ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > มรดกไทย > ประวัติกรุงเทพ
 

กรุงเทพมหานคร คือราชธานี (เมืองหลวง) ของราชอาณาจักรไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้สร้างขึ้นบนฝั่งซ้ายหรือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก แห่งพระราชวงศ์จักรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้มีพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เวลาย่ำรุ่ง ๔๕ นาที (๐๖.๔๕ น.) พระราชทานนามเมืองนี้ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตน์ ราชธานีบุรีรมย์ อุดมนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัติยวิษณุกรรมประสิทธิ" (สมัยรัชกาลที่ ๔ เปลี่ยนเป็น  "กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ฯลฯ")

เมื่อแรกสร้างกรุงเทพ ฯ คงมีพื้นที่เฉพาะเขตกำแพงเมืองเท่านั้น คือ กำแพงเมืองยาวประมาณ ๗ กิโลเมตร ด้านตะวันออก เลียบตามแนวคูเมืองที่ขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางลำพู  มาออกแม่น้ำเจ้าพระยา ทางด้านทิศใต้ใกล้สะพานพุทธยอดฟ้า ฯ เรียกว่า คลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่างด้านตะวันตก ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูเมือง แต่มิได้สร้างกำแพงเมืองเหมือนด้านตะวันออก รายรอบกำแพงเมืองและริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีป้อมอยู่ ๑๔ ป้อม มีประตูเมืองขนาดใหญ่ ๑๖ ประตู ประตูเมืองขนาดเล็ก ที่เรียกว่าช่องกุดอีก ๔๗ ประตู
เนื้อที่ในครั้งนั้นมีเพียง ๒,๑๖๓ ไร่ พื้นที่นอก กำแพงเป็นทุ่งนาปลูกข้าว

 
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สถานที่สำคัญในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีดังนี้ 

พระมณฑป
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงสร้างไว้สำหรับ เป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก ซึ่งบรรจุไว้ในตู้มุก รูปทรงเดียวกันกับพระมณฑป

ปราสาทพระเทพบิดร
เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของ พระมหากษัตริย์แห่งพระราชจักรีวงศ์ที่สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ  ทรงสร้างขึ้น โดยมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระแก้วมรกต ขึ้นไปประดิษฐานไว้เสมอกับพระธรรม แต่เนื่องจาก มีขนาดไม่ใหญ่พอที่จะประกอบพระราชพิธีได้  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ จึงได้อัญเชิญพระบรมรูปของ พระมหากษัตริย์ทั้งห้าพระองค์ มาประดิษฐานไว้แทน และได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประชาชนเข้าถวายบังคม พระบรมรูปในปราสาทนี้ได้ ในวันที่ ๖ เมษายน ของทุกปีที่เรียกว่า วันที่ระลึกมหาจักรี

พระศรีรัตนเจดีย์
  เป็นพระเจดีย์ประดับกระเบื้องสีทองสององค์  คือ พระเจดีย์บริเวณหน้าปราสาทพระเทพบิดร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงสร้างขึ้นไว้ตามประเพณีของวัด  ซึ่งโดยมากเมื่อสร้างวัดแล้ว จะต้องสร้างเจดีย์คู่กันไปด้วย ส่วนเจดีย์องค์หลังมณฑป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงสร้างตามแบบเจดีย์สุโขทัย 

นครวัดจำลอง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ช่างจำลองแบบนครวัดจากกัมพูชามาตั้งไว้ บนลานพระมณฑป

 อนุสาวรีย์ประจำรัชกาล
ตั้งอยู่บนไพทีเดียวกับปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป พระรัตนเจดีย์ และนครวัดจำลอง อนุสาวรีย์มี ๓ องค์ ประดิษฐานบุษบกตั้งพานวางตราประจำรัชกาล มีฉัตรล้อม และมีช้างเผือกประจำรัชกาล หล่อด้วยทองสำริด อยู่ที่เชิงอนุสาวรีย์ อนุสาวรีย์องค์หนึ่ง ประดิษฐานตราประจำรัชกาลที่ ๑,๒ และ ๓ อนุสาวรีย์องค์ที่สอง ประดิษฐานตราประจำรัชกาลที่ ๔  อนุสาวรีย์องค์ที่สาม ประดิษฐานตราประจำรัชกาลที่ ๕ 

วิหารยอด
มีพระแท่นศิลาอาสน์ของสมเด็จพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ตั้งไว้ในวิหารนี้ 

ศาลารายรอบพระอุโบสถ 
มีทั้งหมด ๑๒ หลังด้วยกัน สร้างไว้เพื่อให้เด็กนักเรียนมานั่งอ่านหนังสือทางพุทธศาสนา เพื่อให้ประชาชนฟัง ในเวลามีงาน กิจกรรมนี้มีมานาน แต่ปัจจุบัน ได้เลิกไปแล้ว

หอราชกรมานุสรณ์ และหงสานุสรณ์
ตั้งอยู่ข้างพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงสร้างไว้เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป อุทิศถวายเท่าจำนวน พระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ภาพลายเขียนในหอนี้เป็นฝีมือของขรัวอินโข่ง จิตรกร มีชื่อของไทยในยุครัตนโกสินทร์  ที่ริเริ่มเขียนภาพแบบชาวตะวันตก อีกหอหนึ่งสร้างอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

หอพระนาค
ตั้งอยู่หลังมณฑป เป็นที่เก็บอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์จักรี 
 
หอมณเฑียรธรรม
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างถวายเป็นที่เก็บหนังสือต่าง ๆ และมีเครื่องมุกของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เก็บไว้ด้วย 

หอพระคันธาราฐ
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางคันธาราฐ ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปปางที่เรียกฝนได้ 

หอระฆัง
สำหรับแขวนระฆัง มิได้สร้างในยุคแรก แต่ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างมาจากวัดสระเกศ 

  พระระเบียง

เป็นที่สำหรับคนพัก ตามฝาผนังคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่ต้นจนจบ และห้องหนึ่ง ๆ จะมีโคลงสี่สุภาพจารึกบนแผ่นศิลาตามเสาอธิบายภาพประกอบด้วย มีทั้งหมด ๑๗๘ ห้อง  มีโคลง ๔,๙๘๔ บท 

พระปรางค์ ๘ องค์
เรียงเป็นแถวทางหน้าวัด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงสร้างขึ้นไว้ 

รูปต่าง ๆ
มีรูปพระฤาษีมีแท่นบดยาอยู่ตรงหน้า เข้าใจว่าเป็นหมอชีวกโกมารภัทรแพทย์ประจำพระองค์ ของสมเด็จพระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
   
รูปยักษ์และกินนร กินนรี มีไว้เพื่อให้เป็นผู้เฝ้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
 
รูปสิงห์หน้าอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงนำมาจากเขมร
 
หลักเมืองกรุงเทพมหานคร
การสร้างหลักเมืองเป็นประเพณีของไทยมาแต่สมัยโบราณ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการสร้างเมืองต่าง ๆ เพื่อให้เป็นสิ่งที่คู่กันกับเมืองที่สร้างขึ้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อทรงสร้างกรุงเทพมหานคร ฯ ได้ทรงประกอบพิธีสร้างหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 ได้ดวงชะตาของเมืองลงในแผ่นทองคำ ดังนี้
ลัคนาสถิตราศีเมษ กุมอาทิตย์
เกตุอังคารอยู่ราศรีพฤกษภ มฤตยูอยู่ราศีเมถุน
จันทร์ราศีกรกฎ เสาร์และพฤหัสราศีธนู
ราหูศุกร์ และพุธราศีมีน
เสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทร์ประทับนอก ขนาดยาว ๑๘๗ นิ้ว ลงรักปิดทอง มีเม็ดยอดสวมที่ปลายหลัก ภายในกลวงเป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชาตาพระนคร มียันต์โสฬสมงคล ทำด้วยแผ่นศิลาสำหรับรองเสาหลักเมือง มียันต์พระไตรสรณาคมน์ ทำด้วยแผ่นเงิน ปิดที่ปลายเสาหลักเมือง และ ยันต์องครักษ์
ธาตุทั้งสี่ทำด้วยแผ่นเงินเช่นกัน สำหรับปิดที่ต้นเสาหลักเมือง แล้วขุดดินในพระนครจากทิศทั้งสี่ ปั้นเป็นก้อน สมมติเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ทำพิธีใส่ลงในหลุมสำหรับฝังเสาหลักเมือง แล้ววางแผ่นศิลาบนดินทั้งสี่ก้อน จากนั้นจึงเชิญ เสาหลักเมืองลงหลุมโดยวางบนแผ่นศิลา
หลักเมืองในครั้งนั้นไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างปกคลุมเหมือนปัจจุบัน มีเพียงศาลากันแดดกันฝนเท่านั้น ไม่มีเทพารักษ์รวมอยู่ด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ ตัวศาลเป็นรูปปรางค์ยอดตามแบบเดิม ที่กรุงศรีอยุธยา แล้วจัดพระราชพิธีบรรจุ พระชาตาพระนคร โดยจารึกลงบนแผ่นสุพรรณบัฎในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเชิญบรรจุบนยอดหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมเก้าค่ำ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช 1215 ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2396
เทพารักษ์ประจำพระนคร
ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง มีทั้งหมด 5 องค์ด้วยกัน คือ
พระเสื้อเมือง     เป็นรูปเทพารักษ์ ยืนบนฐานสิงห์ พระเศียร ทรงมงกุฎยอดชัย สวมสนับเพลาเชิงงอน นุ่งภูษาทับด้วยชายไหว ชายแครง ประดับด้วยสุวรรณกระถอบ คาดปั้นเหน่งรัดพัสตร์ ต้นพระพาหารัดด้วย พาหุรัด ใส่สังวาล ตาบทิศ ทับทรวง สวมทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท พระหัตถ์ซ้ายถือคทา พระหัตถ์ขวาชูขึ้นในระดับนลาต คล้ายกับจะถือของ สูงประมาณ ๙๓ เซนติเมตร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปิดทอง
พระเสื้อเมือง เป็นเทพารักษ์คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขปราศจากอริราชศัตรูมารุกราน
พระทรงเมือง     เป็นรูปเทพารักษ์ มีลักษณะเหมือน พระเสื้อเมืองทุกประการ เพียงแต่ถือพระขรรค์ด้วยพระหัตถ์ซ้าย เป็นเทพารักษ์รักษาการปกครอง ดูแลทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข
เจ้าพ่อเจตคุปต์     เป็นรูปเทพารักษ์ จำหลักด้วยไม้ ทรงเครื่องเหมือนพระเสื้อเมือง แต่มีรูปนาครัดที่ข้อพระพาหา ไพล่ไปเบื้องหลัง พระกรทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ ปัจจุบันหักหายไป เป็นเทพารักษ์ที่เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่จดบันทึกความชั่วร้ายของมนุษย์ ที่ตายไปแล้วนำเสนอต่อพระยมม
พระกาฬไชยศรี     เป็นรูปเทพารักษ์ หล่อด้วยสำริด มีสี่กร ประทับบนหลังนกแสก ซึ่งเกาะอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมปิดทอง ทรงมงกุฎ และฉลองพระองค์เหมือนพระเสื้อเมือง พระหัตถ์ทั้งสี่น่าจะถือเทพอาวุธ แต่ได้หักหายไป เป็นเทพารักษ์ที่เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่นำวิญญาณมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก
เจ้าพ่อหอกลอง     รูปเทพารักษ์ หล่อด้วยสำริดปิดทอง สูง ๑๐๕ เซนติเมตร ทรงเครื่องเหมือนพระเสื้อเมือง พระหัตถ์ทั้งสอง ชูเสมอพระอุระ มีนาครัดที่ข้อพระพาหาไพล่ไปเบื้องหลัง เดิมอยู่ที่ศาลใต้หอกลอง ซึ่งเป็นตึกโบราณสามชั้น ขนาดเล็ก แต่สูงทรงยอดเกี้ยว อยู่ในสวนเจ้าเชตุ อันเป็นที่ตั้งของกรมการรักษาดินแดนปัจจุบัน ได้แก้ไขเป็นยอดมณฑปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ และหอกลองนี้ได้รื้อออกไปเพราะไม่ได้ใช้งานแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เป็นเทพารักษ์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแผ่นดิน
The Grand Palace
หอกลองและกลองประจำพระนคร
ในสมัยโบราณมีการใช้ประโยชน์จากกลองเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ระดับกลุ่มชน ในฐานะเครื่องดนตรี กองทัพในฐานะกลองศึก และบ้านเมืองในฐานะที่ใช้ตีบอกสัญญาณต่าง ๆ ในความเป็นอยู่ประจำวัน แมัแต่วัดในพระพุทธศาสนา ก็ใช้ประโยชน์จากสัญญาณการตีกลอง ในการปฏิบัติสมณกิจประจำวัน
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการสร้างหอกลองประจำเมือง โดยให้อยู่ในความควบคุมดูแลของกรมพระนครบาล ลักษณะของหอกลองเป็นหอสูงสามชั้น สร้างด้วยไม้ สูง ๑ เส้น ๑๐ วา หลังคาเป็นทรงยอดสูง แต่ละชั้นจะมีกลองอยู่ประจำชั้น ดังนี้

ชั้นบน เป็นที่ตั้งของกลองขนาดเล็ก มีชื่อว่า "มหาฤกษ์" ใช้ตีเมื่อมีข้าศึกเข้ามาประชิดพระนคร

ชั้นกลาง เป็นที่ตั้งของกลองขนาดกลาง มีชื่อว่า "พระมหาระงับดับเพลิง" ใช้ตีเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เมื่อเกิดเหตุ เพลิงไหม้บริเวณรอบพระนคร จะตีกลองนี้ ๓ ครั้ง ถ้าเพลิงไหม้บริเวณเชิงกำแพงเมือง หรือบริเวณกำแพงเมือง จะตีกลองนี้ตลอดเวลา จนกว่าเพลิงจะดับ

ชั้นล่าง หรือเรียกอีกอย่างว่า ชั้นต้น จะเป็นที่ตั้งของกลองขนาดใหญ่ มีชื่อว่า "พระทิวาราตรี" ใช้ตีบอกเวลา เริ่มตั้งแต่ เวลาเช้า เวลาเที่ยง และเมื่อตะวันยอแสงเวลาพลบค่ำ นอกจากนั้นก็จะตีในโอกาสที่จะมีการประชุม เรียกว่า ย่ำสันนิบาต

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างหอกลองประจำเมือง  ขึ้นที่บริเวณใกล้คุกเก่าที่หับเผย ตรงข้ามกับวัดพระเชตุพน ปัจจุบันคือที่ตั้งกรมการรักษาดินแดน หอกลองมีลักษณะเช่นเดียวกับ สมัยกรุงศรีอยุธยา ยอดมณฑป ภายในประดิษฐานกลองขนาดใหญ่ ๓ ใบ

กลองย่ำพระสุริย์ศรี ขนาดกว้าง ๘๒ เซนติเมตร ยาว ๘๒ เซนติเมตร สำหรับตีบอกเวลา

กลองอัคคีพินาศ มีขนาดกว้าง ๖๐ เซนติเมตร ยาว ๖๑ เซนติเมตร สำหรับตีเมื่อเกิดเพลิงไหม้

กลองพิฆาตไพรี มีขนาดกว้าง ๔๔ เซนติเมตร ยาว ๔๖ เซนติเมตร สำหรับตีเมื่อเกิดศึกสงคราม



ป้อมรอบกำแพงกรุงเทพมหานคร 

ป้อมรอบกำแพงพระนครทั้ง ๑๔ ป้อม ส่วนใหญ่ได้รื้อออกไปหมดแล้ว คงเหลือเพียง ๒ ป้อม คือ ป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬ มีชื่อและที่ตั้ง ดังต่อไปนี้ 

๑. ป้อมพระสุเมรุ  ตั้งอยู่ที่มุมกำแพงเมือง ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ใต้ปากคลองบางลำภู ป้อมนี้ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และนับว่าเป็นป้อมที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง 
๒.  ป้อมยุคนธร  ตั้งอยู่บนกำแพงเมืองด้านเหนือ บริเวณเหนือวัดบวรนิเวศ ฯ
๓.  ป้อมมหาปราบ  ตั้งอยู่บนกำแพงเมืองด้านเหนือ 
             ป้อมพระสุเมรุ         
๔.  ป้อมมหากาฬ  ตั้งอยู่บนกำแพงด้านตะวันออก ใต้ประตูพฤฒิมาศ บริเวณสะพานผ่านฟ้า ป้อมนี้อยู่ในสภาพ  สมบูรณ์ดีทุกประการ 
๕.  ป้อมหมูทลวง  ตั้งอยู่บนกำแพงด้านตะวันออก  ตรงหน้าเรือนจำพระนครเก่า 
๖.  ป้อมเสือทะยาน  ตั้งอยู่บนกำแพงเมืองด้านตะวันออก เหนือประตูสามยอด บริเวณสะพานเหล็กบน 
         ป้อมมหากาฬ         

๗.  ป้อมมหาไชย  ตั้งอยู่บนกำแพงเมืองด้านตะวันออก บริเวณหน้าวังบูรพาภิรมย์ 

๘.  ป้อมจักรเพชร  ตั้งอยู่ทางด้านใต้ เหนือปากคลองโอ่งอ่าง ใต้วัดราษฎร์บูรณะ (วัดเลียบ) เป็นป้อมสำคัญทางด้านใต้ 

๙.  ป้อมผีเสื้อ  ตั้งอยู่ทางด้านใต้ ตรงปากคลองตลาด 

๑๐. ป้อมมหาฤกษ์  ตั้งอยู่ทางด้านใต้ เหนือปากคลองตลาดขึ้นไป บริเวณโรงเรียนราชินีล่าง 

๑๑. ป้อมมหายักษ์  ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตก ตรงวัดพระเชตุพน 

๑๒. ป้อมพระจันทร์  ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตก ริมท่าพระจันทร์ ตรงมุมวัดมหาธาตุด้านตะวันตกเฉียงเหนือ 

๑๓. ป้อมพระอาทิตย์ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตก มุมพระราชวังบวร ฯ ตรงพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ 

๑๔. ป้อมอิสินธร  ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตก 

นอกจากนั้น ยังมีป้อมที่อยู่นอกกำแพงเมือง สร้างขึ้นภายหลังเมื่อได้ขุดคลองผดุงกรุงเกษมแล้ว บางป้อมอยู่ทาง 
ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีอยู่ ๗ ป้อมด้วยกัน คือ 
๑.  ป้อมปราบปัจจามิตร  อยู่ทางฝั่งตะวันตกของ แม่น้ำเจ้าพระยา ริมปากคลองสาน 
๒.  ป้อมปิดปัจจานึก  อยู่ริมปากคลองผดุงกรุงเกษม ทางด้านใต้ 
๓. ป้อมผลาญศัตรูราบ  อยู่ใต้วัดเทพศิรินทร์ ฯ ริมถนนพลับพลาไชย 
>
         ป้อมมหากาฬ         

๔. ป้อมปราบศัตรูพ่าย  อยู่ใต้ตลาดนางเลิ้ง ตรงหมู่บ้านญวน ข้างบริเวณวัดสมณานัมบริหาร 

๕.  ป้อมทำลายแรงปรปักษ์  อยู่เหนือวัดโสมนัสวิหาร 

๖.  ป้อมหักกำลังดัสกร  อยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษม ด้านทิศเหนือ 

๗.  ป้อมวิชัยประสิทธิ์  อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง 



พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ
 
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อให้มีชื่อเหมือน พระเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา เป็นภูเขาที่ก่อด้วยอิฐ  พระเจดีย์บนยอดภูเขาทอง สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ และทรงพระราชทาน นามว่า พระบรมบรรพต สร้างเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เป็นเจดีย์แบบกลม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ที่ขุดพบที่เนินเจดีย์เมืองกบิลพัสดุ์ อุปราชประเทศอินเดีย ส่งมาทูลเกล้าถวายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เป็นเจดีย์แบบกลม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบที่เนินเจดีย์เมือง กบิลพัสดุ์ อุปราชประเทศ อินเดียวส่งมาทูลเกล้าถวาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑  ภูเขาทองสูง ๑ เสัน ๑๙ วา ๒ ศอก  วัดโดยรอบได้ ๘ เส้น ๕ วา มีบันไดเวียน ขึ้น ๒ ทาง ได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙  ในการนี้ได้ปูกระเบื้องโมเสก สีทองตลอดองค์เจดีย์ และสร้างพระเจดีย์ทิศขึ้นทั้ง ๔ มุม 


The Grand Palace

เสาชิงช้า

ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นเสาชิงช้าขนาดใหญ่ โครงยึดหัวเสาทั้งคู่ แกะสลักอย่างสวยงาม ทั้งหมดทาสีแดงชาด ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่

เสาชิงช้าใช้ในพิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรียัมปวาย  เป็นการต้อนรับพระอิศวรซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพเจ้า ของศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดู เสด็จลงสู่โลกในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ มีการแห่พระเป็นเจ้าไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อพระเป็นเจ้าเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ก็ได้เชิญเทวดาองค์อื่น ๆ มาเฝ้าและมาร่วมพิธีด้วย ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระคงคา และพระธรณีเทวดาเหล่านี้ พราหมณ์จะแกะเป็นเทวรูปลงในไม้กระดานสามแผ่น เมื่อทำการบูชาในเทวสถานแล้ว จะนำไปปักในหลุมหน้าโรงพิธีนั่งดูโล้ชิงช้า หันหน้ากระดานเข้าหาที่มีพระยายืนชิงช้าจะมานั่ง เรียกว่ากระดานลงหลุม ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่

พระราชพิธีตรียัมปวาย ทำที่เทวสถานสำหรับพระนคร 3 เทวสถาน คือ เทวสถานพระอิศวร เทวสถานพระมหาวิฆเนศวร และเทวสถานพระนารายณ์ โลกบาลทั้งสี่ (พระยายืนชิงช้า และนาลิวัน) จึงต้องโล้ชิงช้าถวายและรับน้ำเทพมนตร์



ท้องสนามหลวง

ท้องสนามหลวง  เป็นสนามกว้างใหญ่อยู่ทางด้านเหนือของพระบรมมหาราชวัง เป็นสถานที่สำคัญมาแต่เดิม ของกรุงเทพ ฯ แห่งหนึ่ง ในสมัยแรกของกรุงเทพ ฯ นั้น บริเวณนี้เรียกว่า ทุ่งพระเมรุเพราะเคยเป็น สถานที่ตั้งพระเมรุ พระราชทานเพลิงศพเจ้านายพระองค์ต่าง ๆ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า ชื่อทุ่งพระเมรุนี้ฟังไม่เป็นมงคล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า ท้องสนามหลวง สืบมาจนถึงทุกวันนี้

ท้องสนามหลวง  เป็นสถานที่สำหรับชาวพระนครได้พักผ่อน และเป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในฤดูร้อนเป็นสถานที่เล่นว่าวปักเป้าและว่าวจุฬา รอบบริเวณสนามหลวง ล้วนเป็นที่ตั้งของสิ่งสำคัญคู่กรุงเทพ ฯ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กระทรวงกลาโหม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง มหาวิทยาลัยศิลปากร วัดมหาธาตุยุวราชรัง-สฤษดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ อนุสาวรีย์ทหารอาสา (สงครามโลกครั้งที่ 1) แม่พระธรณี และกระทรวงยุติธรรม

ถนนราชดำเนินในซึ่งต่อจากถนนราชดำเนินกลาง จะทอดผ่านด้านตะวันออกของท้องสนามหลวง ไปโดยตลอดรอบสนามหลวงจะปลูกต้นมะขามไว้โดยรอบเป็นที่ร่มรื่น สดชี่นสวยงามยิ่งนัก



พระบรมรูปทรงม้า

พระบรมรูปพระองค์นี้ เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ  ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนพ่อค้า ประชาชน ทั้งปวงได้ร่วมใจกันสมทบทุนสร้างถวายโดยเห็นว่า พระองค์เสวยราชสมบัติมานานปีกว่า สมเด็จพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ในอดีตกาลและตลอดเวลาที่ครองราชย์อยู่พระองค์ท่านได้ทรงใช้ ความพยายามทุกวิถีทางที่จะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ อันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและอาณาประชาชน พระองค์ท่านจึงได้ทรงรับความรักใคร่และเคารพบูชาของชนทั้งปวง ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ประชาชนทุกหมู่เหล่า จึงร่วมใจกันจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายพระเกียรติแก่พระองค์ พร้อมใจกันบริจาคเงินถวายเป็นราชพลี สร้างพระบรมรูปของพระองค์ท่าน เป็นรูปทรงม้าหล่อด้วยโลหะ ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริง ประดิษฐานไว้ ณ พระลานหน้าพระราชวังดุสิต

พระองค์ท่าน ได้ทรงพระกรุณาให้มีพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้าพระองค์นี้ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑


พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
พิพิธภัณฑ์นี้ อยู่ในเขตตอนหนึ่งในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เดิมตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระธาตุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ

การจัดพิพิธภัณฑ์ จัดโดยใช้พระที่นั่งต่าง ๆ แห่งพระราชวัง สถานมงคลเป็นที่ตั้งแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น "พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน" เป็นที่รวบรวมหนังสือ ตัวเขียน ใบลาน สมุดข่อย และหลักศิลาจารึกโบราณ ที่สำคัญที่สุดคือ ศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช  "พระที่นั่งพุทไธสวรรค์" เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระพุทธสิหิงค์  "พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย"  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และเทวรูปต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น

The Grand Palace
ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ  ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ซึ่งต่อมาได้เป็น จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งโรงทหารหน้าขึ้น ณ ที่ตั้งกระทรวงกลาโหมปัจจุบัน ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่ตั้งของฉางหลวงเก่า อยู่ข้างศาลหลักเมือง โดยมีขอบเขตทางด้านตะวันออก นับจากฉางข้าวเลียบไปตามริมคลองหลอด ถึงสะพานช้างโรงสี กว้าง ๓ เส้น ๑๐ วา ส่วนยาววัดจากศาลหลักเมืองถึง ฉางข้าวริมคลองหลอด ยาว ๕ เส้น สร้างเป็นอาคารตึก ๓ ชั้น ค่าก่อสร้าง ๗,๐๐๐ ชั่ง (๕๖๐,๐๐๐ บาท) เครื่องตกแต่งและเครื่องประกอบเป็นเงิน ๑๒๕ ชั่ง (๒๐,๐๐๐ บาท) จุทหารได้ประมาณ ๑ กองพลน้อย สามารถบรรจุกำลังพล อาวุธ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ เสบียงอาหาร รวมทั้งโรงครัวของกรมทหารหน้าไว้ได้หมด โดยจัดแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ ดังนี้

ด้านหน้า ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก ตรงข้ามกับวัดพระแก้ว เฉพาะตอนกลางเป็นมุข ๓ ชั้น ชั้นบนเป็นที่เก็บสรรพาวุธ และเป็นพิพิธภัณฑ์ทหาร ชั้นกลางเป็นที่ประชุมนายทหาร ชั้นล่างเป็นที่ฝึกหัดการฟันดาบ
ด้านขวา ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ ชั้นบนเป็นที่อยู่ของทหาร ชั้นกลางเป็นที่ประชุมอบรมทหาร ชั้นล่างเป็นคลังเก็บยุทธภัณฑ์และครุภัณฑ์ หน่วยทหารที่อยู่ทางด้านนี้มี ทหารปืนใหญ่ โรงพยาบาลทหาร โรงม้า และโรงฝึกม้า
ด้านซ้าย อยู่ทางทิศใต้ จัดแบบด้านขวา หน่วยทหารมี ทหารราบและทหารช่าง ปลายสุดของด้านนี้สร้างเป็น หอนาฬิกา ชั้นล่างของหอเป็นเครื่องสูบน้ำ และโรงงานของทหารช่าง ชั้นสองเก็บยุทธภัณฑ์ ชั้นสามเป็นถังเก็บน้ำ ชั้นสี่เป็นหน้าปัทม์นาฬิกา ซึ่งมองเห็นได้สองด้าน ชั้นห้าเป็นที่รักษาการณ์ และที่ตรวจการณ์ มีไฟฉายและโทรศัพท์พร้อม
ด้านหลัง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก มีสระน้ำให้ใช้อาบ ซักเสื้อผ้าและหัดว่ายน้ำ มีฉางข้าวสำหรับเก็บข้าวสาร สำหรับเลี้ยงทหาร มีโรงครัวประกอบเลี้ยง

อาคารหลังนี้สร้างเสร็จ และทำพิธีเปิดใช้เป็นโรงทหารหน้า เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๗

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้ยกฐานะกรมยุทธนาธิการเป็นกระทรวงยุทธนาธิการ และได้ตั้งกองบัญชาการ อยู่ ณ ที่นี้ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขนานนามโรงทหารนี้ว่า ศาลายุทธนาธิการ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ย้ายที่ว่าการกระทรวงกลาโหม จากศาลาลูกขุนใน ออกมาอยู่ที่ตึกหลังกลาง ด้านหน้าของศาลายุทธนาธิการ และได้เปลี่ยนชื่อว่า ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม


ปืนใหญ่โบราณ หน้ากระทรวงกลาโหม

พระพิรุณแสนห่า
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๐ เมื่อยังคงดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริยศึก เป็นคู่กับ ปืนพลิกพสุธาหงาย เป็นชื่อเดิมของปืนที่มีชื่อเสียงสมัยกรุงศรีอยุธยา มีขนาดใหญ่มาก
ปืนกระบอกนี้หล่อด้วยทองสำริด มีลวดลายประดับอย่างโอฬาร มีรูปราชสีห์เผ่นผงาดอยู่ที่เพลา มีห่วงสำหรับยกอยู่ ๔ ห่วง รูชนวนมีรูปนก หน้าสิงห์ขบ ท้ายรูปลูกฟัก ที่กระบอกปืนมีจารึกว่า พระพิรุณแสนห่า ดินบรรจุหนัก ๒๐ ชั่ง ปากลำกล้องกว้าง ๑๙ นิ้ว ยาว ๔ ศอกคืบ ๓ นิ้ว

พญาตานี
นางพญาตานี ศรีตวัน เจ้าเมืองปัตตานี ให้ช่างชาวจีนฮกเกี้ยน ชื่อ หลิม โต๊ะเคี่ยม เป็นผู้สร้าง สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งเสด็จยกทัพไปรบพม่า ที่ยกเข้ามาตีหัวเมือง ภาคใต้ของไทย เมื่อเสร็จศึกแล้ว ได้ทรงนำปืนกระบอกนี้ มาจาก เมืองปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๙
ปืนกระบอกนี้ หล่อด้วยทองสำริด มีห่วงสำหรับยก ๔ ห่วง ท้ายลำกล้องทำเป็นรูปสัตว์ หรือเขางอน ที่เพลาสลักรูปราชสีห์ พญาตานีเป็นปืนที่ยาวที่สุดในบรรดาปืนโบราณที่มีอยู่ ที่กระบอกปืน จารึกว่า "พญาตานี" ดินบรรจุหนัก ๑๕ ชั่ง ปากลำกล้องกว้าง ๑๑ นิ้ว ยาว ๓ วาศอกคืบ ๒ นิ้วกึ่ง

พลิกพสุธาหงาย


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงสร้าง โดยให้หล่อที่ หน้าโรงละครใหญ่ ริมถนนประตูวิเศษไชยศรี เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๐ หล่อด้วยทองสำริด มีห่วงยก ๔ ห่วง ลำกล้องปืน มีลวดลายประดับ ที่เพลาสลักรูปคชสีห์ รูชนวนมีลายกนก ท้ายลำกล้องเป็นรูปลูกฟัก ที่กระบอกปืนจารึกว่า "พลิกพสุธาหงาย" ดินบรรจุหนัก ๒๐ ชั่ง ปากลำกล้องกว้าง ๑๙ นิ้ว ยาว ๖ ศอกคืบ ๓ นิ้ว เป็นปืนขนาดใหญ่คู่กับ พระพิรุณแสนห่า


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์