ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี


www.dooasia.com > พระธาตุ > พระธาตุลำปางหลวง ลำปาง : ตำนานพระแก้วมรกต ตามพงศาวดารเหนือ


  4  พระบรมธาตุ

พระบรมธาตุ

ตำนานที่มาโดยละเอียด สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุกว่าพันปี

พระธาตุลำปางหลวง  ลำปาง

โดย สำนักงานนิตยสารเทียนชัย

 

ตำนานพระแก้วมรกต ตามพงศาวดารเหนือ

                จะกล่าวถึงพระอรหันต์เจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงนามว่าพระนาคเสน อันเชี่ยวชาญจบด้วยไตรปิฎก และมีปัญญาอันฉลาดล้ำลึก รู้จักแก้ปัญหาโจทย์ ปริศนาทั้งปวง เป็นอาจารย์ของพระยามิลินทราชมหากษัตริย์

                เมื่อพระศรีสากยมุนีโคตมบรมพุทธครูเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน นานได้ 500 พระวัสสา ยังมีพระอรหันต์เจ้าองค์หนึ่งมีนามว่าพระมหานาคเสน เป็นศิษย์ของพระมหาธรรมรักขิตเถรอยู่ในอโศการาม นครปาตลีบุตร เมื่อพระมหาธรรมรักขิตเถรเจ้านิพพานไปแล้ว อยู่ต่อมาพระมหานาคเสนผู้เป็นศิษย์ได้พิจารณาด้วยปัญญาว่า ควรที่จะสร้างพระพุทธรูปไว้ให้เป็นที่นมัสการแก่มนุษย์และเทพยดาทั้งหลายต่อไปภายภาคหน้า

                แต่ถ้าสร้างด้วยเงินทองจะให้มั่นคงทนถึง 5000 พระวัสสา หาได้ไม่ ด้วยคนทั้งปวงย่อมมีโลภโมโทโสกลัวจะทำอันตราย แก่พระพุทธรูปให้เสียหายต่อไป ควรที่จะสร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วอันประเสริฐสุด อย่าให้คนทั้งปวงคิดทำลายให้เสียหายในภายหน้า แต่จะหาแก้วอันวิเศษสุดที่จะสร้างเป็นพระพุทธรูปจากที่ใดคิดแล้วให้วิตกกังวลอยู่

                ครั้นนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชบพิตร พระองค์ได้เห็นอัธยาศัยอันแรงกล้าแห่งพระมหานาคเสนเถรเจ้า อันมีความปรารถนาที่จะสร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วิเศษดังนั้นแล้ว สมเด็จพระอมรินทราจึงเสด็จลงมาจากสวรรค์ พร้อมด้วยพระวิษณุกรรมเทพบุตรไปนมัสการพระมหานาคเสนก็รับอาสาที่จะนำแก้วอันประเสริฐมาจากเขาบุลบรรพต

                มาถวายสร้างเป็นพระพุทธรูป พระอินทร์จึงตรัสแก่พระวิษณุกรมเทพบุตรให้นำแก้วอันประเสริฐที่อยู่ในเขาเวบุลบรรพตมาโดยเร็ว เพื่อที่จะถวายแก่พระมหานาคเสนเจ้าสร้างเป็นพระพุทธรูปให้เป็นที่นมัสการกราบไหว้ของมนุษย์และเหล่าเทพทั้งหลาย

                ฝ่ายพระวิษณุกรรมเทพบุตร กราบทูลสมเด็จพระอินทราว่าการจะไปเอาแก้วอันประเสริฐเขาเวบุลบรรพตนั้น มีพวกกุมภัณฑ์คนธรรพ์ยักษ์ เทพยดาอารักษ์ทั้งปวงเฝ้ารักษาแก้วไว้อยู่ ครั้นจะไปผู้เดียวเห็นทีเขาจะไม่ให้ ขอเชิญองค์สมเด็จมหาบพิตรเสด็จไปพร้อมกับข้าพเจ้าเถิด ซึ่งพวกกุมภัณฑ์คนธรรพ์ยักษ์ เทพยดาอารักษ์ทั้งปวงเมื่อเห็นพระองค์สมเด็จอินทราธิราชเจ้าแล้ว เขาจะให้ถวายลูกแก้วอันประเสริฐแก่พระองค์ท่าน

                เมื่อพระอินทราเจ้า ได้ทรงฟังถ้อยคำของพระวิษณุเทพบุตรนั้นแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปสู่เขาเวบุลบรรพตพร้อมพระวิษณุกรรมเทพบุตร เห็นกุมภัณฑ์คนธรรพยักษ์ทั้งปวงอยู่เป็นอันมาก พระอินทร์จึงตรัสขอเอาแก้วอันประเสริฐเพื่อไปถวายแก่พระมหานาคเสนาด้วยพระองค์เจ้าปรารถนาจะสร้างแปลงให้เป็นพระพุทธรูปให้เป็นที่สักการะแก่คนและเทพยดาทั้งปวง

                ฝ่ายกุมภัณฑ์คนธรรพ์ยักษ์ จึงกราบทูลว่า

                อันแก้วอันประเสริฐที่ข้าพเจ้าทั้งหลายรักษานี้ เป็นแก้วมณีโชตของพระบรมจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า มีแก้วบริวารพันลูกล้อมอยู่ ครั้นจะถวายแก้วแก่พระอินทรเจ้าภายภาคหน้าเมื่อพระบรมจักรพรรดิราชาธิราชเกิดมา ข้าพเจ้าทั้งปวงก็จะหาแก้วอันประเสริฐมาถวายท่านมิได้แต่ว่าข้าพเจ้าทั้งปวงจะถวายแก้วมรกตลูกหนึ่ง มีรัศมีเขียวงามบริสุทธิ์ แก่สมเด็จพระมหาบพิตรเจ้า ซึ่งแก้วมรกตลูกนี้มีแก้วประเสริฐพันลูกเป็นบริวารล้อมอยู่ ขอให้พระอินทราธิราชจงไปเอาแก้วมรกตอยู่ถัดกำแพงอันล้อมแก้วมณีโชติลูกนั้นไป

                สมเด็จพระอินทราธิราช ได้ฟังถ้อยคำของกุมภัณฑ์คนธรรพ์ยักษ์ทั้งปวง กราบทูลแล้วก็พาพระวิษณุกรรมเทพบุตรเสด็จไปเอาแก้วมรกตนั้น ครั้นได้แล้วก็เสด็จมาอโศการาม ถวายแก้วมรกตนั้นแก่พระมหานาคเสนเจ้าแล้ว ก็เสด็จกลับเมืองสวรรค์ของพระองค์

                พระมหานาคเสนเจ้าได้แก้วมรกตแล้ว ก็ให้มีความปิติยินดีเป็นที่สุด แล้วคิดรำพึงว่าจะหาบุคคลใดที่มีปัญญาอันฉลาดมาแปลงแก้วมรกตนี้ให้เป็นพระพุทธรูปนี้เล่า

                พระวิษณุกรรมเทพบุตร ท่านรู้ซึ้งถึงความคิดของพระมหานาคเสนเจ้า จึงแปลงกายมาเป็นมนุษย์รับอาสา พระมหานาคเสนเจ้า แปลงแก้วมรกตอันประเสริฐสุดเป็นพระพุทธรูปงามสวยสดสีเขียวมรกตอยู่นานได้ 7 วัน จึงสำเร็จ จากนั้นพระวิษณุกรรมเทพบุตรทรงเนรมิตเป็นมหาวิหารใหญ่ ให้เป็นที่ประดิษฐานองค์พระแก้วมรกต เมื่อประดับประดาเครื่องประดับทั้งปวง เหนือแท่นรัตนบัลลังก์กาญจน์อันตั้งพระแก้วมรกต ไว้ในอโศการามนั้นแล้ว จึงพระวิษณุกรรมเทพบุตรก็เสด็จกลับสู่สวรรค์เทวโลกอันเป็นที่อยู่แห่งตน

                พระอัมรินทราธิราช พระพรหม เทพยดา นาค ครุฑ  มนุษย์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ทั้งปวง ครั้นได้รู้ว่าพระวิษณุกรรมเทพบุตร ได้แปลงแก้วมรกตเป็นพระแก้วมรกตให้แก่พระนาคเสนแล้ว ต่างก็มีความชื่นชมโสมนัสยินดีถ้วนหน้า จึงนำมาซึ่งสิ่งของอันควรสักการบูชาทั้งปวง มีดอกไม้ธูปเทียนเป็นประธาน พากันมาถวายนมัสการบูชา องค์พระแก้วมรกตเป็นอันมาก

                เหล่าพระอรหันต์สาวกเจ้าภิกษุสงฆ์จากที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งชมพูทวีป ทั้ง 4 ทิศ 8 ทิศ มีพระมหานาคเสนเป็นประธาน ก็พร้อมใจกันเข้านมัสการพระแก้วมรกตเจ้า แม้ท้าวมหากษัตริย์แลอำมาตย์เสนาราชมนตรีทั้งปวง อันอยู่แต่ประเทศราชทั้ง 4 ทิศ 8 ทิศ ต่างก็พากันมาถวายนมัสการบูชาพระแก้วมรกตทั้งสิ้น ซึ่งพระแก้วมรกตดูหาจิตวิญญาณมิได้ก็ได้กระทำปฏิหาริย์เปล่งแสงฉัพพรรณรังสีออกมา

                พระอินทร์ พระพรหม หมู่เทพยดา นาค ครุฑ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ทั้งปวงและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ครั้นได้เห็นสิ่งอัศจรรย์ อานุภาพแห่งพระแก้วมรกตปรากฏต่อสายตา ก็ให้มีน้ำใจปิติยินดีเป็นที่สุด ก็พร้อมใจกันแซ่ซ้องสาธุการกันมากมาย เหมือนเสพสมด้วยดุริยางค์ดนตรีทิพย์ต่าง ๆ นั้นแล

                พระมหานาคเสนจึงนำเอาพระบรมสารีริกาตุ 7 พระองค์อันงามบริสุทธิ์มีฉัพพรรณรังสีต่าง ๆ กัน ตั้งวางไว้บนพานเงิน 7 พาน ซ้อนกันขึ้นตั้งไว้ยังพานทอง 7 พาน ซ้อนกันตั้งยังพานแก้ว 7 พาน จากนั้นจึงอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้า 7 องค์ ใส่ลงในผอบแก้วอันสวยวิจิตรงดงาม จึงยกผอบแก้วขึ้นประดิษฐานไว้บนพานเงินพานทองและพานแก้วนั้น

                ฝ่ายพระอินทร์ พระพรหม เทพยดา พระอรหันต์และคนทั้งปวง ต่างชื่นชมปิติโสมนัสหาที่สุดมิได้ ก็พร้อมกันถวายนมัสการบูชาด้วยดอกไม้และสุคนธรส พร้อมกับสรรเสริญยกย่องพระแก้วมรกต เทพยดาเจ้าก็โปรยดอกไม้ทิพย์ถวายบูชาแล้ว ก็สรงน้ำยังพระบรมชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ ด้วยน้ำสุคนธรสอันหอมในผอบแล้ว พระบรมธาตุทั้ง 7 พระองค์ก็ทรงทำปฏิหาริย์ เปล่งฉัพพรรณรังสีพระรัศมี 6 ประการ ให้รุ่งเรืองสว่างใสไปทั่วทั้ง 4 ทิศ 8 ทิศ ทั่วท้องนภากาศ

                พระมหานาคเสนเจ้าก็ตั้งสัตย์อธิษฐานอัญเชิญพระบรมธาตุทั้ง 7 พระองค์เข้าไปยังองค์พระแก้วมรกต

                พระองค์หนึ่งก็เสด็จเข้าไปพระโมฬี พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในพระพักตร์ พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าไปพระหัตถ์กำขวา พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในพระหัตถ์กำซ้าย พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในเข่าขวา พระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในเข่าซ้าย และอีกพระองค์หนึ่งเสด็จเข้าในพระชงค์ของพระแก้วมรกตสิ้นทั้ง 7 พระองค์ เมื่อนั้นพระแก้วเจ้าก็ทำปฏิหาริย์ยกฝ่ายพระบาทขาวดุจดังจะเสด็จลงจากบัลลังก์กาญจน์

                พระอินทร์ พระพรหม เทพยดา และคนทั้งปวงต่างเห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก ก็ร้องแซ่ซ้องสาธุการเป็นการใหญ่ แล้วก็ถวายบูชาด้วยแก้วแหวนเงินทอง ของมีค่า ผ้าผ่อน เครื่องอาบอบแก่พระแก้วมรกตเป็นอันมาก

                พระมหานาคเสนเจ้า ครั้นได้เห็นอัศจรรย์นั้นแล้ว ก็เล็งอรหันต์มรรคญาณไปข้างหน้า จึงเห็นว่าพระแก้วมรกตจะไม่ได้อยู่ในเมืองปาตลีบุตรเป็นมั่นคง จึงทำนายไว้ว่าพระแก้วมรกตจะเสด็จไปโปรดสัตว์ในประเทศ 5 แห่ง คือ ลังกาทวีป  เป็นกัมโพชวิสัยแห่ง 1 ศรีอยุธยาวิสัยแห่ง 1 โยนกวิสัยแห่ง 1 สุวรรณภูมิแห่ง 1 ปมหลวิสัยแห่ง 1 รวมเป็น 5 แห่ง และซึ่งคนทั้งปวงที่บูชาพระแก้วมรกตอยู่ชั่วแดนอุยแห่งตน ครั้นจุติจากโลกแล้วก็เกิดในสวรรค์เทวโลกสิ้นทุกคนแล

                พระมหานาคเสนเจ้า อันประกอบด้วยศิลาภิคุณอันบริสุทธิ์ สร้างพระแก้วมรกตให้เป็นที่สักการะนมัสการบูชาส่งเสริมพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองต่อถึง 5000 พระวัสสา เหมือนพระสุริยาทิตย์ยังปรากฏในสภากาศเวลหา ครั้นท่านอยู่ตามเขตแดนอายุของท่านนั้นอันมีสังโยชนธรรมหากสิ้นแล้วท่านก็ถึงแก่พระนิพพานธาตุ มีวิบากขันธ์และกรรมชะรูปในวันนั้น

                ล่วงมาได้ 300 ปี จากพระพุทธศาสนาครบ 500 พระวัสสา มีเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าตะกะละเป็นหลานของพระเจ้าบุญดะละราชธิราช ครองราชย์อยู่ในเมืองปาตลีบุตร ท่านก็ปฏิบัติบูชาพระแก้วมรกตต่อไป พระองค์ท่านมีพระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า เจ้าศิริกิตติกุมาร เมื่อพระราชบิดาสวรรคต เจ้าศิริกิตติราชกุมารก็ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์เมืองปาตลีบุตร ครั้งนั้นกิดศึกสงครามในเมืองปาตลีบุตร ผู้คนรบพุ่งล้มตายกันมาก คนที่ปฏิบัติรักษาพระแก้วเห็นเหตุการณ์ไม่สู้ดีกลัวพระแก้วเจ้าจะเป็นอันตรายจึงอัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสำเภาลำหนึ่งพร้อมด้วยพระปิฎกธรรม และสิ่งของอันควรบูชาพระแก้วเจ้าพากันหนีเข้าไปสู่กัมโพชวิสัย คือลังกาทวีปพระแก้วมรกตอยู่ในลังกาทวีปได้ 200 ปี จากที่พระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานนั้น พระพุทธศาสนาก็ครบ 1000 พระวัสสา

                ในกาลต่อมา มีกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ครองราชย์อยู่ที่กรุงพุกาม ทรงพระนามว่า พระอนุรุธราชาธิราช มีฤทธิ์เดชศักดานุภาพ สามารถเหาะเหินเดินในอากาศได้ท่านมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านปฏิบัติรักษาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้ามิได้ขาด

                ณ ที่นั้นมีพระภิกษุองค์หนึ่ง นามว่า สีลขันธ์ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ 5 พระวัสสา ท่านศึกษาเล่าเรียนมามากมีปัญญาเฉลียวฉลาดท่านพิจารณาดูพระปิฎกธรรมในเมืองพุกามนั้น ฝึกอักขระ พยัญชนะหาถูกต้องไม่

                ท่านจึงไปเรียนปรึกษากับพระอาจารย์ที่อยู่ในวิหารว่า ซึ่งเราทั้งหลายได้ทำการบรรพชา และอุปสมบทกรรมมาแต่เก่าก่อนนั้นผิดเสียแล้ว เห็นว่าไม่ถูกอักขระพยัญชนะ จะคิดอ่านอย่างไรดีเล่า

                ฝ่ายพระอาจารย์ตอบท่านสีลขันธ์ว่า แต่ดั้งเดิมหาได้พิจารณาดูในพระปฏิกธรรมที่ผิดอักขระพยัญชนะนั้นไม่ ได้กระทำสืบต่อมาตามอย่างธรรมเนียมท่านแต่เก่าก่อนนั้น ถ้าหากผิดด้วยอักขระพยัญชนะเสียอย่างนั้น เจ้าจงคิดอ่านด้วยปัญญาของเจ้าเถิด

                เจ้าสีลขันธ์ภิกษุคิดตรึกตรองจะไปดูการอุปสมบทในเมืองลังกาทวีป เมื่อท่านพิจารณาเห็นอย่างนั้นแล้ว ท่านจึงเข้าไปบอกแก่พระเจ้าอนุรุธราชาธิการ เจ้าเมืองพุกามถึงพระปิฏกธรรม ที่อยู่ในเมืองของพระองค์นั้นผิดไม่ถูกต้องตามอักขระพยัญชนะการทำบรรพชากรรมและอุปสมบทกรรม มาแต่หนหลังนั้นผิดเสียแล้วให้พระองค์ทรงทราบ

                ครั้นพระเจ้าอนุรุธราชาธิราช ได้ทรงฟังถ้อยคำของท่านสีลขันธ์ภิกษ์นั้นแล้ว พระองค์จึงทรงตรัสถามว่า ถ้าแลพระปิฏกธรรมทั้งปวงที่อยู่ในเมืองเราผิดเพี้ยนเสียแล้ว ไม่ถูกต้องตามอักขระพยัญชนะอย่างนั้น ยังจะมีเมืองไหนอีกเล่า

                ท่านสีลขันธ์ภิกษุจึงถวายพระพรว่า อันพระปิฏกธรรมไม่ผิดอักขระพยัญชนะนั้นเรียนขึ้นโดยท่านพระมหาพุทธโฆษาจารย์เถระอยู่ในเมืองลังกาทวีปนั้นเป็นอันบริสุทธิ์นักหนา

                เมื่อพระอนุรุธราชาธิราช ได้ทรงฟังดังนั้นแล้ว พระองค์มีความยินดีเป็นอันมาก จึงให้เสนาบดีจัดแจงนำเรือสำเภา 2 ลำ แล้วให้นิมนต์พระสงฆ์ 8 พระองค์พร้อมกับพระสีลขันธ์เจ้ากับให้อำมาตย์ 2 คน และบ่าวไพร่ทั้งปวงขึ้นบนเรือสำเภา นำสิ่งเครื่องบรรณาการเป็นอันมาก ให้แก่อำมาตย์ทั้งสองนำเรือสำเภานั้นไปสู่ลังกาทวีป ส่วนองค์ท่านสังเกตดูว่าเรือสำเภาทั้งสองแล้วพระองค์ก็ให้อำมาตย์แต่งเครื่องบรรณาการไปถวายเจ้าเมืองลังกาทวีป กราบทูลที่เสด็จมาลังกาทวีปในครั้งนี้ด้วยมีความปรารถนาจะขอเรียนเอาพระปิฏกธรรมกับพระคัมภีร์สัททาวิเสสขึ้นไปไว้ปฏิบัติรักษาในเมืองพุกาม

                พระเจ้านครลังกาทวีปได้รับฟังเรื่องของอำมาตย์ทั้งสองให้ความยินดีเป็นอันมาก จึงให้อำมาตย์เสนาทั้งปวงให้นำสิ่งของบรรณาการข้าวปลาอาหารไปทูลถวายแก่พระอนุรุธราชาธิราชและให้ปลูกโรงเป็นตำหนักให้เป็นที่พักแก่พระเจ้าอนุรุธราชาธิราชนั้นด้วย

                ฝ่ายเจ้าภิกษุสีลขันธ์ก็เข้าไปนมัสการพระมหาสังฆราชทั้งปวงว่า มีเมืองพุกามทวีปพระปิฏกธรรมผิดด้วยอักขระพยัญชนะ ข้าทั้งปวงพร้อมกันมาด้วยมีความปรารถนาจะขอเขียนเอาพระปิฏกธรรมทั้งสามกับพระคัมภีร์ สัททาวิเสสขึ้นเพื่อเป็นมูลพระศาสนาในพุกามทวีป กับขอบวชซ้ำเป็นเณรและอุปสมบทเป็นภิกษุสงฆ์ให้บริสุทธิ์

                พระสังฆราชเจ้า จึงบอกกล่าวแก่พระภิกษุสงฆ์คนทั้งปวงในลังกาทวีป กับให้พระมหากษัตริย์เจ้าเมืองลังกาทวีปเป็นองค์ประธานนำเครื่องสมณบริขารเป็นอันมากแล้วให้พระภิกษุสงฆ์เข้ามาพร้อมมูลในอุโบสถ มีพระสีลขันธ์เป็นประธานกับพระภิกษุสงฆ์ 8 องค์ อันมาแต่พุกามทวีปก็ให้บวชเป็นสามเณรแล้วให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ทั้ง 8 พระองค์นั้นแล ท่ามกลางความยินดีเป็นอย่างที่สุดของพระมหากษัตริย์เจ้า แลอำมาตย์เสนาราชมนตรีแลคนทั้งปวง ครานั้นเทพยดาทั้งปวงก็ยินดีมากนักหนา โปรยข้าวตอกดอกไม้มาถวายบูชา

                พระเจ้าอนุรุธราชาธิราชเมื่ออยู่ในลังกาทวีป ท่านก็ให้พระภิกษุสงฆ์เขียนลอกเอาพระปิฏกธรรมสาร ซึ่งพระองค์ก็ทรงร่วมเขียนเอาไว้ด้วย ครั้นเขียนสำเร็จครบถ้วนแล้ว พระองค์ก็ขอเอาพระแก้วมรกตกับกษัตริย์เจ้าเมืองลังกาพระสหายครั้นได้แล้วพระองค์ก็ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระปิฏกธรรมอันพวกเมืองพุกามเขียนขึ้นไปไว้ในเรือสำเภาลำหนึ่ง แล้วให้เอาพระปิฏกธรรมอันพวกเมืองลังกาช่วยเขียนนั้น กับพระภิกษุทั้ง 8 องค์นั้นขึ้นไปในเรือสำเภาอีกลำหนึ่ง แล้วพระองค์ก็เสด็จขึ้นหลังม้าอัศดร เหาะกลับเมืองพุกามโดยสุขสวัสดิ์ พระองค์ก็อยู่คอยเรือสำเภาทั้ง 2 ลำนั้น

                ส่วนเรือสำเภาทั้งสองลำ ครั้นออกมากลางมหาสมุทรก็ผจญพายุกลางทะเล เรือสำเภาอันใส่พระปิฏก ธรรม พวกชาวลังกาก็กลับถึงเมืองพุกามโดยสวัสดิภาพ ส่วนเรือสำเภาที่อัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระปิฏกธรรมของชาวพุกามเขียนนั้น พลัดหลงเข้าไปยังเมืองอินทรปัตนคร

                เมื่อพระอนุรุธราชาธิราชเห็นเรือสำเภาพระปิฏกธรรมเข้ามาแต่ลำเดียว หาเห็นลำที่ทรงพระปิฏกธรรมกับพระแก้วมรกตนั้นไม่ พระองค์ทรงน้อยพระทัยเป็นหนักหนานึกแหนงแคลงพระทัยอยู่ กลัวจะมีเหตุเป็นอันตรายทรงพิจารณาห่วงวิตกในน้ำพระทัยมิได้ขาด

                ต่อมินานพระองค์ก็ทรงทราบข่าวว่าเรือที่ทรงพระปิฏกธรรม กับพระแก้วมรกตนั้นพลัดเข้าไปในเมืองอินทรปัตนคร พระองค์ก็เสด็จโดยเหาะทางนภากาศไปจนถึงเมืองอินทรปัตนคร

                เมื่อเสด็จลงจากหลังม้าอัศดร สู่พระอารามแห่งหนึ่ง ใกล้เมืองอินทรปัตนครนั้น ทรงเห็นแผ่นศิลาใหญ่พระองค์ก็ถ่ายปัสสาวะลงบนแผ่นหลังศิลานั้น น้ำปัสสาวะของพระองค์ก็ลอดหินลงมาที่ลุ่ม พระภิกษุองค์หนึ่งซึ่งอยู่ในพระอารามมาเห็นน้ำมูตรของพระมหากษัตริย์องค์นั้น ลอดหลังศิลาลงไปก็ให้บังเกิดความอัศจรรย์ยิ่งนัก ท่านจึงถามพระเจ้าอนุรุธว่ามาจากเมืองใดท่านนี้ชื่อใด

                ฝ่ายพระเจ้าอนุรุธราชาธิราชท่านก็ปิดบังเสียไม่บอกไปตามสัตย์จริง ท่านจึงบอกไปว่าเป็นข้ารับใช้ของพระเจ้าอนุรุธเจ้าเมืองพุกาม พระภิกษุเจ้าจึงถามว่าด้วยเหตุอันใด พระเจ้าอนุรุธจึงกล่าวว่าพระเจ้าเมืองพุกามใช้ให้มานำสำเภาอันทรงพระแก้วมรกตและพระปิฏกธรรมซึ่งพลัดหลงเข้ามาถึงเมืองอินทรปัตนครกลับเมืองพุกาม

                พระเจ้าเมืองอินทรปัต ครั้นได้ฟังเรื่องราวอันพระสังฆราชเจ้าถวายก็ทรงคิดในพระทัยและกล่าวแก่พระสังฆราชเจ้าว่า ซึ่งเรือสำเภาพระแก้วมรกตกับพระปิฏกธรรมพลัดหลงเข้ามาในบ้านเมืองเรานี้ ก็ด้วยบุญญาธิการของเรา เราจะไม่ให้ ครั้นพระองค์ตรัสดังนั้นแล้วจึงพระสังฆราชเจ้าก็กราบทูลลา

                ความเรื่องนี้ก็เลื่องลือไปทั่วอินทรปัตนคร ความทราบถึงพระเจ้าอนุรุธราชาธิราชให้รู้สึกทรงกริ้วโกรธเป็นหนักหนา พระองค์จึงคิดพิจารณาดูน้ำพระทัยของพระองค์ว่าแม้จะฆ่ากษัตริย์เมืองอินทรปัต อำมาตย์เสนาก็ยังได้พระองค์เปรียบเหมือนพระยาธรรมมิกราชาธิราช ครั้นจะฆ่าเสียบาปกรรมก็จะตกแก่พระองค์อย่างกระนั้นเลย จำละต้องแสดงศักดานุภาพให้คนทั้งปวงเห็นเป็นที่อัศจรรย์ให้เขาเข็ดขามเกรงกลัวฤทธิ์อำนาจแห่งกูเถิด

                ครั้นพระองค์ดำริเช่นนั้นแล้ว ก็เอาไม้มาทำเป็นรูปดาบแล้วทาด้วยฝุ่นหินสี พระองค์ก็เกาะขึ้นสู่นภากาศ แล้วทำประทักษิณรอบกำแพงเมืองนครอินทรปัต 3 รอบ สะกดคนทั้งเมืองแล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าไปยังปราสาทราชมณเฑียรแห่งกษัตริย์เจ้าเมืองอินทรปัต ท่านก็เอาดาบไม้นั้นขีดพระศอกเจ้าเมือง พระอัครมเหสี และเสนาบดีผู้น้อยผู้ใหญ่ทั่วทุกคน แล้วเสด็จโดยนภากาศป่าวร้องด้วยสุรสิงหนาทว่า ถ้ายังไม่ยอมคืนพระแก้วมรกตและพระปิฏกธรรมแก่เราผู้เป็นกษัตริย์นั้นไซร้ จะตัดศีรษะท่านทั้งปวงพรุ่งนี้เสียสิ้น ถ้าท่านไม่เกรงกลัวพระราชอาญาของเรา ท่านทั้งหลายจงลูกคอของท่านทั้งปวงเถิด

                ครั้นเมื่อเจ้าเมืองอินทรปัตนครและเสนาอำมาตย์ผู้น้อยผู้ใหญ่ได้ยินเสียงสิงหนาททั่วเมืองอินทรปัตนคร ก็มีความตกใจเป็นหนักหนา พากันลูบคอดูเห็นฝุ่นหินติดอยู่ที่คอทุกคน ก็ให้เกรงขามกลัวฤทธิ์เดชของพระเจ้าอนุรูราช พระองค์จึงให้อำมาตย์ทั้งสองผู้ฉลาดด้วยปัญญาไปกราบทูลแก่พระอนุรุธราชว่า ซึ่งเรือสำเภาพระแก้วมรกตกับพระปิฏกธรรมพลัดหลงมาในที่นี้ ถ้าเป็นเรือสำเภาของท่านโดยแท้ พระเจ้าอินทรปัตนครทรงเห็นแก่พระราชไมตรี พระองค์ท่านก็ไม่ขัดขวาง ใช้ให้ข้าพระองค์ทั้งสองมาถวายคืนแก่พระองค์แต่พระองค์เสด็จมาพระองค์เดียวเห็นเป็นไม่สมควร ขอเชิญพระองค์ท่านเสด็จกลับไปยังเมืองพุกามก่อน ข้าพระองค์จะขอพระราชทานจัดส่งคืนให้ภายหลัง

                เมื่อพระอนุรุธราชาธิราชได้ฟังคำของอำมาตย์กราบทูลดังนั้นแล้ว ก็เสด็จเหาะกลับทางนภากาศ มาถึงเมืองพุกามครั้นเมื่อพระเจ้าอนุรุธราชเสด็จกลับเมืองพุกามแล้ว พระเจ้าอินทรปัตนครก็ให้อำมาตย์เสนาราชมนตรีทั้งปวง อัญเชิญยกพระแก้วมรกตประดิษฐานในที่สมควรแล้ว พระองค์ก็ให้แต่งเรือสำเภานำพระปิฏกธรรมส่งไปให้พระเจ้าอนุรุธราชยังเมืองพุกาม

                เมื่อพระเจ้าอนุรุธราชาธิราช ได้สำเภาพระปิฏกธรรมที่พระเจ้าอินทรปัตนครส่งให้นั้นแล้ว ก็ให้ยกไว้ในที่สมควร แต่พระองค์ยังไม่เห็นพระแก้วมรกต ก็ทราบในน้ำพระทัยซึ่งพระเจ้าอินทรปัตมีความปรารถนาใคร่จะได้พระเจ้าเจ้าไว้ปฏิบัติบูชา พระองค์ก็ไม่มีอาลัยในองค์พระแก้วเจ้า ก็ยกย่องส่งเสริมพุทธศาสนาในเมืองพุกามเจริญรุ่งเรืองต่อไป ขณะนั้นพระพุทธศาสนาได้ล่วงเลยมาได้ 1182 พระวัสสา พระอนุรุธราชก็ตัดเสียพุทธศักราชอันเก่า แล้วตั้งเอาพุทธศักราชแรกขึ้นมา ซึ่งพระปิฏกธรรมทั้ง 3 พระคัมภีร์สักททาวิเลสก็ดี ก็ไม่ผิดอักขระพยัญชนะพุทธศาสนาก็แผ่ขจรไปทั่วสากลชมพูทวีปต่อไปตั้งแต่นั้นมา

                จะกล่าวถึงพระเจ้าอินทรปัตนั้น ครั้นได้พระแก้วมรกตแล้วก็ให้อำมาตย์เสนา ชาวเมืองทั้งปวงให้มาฉลองบูชาพระแก้วมรกตด้วยสิ่งบูชาเป็นอันมาก พระองค์ก็ปฏิบัติบูชารักษาพระแก้วเจ้าเป็นประจำมิได้ขาด แต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองทั่วสกุลทวีปด้วยอนุภาพของพระแก้วมรกต

                พระแก้วเจ้าก็อยู่ในเมืองอินทรปัตนครได้หลายชั่วกษัตริย์จนถึงสมัยพระเจ้าเสนก ซึ่งพระองค์ก็มีพระราชโอรสองค์หนึ่งครั้นเจริญวัยพอเล่นได้ก็เอาแมลงวันเขียวมาเลี้ยงไว้ตัวหนึ่ง ใส่ไว้ในผอบทองคำ ก็เอามาเล่นทุกวัน ในครั้นนั้นมีพระอาจารย์ของพระเจ้าเสนกราช อาจารย์คนนี้ก็มีบุตรชายคนหนึ่งก็เลี้ยงแมงมุมเสือตัวหนึ่ง กุมารทั้งสองต่างก็ถือเล่นด้วยกันทุกวัน

                มาวันหนึ่งแมงมุมเสือของกุมรปุดรหิตอาจารย์นั้น ได้กินแมลงวันเขียวของราชบุตรนั้นเสีย เจ้าราชบุตรกุมารก็ร้องไห้เป็นนักหนา บ่าวของราชบุตรก็เข้าวังกราบทูลแก่พระเจ้าเสนกถึงเรื่องที่เกิดขึ้น พระเจ้าอินทรปัตนครครั้นได้ฟังคำกราบทูลก็ทรงกริ้วเป็นนักหนา สั่งให้เพชฌฆาตให้จับเอากุมารของปุโรหิต ให้ผูกจมในสระเสีย ฝ่ายปุโรหิตบิดาของกุมารก็ให้มีความเดือดแค้นกล่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินนี้หาทรงธรรมไม่ คิดได้ดังนี้ต่อมามินานปุโรหิตก็พาเอาบุตรภรรยา บ่าวไพร่ชายหญิงของท่านหนีออกจากเมืองไปในประเทศอื่น

                ยังมีพระยานาคอันอาศัยอยู่ในสระนั้น ท่านให้มีความโกรธพระเจ้าอินทรปัตนครว่า พระองค์หาทรงธรรมไม่ เอาคนหาโทษมิได้มาจมเสียในสระของเรา ควรที่เราจะทำปฏิหาริย์ให้น้ำท่วมเมืองอินทรปัตนคร คิดได้ดังนั้นแล้วพระยานาคก็ให้น้ำท่วมนครอินทรปัต บ้านเมืองก็ฉิบหายผู้คนล้มตายเป็นอันมาก เหลือแต่คนที่อยู่บนสำเภายังมีพระเถรเจ้าองค์หนึ่ง ท่านก็อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสู่สำเภาลำหนึ่ง หนีจากเมืองอินทรปัตนครขึ้นสู่หมู่บ้านเหนือขึ้นไป

                จะกล่วถึงพระเจ้าอิตยราชครองราชย์สมบัติในเมืองอยุธยาครั้นพระองค์ได้ทราบข่าวน้ำท่วมอินทรปัตนคร ก็ให้วิตกกังวลเป็นอันมาก กลัวพระแก้วมรกตจะเสียหาย พระองค์จึงเสด็จพร้อมกับจัตุรงคเสนาทะแกล้วทหารเป็นอันมาก ยกมานครอินทรปัตสืบหาองค์พระแก้วมรกตจนพบ ก็กวาดผู้คนที่สมัครกับพระแก้วมรกตเสด็จกลับกรุงเทพมหานครอโยธยา

                ครั้นพระองค์ได้พระแก้วมรกตมาแล้วก็มีความเลื่อมใสยินดีเป็นที่สุด พระองค์ก็จัดแจงให้เหล่าเสนาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งปวง จัดแต่งเครื่องบูชาพระแก้วมรกตเป็นอันมาก เป็นต้นว่าแก้วและเงินคำ แล้วป่าวร้องให้ราษฏรทั่วสารทิศทั้ง 4 ทิศ 8 ทิศ นำสิ่งของ แก้ว แหวน เงินทอง ดอกไม้ ธูปเทียน มาพร้อมกัน ร่วมกันฉลองพระแก้วมรกตนานได้เดือนหนึ่งแล้ว ก็แห่อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นประดิษฐานในพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งประดับประดาด้วยแก้วและเงินคำอันงามวิจิตรเป็นอันมาก

                พระเจ้าอาทิตย์ราชก็ทรงปิติโสมนัสพระทัยหาที่สุดมิได้ ก็เข้าถวายบูชาพระแก้วมรกตทุกวันมิได้ขาด ด้วยอานุภาพของพระแก้วมรกต พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองมากในกรุงศรีอโยธยา สืบกษัตริย์ต่อมาได้หลายชั่วกษัตริย์

                อยู่ต่อมาข้างหน้า เจ้าพระยากำแพงเพชรก็ยกกองทัพเรือมาทูลขอพระแก้ว เจ้าขึ้นไปไว้เมืองกำแพงเพชร ต่อมามินานท่านก็มีพระราชบุตรพระองค์หนึ่ง เมื่อเจริญเติบโตขึ้นพระองค์ก็ตั้งให้ขึ้นไปครองเมืองละโว้ ครั้นนั้นพระราชบุตรมีความระลึกถึงพระแก้วมรกตเป็นที่สุด ด้วยมีน้ำพระทัยอยากได้พระแก้วมรกตไว้ปฏิบัติบูชารักษา ท่านจึงมาเมืองกำแพงเพชรกราบทูลพระมารดาให้พระมารดากราบทูลพระราชบิดา

                ขอเอาพระแก้วมรกตไปเมืองละโว้ จึงอ้อนวอนพระราชมารดาอยู่หลายพักหลายหน ฝ่ายพระมารดาทนคำอ้อนวอนขององค์ราชบุตรก็มิอาจขัดขืนได้ จึงขึ้นไปกราบทูลเจ้าเมืองกำแพงเพชรถึงพระราชโอรสมีความปรารถนา จะขอพระราชทานพระแก้วมรกตขึ้นไปปฏิบัติรักษาในเมืองละโว้ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดตามความปรารถนาเถิด

                เมื่อเจ้าเมืองกำแพงเพชรได้รับฟังถ้อยคำของพระมเหสี ก็ทรงเมตตาในพระราชโอรสเป็นหนักหนา จึงตรัสให้ตามความปรารถนาทุกประการ แต่พระแก้วเจ้าที่อยู่ในพระอารามนั้น มีอยู่มากนักหลายองค์อยู่ ถ้าพระราชโอรสรู้จักพระแก้วมรกตเป็นองค์ใดแน่แท้ก็จงเอาไปเถิด

                ฝ่ายพระอัครมเหสีและพระราชทานทองคำสองตำลึงแก่นายประตูให้แสดงว่าองค์ใดเป็นพระแก้วมรกตเป็นสำคัญ ครั้นตกกลางคืนนายประตูก็เอาดอกไม้แดงทอดไว้บนพระหัตถ์ของพระแก้วมรกตให้รู้ในสำคัญ ฝ่ายพระอัครมเหสีและพระราชบุตรก็เข้าไปในปราสาทเห็นดอกไม้แดงวางบนพระหัตถ์ของพระแก้วมรกตก็อัญเชิญพระแก้วเจ้ามายังเมืองละโว้ พระองค์ก็ปฏิบัติบูชาพระแก้วมรกตได้ปีเก้าเดือน ก็เอากลับมาคืนพระราชบิดาที่เมืองกำแพงเพชร

                ลุมาถึง พระยาพรหมทัตเจ้าเมืองเชียงราย ท่านเป็นมิตรไมตรีกับเจ้าเมืองกำแพงเพชรพระองค์ทราบว่าพระแก้วมรตกอยู่เมืองกำแพงเพชร ท่านมีความปรารถนาจะได้พระแก้วมรกตมาปฏิบัติบูชารักษาในเมืองเชียงราย ท่านจึงนำเสนาอำมาตย์ไพร่พลทั้งปวง ลงมาสู่เมืองกำแพงเพชรอันเป็นพระสหายแล้วก็แห่เอาพระแก้วมรกตขึ้นไปไว้เมืองเชียงราย

                พระองค์อ่านก็ปฏิบัติบูชารักษาเป็นประจำทุกวันมิได้ขาด ชาวเชียงรายทั้งปวงก็พากันมานมัสการเสมอ ต่อมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ผู้เป็นพระเจ้าอาของเจ้าเมืองเชียงราย ก็เกิดกรณีเป็นอริวิวาทกัน

                เจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นอาก็พาไพร่พลโยธาทะแกล้วทหารกล้าเป็นอันมากยกขึ้นไปรบพุ่งกับเมืองเชียงราย ทัพเมืองเชียงรายสู้ไม่ได้ก็แตกกระจัดกระจายไปทั่ว

                เจ้าเมืองเชียงใหม่ก็อัญเชิญพระแก้วมรกต และกวาดต้อนครอบครัวผู้คนลงมาไว้เมืองเชียงใหม่ ท่านก็สร้างปราสาทหลังหนึ่งในวังท่านก็ให้ประดับประดาแก้วและเงินทองคำบริสุทธิ์เป็นอันมากเชิญพระแก้วมรกตขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาทนั้น

                พระองค์ก็ป่าวร้องให้ราษฎรทุกขอบแขวงตำบล มาร่วมเฉลิมฉลองนำเครื่องสักการบูชามาสักการบูชาพระแก้วเจ้าได้ 7 วัน 7 คืน ในครั้นนั้นพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่ก็เจริญรุ่งเรืองเป็นที่สุดด้วยเดชานุภาพของพระแก้วมรกต ซึ่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ปฏิบัติบูชารักษาพระแก้วมรกตจนสิ้นอายุขัยของท่าน แต่นั้นมาราชตระกูลลูกหลานของท่านก็ปกครองเมืองเชียงใหม่สืบต่อกันมาหลายชั่วกษัตริย์ ตั้งแต่แรกองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน ต่อมาจนถึงพระมหานาคเสนสร้างพระแก้วมรกตจนพระแก้วมรกตเสด็จไปสู่เมืองเชียงใหม่นั้น พระพุทธศักราชล่วงไปได้ 200 จุลศักราชได้ 818 พรรษา

                ครั้นอยู่ต่อมามีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งเป็นบุตรของพระเจ้าวิชุนราชมหากษัตริย์ ครองราชย์อยู่ในเมืองศรีสัตนาคนหุต อุดมรัตน์ ชวาละวัติมหานครทรงพระนามว่าเจ้าโพธิสารราชกุมารเมื่อพระองค์เจริญวัยได้สิบห้าปี พระเจ้าวิชุนราชพระบิดาได้สวรรคต พระเจ้าโพธิสารก็ได้ครองราชย์สมบัติในเมืองศรีสัตนาคนหุตแทนพระราชบิดา

                อยู่ต่อมาพระเจ้าแซกคำก็เสด็จมาทางอากาศ ก็ให้ประดิษฐานอยู่ในเมืองศรีสัตนาคนหุต ให้คนทั้งปวงบูชาพระแซกคำอยู่เป็นนิตย์ ด้วยบุญญาธิการ เดชานุภาพกิตศักดิ์ของพระเจ้าโพธิสารกษัตริย์นั้นเข้ามาถึงกษัตริย์ที่ครองเมืองเชียงใหม่ท่านมีความยินดีในบุญฤทธิ์แลอิทธิฤทธิ์ มหัทธิศักดานุภาพของพระเจ้าโพธิสาร ท่านจึงให้อำมาตย์นำเอาพระธิดานางยอดคำราชกัญญามาถวายพระเจ้าโพธิสาร จึงพระเจ้าโพธิสารก็ได้แต่งตั้งนางยอดคำราชกัญญา ให้เป็นอัครมเหสีแล้วแปลงพระนามว่า นางหอสูงตั้งแต่นั้นมา

                นางหอสูงราชเทวี ก็ประสูติพระราชโอรสองค์หนึ่งทรงพระนามว่าเจ้าไชยเชษฐาราชกุมาร มีพระสนมคนหนึ่งประสูติพระราชบุตร ทรงนามว่า  เจ้ากิถนาวะราชกุมาร และมีอัครมเหสีอีกองค์หนึ่งทรงพระนามว่า  เจ้าศรีวรวงษาราชกุมาร ซึ่งพระเจ้าโพธิสารครองเมืองศรีสัตนาคนหุตนครนั้น ก็ได้พระราชโอรสรวมสามพระองค์

                จะกล่าวถึงเมืองเชียงใหม่หลังจากได้ให้นางยอดคำราชธิดาขอพระองค์เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าโพธิสารแล้ว อยู่ต่อไปมินาน เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้สวรรคต เมืองเชียงใหม่ก็หาคนตระกูลเจ้านายที่จะสืบราชสมบัติมิได้ เสนาอำมาตย์ราชบัณฑิตทั้งปวงก็มาปรึกษาหารือกันในสิหิงคมหาอาราม พร้อมกับมหาสังฆราชาเจ้าวัดที่นั้น จึงพร้อมใจกันแต่งให้อำมาตย์ทั้งหลายเป็นราชทูต นำเอาเครื่องราชบรรณาการไปสู่เมืองศรีสัตนาคนหุตอุดมรัตนชวาละวัติมหานคร ไปขอพระไชยเชษฐาราชกุมาร ให้มาครองราชย์สมบัติในเมืองเชียงใหม่

                ฝ่ายพระเจ้าโพธิสารมิอาจที่จะขัดขืนได้ ด้วยเห็นแก่ราชไมตรีจึงให้อำมาตย์ทั้งปวง จัดแจงแต่งจตุรงค์เสนาทั้งสี่พร้อมไพร่พลพาเจ้าไชยเชษฐาราชกุมารซึ่งอายุได้สิบสองปีนั้นขึ้นครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่

                เมื่อเสร็จการทั้งปวงพระองค์ก็เสด็จกลับมาเมืองศรีสัตนาคนหุต ครั้นอยู่มาได้นานสามปี พระเจ้าโพธิสารก็สวรรคตรวมพระชนม์มายุได้ 42 ปี เหล่าเสนาอำมาตย์ราชบัณฑิตและไพร่พลทั้งปวง ก็ปรึกษาพร้อมกันยกเอาเจ้าศรีวรวงษาราชกุมารให้เป็นเจ้าเมืองเวียงจันทน์บุรีราชธานีแล้ว จึงแต่งราชสาสน์ไปบอกข่าวแก่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ให้ทราบข่าวการสวรรคตของพระเจ้าโพธิสารพระราชบิดา

                เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้ฟังข่าวสารนั้นแล้วก็มิอาจตั้งอยู่ได้ ด้วยระลึกถึงพระราชบิดาและบ้านเมืองของท่านควรที่พระองค์หน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์จะไปดูแลบ้านเมืองของท่านก่อน

                จะได้ทำบุญให้ทานพร้อมกับญาติพี่น้องทั้งปวง ถวายพระราชกุศลให้แก่พระราชบิดา ครั้นพระองค์ทรงคิดในพระทัยแล้ว ก็ให้วิตกกังวลต่อไปว่า เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปถึงเมืองชวาละวัตนครของพระองค์การที่จะกลับคืนมาเมืองเชียงใหม่นั้นจะช้าเร็วเท่าใดหารู้ไม่ ควรที่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตไปด้วย

                ครั้นพระองค์วิตกดังนั้นก็ให้เสนาอำมาตย์ราชจตุรงค์จัดแจงอาราธนาอัญเชิญเอาพระแก้วมรกตมายังเมืองศรีสัตนาคนหุต แล้วก็ให้เชิญพระแก้วมรกตขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาทที่พระเจ้าแซกคำ

                พระองค์ก็ให้เสนาอำมาตย์ราชมนตรีจัดแจงสิ่งของที่จะทำบุญให้ทานเป็นอันมาก พระองค์พร้อมด้วยเจ้านายขติราชวงศา เสนาอำมาตย์ ไพร่ฟ้าพลเมืองทั้งปวง ก็พากันมาฉลองบูชาพระแก้วมรกตเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ครั้นเสร็จงานแล้วพระองค์ก็อยู่ปฏิบัติบูชารักษาพระแก้วมรกตมิได้ขาด พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมาอยู่ในเมืองศรีสัตนาคนหุต นานได้ 3 ปี

                จะกล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ ครั้นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จกลับเมืองชวาละวัตินครได้ 3 ปี เสนาอำมาตย์มีความหวั่นวิตกว่าบ้านเมืองไม่มีกษัตริย์ปกครอง กลัวจะเกิดความวิบัติเสียหาย ก็พากันมาปรึกษาเมื่อพิจารณาดังนั้นแล้ว จึงพร้อมกันสืบหาขัติยราชวงศาอันสืบเนื่องเชื้อสายกษัตริย์มาแต่เก่าก่อน จึงเห็นพระสงฆ์องค์หนึ่งปรากฏนามว่า พระเมกุฏิ อันเป็นราชวงศามาแต่ก่อนจึงพากันอาราธนาให้ลาสิกขาบทเสีย ก็พร้อมกันทำพิธีขัติราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป

                ความทราบถึงพระไชยเชษฐาธิราช ถึงเรื่องพระเมกุฏิได้ขึ้นครองราชย์สมบัติในเมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงกริ้วโกรธเป็นนักหนาจึงให้เสนาบดีเกณฑ์ไพร่พลโยธาทะแกล้วทหารทั้งปวง เสด็จยกทัพขึ้นไปตีได้เมืองเชียงแสนแล้วก็ยกกองทัพไปตีเอาเมืองเชียงใหม่ ข่าวว่ากองทัพพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชตีได้เมืองเชียงแสน ทำให้พระเมกุฏิเจ้าเมืองเชียงใหม่เกรงกลัวตกใจกลัวพระเดชานุภาพของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระเมกุฏิจึงยกเอาเมืองเชียงใหม่ไปถวายให้แก่เจ้าเมืองอังวะ เจ้าเมืองอังวะก็ให้เกณฑ์กองทัพยกเข้ามาช่วยหนุนกองทัพเมืองเชียงใหม่อันมาก

                ฝ่ายพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ยกกองทัพไพร่พลทหารมาถึงปลายแดนเองเชียงใหม่ พระองค์ทราบข่าวว่าพระเมกุฎิได้เอาเมืองเชียงใหม่ไปถวายพวกพม่า กองทัพพม่ายกกองทัพขึ้นมาอุดหนุนเมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงดำริว่า ครั้นพระองค์จะยกกองทัพเข้าตีเมืองเชียงใหม่ การศึกสงครามครั้งนี้ก็จะยืดเยื้อเป็นสงครามใหญ่ ถ้าไพร่ลาวตายก็เสียข้า พระราชบิดาของพระองค์ก็จะฉิบหายทั้งสองฝ่าย ครั้นพระองค์ดำริได้เช่นนั้นก็ให้เลิกทัพกลับมาตั้งอยู่ในเมืองเชียงแสนนานได้ 9 ปีเศษ พระองค์จึงให้เลิกทัพกลับมาเมืองศรีสัตนาคนหุตของพระองค์

                หลังจากนั้นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก็มาพิจารณาถึงเมืองชวาละขัตินครของพระองค์นั้น เป็นเมืองที่คับแคบนัก มีภูเขาใหญ่น้อยเรียงรายไปทั่ว ไม่สมควรที่จะปกครองอยู่ในเมืองนี้ การที่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์จะไปสร้างแปลงที่อยู่ใหม่ในที่อันกว้างขวางจึงสมควร เมื่อพระองค์ทรงพิจารณานั้นแล้วก็จัดแจงแต่งตั้งเจ้านายเนาบดีไว้ปกครองดูแลในเมืองศรีสัตนาคนหุตไว้เรียบร้อยเป็นอันดีแล้ว

                พระองค์ก็พาอำมาตย์เสนาบดีไพร่พลทั้งปวงขึ้นไปอัญเชิญพระแก้วมรกตแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปยังเวียงจันทน์บุรี ให้จัดแจงสร้างแปลงบ้านเมืองให้ดีงามจนเรียบร้อย พระองค์ก็อยู่ครองราชสมบัติในเมืองเวียงจันทน์บุรี

                จากนั้นพระองค์ก็ให้สร้างปราสาทหลังหนึ่งในวังของท่าน จัดแจงประดับประดาด้วยแก้วและเงินคำอันบริสุทธิ์แล้วพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก็ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระเจ้าแซกคำขึ้นประดิษฐานในปราสาทหลังนี้ พระองค์ก็ถวายเครื่องสมณบริขารทั้งปวง อันมี บาตรคำ  ฉัตรคำ  ร่มคำ  พานคำ  และเครื่องบูชาทำด้วยแก้วและเงินคำอันบริสุทธิ์งดงามแล้ว ก็ถวายบูชาไว้ยังพระแก้วมรกตและพระเจ้าแซกคำ พระองค์ยังได้สร้างเจดีย์แห่งหนึ่งไว้ทางทิศตะวันออก ถัดจากเจดีย์ของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ได้สร้างไว้ จากนั้นพระองค์ก็ให้สร้างเจดีย์น้อย 30 เจดีย์ ให้แวดวงล้อมเป็นบริวารทั่วไป แล้วพระองค์ก็ทรงพระราชทานนามพระมหาเจดีย์ว่า “เจดีย์พระโลกจุฬามณีศรีเชียงใหม่” พระองค์ก็ให้จัดแจงข้าหญิงข้าชายอย่างละร้อยให้เป็นข้าปฏิบัติรักษาพระแก้วมรกตและพระเจ้าแซกคำ

                พระองค์ก็ให้มีการเฉลิมสมโภชบูชาพระแก้วมรกตและพระเจ้าแซกคำให้ทำบุญให้ทานเดือนหนึ่งจึงเสร็จการด้วยเดชะผลบุญของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ก็ครองราชย์สมบัติในเมืองเวียงจันทน์บุรีราชธานี เกษมสุขสโมสรจนพระองค์ถึงพิราลัยไปตามบุญกรรมอายุขัยของท่านนั้นแล

 

ตำนานพระแก้วมรกต ตามพงศาวดารเหนือ

เชิญแนะนำข้อมูลเพิ่มเติมของตำนานพระแก้วมรกต ตามพงศาวดารเหนือ

ชื่อ / Email
ข้อความ
  

 


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์