ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี


www.dooasia.com > พระธาตุ > พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช : สิ่งสำคัญในวัด พระมหาธาตุวรมหาวิหาร


  4  พระบรมธาตุ

พระบรมธาตุ

ตำนานที่มาโดยละเอียด สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปี

พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช

โดย สำนักงานนิตยสารเทียนชัย

 

สิ่งสำคัญในวัด พระมหาธาตุวรมหาวิหาร

                1.  องค์พระบรมธาตุเจดีย์

                องค์พระบรมธาตุเจดีย์สูงเด่นเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน สร้างตั้งแต่สมัยศรีวิชัย ตามความเชื่อพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานเป็นที่บรรจุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสถูปเจดีย์รูปแบบลังกาทรงระฆังคว่ำ เป็นสถูปทรงครึ่งวงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมมีรูปช้างค้ำอยู่รอบบริเวณวิหารทับเกษตร เชื่อกันว่ารูปแบบสถูปเจดีย์แบบนี้ ภายหลังได้แพร่หลายไปยังที่อื่น ๆ เช่น วัดพะโคะ วัดสทิงพระ วัดสีหยัง จังหวัดสงขลา อโยธยาสุโขทัย และเจดีย์ช้างล้อมที่ศรีสัชนาลัย

                องค์พระบรมธาตุเจดีย์ สูงจากพื้นดินถึงยอดสุด 37 วา ส่วนยอดหุ้มด้วยทองคำหนัก 216 กิโลกรัม ส่วนที่หุ้มด้วยทองคำประดับด้วยทองรูปพรรณนานาชนิด เช่น กำไล ตุ้มหูทองคำ แหวน นาฬิกาเรือนทอง พระพุทธรูป และของมีค่าอื่น ๆ อีกมาก ผูกร้อยด้วยเส้นลวดทองคำแขวนไว้รอบยอดพระบรมธาตุเจดีย์

                2.  พระวิหารทับเกษตร

                หรือพระระเบียงตีนธาตุ เป็นระเบียงรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์ มีความยาว 18 วา 1 ศอก 15 นิ้ว เท่ากันทั้ง 4 ด้าน กว้างด้านละ 2 วา ทั้ง 4 ด้าน รอบ ๆ ฐานองค์พระมหาธาตุเจดีย์ทำเป็นซุ้มมีหัวช้างยื่นออกมา สันนิษฐานว่าเป็นชื่อคานรับองค์พระเจดีย์ เหมือนเจดีย์วัดช้างล้อม จำนวน 22 ซุ้ม ระหว่างซุ้มช้างคั่นด้วยซุ้มเรือนแก้วครอบพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัยสลับกันไปรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์ แต่ละซุ้มมีลักษณะแตกต่างกัน ซุ้มเรือนแก้วส่วนใหญ่สร้างในสมัยอยุธยา บางซุ้มได้รับอิทธิพลศิลปลพบุรี บางซุ้มมีลักษณะคล้ายศิลปสุโขทัย

                พระวิหารระเบียง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ มีพระพุทธรูปปูนปั้น และสัมฤทธิ์ ทั้งยืนและนั่งจำนวน 92 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นส่วนมาก

                ในวิหารทับเกษตรทั้ง 4 ด้าน มีธรรมมาสน์สำหรับพระสงฆ์ใช้แสดงพระธรรมเทศนาในวันพระ กล่าวกันว่าพระที่ขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์ ด้านตะวันออกขององค์มหาธาตุเจดีย์ จะเป็นพระที่มีคติธรรม สำนวนโวหารเทศน์ที่ดีเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป

                3.  วิหารพระมหาภิเนษกรณ์

                หรือวิหารพระทรงม้า อยู่ติดกับองค์พระมหาธาตุเจดีย์ด้านทิศเหนือ ตรงกลางวิหารมีบันไดทางขึ้นไปสู่ลานประทักษิณรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์

                ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้ากรุงลังกา โปรดให้เศรษฐีชาวลังกาให้มาช่วยเหลือในการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ เศรษฐีทั้งสองชื่อ พลิติ กับ พลินุ่ย ภายหลังได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ทั้งสองเดินทางมาไม่ทันพระมหาธาตุเจดีย์สร้างเสร็จแล้วจึงสร้างวิหารนี้แทน ในระหว่างการสร้างบุตรชายทั้งสองของเศรษฐีชื่อ เจ้ามุด กับเจ้าหมู เกิดวิวาทฆ่ากันตายทั้งคู่จากเรื่องชนไก่ ฝ่ายบิดาเศร้าเสียใจอาลัยลูกจึงสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ นำอัฐิมาตำเคล้ากับปูนปั้นเป็นรูปพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา หรือ เสด็จออกมหาภิเนษกรณ์ อันเป็นที่มาของวิหารนี้ปั้นเป็นรูปปั้น พระสิทธัตถะ นางพิมพา พระราหุล นายฉันนะ ตลอดจนรูปม้า เทวดา มาร พรหม นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเศรษฐีทั้งสองได้ปั้นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ พระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร ที่ผนังตรงข้างบันไดด้วย

                ทางผนังด้านขวาของบันไดนอกเป็นอัฐิของเจ้าหมู เป็นรูปพระนางพิมพากำลังกกพระราหุลให้เสวยนมอยู่ในห้องบรรทมข้างล่างเป็นรูปของพวกสนมชาววัง ถัดมาเป็นรูปพระเจ้าสิทธัตถุกำลังทรงเสด็จหนีไปทางผนวชและรูปตอนทรงม้า มีพระพรหมกางฉัตรให้ มีเทวดาตามขบวนเสด็จ รองรับเท้าม้า และปิดปากม้าไม่ให้ม้าส่งเสียงร้อง ส่วนนายฉันนะยึดเกาะหางม้า ตอนสุดท้ายเป็นรูปพญามารเข้าขัดขวาง              ทางด้านซ้ายเป็นอัฐิเจ้ามุด ก็ทำแบบเดียวกัน

                ภายในวิหาร ตรงบันไดแรกขึ้น มีรูปปั้นผู้อารักขาพระมหาธาตุเจดีย์ทั้งสี่ทิศ ทิศเหนือ เป็นรูปยักษ์ท้าวกุเวร ทิศตะวันออกเป็นรูปยักษ์ ท้าวธตรฐ เชิงบันไดสู่องค์พระมหาธาตุเจดีย์เป็นรูปพญานาค 7 หัว 7 หาง ส่วนบนหัวเสาเหนือบันไดทั้งสองฝั่งทำเป็นรูปพญาครุฑ ฝั่งทิศตะวันตกเป็นท้าววิรุฬปักษ์ ส่วนทางทิศใต้คือ ท้าววิรุฬหก ตามทางขึ้นยังประดับด้วยรูปปั้น สัตว์พยนต์อีกหลายชนิด

                เมื่อขึ้นบันไดไปขั้นสูงสุด ทางผนังตะวันออกมีรูปปั้นภาพพระพุทธบาท ทางฝั่งตะวันตกเป็นรูปพระหลักเมือง พระทรงเมืองถัดมาบริเวณข้างประตูเป็นรูปปั้น กษัตริย์ลังกาในท่านั่งแพนงเชิงทางทิศตะวันออกคือท้าวขัตตุคาม และทางทิศตะวันตกคือท้าวทศคามรามเทพ ปลายบันได้ซึ่งทอดขึ้นไปบนลานประทักษิณ มีบานประตูไม้สักขนาดใหญ่แผ่นหนา ฝีมือแกะสลักสวยงามวิจิตรพิสดามาก บนด้านซ้ายแกะสลักเป็นรูปพระพรหมบานประตูด้านขวาเป็นรูปพระนารายณ์

                ประตูสู่พระมหาธาตุเจดีย์จะเปิดเฉพาะในวันแห่ผ้าขึ้นองค์พระธาตุ เพื่อให้ผู้คนนำผ้าขึ้นห่มองค์พระเจดีย์เท่านั้น บริเวณหน้าประตูวิหารพระฟ้า มีระฆังสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ จารึกว่าสร้างในสมัยพระนารายณ์อยุธยา

                4.  วิหารเขียน

                อยู่ทางด้านทิศเหนือของวิหารพระทรงม้า เหตุที่เรียกว่าวิหารเขียน เพราะเดิมทีเสาและผนังมีภาพลายเส้นสร้างในสมัยหลวงศรีวรวงศ์ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. 1919

                ภายในวิหารมีพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัยแบบอู่ทองหน้าพระประธาน มีพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติ 2 องค์ ทำด้วยทองลูกบวบ เป็นพระพุทธรูปของสกุล ณ นคร เมื่อครั้งพระยานคร (พัฒน์) ไปตีได้เมืองไทรบุรี จึงสร้างไว้เป็นอนุสรณ์

                วิหารเขียนกับวิหารพระทรงม้า อยู่ร่วมหลังคาเดียวกันเดิมมีประตูทะลุถึงกัน แต่ได้โบกปูนปิดเสีย เมื่อใช้วิหารเขียนเป็นพิพิธภัณฑ์ใช้ชื่อว่า “ศรีธรรมราช พิพิธภัณฑ์สถาน” เมื่อ พ.ศ.2480 ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษา จัดแสดงสิ่งของมีค่าจำนวนมาก เช่น ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง พระพุทธรูปทองคำ (ชมพูนุท) อันเป็นทองคำบริสุทธิ์ หาดูได้ยาก พระพุทธรูปเงิน ตลอดจนสิ่งของขนาดเล็กที่ทำด้วยทอง เงิน นาก สร้อย แหวน ตุ้มหู กำไล เข็มขัด เงินเหรียญ เครื่องลายคราม ฯลฯ ต่อมาเมื่อมีของมากขึ้นได้ขยายพิพิธภัณฑ์ของวัดไปจัดแสดงที่วิหารโพธิ์ลังกา และวิหารสามจอม

                5.  วิหารโพธิ์ลังกา

                อยู่ต่อจากวิหารเขียนขึ้นไปทางทิศเหนือ ภายในจัดแสดงของถวายเพื่อบูชาพระมหาธาตุเจดีย์ สร้างแบบวิหารคด รอบปูนชนียวัตถุ ปูชนียสถานทั้งหลาย เป็นรูปห้องยาวสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 12 วา ตรงกลางรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ใหญ่ต้นหนึ่ง นำมาจากลังกาจึงเรียกชื่อวิหารว่า “วิหารโพธิ์ลังกา”  ภายในวิหารใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ เก็บโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องปั้นดินเผา ศิลาจารึก ฯลฯ

                ก่อนจะเข้าประตูวิหารโพธิ์ลังกา เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทรงเครื่อง ประทับยืนปางประทานอภัยสมัยอยุธยา เรียกว่า พระพวย เล่าลือกันว่า พระพวยมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ที่ฐานบัวมีรูน้ำไหลเหมือนพวยกาเดิมอยู่วัดพระโมคลาน อำเภอท่าศาลา ต่อมาย้ายมาอยู่วัดประตูรักษ์ จนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเป็นอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ในรัชกาลที่ 6 ได้นำมาประดิษฐานที่วัดพระมหาธาตุ

                พระพวยเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มีผู้เคารพเลื่อมใสมาก  มักจะดลบันดาลให้ผู้ขอประสพความสำเร็จ ไม่ว่าใครจะบนบานให้หายเจ็บไข้ ทรัพย์สินเสียหาย อยากได้บุตรธิดา มักจะได้ผล ที่ฐานของพระพวยมีรูปภาพของเด็ก ๆ จำนวนมาก เด็กเหล่านี้คือเด็กที่ขอจากพระพวยมีได้สมปรารถนาแล้ว จึงนำรูปมาถวาย

                ภายในวิหารโพธิ์ลังกาด้านตะวันตก มีพระพุทธไสยาสน์ ยาว 6 วา พระอุระกว้าง 4 ศอก พระบาทกว้าง 1 ศอก 7 นิ้ว ยาว 3 ศอก 10 นิ้ว

                นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น ลับแลมุกพบที่อำเภอหัวไทร บนชายหาดที่ลูกคลื่นซัดขึ้นมา หีบศพเจ้าพระยานคร ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าเป็นของเจ้าพระยาองค์ใด พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติ ชื่อ พระบรมราชา มีจารึกว่าอยู่วัดหอไตร ต่อมานำมาที่วัดธาราวดี ตำบลนา ครั้นถึงวัน 3-6 ค่ำ เดือน 7 ปีระกา เอกศก พ.ศ. 2452 (25 พ.ค. ร.ศ.123) ได้แห่พระบรมราชาจากวัดพระธาราวดีมาประดิษฐานที่พระวิหารโพธิ์ลังกา ในวัดพระมหาธาตุ พระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เสด็จมาทรงปิดทองพระพักตร์สมโภช แล้วยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ฝีมือสกุลช่างนครศรีธรรมราช มีจารึกว่า “พระพุทธได้เชิญมาจากวัดหัวรอ (วัดบูรณาราม) ประดิษฐานอยู่ในวัดมหาธาตุ วันที่ 15 พฤษภาคม ร.ศ.131”

                6.  วิหารสามจอม

                หรือเรียกวิหารพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ของจังหวัดด้วย อยู่ข้างประตูพระระเบียงด้านตะวันออก

                ตามตำนานการสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ของนายสามจอม ซึ่งก่อติดกับวิหารด้านหลังที่ผนังหน้าวิหารสามจอม มีรูปปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผม ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ทรงเครื่องราชาภรณ์อย่างกษัตริย์โบราณประดิบชฎายอดสูง ฝีมือช่างสมัยอยุธยา เรียกกันว่า “พระเจ้าศรีธรรมโศกราช”

                วิหารด้านหลังแบ่งเป็นซุ้มประตู 3 ช่อง บรรจุพระพุทธรูปปางมารวิชัย และใช้เก็บพระอัฐิของสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี และอัฐิของเจ้านาย สกุล ณ นคร เช่น กรมพระราชวังมหาศักดิ์พลเสพ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์ พระองค์เจ้าปัทมราช เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต เป็นต้น ส่วนซุ้มประตูมีภาพปั้น พระพุทธประวัติ ตอนทรงตัดพระเมาลีเพื่อทรงผนวช เจดีย์ที่ก่อด้วยหินสลักแบบจีนทางทิศใต้ของวิหารธรรมศาลาบริเวณรอบ ๆ มีต้นหว้าเก่าแก่อยู่ 6 ต้น

                7.  วิหารพระแอด

                หรือวิหารพระกัจจายนะ อยู่ต่อจากวิหารสามจอมไปทางเหนือเล็กน้อย เป็นที่ประดิษฐานของพระสังกัจจายน์องค์ชาว ชาวบ้านเรียกกันว่า พระแอด เดิมอยู่นอกเขตระเบียงใกล้กับวิหารพระธรรมศาลา ต่อมาได้สร้างวิหารแล้วนำพระแอดเข้ามาในวิหารจนทุกวันนี้ ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ หากใครปวดเมื่อย ไปนวดพระแอด หรือปวดเอวปวดหลังนำไม้ไปค้ำยันหลังพระแอด อาการปวดก็จะหายอย่างน่าอัศจรรย์ ท่านมีอภินิหารบันดาลโชคลาภแก่ผู้ไปขอ

                8.  วิหารคด

                หรือ วิหารพระระเบียง ก่อกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีหลังคาคลุมเข้าด้านใด ล้อมรอบบริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ชั้นในทั้งหมด มีประตูเข้าด้านหน้าและด้านหลัง 1 ประตู ประตูด้านหน้า เรียกว่า ประตูเหมรังสี สองข้างประตูมีรูปสิงโตตัวผู้และตัวเมียข้างละ 1 ตัว ตรงหน้าจั่วมุขประตู เป็นรูปครุฑและพญานาคเกี่ยวพันประดับด้วยแก้วสี

                ภายในวิหารคดหรือพระระเบียงทั้ง 4 ด้าน ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นเรียงราย เป็นจำนวน 173 องค์ เรียกรวมว่า “พระด้าน” พระพุทธรูปนี้ส่วนมากเป็นฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองเรียกพระด้านเพราะมีอยู่รอบด้านขององค์พระมหาธาตุวิหารคต  ทางด้านเหนือมีโครงกระดูกปลาวาฬ ที่ตายลอยมาเกยหาดที่ปากน้ำท่าสูง อำเภอท่าศาลา เมื่อ พ.ศ. 2452 ในบริเวณวิหารใช้เป็นที่แสดงธรรมในวันพระเหมือนวิหารทับเกษตร มีการอ่านหนังสือทำนองเสนาะเรียกว่า “สวดด้าน” ปัจจุบันวิหารคดบางส่วน ได้ใช้เป็นสาขาของห้องสมุดแห่งชาติ

9.  วิหารพระปัญญา

เป็นที่ประดิษฐานของพระปัญญา มีปริศนาลายแทงผูกเป็นกลอนว่า เมื่อบูชาพระปัญญาให้ถอยหลังออกมา     มีคนผู้หนึ่งไม่เชื่อ หันหน้าออกมา ทำให้เห็นไหบรรจุทองคำที่ซ่อนอยู่บนเพดานเหนือประตูปริศนาธรรมข้อนี้ เฉลยว่า ผู้ที่ไม่เชื่อตามผู้อื่น แต่ค้นหาความจริงด้วยตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ที่มีปัญญาอย่างแท้จริงยังมีร่องรอยปรากฏจนปัจจุบันนี้

10. เจดีย์รอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์

บริเวณภายในเขตพระระเบียงวิหารคดมีเจดีย์ขนาดต่าง ๆ เรียงรายรอบพระมหาธาตุรวมได้ 158 องค์ ลักษณะเจดีย์จำลองแบบมาจากองค์พระมหาธาตุเจดีย์ เจดีย์เหล่านี้ศิลปะช่างอยุธยาตอนปลายหรือแบบรัตนโกสินทร์ เช่น เจดีย์พระปัญญา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในวิหารพระปัญญา พระปัญญา ชาวบ้านเรียก “พระออกเสื่อ” (เหงื่อ) เล่ากันว่าใครอยากมีปัญญา ให้ขอปัญญาจากพระองค์ โดยเอามือแตะที่พระอุระแล้วมาแตะที่อกตนเองทำนองว่าได้ปัญญาจากท่านแล้ว

11.  วิหารพระธรรมศาลา

อยู่ทางทิศตะวันออกของพระมหาธาตุ นอกระเบียงตรงประตูเยาวราช กล่าวกันว่า พระเหมรังสีเถระ เป็นผู้สร้าง ตรงหน้าจั่วสลักหนังสือไว้บนแผ่นกระดานว่าได้บูรณะเสร็จเมื่อวันเสาร์เดือนยี่ ขึ้น 11 ค่ำ ปีมะเมีย ศก. พ.ศ. 2437

ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานเรียงรายโดยรอบ บนฐานชุกชี มีพระพุทธรูปปูนปั้นหลายองค์ องค์ใหญ่สุดชื่อ “พระธรรมศาลา” ปางมารวิชัย ด้านหน้าวิหารมีพระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง ปางประทานอภัย ก่อด้วยอิฐถือปูน ลงรักปิดทอง นามว่า พระทนทกุมาร ภายในวิหารด้านหน้า มีเจดีย์เรียก พระเจดีย์สวรรค์ตำนานกล่าวว่า พระยาแก้ว สร้างเพื่อบรรจุอัฐิของพระรามราชท้ายน้ำ เจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชที่ตายในที่รบ ภายในวิหารมีพระไสยยาสน์องค์ใหญ่ ปางปรินิพพานองค์หนึ่ง ด้านหลังวิหาร เดิมมีช่องทะลุ กับวิหารคตได้แต่ภายหลังได้อุดเสียแล้ว มีพระพุทธรูปปูนปั้นทรงเครื่องปางห้ามญาติ ขนาดเดียวกันกับพระทนทกุมาร เรียกนามว่า เจ้าหญิงเหมชาลา เป็นศิลปะยุคเดียวกับพระพุทธรูปพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ฝีมือช่างสมัยอยุธยา ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า เจ้าหญิงเหมชาลากับพระทนทกุมาร เป็นผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาฝังไว้ ณ หาดทรายแก้ว

12.  วิหารโพธิ์พระเดิม

อยู่สุดเขตทางวัดด้านทิศเหนือ มีวิหารแบบเดียวกับวิหารโพธิ์ลังกา เดิมเป็นวัดชื่อ วัดพระเดิม เป็นโบราณสร้างขึ้นภายหลังวัดบรมธาตุเจดีย์ ภายในมีวิหารโพธิ์ลังกา กับพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับวิหารโพธิ์ลังกาในบริเวณ พระมหาธาตุเจดีย์ ต้นโพธิ์นี้ได้พันธุ์มาจากลังกา อาจจะพร้อมกันกับวัดพระมหาธาตุเจดีย์ก็เป็นได้เพราะมีขนาดลำต้นใหญ่ใกล้เคียงกับของวัดพระมหาธาตุเจดีย์มาภายหลังวัดพระเดิมได้ยุบรวมเข้ากับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

13.  พระวิหารหลวง

อยู่ทางด้านทิศใต้ขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ ด้านภายนอกเขตวิหารคดพระระเบียง พระวิหารหลวง สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยโดยชาวลังกาให้อยู่คู่กับองค์พระมหาธาตุเจดีย์ มีการบำรุงรักษามาโดยตลอด จนถึงในสมัยอยุธยาจึงได้ซ่อมแซมขยายให้ใหญ่กว้างขวางกว่าของเดิม รูปลักษณะของพระวิหารหลวงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา คือคานรับพื้นตกท้องสำเภาลักษณะการตั้งเสาเอนปลายสอบเข้าหากัน ทำให้ดูสวยงาม ไม่แข็งกระด้าง เป็นแบบทรงที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยา หน้าบันมีมุขเด็จไม้แกะยื่นออกมา หน้าบันด้านหน้าพระวิหารหลวงแกะสลักลายเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสาเศียร ส่วนหน้าบันด้านหลังเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ พระวิหารหลวงมีขนาดยาว 29 วา 1 ศอก 5 นิ้ว กว้าง 7 วา 10 นิ้ว สูง 12 วา 3 ศอก 5 นิ้ว เสารอบนอกมี 40 ต้น ข้างในพระวิหารหลวงมี 24 ต้น ด้านหน้ามีประตู 3 ประตู ด้านหลังมี 2 ประตู บนเพดานเขียนลายไทยปิดทอง มีรายดารกา ลายดาวเป็นแฉกมีรัศมีสวยงดงามมาก

ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยชื่อพระศรีศากยะมุนีศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปอัครสาวกนั่งอยู่ด้านซ้ายและขวา

เดิมวิหารหลวงแห่งนี้ใช้ประกอบพิธีสักการบูชาพระบรมธาตุต่อมาดัดแปลงเป็นพระอุโบสถสำหรับประกอบพิธีสังฆกรรม แต่ชาวเมืองยังนิยมเรียก พระวิหารหลวงอยู่ตามเดิม เหตุที่วัดพระมหาธาตุไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเพราะถือว่าเป็นวัดหลวง เป็นศาสนาสมบัติส่วนรวม ใครจะประกอบศาสนกิจอย่างใดก็ได้ ชาวพุทธทุกฝ่ายมีหน้าที่บำรุงรักษาพระสงฆ์ผู้ดูแลรักษาก็อยู่ในวัดต่าง ๆ ที่ล้อมรอบพระบรมธาตุทั้ง 4 ทิศ พระสงฆ์ได้มาสร้างกุฏิอยู่ในวัดพระมหาธาตุ ต่อมาเจ้านครผู้มีศรัทธาแก่พระวิหารหลวงมาเป็นพระอุโบสถ

มีสิ่งที่บอกแสดงว่าพระวิหารหลวงเปลี่ยนมาเป็นพระอุโบสถคือ ใบเสมารอบพระอุโบสถเป็นของที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ใบเสมาเดิมเป็นวิหารทรายสีแดง ภายหลังได้ทำลวดลายปิดกระจกเพิ่มเติมในรัชกาลที่ 5 ในคราวปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง                                   

14.  พระพุทธบาทจำลอง

อยู่ทางทิศเหนือของพระบรมธาตุเจดีย์ นอกพระระเบียง วิหารคด ประดิษฐานอยู่ในมณฑปบนเนินสูงเป็นแผ่นศิลาสลักรอยจำลองพระพุทธบาท ยาว 74 นิ้ว กว้าง 44 นิ้ว สร้างโดยเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พร้อม ณ นคร) พระรัตนธัชมุนี (ม่วง) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระศิริธรรมมุนี กับพระครูกาแก้ว (สี่) และพระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) เมื่อครั้งเป็นพระยาตรังคภูมาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกันสร้างเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2450 ในรัชกาลที่ 5 ที่ใกล้บันไดทางขึ้นไปพระพุทธบาท มีพระพุทธรูปหินทรายสมัยศรีวิชัยองค์หนึ่งศักดิ์สิทธิ์มากเรียกว่าพระบุญมาก ปางนาคปรก ประดิษฐานอยู่ในซุ้มมีคนไปบนบานของบุตรและโชคลาภจากท่านเสมอ

15.  ต้นพระศรีมหาโพธิ์

อยู่ด้านหน้าของศาลาศรีพุทธิสารเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากพุทธยาอินเดีย มีประวัติความเป็นมา เมื่อ พ.ศ. 2483 รัฐบาลสมัยนั้นได้ส่งคณะฑูตพิเศษ ซึ่งมีพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ทางเอเชียในเครือจักรภพอังกฤษ และได้นำพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากรัฐบาลอินเดีย มาไว้ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ และได้ขอต้นพระศรีมหาโพธิ์มา 5 ต้น นำมาปลูกไว้ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน 2 ต้น ที่ภาคเหนือวัดพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่ 1 ต้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่วัดพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม 1 ต้น และที่ภาคใต้ วัดมหาธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช 1 ต้น ซึ่งทำพิธีปลูกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2486

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่นำมากล่าวนี้ แต่ละแห่งเป็นศิลปะโบราณ มีความวิจิตรสวยงามมากแก่ผู้ที่ได้มาพบเห็น มีประวัติความเป็นมาน่ารู้น่าศึกษา ถึงความศรัทธาเลื่อมใสของบรรพ ชนแต่โบราณ มีความอุตสาหะสร้างขึ้นมาเป็นถาวรโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่ามาก ถ้าได้เข้ามาชมด้วยความพินิจพิจารณาทั่วทุกแห่งแล้วจะเห็นว่าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีบริเวณกว้างขวางใหญ่โตมีปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นโบราณสถานที่สำคัญมากมายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีศิลปวัตถุโบราณที่วิจิตรพิสดารมากมายน่าอัศจรรย์ยิ่ง

 

สิ่งสำคัญในวัด พระมหาธาตุวรมหาวิหาร

เชิญแนะนำข้อมูลเพิ่มเติมของสิ่งสำคัญในวัด พระมหาธาตุวรมหาวิหาร

ชื่อ / Email
ข้อความ
  

 


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์