ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > สารานุกรมไทยฉบับย่อ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

เล่ม ๑๖ นิ่ว - บุพพาราม     ลำดับที่ ๒๙๑๘ - ๓๑๖๑          หน้า ๙๘๔๑ - ๑๐๔๙๘

            ๒๙๑๘. นิ่ว  คือสารซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง มักพบเสมอในทางเดินปัสสาวะและอาจพบได้บ้างในอวัยวะอื่น ๆ เช่น ในถุงหรือท่อน้ำดี ในท่อตับอ่อน ในท่อต่อมน้ำลาย และในท่อต่อมลูกหมาก
                การเกิดของนิ่ว เกิดได้เพราะมีการรวมตัวจับเป็นก้อนของสาร ซึ่งเป็นส่วนประกอบในน้ำหลั่งของอวัยวะนั้น ๆ            หน้า ๙๘๔๑
            ๒๙๑๙. นิ้ว  เป็นส่วนประกอบของมือ (ขาหน้าในสัตว์ และเท้า (ขาหลังในสัตว์) เฉพาะในคนมีข้างละห้าเท่ากันทั้งมือและเท้า จำนวนอาจลดน้อยลงในสัตว์บางชนิด
                ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นบริเวณที่รับความรู้สึกต่าง ๆ ได้ดีกว่าหลายส่วนของร่างกาย ใยประสาทที่กระจายเข้าสู่นิ้วมือและนิ้วเท้า ปลายประสาทเหล่านี้จะดัดแปลงเป็นปลายประสาทต่าง ๆ เช่นปลายประสาทรับสัมผัสความร้อนเย็นและน้ำหนักที่กด
                เล็บที่ปลายของนิ้วมือและนิ้วเท้า มีการดัดแปลงผิวหนังบริเวณนั้น โดยเฉพาะเซลล์ชั้นนอกเกิดเป็นแผ่นหนาป้องกันบริเวณเหล่านั้น หรือใช้เป็นอวัยวะป้องกันตัวของสัตว์ รวมเรียกว่าเล็บ เป็นส่วนประกอบของนิ้ว ในสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่มีส่วนเป็นนิ้วยื่นออกมา           หน้า ๙๘๕๐
            ๒๙๒๐. นิวยอร์ก - เมือง  ตั้งอยู่ที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ในมณรัฐนิวยอร์ก เป็นเมืองสำคัญ และมีอิทธิพลในกิจการของโลก อย่างหาเมืองใดเปรียบได้ยาก เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งของโลก
                เมืองนิวยอร์กเป็นเมืองเกาะ มีเพียงส่วนหนึ่งซึ่งไม่กว้างขวางนัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่           หน้า ๙๘๘๙
            ๒๙๒๑. นิวรณ์  คือสิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม หรือธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี ได้แก่อกุศธรรม ที่ทำจิตให้เศร้าหมอง และทำปัญญาให้อ่อนกำลัง ในคัมภีร์ปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก และในคัมภีร์วิภังค์ อภิธรรมปิฎก ท่านกล่าวไว้ห้าอย่างคือ
                        ๑. กามฉันท์ ความพอใจในกาม หรือความต้องการกามคุณ
                        ๒. พยาบาท ความปองร้ายหรือคิดร้าย
                        ๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ใจหรือความเชื่อมซึม
                        ๔. อุธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งสร้านและร้อนใจ หรือความกระวนกระวาย กลุ้มกังวลใจ
                        ๕. วีจิกิจฉา ความลังเลสงสัย หรือความไม่แน่นอนใจ
                ธรรมที่จะทำให้บรรลุคุณความดีนั้นท่านเรียกว่า สมถกรรมฐาน แปลว่าที่ตั้งแห่งการงานเพื่อความสงบ หัวใจของสมถกรรมฐานได้แก่สมาธิ คือการรักษาจิตให้แน่วแน่ ใจจะแน่วแน่ต้องเป็นใจที่อบรมดีแล้ว และที่ถือว่าแน่วแน่นั้น ต้องเป็นใจที่ปลอดจากนิวรณ์ทั้งห้าดังกล่าวแล้ว เมื่อใจแน่วแน่เป็นใจอบรมดีแล้ว ย่อมเห็นอรรถเห็นธรรมแน่ชัด ทำอะไรย่อมสำเร็จ
                    - วิธีทำให้ใจปลอดจากนิวรณ์ ต้องเจริญกรรมฐาน ซึ่งท่านจัดรวบรวมไว้เป็นหมวด มีประเภทต่างกันโดยสมเป็นอุบายสำหรับชำระนิวรณ์ชนิดหนึ่ง ๆ คือ
                        ๑. กามฉันท์ ต้องเจริญอสุภกรรมฐาน พิจารณาซากศพหรือกายคตาสติ พิจารณาร่างกายอันเป็นอยู่ให้เห็นเป็นของน่าเกลียดโสโครก
                        ๒. พยาบาท ต้องเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา คือพรหมวิหารสามข้อ เพื่อหัดจิตให้กลับคิดในทางให้เกิดรัก เกิดสงสาร เกิดยินดี
                        ๓. ถีนมิทธะ ต้องเจริญอนุสติกรรมฐาน พิจารณาความดีของตนบ้าง พิจารณาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อให้มีแก่ใจหวนอุตสาหะ
                        ๔. อุธัจจกุกกุจจะ ต้องเจริญกสิณหรือเพ่งกสิณ เพื่อหัดผูกใจไว้ในอารมณ์อันเดียว หรือเจริญกรรมฐานอันจะให้ใจเหี่ยวด้วยสังเวชเช่น มรณะสติ ฝึกถึงความตาย
                        ๕. วิจิกิจฉา ต้องเจริญธาตุกรรมฐาน หรือวิปัสนากรรมฐาน เพื่อกำหนดรู้สภาวธรรมที่เป็นอยู่อย่างไร (ความละเอียดดูในสมถกรรมฐาน  ลำดับที่...)           หน้า ๙๘๙๓
            ๒๙๒๒. นิเวศธรรมประวัติ - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ท้ายเกาะลอย หน้าพระราชวังบางประอิน ต.บ้านเลน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑
                ลักษณะพิเศษของวัดนี้คือ พระอุโลสถ สร้างตามแบบศิลปะโกทิก ซึ่งเป็นศิลปยุคกลางของยุโรป ตอนท้ายของพระอุโบสถสร้างเป็นโดมประดับด้วยนาฬิกา มีหลังคาแปดเหลี่ยม ยอดแหลม ภายในบรรจุระฆังตามแบบโบสถ์คริสต์ศาสนา นอกจากพระอุโบสถเช่น กำแพง ซุ้มประตู ศาลาการเปรียญสร้างเป็นแบบตะวันตกทั้งหมด       หน้า ๙๘๙๖
            ๒๙๒๓. นิษัธ (นิษธ) ๑ ทิวเขาตอนใต้ของเขาเมรุอันเป็นหลังคาของโลก แต่คัมภีร์ปราณะบางฉบับว่า อยู่ทางตะวันออกของเขาเมรุ และอยู่ตอนเหนือของทิวเขาหิมาลัย มีแม่น้ำไหลผ่านชื่อนิษธา           หน้า ๙๙๐๒
            ๒๙๒๔. นิษัธ ๒  เป็นชื่อแคว้นโบราณตอนเหนือของประเทศอินเดีย มีกล่าวถึงในมหาภารตะตอนนโลปาขยานมว่า พระนลครองแคว้นนี้ ปัจจุบันสันนิษฐานว่า เป็นดินแดนแคว้นภีล
            ๒๙๒๕. นีออน  เป็นธาตุลำดับที่สิบ นักเคมีชาวอังกฤษเป็นผู้ค้นพบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ธาตุนีออนนี้เป็นก๊าซประเภทก๊าซมีตระกูล ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหกธาตุ ทั้งหมดเป็นธาตุมอนอะตอมิก คือแต่ละโมเลกุล ประกอบด้วย หนึ่งอะตอมเท่านั้น ธาตุพวกนี้เดิมเรียกว่า กาซเฉื่อย เนื่องจากไม่เคยพบว่าธาตุพวกนี้รวมตัวกับธาตุอื่นใดเป็นสารประกอบเลย และมาเปลี่ยนชื่อเป็นกาซมีตระกูล หลังจากได้ค้นพบสารประกอบต่าง ๆ ของธาตุซีนอนแล้ว
                กาซนีออน มีปรากฎอยู่ในภาวะอิสระในธรรมชาติ โดยมีอยู่ในบรรยากาศ ประมาณ ๑ ใน ๕๕,๐๐๐ ส่วนโดยปริมาตร และมีปรากฎติดค้างอยู่บ้างเป็นปริมาณน้อยยิ่งในหินตามผิวโลก จนยถึงปัจจุบันยังไม่พบสารประกอบที่เสถียรของนีออนเลย เมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในกาซนีออน ภายใต้ความดันต่ำ กาซนีออนจะเปล่งแสงสีแดงส้มออกมา
                ประโยชน์ของนีออนคือ ใช้นำไปทำหลอดไฟโฆษณา ใช้ทำหลอดไฟสนามบิน เพราะแสงสีแดงส้มที่กาซนีออนเปล่ง ออกมาสามารถผ่านหมอกได้ดี และใช้ทำอุปกรณ์อีเลกโตรนิกบางอย่าง
            ๒๙๒๖. นีแอนเดอร์ทัล  เป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์ อาศัยอยู่เมื่อประมาณ ๑๑๐,๐๐๐ - ๓๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว จากการขุดค้นทางตะวันตกของทวีปยุโรป ปรากฎว่ามนุษย์พวกนี้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในส่วนนี้ของโลก เมื่อราว ๗๕,๐๐๐ ปี คืออยู่ในระหว่างยุคน้ำแข็งที่สามและที่สี่ ณ ที่แห่งอื่น ๆ ของโลก ได้พบโครงของมนุษย์พวกนี้เหมือนกัน แต่มีจำนวนน้อยกว่าทางตะวันตกของทวีปยุโรปมาก
                สิ่งที่พบรวมอยู่กับกระดูกที่ถ้ำสปิ ก็มีกระดูกของสัตว์ดึกดำบรรพ์ในยุคนั้นคึอ แรดขนปุกปุย ช้างแมมมอส และโครงกระดูกสัตว์อื่น ๆ ที่ไม่พบแล้วในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้พบเครื่องมือหินเก่า ที่ได้รับชื่อว่าเครื่องมือหินแบบมุสเตอเรียน ปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก
                เมื่อย่างเข้ายุคน้ำแข็งยุคที่สี่ ซึ่งมีน้ำแข็งขยายแผ่ลงมาปกคลุมตอนเหนือของยุโรปอีกครั้งหนึ่ง มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ก็ยังคงยึดอาศัยอยู่ในที่เดิม พยายามดัดแปลงวิธีกินอยู่ให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อม เดิมอาศัยอยู่ในที่โล่ง ขณะอากาศอบอุ่นก็ต้องหาที่อาศัยเป็นถ้ำ และเพิงผา จึงเชื่อว่าได้รู้จักใช้หนังสัตว์ห่อหุ้มร่างกาย และอาศัยล่ากวางเรนเดียร์ และสัตว์ต่าง ๆ ที่เคยอาศัยในแถบเหนือ แล้วหนีความหนาวลงมาเป็นอาหาร
                มนุษย์นีแอนเดอทัล นอกจากจะรู้จักใช้แกนในของหิน และชิ้นหินที่กะเทาะ ออกทำเป็นเครื่องมือหินชนิดต่าง ๆ ที่รวมเรียกว่า แบบมุสเตอเรียน แล้ว ยังรู้จักใช้ไฟควบคุมไฟ และทำไฟใช้ได้ด้วย และเจริญถึงขุดกลางถ้ำที่อยู่อาศัย ทำเป็นเตา สามารถทำที่อาศัยทั้งในถ้ำและที่แจ้ง
                มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล มีการฝังศพผู้ตายโดยมีพิธีการ มีผู้สันนิษฐานว่า มนุษย์พวกนี้เชื่อว่า การตายเป็นการหลับ ฉะนั้น จึงวางศพไว้ในท่าคนนอนหลับ           หน้า ๙๙๐๔
            ๒๙๒๗. นุง - ไทย  มีชื่อเรียกอย่างอื่นว่า ไทยนาง ไทยเกีย ไทยเนียง และไทยยาง อาศัยอยู่ตามพรมแดนของประเทศจีน กับประเทศเวียดนาม และในมณฑลยูนนาน
                คำว่า นุง นี้มีความหมายว่า "คนอ้วน"  ซึ่งอยู่ในกวางสี ไกวเจา และยูนนาน ยังแบ่งออกเป็นหมู่เล็ก ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันตกของกวางสี เมื่อราว ๕๐ ปี (จากปี พ.ศ.๒๕๒๐) มาแล้ว มีจำนวนประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน ที่เข้ามาอยู่ในลุ่มน้ำตังเกี๋ย ประมาณ ๘๐,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐ คน นุง พูดว่าครั้งเดิมอยู่ในมณฑลฮูนาน ซึ่งนุงพวกนี้ แบ่งออกเป็นเผ่ามีหัวหน้าคนหนึ่งชื่อ เจ้านุงนี ได้รวบรวมคนไทยลุ่มแม่น้ำซีเกียง โดยใช้ชื่อว่า ไทยดำ แล้วประกาศตนเป็นอิสระและเป็นฮ่องเต้ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๙๖ แต่ถูกกำลังรบของจีนและเวียดนามตีแตก ลักษณะของนุงดูเป็นพันทาง ระหว่างไทยกับจีน ผู้หญิงดูจะไปคล้ายจีน
                ไทยนุง พูดไทย ใช้อักษรจีนและรู้จักภาษากวั้นฮั้ว (ขุนนาง) ด้วย มีเครื่องแต่งตัวแปลกออกไปตามเหล่า ผู้ชายแต่งตัวเหมือนจีน แต่ผู้หญิงนุง นุ่งซิ่นเหนือ กางเกงขายาว ผมทำเป็นมวยโต แต่ผ้าผูกผมเล็ก นุงชอบแต่งตัวอย่างไทยโท้ แต่ดูหรูหรากว่า มีที่ดินทำกินบนเขา ปลูกข้าวและข้าวโพด พวกนุงไม่มีศาสนา แต่นับถือบรรพบุรุษเหมือนจีน เมื่อมีคนตายจะนำศพไปฝังเป็นส่วนมาก
                หมอดอดด์ กล่าวว่า ไทยนุง ในตังเกี๋ยเรียกว่า ชอง           หน้า ๙๙๓๐
            ๒๙๒๘. นุ่น  เป็นต้นไม้ขนาดกลางสูง ๗ - ๑๐ เมตร ลำต้นกลม มีหนามเล็กสั้น ๆ เล็กน้อย กิ่งทอดขนานกับพื้นดิน และมักออกเป็นวงรอบ ๆ ลำต้น เนื้อไม้อ่อนสีขาว ใบออกสลับกัน และมักออกเป็นกระจุก ที่ปลายกิ่ง
                ผลรูปทรงแบบกระสวย ยาวประมาณ ๑๒ ซม. เวลาแห้งผลจะแตกเป็นห้ากลีบ ไส้กลวงแกนกลางมีเมล็ดสีดำคล้ำ กลมเล็ก ๆ จำนวนมาก และมีใยยาวสีขาว ยัดแน่นเต็มผล
                พันธุ์ไม้ชนิดนี้ รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลก เพราะใยและเมล็ดใช้เป็นวัตถุดิบ ในโรงานอุตสาหกรรม และเป็นสินค้าซื้อขายระหว่างประเทศ           หน้า ๙๙๓๑
            ๒๙๒๙. เนติบัณฑิต  ตามรูปคำ แปลว่า ผู้รู้กฎหมาย เป็นวิทยฐานะที่ใช้เรียกผู้ที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตร โรงเรียนกฎหมายเดิม ปัจจุบันใช้เรียกผู้ที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมาย แห่งเนติบัณฑิตยสภา เดิมเรียกว่า เนติบัณฑิตสยาม ปัจจุบันเรียก เนติบัณฑิตไทย           หน้า ๙๙๓๑
            ๒๙๓๐. เนปาล  เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ใต้เทือกเขาหิมาลัย ไม่มีทางออกทะเล มีอาณาเขตทิศเหนือจดทิเบต ทิศตะวันออกจดสิกขิม ทิศใต้และทิศตะวันตก จดอินเดีย มีพื้นที่ประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ความยาวตะวันออกไปตะวันตก ประมาณ ๘๐๐ กม. ความกว้างจากเหนือไปใต้ประมาณ ๑๔๐ - ๒๔๐ กม. มีเมืองหลวงชื่อ กาฎมัณฑุ
                    พลเมือง  เนปาล ตั้งอยู่ระหว่างเอเชียกลาง และอินเดีย พลเมืองส่วนใหญ่จึงประกอบด้วยกลุ่มคนที่อพยพมาจากดินแดน ทั้งสองแห่งนั้น ที่สำคัญมีพวกมองโกลที่อพยพจากทิเบต และสิกขิม เข้ามาในเนปาล พวกที่มาจากอัสสัม และเบงกอล กับพวกอินโดอารยันที่มาจากอินเดีย การที่มีชาติพันธุ์แตกต่างกัน การแบ่งชั้นวรรณะ และลักษณะพื้นดินทำให้พลเมืองแยกกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ที่สำคัญและมีอิทธิพลมาก มีพราหมณ์ นักรบ และพ่อค้า พวกนี้เป็นเชื้อสายอินเดียน
                    ภาษา  มีอยู่หลายภาษา ภาษาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นภาษาตระกูลเดียวกัน ภาษาประจำชาติคือ ภาษาเนปาลี เป็นภาษาตระกูลอินโดอารยัน ภาษาอื่นมีภาษาฮินดี ซึ่งแยกออกเป็นภาษาถิ่นอีกมากมาย
                    ศาสนา  ศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดคือ ศาสนาฮินดู รองลงมาคือ ศาสนาพุทธ มีร้อยละสิบ ที่นับถือศาสนาอิสลาม มีประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน
                    การปกครอง  มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข           หน้า ๙๙๓๔
            ๒๙๓๑. เนมิราช  เป็นชื่อพระโพธิสัตว์ชาติหนึ่ง ในนิบาตชาดก ส่วนมหานิบาต คัมภีร์ขุทกนิกาย สุตตันตปิฎก และในอรรถกถาแห่งชาดกนั้น นับเป็นชาติที่สี่ในพระเจ้าสิบชาติ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพุทธจริยา ในอดีตชาติ
                ตามชาดกกล่าว่า พระเนมิราช เป็นพระโอรสของพระราชาเมืองมิถิลา พระองค์ทรงพอพระทัยในการบำเพ็ญทาน รักษาอุโบสถศีล ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ตั้งแต่ครองราชย์ก็ทรงสั่งสอนให้ประชาชน มั่นในศีลธรรมอยู่เสมอ พระองค์ครองราชย์โดยชอบธรรมตลอดมา จนวันหนึ่งทรงพบว่า พระเกศาของพระองค์หงอก ก็สลดพระทัยทรงดำริออกผนวชทันที ทรงมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสแล้วทรงผนวช เจริญพรหมวิหารสำเร็จอภิญญาสมาบัติ เมื่อสวรรคตก็ไปเกิดในเทวโลก           หน้า ๙๙๓๘
            ๒๙๓๓. เนย  เป็นสารประกอบอินทรีย์ ที่มีลักษณะเหลวข้น ที่อุณหภูมิห้องมีสีขาว หรือสีเหลืองอ่อน แบ่งเป็นสองชนิดคือ
                        ก. เนยแท้  เป็นเนยที่แปรสภาพจากน้ำนม โดยสกัดครีมออกจากของเหลวอื่น ๆ
                        ข. เนยเทียม  เป็นเนยที่ได้จากการแปรสภาพของน้ำมันหรือไขมัน ส่วนมากทำจากน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันฝ้าย เป็นต้น            หน้า ๙๙๔๑
            ๒๙๓๔. เนรเทศ  แปลตามรูปคำว่า ปราศจากประเทศ หรือไร้แผ่นดินอยู่ โดยนัยนี้คำนี้จึงหมายถึง ขับไล่ หรือส่วนบุคคลออกไปเสียจากแผ่นดิน
                คำเนรเทศ มีมาแต่โบราณ ปรากฎในคัมภีร์ทางคริสต์ศาสนาว่า อาดัม กับอีวา ได้ถูกขับไล่ออกไปจากสวนอีเด็น
                เนรเทศ เป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง ในสมัยโบราณ ประเทศไทยก็รับเอาระบบเนรเทศมาใช้เหมือนกัน โดยได้ส่งนักโทษ ที่มีสันดานเป็นผู้ร้ายตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ไปกักกันไว้ที่เกาะตะรุเตา ในเขตจังหวัดสตูล
                การเนรเทศ เป็นวิธีการลงโทษกลาย ๆ และเป็นการรักษาความปลอดภัยของสังคม เดิมใช้กับนักโทษฉกรรจ์ ปัจจุบันใช้กับคนต่างด้าว ซึ่งเป็นภัยต่อสังคมเป็นส่วนใหญ่            หน้า ๙๙๔๔
            ๒๙๓๕. เนา  เป็นคำที่อาจารย์ทางโหราศาสตร์ ผูกขึ้นใช้เรียกวันที่ดวงอาทิตย์ กำลังโคจรอยู่ระหว่างราศีมีน กับราศีเมษ ว่า "วันเนา" วันดังกล่าวถ้านับตามลำดับหน้าหลังก็คือ วันถัดจากวันมหาสงกรานต์ หนึ่งวัน หรือวันหลังวันมหาสงกรานต์ หนึ่งวันก็ได้
                วันเนานั้น อาจารย์ทางโหราศาสตร์ บางพวกถือว่าเป็นวันไม่ดี ไม่ควรเป็นวันประกอบฤกษ์การมงคลทั้งปวง            หน้า ๙๙๕๐
            ๒๙๓๖. เนียกุล  เป็นคำที่พวกละว้า ซึ่งเป็นชาวบนส่วนน้อยในเขตโคราชเรียกตัวเองว่า เนียกุล (ดู ชาวบน - ลำดับที่ ๑๗๑๑ ประกอบด้วย)           หน้า ๙๙๕๓
            ๒๙๓๗. เนียม - ต้น  เป็นไม้พุ่มเล็ก ๆ สูงประมาณ ๕๐ - ๘๐ ซม. ใบหนาสีเขียวเข้ม ขอบใบจักโค้ง ๆ โดยรอบ ใบยาวประมาณ ๕ - ๖ ซม. กว้าง ๒.๕ - ๓ ซม.  ไม่ค่อยมีดอก ช่อดอกออกยอด หรือกิ่งข้าง ๆ ช่อดอกยาว ๕ - ๖ ซม. ดอกสีขาวประสีชมพู ฝักมีลักษณะเหมือนฝักต้อยติ่ง ต้นเนียม นิยมปลูกตามบ้าน ใบมีกลิ่นหอมผสมกับปูนแดง กินกับหมาก ใบแห้งใช้ใส่น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง เพื่อให้มีกลิ่นหอม นอกจากนี้ ยังใช้ในการปรุงยานัตถุ์ ใช้ใส่เครื่องร่ำ และบุหงา เพื่อให้มีกลิ่นหอม            หน้า ๙๙๕๓
            ๒๙๓๘. เนื้อ  เป็นคำโบราณ ซึ่งใช้เรียกกวางทุกชนิด เช่น เนื้อสมัน เนื้อทราย และคงรวมไปถึง ละอง ละมั่ง เก้ง และกวางป่าธรรมดาด้วย           หน้า ๙๙๕๕
            ๒๙๓๙. เนื้ออ่อน - ปลา  เป็นปลาไม่มีเกล็ด แต่มีหนวด และตัวค่อนข้างอ่อน มีหนวดสองคู่ อยู่ที่ปาก และใต้คาง หนวดที่อยู่ใต้คางสั้นมาก ครีบไขมันเล็ก ครีบก้นยาว เงี่ยงที่อกไม่แข็งแรง ในทางวิชาการแยกปลาชนิดนี้ ออกเป็นสามสกุล            หน้า ๙๙๕๕
            ๒๙๔๐. แนฟทา  ใช้เรียกของเหลวที่มีจุดเดือดต่ำ ไวไฟมาก และประกอบด้วยสารประเภทไฮโดรคาร์บอน หลายชนิดผสมกันอยู่ ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ประโยชน์เป็นตัวทำลาย ใช้ในการซักแห้ง ใช้เป็นเชื้อเพลิง และใช้เป็นวัตถุดิบที่นำไปแปรเปลี่ยนให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ อีกประการหนึ่งคือ ใช้เป็นตัวสะกัดน้ำมันหอมระเหย จากเมล็ดพืชหรือจากดอกไม้            หน้า ๙๙๕๙
            ๒๙๔๑. แนฟทาลีน  เป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทอะโรเมติก ลักษณะเป็นของแข็ง สีขาวเป็นเงา มีรูปผลึก ระเหิดได้ ณ อุณหภูมิธรรมดา ไม่ละลายในน้ำแต่ละลายได้ในตัวทำลายอินทรีย์ มีกลิ่นเฉพาะตัว แหล่งกำเนิดที่สำคัญของสารนี้คือ น้ำมันดิน
                แนฟทาลีน เป็นสารสำคัญสารหนึ่งในอุตสาหกรรม โดยใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อสังเคราะห์สารอื่น ที่มีประโยชน์            หน้า ๙๙๖๐
            ๒๙๔๒. แนฟทีออนิก - กรด  เป็นกรดอินทรีย์ลักษณะเป็นของแข็งสีขาว ละลายได้ในน้ำ ละลายได้เล็กน้อยในอัลกอฮอล์ และในอีเทอร์
                กรดแนฟทิออนิก เป็นสารประกอบที่สำคัญสารหนึ่ง ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสีย้อมประเภทแอโซ           หน้า ๙๙๖๑
            ๒๙๔๓. โนนไทย  อำเภอ ขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เป็นดินปนทราย และมีเกลือปนอยู่มาก ไม่มีแม่น้ำลำคลอง มีแต่ลำธารเล็ก ๆ
                อ. โนนไทย เดิมเรียกว่า อ.ศาลเตี้ย ตั้งอยู่ที่ บ.สันเทียะ เมื่อก่อนปี พ.ศ.๒๔๕๒ ที่อำเภอนี้มีศาลเตี้ยชำระความ โทษจำตั้งแต่หกเดือนลงมา แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.โนนลาว ตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการ (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ต.โนนไทย) ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.โนนไทย           หน้า ๙๙๖๒
            ๒๙๔๔. โนนสะอาด  อำเภอ ขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง
                อ.โนนสะอาด แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ขึ้น อ.กุมภวาปี ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐           หน้า ๙๙๖๒
            ๒๙๔๕. โนนสัง  อำเภอ ขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศทั่ว ๆ ไปเป็นที่ราบสูง มีลักษณะลุ่ม ๆ ดอน ๆ และเป็นเนินเขา
                อ.โนนสัง เดิมเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.หนองบัวลำภู ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙           หน้า ๙๙๖๓
            ๒๙๔๖. โนนสูง  อำเภอ ขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ทางเหนือและใต้ เป็นป่าตอนกลางเป็นที่ลุ่ม
                อ.โนนสูง นี้ ชาวบ้านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อ.กลาง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น อ.โนนวัด แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.โนนสูง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒           หน้า ๙๙๖๓
            ๒๙๔๗. โนเบล, อัลเฟรด เบอร์นาร์ด   เป็นชาวสวีเดน เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๖ ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙ ครอบครัวของโนเบล ได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อโนเบลอายุได้เก้าปี เขาเป็นคนที่เฉลียวฉลาดมาก สามารถพูดภาษาสวีเดน รุสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่ออายุได้เพียง ๑๖ ปี
                โนเบล และครอบครัวอพยพกลับสวีเดน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๒ และได้ตั้งโรงงานเคมีขึ้นที่เมืองเฮเลนบอร์ก ได้ผลิตไนโตรกลีเซอรีน ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดอย่างร้ายแรง ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๘ โนเบลได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานที่เมืองวินเตอวิเคน ในประเทศสวีเดน และที่เมืองครีมเมล ในประเทศเยอรมัน โนเบลได้ค้นพบวิธีผลิตระเบิดไดนาไมต์ ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ และที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑
                โนเบลได้พบวิธีผลิตวัตถุระเบิดอีกหลายชนิด ซึ่งมีอำนาจระเบิดรุนแรงยิ่งกว่าไดนาไมต์ นอกจากกิจการเกี่ยวกับการผลิตวัตถุระเบิดแล้ว ยังมีกิจการเกี่ยวกับการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่บอร์ฟอร์ส ประเทศสวีเดน และมีกิจการบ่อน้ำมันในประเทศรุสเซียด้วย
                ในบั้นปลายของชีวิต ได้บริจาคเงินให้เป็นกองทุนเก็บผลประโยชน์มาใช้เป็นรางวัลประจำปี ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า รางวัลโนเบล ซึ่งเป็นที่ยอมรับยกย่องกันทั่วโลกว่า เป็นรางวัลที่มีเกียรติยอดยิ่งของโลก โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ได้รับจะต้องมีผลงานอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่มนุษยชาติ           หน้า ๙๙๖๔
            ๒๙๔๘. โนเบล ๒ - รางวัล  เป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นตามพินัยกรรมของอัลเฟรด เบอร์นาด โนเบล เป็นกองทุนเพื่อใช้เงินผลประโยชน์ อันเกิดจากกองทุนนี้ มาจัดสรรเป็นรางวัลประจำปี ห้ารางวัลให้แก่ผู้ซึ่งมีผลงานยอดเยี่ยม ที่เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งแก่มนุษยชาติ ในห้าสาขาวิชาคือ ฟิสิกส์ เคมี สรีรวิทยา หรือการแพทย์ วรรณกรรม และสันติภาพ เริ่มให้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๔ เป็นต้นมา           หน้า ๙๙๖๖
            ๒๙๔๙. โนเบเลียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๑๐๒ เป็นธาตุกัมมันตรังสีที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น ไม่มีปรากฎในธรรมชาติ คณะนักวิทยาศาสตร์ในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐           หน้า ๙๙๘๒
            ๒๙๕๐. โนรา  เป็นชื่อ ละครชนิดหนึ่ง ที่นิยมแสดงกันอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย เรียกชื่อเต็มว่า "ละครโนรา ชาตรี"  คำว่า "โนรา" ก็คือ "มโนราห์" นั่นเอง
                สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ว่า ละครโนรา ชาตรี ทางปักษ์ใต้นี้คงได้แบบอย่างไปจากละครนอก ที่เล่นกันอยู่เป็นพื้นเมือง ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง ได้ทรงอ้างหลักฐานสำคัญสามประการคือ จากคำไหว้ครู ท่ารำต่าง ๆ และเครื่องแต่งตัวละคร
                วงดนตรีที่บรรเลงประกอบการแสดงโนรานั้น ได้แก่ วงปีพาทย์ ชาตรี ประกอบด้วย คนเป่าปี่ หนึ่งคน คนตีโทน หรือทับ สองคน คนตีกลองชาตรี หนึ่งคน และคนตีฆ้องคู่ อีกหนึ่งคน นอกจากนั้นก็มีคนตีแกระ หรือกรับ อีก ๓ - ๕ คน เมื่อรวมกับผู้แสดงละคร และตัวครู ผู้ควบคุมวงแล้ว จะทำให้ละครโนราชาตรี คณะหนึ่ง ๆ มีประมาณ ๑๔ คน
                        ละครชาตรี  ที่เล่นอยู่ในกรุงเทพ ฯ ทุกวันนี้ ก็มีพื้นฐานมาจากละครโนราชาตรี ทางภาคใต้เช่นเดียวกัน แต่ต่อมาก็ค่อย ๆ คลายออกไปทุกที ขณะนี้แบบแผนของละครโนราชาตรี แทบจะไม่มีอยู่แล้ว เพราะละครชาตรีในกรุงเทพ ฯ หันมาเล่นเป็นแบบละครนอก เสียเป็นส่วนใหญ่            หน้า ๙๙๘๔
            ๒๙๕๑. โนรี ๑ - ปลา  เป็นปลาทะเลที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม มีความอดทนดี จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปลาผีเสื้อ                หน้า ๙๙๘๖
            ๒๙๕๒. โนรี ๒ - นก  คำนี้เพี้ยนมาจากภาษาอินโดนิเซียว่า นูรี เป็นนกพวกหนึ่งในวงศ์นกแก้ว เป็นนกที่มีสีสันสวยงาม มีขนาดปานกลาง หางค่อนข้างสั้น            หน้า ๙๙๘๗
            ๒๙๕๓. โนโวเคน  เป็นชื่อการค้าของโปรเคน ลักษณะเป็นผลึกสีขาวขนาดเล็ก ไม่มีกลิ่น คงทนในอากาศ เมื่อวางบนลิ้นจะรู้สึกชา
                ประโยชน์ของโนโวเคน ในคนใช้เป็นยาชา เฉพาะที่            หน้า ๙๙๘๘
            ๒๙๕๔. โนอาห์  ตามคัมภีร์ไบเบิล ฉบับพันธสัญญาเดิม โนอาห์ คือ บุคคลผู้ได้รับความเมตตากรุณาเป็นพิเศษ จากพระเจ้า เมื่อพระองค์พิโรธในความชั่วร้ายของมนุษย์ และตัดสินพระทัยทำลายสิ่งมีชีวิตทั้งปวงบนพื้นพิภพ โนอาห์เป็นบุตรของลาเมก สืบเชื้อสายมาจากอาดัมมนุษย์คนแรก ได้สิบชั่วอายุคน และถือว่าเป็นบิดาของมนุษย์ชาติทั้งปวง โนอาห์มีบุตรสามคนคือ เชม แฮม และยาเฟต โนอาห์ได้รับพระบัญชาจากพระยะโฮวา ให้สร้างเรือลำใหญ่ ครั้นสร้างเรือเสร็จแล้วก็ให้นำบุตรภริยาอันเป็นครอบครัวของตน และสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทุกชนิดอย่างละคู่ลงอยู่ในเรือ หลังจากนั้นพระเจ้าได้บันดาลให้ฝนตกติดต่อกัน สี่สิบวันสี่สิบคืน เกิดน้ำท่วมโลก ทำลายชีวิตผู้คน และสัตว์ทั้งปวง เหลือรอดชีวิตเพียงครอบครัวของโนอาห์ และสัตว์ที่เอาขึ้นไว้บนเรือเท่านั้น ๑๕๐ หลังจากนั้นน้ำก็ลดลง เรือเกยตื้นที่ภูเขาอะรารัต
                พระยะโฮวาประทานสัญญาแก่โนอาห์และบุตรทั้งสามด้วยสัญลักษณ์รุ้งกินน้ำ อันเป็นเครื่องหมายว่าหน้าเพาะปลูก หน้าเก็บเกี่ยว หน้าร้อน หน้าหนาว วันและคืนจะคงอยู่คู่โลกตลอดไป
                หลังน้ำท่วมใหญ่แล้วโนอาห์มีชีวิตอยู่ต่อไปอีก ๓๕๐ ปี และสิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ ๙๕๐ ปี บุตรทั้งสามของโนอาห์มีชีวิตสืบต่อมา และได้กลายเป็นบรรพบุรุษของเผ่าพันธุ์ทั้งสามของมนุษย์ชาติสมัยโบราณ โดยเชื่อกันว่าเผ่าพันธุ์อารยันนั้นสืบเชื้อสายมาจากยาเฟต เผ่าเซเมติกสืบเชื้อสายมาจากเซม และเผ่าแฮเมติกสืบเชื้อสายมาจากแฮม           หน้า ๙๙๙๐
            ๒๙๕๕. ไนตริก - กรด  เป็นกรดที่สำคัญที่สุดในบรรดากรดไนโตรเจน และเป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่รู้จักกันมานาน และนำมาใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.๑๖๔๓ ซึ่งเป็นช่วงเวลาในยุครสายนเวท นักเคมีสมัยนั้นใช้กรดนี้เพื่อแยกทองคำออกจากเงิน
                ในธรรมชาติกรดนี้เกิดในอากาศ ขณะที่เกิดมีประกายไฟฟ้าเกิดขึ้นในอากาศ และเมื่อฝนตกก็จะชะล้างกรดลงสู่พื้นดิน
                กรดไนตริกมักเรียกกันโดยทั่วไปว่า กรดดินประสิว เมื่อบริสุทธิ์เป็นของเหลว ไม่มีสี เมื่อเดือดจะสลายตัว กรดไนตริกเข้มข้นเมื่อกระทบอากาศชื้นจะเป็นควันขาว มีกลิ่นฉุน กรดนี้ละลายน้ำได้ดี เป็นกรดแก่ เป็นตัวออกซิไดส์อย่างแรงและสามารถละลายโลหะได้เกือบทุกชนิด ยกเว้นแพลตินัม โรเดียม อิริเดียม อินเดียม แทนทาลัม และทองคำ
                กรดไนตริกเป็นสารเคมีที่มีประโยชน์ยิ่งสารหนึ่ง โดยนำไปใช้สังเคราะห์สารอื่นที่มีประโยชน์เช่นปุ๋ย สี ยารักษาโรค วัตถุระเบิด ปลาสติก เส้นใยสังเคราะห์           หน้า ๙๙๙๑
            ๒๙๕๖. ไนติงเกล  เป็นชื่อสุภาพสตรีที่มีชื่อเสียงของอังกฤษในด้านการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบัน และเป็นผู้ที่มีคุณประโยชน์มากต่อวงการแพทย์ด้วย
                ไนติงเกิลเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ และได้รับชื่อว่า ฟลอเรนซ์ ตามชื่อเมืองด้วย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๓ หลังจากนั้นได้เดินทางกลับบ้านที่อังกฤษ
                เมื่อเกิดสงครามไครเมีย ระหว่างอังกฤษกับรุสเซีย ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ได้รับการขอร้องจากคนสำคัญในคณะรัฐบาลอังกฤษ ให้รับหน้าที่เกี่ยวกับการพยาบาล เธอพร้อมด้วยผู้ช่วยอีก ๓๘ คน ได้เดินทางไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลในระยะแรกพวกแพทย์ไม่ต้อนรับ และไม่ต้องการความช่วยเหลือจากพยาบาลชุดนี้ ต่อมาเธอจึงมีโอกาสช่วยการครัว ทำให้ผู้เจ็บป่วยได้รับอาหารที่มีคุณค่า เมื่องานของแพทย์เพิ่มมากขึ้น เธอและคณะจึงมีโอกาสช่วยงานเพิ่มขึ้นด้วย เธอทำทุกอย่างด้วยกำลังเงินส่วนตัว กำลังกาย และกำลังใจ ได้วางระเบียบแบบแผนในการพยาบาล การประสานงานระหว่างแพทย์กับพยาบาล
                ชีวิตในบั้นปลายของไนติงเกิลได้อุทิศให้กับงานด้านการรักษาพยาบาลเรื่อยมา และได้จากโลกนี้ไป เมื่ออายุได้ ๙๐ ปี นับเป็นตัวอย่างของโลก ในแง่การเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่เห็นแก่ชื่อเสียงหรือลาภสักการะ           หน้า ๙๙๙๔
            ๒๙๕๗. ไนโตรกลีเซอรีน  เป็นของเหลวใส ไม่มีสี พบเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๐ ว่ามีคุณสมบัติเป็นสารที่ระเบิดได้ จึงใช้เป็นวัตถุประเบิด และเมื่อนำไปผสมกับดินฟูชนิดหนึ่งเรียกว่ากีเซลกัวร์ แล้วอัดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ก็จะได้ดินระเบิดชนิดร้ายแรงประเภทหนึ่งเรียกว่า ไดนาไมต์
            สารนี้มีสมบัติในทางเภสัช ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหย่อนขยายตัว เช่นกล้ามเนื้อเรียบตามผนังของหลอดเลือดขยายตัว ทำให้ช่องของหลอเลือดกว้างเข้า ทำให้การไหลเวียนของโลหิตเป็นไปดีขึ้น และทำให้ความดันเลือดลดลง หรือกล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดลมขยายตัว ทำให้ช่องทางเดินของลมหายใจเข้าและออกกว้างขึ้น ทำให้การหายใจสะดวกขึ้น เป็นต้น           หน้า ๙๙๙๘
            ๒๙๕๘. ไนโตรเจน  เป็นธาตุลำดับที่เจ็ด แดเนียล รัทเทอร์ฟอร์ด ชาวอังกฤษเป็นผู้ค้นพบธาตุนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๕ และอีกหลายคนก็ได้ค้นพบสารนี้ในปีเดียวกัน
                ธาตุไนโตรเจน มีปรากฎในธรรมชาติทั้งในภาวะอิสระ และในภาวะรวมตัวกับธาตุอื่นเป็นสารประกอบ ที่มีปรากฎเป็นอิสระคือมีปนอยู่ในอากาศร้อยละ ๗๘.๐๖ โดยปริมาตรหรือประมาณร้อยละ ๗๕.๕ โดยน้ำหนัก
                ไนโตรเจนเป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่ช่วยให้ไฟติด และตัวเองก็ไม่ติดไฟ เบากว่าอากาศเล็กน้อย เป็นธาตุที่มีสมบัติเฉื่อยมากต่อปฏิกิริยาเคมี เป็นธาตุหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เพราะเป็นธาตุหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด พราะเป็นธาตุสำคัญธาตุหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโปรตีนมนุษย์ ในสัตว์และในพืช และการที่อากาศมีก๊าซไนโตรเจนปะปนอยู่เป็นปริมาณมาก เป็นผลให้ปริมาณของออกซิเจนในอากาศจางลง จนใช้อากาศสำหรับหายใจได้โดยปลอดภัย
                ประโยชน์ของไนโตรเจน ในทางอุตสาหกรรมมีมากมายหลายประการเช่น นำไปสังเคราะห์ก๊าซแอมโมเนีย ในอุตสาหกรรมสามารถใช้แอมโมเนีย และกรดไนตริกไปสังเคราะห์สารอื่นที่มีประโยชน์มากมายเช่น ปุ๋ย สี ยารักษาโรค วัตถุระเบิด ปลาสติก นอกจากนั้นยังใช้ไนโตรเจนเหลวเป็นตัวทำความเย็น ในวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาวะเย็นจัดยวดยิ่ง ใช้ก๊าซไนโตรเจนบรรจุในหลอดไฟฟ้าชนิดใช้เส้นลวดโลหะเป็นไส้ เพื่อป้องกันไม่ให้ไส้หลอดขาดเร็ว ใช้บรรจุในหลอดเทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้วัดอุณหภูมิสูง ใช้ในอุตสาหกรรมเชื่อมโลหะคือ ใช้ก๊าซไนโตเจนเป็นตัวกัน มิให้ออกซิเจนในอากาศเข้าไปทำปฎิกิริยากับโลหะ ในขณะเชื่อม           หน้า ๑๐๐๐๐
            ๒๙๕๙. ไนโตรเซลลูโลส  มีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาว แข็งมาก ลุกเป็นไฟได้ง่าย และไหม้หมดไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีควัน เปลวไฟที่เกิดจะมีสีเหลือง
            ประโยชน์ของไนโตรเซลลูโลส คือ ใช้ทำวัตถุระเบิด ใช้ทำคอลโลเดียน ซึ่งมีประดยชน์สำหรับการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ใช้ในการทำฟิล์มถ่ายรูป และใช้ในวงการอีเล็คโทรนิก ใช้ทำวัตถุพวกปลาสติก            หน้า ๑๐๐๐๕
            ๒๙๖๐. ไนโตรเบนซีน  เป็นสารประกอบอะโรแมติกไนโตร ที่ง่ายที่สุดเป็นของเหลว ลักษณะเป็นน้ำมันสีเหลืองอ่อน เป็นพิษอย่างแรง ไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายในอัลกอฮอล์ เบนซิน และอีเทอร์
                ประโยชน์สำคญของไนโตรเบนซีน ก็คือนำไปรีดิวส์ให้เป็นแอนิลีน ซึ่งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสีย้อมมากชนิด           หน้า ๑๐๐๐๕


            ๒๙๖๑. บ เป็นพยัญชนะตัวที่ยี่สิบหกของพยัญชนะไทย  นับเป็นพวกอักษรกลาง เป็นตัวต้นของวรรคที่ห้า (วรรค ป) ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กบ และใช้แทนตัว ป ในคำที่มาจากบาลี และสันสกฤต จัดเป็นพยัญชนะพวกโฆษะ คือ มีเสียงก้อง เป็นพยัญชนะเกิดจากฐานริมฝีปาก เรียกว่า โอฐชนะ เสียงเบา และไม่ก้อง เป็นพยัญชนะใบ้ ใช้ควบหรือกล้ำ ในพวกเดียวกันไม่ได้            หน้า ๑๐๐๐๗
            ๒๙๖๒. บด  เป็นชื่อเรียกชื่อเรือเล็ก ที่มีไว้เป็นพาหนะใช้สอยประจำเรือใหม่ รวมทั้งเรือรบ และเรือสินค้า มาจากคำภาษาอังกฤษ กองทัพเรือเรียก ทับศัพท์
                เรือบด เป็นเรือเล็กที่ต่อขึ้นเพื่อใช้เป็นพาหนะระหว่างเรือใหญ่กับฝั่ง สามารถยกขึ้นเก็บบนเรือ และนำไปกับเรือใหญ่ได้           หน้า ๑๐๐๐๗
            ๒๙๖๓. บดินทร์ - เจ้าพระยา  ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าพระยาบดินทร์ สามท่านคือ
                    ๑. เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในรัชกาลที่สาม
                    ๒. เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล) ในรัชกาลที่หก
                    ๓. เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร)  ในรัชกาลที่หก           หน้า ๑๐๐๑๐
            ๒๙๖๔.  บพิตรภิมุข - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองโอ่งอ่าง ฝั่งใต้ตอนจะจดแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพ ฯ
                วัดนี้เป็นวัดโบราณและเป็นวัดราษฎร สร้างเมื่อราวหลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ และก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ คือ ระหว่าง พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๓๒๕ วัดนี้มีหลายชื่อคือ วัดตีนเลน วัดเชิงเลน วัดมงคลพิมุข เมื่อได้รับการปฎิสังขรณ์จาก สมเด็จ ฯ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราวังบวรสถานภิมุข แล้ว จึงพระราชทานนามว่า วัดบพิตรภิมุข เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๕          หน้า ๑๐๐๑๗
            ๒๙๖๕. บรบือ  อำเภอขึ้น จ.มหาสารคาม ภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นโคกสลับแอ่งและกันดารน้ำ เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.ตลาด เรียกว่า อ.ประจิมสารคาม ครั้งปี พ.ศ.๒๔๕๔ ย้ายไปตั้งที่ ต.บรบือ ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๖ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าขอนยาง ครั้นปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บรบือ ตามชื่อ ตำบลที่ว่าการ           หน้า ๑๐๐๒๓
            ๒๙๖๖.บรม - ขุน  ในพงศาวดารกล่าวว่า ขุนบรม คือ พีล่อโกะ ในภาษาจีน พระองค์เป็นกษัตริย์ของ อาณาจักรหนองแส จีนว่า น่านเจ้า แต่ลาวเรียกว่า อาณาจักรแถน (เมืองแถนเก่า)  พระองค์ครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๒๗๒ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๒ พรรษา ทรงชำนาญการสงครามมาก ได้แผ่อาณาเขตของอาณาจักรหนองแส ไปได้อย่างกว้างขวางและได้ส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี กับกษัตริย์จีน พระเจ้าหงวนจงเหม็ง ฮ่องเต้
                ขุนบรมราชาธิราช เห็นว่า การตั้งเมืองหลวงอยู่ที่หนองแส ทางเหนือสุดเช่นนี้ ไม่ปลอดภัยจากการรุกรานของจีน ที่เคยยกทัพมารบกวนหนองแสอยู่เนือง ๆ จึงลงมาสร้างเมืองใหม่ ที่นาน้อย อ้อยหนู และให้ชื่อเมืองใหม่นี้ว่า เมืองแถน (ใหม่)  ตามชื่อเดิมหรือเมืองกาหลง ปัจจุบัน เมืองนี้อยู่ในเขตเขตญวน และญวน และญวนตั้งเมื่อใหม่ว่า เดียนเบียนฟู เป็นถิ่นที่อยู่ของพวกไทยดำ หรือไทยในสิบสองจุไทย (แปลว่า สิบสองเจ้าไทย)  เมืองนี้ตกไปเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ และต่อมาเมื่อญวนเป็นอิสระ ก็เลยตกไปอยู่ในเขตแดนญวนในปัจจุบัน
                ขุนบรม ประทับอยู่ที่เมืองแถนใหม่แปดปี แล้วยกทัพไปตีทางเหนือของหนองแส ๒๐ ลี้ เรียกเมืองใหม่นี้ว่า ต้าหอ แล้วพระองค์ก็เสด็จไปประทับที่เมืองต้าหอ เมื่อปี พ.ศ.๑๒๘๓
                ขุนบรม มีพระราชโอรสที่มีพระนามปรากฎอยู่เจ็ดองค์คือ ขุนลอ ท้าวผาลาน ท้าวจุสง ท้าวคำผง หรือคำฟอง ท้าวอิน ท้าวกม ท้าวเจื๋อง หรือเจ็ดเจื๋อง
                เมื่อขนุบรม เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองต้าหอ นั้น ทางเมืองแถนใหม่ พระองค์ทรงมอบให้ขุนลอ ครองเมืองแทน ต่อมาขุนลอยกไปตีเมืองของพวกข่าได้ จึงตั้งเมืองหลวงพระบางขึ้น และขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์แรกของ อาณาจักรล้านช้าง หรือลาว ในปัจจุบัน
                ต่อมาขุนบรมได้เสด็จกลับมาประทับอยู่ที่หนองแสตามเดิม เมื่อปี พ.ศ.๑๒๘๖ แล้วมอบให้ท้าวผาลาน ไปครองเมืองต้าหอแทน ขุนบรมครองเมืองหนองแสอยู่จนถึงปี พ.ศ.๑๒๙๓ ก็เสด็จสวรรคต พระชนมายุได้ ๕๓ พรรษา
                ขุนลอ ได้เสด็จขึ้นมาครองเมืองหนองแสเก่าแทน และได้รบพุ่งกับจีนเป็นอันมาก มีชัยชนะต่อจีน แล้วมอบราชสมบัติให้ อีเม่าชิ่น โอรสท้าวผาลาน ครองเมืองหนองแสแทน ส่วนพระองค์เสด็จมาอยู่เมืองหลวงพระบาง ตามเดิม
                ขุนบรมได้ทรงแต่งตั้งให้โอรสทั้งเจ็ดไปครองเมืองต่าง ๆ คือ
                ขุนลอ ไปครองเมืองล้านช้าง (หลวงพระบาง)
                ท้าวผาลาน ไปครองเมืองต้าหอ ท้าวจุสงไปครองเมืองจุลนี (แคว้นตังเกี๋ย) ท้าวคำผง ไปครองเมืองโยนก (ลานนา)  ท้าวอินไปครองเมืองล้านเพย (หรืออยุธยา) ท้าวกม ไปครองเมืองคำม่วน ท้าวเจื๋องไปครองเมืองเชียงขวาง
                อาณาจักรน่านเจ้าเป็นต้นตระกูลทั้งไทยและลาว และไทยทุกแขนง คือ ไทยใหญ่ (ชาน) ไทยลาว ไทยอาหม ไทยสิบสองจุไทย (ไทยดำ ไทยขาว ในแคว้นตังเกี๋ย) ตลอดจนไทยในประเทศไทยด้วย และคนไทย ก็ยังคงตกค้างอยู่ในแคว้นยูนนาน ของจีนตลอดแนว มาจนถึงมณฑลกวางสี และเกาะไหหลำ อยู่อีกมาก
            ๒๙๖๗. บรมโกศ  เป็นพระนามพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๓๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา และองค์ที่สี่แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑ พระองค์เป็นพระราชโอรสสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) พระนามเดิม เจ้าฟ้าพร ต่อมาได้เป็น พระมหาอุปราช ในแผ่นดินสมเด็จพระภูมินทรราชา หรือพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเชษฐาของพระองค์
                เมื่อพระเจ้าท้ายสระ เสด็จสวรรคตได้เกิดการชิงราชสมบัติกันขึ้น ระหว่างพระมหาอุปราชฝ่ายหนึ่ง กับเจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศวร พระราชโอรสพระเจ้าท้ายสระอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างก็ตั้งค่ายยกไพร่พลรบกันจนกลายเป็นศึกกลางเมือง ติดพันกันอยู่หลายวัน ผลที่สุด พระมหาอุปราชเป็นฝ่ายชนะ นับเป็นศึกกลางเมืองที่ใหญ่หลวง เท่าที่เคยมีในกรุงศรีอยุธยา
                เมื่อได้กระทำการปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แต่คนทั้งหลายเรียกกันว่า ขุนหลวงบรมโกษฐ บ้าง พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ บ้าง ในแผ่นดินของพระองค์สภาพบ้านเมืองภายในเป็นปรกติสุข ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ น่าจะสันนิษฐานว่าได้ทรงริเริ่มประเพณี ซึ่งนิยมให้ผู้ชายที่มีอายุครบ ๒๐ ปี บวชเป็นพระภิกษุสืบต่อมาจนบัดนี้
                ในปี พ.ศ.๒๒๙๓ พระเจ้ากิตติศิริราชสีห์ พระเจ้าลังกา ได้แต่คณะทูตมาขอให้พระเจ้าบรมโกศ ส่งผู้แทนคณะสงฆ์ไทยไปปรับปรุงคณะสงฆ์ ในกรุงลังกา ซึ่งได้เสื่อมโทรมลง
                ความสัมพันธ์กับประเทศใกล้เคียงก็เป็นไปอย่างราบรื่น กรุงกัมพูชามีการชิงอำนาจปกครองบ้านเมืองมาก่อน นักพระสถาองค์อิง ได้ขอกองทัพญวนมาตีกรุงกัมพูชา นักพระรามาธิบดีกับนักพระศรีไชยเชษฐ์ สู้รบญวนไม่ได้ จึงพาสมัครพรรคพวก หนีเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารทางเมืองปราจีนบุรี พระเจ้าบรมโกศ โปรดให้คุ้มครองเขมรพวกนี้ และส่งพระยาราชสุภาวดี คุมพลหมื่นคนไปกรุงกัมพูชา เพื่อเจรจาให้เจ้าเขมรซึ่งเป็นคู่พิพาทต่อกัน ทำการปรองดอง นักพระสถาองค์อิง ก็อ่อนน้อมยอมเป็นเจ้าประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา
                พระเจ้าบรมโกศ ครองราชย์ได้ ๒๖ ปี ก็เสด็จสวรรคต ทรงมีพระชันษา ๗๘ พรรษา เจ้าฟ้ากรมขุน ได้ครองราชย์สืบต่อมา           หน้า ๑๐๐๒๖
            ๒๙๖๘. บรมไตรโลกนาถ  เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๘ ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑  ในแผ่นดินของพระองค์ พระองค์ได้บำเพ็ญกรณียกิจอย่างใหญ่หลวง โดยปรับปรุงการปกครองรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือ ราชธานีและแยกการทหาร และการพลเรือนออกจากกัน ให้เอาทหารเป็นสมุหพระกลาโหม พลเรือน เป็นสมุหนายก
                    สมุหพระกลาโหม  เป็นหัวหน้ามียศ เป็นอัครมหาเสนาบดี รับผิดชอบในการทหารทั้งในยามสงบ และยามสงคราม มีกองทัพสองกองทัพ อยู่ในบังคับบัญชาคือ กองทัพเดโช มี ออกญาสีหราชเดโชไชย เป็นแม่ทัพ  และกองทัพท้ายน้ำ มี ออกญาท้ายน้ำ เป็นแม่ทัพ นอกจากนี้มีกองทัพหลวง ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งแม่ทัพด้วย
                    สมุหนายก  เป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน มียศเป็น อัครมหาเสนาบดี มีอำนาจบังคับบัญชา ข้าราชการฝ่ายพลเรือนทั่วพระราชอาณาจักร มีเสนาบดีเจ้ากระทรวง เป็นจตุสดมภ์ รองลงมาคือ
                        กรมเมือง  เรียกว่า นครบาล บังคับบัญชาบ้านเมือง และรักษาความสงบสุขของราษฎร
                        กรมวัง  เรียกว่า ธรรมาธิกรณ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการราชสำนัก และพิจารณาพิพากษาถ้อยความของราษฎร
                        กรมคลัง  เรียกว่า โกษาธิบดี มีหน้ารับและจ่ายเก็บรักษา พระราชทรัพย์ที่ได้มาจากส่วยสาอากร ต่อมามีหน้าที่เกี่ยวกับสินค้าสำเภา และการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศด้วย
                        กรมนา  เรียกว่า เกษตราธิการ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการไร่นา
                        หน้าที่ฝ่ายทหาร และพลเรือน แยกจากกันแต่ในยามสงบ เมื่อใดเกิดศึกสงครามก็รวมกำลัง ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อป้องกันประเทศ
                        สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงวางหลักการปกครองหัวเมือง ให้เป็นแบบเดียวกันกับราชธานี และพระองค์ยังทรงแบ่งบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ออกเป็น
                            ๑. หัวเมืองชั้นใน  เช่น เมืองสุพรรณบุรี เมืองนครนายก และเมืองฉะเชิงเทรา เป็นต้น
                            ๒. เมืองพระยามหานคร  ได้แก่ หัวเมืองที่อยู่ภายนอกราชธานีออกไป แบ่งออกเป็นเมืองเอก โท ตรี
                            ๓. เมืองประเทศราช  ให้เจ้านายของราษฎรในประเทศราชปกครองกันเอง โดยอาศัยการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ กรุงศรีอยุธยา เมืองประเทศราชต้องถวายเครื่องราชบรรณาการต่อกรุงศรีอยุธยา และต้องส่งกองทัพมาช่วยเมื่อเกิดศึกสงคราม
                        สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งยศ หรือบรรดาศักดิ์ข้าราชการ โดยจัดเป็นชั้นตามลำดับคือ เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน และทนาย นอกจากนี้ในปี พ.ศ.๑๙๙๘ พระองค์ได้ทรงวางตำแหน่งศักดินา กำหนดว่า ผู้มียศ หรือบรรดาศักดิ์ จะมีนาได้เท่าไร โดยลดหลั่นกันลงไป สมเด็จพระอนุชาธิราช หรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ดำรงตำแหน่ง พระมหาอุปราชทรงมีศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ เจ้านายชั้นสูง ทรงมีศักดินามากกว่า ข้าราชการจนถึง ๑๕,๐๐๐ ไร่ หรือ ๒๐,๐๐๐ ไร่  ส่วนข้าราชการมีศักดินามากกว่าพลเมืองทั่วไป ซึ่งได้กำหนดไว้คนละ ๒๕ ไร่ ข้าราชการมีศักดินาได้ตั้งแต่ ๑๐๐ ไร่ จนที่สุดถึง ๑๐,๐๐๐ ไร่ การกำหนดศักดินาเช่นนี้ มีความมุ่งหมายเพิ่มเติมที่จะใช้ในการปรับไหม ตามกฎหมาย และควบคุมมิให้ผู้ใดมีที่นาไว้เกินอัตภาพ
                        ส่วนประเพณีในราชสำนักนั้น พระองค์ได้ทรงตั้งกฎมนเทียรบาลขึ้นในปี พ.ศ.๒๐๐๑ เป็นกฎหมายสำหรับการปกครอง แบ่งเป็นสามแผนกคือ
                            ๑. พระตำรา ว่าด้วยแบบแผนเช่น การพระราชพิธีต่าง ๆ
                            ๒. พระธรรมนูญ ว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ราชการต่าง ๆ
                            ๓. พระราชกำหนด เป็นข้อบังคับสำหรับพระราชสำนัก
                        สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นเจ้านายกรุงศรีอยุธยาพระองค์แรก ซึ่งได้ขึ้นไปครองราชอาณาจักรกรุงสุโขทัย พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๔ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง (เจ้าสามพระยา) พระราชชนนีเป็นพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาแห่งราชวงศ์พระร่วง นับเป็นพระมหากษัตรย์พระองค์แรก ที่เป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงและราชวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.๑๙๘๑ ได้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ ประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก จนได้ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๙๙๑ พระองค์ประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา ๑๕ ปี จนถึงปี พ.ศ.๒๐๐๖ แล้วย้ายไปประทับ ณ เมืองพิษณุโลกเป็นราชธานี จนสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๑ ส่วนกรุงศรีอยุธยากลายเป็นเมืองลูกหลวง มีพระบรมราชา พระราชโอรสครองอยู่ พระองค์ทรงผนวชเป็นพระภิกษุชั่วคราว ประทับ ณ วัดจุฬามณี ข้างใต้เมืองพิษณุโลก
                        เกี่ยวกับเหตุการณ์ชายแดนนั้น ในภาคใต้เมืองมะละกา ซึ่งขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาได้ทำการแข็งเมือง แม้ส่งกองทัพไปปราบแต่ก็ไม่เป็นผล ส่วนในภาคเหนือของไทยขึ้นไปเป็นอาณาจักรลานนา มีพระเจ้าติโลกราชเป็นกษัตริย์ปกครองที่เมืองเชียงใหม่ พระยายุธิษฐิระเจ้าเมืองสวรรคโลก ลอบไปเป็นไมตรีกับพระเจ้าติโลกราช ซึ่งทรงถือโอกาสยกกองทัพลงมาตีเมืองกำแพงเพชร เป็นเหตุให้กรุงศรีอยุธยาทำศึกกับลานนาหลายครั้ง ในที่สุดยุติลงเมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๗ โดยพระเจ้าติโลกราชขอเป็นไมตรี           หน้า ๑๐๐๓๒
            ๒๙๖๙. บรมบรรพต  เป็นพระเจดีย์สำคัญองค์หนึ่ง ซึ่งสร้างเป็นรูปภูเขา โดยมากเรียกกันว่า ภูเขาทอง มีพระเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า อยู่บนยอด
                บรมบรรพตตั้งอยู่ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพ ฯ ฐานพระเจดีย์วัดโดยรอบได้ ๘ เส้น ๕ วา ส่วนสูง ๑ เส้น ๑๙ วา ๒ ศอก (๗๖ เมตร) เริ่มสร้างในรัชกาลที่สาม เสร็จในรัชกาลที่สี่ ในรัชกาลที่ห้าได้ทรงนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุบนยอดพระเจดีย์รวมสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ โดยมิสเตอร์ วิลเลียม แคลกตัน เปปเป ชาวอังกฤษ ได้ขุดพบพระอัฐิธาตุในพระสถูป ณ ที่ใกล้ตำบลปิปราหวะ ตั้งอยู่ปลายแดนเนปาลคือเมืองกบิลพัสดุ์ มีอักษรจารึกเป็นอย่างเก่าที่สุดในอินเดียบอกว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เวลานั้น มาเควส เดอสัน เป็นอุปราชครองอินเดียอยู่ แต่ก่อนเคยอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ได้ปรารถว่า พระเจ้าแผ่นดินที่เป็นพุทธศาสนูปถัมภก มีอยู่ในโลกปัจจุบันแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ แต่พระองค์เดียวจึงถวายพระบรมสารีริกธาตุนั้นแด่พระองค์
                ครั้งนั้น พวกที่นับถือพระพุทธศาสนาในนานาประเทศคือญี่ปุ่น พม่า ลังกา และแคว้นไซบีเรียต่างก็ได้ส่งทูตเข้ามาทูลขอพระบรมสารีริกธาตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ก็ได้พระราชทานไปตามประสงค์ ส่วนที่เหลือนั้นโปรด ฯ ให้สร้างพระเจดีย์ทองสำริด เป็นที่บรรจุแล้วประกอบพระราชพิธีบรรจุในพระเจดีย์บนบรมบรรพต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒  หน้า ๑๐๐๓๖
            ๒๙๗๐. บรมราชาธิราช - สมเด็จพระ ในสมัยอยุธยามีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระนามว่า "บรมราชาธิราช"  รวมสี่พระองค์
                    สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง (พะงั่ว) (พ.ศ.๑๙๑๓ - ๑๙๓๑)  เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สาม และนับกันว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุวรรณภูมิ ที่ครองกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นโอรสเจ้าเมืองสุพรรณภูมิ (อู่ทอง) พระองค์ทรงเป็นนักรบที่สามารถ ก่อนขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๙๘๕ พระเจ้าแผ่นดินขอมแปรพักตร์ไป สมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (อู่ทอง) โปรดให้ยกกองทัพไปตีเมืองนครหลวง (นครธม) ราชธานีของขอมได้ ยังผลให้ขยายอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา ทางด้านตะวันออกไปอย่างกว้างขวาง
                    พระองค์ทรงยกทัพไปตีแดนสุโขทัยจนถึงเมืองชากังราว (ชื่อเดิมเมืองกำแพงเพชร)  ในปี พ.ศ.๑๙๑๕ แต่ถูกกองทัพสุโขทัยต้านทานไว้ได้ ต่อมาได้ทรงคุมกองทัพไปตีเมืองชากังราวอีกครั้ง พระมหาธรรมราชาที่สอง ผู้ครองกรุงสุโขทัยทรงยอมแพ้ อาณาจักรสุโขทัยจึงกลายเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงแบ่งอาณาจักรสุโขทัยออกเป็นสองภาคคือ ภาคเหนือและภาคใต้  ภาคเหนือ ได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำยมและน่าน โปรดให้พระมหาธรรมราชาที่สอง ปกครองในฐานะประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา มีเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองศูนย์กลาง นอกจากนี้ก็มีเมืองสุโขทัย เมืองพิจิตร และเมืองสวรรคโลก เป็นต้น  ภาคใต้ ได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง มีเมืองกำแพงเพชร เมืองตาก และเมืองนครสวรรค์ เป็นต้น โปรดให้พระยาญาณดิสโอรสบุญธรรมไปปกครอง ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา
                    การได้อาณาจักรสุโขทัยเป็นประเทศราช ทำให้อาณาจักรลานนา อาณาจักรอยุธยากลายเป็นศัตรูต่อกัน เพราะชาวลานนาได้ลงมาช่วยกองทัพสุโขทัยต่อสู้กับกองทัพกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นในปี พ.ศ.๑๙๒๓ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง ได้คุมกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่สามารถตีเมืองลำปางได้ ในปี พ.ศ.๑๙๓๑ พระองค์ได้ทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ทรงประชวรสวรรคตเสียกลางทาง
                    สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง (พ.ศ.๑๙๖๗ - ๑๙๙๑)  เจ้าสามพระยาโอรสสมเด็จพระนครินทราธิราช ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๗ นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่เจ็ด ครองกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงสามารถในการปกครองพระราชอาณาจักรเช่น ตีกรุงกัมพูชาและทำลายกำลังที่จะเป็นอิสระเสีย แล้วเอาลูกเธอตั้งเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชาพระองค์หนึ่ง และตั้งลูกเธออีกพระองค์หนึ่งไปครองราชธานีฝ่ายเหนือเป็นครั้งแรก
                    ในปี พ.ศ.๑๙๗๔ พระเจ้าธรรมาโศก แห่งกรุงกัมพูชาได้เข้ามากวาดต้อนผู้คนในอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง จึงทรงคุมกองทัพไปตีกรุงกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๕ ตั้งล้อมนครหลวงอยู่เจ็ดเดือนได้ แล้วกวาดต้อนผู้คน และสิ่งสำคัญสำหรับบ้านเมืองเข้ามาเป็นอันมาก แล้วพระองค์ทรงตั้งพระอินทราชา พระราชโอรสให้อยู่ครองกรุงกัมพูชา ที่นครหลวง ในฐานะเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ทำให้กัมพูชาย้ายราชธานีไปตั้งที่อื่น ในที่สุดก็ตั้งขึ้นที่เมืองพนมเปญ
                    ในปี พ.ศ.๑๙๘๑ สมเด็จพระบรมราชาที่สอง ทรงตั้งพระราเมศวร พระราชโอรสไปครองหัวเมืองเหนือ ณ เมืองพิษณุโลก โดยรวมภาคเหนือ และภาคใต้เข้าด้วยกัน พระองค์ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๑๙๘๕ แต่ไม่สำเร็จ พระองค์เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๑๙๙๑
                    สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สาม (พ.ศ.๒๐๓๑ - ๒๐๓๔)  เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยา ได้กลับเป็นราชธานีตามเดิม ส่วนพระเชษฐา พระราชโอรสองค์ที่สอง คงเป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองเหนือทั้งปวง ณ เมืองพิษณุโลก
                    ในแผ่นดินของพระองค์ กรุงศรีอยุธยาเสียเมืองทวายไปครั้งหนึ่ง แต่พระองค์ยกทัพไปตีเอาเมืองทวายกลับคืนมาได้ พระองค์เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๐๓๔ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่เก้า ที่ครองกรุงศรีอยุธยา
                    สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สี่ (พ.ศ.๒๐๗๒ - ๒๐๗๖)  พระอาทิตยวงศ์ ซึ่งเป็นพระบรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก ได้ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๒๐๗๒ ทรงเป็นราชโอรสสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สิบเอ็ด ที่ครองกรุงศรีอยุธยา เรียกอีกพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชา หน่อพุทธางกูร"  ส่วนทางหัวเมืองเหนือคงจะได้ตั้ง พระไชยราชา ผู้เป็นพระน้องยาเธอ ต่างพระชนนี ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สี่ ทรงประชวรเป็นไข้ทรพิษ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๖             หน้า ๑๐๐๔๔
            ๒๙๗๑. บรรณาการ  มีบทนิยามว่า "สิ่งที่ส่งไปให้ด้วยความเคารพ หรือด้วยไมตรี" ประเพณีการส่งสิ่งของให้กัน มีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่สี่ ยกเลิกในรัชกาลที่ห้า
                มูลเหตุของประเพณีนี้ เนื่องมาจากสัมพันธภาพ ระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยกับประเทศจีน แต่โบราณด้วยเรื่องไปมาค้าขายถึงกันทางทะเล แต่ประเพณีจีนในครั้งนั้น ถ้าเมืองต่างประเทศไปค้าขายต้องมีเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน จึงจะปล่อยให้ค้าขายได้โดยสะดวก เรียกว่า จิ้นก้อง (ดู จิ้มก้อง ลำดับที่ ๑๔๑๕ ประกอบด้วย)
                จีนได้ตั้งประเพณีไว้ว่า ชาวต่างประเทศที่จะนำสินค้าไปขายยังประเทศจีน จะต้องจัดเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน และจะต้องมีพระราชสาสน์ ของพระมหากษัตริย์ที่ครองประเทศนั้น ๆ ไปถวายพระเจ้ากรุงจีนด้วย           หน้า ๑๐๐๔๙
            ๒๙๗๒. บรรณาธิการ  ตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ผู้คัดเลือกเรื่องราวอันเป็นข้อเขียน มารวมพิมพ์ไว้เป็นเล่ม หรือเป็นหมวดหมู่ หมายความว่า ผู้เป็นใหญ่ รับผิดชอบในเรื่องที่พิมพ์ไว้ด้วย มีบทนิยามว่า "ผู้รวบรวมและจัดเลือกเฟ้นเรื่องลงพิมพ์"           หน้า ๑๐๐๕๕
            ๒๙๗๓. บรรณารักษ์  มีบทนิยามว่า "ผู้รักษาหนังสือห้องสมุด"  งานบรรณารักษ์จัดเป็นงานวิชาการ ผู้ที่จะประกอบอาชีพบรรณารักษ์ จะต้องศึกษาวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย           หน้า ๑๐๐๖๑
            ๒๙๗๔. บรรณารักษศาสตร์  หมายถึง วิชาการของบรรณารักษ์ครอบคลุมถึงการศึกษาเรื่องหนังสือ และวิธีปฎิบัติงานทั้งหมดในห้องสมุดทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฎิบัติ
                วิชาบรรณารักษศาสตร์ ได้เริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ โดย เมลวิน ดิวอี ชาวอเมริกันได้จัดตั้งโรงเรียนบรรณรักษศาสตร์แห่งแรกขึ้น ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย การศึกษาบรรณรักษศาสตร์ในประเทศไทยได้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ในขณะนั้นเรียกว่า วิชาจัดห้องสมุด จัดขึ้นในรูปแบบการศึกษาภาคพิเศษ ในตอนเย็น ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย           หน้า ๑๐๐๖๖
            ๒๙๗๕. บรรดาศักดิ์  คือ ยศ หรือยศศักดิ์ ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)  ทรงตั้งขึ้นแบ่งออกเป็น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน และทนาย นอกจากนี้ ยังทรงตราพระไอยการ ตำแหน่งนาพลเรือน และพระไอยการ ตำแหน่งนาทหาร หัวเมือง ดังปรากฎอยู่ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเรียกกันว่า ทำเนียบศักดินาของเจ้านายและข้าราชการ
                ในทำเนียบ (ศักดินา) นั้น มีตำแหน่งข้าราชการชั้นสูงสุด เป็นเจ้าพระยา ห้าคน คือ
                    ๑. เจ้าพระยามหาอุปราช  ๒. เจ้าพระยาจักรี  ๓. เจ้าพระยามหาเสนาบดี  ๔. เจ้าพระยาสุรสีห์ (เจ้าพระยาพิษณุโลก)  ๕. เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (เจ้าพระยานครศรีธรรมราช)
                   หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี .ศ.๒๔๗๕ ได้งดพระราชทานบรรดาศักดิ์ข้าราชการ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา           หน้า ๑๐๐๗๖
            ๒๙๗๖. บรรพชา  เป็นคำแผลงมาจากคำบาลีว่า ปพฺพชฺชา คือ การบวชแปลตามศัพท์ว่า เว้นทั่ว หมายถึง เว้นเมถุนธรรม เว้นอาหารกลางคืน สองข้อนี้เป็นสำคัญของการบวช แปลโดยอรรถว่า ถึงความประเสริฐเป็นพรหมจรรย์ บรรพชานี้เป็นธรรมเนียมมีมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว การบวชที่มีมาก่อนพุทธกาลนั้น บวชโดยวิธีอธิษฐานตน ถือเพศเป็นนักบวช
                ในครั้งพุทธกาล ปรากฎในพระสูตรต่าง ๆ ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น นักบวชแยกกันออกเป็นหลายลัทธิ หลายนิกาย เป็นฤาษี ดาบส ชฎิล ปริพาชก อาชีวก อเจลก มีติตถกร คือ เจ้าลัทธิตั้งเป็นสำนักใหญ่หกสำนัก เรียกกันว่า ครูทั้งหก แยกออกเป็นลัทธิถึง ๖๒ ลัทธิ ในบาลี พรหมชาลสูตร สีลขันธวรรค ทีฆนิกาย เรียกว่า ทิฐิ ๖๒
                คติเรื่องบวช ทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีการบวชด้วยวิธีอธิษฐานเพศ มีแต่พระพุทธเจ้าผู้เป็นต้นวงศ์ พระองค์เดียวเท่านั้น
                คำว่า บรรพชา หมายเอาการบวชทั่วไป รวมทั้งอุปสมบทด้วย ก็มี
                บรรพชา หมายความว่า บวชเป็นสามเณร อุปสมบท หมายความว่า บวชเป็นพระภิกษุถือเป็นหลักมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว
                ขณะนี้ คณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทใช้อยู่สองวิธีคือ ใช้รับเด็กบวชเป็นสามเณรด้วยวิธีสรณาคมน อุปสมบทอย่างหนึ่ง ใช้รับกุลบุตรบวชเป็นพระภิกษุ ด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจา อุปสมบทอย่างหนึ่ง           หน้า ๑๐๐๗๙
            ๒๙๗๗. บรรพชิต  คือ นักบวชเป็นบุคคล ผู้เสียสละทรัพย์สมบัติ บ้านเรือน ลูกเมีย พร้อมทั้งวงศาคณาญาติ ออกบวชด้วยวิธีอธิษฐานถือเพศเป็นนักบวช และด้วยวิธีบรรพชาอุปสมบท ตามพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ประพฤติพรหมจรรย์ ตามลัทธินิกายของศาสนานั้น ๆ ที่เรียกกันว่า ฤาษี นักสิทธิ์ ดาบส ปริพาชก นิครนถ์ อาชีวก อเจลก ชี บาทหลวง สามเณร พระภิกษุ            หน้า ๑๐๐๘๕
            ๒๙๗๘. บรรพตพิสัย  อำเภอ ขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศทางเหนือ ส่วนมารกเป็นป่าทึบ นอกจากนั้นเป็นที่ลุ่มทั่ว ๆ ไป
                อ.บรรพตพิสัย เคยเป็นเมือง แต่ไม่มีข้อความอันใดในประวัติศาสตร์           หน้า ๑๐๐๘๕
            ๒๙๗๙. บรรษัท  เป็นคำแผลงมาจากคำว่า บริษัท  หมายถึง หมู่ผู้แวดล้อมมารวมกันเข้าหุ้นส่วน ทำการค้าขาย หรือองค์กรสาธารณ ความหมายซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปคือ เป็นองค์กรธุรกิจแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของบุคคล หลายบุคคลมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยที่มีกฎหมายรับรอง
                เฉพาะในประเทศไทย องค์กรที่อยู่ในรูปบรรษัท ที่มีอยู่ในขณะนี้มีเพียงบรรษัทเดียว คือ บรรษัทเงินทุนเพื่อการอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นับเป็นสถาบันการเงินแบบหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ระดมเงินออมจากแหล่งต่าง ๆ และกระจายต่อไปยังผู้ลงทุน โดยที่ลักษณะของการให้บริการแตกต่างไปจากสถาบันการเงิน ในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน หรือบริษัทเงินทุน           หน้า ๑๐๐๘๕
            ๒๙๘๐. บรัดเลย์  เป็นนายแพทย์ และมิชชันนารีเพรสไบทีเรียน (พ.ศ.๒๓๔๕ - ๒๔๑๔)  ได้เดินทางทางเรือจากเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยภริยา ถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๘ โดยใช้เวลาเดินทางหนึ่งปี ในชั้นแรกได้พักอยู่ในบ้านเล็ก ๆ กับครอบครัวจอห์นสัน ซึ่งเป็นมิชชันนารี คณะอเมริกันบอร์ด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ มีรับสั่งให้ หมอบรัดเลย์ ไปเยี่ยมพวกทาส และเชลย ซึ่งกำลังป่วยเป็นโรคฝีดาษ และอหิวาตกโรค
                ผลงานด้านสาธารณประโยชน์ของนายแพทย์บรัดเลย์ มีอยู่หลายประการ นอกจากการเผยแพร่คริสต์ศาสนาแล้ว อาจแบ่งเป็นสองด้านใหญ่คือ ด้านการแพทย์ และด้านการศึกษา
                ด้านการแพทย์ ได้ริเริ่มการผ่าตัดแผนปัจจุบันครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๐ การริเริ่มปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ นับได้ว่าเป็นผู้นำวิธีป้องกันไข้ทรพิษ มาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก
                ด้านการศึกษา ได้มีบทบาทในการเกื้อหนุนการศึกษาทางอ้อม โดยเป็นผู้นำแท่นพิมพ์หนังสือไทยเข้ามาเป็นแท่นแรก
                งานพิมพ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างจริงจัง เริ่มแต่การพิมพ์ ตำราปลูกฝี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑ ตำราสูติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕ โดยให้ชื่อว่า คัมภีร์ครรภ์รักษา ตำราสอนภาษาอังกฤษ ชื่อแบบเรียนประถมศึกษา เพื่อช่วยส่งเสริมความรู้ภาษาอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕ ปฎิทินภาษาไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๖ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๔ ได้พิมพ์หนังสือกฎหมายไทย เป็นที่รู้จักในนาม กฎหมายหมอบรัดเลย์ พ.ศ.๒๔๐๗ พิมพ์หนังสือพระราชพงศาวดารไทย พ.ศ.๒๔๐๘ พิมพ์วรรณคดีเรื่อง สามก๊ก พ.ศ.๒๔๑๐ พิมพ์หนังสือกิจจานุกิจ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
                ผลงานสำคัญยิ่งของ นายแพทย์ บรัดเลย์ อีกประการหนึ่งคือ การแต่งพจนานุกรมสยาม  ซึ่งพิมพ์ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ และหนังสือชื่อ อักขราภิธานศรับท์
                นายแพทย์บรัดเลย์ ได้ทำงานอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยตลอดชีวิต จนถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ รวมเวลาที่อยู่ในประเทศไทยนานถึง ๓๘  ปี           หน้า ๑๐๐๘๗
            ๒๙๘๑. บรั่นดี  เป็นชื่อใช้เรียก สุราชนิดแรงที่กลั่นจากเหล้าองุ่น แต่ถ้าเป็นชนิดที่กลั่นจากน้ำผลไม้อื่น ๆ หลังจากการหมักแล้ว ก็เรียกว่า บรั่นดีผลไม้ คำว่า บรันดี มาจากคำในภาษาดัตช์ หมายถึง การให้ความร้อนแก่เหล้าองุ่นเพื่อกลั่น
                บรั่นดี และสุราชนิดอื่น ๆ เมื่อบรรจุขวดแล้ว ไม่ว่าจะเก็บไว้นานเท่าใด ก็ไม่มีผลทำให้คุณภาพดีชึ้นไปกว่าก่อนบรรจุขวด           หน้า ๑๐๐๙๔
            ๒๙๘๒. บริการ  มีบทนิยามว่า "ช่วย, เกื้อกูล"  แต่ความหมายซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป หมายถึง บริการทางด้านแรงงาน ซึ่งก่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ ผู้รับบริการจึงมักจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทน จึงนับเป็นเศรษฐทรัพย์ เช่นเดียวกับสินค้า และสิ่งผลิตทั้งหลาย บริการทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และนับรวมเป็นการผลิตอย่างหนึ่งของประเทศ           หน้า ๑๐๐๙๕
            ๒๙๘๓. บริขาร  เป็นเครื่องใช้สอยของนักบวช ในพระพุทธศาสนา และนอกพระพุทธศาสนา กำหนดโดยทั่วไปก็ได้แก่ เครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับบุคคล ที่มีภาวะอย่างนั้น ๆ มีบทนิยามว่า "เครื่องใช้สอยของพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา มีแปดอย่างคือ สบง จีวร สังฆาฎิ บาตร มีดโกน หรือมีดตัดเล็บ เข็มทั้งด้าย ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ           หน้า ๑๐๐๙๖
            ๒๙๘๔. บริคณห์ - สิน  เป็นกองทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตามกฎหมาย ประกอบด้วย ทรัพย์สินสองประเภทคือ ทรัพย์สินที่สามี หรือภริยา มีอยู่ก่อนสมรส และได้นำมารวมเป็นกองทุน มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า สินเดิม กับอีกประเภทหนึ่งเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรส ได้มาระหว่างสมรสมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า สินสมรส
                บริคณห์ หรือสินบริคณห์ นี้ เป็นคำในกฎหมาย มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตามกฎหมายผัวเมีย ครั้นมาสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้มีการรวบรวมกฎหมายเก่า ก็ยังใช้คำนี้
                เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง สินบริคณห์ จะแยกกันโดยผลของกฎหมาย
                คำว่า สินบริคณห์นี้ ได้สิ้นสุดลงเมื่อประกาศใช้ประมวล กม.แพ่งพาณิชย์ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๑๙ กฎหมายฉบับนี้ จำแนกทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาไว้เป็นสองประเภทคือ สินส่วนตัว และสินสมรส           หน้า ๑๐๐๙๘
             ๒๙๘๔. บริคณห์ - สิน  เป็นกองทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตามกฎหมาย ประกอบด้วยทรัพย์สินสองประเภทคือ ทรัพย์สินที่สามี หรือภริยา มีอยู่ก่อนสมรส และได้นำมารวมเป็นกองทุน มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า สินเดิม กับอีกประเภทหนึ่งเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรส ได้มาระหว่างสมรสมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า สินสมรส
                บริคณห์ หรือสินบริคณห์ นี้ เป็นคำในกฎหมาย มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตามกฎหมายผัวเมีย ครั้นมาสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้มีการรวบรวมกฎหมายเก่า ก็ยังใช้คำนี้
                เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง สินบริคณห์ จะแยกกันโดยผลของกฎหมาย
                คำว่า สินบริคณห์นี้ ได้สิ้นสุดลงเมื่อประกาศใช้ประมวล กม.แพ่งพาณิชย์ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๑๙ กฎหมายฉบับนี้ จำแนกทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาไว้เป็นสองประเภทคือ สินส่วนตัว และสินสมรส           หน้า ๑๐๐๙๘
             ๒๙๘๕. บริคณห์สนธิ  ตามรูปคำแปลว่า รวมกันก่อตั้งคือ เป็นหนังสือก่อตั้งบริษัท ซึ่งผู้ริเริ่มก่อการบริษัท จำนวนไม่น้อยกว่าเจ็ดคน รวมใจกันทำขึ้นตามข้อกำหนดของกฎหมาย ในการจัดตั้งบริษัทจำกัด ผู้เริ่มก่อการจะต้องนำไปจดทะเบียนไว้เป็นหลักฐานชั้นหนึ่ง ก่อนบอกกล่าวป่าวร้องไห้ คนภายนอกมาเข้าชื่อซื้อหุ้น เมื่อมีผู้เข้าซื้อหุ้นครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหลายของบริษัทจะต้องร่วมกันจัดทำข้อบังคับของบริษัทฉบับละเอียดขึ้น อีกฉบับหนึ่งจึงจะจดทะเบียนตั้งบริษัทได้            หน้า ๑๐๑๐๒
             ๒๙๘๖. บริษัท  โดยความหมายแยกได้เป็นสองความหมายคือ
                    ๑. ในความหมายทั่วไป หมายถึง หมู่เหล่า เช่น ชาวพุทธ เรียกพุทธบริษัท
                    ๒. ในความหมายตามกฎหมาย มีความหมายแคบกว่าความหมายสามัญที่กล่าวมาแล้วคือ หมายถึง นิติบุคคลประเภทหนึ่ง ซึ่งบุคคลหลายคนรวมกันตั้งขึ้น เพื่อประกอบการค้าขายหากำไรมาแบ่งปันกัน
                บริษัท มักจะมีคำว่า จำกัด ต่อท้ายชื่อเสมอ เป็นคำที่กฎหมายบังคับให้มี เห็นเนื่องจากความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้น มีจำกัดเท่าจำนวนค่าหุ้นที่ตนถือ            หน้า ๑๐๑๐๘
            ๒๙๘๗. บรูก, เซอร์ เจมส์  เป็นชาวอังกฤษ เคยได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลอังกฤษให้เดินทางมาเจรจา ขอแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ แต่ไม่สำเร็จ
                เซอร์ เจมส์ บรูก  เป็นนักการทูตและนักปกครองที่สามารถ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และรอบรู้ในกิจการตะวันออกได้เขียนหนังสือ เกี่ยวกับกิจการดังกล่าวไว้หลายเล่ม เป็นผู้รักชาติบ้านเมืองไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน เป็นผู้ที่รักมนุษยชาติโดยไม่คำนึงถึงเผ่า และผิวเป็นผู้นำความเจริญมาสู่ซาราวัก            หน้า ๑๐๑๑๒
             ๒๙๘๘. บวชชี  เป็นของหวานชนิดหนึ่ง ใช้กล้วยสุกจัดต้มกับกะทิ รสไม่หวานจัด มีรสเค็ม ผสมอยู่ด้วย นิยมใช้เป็นของหวานพื้น ๆ กล้วยที่นิยมนำมาบวชชีคือ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ก็ใช้อยู่บ้าง            หน้า ๑๐๑๒๒
             ๒๙๘๙. บวน  มีบทนิยามว่า "ชื่อแกงชนิดหนึ่ง"            หน้า ๑๐๑๒
             ๒๙๙๐. บวบ  เป็นคำกลาง ๆ  ใช้เรียกชื่อพันธุ์ไม้สามชนิดที่ปลูกเพื่อเก็บผลอ่อน ซื้อขายบริโภคเป็นประเภทผัก พันธุ์บวบทั้งสามชนิดบอกถึงลักษณะแตกต่างกันด้วยคือ  บวบเหลี่ยม บวบหอม และบวบงู
                คำ บวบ ในบางท้องถิ่นก็นำเอาไปใช้เรียก พรรณกล้วยไม้ชนิดที่มีลูกกล้วย คล้ายบวบเหลี่ยมว่า "บวบกลางหาว"  อีกอย่างหนึ่งก็คือ ไปใช้เรียกแพไม้ไผ่ ที่ผูกติดกันแล้วใช้เป็นทุ่น หรือเป็นพาหนะ ล่องตามลำน้ำว่า แพลูกบวบ           หน้า ๑๐๑๒๓
            ๒๙๙๑. บวรนิเวศวิหาร - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ เมื่อแรกสร้างชาวบ้านเรียก วัดใหม่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ชาวบ้านยังคงเรียกโดยโวหารสั้น ๆ ว่า วัดบน
                สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างในรัชกาลที่สาม วัดนี้ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ขณะยังทรงผนวชได้เสด็จมาประทับเป็นองค์ประมุขสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายแล้ว มีความสำคัญยิ่งขึ้นเพราะเป็นศูนย์กลางแพร่ขยายของนิกายนี้ ให้เจริญก้าวหน้าสืบมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ แห่งพระราชวงศ์จักรี ได้ทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนา และเสด็จมาประทับจำพรรษา ณ วัดนี้ นอกจากนั้น วัดนี้เป็นสถานที่ให้การศึกษาชั้นสูง ทางฝ่ายพระพุทธศาสนาคือ สภาการศึกษามหามงกุฎราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยฝ่ายสงฆ์ คณะธรรมยุติกนิกาย และเป็นที่ตั้งมหาเถระสมาคม
            ๒๙๙๒. บหลิ่ม  เป็นชื่อเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงโขนละครเพลงหนึ่ง คำนี้ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร บหลิ่ม นี้มักใช้ประกอบการฟ้อนรำของเทพยดา นางฟ้า หรือไม่ก็ใช้ร้องบรรยายสิ่งสวยงามของบุษบก ที่เลื่อยลอยไปเองอย่างในเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นต้น
                เพลงบหลิ่ม เป็นเพลงหนึ่งที่รวมอยู่ในชุดระบำสี่บท อันประกอบด้วยเพลงสำคัญ ๆ สี่เพลงด้วยกันคือ เพลงพระทอง เบ้าหลุด บหลิ่ม หรือปวะหลิ่ม และสระบุหร่ง           หน้า ๑๐๑๓๒
            ๒๙๙๓. บ่อเกิดรามเกียรติ์ - หนังสือ  เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ โปรด ฯ ให้พิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ โดยมีพระราชประสงค์จะวิเคราะห์ที่มาของรามเกียรติ์ฉบับต่าง ๆ ของไทย           หน้า ๑๐๑๓๓
            ๒๙๙๔. บอง ๑ - เสือ  เป็นเสือขนาดเล็กชนิดหนึ่ง เสือไฟก็เรียก มีขนาดใหญ่กว่าเสือปลามาก ชอบอยู่ทั้งในป่าดง และตามป่าแล้ง แต่พบตามป่าโปร่งมากกว่า ชอบหากินสัตว์เล็ก ๆ ตามพื้นดิน เช่น หนูและกระต่าย มีอายุประมาณ ๑๘ ปี            หน้า ๑๐๑๓๕
            ๒๙๙๕. บอง ๒ - งู  เป็นชื่อที่ชาวบ้านทางปักษ์ใต้ มักชอบเรียกงูใหญ่ ๆ หลายชนิดว่า งูบอง เช่น งูบองหลา, งูบองพลำ เป็นต้น  (ดู บ้องตะลา - ลำดับที่ ๒๙๙๖ ประกอบด้วย)            หน้า ๑๐๑๓๗
            ๒๙๙๖. บ้องตะลา  - งู  มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตะยองสะลา งูชนิดนี้ก็คือ งูทับสมิงคลา ซึ่งเป็นงูในสกุลเดียวกับงูสามเหลี่ยม เมื่อโตเต็มที่จะเล็กกว่างูสามเหลี่ยมเล็กน้อย มีความว่องไวปราดเปรียว และดุกว่า งูสามเหลี่ยม ชอบออกหากินเวลาพลบค่ำ และตอนเช้ามืด กินงูชนิดอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร           หน้า ๑๐๑๓๗
            ๒๙๙๗. บ้องไฟ หรือบั้งไฟ  เป็นดอกไม้ไฟชนิดหนึ่ง มีหางยาว ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ หรือกระบอกเหล็ก บรรจุด้วยดินปืน มีขนาดตามแต่ประสงค์ของผู้ทำ ที่มีขนาดใหญ่มีสองชนิดคือ บ้องไฟหมื่น กับบ้องไฟแสน บ้องไฟหมื่น ใช้ดินปืนหนัก ๑๒ กก. บ้องไฟแสน ใช้ดินปืนหนัก ๑๒๐ กก. บรรจุ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทวาอารักษ์มเหศักดิ์หลักเมือง นิยมทำในเดือนหกของประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และของประชาชนในประเทศลาว เนื่องในประเพณีขอฝนให้ตกต้องฤดูกาล อันเนื่องมาจากความเชื่อถือตามนิยาย ที่เล่าถึงมูลเหตุว่า พระพรหมกับพญานาค เป็นมิตรกันและสัญญาว่า ปีหนึ่งจะส่งข่าวกันครั้งหนึ่ง ถ้าปีใดพญานาคสบายดี ก็ให้ทำบ้องไฟจุดขึ้นไปบนสวรรค์ เมื่อพระพรหมเห็นบ้องไฟ  ถ้าพระพรหมสบายดี ก็จะส่งข่าวตอบลงมายังพญานาค โดยสั่งให้พระพิรุณ ทำฝนตกลงมา เมื่อพญานาคเห็นฝน ก็จะทราบเรื่องตามสัญญา เหตุนี้ที่จัดทำกันในต้นฤดูฝน เป็นงานประจำปีก็คือ ทำพิธีขอฝน ดังกล่าว              หน้า ๑๐๑๓๙
            ๒๙๙๘. บอน  เป็นพันธุ์ไม้จำพวกหนึ่ง ชอบขึ้นอยู่ตามชายน้ำ หรือที่ลุ่มมีน้ำขัง ลำต้นเป็นหัวเล็ก ๆ จมอยู่ในดินโคลน แล้วมีใบงอกโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา หัวเล็ก ๆ นี้เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ ก็จะเป็นไหลงอกทอดเลื้อยชอนไปเกิดเป็นต้นใหม่ได้เรื่อย ทำให้ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว บอนต้นหนึ่ง ๆ จะมีใบประมาณ ๔ - ๖ ใบ แต่ละใบมีก้านยาวตอนโคนเป็นกาบ ใบสีเขียวอ่อนเกือบขาว มีนวลคลุม ดอกออกเป็นช่ออยู่ในกาบ ช่อดอกมีก้านยาว ทุกส่วนของบอนมีน้ำยางขุ่น ๆ คล้ายน้ำซาวข้าว และเหนียว เมื่อถูกผิวหนังจะคัน
                มนุษย์แต่โบราณรู้จักคัดเลือกเอาพันธุ์ที่มีหัวโต มีแป้งมาก ไปปลูกแล้วเก็บหัวไปบริโภคกันมากในภาคพื้นทวีปอาเซียนี้ แต่เรียกเป็น เผือก ไป            หน้า ๑๐๑๔๖
            ๒๙๙๙. บ่อพลอย  อำเภอ ขึ้น จ.กาญจนบุรี ภูมิประเทศเป็นป่า อุดมไปด้วยเทือกเขา และพันธุ์ไม้หลายชนิด
                อ.บ่อพลอย เดิมเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.เมืองกาญจนบุรี ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖           หน้า ๑๐๑๔๗
            ๓๐๐๐. บอระเพ็ด ๑  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง เถาบอระเพ็ดเป็นปุ่มปม แตกต่างไปจากไม้เถาอื่น ๆ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน รูปใบคล้ายรูปหัวใจ ดอกบอระเพ็ดมีขนาดเล็กมาก สีนวลหรือเขียวอ่อน ดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย แยกกันอยู่คนละต้น
                เถาบอระเพ็ด มีรสขมมาก ใช้เป็นสมุนไพร สรรพคุณเป็นยา แก้ไข้ ขับเสมหะ แก้กระหายน้ำ บำรุงหัวใจ            หน้า ๑๐๑๔๘
            ๓๐๐๑. บอระเพ็ด ๒  บึงใน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ เป็นบึงกว้างใหญ่ มีพื้นที่มากถึง ๑๓๐,๐๐๐ ไร่ ยาว ๑๒ กม. ตอนบนออกแม่น้ำผ่านที่ใต้บ้านเกรียงไกร และมีแม่น้ำท่าสุ่ม ไหลมาลงในบึงนี้ ทางด้านตะวันออก ที่ บ.สามง่าม อ.เมืองนครสวรรค์ มีสถานีเพาะพันธุ์ปลา และเป็นที่สงวนพันธุ์ปลา           หน้า ๑๐๑๔๙
            ๓๐๐๒. บอลลูน  เป็นอากาศยานประเภทเบากว่าอากาศ ลักษณะเป็นลูกโป่งขนาดใหญ่ ภายในบรรจุด้วยอากาศร้อน หรือด้วยแกสที่มีน้ำหนักเบามากคือ แกสไฮโดรเจน หรือแกสฮีเลียม เมื่อบรรจุแกส ดังกล่าวแล้ว จะเกิดแรงยกขึ้นทำให้ตัวบอลลูน ลอยขึ้นได้
                การบังคับให้บอลลูน ลอยสูงขึ้น หรือต่ำลง กว่าระดับสมดุลเป็นปัญหายุ่งยาก
                ผู้ประดิษฐ์บอลลูนขึ้นเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ เป็นชาวฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๖           หน้า ๑๐๑๔๙
            ๓๐๐๓. บะซอลต์  เป็นหินอัคนีพุ หรือหินภูเขาไฟ ชนิดหนึ่ง มีเนื้อละเอียด สีคล้ำเกือบดำและหนัก จัดเป็นหินอัคนีชนิดเป็นด่าง
                ในบรรดาหินอัคนีด้วยกัน นอกจากหินแกรนิตแล้ว หินบะซอลต์ เป็นหินที่พบมากที่สุด โดยปรกติจะพบเกิดในบริเวณใหญ่ ๆ อยู่สองบริเวณคือ บนเปลือกโลก ในมหาสมุทร เรียกหินบะซอลต์ในมหาสมุทร และพบเกิดบนเปลือกโลก ในทวีปเรียก หินบะซอลต์ในทวีป หินบะซอลต์ที่ปกคลุมตามพื้นท้องมหาสมุทร มีพื้นที่อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของผิวโลกทั้งหมด
                หินบะซอลต์ เคลื่อนตัวสู่พื้นผิวโลก ในรูปของลาวา โดยการเคลื่อนผ่านรอยแตกแยกในเปลือกโลก และเกิดการเย็นตัวอย่างรวดเร็ว
                หินบะซอลต์ ที่พบในประเทศไทย มีหลายแห่งด้วยกันคือ
                    ๑. ภาคเหนือ พบที่จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง และแพร่
                    ๒. ภาคกลาง  พบที่จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี และเพชรบูรณ์
                    ๓. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  พบที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี
                    ๔. ภาคตะวันออกเฉียงใต้  พบที่จังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
                หินบะซอลต์ ของประเทศไทย บางบริเวณ เช่น ที่จังหวัดแพร่ กาญจนบุรี ศรีษะเกษ  อุบลราชธานี จันทบุรี และตราด เป็นต้น กำเนิดที่ให้พลอยชนิดทับทิม และซัฟไฟร์ ที่มีชื่อเสียงของโลก
               ตามปรกติ หินบะซอลต์ ที่ให้พลอยนั้น พบเพียงไม่กี่แห่งในโลก            หน้า ๑๐๑๕๕
            ๓๐๐๔. บัคเตรี  เป็นสิ่งที่มีชีวิต ประกอบด้วยเซลล์ เซลล์เดียว มีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายอย่างน้อย ๙๐๐ เท่าขึ้นไป จึงจะมองเห็นรูปร่างลักษณะได้ เนื่องจากมีขนาดเล็กจึงเรียกรวม ๆ ว่า จุลชีพ หรือจุลินทรีย์ บัคเตรีเจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์ได้โดยการแบ่งตัวอย่างง่าย ๆ จากหนึ่งเป็นสอง และทวีคูณเรื่อยไป
                ทางชีววิทยาถือว่า บัคเตรีเป็นพืชชนิดหนึ่ง บัคเตรีกระจายอยู่ทั่วไป และแพร่หลายมากที่สุดจะตรวจพบได้ทุกแห่งในอากาศ ในน้ำ ในดิน ตามต้นไม้ ในร่างกายสัตว์ อาจตรวจพบได้ในบรรยากาศสูงขึ้นไป ถึงระดับ ๖,๐๐๐ เมตร หรือในทะเลลึก ลงไปถึง ๔,๘๕๐ เมตร บ่อน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึง ๗๕ องศาเซลเซียส หรือในทะเลน้ำแข็ง ยังอาจตรวจเชื้อบัคเตรีพบ
                บัคเตรี มีอยู่หลายชนิดหลายประเภท แต่มิได้ทำให้เกิดโรคแก่มนุษย์ หรือสัตว์ได้ทุกชนิด บางชนิดต้องการเพียงจะอาศัยอยู่เท่านั้น บางชนิดก็เพียงทำให้เกิดโรค เรียกว่า เชื้อโรค  (ดูจุลชีพ และจุลินทรีย์ เชื้อโรค ประกอบด้วย)
                ขนาดและรูปร่างของบัคเตรี มีขนาดเล็กมาก หน่วยที่ใช้วัดจึงใช้ว่าไมครอน ๑ ไมครอนมีความยาวเท่ากับหนึ่งในพันของมิลลิเมตร กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยาย ๙๐๐ เท่า จึงจะเห็นบัคเตรีที่มีขนาดไมครอนให้เห็นได้ขนาดประมาณ ๑ มม.เท่านั้น
                การแบ่งตัวของบัคเตรีต้องการอาหารที่ประกอบด้วยน้ำ สารอนินทรีย์ วิตามิน เป็นต้น บางชนิดต้องการออกซิเจน บางชนิดไม่ต้องการ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตนั้นก็แตกต่างกันออกไป ตามปรกติบัคเตรีที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสม ๓๗ องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิของร่างกายคนปรกติสำหรับการเจริญเติบโต
                บัคเตรีบางชนิดให้คุณแก่ร่างกายเช่นบัคเตรีในลำไส้ช่วยสังเคราะห์วิตามินบีรวมและวิตามินเคให้แก่ร่างกาย บัคเตรีบางชนิด สามารถสร้างสารปฏิชีวนะที่นำมาใช้รักษาโรคได้         หน้า ๑๐๑๖๓
            ๓๐๐๕. บัคเตรีวิทยา  เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับบัคเตรีทุกชนิดโดยเฉพาะ ทั้งนี้อาจรวมจุลชีพอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับบัคเตรีด้วย
                ปัจจุบันการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อบัคเตรีและเชื้อโรคอื่น ๆ ได้ก้าวหน้าไปมากมีสาขาวิชาอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา ทำให้เกิดวิชาใหม่ขึ้นเรียกว่าจุลชีววิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาถึงจุลชีพทั้งหมด            หน้า ๑๐๑๖๖
            ๓๐๐๖. บังกาโล  ใช้เรียกชื่อเรือนแบบหนึ่ง ซึ่งปลูกเป็นที่อยู่อาศัยเป็นการถาวร รูปทรงของเรือนโดยมากทำผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นเรือนสูง ขนาดคนเดินรอดได้ พื้นที่รอบตัวเรือนมักต่อทำเป็นระเบียง มีหลังคาพาไลคลุม แต่ละด้านทำพนักติดลูกกรงโปร่ง ๆ รอบทุกด้าน หลังคาโดยมากทำเป็นทรงจั่วล้ม ไม่ตั้งจั่วตรงเช่นที่ทำในเรือนไทย ทรงหลังคาคล้ายรูปปิรามิด แต่ต่างตรงยอดตัดตรง
                เรือนบังกาโล เป็นแบบเรือนซึ่งชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวอังกฤษนำเข้ามาปลูกในเมืองไทย เริ่มแต่ราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ            หน้า ๑๐๑๖๗
            ๓๐๐๗. บังทอง  เป็นชื่อบุคคลในสมัยสามก๊กของจีน (พ.ศ.๗๖๓ - ๘๐๙)  เป็นชาวเมืองเชียงหยง ในมณฑลฮูเป เล่าปี่เคยแต่งตั้งให้ปกครองเมืองลอยเอียง ในมณฑลฮูสำ ต่อมาเล่าปี่จึงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองจากขงเบ้ง คอยให้คำปรึกษาในการทัพทั้งปวง อย่างใกล้ชิด ได้ช่วยออกอุบายให้ฝ่ายเล่าปี่มีชัยในการรบหลายครั้งหลายคราว ได้เสียชีวิตในสนามรบ เมื่ออายุเพียง ๓๐ ปี            หน้า ๑๐๑๖๙
            ๓๐๐๘. บังแทรก  เป็นเครื่องสูงสำหรับพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ ประเภทหนึ่งซึ่งจัดไว้เป็นลำดับที่สามในเครื่องสูงแปดประเภท ตัวบังแทรกเป็นแผ่นผ้าปักหักทองขวางรูปแบบกลม มีขอบรูปจัก ๆ เหมือนใบสาเกโดยรอบ มียอดแหลม และมีด้ามสำหรับถือ สำรับหนึ่งมีหกคัน เชิญระหว่างฉัตรห้าชั้นทั้งหน้าและหลัง ใช้สำหรับพระราชอิสริยยศพระบรมราชินี และสมเด็จพระยุพราชด้วย แต่ถ้าใช้สำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า ซึ่งเป็นพระราชโอรส และพระราชธิดาในพระเจ้าแผ่นดิน ตัวบังแทรกปักทองแผ่ลวดลายฉลุลาย สำรับหนึ่งมีหกคันเช่นกัน (ดูเครื่องสูง - ลำดับที่ ...ประกอบด้วย ๑๑๑๕)            หน้า ๑๐๑๗๐
            ๓๐๐๙. บังสุกุล  ความหมายดั้งเดิมหมายถึงกองฝุ่นหรือกองขยะ ซึ่งมีของที่เขาทิ้งไว้หรือของที่เขาทิ้งแล้ว ไม่มีเจ้าของหวงแหนในกองฝุ่นนั้น ต่อมาเมื่อมีพระบรมพุทธานุญาต ให้พระภิกษุสงฆ์เที่ยวเก็บผ้าที่ผู้อื่นทิ้งเสียแล้วเรียกว่า ผ้าเปื้อนฝุ่น มาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม ผ้าที่เขาใช้ห่อศพ หรือคลุมศพที่เขาทิ้งเสีย เมื่อเผาศพแล้ว อยู่ในจำพวกผ้าบังสุกุลด้วย จึงเนื่องไปกับศพทีหลังมาถือเอาการที่พระภิกษุเก็บผ้าบังสุกุลนั้นมาประกอบในการกุศล ที่บำเพ็ญให้แก่ผู้ตาย เอาผ้าที่ดีไปทอดที่ศพ แล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไปชักเรียกว่ามหาบังสุกุล            หน้า ๑๐๑๗๒
            ๓๐๑๐. บังสูรย์  เป็นเครื่องสูงสำหรับพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งจัดไว้เป็นลำดับที่เจ็ดในเครื่องสูงแปดประเภท ตัวบังสูรย์เป็นเครื่องบังแดดขนาดใหญ่ รูปใบโพธิ์มีด้าม ทำด้วยผ้ากำมะหยี่ ปักหักทองขวาง เชิญอยู่ข้างพระที่นั่งราชยานคนละข้าง ควบกับพระกลดและพัดโบก ใช้สำหรับพระราชอิสริยยศสมเด็จพระราชินี และสมเด็จพระยุพราชด้วย แต่ถ้าใช้สำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า และพระองค์เจ้า ซึ่งเป็นพระราชโอรส และพระราชธิดา ในพระเจ้าแผ่นดิน ตัวบังสูรย์ปักทองแผ่ลวดลายฉลุลาย (ดูเครื่องสูง - ลำดับที่ ๑๑๑๕ ประกอบด้วย)            หน้า ๑๐๑๗๕
             ๓๐๑๑. บัญชี  คือเอกสารที่บันทึกรายการประเภทใดประเภทหนึ่งไว้ในหน่วยของเงินตรา รายการที่บันทึกไว้ในแต่ละบัญชี จะจัดแยกประเภทไว้เป็นหมวดหมู่ ตามลักษณะของรายการ โดยรายการในบัญชีหนึ่งก็จะรวบรวมรายการที่มีลักษณะเช่นเดียวกันไว้ในบัญชีนั้น
                ประเภทบัญชีที่แยกตามลักษณะของรายการอาจแบ่งออกได้เป็นห้าประเภทคือ บัญชีประเภททรัพย์สิน หนี้สิน ส่วนของเจ้าของกิจการบัญชีรายได้และบัญชีรายจ่าย ในแต่ละประเภทยังแยกออกเป็นบัญชีย่อย ๆ ได้อีก
                หลักการบัญชีที่นิยมใช้ในการบันทึกรายการบัญชีกันโดยทั่วไปคือ หลักการบัญชีคู่ ซึ่งเป็นหลักที่ถือว่าทุกรายการที่มีมูลค่าเป็นเงินนั้น จะต้องมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องสองด้านคือ ผู้รับกับผู้ให้ และในการบันทึกทางการบัญชีสำหรับรายการแต่ละรายการก็จะบันทึกความเกี่ยวข้องกับรายการนั้นทั้งสองด้าน
                การบันทึกรายการในบัญชีดังกล่าวมาเรียกว่า การบัญชี ซึ่งหมายถึงการจดบันทึกรายการหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเงินไว้ในหน่วยของเงินตรา มีการจัดหมวดหมู่แยกประเภทของรายการ แล้วสรุปผลการบันทึกของรายงานการเงิน ซึ่งจะแสดงให้ทราบถึงผลของการดำเนินงาน สำหรับระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง และฐานะการเงินของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง          หน้า ๑๐๑๗๗
            ๓๐๑๒. บัญญัติไตรยางค์   เป็นวิธีเลขอย่างหนึ่ง ซึ่งกำหนดส่วนสัมพันธ์ของเลขสามจำนวนเป็นเกณฑ์ มาจากคำว่า บัญญัติ แปลว่า การตั้งขึ้น ข้อที่ตั้งขึ้น ข้อบังคับ และไตรยางค์ แปลว่า สามส่วน
                ความมุ่งหมายสำคัญในการทำบัญญัติไตรยางค์คือ การหาเลขจำนวนที่สี่ โดยนำเลขจำนวนทั้งสามที่กำหนดให้ และที่ให้หามาคูณหารกัน เป็นสามชั้น
                โดยทั่วไป ถ้าปริมาณเปลี่ยนแปลงตามกันไป ตามขั้นต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไว้แล้ว ก็เรียกว่า บัญญัติไตรยางค์ตรง ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ทำให้ได้ปริมาณตรงกันข้าม เช่น ในเรื่องแรงงานกับเวลาที่ใช้ในการทำงาน ก็เรียกว่า บัญญัติไตรยางค์กลับ           หน้า ๑๐๑๗๙
            ๓๐๑๓. บัณฑิต  มีบทนิยามว่า "ผู้มีปัญญา นักปราชญ์" ตามบทนิยามนี้ ขยายความออกไป ได้แก่ ผู้ประพฤติตามกุศลกรรมบถสิบ (ดู กรรมบท - ลำดับที่... ประกอบ ) ผู้มีปัญญาและใช้ปัญญาคือ คิดด้วยปัญญา พูดด้วยปัญญา ทำด้วยปัญญา กล่าวสรุปว่า บัณฑิตนั้นประพฤติสุจริตทางกาย วาจาและใจ
                ท่านแสดงเหตุที่ทำให้เป็นบัณฑิต หรือนักปราชญ์ คือ
                    ๑. ตั้งใจเล่าเรียนศึกษาให้รู้เท่า รู้ทัน รู้แท้
                    ๒.  คิดตามความรู้ที่ได้เรียนนั้นให้แจ่มแจ้ง
                    ๓.  สอบถามความรู้ที่ได้เล่าเรียนนั้น เพื่อหาความรู้ใหม่ต่อไป
                    ๔.  จดบันทึกความรู้ที่ได้เล่าเรียน หรือประสบการณ์นั้น ๆ ไว้ด้วยสมอง หรือด้วยตัวหนังสือ
                บัณฑิต นั้น มีปรกติรู้ผิดรู้ชอบ ทำผิดก็รู้ว่าผิด และรับผิดในการกระทำของตน แล้วเตือนตนไม่ให้ทำผิดต่อไป           หน้า ๑๐๑๘๑
            ๓๐๑๔. บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์  เป็นพระแท่นที่ประทับของพระอินทร์ ลักษณะเป็นแท่นหินใหญ่สีเหลืองอ่อน คล้ายดอกชัยพฤกษ์ เวลานั่งจะยุบลงประมาณครึ่งตัวผู้นั่ง กลับนูนขึ้นได้เมื่อเวลาลุกขึ้น คล้ายเก้าอี้นวม ตั้งอยู่ใต้ต้นปาริฉัตกะ ในส่วนสวรรค์นันทวัน ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
                เมื่อมีเหตุพิเศษ พระแท่นนี้แข็งกระด้างก็ได้ หรือร้อนเป็นไฟ นั่งไม่ได้ก็ได้           หน้า ๑๐๑๘๒
            ๓๐๑๕. บัณเฑาะว์  เป็นชื่อกลองเล็กชนิดหนึ่ง ซึ่งพราหมณ์ใช้ขับ โดยวิธีแกว่งลูกตุ้ม ให้กระทบหน้ากลองทั้งสองข้าง            หน้า ๑๐๑๘๓
            ๓๐๑๖. บัดกรี การบัดกรี  หมายถึง วิธีการที่นำโลหะตั้งแต่สองชิ้นขึ้นไป มาทำให้ต่อติดกัน โดยอาศัยการหลอมตัวของโลหะเจือ ซึ่งมีจุดหลอมตัวต่ำกว่าจุดหลอมตัวของโลหะ ที่นำมาต่อให้ติดกันนั้น โลหะที่มักนำมาต่อให้ติดกัน โดยวิธีบัดกรี ได้แก่ เหล็ก ตะกั่ว ทองแดง ทองเหลือง เหล็ก ชุบสังกะสี และเรียกโลหะเจือที่ใช้เป็นตัวทำให้ชิ้นโลหะต่อติดกันว่า โลหะบัดกรี
                เนื่องจากการบัดกรี ต้องใช้อุณหภูมิสูง ดังนั้น ผิวของโลหะตรงที่จะนำมาต่อติดกัน จึงแปรสภาพเป็นโลหะออกไซด์ได้ง่าย อันเป็นสาเหตุให้โลหะบัดกรี จับผิวโลหะได้ไม่แน่น จึงจำเป็นต้องกำจัดโลหะออกไซด์ ออกโดยใช้น้ำยาบัดกรีเป็นตัวกำจัด
                การที่ชิ้นโลหะ ต่างชิ้นต่อติดกันได้ด้วยการบัดกรีนั้น เป็นเพราะว่าโลหะบัดกรีที่ใช้มีจุดหลอมตัวต่ำกว่าจุดหลอมตัวของโลหะ ที่นำมาบัดกรี เมื่อให้ความร้อนสูงพอแล้ว โลหะบัดกรีก็จะหลอมละลายเป็นชิ้นบาง ๆ อยู่ระหว่างผิวรอยต่อของชิ้นโลหะทั้งสอง ขณะเดียวกันก็เกิดกรรมวิธีทางเคมีขึ้นตรงบริเวณนั้น ผิวโลหะของชิ้นโลหะทั้งสองจะละลายลงมาบ้าง และผสมกับโลหะบัดกรีที่กำลังหลอมละลาย เกิดเป็นโลหะเจือใหม่ขึ้น เมื่อเย็นลงก็จะแข็งตัวเชื่อมกันแน่นสนิท             หน้า ๑๐๑๘๓
            ๓๐๑๗. บัตรพลี  มีบทนิยามว่า "เครื่องเซ่น สรวงสังเวย ถ้าทำเป็นรูปสามเหลี่ยมคางหมูเรียกว่า บัตรคางหมู ถ้าทำเป็นรูปตั้งแต่สี่เสาขึ้นไป เรียกว่า บัตรพระเกตุ ถ้าทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมมียอดเรียกว่า บัตรพระเคราะห์"
                บัตรทั้งสี่อย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องทำทั้งสี่อย่าง สุดแต่ความต้องการเป็นเรื่องที่ทำกันอยู่ตามประเพณี และมักทำในงานใหญ่ที่มีฤกษ์ หลักการพลีบูชามีว่า ต้องจัดเนื้อสัตว์ และอาหารเป็นเครื่องพลี ส่วนที่เหลือนอกนั้นคนกินได้ อย่างเครื่องไหว้ของจีน            หน้า ๑๐๑๘๘
            ๓๐๑๘. บั้น   เป็นมาตราตวงข้าวเปลือก และข้าวสารสมัยโบราณ ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่สี่ แยกออกเป็นมาตราตวงข้าวเปลือกเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเกิดมีโรงสีไฟของฝรั่งขึ้นเป็นครั้งแรก จึงเกิดมีมาตราใหม่ขึ้นเป็นสองแบบแยกกัน แบบหนึ่งใช้สำหรับตวงข้าวเปลือก อีกแบบหนึ่งสำหรับใช้ตวงข้าวสาร
                       มาตราตวงข้าวเปลือก       ๑๐๐  เมล็ดข้าว = ๑ ใจมือ     ๔ ใจมือ = ๑ กำมือ     ๔ กำมือ = ๑ แล่ง     ๒ แล่ง = ๑ ทะนาน     ๔๐ ทะนาน =  ๑ ถัง     ๔๐ ถัง = ๑ บั้น     ๒ บั้น = ๑ เกวียน
                       มาตราตวงข้าวสาร       ๑๐๐ เมล็ดข้าว  =   ๑ ใจมือ     ๔ ใจมือ = ๑ กำมือ     ๔กำมือ =  ๑ จังออน     ๒ จังออน =  ๑ ทะนาน     ๒๐ ทะนาน =  ๑ สัด     ๒๐ สัด =  ๑ ตะล่อม     ๕ ตะล่อม =  ๑ เกวียน           หน้า ๑๐๑๙๔
            ๓๐๑๙. บันตู  เป็นชื่อของตระกูลภาษาหนึ่ง ในทวีปแอฟริกาและรวมไปถึงกลุ่มชนแอฟริกันนิโกร
                กลุ่มชนบันตู  แต่เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ทางภูมิภาคตอนบนของแม่น้ำไนล์ ภายหลังได้ค่อย ๆ อพยพลงทางใต้ และกระจายกันอยู่ทั่วไปในแอฟริกากลางและแอฟริกาใต้ โดยมีเส้นสมมติที่เรียกว่า เส้นบันตู เป็นแนวกำหนดเขตเหนือสุดของดินแดนพวกบันตู เส้นสมมตินี้ ลากผ่านทวีปแอฟริกาจากชายฝั่งตะวันตก ที่อ่าวคาเมรูน ไปตามสันปันน้ำของแม่น้ำเวเล และแม่น้ำคองโก ผ่านทะเลสาบอัลเบิร์ด และชายฝั่งตอนเหนือของทะเลสาบวิกตอเรียก จนถึงชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย ใกล้กับปากแม่น้ำทานา
                กลุ่มชนบันตู  อาจแบ่งออกเป็นเผ่าต่าง ๆ รวมห้ากลุ่ม ตามลักษณะชาติพันธุ์ และสถานที่ตั้งถิ่นฐาน
                ต้นกำเนิดของภาษาบันตู  ยังไม่ทราบกันเป็นที่แน่ชัด เชื่อกันว่าเป็นภาษาผสมกันระหว่างตระกูลซูดานิกกับภาษาเซมิติก ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้พูดกันในเขตใกล้เคียง ประมาณกันว่าภาษาในตระกูลภาษาบันตุมีอยู่ร่วม ๒๐๐ ภาษา
                ความเชื่อถือทางศาสนาของกลุ่มชนบันตุแบ่งออกได้เป็นสองแบบด้วยกัน พวกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนกลาง และตอนใต้ของทวีป มักจะนับถือบูชาบรรพบุรุษ ส่วนชนเผ่าที่อยู่ตามแถบทะเลสาบ และทางตะวันตกของทวีปมักจะนับถือบูชาผิสางเทวดา และบรรพบุรุษควบคู่กันไป           หน้า ๑๐๑๙๕
            ๓๐๒๐. บันนังสตา  อำเภอขึ้น จ.ยะลา มีอาณาเขตทางทิศตะวันตกจดทิวเขาสันกาลาคีรี ซึ่งแบ่งเขตแดนไทยกับมาเลเซีย ภูมิประเทศส่วนมากเป็นภูเขา ลำธาร และป่าดง มีที่ราบน้อย
                อ.บันนังสตา  ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ ตั้งที่การที่ ต.บาเจาะ อยู่ทางฝั่วขวาของแม่น้ำยะลา ต่อมาได้ย้ายไปตั้ง ต.บันนังสตา ฝั่งซ้ายแม่น้ำยะลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗         หน้า ๑๐๑๙๗
            ๓๐๒๑. บัพพาชนียกรรม  เป็นวิธีการลงโทษแก่ผู้มีความผิดขั้นอุกฤษฎ์อย่างหนึ่งคือ ขับออกจากหมู่ ให้อยู่ในเขตจำกัด ขับออกนอกประเทศอย่างหนึ่ง ขับไล่ออกจากถิ่นเดิม แต่โบราณนิยมให้ขับออกจากประเทศที่ผู้นั้นอยู่อาศัย
                ในวินับทางพระพุทธศาสนากำหนดเรื่องนี้ไว้คือ คำบัพพาชนียกรรมแปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงกระทำแก่ภิกษุ อันจะพึงไล่เสีย           หน้า ๑๐๑๙๗
            ๓๐๒๒. บัว  เป็นชื่อพันธุ์ไม้น้ำ เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุยืนขึ้นอยู่ในน้ำ มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า รากบัว ใบเป็นแผ่นรูปกลม ก้านใบยาว ชูใบขึ้นพ้นผิวน้ำ หรือลอยอยู่บนผิวน้ำ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดใหญ่มีสีต่าง ๆ กัน ก้านดอกยาว ดอกตูมอยู่ใต้น้ำ ดอกบัวเป็นดอกสมบูรณ์ เพศมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย อยู่ในดอกเดียวกัน ภายในทุก ๆ ส่วนของบัวมีน้ำยางสีขาว เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัว เป็นเส้นยาว ๆ และเปลี่ยนเป็นสีตากุ้งเรียกว่า ใยบัว
                จำแนกบัวในประเทศไทยได้เป็นสามสกุลคือ
                        ๑. ปทุมชาติหรือบัวหลวง  เป็นบัวพันธุ์พื้นบ้านของไทย ใบและดอกชูขึ้นพ้นผิวน้ำ ก้านใบและก้านดอกเป็นหนาม คายมือ ดอกมีขนาดใหญ่ กลีบดอกซ้อนกัน ๓ - ๔ ชั้น สีชมพูหรือสีขาว รังไข่เป็นจำนวนมากแยกจากกันฝังอยู่ในฐานรองดอก ซึ่งยื่นขึ้นมาเป็นแท่น รังไข่แต่ละอันเจริญเป็นผล มักจะเรียกกันว่า เม็ดบัว ส่วนฐานรองดอกก็เจริญใหญ่ขึ้น มีสีเขียว รวมเรียกว่า ฝักบัว
                        บัวหลวงบานตอนกลางวัน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จำแนกออกได้เป็นพันธุ์ต่าง ๆ ตามสีรูปร่างและขนาดของดอก มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ออกไปเช่น สัตตบงกช สัตตบุษย์ พันธุ์แคระเรียกว่า บัวปักกิ่ง
                        ๒. อุบลชาติหรือบัวสาย  ใบลอยอยู่ปริ่มน้ำ รูปกลม ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ก้านใบ และก้านดอกอ่อนไม่มีหนาม ก้านดอกบัวสายบริโภคได้ เป็นฝักเรียกว่าสายบัว ดอกมีสีต่าง ๆ กัน ขาว ชมพู แดง ม่วงคราม และเหลือง มีกลิ่นหอม มีทั้งที่บานกลางวัน และบานกลางคืน มีอยู่หลายชนิดหลายพันธุ์ด้วยกันเช่นบัวสาย บัวเผื่อน บัวผัน บัวขาบ ป้านคำหรือนิอุบล
                        ๓. บัววิกตอเรีย หรือบัวกระด้ง  เป็นพันธุ์ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ มีใบใหญ่ ขอบใบยกสูงขึ้นมาคล้ายกระด้ง           หน้า ๑๐๑๙๙
            ๓๐๒๓. บัวแก้ว - ตรา  เป็นเครื่องหมายประจำกระทรวงต่างประเทศ แต่เดิมเป็นตราประจำตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังที่โกษาธิบดี ครั้นต่อมาเมื่อจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ในรัชกาลที่ห้า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๗ แล้วยกกรมพระคลังมหาสมบัติ แยกออกจากกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๘ ตราบัวแก้วจึงตกไปเป็นตราประจำเสนาบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยลำดับ           หน้า ๑๐๒๐๑
            ๓๐๒๔. บัวคลี่ - นาง  ชื่อตัวละครหญิงตัวหนึ่งในเรื่องขุนช้างขุนแผน นางเป็นภริยาคนหนึ่งของขุนแผน มีลูกชายคนหนึ่งชื่อกุมารทอง (ผีที่ขุนแผนเลี้ยงไว้)        หน้า ๑๐๒๐๒
            ๓๐๒๕. บัวตูม  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ป่าชนิดหนึ่ง เป็นพันธุ์ไม้ประเภทกาฝาก บัวตูมไม่มีรากและใบ ส่วนที่เป็นลำต้นสั้นมาก จะเห็นพันธุ์ไม้ชนิดนี้ก็เมื่อตอนมีดอก ดอกสีแดงเข้ม เป็นดอกเดี่ยวมีขนาดใหญ่ ดอกบานมีขนาด ๒๔ - ๗๐ ซม. ดอกตัวผู้และตัวเมียแยกกันอยู่คนละดอก บัวตูมพบในป่าดงดิบ ออกดอกระหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม รู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่งว่ากระโถนฤาษี           หน้า ๑๐๒๐๒
            ๓๐๒๖. บัวบก  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้สองชนิด ชนิดหนึ่งเป็นไม้ล้มลุก ชอบขึ้นตามดินทีแฉะ ๆ ลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มีรากออกตามข้อใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตามข้อประมาณ ๒ - ๑๐ ใบ ก้านใบยาวตั้งตรง รูปร่างของใบคล้ายรูปไต ดอกมีขนาดเล็ก ออกเป็นช่อสั้น ๆ ที่ซอกใบ ผลขนาดเล็กเป็นสัน ใบและต้นใช้เป็นอาหารประเภทผัก บัวบกยังเป็นสมุนไพรเป็นยาบำรุง เจริญอาหาร ลดความอ้วน ขับปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ ใช้พอกแก้โรคผิวหนัง เมล็ดใช้เป็นยาแก้บิด และแก้ปวดศีรษะ
                บัวบกอีกชนิดหนึ่งเป็นไม้เลื้อย รากพอกออกเป็นหัวใต้ดิน หัวขนาดใหญ่หนักได้ถึง ๔ - ๕ กก. ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ดอกออกเป็นช่อ คล้ายช่อดอกมะเขือพวง ช่อดอกตัวผู้และตัวเมียแยกกันอยู่คนละต้น บัวบกชนิดนี้พบขึ้นในป่าผลัดใบ กล่าวกันว่าเป็นของขลัง ใช้หัวใต้ดิน เอามาเป็นแป้งผัดหน้า ชื่ออื่น ๆ ที่เรียกกันคือโกฐหัวบัวและบัวเดื่อ           หน้า ๑๐๒๐๓
            ๓๐๒๗. บัวลอย ๑  เป็นชื่อเพลงชนิดหนึ่งที่ใช้บรรเลงในงานศพ โดยทั่วไปนักดนตรีจะทำบัวลอย เมื่อลงมือจุดศพ เรื่อยไปจนจบ
                เพลงบัวลอยมีหลายลำนำติดต่อกัน ทั้งทำนองของบีและจังหวะหน้าทับของกลองมหายูที่ตีประกอบไป ทำให้ฟังได้เศร้าเย็นและไพเราะอย่างยิ่ง
            ๓๐๒๘. บัวลอย ๒  เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง แบ่งออกเป็นบัวลอยแก้ว หรือฝักบัวลอยแก้ว บัวลอย บัวลอยญวน บัวบาน           หน้า ๑๐๒๐๖
            ๓๐๒๙. บัวใหญ่  อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง มีป่าไม้ใหญ่น้อยทุกด้าน
เดิมตั้งที่ว่าการที่บ้านทองหลางน้อย ต.ดอนตาหนิน เรียกชื่อว่า อ.นอก ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๙ ย้ายไปตั้งที่ ต.บัวใหญ่ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บัวใหญ่         หน้า ๑๐๒๐๗
            ๓๐๓๐. บ้า ๑  คือผู้ป่วยโรคจิตซึ่งเป็นโรคทางจิตใจ ที่มีความผิดปรกติมากกว่าโรคทางจิตเวชประเภทอื่น ๆ อาการสำคัญที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคจิตคือ
                    ๑. ไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง แต่อยู่ในโลกของความเพ้อฝัน เชื่อผิด เห็นผิด มีอาการประสาทหลอน
                    ๒. บุคคลิกภาพเปลี่ยนไปมาก
                    ๓. ไม่รู้ว่าตนเองผิดปรกติ
                โรคจิตจำแนกออกเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น โรคจิตที่เกิดจากความเสื่อมของสมองผู้ป่วยมีอาการทางอารมณ์เป็นอาการสำคัญ         หน้า ๑๐๒๐๘
            ๓๐๓๑. บ้า ๒ - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ใช้บริโภคได้แต่ไม่แพร่หลายจัดอยู่ในพวกเดียวกับปลาตะเพียน ปลากะโห้และปลายี่สก         หน้า ๑๐๒๐๙
            ๓๐๓๒. บาเกง  เป็นชื่อของเนินเขาสูงประมาณ ๖๐ เมตร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของทางเข้าด้านตะวันตกของปราสาทนครวัด ๑,๓๐๐ เมตร ทางทิศใต้ของประตูด้านใต้ของเมืองนครหลวง ๔๐๐ เมตร ในจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
                บนเขาพนมบาเกงนี้เป็นที่ตั้งของปราสาทบาเกง และเชื่อกันว่า เป็นศูนย์กลางของเมืองพระนคร หรือยโศธรปุระซึ่งมีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวประมาณด้านละ ๔ กม.
                ปราสาทพนมบาเกงสร้างขึ้นราวปี พ.ศ.๑๔๔๐ โดยพระเจ้ายโสวรมันที่หนึ่งเป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย เป็นที่ประดิษฐานเทวราชคือ ศิวลึงค์ เป็นครั้งแรกที่มีการสร้างปราสาทห้าหลังด้วยศิลาทราย ขึ้นบนยอดฐานเป็นชั้นและยังมีปราสาทชั้นรองลงมาตั้งอยู่บนชั้นต่าง ๆ  อีก
                ปราสาทพนมบาเกงตั้งอยู่บนฐานห้าชั้น ฐานนี้ไม่ได้ต่อขึ้นแต่ดัดแปลงตบแต่งฐานยอดเขาธรรมชาติ โดยเอาศิลาทราย มาประกบข้างนอก บนฐานชั้นบนสุดมีปราสาทศิลาทรายห้าหลัง หลังหนึ่งอยู่ตรงกลาง อีกสี่หลังอยู่ที่สี่มุมมีปราสาทเล็ก ๆ อยู่บนฐานเป็นชั้น ๖๐ หลัง มีบันไดขึ้นสี่ทิศ และยังมีปราสาทอิฐตั้งอยู่ล้อมรอบฐานเป็นชั้นอีก ๔๔ หลัง รวมด้วยกันทั้งหมดเป็นจำนวน ๑๐๙ หลัง ส่วนใหญ่หักพังหมดแล้ว
                ยังมีอีกชื่อหนึ่งคือ พระกริ่งอุบาเกง พบที่ปราสาทบาเกงเป็นครั้งแรก เป็นพระกริ่งสำริดเล็ก ๆ หล่อเป็นพระพุทธรูปนั่งแบบทิเบต เข้าใจว่าหล่อขึ้นในสมัยประเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔ - หลัง พ.ศ.๑๗๔๔)         หน้า ๑๐๒๑๑
            ๓๐๓๓. บาง ๑  เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร สูงประมาณ ๑ เมตร หล่อด้วยโลหะผสมลงรักปิดทองเรียกกันว่า พระบาง นับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศลาว มีตำนานทางพื้นเมืองนั้นว่า พระบางเดิมสร้างที่เมืองปาตลีบุตร มีผู้นำมาถึงประเทศกัมพูชาก่อนแล้ว จึงเชิญมาสู่ประเทศลาวประดิษฐานไว้ ณ เมืองเวียงจันทน์ ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกรีธาทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญของประเทศนั้นมาด้วยหลายองค์ มีพระแก้วมรกต และพระบางด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้สร้างหอประดิษฐ์เป็นพิเศษเรียกว่า หอพระแก้ว ในพระราชวังกรุงธนบุรี
                ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้อันเชิญพระแก้วมรกต และพระบาง มาประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาเจ้านันทเสนบุตรพระเจ้าล้านช้างกราบทูลว่า พระแก้วมรกตกับพระบางไม่ควรจะอยู่ใกล้กัน โดยอ้างคติโบราณของล้านช้างและประวัติความเป็นมาตามคตินั้น พระองค์จึงโปรดให้ส่งพระบางคืนไปยังเมืองเวียงจันทน์
                ในรัชกาลที่สามเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) ขึ้นไปติดตามเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ครั้งหลัง ได้พระบางกับพระแซกดำ พระฉันสมอ ลงมากรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ โปรดให้เชิญไปประดิษฐานไว้ตามวัดนอกพระนคร ถึงรัชกาลที่สี่ทรงสร้างพระอารามขึ้นใหม่หลายพระอาราม โปรดให้สืบหาพระพุทธรูปโบราณทางแขวงล้านช้างได้มาหลายองค์ แต่คนทั้งหลายยังรังเกียจตามคติชาวล้านช้างอยู่ จึงโปรดให้อัญเชิญพระบางขึ้นไปประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบางแต่นั้นมา       หน้า ๑๐๒๑๓
            ๓๐๓๔. บาง ๒  มีบทนิยามว่า "ทางน้ำ ตำบลริมน้ำ ไม่หนา" ที่ว่าทางน้ำและตำบลริมน้ำนั้น ในหนังสือสาส์นสมเด็จ มีคำอธิบายว่า บาง คือ คลองตัน ทำขึ้นเพื่อจะชักน้ำในแม่น้ำเข้าไปในที่ทำกิน มีเรือกสวนไร่นาเป็นต้น เกิดแต่มีผู้คนมากขึ้นจะตั้งทำกินกันอยู่แต่ริมแม่น้ำหาพอกันไม่
                ชื่อของบางนั้นก็เป็นชื่อง่าย ๆ อาศัยเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะสำเหนียกกันได้ง่าย ต่อมาชื่อบางก็ขยายออกไปกลายเป็นชื่อย่าน ชื่อตำบล นับแต่บางหนึ่งไปจนถึงอีกบางหนึ่ง         หน้า ๑๐๒๑๕
            ๓๐๓๕. บ่าง เป็นสัตว์ที่มีแผ่นพังผืดขึงรอบตัวคือ จากข้างคอไปที่ปลายนิ้วตีน มีแผ่นพังผืดระหว่างนิ้วตีน จากขาหน้าตลอดไปถึงขาหลังระหว่างนิ้วตีน และมีไปจนสุดปลายหาง ผิดจากกระรอกบิน ซึ่งไม่มีพังผืดระหว่างขากับหาง ซึ่งบางทีชาวบ้านก็เรียกกันว่า บ่างกระรอก
                หากบ่างมีลูกตัวเล็ก ๆ ลูกมักเกาะติดหน้าอกแม่ไปไหน ๆ กับแม่ด้วย        หน้า ๑๐๒๑๗
            ๓๐๓๖. บางกรวย  อำเภอขึ้น จ.นนทบุรี ภูมิประเทศทั่ว ๆ ไป อ.บางกรวยเดิมชื่อ อ.บางใหญ่ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางกรวย           หน้า ๑๐๒๑๙
            ๓๐๓๗. บางกระทุ่ม  อำเภอขึ้น จ.พิษณุโลก ภูมิประเทศทั่ว ๆ ไปเป็นที่ราบลุ่ม บางตอนเป็นป่าเขา อ.บางกระทุ่มเดิมเป็นกิ่งอำเภอ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙         หน้า ๑๐๑๙
            ๓๐๓๘. บางกอก  เป็นชื่อที่ชาวต่างประเทศเรียกกรุงเทพ ฯ ตามที่เคยเรียกเมืองธนบุรี มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ว่าบางกอก
                แต่เดิมเขตธนบุรี เป็นพื้นแผ่นดินเดียวกับฝั่งกรุงเทพ ฯ และเป็นที่ตั้งหมู่บ้านประมงค์ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (อู่ทอง) ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในปี พ.ศ.๑๘๙๓ ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช (พ.ศ.๒๐๗๗ - ๒๐๘๙)  เขตธนบุรีถูกแยกออกจากฝั่งกรุงเทพ ฯ ปัจจุบันต่อมาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงยกฐานะขึ้นเป็นเมืองธนบุรี
                เมืองธนบุรีกลายเป็นเมืองสำคัญยิ่ง เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเป็นราชธานีของไทยระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๒๕          หน้า ๑๐๒๒๐
            ๓๐๓๙. บางกอกน้อย  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อ.บางกอกน้อย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้จัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ให้รวม จ.พระนคร และจ.ธนบุรี เป็นจังหวัดเดียวกัน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ให้แบ่งพื้นที่กรุงเทพ ฯ ออกเป็นเขต (อำเภอ) และแขวง (ตำบล)           หน้า ๑๐๒๒๕
            ๓๐๔๐. บางกอกใหญ่  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำสวนผลไม้ยืนต้น เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อ.บางกอกใหญ่ เป็นที่ตั้งเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ครั้งเป็นราชธานี มีป้อมอยู่ที่ปากคลองบางกอกน้อยฝั่งซ้ายหน้า พระราชวังเดิมอยู่ป้อมหนึ่ง ชื่อป้อมวิชัยประสิทธิ์ สมเด็จพระนารายณ์ ฯ โปรดให้นายช่างฝรั่งเศสสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๘ เมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สองได้ทำลายป้อมนี้เสียในปี พ.ศ.๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ (ครั้งยังเป็นเจ้าตาก) ขับไล่พม่าไปจากธนบุรีแล้วจึงให้สถาปนาป้อมนี้ให้ดีดังเดิม
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ได้ตั้งอำเภอขึ้นที่ปากคลองบางไส้ไก่ริมคลองบางกอกใหญ่ ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๕๒ ย้ายอำเภอมาตั้งที่วัดหงส์รัตนาราม เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า อ.บางกอกใหญ่ ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ ยุบเป็นกิ่งอำเภอบางกอกใหญ่ ขึ้น อ.ธนบุรี แล้วยกฐานะเป็นอำเภออีกในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเขตบางกอกใหญ่        หน้า ๑๐๒๒๕
            ๓๐๔๑. บางกะปิ  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อ.บางกะปิ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้เปลี่ยนเป็นเขตบางกะปิ         หน้า ๑๐๒๒๗
            ๓๐๔๒. บางขุนเทียน   เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อ.บางขุนเทียน เปลี่ยนชื่อเป็นเขตบางขุนเทียนในปี พ.ศ.๒๕๑๕         หน้า ๑๐๒๒๘
            ๓๐๔๓. บางเขน เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาและสวนผัก เดิมเป็นอำเภอ เรียกว่า อ.บางเขน เปลี่ยนเป็นเขตบางเขนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕         หน้า ๑๐๒๒๙
            ๓๐๔๔. บางคณที  อำเภอขึ้น จ.สมุทรสงคราม ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ส่วนมากเป็นที่สวน เดิมตั้งที่ว่าการอำเภอที่ ต.สี่หมื่นเรียก อ.สี่หมื่น ต่อมายกไปขึ้น อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี จึงย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ ต.กระดังงา ใกล้คลองบางคณที ตั้งชื่อว่า ต.สี่หมื่น อ.บางคณที         หน้า ๑๐๒๓๐
            ๓๐๔๕. บางคล้า  อำเภอขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาและทำสวน ทางตะวันออกเป็นสวนสัปะรดโดยมากมีป่าบ้าง
                อ.บางคล้า เดิมตั้งอยู่ที่ บ.หัวไทร ต.คูมอญ เรียกว่า อ.หัวไทร แล้วย้ายไปตั้งที่ปากคลองบางคล้าจึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางคล้า           หน้า ๑๐๒๓๐
            ๓๐๔๖. บางซ้าย  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม เดิมเป็นกิ่งอำเภอยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑           หน้า ๑๐๒๓๑
            ๓๐๔๗. บางไทร  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนาและทำประมง อำเภอนี้ในสมัยอยุธยารวมการปกครองอยู่ในแขวงขุนเสนาซึ่งต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็นแขวงเสนา ถึงรัชกาลที่สาม แยกแขวงเสนาเป็นแขวงเสนาใหญ่ และแขวงเสนาน้อย ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๘ แขวงเสนาน้อยได้เป็น อ.เสนาน้อย แต่ชาวบ้านยังคงเรียก อ.บางไทรด้วย ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเข้าไปตั้งที่ฝั่งขวาลำน้ำบางไทร (แม่น้ำน้อย) ที่ ต.ราชคราม เมื่อราว พ.ศ.๒๔๖๗ จึงเรียกว่า อ.ราชคราม ถึง พ.ศ.๒๔๘๑ กลับเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางไทรอีก         หน้า ๑๐๒๓๒
            ๓๐๔๘. บางน้ำเปรี้ยว   อำเภอขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา ภูมิประเทศเป็นนาตลอดไป ทางทิศเหนือเป็นที่ดอนบ้าง         หน้า ๑๐๒๓๓
            ๓๐๔๙. บางบ่อ อำเภอขึ้น จ.สมุทรปราการ ภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำ แบ่งออกเป็นสองตอน ในระหว่างตอนเหนือกับตอนใต้มีบริเวณกว้างใหญ่ หน้าน้ำน้ำท่วมตลอด ตอนใต้เป็นป่าไม้แสม อ.บางบ่อ เดิมเรียกว่า อ.บางเหี้ย เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางบ่อ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓         หน้า ๑๐๒๓๓
            ๓๐๕๐. บางบัวทอง  อำเภอขึ้น จ.นนทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ทำนาเป็นพื้น         หน้า ๑๐๒๓๓
            ๓๐๕๑. บางบาล  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ทำนาได้ดี
                อำเภอนี้สมัยกรุงศรีอยุธยารวมการปกครองอยู่ในท้องที่แขวงขุนเสนา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแขวงเสนา ในรัชการที่สามโดยยกแขวงเสนาเป็นแขวงเสนาใหญ่ และแขวงเสนาน้อย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๘ แบ่งแขวงเสนาใหญ่ตอนเหนือเป็น อ.เสนาใหญ่ ตอนใต้เป็น อ.เสนากลาง แบ่งแขวงเสนาน้อยตอนเหนือกับแขวงเสนาใหญ่ตอนตะวันออกเป็น อ.เสนาใน ตั้งที่ว่าการที่ ต.ผีมด ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ ต.บางบาล ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๘ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ต.บางบาล ต่อมาย้ายที่ว่าการมาตั้งที่ ต.มหาพราหมณ์        หน้า ๑๐๒๓๔
            ๓๐๕๒. บางปลาม้า  อำเภอขึ้น จ.สุพรรณบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีคลอง หนองบึงอยู่ทั่วไป
                อ.บางปลาม้า เดิมตั้งที่ว่าการอยู่ที่ ต.บางปลาม้า ฝั่งขวาแม่น้ำสุพรรณแล้วย้ายไปตั้งที่ ต.โคกคราม ฝั่งซ้ายแม่น้ำสุพรรณ         หน้า ๑๐๒๓๔
            ๓๐๕๓. บางปะกง  อำเภอขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มโดยมาก ตอนชายทะเลมีป่าจากและไม้เล็ก ๆ อยู่บ้าง          หน้า ๑๐๒๓๕
            ๓๐๕๔. บางปะหัน  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา
                อำเภอนี้สมัยอยุธยารวมการปกครองอยู่ในแขวงขุนนคร ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแขวงขุนนคร ในรัชกาลที่สามได้แยกแขวงนครออกเป็นแขวงนครใหญ่ และแขวงนครน้อย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้แบ่งแขวงนครใหญ่เป็นสองตอน ตอนเหนือเป็น อ.นครใหญ่ ตอนใต้เป็นนครใน ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๒ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ ต.บางปะหัน ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๘ เปลี่ยนชื่อใหม่ตามตำบลที่ตั้งที่ว่าการ        หน้า ๑๐๒๓๕
            ๓๐๕๕. บางปะอิน  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม เหมาะแก่การทำนา
                อำเภอนี้ในสมัยอยุธยารวมการปกครองอยู่ในท้องที่แขวงขุนอุไทย ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แขวงอุไทยออกเป็นแขวงอุไทยใหญ่และแขวงอุไทยน้อย ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ ต.บ้านแป้ง ถึงพ.ศ. ๒๔๔๓ เปลี่ยนชื่อ อ.อุไทยน้อยเป็น อ.พระราชวัง แล้วย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ บ.เลน ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๘ เปลี่ยนเรียกชื่อตามชื่อเกาะบางปะอินว่า อ.บางปะอิน
                เกาะใน ต.บ้านเลน อ.บางปะอิน คือเกาะบางปะอินเดิมเรียกว่าเกาะบ้านเลน เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว เกาะบางปะอินก็กลายเป็นเกาะร้าง ถึงรัชกาลที่สี่ โปรดให้สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ และปฏิสังขรณ์วัดชุมพลนิกายาราม ในรัชกาลที่ห้าโปรดให้สร้างพระที่นั่งวโรภาสพิมาน วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ         หน้า ๑๐๒๓๖
            ๓๐๕๖. บางพลี  อำเภอขึ้น จ.สมุทรปราการ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียงเล็กน้อย
                อ.บางพลีได้ชื่อนี้เพราะในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง โปรดให้ขุดลอกคลองสำโรงกับคลองทับนาง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๑ ได้เทวรูปสำริด ณ ที่ร่วมคลองสำโรงกับคลองทับนาง มีอักษรจารึกชื่อ จึงโปรดให้บวงสรวงพลีกรรมขึ้น ณ ที่นั้น ที่ตรงนั้นจึงได้ชื่อว่าบ้างบางพลี        หน้า ๑๐๒๓๙
            ๓๐๕๗. บางแพ  อำเภอขึ้น จ.ราชบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือและตอนใต้เป็นที่ลุ่ม ตอนกลางเป็นที่ดอนมีป่าระนาบเล็กน้อย
                อ.บางแพ เดิมชื่อ หัวโพ ตั้งอยู่ที่ ต.หัวโพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ แต่ก่อนเรียก อ.ลำพญา ครั้นปี พ.ศ.๒๔๖๐ ย้ายไปตั้งที่ ต.บางแพใต้จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.หัวโพ ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางแพ           หน้า ๑๐๒๓๙
            ๓๐๕๘. บางมูลนาก  อำเภอขึ้น จ.พิจิตร ภูมิประเทศทางด้านตะวันออกเป็นที่ดอนมีเขากันเขต จ.เพชรบูรณ์ นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่ม
                อ.บางมูลนากเดิมเรียกว่า บางขี้นาก เป็นบ้านเก่าอยู่ใกล้ปากคลองบุษบง เป็นท่าขนส่งสินค้าเมืองภูมิทั้งทางบกและทางน้ำ ครั้นตั้งมณฑลพิษณุโลก จึงย้ายเมืองภูมิมาตั้งที่บางมูลนาก ยุบเป็นอำเภอเมืองภูมิมาตั้งที่ จ.พิจิตร เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางมูลนาก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑        หน้า ๑๐๒๔๐
            ๓๐๕๙. บางระกำ  อำเภอขึ้น จ.พิษณุโลก ภูมิประเทศตามฝั่งแม่น้ำยมเป็นที่ราบลุ่ม ทำนาได้ดี ทางทิศใต้ เป็นป่าไม้เบญจพรรณ นอกนั้นเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ บางแห่งเป็นหนองและบึง         หน้า ๑๐๒๔๑
            ๓๐๖๐. บางระจัน  อำเภอขึ้น จ.สิงห์บุรี ภูมิประเทศตอนเหนือและตอนกลางเป็นป่า ตอนใต้เป็นที่ลุ่ม
                อ.บางระจัน คือ อ.สิงห์ เดิมเป็นเมืองเก่าสมัยอยุธยาตอนต้น ตัวเมืองเดิมอยู่ทางแม่น้ำน้อยที่ ต.โพสังโฆ ใต้วัดสิงห์ลงมา เมื่อครั้งพม่ายกมาล้อมกรุงศรีอยุธยา คราวเสียกรุงในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ชาวบางระจันได้รวมกันตั้งค่ายต่อสู้ข้าศึก รบชนะถึงเจ็ดครั้งจึงเสียค่าย ภายหลังเมืองสิงห์ได้ย้ายมาตั้งทางแม่น้ำเจ้าพระยา ริมปากคลองนกกระทุ่ง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าบางต้นโพ ต.บางมัญ อ.สิงห์บุรี ในสมัยกรุงธนบุรี คราวเดียวกับตั้งเมืองอ่างทอง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๘ จึงตั้ง อ.สิงห์ขึ้นที่เมืองเก่า ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางระจัน          หน้า ๑๐๒๔๑
            ๓๐๖๑. บางรัก  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ ภูมิประเทศเป็นที่ราบ เดิมเป็นอำเภอเรียกว่า อ.บางรัก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๕ จึงเปลี่ยนเป็นเขตบางรัก         หน้า ๑๐๒๔๒
            ๓๐๖๒. บางละมุง  อำเภอขึ้น จ.ชลบุรี มีอาณาเขตทิศตะวันตก ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศมีเกาะ ภูเขา และป่าไม้เป็นส่วนมาก มีที่ราบสำหรับการเพาะปลูกบ้างเป็นบางตอน         หน้า ๑๐๒๔๓
            ๓๐๖๓. บางเลน  อำเภอขึ้น จ.นครปฐม ภูมิประเทศเป็นที่ยาวไปตามลำแม่น้ำนครชัยศรีทั้งสองฝั่ง เป็นที่ราบลุ่มทำนาได้ดี ทางฝั่งขวาตอนที่ห่างแม่น้ำออกไปเป็นป่าโปร่ง
                อ.บางเลนเดิมเรียกว่า อ.บางปลา เพราะสมัยหนึ่งตั้งที่ว่าการอยู่ที่ ต.บางปลา ต่อมาย้ายไปตั้งที่ ต.บางเลน จึงเปลี่ยนชื่อตามตำบลที่ตั้งที่ว่าการ        หน้า ๑๐๒๔๓
            ๓๐๖๔. บางสะพาน  อำเภอขึ้น จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีอาณาเขตทิศตะวันตกจดทิวเขาตะนาวศรี ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า ทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางทิศตะวันออก จากเหนือไปใต้เป็นที่ราบมีป่า และเขาประปราย ทางทิศตะวันตกจากเหนือไปใต้เป็นป่าและเขา
                อ.บางสะพานเดิมเป็นเมืองกำเนิดนพคุณ ขึ้นกลาโหม ยุบเป็น อ.เมืองกำเนิดนพคุณขึ้น จ.ชุมพร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ ด้วยปี พ.ศ.๒๔๔๙ โอนมาขึ้นเมืองปราณบุรีเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางสะพาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐        หน้า ๑๐๒๔๔
            ๓๐๖๕. บางหลวง  เป็นชื่อคลองในอำเภอต่าง ๆ คือ อ.บางเลน อ.เมืองปทุมธานี อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี อ.โพทะเล จ.พิจิตร
                อนึ่ง คำบางหลวงนี้เป็นชื่อหนึ่งของคลองบางกอกใหญ่ กรุงเทพ ฯ        หน้า ๑๐๒๔๕
            ๓๐๖๖. บางหอย  เป็นชื่อคลอง ยอดน้ำเกิดในระหว่างเขต อ.ปากพลี กับ อ.เมือง ๑ จ.นครนายก ไหลลงทางทิศใต้ไปในระหว่างเขตนี้ จบไปลงแม่น้ำนครนายกกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๓๕ กม. มีน้ำตลอดปี คลองนี้มีชื่อเรียกอย่างอื่นเป็นตอน ๆ แต่ยอดน้ำลงมาคือ คลองท่าควายแห คลองท่าอิฐ และคลองบางหอย        หน้า ๑๐๒๔๖
            ๓๐๖๗. บางใหญ่  อำเภอขึ้น จ.นนทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีนาและสวน
                อ.บางใหญ่เดิมเป็นกิ่งอำเภอ เรียกกิ่ง อ.บางแม่นาง ต่อมายกฐานะเป็น อ.บางแม่นาง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางใหญ่        หน้า ๑๐๒๔๗
            ๓๐๖๘. บ้าจี้  เป็นโรคอย่างหนึ่ง อาการของโรคนี้มีสองชนิดคือ
               ชนิดที่หนึ่ง  เป็นอาการสะดุ้งตกใจกลัว เมื่อผู้ป่วยถูกจี้หรือทำให้ตกใจ จะมีอาการชะงักหยุดทำในสิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่ แล้วทำพฤติกรรมอันใหม่ เช่น หัวเราะ ฟ้อนรำ หรือกล่าวคำหยาบออกมาโดยไม่จงใจ และไม่สามารถจะยับยั้งควบคุมไว้ได้
               ชนิดที่สอง  เมื่อผู้ป่วยถูกจี้หรือทำให้ตกใจ ก็จะพูดหรือแสดงกิริยาเลียนตามบุคคลที่มาทำให้ผู้ป่วยตกใจ และต้องทำตามโดยไม่มีทางขัดขืน จนกว่าคุมที่มาจี้ผู้ป่วยจะหยุดล้อเลียน แม้ว่าผู้ป่วยจะควบคุมตนเองไม่ได้ แต่ตลอดเวลาที่ถูกจี้ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี และบางครั้งอาจจะพยายามคัดค้านการล้อเล่น ที่ตนต้องฝืนใจกระทำ
                โรคนี้พบบ่อยในหญิงชวา มาเลเซีย และคนไทย ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองพบมากแต่ปัจจุบันพบน้อยลง      หน้า ๑๐๒๔๗
            ๓๐๖๙. บาเจาะ  อำเภอขึ้น จ.นราธิวาส มีอาณาเขตทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง
                อ.บาเจาะเดิมตั้งที่ว่าการอำเภอที่ ต.กาเยาะมาตี ย้ายไปตั้งที่ ต.บาเจาะ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐           หน้า ๑๐๒๔๘
            ๓๐๗๐. บาซิลิกา  เป็นชื่อที่ใช้เรียกอาคารสถานที่ประเภทหนึ่ง ซึ่งชาวโรมันสร้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการพิจารณาคดี ตัดสินความหรือเพื่อธุรกิจในด้านการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก หมายถึงสถานที่          หน้า ๑๐๒๔๘
            ๓๐๗๑. บาดทะจิต - ลม  เป็นชื่อลมชนิดหนึ่ง เกิดจากเหตุหลายประการ เช่น ตกใจ เสียใจอย่างมาก โมโหสุดขีด จิตใจและอารมณ์ผันผวนอย่างหนัก จิตระส่ำระส่าย เกิดอาการทางประสาท ผู้ป่วยมีความเจ็บแค้นอาฆาตพยาบาทเป็นทุนเดิม เมื่อกระทบกับอารมณ์อันไม่พึงใจก็มักจะเกิดความหวั่นไหวของจิตอย่างแรง มีอาการเหมือนมีดบาดหัวใจ ตกใจ และสะดุ้งหวาดผวามาก อาจทำให้สิ้นสติ เสียสติ คลุ้มคลั้ง ทำร้ายผู้อื่น ถ้าเป็นมากทำให้ตายได้
                ลมบาดทะจิตนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง คือ โรคบ้านั้นเอง         หน้า ๑๐๒๕๑
            ๓๐๗๒. บาดทะพิษ - โรค  เกิดจากการอักเสบมีเชื้อโรคเข้าทางแผล ซึ่งเกิดจากการถูกแทง ถูกฟัน หรือถูกทิ่มตำจากไม้กลัดหนาม หรือตะปูที่มีสนิม หรือแผลที่เป็นอยู่นั้นกลายเป็นพิษขึ้นมา เพราะรักษาความสะอาดไม่พอ ลักษณะแผลจะมีอาการอักเสบ บวม มีอาการเจ็บปวดมาก เจ็บปวดเข้าหัวใจ เกิดการชักกระตุก ซึ่งปรากฏภายใน ๒๔ ชม. มักรักษาไม่ทัน แต่พอมีโอกาสหายได้ ถ้ารักษาทันท่วงที ขณะที่โลหิตยังไม่มีพิษ
                โรคบาดทะพิษนี้ตรงกับโรคทางแพทย์แผนปัจจุบันคือ โรคบาดทะยัก       หน้า ๑๐๒๕๓
            ๓๐๗๓. บาดทะยัก - โรค  เกิดจากการมีเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียมเตตะนีเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล เชื้อนี้เจริญได้ดีในที่ไม่มีอากาศ มีสปอร์ซึ่งทนต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีมาก อาจอยู่ได้เป็นปี ๆ เมื่อได้รับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โรคนี้จะกลับฟื้นใหม่ได้อีก ตรวจพบเชื้อนี้ได้ในมูล (ลำใส้) ของสัตว์หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์พวกม้า และวัวควาย บางคราวพบได้ในอาหารที่บริโภค ทำให้เชื้อนี้เข้าไปอยู่ในลำใส้ของคนได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดโรคในรายที่มีผนังเยื่อเมือกบุลำใส้ปรกติ
                เชื้อบาดทะยักก่อให้เกิดโรคแก่คนได้ด้วยการเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล เมื่อเชื้อเข้าสู่บาดแผลแล้วจะเพิ่มจำนวนขึ้นในบริเวณนั้น อย่างรวดเร็วแล้วสร้างพิษพร้อมไปด้วย
                เมื่อเชื้อเข้าสู่บาดแผลแล้วยังไม่ได้ทำให้เกิดอาการทันที ต้องอาศัยระยะเวลาฟักตัว จะปรากฎอาการระหว่าง ๒ - ๕๐ วัน อาการของโรครุนแรงมาก ถ้าระยะเวลาฟักตัวสั้น บางคราวพบอาการล่าไปมาก คือแผลตกสะเก็ดแล้วจึงมีอาการ
                เมื่อเป็นโรคนี้และหายแล้วจะไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าเกิดบาดแผลที่สกปรกในคราวต่อไป ก็ควรได้รับการฉีดยาป้องกันบาดทะยักไว้ด้วย     หน้า ๑๐๒๕๓
            ๓๐๗๔. บาดาล ๑  คืออาณาบริเวณ และสภาวะแวดล้อมรวมทั้งสิ่งที่มีชีวิต เช่น ปลาน้ำลึกในทะเล หรือในพื้นที่ท้องมหาสมุทรที่ลึกตั้งแต่ ๒,๐๐๐ เมตร ลงไปเป็นบริเวณที่ไม่มีแสงสว่าง อุณหภูมิต่ำ และไม่เปลี่ยนแปลง มีความกดสูง มักมีแต่พวกโคลนตมทับถมกันอยู่ ตะกอนที่ตกสะสมเหล่านี้ เรียกตะกอนชั้นบาดาลที่ราบบนพื้นท้องมหาสมุทร ในบริเวณนี้เรียกพื้นราบชั้นบาดาล ในบริเวณพื้นราบชั้นบาดาล และในแอ่งซึ่งมีสันเขาเนิน และร่องลึกคั่นอยู่นี้ ปรกติมักจะพบเขาที่สูง โดยเฉลี่ยประมาณ ๑๐๐ - ๒๐๐ เมตร กว้างประมาณ ๑๐ เมตร เรียกเขาชั้นบาดาล         หน้า ๑๐๒๕๙
            ๓๐๗๕. บาดาล ๒  คือน้ำใต้ดินที่เกิดอยู่ในชั้นดิน กรวด ทรายหรือหิน ซึ่งอยู่ลึกจากผิวดิน เกินความลึกที่รัฐมนตรีกำหนด แต่จะกำหนดความลึกน้อยกว่าสิบเมตรไม่ได้         หน้า ๑๐๒๕๙
            ๓๐๗๖. บาดาล ๓  คือนาคพิภพ หรือเมืองที่อยู่ของพญานาค ตามความเชื่อถือมาแต่โบราณว่าอยู่ใต้โลกมนุษย์ลงไปเจ็ดชั้น          หน้า ๑๐๒๕๙
            ๓๐๗๗. บาตร  เป็นภาชนะของนักบวชสำหรับอาหาร นักบวชก่อนพุทธกาลที่เรียกกันว่า นักบวชนอกพระพุทธศาสนา ใช้วัตถุต่าง ๆ เป็นบาตร เช่น ผลน้ำเต้าแห้ง
                ในวินัยพุทธบัญญัติ บาตรเป็นบริขารดั้งเดิม สำหรับตัวของภิกษุด้วยอย่างหนึ่ง เป็นคู่กับไตรจีวร ที่อนุญาตไว้มีสองชนิดคือ บาตรดินเผา สุมให้ดำสนิทขัดผิวรมเป็นมันอย่างหนึ่ง ห้ามไม่ให้ใช้ของอื่นแทนบาตร บาตรชนิดอื่นก็ห้ามใช้รวมสิบเจ็ดอย่างคือ บาตรเงิน บาตรทอง บาตรแก้วมณี บาตรแก้วไพฑูรย์ บาตรแก้วผลึก บาตรแก้วหุง บาตรทองแดง บาตรทองเหลือง บาตรดีบุก บาตรสังกะสี บาตรไม้ ฝาบาตรและเชิงบาตรเป็นของเกิดมีภายหลัง
                บาตรดังกล่าวภิกษุมีสำหรับตัวได้เพียงใบเดียว โปรดให้อธิฐานคือ ตั้งเอาไว้สำหรับใช้ประจำเกินกว่านั้นไม่ได้       หน้า ๑๐๒๖๐
            ๓๐๗๘. บาท - เงิน  เป็นหน่วยเงินตราไทยในปัจจุบันซึ่งเท่ากับ ๑๐๐ สตางค์ ใช้วัดมูลค่าสินค้า และบริการต่าง ๆ มูลค่าที่วัดออกมาเป็นบาทเรียกว่าราคา
                คำว่าบาท ของหน่วยเงินตราไทย สันนิษฐานว่า คงมาจากคำว่าบาทที่เป็นหน่วยตามมาตรา ซึ่งน้ำหนักของไทย ทั้งนี้ตามประวัติเงินตราของแต่ละประเทศ สมัยเมื่อยังใช้โลหะเงิน และทองคำเป็นเงินตรานั้น การซื้อขายและเปลี่ยนสินค้าตกลงกันเป็นหน่วยน้ำหนัก ของโลหะเงินและทองคำ
                ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงมาตราเงินไทยมาเป็นบาทและสตางค์ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๑ เพราะมาตราเดิมไม่สะดวกในการคำนวณ และการลงบัญชี
                การกำหนดค่าเงินสกุลใดสกุลหนึ่งโดยเทียบกับน้ำหนักทองคำบริสุทธิ์ หรือหน่วยเงินตราสกุลอื่น ๆ หรือไม่ระยะหลังกับสิทธิพิเศษถอนเงินตามนัย ข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศซึ่งในระยะหลังเรียกว่า ค่าเสมอภาคนั้น กรณีเงินบาทก็มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ประเทศไทย ได้เริ่มประกาศกำหนดค่าของบาท เป็นน้ำหนักทองคำบริสุทธิ์ และหน่วยปอนด์สเตอริง ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ โดยอัตราค่าเทียบเท่าของบาทได้เปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ๆ อยู่ตลอดมา เช่น ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๑ - ๒๔๗๔ อัตรา ๑ บาท ต่อมาน้ำหนักทองคำบริสุทธิ์ ๐.๖๖๕๖๗ กรัม และ ๑๑ บาท ต่อ ๑ ปอนด์สเตอลิง ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๕ - ๒๔๘๙ อัตรา ๑ บาท ต่อทองคำบริสุทธิ์ ๐.๒๕๙๗๔ กรัม และ ๑ บาท ต่อ ๑ เยนญี่ปุ่น ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๐ - ๒๔๙๘ อัตรา ๑ บาท ต่อ น้ำหนักทองคำบริสุทธิ์ ๐.๐๗๑๐๙๓๗ กรัม และ ๓๕ บาท ต่อ ๑ ปอนด์สเตอลิง กับ ๑๒.๕๐ บาท ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ อัตรา ๑ บาท ต่อน้ำหนักทองคำบริสุทธิ์ ๐.๐๔๒๗๒๔๕ กรัม และ ๒๐.๘๐ บาท ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ อัตรา ๑ บาท ต่อ ทองคำ ๐.๐๓๙๓๕๑๖ กรัม และ ๒๐.๘๐ บาท ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ.๒๕๑๖ อัตรา ๑ บาท ต่อ ๐.๐๓๕๔๑๖๔ กรัม และ คงค่า ๒๐.๘๐ บาท ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
                ในปี พ.ศ.๒๕๒๑ ยกเลิกการกำหนดค่าเสมอภาคของบาท และเปลี่ยนหลักการที่ต้องผูกพันค่าของบาทกับทองคำ และค่าของดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว เป็นการผูกโยงแลกเปลี่ยนของบาทอยู่กับค่าของเงินตราต่างประเทศหลายสกุลประสมกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของบาท และช่วยทำให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น       หน้า ๑๐๒๖๓
            ๓๐๗๙. บาทหลวง  บางทีเขียนว่า บาดหลวง เป็นคำไทยที่ใช้เรียกนักบวชของศาสนาคริสต์ ส่วนใหญ่นักบวชในนิกายโรมันคาทอลิก ปัจจุบันคำว่าบาทหลวงหมายถึง นักบวชที่มีสมณศักดิ์ของคริสต์ศาสนา เช่น บิชอป หรือสูงกว่านั้น แต่ปัจจุบัน ใช้ในความหมายถึงนักบวชทั่ว ๆ  ไป ของคริสต์ศาสนา โดยไม่จำกัดฐานะและสมณศักดิ์         หน้า ๑๐๒๖๖
            ๓๐๘๐. บ้าน  มีบทนิยามว่า "ที่อยู่, บริเวณที่เรือนตั้งอยู่ ถิ่นที่มีมนุษย์อยู่ หมู่บ้าน"
                โดยเหตุที่บ้านและเมืองมีลักษณะใกล้เคียงกัน ในคำพูดธรรมดาจึงใช้คำซ้อนกันว่า "บ้านเมือง" หมายความว่า เป็นเขตซึ่งเป็นที่อยู่ของชุมนุมชน เป็นคำรวมอย่างกว้าง ๆ ไม่จำกัดว่าเป็นบ้านเป็นเมืองหรือประเทศ
                บ้านกับเรือน มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน เรียกซ้อนกันว่า "บ้านเรือน" คือสิ่งปลูกสร้างสำหรับเป็นที่อยู่ เช่น ปลูกเรือนว่าปลูกบ้าน มีเรือนว่ามีบ้าน       หน้า ๑๐๒๖๙
            ๓๐๘๑. บ้านกรวด  อำเภอขึ้น จ.บุรีรัมย์ มีอาณาเขตทิศใต้จดทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ภูมิประเทศเป็นป่าดงและป่าทึบ มีที่ราบทำนา ทำไร่ ได้ประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ทั้งหมด
                อ.บ้านกรวดแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ประโคนชัย ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘           หน้า ๑๐๒๗๖
            ๓๐๘๒. บ้านเขว้า  อำเภอขึ้น จ.ชัยภูมิ ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเนิน มีภูเขาและโดยทั่ว ๆ ไปเป็นป่าโปร่ง
                อ.บ้านเขว้าเดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.เมืองชัยภูมิ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑           หน้า ๑๐๒๗๖
            ๓๐๘๓. บ้านค่าย  อำเภอขึ้น จ.ระยอง ภูมิประเทศเป็นที่ดอน ตอนลุ่มน้ำระยองเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา
                อ.บ้านค่ายตั้งขึ้นราวปี พ.ศ.๒๔๔๔         หน้า ๑๐๒๗๖
            ๓๐๘๔. บานชื่น  เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในประเทศเมกซิโก พันธุ์ไม้นี้มีต้นเล็กสูงเพียง ๓๐ - ๗๕ ซม. ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามไม่มีก้านใบ รูปร่างคล้ายรูปไข่ ค่อนข้างยาว ๔ - ๑๐ ซม. กว้าง ๓ - ๕ ซม. มีขนคายอยู่ทั่วไปทั้งใบ และลำต้น
                ดอกออกที่ยอด รูปร่างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ - ๘ ซม. ยาว ๑๐ - ๒๐ ซม. มีสีต่าง ๆ  แทบทุกสี         หน้า ๑๐๒๗๗
            ๓๐๘๕. บ้านด่านลานหอย  อำเภอขึ้น จ.สุโขทัย ภูมิประเทศเป็นป่าและที่ราบในบางตอน
                อ.บ้านด่านลานหอยเดิมเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น จ.เมืองสุโขทัย ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖           หน้า ๑๐๒๗๘
            ๓๐๘๖. บ้านดุง  อำเภอขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง
                อ.บ้านดุงแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ขึ้น อ.หนองหาน ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖         หน้า ๑๐๒๗๘
            ๓๐๘๗. บ้านตาก  อำเภอขึ้น จ.ตาก ภูมิประเทศทางทิศเหนือ และทางทิศตะวันตกเป็นทิวเขา มีต้นไม้หนาแน่น สองฝั่งแม่น้ำปิง เป็นที่ราบลุ่ม ทำนาได้ดีตลอด
                อ.บ้านตาก เป็นที่ตั้งเมืองตากเก่า ซึ่งย้ายไปตั้งที่บ้านระแหงในรัชกาลที่สอง ยังเขียนปรากฎอยู่ มีวัดเก่าเรียกวัดพระธาตุ และมีเจดีย์แบบสุโขทัยเรียกกันว่า เจดีย์ชนช้าง ครั้งสมัยพ่อขุนรามคำแหงชนช้างกับขุนสามชน       หน้า ๑๐๒๗๘
            ๓๐๘๘. บ้านตาขุน   อำเภอขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศเป็นภูเขา และป่าทึบ ประมาณสองในสามของพื้นที่ทั้งหมด
                อ.บ้านตาขุนแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ขึ้น อ.คีรีรัฐนิคม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖         หน้า ๑๐๒๘๐
            ๓๐๘๙. บานทะโรค  เป็นคำที่แพทย์แผนโบราณเรียกโรคริดสีดวงทวารหนักระยะสุดท้าย มีติ่งออกมาจากทวารหนัก บวมโป่งเป่งจนเป็นก้อนจุกอยู่ ไม่สามารถดันกลับเข้าไปในทวารหนักได้ เพราะมีการอักเสบอย่างมาก ทำให้เจ็บปวด มีเลือดออกนั่งไม่ได้ มีไข้สูง ถ่ายอุจาระและปัสสาวะไม่ออก
                การรักษาที่ดีคือ ระวังไม่ให้ท้องผูกเป็นพรรดึก ต้องกินอาหารที่ทำให้ท้องไม่ผูก        หน้า ๑๐๒๘๐
            ๓๐๙๐. บ้านแท่น  อำเภอขึ้น จ.ชัยภูมิ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีป่าโปร่งทั่วไป ด้านเหนือเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การเพาะปลูก ด้านตะวันออก และตะวันตก เป็นที่ราบสูงและภูเขา
                อ.บ้านแท่น แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ขึ้น อ.ภูเขียว ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕         หน้า ๑๐๒๘๔
            ๓๐๙๑. บ้านนา  อำเภอขึ้น จ.นครนายก ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นป่าและเขา ตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มทำนาได้
                อ.บ้านนาเดิมตั้งที่ว่าการที่ท่าหุบ ต.ท่าช้าง แล้วย้ายไปตั้งที่ วังกะเบิ้ง ต.ดงยาง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ แล้วเปลี่ยนชื่อ ต.ดงยางเป็น ต.บ้านนา ให้ตรงกับชื่ออำเภอได้โอนไปขึ้น จ.สระบุรี อยู่คราวหนึ่ง ครั้งยุบ จ.นครนายกไปขึ้น จ.ปราจีนบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ ครั้นตั้ง จ.นครนายกใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ จึงโอนกลับมาขึ้น จ.นครนายก ตามเดิม         หน้า ๑๐๒๘๔
            ๓๐๙๒. บ้านนาสาร  อำเภอขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม บางแห่งเป็นป่าสูง อำเภอนี้มีเขาหนองเป็นเขาสูงสุดของอำเภอ แม่น้ำตาปีไหลผ่าน มีซากเมืองเก่าสมัยศรีวิชัย เรียกว่า เมืองเวียงสระ มีเจดีย์ปราสาทคูเมือง และมีพระพุทธรูปหินอ่อนในสมัยเดียวกัน
                อ.นาสารเดิมเรียกว่า อ.ลำพูน ตั้งอยู่ที่บ้านนา และมีอำเภออื่น ๆ รวมอยู่ด้วยสี่อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ต่อมาได้แยกและตัดแบ่งท้องที่เป็นอำเภอและตำบลต่าง ๆ หลายคราวในที่สุด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ ได้โอน อ.ลำพูนมาขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านนาสาร          หน้า ๑๐๒๘๕
            ๓๐๙๓. บ้านบึง  อำเภอขึ้น จ.ชลบุรี ภูมิประเทศตอนใต้เป็นภูเขา ป่าและเนินสูง ตอนกลางเป็นที่ราบสูง ตอนเหนือเป็นที่ราบต่ำ
                อ.บ้านบึงเดิมเป็นกิ่งอำเภอ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         หน้า ๑๐๒๘๖
            ๓๐๙๔. บานบุรี  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ ปลูกเป็นไม้ประดับ มีสองชนิดคือ บานบุรีเหลือง กับบานบุรีม่วง เป็นไม้สูงเลื้อย ทรงต้นเป็นพุ่มแต่ปลายกิ่ง ใบออกรอบข้อ ๓ - ๔ ใบ รูปยาวรี ดอกออกเป็นช่อ โคนติดกันเป็นท่อแคบ ๆ ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. แล้วผายออกเป็นรูปโค้ง และระฆัง ปลายสุดแยกเป็นกลีบมน ๆ ห้ากลีบ         หน้า ๑๑๒๘๖
            ๓๐๙๕. บ้านโป่ง  อำเภอขึ้น จ.ราชบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน ตอนกลาง และตอนใต้เป็นที่ลุ่ม
                อ.บ้านโป่งเคยเป็นที่ตั้งค่ายในเวลาซ้อมรบเสือป่า กองอาสาสมัครรักษาดินแดนในรัชกาลที่หก เป็นชุมทางสำคัญแห่งหนึ่ง มีทางรถไฟสายใต้ติดต่อ จ.ราชบุรี และ จ.นครปฐม มีสถานที่ชุมทางหนองปลาดุก แยกไปกาญจนบุรี - สุพรรณบุรี         หน้า ๑๐๒๘๗
            ๓๐๙๖. บ้านผือ  อำเภอขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศตอนใต้จากตะวันออกไปตะวันตกเป็นที่สูงเป็นดงใหญ่และค่อยๆ ลาดเทลงไปทางเหนือ ตอนตะวันออกเป็นเนินสูง มีโคกและป่าโปร่ง โดยมากเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ ตอนใต้เหมาะแก่การทำสวน ตอนกลางเป็นที่ราบลาดเอียงไปทางเหนือ มีห้วย และลำธารผ่านหลายสาย ไหลไปทางทิศเหนือลงสู่แม่น้ำโขง
                อ.บ้านผือตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐       หน้า ๑๐๒๘๘
            ๓๐๙๗. บ้านไผ่  อำเภอขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีทุ่งและป่าโปร่งเป็นจำนวนมาก เป็นชุมทางของทางหลวงสายต่าง ๆ ที่มาจาก อ.เมืองขอนแก่น อ.ปัญจาคีรี และจาก จ.กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด         หน้า ๑๐๒๘๙
            ๓๐๙๘. บ้านพลูหลวง - ราชวงศ์  เป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๓๑๐ สมเด็จพระเพทราชาทรงตั้งราชวงศ์นี้ โดยทำการปราบดาภิเษกมีพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อมา คือ
                    ๑. สมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๒๔๖)
                    ๒. สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่แปด (พระเจ้าเสือ) (พ.ศ.๒๒๔๖ - ๒๒๕๑)
                    ๓. สมเด็จพระภูมินทรราชา (พระเจ้าท้ายสระ) (พ.ศ.๒๒๕๑ - ๒๒๗๕)
                    ๔. สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑)
                    ๕. สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (พ.ศ.๒๓๐๑)
                    ๖. สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (พ.ศ.๒๓๐๑ - ๒๓๑๐)     หน้า ๑๐๒๙๐
            ๓๐๙๙. บ้านแพง  อำเภอขึ้น จ.นครพนม มีอาณาเขต ทางทิศตะวันออกตกแม่น้ำโขง ภูมิประเทศมีภูเขามาก
                อ.บ้านแพงเดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ท่าอุเทน ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙        หน้า ๑๐๒๙๘
            ๓๑๐๐. บ้านแพรก  อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศทั่ว ๆ ไปเป็นที่ราบต่ำ หน้าน้ำน้ำท่วม อ.บ้านแพรกเดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.มหาราช ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒          หน้า ๑๐๒๙๙
            ๓๑๐๑. บ้านแพ้ว  อำเภอขึ้น จ.สมุทรสาคร ภูมิประเทศส่วนมากเป็นทุ่งนา ทางตะวันออกมีสวนบ้าง ทางตะวันตกมีไร่ผักเล็กน้อย
                อ.บ้านแพ้วเดิมเป็นตำบลขึ้น อ.บ้านบ่อ ต่อมาได้ยุบ อ.บ้านบ่อแล้วยกท้องที่ในอำเภอที่ยุบนี้บ้างใน อ.สามพราน จ.นครปฐม บ้างมารวมตั้งเป็น อ.บ้านแพ้ว         หน้า ๑๐๒๙๙
            ๓๑๐๒. บ้านโพธิ ๑  อำเภอขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา ภูมิประเทศตอนตะวันออกส่วนมาก เป็นที่ดอน มีป่าไม้ย่อย ๆ บ้าง ตอนเหนือใต้และตะวันตกเป็นที่ลุ่ม ทำการเพาะปลูกได้ทั่ว ๆ ไป
                อ.บ้านโพธิเดิมเรียกว่า อ.สนามจันทร์ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เขาดิน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านโพธิ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เพื่อให้ตรงกับตำบลที่ตั้งที่ว่าการ        หน้า ๑๐๓๐๐
            ๓๑๐๓. บ้านโพธิ ๒  เป็นชื่อคลองใน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ตั้งต้นใน ต.บ้านโพธิ ไหลลงไปทางใต้ สุดท้ายไปลงคลองสองพี่น้องใน ต.วัดโบสถ์ ยาว ๓๖ กม. มีน้ำตลอดปี คลองนี้บางตอนมีลักษณะเป็นบึง และมีชื่อเรียกอย่างอื่นเป็นตอน ๆ          หน้า ๑๐๓๐๐
            ๓๑๐๔. บ้านม่วง  อำเภอขึ้น จ.สกลนคร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งเป็นป่า
                อ.บ้านม่วงแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑        หน้า ๑๐๓๐๑
            ๓๑๐๕. บานไม่รู้โรย  เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในเขตร้อนของอเมริกา มีลำต้นค่อนข้างแข็ง แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มเล็ก ๆ สูง ๓๐ - ๖๐ ซม. ใบเดี่ยวออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปใบรี ก้านใบสั้น ดอกกลมคล้ายลูกบอลเล็ก ๆ ออกที่ปลายกิ่งมีสามสีคือ ขาว ชมพู และม่วงแดง ส่วนที่เป็นดอกนี้แท้จริงเป็นช่อดอก ซึ่งประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ อัดกันอยู่แน่น เมล็ดมีขนาดเล็กสีดำเป็นมัน         หน้า ๑๐๓๐๑
            ๓๑๐๖. บานเย็น  เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกมีหัวอยู่ใต้ดิน ต้นสูง ๓๐ - ๖๐ ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามรูปไข่ ดอกบานเย็นตอนเย็นมีห้ากลีบ ส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว มีสามสีคือ ขาว แดง และเหลือง
                บานเย็นมีสรรพคุณทางสมุนไพร ในอินเดียและชวาใช้ใบมาบดทำเป็นยาพอกรักษาบาดแผลที่ถูกไฟหรือน้ำร้อนลวก เมล็ดที่บดละเอียดนำมาใช้ทำแป้งผัดหน้า         หน้า ๑๐๓๐๒
            ๓๑๐๗. บ้านไร่  อำเภอขึ้น จ.อุทัยธานี ภูมิประเทศเป็นภูเขาและป่าทึบทั่วไปมีที่ราบทำนาได้ เป็นส่วนน้อย ข้าวที่ทำเป็นข้าวไร่เป็นพื้น จึงได้นามว่าบ้านไร่
                อ.บ้านไร่ เดิมชื่อ อ.หนองแวง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.คอกควาย ตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการ ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๘ ย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ ต.บ้านไร่ และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านไร่         หน้า ๑๐๓๐๓
            ๓๑๐๘. บ้านลาด อำเภอขึ้น จ.เพชรบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือ และตอนตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม ตอนตะวันตกเป็นที่ดอนมีป่าไม้และภูเขา
                อ.บ้านลาด คือ อ.ท่าช้าง ซึ่งเดิมเป็นตำบลขึ้น อ.เมืองเพชรบุรี แยกตั้งเป็น อ.ท่าช้าง แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.บ้านลาด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านลาด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑         หน้า ๑๐๓๐๔
            ๓๑๐๙. บ้านสร้าง  อำเภอขึ้น จ.ปราจีนบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบ         หน้า ๑๐๓๐๔
            ๓๑๑๐. บ้านหมอ  อำเภอขึ้น จ.สระบุรี ภูมิประเทศตอนตะวันออกเป็นที่ดอน มีป่าและภูเขามาก ตอนกลางตอนเหนือและตอนใต้เป็นที่ราบแต่ค่อนข้างดอน ตอนตะวันตกเป็นที่ราบลุ่ม
                อ.บ้านหมอ เดิมเป็น อ.หนองโดน ตั้งอยู่ที่ ต.หนองโดน ซึ่งแต่ก่อนเป็นเมืองเรียกว่า เมืองปรันตปะ หรือเมืองพระพุทธบาท แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.บางโขมด ต่อมายุบเป็น อ.พระพุทธบาท แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.ขุนโขลน แล้วย้ายกลับมาที่ ต.บางโขมดอีก ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๕ ย้ายไปตั้งที่ ต.บ้านหมอ แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.หนองโดน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.หนองโดน ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๔ ย้ายไปตั้งที่ ต.บ้านหมอ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านหมอ        หน้า ๑๐๓๐๕
            ๓๑๑๑. บ้านหมี่  อำเภอขึ้น จ.ลพบุรี ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกและใต้ เป็นที่ราบนอกนั้นเป็นป่าเขา อำเภอนี้เดิมตั้งอยู่ที่ตลาดห้วยแก้ว ต.บางพึ่ง ย้ายมาตั้งที่ ต.บ้านเช่า เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๕๙ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านเช่า ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อ ต.บ้านเช่า เป็น ต.บ้านหมี่ และ อ.บ้านเช่าเป็น อ.บ้านหมี่           หน้า ๑๐๓๐๖
            ๓๑๑๒. บ้านแหลม  อำเภอขึ้น จ.เพชรบุรี มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม
                อ.บ้านแหลมตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ ยุบเสียชั่วคราว แล้วตั้งใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖         หน้า ๑๐๓๐๖
            ๓๑๑๓. บ้านโฮ่ง  อำเภอขึ้น จ.ลำพูน ภูมิประเทศเป็นป่าและเขา
                อ.บ้านโฮ่ง เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ป่าซาง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙         หน้า ๑๐๓๐๗
            ๓๑๑๔. บ้าบ๋า  เป็นชื่อเรียกชนชาวมลายูดั้งเดิมที่เป็นชายเกิดจากพ่อเป็นชาวจีน แม่เป็นหญิงพื้นเมืองชาวมลายู ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าชายลูกผสมหรือพันทาง ถ้าเป็นหญิงเรียกว่า ย่าหยา
                การแต่งกาย ผู้ชายแต่งเหมือนจีน ผู้หญิงแต่งเหมือนมลายู โดยนุ่งโสร่งปาเต๊ะ และสวมเสื้อผ่าอกตลอด แล้วกลัดเข็มกลัดซึ่งมีโซ่ผูกติดพันเป็นสามช่อ        หน้า ๑๐๓๐๗
            ๓๑๑๕. บ้าบิ่น  เป็นขนมที่สุกด้วยการอบหรือผิง เป็นขนมแห้งรสหวานมัน มีประวัติว่าเป็นขนมของฝรั่งชนิดหนึ่ง          หน้า ๑๐๓๐๘
            ๓๑๑๖. บาปเคราะห์  เป็นดาวพระเคราะห์ที่ให้โทษ มีกำเนิดจากธาตุน้ำ เช่นเดียวกับดาวศุภเคราะห์ ดาวเคราะห์บางเหล่าผ่านอาทิตย์เพียงครั้งเดียว บางเหล่าต้องผ่านอาทิตย์ถึงสองครั้ง
                เหล่าที่ผ่านอาทิตย์เพียงครั้งเดียว และรวมทั้งอาทิตย์เองด้วย มีกำลังในตัวมากอยู่แล้ว แล้วเลยไปครองอกุศลธาตุ คือธาตุไฟ และธาตุลม จัดเป็นเหล่าบาปพระเคราะห์ได้แก่ อาทิตย์ (๑)  อังคาร (๓)  เสาร์ (๗)  และราหู (๘)  บาปเคราะห์นั้นอยู่ทิศเฉียง ฝ่ายศุภเคราะห์อยู่ทิศตรง ฐานะหรือตำแหน่งบาปเคราะห์ และศุภเคราะห์ต้องสลับกันอยู่เสมอ        หน้า ๑๐๓๑๐
            ๓๑๑๗. บาพนม  เป็นชื่อภูเขาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศกัมพูชา ใกลักับปากแม่น้ำโขง มีผู้สันนิษฐานว่า เมืองวยาธปุระ ซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรฟูนัน อันเป็นอาณาจักรแรกสุดที่รู้จักกันในแหลมอินโดจีน มีอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๑๒ นั้น คงตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเขาบาพนมนี้ และใกล้กับหมู่บ้านบุนัมในปัจจุบัน
            ๓๑๑๘. บายน - ปราสาท  เป็นปราสาทที่ก่อด้วยศิลาทราย พระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ทรงสร้างราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นศูนย์กลางของเมืองพระนครหลวง หรือพระนครธม และสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน
                ปราสาทบายน มีอาณาเขตเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๑๔๐ x ๑๖๐ เมตร ด้านหน้าคือทางทิศตะวันออก มีลานยาวย่อมุมประด้วยด้วยสิงห์ ทวารบาล และนาคราวลูกกรง ซึ่งมีรูปครุฑกำลังยุดนาคทั้งสองข้างของลานทางเข้า มีร่องรอยของสระโบราณตั้งอยู่
                ปราสาทบายนประกอบด้วยปราสาททั้งหมดห้าสิบหลัง ยอดของแต่ละหลังสลักเป็นรูปหน้าคนขนาดใหญ่อยู่ทั้งสี่ทิศ หน้าเหล่านี้อาจเป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสมันตมุข และอาจมีเค้าของพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด แต่บางท่านก็บอกว่าเป็นพักตร์ของพระพรหม ปราสาทเหล่านี้คงหมายถึงแคว้นต่าง ๆ ในราชอาณาจักรขอมในขณะนั้น
                ปราสาทบายนไม่มีกำแพงล้อมรอบเพราะถือว่ากำแพงล้อมรอบชั้นนอกก็คือ กำแพงเมืองพระนครหลวงนั้นเอง แต่มีระเบียงล้อมสองชั้น มีภาพสลักบนระเบียง ทั้งสองชั้น ภาพสลักส่วนใหญ่มักสลักเป็นภาพการยกทัพ และการรบพุ่งทางเรือระหว่างกองทัพขอมกับกองทัพจาม ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด
                คำว่าบายน นักปราชญ์ฝรั่งเศสยังใช้เป็นชื่อเรียกสมัยของศิลปะขอมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ดประมาณปี พ.ศ.๑๗๒๐ - ๑๗๘๐          หน้า ๑๐๓๑๕
            ๓๑๑๙. บายศรี  มีบทนิยามว่า "ข้าวอันเป็นสิริ ข้าวขวัญ ภาชนะใส่เครื่องสังเวย" คำบายศรีเป็นคำภาษาเขมรปนคำภาษาสันสกฤต คือบายแปลว่า ข้าว ศรี แปลว่า ขวัญ บายศรีจึงแปลรวมว่า ข้าวขวัญ
                บายศรีนี้ในชั้นเดิมคือสำรับกับข้าวที่จัดเลี้ยง หรือให้ผู้รับสมโภช หรือทำขวัญกิน แต่ย่อลงมาเหลือเพียงพิธีการ และเป็นอันเดียวกันกับเรื่องข้าวบิณฑ์
                เมื่อพิธีบายศรีได้ย่นย่อมาเหลือแต่พิธีที่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณ พิธีบายศรีจึงมักอยู่ทั้งในราชสำนัก และในหมู่ประชาชนด้วยกันทุกจำพวกไม่ว่าทางภาคเหนือ ทางภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก          หน้า ๑๐๓๑๘
            ๓๑๒๐. บารนี  มีชื่อเต็มว่า กัปตันหันตรี บารนี ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี (หันตรี บารนี)  รัฐบาลอังกฤษในอินเดียได้ส่งเขามาทำสนธิสัญญากับไทย ขอความสะดวกในการค้า เขาเกิดที่เมืองกัลกัตดา ในปี พ.ศ.๒๓๓๔ ได้เป็นนักเรียนนายร้อยในกองทหารอังกฤษของบริษัทอินเดียตะวันออก เขาเรียนภาษาฮินดูสตานีจนมีความรู้ เป็นล่ามประจำกรมทหารของเขา ในปี พ.ศ.๒๓๖๑ เขาได้เลื่อนขั้นเป็นเลขานุการฝ่ายทหารของผู้ว่าราชการอังกฤษประจำเกาะหมาก (ปีนัง) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับรัฐต่าง ๆ ในแหลมมลายู และประเทศไทย เขาเรียนภาษามลายูและไทย จนใช้การได้
                ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียได้แต่ตั้งให้ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี เป็นทูตเข้ามากรุงเทพ ฯ เพื่อเจรจาตกลงกับไทยโดยทางไมตรี และขอให้ทำหนังสือสัญญากับไทยด้วย การเจรจาบรรลุผลสำเร็จในปี พ.ศ.๒๓๖๙ ได้ทำสนธิสัญญาต่อกัน นับว่าเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกระหว่างไทยกับอังกฤษ มีข้อความรวม ๑๔ ข้อ ตัวอย่าง เช่น
                    ข้อ ๑ อังกฤษกับไทยเป็นไมตรีโดยความสัจสุจริตซื่อตรงต่อกัน
                    ข้อ ๒ ถ้าเมืองขึ้นของอังกฤษและของไทยทำการล่วงเกินต่อกัน ต่างฝ่ายก็จะแจ้งให้กันทราบ และจะพิจารณาความผิดตามกรณี
                    ข้อ ๕ ทั้งไทยและอังกฤษจะแต่งเรือไปมาค้าขายต่อกันได้โดยปฏิบัติตามธรรมเนียมบ้านเมืองของแต่ละฝ่าย
                    ข้อ ๑๒ ไทยไม่ขัดขวางการค้าขายของอังกฤษที่เมืองตรังกานู และเมืองกลันตัน
                    ข้อ ๑๓ อังกฤษสัญญาว่าไทยเป็นผู้ปกครองเมืองไทรบุรี ชาวจีนและแขกไปมาค้าขายกับเมืองไทรบุรีได้
                    ข้อ ๑๔ ไทยและอังกฤษจะให้เจ้าเมืองเประพิจารณาเอาเองว่าจะถวายเครื่องราชบรรณาการ ดอกไม้ทองและเงินแด่พระมหากษัตริย์ไทยหรือไม่
                นอกจากนี้ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นีได้ลงนามในสนธิสัญญาอีกฉบับหนึ่งรวม ๖ ข้อ ว่าด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับการค้าขายกับไทย เช่น ปืน และกระสุนปืน ต้องขายแก่รัฐบาลไทย เรืออังกฤษที่บรรทุกสินค้าเข้ามาขาย ต้องเสียค่าธรรมเนียม (ภาษีปากเรือ)  วาละ ๑,๗๐๐ บาท ฯลฯ         หน้า ๑๐๓๒๗
            ๓๑๒๑. บารพตี  เป็นชื่อหนึ่งของพระอุมาผู้เป็นพระมเหสีของพระอิศวรในภาคข้างดี         หน้า ๑๐๓๓๗
            ๓๑๒๒. บารมี  คือคุณธรรมอันประเสริฐสุด หรือคุณธรรมที่ต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์ ท่านแสดงบารมีไว้สิบประการ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา บารมีธรรมนี้ต้องเรียงลำดับ เพราะแต่ละอย่างเกี่ยวเนื่องกันโดยเหตุผล จึงสับลำดับกันไม่ได้
                บารมีธรรมนี้ต้องบำเพ็ญเป็นสามชั้น ชั้นต้นเรียกว่า บารมี ชั้นที่สองเรียกว่า อุปบารมี ชั้นสูงสุดเรียกว่า ปรมัตถบารมี        หน้า ๑๐๓๓๗
            ๓๑๒๓. บารอมิเตอร์  เป็นเครื่องมือสำหรับวัดความดันของบรรยากาศ ในการวัดนั้น ใช้ระดับของลำปรอทสูง ๓๐ นิ้ว เป็นมาตราฐานโดยกำหนดว่าความดัน ๑ บรรยากาศคือ ความดันที่มีค่าเท่ากับความดันของลำปรอทซึ่งสูง ๓๐ นิ้ว ที่ศูนย์องศาเซลเซียส ณ ระดับน้ำทะเลที่เส้นรุ้ง ๔๕ องศา และมักกล่าวสั้น ๆ ว่า "อากาศมีความดัน ๓๐ นิ้วของปรอท" หรือ อากาศมีความดัน ๑ บรรยากาศ         หน้า ๑๐๓๔๐
            ๓๑๒๔. บาเรียม  เป็นชื่อปืนใหญ่สมัยโบราณชนิดหนึ่ง ที่คนไทยใช้เรียกอยู่ระหว่างกรุงธนบุรี ถึงสมัยรัตนโกสินทร์
            ๓๑๒๕. บาลาไลกา  เป็นชื่อเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายซึ่งใช้กันอยู่ในประเทศรุสเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๒๔๓ พวกตาดซึ่งส่วนหนึ่ง อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ทางตอนใต้ของประเทศรุสเซีย เป็นผู้ให้กำเนิดเครื่องดนตรีชนิดนี้ แต่เดิมบาลาไลกาเป็นเพียงเครื่องดนตรีพื้นเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น เพื่อจะมาได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยและเล่นรวมเป็นวงได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑
                บาลาไลกา มีห้าขนาดด้วยกันคือ มีตั้งแต่ขนาดเล็กเสียงแหลมขึ้นไปจนถึงขนาดใหญ่เสียงทุ้มต่ำมาก บาลาไลกาทุกขนาด มีรูปร่างเหมือนกันคือ มีกระพุ้งเสียงเป็นรูปสามเหลี่ยม เอาฐานลงล่างเอาส่วนแหลมขึ้นข้างบน ตรงส่วนแหลมสุดคือ ส่วนที่เชื่อมต่อกัน คันของมันซึ่งมีลักษณะเรียงยาว มีนมโลหะติดอยู่ ๑๙ นมด้วยกัน บาลาไลกาเป็นเครื่องสายที่ใช้นิ้วดีด จึงใช้สายเอ็นโดยทั่วไปมีอยู่สามสาย           หน้า ๑๐๓๖๐
            ๓๑๒๖. บาลี  มีบทนิยามว่า "ภาษาที่ใช้เป็นหลักในพระพุทธศาสนาแต่เดิมมา" คำนี้เดิมที่เขียนเป็นรูปบาฬี ร่วมกับบาลีเป็นสองรูปด้วยกัน เมื่อเริ่มมีโรงเรียนหนังสือไทยในต้นรัชกาลที่ห้า ก็ยังตั้งชื่อพยัญชนะ ฬ ว่า ฬบาฬี
                ภาษาที่ใช้เรียกกันว่า บาลี เดิมเรียกว่า ภาษามคธบ้าง ตันติภาษาบ้าง มูลภาษาบ้างคำว่าบาลีนี้แรกเข้ามาในเมืองไทยมาในรูปของบาฬี มาใช้รูปบาลีเมื่อคราวตีพิมพ์คัมภีร์อรรถกถาเป็นเล่มสมุดใช้อักษรไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ และได้เปลี่ยนชื่อ ฬ บาฬี เป็น ฬ จุฬาตั้งแต่นั้นมา
                ภาษาที่เรียกว่าบาลีในบัดนี้น่าจะได้ชื่อนี้มาแต่เดิมแล้ว เพราะยอมรับกันว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมของพระองค์ด้วยภาษานี้ นักปราชญ์ทางภาษาทั้งฝ่ายตะวันตก และตะวันออกยอมรับกันว่า ภาษาบาลีเป็นแม่ของภาษาอารยัน ชนชาติที่อยู่ในยุโรปอเมริกา และแถบมหาสมุทรอินเดียตลอดลงไปถึงอินโดนีเซีย ออกเสียงภาษานี้ได้ใกล้เคียง หรืออีกนัยหนึ่งชนชาติที่ใช้เครื่องหมายแทนเสียงด้วยตัวหนังสือ ที่ใช้ระบบอักษรใช้อักษรของตนเขียนภาษาบาลีได้ทุกคำได้ทั้งรูปทั้งเสียง เช่น หนังสือไทย เขียนภาษาบาลีได้ครบทุกอย่าง แต่ชนชาติที่อยู่ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก หรือชนชาติที่ใช้เครื่องหมายแทนเสียงด้วยระบบลายลักษณ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น จีนมาถึงญวนใช้หนังสือเขียนภาษาบาลีไม่ได้ แม้เสียงก็เพี้ยนไปมากจนใช้ไม่ได้ ทำให้ชนชาติเหล่านี้ต้องแปลคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นภาษาของตนหมด เลยทำให้คลาดเคลื่อนไปได้บ้าง
                ภาษาบาลีมีความแปลกพิเศษคือ ไม่มีตัวหนังสือของตนเองโดยเฉพาะ ใครจะเรียนภาษาบาลี ผู้นั้นรู้หนังสืออะไรอยู่ก็ใช้หนังสือนั้นเขียนภาษาบาลี เว้นแต่ชนชาติที่อยู่ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเท่านั้น เช่น ไทยเรียนภาษาบาลีก็ใช้หนังสือไทยเขียนภาษาบาลี และอ่านตามสำเนียงของไทยได้ด้วย ปัจจุบันภาษาบาลีในยุโรปและอเมริกา ใช้อักษรโรมันเขียน ในอินเดียใช้อักษรเทวนาครี ในลังกาใช้อักษรสิงหฬ ในพม่าใช้อักษรพม่า ชาวรามัญใช้อักษรรามัญ ในลาวใช้อักษรลาว ในเขมรใช้อักษรเขมร
                 ภาษาบาลีในปัจจุบันถือกันว่า เป็นภาษาตาย คือคงตัวอยู่เท่าเดิม เป็นภาษาโบราณตะวันออก เคยเป็นภาษาที่ใช้พูดประจำวัน เป็นภาษาพื้นเมืองในอินเดีย แถบมัธยมประเทศครั้งพุทธกาล หรือ ก่อนนั้น ต่อมาไม่ใช้พูดคงเป็นเป็นภาษาตำรา เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกไปนอกอินเดียไปยังประเทศใด ภาษานี้ก็ตามไปด้วย ในประเทศไทยใช้เป็นภาษาตำราฝ่ายพระพุทธศาสนา และยังเอามาใช้เขียนประวัติศาสตร์บ้าง ตำราโหราศาสตร์บ้าง ตำราคำนวณบ้าง เขียนนิยายนิทานบ้าง และนำเอาภาษานี้มาใช้เป็นคำบัญญัติในภาษาไทย คือ ภาษาธรรม ภาษาศาสนา ภาษาวิสามานยนาม ชื่อคน ชื่อบ้าน ชื่อเมือง ใช้พูดสนทนากันได้ ใช้แสดงปาฐกถา หรือเทศน์ก็ได้ หรือจะใช้บันทึกข้อความโต้ตอบกัน ปัจจุบันภาษานี้ยังมีประโยชน์แก่ภาษาไทยอย่างมาก          หน้า ๑๐๓๖๑
            ๓๑๒๗. บ่าว  หมายถึง ข้าคือคนรับใช้ทั้งหญิงและชาย มีลักษณะแตกต่างจากทาสและต่ำกว่าไพร่ ในสมัยสุโขทัยมี "ข้าเจ้าบ่าวนาย" หรือมี "ข้ามีเจ้าบ่าวมีนาย"          หน้า ๑๐๓๗๐
            ๓๐๒๘. บ่าวขุน   เป็นวิธีนุ่งผ้าในการพิธีอย่างหนึ่งในสมัยโบราณ คือนุ่งห้อยชายข้างหนึ่ง          หน้า ๑๐๓๗๒
            ๓๑๒๙. บาสเกตบอล  เป็นกีฬาที่มีผู้คิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ เพื่อให้ใช้เล่นในร่มได้ ผู้คิดประดิษฐ์กีฬานี้เป็นครูพละศึกษาที่เมืองสปริงฟิลด์ มลรัฐแมสซาซูเสดส์ สหรัฐอเมริกา
                การเล่นกีฬานี้ตอนแรกไม่มีกฎ กติกาอะไรมากนัก โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายละเก้าคน ผู้เล่นในแต่ละฝ่ายพยายามที่จะพาลูกไปยิงประตู เพื่อทำคะแนนด้วยการถือไปส่งไป หรือเลี้ยงไปก็ได้ ประตูใช้ตะกร้าผลไม้สำหรับใส่ลูกพีชแขวนไว้ข้างฝาข้างละใบ การใช้ตะกร้าเป็นประตูในการเล่นนี้ กีฬาชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า "บาสเกตบอล"  สมาคม ไว.เอ็น.ซี.เอ. นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเผยแพร่กีฬานี้ไปในประเทศต่าง ๆ  เกือบทั่วโลก ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลง และดัดแปลงกติกาให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
                บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่เล่นระหว่างผู้เล่นสองฝ่าย ฝ่ายละห้าคน ผู้เล่นแต่ละฝ่ายพยายามพาลูกบอลเพื่อไปยิงประตูอีกฝ่ายหนึ่ง อาจจะด้วยการส่ง การโยน การตี การกลิ้ง หรือเลี้ยงลูกไปก็ได้          หน้า ๑๐๘๗๓
            ๓๑๓๐. บาสซูน  เป็นเครื่องมือดนตรีสากลประเภทเครื่องเป่าลม มีผู้คิดสร้างขึ้นจากปี่โบราณชนิดหนึ่ง  เมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๘๒
                ปี่บาสซูนมีรูปร่างผิดแผกจากปี่ชนิดอื่นมาก เพราะใช้ท่อลมทั้งหมดยาวถึง ๒.๗๒๕ เมตร เอามาทบกันเข้า เพื่อให้ลำตัวปี่สั้นลงเหลือเพียง ๑.๒๐ เมตร
                โดยเหตุที่ท่อลมยาว บาสซูนจึงเป็นปี่ที่มีเสียงค่อนข้างต่ำ แหบ และกร้าว ไม่แจ่มใสเหมือนปี่อื่น ๆ            หน้า ๑๐๓๗๗
            ๓๑๓๑. บ้าหมู ๑  มีบทนิยามว่า "ลมชนิดหนึ่งมักหอบเอาของเป็นวงกลมขึ้นไปทำให้มองเห็นเป็นลำได้ ลมนี้มีอาณาบริเวณแคบ ๆ มักเกิดได้บ่อยในฤดูร้อน มีความรุนแรงไม่มากนัก ไม่มีความแน่นอนในเรื่องทิศทาง เกิดอยู่ในระยะเวลาไม่นาน          หน้า ๑๐๓๘๐
            ๓๑๓๒. บ้าหมู ๒  เป็นชื่อโรคชนิดหนึ่ง เรียกว่า "โรคลมบ้าหมู" รู้จักกันมานานตั้งแต่สมัยพุทธกาล ผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่ได้รับพุทธานุญาตให้บวชในพระพุทธศาสนา
                แพทย์แผนโบราณของไทยได้กล่าวถึง โรคลมบ้าหมูไว้โดยย่อดังนี้ คือ โรคลมชนิดนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายคนเป็นบ้า มีอาการหัวหมุน ชัก น้ำลายไหลเป็นฟอง มือเท้ากำแน่น กัดฟันแน่น วิธีรักษาต้องใช้ยามีรสร้อน
                แพทย์แผนปัจจุบัน กล่าวถึงโรคลมบ้าหมูว่า เป็นความผิดปรกติเกี่ยวกับหน้าที่ของสมองใหญ่เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ และเป็นซ้ำ ๆ  มีลักษณะคือ อาการเกิดขึ้นทันที ผู้ป่วยหมดความรู้สึกตัวเป็นระยะเวลาสั้น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความรู้สึกการเคลื่อนไหว หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งผิดปรกติ          หน้า ๑๐๓๘๑
            ๓๑๓๓. บาหลี  หนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย จัดอยู่ในกลุ่มหมู่เกาะซุนดาน้อย เกาะบาหลีอยู่ห่างจากเกาะชวาไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทาง ๑.๖ กม. ชาวฮอลันดาได้มาที่เกาะบาหลีเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๐ แต่ได้เข้ามาปกครองอย่างเป็นทางการเต็มที่ในปี พ.ศ.๒๔๕๑
                เกาะบาหลีมีพื้นที่ ๕,๖๒๓ ตารางกิโลเมตร มีภูเขาไฟหลายลูก ชาวบาหลีมีอาชีพทางการเพาะปลูก มีพลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ชาวบาหลีส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๙๐ อยู่ในวรรณะศูทร พวกที่นับถือศาสนาอิสลามมีอยู่บ้างทางภาคเหนือ และภาคตะวันตกของเกาะ ชาวบาหลีมีภาษาของตนโดยเฉพาะ แต่ในภาษาของหมู่ชั้นวรรณะสูง มีภาษาสันสกฤตปนอยู่ด้วย           หน้า ๑๐๓๘๔
            ๓๑๓๔. บำราบปรปักษ์  เป็นพระราชทินนาม ของเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นสอง เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นนักปราชญ์ราชกวีบัณฑิต ทรงเชี่ยวชาญในราชการใหญ่น้อยทั้งปวงมาหลายรัชกาล ในรัชกาลที่ห้าได้เป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนักและว่าพระคลังทั้งปวง ต่อมาได้เป็นผู้สำเร็จราชการในกรมมหาดไทย หรืออัครมหาเสนาบดีที่ สมุหนายก ทรงเป็นต้นสกุลวงศ์ "มาลากุล ณ อยุธยา"
                สมเด็จ ฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ประสูติ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๒ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๕ ในรัชกาลที่สอง สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๔๒๙          หน้า ๑๐๓๘๖
            ๓๑๓๕. บำรุงเมือง - ถนน  เป็นถนนสายหนึ่งในกรุงเทพ ฯ เริ่มตั้งแต่ถนนสนามไชยไปจนถึงสะพานกษัตริย์ศึก รวมความยาว ๒,๕๔๐ เมตร สร้างในปีรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว          หน้า ๑๐๓๙๑
            ๓๑๓๖. บำเหน็จณรงค์  อำเภอขึ้น จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศตอนตะวันตก และตอนเหนือเป็นที่ราบสูง  และที่ดอนปนหินมีป่าดงและภูเขา ตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม หน้าน้ำน้ำท่วมถึง มีโคก และสันเขาบ้าง
                อ.บำเหน็จณรงค์เดิมเป็นด่าน แล้วตั้งเป็นเมืองบำเหน็จณรงค์ รัชกาลที่สามขึ้นเมืองนครราชสีมา ถึงรัชกาลที่ห้ายุบเป็นอำเภอพร้อมกับยุบเมืองจตุรัส แล้วกลับตั้งเป็น กิ่ง อ.บำเหน็จณรงค์ ขึ้น อ.จตุรัสเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านชวน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่ง อ.บำเหน็จณรงค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙           หน้า ๑๐๓๙๒
            ๓๑๓๗. บิชอบ  เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์ในคริสต์ศาสนา นิกายโปรเตรแตนก์ ลัทธิแองกลิกัน ในนิกายโรมันคาทอลิก และในนิกายออร์โทดอกซ์
                ในคริสต์จักรอังกฤษมีอาร์ชบิชอบแห่งแคนเตอร์เบอรี่ เป็นประมุข และได้รับแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์อังกฤษ รองประมุขได้แก่ อาร์ชบิชอบแห่งยอร์ก ถัดลงมามีบิชอบประจำเมืองใหญ่ ๆ หรือ เมืองที่มีความสำคัญทางคริสต์จักรอังกฤษ เช่น กรุงลอนดอน เมืองวินเชสเตอร์ เบอร์มิงแฮม บริสตอล อีลีเดอราม ออกซฟอร์ด ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์เป็นต้น ในดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษ และปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศอิสระแต่ยังรวมอยู่ในจักรภพ เช่น แคนาดา และออสเตรเลีย ก็มีบิชอบเช่นเดียวกัน ในประเทศไทยไม่มีบิชอบคริสต์จักรอังกฤษ เพราะมีผู้นับถือน้อย
                ในนิกายโรมันคาทอลิก บิชอบเป็นประมุขบาทหลวง ในเขตคาทอลิกได้รับแต่งตั้งจากสำนักวาติกัน และตามปรกติโดยผ่านการเห็นชอบของรัฐบาลในประเทศ ที่รับตำแหน่งมีหน้าที่ปกครองเขตคาทอลิกที่ได้รับตำแหน่งประจำอยู่ ในเขตคาทอลิกใหญ่ ผู้ปกครองก็จะมีตำแหน่งเป็นอาร์บิชอบ บิชอบทุกรูปในประเทศหนึ่ง ๆ รวมกันเป็นสภาบิชอบมีหน้าที่วางแผนนโยบาย และตัดสินปัญหาที่เกี่ยวกับศาสนาในประเทศของตน
                ปัจจุบันคริสต์จักรคาทอลิกแบ่งเขตปกครองในประเทศไทยออกเป็นสองเขตคาทอลิกใหญ่ และแปดเขตคาทอลิก มีอาร์ชบิชอบสองรูป และบิชอบแปดรูปเป็นชาวไทยเก้ารูป และชาวอิตาเลียนหนึ่งรูป
                นิกายออร์โทดอกซ์แบ่งออกเป็นหลายสาขา เช่น กรีก ออร์โทดอกซ์ ซึ่งเป็นศาสนาประจำประเทศกรีก โดยมีการแต่งตั้งประมุขศาสนานี้ เป็นอาร์ชบิชอบแห่งกรุงเอเธนส์ และมีบิชอบทำหน้าที่เกี่ยวกับศาสนกิจเป็นผู้ช่วยประมุข          หน้า ๑๐๓๙๓
            ๓๑๓๘. บิด - โรค  เป็นโรคของระบบทางเดินอาหารส่วนลำไส้ใหญ่ แบ่งได้เป็นสองประเภทคือ โรคบิดชนิดมีตัว และโรคบิดชนิดไม่มีตัว
                   ๑. โรคบิดชนิดมีตัว  เกิดจากพยาธิชนิดหนึ่งจำพวกอะมีบา เมื่อคนบริโภคซิสต์ (ตัวบิดมีเกราะที่มีอยู่ในอาหารหรือน้ำซึ่งปนเปื้อนด้วยอุจจาระของผู้ป่วยหรือพาหะเข้าไป ซิสต์จะแตกออกในลำไส้เล็กกลายเป็นโตรโฟชอยด์แล้วเคลื่อนที่ต่อไปยังลำไส้ใหญ่ มีการเจริญและแบ่งตัวที่นั่น แล้วจะเคลื่อนที่ผ่านเยื่อเมือกที่บุลำไส้ใหญ่ลงไป ขณะที่เชื้อบิดมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือความต้านทานต่อโรคของผู้นั้นลดลง ทำให้เกิดอาการท้องเดินอย่างอ่อนจนถึงกับเป็นบิด
                    โรคแทรกซ้อนหรือผลจึงสืบเนื่องมาจากโรคบิดมีตัวมีหลายประการได้แก่ ตับอักเสบจากเชื้อบิด เกิดฝีที่ตับ อาจเกิดอาการดีซ่านอย่างอ่อน
การรักษาได้แก่การรักษาตามอาการให้น้ำ และเกลือแร่ให้เลือดและยา
                   ๒. โรคบิดชนิดไม่มีตัว  เกิดจากเชื้อแบคทีเรียพวก "ซิเกลลา" พบบ่อยเป็นพิเศษในเด็กเล็ก ส่วนผู้ใหญ่มีความต้านทานต่อโรคนี้ได้ดีกว่า
                    โรคบิดไม่มีตัวอาจทำให้ผู้ป่วยขาดน้ำและเกลือแร่อย่างมาก เป็นเหตุให้การไหลเวียนของเลือดลมและผู้ป่วยถึงแก่กรรมได้
                    วิธีการรักษามีหลักคือให้น้ำและเกลือแร่ตามความเหมาะสม รักษาตามอาการให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย          หน้า ๑๐๓๙๔
            ๓๑๓๙. บิน - การ  จากหลักฐานปรากฏว่ามนุษย์ใฝ่ฝันในเรื่องการบินมาประมาณ ๔,๐๐๐ ปี ก่อน พ.ศ. จนกระทั่งราวปี พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลีโอนาโด ดาวินซี ชาวอิตาลีได้ศึกษาถึงการบินของนกได้ออกแบบโดยการเขียนภาพกลไกการใช้กำลังแขนขาสำหรับกระพือปีกเพื่อติดกับร่างกายของมนุษย์ไว้หลายแบบ มีผู้สนใจและทดลองทำแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาจึงหันไปสนใจที่จะไปในอากาศด้วยบอลลูน แต่บอลลูนต้องอาศัยกระแสลมพัดพาไปเท่านั้น ไม่สามารถบังคับให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการได้ หลังจากนั้น บอลลูนได้วิวัฒนาการเป็นโพยมนาวา มีรูปร่างแบบบุหรี่ซิการ์ มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อน และมีหางเสือสามารถบังคับให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้แต่ไม่สะดวกและปลอดภัย
                ในปีพ.ศ.๒๓๔๑ มีชาวอังกฤษสองคนได้สร้างเครื่องบินจำลองติดเครื่องจักรไอน้ำเล็ก ๆ สามารถบินได้ไกล ๔๐ เมตร นับว่าเป็นอากาศยานหนักกว่าอากาศติดเครื่องยนต์เครื่องแรกที่บินได้จริง
                พี่น้องสกุลไรต์ชาวอเมริกันประสบความสำเร็จในการบินด้วยอากาศยานที่หนักกว่าอากาศเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐ รัฐบาลอเมริกันได้เปิดแผนกการบินขึ้นในกรมสื่อสารทหารบก และส่งเสริมให้นักประดิษฐ์ส่งเครื่องบินเข้าประกวด ซึ่งพี่น้องสกุลไรต์ได้รับรางวัลอีก ต่อมาไม่นานเขาได้จัดตั้งบริษัทไรต์แอโรเพลนซึ่งทำให้นักประดิษฐ์รายอื่น ๆ สนใจและผลิตงานของตนออกมาทำให้บริษัทการบินแพร่หลายไปทั่วทั้งยุโรปและอเมริกา
                ในระยะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๔๕๗-๒๔๗๑) การพัฒนาเครื่องบินดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เครื่องบินบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น และมีสมรรถนะการบินสูงขึ้นตามลำดับ เครื่องบินทหารแบบขับไล่บินได้เร็วถึง ๕๕๐ กม.ต่อชั่วโมง แบบทิ้งระเบิดบรรทุกลูกระเบิดได้หลายตัน มีรัศมีการบินเป็นพันกิโลเมตร
ในด้านพลเรือนประเทศในยุโรปต่างก็จัดตั้งบริษัทสายการบินบางประเทศบินมาทางตะวันออกไกล มีอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เครื่องบินต้องแวะลงที่ ดอนเมือง ซึ่งขณะนั้นเป็นสนามหญ้าไม่มีทางวิ่งคอนกรีตอย่างปัจจุบัน
            ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘)  การบินทหารคงใช้เครื่องบินแบบก่อนสงครามคือแบบขับเคลื่อนด้วยใบพัด เครื่องยนต์ลูกสูบ และได้มีการประดิษฐ์และสร้างเครื่องยนต์ไอพ่นขึ้นในประเทศอังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา
            หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ด้านการบินทหารมีการสร้างเครื่องบินรบแบบต่าง ๆ ติดเครื่องยนต์ไอพ่นกันมากมาย มีสมรรถนะสูง บินได้สูงกว่า ๒๐ กม. ก็มีความเร็วเหนือเสียงเป็นสามเท่าความเร็วเสียงก็มี
            ด้านการบินพลเรือนพอสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เครื่องบินดักลาสแบบดีซี ๔ สีเครื่องยนต์ก็บินขนส่งคนโดยสาร และสินค้าทันที คือปรับปรุงจากแบบ ซี ๕๔ ที่ใช้ทำการบินขนส่งทหารในสงคราม
                 การบินของประเทศไทย  มีประวัติอันงดงาม และยาวนานทั้งการบินทหารและการบินพลเรือน เริ่มจากทางการจัดส่งนายทหารไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้กลับมาเป็นเจ้าหน้าที่แผนกการบิน ซึ่งกระทรวงกลาโหมจัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ มีเครื่องบินปีกชั้นเดียวสี่เครื่อง และปีกสองชั้นอีกสี่เครื่อง ใช้พื้นที่บริเวณราชกรีทาสโมสร เวลานี้เป็นสนามบิน ต่อมาได้ย้ายมาที่ดอนเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ และกระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ยกฐานะแผนกการบินขึ้นเป็นกองการบินทหารบก ได้ขยายกำลังเป็นกรมอากาศยานทหารบกในปี พ.ศ.๒๔๖๑ เป็นกรมอากาศยานในปี พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นกรมทหารอากาศในปี พ.ศ.๒๔๗๘ และเป็นกองทัพอากาศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐
                ประเทศไทยมีกิจการบินโดยสารพลเรือนก่อนปี พ.ศ.๒๔๗๐ กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงเศรษฐการในสมัยนั้น ได้จัดตั้งบริษัทเดินอากาศขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๗๓ ทำการบินขนส่งคนโดยสาร และไปรษณียภัณฑ์ภายในประเทศ เมื่อเลิกสงครามโลกแล้วในปี พ.ศ.๒๔๘๙ กองทัพอากาศได้เริ่มกิจการขึ้นใหม่ ใช้เครื่องบินเหลือใช้สงครามแบบขนส่งปี ๔๗ มาปรับปรุงเป็นแบบโดยสารดีซี ๓ มีที่นั่งโดยสาร ๒๘ ที่นั่ง และได้โอนกิจการให้บริษัทเดินอากาศไทย ดำเนินการโดยทำการบินเฉพาะภายในประเทศ และไปประเทศใกล้เคียง ส่วนการบินระหว่างประเทศ และข้ามทวีปนั้น มอบให้บริษัทการบินไทย จำกัด ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๓           หน้า ๑๐๓๙๗
            ๓๑๔๐. บิญดิญ  เป็นเมืองตั้งอยู่บนฝั่งทะเลทางภาคใต้ของประเทศเวียดนาม เคยเป็นที่ตั้งราชธานีของ ชนชาติจามในสมัยโบราณ คือ เมืองวิชัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๔๓๑
                 ในปี พ.ศ.๑๖๘๘ เมืองวิชัยถูกกองทัพขอมสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่สองยืดไว้ได้จนถึงปี พ.ศ.๑๖๙๒ ต่อมาปรากฏว่าพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ดของขอม เมื่อก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ยกทัพมาตีเมืองวิชัยอีก ต่อมาเจ้าชายจามทรงนามว่า วิทยานันทมะ ซึ่งไปรับราชการอยู่กับพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ดยึดเมืองวิชัยไว้ได้ แล้วไปครองภาคใต้ของประเทศจัมปา ที่เมืองปาณฑรังค์ ทรงนามสุรยวรรนเทพ ต่อมาเกิดจลาจลที่เมืองวิชัย พระองค์ต้องกลับไปยังประเทศกัมพูชา และเจ้าชายจามคือพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๕ ขึ้นครองราชย์แทน ต่อมาพระองค์ก็สามารถรวบรวมประเทศจัมปาเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในที่สุดก็ถูกกองทัพขอมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ดเข้าปราบปรามได้อีกในปี พ.ศ.๑๗๔๖ ในระยะนี้อิทธิพลขอมก็มีปรากฏแก่ศิลปะจามที่เมืองบิญดิญด้วย
                ต่อจากนั้นประเทศจัมปาก็ต้องต่อสู้กับพวกเวียดนาม (ญวน)  และในปี พ.ศ.๑๙๘๙ เมืองวิชัยก็ถูกกองทัพเวียดนามยึดได้ แม้กองทัพจามจะยึดคืนมาได้ แต่ในปี พ.ศ.๒๐๑๔ กองทัพเวียดนามก็เข้ายึดเมืองวิชัยได้อีกโดยเด็ดขาด ปัจจุบันยังคงมีชนชาติจามเหลืออยู่ทางทิศใต้ของแหลมวาเรลลา บนฝั่งทะเลทางทิศใต้ของประเทศเวียดนาม
                คำว่า บิญดิญ ยังใช้เป็นชื่อศิลปะของจามระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ อีกระยะนี้อิทธิพลของศิลปะขอมเข้ามาปะปนมาก และศิลปะจามเริ่มจะเสื่อมแล้ว             หน้า ๑๐๔๑๐
            ๓๑๔๑. บิลเลียด  เป็นคำที่สันนิษฐานว่า มาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณ ซึ่งแปลว่า ไม้เรียว ในเวลาต่อมาอาจจะหมายถึงไม้คิวที่ใช้เล่นบิลเลียดกันในปัจจุบัน บิลเลียดนี้เข้าใจว่ามีต้นกำเนิดจากการเล่นเกมส์โบลิงสนามในประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อย้ายมาเล่นในที่ร่มหรือในห้อง จึงหันมาใช้ไม้ดันหรือผลักลูกแทน และต่อมาก็ได้หาทางดัดแปลงวิธีการเล่นให้มีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น การเล่นครั้งแรกจะมีเพียงสองหลุมเท่านั้น และต่อมาได้เพิ่มเป็นสี่หลุม และหกหลุมดังปัจจุบัน           หน้า ๑๐๔๑๒
            ๓๑๔๒. บิสมัท  เป็นธาตุลำดับที่ ๘๓ มีผู้ค้นพบ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๖ บิสมัทธาตุที่มีปรากฏในธรรมชาติทั้งในภาวะอิสระ และในภาวะรวมตัวกับธาตุอื่น นอกจากนี้ยังมีปะปนอยู่กับแร่ดีบุก แร่ตะกั่ว แร่ทองแดงอีกด้วยการผลิตบิสมัทมาใช้นั้น ส่วนใหญ่เป็นผลพลอยได้มาจากอุตสาหกรรมการถลุงให้ได้ตะกั่ว และทองแดงบริสุทธิ์
                 บิสมัทเป็นโลหะลักษณะเป็นของแข็งสีขาวอมแดง เปราะหลอมละลายที่ ๒๗๑.๓ องศาเซลเซียส มีจุดเดือดที่ ๑๕๖๐ องศาเซลเซียส เป็นตัวนำความร้อนและไฟฟ้าที่เลว มีสมบัติพิเศษคือ เมื่อทำให้ร้อนจนหลอมเหลวแล้ว ทิ้งให้เย็นจะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อแข็งตัว คุณสมบัติประการนี้ มีประโยชน์มากสำหรับนำไปทำโลหะเจือ เพื่อใช้ในการหล่อแบบโลหะลวดลายต่าง ๆ            หน้า ๑๐๔๑๕
            ๓๑๔๓. ปีก - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดจำพวกปลาดุกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลำตัวยาว ด้านข้างแบนเล็กน้อย หัวใหญ่ยาว ลูกตาเล็ก ปากค่อนข้างใหญ่ไม่มีฟัน ยาวประมาณ ๓ เมตร และพบในแม่น้ำโขงเท่านั้น           หน้า ๑๐๔๑๘
             ๓๑๔๔. บึง  มีบทนิยามว่า "แอ่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งจากแม่น้ำในแม่น้ำลำธารไหลท่วมขังอยู่เพราะระบายได้ช้า หรือเกิดขึ้นใกล้ปากแม่น้ำซึ่งเป็นที่ราบลุ่มมาก" หรือ "แอ่งน้ำขนาดใหญ่มีน้ำขังตลอดปี"           หน้า ๑๐๔๒๕
            ๓๑๔๕. บึ่ง - ตัว  แมลงพวกหนึ่งมีขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ ๑.๕ - ๒.๐ มม. หรือเทียบเท่าแมลงหัวกัดและดูดเลือดคนหรือสัตว์กินเป็นอาหาร มีอยู่ชุกชุมตามบริเวณชายน้ำ ชายทะเลหรือป่าทึบ ที่มีความชื้นสูง บางครั้งเรียกว่า ตัวริ้น เมื่อมีขนาดเล็กมาก           หน้า ๑๐๔๒๖
            ๓๑๔๖. บึ้ง - ตัว  เป็นแมงมุมขนาดใหญ่ ซึ่งมีลำตัวยาวตั้งแต่ ๓ ซม. ขึ้นไป ตั้งบึ้งบางชนิดมีต่อมน้ำพิษ เมื่อกัดคนทำให้เกิดเจ็บปวดอย่างรุนแรง           หน้า ๑๐๔๒๗
             ๓๑๔๗. บึงกาฬ  อำเภอขึ้น จ.หนองคาย มีอาณาเขตทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตกแม่โขง ภูมิประเทศทางแถบแม่น้ำโขงเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตอนกลางเป็นที่ราบสูง มีดงใหญ่และป่าทึบ ทางตะวันออกเป็นดงใหญ่และภูเขา
                อ.บึงกาฬเดิมชื่อ อ.ชัยบุรี มีชื่อปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่สาม เมื่อก่อนปี พ.ศ.๒๔๕๖ ตั้งที่ว่าการอยู่ที่บ้านชัยบุรี เมื่อย้ายมาตั้งที่บ้านบึงกาฬ ก็ยังนำเอาชื่อชัยบุรีมาเรียกอยู่ตามเดิม และยังขึ้น จ.นครพนม ครั้นปี พ.ศ.๒๔๕๙ ได้โอนไปขึ้น จ.หนองคาย และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บึงกาฬ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๗           หน้า ๑๐๔๒๙
            ๓๑๔๘. บุก  เป็นพันธุ์ไม้เมืองร้อนของทวีปเอเชีย ที่มีหัวอยู่ใต้ดินแบบเผือก บอน ในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิด หัวบุกทุกชนิดมีแป้งมากใช้บริโภคได้           หน้า ๑๐๔๒๙
             ๓๑๔๙. บุคคลาธิษฐาน  มีบทนิยามว่า "วิธีเทศน์ยกบุคคลเป็นที่ตั้งคู่ดับธรรมาธิษฐาน ซึ่งยกธรรมเป็นที่ตั้ง           หน้า ๑๐๔๓๐
             ๓๑๕๐. บุคคลิกภาพ  คำนี้มีความหมายกว้างมาก เคยมีผู้รวบรวมความหมายของคำนี้จากศาสตรสาขาต่าง ๆ ไว้ว่ามีมากเกินกว่า ๕๐ ความหมาย คำสอนที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพมากที่สุดในปัจจุบันคือ จิตวิทยาซึ่งเป็นศาสตร์ที่มุ่งอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรง และความหมายของบุคคลิกภาพคือ รูปแบบของลักษณะท่าทีการแสดงออกอันเป็นเฉพาะตัวของบุคคล
                 ผลการศึกษาวิจัยทางบุคลิกภาพได้ยืนยันถึงอิทธิพลของทั้งพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมที่มีต่อบุคลิกภาพของบุคคล ข้อมูลแสดงว่าคนเราเริ่มแตกต่างกันตั้งแต่แรกเกิด เริ่มด้วยลักษณะเฉพาะตัว จากพื้นฐานทางสรีระ และพันธุกรรม ได้แก่ รูปร่าง หน้าตา ระดับ ความรู้สึกไว การรับรู้ สภาพอารมณ์ และการแสดงออกตลอดจนการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้น สิ่งแวดล้อมก็จะเริ่มมีบทบาทในการหล่อหลอมบุคคลิกภาพ ในแง่ของการอบรม เลี้ยงดู และการศึกษา
                 ในปัจจุบันได้เริ่มมีผู้สนใจนำหลักพุทธธรรม มาศึกษาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจ และประยุกต์กับวิชาการด้านจิตวิทยา บุคลิกภาพและจิตบำบัดในระดับต่าง ๆ และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต           หน้า ๑๐๔๓๑
             ๓๑๕๑. บุ่ง  (ดูบึง - ลำดับที่ ๓๑๔๓)           หน้า ๑๐๔๔๑
             ๓๑๕๒. บุ้ง ๑ - ตัว  เป็นหนอนของผีเสื้อซึ่งมีขนตามลำตัว ขนเหล่านี้อาจไม่มีพิษหรืออาจมีพิษภัยเมื่อไปถูกเข้า อาจจะหักตำอวัยวะมาทำให้เจ็บเหมือนถูกแก้วแทง หรืออาจมีน้ำพิษซึ่งอยู่ตามต่อมโคนผมพ่นผ่านขนขึ้นมา ทำให้เกิดอาการแสบร้อน คัน เมื่อถูกผิวหนัง           หน้า ๑๐๔๔๑
             ๓๑๕๓. บุ้ง ๒ - ผัก  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่ง มีลำต้นกลวงโต ผ่ากลวง ราว ๑.๑.๕ ซม. เป็นผักที่คนทั่วไปชอบบริโภคเป็นอาหารประจำวันกันมาก จึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่พบปลูกทั่วไป           หน้า ๑๐๔๔๒
             ๓๑๕๔. บุญธรรม - บุตร  เป็นบุตรของบุคคลอื่น ซึ่งบิดาหรือมารดาบุญธรรมรับมาเลี้ยงเป็นบุตร บุตรบุญธรรมมีมาตั้งแต่สมัยกรีก และสมัยโรมัน
                 การรับบุตรบุญธรรมนี้แต่ละประเทศได้วางหลักเกณฑ์ไว้ค่อนข้างรัดกุม ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในความมุ่งหมาย คือคุ้มครองเด็ก ซึ่งจะเป็นบุตรบุญธรรม
                 สำหรับประเทศไทยกฎหมายว่าด้วยบุตรบุญธรรมบัญญัติไว้ในบรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๘ วางข้อกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะเป็นบิดา หรือมารดาบุญธรรมได้นั้น ต้องมีอายุ ๓๐ ปี เป็นอย่างต่ำ และจะต้องแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี กับจะต้องจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมด้วย จึงจะมีผลตามกฎหมาย           หน้า ๑๐๔๔๓
             ๓๑๕๕. บุญฑริก  อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี มีอาณาเขตทางทิศตะวันออก และทิศใต้จดทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งแบ่งเขตแดนไทยกับลาว ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ส่วนมากเป็นป่าโปร่ง และทุ่งกว้าง มีทิวเขาพนมดงรักกั้นเขตแดนกับประเทศลาว และมีลำน้ำโดมน้อยไหลผ่าน
                 อ.บุณฑริก แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.เดชอุดม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑           หน้า ๑๐๔๔๗
             ๓๑๕๖. บุณโณวาท, ปุณโณวาท - หนังสือ  เรียกเต็มว่าบุณโณวาทคำฉันท์ เป็นวรรณคดี ไทยเรื่องหนึ่ง พระมหานาคบวชอยู่วัดท่าทรายในพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้แต่งในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ อาศัยเค้าเรื่องในปุณโณวาทสูตรมาแต่งขึ้น โดยประพันธ์เป็นฉันท์เป็นหนังสือที่นับถือกันมาว่าแต่ดี โดยกระบวนฉันท์ พรรณนาว่าด้วยลักษณะการสมโภชน์พระพุทธบาทตามราชประเพณี ครั้งอยุธยาถ้วนถี่จัดส่งเป็นฉันท์ตำราเรื่องหนึ่ง           หน้า ๑๐๔๔๗
             ๓๑๕๗. บุด หรือบุก หรือกัง  เป็นลิงชนิดหนึ่ง มีหางสั้นกว่าครึ่งจากจมูกถึงโคนหาง ชาวบ้านทางปักษ์ใต้ชอบหัดลิงนี้ไว้ให้ขึ้นปลิดลูกมะพร้าว           หน้า ๑๐๔๕๑
             ๓๑๕๘. บุตร  ลูกคือลูกชาย ลูกหญิงหรือลูกสาว ตามกฎหมายไทยปัจจุบันมีบุตรอยู่สามประเภท คือ บุตรชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกสมรส และบุตรบุญธรรม
                 เรื่องบุตรนี้ในติปุตตสูตร ตติยวรรค ติกนิบาตร อิติวุตก สุตตันตปิฏก เล่ม ๒๕ อรรถกกาเรียก ตโยปุตตสุตร มีข้อความว่า บุตรมีสามประเภทคือ อภิชาตบุตร บุตรที่เก่งยิ่งกว่าบิดามารดา อนุชาติบุตร บุตรที่เก่งเสมอกับบิดามารดา และอวชาติบุตร บุตรที่เก่งต่ำกว่าบิดามารดา           หน้า ๑๐๔๕๒
             ๓๑๕๙. บุนนาก - ต้น  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เห็นพันธุ์ไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๒๐ - ๓๐ เมตร เรือนยอดมีรูปทรงสวยแบบกรวย ใบสวย ดอกสวยและหอม นิยมนำไปปลูกเป็นต้นไม้ริมถนนและในสวนทั่ว ๆ ไป
                 ใบแบบธรรมดาออกตรงข้ามกันรูปใบมนรี ปลายใบแหลม กว้าง ๑ - ๒.๕ ซม. ยาว ๘ - ๑๒ ซม. ดอกออกเคียง ๆ ตามง่ามใบ มีกลิ่นหอม ก้านดอกสั้นมาก ผลทรงแหลม โตราว ๒ ซม. เปลือกเข็ง แก่นของต้นบุนนากสีแดงเข้ม มีความแข็งแรง และทนทานดีมาก นิยมใช้ในการก่อสร้างและทำเครื่องเรือน           หน้า ๑๐๔๕๔
             ๓๑๖๐. บุปผาราม - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองวัดบุปผาราม เขตบุปผาราม กรุงเทพฯ ไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้าง ทราบกันแต่ว่าเป็นวัดโบราณ ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดดอกไม้
                ผู้ปฏิสังขรณ์วัดนี้มีสองท่านคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาก)  ขณะยังเป็นจหมื่นไวยวรนาถ กับเจ้าพระยาทิพากรวงค์ (ขำ บุนนาก)  ขณะยังเป็นจหมื่นราชามาตย์ดังกล่าวแล้ว เมื่อปฏิสังขรณ์เรียบร้อยแล้ว พระราชทานนามว่าวัดบุปผาราม
                 ตามประวัติของวัดนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงแต่งตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ยังมีขอบเขตอยู่เพียงในวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อได้แยกสาขาออกไปยังวัดอื่น วัดบุปผารามเป็นวัดหนึ่งในระยะแรกที่คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้ขยายตัวเรียกว่า ออกวัดใหม่ ในตอนแรกและที่วัดนี้          หน้า ๑๐๔๕๕
             ๓๑๖๑. บุพพาราม  เป็นวัดครั้งพุทธกาล เป็นวัดครั้งพุทธกาลตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดพระเชตะวัน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงสาวัตถี นางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นผู้สร้าง มีถาวรวัตถุในวัดที่สำคัญคือ โลหะปราสาท มีตำนานดังนี้
                 วันหนึ่งนางวิสาขาแต่งเครื่องมหาลดาประสาทไปช่วยงานแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถีเสร็จงานแล้ว ขากลับผ่านวัดพระเชตวันเป็นเวลาฟังธรรมพอดี จึงแวะเข้าไปฟังธรรมก่อนเข้าพระวิหารได้ถอดเครื่องแต่งตัวให้นางทาสีอยู่ข้างนอก เมื่อเทศน์จบแล้วกลับออกจากวิหารลืมเครื่องประดับ จึงให้คนใช้กลับไปเอา แต่สั่งว่าถ้าพระเก็บไว้แล้วก็อย่าขอคืนเลย เมื่อทราบว่าพระอานนท์เก็บไว้ให้จึงไม่รับคืน พระอานนท์จึงต้องเก็บเอาไว้ในคลังพัสดุของพระสงฆ์ วันต่อมานางวิสาขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ให้ไวยาวัจกรประกาศผาติกรรมเครื่องลดามหาประสาทแต่ไม่ใครกล้าซื้อ นางวิสาขาจึงต้องขอซื้อคืนตามราคาตัวสร้างเดิมเก้าโกฏิ เมื่อวัดได้เงินเก้าโกฏิ นางวิสาขาก็กราบทูลว่า จะขอให้เอาเงินนี้สร้างวัดบุพพาราม โดยมีพระมหาโมคคัลนะคุมการก่อสร้าง อาคารที่สร้างเมื่อสำเร็จแล้วเป็นตึกใหญ่สองชั้น หลังคาเป็นโคม หรือเป็นแบบกูฏาคาร มียอดโดม ๖๐ ยอด ที่ยอดมีหม้อน้ำทำด้วยทองสีสุกทุกยอด มีห้องชั้นละ ๕๐๐ ห้อง จัดแบ่งเป็นส่วน ๆ ส่วนหนึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ มีห้องพระโรงเป็นที่ประชุมฟังธรรม มีที่พักทั้งกลางวัน และกลางคืน มีที่จงกรม ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของ พระผู้ทรงอภิธรรม ทรงพระวินัย ทรงพระสูตร พระผู้เล่าเรียนทางคันถธุระ วิปัสสนาธุระ ส่วนหนึ่งเป็นที่พักของคณะอาคันตุกะพร้อมทั้งญาติโยมผู้ติดตามมา ส่วนหนึ่งเป็นห้องพักพระภิกษุอาพาธ รอบบริเวณมีต้นไม้ปลูกเป็นแถว มีสระน้ำสรง สระน้ำฉัน ใช้เวลาก่อสร้างรวมเก้าเดือน ค่าก่อสร้างเก้าโกฏิ ค่าใช้จ่ายในการฉลองตึกเก้าโกฏิ อาคารหลังนี้ต่อมาเรียกกันว่า โลหะปราสาท
                 พระพุทธเจ้าประทับที่วัดนี้เป็นครั้งคราวในระหว่าง ๒๕ ปี ที่ประทับอยู่กรุงสาวัตถีนั้น ได้ประทับที่วัดบุพพารามรวมหกปี             หน้า ๑๐๔๖๐

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์