ล่องแก่งน้ำว้าน่าน

0

น้ำว้า เป็นสายน้ำสายหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดน่าน มีต้นกำเนิดมาจากผืนป่าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา  ในท้องที่อำเภอบ่อเกลือ มีสันปันน้ำที่แบ่งสายน้ำออกมาเป็นลำน้ำว้า และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นต้นกำเนิดลำน่าน สายน้ำที่ก่อเกิดจากความสมบูรณ์ของผืนป่าใหญ่ จึงบังเกิดเรื่องราวที่เราได้นำกิจกรรมท่องเที่ยวเข้าไปเสริม จนกลายเป็นรสนิยมของการเดินทางท่องเที่ยวผจญภัยด้วยการล่องแก่งด้วยเรือยาง

namwa (13)

สายน้ำว้าช่วงตอนกลางที่อยู่เหนือขึ้นมาทางพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ก็มีช่วงระยะทางที่ยาวกว่ากัน จำเป็นต้องใช้เวลา 3 วัน 2 คืน ที่เราต้องเดินทางไปกับตลอดสายน้ำว้าเพียงเส้นทางเดียว และตลอดเส้นทางสายน้ำแห่งนี้เราจะค้นหาคำตอบบางสิ่งอย่างของตัวเราได้เองเป็นอย่างดี รวมไปถึงการค้นหาธรรมชาติของสายน้ำที่สมบูรณ์

 

การล่องแก่งน้ำว้าที่เต็มไปด้วยโขดแก่งน้อยใหญ่จำนวนมาก ที่คาดว่าว่ามีแก่งที่มีระดับความยากตั้งแต่ 3- 5 นั้นประมาณ 100 แก่ง นักเดินทางเองก็ต้องมีความพร้อมและการเตรียมตัวมาพอสมควร และที่สำคัญเราต้องมีทีมเรือยางที่เชี่ยวชาญกับสายน้ำ ในพื้นที่เป็นอย่างดี ยิ่งเป็นผู้ประกอบการในท้องถิ่นหรือนักล่องแก่งระดับมืออาชีพ ซึ่งถือว่าเป็นความพร้อมที่สมบูรณ์ที่สุด

 

เริ่มต้นการล่องแก่งที่ บ้านสบมาง ที่อยู่ในท้องที่อำเภอบ่อเกลือ  บริเวณริมน้ำที่เห็นสายน้ำใสจนมองเห็นก้อนกรวดในพื้นล่างได้ชัดเจน สายน้ำใสๆ ของลำน้ำว้าไหลเรื่อยๆ คดเคี้ยวไปตามโค้งดอยที่สลับซับซ้อน กลางสายน้ำประกอบด้วยโขดแก่งขนาดเล็กๆ ทิ้งช่วงห่างเป็นระยะๆ

namwa (3) namwa (5)

ตามลักษณะภูมิประเทศของเทือกเขาริมน้ำ หากว่าจะเป็นลาดต่ำของปลายเขาก็จะพบแก่งอยู่เสมอ จะมีขนาดเล็กขนาดใหญ่ก็ขึ้นกับสภาพพื้นที่นั้นๆ จนกระทั่ง 3 โมงกว่าๆ เราก็จะมาพบโขดแก่งขนาดเล็กๆ อย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่แนวโตรกผาสูงชันที่โอบขนาบลำน้ำไว้ทั้งสองฝั่ง มีลักษณะคล้ายกับออบหลวง เป็นจุดที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “แก่งเสือเต้น”

 

ระหว่างทางที่ล่องน้ำว้า เราจะพบกับกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาหาปลาอยู่ตลอดทาง  ผ่านห้วยปึ้งแวะดูชาวบ้านที่หาปลามาได้ก็เป็นปลาตัวไม่ใหญ่มากนัก ได้ย่างตากรมควันจนแห้งแล้วสามารถเก็บไว้ได้หลายวัน สายน้ำว้าแห่งนี้จึงถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่ธรรมชาติได้มอบให้กับชาวบ้านเอาไว้เก็บกินได้ตลอดชีวิต

namwa (2) namwa (1)

กิจกรรมของกลุ่มชาวแค้มป์เมื่อถึงที่พักก็รีบจัดการกางเต็นท์และทำภารกิจส่วนตัว ส่วนทีมทำอาหารก็เร่งมือช่วยกันทำอาหารให้ทันก่อนมืด ใครที่อยากเล่นน้ำว้าให้เต็มอิ่มก็เลือกใช้เวลาได้อย่างเต็มที่

 

ในคืนดาวกระจ่างฟ้า สายน้ำไหลรินผ่านไปไม่ขาดสาย คิดว่าคืนนี้ทุกคนคงหลับเป็นตายเพราะเหนื่อยจากการเดินทางจากกรุงเทพฯ และต้องมาล่องแก่งอีกด้วย จนรุ่งเช้าของวันใหม่ท่ามกลางบรรยากาศป่าเขาสูงใหญ่ และสายน้ำว้าที่ไหลอย่างต่อเนื่องไม่มีวันสิ้นสุด

namwa (10) namwa (12)

ภารกิจยามเช้าทุกอย่างได้ลุล่วงไป จนกระทั่ง 10 โมงเช้า จึงได้เดินทางล่องเรือ ซึ่งคาดว่าวันนี้เราจะต้องพบกับโขดแก่งอีกมากมาย

 

“วันนี้เราต้องล่องผ่านแก่งจำนวนมาก ขนาดใหญ่ๆ ทั้งนั้น ก็มีแก่งห้วยเดื่อ  แก่งผีป่า  และวันนี้เราต้องล่องไปถึงน้ำหมาวให้ได้ แล้วที่อีกวันก็จะถึงเป้าหมายพอดี”

 

ไกด์ท้องถิ่นที่เชี่ยวชาญลำน้ำว้าบอกข้อมูลการล่องแก่งน้ำให้เราทราบเพิ่มเติม ซึ่งวันนี้เราอาจต้องเหนื่อยและสนุกมากกว่าวันที่ผ่านมา เพราะแต่ละแก่งเท่าที่ทราบก็มีความยากระดับ 4-5 ทั้งสิ้น อุปสรรคที่เกิดขึ้นกลางสายน้ำ คือ ความท้าทายที่เราต้องผ่านไปให้สำเร็จด้วยดี พร้อมกับความประทับใจที่เกิดขึ้น

namwa (7)

ท่ามกลางสายน้ำที่ประกอบด้วยแก่งจำนวนมาก เรือยางแต่ละลำล่องไหลผ่านไปได้ไม่ยากนัก แก่งบางแก่งบางแก่งไม่ถึงกับยาก จะมีขนาดใหญ่แค่ไหนก็ประมาณจากเสียงสายน้ำที่ไหลกระทบโขดหินอยู่ครืนโครม เสียงแก่งทำให้เราตื่นตัวตลอดเวลา เพราะเราจะประมาทกับแก่งเหล่านี้ไม่ได้ เผลอก็ตกน้ำหรือหลบไม่ทันเรือก็ติดหิน

 

 “แก่งนี้เขาเรียกว่า แก่งห้วยเดื่อ ถัดลงไปอีกหน่อยก็จะเป็นแก่งผีป่า”

ไกด์ท้องถิ่นที่เป็นกัปตันเรือบอกให้ทุกคนได้ทราบ ดูเหมือนว่าทุกคนจะตื่นตัวกับกี่ได้มาพบกับแก่งขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสาวๆ ใจสู้ทุกคน เตรียมตัวลุยอย่างไม่หวั่นกลัว

namwa (9)

เรือลำแรกผ่านไปได้อย่างไม่มีปัญหา ทำให้ลำหลังๆ มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น เมื่อผ่านโขดแก่งที่เชี่ยวกรากไปได้ก็มีเสียงกรี๊ด พร้อมกับเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนาน ถัดจากแก่งห้วยเดื่อมาได้ไม่ไกลนัก เราก็พบกับเสียงคำรามกระหึ่มของสายน้ำว้าที่ลดระดับหายไปข้างหน้า มีแนวโตรกผาสูงชันอิงแอบทั้งสองฝั่งยาวลงไปตามสายน้ำ

 

ความพรั่นพรึงได้เกิดขึ้นเมื่อเราเข้าไปใกล้ ยิ่งฟังชื่อแก่งแล้วก็หนาวสะท้าน ความรุนแรงของสายน้ำที่เกิดจากโขดหินใต้น้ำที่วางระเกะระกะและลดระดับคดเคี้ยวไปมา เราสำรวจแนวร่องน้ำให้ชัดเจนกันก่อน ทั้งหัวเรือและท้ายเรือต้องทำความเข้าใจว่าจะเลือกเขาตำแหน่งร่องไหน แล้วจะหลบหินช่วงไหน

 

ลำแรกนำร่องไปก่อน กระโจนผ่านแนวหินที่ลดระดับและเกิดเป็นฟองน้ำที่ปั่นป่วนเป็นสีขาวตัดกับพื้นหินสีดำ จนผ่านเข้าร่องน้ำ พุ่งเข้าสู่โขดหินที่ดักอยู่ข้างหน้าซึ่งต้องหักหลบไปด้านขวาหรือไปซ้ายก็ยังพอได้

namwa (8)

เมื่อผ่านจุดไปได้ก็ต้องเตรียมตัวสู้กับแก่งข้างล่างที่อยู่ต่อเนื่องอีกแก่งหนึ่ง จะเห็นเรือยางลงร่องซ้ายแล้วหักหลบขวาหลังก้อนหินหายไปเลย แล้วไปโผล่ลอยลำอยู่บริเวณน้ำนิ่งด้านล่างที่โอบขนาบด้วยแนวหน้าผาสูงชัน

 

เที่ยงเศษๆ เราได้หยุดพักทานอาหารเที่ยง ในเวลาปากห้วยแห่งหนึ่งที่อยู่ทางตอนใต้ของห้วยแม่สะนานมาเล็กน้อย จนเข้าสู่ช่วงบ่ายโปรแกรมการเดินทางบนสายน้ำยังคงดำเนินต่อไป เรายังพบกับสายน้ำสีขาวที่เป็นฟองฟ่อน พร้อมกับเสียงครืนโครมที่เกิดขึ้นจากสายน้ำไหลปะทะแก่งโขดหินใต้น้ำ

 

“เราต้องไปให้ถึงน้ำหมาว พักตั้งแค้มป์ช่วงตอนใต้น้ำหมาว แล้วอีกวันจะได้ถึงวังลุนได้ตามกำหนด”

แนวเทือกเขาที่สูงใหญ่ ผืนป่ายังสมบูรณ์ทอดยาวไปตามลำน้ำ จนกระทั่งเราผ่านมาถึงเป้าหมายที่สำคัญของลำน้ำหมาว หรือห้วยหมาวหมอก ที่ไหลมาบรรจบกับน้ำว้าทางด้านซ้าย  ไปยังสายน้ำหมาวหมอกก็จะพบน้ำตกภูฟ้า เป็นน้ำตกขนาดสูงใหญ่ มีถึง 12 ชั้น อยู่ท่ามกลางป่าลึก นับจากน้ำว้าไปจนถึงน้ำตกภูฟ้าก็ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง รวมไปกลับแล้วก็ต้องใช้เวลาทั้งวัน

 น้ำใสๆ น้ำหมาวnamwa (11)

แนวหาดทรายน้ำใต้ปากห้วยหมาวหมอกมีทำเลกางเต็นท์ที่ดี พวกเราจึงได้หยุดพักค้างแรมเป็นคืนที่สอง หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยกับการล่องแก่งมาทั้งวัน

 

วันรุ่งขึ้นได้เราออกเดินทางประมาณ 9 โมงเช้า บรรยากาศแห่งสายน้ำยังเย็นเยือกและเงียบสงบ คงมีหมู่นกที่โผบินผ่านไปมา ป่าเขาที่โอบขนาบลำน้ำทำให้ทิวทัศน์ถูกบีบแคบ สายตาทุกคนจะเพ่งมองไปข้างหน้า ค้นหาสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่เบื้องหน้า พร้อมกับฟังเสียงโขดแก่งที่คำรามอยู่ว่าจะเป็นแก่งขนาดยากง่ายแค่ไหน

 

จนมาถึง แก่งผารถเมล์ ที่ทีมสำรวจทุกคนต้องลงไปสำรวจแนวร่องน้ำ แนวหินที่ลดระดับลงมาคล้ายน้ำตกขวางลำน้ำ ว่าจะมีอุปสรรคอย่างไรบ้าง

“ร่องทางซ้ายมือคงลงไม่ได้ เพราะจะไปกระแทกหน้าผา ขอนไม้ และโขดหินข้างล่าง เราจะเอาเรือลงทางทางร่องขวา แล้วคนจะไปรอข้างล่าง”

เป็นข้อสรุปจากการลงไปดูแนวร่องน้ำ เรือทุกลำให้ถ่ายคนออกแล้วเอาเรือลงมา เพื่อความปลอดภัยของพวกเราทุกคน เนื่องจากแนวตลอดสองฝั่งลำน้ำจะเป็นหน้าผาสูงชัน

 

เมื่อผ่านแก่งผารถเมล์มาแล้ว ก็จะเป็น แก่งช้างเหยียบ เป็นแก่งที่มีแนวหินขวางลำน้ำเกือบเต็มลำน้ำ มีช่องทางขวามือ และมีขอนไม้พาดขวาง เราจะต้องเบียดทางด้านซ้ายของร่องน้ำ ค่อยๆ ชิดด้านซ้ายไปช้าๆ แล้วหักหลบโขดหินก้อนใหญ่อีกทีหนึ่ง ซึ่งทุกลำสามารถผ่านไปได้ด้วยดี

 

หลังจากผจญภัยกับแก่งน้อยใหญ่มาหลายแก่งแล้ว และเข้าสู่วังน้ำลึกที่ยาวร่วมกิโลเมตร จนต้องออกแรงพายจนแทบหมดแรง และมาหยุดพักทานอาหาร และเดินทางกันต่อไป

 

แก่งใหม่ เป็นแก่งที่ลาดเทยาวต่อเนื่องร่วม 100 เมตร ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางน้ำโดยธรรมชาติมองเห็นเกลียวสีขาวเป็นฟองฟ่อน พร้อมเสียงครืนๆ ดังกึกก้องคุ้งน้ำ เรือทุกคนก็ผ่านไปได้สนุกสนาน สร้างความประทับใจกับนักเดินทางที่ผ่านมาทุกคน

แก่งใหม่namwa_23

แก่งสร้อย เป็นแก่งใหญ่อีกแก่งหนึ่งที่ส่งเสียงครืนๆ อยู่เบื้องหน้า เรือทุกลำต้องจอดแล้วไปดูร่องน้ำ ลักษณะของแนวแก่งจะลาดยาวและชิดหน้าผาด้านขวา พร้อมกับมีขอนไม้ใหญ่ คอยรับอยู่ด้วย เราต้องหลบขอนไม้มาแล้ว ยังต้องหลบโขดหินกลางน้ำอีกก้อนหนึ่ง

 

สุดท้ายแห่งความเร้าใจของการผจญภัย ของลำน้ำว้า เราก็จะพบกับ แก่งยาว ที่มีฤทธิ์เดชแทบจะขวิดให้เรือเสียหลักไปได้เช่นกัน

 

ปลายทางที่วังลุน ทุกคนก็ประสบความเร็จอย่างพึงพอใจกับรูปแบบการผจญภัยบนสายน้ำว้าที่เร้าใจระทึกมาตลอดทางทั้ง 3 วัน ซึ่งไม่มีที่ไหนที่จะสนุกตื่นเต้นเท่าที่แห่งนี้แล้ว เราก็เชื่อมั่นด้วยตนเองว่า สายน้ำในเมืองไทยที่สมบูรณ์เต็มรูปแบบของการล่องแก่งผจญภัยแล้วก็มีน้ำว้าที่ขอติดอันดับแรกๆ ของเมืองไทย ที่ทุกคนน่าจะลองดูสักครั้ง ถ้าหากท่านเป็นผู้รักการผจญภัยอย่างแท้จริง

 

ข้อมูลการเดินทาง

จากกรุงเทพฯ-น่าน จะมีรถทัวร์ประจำทาง ของ บขส. และสมบัติทัวร์

การล่องแก่ง สามารติดต่อได้ที่

– สงกรานต์ เขื่อนธนะ  www.nantouring.com โทร.  08-1961-7711

– พิษณุ คำเต็ม น่านปางช้าง   โทร.(054) 781-316, 781-244,

– สมุน มูลมา   โทร.( 054 ) 773-598

 

ช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม ตั้งแต่ปลายฝน-ต้นหนาว ราวปลายเดือนตุลาคม เ ถึงเดือนมีนาคม หลังจากนั้นน้ำอาจจะน้อยลง แต่พอล่องได้ ถ้าเป็นหน้าฝน ควรหลีกเลี่ยงเพราะน้ำเยอะ กระแสน้ำไหลเชี่ยวเกินไป หรือน้ำป่าไหลหลาก อย่างไรก็ตามควรเช็กข้อมูลจากผู้ประกอบการในพื้นที่เสียก่อน

 

โปรแกรมที่เหมาะสม การล่องแก่งน้ำว้าจากบ้านสบมาง มายังวังลุน ควรใช้เวลา 3 วัน 2 คืน เป็นโปรแกรมการล่องแก่งที่ต้องอยู่กับสายน้ำตลอดทั้ง 3 วัน และต้องพักค้างแรมริมแม่น้ำ ที่อยู่ท่ามกลางป่าเขาลึก มีรูปลักษณะการท่องเที่ยวผจญภัยที่ครบถ้วนเต็มรูปแบบ

 

เตรียมกระเป๋าป้องกันน้ำ ในการล่องแก่งผจญภัยแบบนี้ เราควรเตรียมตัวจัดกระเป๋าให้เหมาะสม และควรมีอุปกรณ์ป้องกันน้ำด้วย ปกติแล้วเราจะใช้ถุงพลาสติกกันน้ำ มัดหนังยางเท่านั้น หากมีถุง DRY BAG เป็นอุปกรณ์ป้องกันน้ำเข้าอย่างดี ไว้สำหรับใส่เสื้อผ้า ข้าวของต่างๆ สามารถป้องกันน้ำได้ดี ปัจจุบันก็มีจำหน่ายตามร้านขายอุปกรณ์ OUTDOOR ทั่วไป แต่กระนั้นเราควรห่อถุงพลาสติกป้องกันน้ำไว้ด้านในอีกชั้นหนึ่งด้วย

 

สำหรับผู้ที่ไม่มี DRY BAG เราก็ใช้ถุงพลาสติกป้องกันน้ำ โดยน้ำเสื้อผ้าใส่ถุง แล้วไล่ลมออกให้หมด จากนั้นมัดหนังยางให้แน่น ควรห่อสัก 2 ชั้น จากนั้นนำไปใส่ในกระเป๋า กระเป๋าจะช่วยป้องถุงพลาสติกฉีกขาด วิธีการแบบนี้จะช่วยให้เราหมดความกังวลเรื่องข้าวของจะเปียกน้ำ และเราจะได้ท่องเที่ยวได้อย่างมีความสุขไร้กังวลด้วย

ขอขอบคุณภาพจาก www.nantouring.com

เชิญแสดงความคิดเห็น