พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี

0

ดูเอเซีย.คอมพาเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดที่อยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯการเดินทางสะดวกสบายและทีสำคัญถือว่าเป็นจังหวัดที่ถนนหนทางดีที่สุดราบเรียบที่สุดในประเทศ ยิ่งกว่าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพเทพฯเสียอีก โดยวันนี้เราพาเพื่อนๆมาถึงสุพรรณบุรีกันแล้วเมืองที่มีเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่ชัดเจนสวยงามน่าสนใจ วันนี้เราจึงมาเรียนรู้ประวัติความเป็นมากันซักทีสถานที่ ที่จะให้ข้อมูลเรื่องราวต่างๆของจังหวัดสุพรรณบุรีได้ดีคงจะหนีไม่พ้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี

museumsuphan (9) museumsuphan (12) museumsuphan (4) museumsuphan (6) museumsuphan (7)

ก่อนที่จะไปรับรู้ข้อมูลของจังหวัดสุพรรณบุรี เรามารู้ถึงความเป็นมาของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี กันก่อน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี จัดตั้งขึ้นตามโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำเมืองเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์มานุษยวิทยาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรีและเพื่อสนองแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ได้พระราชทานให้กรมศิลปากรเพิ่มสาขาวิชาการ  อื่น ๆ ในการจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

 

ลักษณะอาคาร

เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ๒ ชั้น  มีพื้นที่ภายในประมาณ  ๓,๒๐๐ ตารางเมตร ประกอบด้วย ส่วนสำนักงาน ห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวร ห้องนิทรรศการชั่วคราว ห้องประชุม – สัมมนา ห้องคลังเก็บโบราณวัตถุ ห้องศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้า และส่วนให้บริการ – ประชาสัมพันธ์

 

การจัดแสดงนิทรรศการ

การจัดแสดงนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี มีลักษณะของการผสมผสานระหว่างการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กับสื่อจัดแสดงประเภทต่าง ๆ เช่นหุ่นจำลอง ระบบโสตทัศนูปกรณ์ ฯลฯ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลินใน เวลาเดียวกัน โดยแบ่งหัวข้อการจัดแสดงเป็นห้องต่าง ๆ ดังนี้

museumsuphan (3)

ห้องบทนำ

จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญเกี่ยวกับเมืองสุพรรณบุรีในอดีต ได้แก่ ข้อความในจารึกหลักต่าง ๆ ที่กล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณบุรี อาทิ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จารึกลานทองสมัยอยุธยา พบที่วัดส่องคบ จังหวัดชัยนาท และหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น

จัดแสดงพัฒนาการของเมืองสุพรรณบุรี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กระทั่งเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี สมัยอยุธยา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ โดยจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานสำคัญต่าง ๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบป้ายคำบรรยายและสื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์

museumsuphan (36) museumsuphan (15)

ห้องยุทธหัตถี

จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสุพรรณบุรี คือ การกระทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระมหาอุปราชา เมื่อ พ.ศ.๒๑๓๕ที่เกิดขึ้น ณตำบลหนองสาหร่ายปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอดอนเจดีย์ อันเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเจดีย์ยุทธหัตถีจัดแสดงโดยใช้สื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ ประกอบกับหุ่นจำลองและป้ายคำบรรยาย

 

ห้องคนสุพรรณ

จัดแสดงประวัติความเป็นมาและศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีกลุ่มชนสำคัญ ๆ ได้แก่ ชาวไทยพื้นบ้าน ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายละว้า ชาวไทยเชื้อสายลาวครั่ง ชาวไทยเชื้อสายลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ โดยใช้สื่อเป็นหุ่นรูปบุคคลเชื้อสายต่าง ๆ ขนาดเท่าจริงประกอบฉากบ้านเรือน และเสียงบรรยายร่วมกับสื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ 

museumsuphan (13) museumsuphan (14) museumsuphan (16)

ห้องบุคคลสำคัญ

จัดแสดงประวัติบุคคลสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรีในอดีตที่ได้ทำคุณประโยชน์นานัปการแก่จังหวัดสุพรรณบุรี และประเทศชาติ ประกอบด้วย

-สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ( ขุนหลวงพระงั่ว )

-สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ ( ปุ่น ปุณณสิริ )

-พระมงคลเทพมุนี ( หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ )

-เจ้าพระยายมราช ( ปั้น สุขุม )

-พลโทพระยาเฉลิมอากาศ ( สุณี สุวรรณประทีป )

-นายมนตรี ตราโมท   

museumsuphan01

ห้องศาสนศิลป์

จัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ได้แก่ โบราณศิลปวัตถุที่พบจากโบราณสถานสำคัญในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ และงานประณีตศิลป์ โดยเฉพาะพระพิมพ์หรือพระเครื่องที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เช่น พระพิมพ์ถ้ำเสือ พระพิมพ์สมัยลพบุรี พระพิมพ์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระพิมพ์ขุนแผนวัดพระรูป พระพิมพ์ขุนแผนวัดบ้านกร่าง พระพิมพ์วัดชุมชนสงฆ์ ฯลฯ

museumsuphan (20)museumsuphan (25)museumsuphan (24)museumsuphan (27)

ห้องเตาเผาบ้านบางปูน

จัดแสดงหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาบ้านบางปูน ซึ่งพบบริเวณสองฝั่งแม่น้ำ ท่าจีนหรือแม่น้ำสุพรรณบุรี ในเขตตำบลพิหารแดง ตำบลโพธิ์พระยา และตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘ มีเอกลักษณ์สำคัญคือ การตกแต่งโดยประทับลวดลายลงบนผิวภาชนะ จักแสดงโดยการจำลองเตาเผาภาชนะ ประกอบโบราณวัตถุ

 

ห้องวรรณกรรมเมืองสุพรรณ 

จัดแสดงเรื่องราววรรณกรรมสำคัญ ๒ เรื่องที่เกี่ยวกับเมืองสุพรรณบุรี ได้แก่ เสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นเลิศประเภทกลอนเสภาในสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และโคลงนิราศสุพรรณ ซึ่งประพันธ์โดยสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมทั้งสองเรื่องเปรียบเสมือนภาพสะท้อนวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวสุพรรณบุรีในอดีต จัดแสดงโดยใช้สื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์

 

ห้องเพลงพื้นบ้านเมืองสุพรรณ

เพลงพื้นบ้านเมืองสุพรรณ จัดแสดงโดยใช้หุ่นจำลองประกอบสื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ฉากการเล่นเพลงพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันในงานรื่นเริงหรือเทศกาลต่าง ๆ ได้แก่ เพลงอีแซว และเพลงเรือ โดยเนื้อหาของเพลงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวเกษตรกรรม เพลงลูกทุ่ง จัดแสดงผลงานของศิลปินเพลงลูกทุ่งชาวสุพรรณบุรีที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วย ก้าน แก้วสุพรรณ, สุรพล สมบัติเจริญ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, สายัณห์ สัญญา, ศรเพชร ศรสุพรรณ และพุ่มพวง ดวงจันทร์ โดยใช้สื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์เป็นตู้เพลงสำหรับกดฟังผลงานของศิลปินท่านต่าง ๆ ประกอบป้ายคำบรรยาย

museumsuphan (31) museumsuphan (32)museumsuphan (33)

ห้องสุพรรณวันนี้

จัดแสดงถึงสภาพทั่วไปของจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน เช่น ที่ตั้งและอาณาเขต ประชากรและการปกครอง ทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา และการกีฬา สภาพเศรษฐกิจ และแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการใช้ที่ดิน และแหล่งทรัพยากรน้ำมันของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยใช้สื่อป้ายคำบรรยาย แผนที่ หุ่นจำลอง และสื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์

museumsuphan (37)

 

โบราณวัตถุที่สำคัญ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ศิลปะลพบุรี   อิทธิพลศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ วัสดุ หินทราย ขนาด  สูงประมาณ ๑๔๘.๕ เซนติเมตร ประวัติ  พบที่โบราณสถานเนินทางพระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

museumsuphan (21)museumsuphan (22)

ลักษณะทางประติมาณวิทยา

ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สลักจากหินทรายสีเขียว สูงประมาณ ๑๔๘.๕ ซม. พบที่โบราณสถานเนินทางพระในเขตอำเภอสามชุกซึ่งเป็นโบราณ สถานในศาสนาพุทธนิกายมหายาน สมัยลพบุรีเดิมจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ลักษณะทางประติมาณวิทยาที่สำคัญ คือ เป็นประติมากรรมรูปบุรุษ   เกล้ามวยผมสูงถักผม ลักษณะที่เรียกว่า “ชฎามกุฎ” มวยผมผายออกตอนบน ส่วนโคนมวยคอด ต่างไปจากรูปพระอวโลกิเตศวรศิลปะขอมทั่วไปที่มีมวยทรงกระบอก   ปรากฏรูปภาพพระพุทธปางสมาธิ หรือพระอติมาภะอยู่ด้านหน้ามวยผม มีกรอบไรพระศกทำลายเป็นรูปเม็ดไข่ปลา พระโพธิสัตว์มีพระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยมพระเนตยาวรี ลืมพระเนตร ต่างกับ รูปพระโพธิสัตว์ทั่วไปที่มีพระเนตรปิดสนิทอันเป็นลักษณะของศิลปะขอมแบบบายน สวมกุณฑลรูปตุ้ม สวมกรองศอสั้น รูปสามเหลี่ยมและพาหุรัด ม ๔  กร หัตถ์ซ้ายบนถือคัมภีร์ หัตถ์ซ้ายล่างถือหม้อน้ำมนต์ หัตถ์ขวาบนถือพวงลูกประคำหัตถ์ขวาล่างถือดอกบัว นุ่งผ้าสั้น  มีชายผ้าเป็นรูปหางปลา คาดเข็มขัดมี หัวรูปสี่เหลี่ยมประดับลายดอกไม้ จาก ลักษณะทางประติมาณวิทยาของพระโพธิสัตว์ที่กล่าวไป แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะพื้นเมืองบางประการที่ผสม ผสานอยู่กับศิลปะขอมแบบบายนอายุราวพุทธศตวรรษที่๑๘ อันเป็นศิลปะที่ให้อิทธิพลโดยตรงกับรูปพระโพธิสัตว์องค์นี้

museumsuphan (23)

พระพุทธรูปนาคปรก

ศิลปะลพบุรี   อิทธิพลศิลปะขอมแบบบายน  อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ วัสดุ หินทราย ขนาดสูงประมาณ  ๑๐๗ เซนติเมตร  หน้าตักกว้างประมาณ ๔๗ เซนติเมตร  ประวัติ พบที่วัดปู่บัว  อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี

 

ลักษณะทางประติมาณวิทยา

พระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้ สลักจากหินทรายสีเขียว พบที่วัดปู่บัว เดิมจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาต ิ อู่ทอง   มีลักษณะทางประติมาณวิทยาที่สำคัญคือ   พระพุทธรูปมีรัศมีเป็นรูปกลีบบัวซ้อนกัน   ๓  ชั้นเม็ดพระศกทำเป็นลายรูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็กปรากฏกรอบไรพระศกพระพักตร์มีลักษณะค่อนข้างเหลี่ยมพระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกาพระเนตรยาวรีลืมพระเนตรพระนาสิกโด่งงุ้มพระโอษฐ์หนาอยู่ในอาการแย้มพระสรวลเล็กน้อยพระกรรณยาวพระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง   ปรากฏสังฆาฎิบนพระอังสา   พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันอยู่บนพระเพลาในลักษณะสมาธิ   ปรากฏรูปธรรมจักรอันเป็นลักษณะของมหาบุรุษอยู่บนฝ่าพระหัตถ์   ประทับนั่งขัดสมาธิอยู่บนขนดนาคสามชั้น   ขนดนาคมีลักษณะสอบลงสู่ชั้นล่าง   เบื้องหลังพระพุทธรูปทำรูปนาค   ๗   เศียร   นาคมีลักษณะใบหน้ายาว   นาคเศียรข้างทุกเศียรชำเลืองไปยังนาคเศียรกลางปรากฏลายดอกจันทร์ที่ลำคอนาค   ลักษณะของพระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้ อยู่ในศิลปะลพบุรี ซึ่งรับอิทธิพลจากศิลปะขอมแบบบายน ผสมผสานกับฝีมือช่างท้องถิ่น กำหนดอายุได้อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

 

เปิดวันพุธ-อาทิตย์ 

เวลาทำการ 09.00 – 16.00น. 

ปิดวันจันทร-์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

อัตราค่าเข้าชม 

คนไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท

นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาต่างๆเข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

เชิญแสดงความคิดเห็น