ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี


www.dooasia.com > พระธาตุ > พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช : ประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช (1)


  4  พระบรมธาตุ

พระบรมธาตุ

ตำนานที่มาโดยละเอียด สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปี

พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช

โดย สำนักงานนิตยสารเทียนชัย

 

ประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช (1)

                เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโทยาน กรุงกุสินารา ได้ล่วงมาแล้ว 7 วัน ได้ถวายพระเพลิงศพแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยังเหลือแต่พระบรมสารีริกธาตุ บรรดาเจ้าครองนครพระมหาพราหมณ์ 7 พระนคร ได้ส่งคณะราชฑูต และพราหมณ์ทูต มายังเมืองกุสินารา เข้าเฝ้ากษัตริย์มัลละเชิญพระราชสาสน์ตามบัญชาว่า

                “สมเด็จพระโลกุตตมาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นกษัตริย์สมมติวงศ์ และเราทั้งหลายเป็นขัตติราชอันอุดม เราทั้งหลายสมควรอยู่ ที่จะได้ส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจะได้นำไปประดิษฐานไว้ในพระสถูป กระทำมหกรรมสักการบูชาให้มโหฬารไพศาล”

                เจ้ามัลลกษัตริย์ถึงทรงดำริว่า ชะรอยพระพุทธองค์จะทรงเห็น อำนาจแห่งประโยชน์เกษมสุข สมบัติประจักษ์ชัดด้วยพระญาณแล้วเป็นแม่นมั่น อุตส่าห์เสด็จพุทธดำเนินจากปาทนาครมาเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในเขตคามเขต ประทานพระบรมสารีริกธาตุแก่เรา เรามาปฏิบัติอนุโลมตามพระพุทธนิมิตอยู่ฉะนี้เป็นการดีกว่า สามารถจะป้องกันศัตรูให้สงบ ไม่กล้ากำเริบทำสงครามสัปหารได้ จึงทรงตรัสแก่ฑูตานุทูตทั้งหลายว่า

                “สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าดับขันธปรินิพพานในคามเขตแห่งเรา เราทั้งหลายจักไม่แบ่งปันส่วนพะบรมสารีริกธาตุให้” เป็นสุรนาถขึงขัน ฝ่ายฑูตานุทูตก็ไม่ย่อท้อ และจวนเจียนจะเกิดวิวาทเป็นสงครามสัปประหารใหญ่

                ฝ่ายโฑณพราหมณ์ ผู้ใหญ่มีปัญญาเฉลียวฉลาดในการผ่อนผันทั้งคดีโลก คดีธรรม ครั้นได้ฟังสุรนาถแห่งมัลลกษัตริย์จึงดำริว่า

                “ซึ่งมัลลกษัตริย์ จะมาขัดขวางไว้ ไม่ปันส่วนของพระบรมสารีริกธาตุถวายแก่เจ้าพระนคร ซึ่งส่งทูตมาขอนั้นไม่ชอบ เพราะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มิใช่สายโลหิตแห่งเราทั้งหลาย พวกเราทั้งหลายต่างก็ได้นับถือพระพุทธองค์ ก็ด้วยเป็นพระบรมครู ผู้สอนปฏิบัติ ถึงแม้นสามัญตราชทั้งหลายที่มาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนี้ ก็เพราะอาศัยธรรมคำสอนข้อปฏิบัติจึงได้เลื่อมใสนับถือพระพุทธองค์ เมื่อมัลลกษัตริย์ไม่ยอมแบ่งถวายส่วนพระบรมสารีริกธาตุ ถือเป็นการตัดไมตรีไม่ควรเลย

                อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนไม่ให้พวกเรารบราฆ่าฟันกัน โอวาทานุสาสนีของพระพุทธองค์ เป็นไปโดยทรงขันติธรรมและสามัคคีธรรม ไกลจากวิหิงสาและอาฆาต

                อนึ่ง เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ชนทั้งหลายได้บูชาสักการะพระพุทธองค์ในที่ต่าง ๆ ครั้นนี้ที่พระองค์ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระบรมสารีริกธาตุนี้แลจะได้เป็นที่ไหว้กราบ สักการบูชาอยู่สิ้นกาลนาน”

                เมื่อโฑณพราหมณ์ดำริได้ดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวกลางที่ประชุมว่า

                ขอคณานิกรเจ้าผู้เจริญจงฟังวาจาอันจะต้องทำตามโดยส่วนเดียวของข้าพระองค์ครั้งนี้ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เบิกบานแล้วด้วยสรรพคุณเป็นสรณะที่พึ่งแห่งพวกเราทั้งหลาย พระองค์เป็นขันติวาส กล่าวสรรเสริญขันติธรรมความอดกลั้น ทนต่อพาหิรทุกข์และกำลังกิเลส การที่จะมาปรารภส่วนพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์เป็นมูลเหตุแล้ว จะมาทำสัปประหารต่อสู้กันเป็นสงครามขึ้นไม่ดีไม่งามเลย

                ข้าแต่พระองค์ผู้กษัตริย์เจ้าผู้เจริญ บรรดาเราทั้งปวงทั้งเจ้านครเดิมและต่างราชธานี จงพรักพร้อมสามัคคีชื่นชมเกษมศาสนติ์ แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วน ให้เสมอกันทุกพระนครเถิด ขอเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ในพระสถูปเจดีย์ให้แพร่หลายไปทุกทิศานุทิศจะได้ให้สำเร็จประโยชน์สุขแก่เหล่าประชาชน ทวยราษฎร์ทั่วถ้วนสิ้นกาลนาน มหาชนผู้เลื่อมใสแด่พระพุทธองค์มีมากมายล้นเหลือที่จะคณนา

                พระมหากษัตริย์ทั้งหลายก็ทรงเห็นชอบในสามัคคีธรรมพร้อมกับมอบธุระให้โฑณพราหมณ์เป็นผู้แบ่งสันปันส่วนพระบรมสารีริกธาตุในวันนั้นเอง พระอรหันต์เขมเถระได้เข้าอัญเชิญพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้วเบื้องขวา และพระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้ายอย่างละ 1 องค์) ออกจากจิตกาธาน เพื่อนำไปถวายพระเจ้าพรหมทัตกษัตริย์แคว้นกลิงคราษฏร์

                พระทันตธาตุได้ประดิษฐานและเคลื่อนย้ายไปยังนครต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำมหานที ตามความเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ต่าง ๆ เวลาล่วงมา 800 ปีเศษ ครั้งหลังสุดได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองทันทบุรี อันมีพระเจ้าโคสีหราช ซึ่งมีอัครมเหสีชื่อว่า นางมหาเทวี มีพระราชบุตรีชื่อ นางเหมชาลา และพระราชบุตรชื่อ ทนทกุมาร

พระทันตธาตุ อัญเชิญมาที่หาดทรายแก้ว นครศรีธรรมราช

                ปี พ.ศ.852 เมืองขันธบุรี อยู่ข้างฝ่ายทิศทักษิณเจ้าเมือง ท้ายอังกุศราช พระอัครมเหสีชื่อ จันทร์เทวี ได้รวบรวมกำลังทัพยกมาตีเมืองทันทบุรี เป็นศึกใหญ่เพื่อช่วงชิงพระทันตธาตุ

                พระเจ้าโคสีหราช เจ้าเมืองทันทบุรี มีพระหฤทัยแรงกล้าที่จะไม่ให้พระทันตธาตุไปทำลาย ตัดกำลังมิให้ศาสนาพุทธตั้งมั่นในลุ่มแม่น้ำมหานที แต่กำลังข้าศึกนั้นมีเกินกำลังรบ และท้าวโคสีหราชมีพระชันษาชราภาพ จึงรับสั่งกับเจ้าหญิงเหมชาลาราชธิดา เจ้าชายทนทกุมารว่า ถ้าเห็นพระองค์เพลี่ยงพล้ำลงประการใดในระหว่างศึก เจ้าทั้งสองจงเล็ดลอดหนีออกจากเมือง และเชิญพระบรมธาตุหลบหนีนำไปถวายให้ถึงพระหัตถ์ของพระเจ้ากรุงลังกาให้จงได้ อย่าให้พระบรมธาตุตกไปอยู่ในมือของพวกทมิฬปัจจามิตรเป็นอันขาด เมื่อพระราชบุตร พระราชธิดารับพระบรมโองการของพระราชบิดาแล้ว ก็จัดแจงปลอมพระองค์เป็นพ่อค้าพาณิชย์อัญเชิญพระบรมธาตุซ่อนไว้ในมาลีเหนือเศียรเกล้า

                เมื่อสงครามยุทธหัตถีเกิดขึ้น พระเจ้าโคสีหราชกษัตริย์เพลี่ยงพล้ำขาดคอช้าง ถูกพระเจ้าอังกุศราชใช้พระแสงของ้าวฟันถูกพระวรกายสิ้นพระชนม์บนคอช้าง เจ้าฟ้าทั้งสองได้ทราบข่าวก็หนีออกจากเมืองทันทบุรีไปสู่เมืองท่าใหญ่ (ตาระลิมปิติ) โดยสารเรือสำเภา ใช้ใบข้ามมหาสมุทร (อ่าวเบงกอล) ไปยังเกาะลังกา รอนแรมอยู่หลายวันทีเดียว เมื่อจวนจะถึงเส้นทางเดินเรือเข้าสู่เกาะลังกา ก็เกิดพายุจัดคลื่นใหญ่ ฝนฟ้าคะนองพัดพาเรือสำเภาเสากระโดงหักพัง เกือบจะอัปปางกลางมหาสมุทร ส่วนเรือสำเภาลำเล็กที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันได้อัปปางล่มจมจนหมดสิ้น มีแต่เรือของเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทนทกุมารลำเดียวเท่านั้น ที่ฝ่าลมมาได้ผ่านหมู่เกาะอันดามันจนถึงฝั่งตะวันตกของสุวรรณภูมิ ตรงหน้าเมืองตะโกลา (ตะกั่วป่า)

                เจ้าฟ้าทั้งสององค์ทรงขึ้นฝั่งไปอยู่กับชาวเมืองตะโกลาพอสมควรแก่เวลา แล้วทรงทราบว่าทางฝั่งตะวันออกของสุวรรณภูมิมีเรือสำเภาค้าขายอยู่ที่เมืองตามพรลิงค์ ไปมาระหว่างลังกากับสุวรรณภูมิ อยู่เสมอ ควรจะเดินทางไปเพื่ออาศัยเรือพ่อค้าพาณิชย์เดินทางไปลังกา

                เจ้าฟ้าทั้งสองก็พากันเดินดั้นด้นฝ่าไพรจนมาถึงหาดทรายแก้ว ก็รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและหิวโหยจนหมดพละกำลังที่จะเดินทางต่อไป อีกทั้งสถานที่นี้ก็รโหฐานร่มรื่นสบาย น่าพักผ่อน จึงทรงอัญเชิญพระทันตธาตุจากเมาลีประทับฝังไว้ที่หาดทรายแก้วแล้วก็หาที่กำบังพักผ่อนรอคอยเรือพ่อค้าพาณิชย์ที่จะไปเมืองลังกาต่อไป

                กาลครั้นนั้นยังมีพระอรหันต์มหาเถระพรหมเทพ ได้ธุดงค์มาจากอินเดียมีอภิญญาสมาบัติแก่กล้าสามารถทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำ ทราบถึงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา และเจ้าฟ้าทนทกุมาร จึงเดินทางมาโดยนภากาศเห็นพระทันตธาตุเปล่งรัศมีโชติช่วงสว่างไสว ก็เข้ามาสักการบูชา

                เจ้าฟ้าหญิงทั้งสองเมื่อได้เห็นพระมหาเถระพรหมเทพแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างมาก จึงออกจากที่กำบังเข้าไปนมัสกาพระมหาเถระพรหมเทพ และได้เปิดเผยฐานะที่แท้จริงพร้อมกับเล่าเหตุการณ์ให้พระมหาเถระพรหมเทพฟังโดยตลอด พระมหาเถระก็ได้อนุเคราะห์แนะนำว่า ถ้าจะไปเมืองลังกาให้เดินทางไปท่าเรือเมืองตรัง ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ มีเรือใหญ่ไปมาค้าขายระหว่างเมืองต่าง ๆ ในภาคพื้นตะวันตก เช่นว่า ลังกา และเมืองท่าต่าง ๆ ริมทะเลประเทศอินเดียและทำนายไว้ว่า

                ต่อไปข้างหน้าอีก 200 ปีเศษ จะมีพระยาองค์หนึ่งชื่อพระยาศรีธรรมโศกราช จะมาสร้างเมืองใหม่ ณ หาดทรายแก้วแห่งนี้ และจะทรงสร้างพระเจดีย์สูง 17 วา บรรจุพระบรมธาตุ อีกทั้งสั่งเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทนทกุมารว่า ถ้าหากมีอันตรายใด ๆ เกิดขึ้นระหว่างทางขอให้ระลึกถึงท่าน ท่านจะมาช่วยเหลือแล้วพระมหาเถระพรหมเทพก็ได้ลากลับไป

                เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าฟ้าชายทนทกุมาร จึงอัญเชิญพระทันตธาตุขึ้นจากที่ ๆ ฝังไว้ แล้วใส่เมาลีตามเดิม ออกเดินทางต่อไปจนถึงท่าเรือที่เมืองตรัง ขอโดยสารเรือสำเภาลำหนึ่งที่จะแล่นไปเมืองลังกา เมื่อเรือสำเภาอออกแล่นไปถึงกลางมหาสมุทร ก็เกิดอัศจรรย์ขึ้น คือ เรือหยุดกับที่ไม่เคลื่อน นายสำเภาเกิดเอะใจจึงเรียกประชุมบริวารทั้งหลายปรึกษาหารือกันและลงความเห็นว่าเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะว่าสองพี่น้องมาในเรือ ถ้าฆ่าสองพี่น้องโยนทิ้งทะเลเรือก็อาจจะแล่นต่อไปได้ จึงจับสองพี่น้องมาหมายจะฆ่า เจ้าฟ้าทั้งสองจึงได้ระลึกถึงพระมหาเถระพรหมเทพให้มาช่วยทันใดนั้นเองพระยาครุฑใหญ่ ปีกกว้างยาว 300 วา ได้บินมาที่เรือ พระยาครุฑได้กลายร่างเป็นพระมหาเถระพรหมเทพมาชี้แจงให้คนในเรือได้ทราบว่า การที่เรือหยุดกับที่แล่นไม่ได้นั้นเป็นเพราะพระยานาคได้พาบริวาร ขึ้นมานมัสการพระทันตธาตุ เจ้าหญิงเหมชาลากับเจ้าชายทนทกุมาร จึงกราบนมัสการพระมหาเถระพรหมเทพแล้วทรงกล่าวขอบคุณ พระมหาเถระจึงได้ลาเจ้าฟ้าทั้งสองลับหายไป

                เรือสำเภาก็แล่นไปถึงเมืองลังกา แล้วขึ้นเข้าเฝ้าพระเจ้ากฤตติสิริเมฆวันกษัตริย์กรุงลังกา ถวายพระทันตธาตุ และกราบเรื่องราวแต่หนหลังให้ทรงฟังโดยตลอด เมื่อเจ้ากรุงลังกาได้กราบทูลเรื่องราวโดยละเอียดแล้ว มีความโสมนัสยินดียิ่งนักจึงได้จัดที่ประทับรับรองทั้งเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าฟ้าชายทนทกุมารเป็นอย่างดี และมีพระราชโองการให้จัดพิธีต้อนรับ และสมโภชน์พระทันตธาตุอย่างมโหฬารยิ่ง ซึ่งไม่มีครั้งใดในลังกาจะมีพิธีใหญ่โตเช่นนี้ เสร็จพิธีสมโภชน์แล้ว พระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาและพระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้ายให้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนสืบไป

                พระเจ้ากรุงลังกาได้ทรงรับสั่งให้จัดตำหนักเป็นที่ประทับอยู่ของเจ้าฟ้าทั้งสองพร้อมด้วยนางสนมกำนัลปรนนิบัติ เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าฟ้าชายทนทกุมารได้ประทับอยู่เป็นเวลานานพอสมควร จึงได้ทราบข่าวว่าเมืองทันทบุรีกู้อิสระภาพคืนมาได้โดยกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะผู้นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และจัดให้กษัตริย์ราชวงศ์พรหมทัตปกครองสืบต่อมา พระเจ้ากรุงลังกาได้ตรัสเล่าเรื่องราวสถานการณ์บ้านเมืองในทันทบุรีเวลานี้ได้สงบ เรียบร้อยแล้ว เจ้าจะเสด็จกลับบ้านเมืองหรือจะประทับอยู่ในเมืองลังกาสืบไปหรือว่าอย่างไรสุดแล้วแต่ความพอพระทัยเจ้าฟ้าชายและเจ้าฟ้าหญิงกราบทูลขอกลับไปบ้านเมืองทันทบุรี

                เจ้าฟ้าทั้งสองจึงขอพระทันตธาตุองค์หนึ่งไปประดิษฐานไว้ ณ หาดทรายแก้ว ตามคำทำนายของพระมหาเถระพรหมเทพ พระเจ้ากรุงลังกาทรงดำริว่า หาดทรายแก้วซึ่งเป็นที่ฝังพระทันตธาตุเพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น เป็นมงคลภูมิต่อไปภายหน้า คงจะเป็นเมืองใหญ่โตมั่นคงสมควรจะนำพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปประดิษฐานให้เป็นที่สักการบูชาของมหาชนสืบไป

                พระเจ้ากรุงลังกาจึงรับสั่งให้มหาอำมาตย์จัดการส่งเสด็จและได้คืนถวายพระทันตธาตุเบื้องซ้าย พร้อมกับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุหักย่อย 1 ทะนาน ให้แก่เจ้าหญิงเหมชาลา และเจ้าชายทนทกุมาร เพื่อเป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองในแหลมสุวรรณภูมิสืบไป ทรงบัญชาให้พระมหาพราหมณ์อำมาตย์ 4 คน เป็นผู้ควบคุมดูแลรักษาช่วยเหลือระหว่างเดินทางได้มีพระราชสาสน์ถึงเจ้าเมืองทันทบุรี แจ้งเรื่องราวให้ทราบว่าเจ้าฟ้าเหมชาลาและเจ้าฟ้าชายทนทกุมารเป็นพระราชธิดาและพระราชโอรสของพระเจ้าโคสีหราชซึ่งทิวงคตในราชการสงครามจะกลับมาอยู่เมืองทันทบุรี ขอให้ต้อนรับอนุเคราะห์อุปถัมภ์ให้อยู่เป็นสุขสบายด้วย แล้วได้ให้จัดกระบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและเจ้าฟ้าทั้งสองขึ้นสู่เรือสำเภาใหญ่ เคลื่อนกระบวนจากเมืองลังกา แล่นตรงไปสู่ท่าเรือหาดทรายแก้ว เมื่อถึงแล้วได้ทำพิธีอัญเชิญพระทันตธาตุและพระบรมสารีริกธาตุครึ่งทะนานขึ้นสู่หาดทรายแก้ว

                มหาพราหมณ์ทั้ง 4 ได้ก่อเจดีย์อัญเชิญพระทันตธาตุและพระบรมสารีริกธาตุครึ่งทะนาน บรรจุลงในผอบแก้วประดิษฐานในแม่ขันทองคำ แล้วนำลงฝังภายในเจดีย์ ณ รอยเดิมที่เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าฟ้าชายทนทกุมารเคยฝังพระทันตธาตุไว้ทำพิธีไสยเวทย์ ผูกพยนต์เป็นกา 4 ฝูง คือ

                กาสีขาว 1 ฝูง เรียกว่า กาแก้ว เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศตะวันออก

                กาสีเหลือง 1 ฝูง เรียกกว่า การาม เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศใต้

                กาสีแดง 1 ฝูง เรียกว่า กาชาด เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศตะวันตก

                กาสีดำ 1 ฝูง เรียกว่า กาเดิม เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศเหนือ

                ให้เฝ้ารักษาอยู่ไม่ให้เกิดอันตรายใด ๆ ขึ้นส่วนพระบรมสารีริกธาตุอีกครึ่งทะนาน เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าฟ้าชายทนทกุมาร ได้อัญเชิญไปเมืองทันทบุรี ประทับอยู่ด้วยความสุขสบายตลอดพระชนม์ชีพ

                เมื่อเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา และเจ้าฟ้าชายทนทกุมารได้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่หาดทรายแก้วนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.854

                ในช่วงระยะ พ.ศ.858-1300 ภูมิประเทศก็ได้หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป มีคลื่นซัดพาเอาโคลนเอาทรายขึ้นทับถมเจดีย์จนกลายเป็นหาดทรายอันราบเรียบไม่มีร่องรอยเจดีย์หลงเหลืออยู่ ป่าไม้ก็ขึ้นเจริญงอกงามใหญ่โตจนเป็นดงดิบ ไม่มีใครสนใจพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพราะในยุคนั้นมีผู้คนประปรายห่าง ๆ

                กาลผ่านมาได้มี พระยาศรีธรรมโศกราชครอบครองกรุงศิริธรรมนคร หรือหงษาวดีเจริญรุ่งเรืองมาก ต่อมาในเมืองได้เกิดไข้ยุบลมหายักษ์มาทำอันตรายไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้เรียกบาคูทั้ง 4 มาประชุมปรึกษาหารือลงความเห็นกันว่าควรอพยพไปเสียจากเมืองนี้ ทรงลงเรือหนีไข้ แล่นออกจากเมืองเดินทาง 7 เดือน ถึงเขาชวาปราบ (อ.คลองค่อม กระบี่) ให้ตั้งที่นั่นแล้วสร้างวัดสระเรียง ที่ตั้งอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

                ในระหว่างนั้นมีพราน 8 คน คนหนึ่งชื่อ พรานพรหมสุริยะตามเนื้อมาริมทะเล จนถึงหาดทรายแก้ว พบดวงแก้วดวงหนึ่งโตเท่าผลหมากสุก มีลักษณะสดใสสวยงามลักษณะประหลาด จึงได้เก็บไปถวายพระศรีธรรมโศกราช แล้วตั้งไว้ในท้องพระโรง (แก้วดวงนี้เล่ากันว่าอยู่ในพานสัมฤทธิ์บนยอดพระมหาธาตุเจดีย์)

                พรานกราบทูลว่า ดวงแก้วนี้เก็บได้ที่หาดทรายแก้ว และหาดทรายนั้นกว้างยาวมีน้ำล้อมอยู่โดยรอบ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช จึงให้พรานพรหมสุริยะนำบาคูทั้ง 4 ไปดูที่นั่น บาคูทั้ง 4 เมื่อถึงหาดทรายแก้วก็ได้เขียนแผนที่ที่นั้นมาถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงได้พาพระญาติวงศ์ไพร่พลเดินทางรอนแรมมา 7 วัน

                เมื่อมาถึงหาดทรายแก้วแล้ว ก็ให้ไพร่พลตั้งพักทำไร่ไถนาอยู่ ณ หาดทรายแก้วนั้น ทรงปรึกษาหารือกับบาคุทั้ง 4 วางแผนผังที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่นี่ โปรดให้บาคูทั้ง 4 พร้อมด้วยนายช่างอีก 100 คน ไปดูแบบผังเมืองลังกาที่เขาเล่าลือกันมากว่าเป็นเมืองที่สวยงามยิ่งนัก เมื่อบาคูและนายช่างได้ไปชมแบบแปลนแผนผังเมืองลังกาแล้ว ก็นำกลับมาพร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์ลังกาชื่อ “พระมหาพุทธคำเพียร” มาเข้าเฝ้ากราบเรียนรายงานเหตุการณ์ให้ทรงทราบ

                พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงโสมนัสยิ่งนัก ทรงตรัสถามพระมหาพุทธคำเพียร ถึงการสร้างเมืองและพระมหาธาตุเจดีย์พระมหาพุทธคำเพียรได้ถวายพระพรทูลว่ามีคำทำนายล่วงมาหลายร้อยปีว่า พระมหาบพิตรจะมาสร้างเมืองและพระมหาธาตุเจดีย์ที่หาดทรายแก้วนี้ ตามคำทำนายของพระมหาเถระพรหมเทพ แล้วทรงเล่าเรื่องราวให้พระศรีธรรมโศกราชฟังตั้งแต่ต้น

                ครั้งเมื่อพระเจ้าโคสีหราช พระราชบิดาของเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าฟ้าชายทนทกุมาร ออกสงครามเพื่อป้องกันพระทันตธาตุไม่ให้ตกอยู่มือของพวกเดียรถีย์ทมิฬปัจจามิตร จนพระองค์สิ้นพระชนม์ในสนามรบ เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าฟ้าชายทนทกุมาร ทรงอัญเชิญพระทันตธาตุซ่อนไว้ในเมาลีหนีลงเรือสำเภา เรือถูกคลื่นซัดพามาขึ้นฝั่งที่เมืองท่าตะโกลา (ตะกั่วป่า) แล้วเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าฟ้าทนทกุมารทั้งสองพระองค์ก็ดั้นดงไพรมาถึงหาดทรายแก้วพระมหาเถระพรหมเทพได้มานมัสการพระบรมธาตุแล้วทำนายว่า พระมหาบพิตรจะทรงมาสร้างเมืองและพระมหาธาตุเจดีย์ ณ หาดทรายแก้วแห่งนี้

                พระเจ้าศรีธรรมโศกราช เมื่อได้ทรงสดับรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ แล้ว ให้ทรงโสมนัสปลื้มปิติเกิดศรัทธาปสาทะยิ่งนัก ตั้งพระราชหฤทัยแน่วแน่ที่จะสร้างเมืองและพระมหาธาตุเจดีย์ให้สำเร็จตามคำทำนายของพระมหาเถระพรหมเทพให้จงได้ แล้วพระศรีธรรมโศกราชประชุมปรึกษาพระมหาพุทธเพียรและบาคูทั้ง 4 วางโครงการแผนผังสร้างเมือง

                เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้ว ทรงตั้งชื่อเมืองว่า “เมืองนครศรีธรรมราช”  จากนั้น ก็ก่ออิฐถือปูนสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้น ตามตำนานกล่าวว่า ระหว่างที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้นได้ข่าวว่า พระพุทธสิหิงค์ ล่องน้ำลอยมาจากเมืองลังกาถึงเกาะหมาก (ปีนัง) และมาถึงนครศรีธรรมราช ส่วนพระทันธาตุที่เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าฟ้าชายทนทกุมาร นำมาฝังไว้ยังหาไม่พบ จึงป่าวประกาศไปทั่วเมืองว่า ถ้าผู้ใดรู้ที่ฝังพระบรมสารีริกธาตุอยู่ที่ใด จะให้ทองโตเท่าลูกฟัก

                ยังมีผู้เฒ่าคนหนึ่ง อายุ 120 ปี แจ้งว่ารู้ที่ฝังพระบรมธาตุแล้วกราบทูลว่าเมื่อยังเล็ก บิดาได้พาไปนมัสการเอาดอกไม้ไปถวายที่นั่น พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงให้คนไปขุดตอแผ้วถางป่า ก็ขุดพบพระเจดีย์ฝังอยู่ใต้ดิน แต่จะรื้อขุดเอาพระธาตุขึ้นมาไม่ได้เพราะมีอาถรรพ์หุ่นพยนต์เป็นฝูงกาไล่จิกทำอันตรายอยู่ จึงไม่สามารถเชิญพระบรมธาตุขึ้นมา

                พระเจ้าธรรมโศกราช ทรงเป็นทุกข์วิตกกังวลมาก ทรงให้อำมาตย์เอาทองโตเท่าลูกฟัก อีกลูกหนึ่งแขวนคอม้า ป่าวประกาศว่า ถ้าผู้ใดปราบหุ่นพยนต์ได้จะให้ทองแก่ผู้นั้น

                กาลนั้น ยังมีชายผู้หนึ่งชื่อ จันที เข้าเฝ้ากราบทูลเมื่อบิดาเสียชีวิตได้ไปศึกษาวิชาปราบหุ่นพยนต์ที่เมืองโรมวิสัย แล้วสักตำราด้วยหมึกดำไว้ที่ขา ทางเมืองโรมวิสัยไม่ต้องการคนต่างเมืองรู้ตำรา จึงใช้อาคมหุ่นพยนต์มาตัดคอบิดาตาย ตนค้นพบว่าได้เรียนตำราซึ่งสักอยู่ที่ศพบิดา พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงโสมนัสยิ่งนัก ประทานทองเท่าลูกฟักแก่ชายผู้นั้นแล้วให้ลงมือจัดการปราบหุ่นพยนต์ หุ่นพยนต์ก็สิ้นฤทธิ์ยืนนิ่งอยู่

                ตามตำนานกล่าวว่า การปราบหุ่นพยนต์ครั้งนี้ทำให้พระสุหัสนัย (พระอินทร์) รู้สึกร้อนอาสน์เป็นอันมากต้องมีเทวราชโองการให้พระวิษณุกรรมเสด็จลงมาช่วยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราชและอยู่ในช่วงตกแต่งพระมหาธาตุเจดีย์จนเสร็จงานแล้วจึงลากลับ

                แต่การสร้างองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในครั้งนั้น สร้างตามความเชื่อ พุทธศาสนาลัทธิฝ่ายมหายาน ตามแบบสถาปัตยกรรมศรีวิชัย เพราะอิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัยที่ครอบคลุมตลอดแหลมมลายู รูปแบบจึงคล้ายคลึงกับพระบรมธาตุไชยา

                เมื่อเจ้าศรีธรรมโศกราชได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์เสร็จแล้ว คณะพระสงฆ์ลังกาวงศ์ที่มีพระมหาพุทธคำเพียรเป็นสังฆนายก ได้ออกจารึกเผยแพร่พระพุทธศาสนาประกาศพุทธศาสนาธรรมแก่ประชาชนทั่วดินแดนสุวรรณภูมิ ประชาชนมีความศรัทธาเลื่อมใสได้ยอมรับนับถือเข้าบวชเรียนวินัยไตรปิฏก พุทธศาสนาตั้งรากฐานมั่นคงเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดจนปวงชนทั่วไปสมัยนั้นกล่าวกันว่าพระมหาธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธ ศาสนาทางเอเชียอาคเนย์ ที่สำคัญที่สุด

                จากหลักฐานการบันทึกของภิกษุชาวจีนรูปหนึ่ง ชื่อ “อิจิง” จะเดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยในประเทศอินเดียเมื่อประมาณ พ.ศ.1214-1238 ได้เดินผ่าน “นครตามพรลิงค์” (นครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) บันทึกไว้ว่า สมัยท่านจารึกมาถึงนครตามพรลิงค์ พระพุทธศาสนาที่นี่เจริญรุ่งเรืองมาก ชาวเมืองล้วนตั้งมั่นในสัจจะศีลธรรม ถึงพร้อมด้วยมงคลธรรมจรรยาทุกประการ ทุกหนทุกแห่งในนครตามพรลิงค์เต็มไปด้วยความสงบสุข ปราศจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ฝ่ายพระราชาก็ทรงอุปถัมภ์ยกย่องบำรุงพระพุทธศาสนามากพระราชหฤทัยของพระราชามุ่งแต่การกุศล

                ในยุคนั้นว่ากันว่ามีพระภิกษุสงฆ์ถึง 1,200 รูป ในใจของพระภิกษุเหล่านี้มุ่งในการศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง นอกจากนี้พระภิกษุอิจิงยังได้บันทึกถึงประเพณีการทำบุญของชาวนครศรีธรรมราชไว้อย่างละเอียดอีกด้วย

 

ประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช (1)

เชิญแนะนำข้อมูลเพิ่มเติมของประวัติพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช (1)

ชื่อ / Email
ข้อความ
  

 


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์