ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > สารานุกรมไทยฉบับย่อ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

เล่ม ๒๔      แมลง - ราชนีติ      ลำดับที่  ๔๔๙๔  - ๔๖๕๙   หน้า  ๑๕๒๐๑ - ๑๕๘๔๐

            ๔๔๙๔. แมลง  เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีร่างกายแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง มีขาสามคู่ อาจมีปีกหรือไม่มีปีกก็ได้ แต่สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังพวกใดมีปีกแล้ว สัตว์พวกนั้นต้องเป็นแมลง
                แมลงทุกชนิดมีขั้นตอนของการเจริญเติบโต โดยการลอกคราบ
                แมลงนอกจากจะมีมากที่สุดในโลกแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างใกล้ชิด มีทั้งพวกที่เป็นประโยชน์ และพวกที่ให้โทษในรูปแบบต่าง ๆ กัน            ๒๔/๑๕๒๐๑
            ๔๔๙๕. แมลงภู่ - หอย  เป็นหอยกาบคู่ มีสีด้านนอกของกาบเป็นสีเขียว คล้ายสีปีกแมลงภู่ นับว่าเป็นอาหารทะเลที่มีรสชาดอร่อย มีคุณค่าทางอาหาร เป็นที่นิยมบริโภคกันแพร่หลาย ประกอบเป็นอาหารได้หลายแบบ
                ลักษณะกาบเป็นรูปยาวรี ปลายด้านหน้าเรียวแหลม ส่วนด้านท้ายป้านมน ตอนกลางตัวพองออกเล็กน้อย เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ ๗ ซม. ตัวหอยยึดติดกับเปลือกด้วยกล้ามเนื้อ ส่วนเปลือกที่ปลายทั้งสองด้านและยังทำหน้าที่ ดึงกาบหอยให้ปิดเข้าหากัน
                หอยแมลงภู่ มีแหล่งที่อยู่ตามชายฝั่งทะเล และปากแม่น้ำที่คลื่นลมไม่แรงจัด พื้นทะเลเป็นดินโคลนปนทราย ใช้เส้นใยรากหอยที่สร้างขึ้นเอง ยึดตัวติดกับเสาไม้ ในระดับน้ำลึก ๑ - ๑๐ เมตร หอยได้อาหารโดยใช้ซี่เหงือกกรองพืช และสัตว์ขนาดเล็กที่เรียกว่า แพลงก์ตอน จากน้ำทะเลที่ไหลผ่านสู่ตัว           ๒๔ / ๑๕๒๐๓
            ๔๔๙๖. แม่ลาน้อย  อำเภอขึ้น จ.แม่ฮ่องสอน มีอาณาเขตทางทิศตะวันตก จดประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีสภาพป่าและภูเขา สามในสี่ของพื้นที่ทั้งหมด          ๒๔/๑๕๒๐๖
            ๔๔๙๗. แมว ๑  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อ แต่ละตัวแต่ละชนิดมีขนาดและสีสัน แตกต่างกันมาก หางยาวหรือค่อนข้างยาว หรือหางสั้น หัวกลมและสั้น หรืออาจจะยาวและแหลม เดินด้วยปลายนิ้วตีน โดยที่ส้นยกสูงขึ้นจากพื้นดิน ฝ่าตีนมักจะมีขนปกคลุม ยกเว้นบริเวณอุ้งตีน ทำให้เดินได้เงียบ ตีนหน้าแต่ละข้างมีห้านิ้ว นิ้วตีนหลังแต่ละข้างมีสี่นิ้ว ไม่มีนิ้วหัวแม่ตีน แต่ละนิ้วทั้งขาหน้าและขาหลัง มีกรงเล็บแหลมคม และสามารถที่จะหดซ่อนกรงเล็บไว้ในซองเล็บได้ แมวมีใบหูใหญ่และกลม มีกล้ามเนื้อที่สามารถกระดิกหูไปมาได้ ลูกนัยน์ตามีขนาดใหญ่ และโปนออกมาเล็กน้อย ทำให้มองเห็นได้ในมุมกว้าง แมวส่วนใหญ่จะล่าเหยื่อด้วยการมองด้วยสายตา จะใช้วิธีดมกลิ่นบ้าง ก็ต่อเมื่อในระยะใกล้ ๆ
                แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่คุ้นเคย และใกล้ชิดกับคนมากที่สุดชนิดหนึ่ง แมวบ้าน หรือแมวเลี้ยงทั่วโลก จัดเป็นแมวชนิดเดียวกันหมด อาจจะแบ่งกลุ่มแมวบ้านออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ พวกที่มีขนยาว เช่น แมวเปอร์เซีย และพวกที่มีขนสั้น เช่น แมวไทย           ๒๔ / ๑๕๒๐๗
            ๔๔๙๘. แมว ๒  - ปลา  เป็นชื่อปลาหลายชนิด หลายสกุล ปลาในวงศ์นี้รูปร่างโดยทั่วไป จะมีลำตัวค่อนข้างยาว แบนข้างมาก จะงอยปากทู่มน เกล็ดใหญ่ บาง หลุดง่าย           ๒๔/๑๕๒๑๐
            ๔๔๙๙. แม้ว  เป็นชื่อชาวเขาเผ่าหนึ่ง ในประเทศไทย เรียกตนเองว่า ม้ง คำว่า แม้ว เป็นชื่อที่ชาวจีนเรียก
                ตามเอกสารเก่าแก่ของจีน มีกล่าวถึงชื่อแม้ว ย้อนหลังไปเกือบห้าพันปี โดยระบุว่าได้มีชาวแม้ว อยู่ในลุ่มแม่น้ำเหลืองแล้ว ชาวแม้วได้ทำสงครามกับจีนอยู่เรื่อยมา จนถึงรัชสมัยราชวงศ์แมนจู ชาวแม้วส่วนหนึ่งได้อพยพลงสู่ทางใต้ เข้าสู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ประเทศลาว และประเทศไทย และบางส่วนของรัฐฉาน ชาวแม้วได้เข้าสู่ประเทศไทย เมื่อประมาณร้อยปีมานี้เอง
                ชาวเขาเผ่าแม้ว นิยมตั้งบ้านเรือนบนภูเขาในระดับสูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ ๙๐๐ - ๑๕๐๐ เมตร มีภาษาที่ถูกจัดอยู่ในภาษาทางชาติพันธุ์สาขาจีน - ทิเบต ในกลุ่มแม้ว - เย้า ไม่มีตัวอักษรใช้เป็นของตนเอง          ๒๔/๑๕๒๑๔
            ๔๕๐๐. แมวเซา - งู  เป็นงูพิษ มีลำตัวอ้วนสั้น หางเล็กสั้น สีน้ำตาลอมเทา มีลายเป็นดอกใหญ่ ๆ  ออกหากินเวลากลางคืน ชอบกินหนู ชอบทำเสียงขู่เมื่อถูกรบกวน มีทั้งขู่กรรโชก และขู่เป็นเสียงยาว คล้ายลมยางรถรั่ว พิษงูแมวเซามีฤทธิ์ต่อระบบโลหิตมาก และมีผลกระทบต่อระบบประสาทด้วย          ๒๔/๑๕๒๒๒
            ๔๕๐๑. แมวน้ำ  เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เป็นพวกสัตว์กินเนื้ออยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก ว่ายน้ำและดำน้ำได้ดีเยี่ยม รูปร่างลำตัวส่วนมากเรียวยาวเหมือนตอร์ปิโด หัวแบนหน้าสั้น อวัยวะที่ใช้ในการเคลื่อนไหว มีสองคู่คือ คู่หน้า และคู่หลัง เปรียบเสมือนครีบ แขน ขา ผิวหนังมีขนปกคลุม
                แมวน้ำชอบอยู่ในน้ำมากกว่าบนบก และชอบอยู่ในเขตหนาวมากกว่าเขตอบอุ่น หรือเขตร้อน มีอยู่ชนิดเดียวที่อยู่ในทะเลสาบน้ำจืดคือ ที่ทะเลสาบไบคาลในไซบีเรีย เป็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่มีขนาด ๑.๙๐ - ๖.๕๐ เมตร  น้ำหนักตัวตั้งแต่ ๙๐ กก. ถึง ๓.๕ เมตริกตัน          ๒๔/๑๕๒๒๓
            ๔๕๐๒. แมวป่า  จัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพวกเดียวกันกับแมวบ้าน บรรพบุรุษของแมวป่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณ ลักษณะคล้ายชะมด ซึ่งกำเนิดมาในโลกเมื่อประมาณ ๓๔ - ๔๐ ล้านปีมาแล้ว ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นพวกแมวป่า เมื่อประมาณ ๒๕ - ๓๔ ล้านปีมาแล้ว โดยเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะแต่เพียงเล็กน้อย เท่านั้น
                แมวป่า รวมถึงเสือชนิดต่าง ๆ ด้วย ยกเว้นแมวบ้าน ทั่วโลกมีสัตว์ในวงศ์นี้ห้าสกุล และ ๓๖ ชนิด ประเทศไทยมีสัตว์ป่าเหล่านี้ สามตระกูลรวมเก้าชนิด ได้แก่
                   เสือกระต่าย  เป็นแมวป่าขนาดเล็ก ความยาวจากปลายจมูกถึงโคนหาง ประมาณ ๕๐ - ๖๕ ซม. น้ำหนัก ๔ - ๖ กก. สีเทาอ่อน ถึงสีน้ำตาลแกมเหลืองมมีลายขวาง หรือลายพาดสองเส้นทางด้านในของขาหน้า บริเวณด้านหน้าทั้งสี่ขามีลายพาดและจุดจำนวนมาก พบตามป่าโปร่ง ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะและบริเวณลำธารในป่าต่าง ๆ ในประเทศไทยพบทั่วไป ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
                   แมวป่าหัวแบน  เป็นแมวป่าขนาดเล็ก ขนาดเท่ากับแมวบ้าน เป็นสัตว์ป่าที่ค่อนข้างหายากและว่องไว ชอบเล่นน้ำ หา
                   แมวดาวหรือแมวแกว  เป็นแมวป่าขนาดเล็ก พบในหลายพื้นที่ พบเป็นคู่ ๆ หรือพบเป็นครอบครัวระหว่างแม่กับลูก ๆ หากินตอนกลางคืน ปีนต้นไม้ได้ ว่ายน้ำได้ดี
                   แมวลายหินอ่อน  เป็นแมวป่าขนาดเล็ก ค่อนข้างหายาก หากินตอนกลางคืน ปีนต้นไม้ได้ดี ในประเทศไทยพบในภาคเหนือ ภาคตะวันตกและภาคใต้
                   เสือปลา  จัดเป็นแมวป่าขนาดกลาง ความยาวของหัวและลำตัว ๗๓ - ๗๘ ซม. น้ำหนัก ๗ - ๑๑ กก.ลักษณะทั่ว ๆ ไปคล้ายแมวดาว แต่มีขนาดใหญ่กว่า อาศัยอยู่ตามป่าละเมาะ ซึ่งอยู่ใกล้แหล่งน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำทะเล ในประเทศไทยพบมีอยู่ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๑
                   เสือไฟ  จัดเป็นแมวป่าขนาดกลาง และมีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลแมว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง ปีนป่ายได้ดีมาก ชาวบ้านเชื่อว่าขนหรือหนังเสือไฟจะป้องกันอันตรายจากแมวป่าและเสืออื่น ๆ ได้ เสือไฟจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๑
                   เสือลายเมฆ  จัดเป็นแมวป่าชนิดหนึ่ง แต่อยู่คนละสกุลกับแมวบ้าน และแมวป่าต่าง ๆ เป็นสกุลที่ประกอบด้วยสัตว์เพียงชนิดเดียวเท่านั้น หากินตอนกลางคืน อาศัยอยู่บนต้นไม้ เห็นตัวได้ยาก ปรกติจะพบอยู่โดดเดี่ยว จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๑
                   เสือดาว เสือดำ  จัดเป็นแมวป่าขนาดใหญ่ ความยาวของหัว และลำตัวรวมกันประมาณ ๑.๘ - ๑.๓๐ เมตร น้ำหนัก ๔๕ - ๖๕ กก.เป็นเสือที่ว่ายน้ำได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบอยู่บนต้นไม้ มักจะพบอยู่โดดเดี่ยว พบได้ทุกภาคของประเทศไทย จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๒
                   เสือโคร่งหรือเสือลายพาดกลอน  เป็นแมวป่าขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาแมวป่าและเสือในประเทศไทย ความยาวของหัวกับลำตัว รวมกันประมาณ ๑.๗ - ๒.๓ เมตร   น้ำหนัก ๑๔๐ - ๒๔๕ กก.มีสีของลำตัวเป็นสีพื้นสีเหลืองอ่อน หรือสีน้ำตาลแกมเหลือง มีลายพาดสีดำเป็นแบบต่าง ๆ กันชอบอยู่บริเวณที่มีแหล่งน้ำ และว่ายน้ำได้ดีมาก เป็นสัตว์ที่มีอาณาเขตครอบครองของตนเองเป็นพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ตร.กม. ออกหากินตอนพลบค่ำ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๒          ๒๔/๑๕๒๓๑
            ๔๕๐๓. แม่สรวย  อำเภอขึ้น จ.เชียงราย ภูมิประเทศมีเขาล้อมรอบ เป็นเขาราวสามส่วนเป็นที่ราบราวหนึ่งส่วน          ๒๔/๑๕๒๔๕
            ๔๕๐๔. แม่สอด  อำเภอขึ้น จ.ตาก มีอาณาเขตทางทิศตะวันตกจดประเทศพม่า มีแม่น้ำเมยเป็นเขตภูมิประเทศพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยป่าโปร่งและภูเขาทั่วไป
                อ.แม่สอด ในสมัยอยุธยาเป็นด่านสำคัญเรียกด่านแม่ละเมาะ เป็นทางเดินทัพของพม่า ซึ่งยกเข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ตั้งเป็นด่านขึ้นสี่ด่าน คือด่านอินทร อยู่ใน ต.แม่ระมาด ด่านชัย อยู่ที่ ต.แมก ด่านพลอยู่ใน ต.แม่สอด และด่านเชียงทอง อยู่ที่ บ.แม่กุน้อย ต่อมาให้ยุบด่านทั้งสี่รวมเป็นอำเภอ ตั้งที่ว่าการที่ ต.แม่สอด เรียกว่า อ.แม่สอด          ๒๔/๑๕๒๔๕
            ๔๕๐๕. แม่สะเรียง  อำเภอขึ้น จ.แม่ฮ่องสอน มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกจดประเทศพม่า ภูมิประเทสโดยรอบเป็นป่าและภูเขา มีที่ราบลุ่มคล้ายก้นกระทะบ้าง ตามริมแม่น้ำยวม ชาวอำเภอนี้เป็นกะเหรี่ยง ละว้า มากกว่าอื่น รองจากนั้นก็เป็นไทยเหนือ นอกจากนี้ก็มีพม่า ไทยใหญ่ต้องสู้
                อ.แม่สะเรียง เดิมขึ้น จ.เชียงใหม่ เมื่อยังเป็นเมืองประเทศราช ครั้นจัดการปกครองแบบข้าหลวงใหญ่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ ก็จัดตั้งข้าหลวงบริเวณขึ้นที่ อ.แม่สะเรียง มี อ.ขุนยวม อ.ปาย และ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ขึ้นต่อข้าหลวงบริเวณ อ.แม่สะเรียง          ๒๔/๑๕๒๔๖
            ๔๕๐๖. แม่สาย  อำเภอขึ้น ๗.เชียงราย มีอาณาเขตทางทิศเหนือจดประเทศพม่า ภูมิประเทศส่วนมากเป็นเนินและเขา
                อ.แม่สายนี้ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่าพื้นที่ใน อ.แม่สาย เดิมชื่อว่า เวียงสีทอง เมื่อมหาศักราชได้ ๒๗๗ ขอมมีอำนาจตีนครโยนกได้ พระเจ้าพังคราชพาพระเทวีมาอยู่ที่ ตำบลเวียงสีทอง ริมแม่น้ำสาย ต่อมาได้ตั้งเมืองขึ้นเรียกว่า เวียงพาน เป็นหมู่บ้านที่ตั้งที่ว่าการ อ.แม่สาย ปัจจุบัน
                อ.แม่สาย เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.แม่จัน ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓          ๒๔/๑๕๒๔๗
            ๔๕๐๗. แม่เหล็ก  เป็นวัตถุที่สามารถดูดโลหะบางชนิดได้ เช่นดูดเหล็ก นิกเกิล โคบอลต์ หรือโลหะเจือบางชนิดในธรราชาติ มีแร่เหล็กชนิดหนึ่งเรียกว่าแร่แมกนีไตต์ ประกอบด้วยออกไซด์ของเหล็ก เมื่อนำก้อนแร่นี้คลุกผงตะไบเหล็ก ผงตะไบเหล็กจะเกาะติดเป็นกลุ่มอยู่ที่ปลายทั้งสองของก้อนแร่ เมื่อนำก้อนแร่นี้ไปแขวนให้แกว่งได้คล่องในแนวราบ เมื่อหยุดแกว่งแล้วปลายทั้งสองของก้อนแร่จะนิ่งอยู่ในแนวทิศเหนือ ใต้ อยู่เสมอ เมื่อนำก้อนแร่ชนิดนี้ไปถูแท่งเหล็กหลาย ๆ ครั้งให้ถูกวิธี แท่งเหล็กนั้นก็จะปรากฎมีสมบัติดังกล่าวข้างต้นทุกประการ เราเรียกก้อนแร่นี้ว่า แม่เหล็กธรรมชาติ
                แม่เหล็กย่อมมีสองปลายเสมอ บริเวณที่ปลายทั้งสองเป็นบริเวณที่มีอำนาจแม่เหล็กมากที่สุด เรียกบริเวณปลายทั้งสองนี้ว่า ขั้วแม่เหล็ก เมื่อนำแท่งแม่เหล็กขึ้นแขวนกลาง เมื่อแท่งแม่เหล็กหยุดนิ่ง จะนิ่งอยู่ในแนวทิศเหนือ - ใต้ เสมอ จึงเรียกปลายที่ชี้มุ่งทิศเหนือว่า ขั้วเหนือ และเรียกปลายที่ชี้มุ่งทิศใต้ว่า ขั้วใต้
                แท่งแม่เหล็กซึ่งอำนาจแม่เหล็กออกไปจากแท่งเป็นบริเวณโดยรอบแท่ง เรียกบริเวณดังกล่าวว่า สนามแม่เหล็ก มีลักษณะประกอบด้วย เส้นแผ่กระจายเต็มสนามแม่เหล็ก เป็นแนวโค้งจากขั้วเหนือไปสู่ขั้วใต้ของแท่งแม่เหล็ก เรียกเส้นเหล่านี้ว่า เส้นแรงแม่เหล็ก
                โลก มีสภาพเป็นแม่เหล็กเสมือนหนึ่งมีแท่งแม่เหล็กขนาดมหึมาฝังอยู่ในโลก โดยปรากฎมีขั้วเหนืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับขั้วโลกใต้ ภูมิศาสตร์และมีขั้วใต้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับขั้วโลกเหนือภูมิศาสตร์ ขั้วทั้งสองของแม่เหล็กโลก มิได้อยู่ประจำที่ โดยจะเคลื่อนวนเป็นแนววงกลม จากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก ซึ่งเมื่อจะเคลื่อนวนครบรอบทุก ๆ ประมาณ ๙๖๐ ปี แนววงกลมนี้เป็นฐานของรูปกรวยกลม ซึ่งสันข้างเอียงทำมุม ๑๗ องศา กับแกนภูมิศาสตร์ของโลก          ๒๔/๑๕๒๔๗
            ๔๕๐๘. แม่อาย  อำเภอ ขึ้น จ.เชียงใหม่ มีอาณาเขตทางทิศเหนือและทิศตะวันตก จดประเทศพม่า ภูมิประเทศมีภูเขาล้อมรอบสามด้าน ด้านใต้เป็นที่ราบ
                อ.แม่อาย ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖          ๒๔/๑๕๒๕๔
            ๔๕๐๙. แม่ฮ่องสอน  จังหวัดภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือ และทิศตะวันตก จดประเทศพม่า ทิศตะวันออก จด จ.เชียงใหม่ ทิศใต้จด จ.ตาก ภูมิประเทศเป็นที่ดอน มีภูเขาอยู่รอบ มีที่ราบที่จะทำการเพาะปลูกได้เพียงเล็กน้อย พลเมืองมีหลายเผ่าด้วยกันคือ ยาง (กะเหรี่ยง) พม่า ไทยใหญ่ ฮ่อ ต้องสู้ มอญ แม้ว ละว้า เป็นต้น
                จ.แม่ฮ่องสอน เดิมเป็นป่าดงพงเขา มีพวกไทยใหญ่ ทางเขตพม่าที่อยู่ตามชายแดนได้เข้ามาอาศัยตั้งทับ กระท่อม หากินชั่วฤดูกาลบ้าง แต่ก็อยู่กันห่าง ๆ หาได้ตั้งหลักฐานมั่นคงถาวรไม่ ถึงสมัยกากะวรรณ ฯ  เป็นพระยาเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๓๖๘ - ๒๓๘๙)  ได้ให้เจ้าแก้วเมืองมา ออกไปจับช้างป่า ครั้งนั้น เจ้าแก้วเมืองมาได้รวบรวมพวกไทยใหญ่ให้เข้าตั้งบ้านเรือน อยู่เป็นหลักแหล่งขึ้นได้สองแห่ง มีหัวหน้าเป็นผู้ปกครองคือ ที่บ้านหมูกับบ้านแม่ฮ่องสอน เหตุที่เรียกชื่อแม่ฮ่องสอน กล่าวกันว่า เพราะได้ตั้งคอกฝึกสอนช้างป่าอยู่ที่ริมห้วยนั้น
                ต่อมา หัวเมืองไทยใหญ่ในเขตพม่ามีเหตุจลาจลขึ้น พลเมืองได้รับความเดือดร้อน ก็พากันอพยพเข้ามาอยู่ในเขตแม่ฮ่องสอนมากขึ้น ถึงปี พ.ศ.๒๔๐๐ เจ้าฟ้าเมืองนาย ได้เกิดวิวาทกันขึ้นกับเจ้าฟ้าเมืองหมอกใหม่ เจ้าฟ้าเมืองหมอกใหม่สู้ไม่ได้ จึงอพยพครอบครัวเข้ามาตั้งที่บ้านแม่ฮ่องสอน แล้วญาติวงศ์ได้ไปตั้งบ้านขุนยวม ขึ้นบนริมแม่น้ำยวม
                เจ้าเมืองปาย ครั้งนั้นขึ้นแก่ จ.เชียงใหม่ ไม่ชอบพอกับเจ้าฟ้าโกหล่าน เมืองหมอกใหม่ จึงไปทูลพระเจ้ากาวิโลรส สุริยวงศ์ว่า เจ้าฟ้าโกหล่าน คิดการกบฎตีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้ากาวิโลรส ฯ จึงยกทัพไปแม่ฮ่องสอน เจ้าฟ้าโกหล่านและครอบครัวก็หนีไปเมืองหมอกใหม่ ถึงปี พ.ศ.๒๔๑๒ เจ้าฟ้าโกหล่าน ยกทัพมาตีเมืองปายได้ แล้วจะยกเข้าตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อยกทัพมาถึงบ้านสะลวงหนองคาย อ.แม่ริม ทัพเมืองเชียงใหม่ สมทบกับทัพเมืองลำพูน ก็ยกเข้าตีทัพเจ้าฟ้าโกหล่าน แตกกลับไป
                ถึงสมัยพระอินทรวิชยานนท์ จึงให้ตั้ง บ.แม่ฮ่องสอน ขึ้นเป็นเมือง มีพ่อเมืองปกครองในปี พ.ศ.๒๔๑๗ เมื่อพ่อเมืองคนแรกถึงแก่กรรม ได้ตั้งให้ นางเมียะ ภรรยาพ่อเมืองเป็นผู้ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน แทน
                เมื่ออังกฤษยกทัพมาปราบปรามการจลาจลที่เมืองกันทรวดี (ยางแดง) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เมื่อยังเป็นพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ขึ้นไปจัดราชการอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ทรงจัดให้ข้าราชการออกไปขัดตาทัพที่ชายแดน เมืองแม่ฮ่องสอนอยู่จนอังกฤษยกทัพกลับไป
                ในปี พ.ศ.๒๔๔๓  เริ่มจัดระเบียบการปกครองมณฑลพายัพ จึงให้รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองยวม เมืองปาย ตั้งเป็นบริเวณเชียงใหม่ตะวันตก ตั้งที่ว่าการที่เมืองขุนยวม แล้วย้ายมาตั้งที่เมืองยวม (แม่สะเรียง) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ต่อมาเปลี่ยนเรียกว่า บริเวณพายัพเหนือ ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๓ ย้ายที่ว่าการบริเวณ ฯ มาตั้งที่เมืองแม่ฮ่องสอน คงขึ้นแก่มณฑลพายัพตามเดิม ตอนนี้บรรดาเมืองต่าง ๆ ดังกล่าวได้ถูกยุบลงเป็นอำเภอขึ้น จ.แม่ฮ่องสอน ถึงปี พ.ศ.๒๔๗๖ เลิกมณฑลพายัพ จ.แม่ฮ่องสอน จึงขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย           ๒๔/๑๕๒๕๔
            ๔๕๑๐. โมกใหญ่  เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางสูง ๒ - ๑๒ เมตร ใบออกเป็นคู่ ตรงข้ามกัน รูปรีแกมรูปขอบขนาน ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อใกล้ยอด ผลเป็นฝักออกเป็นคู่
                โมกใหญ่ มีสรรพคุณใช้เป็นยา โดยใช้ได้ทุกส่วน มีกล่าวรายละเอียดในตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์           ๒๔/๑๕๒๕๗
            ๔๕๑๑. โมคคัลลานะ - พระ  เป็นพระมหาเถระ ผู้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้ยอดเยี่ยม (เอตทัคคะ) ในทางมีฤทธิ์เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย คู่กับพระสารีบุตร ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางมีปัญญาเป็นเลิศ และเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ทั้งสองท่านต่างก็เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา
                พระโมคคัลลานะ ก่อนบวชมีชื่อว่า โกลิตะ หรือเรียกตามชื่อสกุลว่า โมคคัลลานะ ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ นายบ้านผู้หนึ่งกับนางโมคคัลลี เกิดในตำบลหนึ่งไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์ และอยู่ไม่ห่างจากบ้านของสกุลแห่งพระสารีบุตร จึงได้เป็นมิตรกับพระสารีบุตร ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ได้ศึกษาศิลปศาสตร์ด้วยกัน ออกบวชเป็นปริพาชกด้วยกัน และได้เข้าบวชเรียนในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าด้วยกัน
                เมื่อพระโมคคัลลานะ บวชได้เจ็ดวันได้ไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม รู้สึกโงกง่วงอยู่ พระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงแสดงอุบายระงับความโงกง่วงให้ และทรงสั่งสอนในเรื่องการเกิดความเก้อ ทำให้คิดฟุ้งซ่านห่างจากสมาธิ เรื่องไม่พูดคำอันเป็นเหตุเถียงกัน ถือผิดกัน ทำให้ฟุ้งซ่าน ห่างจากสมาธิ เรื่องไม่สรรเสริญความคลุกคลี ควรหลีกออกเร้น อยู่ตามสมณวิสัย
                พระโมคคัลลานะ ทูลถามว่า ด้วยข้อปฎิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้ว ในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า บรรดาธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ทราบธรรมทั้งปวงชัดด้วยปัญญาอันยิ่ง ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง แล้วได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยปัญญา เป็นเครื่องหมายเป็นเครื่องดับ และเป็นเครื่องสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งอะไร ๆ ในโลก ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตน และทราบชัดว่า ชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ต้องทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำอย่างนี้มิได้มี
                พระโมคคัลลานะ ได้ฟังแล้วปฎิบัติตามพระพุทธโอวาท ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น
                ในสาวกนิพพานปริวัตร กล่าวว่าพระโมคคัลลานะ อยู่มาจนถึงพรรษาที่ ๔๕ นับแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ล่วงมาแล้ว นิพพานหลังพระสารีบุตร ปักษ์หนึ่ง (๑๕ วัน)  พระพุทธเจ้าเสด็จไปทำฌาปนกิจแล้ว รับสั่งให้เก็บอัฐธาตุมาก่อพระเจดีย์ บรรจุไว้ ณ ที่ใกล้ซุ้มประตูเวฬุวนาราม            ๒๔/๑๕๑๖๒
            ๔๕๑๒. โมคคัลลิบุตรติสสเถระ - พระ  เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ผู้เป็นกำลังสำคัญในการจรรโลง พระพุทธศาสนาและเป็นประธานในการสังคายนาครั้งที่สาม ณ วัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่สาม
                ท่านมีชื่อตัวว่า ติสสะ และเป็นบุตรของโมคคัลลิพราหมณ์ ชาวเมืองปาฎลีบุตร ท่านได้ศึกษาพระเวทจนจบทั้งสามคัมภีร์ เมื่ออายุ ๑๖ ปี และในปีเดียวกันได้บวชเป็นสามเณร ในพระพุทธศาสนา และได้บรรลุพระโสดาบันในเวลาไม่นานนัก จากนั้น พระลิคควเถระ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ได้สอนพระวินัยปิฎก จนท่านมีความรู้แตกฉาน แล้วนำท่านไปมอบให้เป็นศิษย์พระจัณฑวัชชีเถระ เพื่อให้เรียนพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกต่อไป หลังจากอายุครบ ๑๐ ปี และได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุได้ไม่ถึงพรรษา ท่านก็เรียนพระไตรปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถาต่าง ๆ และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในกาลต่อมา
                เมื่อพระเจ้าอโศก ฯ ขึ้นครองราชย์และทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว เมื่อทรงสดับพระธรรมเทศนาจากท่านว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็โปรดให้สร้างพระอาราม และพระสถูป จำนวนเท่าธรรมขันธ์ ไว้ประจำเมืองต่าง ๆ จำนวน ๘๔,๐๐๐ แห่ง ส่วนพระอารามที่โปรดให้สร้างที่เมืองปาฎลีบุตร มีชื่อว่า  อโศการาม
                พระเจ้าอโศก ฯ ตรัสถามพระสงฆ์ว่า ที่พระองค์ทรงบริจาคพระราชทรัพย์จำนวนมากบำรุงพระศาสนาเช่นนี้ พอจะได้ชื่อว่า ศาสนทายาท ได้แล้วหรือยัง  พระโมคคัลลิบุตร ฯ ถวายพระพรว่า พระองค์เป็นเพียงปัจจัยทายก เท่านั้น ผู้ที่จะเป็นศาสนทายาท นั้นต้องให้บุตร หรือธิดา ออกบวชในพระพุทธศาสนา พระเจ้าอโศก ฯ จึงรับสั่งให้พระมหินทร ราชโอรสและพระนางสังฆมิตตา ราชธิดาออกทรงผนวช หลังจากนั้น พระเจ้าอโศก ฯ ก็ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์มากยิ่งขึ้น จนมีนักบวชนอกพระพุทธศาสนาปลอมบวช เข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อแสวงหาลาภสักการะ ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายไม่ยอมทำอุโบสถ สังฆกรรม ร่วมกับเดียรถีย ผู้ปลอมบวชเหล่านั้นที่อโศการามเวลานั้น พระสงฆ์จึงงดอุโบสถสังฆกรรม ถึงเจ็ดปี
                เมื่อพระเจ้าอโศก ฯ ทรงทราบจึงทรงอาราธนาให้พระโมคคัลลิบุตร ฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ แล้วพระองค์ทรงเป็นประธานในการกำจัดเดียรถีย ที่ปลอมบวชโดยทรงปฎิบัติตามคำแนะนำของพระโมคคัลลิบุตร ฯ จนสามารถคัดเดียรถีย สึกออกไปได้ถึง ๖๐,๐๐๐ คน
                หลังจากนั้น พระโมคคัลลิบุตร ฯ ได้คัดเลือกพระเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจำนวน ๑,๐๐๐ รูป ทำสังคายนาพระธรรมวินัย นับเป็นครั้งที่สาม โดยที่ท่านเป็นประธาน พระเจ้าอโศก เป็นองค์อุปถัมภ์ใช้เวลาเก้าเดือนจึงเสร็จ และท่านได้แต่งหนังสือกถาวัตถุปกรณ์ ด้วย
                หลังจากนั้น ท่านได้คัดเลือกพระเถระ สมณทูตจำนวนเก้าสาย สายละห้ารูป ส่งออกไปประกาศพระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ คือ สายที่หนึ่ง ไปยังรัฐกัษมีระ และคันธาระ (ปัจจุบันคือ แคชเมียร์และอัฟานิสถาน)  สายที่สอง ไปยังมหิสกมณฑล (ปัจจุบันคือ แคว้นไมเซอร์)  สายที่สาม ไปยังวนวาสิชนบท (แคว้นกนราเหนือ ที่ปัจจุบันคือ เขตแดนเหนือเมืองบอมเบย์ ข้างฝ่ายใต้)  สายที่สี่  ไปยัง อปรันตกชนบท  (ปัจจุบันคือ ชายทะเลตอนเหนือเมืองบอมเบย์) สายที่ห้า ไปยังมหารัฐชนบท (ตอนต้นแม่น้ำโคธาวารี อยู่ทางเหนือบอมเบย์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) สายที่หก ไปยังโยนกประเทศ (ปัจจุบันคือ ดินแดนตั้งแต่อัฟกานิสถาน จนจดประเทศอิหร่าน)  สายที่เจ็ด ไปยังหิมวันตประเทศ (ปัจจุบันคือ เมืองต่าง ๆ ที่อยู่แถบภูเขาหิมาลัย) สายที่แปด  ส่งพระโสณกเถระ และพระอุตตรเถระ เป็นหัวหน้ามายังสุวรรณภูมิ (ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำในประเทศไทย และพม่า)  สายที่เก้า  ส่งพระมหินทรเถระ เป็นหัวหน้าไปยังลังกาทวีป          ๒๔/๑๕๒๗๐
            ๔๕๑๓. โมฆราช - พระ  เป็นพระเถระผู้สำเร็จพระอรหันต์องค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล ท่านเกิดในสกุลพราหมณ์ ณ กรุงสาวัตถี เมื่อเจริญวัยได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ เล่าเรียนศิลปศาสตร์ในสำนักพราหมณ์พาวรี
                เมื่อพราหมณ์พาวรี ทราบข่าวว่าพระสมณโคดม ปฎิญาณพระองค์ว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนประชาชน จึงให้มาณพ ผู้เป็นศิษย์สิบหกคนมี อชิตมาณพ เป็นหัวหน้า ตั้งปัญหาให้คนละข้อ ให้ไปลองทูลถามดู โมฆราชมาณพ ถือตัวว่าตนมีปัญญามากกว่าเพื่อน คิดจะทูลถามปัญหาก่อน แต่เห็นว่า อชิตมาณพ เป็นผู้ใหญ่กว่า จึงยอมถามเป็นคนที่สอง แต่พระพุทธเจ้าห้ามไว้ จึงได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่สิบหกว่า โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลก กับเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุฉะนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราช (ความตาย) จึงจักไม่แลเห็นคือว่า จักตามไม่ทัน
                พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า ท่านจงเป็นคนมีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจักข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ ด้วยอุบายอย่างนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงแลไม่เห็น
                เมื่อสิ้นสุดปัญหา โมฆราชมาณพ และมาณพอื่นเป็นสิบห้าคน เว้นแต่ ปิงคิยมาณพ พิจารณาเห็นตามธรรมเทศนา ก็มีจิตพ้นจากอาสวะ
                พระโมฆราชเถระ เป็นพระสาวกที่ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า ยอดเยี่ยม (เอตทัคคะ) กว่าพระสาวกอื่น ในทางทรงจีวรเศร้าหมอง         ๒๔/๑๕๒๗๔
            ๔๕๑๔. โมง  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เปลือกลำต้นและใบมีกลิ่นหอมฉุน ใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ ๆ มีขนาดต่าง ๆ กัน รูปขอบขนานแกมรูปหอก ดอกขนาดเล็ก สีนวล ออกเป็นช่อกระจายที่ปลายกิ่ง กลิ่นเหม็น ผลขนาดเล็ก
            รากและเปลือก มีกลิ่นหอมฉุนเรียกว่า กลิ่นอบเชย ใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร ทำเครื่องสำอาง น้ำมันที่กลั่นได้จากรากและเปลือก เป็นยาขับลมในกระเพาะ และฆ่าเชื้อ ดองเป็นสุรากินแก้หวัด ใช้แต่กลิ่นยา แลใช้เป็นยากันบูด เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องแกะสลักตู้ เครื่องเรือน หีบใส่ของที่กันแมลงต่าง ๆ ได้          ๒๔/๑๕๒๗๗
            ๔๕๑๕. โมงครุ่ม - การเล่น  เป็นชื่อการเล่นของหลวงอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงในสนาม ในพระราชพิธีสมโภชสมัยโบราณ การแสดงชุดเดียวกับโมงครุ่ม มีอยู่ห้าอย่างด้วยกันคือ ระเบง โมงครุ่ม กุลตีไม้ แทงวิสัย และกระอั้วแทงควาย
                ผู้เล่นโมงครุ่ม เป็นชายล้วนแต่งกายสวมสนับเพลา นุ่งผ้าเกี้ยวทับ สวมเสื้อแขนยาวถึงข้อมือ ผ่าอก คอตั้ง ใช้ผ้าตามสมัยนิยม เครื่องดนตรีที่ใช้มี ฆ้องโหม่งแขวน ขาหยั่ง หนึ่งลูก กลองขนาดกลองทัด ในวงปี่พาทย์หนึ่งลูก วางนอนบนเท้าแบบตะโพน เขียนหน้ากลองเป็นลวดลายต่าง ๆ ให้สวยงาม เริ่มด้วยตั้งกลองไว้ตอนหน้า หันหน้ากลองไปทางผู้ชม ตั้งขาหยั่งแขวนฆ้องโหม่ง ไว้ตอนหลัง ผู้แสดงทั้งห้าเดินออก โดยคนตีกลองแยกออกเป็นสองแถวห่างกัน แถวซ้ายสองคน แถวขวาสองคน เดินตามกันมา ยืนประจำเป็นสี่มุมของที่ตั้งกลอง คนตีฆ้องโหม่ง ออกมายืนหลังที่ตั้งขาหยั่งฆ้องโหม่ง ทุกคนถวายคำนับ
                เริ่มแสดง คนตีฆ้องนั่งลงตีฆ้องโหม่งรัว เพื่อให้เตรียมตัว แล้วตีฆ้องสองที คนตีกลองทั้งสี่คุกเข่าซ้ายลง ตีฆ้องอีกสองที คนตีกลองคุกเข้าขวาลง ตีฆ้องสองที คนตีกลองวางไม้ตีกลองลงข้าง ๆ ตัว และพนมมือตีฆ้องสองที คนตีกลองถวายบังคมครั้งที่หนึ่ง ตีฆ้องสองที คนตีกลองถวายบังคมครั้งที่สอง ตีฆ้องสองที คนตีกลองถวายบังคมครั้งที่สาม ตีฆ้องสองที จับไม้ตีกลองที่วาง ตีฆ้องสองที ตั้งขาขวาขึ้น ตีฆ้องสองที ลุกขึ้นยืน คนตีฆ้องตีรัวให้สัญญาณ และบอกชื่อท่าว่า เทพนม  แล้วตีฆ้องสองที
                เมื่อจบท่าเทพนมแล้ว คนตีฆ้องจะเริ่มตีรัว และบอกชื่อท่าต่อๆ ไป โดยปฎิบัติอย่างเดียวกันทุก ๆ ท่า           ๒๔/๑๕๒๗๗
            ๔๕๑๖. โม่จื้อ หรือม่อจื้อ  (พ.ศ.๗๓ - ๑๕๒)  เป็นนักปรัชญาคนหนึ่งของจีน ปรัชญาของโม่จื้อ บางอย่างขัดแย้งอย่างรุนแรงกับคำสอนของขงจื้อ ท่านได้ประณามพิธีรีตองทุกชนิด การดนตรี การเลี้ยงดูกันอย่างฟุ่มเฟือย และที่สำคัญที่สุดคือ การทำสงครามรุกรานผู้อื่น โม่จื้อเชื่อว่า ความคิดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการกระทำที่สอดคล้องกัน เป็นสิ่งจำเป็น ประชาชนจะต้องเชื่อผู้นำ และผู้นำจะต้องปฎิบัติตามเจตจำนงค์ของฟ้า (สวรรค์)           ๒๔/๑๕๒๘๖
            ๔๕๑๗. โมรา - นาง  เป็นชื่อตัวละครนาง ในเรื่องจันทโครบ กำเนิดของนางโมรา เกิดจากการเสกขนนกยูง ในผอบแก้วของพระฤาษี อาจารย์ของพระจันทโครบ ซึ่งมีความประสงค์อยากให้นางงามสมกับลูกศิษย์ เมื่อฤาษีมอบผอบวิเศษ แก่พระจันทโครบก็ได้บอกว่า ให้เปิดเมื่อถึงบ้านเมือง จะได้ครอบครองกัน แต่เมื่อพระจันทโครบไม่เชื่ออาจารย์ ไปเปิดผอบที่กลางป่า ผลปรากฎว่า เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น นางโมราก็แสดงความชั่วร้ายในจิตใจคือ คิดร้ายต่อสามีเป็นเหตุให้จันทโครบตาย ตัวนางเองก็ตกเป็นเมียโจร ในที่สุดร้อนถึงพระอินทร์จึงสาปให้นางโมรา เป็นชะนี ให้นางชะนีไม่มีคู่ ถ้าอยากได้คู่ก็ได้สมสู่กับค่าง อันนางโมรานี้ เป็นตัวอย่างของหญิงเลว เพื่อสอนให้ภิกษุเลิกฝักใฝ่ในสตรี           ๒๔/๑๕๒๙๑
            ๔๕๑๘. โมลิบตีนัม  เป็นธาตุลำดับที่ ๔๒ คำนี้ได้มาจากภาษากรีก ซึ่งแปลว่า ตะกั่ว เพราะว่าเนื้อโลหะของธาตุนี้ มีลักษณะอ่อนคล้ายตะกั่ว นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน สามารถสกัดแยกธาตุนี้ออกมาเป็นอิสระได้สำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕
                ในธรรมชาติธาตุนี้ไม่มีปรากฎอยู่ในภาวะอิสระ แต่จะรวมอยู่กับธาตุอื่น เป็นสารประกอบและอยู่ในลักษณะเป็นแร่ ธาตุนี้เป็นโลหะ ลักษณะเป็นของแข็งสีเทาเงิน เป็นตัวนำความร้อนได้สูงมาก เนื้อโลหะมีความยืดหยุ่นสูง ละลายได้ในกรดดินประสิว เจือจาง และในกรดกัดทอง
                โลหะนี้มีประโยชน์มากในอุตสาหกรรม เช่นใช้ในงานประเภทพลังงานนิวเคลียร์ จรวดนำวิถี ทำชิ้นส่วนของอากาศยาน ใช้ทำฉากในหลอดอีเล็คทรอนิก ใช้เจือกับเหล็กหรือกับเหล็ก และโลหะอื่นให้เป็นโลหะเจือ สำหรับใช้ทำเครื่องมือต่าง ๆ โลหะเจือดังกล่าวจะมีความแข็งแกร่ง ทนทานต่อการสึกหรอได้สูง ทนความร้อนได้ดี          ๒๔/๑๕๒๙๒
            ๔๕๑๙. โมเสส  เป็นผู้รวบรวมชาวฮิบรูขึ้นเป็นชาติอิสราเอล เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งภายหลังเรียกกันว่า ชาวยิว ชีวิตของโมเสส ก็เป็นเช่นเดียวกับผู้ก่อตั้งชาติโบราณทั้งหลายคือ เต็มไปด้วยตำนาน ซึ่งส่วนมากบันทึกอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล ตอนแรก ๆ
                ตามคัมภีร์ไบเบิล โมเสสถือกำเนิดจากตระกูลเลงีของเผ่าฮีบรูโบราณ บิดาชื่อ อัมรัม มารดาชื่อ โยเคเบด พี่สาวชื่อ มีเรียม พี่ชายชื่อ อาโรน ขณะที่โมเสสถือกำเนิดเป็นระยะเวลาที่ชาวฮีบรูหลายเผ่าตกเป็นทาสของชาวอียิปต์โบราณ รวมทั้งเผ่าเลวีด้วย ฟาโรห์กษัตริย์ของอียิปต์ จึงทรงแก้ปัญหาโดยออกกฎหมายให้ฆ่าทารกเพศชายที่เกิดใหม่ บิดามารดาของโมเสส ไม่ยอมฆ่าลูกของตนเอง จึงคิดเสี่ยงทายเอาทารกใส่ตะกร้าที่ยาชัน แล้วปล่อยให้ลอยไปตามแม่น้ำโนล์ พี่สาวเดินตามดู ตะกร้าทารกลอยไปติดอยู่หน้าวังของฟาโรห์ พระราชธิดาพบเข้าจึงรับไปเลี้ยงเป็นโอรส ให้นามว่า โมเสส แปลว่า ผู้ที่ถูกฉุดขึ้นจากแม่น้ำ
                โมเสสเติบโตในฐานะเจ้าชายอียิปต์ ภายหลังรู้ว่าตนเป็นชาวยิวก็รู้สึกสับสน เพราะไม่สามารถจะช่วยชนเชื้อสายเดียวกัน ให้พ้นจากการเป็นทาสได้ วันหนึ่งโมเสสเห็นผู้คุมทาสทำทารุณต่อทาสยิว จึงฆ่าผู้คุมคนนั้นเสีย แล้วหนีภัยไปอยู่ต่างแดน ได้ลูกสาวหัวหน้าเผ่ามีเดียน เป็นภรรยา เกิดบุตรสองคน
                พระยาห์เวห์ หรือพระยะโฮวา ได้แสดงองค์ให้โมเสสประจักษ์ ได้ยินเสียงสั่งให้ไปเป็นผู้นำชาวอิสราเอล
                โมเสส ออกเดินทางไปเฝ้าฟาโรห์ของอียิปต์ โดยมีอาโรนพี่ชายเป็นที่ปรึกษา ได้ขอร้องให้ปล่อยชาวอิสราเอลเป็นอิสระ ครั้นฟาโรห์ไม่ยอมโมเสส ก็ขู่ว่าจะเกิดเหตุร้ายต่าง ๆ และเหตุร้ายก็ได้เกิดขึ้นจริง แต่ฟาโรห์ก็ยังไม่ยอมปล่อยชาวอิสราเอล แต่ในที่สุดที่ยอมปล่อยเมื่อถูกขู่ว่าบุตรคนหัวปีทุกคน จะต้องตายในคืนเดียวกัน และโอรสของฟาโรห์ก็อยู่ในข่ายด้วย ชาวอิสราเอลจึงต้องเดินทางไปแสวงหาแผ่นดินใหม่ เพื่อตั้งรกรากดินแดนที่มุ่งหวังนี้คือ ดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งมีกษัตริย์ครอบครองเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ อยู่หลายองค์อย่างเป็นอิสระต่อกัน
                โมเสสต้องใช้เวลาอบรมฝูงชนถึง ๔๐ ปี ในทะเลทราย เมื่อฟาโรห์ปล่อยชาวอิสราเอลไปแล้วเกิดเสียดาย สั่งให้ทหารออกติดตามไปทันกันที่ทะเลแดง โมเสสก็สั่งให้ทะเลแดงแยกตัวออก ในนามของพระยาห์เวห์ ให้ชาวอิสราเอลเดินผ่านไปจนพ้นหมดทุกคน แล้วน้ำก็รวมตัวกันใหม่ เป็นเหตุให้กองทัพอิยิปต์ถูกน้ำทะเลท่วมจมน้ำตายหมด
                โมเสส ประกาศกฎหมายในนามของพระยาห์เวห์ โดยประกาศว่า พระยาห์เวห์ประทาน บัญญัติสิบประการ ให้ขณะขึ้นไปบำเพ็ญภาวนาบนภูเขาซีโน เมื่อมีการฝ่าฝืนโมเสสก็ลงโทษเป็นตัวอย่างในนามของพระยาห์เวห์ เมื่อมีความทุกข์ โมเสสก็รับผิดชอบแก้ปัญหาให้ทุกอย่าง ในนามของพระยาห์เวห์ จนกระทั่งจะเข้ารบชิงชัยในดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นที่ตั้งชาติใหม่ ก็ชี้แจงว่าเป็นดินแดนที่พระยาห์เวห์ ได้สัญญาไว้กับบรรพบุรุษว่า จะให้เป็นกรรมสิทธิ์ของชาวอิสราเอล ซึ่งเรียกว่า คานาอัน  หรือดินแดนที่พระเจ้าสัญญาว่า จะให้อันได้แก่ ดินแดนปาเลสไตน์ ในปัจจุบัน            ๒๔/๑๕๒๙๕
            ๔๕๒๐. โมหะหมัด  (ดู มะหะหมัด  - ลำดับที่ ๔๒๘๙)          ๒๔/๑๕๒๙๙
            ๔๕๒๑. ไมกา  มีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า แร่กลีบหิน ไมกาเป็นแร่ที่รู้จักกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว แต่เพิ่งจะเริ่มนำมาใช้ประโยชน์กันมากขึ้น และจริงจังในช่วงหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๔ โดยนำมาใช้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอีเล็กทรอนิกส์ สมบัติที่สำคัญคือ มีสมบัติเป็นฉนวนความร้อน ความต้านทานไฟฟ้า โดยเฉพาะสมบัติทางไดอิเล็กทริก                ๒๔/๑๕๒๙๙
            ๔๕๒๒. ไม้กางเขน  (ดู กางเขน - ลำดับที่ ...)          ๒๔/๑๕๓๐๕
            ๔๕๒๓. ไม้ดัด  เป็นต้นไม้ที่นำมาปลูกในกระถาง หรือปลูกลงดินแล้วตัดกิ่งก้าน และตัดแต่งใบให้เป็นพุ่ม หรือดัดให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ  ตามแต่ต้องการ
                การทำไม้ดัด และการเล่นไม้ดัดในหมู่คนไทยจัดเป็นศิลปะประยุกต์อย่างหนึ่ง สันนิษฐานว่า คงจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว การทำไม้ดัด แต่ก่อนนั้นนักเล่นนิยมนำไม้ มะสัง มะขาม ข่อย ชา โมก มาทำไม้ดัดที่นิยมมากคือ ไม้ตะโก              ๒๔/๑๕๓๐๕
            ๔๕๒๔. ไม้ตะพด  คือ ไม้ถืออย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ชายสมัยก่อนนิยมถือประจำมือ เพื่อประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ เช่น ใช้ถือเป็นเครื่องป้องกันตัว ใช้คุมวัวควายไปเลี้ยง ฯลฯ ไม้ตะพดมีลักษณะเป็นไม้ท่อนกลม ยาว ๘๐ - ๑๐๐ ซม. นิยมใช้ไม้ไผ่เปร็งทำไม้ตะพด โดยเลือกไม้ที่แก่จัด มีข้อดี เนื้อแน่นตัน เพราะต้องการน้ำหนักของไม้ด้วย
                ไม้ตะพด แบบพื้นบ้านมักเป็นไม้เกลี้ยงไม่มีลวดลาย มักใช้ด้ายดิบทำเป็นบ่วงขนาดพอดี คล้องข้อมือผู้ที่ถือตรงส่วนปลายไม้ ส่วนไม้ตะพดที่ใช้ถืออวดประกวดกันนั้น มักจะได้รับการตกแต่งให้งาม ทั้งทำลวดลายและประดับด้วยสิ่งมีค่าต่าง ๆ จนเป็นของมีราคาค่างวด กล่าวคือ เลี่ยมปลายด้วยเงินบ้าง นาค บ้าง
                สมัยก่อนขึ้นชื่อว่าลูกผู้ชายแล้ว ต้องมีไม้ตะพดไว้ถือประจำมือทุกคน แทนการถือดาบ เนื่องจากสมัยก่อนถือว่าดาบเป็นอาวุธร้ายแรง ชาวบ้านจะถือดาบออกไปนอกเขตบ้านเรือนของตน หรือถือดาบเปลือยฝักในที่สาธารณะ โดยไม่มีเหตุผลอันควรไม่ได้ สมัยต่อมาคนที่อยู่ในเมืองหลวง และหัวเมืองใหญ่ตั้งข้อรังเกียจ พวกผู้ชายถือไม้ตะพดติดมือว่า เป็นพวกนักเลงหัวไม้ พวกผู้ชายตามเมืองใหญ่จึงเปลี่ยนไปนิยมถือไม้แทนถือไม้ตะพด ไม่ถือนี้เป็นไม้เท้าที่สั่งจากต่างประเทศเข้ามาขาย          ๒๔/๑๕๓๑๙
            ๔๕๒๕. ไมยราบ  เป็นชื่อพรรณไม้หลายชนิด ในประเทศไทยมีสามชนิดได้แก่
                        ๑. ไมยราบเลื้อย  เป็นไม้พุ่ม กิ่งก้านอ่อน เลื้อยทอดยาวได้ถึงหนึ่งเมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมมีขนาดเล็ก ทั้งสี่ด้านของลำต้นมีหนามแหลมโค้ง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ช่อดอกเดี่ยวหรือคู่เกิดตามง่ามของก้านใบรวม ช่อดอกคล้ายดอกกระถินสีชมพู อมม่วง ประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ รวมกันเป็นกระจุก ฝักรวมอยู่เป็นกระจุก รูปขอบขนานโค้งเล็กน้อย
                        ๒. ไมยราบต้น  มีชื่ออื่น ๆ คือ ไมยราบน้ำ ไมยราบยักษ์ เป็นไม้พุ่มสูงได้ถึง ๔ เมตร แตกกิ่งก้านสาขา มีหนามแหลมสั้น ขึ้นห่าง ๆ ทั่วลำต้น ใบประกอบแบบขนนก สองชั้น ช่อดอกประกอบด้วยก้านช่อดอกออกเป็นคู่ ในซอกใบที่อยู่ตรงใบที่ใกล้ยอด ช่อดอกเป็นกระจุกกลมคล้ายดอกกระถิน สีชมพู ปนม่วง ประกอบด้วยดอกย่อยเล็ก ๆ จำนวนมาก ผลเป็นฝักติดเป็นกระจุก ฝักค่อนข้างแบน รูปขอบขนานแกมรูปแถบ
                        ๓. ไมยราบ  เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว หรือหลายฤดู มักเลื้อยทอดไปตามดินสูงได้ถึง ๑ เมตร ใบประกอบเกือบคล้ายแบบนิ้วมือ ใบประกอบมีสองคู่ ช่อดอกมีก้านดอกรวม ออกเดี่ยวหรือออกเป็นคู่ในซอกใบ ปลายก้านเป็นดอกกระจุก คล้ายดอกกระถิน สีชมพู อมม่วง ฝักมีเป็นจำนวนมาก อยู่ติดกันเป็นกระจุก รูปขอบขนาน          ๒๔/๑๕๓๒๕
 
 

            ๔๕๒๖. ย พยัญชนะตัวที่ ๓๔  ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ รูปของไทย  เป็นตัวสะกดแม่ เกย
                รูปอักษร ย ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ นับเป็นตัวอักษรไทยที่คงลักษณะของตัวอักษรสมัยพ่อขุนรามคำแหงไว้มากที่สุดรูปหนึ่ง
                อักษร ย ออกเสียง โดยใช้แผ่นลิ้นส่วนหน้าแตะเพดานปากด้านบน เป็นเสียงกึ่งสระและเสียงก้อง ซึ่งมีลักษณะผสมของพยัญชนะและสระผสมกัน อักษร ย ใช้เป็นทั้งพยัญชนะต้น และตัวสะกดในภาษาไทย           ๒๔/๑๕๓๒๘
            ๔๕๒๗. ยกกระบัตร  (ดูที่ พลาธิการ - ลำดับที่ ๓๘๖๓)           ๒๔/๑๕๓๒๙
            ๔๕๒๘. ยชุรเวท  พระเวทของพราหมณ์คือ ความรู้เกี่ยวกับสูตรที่ว่าด้วยการประกอบ ยัญ (การเซ่น การบูชา) หรือความรู้ที่เกี่ยวกับการบวงสรวง ยชุรเวทมีสองสาขาคือ
                        ๑. ศุกลยชุรเวท คือ ยชุรเวทขาว มีบทสวดเป็นระเบียบ และมีคำอธิบายกฎเกณฑ์ ของการประกอบยัญ ไม่ปะปนหรือคละไปกับบทสวด
                        ๒. กฤษณยชุรเวท คือ ยชุรเวทดำ มีความไม่เป็นระเบียบคือ มีบทสวดรวมกันกับคำอธิบาย หรือข้อแนะนำเกี่ยวกับยัญวิธี               ๒๔/๑๕๓๒๙
            ๔๕๒๙. ยนต์ - เครื่อง  เป็นเครื่องกลที่เปลี่ยนพลังงานความร้อน เป็นพลังงานกล เครื่องยนต์โดยทั่วไปแบ่งเป็นสองประเภทคือ
                        ๑. ประเภทเผาไหม้ภายนอก  ใช้เชื้อเพลิงที่เผาไหม้ในเตา หรือเครื่องปฎิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งให้ความร้อนผ่านอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน ไปสู่ของไหลทำงานอยู่ภายในเครื่องยนต์ ความร้อนถูกถ่ายเผาผนังเตา หรือหม้อไอน้ำเข้าสู่ของไหลทำงาน
                        ๒. ประเภทเผาไหม้ภายใน  ใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้กับอากาศภายในเครื่องยนต์  แก๊สร้อนที่เป็นผลผลิตจากการเผาไหม้เป็นของไหล ทำงานในเครื่องยนต์ ที่นิยมใช้กันมากคือ
                            ๒.๑  เครื่องยนต์แกโชลีน หรือเบนซิน จากเครื่องยนต์จุดระเบิด มีหลักการทำงานตามวัฎจักรออตโต  เชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องยนต์ชนิดนี้ ตามปรกติเป็นไฮโดรคาร์บอน อิ่มตัวเหลว ที่มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันได้แก่ แกโซลีน เบนซิน และปิตรอล เชื้อเพลิงอื่นอาจนำมาใช้กับเครื่องยนต์นี้ได้แก่ แก๊สปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีวี แก๊สโปรดิวเซอร์ ที่ประกอบด้วย คาร์บอนมอนนอกไซด์ และไฮโดรเจน แอลกอฮอล์ แกโซฮอล หรือ แอลกอแก๊ส ที่ประกอบด้วย แกโซลีน ผสมกับแอลกอฮอล์
                            ๒.๒  เครื่องยนต์ดีเซล  หรือเครื่องยนต์อัดระเบิด โดยใช้อากาศอัดด้วยความดันสูงกว่าเครื่องยนต์แกโซลีน เป็นผลให้อุณหภูมิของอากาศอัดสูงกว่าอุณหภูมิติดไฟของเชื้อเพลิง เมื่อพ่นน้ำมันดีเซลผ่านหัวฉีด เข้าไปผสมกับอากาศที่อัดก็จะทำให้ติดไฟ และระเบิดเองโดยไม่ต้องใช้หัวเทียน เครื่องยนต์ดีเซลจึงทำงานได้ประสิทธิภาพสูงกว่า เครื่องยนต์แกโซลีน เมื่อคิดต่อหน่วยความร้อนที่ใช้ป้อนเข้า
                            ๒.๓  เครื่องยนต์กังหันแก๊ส  อากาศที่ถูกอัดให้มีความดันสูงด้วยเครื่องอัด ถูกส่งเข้าห้องเผาไหม้ที่มีเชื้อเพลิงฉีดเข้ามา แก๊สร้อนที่เป็นผลจากการเผาไหม้ถูกป้อนเข้าถังหับแก๊ส แก๊สจะขยายตัวทำให้กังหันหมุน แล้วไอเสียจะออกจากถุงกังหันด้วยอุณหภูมิ และความดันต่ำลง เชื้อเพลิงที่ใช้อาจเป็นน้ำมันเคโรซีน ดีเซล หรือแก๊สธรรมชาติก็ได้          ๒๔/๑๕๓๓๓
            ๔๕๓๐. ยม  แม่น้ำ ยอดน้ำเกิดจากลำน้ำเล็ก ๆ หลายสาขาจากภูเขาสันปันน้ำ และดอยภูรังกา ใน อ.ปง จ.พะเยา ไหลลงทางทิศใต้ ผ่าน จ.แพร่ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์ ไปร่วมแม่น้ำน่านที่หน้าวัดพระธาตุ บ้ายเกยชัย อ.ชุมแสง ยาว ๗๐๐ กม.  หน้าแล้งตอนเหนือน้ำแห้ง ตอนใต้มีน้ำแต่น้อยเรือเดินไม่สะดวก มีแก่งอยู่หลายแก่ง          ๒๔/๑๕๓๓๗
            ๔๕๓๑. ยมกปาฎิหารย์  มีบทนิยามว่า "ปาฎิหารย์ที่แสดงเป็นคู่ ๆ เป็นปาฎิหารย์ที่พระพุทธเจ้า ทรงกระทำที่ต้นมะม่วง ทรงบันดาลให้ท่อน้ำท่อไฟ ออกจากส่วนของพระกายเป็นคู่ ๆ กัน "
                มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าจะทรงแสดงยมกปาฎิหารย์ เพราะพระพุทธองค์ทรงตำหนิพระสาวกที่แสดงอุตริมนุสธรรม ด้วยเหตุที่ไม่สมควร และได้ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้พระสาวกแสดงปาฎิหารย์ไว้ พวกเดียรถีย์จึงถือโอกาสนี้ประกาศว่า พวกตนจะแสดงปาฎิหารย์บ้าง เป็นสาเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องทรงแสดงยมกปาฎิหารย์ด้วยพระองค์เอง            ๒๔/๑๕๓๓๘
            ๔๕๓๒. ยมุนา หรื ยมนา  เป็นชื่อแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งในจำนวนแม่น้ำใหญ่ห้าสาย แม่น้ำมุนา มีต้นน้ำเกิดจากภูเขาหิมาลัยตอนเหนือของอินเดีย ไหลลงทางใต้ผ่านเมืองมัสซูรี เดหะราดูน มูซีฟฟาร์นคร เดลี มถุนา และอัครา จากนั้นไหลไปทางทิศตะวันออกผ่านเมืองกานปูร์ แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเมืองฟาเตปูร์ ไปรวมกับแม่น้ำคงคา ที่เมืองอัลลาฮาบาด ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองโกสัมพี แม่น้ำนี้ยาว ๑,๓๘๕ กม. ปัจจุบันเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชุมนา           ๒๔/๑๕๓๔๔
            ๔๕๓๓. ยวน  เป็นชื่อเรียกชาวไทยล้านนาไทย มีบทนิยามว่า "ชื่อชนชาติกรีก , ชาวอินเดีย เรียกเพี้ยนมาจากคำ ไอโอเนีย ; เรียกชาวไทยทางล้านนาว่า ไทยยวน ,เพี้ยนเป็น เยาวนะ โยน หรือโยน ก็มี"
                คำว่า ยวน เป็นชื่อที่คนในถิ่นใกล้เคียงโดยรอบ เรียกมาแต่ดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่หนึ่ง ชนชาติอ้ายลาว (ไทย) ได้มาตั้งแคว้นขึ้น ในท้องที่ของยวนหรือกะเหรี่ยงนี้ เมืองใหญ่ ๆ คือ เมืองเล็ม เชียงรุ้ง เชียงตุง และเชียงแสน ตามตำนานท้องถิ่นชนชาติอ้ายลาวได้สู้รบสลัดแอกกะเหรี่ยงได้ และได้เป็นใหญ่ขึ้น ตั้งแต่นั้นมาก็เลยสวมชื่อยวน หรือกระเหรี่ยง อยู่ในแดนนั้น พวกพม่ายังคงเรียกดินแดนตะวันออกของแม่น้ำสาละวินว่า ยวน และเรียกพวกชาน ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในแคว้นยวนนี้ว่า  ยวนชาน (หรือไทย) เมืองยวนเหล่านี้ ยังคงเป็นเมืองของคนไทยอยู่ และคำว่า ยวน ก็ยังคงใช้อยู่ในถิ่นเหล่านี้
                สมัยอยุธยา ชาวไทยในอยุธยาเรียกชาวไทยในล้านนาไทยว่า ยวน ดังปรากฎในลิลิตยวนพ่าย           ๒๔/๑๕๓๔๕
            ๔๕๓๔. ยวนซีไข  (พ.ศ.๒๔๐๒ - ๒๔๕๙)  เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ในสมัยราชวงศ์ชิง หรือแมนจู (พ.ศ.๒๑๘๗ - ๒๔๔๕)  เคยสนับสนุนพระนางซูสีให้กำจัดจักรพรรดิ์กวางสู และทำลายการปฎิรูปประเทศ ๑๐๐ วัน (พ.ศ.๒๔๔๑)  ซึ่งเป็นการปฎิรูปประเทศให้ทันสมัยได้สำเร็จ ยวนซีไขได้เป็นประธานาธิบดีคนที่สองของประเทศจีน ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ สืบต่อจากซุนยัดเซน เขาลดอำนาจพรรคการเมือง ยุบสภา ตั้งตนเป็นผู้เผด็จการในปี พ.ศ.๒๔๕๗ และประกาศตั้งตนเป็น จักรพรรดิ์ ในปี พ.ศ.๒๔๕๘           ๒๔/๑๕๓๔๗
            ๔๕๓๕.  ยวนพ่าย  เป็นวรรณคดีชิ้นเอกของไทยสมัยอยุธยา เรียกกันว่า ยวนพ่ายโคลงดั้น แต่บางทีก็เรียกว่า ลิลิตยวนพ่าย กระบวนการแต่งและภาษาที่ใช้มีความวิจิตรบรรจงเป็นเลิศ แสดงให้เห็นว่าผู้แต่งเป็นผู้ที่มีความรู้สูง
                คำว่า ยวน ที่ปรากฎในเรื่องนี้ หมายถึง โยนก อันเป็นชื่อเรียกคนที่อยู่ในแคว้นล้านนา มาแต่โบราณ
                เนื้อเรื่องยวนพ่าย โดยย่อกล่าวถึงสงครามระหว่างไทยกับล้านนา เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๔ พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ยกทัพมาตีเมืองชากังราวของไทยได้แล้ว เลยมาตีเมืองสุโขทัยแต่ตีไม่ได้ จึงยกทัพกลับ ได้มีการสู้รบกันอีกหลายครั้งจนถึงปี พ.ศ.๒๐๑๘ พระเจ้าติโลกราช ได้แต่งทูตมาขอหย่าศึก และขอเป็นไมตรีกับไทย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยอมรับเป็นไมตรีด้วย การสงครามยวนพ่ายก็ยุติลง           ๒๔/๑๕๓๕๖
            ๔๕๓๖. ยโสวรมันที่หนึ่ง ,พระเจ้า  (พ.ศ.๑๔๓๒ - ๑๔๕๓)  เป็นกษัตริย์ที่สำคัญองค์หนึ่งของขอม ทรงเป็นทั้งกษัตริย์นักรบและนักก่อสร้าง ได้ขยายเขตแดนของขอมให้กว้างใหญ่ไพศาล และสร้างกรุงยโศธรปุระ ให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ รวมทั้งสร้างศาสนสถานต่าง ๆ อีกมาก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร นอกจากนั้น ยังให้ตัดถนนยาว ๑๖ กม. ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สู่บริเวณที่พระองค์มีแผนการก่อสร้างราชธานีใหม่ ปัจจุบันเรียกว่า กลุ่มเมืองพระนคร                ๒๔/๑๕๓๗๒
            ๔๕๓๗. ยโสธร  จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือ จด จ.นครพนม และ จ.ร้อยเอ็ด ทิศตะวันออก จด จ.อุบลราชธานี ทิศใต้ จด จ.ศรีษะเกษ ทิศตะวันตก จด จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศทางตอนเหนือมีภูเขาขนาดเล็ก สลับซับซ้อนกันหลายจุด และเป็นป่าทึบ ส่วนมากเป็นป่าสงวน ทางตอนตะวันตก และตอนตะวันออก ส่วนมากเป็นที่ราบ และมีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ทางตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มมีหนองบึง
                จ.ยโสธร  เดิมเป็นหมู่บ้าน เรียกว่า บ.สิงห์ท่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๕๗ ได้ยกฐานะเป็นเมืองยโสธร มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ รวมเข้าอยู่ในบริเวณอุบลราชธานี แล้วแยกเป็นสองอำเภอ เรียก อำเภออุทัยยโสธร และอำเภอประจิม ยโสธร ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๐ ยุบลงเพื่อจัดตั้ง จ.อุบลราชธานี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ย้าย อ.อุทัยยโสธร ไปตั้งที่ ต.ลุมพุก และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.คำเขื่อนแก้ว ส่วน อ.ประจิม ยโสธร ตั้งอยู่ในตัวเมืองที่ ต.ในเมือง แล้วเปลี่ยนเป็น อ.ยโสธร ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ถึงปี พ.ศ.๒๕๑๕ ยกฐานะเป็น จ.ยโสธร
                สิ่งสำคัญในจังหวัดนี้มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุคือ ธาตุก่องข้าวน้อย ที่ ต.ตาดทอง อ.เมือง เจดีย์วัดมหาธาตุ เชื่อกันว่าบรรจุของพระอานนท์ อยู่ที่วัดมหาธาตุ อ.เมือง ฯ พระนอนภูถ้ำพระ ต.กุดเชียงหมี อ.เลิงนกทา            ๒๔/๑๕๓๗๖
            ๔๕๓๘. ยโสธรา  เป็นพระนามหนึ่งของพระชายาเจ้าชายสิทธัตถะคือ พระพุทธเจ้าสมณโคดม ก่อนเสด็จออกผนวช พระนางเป็นพระธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งโกลิยวงศ์ ในนครเทวทหะ กับพระนางอมิตา พระกนิษฐภคินี ของพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา
            เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีได้ พระนางยโสธรา พร้อมด้วยศากยกุมารีจำนวนมาก ได้ออกผนวชตาม พระนางปฎิบัติสมณธรรมด้วยความเพียร ในที่สุดก็ทรงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ สามารถระลึกชาติได้หนึ่งอสงขัย กับแสนกัป พระนางปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๗๘ พรรษา            ๒๔/๑๕๓๗๗
            ๔๕๓๙. ยอ - เครื่องมือจับสัตว์  เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ประเภทหนึ่งมีสามชนิดคือ
                        ๑. ยอยก  เป็นยอที่ติดตั้งอยู่กับที่มีขนาดเล็ก พบทั่วไปทุกภาคมีส่วนประกอบคือ
                            ๑.๑  ตาข่ายยอ  ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า มีขนาดแตกต่างกันไป โดยทั่วไปมีขนาด ๑ - ๑.๕ เมตร มีเชือกคร่าว สำหรับยึดผืนตาข่ายโดยรอบ ที่มุมทั้งสี่จะทิ้งปลายเชือกคร่าวไว้สำหรับผูกกับแขนยอ
                            ๑.๒  แขนยอ  ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียวจากโคนไปหาปลายยาว ๑.๕ เมตร จำนวนสี่อัน
                            ๑.๓  ที่ยึดแขนยอ  ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ตัดเป็นท่อน พอดีตาไม้ให้เหลือที่เป็นตา ปิดปากกระบอกไว้ทั้งสองข้าง จำนวนสองท่อน
                            ๑.๔  ด้ามยอ  ทำด้วยไม้ไผ่ หรือไม้รวกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางพอดีกับมือ ยาว ๒ - ๒.๕ เมตร ตอนปลายด้ามผูกโยงกับเชือกที่ร้อยติดอยู่กับภายนอก ที่ยึดแขนยอ
                        ๒. ยอขันช่อ  เป็นยอที่ติดตั้งอยู่กับที่ และบางรายนำไปติดตั้งเข้ากับเรือแจว ลักษณะคล้ายคลึงกับยอยก แต่ขนาดใหญ่กว่า
                        ๓. ยอปีก  เป็นยอที่ติดตั้งอยู่กับที่ มีลักษณะคล้ายกับยอยก แต่มีขนาดใหญ่กว่า และมีปีกสำหรับปิดกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ ให้เดินทางลงสู่พื้นที่ยอ พบได้ตามชายฝั่งทะเลทั่วไป        ๒๔/๑๕๓๘๐
            ๔๕๔๐. ยอ - ต้น  เป็นไม้พุ่มและไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับระนาบกัน ดอกเล็กสีขาวออกเป็นกระจุกเบี้ยว ๆ ตามง่ามใบ ผลแก่เนื้อนุ่มผิวขรุขระ สีขาวหมุ่น หรือขาวเหลือง ใบอ่อนใช้ปรุงอาหาร ผลสุกใช้ทำยาได้          ๒๔/๑๕๓๘๘
            ๔๕๔๑. ยอดฟ้า พระ หรือ พระแก้วฟ้า  (พ.ศ.๒๐๘๘ - ๒๐๙๑)  พระยอดฟ้าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๘๘ - ๒๐๙๑ นับเป็นรัชกาลที่ ๑๔ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชา ที่ประสูติจากท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอก ในปี พ.ศ.๒๐๗๘ ครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๑ พรรษา โดยมีท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สำเร็จราชการ ต่อมาขุนวรวงศาธิราชและพวกได้กำจัดพระยอดฟ้า โดยนำไปปลงพระชนม์ ที่วัดโคกพระยา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ ขณะพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา              ๒๔/๑๕๓๘๘
            ๔๕๔๒. ยะไข่   ยะไข่ หรืออาระกัน  เป็นชื่อรัฐหนึ่งของประเทศพม่า ในอดีตก่อนปี พ.ศ.๒๓๒๗ ซึ่งเป็นปีที่พม่าผนวกยะไข่ไว้ในอำนาจ ยะไข่เป็นอาณาจักรอิสระ และมีประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับแคว้นเบงกอล อาณาจักรพม่า และมอญ มาเป็นเวลาอันยาวนาน
                รัฐยะไข่ ตั้งอยู่สุดแดนทางทิศตะวันตกของประเทศพม่า หรืออยู่ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล มีพื้นที่ประมาณ ๓๖,๗๐๐ ตร.กม. และมีฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกยาวประมาณ ๕๖๐ กม. ทางทิศตะวันออกของรัฐยะไข่ มีเทือกเขายะไข่ หรืออาระกันโยมา ซึ่งมีความสูง ๓,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ฟุต ทอดตัวจากเหนือลงใต้ เป็นดุจกำแพงที่กั้นรัฐยะไข่ไว้จากดินแดน ส่วนใหญ่ของพม่า ในอดีตการติดต่อทางบก ระหว่างยะไข่กับพม่าเกือบจะกระทำไม่ได้เลย นอกจากผ่านช่องเขาสองช่องคือ ช่องเขาอัน ที่ใช้ออกไปสู่เขตมินบู และช่องเขาตาวกุบ ใช้ออกไปสู่เมืองแปร เหตุนี้ยะไข่จึงมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ที่แยกต่างหากจากพม่าเป็นส่วนใหญ่ เมืองสำคัญคือ เมืองอัคยับ ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ มาตั้งแต่อังกฤษเข้ายึดครองรัฐยะไข่ได้ในปี พ.ศ.๒๓๖๙
                ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวยะไข่ บางส่วนเป็นชาวอินเดีย และบังคลาเทศ ชาวยะไข่เป็นเชื้อสายเดียวกับชาวพม่า ภาษาที่ใช้พูดก็เป็นภาษาพม่า ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา และส่วนน้อยนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ชาวยะไข่มุสลิมเหล่านี้เรียกว่า โรฮิงยา ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมากจากชาวอินเดียมุสลิมในเบงกอล ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือของยะไข่ในเขตมลายู ส่วนชาวยะไข่ที่นับถือพระพุทธศาสนา อยู่กันมากทางภาคใต้
                นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ชนเชื้อสายพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัฐยะไข่ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ก่อนหน้านั้น บริเวณรัฐยะไข่เป็นถิ่นที่อยู่ของพวกอินเดีย ที่มาจากฝั่งตะวันตกของอ่าวเบงกอล ราชวงศ์ที่ปกครองบริเวณนี้ก็เป็นราชวงศ์อินเดีย นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า พระพุทธศาสนาได้แพร่เข้าสู่รัฐยะไข่ ก่อนดินแดนอื่น ๆ ในพม่าจะเห็นได้จากพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของยะไข่คือ พระมหามุนี อายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘ - ๙  ก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ ๑๕ บริเวณรัฐยะไข่มักถูกพวกไทยใหญ่ พม่า และเบงกอล บุกปล้นสดมภ์อยู่เสมอ จนกระทั่งพม่าได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานได้อย่างถาวร
                ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พระเจ้าอนิรุทธ์ แห่งอาณาจักรพุกามของพม่า ได้เข้ามาปราบปรามยะไข่ ทำให้ยะไข่ต้องอยู่ใต้อำนาจของพุกามเรื่อยมา จนพุกามถูกกองทัพมองโกลโจมตีในปี พ.ศ.๑๘๓๐ ยะไข่เป็นอิสระอยู่ได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องเผชิญกับการรุกรานของแคว้นเบงกอล อาณาจักรพม่า และมอญ สลับกันไป ในปี พ.ศ.๑๙๔๗ พม่าได้เข้ามามีอิทธิพลในยะไข่อีก อาณาจักรยะไข่จึงขอความช่วยเหลือจากเบงกอล กษัตริย์ยะไข่ต้องทรงยินยอมมีนามแบบอิสลามต่อท้ายพระนาม ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ยะไข่มีเมืองหลวงชื่อ มยาวอุ และยืนยาวต่อมาถึงปี พ.ศ.๒๓๒๗
                ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ยะไข่ต้องเผชิญกับความวุ่นวายภายใน กษัตริย์ส่วนใหญ่ถูกปลงพระชนม์ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.๒๐๗๔ - ๒๐๙๖ ยะไข่มีกษัตริย์ที่มีความสามารถพระนามว่า มินบิน สามารถเป็นอิสระจากเบงกอล และการรุกรานจากพม่า ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาค้าขายกับยะไข่ พระเจ้ามินบินจัดให้มีกองทหารรับจ้างโปร์ตุเกส ในบางครั้งกองกำลังผสมของยะไข่ และโปร์ตุเกส ได้บุกรุกเข้าไปจนถึงลุ่มน้ำคงคา จนได้รับสมญานามว่า ภัยสยองแห่งลุ่มน้ำคงคา
                ยะไข่ ได้ใช้กองกำลังรับจ้างโปร์ตุเกส เข้าทำลายเมืองหงสาวดี และยึดเมืองสิเรียมของพม่าไว้ได้ ในปี พ.ศ.๒๑๔๒ และยินยอมให้ชาวโปร์ตุเกสชื่อ ฟิลิป เดอ บริโด เป็นเจ้าเมืองสิเรียม
                ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ รัชสมัยพระเจ้าสันทธรรม (พ.ศ.๒๑๙๕ - ๒๒๒๗) ยะไข่ได้ทำสงครามกับเบงกอล ราชวงศ์มุกัล สามารถยึดเมืองจิตตะกอง และเมืองเดียนกา  ได้ในปี พ.ศ.๒๒๐๙ หลังจากนั้น ยะไข่ได้อ่อนแอลงมาก และพม่ายึดยะไข่ได้ในปี พ.ศ.๒๓๒๗ พระเจ้าสะมะดา พระราชวงศ์และชาวยะไข่ ราว ๒๐,๐๐๐ คน ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย พระมหามุนี ถูกนำไปประดิษฐานที่อังวะ ชาวยะไข่เป็นจำนวนมากได้หนีไปอยู่ในเขตแคว้นเบงกอล โดยเฉพาะที่เมืองจิตตะกอง
                อังกฤษได้ประกาศสงครามกับพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗ เรียกว่า สงครามอังกฤษ - พม่า ครั้งที่หนึ่ง พม่าต้องยกแคว้นยะไข่ ตะนาวศรี อัสสัม และมณีปุระ ให้อังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๙๕ ได้เกิดสงครามอังกฤษ - พม่า ครั้งที่สอง พม่าแพ้ต้องเสียแคว้นพะโค ให้อังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๕ อังกฤษได้รวมแคว้นยะไข่ ตะนาวศรี และพะโค เข้าเป็นหน่วยปกครองเดียวกัน เรียกว่า พม่าของอังกฤษ โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ต่อมาเมื่ออังกฤษยึดครองพม่าได้หมดในปี พ.ศ.๒๔๒๘ อังกฤษกำหนดให้ยะไข่เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่า
                 นโยบายของอังกฤษก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างชาวยะไข่ ที่นับถือพระพุทธศาสนากับที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เป็นปัญหา อังกฤษจัดให้ชาวอินเดียเข้ามาอยู่ในพม่าเป็นจำนวนมากเป็นเหตุให้ชาวมุสลิมในพม่ามีมากขึ้น รวมทั้งยะไข่ด้วย มุสลิมในยะไข่อยู่กันหนาแน่นทางภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในเขตมายู
                เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง พรรคการเมืองของพม่าที่มีนายพลอองซานเป็นผู้นำ ได้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ อังกฤษสัญญาว่าจะปล่อยพม่าเป็นอิสระ พรรคการเมืองนี้มีนโยบายสนับสนุนชาวพุทธในยะไข่ ทำให้ชาวมุสลิมไม่พอใจเกิดการปะทะกันระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมในยะไข่ พวกโรฮิงยา บางส่วนเรียกร้องให้นำยะไข่เหนือไปรวมกับปากีสถาน (ปัจจุบันคือ บังกลาเทศ)  แต่รัฐบาลปากีสถานไม่ยอมสนับสนุน เพราะเกรงจะมีปัญหากับพม่า  พวกโรฮิงยา ส่วนหนึ่งได้จัดตั้งกองกำลังขึ้น เพื่อก่อกวนเจ้าหน้าที่รัฐบาล และชาวพุทธ กองกำลังนี้เรียกว่า มูจาฮีด (นักรบในสงครามศักดิ์สิทธิ์)
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙ๆ เกิดกบฎขึ้นในยะไข่ภาคใต้ ผู้นำกบฎเคยเป็นผู้นำกองกำลังยะไข่ต่อต้านญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมาก่อน ฝ่ายกบฎมีจุดมุ่งหมายจะแยกรัฐยะไข่ ให้เป็นอิสระทั้งจากอังกฤษและจากพม่า ฝ่ายกบฎได้รับความร่วมมือจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ฝ่ายที่เรียกว่า ธงแดง ฝ่ายพม่าปราบกบฎได้ในปีเดียวกัน โดยจับหัวหน้าได้ แต่ฝ่ายกบฎยังคงต่อสู้กับรัฐบาลต่อไป
                ในปี พ.ศ.๒๔๙๑  พม่าได้รับเอกราชและได้เกิดการจลาจลขึ้นทั่วประเทศ เพราะเกิดจากกลุ่มชนหลายฝ่าย การก่อความวุ่นวายของพวกมูจาฮีดในยะไข่ภาคเหนือ ได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นกบฎ พวกมูจาฮีดไม่พอใจรัฐบาลพม่า ที่ไม่ยอมให้พวกมุสลิมจากยะไข่ ที่ลี้ภัยเข้าไปในอินเดียกลับเข้ามา และยังยึดที่ดินของชาวมุสิลมเหล่านั้นไป ให้ชาวยะไข่ที่เป็นชาวพุทธ พวกกบฎยะไข ่และพวกมูจาฮีด ตกลงที่จะแบ่งยะไข่ออกเป็นสองส่วนคือ ภาคเหนือเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมุสลิม และภาคใต้ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวพุทธ พวกมูจาฮีดสามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ ในเขตมลายูได้ยกเว้นเมืองอัดยับ ต่อมารัฐบาลพม่าโดยกองทัพพม่าสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ทำให้พวกมูจาฮีดในยะไข่หยุดการเคลื่อนไหวไประยะหนึ่ง แต่ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ก็ก่อการกบฎอีกในเขตมลายู แต่ถูกรัฐบาลพม่าปราบได้ พวกมูจาฮีดยังคงปฎิบัติการก่อกวนรัฐบาล และลักลอบนำสินค้าเถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลักลอบนำข้าวไปขายในปากีสถาน รวมทั้งมีส่วนลอบนำชาวมุสลิมจากจิตตะกอง เข้ามาอยู่ในยะไข่ด้วย
                รัฐธรรมนูญพม่าฉบับปี พ.ศ.๒๔๙๐ กำหนดให้ยะไข่เป็นส่วนหนึ่งของพม่าอย่างแท้จริง โดยมีฐานะเป็นภาค แต่ยินยอมให้ดินแดนชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เช่น ไทยใหญ่ คะฉิ่น ฉิ่น และกะเหรี่ยง มีฐานะเป็นรัฐ ที่สามารถปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง และมีสิทธิ์ที่จะแยกตัวออกจากพม่าได้ในอนาคต ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๓  อูนุ นายกรัฐมนตรีพม่าในขณะนั้น มีนโยบายที่จะจัดให้ดินแดนยะไข่ และมอญ เป็นรัฐตามคำสัญญาที่ให้ไว้ในสมัยหาเสียงเลือกตั้ง พวกโรฮิงยาได้เรียกร้องให้แยกเขตมลายูออก ขึ้นโดยตรงต่อรัฐบาลกลาง เพราะไม่ต้องการอยู่ใต้การบริหารของรัฐยะไข่ในอนาคต ด้วยเกรงว่าจะทำให้มุสลิมต้องอยู่ใต้การควบคุมของชาวยะไข่ ที่เป็นชาวพุทธ อูนุยอมผ่อนปรนตามข้อเรียกร้อง เพราะในร่างกฎมายจัดตั้งรัฐยะไข่ เขตมลายูถูกแยกไว้ต่างหาก แต่อูนุไม่สามารถตั้งรัฐยะไข่ และมอญได้สำเร็จ เพราะพรรคฝ่ายค้านต่อต้านนโยบายนี้ และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๕ นายพลเนวิน ได้ทำการปฎิวัติล้มรัฐบาลอูนุ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ เพื่อป้องกันการแตกสลายของสหภาพพม่า อันเนื่องมาจากความต้องการเป็นอิสรภาพของพวกชนกลุ่มน้อย สภาปฎิวัติได้ยกเลิกหลักการให้อำนาจปกครองตนเอง และอภิสิทธิ์ต่าง ๆ  แก่ชนกลุ่มน้อย ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพพม่า ยะไข่เป็นรัฐเช่นเดียวกับรัฐของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อีกหกรัฐ ส่วนดินแดนที่อยู่ของชาวพม่าแท้ แบ่งออกเป็นภาคมีอยู่เจ็ดภาค ชนกลุ่มน้อยในยะไข่ไม่พอใจ จึงดำเนินการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของพวกตนต่อไป โดยตั้งพรรคปลดแอกยะไข่ ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๗ รัฐบาลพม่าสืบทราบได้ว่า ขบวนการปลดแอกรัฐยะไข่ได้รับการช่วยเหลือจากบังคลาเทศ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเกิดความตึงเครียดขึ้น รัฐบาลพม่าเริ่มทำการกวาดล้างชาวมุสลิมที่รัฐบาลถือว่า เป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองในรัฐยะไข่เป็นการใหญ่
                ในปี พ.ศ.๒๕๒๑  พวกมุสลิมจากรัฐยะไข่ได้หนีเข้าไปในบังกลาเทศ เป็นจำนวนถึงสองแสนคน รัฐบาลบังกลาเทศกล่าวหาว่ารัฐบาลพม่าผลักดันให้ชาวมุสลิมเหล่านี้ ให้ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และเรียกร้องให้พม่ารับกลับคืนไป แต่พม่ากล่าวว่า ชาวมุสลิมดังกล่าวเป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดอีกครั้ง ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๓๔ - ๒๕๓๕  เมื่อพวกโรฮิงยา กล่าวหาว่าทหารพม่าทำทารุณกรรมต่อพวกตน เป็นเหตุให้พวกโรฮิงยา ประมาณสามแสนคน ต้องลี้ภัยไปอยู่ในบังกลาเทศ         ๒๔/๑๕๓๙๐
            ๔๕๔๓. ยะรัง  อำเภอ ขึ้น จ.ปัตตานี ภูมิประเทศตอนกลางและตอนใต้ เป็นที่ราบลุ่ม ตอนเหนือเป็นที่ดอน มีภูเขาเล็ก ๆ และมีที่ราบลุ่มบ้าง พลเมืองเป็นชายไทยอิสลามเกือบทั้งหมด ทำนา ทำสวนยางพารา และสวนผลไม้          ๒๔/๑๕๔๐๐
            ๔๕๔๔. ยะลา  จังหวัดภาคใต้ ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย มีอาณาเขตทางทิศเหนือจด จ.ปัตตานี ทิศตะวันออกจด จ.นราธิวาส ทิศใต้จดประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตกจด จ.สงขลา และประเทศมาเลเซีย ภูมิประเทศทางใต้ และทางตะวันตกเป็นที่สูง มีป่าทึบตามแนวพรมแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียเป็นเทือกเขาสูงติดต่อกัน   เกือบตลอด ทางเหนือและทางตะวันออกเป็นที่ราบ พลเมืองเป็นไทยอิสลามรวมสี่ในห้า นอกนั้นเป็นไทยและจีน
                จ.ยะลา เป็นคำเรียกตามเสียงของพวกมลายูทางไทรบุรีและปีนัง แปลว่าแห เพราะที่ ต.ยะลา ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองเก่ามีเขาลูกหนึ่งสัญฐานคล้ายจอมแห ส่วนเสียงชาวพื้นเมืองจังหวัดนี้ว่ายาลอ แปลว่า แห เหมือนกัน
                จ.ยะลา เดิมเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของ จ.ปัตตานี ได้แยกตั้งเป็นเมืองหนึ่งต่างหากในรัชกาลที่หนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๔ คราวแยกเป็นเมืองปัตตานีเป็นบริเวณเจ็ดหัวเมือง มีพระยาเมืองปกครองขึ้นเมืองสงขลา ต่อมาถึงรัชกาลที่ห้า เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ได้ยุบเมืองรามันรวมเข้ากับเมืองยะลาขึ้นมณฑลปัตตานี
                จ.ยะลา มีพระพุทธไสยาสน์อยู่ในถ้าพระนอนที่เขาวัดถ้ำ ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง น้ำตกที่ฮาลา อ.เบตง บ่อน้ำร้อนที่ ต.เบตง ถ้าประดิษฐานพระพุทธรูปแบบจีนที่ ต.ถ้ำทะลุ         ๒๔/๑๕๔๐๐
            ๔๕๔๕. ยะหริ่ง  อำเภอขึ้น จ.ปัตตานี มีอาณาเขตทางทิศเหนือตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มและเป็นชายทะเล พลเมืองเป็นไทยอิสลาม โดยมากทำนา ทำสวนมะพร้าว ทำประมง ทำนาเกลือ          ๒๔/๑๕๔๐๒
            ๔๕๔๖. ยะหริ่ง - เมือง  เป็นเมืองหนึ่งในหัวเมืองภาคใต้ทั้งเจ็ด ซึ่งประกอบด้วยเมืองปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง สะแอะ สายบุรี หนองจิก และรามัน เมืองเหล่านี้เดิมเป็นเมืองปัตตานีเพียงเมืองเดียว และขึ้นกับไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้า ฯ ให้แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็นเจ็ดเมืองให้ขึ้นกับเมืองสงขลา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นมณฑลปัตตานี เมืองยะหริ่งได้รวมเข้ากับเมืองปัตตานีและมีฐานะเป็นอำเภอขึ้นกับ จ.ปัตตานีมาจนปัจจุบัน          ๒๔/๑๕๔๐๒
            ๔๕๔๗. ยะหา  อำเภอขึ้น จ.ยะลา มีอาณาเขตทางทิศใต้จดประเทศมาเลเซียภูมิประเทศเป็นที่ดอนมีป่าและภุเขาตลอดที่ราบลุ่มมีน้อย พลเมืองส่วนใหญ่เป็นไทยอิสลาม ทำสวนยางพารา สวนผลไม้          ๒๔/๑๕๔๑๐
            ๔๕๔๘. ยะโฮวา  เป็นคำใช้เรียกพระเจ้าของชาวยิวโบราณก่อนสมัยพระเยซู โดยแปลจากภาษาอังกฤษ ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษาฮีบรู ว่า ยาห์เวห์ ชาวยิวเชื่อว่าพระเจ้าเองได้เปิดเผยให้กับโมเซส เมื่อมอบหมายให้เป็นผู้นำชาวอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์ไปสู่อิสรภาพ เราคือยาห์เวห์ ยาห์เวห์เคยมีผู้แปลว่าผู้เป็นอยู่ แต่รุ่นหลังมีความเห็นตรงกันว่าควรแปลว่า ผู้ทำให้เป็นอยู่ ชาวยิวจะใช้คำยาห์เวห์กับพระเจ้าผู้สร้างที่ตนนับถืออยู่เท่านั้น ส่วนผู้เป็นใหญ่ในเอกภาพในคำสอนของศาสนาต่าง ๆ รวมทั้งในศาสนาของตนด้วยจะใช้คำว่าเอโลฮิม ดังนั้น บางครั้งก็เรียกรวมว่า ยาห์เวห์โอเลฮิม
                ชาวยิวเชื่อว่ายาห์เวห์ของตนเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง รวมทั้งมนุษย์ด้วย เฉพาะมนุษย์นั้นได้สร้างขึ้นในลักษณะพิเศษ เพื่อดูแลและใช้สอยสิ่งสร้างอื่น ๆ ใครจงรักภักดีต่อพระองค์ก็เป็นบริวารของพระองค์ แต่ปรากฎว่ามนุษย์ส่วนมากนับถือโอเลฮิมอย่างผิด ๆ ในหลายรูปแบบ โอเลฮิมในลักษณะที่ถูกต้องก็คือ พระเจ้าที่ได้เปิดเผยตนเองแก่ชาวอิสราเอล โดยให้นามโดยเฉพาะว่า ยาห์เวห์ พระองค์เลือกชาติอิสราเอลให้เป็นชาติเลือกสรรของพระองค์ เพื่อรักษาการนับถือพระเจ้าอย่างถูกต้องไว้คือพระเจ้ามีองค์เดียว รักและหวังดีต่อมนุษย์มีดำริจะให้เมสซีอาห์เกิดขึ้นจากชนชาวอิสราเอลเพื่อกอบกู้มนุษยชาติจากความหายนะ
                ชาวคริสต์เชื่อว่าพระเยซูคือ เมสซีอาห์ที่ชาวยิวเชื่อว่ายาห์เวย์จะส่งมาโปรดโลกและเชื่อว่าพระเยซูมิใช่มนุษย์ธรรมดา แต่เป็นพระบุตรของพระบิดาในตรีเอกภาพ จึงถือว่าพระเยซูคือพระคริสต์และเรียกว่าเป็นพระเจ้าด้วย         ๒๔/๑๕๔๑๑
            ๔๕๔๙. ยักษ์  เป็นอมนุษย์พวกหนึ่ง ไม่มีตัวตนจริง ๆ อยู่ในโลกเป็นบุคคลที่กำหนดให้มีขึ้นตามความคิดคำนึงเป็นลักษณะบุคคลาธิษฐาน
                ตามคติความคิดของชาวอินเดียแต่โบราณ ยักษ์เป็นอมนุษย์พวกหนึ่งในหมู่อมนุษย์สิบพวกด้วยกัน คือ วิทยาธร อัปสร ยักษ์ รากษส คนธรรพ์ กินนร ปีศาจ คุหยัก ลัทธิและภูติ
                ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงมีการอธิบายเรื่องยักษ์ไว้ว่า ยักษ์เป็นบริวารของท้ายกุเวร ซึ่งเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลสี่องค์ นัยว่ามีแดนที่อยู่อาศัยทางทิศอุดรของเขาพระสุเมรุ ยักษ์ที่รู้จักกันในสมัยสุโขทัย คือ มีหน้าอันพึงกลัว
                ต่อมายักษ์ในสมัยอยุธยาเกิดมีความเข้าใจว่ายักษ์เป็นพวกเดียวกันกับอสูรหรือพวกเดียวกับมาร         ๒๔/๑๕๔๑๒
            ๔๕๕๐. ยัชโญปวีต  มีบทนิยามว่า "สายเครื่องหมายวรรณะพราหมณ์กษัตริยและแพศย์ สวมจากซ้ายไปขวา สายมงคล สายธุรำหรือสายธุหร่ำของพราหมณ์ก็เรียก เพี้ยนเป็นยัชโญปิวีตก็มี"  คำนี้มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเซ่น การบูชา การบวงสรวงชนิดหนึ่งของพราหมณ์
                ชาวฮินดูคือว่า เวลาประกอบพิธีทางศาสนา จะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์ และจะต้องแต่งกายให้เรียบร้อย ยัชโญปวีตเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายให้เรียบร้อย โดยเฉพาะในพิธีอุปนัยนะ คือ พิธีเริ่มเข้ารับการศึกษาพระเวท
                ต่อมาสายยัชโญปวีตได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีความขลังทางไสยศาสตร์ เพราะนอกจากจะเป็นสิริมงคลแล้วยังสามารถป้องกันอันตรายได้อีกด้วย         ๒๔/๑๕๔๑๖
            ๔๕๕๑. ยันต์  มีบทนิยามว่า "รูปต่าง ๆ เขียนลงบนแผ่นโลหะ หรือผ้าเป็นต้น และลงอักขระหรือเลขใช้เป็นของขลัง โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีปริยายเช่นนั้น เช่นเสื้อยันต์"
                ลักษณะของยันต์ พอแบ่งได้เป็นสี่ลักษณะด้วยกันคือ
                        ๑. ยันต์รูปภาพ อาจเขียนเป็นรูปพระพุทธเจ้า รูปเทวดา ราหูอมจันทร์ มนุษย์ นางกวัก หนุมาน ราชสีห์ หงส์ นกคุ้ม พญานาค ปลาตะเพียน ฯลฯ
                        ๒. ยันต์รูปสี่เหลี่ยมหรือสี่มุม เขียนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือไขว้กัน
                        ๓. ยันต์รูปสามเหลี่ยมหรือสามมุม เขียนเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าสามเหลี่ยมหน้าจั่วหรือไขว้กัน
                        ๔. ยันต์รูปวงกลม เขียนเส้นภาพนอกเป็นรูปวงกลม ภายในอาจมีเส้นยันต์รูปสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยมก็ได้
                ยันต์ทั้งสี่ลักษณะนี้บางทีก็เอามาปะปนกัน อักขระต่าง ๆ นิยมเขียนตัวอักขระขอมบาลี ซึ่งถอดมาจากบทสวดมนต์ต่าง ๆ
                เลขต่าง ๆ มีความหมายจากการถอดเลขกลจากพระคาถามาเป็นตัวเลขแทน เช่น เลข ๑ หมายถึงพระพุทธเจ้า เลข ๒ หมายถึงคำว่า พุทโธ เลข ๓ หมายถึง พระรัตนตรัย เลข ๔ หมายถึง อริยสัจสี่ เลข ๕ หมายถึง นโมพุทธายะ เลข ๖ หมายถึง สวรรค์หกชั้น เลข ๗ หมายถึง พระธรรมเจ็ดคัมภีร์ หรือบทใดบทหนึ่งของอิติปิโสแปดทิศ เลข ๘ หมายถึง มรรคมีองค์แปด หรืออิติปิโสแปดทิศ เลข ๙ หมายถึง พุทธคุณเจ้า         ๒๔/๑๕๔๒๐
            ๔๕๕๒. ยา  เป็นสิ่งที่ใช้กิน ทา หรือฉีด เพื่อป้องกันรักษาโรคหรือบำรุงร่างกาย ยาเป็นสารเคมีที่อาจได้มาจากแหล่งสำคัญใหญ่ ๆ สองแหล่ง คือ
                        ๑. จากธรรมชาติ อยู่ในรูปยาสมุนไพรจากพืชด้วยการใช้ส่วนต่าง ๆ ของพืชโดยตรง หรือสกัดจากพืชสมุนไพรนำเอาเฉพาะตัวยาสำคัญมาใช้
                        ๒. จากการสังเคราะห์ ยาแผนปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นยาสังเคราะห์         ๒๔/๑๕๔๓๓
            ๔๕๕๓. ยาคู  (ดูปายาส - ลำดับที่ ๓๕๑๓)         ๒๔/๑๕๔๓๙
            ๔๕๕๔. ยาง, นก  เป็นนกที่เดินหากินตามพื้นดิน โดยเฉพาะบริเวณที่มีแหล่งน้ำหรือใกล้แหล่งน้ำ เช่น ทุ่งนา ชายฝั่งแม่น้ำลำคลอง หนองน้ำ นกประเภทนี้มีน้ำหนัก ๑๐๐ - ๒,๖๐๐ กรัม ปากยาว ปลายแหลม และแข็งแรง คอมีลักษณะยาว แต่เกือบไม่สามารถเคลื่อนที่ไปด้านข้างได้ และจะงออยู่ในลักษณะรูปตัวเอสในอักษรอังกฤษ ขายาว นิ้วหลังตีนยาว ตาเล็กมีประสาทตาดีมาก ขนขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด เวลาบินจะบินอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ ปีกกว้าง หางสั้น ขณะบินจะหดคอเข้ามา
                นกยางชอบหากินเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หรือเป็นฝูง โดยกระจายกันออกหากิน นกยางในโลกมีอยู่ ๖๓ ชนิด ในประเทศไทยมีอยู่ ๑๙ ชนิด คือ นกยางกรอกพันธุ์จีน นกยางกรอกพันธุ์ชวา นกยางควาย นกยางทะเล นกยางจีน นกยางเปีย นกยางโทนน้อย นกยางโทนใหญ่ นกยางไฟหัวดำ นกยางไฟหัวเทา นกยางไฟธรรมดา นกยางแดงใหญ่ นกยางเขียว นกยางดำ นกแขวก นกยางลายเสือ นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกระสาใหญ่         ๒๔/๑๕๔๓๙
            ๔๕๕๕. ยาง - ไม้  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่เรือนยอดเป็นพุ่มกลมกว้าง ลำต้นเปลาตรงสูง ๒๕ - ๔๐ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง กลีบดอกมีห้ากลีบสีขาวหรือสีชมพู ผลรูปไข่ปลายแหลม เนื้อไม้สีน้ำตาล แข็งปานกลางใช้ในการก่อสร้างและอุตสาหกรรมไม้ยาวไม้อัด บางชนิดมีน้ำมันยางใช้ทำได้และยาเรือ
                ไม้ในสกุลนี้ในประเทศไทยมี ๑๔ ชนิด บางชนิดเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น กราด พลวง เหียงและยูง ที่เรียกว่าไม้ยางมีสิบชนิด เช่น ยางนาหรือยางขาว ยางพาย ยางเลียน ยางมันหมู ยางแดง         ๒๔/๑๕๔๔๕
            ๔๕๕๖. ย่างกุ้ง  เป็นเมืองหลวงของพม่าตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำย่างกุ้งห่างจากฝั่งทะเลของอ่าวเมาะตะมะ ๓๔ กม. แม่น้ำย่างกุ้งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำอิรวดีตอนที่ไหลออกทะเล แต่เดิมย่างกุ้งเป็นที่อยู่บนอาศัยของชาวมอญ ต่อมาพม่าได้ค่อย ๆ แผ่ขยายอาณาเขตลงมาทางใต้ และยึดครองดินแดนของมอญไว้ทีละน้อย ในปี พ.ศ.๒๒๙๘ พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าได้เข้ายึดเมืองนี้แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองยางกอน แปลว่ายุติการต่อสู้ในภาษาไทยออกเสียงเพี้ยนไปเป็นย่างกุ้ง
                ในสมัยที่ย่างกุ้งเป็นเมืองออกคะลาของมอญ ศูนย์กลางการตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณเนินเตี้ย ๆ ทางตอนเหนือของตัวเมืองปัจจุบัน บนยอดเนินเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์องค์หนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดของพม่าเรียกชื่อว่า พระเจดีย์ชเวดากอง มีความสูง ๑๑๒ เมตร บนยอดเจดีย์ประดับด้วยฉัตรทองคำ ซึ่งกษัตริย์พม่าทรงสร้างอุทิศถวายในปี พ.ศ.๒๔๑๔
                เมื่อพม่ายึดเมืองย่างกุ้งจากมอญได้ ก็ขยายบริเวณตัวเมืองไปทางริมฝั่งแม่น้ำ และสร้างป้อมปราการไว้อย่างมั่นคง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๓ อังกฤษได้มาตั้งสถานีการค้าขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองนี้ ต่อมาอังกฤษได้ค่อย ๆ ขยายอำนาจมากขึ้นจนเกิดการสู้รบกับพม่า เมืองย่างกุ้งถูกอังกฤษยึดไว้รวมสองครั้ง ครั้งที่สองในปี พ.ศ.๒๓๙๕ อังกฤษยึดครองไว้นานถึง ๙๐ ปี
                ในระยะแรกที่อังกฤษเข้าปกครองพม่า อังกฤษให้พม่าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย จึงทำให้ชาวอินเดียอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพม่าเป็นจำนวนมาก ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าโจมตีพม่า ชาวอินเดียจำนวนมากได้อพยพลี้ภัยกลับอินเดีย และหลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ก็มีการต่อต้านกีดกันชาวอินเดีย ทำให้ชาวอินเดียที่เหลืออยู่ในพม่า ต้องอพยพเดินทางออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก         ๒๔/๑๕๔๔๘
            ๔๕๕๗. ยางชุมน้อย  อำเภอขึ้น จ.ศรีษะเกษ ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง อำเภอนี้แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ขึ้น อ.เมืองศรีษะเกษ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓         ๒๔/๑๕๔๕๐
            ๔๕๕๘. ยางตลาด  อำเภอขึ้น จ.ศรีษะเกษ ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นโคกสลับแอ่งมีป่าโปร่ง ตอนใต้เป็นทุ่งราบ
                อ.ยางตลาด เดิมตั้งอยู่ในเมืองกาฬสินธุ์ เรียกว่า อ.ประจิม ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๖ ย้ายไปตั้งที่ บ.ยาง เรียกว่า อ.ภูแล่นช้าง ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๕ ย้ายไปตั้งริมทางด้านตะวันตกของหนองหมาจอก เอาชื่อบ้านยางกับตลาดมารวมกันตั้งเป็นชื่อว่า อ.ยางตลาด ถึง พ.ศ.๒๔๗๕ ยุบ จ.กาฬสินธุ์ โอน อ.ยางตลาดไปขึ้น จ.มหาสารคาม ถึงปี พ.ศ.๒๔๙๐ ตั้ง จ.กาฬสินธุ์ขึ้นใหม่อีก จึงโอนกลับไปขึ้น จ.กาฬสินธุ์ตามเดิม         ๒๔/๑๕๔๕๐
            ๔๕๕๙. ยางน่อง  เป็นชื่อเรียกพรรณไม้สามชนิดเป็นไม้ยืนต้นหนึ่งชนิดและไม้เถาสองชนิด
                  ยางน่อง  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงถึง ๕๐ - ๖๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง เมื่อถากเปลือกจะมีน้ำยางสีขาวอมเหลืองซึมออกมา ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน รูปขอบขนานแกมรูปหอกกลับ ดอกออกตามง่ามใย ผลมีเนื้อ ขนาดกว้าง ๑๒ มม. ยาว ๑๘ มม.
                    เนื้อไม้ใช้ทำหีบใส่ของ รองเท้าไม้ เครื่องเล่น ยางใช้อาบลูกศรยิงสัตว์เป็นพิษอย่างแรงต่อหัวใจ เมล็ดเป็นยาแก้ไข้ แก้บิด เปลือกให้เส้นใบใช้ทำเชือกและเยื่อกระดาษทำเป็นที่นอน ผ้าห่ม เสื้อผ้าของชาวป่าชาวเขา
                  เถายางน่อง  เป็นไม้เถาขนาดใหญ่ ยาวกว่า ๒๐ เมตร ลำต้นเป็นร่องมีน้ำยางมาก ใบเดี่ยวเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน แผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกเล็กสีขาวหรือขาวอมเหลือง ผลออกเป็นฝักคู่ ภายในมีเมล็ด
                  ยางน่องเครือ  เป็นไม้เถาเนื้อแข็งต้นยาว ๓ - ๘ เมตร เมื่อถากเปลือกจะมีน้ำยางสีขาวไหลออกมา ใบเดี่ยวเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน แผ่นใบรูปรีรูปไข่กลีบ หรือขอบขนาน ดอกออกเป็นช่อที่ยอดสีขาวอมเหลืองปนแดง ผลออกเป็นฝักคู่ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก         ๒๔/๑๕๔๕๑
            ๔๕๖๐. ยางสีสุราช  อำเภอขึ้น จ.มหาสารคาม ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและที่ราบลุ่มสลับกันไป อำเภอนี้พระยาสีสุราชโอรสเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ได้พาราษฎรอพยพมาหาที่ตั้งเมืองใหม่ มาพบสถานที่นี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ยาง เห็นว่า เหมาะ จึงตั้งหลักแหล่งที่นี้ให้ชื่อหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า บ้านดงยาง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นยางสีสุราช ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘         ๒๔/๑๕๔๕๔
            ๔๕๖๑. ยาดำ  เป็นยาบำบัดโรคซึ่งได้จากน้ำยางแห้งสีดำที่ได้จากพืชจำพวกต้นว่านหางจรเข้ชนิดต่าง ๆ มีรสเขื่อเหม็นขมเล็กน้อยถ่ายลมเบื้องสูงให้ลงต่ำ กัดฟอกเสมหะ และโลหิต เป็นยาขับพยาธิในท้อง ยาขับน้ำดี และขับเลือดระดูด้วย ห้ามใช้ในคนที่เป็นริดสีดวงทวารหนัก สตรีขณะมีประจำเดือนหรือกำลังมีครรภ์ ยาดำมักใช้ประกอบกับยาไทยมากมายหลายชนิด จนมีสำนวนว่า แทรกเป็นยาดำ         ๒๔/๑๕๔๕๕
            ๔๕๖๒. ย่านตาขาว  อำเภอขึ้น จ.ตรัง ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่า และภูเขาเหมาะแก่การทำสวนยางพารา
                อ.ย่านตาขาว แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ ขึ้น อ.กันตัง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙         ๒๔/๑๕๔๖๐
            ๔๕๖๓. ยานนาวา  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ มีอาณาเขตทางทิศใต้ตกแม่น้ำเจ้าพระยามีอู่ซ่อมเรือเดินทะเลขนาดใหญ่
                เขตยานาวาเดิมเป็นอำเภอเรียก อ.ยานนาวา เดิมชื่อ อ.บ้านทวาย เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ยานนาวา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         ๒๔/๑๕๔๖๐
            ๔๕๖๔. ยานมาศ  เป็นพาหนะหรือเครื่องนำไปด้วยกำลังคนแบกหาม ซึ่งประดับล้วนไปด้วยทองเป็นพระราชอาสน์สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับ หรือพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์เพื่อประทับเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ
                ยานมาศ มีปรากฎอยู่ในรายการเครื่องปราชูปโภคมาแต่สมัยอยุธยา         ๒๔/๑๕๔๖๑
            ๔๕๖๕. ย่านาง  เป็นชื่อเรียกไม้เถาเนื้อแข็ง เช่นเดียวกับบอระเพ็ดใบเดี่ยวออกสลับกันเวียนรอบกิ่งใบรูปยาวรีขอบใบเรียบ ดอกเล็กสีเขียวอ่อนหรือเขียว อมเหลือง ออกเป็นช่อตามซอกใบ ผลเล็ก
                ใบย่านางใช้ต้มกับหน่อไม้เพื่อให้หน่อไม้หายขื่น         ๒๔/๑๕๔๖๓
            ๔๕๖๖. ยามสามตา  มีบทนิยามว่า "ชื่อวิธีจับยามของหมอดูใช้นับตามหลักสามหลักเวียนกันไป" เรื่องยามสามตานี้ตามตำรายามสามตา (ตรีเนตร) ท่านกำหนดไว้เป็นสูตร ดังนี้
                หลักสามหลักคือ เลขหนึ่งแทนอาทิตย์อยู่ตำแหน่งเดียวกับใส  เลขสองแทนจันทร์ตำแหน่งเดียวกับปลอด  เลขสามแทนอังคารตำแหน่งเดียวกับดำ
                การทำนายให้นับขึ้นต้นที่อาทิตย์ ถ้าวันที่จับยามเป็นข้างขึ้นให้นับเวียนตามเข็มนาฬิกา คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร ถ้าวันที่จับยามเป็นข้างแรมให้เวียนทวนเข็มนาฬิกา คือ อาทิตย์ อังคาร จันทร์ ไปจนถึงวันที่จับยาม (วันขึ้น - แรมเท่าใด)  แล้วหยุดตรงนั้น
                เริ่มนับยามที่หนึ่ง ณ ตำแหน่งที่หยุดนั้นไปจนถึงยามที่ทำนาย
                ยามกลางวันแบ่งเป็นแปดยาม ยามละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เริ่มตั้งแต่ ๖.๐๐ - ๗.๓๐ จน ๑๖.๓๐ - ๑๘.๐๐ ยามกลางคืนมีแปดยาม เช่นเดียวกัน มีคำทำนายดังนี้
                ถ้าดูสู้กัน เล็งดูยามนั้น จะเป็นฉันใด ถ้าดำอยู่หลังเบื้องหน้ายามใสว่าเขาจักได้ เราแพ้เสียก่อน
                ถ้าข้าศึกษา เรือนดำอยู่หน้าศึกมาถึงเรา ถ้าใสอยู่หน้ามาแล้วกลับเล่า หน้าปลอดจักเปล่า ถ้าเจ็บอย่างฟัง
                คนมากเท่าใด ถ้าหน้าดำไซร้ คนมากโดยหวัง ถ้าว่าหน้าใส คนน้อยกว่าฟัง ถ้าปลอดอย่างหวัง หาไม่สักคน
                คนหาญหรือขลาด หน้าดำสามารถเรี่ยวแรงแสนกล หน้าใสพอดี บ่อมีฤทธิรณ์ หน้าปลอดอำพลว่าชายเหมือนหญิง
                ถืออันใดมา หน้าดำโสภา คือ สาตราจริง หน้าใสถือไม้ มาได้สักสิ่ง หน้าปลอดประวิงว่ามือเปล่ามา
                ว่าสูงหรือต่ำ หน้าดำควรจำว่าสูงโสภา หน้าใสปานกลาง ปลอดต่ำหนักหนาทายตามเวลา ยามเจ้าไตรตรึงส์
                ว่างามมิงาม หน้าดำอย่างาม ว่างามบ่ถึง หน้าใสงามนัก หน้าปลอดพอพึง ยามเจ้าไตรตรึงล์ อย่าได้สงกา
                คนผอมหรือพี หน้าดำมีศรี ว่าพีพ่วงกาย หน้าใสพอดี ฉวีเฉิดฉาย หน้าปลอดเร่งทาย ว่าผอมเสียศรี
                ดำแดงหรือขาว หน้าดำควรกล่าว ว่าคำอัปปรีย์ หน้าใสดำแดงเป็นแสงมีศรี หน้าปลอดขาวดี เที่ยงแท้โดยถวิล
                ต้นลงหรือปลาย หน้าดำเร่งทายว่าปลายลงดิน หน้าใสปลายขึ้น ต้นลงอาจิณ หน้าปลอดเร่งถวิล ถ้านอนราบลง
                นอกจากนี้ยังมีคำทายในเรื่องสุกหรือดิบห่าม ว่าหญิงหรือชาย เต็มหรือพร่องแห้ง ขุนนางหรือไพร่ ไข้เป็นหรือตาย ท่านรักหรือชัง หน้าจื้ดหรือหวาน หน้าขมหรือฝาด ว่าอยู่หรือไป สี่คืบหรือสอง แม้นดูของหาย แม้นดูปลูกเรือนว่าคว่ำหรือหงาย          ๒๔/๑๕๔๖๓
           ๔๕๖๗. ยามาดา นางามาซา (พ.ศ.๒๑๓๓ - ๒๑๗๕)  เป็นคนญี่ปุ่นที่รับราชการเป็นขุนนางไทยสมัยอยุธยา ชื่อของยามาดาปรากฎอยู่ในบันทึกอิกโทก นิกกิ ของพระนิกายเซน ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ในปี พ.ศ.๒๑๖๔ ยามาดาได้เดินทางมาพำนักอยู่ในหมู่บ้านญี่ปุ่นที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๕๕ ต่อมาได้เข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น มีบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๑
                ต่อมาพระอาทิตย์วงศ์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ออกญาเสนาภิมุขออกไปปราบกบฎ เจ้านครศรีธรรมราชพร้อมกับแต่งตั้งให้เป็นเจ้านครศรีธรรมราชแทน ในที่สุดเขาถูกมาตกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๓ ลูกชายของเขาได้ดำรงตำแหน่งเจ้านครศรีธรรมราชแทน แต่ไม่อาจรักษาตำแหน่งนี้ได้ ต้องพาคนญี่ปุ่นไปพำนักอยู่ที่หมู่บ้านในเขมรแล้วสิ้นชีวิตลง         ๒๔/๑๕๔๖๘
            ๔๕๖๘. ยิว  เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ถือว่าบรรพบุรุษของตนสืบเชื้อสายมาจากชาวฮิบรูดังที่ปรากฎในคัมภีร์ไบเบิล ชาวยิวดั้งเดิมมาจากลุ่มชาติพันธุ์คอเดเซียน หรือกลุ่มผิวขาวเซเมดิก และเป็นผู้ให้กำเนิดศาสนายูดา ศาสนาอื่น ๆ ที่ถือว่าเจริญงอกงามจากศาสนายูดา คือ ศาสนาคริสต์ และอิสลาม ปัจจุบันผู้นับถือศาสนายูดามีประมาณ ๑๕ ล้านคน ประมาณ ๖ ล้านคนอยู่ในอเมริกาเหนือ
                ชาวยิวรุ่นแรก ๆ มีชื่อเรียกว่า ฮิบรูและต่อมาเรียกว่า อิสราเอไลต์ ดินแดนของพวกนี้ตามหลักฐานในคัมภีร์ไบเบิล รวมทั้งรัฐของพวกนี้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ครั้งหนึ่งมีชื่อเรียกว่า ปาเลสไตน์ ได้รับการขนานนามตามชื่อของคนเหล่านี้
                ในช่วงปลายสมัยประวัติศาสตร์ถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของคนกลุ่มนี้คือ ส่วนหนึ่งของดินแดนอิสราเอลที่เรียกว่า ยูเดีย ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากพวกฮิบรู ในเขตแดนยูเดียนี้เองที่เรียกว่า ชาวยิว ภาษาที่ใช้ต่อเนื่องกันมาในหมู่พวกยิวคือ ภาษาฮิบรู ซึ่งเป็นภาษาของประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน
                เรื่องราวในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ส่วนใหญ่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับชาวยิว มีความสำคัญมากต่อศาสนาของ
ชาวยิวและเป็นหนึ่งในมรดกด้านอารยธรรมหลายต่างที่ชาวยิวให้ไว้แก่โลก คัมภีร์ดังกล่าวคือ หนึ่งในแหล่งที่มาทางด้านภูมิปัญญาแรงบันดาลใจ และประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ที่สุด ชาวยิว ชาวคริสต์ และชาวมุสลิม มีมรดกร่วมกันมาทางคัมภีร์นี้ ซึ่งรวมบัญญัติสิบประการไว้ด้วย
                ประวัติศาสตร์ของชาวยิวตามบันทึกในคัมภีร์เริ่มต้นเมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช โดยมีหัวหน้าเผ่าชื่ออับราฮัม เขาได้นำชนเผ่าฮิบรู เดินทางออกไปจากเมโสโปเตเมีย (อิรักปัจจุบัน) เข้าไปในคานาอานหรือปาเลสไตน์ พระเจ้าได้ให้สัญญาแก่อับราฮัมว่า ผู้ที่สืบเชื้อสายของเขาจะได้พำนักอาศัย และครอบครองคานาอาน หากเขาเหล่านั้นจะยอมรับนับถือพระเจ้าผู้เป็นพระเจ้าของเขาแต่เพียงผู้เดียวตลอดไป เหตุนี้ปาเลสไตน์จึงได้สมญาว่าเป็นดินแดนที่พระเจ้าสัญญาไว้ อับราฮัมได้รับการขนานนามว่า ผู้ที่พระเจ้าเลือกให้เป็นผู้ที่จะธำรงรักษา และเผยแพร่ลัทธิบูชาพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว
               ยาคอบ บุตรของไอแซก หลานของอับราฮัมได้รับสมญาว่า อิสราเอล ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ต่อสู้กับพระเจ้า เขามีบุตรชายสิบสองคน ซึ่งคือผู้ก่อตั้งเผ่าทั้งสิบสอง ซึ่งถือว่าเป็นเผ่าดั้งเดิมของอิสราเอล
                ก่อนที่จะได้ครอบครองดินแดนที่พระเจ้าสัญญาไว้ พวกอิสราเอไลต์ต้องตกระกำลำบากอยู่เป็นเวลานาน โดยตกเป็นทาสอยู่ในอียิปต์ จนเกิดมีผู้นำชื่อโมเสส นำคนเหล่านี้หลุดพ้นจากเป็นทาสของอียิปต์ แล้วเดินทางเข้าสู่คานาอาน ซึ่งมีชื่อใหม่ว่าอิสราเอลา ดินแดนนี้ในระยะแรกประกอบขึ้นด้วยเขตอิสระหลายเขตประกอบด้วย
ชนเผ่าต่าง ๆ ของอิสราเอล จนถึงประมาณ ๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราชได้รวมเข้าเป็นอาณาจักรมีผู้นำชื่อซอล
                ในสมัยกษัตริย์เดวิด อาณาจักรของชนชาวฮิบรูได้สถาปนาขึ้นอย่างมั่นคงมีราชธานีอยู่ในเยรูซาเล็ม ต่อจากเดวิดคือ โซโลมอน เป็นผู้เฉลียวฉลาด หลักแหลมเป็นที่ปรากฎ สมัยโซโลมอน (๔๓๐ - ๓๙๐ ก่อนพ.ศ.) เป็นสมัยที่รุ่งเรือง เมื่อสิ้นโซโลมอนอิสราเอลก็แบ่งแยก เขตเหนือประกอบด้วยสิบสองจังหวัด ยังคงชื่ออิสราเอลเมืองหลวงอยู่ที่สะมาเรีย อีกเขตหนึ่งคือยูเดียเป็นอาณาจักรอิสระ เมืองหลวงอยู่ที่เยรูซาเล็ม ประมาณ ๑๗๙ - ๑๗๘ ปีก่อน พ.ศ. เมื่ออิสราเอลตกอยู่ในอำนาจของจักรพรรดิ์ซากอนที่สอง แห่งจักรวรรดิ์แอสซีเรีย เรียกแคว้นสะมาเรีย เหตุการณ์ตอนนี้เป็นต้นเค้าที่มาของนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่องเผ่ากับสิบที่ขาดสูญ
                ในปี ๔๓ ก่อนพ.ศ. กษัตริย์เนบูชาเดรสซาแห่งแคลเดีย หรือบาปิโลเนียใหม่ได้เข้าปราบปรามยูเดีย ชาวยิวจำนวนมากถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย จนกระทั่งกษัตริยไซรัสแห่งเปอร์เซียเข้าตีบาปิโลเนียได้ และปลดปล่อยชาวยิวสู่ยูเดีย
                ในพุทธศตวรรษที่ ๒ หลังการปราบปรามของพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ ฯ แคว้นยูเดียก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ์มาซิโดเนีย ต่อมาชาวยิวก่อการกบฎ และได้รับอิสรภาพในที่สุด พวกโรมันเข้ายึดครองเยรูซาเล็มในปี พ.ศ.๔๘๐ จากนั้นแคว้นยูเดียก็ตกอยู่ใต้การปกครองของโรมัน ในช่วงเวลานี้เองที่พระเยซูถือกำเนิด
                ในปี พ.ศ.๖๑๓ แคว้นยูเดียถูกลดฐานะลงเป็นจังหวัดหนึ่งของโรมัน โรมันได้เปลี่ยนชื่อแคว้นยูเดียเป็นซีเรีย ปาเลส์ตินา และห้ามชาวยิวเข้าเยรูซาเล็ม จากนั้นการพลัดพรากแตกฉานซานเซ็นของชาวยิวก็เริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
                ในระหว่างกลางพุทธตวรรษที่ ๑๓ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อันตรงกับช่วงเวลายุคกลางของยุโรป ชาวยิวจำนวนมากอาศัยอยู่ในยุโรป ศูนย์กลางอยู่ที่สเปน ซึ่งขณะนั้นตกอยู่ใต้การยึดครองของพวกมัวร์ ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม พวกยิวให้สเปนใต้การปกครองของพวกมุสลิมได้รับตำแหน่งหน้าที่การงานที่สำคัญ ๆ แต่เมืองชาวสเปนรับนับถือศาสนาคริสต์ ชาวสเปนเชื้อสายยิวจำนวนมากก็ถูกสังหารในเหตุการณ์จลาจลวุ่นวายต่อต้านยิวหลาย ๆ ครั้ง ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการถุกสังหาร ชาวสเปนเชื้อสายยิวจำนวนไม่น้อย หันไปรับนับถือศาสนาคริสต์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๓๕ ชาวยิวทั้งหมดถูกขับไล่ออกจากสเปน ส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ตั้งบ้านเรือน ทำมาหากินในภาคกลาง และภาคตะวันออกของทวีปยุโรป
                ชั่วระยะเวลาหนึ่งเยอรมนีได้เปิดโอกาสให้ชาวยิวเข้าสู่สังคมเยอรมอย่างเต็มที่ แต่แล้วในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๓ - ๒๔๘๘ เยอรมนีได้กลายเป็นกับดักอันเลวร้ายที่สุดของชาวยิว ระบอบนาซีได้คร่าชีวิตชาวยิวถึงหกล้านคนในเขตแดนเยอรมนี และดินแดนที่ตกอยู่ใต้การยึดครองของเยอรมนี ถือเป็นการสังหารหมู่ชาวยิวจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ชาวยิวที่หนีรอดชีวิตได้เข้าไปหลบภัยในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศในละตินอเมริกาบางประเทศ
                ประเทศอิสราเอลได้ถือกำเนิดในปี พ.ศ.๒๔๙๑ และด้วยความอนุเคราะห์ของขบวนการไซออนิสต์ ชาวยิวเหล่านี้ได้กลับคืนสู่แผ่นดินของบรรพบุรุาของตน เพื่อตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวร
                หลักการขั้นพื้นฐานของศาสนายูดาคือ ความเชื่อที่ว่าพระเจ้ามีองค์เดียว ย้ำการมีชีวิตอยู่เพื่อปัจจุบัน มากกว่าเรื่องชีวิตหลังความตาย ชีวิตคือของขวัญจากพระเจ้า มาเพื่อแสวงหาความสุข ทั้งนี้จะต้องอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์ของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัญญัติสิบประการ         ๒๔/๑๕๔๗๘
            ๔๕๖๙. ยี่เข่ง  เป็นไม้พุ่มสูง ๒ - ๓ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับกันรูปไข่หรือรูปรี ดอกสีขาว ชมพู หรือม่วงแดงออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ผลกลมแก่แล้วแตก
                ยี่เข่งเป็นไม้จากต่างประเทศนิยมปลูกเป็นไม้ประดับขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง         ๒๔/๑๕๔๘๕
            ๔๕๗๐. ยี่งอ  อำเภอขึ้น จ.นราธิวาส ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีป่าละเมาะและควนเล็ก ๆ เป็นบางตอน พลเมืองส่วนมากเป็นไทยอิสลาม ทำนา ทำสวนผลไม้
                อ.ยี่งอ เดิมเป็นเมืองเก่าเรียกว่า เมืองยี่งอ ยุบเป็นอำเภอขึ้น จ.นราธิวาส         ๒๔/๑๕๔๘๖
            ๔๕๗๑. ยี่โถ  เป็นไม้พุ่มสูง ๒ - ๓ เมตร ทุก ๆ ส่วนมียางขาว ใบเดี่ยวออกรอบข้อ แผ่นใบแคบยาวขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มีทั้งกลิ่นหอมและไม่มีกลิ่น มีหลายสี เช่น ขาว ชมพู แดง ผลเป็นฝักรูปยาวสองฝักคู่กันภายในมีเมล็ดจำนวนมาก
                ยี่โถเป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งและปักชำ         ๒๔/๑๕๔๘๖
            ๔๕๗๒. ยี่สก - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่จัดเป็นวงศ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย มีอยู่หลายชื่อ มีรูปร่างเรียวยาวลำตัวค่อนข้างกลม หรือแบนยาวเล็กน้อย ตามธรรมชาติปลายี่สกอยู่ในแม่น้ำที่มีก้นพื้นเป็นกรวด หรือทรายอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำโขง
                นักวิชาการประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลายี่สก โดยการผสมเทียม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗           ๒๔/๑๕๔๘๗
            ๔๕๗๓. ยี่หร่า  เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กสูง ๑๕ - ๓๐ ซม. ลำต้นเป็นเหลี่ยมแตกกิ่งก้านสาขามากบริเวณใกล้ยอด ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบหยักเว้าลึกมากจนเกือบถึงเส้นกลางใบ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มซ้อนออกที่ยอดดอกเล็กสมบูรณ์เพศสีขาวหรือชมพู ผลเล็กรูปขอบขนานแกมรูปไข่
                ยี่หร่าเป็นไม้พื้นเมืองของแถบเมดิเตอเรเนียนส่วนใหญ่นำมาใช้เป็นเครื่องเทศและยารักษาโรค โดยใช้ส่วนของผลแก่แห้ง ยี่หร่ามีกลิ่นหอมแรง รสเผ็ดร้อนและขม  ๒๔/๑๕๔๙๐
            ๔๕๗๔. ยี่หุบ ๑  เป็นไม้ต้นหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก อยู่ในวงศ์เดียวกับจำปีและจำปาภาคกลางเรียกยี่หุบหรือมณฑา
                ต้นยี่หุบปรกติสูง ๒ - ๕ เมตร ใบเดี่ยว ออกเวียนเป็นเกลียวรอบกิ่ง ใบเป็นรูปไข่กึ่งรูปขอบขนาน ดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศออกที่ปลายกิ่งสีขาวอมเขียว หรือเขียวอมเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาลเมื่อดอกแก่ใกล้ร่วง ผลรูปไข่ ดอกมีกลิ่นหอมโดยเฉพาะตอนเช้า         ๒๔/๑๕๔๙๔
            ๔๕๗๕. ยี่หุบ ๒  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงไม่เกิน ๑ เมตร ใบเดี่ยวรูปคล้ายใบหอก ดอกเดี่ยวออกที่ยอดสีขาวอมเขียวเมื่อดอกตูม และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล เมื่อดอกบานกลิ่นหอมโดยเฉพาะตอนเย็น ยี่หุบชนิดนี้ไม่เคยติดผล จึงขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งวิธีเดียว         ๒๔/๑๕๔๙๕
            ๔๕๗๖. ยี่หุบ ๓  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่สูง ๘ - ๑๕ เมตร ใบใหญ่ยาวรูปใบรีและค่อนข้างแคบ ดอกตูมรูปไข่มีใบประดับหนา ดอกสีขาวครีม ผลรูปไข่เมล็ดสีชมพู         ๒๔/๑๕๔๙๖
            ๔๕๗๗. ยุคนธร  ๑  (ดูจักรวาล - ลำดับที่ ๑๓๑๕)         ๒๔/๑๕๔๙๖
            ๔๕๗๘. ยุง  เป็นชื่อแมลงขนาดเล็ก มีรูปร่างบอบบาง ลำตัวยาว หัวเล็กสั้น อกโตกว้างใหญ่กว่าท้อง ปากยาว รูปร่างคล้ายเข็มแยกออกเป็นเส้น ๆ ได้และรวมตัวเป็นท่อใช้สำหรับเจาะดูดอาหารกินได้ ขายาวมีสามคู่
                ยุงตัวผู้ไม่กินเลือกคนหรือสัตว์ คงอาศัยแต่น้ำหวาน หรือน้ำที่กลีบจากพืช ตัวเมียวางไข่ตามชายน้ำหรือที่มีน้ำ ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนเรียกว่าลูกน้ำ เจริญเติบโตโดยการลอกคราบ และแบ่งเป็นสี่ระยะ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นดักแด้ หรือที่เรียกว่า ตัวอ้ายโม่ง วัฏจักรชีวิตตั้งแต่ไข่จนเป็นตัวเต็มวัยอยู่ระหว่าง ๑๐ - ๒๑ วัน
                ยุงมีความสำคัญต่อวัฏจักรชีวิตของสัตว์โลกมาก เมื่อเป็นลูกน้ำก็มักจะตกเป็นอาหารของสัตว์น้ำต่าง ๆ เมื่อเป็นตัวเต็มวัย ยุงตัวเมียจะดูดกินเลือดมนุษย์และสัตว์ มียุงหลายชนิดเป็นพาหะนำโรคร้ายมาสู่มนุษย์ และสัตว์ได้ เช่น ไข้มาเลเรีย
                ในประเทศไทยมีไม่น้อยกว่า ๔๐๐ ชนิด ยุงก้นปล่องมีประมาณ ๖๐ ชนิด         ๒๔/๑๕๔๙๖
            ๔๕๗๙. ยุติธรรม ๑  ยุติธรรมอาจจำแนกความหมายได้หลายอย่างคือ ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรมและความชอบด้วยเหตุผล
                ความยุติธรรมแบ่งตามลักษณะได้สามประเภท คือ ความยุติธรรมตามธรรมชาติ ความยุติธรรมทางสังคม และความยุติรรมตามกฎหมาย
                ความยุติธรรมของประเทศมีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการธำรงรักษามีองค์กรสำหรับบังคับตามกฎหมายหลายองค์กรร่วมกัน เรียกว่า กระบวนการยุติธรรมอันมีพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ พนักงานอัยการ ทนายความ ผู้เสียหาย คู่ความ ศาล ราชทัณฑ์         ๒๔/๑๕๔๙๙
            ๔๕๘๐. ยุติธรรม ๒  กระทรวง  เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรับผิดชอบด้านงานยุติธรรมบางประเทศ รวมเอาองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทั้งหมดไว้ในกระทรวงนี้ แต่บางประเทศแยกสถาบันศาลออกเป็นองค์กรอิสระ
                กระทรวงยุติธรรมของไทยตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ เพื่อรับโอนศาลต่าง ๆ จากหลายกระทรวงมาสังกัดกระทรวงเดียวกัน มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะงาน ด้านธุรการของศาล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๑ เสนาบดีได้เข้ามามีบทบาทในงานฝ่ายตุลาการอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นประธานมีหน้าที่รับผิดชอบ บังคับบัญชาราชการฝ่ายธุรการและตุลาการ ทั้งมีอำนาจนั่งกำกับการพิจารณาปรึกษาคดีในศาลยุติธรรมได้ทุกศาลอีกด้วย การตั้งเลื่อนย้ายหรือปลดผู้พิพากษา ตกเป็นหน้าที่ของเสนาบดี ที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ประธานศาลฏีกาเป็นใหญ่ ในงานฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรมทั้งปวง กับทั้งเป็นประธานคณะกรรมการตุลาการ (กต.) ด้วย         ๒๔/๑๕๕๐๘
            ๔๕๘๑. ยุทธกีฬา  เริ่มใช้คำนี้ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ หมายถึงการจำลองยุทธ ซึ่งถือเป็นกีฬาโดยใช้ทหาร พร้อมด้วยยุทโธปกรณ์ แสดงเป็นเชิงกีฬาในพื้นที่จำกัด หรือในสนามกีฬา         ๒๔/๑๕๕๑๕
            ๔๕๘๒. ยุทธวิธี  เป็นศิลปะและอุบายในการใช้กำลังของหน่วยทหาร อาวุธและอุปกรณ์ในการรบเข้าปะทะ หรือต่อสู้กับข้าศึกทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศ โดยจัดวางกำลัง และดำเนินกลยุทธ์อย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้การปฏิบัติงานของหน่วยต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กัน หรือเพื่อให้ข้าศึกแสดงศักยภาพของตนออกมาอย่างเต็มที่
                ยุทธวิธีมีความสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์กล่าวคือ ยุทธศาสตร์หรือวิชาการรบคือ การค้นหาวิธีการจัดกำลัง วางกำลังและเคลื่อนย้ายกำลังของฝ่ายหนึ่ง เข้าสู่พื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง หรือยุทธบริเวณ เพื่อให้อยู่ในสภาพได้เปรียบฝ่ายหนึ่งในการรบมากที่สุด เมื่อเสร็จสิ้นขึ้นตอนนี้แล้วการปฏิบัติการ เพื่อให้ข้าศึกพ่ายแพ้ โดยใช้กลอุบายเป็นเรื่องของยุทธวิธี ถ้ายุทธวิธีล้มเหลว ก็จะทำให้ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ไม่มีความหมาย         ๒๔/๑๕๕๑๖
            ๔๕๘๓. ยุทธศาสตร์  เป็นศิลป์และศาสตร์ในการพัฒนาการใช้กำลังอำนาจทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมจิตวิทยา และกำลังทหารตามความจำเป็น ทั้งในยามสงบและยามสงคราม เพื่อทำให้ได้รับการสนับสนุนอย่างสูงสุดต่อนโยบายด้านต่าง ๆ เพื่อมุ่งที่จะเพิ่มพูนโอกาส และผลของชัยชนะในทางที่ดี และลดโอกาสของการพ่ายแพ้ให้น้อยลง
                ยุทธศาสตร์แบ่งออกเป็นสองระดับคือ ระดับชาติเรียกว่า ยุทธศาสตรชาติและระดับกระทรวงกลาโหมเรียกว่า ยุทธศาสตร์ทหาร
                ยุทธศาสตรชาติ คือ ศิลป์และศาสตร์ในการพัฒนา และการใช้กำลังอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จิตวิทยาของชาติร่วมกับกำลังทหารทั้งในยามสงบ และยามสงคราม เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ของชาติ
                ยุทธศาสตร์ทหาร คือ ศิลป์และศาสตร์ในการใช้กำลังรบของชาติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ของชาติโดยการใช้กำลัง หรือคุกคามว่าจะใช้กำลัง         ๒๔/๑๕๕๓๓
            ๔๕๘๔. ยุทธหัตถี  มีบทนิยามว่า "การต่อสู้กันด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นวิธีการรบอย่างกษัตริย์ในสมัยโบราณ" หมายถึงการต่อสู้ระหว่างช้างศึกกับช้างศึก และระหว่างผู้ที่อยู่บนคอช้างด้วย
                ในประวัติศาสตร์ของไทยมีการต่อสู้แบบยุทธหัตถีหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยา รวมห้าครั้ง สมัยสุโขทัยสองครั้งและสมัยอยุธยาสามครั้ง ครั้งที่สำคัญที่ยิ่งใหญ่เหนือครั้งใด ๆ คือครั้งที่ห้าเป็นการทำยุทธหัตถี ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชา แม่ทัพพม่าที่หนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี พระองค์ทรงจ้วงฟันพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าว ถูกพระอังสาขวาสิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ได้ทรงชนช้างกับเจ้าเมืองมังจาปะโร และฟันเจ้าเมืองมังจาปะโรตายเช่นกัน         ๒๔/๑๕๕๓๕
            ๔๕๘๕. ยุธิษเฐียร ๑  เป็นพี่ชายคนโตของพี่น้องปาณฑพในหมากาพย์มหาภารตะของอินเดีย เป็นโอรสท้าวปาณฑุ บิดาของท้าวปาณฑุ คือ ฤาษีกฤษณะ ไทวปายนะวยาส ผู้รจนามหากาพย์มหาภารตะ
                ท้าวปาณฑุมีโอรสห้าองค์ คือ ยุธิษเฐียร ภีมะ อรชุน นกุลและสหเทพ สามองค์แรกเกิดจากนางกุนตีสององค์หลังเป็นฝาแฝดเกิดจากนางมาทฺรี พี่น้องทั้งห้าองค์เรียกรวมกันว่าปาณฑพ
                พี่น้องปาณฑพมีศัตรูคู่แข่งอยู่กลุ่มหนึ่งคือ พี่น้องเการพจำนวนร้อยองค์ (เป็นหญิงหนึ่งองค์) ทั้งหมดเป็นโอรส และธิดาของท้าวธฤตราษฎร์ผู้เป็นปิตุลา (ลุง) ของพวกปาณฑพ พวกเการพมีท้าวทุรโยชน์เป็นพี่คนโต พี่น้องสองกลุ่มนี้เจริญวัยมาด้วยกันในนครหัสตินาปุระ ซึ่งว่ากันว่าใกล้กรุงนิวเดลี นครหลวงของอินเดียในปัจจุบัน กลุ่มเการพได้ใช้เล่ห์เพทุบาย ให้กลุ่มปาณฑพต้องไปพเนจรอยู่ในป่าชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในช่วงนี้พี่น้องปาณฑพได้นางเทราปที หรือนางกฤษณาธิดาของท้าวทฺรุปัทราชา แห่งแคว้นปัญจาละ มาเป็นชายาร่วมของพี่น้องปาณฑพทั้งห้าองค์
                ต่อมาพี่น้องปาณฑพเล่นสะกาแพ้พนันพวกเการพต้องเสียทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเดิมพัน ตลอดจนราชอาณาจักร และแม้แต่นางเทราปที ผู้เป็นชายาต้องสละบ้านเมืองไปอยู่ป่า เป็นเวลาสิบสามปี เมื่อครบกำหนดแล้ว ฝ่ายเการพไม่ยอมให้ฝ่ายปาณฑพกลับเข้าเมืองอินทรปรีสต์ตามเดิมจึงเกิดสงครามาใหญ่ มีชื่อว่ามหาภารตยุทธ์ สงครามดำเนินไปในทุ่งราบกุรุเกษตรเป็นเวลาสิบแปดดัน พี่น้องปาณฑพเป็นฝ่ายชนะได้ครอบครองทั้งนครหัสติน่าปุระและนครอินทรปรีสถ์ พี่น้องเการพทั้งร้อยองค์สิ้นชีวิตในสงคราม
                ต่อมาพี่น้องปาณฑพทั้งห้าองค์ รวมทั้งนางเทราปทีได้พร้อมใจกันสละราชสมบัติออกไปใช้ชีวิตแบบนักบวชในป่าตามอุดมการลานปฺรสฺถของฮินดู         ๒๔/๑๕๕๓๙
            ๔๕๘๖. ยุธิษเฐียร ๒  เป็นเชื่อเฉพาะของพระยายุธิษเฐียร เจ้าเมืองสองแคว (พิษณุโลก)  มีการอ้างถึงในหนังสือยวนพ่าย ตำนานสิบห้าราชวงศ์ พงศาวดารโยนก พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ฯ และนิทานโบราณคดีของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)  พระยาสองแควคิดเอาใจออกห่าง ไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกรากษัตริย์เมืองเชียงใหม่ แล้วนัดแนวกันให้ตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย ความทราบถึงพระกรรณ จึงโปรดให้เอาตัวมาชำระขึ้นชื่อว่า ยุธิษเฐียรเป็นกบฎแต่นั้นมา
                เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปราบปรามได้เรียบร้อยแล้ว ก็ทรงตั้งพระราชวังเมือง เป็นผู้ครองนครแทนพระยายุธิษเฐียรต่อไป         ๒๔/๑๕๕๔๓
            ๔๕๘๗. ยุพราช  ในกฎมณเฑียรบาลพ.ศ.๒๔๖๗ ในหมวดที่สองได้ให้ความหมายคำว่า ยุพราชไว้ดังนี้
                สมเด็จพระยุพราชคือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชภิเษก หรือโดยพิธีอย่างอื่น สุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ"
                เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงประกาศ ฯ ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหาอุปราชหรือวังหน้า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ แล้ว ทรงมีพระราชดำริฟื้นฟูตำแหน่งพระรัชทายาท ซึ่งตั้งไว้ในกฎมณเฑียรบาล สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง) ว่าพระราชโอรสองค์ใหญ่ มีฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า คือ รัชทายาท เพื่อจะได้สอดคล้องกับระเบียบราชประเพณี สืบราชสันตติวงศ์ตามอย่างนานาประเทศ ซึ่งมีประเพณีการตั้งพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็นมกุฎราชกุมาร ดำรงตำแหน่งรัชทายาทพร้อมี่จะสืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป
                เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีพระชนมายุเก้าพรรษาในปี พ.ศ.๒๔๒๙ ถึงเวลาที่จะประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระยศ พระนามตามจารึตของเจ้าฟ้าตามพระราชประเพณึโบราณคือ พระราชพิธีเฉลิมพระนามจารึกพระสุพรรณบัฎ สถาปนาสมเด็จพระลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ดำรงตำแหน่งรัชทายาทตำแหน่งวังหน้า หรือพระมหาอุปราชแต่เดิม ซึ่งได้ประกาศยกเลิกแล้วนั้นในพระราชพิธีนี้ด้วย         ๒๔/๑๕๕๔๓
            ๔๕๘๘. ยูง - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เรือนยอดกลม แผ่สาขากว้าง ลำต้นเปลากลม สูง ๓๐ - ๔๐ เมตร ใบรูปรีแกมรูปไข่ กลีบดอกสีขาวมีแถบแดงตรงกลางกลีบ ผลโต เนื้อไม้สีน้ำตาล ใช้ในการก่อสร้างและอุตสาหกรรมไม้ยางไม้อัด         ๒๔/๑๕๕๕๐
            ๔๕๘๙. ยูง - นก  เป็นนกที่มีขนาดใหญ่มาก ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย สีสันโดยทั่วไปของนกยูงเป็นสีเขียวสด นกยูงจะอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ แต่ละฝูงประกอบด้วย ตัวผู้หนึ่งตัว และตัวเมีย ๓ - ๕ ตัว หลังฤดูผสมพันธุ์แล้วมักจะพบตัวเมียและลูก ๆ ตามลำพัง นกยูงทำรังตามพื้นดินโดยตัวเมียทำหน้าที่สร้างรัง
                นกยูงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่หนึ่ง         ๒๔/๑๕๕๕๑
            ๔๕๙๐. ยูนนาน  เป็นชื่อมณฑลทางงภาคใต้ของประเทศจีน มีชนชาติไทยอาศัยอยู่ประมาณ ๗๖๐.๐๐๐ คน คนยูนนานแปลว่าแดนใต้แห่งเมฆหมอก
                ยูนนานมีอาณาเขตทางทิศตะวันออกติดต่อกับมณฑลไกวเจา และมณฑลกวางสี ทิศใต้จดเวียดนามและลาว ทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงใต้จดพม่าและทิเบต ทิศเหนือจดมณฑลเสฉวน เมืองหลวงชื่อคุนหมิง
                อำเภอต้าหลี่ (ตาลีฟู) อยู่ทางทิศตะวันตกของคุนหมิง แต่ค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ห่างออกไปตามทางรถยนต์ประมาณ ๔๐๐ กม. ต้าหลีเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรน่านเจ้า และต่อมาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรตาลีฟู เมื่อพันกว่าปีมาแล้ว
                ชนชาติไทยในยูนนานใช้ภาษาไทยเหนือและไทยลื้อ ซึ่งจัดว่าเป็นภาษาถิ่น ภาษาเดียวกับไทยขาว และไทยลื้อทางทิศตะวันออก ไทยลื้อทางใต้ และไทยเขินทางทิศตะวันตก ดินแดนที่มีภาษาไทยถิ่นมากได้แก่ มณฑลกวางสีของจีนต่อกับเดียนเบียนฟูของเวียดนาม
               สิบสองปันนาเป็นเขตปกครองตนเองของประเทศจีน อยู่ในมณฑลยูนนานทางภาคใต้มีเชียงรุ่งเป็นเมืองหลวงอยู่ห่างจากคุนหมิงลงไปห่างประมาณ ๗๘๐ กม. ชนชาติไทยในสิบสองปันนาเป็นพวกไทยลื้อ ไทยเหนือ ไทยด่อนหรือไทยขาว และไทยปอง อาณาเขตสิบสองปันนาทางทิศตะวันออกติดกับเมืองอูเหนือ และเมืองอูใต้ของประเทศลาว มีแม่น้ำของ (โขง) ไหลผ่านกลาง แม่น้ำนี้มีต้นน้ำอยู่ในเมืองต้าหลี่
                ตามที่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงรุ่ง ขุนเจี้อง เป็นกษัตริย์องค์แรกของเชียงรุ่ง และสวรรคตในปี พ.ศ.๑๗๗๒ ท้าวรุ่งแก่นชายเป็นกษัตริย์องค์ที่สี่ มีธิดาชื่อนางเทพคำกราย (เทพคำขยาย) อภิเษกกับเจ้าชายเชียงแสน ตรงกับพงศาวดารโยนกว่านางเทพคำกรายอภิเษกกับลาวเม็ง และมีโอรสคือพระเจ้ามังราย (เม็งราย) ผู้ทรงรวบรวมอาณาจักรล้านนาขึ้นเป็นปึกแผ่น กษัตริย์องค์สุดท้ายของเชียงรุ่งคือเจ้าหม่อมคำลือ (พ.ศ.๒๔๙๐) เป็นกษัตริย์องค์ที่สี่สิบสี่ และสิ้นสภาพเป็นกษัตริย์ของสิบสองปันนา เมื่อประเทศจีนประกาศสถาปนาประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน
                ชนชาติไทยในสิบสองปันนาส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาแถบเถรวาท ซึ่งสันนิษฐานว่า จะเผยแผ่เข้าไปในสิบสองปันนา หลังจากการสังคายนาพระพุทธศาสนา เป็นครั้งที่แปดของโลก ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาในปี พ.ศ.๒๐๒๐ เพราะคนไทยในสิบสองปันนาเองกล่าววว่า พระพุทธศาสนาเพิ่งเข้าสู่ดินแดนของตน เมื่อประมาณ ๓๐๐ กว่าปีมานี้
                ภาษาพูดตามขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทยในสิบสองปันนาคล้านคลึงกับคนไทยในล้านนา ทั้งนี้สาเหตุใหญ่ประการหนึ่งคือตามพงศาวดารน่านเจ้าและเอกสารจีน พระเจ้ามังรายทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงรุ่งสองครั้งในปี พ.ศ.๑๘๔๐ และพ.ศ.๑๘๔๑ ตามพงศาวดารโยนก พระเจ้าติโลกราชทรงยกกองทัพไปตีสิบสองปันนาในปี พ.ศ.๑๙๙๘ และพ.ศ.๑๙๙๙๙ และในสมัยพระยากาลิละ ทัพล้านนาตีได้เมืองต่าง ๆ ในสิบสองปันนา รวมทั้งเมืองเชียงรุ่ง และได้กวาดต้อนชาวไทยลงมาไว้ในจังหวัดทางภาคเหนือเป็นจำนวนมาก         ๒๔/๑๕๕๕๔
            ๔๕๙๑. ยูเรนัส ดาว  ดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่เจ็ด มีขนาดใหญ่กว่าโลก แต่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพราะอยู่ไกลโลกมาก ดาวยูเรนัสมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ ๑๙.๑๘ หน่วย ดาราศาตร์ ซึ่งใกล้เคียงกับระยะ ๑๙.๖ หน่วยดาราศาตร์ ที่ทำนายไว้ โดยใช้กฎของโมด ไทเทียส
                นักดาราศาตร์ชาวอังกฤษค้นพบดาวยูเรนัส เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๔ ดาวยูเรนัสมีการเคลื่อนที่สำคัญสองอย่างคือ หมุนรอบตัวเอง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยหมุนรอบตัวเองรอบละ ๑๗.๒๔ ชม. และเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ รอบละ ๘๔ ปี แต่แกนที่ดาวยูเรนัสหมุนรอบเอียงทำมุมประมาณ ๙๘ องศา กับระนาบทางโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้นลักษณะการหมุนจึงปรากฎเป็นตรงข้ามกับการหมุนของโลก         ๒๔/๑๕๕๕๖
            ๔๕๙๒. ยูเรเนียม  ธาตุลำดับที่ ๙๒  เป็นธาตุกัมมันตรังสี ผู้ต้นพบออกไซด์ของธาตุนี้ในแร่ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๔ มีผู้แยกออกมาเป็นอิสระได้สำเร็จ
                ยูเรเนียมเป็นธาตุโลหะกัมมันตรังสีในธรรมชาติ ไม่มีปรากฎอยู่ในภาวะอิสระเพราะเป็นธาตุที่ว่องไวต่อปฏิกิริยามาก สามารถรวมตัวได้ดีกับออกซิเจน ไนโตรเจน และคาร์บอน เป็นธาตุที่มีสมบัติทางไฟฟ้าบวกอย่างแรง จึงสามารถทำปฏิกิริยากับน้ำได้ สามารถละลายได้ในกรดแต่ไม่ละลายในด่าง
                โดยที่ธาตุยูเรเนียม เป็นธาตุกัมมันตรังสีจึงให้ปฎิกิริยาการเสื่อมสลายตัวตลอดเวลา เมื่อเสื่อมสลายถึงที่สุดก็จะกลายเป็นธาตุตะกั่วที่เสถียร         ๒๔/๑๕๕๖๗
            ๔๕๙๓. ยูโรเฟียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๖๓ ในธรรมชาติเป็นธาตุที่หายากมากธาตุหนึ่ง มีปรากฎเป็นปริมาณน้อย ยิ่งอยู่ในแร่หายาก
                ประโยชน์ของธาตุยูโรเฟียมมีมากหลายประการ เช่น นำไปทำเป็นแท่งควบคุมนิรภัยในเครื่องปฎิกรณ์นิวเคลียร์ ใช้ธาตุยูโรเฟียมควบกับสารประกอบของยูโรเฟียม และอิตเทรียม เป็นสารเรืองแสงสีแดงในหลอดโทรทัศน์สี ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตแก้วชนิดวาวแสง ใช้เป็นส่วนผสมในวัสดุอิเล็กทรอนิกส์บางชนิด ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสารกึ่งตัวนำ ใช้ในเครื่องมือตรวจสอบอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า         ๒๔/๑๕๕๗๔
            ๔๕๙๔. เยซู  เป็นนามของศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนาคริสต์ คำนี้ในภาษาไทยอ่านออกเสียงใกล้เคียงเสียงภาษาอิตาลี มากที่สุด แต่เชื่อได้ว่าคงมิได้ทับศัพท์มาจากภาษาอิตาลี แต่คงจะทับศัพท์จากภาษาโปร์ตุเกสว่า จีซัส มากกว่า คำนี้ในภาษาโปร์ตุเกสเขียนและอ่านเหมือนภาษาลาติน แต่ภาษาไทยคงทับศัพท์โปร์ตุเกสมากกว่า ทับศัพท์ละติน ทั้งนี้ก็เพราะชาวโปร์ตุเกสเป็นชาติแรก ที่นำศาสนาคริสต์มาเผยแพร่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๐๙๘
                นามดั้งเดิมเป็นอารามาอิกว่า เยซู ซึ่งแผลงมาจากภาษาฮีบรูว่า โยซัว ซึ่งแปลว่า พระเจ้าคือ ความรอดพ้น ส่วนคำว่า คริสต์ มาจากภาษากรีก แปลว่า ผู้ได้รับการเจิม ซึ่งตรงกับคำว่า เมซิอะห์ ของภาษาฮีบรู คริสต์ เป็นสมญานามซึ่งสาวกถวายให้ หลังจากที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะเชื่อว่า พระเยซู ก็คือ เมสซิอาห์ ที่คัมภีร์ของชาวยิวกล่าวถึงว่า จักมาช่วยให้มนุษย์รอดพ้นความทุกข์ร้อน
                มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์น้อยมากเกี่ยวกับชีวประวัติของพระเยซู ที่รู้แน่นอนด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็คือ พระเยซูถูกประหารชีวิตด้วยวิธีตรึงกางเขน ในแคว้นยูเดีย ซึ่งขณะนั้นขึ้นกับมหาอาณาจักรโรมัน ครั้นได้รับยกย่องเป็นศาสดาแล้ว ก็มีตำนานแทรกเข้ามาในชีวประวัติของพระเยซูมากมาย สาวกและสานุศิษย์ได้เรียบเรียงชีวิต และคำสอนของท่านไว้ หลังจากที่ท่านได้ล่วงลับไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี เท่าที่รวบรวมไว้เป็นคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่นั้น พอจะเชื่อถือได้มากที่สุด นอกจากนั้นก็มีเกร็ดเล่าไว้มากมาย ซึ่งชาวคริสต์ไม่เชื่อว่าเป็นคัมภีร์ เท่าที่เล่าไว้ในคัมภีร์นั้น ผู้เล่ามิได้ตั้งใจเล่าให้เป็นประวัติศาสตร์ หรือชีวประวัติ แต่ตั้งใจเรียบเรียงคำสอนศาสนาคริสต์ ซึ่งมีตัวอย่างจากชีวิตและคำสอนของพระเยซู เป็นตัวอย่างมากกว่า
                บางประเด็นที่พอจะเชื่อถือได้ เช่น ประสูติในรัชสมัยจักรพรรดิ์ซีซาร์ เอากุสตุส เป็นชาวยิว เจริญวัยในหมู่บ้านนาซาเรท จนถึงอายุ ๓๐ ปี จึงรวบรวมสาวกและประกาศคำสอนใหม่คือ คำสอนแห่งความรัก โดยไม่ลบล้างคำสอนเดิมของศาสนายูดา สอนได้ไม่เกินสามปี ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ และถูกประหารชีวิต
                ไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันได้เชิงประวัติศาสตร์ว่า พระเยซูได้สอนอะไรไว้บ้าง และอย่างไร แน่นอนว่าท่านสอนด้วยภาษาอารามาอิก ซึ่งเพี้ยนไปจากภาษาฮีบรู ตามความนิยมของสมัยนั้น คัมภีร์ที่สาวก และสานุศิษย์เรียบเรียงไว้นั้น เป็นภาษากรีก คำที่บันทึกจึงมิอาจจะถือได้ว่า เป็นคำพูดโดยตรงของท่าน ผู้เรียบเรียงจะต้องแปล และแปลได้ซื่อสัตย์แค่ไหน ก็อยู่ที่คนแปล
                คำสอนตามการตีความของสาวก และสานุศิษย์ที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ พอจะสรุปได้ว่า ท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์ คัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม มีกล่าวถึงเมสซิอาห์ นั้นหมายถึง พระเยซูทั้งสิ้น ท่านไม่ได้มาตั้งศาสนาใหม่ แต่มาเสริมหลักธรรมที่มีอยู่แล้ว ด้วยข่าวดีแห่งความรักคือ มาแจ้งให้มนุษย์มั่นใจได้ว่า พระเจ้ารักมนุษย์อย่างพ่อรักลูก ปรารถนาให้มนุษย์รักและภักดีต่อพระเจ้าอย่างลูกรักพ่อ และให้มนุษย์รักและเสียสละต่อกัน ในฐานะที่เป็นลูกที่มีพ่อเดียวกันในสวรรค์ อาณาจักรสวรรค์ หรือชีวิต พระเจ้าพึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ เพื่อเป็นหลักค้ำประกันคำสอน พระเยซูยอมสิ้นชีวิต บนไม้กางเขนเพื่อให้สมจริงตามคำทำนายในคัมภีร์พันธสัญญาเดิม เกี่ยวกับเมสซิอาห์ ต่อมาอีกสามปีก็ได้ฟื้นคืนชีพ มีผู้รู้เห็นเป็นพยานไม่ต่ำกว่าห้าร้อยคน และได้ขึ้นสวรรค์ไปแล้ว ต่อหน้าสาวกและสานุศิษย์ ซึ่งได้รับพระจิตแล้ว ก็มีพลังเข้มแข็งกล้าหาญ กล้ายืนยันข่าวดีโดยเอาชีวิตเข้าเสี่ยงต่อการกีดกันขัดขวาง สาวกและสานุศิษย์รุ่นแรก ๆ จำนวนมากถูกประทุษร้ายและฆาตกรรม เพราะไม่ยอมอ่อนข้อต่อการกีดกันขัดขวาง ความเสียสละของคนเหล่านี้มีส่วนปลุกความเห็นใจ จากผู้รู้เห็นได้อย่างมาก เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ศาสนาคริสต์ เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะแรก ๆ         ๒๔/๑๕๕๗๖
            ๔๕๙๕. เยูซูอิต  แปลว่า สมาชิกคณะเยซู เป็นนักพรตพวกหนึ่งของศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก นักบุญอิกนาเซียว แห่งโลโยลา ชาวสเปน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๓ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะปรับปรุงศาสนาคริสต์ ให้ทันเหตุการณ์เพื่อยุติการปฎิรูปนิกายโปรเตสแตนส์ มิให้คืบหน้าต่อไปในกลุ่มคริสต์ชน ที่ยังเป็นคาทอลิกอยู่ นักพรตคณะนี้นอกจากจะปฎิญาณตนถือศีลสามข้อ เหมือนนักพรตอื่น ๆ ของศาสนาคริสต์ อันได้แก่ การถือโสด การไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว และการเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา โดยไม่มีเงื่อนไขแล้วยังเพิ่มข้อที่สี่คือ พร้อมที่จะปฎิบัติตามความประสงค์ของสันตะปาปา โดยไม่มีเงื่อนไข คณะนี้มุ่งสร้างสมาชิกให้มีความสามารถด้วยการศึกษา วิชาการระดับสูงทุกสาขา และฝึกฝนให้พร้อมที่จะปฎิบัติงานทุกรูปแบบ สามารถปรับปรุงองค์การศาสนาคริสต์ขึ้นได้อย่างทันตาเห็น ได้สมาชิกที่มีจิตใจเข้มแข็งจำนวนมากเข้าร่วมงาน จึงปฎิบัติงานได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยเน้นทางการศึกษาระดับสูง และการอบรมจิตใจทุกด้าน ในปัจจุบันมีสมาชิกประมาณสามหมื่นคน จากนานาชาติทั่วโลก
                คณะเยซูอิตเข้าปภิบัติงานในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๑๕๐ ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ โดยมีบาทหลวงชาวโปร์ตุเกสเป็นหัวหน้ากลุม ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ คณะเยซูอิตฝรั่งเศสได้รับมอบหมายให้ดูแล หอดูดาวที่ลพบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๕ คณะเยซูอิตได้เข้ามาปฎิบัติงานในประเทศไทยอีกครั้ง โดยมีคนไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิก ร่วมปฎิบัติงานบริการสังคมด้วย
            ๔๕๙๖. เยรูซาเลม  เป็นเมืองสำคัญในตะวันออกกลาง ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศอิสราเอล ลักษณะของเมืองแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นเมืองเก่า มีกำแพงล้อมรอบและเมืองใหม่ ซึ่งขยายตัวออกไปในภายหลัง โอบล้อมเมืองเก่าอยู่ ภายในกำแพงเมืองเก่ามีสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ และสำคัญทางศาสนาสามศาสนาได้แก่ กำแพงตะวันตก ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวยิว โบสถ์ซึ่งเป็นที่ฝังศพที่ชาวคริสต์ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และโดมอันเป็นที่เคารพของชาวมุสลิม
                เมืองเยรูซาเลม ตั้งอยู่ตรงใจกลางของดินแดนปาเลสไตน์ ท่ามกลางทิวเขายูเดียน ค่อนไปทางทะเลทรายยูเดียน พื้นที่เมืองประมาณ ๑๐๙ ตร.กม. ประชากรเป็นชาวยิว ประมาณสองในสามที่เหลือเป็นชาวอาหรับ มีการแบ่งแยกที่อยู่อาศัยออกเป็นสี่ส่วนคือ ส่วนที่อยู่ของชาวมุสลิม ชาวคริสต์ ชาวยิว และชาวอาร์เมเนียน
                ชาวยิว ถือว่าเยรูซาเลมเป็นศูนย์รวมของชาติและศาสนายูดา หรือศาสนายิว เป็นสถานที่ที่พระเยซูสั่งสอนศาสนา ถูกตรึงไม้กางเขนทนทุกข์ทรมาน กลับฟื้นคืนชีพและขึ้นสวรรค์ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งชุมชนชาวคริสต์ พร้อมกับโบสถ์แห่งแรกในสมัยโบราณ ส่วนชาวมุสลิม เยรูซาเลม เป็นสถานที่ซึ่งพระมะหะหมัด ได้ขึ้นไปยังสวรรค์ ความศักดิ์สิทธิ์จะเป็นรอง ก็เพียงนครเมกกะ และเมดินา เท่านั้น
                ตามประวัติ เยรูซาเลมได้มีการกล่าวถึงในคำสาปแช่งของอียิปต์ ตั้งแต่ ๑,๓๐๐ - ๑,๒๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราชและปรากฎจารึกอยู่บนแผ่นอามาร์นา ซึ่งบันทึกเรื่องราวว่าเป็น นครรัฐอิสระคานาอะไนต์แห่งหนึ่ง เมื่อประมาณ ๘๐๐ กว่าปีก่อนพุทธศักราช ราว ๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช กษัตริย์เดวิดได้เข้ามาครอบครองเมืองนี้ และตั้งเป็นเมืองหลวง เพื่อรวบรวมคนเผ่าพันธุ์ยิวเข้าด้วยกัน พระองค์ได้นำแผ่นหินสองแผ่น ซึ่งจารึกบัญญัติสิบประการ เข้ามายังเยรูซาเลม ทำให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านศาสนา และการปกครอง ต่อมาราว ๔๐๐ ปี ก่อน พ.ศ. กษัตริย์โซโลมอน ได้ปรับปรุงด้านเศรษฐกิจ ทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการค้าของฟินิเซียไปยังอีลาต ซึ่งอยู่บนอ่าวอะกาบา และจากอียิปต์ไปยังเมโสโปเตเมีย ประมาณ ๓๐๐ ปี ก่อนพ.ศ. เมืองเยรูซาเลม ได้ตกมาอยู่ในความปกครองของอาณาจักรยูเดีย
                ประมาณพุทธศตวรรษที่สาม กรีกได้เข้ามาครอบครองดินแดนบริเวณนี้ แต่เมื่อพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ ฯ สวรรคตแล้ว เมืองเยรูซาเลมได้ปกครองตนเอง เพียงแต่ส่งบรรณาการไปให้พระเจ้าปโตเลมี แห่งนครรัฐกรีก
                โรมันเข้าครอบครองเยรูซาเลมในราวพุทธศตวรรษที่หก ได้สร้างพระราชวัง วิหาร และป้อมปราการขึ้นมากมาย ภายใต้การปกครองของโรมัน ชาวยิวได้รับอิสระในการปกครองกันเอง แต่ต่อมาชาวยิวได้ปลดปล่อยเมืองเยรูซาเลม ออกมาเป็นอิสระจากโรมัน ระหว่างปี พ.ศ.๖๗๕ - ๖๗๘ เมื่อโรมันยึดคืนมาได้ จึงห้ามไม่ให้ชาวยิวเข้าเมือง
                ในพุทธศตวรรษที่สิบ พระเจ้าคอนสแตนสตินมหาราช ได้ให้เมืองเยรูซาเลมเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ ได้ก่อสร้างสถานที่สำคัญทางคริสต์ศาสนาขึ้นหลายแห่ง เป็นช่วงอิทธิพลของพวกไบแซนไทน์ ซึ่งได้เข้ามาครอบครองเยรูซาเลม ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑
                ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๘๑ - ๑๖๔๒ เป็นช่วงต้นที่ชาวอิสลามได้เข้ามาครอบครองเยรูซาเลม ในปี พ.ศ.๑๖๔๒ สถานที่สำคัญทางคริสต์ศาสนาในเยรูซาเลม ถูกพวกมุสลิมทำลายและได้เกิดสงครามครูเสด เมืองเยรูซาเลมตกอยู่ในอำนาจของพวกครูเสด ซึ่งเป็นชาวคริสต์ ชาวมุสลิมและชาวยิวถูกสังหารไปเป็นจำนวนมาก พวกครูเสดได้ตั้งเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของตน ได้มีการซ่อมแซมสถานที่ทางคริสต์ศาสนา ที่ถูกพวกมุสลิมทำลายและเปลี่ยนสถานที่ทางศาสนาอิสลาม ให้เป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนา
               ในปี พ.ศ.๑๗๓๐  สุลต่านมุสลิม จากอียิปต์ได้เข้ามายึดครองเยรูซาเลม และได้เชื้อเชิญชาวยิวให้กลับมาอยู่ในเยรูซาเลม และได้เปลี่ยนสถานที่ทางศาสนาอิสลามเดิม ที่ถูกเปลี่ยนไปให้กลับเป็นดั้งเดิม เปลี่ยนโบสถ์คริสต์เป็นสุเหร่า
                สงครามครูเสด สิ้นสุดลงในพุทธศตวรรษที่สิบแปด ในปี พ.ศ.๑๗๗๒ ได้มีการตกลงแบ่งเมืองโดยให้มุสลิม ครอบครองเฉพาะเทมเปิลเมานต์ ที่อยู่ทางด้านตะวันตกในกำแพงเมืองเก่า เป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของมุสลิม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ฮาเรมอัลชารีพ มีโดม ออฟเดอะร็อก และสุเหร่าอัลอัคซา แต่ต่อมามุสลิมได้เข้ามายึดครองเยรูซาเลมคืน ในปี พ.ศ.๑๗๘๗
                ในปี พ.ศ.๑๘๐๓ อียิปต์ได้เข้ามาครอบครองดินแดนนี้ ได้รวมเยรูซาเลมเข้ากับปาเลสไตน์ และให้ขึ้นตรงต่อไคโร อียิปต์ได้ปกครองบริเวณนี้มาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๐๖๑ ดินแดนทั้งหมดได้ตกไปอยู่ในการปกครองของจักรวรรดิ์ออตโตมัน ในช่วงนี้อำนาจทางด้านยุโรปได้เข้ามาแทรกแซงในบริเวณนี้ เริ่มตั้งแต่สงครามไครเมีย ในปี พ.ศ.๒๓๙๗ - ๒๓๙๙  ชาวยิวได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังเทมเปิลเมานต์ได้ โดยการเสียเงินหรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ จักรวรรดิ์ออตโตมันปกครองเยรูซาเลม จนกระทั่งจักรวรรดิ์ได้ล่มสลายลง เมื่อแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อังกฤษได้ขับไล่อิทธิพลของจักรวรรดิ์นี้ออกไปจากปาเลสไตน์ สันนิบาตชาติมอบปาเลสไตน์ให้เป็นเมืองในอาณัติของอังกฤษ ในช่วงนั้นเองยิวและอาหรับได้แย่งชิงกัน เพื่อครอบครองปาเลสไตน์ ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงคือ เยรูซาเลม การพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งในดินแดนนี้ ไม่บังเกิดผลใด ๆ ในขณะนั้น
                หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษเกิดความเบื่อหน่ายในการแก้ปัญหาในดินแดนนี้ จึงยกให้ไปอยู่ในความดูแลขององค์การสหประชาชาติ ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ องค์การสหประชาชาติได้ตกลงให้แบ่งดินแดนปาเลสไตน์ ระหว่างอาหรับกับยิว ส่วนเยรูซาเลมจัดให้เป็นดินแดนนานาชาติ ชาวอาหรับในปาเลสไตน์และชาติอาหรับอื่น ๆ ไม่เห็นด้วยกับแผนการนี้ พวกอาหรับได้เริ่มโจมตีชาวยิวทั่วทั้งพื้นที่ทันที อิสราเอลและจอร์แดนได้มีข้อตกลงสงบศึกลงชั่วคราว ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นเหตุให้มีการแบ่งแยกเยรูซาเลมออกเป็นสองส่วน โดยให้กำแพงเมืองเก่าทางด้านตะวันออกอยู่ในการปกครองของจอร์แดน ส่วนด้านตะวันตกของเยรูซาเลม ซึ่งเป็นเมืองใหม่ให้อิสราเอลครอบครอง
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ได้เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ กษัตริย์ฮุสเซน แห่งจอร์แดน ได้สนับสนุนให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในเยรูซาเลม กองทัพอิสราเอลได้ถือโอกาสนี้ บุกเข้ายึดเยรูซาเลมตะวันออก และประกาศรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอล         ๒๔/๑๕๕๘๑
            ๔๕๙๗. เย้า  เป็นชื่อเรียกชนเชื้อชาติมองโกลอยด์กลุ่มหนึ่ง เป็นชนชาติที่มีประวัติความเป็นมานานกว่า ๑,๐๐๐ ปี มาแล้ว บรรพชนของเย้า มีการเคลื่อนไหวอยู่แถบลุ่มแม่น้ำฉางเจียง และฮั่นเจียง ตอนกลางของจีน คำเรียก เย้า ได้ปรากฎครั้งแรกในเอกสารบันทึกของจีน ในสมัยราวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๕๐)
                ชนชาติเย้า ในประเทศจีนสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้สี่กลุ่ม กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดมีการอพยพโยกย้ายอยู่ตลอดเวลา ได้เข้าสู่ภาคเหนือของเวียดนาม ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ จากนั้นได้เข้าสู่ประเทศลาวและพม่า
                เมื่อชนเผ่าเย้า เข้าสู่ประเทศไทยได้ตั้งถิ่นฐานและทำมาหากินอยู่บนภูเขา จึงถูกเรียกว่า "ชาวเขา"           ๒๔ / ๑๕๕๘๗
            ๔๕๙๘. แย้  เป็นสัตว์เลื้อยคลานพวกเดียวกับตุ๊กแก เต่า กระ จิ้งจก กิ้งก่า ตะกวด และจิ้งเหลน อาศัยอยู่ในรูดิน เป็นสัตว์มีประโยชน์มาก เพราะกินแมลงต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศัตรูพืชไร่         ๒๔/๑๕๕๙๓
            ๔๕๙๙. แยงซี  เป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่งในประเทศจีน เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของจีน ตอนที่ไหลผ่านจีนยาวประมาณ ๕,๒๑๐ กม.  ความยาวทั้งสาย ๕,๔๔๐ กม.  ต้นน้ำอยู่ที่ภูเขาคุนหลุนในมณฑลชิงไห่ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต ไหลมาทางใต้ผ่านมณฑลชีเกียง เข้ามาในมณฑลยูนนาน แล้วหักกลับไหลขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านภาคกลางของจีนไปลงทะเลจีนตะวันออก ปากแม่น้ำแยงซีอยู่เหนือเมืองเซี่ยงไฮ้ขึ้นไปประมาณ ๒๒ กม. จากปากแม่น้ำเรือเดินทะเลสามารถแล่นขึ้นไปได้ถึงเมืองหวู่ฮั่น ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปประมาณ ๙๖๐ กม. แม่น้ำแยงซีมีสาขาหลายสาย และยังติดต่อแม่น้ำฮ่วงโห ทางคลองใหญ่ได้อีกด้วย
                แม่น้ำแยงซี เป็นแหล่งไฟฟ้าพลังน้ำที่สำคัญ คาดกันว่าจะเป็นแหล่งที่สำคัญที่สุด แหล่งหนึ่งของโลกด้วย ที่ดินตอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำแยงซีนี้เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีนด้วย         ๒๔/๑๕๕๙๘
            ๔๖๐๐. โยคะ  เป็นคำที่ใช้ในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ได้มีบทนิยามว่า "การประกอบ การใช้ การร่วม ; กิเลส ; ความเพียร ; วิธีบำเพ็ญสมาธิตามลัทธิของอาจารย์ปตัญชลี ;  (โหร)  การที่ดาวนพเคราะห์ตั้งแต่สองดวงขึ้นไปมารวมกันในราศีเดียว"  ในที่นี้จะขยายความเฉพาะบทนิยามที่หก ที่ว่า "วิธีบำเพ็ญสมาธิตามลัทธิของอาจารย์ปตัญชลี" เท่านั้น  เพราะลัทธินี้เป็นที่มาของปรัชญาโยคะ
                คำว่า โยคะ พบครั้งแรกในคัมภีร์ฤคเวท ซึ่งใช้หมายถึง การเทียมแอก การเทียมรถ หรือการเทียนเกวียน คือ การใช้เชือกผูกม้าเข้ากับแอก หรือเกวียน แล้วบังคับม้าให้ลากไปตามที่ต้องการ ต่อมาความหมายของคำนี้ ขยายออกกล่าวคือ ใช้ หมายถึง การประกอบหรือรวมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ากับอะไรก็ได้ มาถึงสมัยอุปนิษัท ซึ่งเป็นสมัยที่มีการศึกษาเรื่องราวภายในตัวเองกันมากขึ้นคือ ศึกษาเรื่องอาตมัน (อัตตา หรือตัวตน) และพรหมัน (พระเจ้าสูงสุด)  ก็ได้นำคำโยคะ มาใช้ในการศึกษาเรื่องดังกล่าวด้วย หมายถึง การใช้จิตผูกอินทรีย์ทั้งหลาย ถูกผูกไว้กับตัวเราแล้ว ก็สามารถบังคับให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ เช่นเดียวกับที่เราสามารถบังคับม้า ที่เทียมแอกหรือรถ แล้วให้เดินไปตามทางที่ต้องการได้ ต่อมาพวกเวทานตะ นำคำนี้ไปใช้หมายถึง การประกอบหรือการรวมปัจเจกชีพ เข้ากับสากลชีพ หรือรวมอาตมันเข้ากับพรหมัน ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์         ๒๔/๑๕๖๐๐
            ๔๖๐๑. โยคาจาร  เป็นชื่อของพุทธปรัชญาฝ่ายอาจริยวาท หรือมหายาน สำนักหนึ่งซึ่งมุ่งศึกษาให้รู้แจ้งสัจธรรม  โดยวิธีปฎิบัติโยคะตามแบบพระพุทธศาสนา สัจธรรมที่เป็นเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การรู้แจ้งว่าสากลจักรวาลหาใช่อะไรอื่น ที่แยกออกไปต่างหากจากจิตไม่ ในสัจธรรมขั้นสูงสุดไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น การเกิด การตาย ถือว่าสิ่งที่มีอยู่จริงคือ จิต สิ่งภายนอกจิตไม่ได้มีอยู่จริง จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า  วิชญานวาท หรือ วิญญาณวาท ตรงกับปรัชญาตะวันตกคือ จิตนิยม
                ความเป็นมาของสำนักปรัชญาโยคาจารย์ ยังเห็นไม่ลงรอยกัน แต่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า อสังคะ เป็นผู้ตั้งขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่แปด เพราะท่านแต่งคัมภีร์ที่เป็นหลักของสำนักปรัชญานี้หลายเล่ม เช่น คัมภีร์โยคาจารย์ภูมิศาสตร์ มหายานสูตรงาลังการ ปัญจภูมิ อภิธรรมสมุจัย มหายานสังครศาสตร์ มหายานสัมปริครหศาสตร์
                หลักปรัชญาสำคัญของสำนักปรัชญาโยคาจารย์ ถ้าแบ่งตามรูปแบบของปรัชญาตะวันตก จะได้ดังนี้คือ ในทางญาณวิทยา กล่าวถึงความรู้สามชนิดคือ
                        ๑. ปริกัลปิตชญาณ  ได้แก่ ความรู้ชนิดมายา คือ ไม่ให้ความจริงอะไรเลย เป็นความเท็จล้วน ๆ เป็นสิ่งที่จิตคิดขึ้นเอง
                        ๒. ปรตันรชญาณ  ได้แก่ ความรู้ชนิดสัมพัทธ์ คือ ความรู้ขั้นสามัญที่สมมุติขึ้น และยอมรับกันว่าให้ความจริงบ้าง เพื่อใช้เรียกขานในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่ความจริงขั้นปรมัตถ์ และไม่ใช่ความเท็จโดยสิ้นเชิงอย่างชนิดแรก
                        ๓. ปริณิษปันนชญาณ  ได้แก่ ความรู้ชนิดสมบูรณ์ คือ ความรู้แท้ที่เปิดเผยความจริงขั้นปรมัตถ์ (นิพพาน) ความรู้ขั้นนี้เรียกว่า สัมมาญาณะ คือ ความรู้ชอบ ได้แก่ โพธิญาณ หรือสัพพัญญุตญาณ อยู่เหนือความรู้ขั้นเหตุผล
                ในทางจริยศาสตร์ กล่าวถึงหลักปฎิบัติไว้คือ
                        ๑. เป้าหมายของปรัชญาโยคาจารย์ คือ  การบรรลุถึงสภาพธรรมที่เป็นเอกภาพกับธรรมกายของพระพุทธเจ้า โดยอาศัยความรู้ขั้นโพธิญาณ
                        ๒. ผู้ปรารถนาจะบรรลุพุทธภูมิจะต้องปฎิบัติตามขั้นทั้งสิบที่เรียกว่า ทศภูมิของพระโพธิสัตว์ อันได้แก่ บารมีสิบประการ
                        ๓. ผู้ที่ปฎิบัติจนถึงขั้นสูงสุดแล้ว จะอยู่เหนือกายและจิต เข้าถึงสภาพธรรมที่เป็นเอกภาพกับธรรมกายคือ อาลยวิญญาณอันบริสุทธิ์ (อาลยวิญญาณ ตรงกับภวังคจิต ของเถรวาท ซึ่งถือว่าคือ จิตที่เป็นองค์แห่งภพ (ความมีความเป็น)  ได้แก่ จิตที่เป็นพื้นฐานของชีวิต เป็นจิตที่สืบต่อจากปฎิสนธิจิต คือ จิตแรกที่เกิดในครรภ์ ปฎิสนธินี้สืบต่อมาจากจุติจิต คือ จิตที่เคลื่อนจากชาติก่อน การสืบต่อนี้เรียกว่า สันคติ คือ จิตเกิดดับทุกขณะสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย จนกว่าจะบรรลุนิพพานจึงหยุดการสืบต่อ ภวังคจิตเป็นบ่อเกิดของวิญญาณหกอย่าง ซึ่งมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วิถีชีวิต)
                ปรัชญาโยคาจาร ถือว่า อาลยวิญญาณ เป็นมูลฐานแห่งสิ่งทั้งปวง หน้าที่ของอาลยวิญญาณ ท่านนิยามไว้ว่า "เก็บก่อ"  เก็บ คือ เก็บพีชะของสิ่งทั้งปวงไว้ ก่อ คือ ก่อสร้างพฤติภาพต่าง ๆ ให้เกิดมีขึ้น         ๒๔/๑๕๖๐๗
            ๔๖๐๒. โยคี  มีบทนิยามว่า "ฤษี"  และที่คำว่า ฤษี และฤาษี ให้บทนิยามว่า "นักบวช"  ผู้อยู่ในป่า, ชีไพร คำว่า โยคี เป็นคำในภาษาบาลี แปลว่า ผู้มีความเพียร ผู้บำเพ็ญความเพียรทางจิต มีความหมายเหมือนคำ โยคาวจร หรือ โยคาพจร ซึ่งใช้เรียกผู้ประพฤติธรรม เช่น  ผู้ปฎิบัติสมถกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐาน และหมายถึง นักพรตที่ภาษาสันสกฤต ใช้ว่า โยศุน อีกด้วย
                ต่อมาเมื่อ ปตัญชลี (ราวพุทธศตวรรษที่สี่)  ได้รจนาโยคะสูตร ซึ่งกล่าวถึงหลักโยคะ มีองค์แปดที่เรียกว่า ราชโยคะ ไว้อย่างมีระบบยิ่งขึ้น มีผู้เลื่อมใสนำไปปฎิบัติตามกันมาก จนเกิดลัทธิโยคะขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง ถือปฎิบัติมาถึงปัจจุบัน         ๒๔/๑๕๕๑๔
            ๔๖๐๓. โยทะกา  เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีมือเกาะ ใบเดี่ยวออกสลับกัน แผ่นใบรูปค่อนข้างกลม โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อ บานครั้งแรกสีเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีส้ม และสีแดง ผลเป็นฝัก
                โยทะกา  ขึ้นในป่าดงดิบทางภาคใต้ ตั้งแต่คอคอดกระ ลงไป ปลูกกันเป็นไม้ประดับแต่ไม่แพร่หลาย
                พันธุ์ไม้ ที่มีชื่อไทยว่า โยทะกา ยังมีอีกสองชนิด เป็นพันธุ์ไม้จากต่างประเทศปลูกเป็นไม้ประดับ ชนิดหนึ่งเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง ๑๕ เมตร ดอกใหญ่สีชมพูออกเป็นช่อ อีกชนิดหนึ่งเป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ดอกใหญ่สีเหลืองสด หรือเหลืองอมเขียว ออกตามข้างกิ่งจากโคนไปถึงยอด ปลูกง่ายตัดแต่งเป็นพุ่มกลมก็ได้ ชื่ออื่นที่เรียกคือ ชงโคดอกเหลือง         ๒๔/๑๕๖๑๖
            ๔๖๐๔. โยธาธิการ  เป็นชื่อหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ในนามของกรมสุขาภิบาล สังกัดกระทรวงนครบาล มีหน้าที่จัดการสุขาภิบาล ในเขตสุขาภิบาลในจังหวัดพระนคร การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๘ ได้โอนงานป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กระทรวงสาธารณสุข และได้เปลี่ยนชื่อเป็น  กรมนคราทร สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ตรวจตรา อำนวยการก่อสร้าง และรักษาถนน คลอง และทางระบายน้ำในเขตสุขาภิบาล ควบคุมการฆ่าสัตว์ กิจการช่าง การประปา การบำรุงรักษาความสะอาด และการกำจัดสิ่งโสโครกทั่วไป
                ในปี พ.ศ.๒๔๗๖  ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมโยธาเทศบาล ได้ขยายขอบเขตงานช่าง ด้านสาธารณูปโภค ออกไปอย่างกว้างขวาง มีอำนาจหน้าที่อำนวยกิจการงานช่างพลเรือน ในการก่อสร้าง การจัดระเบียบผังเมือง ดำเนินการให้มีไฟฟ้าและน้ำประปาโดยทั่วไป จัดสร้างและบูรณะทางหลวงจังหวัด และชนบท
                ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๖ - ๒๕๑๐ ได้โอนงานออกไปสังกัดหน่วยงานอื่น ๆ หลายหน่วยงาน หลังจากนั้นก็ได้รับการขยายงานออกไปอีกหลายหน่วย
                ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๑ - ๒๕๑๐  มีบางหน่วยงานได้รับการยกฐานะเป็นส่วนราชการเทียบเท่ากรม         ๒๔/๑๕๖๑๘
            ๔๖๐๕. โยนก  เดิมเป็นชื่อเมืองเชียงแสน คือ โยนกนครราชธานีชัยบุรีศรีช้างแล่น  ช้างแล่น แปลว่า ช้างร้อง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เชียงแสน
                ต่อมาโยนกได้เปลี่ยนชื่อแคว้น ประกอบด้วย เมืองเชียงราย เชียงของและเชียงแสน ภายหลังมีเชียงใหม่เป็นราชธานี และนิยมเรียกเชียงใหม่ว่า อาณาจักรล้านนา สมัยอยุธยา เรียกชาวไทยในล้านนาว่า "ยวน"
                ตามตำนานสิงหนวัติ เมื่อก่อนตั้งพุทธศักราช ๑๓๐ ปี สิงหนวัติกุมารยกผู้คนมาสร้างเมืองพันธุสิงหนวัตินคร ใกล้แม่น้ำกกและแม่น้ำโขง ภายหลังกลายมาเป็นโยนกนคร ฯ และเชียงแสนตามลำดับ
                ถึงปี พ.ศ.๑๑๘๒ ลาวจังกราชได้ตั้งราชวงศ์ใหม่ครองเมืองเชียงแสน ขุนเจื๋องได้เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบเก้าของราชวงศ์นี้ เมื่อปี พ.ศ.๑๖๕๙ พระองค์ทรงปราบเมืองต่าง ๆ ได้หลายเมือง เรื่องราวของขุนเจื๋องจากตำนานเชียงแสน ซ้ำซ้อนกับเรื่องพระเจ้าพรหม ในตำนานสิงหนวัติ (พ.ศ.๘๙๔ - ๙๗๗) จนน่าเชื่อว่าอาจเป็นองค์เดียวกัน
                กษัตริย์องค์ที่ ๒๕ ทรงพระนามว่า พ่อขุนเม็งราย ทรงยกทัพไปปราบปรามหัวเมืองทางฝ่ายเหนือขึ้นไปจนถึงสิบสองปันนา และขยายอาณาเขตออกไปทางใต้ กษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่เจ็ดคือ พระยากือนา ได้ทรงนิมนต์พระมหาสุมนเถระ ให้นำพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เก่า หรือแบบรามัญวงศ์จากสุโขทัย ไปเผยแพร่ในแคว้นโยนก เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๒ อักษรพ่อขุนรามคำแหง ฯ ได้เข้าไปพร้อมกับศาสนา และต่อมาวิวัฒนาการไปเป็นอักษรฝักขามกระจายไปสู่เชียงตุง และที่อื่น ๆ
                กฎหมายที่ใช้อยู่ในแคว้นโยนกเรียกว่า มังรายศาสตร์ เป็นราชศาสตร์ที่มีต้นเค้ามาจากธรรมศาสตร์ของอินเดียโดยผ่านมาทางมอญ และมีส่วนคล้ายคลึงกับกฎหมายตราสามดวงอยู่มาก
                แคว้นโยนกหรือล้านนาถูกพม่าตีแตก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๑ และตกเป็นเมืองขึ้นพม่ามาเกือบ ๒๐๐ ปี ในระหว่างเวลาดังกล่าวแคว้นโยนกตั้งตัวเป็นเอกราชบ้าง เป็นเมืองขึ้นของอยุธยาบ้าง
                ในปี พ.ศ.๒๓๑๔ จ่าบ้านบุญมา และเจ้ากาวิละขอความช่วยเหลือจากกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ พร้อมด้วยเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ทรงตีเชียงใหม่คืนจากพม่าได้ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ แคว้นโยนกจึงมารวมกับประเทศสยามมาแต่นั้น          ๒๔/๑๕๖๒๑

 

ร.

            ๔๖๐๖. ร. พยัญชนะตัวที่ ๓๕  ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ รูปของไทย ใช้เป็นทั้งพยัญชนะต้นเสียงได้ และใช้ผสมกับพยัญชนะอื่นเป็นอักษรควบกล้ำ นอกจากนั้นยังใช้เป็นตัววสะกดในแม่กน สองตัวเรียงกันเรียกว่า ร หัน อ่านเป็นเสียงอัน ถ้า ณ หัน ตามด้วยตัวสะกด ก็มักออกเสียงเป็นเสียงไม้หันอากาศกับตัวสะกดนั้น ในกรณีที่ใช้อักษร ร สะกด โดยไม่มีรูปสระรูปใดเลย อีกษร ณ จะออกเสียงเป็นสระออกับแม่กน
                อักษร ร เป็นอักษรต่ำ อักษร ร ใช้แทนเสียงในภาษาไทยซึ่งนักสัทศาสตร์เรียกว่าเสียงรัว และเสียงลิ้นกระทบ          ๒๔/๑๕๖๒๕
            ๔๖๐๗. รก  เป็นอวัยวะยึดเกาะเยื่อบุมดลูก และต่อกับสายสะดือของทารกในครรภ์ รกประกอบขึ้นด้วยส่วนของเยื่อบุมดลูก และส่วนที่เจริญมาจากเยื่อหุ้มลูก ส่วนนี้จะต่อกับสายสะดือลูก
                รกเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ถูกผสมแล้วเคลื่อนจากปีกมดลูกไปถึงโพรงมดลูก ซึ่งพอดีกับที่ไข่แบ่งตัวหลายครั้งจนเกิดเป็นเอ็มบริโอที่มีส่วนหุ้มของลูกเกิดขึ้น ส่วนหุ้มดังกล่าวจะฝังตัวลงบนเยื่อบุมดลูก เยื่อบุมดลูกจะเกิดการสลายตัว เพื่อให้ส่วนหุ้มของลูกเจริญเพิ่มขึ้นเป็นโคริออนิกสิลไล แทรกลงในเยื่อบุมดลูก หลังจากนั้นเยื่อบุมดลูกจะเกิดเป็นช่องเลือด เป็นแอ่งให้โคริออนิกสิลไลแช่อยู่ ส่วนที่มาจากลูกและส่วนของเยื่อบุมดลูกที่เยื่อหุ้มลูกฝังอยู่ จึงประกอบกันขึ้นเป็นรก
                ภายในแกนของโคริออนิกสิลไล มีหลอดเลือดแดง หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดฝอยอยู่ หลอดเลือดดังกล่าวจะต่อกับหลอดเลือดในสายสะดือเด็ก หลอดเลือดฝอยทำหน้าที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนอากาศ อาหาร และของเสีย โดยนำส่วนที่ดีจากแม่ไปยังเด็ก นำของเสียจากเด็กไปยังแม่
                ตามปรกติรกมีลักษณะกลมแบน เมื่อครบกำหนดรกจะออกมาหลังจากการคลอดลูก มีน้ำหนักประมาณ ๕๐๐ กรัม
                ส่วนสัตว์นั้นจะพบรกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดที่ออกลูกเป็นตัว ซึ่งมีลูกเจริญเติบโตอยู่ในมดลูกของแม่          ๒๔/๑๕๖๒๖
            ๔๖๐๘. รฆุวงศ์  เป็นชื่อมหากาพย์เล่มที่สองในจำนวนหกเล่มตามขนบนิยมของอินเดีย ผู้แต่งเรื่องรฆุวงศ์คือ กาลิทาส ซึ่งมีชีวิตอยู่ในราวพุทธศตววรรษที่สิบ อันเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์คุปตะมีอำนาจปกครองอินเดีย มหากาพย์เรื่องนี้มีเนื้อความแบ่งออกเป็นสิบเก้าสรรค (ตอน) บรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและกรณียกิจของกษัตริย์อโยธยา ในสายของพระเจ้ารฆุวงศ์ โดยกล่าวถึงเรื่องราวของพระราม (หรือรามจันทร์) เป็นจุดสำคัญที่สุด          ๒๔/๑๕๖๓๑
            ๔๖๐๙. รดน้ำ - ลาย  เป็นงานจิตรกรรมของไทยแขนงหนึ่งได้รับช่วงถ่ายทอดความรู้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ สายรดน้ำประกอบด้วยการลงรัก เขียนลายด้วยน้ำยาหรดาลและปิดทองรดน้ำ ซึ่งทำได้ทั้งบนแผ่นไม้ แผ่นโลหะ พื้นปูน ดินเผา ตลอดจนเครื่องเขินและสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ กรรมวิธีของการเขียนลายรดน้ำ แบ่งออกเป็นสามขั้นตอนคือ การเตรียมพื้นรัก การผสมน้ำยา และการเขียนลาย และการปิดทองรดน้ำ
                การรดน้ำ คือใช้น้ำล้างน้ำยาที่เขียนอยู่นั้นให้ละลายออก เมื่อรดน้ำเสร็จก็เป็นสำเร็จวิธีการเขียนลายรดน้ำ ตามวิธีของช่างไทยในอดีต          ๒๔/๑๕๖๓๔
            ๔๖๑๐. ร่มชูชีพ  เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยวัสดุสิ่งทอใช้เป็นเครื่องพยุงตัวเมื่อกระโดดจากที่สูง เมื่อกางออกขณะเคลื่อนที่ในอากาศรูปร่างคล้ายร่ม ใช้หน่วงอัตราการตกของเทหัวตก เมื่อใช้แล้วสามารถพับเก็บได้
                มีหลักฐานว่า นักกายกรรมชาวจีนได้ใช้เครื่องประดิษฐ์คล้ายร่มชูชีพมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๔๙ เลโอนาร์โด ดาวินซี (พ.ศ.๑๙๙๕ - ๒๐๖๒) ได้เขียนภาพและคำอธิบายร่มชูชีพรูปร่างแบบพีระมิด ร่มชูชีพสมัยใหม่เริ่มขึ้นในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ซึ่งใช้ในงานแสดง โดยการปล่อยลงมาจากบอลลูนอากาศร้อน และได้ทดลองใช้ร่มชูชีพกันตลอดพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ต่อมาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจึงได้มีการออกแบบร่มชูชีพขึ้นใช้โดยเฉพาะกับนักบิน         ๒๔/๑๕๖๓๘
            ๔๖๑๑. รวก  เป็นไม้ไผ่ชนิดหนึ่งเรียกว่า ไผ่รวกหรือไม้รวก ไผ่รวกเป็นไผ่ชนิดออกดอกแล้วไม่ตายเป็นไผ่ที่สวยงามขึ้นเป็นกอแน่น ลำต้นตรง ไม่แตกแขนงตอนโคน ปลายยอดโค้งลง ต้นสูงได้ถึง ๑๕ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางปล้องตอนโคนประมาณ ๓๐ ซม. เนื้อผนังหนาผิวเรียบ สีเขียว ข้อเรียบ
                ไผ่รวกเป็นพืชพื้นเมืองของพม่าและไทย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ หน่อไผ่รวกใช้เป็นอาหารได้แก่ รสขื่น ไม้ไผ่รวกใช้ในการก่อสร้างเช่น ทำรั้วและทำเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เครื่องมือกสิกรรม เครื่องเรือน เครื่องจักรสาน ทำเยื่อกระดาษ         ๒๔/๑๕๖๔๑
            ๔๖๑๒. รสสุคนธ์ - ต้น  เป็นชื่อเถาไม้เลื้อย ลำเถาของรสสุคนธ์เป็นเนื้อไม้แข็ง มีขนาดเล็ก อาจพันพาดต้นไม้อื่น หรือทอดนอนไปตามดิน แล้วเกิดกระจกราก และแตกกอ ยอดใหม่ตรงบริเวณที่เถาแนบกับพื้นดิน ใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนรอบกิ่งรูปรีหรือรูปไข่ ขอใบหยักตื้น และหยักเป็นรูปฟันเลื่อยตามขอบบริเวณใกล้ปลายใบ
                ช่อดอกมีดอกห่าง ๆ ยาว ๕ - ๑๐ ซม. เกิดที่ซอกใบและปลายกิ่งเป็นช่อแยกแขนง ดอกขนาดเล็กสีขาว กลิ่นหอมเย็น ดอกบานไม่ทน ผลรูปรียาว ๗ - ๘ มม. กว้าง ๔ - ๕ มม.           ๒๔/๑๕๖๔๔
            ๔๖๑๓. รอก  เป็นเครื่องกลอย่างง่ายชนิดหนึ่ง ลูกล้อที่ทำด้วยไม้ หรือโลหะที่มีแกนกลาง และหมุนได้คล่องรอบตัวตามขอบโดยรอบเป็นร่องสำหรับคล้องเชือก หรือโซ่ให้แนบติดกับตัวรอก สำหรับตอนนอกเป็นโครงไม้หรือโครงโลหะยึดติดกับแกนกลางของตัวรอกอีกทีหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับแขวนหรือห้อยตัวรอกได้ เราจำแนกประเภทรอกได้ต่าง ๆ กัน คือ
                   รอกเดี่ยวตายตัว  ประกอบด้วย รอกหนึ่งตัว ห้อยแขวนตายตัว เวลาใช้งานใช้เชือกหรือโซ่เส้นเดียวคล้องร่องรอยตัวรอก ปลายข้างหนึ่งสำหรับใช้ดึง คือออกแรงพยายามส่วนอีกปลายหนึ่งสำหรับใช้ผูกกับน้ำหนักที่จะยก เมื่อรอกอยู่ในภาวะสมดุลจะได้ความพยายามเท่ากับความต้านทานเสมอไป
                    รอกเดี่ยวเคลื่อนที่  ประกอบด้วย รอกหนึ่งตัวใช้เชือกหรือโซ่คล้องรอกนอกปลายข้างหนึ่งผูกติด หรือแขวนกับที่ยึด ส่วนอีกปลายหนึ่งใช้สำหรับดึง ส่วนน้ำหนักที่จะยกแขวนกับตอนล่างของโครงรอกในการจัดรอกเช่นนี้ เมื่อออกแรงความพยายามเพื่อยกน้ำหนักขึ้น ตัวรอกจะเคลื่อนที่ไปตามเส้นเชือก หรือโซ่ที่คล้องรอบนอกในทางปฏิบัติ ย่อมเกิดความไม่สะดวก ตรงที่ต้องออกแรงความพยายามดึงขึ้น ในทางปฏิบัติจึงติดรอกอีกตัวหนึ่งให้ตายตัวกับที่ยึด และคล้องเชือก หรือโซ่เข้ากับรอกตัวนี้วนลงมาสำหรับใช้ดึงได้โดยสะดวก แรงดึงตลอดเส้นเชือก หรือโซ่ย่อมมีค่าสม่ำเสมอ
                    รอกพวง  ประกอบด้วย รอกหลายตัวรวมกันจัดแบ่งได้เป็นสามระบบ คือ
                       ระบบที่หนึ่ง  น้ำหนักที่จะยกห้อยอยู่กับรอกตัวล่างสุดมีรอกกี่ตัวก็ใช้เชือกหรือโซ่เท่านั้นเส้นปลายเชือกหรือโซ่ของทุกเส้นผูกติดกับขือ ส่วนอีกปลายหนึ่งห้อยลงมาคล้องรอกวนขึ้นไปผูกกับตอนล่างของโครงรอกตัวถัดขึ้นไป ทำดังนี้เรื่อยไปจนครบทุกตัวรอก
                       ระบบที่สอง  ประกอบด้วย รอกสองตัว แต่ละตัวมีรอกหลายตัว ตัวบนแขวนห้อยตายตัวกับขื่อใช้เชือก หรือโซ่เส้นเดียวคล้องวนรอบรอกทุกตัวทั้งสองตับ น้ำหนักที่จะยกผูกห้อยกับส่วนล่างของรอกตัวล่างสุดของตับล่าง
                       ระบบที่สาม  ใช้เชือกหรือโซ่ มีจำนวนเท่ากับจำนวนรอก รอกตัวบนสุดแขวนห้อยตายตัวกับขื่อ ปลายหนึ่งของเชือกหรือโซ่ทุกเส้นผูกติดกับคาน ซึ่งแขวนน้ำหนักที่จะยกให้วนเชือกขึ้นไปคล้องรอก แล้วผูกปลายที่เหลือกับโครงของรอกตัวล่างที่อยู่ถัดลงมา ทำดังนี้จนครบทุกตัวรอก เชือกหรือโซ่เส้นสุดท้าย เมื่อคล้องวนรอกตัวล่างสุดแล้วเหลือปลายข้างหนึ่งไว้สำหรับดึง         ๒๔/๑๕๖๔๕
            ๔๖๑๔. ร้องกวาง  อำเภอขึ้น จ.แพร่ ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน มีป่าไม้ ตอนตะวันออกเป็นป่ามีภูเขา ตอนตะวันตกเป็นที่ราบ ทำนาได้
                อ.ร้องกวางเดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.สอง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐         ๒๔/๑๕๖๕๐
            ๔๖๑๕. ร่องคำ  อำเภอขึ้น จ.กาฬสินธุ์ ภูมิประเทศเป็นที่ดอน ดินปนทรายค่อนข้างกันดารน้ำ พื้นที่มีลักษณะสูง ๆ ต่ำ ๆ คล้ายลูกคลื่น ลาดจากตอนเหนือลงสู่ตอนใต้ของอำเภอ
                อ.ร่องคำ เดิมตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖           ๒๔/๑๕๖๕๑
            ๔๖๑๖. รองช้ำ  เป็นการอักเสบเฉียบพลันชั้นใต้ผิวหนัง อาจเกิดได้ทั่วร่างกายที่มีชั้นใต้ผิวหนังค่อนข้างหนา เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้าเกิดขึ้นเพราะเชื้อลุกลาม เนื่องจากผิวหนังหรืออวัยวะอื่น ๆ อักเสบ โดยเชื้อนั้นจะกระจายมาตามชั้นใต้ผิวหนัง         ๒๔/๑๕๖๕๒
            ๔๖๑๗. ร่อนพิบูลย์  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอนสูง มีคลองแบบชายเขาตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุก และแร่วุลแฟรม ตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา         ๒๔/๑๕๖๕๓
            ๔๖๑๘. ร้อยกรอง  เป็นรูปแบบของคำประพันธ์ประเภทหนึ่งต่างจากคำประพันธ์ร้อยแก้ว ร้อยกรองเป็นคำประพันธ์ที่วิจิตรบรรจง เพราะมีกฎเกณฑ์ และอลังการทางภาษาประกอบ ทำให้มีความไพเราะซาบซึ้ง ซึ่งกวีเท่านั้นจึงจะสามารถรจนาได้ ดังนั้นบางทีจึงมีผู้เรียกบทประพันธ์ร้อยกรองว่า กวีนิพนธ์ หรือกวีวัจนะ
                    ลักษณะที่สำคัญที่สุดอันเป็นเครื่องบังคับของการแต่งบทร้อยกรองก็คือสัมผัส ซึ่งแบ่งออกเป็นสามชนิด คือ
                        ๑. สัมผัสพยัญชนะหรือสัมผัสอักษร
                        ๒. สัมผัสสระ
                        ๓. สัมผัสวรรณยุกต์
                    การประพันธ์ร้อยกรองแบ่งเป็นหกประเภทคือ โคลง กลอน ร่าย กาพย์ ฉันท์ และเพลงพื้นเมือง
                  คำประพันธ์ประเภทกลอน  คือ เอากลอนแปดเป็นหลักบางทีเรียกว่า กลอนตลาด แต่ถ้าลดคำลงเป็นกลอนหก และกลอนเจ็ด ถ้าเพิ่มคำอีกคำหนึ่งจะเป็นกลอนเก้า รวมทั้งหมดเรียกว่า กลอนสุภาพ หรือกลอนผสม
                    กลอนสุภาพใช้แต่งบทละครใน ละครนอก เสภา นิราศ เพลงยาว นิทาน ดอกสร้อย และสักวา และยังใช้แต่กลบทชนิดต่าง ๆ อีกด้วย
                    ยังมีกลอนอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า กลอนเพลงพื้นเมือง เช่น เพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงปรบไก่ เพลงชาวไร่ (ระบำชาวไร่) เพลงชาวนา เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพิษฐาน (อธิษฐาน) เพลงโคราช และเพลงรำอีแซว
                  คำประพันธ์ประเภทโคลง  เดิมเป็นโคลงโบราณแปดชนิดที่มีระบุไว้ในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินีและคัมภีร์กาพยคันถะ ต่างกับโคลงในสมัยปัจจุบัน คือ โคลงสี่สุภาพ โคลงคั้นวิวิธมาลี และโคลงคั้นบาทกญชรตรงที่โคลงโบราณเหล่านั้นไม่บังคับเอก - โท แต่โคลงปัจจุบันบังคับเอกโท ตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ในแผนคือ เอกเจ็ดแห่งและโทสี่แห่ง
                  คำประพันธ์ประเภทร่าย  เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่งที่ใช้แต่งผสมกับโคลงในลิสิตสายชนิดคือ ร่ายโบราณ ร่ายสุภาพ และร่ายคั้น
                    ส่วนร่ายอีกชนิดหนึ่งใช้แต่งโดด ๆ ไม่ใช้แต่งลิสิต คือร่ายยาว ซึ่งบางทีเรียกว่า กลอนเทศน์ ตัวอย่างร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
                  คำประพันธ์ประเภทกาพย์  เป็นคำประพันธ์ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับฉันท์เพียงแต่ไม่บังคับ ครุ - ลหุ เท่านั้นเอง ตัวอย่างคือ กาพย์ยานี ซึ่งก็คืออินทรวิเชียรฉันท์ที่ไม่บังคับครุ - ลหุ นั่นเอง กาพย์อาจจะแต่งโดด ๆ ก็ได้ แต่ถ้าใช้แต่งประสมกับคำประพันธ์ชนิดอื่น ก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น กาพย์ยานีหนึ่งบท ผสมโคลงสี่สุภาพหนึ่บท เรียกว่า กาพย์ห่อโคลง ถ้าขึ้นต้นด้วยโคลงสี่สุภาพหนึ่งบทต่อด้วยกาพย์ยานีกี่บทก็ได้เรียกว่า กาพย์เห่ หรือกาพย์เห่เรือ ถ้าขึ้นต้นด้วยโคลงสี่สุภาพ แล้วต่อด้วยกาพย์สุรางคนางค์ก็เรียกว่า กาพย์ขับไม้
                  คำประพันธ์ประเภทฉันท์  ได้แบบแผนมาจากอินเดียและลังกาโดยตรงคำว่าฉันท์แบ่งฉันท์ออกเป็นสองชนิดคือ ฉันท์ประเภทวรรณพฤติ ๘๑ ชนิด และมาตราพฤติ ๒๗ ชนิด ฉันท์วรรณพฤติประกอบด้วยพยางค์ คือ หนึ่งพยางค์นับเป็นหนึ่งคำ แต่ฉันท์มาตราพฤติกำหนดด้วยมาตรา โดยนับเลียงเบาหรือลหุเป็นหนึ่งมาตรา         ๒๔/๑๕๖๖๐
            ๔๖๑๙. ร้อยแก้ว  ภาษาพูดหรือภาษาเขียนที่นับว่าเป็นร้อยแก้วจริง ๆ ต้องเป็นภาษาที่มีระเบียบเข้าใจง่าย และมีความไพเราะตามความสมควร การเขียนร้อยแก้วที่มีกฎเกณฑ์นั้น ต้องประกอบด้วยโวหาร คือ ท่วงทำนองในการเขียน ซึ่งแบ่งออกเป็นสามอย่างคือ บรรยายโวหาร พรรณาโวหาร และเทศนาโวหาร แต่บางตำราได้เพิ่มอุปมาโวหาร และสาธกโวหารเข้าไปอีกสองอย่าง
                            ๑. บรรยายโวหาร หมายถึง การใช้ถ้อยคำที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาและมีความกระชับเป็นโวหารที่ใช้ในการเขียนรายงานจดหมายธุรกิจ บันทึกการเดินทางและท่องเที่ยว ตำรา และอื่น ๆ
                            ๒. พรรณาโวหาร คือ การใช้ถ้อยคำอย่างละเอียดถี่ถ้วนและวิจิตรบรรจงจุดประสงค์ของการใช้โวหารนี้ก็คือ มุ่งพรรณาให้เกิดความซาบซึ้งดื่มด่ำในข้อความนั้น ๆ และเห็นภาพชัดเจนในความคิดคำนึง พรรณาโวหารมุ่งแสดงความไพเราะของภาษามากกว่าที่จะคำนึงในแง่ความจริง
                            ๓. เทศนาโวหาร เป็นโวหารที่มุ่งแสดงความรู้สึกนึกคิดไปยังอีกฝ่ายหนึ่งให้เห็นจริงและคล้อยตาม คำว่าเทศนา โดยรูปศัพท์แปลว่า การแสดงให้เห็น         ๒๔/๑๕๖๖๑
            ๔๖๒๐. ร้อยเอ็ด  จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.กาฬสินธุ์ ทิศตะวันออกจด จ.ยโสธร ทิศใต้จด จ.สุรินทร์ ทิศตะวันตกจด จ.มหาสารคาม อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ ตามทางหลวงแผ่นดินประมาณ ๔๗๐ กม. ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง
                จ.ร้อยเอ็ด มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่าเป็นเมืองโบราณอ้างไปถึงพุทธศักราชล่วงไปได้ประมาณร้อยปีเศษ เมืองนี้เป็นเมืองที่เจริญ มีเมืองขึ้นถึงร้อยเอ็ดหัวเมือง ตำนานอรังคธาตุเรียก เมืองร้อยเอ็ดว่า เมืองร้อยเอ็ดเจ็ดประตู ในประชุมพงศาวดารภาคที่สี่ว่า ในปี พ.ศ.๒๓๑๘ ท้าวทนได้เข้าหาพระยาพรหม พระยากรมท่าทั้งสองท่านเห็นว่า ท้าวทนมีผู้คนบ่าวไพร่ความคุมอยู่มาก จึงบอกไปยังกรุงธนบุรี ขอตั้งท้าวทนเป็นเจ้าเมืองโดยยกบ้านกุม ซึ่งเป็นเมืองร้อยเอ็ดเท่าขึ้นเป็นเมืองแล้ว โปรดให้ท้าวทนเป็นพระขัตติยวงศ์เจ้าเมืองร้อยเอ็ด
                ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๓ การปกครองหัวเมืองภาคตะวันออกในครั้งนั้นจัดเป็นบริเวณมีสี่บริเวณ เมืองร้อยเอ็ดเป็นบริเวณหนึ่งขึ้นต่อข้าหลวงเมืองอุบลราชธานี ซึ่งขึ้นตรงต่อข้าหลวงใหญ่นครจำปาศักดิ์ ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๔ ได้แบ่งเขตการปกครองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสามมณฑล เมืองร้อยเอ็ดขึ้นอยู่ในมณฑลลาวกาว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ แบ่งหัวเมืองมณฑลอีสานออกเป็นห้าบริเวณ บริเวณร้อยเอ็ดมีห้าเมือง คือ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาไสย และเมืองสุวรรณภูมิ ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๑ เปลี่ยนชื่อบริเวณร้อยเอ็ดเรียกจังหวัดร้อยเอ็ด ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๕ แยกมณฑลอีสานออกเป็นสองมณฑล คือมณฑลอุบลราชธานีและมณฑลร้อยเอ็ด ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๕ ข้าหลวงใหญ่นครจำปาศักดิ์ ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๔ ได้แบ่งเขตการปกครองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสามมณฑล เมืองร้อยเอ็ดขึ้นอยู่ในมณฑลลาวกาว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ แบ่งหัวเมืองมณฑลอีสานออกเป็นห้าบริเวณ บริเวณร้อยเอ็ดมีห้าเมือง คือ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาไสย และเมืองสุวรรณภูมิ ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๑ เปลี่ยนชื่อบริเวณร้อยเอ็ดเรียกจัวหวัดร้อยเอ็ด ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๕ แยกมณฑลอีสานออกเป็นสองมณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๕ รวมมณฑลอุดร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานีขึ้นเป็นภาคเรียกว่า ภาคอีสาน เมื่อเลิกการปกครองเป็นภาคแล้ว จึงให้จังหวัดต่าง ๆ ในมณฑลร้อยเอ็ดและมณฑลอุบลราชธานีมาขึ้นมณฑลนครราชสีมา ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ถึงปี พ.ศ.๒๔๗๙ เลิกการปกครองมณฑล จ.ร้อยเอ็ดจึงขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย
                จ.ร้อยเอ็ดมีโบราณสถานเป็นปรางค์ย่อม ๆ ก่อด้วยศิลา และอยู่มากแห่งเรียกว่า กู่ เช่น กู่บ้านด่าน กู่เขาสิงห์         ๒๔/๑๕๖๖๕
            ๔๖๒๑. ระกำ - ต้น  เป็นปาล์มที่เลื้อยด้วยไหลไปตามดิน มักอยู่กันเป็นกอ ลำต้นอยู่ใต้ดินและส่งตันสั้น ๆ ขึ้นมาเหนือดิน ใบประกอบแบบขนนก ยาว ๓ - ๗ เมตร มีหนามแหลมแบนตั้งฉากกับก้านใบ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อหางกระรอก ช่อดอกเพศเมียแบบแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจกสีแดง ผลแบบผลเมล็ดแข็งรูปไข่ กลีบขนาดประมาณ ๒.๕ ซม. รวมกันเป็นกระจุกแน่น
                ระกำที่เป็นพันธุ์ดี เช่น สละ จะเป็นพืชปลูก การขยายพันธุ์ไม่นิยมเพาะเมล็ด เนื่องจากเกิดการกลายพันธุ์ ใช้สกัดหน่อและหั่นลำต้นเป็นข้อ ๆ ให้มีตาติดอยู่แล้วนำไปชำในแกลบดำ         ๒๔/๑๕๖๖๗
            ๔๖๒๒. ระแงะ  อำเภอขึ้น จ.นราธิวาส ภูมิประเทศโดยมากเป็นป่าและเขา มีที่ราบน้อย พลเมืองโดยมากเป็นไทยอิสลาม ทำสวนยางพารา สวนผลไม้และทำนา
                อ.ระแงะเดิมเป็นเมืองเรียกว่าเมืองระแงะ มีพระยาเมืองปกครองต่อมายุบเป็นอำเภอตั้งที่ว่าการอยู่ใกล้กับบ้านร่อน จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า อ.ร่อน เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ตันหยงมัส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ แล้วเปลี่ยนเป็น อ.ระแงะ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         ๒๔/๑๕๖๖๙
            ๔๖๒๓. ระดู  เป็นสิ่งที่ถูกขับออกมาทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือนประกอบด้วยเลือดเป็นส่วนใหญ่ จึงมีสีแดง ส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่เยื่อบุมดลูกและเมือก โดยปรกติจะมีระดูออกมาทุก ๆ สี่สัปดาห์ จึงมักเรียกว่า ประจำเดือน
                ช่วงอายุของผู้หญิงที่มีระดูเป็นช่วงเจริญพันธุ์ คือ เริ่มมีระดูเมื่ออายุได้ ๑๓ - ๑๔ ปี และจะถึงวัยหมดระดู เมื่ออายุ ๔๕ - ๕๕ ปี         ๒๔/๑๕๖๖๙
            ๔๖๒๔. ระนอง  จังหวัดภาคใต้มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกตกแม่น้ำกระบุรี และทะเลอันดามัน ทิศตะวันออกจด จ.ชุมพร ทิศใต้จด จ.พังงา และจ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศทั่วไปเป็นป่าและภูเขา มีที่นาบริบูรณ์อยู่แต่ในท้องที่ อ.กระบุรี และอ.กะเปอร์ เท่านั้น ตามฝั่งทะเลมีเกาะใหญ่น้อยอยู่หลายเกาะ
                จ.ระนอง เดิมเป็นท้องที่ขึ้น จ.ชุมพร ด้านตะวันตก ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามเมือง คือ เมืองมลิวัน (ปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่า) เมืองกระ และเมืองระนอง สองเมืองหลังนี้รวมกันเป็น จ.ระนอง เมืองระนองมีชื่อปรากฎอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่หนึ่งและที่สอง ว่าเป็นเมืองหนึ่งที่พม่ายกทัพผ่านเข้ามา เพื่อไปตีเมืองชุมพรเท่านั้น ต่อมาเมืองระนองเห็นว่าร่วงโรยไป เพราะปรากฎในประวัติพระยาดำรงสุจริต (คอซูเจียง) ต้นตระกูล ณ ระนอง ว่าเมื่อครั้งที่ได้พาพวกจีนเข้ามาทำเหมืองขุดแร่ และค้าขายที่เมืองระนองว่าเป็นป่ารกร้างว่าเปล่าอยู่มากมีราฎรไทย - จีน ตั้งบ้านเรือนอยู่เพียง ๑๗ หลังคาเรือนเท่านั้น ต่อมาจึงเจริญขึ้นถึงปี พ.ศ.๒๓๘๗ รัชกาลที่สาม จึงโปรดให้คอซูเจียง คือพระยาดำรงสุจริตเป็นผู้ว่าราชการเมืองระนองขึ้นเมืองชุมพร ถึงปี พ.ศ.๒๔๐๕ ได้ยกเมืองระนองขึ้นเป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑล เมืองระนองไปขึ้นมณฑลภูเก็ตแล้วเปลี่ยนมาเป็น จ.ระนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖         ๒๔/๑๕๖๗๑
            ๔๖๒๕. ระนาด  เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี เรียกระนาดอย่างเก่าที่มีเสียงแกร่งกร้าวว่าระนาดเอก และเรียกระนาดที่ให้เสียทุ้มว่าระนาดทุ้ม
                ระนาดเอกเป็นเครื่องดนตรีนำมาวงปี่พาทย์ เพราะไม่ว่าจะเริ่มเล่นเพลง หรือเปลี่ยนเพลงทั้งวงจะยึดแนวของระนาดเอกเป็นหลัก นอกจากนี้ระนาดเอกยังเป็นเครื่องดนตรีหลักในการนำไปผสมวง เช่น วงปี่พาทย์เครื่องห้า ปี่พาทย์เครื่องคู่ ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ปี่พาทย์มอญ ปี่พาทย์หางหงส์ หรือแม้ในวงมโหรีไม่ว่าเป็นเครื่องเล็ก เครื่องคู่หรือเครื่องใหญ่ก็ใช้ระนาดเอกเป็นหลักทั้งสิ้น
                ระนาดทุ้ม สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เลียนแบบระนาดเอก ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ทั่วไป มีวิธีการบรรเลงเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างไปจากระนาดเอก คือไม่ได้ยึดการบรรเลงคู่แปดเป็นหลัก การดำเนินทำนองที่ล้อขัดกับระนาดเอก ทำให้เกิดความสนุกสนานน่าฟังยิ่งขึ้น
                นอกจากนั้นยังมีระนาดชนิดอื่น ๆ อีก เช่น ระนาดทอง ระนาดเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็ก         ๒๔/๑๕๖๗๓
            ๔๖๒๖. ระโนด  อำเภอขึ้น จ.สงขลา มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทยทางทิศตะวันตกตกทะเลสาปสงขลา ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบลุ่ม ติดต่อกับทะเลถึงสองด้าน มีคลองระโนดติดต่อกับคลองปากพนัง
                อ.ระโนด เดิมเป็นเมืองขึ้น เมืองสงขลา เมื่อจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลได้ยุบเมืองระโนดเป็นกิ่ง อ.ระโนด ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอ         ๒๔/๑๕๖๗๖
            ๔๖๒๗. ระเบิด  เป็นกิริยาการปลดปล่อยพลังงานออกมาอย่างรวดเร็วและรุนแรง การระเบิด อาจเกิดจากวัตถุระเบิด หรือเกิดจากการระเบิดของภาชนะ ที่มีความดันภายในมากเกินกว่ากำลังของภาชนะนั้นจะทนทานได้ การระเบิดของวัตถุระเบิดเป็นการแปรสภาพหรือการสลายตัวทางเคมี มีการคายความร้อน และเกิดแก๊สที่มีความดันมหาศาล การระเบิดทางกลมีความรุนแรงน้อยกว่าการระเบิด ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางเคมี
                วัตถุระเบิดอาจแบ่งออกตามลักษณะของปฏิกิริยาได้เป็นสองกลุ่ม
                    กลุ่มแรกเรียกว่า วัตถุระเบิดแรงต่ำ มีอัตราเร็วในการสลายตัวสูงสุดถึงประมาณ ๔๐๐ เมตรต่อวินาทีได้แก่ดินดำและดินส่งกระสุน
                    กลุ่มที่สองเรียกว่า วัตถุระเบิดแรงสูง มีอัตราเร็วในการสลายตัว ๔,๐๐๐ - ๘,๕๐๐ เมตรต่อวินาที
                วัตถุระเบิดทุกชนิดจะต้องมีตัวจุดที่เหมาะสมมาจุดจึงจะทำงานได้
                วัตถุระบิดมีใช้ทั้งทางพาณิชย์และทางทหาร         ๒๔/๑๕๖๗๗
            ๔๖๒๘. ระยอง จังหวัดภาคตะวันออกเป็นเมืองชายทะเลทางฝั่งตะวันออกมีอาณาเขตทางทิศเหนือและตะวันตกจด จ.ชลบุรี ทิศตะวันออกจด จ.จันทบุรี ทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบตอนเหนือเป็นภูเขาและป่าดง ไปจนถึงตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนใต้เป็นที่ลุ่ม
                จ.ระยองมีชื่อในพงศาวดารมาแต่ปี พ.ศ.๒๑๑๓ เมื่อพระยาสะแวกยกกองทัพเข้ากวาดต้อนชาวระยองไปด้วย จ.ระยองมีสิ่งสำคัญคือ เกาะเสม็ดและแม่น้ำสามสายคือ แม่น้ำระยอง แม่น้ำประแส และแม่น้ำพังราด มีสถานที่ท่องเที่ยวคือ ถ้ำโบสถ์และถ้ำสะแรกที่ภูเขาวงใน อ.แกลง มีอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่ต.บ้านกร่ำ         ๒๔/๑๕๖๘๓
            ๔๖๒๙. ระวังไพร - นก  เป็นนกกินแมลง มีขนาดวัดจากปลายปากถึงปลายหาง ๒๓ - ๒๘ ซม. ปากโค้งยาว หางยาว ในประเทศไทยมีนกระวังไพรอยู่ห้าชนิดคือ นำระวังไพรปากยาว นกระวังไพรแก้มสีน้ำตาล นกระวังไพรปากเหลือง นกระวังไพรปากแดงยาว และนกระวังไพรปากแดงสั้น
                นกระวังไพรทุกชนิด เป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทยทุกชนิดจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ไม่อนุญาให้มีไว้ในครอบครอง         ๒๔/๑๕๖๘๔
            ๔๖๓๐. ระหัด  มีคำนายว่า เครื่องวัดน้ำอย่างหนึ่งเป็นรางใช้ถีบด้วยเท้าหรือฉุดด้วยเครื่องจักรเป็นต้น
                ระหัดมีใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนมาเป็นระยะเวลานานกว่า ๑,๘๐๐ ปี มีประดิษฐ์ขึ้นใช้ในสมัยราชวงศ์ถึง (พ.ศ.๖๑๘ - ๑๒๗๙) เรียกว่า มังกรวิดน้ำ
                ระหัดที่ใช้ในสมัยโบราณมีสี่แบบคือ ระหัดมือ ระหัดเท้า ระหัดท่อและระหัดเกลียว         ๒๔/๑๕๖๘๘
            ๔๖๓๑. รัก - ต้น  เป็นไม้พุ่มขนาดค่อนข้างใหญ่ ทรงพุ่มกลมกว้าง ลำต้นอวบใหญ่แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณใกล้พื้นดิน อาจสูงถึง ๓ เมตร มีน้ำยางขาวขุ่น เมื่อโดนผิวหนังจะเกิดอาการแพ้ได้ง่าย ใบเดี่ยวมีขนาดกลางออกเป็นคู่ตรงข้าม รูปไข่ กลีบขอบใบหยักเล็กน้อย ช่อดอกเกิดบริเวณข้อตรงตำแหน่งที่อยู่ระหว่างก้านใบทั้งสอง หรือเกิดที่ปลายกิ่ง ช่อดอกแบบผสมเชิงซ้อนของช่อซีร่ม หรือช่อกระจก มีสองสีคือ ม่วงและขาว ฝักรูปร่างเรียว หัวท้ายแหลม โค้งเล็กน้อย เมล็ดรูปร่างแบนยาว มีขนปุ๋ยยาวสีขาวเส้นใยเป็นมันเลือมคล้ายไหมมีคุณภาพดีมาก สามารถนำไปยัดหมอนหรือเบาะสำหรับเด็ก
                รักเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งเปลือกใช้ขับน้ำเหลืองเสีย ทำให้อาเจียน ยางจากต้นเป็นยาถ่ายอย่างแรง แก้ปวดฟัน ปวดหู ขับพยาธิ ทารักษากลากเกลื้อน ยาทำแท้ง ดอกใช้เป็นยาเจริญอาหาร แก้ไอ แก้หืด          ๒๔/๑๕๖๙๕
            ๔๖๓๒. รักบี้ฟุตบอล  เป็นกีฬาที่มีการเล่นคล้ายกับกีฬาฟุตบอลเกิดขึ้นโดยบังเอิญ จากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลภายในของโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองรักบี้ ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๖
                กีฬารักบี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วถึงปี พ.ศ.๒๓๙๓ มีการกำหนดกติกาการเล่นฉบับแรกในอังกฤษ
                ในประเทศไทยได้มีการเล่นกันบ้างที่ราชกรีฑาสโมสร เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๗
                รักบี้มีผู้เล่นฝ่ายละ ๑๕ คน เกมการเล่นใช้เวลาไม่เกิน ๘๐ นาที แบ่งเป็นสองครึ่งระหว่างการเล่น แต่ละฝ่ายสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ไม่เกินทีมละสามคม         ๒๔/๑๕๖๙๗
            ๔๖๓๓. รักเร่ - ต้น  เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง ๒ เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขากลวง ใบเดี่ยว หรือใบประกอบแบบหนึ่ง หรือสองชั้น เรียงตรงข้ามมีใบย่อย ๓ - ๗ ใบ รูปขอบขนาน รูปไข่หรือรูปหอก ขอบหยักซี่ฟัน ช่อดอกแบบช่อกระจกแน่น แต่ละดอกเรียงตัวกันเป็นรัศมีมีจำนวนน้อย ออกด้านข้าง และเรียงกันเป็นช่อเชิงหลั่นอยู่บนก้านช่อที่ยาว ดอกวงนอกรูปลิ้นมีหลายสี เช่น แดง ขาว เหลือง ส้ม ม่วง หรือม่วงแดง
                การขยายพันธุ์มีหลายวิธีคือ ใช้เมล็ดใช้รากที่คล้ายหัวใช้ปักชำใบกิ่งหรือยอด         ๒๔/๑๕๗๐๒
            ๔๖๓๔. รัง - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง ๑๕ - ๒๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างโปร่ง ลำต้นเปลาตรง มักตกชั้นสีเหลืองขุ่น ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบ ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง และบริเวณเหนือรอยแผลเป็นของใบ กลีบดอกรูปไข่แกมรูปหอกของกลีบเรียงเกยกันเวียนคล้ายกังหัน
                รังมีการกระจายพันธุ์มากในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณแล้ว         ๒๔/๑๕๗๐๓
            ๔๖๓๕. รังไข่  เป็นอวัยวะ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตไข่ รังไข่พบในสัตว์หลายเซลล์ไม่พบในสัตว์เซลล์เดียว ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม รังไข่มีสองข้างเป็นอวัยวะเพศปฐมภูมิ เพราะผลิตฮอร์โมนเพศเป็นหน้าที่หลัก และผลิตไข่เป็นหน้าที่รอง ถ้ารังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศไม่ได้ไข่ที่มีในรังไข่จะไม่พัฒนาให้ผสมกับตัวอสุจิของเพศผู้ได้ นอกจากนั้นยังกระตุ้นการพัฒนาและการเจริญเติบโตของอวัยวะเพศทุติยภูมิ เช่น เต้านม มดลูก อีกด้วย
                ในเอ็มบริโอของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม รังไข่เจริญขึ้นจากสองแหล่ง คือ ส่วนที่เป็นรังไข่ รวมทั้งเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นเซลล์สร้างฮอร์โมนมาจากกลุ่มเซลล์ ประเภทเดียวกับเซลล์เจริญขึ้นเป็นเนื้อไต ส่วนเซลล์ที่จะเปลี่ยนแปลงมาเป็นไข่จะเคลื่อนที่มาจากลุ่มเซลล์ของถุงหุ้มไข่แดง แล้วเซลล์จากสองแหล่งดังกล่าว จะมาอยู่รวมกันเป็นก้อนอยู่ติดกับไตในระยะแรก เมื่อเอ็มบริโอพัฒนามากขึ้นตัวโตขึ้น รังไข่จึงถูกรังให้เข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน เซลล์ที่จะเจริญเป็นไข่ ก็แบ่งตัวแบบธรรมดาจนได้จำนวนมากมายและแบ่งตัวแบบลดโครโมโซม แต่ยังไม่สมบูรณ์แล้วเอ็นบริโอก็คลอดออกมา จำนวนไข่ในรังไข่ของสัตว์ที่คลอดออกมาใหม่ ๆ จึงมีมากที่สุดแล้วค่อยลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ในผู้หญิงก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ คือ อายุประมาณ ๑๕ ปี จำนวนไข่ในรังไข่จะมีถึง ๔๐๐,๐๐๐ ใบ และลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ตลอดอายุของผู้หญิงมีไข่จำนวนไม่เกิน ๕๐๐ ใบ จะเจริญเต็มที่หรือที่เรียกว่าไข่สุกพอที่จะผสมกับตัวอสุจิได้ ผู้หญิงมีประจำเดือนแต่ละครั้งไข่จะสุกหนึ่งใบ           ๒๔/๑๕๗๐๕
            ๔๖๓๖. รังสีกัมมันตภาพ  คือปรากฎการณ์ซึ่งนิวเคลียสของอะตอมของบางธาตุเกิดการแผ่รังสีออกมาได้ ธาตุซึ่งนิวเคลียสของอะตอมแผ่รังสีออกมาได้นั้น เรียกว่า ธาตุกัมมันตภาพรังสี และจะแผ่รังสีออกมาตลอดเวลา เช่น ธาตุยูเรเนียม เรเดียม
                นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเป็นคนแรกที่สังเกตพบปรากฎการณ์กัมมันตภาพรังสี เมื่อปี พ.ศ.๑๔๓๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๑ นักวิทยาศาสตร์ชาวโปแลนด์ สองสามีภรรยาได้แยกเอาธาตุเรเดียมออกมาได้สำเร็จ และพบว่าธาตุเรเดียมให้ปรากฎการณ์กัมมันตภาพรังสีได้แรงกว่าธาตุยูเรเนียม ต่อมาได้มีการดำเนินการวิจัย เกี่ยวกับปรากฎการณ์กัมมันตภาพรังสีของธาตุ และได้ค้นพบเรื่องราวที่มีประโยชน์มากมายเกี่ยวกับปรากฎการณ์นี้ จนทำให้เกิดวิชาเคมีขึ้นอีกแขนงหนึ่งคือ เคมีนิวเคลียร์
                อะตอมของธาตุทุกชนิดประกอบด้วยอนุภาคมูลฐานหลายชนิด เช่น โปรตรอน นิวตรอน อิเล็กตรอน ฯลฯ องค์ประกอบที่สำคัญของอะตอมได้แก่
                    ๑.  นิวเคลียส  ทำหน้าที่เสมือนเป็นแกนกลางของอะตอมและประกอบด้วยอนุภาคมูลฐานที่สำคัญสองชนิดคือ โปรตอนและนิวตรอน (ยกเว้นอะตอมของธาตุไฮโดรเจนธรรมดาที่นิวเคลียส์มีแต่โปรตอนเท่านั้นไม่มีนิวตรอน) นิวเคลียสแสดงอำนาจไฟฟ้าบวกเนื่องมาจากโปรตอน
                        โปรตอน  คืออนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าบวก จำนวนโปรตอนที่นิวเคลียสของอะตอมเป็นสิ่งที่แสดงให้ทราบว่า อะตอมนั้น ๆ เป็นอะตอมของธาตุใด ทั้งนี้เพราะว่าธาตุต่างกันมีจำนวนโปรตอนที่นิวเคลียสของอะตอมไม่เท่ากัน ธาตุเดียวกันต้องมีจำนวนโปรตรอนที่นิวเคลียสของอะตอมเท่ากันเสมอ เรียกจำนวนโปรตรอนที่นิวเคลียสของอะตอมว่า เลขเชิงอะตอม
                        นิวตรอน เป็นอนุภาคที่เป็นกลาง คือ ไม่มีประจุไฟฟ้า มีมวลซึ่งใกล้เคียงมวลของโปรตรอนที่สุด
                    ๒.  อิเล็กตรอน  เป็นอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าลบ บริเวณของประจุไฟฟ้าลบแต่ละอิเล็กตรอนมีอยู่นั้น เป็นปริมาณไฟฟ้าที่เท่ากับประจุไฟฟ้าบวกที่แต่ละโปรตรอนมีอยู่ อิเล็กตรอนที่มีอยู่ทั้งสิ้นจะเคลื่อนที่เป็นวงโคจรอยู่รอบ ๆ นิวเคลียสของอะตอมอยู่ตลอดเวลา โดยปรกติแล้วอะตอมของธาตุย่อมเป็นกลางเสมอ อิเล็กตรอนเป็นอนุภาคไฟฟ้าลบที่สามารถเคลื่อนที่หลุดออกจากวงจรได้ ฉะนั้นถ้าหากว่าอิเล็กตรอนเคล่นที่หลุดออกจากอะตอมใดที่เป็นกลางเข้าไปสู่อะตอมอื่นที่เป็นกลางแล้ว อะตอมซึ่งสูญเสียอิเล็กตรอนไปก็จะแสดงอำนาจไฟฟ้าเป็นประจุไฟฟ้าเป็นประจุบวกทันที ส่วนอะตอมที่ได้รับอิเล็กตรอนเพิ่มขึ้นมา ก็จะแสดงอำนาจไฟฟ้าเป็นประจุลบทันที เะราเรียดอะตอมที่แสดงอำนาจออกมาเป็นประจุไฟฟ้าบวก หรือลบว่าไอออนบวก และไอออนลบตามลำดับ
                    ธาตุกัมมันตภาพรังสีมีสมบัติพิเศษ คือ แผ่รังสีออกมาตลอดเวลา เมื่อแผ่รังสีออกมาแล้วก็จะแปรสภาพเป็นธาตุอื่น ซึ่งมีสมบัติทั้งทางกายภาพ และทางเคมีผิดไปจากเดิม เมื่อธาตุที่เกิดขึ้นใหม่ยังคงมีสมบัติเป็นธาตุกัมมันตรังสีอยู่อีก ก็จะแผ่รังสีต่อไปตัวเอง ก็จะแปรสภาพไปเป็นธาตุอื่นต่อไปอีกเรื่อยไปจนที่สุด เมื่อแปรสภาพไปเป็นธาตุที่เสถียรแล้วการแผ่รังสีก็เป็นอันสิ้นสุดลง เช่น ธาตุยูเนียม เมื่อแผ่รังสีออกมาแล้วก็แปรสภาพไปเป็นธาตุกัมมันตภาพรังสีอื่น ๆ ตามลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ตลอดเวลา บางขั้นตอนใช้เวลาเพียงส่วนหนึ่งของวินามี เป็นนาที เป็นวัน เป็นเดือน เป็นหลายล้านปี ผลที่สุดก็แปรสภาพเป็นธาตุตะกั่วที่เสถียร การแผ่รังสีก็สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง
                    รังสีแผ่ออกมาจากธาตุกัมมันตภาพรังสีประกอบด้วยอนุภาคต่าง ๆ และพลังงานในรูปของคลื่น อนุภาคสำคัญที่มีปรากฎในรังสีแผ่ออกมาได้แก่ อนุภาคแอลฟา ซึ่งมีปรากฎอยู่ในรังสีแอลฟา อนุภาคบีตา ซึ่งมีปรากฎอยู่ในรังสีบีตาส่วนพลังงานที่อยู่ในรูปของคลื่นคือพลังงานของรังสีแกมมา
                       รังสีแอลฟา  ประกอบด้วย อนุภาคแอลฟา มีประจุไฟฟ้า +๒ ประกอบด้วยโปรตรอน ๒ อนุภาคและนิวตรอน ๒ อนุภาค มีอำนาจในการทะลุทะลวงต่ำ สามารถเจาะทะลุผ่านอากาศได้ไกลกลายซม. เจาะทะลุผ่านแผ่นอะลูมิเนียมที่หนา ๐.๐๑ มม. ได้เมื่อผ่านรังสีแอลฟาเข้าไปในสนามแม่เหล็กหรือสนามไฟฟ้า เส้นทางเคลื่อนที่ของรังสีแอลฟาจะเบี่ยงเบนโดยจะเบี่ยงเบนเข้าหาขั้วใต้ของสนามแม่เหล็กหรือเบี่ยงเบนเข้าหาขั้วลบของสนามไฟฟ้า ทั้งนี้เพราะอนุภาคแอลฟามีประจุไฟฟ้าบวก
                        เมื่อธาตุกัมมันตภาพรังสีใด แผ่รังสีแอลฟาออกมาแล้วก็เสมือนกับปล่อยนิวเคลียสของธาตุฮิเลียมออกมาจึงเป็นเหตุให้ธาตุกัมมันตรังสีนั้นมีเลขมวลน้อยลงไป ๔ หน่วย และมีเลขเชิงอะตอมลดน้อยลงไป ๒ หน่วย
                       รังสีบีตา ประกอบด้วย อนุภาคบีตา คือ อิเล็กตรอนนั่นเองจึงมีประจุไฟฟ้าลบเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วสูงเกือบเท่าอัตราเร็วของแสง เมื่อผ่านเข้าไปในสนามแม่เหล็ก หรือสนามไฟฟ้า เส้นทางเคลื่อนที่จะเบี่ยงเบนเข้าหาขั้วเหนือของสนามแม่เหล็ก หรือเบี่ยงเบนเข้าหาขั้วบวกของสนามไฟฟ้า รังสีบีตามีอำนาจในการทะลุทะลวงปานกลาง สามารถเจาะทะลุแผ่นอะลูมิเนียมที่หนา ๐.๑ มม. ได้
                        เมื่อธาตุกัมมันตรังสีใดแผ่รังสีบีตาออกมาแล้ว เสมือนกับนิวเคลียสของอะตอมของธาตุนั้นปล่อยอิเล็กตรอนออกมา จึงทำให้ธาตุใหม่ที่ได้ คงมีเลขมวลดังเดิม แต่มีเลขเชิงอะตอมเพิ่มขึ้น ๑ หน่วย
                        รังสีแกมมา เป็นพลังงานที่อยู่ในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีช่วงคลื่นสั้นมากมีอัตราในการเคลื่อนที่เร็วเท่า ๆ กับอัตราเร็วของแสง ไม่มีมวลและไม่มีประจุไฟฟ้า ฉะนั้นเมื่อผ่านเข้าไปในสนามแม่เหล็ก หรือสนามไฟฟ้า เส้นทางเคลื่อนที่จึงไม่เบี่ยงเบนจากแนวเดิม รังสีแกมมามีอำนาจในการเจาะทะลุทะลวงสูง สามารถเจาะทะลุผ่านแผ่นเหล็กกล้าที่หนา ๒๕ ซม. ได้และเจาะทะลุผ่านแผ่นตะกั่วที่หนา ๕ ซม.ได้
                  ประโยชน์ของกัมมันตภาพรังสี  มีอยู่หลายประกอบด้วยกันคือ
                        ๑. การสร้างธาตุใหม่หลังธาตุยูเรเนี่ยม โดยใช้ปฎิกิริยานิวเคลียสและสารกัมมันตรังสีมาสร้างธาตุใหม่ ๆ เป็นธาตุหนักกว่าธาตุยูเรเนี่ยมรวม ๑๔ ธาตุ มีค่าเลขอะตอม ๙๓ จนถึง ๑๐๖ ตามลำดับและยังสร้างธาตุใหม่ ๆ ต่อไปอีก ซึ่งจะมีจำนวนไม่จำกัด
                        ๒. ศึกษากลไกของปฎิกิริยาเคมี เช่น นำไอโซโทป กัมมันตรังสีมาศึกษาปฎิกิริยาไฮโดรลิซิสของเอสเทอร์ โดยใช้ไอโซโทปของออกซิเจนกัมมันตรังสี
                        ๓. ใช้ในเคมีวิเคราะห์ คือ ใช้หาปริมาณของสารบางสารที่มีปรากฎอยู่ในบริมาณน้อยยิ่ง
                        ๔. ใช้หาอายุของซากดึกดำบรรพ์ วิธีที่ใช้กันมากคือ วิธี ราดิโอคาร์บอนเดททิง
                    นอกจากประโยชน์ดังกล่าว ยังใช้กัมมันตภาพรังสีไปเป็นประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกมาก เช่นในการแพทย์ใช้รักษาโรคมะเร็ง ใช้ตรวจสอบการทำงานของบางอวัยวะในร่างกาย ใช้ประโยชน์ในทางเกษตรทางอุตสาหกรรม ทางโภชนาการเพื่อถนอมอาหาร ใช้ตรวจสอบรอบร้าวในแผ่นโลหะใช้ผลิตพลังงาน         ๒๔/๑๕๗๐๘
            ๔๖๓๗. รัชทายาท  มีบทนิยามว่า "ผู้จะสืบราชสมบัติ" และกฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗ ได้ให้บทนิยามความหมายของคำว่า "พระรัชทายาท" และคำที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้
                        (๑) พระรัชทายาท คือ เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สมมุตขึ้นเพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป
                        (๒) สมเด็จพระยุพราช คือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช ฯลฯ
                        (๓) สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า คือ สมเด็จพระบรมราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอัครมเหสี
                        ตามนัยแห่งกฎมณเทียรบาล พ.ศ.๒๔๖๗ หมวดที่ ๓ มาตรา ๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ และพระราชสิทธิ ที่จะทรงสมมติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ให้เป็นรัชทายาท สุดแท้จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ และในมาตรา ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสงวนไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ และพระราชสิทธิที่จะทรงถอนพระรัชทายาทออกจากตำแหน่งได้ด้วย
                        ในหมวด ๔ มาตรา ๙ ได้ระบุลำดับชั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ซึ่งจะควรสืบราชสมตติวงศ์ได้ไว้ตามลำดับ นับแต่สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าลงมา และในหมวดที่ ๕ มาตรา ๑๑ ได้ระบุถึงเจ้านายผู้เป็นเชื้อพระบรมราชวงศ์ที่ไม่มีสิทธิจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ไว้ด้วย
                        ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๓๔ ได้บัญญัติไว้ว่า ราชนารีก็อาจทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ได้แต่ราชนารีพระองค์นั้น จะต้องเป็นพระราชธิดา มิใช่ราชนารีอื่นใด         ๒๔/๑๕๗๑๗
            ๔๖๓๘. รัฐธรรมนูญ  ตามรูปคำแปลว่ากฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งรัฐถือกันว่า เป็นกฎหมายแม่บทที่มีแต่อำนาจ แต่ไม่มีผลบังคับเหมือนดั้งกฎหมายแพ่ง หรือกฎหมายอาญารัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดเป็นกรอบ หรือนิติธรรมบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งปวง
                รัฐธรรมนูญมีสองประเภทคือรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีและรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร
                  รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เกิดจากธรรมเนียมการปกครองประเทศ ซึ่งถือปฏิบัติสืบทอดกันมาปัจจุบันมีแต่รัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษฉบับเดียว
                  รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร คือรัฐธรรมนูญทั้งหลายในโลกปัจจุบัน ซึ่งล้วนแต่เขียนขึ้นเป็นเอกสารสำคัญของประเทศ มีข้อดความที่กล่าวถึงรูปแบบของรัฐ อำนาจใจการปกครองรัฐสิทธิเสรีภาพของประชาชน การแบ่งแยกอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเหล่านั้น
                    รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลกคือ รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา
                    รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้สี่ทางด้วยกัน คือ
                        ๑. เกิดจากจารีตประเพณี
                        ๒. ประมุขของรัฐประทานให้ เช่น รัฐธรรมนูญปรัสเซีย (พ.ศ.๒๓๙๑) รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (พ.ศ.๒๔๔๗)  รัฐธรรมนูญโมนาโค (พ.ศ.๒๔๕)  และรัฐธรรมนูญเอธิโอเปีย (พ.ศ.๒๔๗๔)
                        ๓. เกิดจากการปฎิวัติหรือรัฐประหาร เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส และรัฐธรรมนูญรัสเซีย
                        ๔. รัฐธรรมนูญที่เกิดจากความตกลงระหว่างประมุขแห่งรัฐเดิมกับราษฎร เช่น รัฐธรรมนูญกรีซ (พ.ศ.๒๓๘๗)  รัฐธรรมนูญโรมาเนีย (พ.ศ.๒๔๐๗)  และรัฐธรรมนูญบัลแก่เรีย (พ.ศ.๒๔๑๓) รัฐธรรมนูญของไทย (พ.ศ.๒๔๗๕)
                    เนื้อหาของรัฐธรรมนูญอาจแยกพิจารณาได้โดยสังเขป คือ
                        ๑. คำปรารภ เป็นส่วนที่กล่าวถึงที่มา และเจตจำนงของรัฐธรรมนูญทั่ว ๆ ไป
                        ๒. กำหนดรูปของรัฐ อันเป็นข้อกำหนดที่ชี้ให้เห็นระบบการปกครองรัฐนั้น ๆ ว่าจัดให้รูปรัฐเดี่ยว หรือหลายรัฐรวมกัน ซึ่งอาจอยู่ในรูปสหรัฐ สหภาพ สาธารณรัฐหรือสหพันธ์สาธารณรัฐ
                        ๓. กำหนดรูปแบบการปกครองและประมุขของรัฐ คือ กำหนดว่าจะปกครองประเทศในรูปใด ระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญแบ่งเป็นสองระบบใหญ่ คือ
                            ก. ระบบประธานาธิบดี มีประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขฝ่ายบริหารที่มิได้เป็นสมาชิกรัฐสภา เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และฟิลิปปินส์
                            ข. ระบบรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประมุขแห่งรัฐเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจและเป็นที่เคารพสักการะ เช่น ประเทศไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินเดีย
                        ๔. กำหนดดารแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย คือ อำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งเดิมถือกันว่ามาจากพระเจ้า ตกอยู่แก่กษัตริย์ผู้เป็นสมมุติเทพ และทรงเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ผู้ใช้อำนาจนั้น ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เกิดมีความเห็นว่า อำนาจอธิปไตยของรัฐต้องมาจากประชาชน มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย ที่จัดระบบการปกครองประเทศ ซึ่งมักจะจำแนกอำนาจดังกล่าวเป็นสามสาขา ซึ่งเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
                        ๕. การให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเสมอภาค ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
                        ๖. แนวนโยบายของรัฐ
                        ๗. วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ
                        ๘. บทเฉพาะกาล          ๒๔/๑๕๗๒๔
            ๔๖๓๙. รัตนโกสินทร์ กรุง  เป็นชื่อราชธานีของราชอาณาจักรไทยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงสร้างขึ้นทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณกรุงธนบุรีเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕         ๒๔/๑๕๗๓๘
            ๔๖๔๐ รัตนชาติ  รัตนชาติหรืออัญมณี หมายถึง วัตถุธรรมชาติที่มีคุณค่าซึ่งนำมาตกแต่งเจียระไนใช้เป็นเครื่องประดับ มีสมบัติที่สำคัญสามประการคือ ความสวยงาม ความทนทาน และความหายาก
                แร่ที่เกิดขึ้นในโลกและเป็นที่รู้จักกันมีไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ชนิด แต่มีเพียงประมาณ ๙๐ ชนิด ที่ถือว่ามีสมบัติพอจะจัดเป็นรัตนชาติได้ และจะเป็นรัตนชาติที่สำคัญจริง ๆ ต่อตลาดการค้าอัญมณีทั่ว ๆ ไปเพียงประมาณ ๒๐ ชนิดเท่านั้น
                รัตนชาติที่มีคุณค่าราคาสูง และเป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่ ต่างก็จัดเป็นแร่ทั้งสิ้น เช่น เพชร ทับทิม ไพลิน มรกต หยก โอปอล
                รัตนชาติอาจแบ่งออกอย่างง่าย ๆ ได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ เพชรและพลอย พลอยในความหมายกว้าง ๆ หมายถึงรัตนชาติทุกชนิดยกเว้นเพชร
                สมบัติที่จำเป็นสำหรับสิ่งที่ถือว่าเป็นรัตนชาติโดยทั่วไปพอสรุปได้ดังนี้
                        ๑.  ความสวยงาม นับเป็นสมบัติที่สำคัญที่สุดที่ใช้กำหนดวัตถุรัตนชาติสมบัติสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความสวยงามแก่รัตนชาติ พอจำแนกได้คือ
                            ๑.๑ สี จำแนกได้เป็นสามลักษณะคือ ชนิดสี ความสดของสี และระดับอ่อนแก่ของสี รัตนชาติที่ดีควรจะมีสีเข้มสด ไม่มืดดำและสม่ำเสมอกันโดยตลอด
                            ๑.๒ ความใสสะอาด ควรจะโปร่งใสปราศจากตำหนิฝ้า จุดด่างดำหรือรอยแตก ยิ่งเนื้อใสแบบตาตั๊กแตนยิ่งดี
                            ๑.๓ ความเป็นประกาย เรียกตามภาษาชาวบ้านในวงการค้าอัญมณีไทยว่า ไฟ หมายถึงปริมาณแสงสะท้อนภายในและภายนอก ผิวรัตนชาติที่เจียระไนแล้วเข้าสู่ตา
                            ๑.๔ ความเป็นประกายรุ้ง เป็นสมบัติเฉพาะตัวของรัตนชาติบางชนิดที่สามารถแยกแสงสีขาวให้เป็นสีรุ้งตามสีของสเปกตรัม ได้ความเป็นประกายรุ้งจะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับค่าการกระจายแสงของรัตนชาติ และสัดส่วนของการเจียระไนรัตนชาติที่มีค่าการกระจายแสงสูง เพียงพอที่จะทำให้แลเห็นความเป็นประกายรุ้งที่สำคัญได้แก่ เพชร เพทาย
                            ๑.๕ ความวาว เป็นสมบัติในการสะท้อนแสงจากผิวรัตนชาติความวาวของรัตนชาติจะขึ้นอยู่กับค่าดัชนีหักเหของรัตนชาตินั้น ๆ รวมทั้งความมันเรียบสมบูรณ์ของผิวการเจียระไน
                            ๑.๖ ปรากฎการณ์ เป็นสมบัติพิเศษแห่งปรากฎการณ์ของแสงที่มีต่อรัตนชาติบางชนิด เช่น ทำให้เห็นเป็นเส้นแถบแนวแสงสะท้อน เคลื่อนไปมาขณะที่ขยับรัตนชาติที่เรียกว่า ตาแมว
                        ๒ ความทนทาน ไม่สึกกร่อน บุบสลาย แตกหักหรือเสื่อมความสวยงามง่ายจนเกินไป พอแบ่งออกได้เป็น         ๒๔/๑๕๗๔๖
                             ๒.๑ ความแข็ง  หมายถึง ความทนทานต่อการขูดขีดบนผิวหน้าเรียบของรัตนชาตินั้น ๆ  การกำหนดความแข็งที่นิยมใช้กันในวิชาแร่ แต่จะบอกเป็นตัวเลขจาก ๑ ถึง ๑๐ ตามสเกลความแข็ง โมส์ ซึ่งเป็นมาตรฐานความแข็งเปรียบเทียบของแร่ ตามที่นักแร่วิทยาชาวเยอรมันผู้หนึ่งเป็นผู้กำหนดขึ้น ประกอบด้วยแร่มาตรฐาน ๑๐ ชนิด เรียงลำดับตั้งแต่ทนทานต่อการขูดขีดน้อยที่สุด (อ่อนที่สุด)  ถึงมากที่สุด (แข็งที่สุด)  ทัลก์ มีค่าความแข็ง ๑ เพชร มีค่าความแข็ง ๑๐
                            ๒.๒ ความเหนียว  หมายถึง ความทนทานต่อการแตกหักของรัตนชาติ อันเป็นผลเนื่องมาจากแรงดึงดูดภายในโมเลกุลของรัตนชาติ หรือจากโครงสร้างของเนื้อที่ประสานตัวกันเป็นรัตนชาตินั้น
                            ๒.๓ ความคงทน  หมายถึง ความคงทนต่อการผุสลาย หรือทำปฎิกิริยากับสารเคมีอื่น เพื่อจะยังคงรักษาความสวยงามเดิมไว้
                        ๓.  ความหายาก  เป็นสมบัติหนึ่งทำให้รัตนชาติมีคุณค่าสูง หรืออาจเป็นสิ่งที่มีค่าอยู่แล้ว และหาได้ยาก
            ๔๖๔๑. รัตนตรัย  (ดู ไตรรัตน์ - ลำดับที่ ๔๓๔๑)           ๒๔/๑๕๗๕๕
            ๔๖๔๒. รัตนบุรี  อำเภอ ขึ้น จ.สุรินทร์  ภูมิประเทศทางตอนเหนือเป็นที่ราบ นอกนั้นเป็นโคกสลับแอ่ง
                อ.รัตนบุรี  เดิมเป็นเมือง โดยยกบ้านกุดหวาย หรือเมืองเตา ขึ้นในรัชกาลที่หนึ่ง ขึ้นเมืองบุรีรัมย์ แล้วยุบเป็นอำเภอ และโอนไปขึ้น จ.สุรินทร์ เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๕๖           ๒๔/๑๕๗๕๕
            ๔๖๔๓. รัตนสิงหาสน์  เป็นแท่นพระราชบัลลังก์ ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสอง ติดกระจังปูนปั้น ลวดลายบนล่าง ขอบฐานปูนปั้นลวดลายบนล่าง และกระจังปิดทองประดับกระจกสี ที่ขอบกระจังชั้นบนปั้นรูปสิงห์ นั่งเรียงเป็นแถวที่ด้านหน้า และด้านข้าง ๓๙ ตัว ส่วนด้านหลังไม่มี สองข้างซึ่งมีบันไดขึ้นลง ที่ราวบันไดติดรูปปั้นนูนเป็นช่อง ๆ ทั้งสองบันได บันไดละหกตัว สลับกันไปคือ ครุฑ สิงห์ พญายักษ์ พญาวานร ในท่าสองมือแบกราวบันได หน้าพระแท่น ฯ เป็นท้องพระโรงฝ่ายใน           ๒๔/๑๕๗๕๕
            ๔๖๔๔. รัตนสูตร  เป็นพระสูตรสำคัญพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสให้พระอานนท์เรียน แล้วเดินทำพระปริต คือ ความคุ้มครองป้องกันในเมืองไพศาลี เมื่อคราวเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง นอกจากนั้น พระอินทรก็ได้ผูกคาถาอิงคุณพระรัตนตรัย เพิ่มอีกสามคาถา รัตนสูตรนี้บางทีก็เรียก รัตนปริต เป็นสูตรหนึ่งที่พระสงฆ์ จะต้องสวดในเวลาเจริญพระพุทธมนต์เสมอ มีความเป็นมาดังนี้
                ในสมัยพุทธกาล เมืองไพศาลี เมืองหลวงของอาณาจักรวัชชี ต่อมาเมืองนี้เกิดข้าวยากหมากแพง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าแห้งเหี่ยวตาย เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ และมีโรคระบาด ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก พวกอมนุษย์พากันเข้าเมืองเกิดอหิวาตกโรคตามมา
                เมื่อเกิดภัยสามประการคือ ทุพภิกขภัย อมนุษย์ และพยาธิภัย ขึ้นในเมืองไพศาลี กษัตริย์ลิจฉวีจึงหาทางระงับภัยดังกล่าวนั้น โดยเห็นร่วมกันว่า ควรกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ จึงได้ส่งเจ้าลิจฉวีสององค์เป็นฑูต ไปกราบทูลนิมนต์ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทูลขอเวลาตระเตรียมหนทาง ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ ไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เป็นระยะทางประมาณ ๘๐ กม. พระองค์ได้ตามเสด็จไปจนถึงฝั่งขวาของแม่น้ำคงคา แล้วทรงส่งข่าวสารไปยังเมืองไพศาลีว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำคงคาแล้ว
                พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้จัดเรือสองลำ ตรึงขนานเข้าด้วยกัน แล้วกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นประทับ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ที่ติดตามพระพุทธองค์
                ทางเมืองไพศาลี ซึ่งตั้งอยู่ห่างฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคาขึ้นไปทางเหนือ ประมาณ ๔๐ กม. ก็เตรียมหนทางให้ราบเรียบตั้งแต่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคา ไปจนถึงเมืองไพศาลี เรือขนานนำพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์มาในแม่น้ำคงคาเป็นระยะทาง ๑๖ กม. ก็ถึงเขตเมืองไพศาลี ครั้นเรือขนานเทียบถึงฝั่งแม่น้ำคงคา กลุ่มเมฆมหึมาซึ่งแผ่กระจายตั้งเค้ามืดมิด ก็บันดาลให้ฝนตกลงมาห่าใหญ่ น้ำฝนไหลนองท่วมพื้นดินพัดพาเอาซากศพ ลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด ทำให้ภาคพื้นดินบริสุทธิ์สะอาดโดยทั่วไป บรรดากษัตริย์ลิจฉวี นำเสด็จพระพุทธเจ้าดำเนินเป็นเวลาสามวัน ก็ถึงนครไพศาลี ขณะนั้นพระอินทร์ได้เสด็จพร้อมด้วยฝูงทวยเทพ มาชุมนุมอยู่ด้วยทำให้พวกอมนุษย์เกรงกลัว พากันหลบหนีไป
                พระพุทธเจ้าเสด็จถึงประตูเมืองไพศาลี ในเวลาเย็นได้ตรัสให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตร เพื่อเดินจาริกทำพระปริตไปในระหว่างกำแพงสามชั้น (ตรีบูร)  ในเมืองไพศาลีกับกุมารลิจฉวี เมื่อพระอานนท์เรียนรัตนสูตรจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เอาบาตรของพระพุทธเจ้าใส่น้ำถือไปยืนที่ประตูเมือง พลางรำลึกถึงพระพุทธคุณ ตั้งแต่ทรงตั้งความปรารถนาที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณ จนถึงทรงแสดงพระธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร และโลกตรธรรมเก้า (คือ มรรคสี่ ผลสี่ นิพพานหนึ่ง)  แล้วเข้าไปในพระนคร เดินทำพระปริตไปในระหว่างกำแพงเมืองสามชั้น ทำให้พวกอมนุษย์ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง พากันหนีออกจากเมืองไปหมด โรคภัยไข้เจ็บของชาวเมืองก็สงบลง
                ครั้นพระอานนท์ทำพระปริตอารักขาทั่วพระนครแล้ว ก็กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสรัตนสูตรอีกครั้งหนึ่ง รวมสิบสี่คาถา แล้วพระอินทร์ได้ผูกคาถา (ฉันท์) ต่ออีกสามคาถา
                พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่เมืองไพศาลี และตรัสเทศนารัตนสูตรทุกวัน รวมเจ็ดวัน
0เมื่อทรงเห็นว่าภัยทุกอย่างสงบเรียบร้อยแล้ว จึงตรัสลากษัตริย์ลิจฉวี และชาววัชชี เสด็จกลับเมืองราชคฤห์
                   คำแปล รัตนสูตร
                        ๑. ขอให้ภูติทั้งหลาย ทั้งที่อยู่บนพื้นดินและในอากาศที่มาชุมนุมกันอยู่ในที่นี้ จงเป็นผู้มีน้ำใจดี และขอเชิญฟังคำที่ตถาคตกล่าวต่อไปนี้ โดยเคารพเถิด
                        ๒. เพราะฉะนั้น ขอภูติทั้งหลายทั้งปวงจงฟัง ขอให้ท่านทั้งหลายจงสร้างความเป็นมิตร กับบรรดามนุษย์ทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงคุ้มครองรักษาพวกมนุษย์ ที่นำเครื่องพลีกรรมมาบวงสรวงพวกท่านทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน เถิด อย่าได้ประมาทเลย
                        ๓. บรรดาทรัพย์ หรือ รัตนะ อันประณีตบรรดามีทั้งในโลกนี้และโลกอื่น และสวรรค์ทุกชั้นหาเสมอด้วยพระตถาคตไม่ รัตนะ คือ พระพุทธเจ้าเป็นของประณีตด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                        ๔. พระธรรมอันเป็นที่สิ้นกิเลส ปราศจากราคะเป็นอมตะ ประณีต ที่พระศากยมุนีผู้มีพระหทัยเป็นสมาธิได้บรรลุแล้ว หามีธรรมใด ๆ เสมอมิได้ รัตนะ คือ พระธรรมเป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                        ๕. สมาธิที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ตรัสสรรเสริญว่าเป็นธรรมสะอาด ที่ปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า อานันตริกสมาธิ (คือ มรรคสมาธิที่ให้อริยผลทันที) ไม่มีสมาธิอื่นใดเสมอ รัตนะ คือ พระธรรมเป็นของประณีตด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                        ๖. พระอริยบุคคลแปดประเภทที่สัตบุรุษทั้งหลาย ยกย่องสรรเสริญจัดเป็นสี่คู่นั้น เป็นสาวกของพระสุคตเจ้า เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา ทานที่ถวายในพระอริยบุคคลแปดประเภทนี้ เป็นทานมีผลมาก รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                        ๗. พระอริยบุคคลในศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้า เป็นผู้ประกอบด้วยศีลเป็นอันดี มีใจมั่นคง ไม่มีกามกิเลส ยึดหน่วง อมตนิพพานเป็นอารมณ์ เสวยผลสมาบัติโดยได้เปล่าชื่อว่า ได้บรรลุผลที่พึงบรรลุแล้ว รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                        ๘. เสาอินทขีล ที่ฝังลึกลงไปในดิน ลมที่พัดมาทั้งสี่ทิศ ไม่อาจทำให้ขยับเขยื้อนได้ฉันใด สัตบุรุษ (คือ พระอริยบุคคล) ผู้เห็นแจ้งอริยสัจ (ทั้งสี่ทิศ) แล้ว ตถาคต กล่าวว่า (ไม่มีใครอาจทำให้ขยับเขยื้อนจากความเห็นได้)  ฉันนั้น รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                        ๙. พระอริยบุคคล  (พระโสดาบัน)  ผู้เห็นแจ้งอริยสัจทั้งสี่ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีปัญญาลึกซึ้ง ได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว แม้จะยังเป็นผู้ประมาทอยู่มาก ก็จะไม่ถือเอาภพที่แปด (คือ เกิดอย่างมากอีกเพียงเจ็ดครั้ง) รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                        ๑๐. พร้อมกับการบรรลุทัสสนะ (โสดาปัตติมรรค)  พระโสดาบันท่านก็ละสังโยชน์สามประการคือ สักกายทิฐิ  วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส  แม้ยังจะมีสังโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งเหลืออยู่อีก แต่ท่านก็พ้นแล้วจากอบายสี่ และไม่อาจทำอภิฐานหก (คือ อนันตริยกรรมห้า กับการเปลี่ยนใจไปนับถือศาสนาอื่น) รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                        ๑๑. ท่านผู้บรรลุทัสสนะ นั้น แม้จะยังทำกรรมชั่วด้วยกาย วาจา หรือใจ อยู่บ้าง ท่านก็ไม่อาจปิดบังกรรมชั่วที่ท่านทำไว้นั้น เพราะการที่บุคคลผู้เห็นทางพระนิพพานแล้ว จะปิดบังกรรมชั่วของตนไว้นั้น พระตถาคต กล่าวว่า ไม่อาจปิดบังได้ รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                        ๑๒. พุ่มไม้ใหญ่ในป่า ผลิยอดในเดือนร้อนเดือนแรก (เดือนห้า)  ของคิมหันตฤดู ฉันใด พระตถาคตได้แสดงพระธรรมอันประเสริฐ (ให้แตกกิ่งก้านงอกงาม)  เป็นเครื่องชี้ทางดำเนินไปสู่พระนิพพาน ยิ่งยวดด้วยประโยชน์เกื้อกูล (แก่สัตว์โลก)  มีอุปมาเหมือนพุ่มไม้ในป่าฉันใด รัตนะ คือ พระพุทธเจ้า เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                        ๑๓. พระตถาคต ผู้ประเสริฐ เป็นผู้รู้พระนิพพานอันประเสริฐ เป็นผู้ให้พระธรรมอันประเสริฐ เป็นผู้นำซึ่งมรรคอันประเสริฐ ไม่มีผู้อื่นประเสริฐยิ่งกว่า ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ รัตนะ คือ พระพุทธเจ้า เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)
                        ๑๔. พระอริยบุคคล ที่มีกรรมเก่าสิ้นไปแล้ว (และ)  กรรมใหม่ที่จะให้เกิดอีกไม่มี เป็นผู้มีจิตปราศจากความกำหนัดยินดีในภพต่อไป เป็นผู้สิ้นพืช (ที่จะให้เกิดอีก) แล้ว ไม่มีฉันทะที่เป็นเชื้อให้งอกงามได้อีก เป็นผู้มีปัญญาย่อมดับไป เหมือนประทีปดวงนี้ดับไป ฉะนั้น รัตนะ คือ พระสงฆ์เป็นของประณีต ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี (แก่ท่านทั้งหลาย)           ๒๔/๑๕๗๕๖
            ๔๖๔๕. รัตนาวลี  เป็นผลงานทางปรัชญาอันล้ำลึกของนาคารชุน ซึ่งเป็นปราชญ์รูปหนึ่งของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มาธยมิกนิกาย ความคิดของท่านมิเพียงซึมซาบอยู่ในคัมภีร์อภิธรรม ของมหายานเท่านั้น หากยังมีอิทธิพลอยู่ในคัมภีร์ฝ่ายพุทธตันตระด้วย
                นาคารชุน เกิดในตระกูลพราหมณ์ทางภาคใต้ของอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่เจ็ด ได้ศึกษาจบไตรเพท และมีความเชี่ยวชาญในอาถรรพศาสตร์มาก ต่อมาได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา และศึกษาเจนจบในพระไตรปิฎก และได้รจนาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไว้มากมาย รวมทั้งพระไตรปิฎกซึ่งแปลเป็นภาษาจีนรวม ๒๔ คัมภีร์ และรัตนาวลี ซึ่งมีลักษณะเป็นจดหมายเชิงปรัชญา ที่ท่านเขียนไปถึงพระเจ้าศาตวาหนะ แห่งทักษิณาบถ ซึ่งเป็นมิตรผู้ยิ่งใหญ่ของท่าน และได้สร้างวัดที่ภฺรมรคีรี หรือ ศรีบรรพต ถวายท่าน
                การที่จะเข้าใจข้อความในรัตนาวลี นั้น จำเป็นต้องมีความรู้ในศูนยวาท เป็นพื้นก่อน ทั้งนี้เพราะเหตุที่รัตนวลี ได้สรุปใจความในลัทธิศูนยวาทไว้ให้สั้นที่สุด คล้ายเป็นเพียงมาติกาคือ แม่บทแห่งศูนยวาทเท่านั้น แต่ลัทธิศูนยวาทก็แยกออกมาจากลัทธิเดิมคือ ขณิกวาท ซึ่งเป็นมูลฐานแห่งบรรดาลัทธิทั้งหลาย ที่มีอยู่ในพุทธปรัชญาตราบเท่าทุกวันนี้ ขณิกวาทถือว่า สรรพสิ่งดำรงอยู่เพียงชั่วขณะเท่านั้น เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวง จะต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอนใด ๆ เลย
                คัมภีร์รัตนวลี ได้เริ่มต้นด้วยการน้อมนมัสการพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ต่อจากนั้น ก็กล่าวถึงหลักปรัชญาอันลึกซึ้ง มีข้อความบางตอนดังนี้
                        (๑)  ข้าพระเจ้าประณม พระสรรเพชญ์เจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ที่เป็นพวกพ้องสรรพสัตว์ ผู้พ้นจากโทษทั้งสิ้น แต่ประดับด้วยคุณทั้งปวง ฯ

..............................
                        (๕)  เพราะความที่มีศรัทธาจึงดำเนินสู่ธรรม เพราะความที่มีปรัชญาจึงทราบตามความจริง ฯ ก็บรรดาคุณชาติทั้งสองนั้น ปรัชญาเป็นประธาน ส่วนศรัทธา นำหน้าประธาน คือ ปรัชญา นั้น ๆ
                        (๖)  ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะฉันทะ โทสะ รายะ และโมหะ พึงทราบ ผู้นั้นว่าคือ คนมีศรัทธา เป็นภาชนะอันดีแห่งสิริยิ่ง (คือ ไม่มีใคร ๆ) จะเป็นที่รองรับโมกษธรรม เหมาะไปกว่าเขา ) ฯ
                        (๗)  ผู้ใดพิจารณาโดยระมัดระวัง ซึ่งกรรมทั้งสิ้น อันทำด้วยกาย หรือวาจา ใจ รู้ทั่วถึงกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และแก่ตนเองแล้ว ก็พึงทำกรรมนั้นเสมอ ผู้นั้นเป็นบัณฑิต ฯ
                            ในโศลกที่ ๑๔ - ๑๘ ได้กล่าวถึง สาเหตุที่ทำให้มนุษย์เราเป็นต่าง ๆ กัน
                            ในส่วนของปรมัตถกรรม คือ ธรรมะขั้นสูงสุด ท่านได้ชี้ให้เห็นว่าอะไรเป็นความหลุดพ้น และทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นนั้น คือ ปรัชญา ความหลุดพ้นนั้น เป็นความว่างเปล่าจากทุกสิ่งทุกอย่าง คล้ายกับเหวลึกที่ว่างจนแล ไม่เห็นก้นเหว น่าหวาดเสียวแก่ผู้ที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังเป็นพื้นไว้เลย เพราะฉะนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมักเขยิบความรู้ ทีละขั้น ๆ เป็นพื้นฐานแก่ผู้ฟัง เพื่อฝึกความรู้สึกให้หยั่งลงไปทีละน้อย ไม่วูบวาบทีเดียว
                            ท่านได้กล่าวว่า "สังสารวัฎ ไม่มีเบื้องต้น ที่สุด และท่ามกลาง ย่อมหมุนเหมือนไฟปลายพื้นที่หมุนติ้ว มีทางสามสาย เป็นเหตุแห่งกันและกัน"  ทางสามสาย คือ อหังการ กรรม และ ชาติ ซึ่งพอเทียบกับหลักไตรวัฎ คือ กิเลส กรรม และวิบาก
                            ในเรื่อง นิพพาน หรือ นิรพาน ท่านได้กล่าวไว้ในโศลกที่ ๔๒ - ๔๖ ดังนี้
                       (๔๒)  นิรพาน แม้จะเป็น อภาวะ ( ความไม่มีอะไร)  แห่งนิรพานนั้น จากที่ไหนได้เล่า ฯ อันความสิ้นแห่งปรามาส (การยึดถือ)  ถึงภาวะ หรือ อภาวะ (มีหรือไม่มี)  เราเรียกว่า นิรพาน ฯ
                        (๔๓)  กล่าวแต่ย่อ นัตถิตาทิฐิ ย่อมเห็นว่า กรรมไม่มีผล ฯ อัน นัตถิคตาทิฐิ นี้เป็น ปฎิปักษ์ต่อบุญ และนำลงอบายภูมิ บัณฑิตจึงลงมติว่าเป็น มิจฉาทิฐิ ฯ
                        (๔๔)  และกล่าวแต่ย่อ อัตถิตาทิฐิ  ย่อมเห็นว่ากรรมทั้งหลายมีผล ฯ อัน อัตถิตาทิฐิ นี้เป็นบุญ มีสุคติเป็นผล บัณฑิตจึงลงมติว่า เป็น สัมมาทิฐิ
                        (๔๕)  ในเพราะ ญาณ (ความรู้ที่ถูกต้อง)  จึงมีการล่วงพ้นทั้งบาป ทั้งบุญ เพราะสงบจาก นัตถิตาทิฐิ และอัตถิตาทิฐิ ฯ เพราะฉะนั้น เหล่าสัตบุรุษจึงกล่าวว่า  นั้นเป็นโมกษะ (ความพ้น) จากทุคติ และทั้งสุคติ ด้วย ฯ
                        (๔๖)  เห็นความเกิดขึ้นกับทั้งเหตุอยู่ ย่อมล่วง นัตถิตทิฐิ เสียได้ ฯ เห็นความดับไปดับทั้งเหตุอยู่ ก็ย่อมไม่เข้าแม้ซึ่ง อัตถิตาทิฐิ
                                ในเรื่องของ นิพพาน นั้น จะบอกว่าเป็นความไม่มีอะไร (อภาวะ) ก็ไม่ใช่ และจะบอกว่า เป็นความมีอะไร (ภาวะก็ไม่ใช่ นิพพานเป็น อนีรวจนียะ คือ ไม่สามารถกล่าวออกมาเป็นคำพูดได้ ต่อเมื่อหมดความยึดมั่นทั้งในภาวะ และอภาวะ ได้แล้ว นั่นแหละคือ นิพพาน
                                ท่านได้เปรียบโลกดุจพยับแดด ล้วนเป็นสิ่งที่ลวงตาทั้งสิ้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ในโศลกที่ ๕๒ - ๕๗
                                ในตอนท้าย ท่านได้กล่าวว่า เพราะเหตุดังนี้ ธรรมบรรณาการ ซึ่งพ้นจากทั้ง นัตถิตา และอัตถิตา ย่อมเป็นอมฤตแห่งศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่กล่าวกันว่า ลึกซึ้ง และได้สรุปว่า โดยปรมัตถ์แล้ว โลกกับนิพพาน ก็เป็นอย่างเดียวกัน
            ๔๖๔๖. รัตภูมิ  อำเภอ ขึ้น จ.สงขลา ภูมิประเทศทางทิศตะวันตก เป็นเนินมีป่าสูง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ค่อย ๆ ลาดลงไปจนจดฝั่งทะเลสาบ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นควน และป่า โดยมาก
                อ.รัตภูมิ เมื่อสมัยอยุธยา หลวงภูเบศร์ เจ้าเมืองสงขลา ได้มอบให้ นายหัว เมืองเพชร คุมเลกไปสร้างกำแพงเมืองสงขลา ริมฝั่งทะเลสาบทางด้านตะวันตก ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า ท้ายวัง ได้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในแถบบ้านผาลิง ต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้ยกหมู่บ้านของพวกนี้ขึ้นเป็นตำบลชื่อ ต.กำแพงเพชร และตั้งกิ่งอำเภอขึ้นที่ ต.ควรรู ให้ชื่อว่า กิ่ง อ.กำแพงเพชร ขึ้น อ.เหนือ ปัจจุบันคือ อ.หาดใหญ่ ต่อมาราวปี พ.ศ.๒๔๖๐ ย้ายไปตั้งที่ บ.ปากบาง รัฐภูมิ ต.รัฐภูมิ เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่ง อ.รัฐภูมิ ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๖ ยกขึ้นเป็นอำเภอ ย้ายไปตั้งที่ ต.กำแพงเพชร เปลี่ยนชื่อเป็น อ.กำแพงเพชร ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.รัตภูมิ           ๒๔/๑๕๗๗๐
            ๔๖๔๗. รัทเทอร์ ฟอร์เดียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๑๐๔ เป็นธาตุกัมตรังสี ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นไม่มีปรากฎในธรรมชาติ พบครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ โดยนักวิทยาศาสตร์ ชาวรัสเซีย           ๒๔/๑๕๗๗๑
            ๔๖๔๘. รัษฎา  กิ่งอำเภอ ขึ้น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ป่า เทือกเขาบรรทัดทางทิศตะวันออกแล้วราบมาทางทิศตะวันตก จดคลองปาง มีป่าสงวนแห่งชาติสามแห่ง อุทยานแห่งชาติหนึ่งแห่ง
                การได้ชื่อว่า รัษฎา ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อดีตสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต คือ พระยารัษฎานุประดิษฐ ฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง)  ผู้เคยเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง กิ่ง อ.รัษฎา ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔           ๒๔/๑๕๗๗๔
            ๔๖๔๙. รัษฎากร  มีความหมายว่า "รายได้ของแผ่นดิน; ภาษีอากรประเภทต่าง ๆ ที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร" คำนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๖
                ในปัจจุบัน คำว่า รัษฎากร ใช้เป็นชื่อเรียกกฎหมาย ที่เรียกเก็บภาษีอากรภายในว่า "ประมวลรัษฎากร"
                ภาษีรัษฎากร ไม่รวมถึง ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน และภาษีอื่น ๆ           ๒๔/๑๕๗๗๕
            ๔๖๕๐. รา  เป็นกลุ่มพืชชั้นต่ำที่ไม่มีลำต้น ใบ ราก และคลอโรฟิลล์ รามีความเป็นอยู่แบบปรสิต หรือแบบอาศัยอยู่บนอินทรีย์วัตถุ ที่เน่าเปื่อยผุพังอยู่ในดิน ราที่สำรวจพบแล้ว มีประมาณ ๔๐,๐๐๐ ชนิด ซึ่งคาดว่าเป็นเพียง หนึ่งในสามของราทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก ราอาศัยอยู่ทั่วไปในน้ำ ดิน และอากาศ
                ประโยชน์ของรา มีมาก เช่น ใช้ในอุตสาหกรรม ผลิตยาปฎิชีวนะ กรดอินทรีย์ แอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ขนมปัง เต้าเจี้ยว เนย ราบางชนิดเป็นอาหารของคนและสัตว์ ที่รู้จักดีคือ เห็ดที่ใช้เป็นอาหาร ราที่ให้โทษ ได้แก่ ราที่ทำให้เกิดโรคพืช โรคมนุษย์ และโรคสัตว์ ทำให้อาหารบูดเน่า ทำลายเสื้อผ้า เครื่องหนัง และเครื่องเรือน รวมทั้งเห็ดมีพิษที่บริโภคไม่ได้ด้วย
                รา มีลักษณะทั่วไปเป็นเส้นใยขนาดเล็ก ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ราในลำดับต่ำ ๆ อาจเป็นเซลล์เดียว และไม่เป็นเส้นใย เส้นใยของรา ในลำดับชั้นสูง ๆ มีผนังขวางกั้นแบ่งเส้นใยออกเป็นเซลล์หลายเซลล์ เส้นใยเจริญแตกกิ่งก้านสาขา ออกไปเป็นกลุ่มใหญ่ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว จะขยายพันธุ์โดยมีการสืบพันธุ์เป็นสองแบบคือ ไม่อาศัยเพศ และอาศัยเพศ           ๒๔/๑๕๗๗๙
            ๔๖๕๑.รากษส  (ดู ผีเสื้อน้ำ - ลำดับที่ ๓๖๖๖)           ๒๔/๑๕๗๘๖
            ๔๖๕๒. รากสาด - ไข้  ในวงการแพทย์ปัจจุบันจัดว่าไข้รากสาดมีสามชนิดคือ  ไข้รากสาดใหญ่ ไข้รากสาดน้อย และไข้รากสาดเทียม
                   ไข้รากสาดใหญ่ หรือไข้ไทฟัส  เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากจุลินทรีย์ ซึ่งมีลักษณะเวชกรรมสี่แบบ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ และพาหะนำโรค ได้แก่
                        ๑. ไข้รากสาดใหญ่ ซึ่งเห็บเป็นพาหะ   พบได้ทางซีกโลกตะวันตก เท่านั้น เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางแผลเห็บกัด หรือรอยถลอกที่เปื้อนขี้เห็บ หรือน้ำตัวเห็บที่ถูกบดขยี้ ประมาณเจ็ดวันต่อมาเริ่มมีอาการต่าง ๆ อย่างฉับพลัน รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการทางระบบหายใจ ทางหัวใจ และระบบไหลเวียน เลือด ตับ ม้าม ไต และสมอง
                        ๒. ไข้รากสาดใหญ่ ซึ่งโลนเป็นพาหะ  หรือไข้รากสาดชนิดระบาด พบในประเทศทางยุโรปตะวันออก แอฟริกากลาง เอธิโอเปีย แอฟริกาใต้ อัฟกานิสถาน อินเดียตอนเหนือ เม็กซิโก อเมริกากลาง เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งถ่ายปนออกมากับอุจจาระของตัวโลน และเข้าทางแผลผิวหนัง หรือโดยการสูดหายใจเข้า มนุษย์เป็นแหล่งรวมโรคได้เป็นเดือน เป็นปี ระยฟักโรคประมาณเจ็ดวัน
                        ๓. ไข้รากสาดใหญ่ ซึ่งไรเป็นพาหะ  หรือไข้รากสาดใหญ่ จากป่าละเมาะ หรือโรคไรร้าย พบทั่วไปทางซีกโลกตะวันออก เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งตัวไรอ่อนที่อยู่ตามทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ เป็นพาหะสำคัญ  กระโดดเกาะดูดน้ำเหลืองและสารน้ำ เนื้อเยื่อจากคน หรือสัตว์ พร้อมกันนั้นจะรับเอาเชื้อจากคน หรือสัตว์ หรือปล่อยเชื้อจากน้ำลายให้หนู เป็นแหล่งรวมโรคที่สำคัญ มนุษย์เป็นตัวถูกเบียน โดยบังเอิญ
                            ประมาณ ๙ - ๑๒ วัน  หลังถูกไรกัด จะมีตุ่มเล็ก ๆ ตรงรอยกัด มักพบที่รักแร้ ขาหนีบ และรอบเอว ต่อมาแตกเป็นแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ เรียกว่า แผลไรกัด และมีต่อมน้ำเหลืองในบริเวณนั้น โตขึ้นกดเจ็บ รายที่เป็นมากมักมีต่อมน้ำลายข้างหูอักเสบโตขึ้น ถ่ายอุจจาระดำ หมดสติ เพ้อคลั่ง เสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว และการหายใจล้มเหลว
                        ๔. ไข้รากสาดใหญ่ ซึ่งตัวหมัดเป็นพาหะ  หรือไข้รากสาดใหญ่จากหนู หรือไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่น พบทั่วโลก เกิดจากการติดเชื้อโดยตัวหมัด ไปดูดเลือดหนูที่ติดเชื้อ แล้วถ่ายเชื้อมากับขี้หนู ซึ่งอาจปลิวเข้าตา หรือสูดหายใจเข้าไป
                            ระยะฟักโรค ประมาณสิบวัน อาจมีอาการนำ เริ่มด้วยปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดข้อ หนาวสั่น และไข้ขึ้นชั่วคราว ในวันที่ห้า เป็นตุ่มแบบสีแดงด้าน ในวันแรก ๆ มีจำนวนน้อยอยู่ในรักแร้ ด้านในของต้นแขน ข้างลำตัว ต่อมากระจายทั่วหน้าท้อง ไหล่ หน้าอก ต้นแขน และขาอ่อน
                   ไข้รากสาดน้อย  มักเรียกสั้น ๆ ว่า ไข้รากสาด ชื่อ ไข้ไทฟอยด์ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ พบมากในประเทศด้อยพัฒนา คน สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์แทะ และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นแหล่งรวมโรค การติดเชื้อเกิดจากดื่มน้ำที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อจากอุจจาระคน และสัตว์ที่เป็นพาหะ
                        ระยะฟักโรค ๑๐ - ๑๔ วัน อาการจะเริ่มช้า ๆ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย เริ่มสัปดาห์ที่สี่ ไข้อาจลงเอง แม้ไม่ได้ยารักษา
                        การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยกินวัคซีน ได้ผลป้องกันร้อยละ ๖๗
                   ไข้รากสาดเทียม หรือไข้พาราไทฟอยด์  มักจัดรวมไว้ในกลุ่มไข้เอนเทอริก มักพบในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาการของโรคอ่อนกว่า และระยะโรคสั้นกว่าไข้รากสาดน้อย การรักษาเหมือนไข้รากสาดน้อย           ๒๔/๑๕๗๘๖
           ๔๖๕๓.  ราชคฤห์  เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมคธ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย มีอาณาเขตทิศเหนือ ตกแม่น้ำคงคา ทิศตะวันออก ตกแม่น้ำจัมปา ทิศใต้ตกภูเขาวินธัย ทิศตะวันตก ตกแม่น้ำโสนะ ในสมัยพุทธกาลอาณาจักรมคธได้รวบรวมอาณาจักรอังคะไว้ในอำนาจด้วย ประกอบด้วยหมู่บ้าน ประมาณแปดหมื่นหมู่บ้าน
                ราชคฤห์ มีอยู่สองเมืองคือ เมืองราชคฤห์เก่า ซึ่งเป็นเมืองโบราณมากมีภูเขาล้อมรอบเป็นปราการ ได้แก่ ภูเขาปัณฑวะ คิชกูฎ เวภาระ อิสิคิลิ และเวปุลละ จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า คิริพพชะ แปลว่า คอกภูเขา หรืออีกชื่อว่า เบญจคีรีนคร เป็นเมืองที่มหาโควินทร เป็นสถาปนิกออกแบบสร้าง เมืองราชคฤห์ใหม่อยู่ที่เชิงเขาใต้เมืองเก่า ลงมาเล็กน้อยสร้างในรัชสมัยพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาพระเจ้าสิสุนาคา ได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองไพศาลี และต่อมาราชโอรสได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองปาฎลีบุตร
                ราชคฤห์ เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากที่สุดเมืองหนึ่ง ในสมัยพุทธกาลมีถนนจากเมืองตักศิลา (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน)  ตัดผ่านเชตวันมหาวิหาร ณ เมืองสาวัตถี ถึงเมืองราชคฤห์ ยาว ๓,๐๗๒ กม. ระยะทางจากเมืองสาวัตถีถึงเมืองราชคฤห์ ยาว ๗๒ กม. ระยะทางจากเมืองกบิลพัสดุ์ ถึงเมืองราชคฤห์ ยาว ๙๖ กม. จากเมืองราชคฤห์ถึงเมืองกุสินารา ยาว ๔๐ กม.
                พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายป่าไผ่แด่พระพุทธเจ้า พร้อมพระภิกษุสงฆ์เรียกว่า เวฬุวันมหาวิหาร เป็นพุทธวิหารแห่งแรก ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ประทับที่เมืองราชคฤห์ ในพรรษาที่ ๒,๓,๔ ,๑๗ และ ๒๐ ในพรรษาที่ ๔๔ พระพุทธองค์ได้เสด็จผ่านมายังเมืองราชคฤห์ ขณะประทับที่เมืองราชคฤห์ ได้ตรัสหลักอปริหานิยธรรม
                สถานที่สำคัญที่อยู่รายรอบเมืองราชคฤห์มีหลายแห่งด้วยกัน เช่น สีตวัน ชีวกัมพวัน ปิบผลิคูหา อุทุมพริการาม โมรนิวาปะ ตโปทาราม อินทสาลคูหา สัตปัณณคูหา ที่ทำปฐมสังคายนา ลัฎฐิวัน มัททกุจฉิ สุปติฎฐเจดีย์ ปาสาณกเจดีย์ สัปปโสณฑิกปัพภาระ และสระสุมาคธา           ๒๔/๑๕๗๙๑
            ๔๖๕๔.  ราชทัณฑ์  หมายถึง โทษตามพระราชอาญา อันเป็นพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือหมายถึง โทษที่กำหนดไว้โดยกฎหมายอาญาสารบัญญัติ อันได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญา ซึ่งได้ออกบังคับใช้ตามกระบวนการออกกฎหมาย ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                การปฎิบัติงานราชทัณฑ์ต้องเป็นไปตามหลักการลงโทษที่ได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๑๘ กำหนดว่า โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิด ประกอบด้วยประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน
                วิวัฒนาการของการราชทัณฑ์ในประเทศไทย แบ่งได้สามยุคคือ
                        ๑.  ยุคแรก  ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ กิจการที่เกี่ยวกับราชทัณฑ์เรียกว่า การเรือนจำ แบ่งเป็นการเรือนจำในกรุงเทพ ฯ และการเรือนจำในหัวเมืองชั้นนอก เรือนจำในกรุงเทพ ฯ มีชื่อเรียกเป็นสองอย่างคือ คุก และ ตะราง
                           คุก  เป็นที่คุมขังผู้ต้องขัง มีกำหนดโทษตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป สังกัดกระทรวงนครบาล ส่วนตะราง ใช้เป็นที่คุมขังผู้ต้องขัง ที่มีโทษตั้งแต่หกเดือนลงมา กับนักโทษที่มิใช่โจรผู้ร้าย ตะรางมีหลายแห่งซึ่งสังกัดอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรม ที่บังคับบัญชากิจการนั้น ๆ เช่น ตะรางกลาโหม ตะรางมหาดไทย
                            การเรือนจำหัวเมืองชั้นนอก เดิมหน้าที่การไต่สวนโจรผู้ร้ายและการตุลาการ ในหัวเมืองชั้นนอกรวมอยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบ ของผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งมีหน้าที่คุมขังผู้ต้องขังเรียกว่า ตะรางประจำเมือง เมืองละแห่ง
                        ๒.  ยุคที่สอง  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ คอมมิตี พระนครบาลให้ยกเลิกธรรมเนียมสองข้อคือ
                            ๑. ธรรมเนียมเจ้าพนักงานได้รับผลประโยชน์จากนักโทษ ให้ยกเลิกค่าธรรมเนียม และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้แรงนักโทษ และให้เจ้าพนักงานได้รับเงินเดือนแทน ส่วนผลประโยชน์จากการใช้แรงนักโทษ ให้ตกเป็นของหลวง
                            ๒. ธรรมเนียมพันธนาการนักโทษสามประการคือ ธรรมเนียมค่ารับนักโทษ เก็บเมื่อเข้ามาต้องโทษ ธรรมเนียมเมื่อพ้นโทษต้องเสียเงินให้เจ้าพนักงาน และธรรมเนียมเมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้ปล่อยตัว ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ให้ยกเลิกเสีย ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจำนักโทษ และถอดเครื่องพันธนาการได้ตามร่างข้อบังคับใหม่
                            ส่วนการเรือนจำหัวเมือง ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ให้รวมการปกครองต่าง ๆ ทั้งหัวเมืองฝ่ายใต้ และหัวเมืองฝ่ายเหนือ มาสังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่แห่งเดียว การเรือนจำหัวเมืองทั้งหมดจึงได้รวมมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่นั้นมา เว้นแต่เรือนจำเมืองปทุมธานี นนทบุรี นครเขื่อนขันธ์ และสมุทรปราการ ยังคงขึ้นกระทรวงนครบาล
                            ในปี พ.ศ.๒๔๔  มีพระบรมราชโองการ ฯ ให้การไต่สวนคดีมีโทษหลวง และการทำให้ผู้ที่ล่วงพระราชอาญา ที่มีความผิดตามคำพิพากษานั้น มารวมอยู่ในหน้าที่ตุลการและให้มารวมอยู่ในหน้าที่ตุลาการ และให้อยู่ในบังคับบัญชาของ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม กระทรวงนครบาลจึงได้มอบ กองมหันตโทษ และกองลหุโทษ ให้กระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐
                            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ได้มีการตรา พ.ร.บ.ลักษณะเรือนจำไว้รวม ๑๕ มาตรา
                            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๔  ได้ย้ายกองมหันตโทษและกองลหุโทษ ไปสังกัดกระทรวงนครบาล แต่ยังคงให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจไปตรวจเรือนจำได้ ตามระเบียบที่ใช้อยู่ ส่วนเรือนจำในหัวเมืองยังคงสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามเดิม
                            ในปี พ.ศ.๒๔๕๘  มีการตั้งกรมราชทัณฑ์ขึ้น ให้รวบการคุมกองมหันตโทษ และกองลหุโทษ กับเรือนจำทั้งหลายขึ้นในกรมนี้ กรมราชทัณฑ์ขึ้นในกระทรวงนครบาล
                            ๓.  ยุคที่สาม  เริ่มแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ถึงปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้ยกฐานะแผนกราชทัณฑ์จากกรมพลำภัง ขึ้นเป็นกรมราชทัณฑ์ ในกระทรวงมหาดไทยตามเดิมอีกครั้งหนึ่ง           ๒๔/๑๕๗๙๘
            ๔๖๕๕. ราชทูต  (ดูที่ ทูต - ลำดับที่ ๒๕๗๑)           ๒๔/๑๕๘๐๖
            ๔๖๕๖. ราชเทวี  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมอยู่ในท้องที่เขตพญาไท ยกฐานะเป็นเขต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒           ๒๔/๑๕๘๐๖
            ๔๖๕๗. ราชธรรม  (ดูที่ ทศพิธราชธรรม - ลำดับที่ ๒๔๒๒)           ๒๔/๑๕๘๐๗
            ๔๖๕๘. ราชนิกุล  คือ เชื้อสายของพระราชวงศ์ ได้แก่ ชายหรือหญิง ที่มีกำเนิดจากบิดาเป็นราชสกุลชั้นหม่อมหลวง แห่งพระราชวงศ์ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ขนานนามสกุลได้กำหนดไว้ว่า พระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ถึงหม่อมหลวง เมื่องลงพระนาม ลงนาม ต่อด้วยชื่อราชสกุลที่โปรดเกล้า ฯ พระราชทานไว้ไม่ต้องเติม ณ อยุธยา ดังนั้น บุตรธิดาของหม่อมหลวง มีฐานะใช้คำนำหน้านามของตนว่า นาย นางสาว ต่อด้วยนามที่เป็นราชสกุล ที่ได้รับพระราชทานและให้มี ณ อยุธยา ไว้ท้าย  ส่วนหญิงสาวบุตรของหม่อมหลวงนั้น เมื่อสมรสถูกต้องตามกฎหมายที่มีนามสกุลของคู่สมรส ไม่อยู่ในราชสกุลวงศ์ จะใช้ ณ อยุธยา ต่อท้ายไม่ได้ แต่ถ้าสตรีทั่วไปเมื่อสมรสกับพระราชวงศ์ หรือผู้สืบสายแห่งราชสกุลวงศ์ ให้ใช้ชื่อราชสกุล ต่อท้ายนามสกุลของสามีด้วย ณ อยุธยา หากหย่าและถอนทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้ ณ อยุธยา ไม่ได้ เว้นแต่สตรีผู้นั้น ซึ่งแต่เดิมมีเชื้อสายแห่งราชสกุล จึงจะกลับไปใช้ ณ อยุธยา ได้
                ราชสกุล มีระดับดังนี้
                    ราชสกุลชั้นหนึ่ง  ที่ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้าย (พระราชโอรส ในรัชกาลที่หนึ่ง)  อินทรางกูร ณ อยุธยา ทัพพะกุล ฯ สุริยกุล ฯ ฉัตรกุล ฯ พึ่งบุญ ฯ ดารากร ฯ  ดวงจักร ฯ สุทัศน์ ฯ
                    ราชนิกุลชั้นสอง  ที่ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้าย  (พระราชโอรส ในรัชกาลที่สอง)  อารภณกุล ณ อยุธยา มาลากุล ฯ กล้วยไม้ ฯ กุสุมา ฯ เดชาติวงศ์  ฯ  พนมวัน ฯ กุญชร ฯ เรณุนันท์ ฯ นิยมิศร ฯ ทินกร ฯ ไพฑูรย์ ฯ มหากุล ฯ วัชรีวงศ์ ฯ ชุมแสง ฯ สนิทวงศ์ ฯ มรกฎ ฯ  นิลรัตน์ ฯ อรุณวงศ์ ฯ  กปิตถา ฯ  ปราโมช
                   ราชนิกุลชั้นสาม  ที่ใช้  ณ อยุธยา ต่อท้าย (พระราชโอรสในรัชกาลที่สาม)  ศิริวงศ์ ณ อยุธยา โกเมน ฯ คเนจร  ฯ งอนรถ ฯ ลดาวัลย์ ฯ ชุมสาย ฯ ปิยากร ฯ  อุไรพงศ์ ฯ อรณพ ฯ ลำยอง ฯ สุบรรณ ฯ สิงหรา ฯ ชมพูนุท ฯ
                   ราชนิกุลชั้นสี่  ที่ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้าย (พระราชโอรสในรัชกาลที่สี่)  จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ภานุพันธุ์ ฯ จิตรพงศ์ ฯ นพวงศ์ ฯ สุประดิษฐ์ ฯ กฤดากร ฯ คัคนางศ์ ฯ สุขสวัสดิ์ ฯ ทวีวงศ์ ฯ ทองใหญ่ ฯ เกษมสันต์ ฯ กมลาสน์ ฯ เกษมศรี ฯ ศรีธวัช ฯ  ทองแถม ฯ ชุมพล ฯ เทวกุล ฯ สวัสดิกุล ฯ  จันทรทัต ฯ ชยางกูร ฯ วรวรรณ ฯ  ดิสสกุล ฯ โสภางค์ ฯ โสณกุล ฯ วัฒนวงศ์ ฯ สวัสดิวัตน์ ฯ ไชยันต์ ฯ
                   ราชนิกุลชั้นที่ห้า  ที่ใช้ ณ อยุธยา ต่อท้าย (พระราชโอรสในรัชกาลที่ห้า)  จักรพงศ์ ณ อยุธยา จุฑาธุช ฯ มหิดล ฯ บริพัตร ฯ ยุคล ฯ กิติยากร ฯ รพีพัฒน์ ฯ  ประวิตร ฯ จิรประวัติ ฯ อาภากร ฯ ฉัตรชัย ฯ เพ็ญพัฒน์ วุฒิชัย ฯ สุริยง ฯ รังสิตา ฯ
                ราชนิกุล ณ อยุธยา อันสืบเนื่องมาจากที่ทรงเป็นพระราชวงศ์ กรมพระราชวังบวร ดังนี้
                   ราชนิกุลชั้นหนึ่ง  ที่ใช้ ณ อยุธยา จากกรมพระราชวังบวร ฯ  รัชกาลที่หนึ่ง อสุนี ณ อยุธยา สังขทัต ฯ ปัทมสิงห์ ฯ นีรสิงห์ ฯ
                   ราชนิกุลชั้นที่สอง  ที่ใช้ ณ อยุธยา จากกรมพระราชวังบวร ฯ รัชกาลที่สอง  บรรยงกะเสนา  ณ อยุธยา  อิศรเสนา ฯ ภุมรินทร ฯ พยัคฆเสนา ฯ รังสิเสนา ฯ สหาวุธ ฯ ยุคันธร ฯ สีสังข์ ฯ รัชนิกร ฯ รองทรง ฯ
                   ราชนิกุลชั้นที่สาม  ที่ใช้ ณ อยุธยา จากกรมพระราชวังบวร ฯ รัชกาลที่สาม  อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา กำภู ฯ เกสรา ฯ อนุชาศักดิ์ ฯ นันทิศักดิ์ ฯ
                   ราชนิกุลชั้นที่สี่  ที่ใช้ ณ อยุธยา จากกรมพระราชวังบวร ฯ รัชกาลที่สี่ สุธารส ณ อยุธยา วรรัตน ฯ ภาณุมาศ ฯ หัสดินทร ฯ นวรัตน์ ฯ ยุคนธรานนท์ ฯ โตษะณีย์ ฯ นันทวัน ฯ พรหมเมศ ฯ จรูญโรจน์ ฯ สายสนั่น ฯ
                   ราชนิกุลชั้นที่ห้า  ที่ใช้ ณ อยุธยา จากกรมพระราชวังบวร ฯ รัชกาลที่ห้า วิไลยวงศ์ ณ อยุธยา กาญจนะวิชัย ฯ  กัลยาณะวงศ์ ฯ สุทัศนีย์ ฯ วรวุฒิ ฯ รุจอวิชัย ฯ วิบูลยพรรณ ฯ รัชนี ฯ วิสุทธิ ฯ
                    ราชนิกุล อันเนื่องด้วยพระราชวงศ์จากกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (กรมพระราชวังหลัง ในรัชกาลที่หนึ่ง)
                    เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา นรินทรางกูร ฯ มนตรีกุล ฯ อิศรางกูร ฯ ปาลกะวงศ์ ฯ เสนีวงศ์ ฯ
                ราชนิกุลอันเนื่องด้วยปฐมวงศ์ ใช้ ณ อยุธยา
                เจษฎางกูร ณ อยุธยา  (เจ้าฟ้า กรมหลวงจักรเจษฎา)
                นรินทรกุล ณ อยุธยา  (กรมหลวงนรินทรเทวี)           ๒๔/๑๕๘๐๗
            ๔๖๕๙. ราชนีติ  คัมภีร์ราชนีติ นับว่าเป็นปรัชญาการปครองที่มีความสำคัญต่อการศึกษา ทางด้านการเมืองและการปกครองมาก ราชนีติ มีทั้งเป็นพากย์ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต
                ราชนีติ มีผู้รจนาร่วมกันอยู่สองคืนคือ สันนิษฐานว่าได้รจนาขึ้นภายหลังพุทธกาล เพราะปรากฎว่ามีหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาปะปนอยู่หลายแห่ง บางแห่งก็ระบุว่า เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา
                    หลักคำสอนในราชนีติปกรณ์ นี้พอจะแยกออกได้เป็นสี่ประเภท ด้วยกันคือ
                        ๑. คำสอนทั่ว ๆ ไป
                        ๒. คุณสมบัติของพระราชาธิบดี หรือนักปกครอง
                        ๓. การพิจารณาแต่งตัวบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ
                        ๔. กลวิธีในการที่จะเอาชนะข้าศึก
                            ๑. คำสอนทั่ว ๆ ไป  ไม่เจาะจงว่าจะต้องเป็นของบุคคลใด หรือเหล่าใดโดยเฉพาะ เช่น ข้อความในคาถาที่สามมีความว่า "พึงทราบว่าใครจะมีความรู้ ก็ด้วยการเจรจา พึงทราบว่าใครจะมีศีลธรรมจรรยา ก็ด้วยการอยู่ร่วม พึงทราบว่าใคร จะมีมือสะอาด ก็ด้วยการดำเนินในราชกิจทุกอย่าง พึงทราบว่าใคร จะเป็นลูกผู้ชายจริง ก็ในเวลามีอันตรายเกิดขึ้น"
                            ๒. ส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของพระราชาธิบดี  ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือคุณธรรมของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น พระราชาธิบดี หรือ นักปกครอง ทั่ว ๆ ไปนั้น แต่ละคาถาล้วนให้หลักปรัชญาและคติธรรม ที่ควรแก่การที่ผู้ปกครองบ้านเมือง จะนำไปประพฤติปฎิบัติ หรือเสริมสร้างให้มีอยู่ในตน เช่น คาถาที่ ๒๘ มีความว่า "พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงปรารถนารักษาคุณธรรม ทรงทำพระองค์ตามคุณธรรมก่อน แค่นั้นจึงทรงวิจารณ์ถึงส่วนที่เหลือ
                            ในคาถาที่ ๔๘ - ๕๓  ได้สอนให้พระราชาธิบดี หรือ นักปกครอง สำเหนียกเยี่ยง ราชสีห์ นกยาง ไก่ กา สุนัข และ ลา นอกจากนั้น ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ในคาถาที่ ๗๔ - ๗๕ มีความว่า " พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใด ไม่มีนักปราชญ์เป็นที่ปรึกษา ไม่ทรงเชื่อคำของปุโรหิต ข้าเฝ้าผู้ภักดี และพระสหายร่วมพระทัย พระองค์ก็เป็นเหมือนคนตาบอด ที่ไม่มีคนจูง ไม่นานก็จะถึงความพินาศ
                            ๓. ส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งตัวบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ  พระราชาธิบดี หรือผู้ปกครองประเทศจะต้องรู้จัก แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามความรู้ความสามารถของเขา ดังในคาถาที่ ๕ - ๒๒ เช่น "ข้าเฝ้า ผู้มีคุณสมบัติคือ มีตระกูล และศีลาจารวัตร มีสัตย์ มีธรรม มีปัญญาดี มีศีลดี มีหลักดี เป็นคนขยัน ควรตั้งข้าเฝ้าเช่นนี้ไว้ในตำแหน่งผู้พิพากษา"  และ "ข้าเฝ้า ที่รู้ตำราพิชัยสงคราม รู้จักผ่อนปรนพาหนะมิให้ลำบาก มีความแกล้วกล้า อาจหาญ  ควรตั้งให้เป็นแม่ทัพ"
                            ๔. ส่วนที่เกี่ยวกับการที่จะเอาชนะข้าศึกศัตรู  ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการบำรุงมิตร และทำลายศัตรูไว้ หลายสิบคาถา เช่น ในคาถาที่ ๙๗ - ๙๘ ได้กล่าวถึงการบำรุงมิตร มีความว่า " ความเป็นมิตรทำได้ง่าย แต่การรักษาความเป็นมิตรนั้น ทำได้ยาก เหตุนั้นใครมีลักษณะมิตรแท้ พระเจ้าอยู่หัวผู้ฉลาดเฉียบแหลมย่อมทรงบำรุงมิตรนั้นไว้ "
                            ในส่วนที่เกี่ยวกับศัตรูได้มีคำแนะนำไว้มากมาย โดยเฉพาะตั้งแต่คาถาที่ ๙๙ - ๑๑๗ มีความบางตอนดังนี้
                            ๙๙. พึงแบกศัตรูไว้บนบ่า ตราบเท่าที่ยังไม่ได้โอกาส แต่พอได้โอกาส ก็ต้องรีบทำลายเหมือนทุบหม้อดินที่หิน ฉะนั้น
                            ๑๐๘. กลางคืนกาแพ้นกเค้า กลางวันนกเค้าแพ้กา จระเข้อยู่บนบก ก็ตกอยู่ในอำนาจของราชสีห์ ราชสีห์ตกน้ำ ก็ตกอยู่ในอำนาจของจระเข้

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์