งเมืองคงโคก หรือเมืองคงในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล
                ชาวจีน  ชาวจีนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย เป็นพวกที่มาจากบริเวณฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน คือ บริเวณมณฑลฟูเกี้ยน มณฑลกวางตุ้ง และเกาะไหหลำ  บริเวณพื้นที่ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีที่ราบทำการเพาะปลูกได้น้อย เนื่องจากมีภูเขาคั่นอยู่ทำให้การติดต่อภายในประเทศ ไม่สะดวกจึงอพยพไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในต่างประเทศ
                ชาวจีนเริ่มอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ในปลายสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่อพยพมาจากมณฑลทางใต้ อาจจำแนกตามภาษาพูดได้เป็นหกกลุ่มคือ
                    จีนแต้จิ๋ว  มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ของซัวเถา และตามท้องถิ่นบริเวณแม่น้ำฮัน ในมณฑลกวางตุ้ง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เรียกว่า เชาชู  ร้อยละ ๕๖ ของคนจีนในไทยเป็นพวกแต้จิ๋ว
                    จีนแคะ  ไม่มีเมืองอยู่เป็นของตนเอง แต่อยู่กันเป็นหมู่ ๆ ตามนอกเมือง เป็นแถว ทางตะวันออกและตะวันตก จากมณฑลฮกเกี้ยนไปถึงมณฑลกวางสี และในระหว่างช่องเขาที่เป็นแนวทาง ไปจนถึงทางเหนือของมณฑลกวางตุ้ง จีนแคะมีอยู่ในประเทศไทยประมาณร้อยละ ๑๖ ของคนจีนทั้งหมดของไทย
                    จีนไหหลำ  เป็นประชากรส่วนใหญ่ของเกาะไหหลำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง มีอยู่ในประเทศไทยประมาณ ร้อยละ ๑๒ ของคนจีนในไทย
                    จีนกวางตุ้ง  เป็นประชากรส่วนใหญ่ของมณฑลกวางตุ้ง และตามภาคต่าง ๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ ของมณฑลกวางสี มีอยู่ประมาณร้อยละ ๗ ของคนจีนในไทย
                    จีนฮกเกี้ยน  อยู่ทางภาคใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน โดยมีเมืองเอ้หมึง เป็นศูนย์กลาง มีอยู่ประมาณร้อยละ ๗ ของคนจีนในไทย
                    พวกอื่น ๆ   ที่มาจากไต้หวัน เซี่ยงไฮ้ นิงโป รวมแล้วมีประมาณร้อยละ ๒ ของคนจีนในไทย
                    ในระยะแรก ชาวจีนส่วนใหญ่ได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามหัวเมืองชายทะเลของอ่าวไทย ตั้งแต่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ไปจนถึงไทรบุรีในภาคใต้ ส่วนในภาคกลางได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามลำน้ำบางปะกง จนจดปราจีนบุรี รวมทั้งตามลำน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีนไปจนถึงปากน้ำโพ และตามลำน้ำแม่กลอง ไปจนถึงกาญจนบุรี เฉพาะในกรุงเทพ ฯ เป็นแหล่งใหญ่ศูนย์กลางของสังคมชาวจีน และมีอยู่ถึงครึ่งหนึ่งของคนจีนในไทย
                    ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยมีอัตราสูงสุดในห้วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จำนวนคนจีนในไทย ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๑ - ๒๔๗๔ มีอยู่ประมาณ ๑.๕ ล้านคน ต่อมาระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๕ - ๒๔๘๘ มีชาวจีนเข้าเมืองในอัตราต่ำมาก อันเป็นผลมาจากสงครามจีน - ญี่ปุ่น และสงครามมหาเอเชียบูรพา รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลไทยในการกีดกันชาวจีนเข้าประเทศ หลังสงครามมหาเอเซียบูรพา ระหว่าปี พ.ศ.๒๔๘๙ - ๒๔๙๘ มีชาวจีนอพยพเข้ามาในประเทศไทย เพิ่มมากขึ้นและเพิ่มขึ้นในทันที ที่สงครามสงบลงในปี พ.ศ.๒๔๘๙  ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ได้มีการตกลงกันระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลจีน ชาวจีนได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยได้ปีละ ๑๐,๐๐๐ คน แต่พอถึงปี พ.ศ.๒๔๙๒ รัฐบาลไทยได้ลดลงเหลือปีละ ๒๐๐ คน และในปีต่อมา รัฐบาลไทยได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมคนต่างด้าวในอัตราสูงขึ้น
                    ชาวจีนในจังหวัดศรีสะเกษเกือบทั้งหมดเป็นจีนแต้จิ๋ว ส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกัน ชาวจีนกลุ่มแรกเข้ามาอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ โดยเดินทางจากจังหวัดนครราชสีมาด้วยกองคาราวานเกวียน และบางกลุ่มด้วยการล่องเรือตามลำน้ำมูล มาขึ้นฝั่งที่เมืองราษีไศล แล้วเดินทางต่อด้วยเกวียนไปยังตัวเมืองศรีสะเกษ ใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน
| บน | หน้าต่อไป |



 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์