กองทัพฝ่ายใต้
มีนายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
เป็นแม่ทัพ ยกไปปราบฮ่อใน
แคว้นเมืองพวน
ยกกำลังออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๘ ใช้เวลาเดินทางสามเดือนถึงเมืองหนองคาย
และได้ตั้งกองบัญชาการกองทัพอยู่ที่เมืองหนองคาย แล้วให้
พระอมรวิไสยสรเดช
(โต บุนนาค) ยกทัพหน้าไปตีค่ายฮ่อที่
ทุ่งเชียงคำ พวกฮ่อได้หนีไปในเขตญวน กองทัพไทยจึงรื้อค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำเสีย
กองทัพฝ่ายเหนือ
มี
นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม
แสงชูโต) เป็นแม่ทัพ ยกไปปราบฮ่อใน
แคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก
ยกกำลังออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๘ ไปชุมนุมทัพที่เมืองพิชัย
แล้วเดินทัพต่อไปยังเมืองน่าน แล้วยกกำลังไปถึงเมืองหลวงพระบาง เมื่อวันที่
๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๘ จากนั้นได้เคลื่อนกำลังเข้าสู่แคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก
เมื่อปราบฮ่อในแคว้นนี้ได้แล้วจึงได้ยกกำลังไปปราบฮ่อใน
แคว้นสิบสองจุไท
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙ สามารถปราบฮ่อได้ราบคาบ แล้วจึงยกกำลังกลับถึงกรุงเทพ ฯ
เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๐
ต่อมาพวกฮ่อได้รุกจากสิบสองจุไท ลงมาตีเมืองหลวงพระบางได้ เมื่อวันที่ ๑๐
มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า
ฯ ให้
นายพลตรีพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม
แสงชูโต) เป็นแม่ทัพยกกำลังไปปราบฮ่ออีกครั้งหนึ่ง
โดยให้ทัพหน้าออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๐ ในการปราบฮ่อครั้งนี้
ทางรัฐบาลฝรั่งเศสตกลงว่าจะทำการปราบ ในเขตแดนของฝรั่งเศสด้วย กองทัพไทยยกกำลังไปถึงเมืองหลวงพระบางเมื่อวันที่
๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๐
ฝรั่งเศสได้ยกกองทัพจาก
เมืองเลากายมาตี
เมืองไล
เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๐ เมื่อตีเมืองไลได้แล้วก็เคลื่อนกำลังไปยังเมืองแถง
จากนั้นได้ยกกำลังติดตามฮ่อไปทางเมืองม่วย เมืองลา
ฝ่ายไทยเห็นพฤติกรรมของฝรั่งเศสดังกล่าว ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้ฝรั้งเศสเข้ายึดดินแดนที่ถือว่าเป็นของไทย
หลวงดัษกรปลาส
แม่ทัพหน้าของไทย และนายทหารอื่น ๆ จึงได้คุมกำลังไปรักษา
เมืองแถง
เมืองซ่อน เมืองแวน เมืองสบแอด และเมืองเชียงค้อเอาไว้ ส่วนกองทัพใหญ่ของไทยคงตั้งมั่นอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง
เป็นเวลา ๘ เดือน เป็นการคุมเชิงกันระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพฝรั่งเศส
ต่อมาองบา หัวหน้าฮ่อที่จงรักภักดีต่อไทย ได้ถึงแก่กรรม พวกฮ่อได้แตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า
และได้ไปเข้าเป็นพวกกับฝรั่งเศสมากขึ้น กองทัพฝรั่งเศสจึงได้รุกเข้ามาในสิบสองจุไท
มาประจัญหน้ากับกำลังทหารไทยที่ตั้งรักษาเมืองแถง นายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี
จึงยกกองทัพใหญ่จากหลวงพระบาง เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๑ ไปถึงเมืองแถงเมื่อวันที่
๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๑ ม.ปาวีได้เข้าพบแม่ทัพไทย แถลงว่าสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหก
เป็นเมืองขึ้นของญวน ขอให้ทัพไทยถอยออกไปให้พ้นเขต แต่แม่ทัพไทยได้ยืนยันสิทธิและอำนาจของไทย
เหนือดินแดนดังกล่าว และปฏิเสธไม่ยอมถอนทหาร จนกว่าจะได้รับคำสั่งจากรัฐบาล
ในที่สุด ผู้บังคับการทหารฝรั่งเศสในแคว้นสิบสองปันนาคือ นายพันตรี เปนเนอแกง
ได้ทำสัญญากับพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๑ มีความดังนี้
๑. ในระหว่างที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ข้อตกลงกัน ทหารฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ในสิบสองจุไท
ทหารไทยจะตั้งอยู่ในหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองพวน ต่างฝ่ายต่างจะไม่ล่วงเข้าไปในเขตซึ่งกันและกัน
๒. ที่เมืองแถงนั้นทหารไทยและทหารฝรั่งเศส จะตั้งรักษาอยู่ด้วยกันจนกว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน
๓. ไทยและฝรั่งเศสจะช่วยกันปราบฮ่อที่เป็นโจรผู้ร้ายอยู่ตามเขตแดนของตนให้สงบราบคาบ
พระยาสุรศักดิ์มนตรีได้ถอยทัพใหญ่มาอยู่ที่หลวงพระบาง ฝ่ายฝรั่งเศสพยายามจะให้ทหารไทยที่เมืองแถงถอยลงมา
แต่แม่ทัพไทยปฏิเสธเด็ดขาด และแจ้งว่าพร้อมที่จะรบ ทำให้ฝรั่งเศสต้องสงบอยู่
ทางกรุงเทพ ฯ เมื่อเห็นเหตุการณ์สงบลงแล้วจึงให้กองทัพกลับจากหลวงพระบาง เจ้าเมืองหลวงพระบาง
ได้ร้องทุกข์ว่ากลัวพวกฮ่อและฝรั่งเศสจะมารบกวนอีก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้
พระพลัษฎานุรักษ์เป็นข้าหลวงบังคับการฝ่ายทหารอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง
กับให้หลวงดัษกรปลาสอยู่ช่วยราชการด้วย กองทัพไทยได้ยกกำลังออกจากหลวงพระบาง
เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๑ เดินทางกลับกรุงเทพ ฯ
ในการปราบฮ่อครั้งนี้ ไทยได้ให้
มิสเตอร์ แมคคาร์ธี
ชาวอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น
พระวิภาคภูวดล
ทำแผนที่ชายแดนทางภาคเหนือ จนถึงสิบสองจุไท แต่ยังไม่ได้ปักปันเขตแดน เพราะฝรั่งเศสหาว่าไทยรุกล้ำอาณาเขตของญวน
ฝรั่งเศสมักส่งคนเข้ามาในเขตนี้อยู่เสมอ เช่น เข้ามาค้าขายบ้าง มาระเบิดแก่ลี่ผีในแม่น้ำโขงบ้าง
มาบังคับให้ข้าหลวงไทยที่รักษาเมืองหน้าด่านให้ทำถนนบ้าง แต่ไทยพยายามจัดการให้ฝรั่งเศสกลับออกไปทุกครั้ง
ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมหัวเมืองฝ่ายเหนือ และจัดแบ่งออกเป็นภาค
ๆ เพื่อสดวกในการปกครอง โดยมีข้าหลวงไปประจำรักษาเป็นภาค ๆ ดังนี้
ภาคลาวกาว มีเมืองอุบล เมืองจัมปาศักดิ์
เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองอัตบือ เมืองสาลวัน เมืองคำทองใหญ่
เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองศรีษะเกษ เมืองยโสธร
เมืองเขมราฐ เมืองกมลาศัย เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองสุวรรณภูมิ
เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม รวมเมืองใหญ่ ๒๑ เมือง เมืองขึ้นอีก ๔๓ เมือง
มีกรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่
ภาคลาวพวน มีเมืองหนองคาย เมืองเชียงขวาง
เมืองบริคัณหนิคม เมืองโพนพิสัย เมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี เมืองสกลนคร
เมืองมุกดาหาร เมืองขอนแก่น เมืองหล่มศักดิ์ รวมเมืองใหญ่ ๑๑ เมือง เมืองขึ้นอีก
๓๖ เมือง มี
กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
เป็นข้าหลวงใหญ่
ภาคลาวเฉียง มีเมืองเชียงใหม่
เมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองน่าน เมืองแพร่ เมืองเถิน เมืองเชียงราย และเมืองขึ้นของหัวเมืองเหล่านั้น
มี
พระยาไกรโกษา
เป็นข้าหลวงใหญ่
ภาคลาวพุงขาว มีเมืองหลวงพระบาง
สิบสองปันนา สิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นในพระราชอาณาเขต
มี
กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์
เป็นข้าหลวงใหญ่ และได้ให้พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุข) รักษาราชการแทน
สำหรับหัวเมืองในแคว้นสิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหก บางคราวหัวเมืองดังกล่าวก็อยู่ใต้อิทธิพลของญวน
เรียกว่า
เมืองสองฝ่ายฟ้า
คือขึ้นกับทั้งสองฝ่าย คือ ขึ้นกับหลวงพระบางด้วย และขึ้นกับญวนด้วยในเวลาเดียวกัน
ส่วนเมืองที่อยู่ใกล้กับจีนก็จำต้องขึ้นกับจีนด้วย เรียกว่า
เมืองสามฝ่ายฟ้า
ประมวลข้อมูลจากสื่อมวลชนของฝรั่งเศสและอังกฤษ
หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ได้ให้ความเห็นเรื่องไทยกับฝรั่งเศสพิพาทกันด้วยเรื่องเขตแดน
เป็นทำนองส่งเสริมรัฐบาลฝรั่งเศสว่า ควรให้แม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับดินแดนของฝรั่งเศสในอินโดจีน
ดินแดนลาวที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเคยเป็นของญวนและเขมร เพิ่งตกมาเป็นของไทยเป็นเวลาไม่นานนัก
ควรแล้วที่จะให้ตกอยู่กับญวนและเขมรผู้เป็นเจ้าของเดิมอีก
หนังสือพิมพ์อังกฤษ ชื่อ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ รายงานข่าวว่า
ลอร์ด แลมมิงตัน ได้ถามรัฐมนตรีว่าการประเทศอินเดีย พม่า และมอญ ในที่ประชุมรัฐสภาอังกฤษที่กรุงลอนดอนว่า
การแบ่งปันเขตแดนระหว่างประเทศไทย และ
เมืองเงี้ยวฝ่ายเหนือทั้งปวงที่ขึ้นแก่อังกฤษนั้น
ได้ตกลงกันเสร็จแล้วหรือไม่ และการที่ปลัดกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสได้พูดในรัฐสภาฝรั่งเศสที่กรุงปารีสว่า
รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกร้องจะเอาลำน้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน ระหว่างประเทศไทย กับ
ประเทศญวนและตังเกี๋ย
ซึ่งอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสนั้น รัฐมนตรีจะดำริเห็นประการใด ทางรัฐมนตรี
ฯ ได้ตอบว่า อังกฤษได้สัญญาตกลงกับประเทศไทยแล้ว ในเรื่องการแบ่งปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและหัวเมืองเงี้ยวฝ่ายเหนือ
ข้าหลวงไทยและข้าหลวงอังกฤษ ได้ไปตรวจแดนต่อแดนพร้อมกัน เพื่อจะได้ปักหลักแบ่งอาณาเขตตามที่ได้ตกลงกันแล้ว
หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ของอังกฤษ ฉบับวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕ ได้เสนอข่าวว่า
กรณีพิพาทเรื่องเขตแดนฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสนั้น
รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยอมให้มหาประเทศที่เป็นกลางตัดสิน
และทางฝรั่งเศสได้มีคำสั่งไปยังราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ ว่าให้แจ้งต่อรัฐบาลไทยให้ทราบว่า
ไม่ยอมให้ผู้ใดล่วงล้ำเขามาย่ำยีเขตแดนฝั่งซ้ายลำน้ำโขงอีกต่อไป ถือว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นของฝรั่งเศสแล้ว
และได้สั่งให้ราชฑูตจัดการให้สำเร็จจนได้
หนังสือพิมพ์อังกฤษ ชื่อ ฮ่องกงเดลีเพสส์ เสนอข่าวว่า ข้อพิพาทเรื่องดินแดนไทยกับฝรั่งเศสซึ่งยังโต้เถียงกันอยู่
ฝรั่งเศสแถลงว่า อาณาเขตตลอดฝั่งซ้ายลำน้ำโขงนั้น เป็นของญวน ซึ่งอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศสทั้งสิ้น
ฝ่ายไทยก็แถลงว่า ลำน้ำโขงนั้นไม่ใช่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับญวน
อาณาเขตของไทยอยู่เกินลำน้ำโขง
เข้าไปจนถึงแนวภูเขาที่อยู่ทางทิศตะวันออกของลำน้ำโขง
เมื่อเป็นเช่นนี้ คงจะต้องเกิดสงคราม เพราะไทยคงจะไม่ยอมถอยออกไปจากเขตแดนที่เป็นข้อพิพาทเป็นแน่
คงจะต้องต่อสู้ป้องกันเขตแดนเหล่านี้ไว้จนถึงที่สุด อย่างไรก็ตามไม่เห็นฝรั่งเศสจัดการเข้ารักษาเขตแดนดังกล่าวแต่ประการใด
และไม่เห็นมีหลักฐานที่สำคัญอันใดที่จะต้องเป็นองค์พยานว่า เขตแดนดังกล่าวนี้เป็นของญวน
นอกจากหลักอาณาเขตที่หมายไว้ว่าเป็นของญวนในแผนที่ ซึ่งฝรั่งเศสทำเอาเองตามชอบใจ
ฝ่ายไทยกำลังตั้งด่าน และแผ่อำนาจในเขตแดนเหล่านี้อยู่ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำมานานแล้ว
ต่อเมื่อมีการแย่งชิงเขตแดนกันไทยจึงเพิ่งค้นหลักฐานสำคัญ ที่จะใช้อ้างว่าเขตนั้น
ๆ เป็นของไทย
ดินแดนตั้งแต่ฝั่งซ้ายลำน้ำโขงจนถึงแนวภูเขาซึ่งกันอาณาเขตญวนนั้น ที่จริงหาได้เป็นอาณาเขตของผู้ใดไม่
เมื่อไทยล่วงเข้าไปตั้งด่าน และตั้งโรงภาษี ฝรั่งเศสก็อยากจะทำบ้างให้เหมือนกัน
โดยหาเหตุอ้างว่าเป็นเขตแดนของญวนมาแต่ก่อน
ดังนั้นจึงหวังว่า การเจรจาการเมืองกันโดยทางฑูตอาจระงับข้อพิพาทได้ ไม่อยากให้เกิดมูลสงครามขึ้นในทิศตะวันออกระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเลย
การดำเนินการของฝรั่งเศส
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสได้ นำปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศส
เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ โดยกล่าวถึงกรณีที่ ม.มาสซี ถึงแก่กรรมที่เมืองจัมปาศักดิ์
และขอให้ถือเอามรณกรรมของ ม.มาสซี มาใช้ประโยชน์ต่อกรณีพิพาทดังกล่าว
ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐสภาด้วยมติที่เกือบเป็นเอกฉันท์ รัฐสภาอนุมัติให้ดำเนินการโดยทันที
เกี่ยวกับปัญหาเขตแดนไทย โดยมีเงื่อนไขว่า ให้รัฐบาลใช้วิธีการที่ดีที่สุด
ที่จะทำการให้สำเร็จโดยเร็ว โดยเสียเงินและเลือดเนื้อน้อยที่สุด
เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จึงได้มีคำสั่งไปยัง
ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน
ให้ดำเนินการขับไล่ไทยไปให้พ้นเขตแดนที่กำลังพิพาทกันอยู่
ในการนี้ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการทั่วไป ได้มีคำสั่งไปยัง
ม.บรีแอร์
เรสิดงต์ สุเปริเออร์ ประจำญวนเหนือ
เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕ มีใจความว่า รัฐบาลฝรั่งเศสได้ตกลงใจที่จะกำจัดการรุกล้ำเขตแดนที่ฝ่ายไทยกระทำอยู่
เห็นว่าการนี้คงจะกระทำได้โดยง่าย แต่เกรงว่าในขณะที่เรากำลังดำเนินการอยู่
ทางแม่น้ำโขงตอนล่าง ฝ่ายไทยคงจะหาทางก่อเหตุเป็นศัตรูแก่เราทางประเทศญวน
จึงจำเป็นต้องเพิ่มกำลังตามชายแดนให้มีมากขึ้น ในกรณีที่ตกลงดำเนินการทุกแห่งพร้อมกัน
จำเป็นที่กองทหารของเราจะต้องสามารถบังคับให้ฝ่ายไทยล่าถอยไปโดยไม่ต้องให้มีการรบ
และจะต้องให้การปะทะที่รุนแรงมีน้อยที่สุด กับให้ผู้บังคับกองทหารแจ้งแก่ราษฎรให้ทราบว่า
รัฐบาลจะให้ความคุ้มครองเต็มที่ ให้พยายามรวบรวมชักจูงราษฎรที่อยู่ตามดอยตามเขามาเป็นพวกของเรา
และพยายามทุกวิถีทางที่จะให้คนเหล่านี้มีศรัทธาต่อเรา จะต้องศึกษาพิจารณาการทำแนวถนนเชื่อมต่อระหว่างญวนกับฝั่งลำน้ำโขง
ขอให้ช่วยกันทำแผนที่เส้นทางที่เป็นประโยชน์ และตั้งแต่บัดนี้ให้จัดตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ
(Inspecteurs des gaurdes) ดำเนินการสำรวจถนนหนทาง และทำการตบแต่งตลอดจนการศึกษาพิจารณาการก่อสร้างถนน
และในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้เลือกเฟ้นเรสิดังต์ ที่มีสติปัญญาสุขุมเป็นผู้อำนวยการและปฏิบัติการให้เป็นไปในลักษณะที่เข้มแข็งแน่นอน
ฝรั่งเศสเริ่มดำเนินการรุกล้ำเข้าไปในเขตแดนที่ไทยยึดครองโดยแบ่งกำลังออกเป็นสามกอง
ใช้ทหารอาสาสมัครญวนแลเขมรเป็นส่วนใหญ่ โดยมีนายทหารฝรั่งเศสและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
เป็นผู้บังคับบัญชา
กองที่ ๑ มีทหาร ๑ กองร้อยสมทบอยู่ด้วย
มุ่งเข้ายึด
เมืองสตึงเตรง
หรือเมืองเชียงแตง และ
เมืองโขง หรือเมืองสีทันดร
ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตอนล่าง สภาพของแม่น้ำโขงระหว่างสองเมืองนี้ มีเกาะแก่งอยู่มากเรือเดินไม่สะดวก
เหนือจากเมืองโขงขึ้นไปจนถึงเมืองเขมราฐ จึงเดินเรือได้สะดวก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยึดเมืองโขงไว้ให้ได้
เพื่อสะดวกในการคมนาคมติดต่อกับเมืองอื่นที่อยู่ทางเหนือขึ้นไปโดยอาศัยลำน้ำโขง
กองที่ ๑ นี้ใช้กำลัง
ทหารญวน
๒๐๐ คน และใช้กำลัง
ทหารเขมรเป็นจำนวนมากเดินทางด้วยเรือ
๓๓ ลำ เข้าขับไล่กำลังของไทยที่ตั้งรักษาด่านอยู่ที่
ตำบลตะบงขลา
(Tbong Kla) และเสียมโบก ( Siemboc) ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ ได้รุกมาถึงเมืองสตึงเตรง
ขับไล่ข้าหลวงเมืองสตึงเตรง คือ
หลวงพิพิธสุนทร
(อิน)
ให้ออกไปอยู่
เมืองท่าราชปริวัตร
ซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของลำน้ำโขง
วันที่ ๔ เมษายน กำลังทหาร ๔๐๐ คน เข้ายึดเมืองโขง ซึ่งมี
พระประชาคดีกิจ
(แช่ม) รักษาการณ์อยู่ มีการต่อสู้กันเล็กน้อย
ปลายเดือนเมษายน
ร้อยเอกโทเรอซ์ได้เดินทางกลับมาทางลำน้ำโขงตอนล่างเพื่อลำเลียงเสบียง
เมื่อกลับขึ้นไปเมืองโขงกระแสน้ำซึ่งไหลเชี่ยว ได้พัดเรือของเขามาทางฝั่งขวาของลำน้ำโขง
ทหารไทยจับร้อยเอกโทเรอซ์พร้อมทั้งทหารอีก ๑๖ คนไว้ได้ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม
แล้วนำตัวส่งกรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ซึ่งประจำอยู่ที่เมืองอุบล ทหารไทยได้ขับไล่ทหารฝรั่งเศสถอยออกไปจากเมืองโขง
เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม แต่ต่อมาฝรั่งเศสได้ส่งกำลังจากเขมรมาเพิ่มเติม และได้ยึดเมืองโขงไว้ได้อีก
ในการนี้ฝ่ายไทย กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่อุบลได้โปรดให้เกณฑ์กำลังคนจากหัวเมืองต่าง
ๆ เพื่อป้องกันการรุกรานจากฝรั่งเศสคือ เกณฑ์คนจากเมืองศรีษะเกษ เมืองขุขันธ์
เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองละ ๘๐๐ คน เมืองสุวรรณภูมิ
เมืองยโสธร เมืองละ ๕๐๐ คน ให้
พระศรีพิทักษ์
(หว่าง) ข้าหลวงเมืองขุขันธ์ คุมกำลังไปตั้งรักษาอยู่ที่เมืองมโนไพร
และเมืองเซลำเภา ให้นายสุจินดาคุมทหาร ๑๐๐ คน และกำลังคนอีก ๕๐๐ คน พร้อมด้วยศาสตราวุธเป็นทัพหน้ารีบยกออกจากเมืองอุบล
เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ลงไปสมทบช่วยพระประชาคดีกิจที่เมืองสีทันดร ให้
ท้าวรกิติกา
คุมคนเมืองอุบล
๕๐๐ คน พร้อมศาสตราวุธ ไปสมทบกองนายสุจินดา
วันที่ ๒๐ เมษายน ให้ราชวงศ์ และราชบุตรเมืองยโสธร ๕๐๐ คน ให้อุปฮาด (บัว)
คุมคนเมืองศรีษะเกษ ๕๐๐ คน พร้อมศาสตราวุธ
ยกไปสมทบกองทัพประชาคดีกิจที่เมืองสีทันดร
ฝ่ายไทยจัดกำลังให้นายสุจินดาคุมกำลัง ๔๐๐ คน ไปตั้งรับอยู่ที่
ดอนสาคร
ให้หลวงเทเพนทรเทพคุมกำลัง ๔๐๐ คน ไปรักษาดอนสะดำและท้ายดอนสาคร ให้เจ้าราชบุตรจัมปาศักดิ์คุมกำลังตามสมควรไปรักษาอยู่ท้าย
ดอนสม
และหัว
ดอนเดช
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้จัดส่งคนเมืองสุวรรณภูมิ ๕๐๐
คน เมืองร้อยเอ็ด ๓๐๐ คน ยกออกจากเมืองอุบล ไปช่วยพระประชาคดีกิจที่ค่ายดอนสาคร
วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ฝรั่งเศสคุมกองทัพเพิ่มเติมยกมาถึง
บ้านพละอีกประมาณพันคนเศษ
พระประชาคดีกิจเห็นข้าศึกมีกำลังกล้า จึงรวมกำลังตั้งรับที่
ดอนสะดำ
ดอนเดช และดอนสม
ไทยกับฝรั่งเศสได้ปะทะกันหลายครั้ง ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ต่างฝ่ายต่างส่งกำลังหนุนขึ้นไปบริเวณเมืองโขงหรือสีทันดร
ทั้งสองฝ่ายตกลงยุติการรบ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๖
กองที่ ๒ มีกำลังทหารประมาณ ๗๕๐
คน อยู่ในบังคับบัญชาของ
ไวซ์เรสิดังต์ เมืองกวางบิญ
หรือดองหอย ได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการอินโดจีนมีใจความว่า ให้เป็นผู้อำนวยการในแคว้นคำโล
(Camlo) และให้เดินทางไปยังเมืองอายหลาว (Ailao) และให้แจ้งแก่ข้าหลวงไทยว่ามาในนามของรัฐบาลฝรั่งเศส
เพื่อยึดดินแดนที่ควรให้ฝรั่งเศสมีอำนาจโดยชอบธรรมแต่เพียงประเทศเดียว การใช้กำลังให้ใช้ในเวลาที่เห็นว่าจำเป็นจริง
ๆ กวดขันให้มีการเคารพต่อสิทธิของบุคคล และทรัพย์สมบัติของเขา ให้จัดการแก่ฝ่ายไทยให้หมดฐานะที่จะก่อกวนเราได้ยิ่งกว่าการทำลายกวาดล้างให้สิ้นไป
ระวังอย่าให้ทหารไทย รวมกำลังกับกองอื่นได้
หรือส่งข่าวขอกำลังหนุนมาก่อนฝ่ายเรา
ให้เข้ายึด
เมืองพ้องซึ่งเป็นจุดรวมของเส้นทางที่จะไปสู่เขมราฐริมฝั่งลำน้ำโขง
ให้จัดตั้งกองทหารไว้ที่เมืองพ้อง เพื่อความมั่นคงและมีอิทธิพลในบริเวณนี้
และให้รีบจัดการพิจารณาเรื่องเส้นทางที่จะสร้างถนนระหว่างดินแดนญวนกับฝั่งลำน้ำโขง
สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ
จะต้องทำให้ราษฎรในท้องถิ่นมีความพอใจที่เราได้เข้ามาปกครองแทนไทย
จะต้องปฏิบัติต่อเขาด้วยความดูแลเอาใจใส่ เคารพต่อธรรมเนียมของเขา หลีกเลี่ยงต่อการที่จะให้เขามีความเดือดร้อนใจ
และพ้นจากการปล้นสะดม อย่าใช้แรงงานโดยเขาไม่เต็มใจ และไม่ได้ค่าจ้างตามที่สมควรจะได้
ทหารกองนี้ออกเดินทางจากเมืองคำโล เมื่อวันที่
๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ ได้ปฏิบัติการอย่างรวดเร็วเข้าขับไล่ทหารไทยที่อาซาว นาบอน
เมืองวัง เมืองพิน เข้ายึดเมืองพ้อง และเคลื่อนที่ถึง
เมืองสองดอนดง
กับ
ตำบลนาพระสูร
ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเขมราฐ ฝรั่งเศสได้จัดแบ่งกำลังทหาร และจัดการปกครองเมืองต่าง
ๆ ในบริเวณนี้ โดยได้ตั้งกองบังคับการอยู่ที่เมืองสองดอนดง มีกำลังทหารอยู่
๒๐๐ คน ที่นาพระสูร ๑๕๐ คน ที่เมืองพ้อง ๕๐ คน นาบอน ๑๐๐ คน และที่อาบหลวง
๕๐ คน กองทหารของไทยต้องล่าถอยข้ามโขงมาทางฝั่งขวา กองทัพฝรั่งเศสได้เคลื่อนที่มาถึงฝั่งโขงอย่างรวดเร็ว
กองที่ ๓ อยู่ในบังคับบัญชาของ
เรสิดังต์
เมืองวิญ ยศร้อยเอกเหล่าทหารปืนใหญ่ ได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการอินโดจีนมีใจความว่า
ให้จัดการให้ฝ่ายไทยถอยร่นออกไปจากบริเวณเมืองคำม่วนโดยทันที และสั่งการให้ผู้บังคับกองทหารอาสาสมัคร
จัดการกับฝ่ายไทยให้หมดฐานะที่ก่อกวน ฝ่ายฝรั่งเศสได้ ยิ่งกว่าที่จะทำลายกวาดล้าง
จะใช้กำลังเมื่อเห็นว่าจำเป็นจริง ๆ ให้จัดการปกครองโดยแบ่งเป็นเขต ๆ ตามที่ได้เคยจัดแบ่งไว้แต่เดิม
โดยมอบอำนาจให้หัวหน้าราษฎรในเขตนั้นปกครองกันชั่วคราว และสัญญาว่าจะให้หัวหน้าราษฎรเหล่านั้นเก็บภาษีอากรได้ดังเดิม
กับให้ศึกษาพิจารณาถึงเส้นทางถนนที่จะสร้างจากเมืองวิญ (Vinh) ไปยังท่าอุเทน
อย่าได้เกณฑ์สิ่งของจากราษฎร อย่าใช้ให้ทำงานโดยที่เขาไม่เต็มใจ
ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ทหารกองนี้ได้ออกเดินทางจากนาเป (Nape ) และมาถึงเมืองคำม่วน
ซึ่งมีค่ายทหารไทยในบังคับบัญชาของ
พระยอดเมืองขวางตั้งอยู่
ทหารฝรั่งเศสได้บีบบังคับให้พระยอดเมืองขวางถอยออกไปจากเมืองคำม่วน ไปยังฝั่งขวาของลำน้ำโขงที่ปากน้ำหินบูลย์ใกล้กับท่าอุเทน
ได้เกิดการปะทะกัน ทหารญวน และทหารไทยบาดเจ็บล้มตายกันหลายคน ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเสียชีวิตไปคนหนึ่ง
ฝ่ายฝรั่งเศสได้ถือเป็นเรื่องสำคัญทางการเมือง จึงได้ส่งทหารมาเพิ่มเติม และได้มีการสู้รบกันที่นากายใต้
เมืองคำม่วนอย่างรุนแรง ทหารทั้งสองฝ่ายล้มตายกันมาก ในที่สุดฝ่ายไทยได้ล่าถอย
และอพยพผู้คนมาทางฝั่งขวาของลำน้ำโขง
ฝรั่งเศสจึงยึดพื้นที่บริเวณเมืองคำม่วนไว้ จัดการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยต่อไป
เรือลูแตงเข้ามากรุงเทพ
ฯ
ฝรั่งเศสกล่าวหาว่าไทยไม่รักษาคำมั่นตามข้อตกลงเรื่องการรักษาสถานะเดิม คือการตกลงให้ต่างฝ่ายต่างคงอยู่ในเขตแดนเดิม
และจะไม่รุกล้ำเข้าไปในแดนเขตของอีกฝ่ายหนึ่ง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไทยต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และให้ไทยปล่อยตัว ร้อยเอกโทเรอซ์
ที่ไทยจับตัวไว้ด้วย ในการนี้ฝรั่งเศสได้ดำเนินการต่อไปคือ
๑. ให้กองเรือฝรั่งเศสเดินทางจากทะเลจีนมารวมกำลังกันที่ไซ่ง่อน
๒. ส่งทหารต่างด้าว ๑ กองพันจากเมืองโบน ซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน
ในเขตแอลจีเรียให้เดินทางมาไซ่ง่อน
๓. ส่ง ม.เลอมีร์ เดอวิเลรส์ เป็นราชฑูตพิเศษมาเจรจากับรัฐบาลไทยที่กรุงเทพ
ฯ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย และพิจารณาตกลงในปัญหาการพิพาทที่ยังค้างอยู่
ฝ่ายไทยได้ดำเนินการติดต่อพวกการฑูตกับอังกฤษ และเตรียมการป้องกันทางปากน้ำเจ้าพระยา
ฝรั่งเศสได้ส่งเรือลูแตง (Lutin) เข้ามาจอดอยู่หน้าสถานฑูตฝรั่งเศส โดยมีผู้บัญชาการสถานีทหารเรือเมืองไซ่ง่อนโดยสารเข้ามาสังเกตการณ์ในกรุงเทพ
ฯ เรือลูแตงเดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕ ในระหว่างนั้นราชฑูตฝรั่งเศสในกรุงเทพ
ฯ ได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยยอมรับเขตแดนญวน ว่าจดถึงฝั่งซ้ายลำน้ำโขง แต่รัฐบาลไทยคัดค้าน
และขอให้การปักปันเขตแดนถือเอาดินแดนที่ใครได้ปกครองอยู่ในเวลานี้เป็นเกณฑ์
แต่ถ้าทางฝรั่งเศสยืนยันได้ว่า ญวนมีสิทธิอันชอบอยู่เพียงไร เกณฑ์นี้อาจเปลี่ยนแปลงได้
รัฐบาลไทยเต็มใจที่จะนำข้อที่เป็นปัญหากันอยู่ให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
และรัฐบาลไทยเห็นว่าควรจะเชิญสหรัฐอเมริกามาเป็นผู้ตัดสิน
แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธไม่ยอมรับ อนุญาโตตุลาการตามที่ไทยเสนอ และจะไม่ยอมถอนเรือรบออกไป
ถ้าไทยไม่ยอมทำตามที่ร้องขอไป ต่อมาฝรั่งเศสได้เข้ายึดเกาะเสม็ด
(นอก) เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖
การเคลื่อนไหวของอังกฤษ
วันที่ ๒๒ มีนาคม กัปตันโยนส์
(Captain Jone) ราชฑูตอังกฤษได้ส่งโทรเลขไปยัง ลอร์ดโรสเบอรี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษมีสาระว่า
"ในกรณีที่อาจเกิดสงครามยุ่งยากขึ้นเป็นการสมควรที่จะส่งเรือรบอังกฤษเข้ามาที่กรุงเทพ
ฯ เพื่อคุ้มครองทรัพย์สมบัติของอังกฤษ และความสงบเรียบร้อย" หลังจากนั้นอังกฤษจึงได้ส่งเรือสวิฟท์
(Swiff ) เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๐
เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ และได้จอดอยู่หน้าสถานฑูตอังกฤษ (เก่า) ซึ่งอยู่บริเวณไปรษณีย์กลางบางรัก
อังกฤษทราบว่าฝรั่งเศสได้สั่งเคลื่อนกำลังทางเรือให้มารวมกันอยู่ที่ไซ่ง่อน
และมีเสียงเล่าลือว่าฝรั่งเศสจะส่งกองเรือเข้ามารุกรานไทย ในขณะที่ฝ่ายไทยก็ได้เตรียมการป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยได้เอาเรือมาจมขวางไว้ที่ปากน้ำ เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลในวงการค้าทั่วไป
อังกฤษจึงคิดจะส่งเรือรบเขามาในไทยอีกเพื่อคุมเชิงฝรั่งเศส
และเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของชนชาติอังกฤษ ดังปรากฏข้อมูลในเอาสารเหล่านี้
พลเรือตรี เซอร์ อี ฟรีแมนเติล
ผู้บัญชาการกองเรืออังกฤษภาคทะเลจีน รายงานถึงกระทรวงทหารเรืออังกฤษ ลงวันที่
๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า "ได้รับรายงานจากเรือสวิฟท์ที่กรุงเทพ ฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ในประเทศไทย
ซึ่งมีความโกลาหลเป็นอันมาก เนื่องจากฝรั่งเศสยื่นคำเรียกร้องต่าง ๆ และได้เข้ายึดเมืองสตึงเตรงกับเมืองโขงทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
การที่เรือสวิฟท์เข้าไปจอดอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ได้ทำให้เป็นที่ไว้วางใจแก่ชนชาวยุโรป
และทำให้ความหวาดเกรงว่าจะเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงเทพ
ฯ นั้นสงบลงด้วย"
มิสเตอร์ฟิปปส์ (Phipps)
อุปฑูตอังกฤษประจำปารีส ได้มีโทรเลขถึง ลอร์ตโรสเบอรี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ
ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า "ฝรั่งเศสได้ยึดดินแดนต่อไปอีก ในวันที่
๑๗ และ ๑๘ มิถุนายน ได้ยึดเกาะรงกับเกาะรงสามเหลี่ยม
(หน้าอ่าวกำปงโสม) ไว้ได้แล้ว เกาะทั้งสองนี้เป็นเกาะสำคัญมาก เพราะเป็นที่จอดเรือได้อย่างดีที่สุด
เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน เรือปืนของไทยได้เข้ามาที่เกาะเสม็ด (นอก) มีทหารหมู่หนึ่งพยายามจะขึ้นบก
โดยฝ่าฝืนคำห้ามปรามของกองรักษาด่านของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ยิงเอาและทหารไทยได้ถอยกลับไป"
หนังสือของห้างวอลเลศบราเธอร์ (Wallace Brolher ) เอเย่นต์ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา
ถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ลงวันที่ ๒๒
มิถุนายน
พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า " บัดนี้ความยุ่งยากภายในได้เกิดขึ้นแล้วทั้งที่กองเรือฝรั่งเศสยังไม่ทันเข้าไปถึงกรุงเทพ
ฯ หากกองเรือฝรั่งเศสได้เข้าไปจริง ถึงจะไม่มีการรบพุ่งกันก็ตามเหตุการณ์ภายในเมืองคงร้ายแรงกว่านี้
การที่ฝรั่งเศสยึดเกาะเสม็ด ก็ยิ่งเพิ่มให้เกิดผลร้ายขึ้นอีก เป็นธรรมดาของรัฐบาลทางตะวันออก
ที่ยังบกพร่องในวิธีดำเนินการปกครอง เมื่อได้ประสบความยุ่งยากที่สลับซับซ้อนโดยเร็วเช่นนี้แล้ว
ก็ย่อมได้รับความลำบากเป็นอย่างยิ่ง และถึงแม้จะเป็นรัฐบาลที่มั่นคงก็ตาม
แต่ก่อนที่จะสามารถจัดการอะไรลงไปได้
ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันมากก็ย่อยยับไปเสียก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ามีเรือรบอังกฤษหลาย
ๆ ลำเข้าไปจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ และเตรียมพร้อมที่จะส่งทหารของเราขึ้นบกได้ทุกเมื่อที่จำเป็นแล้ว
จะเป็นการช่วยระงับเหตุการณ์จลาจลในบ้านเมืองได้"
กัปตันโยนส์ ราชฑูตอังกฤษประจำกรุงเทพ ฯ ได้มีโทรเลขไปถึง ลอร์ดโรสเบอรี รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ
ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ มีความว่า "รัฐบาลไทยได้รับคำเตือนจากรัฐบาลฝรั่งเศสว่า
บัดนี้รัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งให้กองเรือรบเดินทางมาไซ่ง่อนแล้ว และถ้าเหตุการณ์ถึงคราวจำเป็นรัฐบาลฝรั่งเศส
จะส่งกองเรือรบนั้นเข้ามากรุงเทพ ฯ รัฐบาลไทยมีความตั่งใจจะปิดปากน้ำเจ้าพระยา
และต่อสู้ป้องกันปากน้ำตามกำลังที่จะกระทำได้
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน กัปตัน โยนส์ ได้มีโทรเลขเพิ่มเติมมีความว่า
"ในเวลานี้มีเรือรบอังกฤษประจำอยู่ที่กรุงเทพ ฯ เพียงลำเดียวเท่านั้น เพราะอีกลำหนึ่งได้ออกไปจากกรุงเทพ
ฯ หลายวันแล้ว จึงคิดว่าเป็นการสมควรที่จะให้เรือรบของเราลำที่สองจอดอยู่ที่ปากน้ำเจ้าพระยา
เผื่อมีความจำเป็นจะได้เรียกได้ อนึ่ง
เห็นว่าควรขอร้องให้รัฐบาลอเมริกา
ปอร์ตุเกส ฮอลแลนด์ โดยการฑูตของเขาในกรุงลอนดอนให้ส่งเรือรบไปที่กรุงเทพ
ฯ เพื่อคุ้มครองป้องกันชาวต่างประเทศด้วย"
ลอร์ด โรส เบอรี ได้มีโทรเลขตอบกัปตันโยนส์ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน มีความว่า
"ได้ส่งสำเนาโทรเลของกัปตันโยนส์ ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ไปให้กระทรวงทหารเรือทราบแล้ว
กระทรวงทหารเรือได้มีคำสั่งไปถึง พลเรือตรี ฟรีแมนเติลแล้ว เพื่อให้จัดส่งเรือรบอีกลำหนึ่งไปยังกรุงเทพ
ฯ และให้จัดเตรียมเรือรบลำที่สามไว้ให้พร้อมเผื่อเรียกได้ทันท่วงที"
มิสเตอร์ฟิปปส์ มีโทรเลขถึง ลอร์ด โรส เบอรี ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน มีความว่า
ม.เดอ แวลล์ ได้กล่าวถึงเรื่องที่ได้รับรายงานว่า ทหารเรืออังกฤษ ได้สอนให้พวกไทยหัดยิงตอร์ปิโด
เขายังได้กล่าวอีกว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะไม่ทำการรุนแรงอย่างใดที่กรุงเทพ ฯ
โดยไม่บอกกล่าวให้รัฐบาลอังกฤษทราบเสียก่อน และยังได้แสดงความพอใจที่ ลอร์ดโรสเบอรี
ได้กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้ด้วย"
ลอร์ดโรสเบอรี มีโทรเลขถึง มิสเตอร์ ฟิปปส์ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน มีความว่า
"ได้สอบสวนเรื่อง ม.เดอแวลล์ กล่าวถึงว่าพวกไทยได้รับคำสั่งสอนจากทหารเรืออังกฤษ
ในวิธียิงตอร์ปิโดร์นั้น ยังไม่ได้ข่าวถึงเรื่องเช่นนี้เลย แต่อาจจะมีชาวอังกฤษซึ่งรับราชการอยู่ในราชนาวีไทยบ้างก็เป็นได้"
ในที่สุดทางการทหารเรืออังกฤษได้กำหนดว่าจะส่งเรือพาลลาส
(Pallas) และเรือพิกมี
(Pigmy) ซึ่งประจำอยู่ที่สิงคโปร์เข้าไปกรุงเทพ
ฯ แต่เนื่องจากเรือพิกมีติดราชการอื่น จึงได้ส่งเรือพาลลาส ซึ่งเป็นเรือธงของผู้บังคับกองเรืออังกฤษ
ประจำช่องมะละกามากรุงเทพ ฯ ก่อนและจะส่งเรือพลัฟเวอร์
(Pluver ) ซึ่งมาแทนเรือพิกมีตามมาภายหลัง เรือเรือพาลาสเดินทางมาถึงสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา
เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ต่อมาจึงส่งเรือลินเนต
(Linnet) มาแทนเรือพิกมี
มาถึงปากน้ำเจ้าพระยา
เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม
ลอร์ดโรสเบอรี โทรเลขถึงมิสเตอร์ฟิปปส์ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ให้ยืนยันแก่
ม.เดอแวลล์ว่า เรือรบอังกฤษจะไม่ข้ามสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาเข้าไป และในวันเดียวกันก็ได้มีโทรเลขไปถึงกัปตันโยนส์มีความว่า
"เรือพาลลาส จะข้ามสันดอนปากน้ำเข้าไปไม่ได้ ให้จัดการให้เรือพาลลาส และเรือพลัฟเวอร์ทั้งสองลำ
จอดอยู่ทางเข้าแม่น้ำภายนอกสันดอน และให้เจรจากับรัฐบาลไทยให้แจ้งเรื่องนี้ให้ราชฑูตฝรั่งเศส
(ที่กรุงเทพ ฯ) ทราบด้วย"
มิสเตอร์ฟิปปส์ได้โทรเลขถึง ลอร์ดโรสเบอรี เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม แจ้งเนื้อความการเจรจากับ
ม.เดอแวลล์มีความว่า "ม.เดอแวลล์แจ้งว่าเรือฝรั่งเศส ที่ส่งไปจะอยู่นอกสันดอน
คงให้เรือลูแตงอยู่ในกรุงเทพ ฯ และแจ้งว่าตามข้อ
๑๕ แห่งหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ค.ศ.๑๘๕๖ ให้เรือฝรั่งเศสเข้าไปในลำแม่น้ำเจ้าพระยาได้จนถึงสมุทรปราการ
และเมื่อแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบแล้วให้ล่วงเข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ ได้ จากนั้นมิสเตอร์พิปปส์แจ้งว่า
ความตั้งใจของรัฐบาลอังกฤษมีหลักอยู่ว่า มีความจำเป็นจะต้องคุ้มครองผลประโยชน์ของเราในกรุงเทพ
ฯ ซึ่งอังกฤษมีส่วนในการค้าขายอยู่ถึงสามในสี่ส่วน
และถ้าหากว่ามหาประเทศใดซึ่งมีปัญหา
ระหว่างประเทศต้องพิพาทกับประเทศที่มีกำลังน้อย แล้วยกกำลังกองทัพเรือใหญ่โตมาขู่ขวัญภายในอาณาเขตเช่นนี้
ก็เหมือนกับว่าตัดสิทธิประเทศนั้นเสียในอันจะป้องกันตัวเอง ม.เดอแวลล์ตอบว่า
ม.โกรสกูแรงถูกฆ่าตาย และได้มีการฆ่าฟันทหารญวนด้วย กับเรื่องการปล่อยตัวร้อยเอกโทเรอซ์
ดังนั้นโดยเกียรติยศของฝรั่งเศส
จะไม่ยอมให้ต่างประเทศเข้ามาแทรกแซง และจะต้องได้รับข้อเรียกร้องอันชอบธรรมนี้
ซึ่งถ้าไม่ได้รับแล้วก็จะต้องบังคับเอา "
การดำเนินการของฝรั่งเศสขั้นต่อไป
เมื่อฝรั่งเศสได้ทราบว่าอังกฤษได้จัดส่งเรือรบเข้ามาเพิ่มเติมในน่านน้ำไทยอีก
และรู้สึกว่ามีทีท่าในทางส่งเสริมให้กำลังใจ ฝ่ายไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินการให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น
ดังนั้นในวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้โทรเลขมายัง ม.ปาวี
ราชฑูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพ ฯ ให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยมีความว่า "รัฐบาลอังกฤษมีดำริส่งเรือรบหลายลำเข้ามายังกรุงเทพ
ฯ เพื่อป้องกันรักษาชนชาติอังกฤษ
ฝ่ายเราเห็นสมควรจะต้องเพิ่มกำลังทางเรือของเราที่กรุงเทพ
ฯ ให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยเป็นการล่วงหน้าว่า จะมีเรือรบฝรั่งเศสไปรวมกำลังกับเรือลูแตง
โดยใช้ให้เห็นชัดว่าการดำเนินการครั้งนี้อย่างเดียวกับประเทศอังกฤษและประเทศอื่น
ๆ ได้กระทำก่อนแล้ว ให้เป็นที่เข้าใจว่า จะไม่ทำการรุกรบอย่างใด ๆ โดยไม่แจ้งให้ทราบเสียก่อน
เว้นไว้แต่ในกรณีที่เรือของฝรั่งเศสถูกโจมตี และถูกบังคับ จึงจะยิงโต้ตอบกับฝ่ายข้าศึกได้
ม.ปาวีได้มีหนังสือทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ
ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม มีความว่า "
รัฐบาลฝรั่งเศสขอให้แจ้งว่ารัฐบาลอังกฤษได้ดำริจะให้เรือรบหลายลำเข้ามาในกรุงเทพ
ฯ อ้างว่ามีเหตุจำเป็นจะให้มาป้องกันรักษาคนในบังคับอังกฤษ ในสมัยที่เกิดการวุ่นวายกันนี้
เหตุฉะนี้รัฐบาลฝรั่งเศสจึงตั้งใจจะกระทำตามบ้าง เรือรบสองลำในกองทัพเรือฝรั่งเศส
ได้รับคำสั่งให้เข้ามาอยู่ร่วมกับเรือลูแตงที่กรุงเทพ ฯ การที่เรือรบเข้ามาคราวนี้
ก็มีความประสงค์อย่างเดียวกันกับประเทศอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ที่ได้กระทำมาก่อน
เรือรบสองลำที่ออกเดินทางมาแล้วนั้น ชื่อโคแมต
(Comete)
และแองดองสตังค์ (Inconstang )
จะเดินทางมาถึงสันดอนในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม จึงขอได้โปรดมีคำสั่งให้มีนำร่องคอยไว้สำหรับเรือรบสองลำนี้
เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทย ได้มีหนังสือถึง ม.ปาวี ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม
ร.ศ.๑๑๒ มีความว่า "จนถึงเวลานี้รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่ได้รับคำแจ้งความจากรัฐบาลอังกฤษเลยว่า
อังกฤษจะให้เรือรบเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ หรือที่สมุทรปราการ หรือที่แห่งใดแห่งหนึ่งในลำน้ำเจ้าพระยา
นอกจากเรือสวิฟท์ที่จอดอยู่ที่หน้าสถานฑูตอังกฤษ เหมือนกับเรือลูแตงที่จอดอยู่ที่หน้าสถานฑูตฝรั่งเศส
และที่แจ้งว่าความประสงค์ที่จะให้เรือรบเข้ามานี้ ก็เหมือนกันกับความประสงค์ของประเทศอังกฤษ
และประเทศอื่น ๆ จึงเห็นว่า ถ้าประเทศอื่นมิได้ให้เรือรบเข้ามาเกินกว่าลำหนึ่งตราบใดแล้ว
ประเทศฝรั่งเศสก็จะไม่ขืนให้เรือรบเข้ามาอีก นอกจากเรือลูแตง อนึ่งเรือรบลำแรกที่ได้เข้ามายังกรุงเทพ
ฯ ในบรรดาเรือที่จอดอยู่ที่นี้แล้วคือเรือลูแตง
เมื่อเป็นเช่นนี้จะพูดว่าประเทศอื่นได้คิดจัดการเช่นว่านี้นำขึ้นก่อนนั้นหาถูกไม่
เรือลูแตงได้เข้ามาเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ และกำหนดว่าจะกลับออกไป
เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ ครั้นถึงกำหนดจะกลับออกไปแล้วก็หาไปไม่ กลับได้รับคำสั่งให้รออยู่ไปก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งมาอีกภายหลัง
จึงเห็นว่าถ้าเรือลูแตงกลับไปจากกรุงเทพ ฯ เรือรบลำอื่น ๆ ก็จะคงไม่อยู่ที่นี่ต่อไป
และความยุ่งยากก็คงจะสงบเรียบร้อยเป็นปกติดังเดิม
ตามที่แจ้งความมานั้น ตามเหตุที่กล่าวข้างต้น ท่านคงจะมีโทรเลขบอกไปยัง แอดมิราลแม่ทัพเรือ
ชี้ให้เห็นว่าเหตุที่จะให้เรือรบเข้ามานั้นไม่มีเสียแล้ว
ขอคัดค้านการแปลความในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีอันเป็นที่ทำให้เข้าใจว่า
ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอำนาจเด็ดขาดที่จะให้เรือรบเข้ามาในลำน้ำของไทย และถึงพระมหานครแห่งพระราชอาณาจักรนี้หลาย
ๆ ลำ ตามอำเภอใจของประเทศนั้น ๆ มูลนิติของหนังสือสัญญา ฯ หาได้ตัดอำนาจโดยชอบธรรม
ซึ่งประเทศไทยควรมีได้เหมือนประเทศอื่น ๆ สำหรับการป้องกันตัว และรัฐบาลฝรั่งเศสควรแก้ไขได้โดยง่ายว่า
ตามสรรพเหตุการณ์อันมีอยู่บัดนี้
ประเทศไทยจะยอมตามการแปลความหมายตามสัญญาดังกล่าวมาเช่นนี้ไม่ได้เลย
เมื่อยอมเช่นนั้นแล้วก็เหมือนจะสละอำนาจที่เป็นประเทศเอกราชเสียเหมือนกัน
ม.ปาวี ได้มีหนังสือทูลเสนาบดีการต่างประเทศของไทย ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๒
มีความว่า "ได้แจ้งข้อความไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส และแอตมราลแม่ทัพเรือแล้วว่ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
คัดค้านไม่ยอมให้เรือรบเข้ามาในลำแม่น้ำเจ้าพระยา และได้แจ้งไปด้วยว่า ตัว
ม.ปาวี กับเสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยขัดขืน ยังไม่ยอมให้เรืออแองดองสตังค์เข้ามาก่อน
ให้จอดอยู่ที่สมุทรปราการ ตามนัยแห่งหนังสือสัญญา ฯ รอคอยจนกว่าจะได้รับตำตอบมา
และเพื่อมิให้มีความเข้าใจผิดกันได้ จึงขอโปรดให้เข้าเฝ้าในเวลาพรุ่งนี้ตามที่จะทรงกำหนด"
เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทย มีหนังสือลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ถึง ม.ปาวี มีความว่า
"ยินดีจะพบ ม.ปาวีในวันพรุ่งนี้เวลาย่ำค่ำ และขอกล่าวโดยไม่รั้งรอว่า
เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้
คำคัดค้านที่ไม่ยอมให้เรือแองดองสตังค์ ล่วงสันดอนเข้ามานั้น ย่อมเป็นข้อคัดค้านตลอดทั่วไปไม่ยอมให้เข้ามาจอดปากแม่น้ำ
และแล่นเลยเข้ามากรุงเทพ ฯ แท้จริงไม่มีเรือรบอังกฤษลำใดนอกจากเรือสวิฟท์มาอยู่หรือมุ่งหมายว่าจะเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยาอีกเลย
มูลเหตุที่ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศส ส่งเรือแองดองสตังค์ และเรือโกเมตเข้ามานั้น
ย่อมเสียไป หาหลักมิได้อยู่เอง การแปลความหมายอันสมควรแก่หนังสือสัญญานี้
ต้องคำนึงถึงอำนาจอันชอบธรรมของประเทศไทย ในการรักษาความปลอดภัย และรักษาความเป็นเอกราชของตนเอง
ซึ่งเกี่ยวด้วยน่านน้ำส่วนใดส่วนหนึ่ง ที่อยู่ในราชอาณาจักรของไทย"
เสนาบดีการต่างประเทศของไทย มีหนังสือ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ถึง ม.ปาวี มีความว่า
"จากการสนทนากันวันนี้ ถึงแม้ว่าทาง ม.ปาวี คงจะยืนยันที่จะให้เรือแองดองสตังค์
และเรือโดเมต เข้ามาจอดอยู่เพียงปากน้ำก็ดี ถือว่าเป็นหน้าที่จะต้องคัดค้านไม่ยอมเลยเป็นอันขาด
ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือฉบับก่อนที่ไม่ยอมให้เรือรบเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยา
รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่สามารถยอมให้ประเทศใด
ๆ นำเรือรบเข้ามาจอดอยู่ในลำน้ำนี้มากกว่าหนึ่งลำขึ้นไป จึงได้มีคำสั่งต่อกรมทหารบก
กรมทหารเรือ ให้จัดการตามนี้โดยกวดขัน อนึ่ง
เวลาเช้าพรุ่งนี้กรมทหารเรือ จะให้เรือกลไฟลำหนึ่งมาที่สถานฑูตฝรั่งเศส สำหรับท่านใช้มาที่เรือแองคองสตังค์
และเพื่อท่านจะได้ส่งข่าวไปตามที่ท่านจะดำริเห็นควร "
เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของไทยมีโทรเลขลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ถึงพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
อัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส มีความว่า
"ได้รับโทรเลขฉบับที่ ๓๕ แล้ว ราชฑูตฝรั่งเศสได้มาหาเย็นวานนี้ และมีหนังสือมาถึงหลายฉบับ
มีความว่า ประเทศอังกฤษได้ให้เรือรบเข้ามาป้องกันคนในบังคับอังกฤษ เหตุนี้ประเทศฝรั่งเศสก็จะทำตามบ้าง
จะให้เรือรบเข้ามา อีกสองลำในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ราชฑูตฝรั่งเศส มีหนังสือขอให้มีคนน้ำร่อง
เรือรบสองลำนี้ และขออนุญาตเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี
ฝ่ายเราอนุญาตไม่ได้
ด้วยเรือรบอังกฤษจอดอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยาเพียงลำเดียว
และต้องบอกกล่าวไม่ยอมแปลความในหนังสือสัญญษทางพระราชไมตรี
ว่าเป็นการยอมให้เรือรบเข้ามาในกรุงได้
ทำให้เสียความเป็นเอกราชของไทย ฝ่ายเรามีอำนาจอันชอบธรรม ที่จะไม่ยอมให้เรือรบเข้ามาในลำน้ำ
อันอยู่ในพระราชอาณาจักรของเรา เพื่อประสงค์จะแสดงความขู่เข็ญ ให้อัคราชฑูตไทยนำความไปแจ้งแก่เสนาบดีฝรั่งเศส
ผู้ว่าการต่างประเทศ และพูดจากว่ากล่าวให้ได้การดีที่สุด แล้วโทรเลขตรงมาให้ทราบ"
โทรเลขของอัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ถึงเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศของไทย
มีความว่า "ได้แจ้งต่อเสนาบดีฝรั่งเศสผู้ว่าการต่างประเทศแล้ว เสนาบดี
ฯ บอกว่าฝรั่งเศสไม่ได้มุ่งหมายจะให้เรือรบเข้าไปในกรุงเทพ ฯ เพื่อขู่ไทยเลย
แต่มีความประสงค์อย่างเดียวกันกับรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น
และจะมีโทรเลขมาถอนคำสั่งเดิมเรื่องเรือรบนี้เสีย กับขอแจ้งให้พึงรู้แน่ว่า ฝรั่งเศสมิได้มีความมุ่งหมายจะให้ส่งทหารเข้ามาต่อตีรบพุ่งประเทศไทยเลย
รัฐบาลฝรั่งเศสมีความปรารถนาจะส่งผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามากรุงเทพ ฯ โดยเร็วเพื่อจะได้จัดการให้ตกลงกันฉันมิตร
สัญญาทางพระราชไมตรี
พ.ศ.๒๓๙๙ ข้อ ๑๕
หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีการค้าขายและการเดินเรือ ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
ลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๙๙ ในข้อ ๑๕ มีข้อความดังนี้
"เรือรบฝรั่งเศสจะเข้ามาจอดอยู่ได้เพียงหน้าด่านเมืองสมุทรปราการ ถ้าจะขึ้นมาถึงกรุงเทพ
ฯ ให้บอกท่านเสนาบดีฝ่ายไทยให้รู้ก่อน ท่านเสนาบดีฝ่ายไทย ยอมให้ขึ้นมาจอดอยู่ที่ไหนก็ขึ้นมาจอดได้"
ม.เลอ มีร์
เดอวิเลรส์ ( M.Le Myre de Vilers) เข้ามาเจรจา
ม.เลอ มีร์ เดอ วิเลรล์ เคยเป็นผู้ว่าการโคชินไชนาถึงสองคราว
คราวแรกตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๒๒-๒๔๒๓ และคราวหลังเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔ - ๒๔๒๕ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศส
จึงมอบหน้าที่ให้เป็นอัครราชฑูต ผู้มีอำนาจเต็มเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทย
ม.เลอ มีร์ เดอ วิเลรส์ออกเดินทางจากเมืองมาร์เซยส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่
๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ พร้อมกับกองทหารต่างด้าวที่ส่งจากเมืองโบน และตูลองไปเพิ่มกำลังที่ไซ่ง่อน
แต่ไทยกับฝรั่งเศสได้เกิดรบพุ่งกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม
ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่มีลักษณะเป็นอย่างอื่นผิดไปจากเดิม รัฐบาลฝรั่งเศสจึงถือโอกาสมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ทำสัญญาสงบศึก
คำสั่งที่ ม.เดอ แวลส์มอบหมายให้แก่ ม.
มีร์ เดอ วิเลรส์ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม
มีข้อความดังนี้
"เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และอาการกิริยาที่ประเทศไทยได้แสดงต่อเรานั้น
รัฐบาลฝรั่งเศสคิดว่า จะถือโอกาสในการที่ท่านจะเดินทางไปไซ่ง่อน มอบให้ท่านเอาธุระรับหน้าที่เจรจาปัญหาที่ยังคาราคาซังกันอยู่ในเสร็จสิ้นไปถ้าสามารถทำได้
เพราะได้ปรึกษาหารือกับท่านแล้ว เหตุนี้จึงส่งท่านไปกรุงเทพ ฯ เพื่อการนี้เป็นราชการพิเศษ
ในจดหมายฉบับนี้ได้สอดหนังสือสำคัญให้อำนาจแก่ท่านอย่างกว้างขวาง เพื่อแสดงต่อพระเจ้าแผ่นดินไทย
จะได้สั่งเรือรบลำหนึ่งมาคอยรับท่านที่สิงคโปร์ และนำท่านไปส่งยังกรุงเทพ
ฯ ทันที
การเรียกร้องของเราต่อประเทศไทยในครั้งนี้มีอยู่สองข้อ คือ
๑) เราได้ให้ประเทศไทยถอนกองทหารที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
เพราะเป็นการเหยียบย่ำสิทธิของญวนและเขมร
๒) เราได้เรียกค่าปรับไหมในการที่ไทยสบประมาทธงฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ
ในการขับไล่บุคคลที่ร่วมชาติของเราสองคน ให้ได้รับทุกข์ที่ท่าอุเทน เมื่อปีกลาย
ในการข่มขี่ชาวฝรั่งเศสชื่อ บาโรตอง ในการจับกุมนายร้อยเอกโทเรอรซ์โดยไม่รู้ตัว
และในการที่ข้าหลวงไทยประจำคำม่วน ทำการฆาตกรรมผู้ตรวจการโกรสกูแรง
ในปัญหาเหล่านี้ ผู้แทนของเราที่กรุงเทพ ฯ ได้เรียกร้องไปแล้วแต่ไร้ผล เราได้รับคำตอบชนิดชักความยาวสาวความยืด
จากรัฐบาลไทย
ฉะนั้น ที่จะให้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย มีหัวข้อดังนี้
๑) ให้รัฐบาลไทยรับรองข้อเรียกร้องดินแดนของเราบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
๒) ให้ใช้ค่าเสียหายตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น กับให้เสียค่าปรับไหมด้วย
ในกรณีที่รัฐบาลไทยไม่ยอมให้ความยุติธรรมเท่าที่เรียกร้องไปตามหัวข้อต่าง
ๆ นี้แล้ว ถ้าถึงเวลาที่จะต้องกำหนดให้ ให้นำธงฝรั่งเศสออกจากกรุงเทพ ฯ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ในสถานกงสุลเยเนราล
และบรรดาเรือรบฝรั่งเศสที่จอดอยู่ ณ ที่นั้น แล้วให้แจ้งแก่ผู้บัญชาการกองเรือให้ประกาศปิดอ่าวอย่าได้ช้า
รัฐบาลฝรั่งเศสหวังอยู่ว่า ควรจะไม่จำเป็นถึงกับต้องใช้อำนาจบังคับข่มขี่
และเชื่อมั่นในไหวพริบ และความหนักแน่น ในอันที่จะโน้มรัฐบาลไทย ให้ยอมทำตามความพอใจของเราที่จะได้เรียกร้องโดยชอบธรรม
เราไม่ได้ตั้งปรารถนาที่จะกระทบกระทั่งย่ำยีต่ออิสระภาพของไทย ถ้าเห็นว่าควรก็ให้อธิบายความข้อนี้ให้ราชสำนักกรุงเทพ
ฯ ทราบโดยชัดแจ้ง และให้พยายามขจัดความหวาดเกรง อันจะพึงมีแก่รัฐบาลไทย อีกประการหนึ่งให้รู้ระลึกถึงประโยชน์อันเราจะได้รับในการเจรจากันที่กรุงเทพ
ฯ จะต้องแสดงให้ชัดออกไปว่า
เราไม่ยอมเจรจากับบุคคลทั้งหลายอื่น
นอกจากพระเจ้าแผ่นดินและคณะเสนาบดี ให้พยายามเสือกไสพวกที่ปรึกษาชาวต่างประเทศอย่าให้มาเกี่ยวข้องในวงการด้วย
ให้แจ้งเหตุการณ์อันแน่ชัดในการเจรจาที่ดำเนินการกันครั้งนี้โดยทางโทรเลข
ฝรั่งเศสถอนคำสั่ง
ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยได้มีโทรเลขไปยังอัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส
แจ้งเรื่องเรีอรบฝรั่งเศส ที่จะเข้ามาแสดงความขู่เข็ญไทย ให้นำความไปร้องเรียนต่อ
ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศส
ม.เดอ แวลล์ตอบว่า ฝรั่งเศสไม่ได้มุ่งหมายจะให้เรือรบเข้าไปในกรุงเทพ ฯ
เพื่อขู่ไทย ฝรั่งเศสมีความประสงค์อย่างเดียวกับรัฐบาลอังกฤษ แล้ว ม.เดอ แวลล์
รับรองว่าจะถอนคำสั่งเดิมเสีย
ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ม.เดอแวลล์ ได้มีโทรเลขไปยัง ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพ
ฯ มีความว่า
"ราชฑูตไทยได้แจ้งความว่าให้รัฐบาลฝรั่งเศสทราบด้วยว่า ได้วางลูกตอปิโดไว้ในร่องน้ำ
จึงขอให้ทูลกรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ
ว่าเราไม่ยอมให้ประเทศไทยคัดค้านอย่างดี
และเราสงวนไว้ซึ่งสิทธิอันชอบธรรมของเราที่มีอยู่ตามข้อ ๑๕ แห่งสัญญาทางพระราชไมตรี
ค.ศ.๑๘๕๖ ให้บอกแก่กองเรือฝรั่งเศสทราบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงจะยับยั้งไม่ให้เรือลำใด
ข้ามสันดอนเข้าไปก่อนเวลานี้ ถ้าแม้ว่าประเทศหนึ่ง ๆ มีเรือรบเกินหนึ่งลำในลำน้ำแล้ว
เราก็จะไม่เปลี่ยนแผนความคิด
ให้บอกไปยังนายพลฮูมานน์ว่า ฝ่ายเรายังสงวนสิทธิที่เรามีอยู่ตามข้อ ๑๕ แห่งสัญญาทางพระราชไมตรี
ค.ศ.๑๘๕๖ ที่ทำไว้กับรัฐบาลไทยอย่างเด็ดขาด"
(โทรเลขฉบับนี้มาถึง ม.อา.ปาวี เวลาเช้าของวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ )
การเตรียมการของไทย
เมื่อฝรั่งเศสได้เริ่มดำเนินการทางทหารบีบบังคับไทยในปลายเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕
โดยยกกองทหารบุกรุกเข้ามา และขับไล่กองทหารของไทยให้ถอยออกไปจากดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
และในขณะเดียวกันก็ได้ส่งเรือลูแตงเข้ามาจอดอยู่ในกรุงเทพ ฯ อีกด้วย จึงได้โปรดเกล้า
ฯ แต่ตั้งกรรมการปรึกษาการป้องกันพระราชอาณาเขต รวม ๘ ท่าน ด้วยกัน คือ
๑) เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
๒) กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ
๓) เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงคลัง
๔) กรมหมื่นพิทยลาภ พฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
๕) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
๖) เจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม ศรีไชยยันต์) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
๗) นายพลเรือโท พระองค์เจ้าจรัสวงศ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
๘) พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม - แสงชูโต) เสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชการ
ทางด้านกองทัพบก ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นแม่ทัพด้านลาวกาว
บัญชาการทัพอยู่ที่เมืองอุบล กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพด้านลาวพวน
บัญชาการทัพอยู่ที่หนองคาย กรมยุทธนาธิการได้จัดส่งกำลังทหารบก พร้อมด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ไปเพิ่มเติมให้แก่กองทัพแต่ละด้าน
และได้ระดมเกณฑ์คนทางหัวเมืองชายแดนเข้าประจำกองทัพ ส่งหนุนเนื่องไปยังตำบลต่าง
ๆ ที่คาดหมายว่าฝรั่งเศสจะรุกล้ำเข้ามา
ทางด้านทหารเรือได้มีการปรับปรุงป้อมแผลงไฟฟ้า ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ เพื่อเตรียมรับการบุกรุกของฝรั่งเศส
ได้มีการติดต่อสั่งซื้อยุทธภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสิงคโปร์มาใช้ในราชการ
เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖
วันที่ ๑๐ เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จตรวจป้อมพระจุลจอมเกล้า
และทรงเปิดการเดินรถไฟสายปากน้ำในวันรุ่งขึ้น
วันที่ ๒๕ เมษายน โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งพระยาชลยุทธโยธินทร์ เป็นผู้จัดการป้องกันพระราชอาณาเขตทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก
ซึ่งในเวลานั้น ขึ้นอยู่กับกระทรวงการต่างประเทศ (เดิมเป็นกรมท่า)
วันที่ ๒๖ เมษายน พระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้มีหนังสือกราบทูลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ
เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศให้ทราบถึงแผนการจัดกำลังทหารเรือ ตามหัวเมืองฝ่ายตะวันออก
มีความว่า
๑) ที่เกาะกง
จัดทหารมะรีน จากกรุงเทพ ฯ ๑๔ คน ทหารจากเมืองตราด ๒๔ คน ทหารจากเมืองแกลง
๑๒ คน รวม ๕๐ คน แจกปืนมาตินี ๑๐๐ กระบอก พร้อมกระสุน
๒) ที่แหลมงอบ
จัดทหารไว้ ๒๐๐ คน พร้อมที่จะส่งไปช่วยที่เกาะกง ถนนระหว่างแหลมงอบกับเมืองตราดมีสภาพไม่ดี
ให้บ้านเมืองเร่งซ่อมให้เสร็จภายใน ๑ เดือน พอให้เกวียนเดินได้ จ่ายปืนเฮนรี
มาตินี ๒๘๘ พร้อมกระสุน
๓) ที่แหลมสิงห์
ปากน้ำจันทบุรี จัดคนจากเมืองจันทบุรี เมืองแกลง และเมืองขลุง (อายุ ๒๓ - ๔๑ ปี) มารวมไว้ที่แหลมสิงห์ เหลือคนไว้ที่เมืองจันทบุรี เมืองแกลง และเมืองขลุง พอรักษาการณ์ มีกำลังทหารที่แหลมสิงห์ ๖๐๐ คน ให้ฝึกหัดทั้งเช้า และเย็น กับให้ทำงานโยธาตกแต่งป้อมในเวลากลางวัน
ย้ายปืนอาร์มสตรอง ๔๐ ปอนด์ จำนวน ๓ กระบอก จากป้อมหมู่บ้านแหลมสิงห์ไปตั้งไว้ทางเขาแหลมสิงห์
(ด้านกระโจมไฟ) รีบตกแต่งป้อมให้เสร็จโดยจ้างคนจีนก่ออิฐโบกปูน ในความควบคุมของมิสเตอร์ตรุศ
และนายร้อยโท คอลส์ ซึ่งบังคับบัญชาทหารที่แหลมสิงห์ ที่เมืองจันทบุรี และแหลมสิงห์จ่ายปืนมันลิเดอร์
๑,๐๐๐ กระบอก ที่เมืองแกลง และเมืองระยอง จ่ายปืนเฮนรี มาตินี ๑๐ กระบอก ให้แห่งละ
๑๐๐ กระบอก พร้อมกระสุน
พวกกองรักษาด่านภายในจากเมืองระยองถึงเกาะกง จัดคนท้องถิ่นดูแลรักษาใช้คนประมาณ
๑,๑๐๐ คน จ่ายปืนเอนฟิลด์ ชนิดบรรจุปากกระบอก ๖๐๐ กระบอก มีดินปืน และกระสุนไว้ตามสมควร
และจ่ายดาบให้ด้วย
เดือนพฤษภาคม มีการปรึกษาถึงเรื่องการใช้แพไฟทำลายข้าศึก เตรียมถ่านหินไว้ให้เพียงพอแก่ราชการในยามฉุกเฉิน
จัดเรือคอยเหตุไปจอดไว้นอกสันดอนโดยมีกัปตันวิล ผู้เป็นเจ้าท่าเป็นผู้ควบคุม
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปปากน้ำเจ้าพระยาโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี
เสด็จไปตรงป้อมพระจุลจอมเกล้า มีการทดลองยิงปืนใหญ่ให้ทอดพระเนตร
วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จปากน้ำเจ้าพระยา เสด็จตรวจป้อมที่ปากน้ำจนถึง
วันที่ ๑ มิถุนายน จึงเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ
วันที่ ๒ มิถุนายน พระยาชลยุทธโยธินทร์ กราบบังคมทูลเรื่องการติดต่อกับนาย
นาวาเอก แมค เคลาด์ ผู้บังคับการเรือพาลลาสว่าจะให้เรือสวิฟท์รออกไปฝึกยิงปืนในวันที่
๓ มิถุนายน ในระยะนี้เจ้าพระยาอภัยราชา คอยติดต่อกับราชฑูตอังกฤษ และพระยาชลยุทธโยธินทร์
ติดต่อกับผู้บังคับการเรือรบอังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารกันอยู่เสมอ
วันที่ ๘ มิถุนายน มีพระราชหัตถเลขาถึง พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ มีความว่า
ตกลงปิดปากน้ำโดยเอาเรือไปจม และให้พระยาชลยุทธโยธินทร์ กำหนดตำบลที่จะเอาเรือไปจมลงในแผนที่
แล้วเอามาถวายให้ทอดพระเนตร ให้จัดเตรียมเรือไว้สำหรับ จะจมได้ทันท่วงทีเมื่อถึงคราวจำเป็น
วันที่ ๒๒ มิถุนายน พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า การจมเรือลำหนึ่งใช้เวลา
๑ วัน โดยทำในเวลาน้ำหยุด เอาเรือที่จะจมไปทอดสมอ แล้วตรึงด้วยโซ่สมอ ๔ สาย
แล้วเจาะเรือให้จมในการนี้ต้องใช้เรือ ๑๐ ลำ เวลานี้มีอยู่เพียง ๓ ลำ ต้องจัดซื้อมาอีก
เรือจำพวกเรือโป๊ะจ้ายคงจะจมได้วันละ ๒ ลำ ทำเร็วไม่ได้
ต่อมามีพระราชกระแสว่า กองทัพเรือฝรั่งเศสมาถึงไซ่ง่อนแล้ว เรือลิออง
มาที่เกาะอยู่เสม็ดลำหนึ่ง การปิดช่องทางเรือนั้นให้เหลือช่องไว้ชั่วเรือเดินได้ลำหนึ่ง
และควรจะให้ปิดได้ทันทีเมื่อต้องการ เห็นว่าเป็นการดีกว่าที่จะยิงปืนห้ามไม่ให้เข้ามาโดยเรือรบของเขาไม่ได้ทำการยิงก่อน
จะได้ไม่เป็นการก่อสงครามใหญ่ขึ้น ช่องทางเดินเดินเรือที่เปิดไว้นั้น
ถ้ามีเรือรบเข้ามาห้ามไม่ฟังแล้ว ก็จะปิดช่องนั้นเสียโดยไม่ต้องรอคำสั่งอีก
การจมเรือที่ปากน้ำเริ่มทำประมาณวันที่ ๒๖ มิถุนายน ในการนี้ฟังว่าราชฑูตอังกฤษประจำกรุงเทพ
ฯ และผู้บังคับการเรือสวิฟท์เห็นพ้องด้วย
วันที่ ๒๘ มิถุนายน กรมยุทธนาธิการ กราบบังคมทูลว่า นายพันตรี หลวงศัลวิธานนิเทศ
(Major schau) สัญชาติเดนมาร์ค ผู้บังคับการโรงเรียนนายสิบ ได้วางแผนจัดกำลังทหารบก
เพื่อป้องกันพระนครโดยกำหนดไว้ว่า
๑) กำลังทหาร ๖๐๐ คน อยู่ที่สมุทรปราการ ที่ป้อมเสือซ่อนเล็บ
มีปืนใหญ่ ๖ กระบอก
๒) กำลังทหาร ๒๐๐ คน อยู่ที่คลองสำโรง มีปืนใหญ่ ๑๒ กระบอก
๓) เตรียมปืนใหญ่ ๑๖ กระบอก ตั้งที่บางนา บางจาก และคลองพระโขนง
๔) รายปืนใหญ่ไว้ตามริมแม่น้ำ ๙ กระบอก สำหรับยิงเรือ และเป็นกำลังหนุนกำลังทหารทางบางนา
และบางจาก
วันที่ ๓๐ มิถุนายน พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ มีหนังสือกราบบังคมทูล มีความว่า
ในการจมเรือที่ปากน้ำนั้นได้จมเรือบางกอก และเรือแผงม้า กระแสน้ำแรงจึงทำให้เรือเหไปบ้าง
พระยาชลยุทธโยธินทร์ จึงเอาโซ่คั่นต่อกันทุกลำแล้วลงหลักในระหว่างที่เป็นช่อง
ร้อยโซ่ผนึกเป็นตับเข้ากับหลักไม่ให้มีช่อง และอาศัยยึดเหนี่ยวกันทุกลำ
วันที่ ๔ กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับที่ปากน้ำเจ้าพระยาโดยรถไฟพิเศษ
ได้ทอดพระเนตรป้อมเสือซ่อนเล็บ แล้วประทับในเรือองครักษ์ เสด็จไปทอดพระเนตรป้อมพระจุลจอมเกล้า
ซึ่งมีทหารประจำอยู่ ๖๐๐ คน ปืนกรุป ได้วางที่แล้ว ได้เรียกทหารขึ้นประจำป้อมทดลองดู
ทหารทำได้พรักพร้อม แล้วเสด็จไปตรวจเรือที่จมตั้งแต่ฟากตะวันออกจนถึงเรือแดง
การจมเรือทำไปมากแล้ว แต่ยังไม่พอขาดเรือลำเลียงอีก ๔ ลำ เรือบางกอกและเรือแผงม้าที่จมนั้น
กระแสน้ำพัดเชี่ยวพาเรือเคลื่อนที่ไปห่างจากจุดที่หมายไว้ แล้วมาตรวจทางฟากตะวันตกตรงมุมป้อม
แนวนี้ปักไม้หลักแพต้นหนึ่งเป็นขาทรายค้ำด้วยอีกสองต้น ไม้เหล่านี้ปักลงดิน
๘ ศอก ขัดด้วยโซ่ดูเป็นการแน่นหนาดี
การตรวจแนวป้องกันคราวนี้ ทรงมีพระราชดำรัสว่า อย่าว่าแต่จะจมเรือหรือจะทำเขื่อนเพียงเท่านี้เลย
อย่างไร ๆ เรือของเขาก็คงที่ทำลงนี้พอเป็นสังเขปสำหรับที่จะห้าม ถ้าขืนดันเข้ามาก็ต้องยิงกันเท่านั้น
เมื่อได้ตรวจแนวไม้หลักแล้ว ก็เสด็จมาจอดที่ริมช่องทางเดินเรือ ลองระเบิดตอร์ปิโดขนาดเล็ก
ซึ่งทำที่กรุงเทพ ฯ หนึ่งลูก ปรากฏว่าเป็นผลดีมีอำนาจมาก จากนั้นไปตรวจเรือบรรจุตอร์ปิโด
ที่บรรจุเสร็จแล้ว ๗ ลูก และยังจะบรรจุต่อไป ตอร์ปิโดทำในนี้มีสองขนาด เล็กอย่างหนึ่งโตอย่างหนึ่ง
ตอร์ปิโดจากนอกรูปอย่างกระทะ ก็มีอยู่ในเรือนี้ด้วย จากนั้นได้เสด็จขึ้นเรือฟิลลา
ซึ่งจอดอยู่ที่สะพานหน้าป้อมพระจุลจอมเกล้า เสวยกลางวันแล้วออกเรือฟิลลามาขึ้นที่สะพานรถไฟ
เสด็จขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ ฯ
วันที่ ๕ กรกฎาคม นายนาวาเอก แมคเคลาด์ ผู้บังคับการเรือพาลลาส ได้ติดต่อกับพระยาชลยุทธโยธินทร์
ขอเรือกลไฟเล็กลำหนึ่ง เพื่อเดินทางกลับไปเรือพาลลาส ซึ่งจอดอยู่นอกสันดอน
เรือพาลลาสจะย้ายไปจอดที่เกาะสีชัง และขอพักบนเกาะสีชังเพื่อให้ทหารที่เจ็บป่วยได้ขึ้นพักบนเขา
ขอส่งทหารจำพวกสัญญาณไปประจำที่เสาธงเกาะสีชัง กับขอน้ำจืดสำหรับหม้อน้ำ หากมีข่าวการเคลื่อนไหวของฝรั่งเศสก็ขอทราบด้วย
และจะได้มาจอดอยู่ที่นอกสันดอนอีก เมื่อพระยาชลยุทธโยธินทร์นำความขึ้นกราบบังคมทูล
ก็ทรงอนุญาตตามที่ผู้บังคับการเรือพาลลาสร้องขอมา และกำหนดว่าจะให้เรือจำเริญ
ซึ่งจะกลับจากเกาะกงในอีก ๒ - ๓ วัน ลากเรือโป๊ะบรรทุกน้ำจากกรุงเทพ ฯ ไปส่งให้
วันที่ ๗ กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับตรวจป้อมแผลงไฟฟ้า
ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ปรากฏว่าปืนกรุป สำหรับจะยิงสลุตรับเจ้าชายออสเตรียจัดไว้พร้อมแล้ว
ทรงเห็นว่าป้อมนี้มีทางปืนดี และเป็นที่แคบ สามารถใช้ตอร์ปิโดได้ถนัด มีรับสั่งให้จัดการวางตอร์ปิโดไว้ด้วย
วันที่ ๙ กรกฎาคม พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า ควรจัดเตรียมป้อมวิชัยประสิทธิ์เตรียมไว้รับข้าศึกอีกป้อมหนึ่ง ทรงมีพระราชดำริว่าจะหมดเปลืองการใช้จ่ายมากไป ให้จัดการแต่เพียงถากถางบริเวณป้อม
และกะที่จะตั้งปืนเท่านั้น ส่วนเรื่องแพไฟนั้นมีรับสั่งว่า ยังมิได้กการอย่างหนึ่งอย่างใดว่าใครจะเป็นผู้รับหน้าที่
วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลายพระหัตถ์ถึงพระยาชลยุทธโยธินทร์
มีความว่า "กำหนดเรือรบฝรั่งเศสจะเข้าในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม เวลาเย็น และฝ่ายเราไม่ยอมนั้น
ให้พระยาชลยุทธโยธินทร์ คิดวางตอร์ปิโดเสียให้เต็มช่อง ถ้าเข้ามาเมื่อไร ก็เป็นการจำเป็นที่จะต้องระเบิด
อย่าให้ต้องรอคำสั่งอีกเลย และถ้าเขายิงก่อนแล้วเราต้องยิง"
ในวันเดียวกัน กรมยุทธนาธิการ กราบบังคมทูลว่า ให้จัดทหารสำหรับรักษาพระนคร
แบ่งออกเป็น ๔ กอง คือภายในกำแพงพระนคร ๑ กอง อยู่ที่ตำบลปทุมวัน ๑ กอง ที่ตำบลบางรัก
๑ กอง และที่ฝั่งธนบุรี ๑ กอง
ทหารสำหรับรักษาพระนครนี้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี ขอรับอาสาเรียกระดมทหารเก่าที่เคยไปราชการทัพคราวปราบฮ่อด้วยกัน
สมทบช่วยราชการร่วมกับทหารประจำการในกรุงเทพ ฯ โดยที่ตัวพระยาสุรศักดิ์มนตรีเอง
เป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่อาสาสมัครในคราวนี้ด้วย มีจำนวนทั้งสิ้นกว่าหนึ่งพันคน
วันที่ ๑๑ กรกฎาคม มีพระบรมราชโองการ ถึงพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ผู้บัญชาการทหารเรือเกี่ยวกับการป้องกันมิให้เรือรบฝรั่งเศสแล่นเข้ามากรุงเทพฯ เป็นเด็ดขาด
วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ฝ่ายไทยเตรียมการรับเสด็จ อาร์ชดยุคออสเตรีย ซึ่งกำหนดว่าจะมาถึงปากน้ำเจ้าพระยาในวันนี้ จึงได้จัดส่งเรือมกุฏราชกุมาร และเรือนฤเบนทร์บุตรีออกไปรับที่ปากน้ำ เรือมกุฏราชกุมารออกไปจอดคอยอยู่ที่นอกสันดอน ภายหลังเมื่อทราบว่าเจ้าชายออสเตรียยังเสด็จมาไม่ถึง และในตอนเย็นราชฑูตฝรั่งเศสก็ได้แจ้งให้ทราบว่าเรือรบฝรั่งเศสสองลำจะเข้ามาถึงสันดอน
โดยตกลงว่าจะจอดอยู่ที่สันดอนก่อน แต่เพื่อความไม่ประมาท นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้ออกไปที่สันดอนแต่เช้าได้สั่งให้
เรือมกุฏราชกุมารถอยเข้ามาจอดภายในแนวป้องกันที่ปากน้ำ ในวันนี้ฝ่ายไทยได้จมเรือโป๊ะที่แนวป้องกันอีกลำหนึ่ง
และได้วางทุ่นระเบิดเพิ่มเติมอีก รวมแล้วได้วางทุ่นระเบิดได้ทั้งหมดเพียง ๑๖ ลูก
เวลา ๑๗.๐๐ น. เรือมกุฏราชกุมารเข้าประจำที่ภายในแนวป้องกัน โดยมีเรือนฤเบนทร์บุตรี
และเรือทูลกระหม่อมจอดอยู่ถัดไปทางฝั่งเดียวกันตรงแหลมฟ้าผ่า
ทางฝั่งตะวันออกของช่องเดินเรือมีเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์จอดอยู่ กับมีเรือหาญหักศัตรูจอดอยู่ทางฝั่งเดียวกัน
รวมเรือรบฝ่ายไทยที่คอยต้านทานอยู่ในแนวป้องกัน รวม ๕ ลำด้วยกัน นอกแนวป้องกันออกไปมีสนามทุ่นระเบิดบังคับการยิงจากเรือยิงทุ่นระเบิด
ซึ่งจอดอยู่ทางฝั่งตะวันตกใกล้เรือทุ่นไฟ ที่แหลมลำพูราย
มีสถานีโทรเลขสำหรับรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้าไปยังกรุงเทพฯ
พระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้อำนวยการป้องกันอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และได้สั่งการแก่ผู้บังคับการเรือทุกลำว่า
ในกรณีที่เกิดการสู้รบกันขึ้น เมื่อป้อมพระจุลจอมเกล้า ทำการยิงไปเป็นนัดที่สี่แล้ว
เรือฝรั่งเศสยังไม่หยุด ก็ให้เรือเริ่มทำการยิงร่วมกับป้อมได้ทีเดียว
เวลา ๑๗.๐๐ น. หมู่เรือรบฝรั่งเศสมาถึงสันดอน และได้หยุดเรือโดยไม่ทอดสมออยู่ใกล้
ๆ กับเรือนำร่อง และเรืออรรคราชวรเดช ซึ่งมีกัปตันวิล เจ้าท่าไทยสัญชาติเยอรมันประจำอยู่
เรือลาดตระเวณอังกฤษชื่อพาลลาสก็จอดอยู่ในบริเวณนี้ด้วย เมื่อเรือรบฝรั่งเศสมาถึง
มิสเตอร์แจคสัน นำร่องใหญ่สัญชาติอังกฤษ ซึ่งอยู่ที่เรือนำร่องได้ขึ้นไปบนเรือเซย์
กัปตันวิลได้ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์ ห้ามปราบมิให้เรือรบฝรั่งเศสเดินทางเข้าไป
เรือสตรู ซึ่งเป็นเรือกลไฟไทยเข้าเทียบเรือแองคองสตังต์ โดยมีนายเรือโทนายทหารประจำเรือลูแตงเอาถุงไปรษณีย์มาให้ด้วย
ผู้บังคับการเรือพาลลาสได้ส่งนายเรือเอก เอดเวิดส์ นายทหารฝ่ายพลาธิการขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์
เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ราชฑูตฝรั่งเศสให้มีคำสั่งมาให้เรือรบฝรั่งเศสจอดทอดสมออยู่นอกสันดอนก่อน
แต่ผู้บังคับการเรือแองคองสตังต์ไม่ยอมฟังการห้ามปรามใด ๆ ดังนั้นทุกคนที่ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์จึงล่ากลับ ส่วนมิสเตอร์แจคสันนำร่องไทยคงอยู่ในเรือเซย์ มิได้กลับไปยังเรือนำร่อง ม.วิเกล กัปตันเรือเซย์ได้ขึ้นไปบนเรือแองคองสตังต์
ทำหน้าที่นำร่องตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว ต้นเรือเซย์ทำหน้าที่กัปตันเรือเซย์
เวลา ๑๗.๓๐ น. มีฝนตกบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ทำให้อากาศมืดครึ้ม มองอะไรไม่ใครเห็น
เวลา ๑๘.๑๕ น. ฝนหยุดตก ทางป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้แลเห็นเรือรบฝรั่งเศสกำลังแล่นผ่านกระโจมไฟเข้ามา
เสียงแตรสัญญาณดังขึ้น เพื่อสั่งให้ทหารประจำป้อมพระจุลจอมเกล้า "เข้าประจำสถานีรบ"
เรือสตรูออกจากเทียบ เดินทางเข้ากรุงเทพ ฯ
ขณะนั้นน้ำที่สันดอนกำลังจะขึ้น นายนาวาโทโบวี ผู้บังคับการเรือแองคองสตังต์ได้จัดเรือกลไฟเล็กของเรือแองคองสตังต์
ออกไปหยั่งน้ำล่วงหน้าที่บริเวณโป๊ะจับปลา ส่วนกัปตันวิลเมื่อกลับไปถึงเรืออรรคราชวรเดชแล้ว
ก็ได้ชักธงสัญญาณประมวลให้ทางป้อมพระจุลจอมเกล้าทราบเพื่อ "เตรียมพร้อม"
เวลา ๑๘.๐๕ น. หมู่เรือรบฝรั่งเศสออกเดินทางสู่ปากน้ำเจ้าพระยา โดยมีเรือเซยแล่นนำหน้า ติดตามด้วยเรือแองคองสตังต์ และเรือโคเมตเป็นขบวนเรียงตามกันปิดท้ายระยะ ๔๐๐ เมตร มีเรือสินค้าอังกฤษสามลำแล่นออกมาสวนทางกับเรือรบฝรั่งเศส อากาศครึ้มฝน ลมอ่อนพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีระลอกคลื่นตามชายฝั่งเล็กน้อย ดวงอาทิตย์กำลังใกล้จะตก
เวลา ๑๘.๓๐ น. หมู่เรือรบฝรั่งเศสแล่นมาถึงทุ่นดำ ซึ่งเป็นจุดเลี้ยวของร่องน้ำ ป้อมพระจุลจอมเกล้าก็เริ่มยิงด้วยนัดดินเปล่าไม่บรรจุหัวกระสุน จำนวน ๒ นัด เพื่อเป็นสัญญาณเตือนมิให้เรือรบฝรั่งเศสแล่นเข้ามาแต่ไม่ได้ผล เรือรบฝรั่งเศสคงแล่นเรื่อยมาอย่างเดิม จึงได้ยิงโดยบรรจุกระสุนเป็นนัดที่สาม ให้กระสุนตกข้างหน้าเรือเป็นการเตือนอีก แล้วจึงยิงเป็นนัดที่สี่ให้กระสุนตกข้างหน้าเรือเช่นเดียวกัน ในตอนนี้ทางป้อมพระจุลจอมเกล้าสังเกตุเห็นว่า เรือลำหน้าทำท่าจะหยุดและหันกลับออกไป แต่ในไม่ช้าก็เดินมาตามเข็มเดิมอีก พร้อมกับชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นที่ยอดเสาทุกเสา และที่เสาก๊าฟด้วย แล้วได้ทำการยิงมายังป้อม ป้อมจึงยิงเรือรบฝรั่งด้วยปืนทุกกระบอก
การรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา