ศิลปะกรรมและงานช่างท้องถิ่น
สถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี
สถาปัตยกรรมทวารวดี มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ ได้แก่ สถูปพระปฐมเจดีย์องค์เดิม
พระประโทนเจดีย์ เจดีย์จุลประโทน วัดพระเมรุ วัดพระงาม และวัดธรรมศาลา เป็นต้น
สถาปัตยกรรมสมัยลพบุรี
สันนิษฐานว่า ขอมเคยมามีอำนาจในการปกครองบริเวณเมืองนครปฐม และน่าจะได้ต่อยอดเจดีย์เป็นยอดปรางค์แบบเขมรได้แก่
องค์พระปฐมเจดีย์ พระประโทนเจดีย์ นอกจากนั้นยังพบก้อนศิลา จำนวนมากที่วัดสระกระเทียม
สันนิษฐานว่า เป็นซากโบราณสถานของขอมมาแต่เดิม
สถาปัตยกรรมสมัยอู่ทอง
หลักฐานที่ยังคงเหลืออยู่ได้แก่ เจดีย์ขนาดใหญ่ ฐานรูปทรงสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์รูปทรงระฆังกลม
มีฐานบัวซ้อนกันหลายชั้น ที่วัดสิงห์ อำเภอนครชัยศรี สันนิษฐานว่า เป็นสมัยอโยธยา
สุพรรณภูมิ (อู่ทอง) ส่วนใบเสมาก็เป็นรุ่นเดียวกัน เป็นศิลปะที่เคยรุ่งเรืองอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๒๐
สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา
จากหลักฐานบนใบเสมา ในเขตอำเภอนครชัยศรี หลายแห่งเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง เช่น
ที่วัดโบสถ์ วัดไทร วัดสิงห์ และวัดห้วยตะโก เป็นต้น สันนิษฐานว่า ซากโบราณสถานสมัยอู่ทอง
คงหักพังไปหมดแล้ว และมีการสร้างวัดขึ้นใหม่ได้แก่
อุโบสถหลังเก่าวัดบางพระ อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี
ภายในตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นสมัยอยุธยาตอนกลาง
ตัวอุโบสถมีประตูทางเข้าด้านหน้า ๒ ข้าง ด้านหลัง ๑ ข้าง ผนังด้านข้างหน้าต่างด้านละ
๓ ช่อง พื้นผนังอุโบสถค่อนข้างสูง และคับแคบ
วิหารวัดพระศรีมหาโพธิ์ อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี
มีขนาดค่อนข้างเล็ก ฐานมีลักษณะแอ่นโค้งลงแบบตกท้องช้าง หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย
ด้านหน้าประตูทางเข้าเพียงบานเดียว ตรงสันอกเสาแกะสลักลายไข่ปลา และลายแข้งสิงห์
ด้านหน้ามีหน้าต่างเพียง ๑ บาน ส่วนวิหารไม่มีหน้าต่างทั้ง ๒ ผนัง เพดานวางขื่อลอยแบบสมัยอยุธยา
เพดานด้านบนตรงพระประธาน มีลวดลายเขียนด้วยสีรงค์ บนพื้นแดงงดงามมาก คล้ายกับวัดสระบัว
จังหวัดเพชรบุรี ตัวลายกนกเขียนคล้ายลายอ่อนอย่างจีน ส่วนลวดลายดาวเขียนอย่างไทย
ลายเชิงและลายประจำยามก้ามปู เขียนได้สมบูรณ์
อุโบสถวัดละมุด อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี
บนเพดานอุโบสถมีลวดลายดาวเพดาน แกะสลักประดับตกแต่งไว้อย่างงดงามมาก ประเภทลายดาวดอกจอก
โดยวางกระจายเต็มพื้นที่ ไม่มีรูปแบบ หรือแบบแผนอย่างสกุลช่างหลวงในสมัยอยุธยา
สันนิษฐานว่า เป็นช่างพื้นบ้าน นอกจากนี้ตอนบนสุดของฝาผนัง ได้ทำลายกรุยเชิงห้อยลงมา
ตอนปลายสุดเป็นกระจังรวน ตัวอุโบสถมีหลังคาเตี้ยคลุม ประตูทางเข้าด้านหน้า
๒ ช่อง ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ ๓ ช่อง ผนังด้านหลังไม่มีช่องหน้าต่าง
อุโบสถแบบนี้เรียกว่า โบสถ์มหาอุด
ในสมัยอยุธยานิยมเอาพระเครื่องมาปลุกเสก เพราะมีความเชื่อในเรื่องความคงกระพัน
สามารถอุด หรือกันอาวุธหรืออาคมต่าง ๆ ได้ หน้าบันด้านนอกประดับตกแต่งด้วยชาม
และจาน อย่างความนิยมในสมัยอยุธยา
วิหารเก่าวัดห้วยพลู อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี
ตัววิหารมีหลังคาเตี้ยคลุม เป็นเสานางเรียง ล้อมรอบด้านหน้ามีประตูทางเข้าหลายช่อง
ผนังด้านซ้ายมีหน้าต่างด้านละ ๔ ช่อง ส่วนผนังด้านหลังทึกเป็นแบบโบสถ์มหาอุด
หน้าบันด้านหน้ามีภาพเขียนสีค่อนข้างชำรุดเสียหายมาก มีรูปพรหม และเหล่าทวยเทพ
ผีมือช่างสกุลอยุธยา
วัดไทร อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี
มีใบเสมาเก่าสมัยอยุธยา ทำด้วยหินทรายสีแดง อุโบสถมีประตูด้านหน้า ๒ ช่อง
ฝาผนังมีหน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง ด้านหลังมีหน้าต่างหลอกอยู่ในวงกลม เขียนลายมังกร
หน้าผนังด้านหลังก็คล้ายกัน แต่เป็นลายรูปสิงโตจีนอยู่ภายในวงกลมเช่นกัน ผนังด้านหน้ามีหลังคาคลุมลงมา
ด้านข้างประตูทางเข้าทั้งสองด้านเขียนรูปไก่ฟ้าแบบจีน ฐานอุโบสถแบบตกท้องช้าง
สันนิษฐานว่า เดิมเป็นอุโบสถแบบอยุธยา และมาซ่อมแซมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
วัดกลางบางแก้วอุโบสถ (หลังเก่า)
ศิลปะสมัยอยุธยาต่อมาถูกไฟไหม้ นอกจากนี้ ยังมีมณฑปของวัดเป็นรูปจตุรมุขหลังคาทรงมงกุฎ
ช่องประตูรูปแหลมโค้งอย่างอิทธิพลยุโรปที่เข้ามาในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่า
สร้างในสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ์
วัดโคกพระเจดีย์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี
มีเจดีย์สมัยอยุธยา สร้างทับซากโบราณสถานเก่าแก่
วัดท่าพูด ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสามพราน
สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เมือปี พ.ศ.๒๒๘๑
นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุในสมัยเดียวกัน ปรากฏอยู่หลายอย่างได้แก่ ใบเสมาหินทรายแดง
(ปีกคู่) ตู้พระธรรม หีบใส่พระธรรม และฐานธรรมมาสน์ เป็นต้น
วัดสรรเพชญ์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสามพราน
สร้างสมัยอยุธยา พระอุโบสถหลังเก่าก่ออิฐถือปูน มีฐานแอ่นโค้งศิลปะสมัยอยุธยา
สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
วัดพระปฐมเจดีย์ บูรณะขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อยู่ในอำเภอเมือง ฯ
วัดพระงาม บูรณะขึ้นใหม่ สร้างอยู่ใกล้โบราณสถานสมัยทวารวดี
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ
วัดพระประโทนเจดีย์ บูรณะขึ้นใหม่
สร้างอยู่ใกล้โบราณสถานสมัยทวารวดี อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ
วัดธรรมศาลา บูรณะขึ้นใหม่ สร้างอยู่ใกล้โบราณสถานสมัยทวารวดี
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ
วัดไร่ขิงและวัดดอนหวาย อยู่ในอำเภอสามพราน
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔
ประติมากรรม
ประติมากรรมสมัยทวารวดี ที่สำคัญได้แก่
พระพุทธรูปศิลาขาว
ประทับนั่งห้อยพระบาทในปางวิตรรกะ (แสดงธรรม) ขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณสามเท่า
มีอยู่ ๔ องค์ พบที่วัดพระเมรุ ในเขตอำเภอเมือง ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
อยู่ในสภาพดีหนึ่งองค์ อีกสามองค์อยู่ในสภาพชำรุด ต้องนำมาซ่อมแซมจนเรียบร้อย
แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๑ องค์ ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ๑ องค์ นำมาประดิษฐานไว้ที่ลานชั้นลดด้านใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
๑ องค์ และประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์อีก ๑ องค์
นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้เก็บรักษารวบรวม
และจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ พิพิธภัณฑ์สถานวัดปฐมเจดีย์
และที่วัดกำแพงแสน
ประติมากรรมสมัยลพบุรี ส่วนใหญ่สร้างด้วยศิลาทรายสีแดง
สีขาว และสีเขียว ได้แก่
- พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะเขมรแบบนครวัด และแบบบายน จำนวน ๓
องค์
- พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ๒ องค์
- เศียรพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ๑ องค์
ทั้งหมดดังกล่าวจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานวัดพระปฐมเจดีย์
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรกที่วัดดินแก้ว ในเขตอำเภอนครชัยศรี เป็นพระพุทธรูปสมัยบายนของเขมร
ส่วนประติมากรรมขนาดเล็กได้ขุดพบพระพิมพ์เนื้อตะกั่วสนิมแดงเรียกว่า พระร่วงนั่งวัดกรุกลาง
ที่วัดร้างในเขตอำเภอเมือง ฯ
ประติมากรรมสมัยเชียงแสน
ได้แก่พระพุทธรูปปางสมาธิ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ห้องพระเจ้า ของพระที่นั่งพิมานปฐม
พระราชวังสนามจันทร์ และพระพุทธรูปปางมารวิชัยอีก ๓ องค์ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์
วัดทรงคะนอง และวัดกลางบางแก้ว
ประติมากรรมสมัยสุโขทัย ได้แก่
พระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพบพระเศียร และพระหัตถ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ที่เมืองศรีสัชนาลัย และได้โปรดเกล้า
ฯ ให้ช่างปั้นองค์พระขึ้น แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ซุ้มด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์
พระราชทานนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ฯ
นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่งดงามอีกองค์หนึ่งได้แก่ พระบูชาแบบที่เรียกว่า
สามขา ที่พิพิธภัณฑ์วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี
ประติมากรรมสมัยอู่ทอง (อโยธยา - สุพรรณภูมิ)
ได้แก่ พระพุทธรูปศิลาทรายแดง ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ที่วัดละมุด ในเขตอำเภอนครชัยศรี
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๔ เดิมเป็นพระประธานอยู่ในโบสถ์ร้างมานาน นับว่าเป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดงขนาดใหญ่
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา และมีพุทธลักษณะงดงาม แปลกกว่าที่เคยพบมาก่อน มีพระพักตรมนมีเค้าเป็นสี่เหลี่ยมเล็กน้อย
ลักษณะที่สำคัญคือ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง (ทรงเทริด) มีต้มหูและครองศอ
ลวดลายที่ปรากฏบนลายจำหลักศิลาทั้งสองตำแหน่ง เป็นลายแบบตระกูลเดียวกับลายที่พบบนในเสมาสมัยอู่ทองกับอโยธยา
สุพรรณภูมิอย่างชัดเจน แสดงว่าเป็นศิลปะร่วมสมัยกับใบเสมาหินทรายที่ทางวัดนำมาจากวัดโบสถ์ร้าง
นอกจากนั้นวัดต่าง ๆ ยังได้อัญเชิญพระพุทธรูปศิลาองค์อื่น ๆ ของวัดโบสถ์ ไปเป็นพระประธานในอุโบสถจนหมด
ปัจจุบันวัดโบสถ์ คงเหลือแต่เนินดินของอุโบสถเท่านั้น
นอกจากพระพุทธรูปศิลา ซึ่งพบตามวัดร้างในเขตอำเภอนครชัยศรี แล้วยังพบใบเสมาสมัยอู่ทองอีกหลายวัดได้แก่
วัดสิงห์ วัดโบสถ์ และวัดห้วยตะโก เป็นต้น
ที่อำเภอสามพราน ได้พบพระพุทธรูปยืนสร้างด้วยศิลาขนาดเกือบเท่าคนจริงอยู่
๒ องค์ พระพุทธรูปนั่งทรงเทริด และประดับเครื่องศิราภรณ์คล้ายที่วัดละมุดอีก
๒ องค์ อยู่ภายในวิหารวัดทรงคะนอง
ประติมากรรมสมัยอยุธยา แบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มคือ
กลุ่มพระพุทธรูป ได้แก่ พระพุทธรูปปางห้ามญาติทรงเครื่องเนื้อสำริด
ที่วัดกลางบางแก้ว และพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรทรงเครื่องใหญ่ของวัดตุ๊กตา
ส่วนพระพุทธรูปปางนาคปรกของวัดสรรเพชญ์ สร้างด้วยศิลาทรายสีแดง และพระพุทธรูปปางมารวิชัยอีก
๒ องค์ ทำด้วยดินเผา
สำหรับพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่งดงามยิ่งที่เหลืออยู่ เป็นฝีมือสกุลช่างในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
ปัจจุบันพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้ง ๓ องค์ ดังกล่าวจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์
กลุ่มใบเสมา ได้แก่ ใบเสมาสมัยอยุธยาตอนกลางทำด้วยหินชนวนของวัดกลางบางแก้ว
และใบเสมาสมัยอยุธยาตอนกลาง และตอนปลาย ทำด้วยศิลาทรายแดงของวัดท่าพูด เป็นต้น
กลุ่มไม้จำหลัก ไม้จำหลักสร้างขึ้นเพื่อใช้ตกแต่งสิ่งต่าง
ๆ เช่น ธรรมมาสน์ และหน้าจั่วศาลา ท่าน้ำวัดกลางบางแก้ว ลวดลายดอกจอกตกแต่งภายในอุโบสถวัดละมุด
การตกแต่งที่หน้าบันอุโบสถหลังเก่าวัดสรรเพชญ
นอกจากนี้จำหลักตกแต่งบนพระยานมาศ (คานหาม) ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ได้ทรงถวายไว้ในอดีต เจ้าอาวาสวัดท่าพูดในสมัยกรุงธนบุรี อันเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง
- ปลาย
กลุ่มงานปูนปั้น ได้แก่ ลวดลายปูนปั้น
ประดับตกแต่ที่ฐานชุกชีภายในอุโบสถ หลังวัดกลางบางแก้ว ตัวลายปั้นด้วยปูนโขลกแบบโบราณ
ทาด้วยชาดสีแดง ประดับกระจกเกรี่ยบสีปีกแมลงทับ ตัวลายตรงขาสิงห์ หลังสิงห์
มีความโค้งมนดูสมรูป เส้นฐานแอ่นตกท้องช้างน้อย นอกจากนี้ยังมีลายปูนปั้นที่ฐานชุกชี
ภายในอุโบสถหลังเก่า ที่ซุ่มประตู และหน้าต่างวัดสรรเพชญ์อีกด้วย
|